วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2019, 05:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


" ให้พากันเข้าวัดนะ วัดดูจิตใจของเรา
ต้องวัดเสมอ นั่งก็วัด นอนก็วัด เดินยืนก็วัด
วัดเพราะเหตุใด ให้มันรู้ไว้ว่าจิตเรามันดีหรือไม่ดี
ไม่ดีจะได้แก้ไข ต้องวัดทุกวัน
ตัดเสื้อตัดผ้าก็ยังต้องวัดไม่ใช่เรอะ ไม่วัดจะใช้ได้อะไรล่ะ "

โอวาทธรรม:พระคุณเจ้าองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร





"..นักปฏิบัติ หลงติดอยู่ที่ความพอใจและไม่พอใจ เป็นเครื่องอยู่

เอาความพอใจและไม่พอใจเป็นเครื่องอยู่ เมื่อพอใจได้สมใจก็เป็นสุข เมื่อไม่พอใจก็เกิดทุกข์ แต่ทั้งสุขและทุกข์ก็ยังเป็นเงื่อนของสมมติ

ไม่มีใครคิดที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างสุขกับทุกข์ เพราะตรงนั้นไม่มีทั้งความพอใจ และไม่พอใจ แต่เป็นความพอ พอดี
ผู้ที่หลงเพลินเล่นอยู่กับความพอใจและไม่พอใจ จึงได้หนังสือเดินทางแห่งการท่องเที่ยวของภพชาติติดตัวไปตลอด

ความพอใจและไม่พอใจ
เป็นอาหารชั้นยอดเยี่ยมของกิเลส.."

โอวาทธรรม
คุณแม่จันดี โลหิตดี
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี






“ให้ดูใจ ถ้าหากว่าเราดูใจของเราแล้ว
ทำดีได้ดีจริง ใจมีความสบาย ใจมีความสุขจริง
ทำไม่ดี ได้ความไม่ดีจริง ใจไม่สบายจริง ใจเป็นทุกข์จริง
ถ้าเราดูใจของเราแล้ว มันชัดเหลือเกิน
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ดูใจของเรามากๆ
แล้วคำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
อันนี้เราจะยอมรับอย่างสนิทใจ
อย่าใจร้อน ค่อยเป็นค่อยไป อย่าใจร้อน
ใจร้อนจะร้อนใจ ร้อนใจเพราะไม่ได้ดั่งใจ
ทำใจเย็นๆ แต่ว่าต้องมีความพยายามให้มาก
พอใจในการทำให้มาก อันนี้เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง”

-พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร (แบน ธนากโร)
วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร







“ประโยชน์ที่สำคัญที่สุด
ของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
แล้วได้พบพระพุทธศาสนา
ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็คือ การปฏิบัติตาม
ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่มีประโยชน์”

ครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก






" กาลใดที่ขาด...สติ
กาลนั้นเลือกว่า...ขาดเพียร
แม้...กำลังเดินจงกรม
หรือ นั่งสมาธิอยู่...ก็สักแต่ว่า เท่านั้น
แต่...มิได้เลือกว่า...
เป็นความเพียรชอบ
ดังนั้น...ท่านจึงสอนเน้นลงใน...
ความมี...สติ
มากกว่าธรรมอื่น ๆ."

(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)







“เป็นผู้มีเมตตากรุณา”

คนเรานั้น ต้องเป็นผู้ที่มีเมตตา กรุณากว้างขวางนะ กว้างขวางไม่ใช่เฉพาะในบรรดามนุษย์เท่านั้น ก็ต้องมีเมตตาสงสารตลอดจนถึงพวกสัตว์ ที่เกิดขึ้นมาในพื้นปฐพีของเราทั้งหมด ทำจิตให้กว้างขวาง ไม่อยากให้มีกรรมมีเวรมีภัย ต่อเนื่องไป หลายภพหลายชาติ

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ไม่หยุดในด้านศีลธรรม เราก็เคยได้ยินมาแล้ว บางคนก็เคยได้ยินแต่ชื่อ อยู่ในหนังสือก็มีหมด ศีลห้าท่านก็บอกไว้หมด ศีลแปดท่านก็บอกไว้ ตลอดจนถึงศีลของพระเจ้าพระสงฆ์ บางคนก็เคยได้บวชมาแล้วก็มี แต่วิธีการเหล่านี้ ก็เพื่อสอนจิตใจให้ได้รับความสุขหมด แต่โดยมาก บางคนก็ไปหาสิ่งทุกข์ สิ่งเดือดร้อน มาสู่จิตใจตัวเอง จึงไม่ค่อยได้รับความสุขเท่าที่ควร

หลวงปู่ศรี มหาวีโร





" หว่านข้าว กะต้องหว่านลงนา ไปหว่านลงหิน มันกะบ่ได้หยัง ทานกะให้มันถูกที่ ถิ่มบ่ถูกที่ มันกะบ่มีผลานิสงส์ทานกับอลัชชี ผู้บ่มีศีลมันบ่ได้หยังดอก ทานร้อยได้ถึงสลึงบ่นั่น มันต้องเบิ่งแหน่ลูกเอ๋ย"

หลวงปู่ประไพร สุภโร




ให้เห็นความคิด
อย่าไปห้ามความคิด
และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ







โยม:
หลวงปู่เจ้าขา ทำไมศาสนาพุทธถึงมี
แต่ให้ทาน เดี๋ยวก็ถวาย เดี๋ยวก็ถวาย
นี่อย่างวันนี้ก็ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน
ถวายผ้าป่า กฐิน มีแต่ถวายเต็มไปหมด แสดง
ว่าจะได้บุญมา ต้องเสียเงินเสียทองสิเจ้าคะ

หลวงปู่:
อือ บุญเป็นชื่อของความสุข ทำแล้วทุกข์
อย่าทำ!

โยม:
โยมก็ไม่ได้ทุกข์ แค่สงสัยว่า ทำไมศาสนา
มีแต่การให้ทาน

หลวงปู่:
การทำบุญในพระศาสนาน่ะมีหลายแบบ
มีหลายระดับ ระดับทาน ระดับศีล ระดับภาวนา
คนใจยังไม่สูง ก็มัววุ่นอยู่กับทานอย่างเดียว
คนใจสูงมากอีกหน่อย ก็ทำบุญเรื่องศีล
เมื่อใจถึงระดับแล้ว เขาจะทำบุญด้วยการ
ภาวนา เพราะทานกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
ศีลกำจัดกิเลสอย่างกลาง ภาวนากำจัดกิเลส
อย่างละเอียด

บางคนทำบุญ แล้วไม่รู้เรื่องบุญ ก็มัวแต่หาว่า
มีแต่ทาน แต่ทาน คนบ้าทานก็ทำทานเอาหน้า
ทำทานเอาตรา ทำทานเพื่อโฆษณา

แท้จริงแล้ว การทานมีจุดประสงค์ เพื่อละตัวเรา
เพื่อละของเรา อาศัยสิ่งของ เพื่อละความเห็น
แก่ตัว ละความถือตัวถือตน บางคนทำบุญ
ทำทานไม่เป็น ให้แล้ว ยังถือว่าเป็นของเรา
เป็นของเรา บางคนทำทานแล้ว ประสงค์นั่น
อธิษฐานนี่ วุ่นวายไปหมด อันนี้ให้ทานเอา
ตัณหา ให้ทานเอาโลภ ให้ทานเอากิเลส
ทานที่แท้จริงต้องทานเพื่อละ เพื่อทิ้ง!

เอาของมาทานให้หลวงปู่แล้ว มาให้หลวงปู่
เสกนั่น เป่านี่ อธิษฐานเอานั่นเอานี่ เหมือน
หลวงปู่จะบันดาลให้ได้ คนที่เอาข้าวให้หมากิน
เขายังได้อานิสงส์มากกว่าคนพวกนี้ เพราะเขา
ให้ทานเพื่อละ ให้ทานเพื่อนุเคราะห์สัตว์
ตกยาก เขาให้ทานโดยไม่มีความเป็นตัว
เป็นตน ไม่อธิษฐานเอานั้นเอานี่จากหมา
ไม่ต้องบอกหมาว่าต้องฉันของโยม ของหนู
ของฉัน

นั่นคนพวกนั้นเขาทานเพื่อละเพื่อวาง คนที่
วางตัววางตน ก็ไม่มีตัว ไม่มีตน คนไม่มีตัว
ไม่มีตน มันจะทุกข์มาจากไหน เพราะมีตัว
อะไรก็ของตัว ได้ ตัวก็ได้ เสีย ตัวก็เสีย
กระทบอะไร ตัวก็กระทบ มันจึงทุกข์จึงยาก
แต่ละตัวละตนเสียแล้ว จะทุกข์กับอะไร
ถ้าคุณเข้าใจอย่างนี้ หลวงปู่เรียกคนเหล่า
นั้นว่า เขาทำทานเพื่อพึ่งพา ให้ทานเพื่อละ
เพื่อวาง เขาจะไม่ทุกข์กับการให้ทาน
เขาเป็นนักทานที่แท้จริง เข้าใจนะ

หลวงปู่หา สุภโร(หลวงปู่ไดโนเสาร์)






"..ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น
พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคตเพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวงศาสนาทางมิจฉาทิฐิ ก็นับวันจะแสดงปฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่แก่ธรรม
ดังไฟที่กำลังใหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด

ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร
ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คืออนิจจัง ทุกขังอนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆ
และแยบคายด้วยจะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะอันถ่องแท้

ไม่ต้องสงสัยดอก พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ.."
.
บันทึกโดยพระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต จากหนังสือ"เพชรน้ำหนึ่ง”

โอวาทครั้งสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต






งานทางธรรมเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็เลิกแล้วกันไปจริงๆ ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะมาก่อกวนจิตใจให้ต้องทำงานเพื่อถอดถอนกิเลสกันอีกต่อไป ท่านจึงเรียกว่า “ วุสิตํพรฺหฺมจริยํ “ พรหมจรรย์ได้กระทำสำเร็จลุล่วงปลดบ่วงแห่งมารออกไปหมดแล้ว หรือพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว จบงานแล้ว งานปราบปรามหรือถอดถอนกิเลสนี้จบสิ้นลงไปแล้ว ด้วยความเพียรของเรา “ กตํกรณียํ “ งานที่ควรทำได้ทำสำเร็จลุล่วงไปเรียบร้อยแล้ว “ นาปรํอิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ “ กิจอื่นงานอื่นที่จะต้องทำให้ยิ่งกว่านี้อีกไม่มี งานหนักที่สุด ก็คืองานแก้กิเลสนี้ ผลงานที่เลิศที่สุด ก็คือผลงานอันได้ชัยชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนี้แล...
(โอวาทธรรม หลวงพ่อสมเกียรติ)





อายุไม่สำคัญเท่ากับความดี
ที่ตนเองทำไว้ แม้อายุจะได้ ๑๐๐ ปี
แต่ความดีไม่มี ก็ไม่ได้ประโยชน์
อย่ามายินดี กับการมีอายุ
ให้ยินดี กับความดี"

-:-หลวงปู่จาม มหาปุญโญ-:-





"ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับใครเลย ต้องพร้อมที่จะให้อภัยอยู่เสมอ อย่างนี้
ใจเราสบาย"
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วัดศรีอภัยวัน ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย






สนิมในใจ....
ชีวิตของท่านมีกาฝากไว้ในจิต
มันฝากให้จิตท่านคิดแต่เรื่องเลวๆ
เห็นตัวดีคนเดียวคนอื่นชั่วหมด
ประเภทนี้เจริญกรรมฐานไม่ได้หรอก เป็นคนมีเวรมีกรรม ท่านไม่ต้องมาเจริญกรรมฐานหรอก
จะไปอีก 100 วัด ท่านก็แค่นั้น เสียเงินค่ายานพาหนะ ไปเสียเวลาตามวัดต่างๆ
ขอฝากให้ท่านคิดให้มากที่สุดว่า ท่านมีสนิมในใจไหม ท่านมีสนิมขุมไหม ถ้ามีสนิมขุมกัดกินเหล็กทะลุแล้ว ก็ไม่ต้องเจริญกรรมฐาน
ชาตินี้ท่านก็ไม่ได้อะไร เป็นคนไร้สาระ เป็นคนเกิดมาเสียชาติเกิด ไม่ประเสริฐอะไรกับเขา แค่ดีทำไม่ได้ ดีแค่ 3 วัน ทำได้อย่างไร ว่าไม่ว่าง
พูดแก้ตัวว่าไม่ว่างทั้งนั้น งานมากมายจริงๆ สร้างความดีไม่ว่าง แต่สร้างความชั่วน่ะว่างกันนัก สร้างโดยไม่รู้ตัว
ความชั่วในจิตใจ สนิมในใจมีมาก คิดไม่ออก บอกไม่ได้ ใช้ไม่เป็น ชีวิตจะลำเค็ญย่ำแย่จนแก่ตาย ชีวิตท่านจะไร้ความหมาย
ถ้าชีวิตนี้ ตั้งแต่หนุ่มสาวขาดทุน ออกแขกบอกเรื่องไม่ดีแล้ว มีสนิมในใจ ท่านจะเล่นละครชีวิตต่อไปแสนจะยากลำเค็ญใจ

ทำมาหากินก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ราว ไม่ได้ผล เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองแน่นอน
คนก็เช่นเดียวกับต้นไม้ มีกาฝากนี่ มันจะไม่งอกไม่งาม มันจะไม่ออกพืชออกพันธุ์ ออกผล แน่นอน
ท่านอย่าเอากาฝากมาไว้ในจิตใจนะ อย่างสร้างสนิมขุมให้มันลุ่มลึก จิตใจของท่านจะไม่สามารถสร้างความดีกับเขาได้เลย
จะเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ตามก็แค่นี้แหละ แก่ไปมันก็จะแย่ลงไป มันก็จะแย่ลงไปทุกวัน มีแต่ความทุกข์ระทมขมขื่น ขมก็จะกลืนหรือ จะกลืนอย่างไร ขื่นก็จะอม ขมก็ต้องกลืน กลางคืนก็ฝันหวานไปตามสนิมขุม ชีวิตจะไร้ค่า ชีวิตจะไม่มีเวลาที่มีประโยชน์เลย ...

โอวาทธรรมคำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี






ชีวิต คือ กระแสของการปรุงแต่ง สังขาร
เตสํ วูปสโม สุโข : สงบสังขารเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง
.
"สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น มีกระแสที่ไหลไป ไหลไป จะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเรายืนดูในที่สูง ก็เห็นน้ำในแม่น้ำไหลไป ไหลไปในลำน้ำ ไหลไปๆ มีอะไร ไปอย่างไร ยืนดูแล้วก็เห็นกระแสที่มันไหลไปนั้น ถ้าตามดูไปได้ตลอดเวลา ตลอดกระแส ก็จะมีความรู้มีความเข้าใจ กระทั่งว่า..สิ่งนั้นไปถึงทะเลหรือไม่ กระทั่งว่า..มันไปจมเสียกลางทาง หรือกระทั่งว่า..มันไปติดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เน่าผุพังอยู่ที่ตรงนั้น หรือว่ามีใครลากเอาท่อนไม้ท่อนนั้นในกระแสน้ำนั้นขึ้นบกเสีย ไม่มีโอกาสที่จะไปตามกระแส

ชีวิตนี้มันก็มีการไหลในทำนองเดียวกัน เป็นกระแสแห่งการปรุงแต่งตามส่วนของมันๆ ที่เป็นส่วนของวัตถุหรือร่างกาย มันก็มีกระแสไหลไปตามแบบของวัตถุ ก่อตัวขึ้นมาอย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร ปรุงแต่งขึ้นมาอย่างไร งอกงามขึ้นมาอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงก็เหมือนกับกระแสแห่งการไหล นี้เป็นเรื่องทางวัตถุที่มีกระแส

ทีนี้ มองดูในทางจิต มันก็มีการปรุงแต่งอีกนั่นแหละ มีอะไรถึงกันเข้า เกิดความรู้สึกทางจิต แล้วก็ปรุงกันต่อไป ให้ไหลไปตามเรื่อง อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกถึงกันเข้า ก็เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ และเกิดทุกข์ ก็เรียกว่าเป็นการปรุงแต่ง เป็นการเปลี่ยนแปลง มีกระแสของการเปลี่ยนแปลง ไหลไปจนเกิดความทุกข์ หรือในทางที่ตรงกันข้ามก็ไม่เกิดความทุกข์ เพราะมันมีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงในทางที่ตรงกันข้าม

ความปรุง(สังขาร)ทำให้เกิดทุกข์
ทีนี้ เรามาดูกันตรงที่ว่า มันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจึงจะไม่เกิดทุกข์ หรือว่าที่มันเกิดทุกข์ กันก่อนดีกว่า แล้วจึงดูว่าที่มันไม่เกิดทุกข์นั้นอย่างไร มันจะง่ายดี

เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส เป็นต้น ในโอกาสนั้นเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วว่ากระทบ ถ้ามันไม่มี"วิชชา"เข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ปรุงแต่งไปในทางธรรมชาติ ธรรมดา ที่ไม่มีวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง คือมันจะเกิดเวทนาสำหรับให้ยินดียินร้าย เวทนาทำให้โง่ นี่จิตมันก็ไปตามทางของ"อวิชชา" มีเวทนาอย่างนี้แล้วมันก็ปรุงแต่ง เกิดตัณหา เกิดความอยาก ที่น่าพอใจก็อยากได้ ที่ไม่น่าพอใจก็อยากทำลาย เป็นตัณหาขึ้นมา คือความอยากตามอำนาจของอวิชชา มีความอยากแล้วก็เกิดความรู้สึกเป็น"กูผู้อยาก"ขึ้นมา นี้ก็เป็นอุปาทาน จนกระทั่งว่าเข้มข้นๆ เป็น"ตัวกู-ของกู"ที่เข้มข้น เป็นภพขึ้นมา เป็นชาติขึ้นมา ชาติแห่งตัวกูที่เต็มที่ หรืออุปาทานที่แก่จัด จนคลอดออกมาเป็น"ตัวกู" สำหรับจะวุ่นวายภายนอก "ตัวกู"ที่แสนจะโง่เขลา อย่างนี้ มันก็ทำอะไรไปตามความโง่เขลานั้นๆ มันก็ไปเอานั่น เอานี่ เข้ามาเป็นของกู จนเกิดเรื่องเกิดราว เป็นความยุ่งยากลำบาก ทนทุกข์ทรมาน เอาอะไรๆของธรรมชาติมาเป็น"ของตัวกู" เช่น เอาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของธรรมชาติ มาเป็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย "ของกู" แล้วมันก็ได้ความทุกข์เองแหละ ได้ความทุกข์เองอย่างสาสมกันทีเดียว สาสมกับความโง่ ที่ไปเอาธรรมชาติมาเป็น"ของกู" ในลักษณะที่เหมือนกับว่าแย่งชิงเอามา ปล้นเอามา หลอกลวงเอามา นี่คือ "กระแสของชีวิต" ตามธรรมดาที่มีอยู่ในคนเรา แต่ละวัน แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ตลอดชีวิต มันก็ได้รับความทุกข์"

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง "กระแสแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก" บรรยายเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ธรรมะคือสิ่งพัฒนาชีวิต ครั้งที่ ๔
-------------------------------------------

ต้องรู้เท่าทันในเล่ห์ของ"สังขาร" จึงจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย

"คำว่า "สังขาร" นั้น มีความหมายได้เป็น ๒ อย่าง ทั้งที่มันแปลได้อย่างเดียว

"สังขาร" แปลว่า "สิ่งที่ปรุงแต่ง"
แต่โดยพฤตินัยหรือที่เป็นไปจริงๆนั้น มันทั้งปรุงแต่งเขา และถูกเขาปรุงแต่ง พร้อมกันไปในตัวคราวเดียวกันทั้งสองทาง.

สังขาร ในฝ่ายนามธรรมหรือจิตก็เป็นเช่นว่านี้ คือ ความคิดอันหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความคิดอีกอย่างหนึ่ง แล้วความคิดอันใหม่ก็กลับเป็นเหตุให้เกิดความคิดอันอื่นต่อไป โดยไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งเป็นการกระทำออกมา แล้วก็ปรุงให้เกิดความคิดอันเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ต่อๆเรื่อยกันไปไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าสิ่งที่เรียกว่า"สังขาร"นั้นจะเข้าไปถึงแดนอันเป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งหลาย กล่าวคือ"พระนิพพาน" จึงจะสิ้นเรื่องกัน.

ฉะนั้น สังขารอย่างใด ชั้นไหนก็ตาม ไม่ควรถูกหลงจับฉวยเอามา(ยึดมั่นถือมั่น)

จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จนให้เห็นลักษณะที่มันเป็นเพียงสังขาร แล้วปัดทิ้งเสีย ไม่ใช่ความยึดถือเป็นตัวเป็นตน อันจะนำมาซึ่งความยินดียินร้าย และก่อให้เกิดกิเลสกองใหม่ไม่รู้สิ้นสุด

เมื่อได้อบรมจิตให้ประกอบด้วยปัญญา คอยรู้เล่ห์กระเท่ห์ของสังขารอยู่ดังนี้ จิตย่อมปล่อยวางความยึดถือในสิ่งต่างๆได้ประณีตและสูงยิ่งขึ้นทุกที."

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากปาฐกถาธรรมหัวข้อ "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม"
----------------------------------

เตสํ วูปสโม สุโข : สงบสังขารเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง

" เตสํ วูปสโม สุโข : สงบสังขารเสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่ใช่หมายถึงความตาย นั่นภาษาคนโง่พูด ว่านอนอยู่ในโลงนั่นคือสงบสังขารเสียได้ เป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาคน.

ภาษาธรรมะ สงบสังขารเสียได้ นั่นคือ หยุดการปรุงแต่งเสียได้

ไม่ปรุงแต่งกายสังขาร
ไม่ปรุงแต่งวจีสังขาร
ไม่ปรุงแต่งมโนสังขาร
ทั้งชนิดบาป บุญ อเนญชา, ไม่ว่าชนิดไหนหมด ไม่มีการปรุง,

มีหัวใจรวมอยู่ที่ดับแห่งความผัสสะเสียได้ แล้วก็ไม่มีการปรุง ก็เรียกว่า "สงบแห่งสังขาร"

สงบแห่งสังขาร คือ หยุดการปรุง นี่ก็เป็นไวพจน์แห่ง "พระนิพพาน"

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง"ความสิ้นกรรมและไวพจน์ของนิพพาน" ณ ลานหินโค้ง เมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗
--------------------------------------------

“สังขาร” มันแปลว่า การปรุง ปรุงแต่ง
หรือ สิ่งปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง
พอเป็นภาษาไทย รู้กันแต่ว่า คือ“ร่างกาย”
สังขาร คือร่างกาย ดับสังขารคือตาย

เมื่อไปงานศพจะได้ยินพระสวด“อนิจฺจา วต สงฺขารา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มักจะเล็งถึงร่างกาย และโดยเฉพาะศพที่นอนอยู่ในโลง อย่างนี้ไม่ถูกดอก

สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ
ในที่นี้ ก็แปลว่า ของปรุงทั้งหลาย
ของที่ถูกปรุงทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ
เพราะมันถูกปรุงขึ้นมา แล้วมันก็เปลี่ยนไป
ควรจะเข้าใจเสียให้ถูก สำหรับจะไปฟังอะไรถูก คิดนึกอะไรถูก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัก ๒ อย่างนี้ ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัทเรา คือบอกว่า...
ที่ปรุงนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ที่ดับ หยุด นั้น เป็นสุขอย่างยิ่ง
หัวข้อนี้จำไว้ให้ได้ แล้วก็ให้นึกได้ทันทีที่มันมีเรื่อง

คนเรามันก็มีเรื่องสองเรื่องนี้ตลอดชีวิต
ตลอดชีวิตของคนเรา จะมีเรื่องปรุงกับเรื่องดับ เรื่องปรุงเรื่องดับ สลับกันไป

สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา = สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
เตสํ วูปสโม สุโข = การระงับเสียซึ่งสังขาร(นิพพาน)นั้น คือการระงับเสียซึ่งการปรุงนั้นเป็นสุข ไม่ใช่หมายความว่า การตายเป็นสุข”

พุทธทาสภิกขุ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 43 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร