วันเวลาปัจจุบัน 06 ธ.ค. 2024, 20:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ม.ค. 2024, 08:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5193


 ข้อมูลส่วนตัว


คำสอนของ หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล

“จะทำกิจสิ่งใดลงไปก็ตามให้ท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ อย่าไปยุ่งกับวัดกับวาให้มาก ตายไปจะเป็นเปรตแก้ยาก อย่าโลภอยากได้ของคนอื่น ให้มีความละอายแก่ใจ ให้มีความเกรงกลัวต่อบาป ยามเจ้าละจากโลกนี้ไป มีเพียง สองสิ่ง เท่านั้นที่จะติดตามเจ้าไป คือบุญกับบาป หนีไม่พ้น เจ้าอยู่เจ้าได้กินข้าว เจ้าตายไปเจ้าได้กินบุญ ภพชาติมีจริงไม่ใช่เรื่องเหลวไหล จงอย่าเกียจคร้านหมั่นทำบุญทำทาน ผีมีจริง เทวดามีจริง พระพุทธเจ้ามีจริง ฉันหลวงปู่หมุนไม่ใช่ผู้วิเศษ ฉันเสกให้เจ้าได้เพียงดึงเอากิ่งไม้ ขอนไม้ที่ขวางทางชีวิตเจ้าออกให้ ที่เหลืออยู่ที่บุญวาสนาเก่าก่อนของเจ้าโชคลาภสมควรแก่บารมีของเจ้าของ ''
สาธุๆ





"...ตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า
'ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ท่านทั้งหลายมีหน้าที่
จะต้องเดินทางเอง' เรื่องของบุคคลผู้เดินทาง ในที่นี้
หมายถึง ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ที่ดับ
ทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง แล้วสอนให้ผู้อื่นดับทุกข์ตาม
ด้วย พระธรรม หมายถึง วิถีทางหรือวิธีบำเพ็ญอันเป็น
ไปเพื่อความดับทุกข์ ส่วนพระสงฆ์ คือ ผู้ที่เข้าใจใน
วิถีทางดับทุกข์แล้วดำเนินตามวิถีทางนั้น จนบรรลุถึง
ความดับทุกข์เช่นองค์พระศาสดา..."

#ที่มา หนังสือ พรไตรรัตน์ หน้า ๑๒๙
พระพุทธิสารเถร ( หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน )






ไม่ต้องตื่นเต้น กับวันใหม่ ปีใหม่ อันนั้นมันหมุนไป
ตามเรื่องของมัน วันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง อันนั้น
เป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา

อันที่เราควรจะตื่นเต้นนั้น ควรตื่นเต้นที่ตัวของเรา
ว่าวันหนึ่งๆ เดือนหนึ่งปีหนึ่ง เราเจริญขึ้น หรือว่า
เราเสื่อมลง อันนั้นต่างหาก

เราเห็นความเสื่อม ความเจริญของเรา
แท้จริง ร่างกายของเรามันเจริญขึ้นไม่มีหรอก
มีแต่เสื่อมลง มันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เสื่อมลงทุกทีๆ

โอวาทธรรม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี







..บุญคืออะไร บุญคือความสุข คือคุณงามความดีที่ได้ทำเอาไว้ คิดเอาไว้เมื่อไหร่ก็สุขใจ ยังไง้ยังไง..จะไปเกิดชาติใหม่ก็ไม่กลัวว่าจะทุกข์ยากลำบาก เพราะมีใจเป็นบุญเป็นกุศลติดสอยห้อยตามอำนวยความสะดวกให้เราไปทุกภพทุกชาติ จะไปวัดวาอาวาสใดก็ดี ก็แล้วแต่ความศรัทธาเลื่อมใสของพวกเรา ขึ้นอยู่กับความตั้งใจคือมีเจตนา พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้ว่า..เจตนาหังภิกขะเว..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนาเป็นตัวบุญ
..ญาติโยมก็เหมือนกัน เมื่อเรามีเจตนามาทำบุญทำกุศล จะมากน้อยเพียงใดก็ขอให้เคารพในกองบุญของตนเอง เหมือนเราได้กล่าวถวายทานไปด้วยความนอบน้อมแก่กองบุญกองกุศลกองทานของตนเอง จะมีมากมีน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ จิตใจของเราเป็นผู้มีศรัทธาอยู่แล้ว เป็นบุญอยู่แล้ว เรียกว่า เสียสละมาจากบ้านจากช่องของตนเอง ได้ละมาแล้ว มาทำคุณงามความดี ชีวิตชีวาก็จะเจริญรุ่งเรือง อยู่ในคุณงามความดีได้ เป็นเครื่องหมายของนักปฏิบัติ..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..
วัดอรัญญวิเวก ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่






เวลานี้อาจจะต้องถามว่า..คนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก
.
❝ สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำเสมอในขณะนี้คือ สภาพความคิดความเชื่อของผู้คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่อง"รากฐานของสังคม" สภาพความคิดความเชื่อของสังคมเป็นตัวบ่งชี้ถึง"ชะตากรรมของสังคม"ด้วย
.
ได้เคยเสนอว่า เวลานี้สังคมไทยมีสภาพอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ความแพร่หลายของ"ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์" โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับ"ไสยศาสตร์" สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมมาก จะปล่อยทิ้งให้คลุมเครืออยู่ไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยกันมานานแล้ว
.
การพัฒนาสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของ"ปัญญา" ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทพเจ้าและไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่พร่ามัว เราจะจมอยู่กับความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือกระนั้นหรือ?
.
จริงอยู่ คนเรานั้นจะให้รู้ชัดเจนในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้พยายามแสวงหาความชัดเจนหรือไม่ หรือยอมอยู่ภายใต้อำนาจความคลุมเครือ และความพร่ามัวนั้น สิ่งสำคัญคือ อย่างน้อยเราจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำมาพูดจาถกเถียงกันให้ชัดเจน มิฉะนั้น สังคมไทยจะอยู่ด้วยความพร่ามัวและความคลุมเครือเหล่านี้เรื่อยไป สังคมที่ไม่มีความชัดเจนและพร่ามัวนั้นพัฒนาได้ยาก ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันมีความสำคัญมาก
.
ความเชื่อถือและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้า ผีสาง อิทธิ ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของผู้อื่น หรือหวังพึ่งปัจจัยภายนอก การหวังพึ่งความช่วยเหลือของผู้อื่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหวังพึ่งคนมีอำนาจ หรือหวังพึ่งอำนาจลี้ลับก็ตาม ก็มีผลทำนองเดียวกัน คือทำให้อ่อนแอลงและเพาะนิสัยประมาท
.
แม้แต่ในกรณีที่ควรมีการช่วยเหลือกันตามบทบาทหน้าที่ (โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ เช่น ผู้ปกครองกับราษฎร) ถ้าอำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นให้ความหวังเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่คลุมเครือ มีขอบเขตไม่ชัดเจนว่า..ฝ่ายที่ช่วยจะช่วยแค่ไหน และฝ่ายถูกช่วยจะต้องทำเองเท่าใด จะเกิดภาวะรีๆ รอๆ ครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ไม่ทำ การช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้เป็นโทษมาก ถ้าให้รู้แน่นอนลงไปว่าไม่มีใครช่วย จะดีกว่า คนที่รู้ชัดว่าไม่มีใครช่วย และจะต้องช่วยตัวเองอย่างเดียวแน่นอน แม้แต่สิ้นไร้ที่สุดก็จะดิ้นสุดฤทธิ์ เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาและก้าวต่อไปได้ ดีกว่าคนที่มิใช่จะยากไร้นักหนา แต่มัวรีรอหันรีหันขวางอยู่กับความหวังที่ไม่ชัดเจน
.
เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก ขยายความอีกหน่อยก็ได้ว่า เวลานี้เรานับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก และเอาไสยศาสตร์เป็นส่วนประกอบ หรือว่านับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก และเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบ ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้อาจจะมีข้อพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น
.
ลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมที่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ก็คือ นอกจากความพร่ามัว และคลุมเครือแล้ว ยังมีการหวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย คนไทยจำนวนมากเวลานี้หวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย โดยเฉพาะจากไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ชัดเจน จะเอาแน่ลงไปก็ไม่ได้ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่เชิง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญก็คือการมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะมีจริงหรือเป็นจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง ❞
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ”






-จิตเดิมประภัสสร แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส

"ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เลื่อมประภัสสร
แจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะ สัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ
จึงทำให้ จิต มิส่องแสงสว่างได้

ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่ง ว่า...
ไม้ชะงกหกพันง่า กะปอมก่า ขึ้นมื้อฮ้อย
กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน
ขึ้นนำคู่มื้อๆ โดยอธิบาย ว่า...
คำว่าไม้ชะงก ๖,๐๐๐ ง่านั้น เมื่อตัดศูนย์ ๓ ศูนย์ออกเสียเหลือแค่ ๖

คงได้ความว่า...ทวารทั้ง ๖
เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอม
ไม่ใช่...ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง
เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง ๖
นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น...
กิเลสทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีขึ้น ก็จะมี
ทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อ...ไม่แสวงหาทางแก้

ธรรมชาติของจิต
เป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ...
อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุม จึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง

ฉะนั้น อย่าพึ่งเข้าใจ ว่า...
พระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์...ต่างหาก
ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียร ทั้งหลาย เมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอม ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ตามที่อธิบายไว้แล้ว...ในอุบายแห่งวิปัสสนานั้นเถิด

เมื่อทำจิตถึงขั้นฐีติจิตแล้ว...
ชื่อว่า...ย่อม ทำลายของปลอมได้หมดสิ้น
หรือว่าของปลอมย่อมเข้าไม่ถึงฐีติจิต
เพราะสะพานเชื่อมต่อ ได้ถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้อง กับอารมณ์ของโลก อยู่...

ก็ย่อม
เป็นดุจ...น้ำกลิ้งบนใบบัว ฉะนั้น"
----------------------------------------------------------------------
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 22 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร