วันเวลาปัจจุบัน 20 ก.ย. 2024, 21:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2021, 11:48 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


ปกิณกธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
โดย พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ
เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือบูรพาจารย์
ชีวประวัติ ธรรมปฏิปทา และโอวาทธรรม
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร หน้า ๑๔๑-๑๔๓
รวบรวมโดย : มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร

รูปภาพ
พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ

รูปภาพ
ภาพหินแกะสลัก “แม่ชีกั้ง เทพิน”

๕. คุณยายขาวกั้งติดปัญหา

ในการเทศน์อบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมักจะกล่าวปรารภเปรียบเทียบให้ญาติโยมฟังอยู่เสมอว่า “การเทศน์การสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น เหมือนกับการจับปลานอกสุ่ม” (สุ่มคือเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง) การจับปลานอกสุ่มนั้นใครๆ ก็ย่อมรู้ว่ามันยากขนาดไหน เพราะปลามันมีที่จะไปได้หลายทางโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มันจึงไม่ยอมให้จับได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับปลาที่อยู่ในสุ่มซึ่งมีขอบเขตจำกัดบังคับมันอยู่ จึงจับได้ง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า ปลานอกสุ่มจะจับไม่ได้เลย จับได้เหมือนกันสำหรับผู้มีปัญญา ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีอุบายวิธีอันชาญฉลาดมากในการสั่งสอนคน ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวปรารภในทำนองถ่อมตน แต่องค์ท่านก็สามารถอบรมสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจของญาติโยมให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามปฏิปทาของท่าน เป็นจำนวนมากมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้

ข้อที่น่าสังเกตในอุบายวิธีการสั่งสอนญาติโยมของท่านคือ ท่านจะสอนเน้นเป็นรายบุคคล เฉพาะผู้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ท่านได้พิจารณาดูภายในแล้วเท่านั้น ถ้าหากญาติโยมผู้ใดถูกท่านพระอาจารย์มั่นพูดทักซักถามแล้ว จะต้องตั้งใจฟังให้ดีๆ นั่นแสดงว่าท่านจะบอกขุมทรัพย์ให้ จึงเป็นบุญลาภวาสนาของบุคคลนั้นโดยแท้ และบุคคลผู้นั้นจะถูกท่านซักถามแนะนำติดตามผลอยู่เสมอ ตามอุบายวิธีของท่าน จนสมควรแก่บุญวาสนาของบุคคลนั้นแล้ว ท่านจึงปล่อยให้ดำเนินตามที่ท่านแนะสอน เพื่อเพิ่มบารมีของเขาจนแก่กล้าเป็นลำดับต่อไป

สมัยนั้นญาติโยมชาวบ้านหนองผือกำลังมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก ทั้งหญิงทั้งชายหลังจากได้พากันละเลิกนับถือผีแล้ว โดยพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นองค์แรกให้ละเลิกการนับถือผีถือผิดเหล่านั้น ให้หันหน้ามานับถือพระไตรสรณคมน์อย่างจริงจัง มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแทน และท่านยังได้อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาพร้อมทั้งเดินจงกรมด้วย พากันปฏิบัติอย่างนั้นมาเรื่อยๆ จนทำให้การปฏิบัติธรรมของญาติโยมชาวหนองผือสมัยนั้นบางคนมีความก้าวหน้ามาก และได้สละบ้านเรือนออกบวชกันหลายคน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงออกถือบวชเนกขัมมะ สละเรือนเป็นแม่ขาว แม่ชี สมาทานรักษาศีลแปดจำนวนหลายคนด้วยกัน ที่สำคัญมีคุณยายขาวกั้ง เทพิน คุณยายขาววัน พิมพ์บุตร คุณยายขาวสุภีร์ ทุมเทศ คุณยายขาวตัด จันทะวงษา คุณยายขาวเงิน โพธิ์ศรี คุณยายขาวงา มะลิทอง คุณยายขาวกาสี โพธิ์ศรี และ
คุณแม่ชีกดแก้ว จันทะวงษา (ชาวบ้านหนองผือ บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่สมัยพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษา จนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๔ ยังเป็นแม่ชีพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ และได้เล่าเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ) โดยมีพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร เป็นผู้บวชให้


เมื่อบวชแล้วไปอยู่ตามสำนักที่ตั้งขึ้นชั่วคราวใกล้ๆ กับสำนักสงฆ์ของครูบาอาจารย์ เพื่อจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเมื่อมีโอกาส บางครั้งพวกเขาก็พากันออกไปภาวนาหาความสงบวิเวกตามป่าช้าบ้าง ตามป่าเชิงเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นบ้าง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ให้แก่จิตใจ ไปกันเป็นกลุ่ม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางด้านปฏิบัติสมาธิแล้ว จึงค่อยหาโอกาสเข้าไปกราบนมัสการเล่าถวายท่าน ท่านก็จะแก้ไขความขัดข้องนั้นให้ด้วยความเมตตากรุณา จนปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ และได้ปฏิบัติกันอย่างนั้นมาเรื่อยๆ

จนกระทั่งท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางเข้าไปยังบ้านหนองผือ และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ยิ่งทำให้คุณยายขาวแม่ชีและญาติโยมซึ่งกำลังมีความสนใจปฏิบัติธรรมอยู่แล้วมีความสนใจมากยิ่งขึ้น จนบางคนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ในจำนวนนั้น มีคุณยายขาวคนหนึ่งผู้บวชชีเมื่อตอนแก่ ท่านมีอายุมากกว่าเพื่อนและเป็นหัวหน้าคณะแม่ชี ชื่อคุณยายขาวกั้ง เทพิน อายุประมาณ ๗๐ กว่าปี การปฏิบัติสมาธิมีความก้าวหน้ามาก มีความรู้ความเห็นซึ่งเกิดจากการภาวนาหลายเรื่องหลายประการ ท่านมีนิสัยชอบเที่ยวรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ทางด้านจิตตภาวนาอยู่เสมอ เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องทางด้านจิตตภาวนา มีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการเล่าปัญหา ถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ท่านก็จะแนะอุบายวิธีให้ไปประพฤติปฏิบัติตาม ในที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็ตกไป

ตอนหลังคุณยายขาวกั้ง ท่านแก่ชราภาพมากไปมาไม่สะดวก ลูกหลานจึงให้ไปพักที่บ้าน ขณะที่อยู่บ้าน ท่านก็ไม่ได้ลดละความพากเพียร ตอนบ่ายเดินจงกรมบนบ้าน ค่ำลงเข้าห้องทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อ ทำอย่างนี้ทุกวัน ตอนหนึ่งท่านนั่งภาวนาจิตไปเที่ยวเพลินชมเมืองสวรรค์เกือบทุกคืน นั่งภาวนาคราวใดจิตจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ทุกครั้ง ท่านบอกว่ามันสนุกสนานเพลิดเพลิน เห็นแต่สิ่งสดสวยงดงามทั้งนั้น ไปแล้วก็อยากไปอีก เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน วันหนึ่งไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงพูดปรามไม่ให้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์บ่อยนัก แต่คุณยายขาวกั้งก็ยังติดอกติดใจจะไปชมเมืองสวรรค์อีก

คืนหนึ่งคุณยายขาวกั้งนั่งสมาธิภาวนาจะน้อมจิตไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ตามที่เคยไป แต่เหมือนมีอะไรมาขวางกั้นจิตทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะไป คืนนั้นเลยไปไม่ได้ พอตอนเช้าฉันจังหันเสร็จ คุณยายก็ไปที่วัด เข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น เล่าเรื่องถวายท่านว่า “เมื่อคืนนี้หลวงพ่อเอาหนามไปปิดทางข้าน้อย ข้าน้อยเลยไปมิได้”

ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า “ไปเที่ยวเฮ็ดยั้งดุแท้ (บ่อยแท้)

คุณยายขาวกั้งจึงพูดตอบว่า “ไปแล้วมันม่วนรื่นเริงใจ เห็นแต่สิ่งสวยๆ งามๆ ทั้งนั้น”

ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกว่า “เอาล่ะ บ่ต้องไปอีกนะทีนี้”

คุณยายขาวกั้งก็เข้าใจความหมาย และยอมรับที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูดเช่นนั้น แต่ในใจของคุณยายก็ยังคิดอยากจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อยู่อีก ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ไปเพราะท่านกลัวคุณยายจะผิดทางและเสียเวลา ท่านต้องการอยากจะให้ดูหัวใจตัวเองมากกว่าจึงจะไม่ผิดทาง

ในที่สุดคุณยายขาวกั้งก็รับไปปฏิบัติตาม ซึ่งตามปกติคุณยายขาวกั้งจะเข้าไปกราบถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ แต่ละครั้งใช้เวลาไม่นานเพราะคุณยายขาวกั้งจะถามเฉพาะปัญหาที่แก้ไม่ตกจริงๆ เท่านั้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นตอบมาอย่างไร คุณยายเข้าใจแล้วจะกราบลาท่านกลับที่พักของตน เป็นอยู่อย่างนี้เสมอ

ต่อมาคุณยายขาวกั้งก็เกิดปัญหาทางจิตที่สำคัญขึ้นอีก คือวันหนึ่งไปที่วัดเพื่อจะไปกราบถามปัญหากับท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ วันนั้นพอถึงวัดเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงทักขึ้นว่า “ฮ้วย...บ่แม่นไปเกิดกับหลานสาวแหล่วบ่น้อ” (หมายความว่า ไม่ใช่จิตของยายเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของหลานสาวแล้วหรือ)

เพราะช่วงนั้นคุณยายขาวกั้งมีหลานสาวคนหนึ่งแต่งงานใหม่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้คุณยายขาวกั้งจึงบอกต่อท่านพระอาจารย์มั่นว่า “ข้าน้อยมิเยอะเกิด เพราะว่ามันทุกข์ แล้วล่ะเอ็ดแนวเลอ ข้าน้อยจังสิมิเกิดอีก”

ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า “อ้าว...เอาให้ดีเด้อ...ภาวนาให้ดีๆ เด้อ”

เหมือนกับคติพจน์ที่ท่านมักยกขึ้นมากล่าวอยูเสมอว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่” ดังนี้


จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นคงจะแนะอุบายวิธีแก้ให้แก่คุณยายนำไปปฏิบัติ คุณยายพอได้อุบายแล้วก็ถือโอกาสกราบลาท่านกลับบ้านของตน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจัดแจงเตรียมตัวเตรียมใจ ทำความพากเพียรตามอุบายที่ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ปฏิบัติ คุณยายขาวกั้งทำความพากเพียร นั่งสมาธิภาวนาอยู่ประมาณสองหรือสามวันจึงรู้สาเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทานเหล่านั้นได้ จนคุณยายขาวกั้งอุทานออกมาให้ลูกหลานฟังว่า “พวกสู...กูกำลังไปเกิดกับอีอุ่น จังวากูมิเยอะเกิดอิ กูกำลังม้างอยู่เดี๋ยวนี้” (หมายความว่า พวกลูกๆ หลานๆ ทั้งหลาย ยายเห็นว่ายายกำลังไปเกิดเป็นลูกของหลานสาวคือนางอุ่น แต่ว่ายายไม่ต้องการจะเกิดอีก จึงกำลังพยายามทำลายภพชาติอยู่ในขณะนี้)

หลังจากนั้นต่อมาไม่นาน นางอุ่นหลานสาวของคุณยายขาวกั้ง ที่กำลังตั้งท้องอยู่ยังไม่ถึงเดือนนั้นก็แท้งออกเสียโดยไม่รู้สาเหตุเลย หรือจะเป็นด้วยจิตเดิมของคุณยายขาวกั้งเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางอุ่นหลานสาวจริง เมื่อคุณยายทำลายสาเหตุ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในจิตของคุณยายได้แล้ว จึงทำให้ครรภ์นั้นแท้งเสียดังกล่าว


สำหรับคุณยายขาวกั้งหรือแม่ชีกั้ง เรื่องการภาวนานั้นรู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามากและเป็นไปเร็วกว่าบรรดาแม่ชีที่บวชรุ่นเดียวกัน แม้จะถือบวชชีตอนแก่ของบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตาม การภาวนาของท่านก็เกิดความรู้ความเห็นวิจิตรพิสดารโลดโผนมาก แต่คงจะเป็นด้วยบุญวาสนาของคุณยาย ที่มีท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตตภาวนา ได้เข้ามาพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในช่วงนั้นพอดี จึงเป็นโอกาสให้คุณยายขาวกั้งได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการภาวนากับองค์ท่าน จนสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงไปด้วยดี และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อบอุ่นใจของคุณยายมาจนกระทั่งท่านหมดอายุขัย

ส่วนแม่ขาวแม่ชีนอกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ประพฤติปฏิบัติทำความพากเพียรตามรอยปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่นมาเรื่อยๆ ตามลำดับ และได้ครองเพศถือบวชเป็นแม่ขาวแม่ชี สมาทานรักษาศีลแปด เจริญเมตตาภาวนาของท่านมาจนจิตใจหนักแน่น มั่นคงในธรรมปฏิบัติไม่อาจกลับย้อนไปถือเพศเป็นผู้ครองเรือนอีกจนตลอดสิ้นอายุขัยของท่านทุกคน ส่วนฆราวาสญาติโยมผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ไม่อาจสละบ้านเรือนออกถือบวชได้ ก็ตั้งตนอยู่ในภูมิธรรมของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีทั้งหลาย และมีจิตใจศรัทธามั่นคงอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา ถือพระไตรสรณคมน์เป็นหลักในการบำเพ็ญตนตลอด ถึงคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการ คือประกอบด้วย ศรัทธา ๑ มีศีลบริสุทธิ์ ๑ เชื่อกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ๑ ไม่แสวงบุญนอกเขตพุทธศาสนา ๑ และบำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ๑ ดังนี้ ตลอดมาจนสิ้นชีวิตของเขานั่นแล


:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2021, 11:50 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


คุณยายกั้ง ผู้มีญาณหยั่งรู้

ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง” อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่งที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมตตาเป็นพิเศษเสมอมา คุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้

“...แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓-๔ ครั้ง ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า

‘โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐-๙๐ ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม ?’

แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า

‘ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’…”

คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวันๆ พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด องค์หลวงตากล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า

“คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตตวิชชา คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น แกเล่าความรู้แปลกๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร”

คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า “รู้เรื่องนั้นไหม ?”

คุณยายก็ว่า “รู้”

“แล้วเรื่องนี้รู้ไหม ?” ก็ว่า “ก็รู้อีก”

หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า “แล้วรู้ไหม ? จิตของพระในวัดหนองผือนี้”

คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ”

คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่างอาจหาญว่า “มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนาดวงเล็กดวงใหญ่เหมือนดาวอยู่เต็มวัด”

เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อยซึ่งมีท่าน (องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) รวมอยู่ด้วย จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ดังนี้

“...พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตร แล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริงไม่สะทกสะท้าน

‘เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา เขามาทิศทางพระไม่อยู่นะ พวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางด้านนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่สุ่มห้านะ’

พ่อแม่ครูจารย์บอกกับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า

‘ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกันหลับครอกๆ แครกๆ ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท’

พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านพูดก่อน แล้วโยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่น แกเห็นจริงๆ รู้จริงๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหนแกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไรพูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง...

ยายกั้งมาเล่าถวายถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาดๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า

‘นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณร ความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดา เหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็กๆ ที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อยๆ ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน’

บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า ‘เห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?’

ท่านตอบว่า ‘เพราะที่พรหมโลกโดยมากมีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฉะนั้นโยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย อีกประการหนึ่ง ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม ?’

แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า ‘ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีกจึงจะเรียนถามพระท่าน’

แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า ‘เมื่อคืนนี้ ใครกัน มองตรงไหนก็มีแต่หน้าเต็มไปหมด ?’

ท่านก็ตอบให้ด้วยความเมตตาว่า ‘อ๋อ ! นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา’

ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายกั้งมีความหมายเป็นสองนัย

นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม ต่อมาท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน...”


ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือที่คุณยายทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัวว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า

“จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร ?”

หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็นอุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า

“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต”

คุณยายเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย

แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยนี้”


ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจงจากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี ขณะเดียวกันพระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่แถวบริเวณข้างๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยายสนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนา ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอก เมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไขและสั่งสอนให้ละวิธีนั้น ไม่ให้ทำต่อไป

หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้พระฟังว่า

“แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย”


รูปภาพ
หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และอัฐิธาตุคุณยายกั้ง เทพิน
บนกุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ
หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


:b8: จาก : หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ หน้า ๒๐๓-๒๐๖
เรียบเรียงจากเทศนาธรรมของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เป็นหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงถวายแด่พระสรีระสังขาร
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)


:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2021, 11:50 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณยายกั้ง เทพิน กับ เทวดา

“พฺรหฺมา จ โลกา” นี่ลงมาในนามของท้าวมหาพรหม ลงมาอาราธนาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก เป็นบุคลาธิษฐานเข้ามา ส่วนธรรมาธิษฐานที่มีอยู่ในพระทัยก็คือ พระเมตตาล้วนๆ ที่จะสั่งสอนสัตว์โลก แต่กำลังพิจารณาเล็งญาณดูสัตวโลก เวลานั้นท้าวมหาพรหมก็เข้ามาผ่านในระยะนั้น

พอพูดอย่างนี้เราก็ยังระลึกได้ ยายแก่คนที่ว่าอยู่หนองผือ ชื่อกั้ง แกอยู่บ้านของแก หลวงปู่มั่นอยู่วัด พวกเทพทั้งหลายมาเฝ้าฟังธรรมเทศนาว่าการ ถามปัญหาต่างๆ กับหลวงปู่มั่น ทางนั้นแกอยู่บ้านฟังซิน่ะ แกเรียนหนังสือที่ไหน คนสมัยนั้นไม่ได้หนังสือแหละ ตั้งแต่แม่หลวงตาบัวยังไม่เห็นได้ โคตรหลวงตาบัวยังไม่เห็นได้หนังสือเลย จะมีกระเด็นออกมาแต่หลวงตาบัวได้หนังสือมา ไม่ได้มาก ก็เพียงพอโกหกโลกก็เอา ว่าหลวงตา ป.๓ เขาก็ได้ เราก็ได้ ป.๓

แกนั่งภาวนาแกเห็นพวกเทพทั้งหลายมา นี่ละหลักความจริง ที่เห็นด้วยความจริง ด้วยจิตด้วยญาณความหยั่งทราบของแก แกไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรเลย แกดูของจริง ของจริงที่ผ่านเข้ามาๆ แกก็ดู มาเล่าให้พ่อแม่ครูจารย์มั่นฟัง โอ๋ย ! พระเณรนี้เต็มหมดเลย ถ้าวันไหนยายกั้งมาวันนั้นพระเณรรีบล้างบาตร เช็ดบาตรปุบปับๆ เสร็จแล้วก็แอบเข้ามา ทางนี้ก็ขึ้นไป ศาลาเตี้ยๆ ดูจะประมาณเมตร เมตรกว่าเท่านั้นแหละมั้ง เป็นสองพัก พักล่าง พักหนึ่งพระท่านฉัน ศาลาไม่ใหญ่แหละ พอฉันเสร็จแล้วแกก็ขึ้นมา พ่อแม่ครูจารย์ก็นั่งอยู่ที่นั่น

เราทัพพีก็แอบอยู่นั้นแหละ ทัพพีแอบอยู่กับหม้อแกงนั้นแหละ แต่ไม่ได้รสได้ชาติของหม้อแกง สู้ยายกั้งไม่ได้ เวลาแกมาบรรยายแกไม่ได้สงสัยนะ แกถามเลย นั่นเห็นไหมล่ะ เอาความจริงมาถาม “ทำไมพวกอะไรๆ ที่มาจากข้างบนๆ นั่นน่ะ ไม่ได้เหมือนกันเลย”


นั่นฟังซิน่ะ “ความละเอียดลออต่างกันเป็นลำดับลำดา มาเป็นคณะๆ โอ๋ย ! เต็มท้องฟ้า มาลงๆ เข้าหนองผือๆ มาเป็นระยะๆ เครื่องแต่งเนื้อแต่งตัวของหลักธรรมชาติของความจริง แต่ละคณะๆ ไม่เหมือนกันเลย ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เหมือนกัน แล้วสุดท้ายที่เหลืองๆ มานั่น โอ๋ย ! เหลืองอร่ามไปหมดเลย แพรวพราวสว่างไปหมด มาที่ไหนสว่างไปหมด อันนี้เหลืองอร่าม” แกว่านะ

เราก็จะคอยฟัง ทัพพีคอยฟัง ถึงไม่ได้ซด ได้ดูก็เอา ท่านก็ไม่พูดมากแหละ เพราะอันนี้เป็นสิ่งภายนอก มีการกระทบกระเทือนได้ มีส่วนเสียได้ ท่านก็พูดพอเหมาะ เห็นไหมจอมปราชญ์ นั่นเป็นอย่างงั้นนะ

ท่านก็แยกออกไป มันเป็นด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกรรมของคนและสัตว์ อยู่ในมนุษย์เราก็ไม่เหมือนกัน มีคนทุกข์ คนมี คนโง่ คนฉลาด คนกรรมหนักกรรมเบา อันนี้พวกเทพทั้งหลายก็อยู่ในอำนาจแห่งกรรมเหมือนกัน ท่านบอกว่าเทพ ท่านไม่บอกว่าเทวดงเทวดากว้างขวางอะไร ท่านบอกว่าพวกเทพ อันนี้เขาก็อยู่ในวงของกรรมเช่นเดียวกัน

พวกนี้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกรรมต่างกัน พวกที่หยาบก็เทียบเอาเรื่องความหยาบความละเอียด พวกนี้เป็นอย่างนั้น พวกนั้นเป็นอย่างนั้น มาตามขั้นตามภูมิของตนๆ ที่มีกรรมเหมือนกันก็มาด้วยกันอย่างนี้ กรรมประเภทหนึ่งๆ เป็นชั้นๆ มา ท่านก็ย่อเอาว่าเป็นพวกเทพ เขามีหลายคณะ มีหลายชั้นที่มา สวรรค์แต่ละชั้นๆ ต่างๆ กัน

ทีนี้พอสุดท้ายแล้วก็ที่เหลืองๆ นั่นล่ะ แกถาม อู๊ย ! จ้อนะ “ที่เหลืองๆ อร่ามสวยมาก สว่างไปหมดนั้นคืออะไร นั่นก็ไม่ใช่น้อยๆ เหลืองอร่ามไปหมดเลย” แกว่ามาสุดท้าย


“เออ ! นั่นท้าวมหาพรหม” ท่านพูดเท่านี้แหละ ท่านไม่พูดมาก นั่นท้าวมหาพรหม แกฟัง ฟังจริงๆ นะ จ้อเลย คือแกได้เรื่องของแกมาแล้ว แกจะคอยฟังจากพ่อแม่ครูจารย์มั่น ท่านก็อธิบายให้ฟังย่อๆ ไม่มาก ไม่เหมือนทางภายในแก้กิเลส ถ้าเป็นเรื่องแก้กิเลสใส่ผางๆ เข้าไปเลย เรื่องอย่างนั้นท่านพูดเพียงเล็กน้อย เมื่อมีผู้มาเกี่ยวข้องท่านก็แยกแยะเพื่อให้เป็นหลักสักขีพยาน ตรงไหนๆ ที่ควรเตือน ท่านเตือนนะพวกนี้ เกี่ยวกับพวกนี้ท่านก็เตือนเหมือนกัน แน่ะเห็นไหมล่ะ แกไม่รู้ ท่านเตือน เห็นไหมล่ะ ต่างกันอย่างนี้

เวลาแกมาพูด พูดอย่างไม่สะทกสะท้านนะ นี่ล่ะคนเรา เมื่อเอาความจริงที่รู้ด้วยตนเองชัดเจนแล้วมาถาม ไม่ได้สงสัย มีแต่คอยจ้อจะเอา ทางนี้ถามเป็นยังไง จ้ออยากฟังเรื่องราวทางนั้น

นี่ล่ะเรื่องของยายกั้งแกพูดอย่างนั้น แต่นานๆ มาทีหนึ่ง มาทีไหนเรียกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์เหมือนกัน ท้องฟ้านี้สว่างไปหมดเลย พวกนี้มาท้องฟ้าอากาศนี้สว่างไปหมด ยิ่งคณะเหลืองๆ มายิ่งสว่างใหญ่ อันนี้ยิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าที่ผ่านมาทั้งหลาย ท่านมียิ้มนิดหนึ่ง

น่าฟังนะเวลาแกพูด แกพูดอย่างตรงไปตรงมา แกก็ยังมาถามนะ แกก็มีความแยบคายของแก “หลวงพ่อก็พ้นจากทุกข์ไปหมดถึงนิพพานแล้ว ยังทำความพากความเพียรหาอะไรอีก” บทเวลาจะถาม คนตรงไปตรงมาเป็นอย่างนั้นแหละ “ก็จิตของหลวงพ่อถึงนิพพานแล้วสว่างครอบโลกไปหมดเลย แล้วหลวงพ่อจะภาวนาหาอะไรอีก” ทางนี้ก็ตอบดีนะ ภาวนาจนตายแหละเขาถึงเรียกนักรบ “ท่านว่าก็น่าฟัง ก็ไม่ทราบว่าจะรบกับอะไร” ก็รบกับความขี้เกียจขี้คร้านให้โลกนั่นแหละ ท่านแยกไปนั้นนะ รบกับความขี้เกียจขี้คร้านให้โลก เพราะโลกมันขี้เกียจ นั่นเห็นไหม

ท่านตอบน่าฟัง ทางนั้นหัวเราะ ฮ่าๆๆ แกถูกใจหัวเราะ ฮ่าๆๆ นั่นเห็นไหมล่ะ “หลวงพ่อจะทำภาวนาไปหาอะไร ก็หลวงพ่อถึงนิพพานสว่างครอบโลกไปแล้ว จะมาภาวนาหาอะไรอีก” ภาวนาจนวันตายแหละ ท่านว่า “เพื่อชำระความเกียจคร้าน ความเกียจคร้านก็ของพวกเรานี่แหละ” แน่ะท่านก็ตีมาตรงนี้ ท่านไม่ได้ว่า เพื่อชำระความเกียจคร้านของท่าน ความเกียจคร้านของพวกปะเขปะขามันออกอ้อมแอ้มอยู่ตามนั้น

แกถูกใจหัวเราะ ฮ่าๆๆ นี่ล่ะเห็นไหมเป็นยังไง แกถามใคร ว่าเทวดามีหรือไม่มี แกถามใครเมื่อไร พ่อแม่ครูจารย์ค้านเมื่อไร ไม่เห็นค้าน เป็นอย่างงั้นแหละ ของจริงถ้าลงได้เจอเข้าแล้วไม่ต้องไปถามใคร ใครจะเชื่อไม่เชื่อ ค้านหรือไม่ค้านไม่สนใจ ความจริงเต็มสัดเต็มส่วน ไม่จำเป็นต้องหาสักขีพยานมาจากที่ไหนอีกแล้ว จ้าเข้าไปเลย ภายในก็เหมือนกันกิเลสสิ้นซากลงไป ผางเท่านั้นก็แบบเดียวกัน อันนี้ยิ่งอยู่กับจิตด้วย อันนั้นยังมาเกี่ยวข้องนะ อันนี้อยู่กับจิต มันจ้าเข้าไปแถวนี้มันก็หมดเลย


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก : หนังสือเทวดา
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๔

http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 16&CatID=2


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2021, 11:51 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
อัฐิธาตุของ “แม่ชีสีใค (แม่ชีตัด) จันทะวงษา” และ “แม่ชีกั้ง เทพิน”
ประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ยายกั้ง

พูดถึงเรื่องยายกั้ง ยายกั้งแกเป็นนิสัยตรงไปตรงมา อาจหาญมากนะ กับพ่อแม่ครูจารย์นี้ใส่กันป้างๆ เลย ใส่กันเรื่อย ไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่นทีไรพระเณรรุมคอยฟัง แกจะโต้ตอบกับพ่อแม่ครูจารย์มั่น เวลาขากลับมาก็ เอาละพูดให้ชัดๆ เสียเลย พอเรากลับมาจำพรรษาหนองผือนี้ไปเรียกหลานแกมา ชื่อตาพุด “ไอ้พุด กูจะบอกมึง กูจะกระซิบ มึงอย่าพูดให้ใครฟังนะ กูจะกระซิบบอกมึง นี่มึงรู้ไหมว่าพ่อตายพ่อยังนะ นี่ท่านมหาบัวมาจำพรรษาที่นี่แล้วนะ องค์นี้กับญาท่านมั่นเป็นอันเดียวกันนะ ให้มึงรู้เสียนะ ตั้งแต่นี้ต่อไปให้มึงรู้ ให้มึงอุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านให้ดีเหมือนหลวงปู่มั่น คุณธรรมอันเดียวกันเลย” ขึ้นเลย บอกชัดเจน กระซิบหลานนั่นละ ไอ้หลานก็มากระซิบเราอีก นี่ละเราถึงขบขันจะตาย กระซิบหลานมึงอย่าบอกใครนะ ไม่บอกใครแต่ไปบอกหลวงตาบัวเสียเอง หมดท่าเลย

นี่ละเก่งนะนี่ ทางจิตใจเก่ง เรื่องเทวบุตรเทวดามาหาพ่อแม่ครูจารย์มั่นแกรู้หมดนะเวลามา เหาะลอยมาเป็นพรรคเป็นพวกๆ ละเอียดลออต่างกันๆ แกถามท่านนะ อันนี้การแต่งเนื้อแต่งตัวเป็นอย่างนี้ๆ อันนั้นเป็นอย่างนั้นๆ ฟาดกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม เหลืองอร่ามไปหมดเลย “นี้มันอะไรญาท่าน” ท่านก็ค่อยชี้แจงให้ฟังย่อๆ ท่านไม่เอามากละ อันนี้พวกเทพอย่างนั้น ชั้นนั้นๆ ท่านว่า ขึ้นถึงเหลืองอร่ามนั้นท้าวมหาพรหม ท่านไม่ได้พูดมาก แต่ท่านไม่ปฏิเสธนะ ท่านบอกว่า “ท้าวมหาพรหม อ๋อเป็นอย่างนี้นะท้าวมหาพรหม”

นี่ละมาหาท่าน ผ่านมานี่ แกนั่งอยู่แกดูอยู่ เก่งไหมล่ะยายกั้ง เก่งมากนะ นี่ได้ทราบว่าอัฐิของแกเป็นพระธาตุ ว่างั้น เราเชื่อว่างั้นเลย ยายกั้งนี้เราเชื่อแล้วแหละ เพราะตอนนั้นแกเดินจงกรมนี้เอาไม้เท้าเดินอยู่บนกุฏิ เอาไม้เท้าเดินบนกุฏิก็คือความเพียรหมุนอยู่ภายใน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถให้ แกนั่งอยู่นานไม่ไหว ต้องเดิน เพราะอันนี้หมุนอยู่ตลอด เราไม่ลืม ได้ทราบว่าอัฐิของแกเป็นพระธาตุ ยอมรับทันที เราว่างั้นละ

ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ :b8: :b8: :b8:

http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... y4zjFDm5U4


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2021, 11:51 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

สถูปเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของ “แม่ชีกั้ง เทพิน”
ณ ฌาปนสถานแม่ชีกั้ง เทพิน พ.ศ. ๒๔๙๘
ป่าช้าหนองข้าวจี่ สำนักสงฆ์หนองข้าวจี่
(วัดป่าช้าหนองข้าวจี่)
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

อัฐิธาตุของ “แม่ชีกั้ง เทพิน”
ณ พระมหาเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


รูปภาพ

ภาพเขียนสีน้ำมันของ “แม่ชีกั้ง เทพิน”
ณ กุฏิ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2022, 16:22 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2024, 13:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร