วันเวลาปัจจุบัน 06 ธ.ค. 2024, 21:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2023, 06:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5193


 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าได้มาเกิดแล้วมาคบค้าสมาคมกับคนที่ฉลาด ที่รู้ อย่างพระพุทธเจ้า อย่างพระอรหันตสาวกที่จะคอยสอนคอยสั่งว่า อย่าไปทำบาป ถ้าหากห้ามนิสัยเดิมได้นิสัยที่เคยชอบทำบาป ก็จะเปลี่ยนใจป้องกันใจไม่ให้เสื่อมลงไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกายหรือเป็นนรกได้ หรืออาจจะปรับให้ใจนี้เป็นใจที่สูงขึ้น เป็นกายทิพย์ที่ดีขึ้น เพราะถ้าได้สัมผัสได้พบกับพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะสอนให้เราอย่าทำบาป ให้เรามาทำบุญกันดีกว่า ทำบุญนี้จะทำให้เรามีความสุขแล้วก็จะทำให้กายทิพย์ของเราเป็นกายทิพย์ที่ดีขึ้นสูงขึ้น

ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต








…ฉันใด สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้
ที่ใจอยากได้ ที่คิดว่าให้ความสุขกับใจ
เช่น ลาภยศสรรเสริญ
ความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
ความสุขจากบุคคลต่างๆ จากสิ่งต่างๆนั้น
“ ล้วนเป็นความทุกข์ในบั้นปลาย “

.ในเบื้องต้นก็จะให้ความสุข
เวลาได้มาใหม่ๆก็มีความสุขกัน
เช่น สมมุติเวลาแต่งงานกันใหม่ๆ
จะมีความสุขกัน เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น

.แต่พออยู่กันไปสักระยะหนึ่ง
ความสุขนั้นมันก็ค่อยๆจางหายไป
ความหลงที่คิดว่าสิ่งที่ได้มานั้นให้ความสุข
ก็ค่อยๆ หายไป แล้วก็จะเห็นความจริงว่า
สิ่งที่ได้มานั้น..” มันก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร “

.แทนที่จะให้ความสุข
เหมือนตอนที่ได้มาใหม่ๆ มันก็ไม่ได้แล้ว
ก็บุคคลที่ได้มา..ก็เปลี่ยนไป
ใหม่ๆ ก็รักกัน เอาใจกัน
ต่างคนต่างเอาใจกัน
ก็มีความสุขด้วยกันได้

.แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ต่อไป
แทนที่จะเอาใจกัน “ ก็เอาใจของตนเอง ”
ต่างฝ่ายต่างเอาใจของตนเอง
ก็เลยเกิดการทะเลาะกันขึ้นมา
ความสุขที่ได้ก็หายไปหมด
ก็เลยถึงกับ เกิดการหย่าร้างขึ้นมา

.นี่ความสุขของการมีคู่ก็สุขตอนต้น
สุขช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์
เขาเรียกดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์
แต่พอน้ำผึ้งพระจันทร์หมด
ทีนี้ก็เหลือแต่..น้ำขมพระจันทร์มาให้ดื่มกัน

.ก็ทนดื่มไม่ได้ ก็เลยต้องหย่าร้างกันไป
เลิกรากันไป..นี่ก็เป็นเพราะ

” ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้
มันเป็นของไม่เที่ยง นั่นเอง “.

…………………………………………
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ธรรมะหน้ากุฏิ
๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖





#อย่าคิดอย่ามองคนอื่นในแง่ไม่ดีเด็ดขาด

"... เขาจะดีจะชั่ว​ ก็เป็นเรื่องของเขา ต่าง..
ก็มีกรรมเวร เป็นของตน ไม่ต้องสนใจใคร
หากสนใจความไม่ดีของคนอื่น ระวังตัวเรา
เองอาจจะต้องลง อเวจี ปฏิบัติมาถึงป่านนี้
แล้ว ใครทำไม่ดีกฎแห่งกรรมลงโทษเอง​ ​...”

#หลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา





“สิ่งใดที่เป็นของรัก สิ่งนั้นย่อมเป็นศัตรูแก่ดวงใจ จึงควรละสิ่งนั้นเสีย แล้วตนเอง ก็จะมีความสุข”

ฉะนั้น คนเราจึงอย่าไปเหยียดหยาม ดูถูกในคนที่เขามีปัญญาน้อย หรือฐานะกำเนิดชาติสกุลของเขาที่ตกอยู่ในความต่ำต้อย เพราะสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่ที่กรรมแห่งบุคคลซึ่งทำไว้ในกาลก่อน จึงส่งผลจำแนกให้มาเป็นในลักษณะต่างกัน
บางคนแม้จะตกไปอยู่ในสกุลที่ลำบากยากเข็ญใจ ก็สักแต่ว่ากรรมซัดไปเท่านั้น แต่ความดีซึ่งติดอยู่ในจิตสันดานเดิมของเขามีอยู่ เขาก็อาจจะสำเร็จมรรคผลได้ในวันหนึ่ง ที่กรรมนั้นซัดไปให้เกิดในสกุลยากก็เพื่อจะทรมานเขาให้แลเห็นทุกข์เห็นโทษ และใช้หนี้เวรเก่าของเขาให้หมดสิ้นไปก็มี เพราะคนเราทุกคนที่เกิดมานี้ย่อมเกิดมาแต่ผลของกรรมเก่าที่ตนกระทำไว้ทั้งสิ้น

ถ้าผู้ใดมีดวงตาญาณ ผู้นั้นก็อาจจะรู้ชาติภพของตนที่กระทำกรรมอันใดไว้ ผู้ใดที่ดวงตายังมืดอยู่ด้วยอวิชชา ผู้นั้นก็ย่อมมองไม่เห็น
เรื่องของกรรมนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงสอนไว้มิให้เราประมาท
ผู้ใดทำดีก็ย่อมไม่หนีจากกรรมดี ผู้ใดทำชั่วก็ย่อมไม่หนีจากกรรมชั่วนั้น
เหตุนั้น จึงควรมีความสำรวมระวัง อย่าประมาทในสิ่งที่เรามองไม่เห็นอย่าเหยียดหยามติเตียนในวัตถุทานของผู้ใด ในศีลของเขาก็ดี ในภาวนาของเขาก็ดี เขาอาจมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นความดีแฝงอยู่ภายใน
แต่ถูกปกปิดไว้ด้วยกรรมที่มองไม่เห็น ถ้าเราไปประมาทเขาเข้า

กรรมนั้นอาจกลับมาเป็นโทษสนองตัวเราเอง
ให้ได้รับผลวิบากในกาลภายหน้าได้
‘จิต’ นี้ จะว่าตายก็ตาย จะว่าไม่ตายก็ไม่ตาย
จิตที่ตายก็คือจิตที่มีอาการแปรเปลี่ยนไปด้วยบาปอกุศล
จิตคงที่อยู่ในสภาพเดิม หรือเป็นจิตที่เจือด้วยบุญกุศล ก็เป็นจิตที่ไม่ตาย
ร่างกายของเรานี้ เรียกเป็น ๔ อย่าง ๑. รูป ๒. กาย ๓. สรีระ ๔. ธาตุ
กายนี้ก็ไม่ได้ตายไปไหน เป็นแต่มันแปรเปลี่ยนไปเข้าสภาพเดิมของมัน
ธาตุดินก็ไปอยู่กับธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไปอยู่กับธาตุน้ำ ธาตุไฟก็ไปอยู่กับธาตุไฟ ธาตุลมก็ไปอยู่กับธาตุลม ฯลฯ

ก่อนที่เราจะเกิดมาจริง ๆ นั้น ก็คือธาตุทั้ง ๔ ไปประชุมสามัคคีกันขึ้น และถ้าเจ้าตัวจิตวิญญาณซึ่งลอยอยู่นั้น เข้าไปแทรกผสมเข้าเมื่อใด ก็จะเกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้น แล้วก็ค่อย ๆ ขยายตัวเติบโตออกไปทุกที ๆ เป็นเลวบ้าง ประณีตบ้าง เป็นคนบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง แล้วแต่ กรรมของจิตที่เป็น ‘บุญ’ หรือ ‘บาป’

‘จิต’ เป็นผู้รับผิดชอบในบุญและบาปทั้งหลาย คือกรรมดีและกรรมชั่ว ‘ร่างกาย’ นั้นไม่ใช่เป็นผู้รับผิดชอบ.

จากหนังสือท่านพ่อลี ธัมมธโร
พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตแก่กล้า






"คำสอนหลวงปู่"

" คุณค่าของการมีชีวิต
ทุกคน​ ทุกชีวิตเท่าเทียมกัน"

เห็นคนจนเสื้อผ้าเขาขาด​ร่างกายเขาเหม็น
สกปรกเข้ามาหาเรา
ในบางครั้งอาจจะได้รับกลิ่นเหม็นสกปรก
แต่เราก็ไม่ควรแสดงความรังเกียจเขาเด็ดขาดนะ หากช่วยอะไรได้ก็ช่วยเมตตาเขาไป
อย่าได้แสดงความรังเกียจ
ให้เขาเจ็บแค้นทิ่มแทงใจเด็ดขาด
คนเราทุกคนมันไม่ต่างกัน​
อย่าลดคุณค่าของการมีชีวิต​
เพราะทุกชีวิตเท่าเทียมกัน

พระพรหมวชิรคุณ ดร.(ไพบูลย์ สุมงฺคโล)
วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม​ เชียงของ






#มองเป็นก็เห็นสุข

“น่าแปลกไหมว่า ทั้ง ๆ ที่เรามีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไปและตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่รู้สึกว่าความทุกข์ลดลงเลย กลับจะมากขึ้นด้วยซ้ำ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น มีส่วนน้อยที่เป็นความทุกข์กาย ส่วนใหญ่คือความทุกข์ใจ อันเนื่องมาจากการงานและความสัมพันธ์ แต่เมื่อสาวไปให้ถึงที่สุดแล้วก็จะพบว่ามันมีที่มาจากมุมมองหรือการวางใจของเรานั่นเอง

ความวิตกกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ความอาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว การมองเห็นแต่ด้านลบ ปรุงแต่งในทางร้าย และความไม่พึงพอใจในสิ่งที่มี ตลอดจนการนึกถึงแต่ตัวเอง หรือเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ทั้งหมดนี้เป็นที่มาแห่งความทุกข์ใจของผู้คนส่วนใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ไหน มีมากเท่าใด สุขสบายเพียงใด จึงหนีความทุกข์ไม่พ้น เพราะรากเหง้าของความทุกข์อยู่ที่ใจของเรานั้นเอง ความทุกข์จึงติดตามไปทุกหนแห่ง

ต่อเมื่อเปลี่ยนมุมมองหรือวางใจให้ถูก ความทุกข์ก็จะพลันหายไป มีความโปร่งเบา แช่มชื่น เบิกบานใจมาแทนที่ แม้ปัญหาและอุปสรรคยังมีอยู่ แต่ก็จะไม่มัวแบกมันเอาไว้ให้หนักอกหนักใจต่อไป อีกทั้งยังเปิดใจยอมรับมันเพราะเห็นประโยชน์ของมัน ขณะเดียวกันแทนที่จะรอคอยคาดหวังความสุขข้างหน้าก็สามารถเห็นความสุขอยู่ต่อหน้า เป็นความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้”

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล







“ความเข้าใจผิด”

๑. เข้าใจผิดว่า ทำดีต้องได้ดี ทำบุญต้องได้บุญ
ที่ถูก คือ ทำดีไม่ได้อะไร ได้แค่ละกิเลส
ทำบุญได้แค่สบายใจ

๒. เข้าใจผิดว่า ดีกับใคร คนนั้นต้องดีตอบ
ที่ถูก คือ เรามีหน้าที่ทำดี ใครจะดีกับเรา
ไม่ดีกับเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา

๓. เข้าใจผิดว่า ให้อะไรใคร ต้องได้กลับคืน
ที่ถูก คือ การให้ คือ ยินดีเสียสละ ให้แล้วคาดหวัง
ไม่ใช่การให้ อ้างบุญคุณไม่ได้

๔. เข้าใจผิดว่า แก่แล้วทำอะไรก็ได้
ที่ถูก คือ แก่แล้วต้องยิ่งสำนึก ทำชั่วไม่ได้
เวลาเหลือน้อย

๕. เข้าใจผิดว่า ต้องทำเพื่อความมั่นคงของชีวิต
ในภายหน้า ที่ถูก คือ ความมั่นคงไม่มีในโลก
ตายได้ทุกเมื่อ

๖. เข้าใจผิดว่า ความต้องการของตัวเองสำคัญที่สุด
เราสำคัญที่สุด ที่ถูก คือ ไม่มีความต้องการนั่นแหละ
สำคัญที่สุด ไม่มีเราต่างหากสำคัญที่สุด

๗. เข้าใจผิดว่า เข้าวัด ใจสงบ
ที่ถูก คือ วัดอยู่ในใจ ใจสงบ

๘. เข้าใจผิดว่า ความสบายเลือกได้
ที่ถูก คือ เกิดมาก็ทุกข์แล้ว มันเลือกไม่ได้
ไม่มีใครสบายตลอดชาติ

๙. เข้าใจผิดว่า สิ่งของ คนของเรา ตัวตนของเรา
เราต้องยึดไว้ รักษาไว้
ที่ถูก คือ ไม่มีอะไร หรือใคร ให้ต้องยึด ต้องรักษา
ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา และที่สุดแล้ว ..ก็ ไม่ มี.. “

ท่านพุทธทาสภิกขุ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร