วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 20:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำความเข้าใจความหมาย คำว่า "ธรรมะ" ที่นี่ก่อน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55033[url][/url]

คำสอนในทางพุทธศาสนานี้ มี ๒ ชั้น คือธรรมะหรือพระธรรมมี ๒ ชั้น : ธรรมะที่เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่ง กับ ที่เป็นสัจธรรมอีกอย่างหนึ่ง (หรือว่าจริยธรรมอย่างหนึ่ง กับ สภาวธรรม อย่างหนึ่ง)

ศีลธรรม นั้นเป็นคำสอนชั้นธรรมดา ที่มีคล้ายกันทุกศาสนา ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ มีคำสอนในด้านศีลธรรมคล้ายกัน ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

เรื่องของศีลธรรมเกิดขึ้นอย่างไร เราควรรู้ เพราะศีลธรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคม

สัจธรรม เป็นเครื่องแก้ปัญหาเฉพาะคน

ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงหน่อย ก็เรียกว่า สัจธรรมเป็นเรื่อง “ปัจเจกชน”

ศีลธรรมเป็นเรื่อง “สังคม”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 21:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายของคำ และเนื้อความในทำวัตรเช้า-เย็น (บทว่า ธัมมัง เทเสสิ อาทิกัลยาณัง ถึงจบ พระธรรมคุณ)


วันก่อนพูดถึงพระคุณของพุทธเจ้าที่เราสวดมนต์ธรรมดาก็ว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ซึ่งเป็นคำภาษาบาลี แต่การสวดของเราได้มีการแปล เพื่อให้มีความเข้าใจในความหมายของศัพท์ เมื่อเข้าใจความหมายของศัพท์แล้ว ยังไม่พอ ต้องเข้าใจความหมายของเนื้อความนั้นด้วย ที่เรียกว่า โดยอรรถ โดยพยัญชนะ.

เข้าใจในความหมายของศัพท์ เรียกว่าโดยพยัญชนะ ว่าความหมายของศัพท์นั้นมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
อรรถคือเนื้อความของเรื่องนั้น รู้อรรถนั้นๆว่าหมายถึงอะไรด้วย จึงจะถูกต้อง ได้พูดมาโดยลำดับ ถึงคำว่า ภะคะวา ผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

วันนี้ จะพูดถึงคำว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง ซึ่งหมายความว่า แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การแสดงธรรมของพระองค์ไม่มีพิธีรีตอง เพราะที่แท้ก็คือการสนทนากับคนหนึ่ง หมู่หนึ่งนั่นเอง พระองค์ทรงแสดงให้รู้ถึงความหมายของถ้อยคำ บางทีก็ถามให้เขาตอบ ถามตอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แล้วก็ยอมให้ค้านได้ เมื่อยังเกิดความสงสัย ทรงชี้แจงพร้อมด้วยตัวอย่างเปรียบเทียบ ด้วยคำพูดอันจูงใจ สะกิดใจให้เขาเข้าใจยิ่งขึ้น แม้ผู้มาฟังด้วยตั้งใจจะจับผิด ข่มขี่ถ้อยคำ ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พระองค์ ยอมเป็นศิษย์

ในบาลีทั่วไปเมื่อจบเทศนา ผู้เลื่อมใสจะเปล่งคำว่า ไพเราะนักพระโคดม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ซึ่งเป็นความหมาย จะได้อธิบายพอเป็นแนวอีกหน่อยหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 21:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในสูตรหนึ่งๆ ขึ้นต้นด้วยถ้อยคำนิทาน บอกเวลา สถานที่ ตลอดจนผู้มารับเทศนา ตอนกลางว่าด้วยเรื่องที่แสดง ลงท้าย ด้วยคำนิคม คือรวบยอดเนื้อความนั้นๆ สูตรนั้นจึงไพเราะด้วยสถานสาม คือ เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด


ในพระสูตรทั่วไปต้องมีนิทาน ซึ่งหมายถึงบทนำ ว่า พระองค์ตรัสที่ไหน ? เมื่อไร ? กับใคร ? เช่น เราอ่านมงคลสูตรว่า เอวัมเม สุตัง ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ อันเป็นคำของพระอานนท์ เพราะว่าการทำปฐมสังคายนานั้น พระอานนท์เป็นผู้กล่าวเรื่องพระสูตรต่างๆ
พระมหากัสสปะเป็นผู้ถามว่า พระสูตรนั้นตรัสที่ไหน ? พระอานนท์บอกว่า เอวัมเม สุตัง ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ เอกัง สะมะยัง สมัยครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่พระเชตวัน ใกล้เมืองสาวัตถี เช่นนี้ เราเรียกว่า เริ่มเรื่อง แล้วก็ทรงปรารภกับใคร ? สอนธรรมะนั้นแก่ใคร ? ต่อไปก็ว่าแก่คนนั้นคนนี้


แล้วต่อไป ในท่ามกลาง ก็บอกข้อความที่ตรัสสอนว่าสอนเรื่องอะไร เช่น ในมงคลสูตรนี้ก็บอกว่า ตรัสแก่เทวดาที่มาถามในเวลากลางคืน ข้อความที่ตรัสนั้นก็ตรัสในเรื่องที่เป็นมงคล ๓๘ ประการ แล้วก็ตรัสไปจนกระทั่งจบ เป็นคำของพระพุทธเจ้า ที่พระอานนท์ได้ฟังมาก็เอามาเล่ากันอีกที ในพระสูตรต่างๆ มีการ ขึ้นต้น ท่ามกลาง ลงท้าย อย่างนี้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไพเราะมีเหตุมีผล มีบุคคล เป็นผู้อ้างอิง ไม่ใช่พูดเอาเฉยๆ แต่มีหลักฐานว่า แสดงที่ไหน เมื่อไร กับใคร ด้วยเรื่องอะไร และแสดงแล้วนั้น มีผลเป็นอย่างไรบ้าง ในตอนท้ายของเรื่องมักจะบอกไว้ว่า ผู้ฟังพอใจ ได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ หรือ ว่าได้บรรลุมรรคผล เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ อันนี้ เป็นข้อความในพระสูตรทั่วไป


เรื่องพระสูตร ส่วนมากเป็นเรื่องของการสนทนา พระผู้มีพระภาคเคยสนทนากับคนโน้น คนนี้ ไม่ใช่เรื่องนิทาน
มีคนบางคนพูดว่า พูดกันแต่เรื่องพระสูตร ที่เขาพูดอย่างนั้น เขาหมายถึงเรื่องนิทาน บางท่านเข้าใจไปอย่างนั้น

ที่จริงเรื่องพระสูตรไม่ใช่นิทาน แต่ เป็นเรื่องคำสอนให้ปฏิบัติ ข้อความในคำสอนนั้นอยู่ในพระสูตรทั้งนั้น ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า สุตตันตะ คือ ข้อความที่มีอยู่ในสูตร
สุตตันตปิฎก หมายถึงเรื่อง สูตร ต่างๆ
วินัยปิฎก หมายถึงเรื่อง วินัย ต่างๆ
อภิธรรมปิฎก เป็นข้อธรรมล้วนๆ ที่เขาเก็บรวบรวมขึ้นทีหลัง ไม่ใช่ว่าพุทธเจ้าท่านพูดไว้อย่างนั้น

ฉะนั้น บางคนจึงเรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้มาในรูปคำพูดของพระพุทธเจ้า แต่มาในรูปคำเรียงความ เป็นคำซึ่งเก็บมาจากพระสูตรนั่นเอง บรรยายความจากพระสูตร ซึ่งเอาแต่ธรรมะล้วนๆ เป็นข้อ เป็นเรื่องไป มันก็เป็นเรื่องน่าศึกษา น่าสนใจอยู่ นี่ก็เป็นประการหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2018, 07:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อีกประการหนึ่ง ธรรมทั้งสิ้นชั้นต่ำๆ รวมยอดได้ เป็นศีล ชั้นกลาง เป็นสมาธิ ชั้นสูงก็เป็นปัญญา เป็นลำดับสะดวกแก่แนวทางของผู้จะศึกษา จึงไพเราะ ๓ สถาน
อันนี้ หมายความว่า ไพเราะเป็นเบื้องต้น ได้แก่ ศีล
ไพเราะเป็นท่ามกลาง ได้แก่ สมาธิ
ไพเราะในที่สุด ได้แก่ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติที่วางไว้โดยลำดับ เบื้องต้นรักษาศีลก่อน ต่อไปก็ฝึกฝนพัฒนาจิตให้มีสมาธิ เมื่อจิตมีสมาธิแล้วก็สืบค้นเพื่อให้เกิดปัญญา เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา

สิกขา เรื่องควรศึกษาควรเล่าเรียน คำว่า “สิกขา” ไม่ได้หมายความว่า เรียน ท่อง บ่น อย่างเดียว แต่หมายถึง การปฏิบัติด้วย ไม่ใช่เรียนท่องจำเฉยๆ ถ้าเรียนท่องจำเฉยๆ และเอาไว้คุยกันเล่น จะไม่เกิดประโยชน์ ประโยชน์คุ้มค่า ประโยชน์อยู่ที่เรียนเข้าใจแล้วเอาไปปฏิบัติฝึกหัดกาย วาจา ใจ ของเราให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบต่อไป การเรียนอย่างนั้น จึงจะได้ผลสมบูรณ์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2018, 07:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คคห. บน พูดถึงสิกขา แทรกความหมาย สิกขา ไว้ด้วย

สิกขา การศึกษา, การสำเหนียก, การเรียน, การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตน หรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงสมบูรณ์, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมพัฒนาบุคคล, สิกขา ๓
คือ
๑. อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลอันยิ่ง, อธิศีลอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาศีลอย่างสูง (ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นศีล, ปฏิโมกขสังวรศีล เป็นอธิศีล แต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ (เรียกว่า สิกขาบท-ข้อที่ต้องศึกษา) ที่รักษาด้วยความเข้าใจ ให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิศีล)


๒. อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตอันยิ่ง, อธิจิตอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้มีสมาธิเป็นต้นอย่างสูง (กุศลจิตทั้งหลายจนถึงสมาบัติ ๘ เป็นจิต, ฌานสมาบัติที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา เป็นอธิศีล แต่สมาบัติ ๘ นั่นแหละ ถ้าปฏิบัติด้วยความเข้าใจ มุ่งให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิจิต)


๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, อธิปัญญาอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาปัญญาอย่างสูง
(ความรู้เข้าใจหลักเหตุผลถูกต้องอย่างสามัญ อันเป็นกัมมัสสกตาญาณ คือ ความรู้จักว่าทุกคนเป็นเจ้าของแห่งกรรมของตน เป็นปัญญา, วิปัสสนาปัญญาที่กำหนดรู้ความจริงแห่งไตรลักษณ์ เป็นอธิปัญญา แต่โดยนัยอย่างเพลา กัมมัสสกตาปัญญาที่โยงไปให้มองเห็นทุกข์ที่เนื่องด้วยวัฏฏะ หรือแม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ก้าวไปในมรรค ก็เป็นอธิปัญญา)

สิกขา ๓ นี้ นิยมเรียกว่า ไตรสิกขา และเรียกข้อย่อยทั้งสามง่ายๆสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

(ไตรสิกขา โยงให้ถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วย)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2018, 07:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เมื่อกล่าวโดยทั่วไป ปริยัติ คือ การศึกษา ก็งามในเบื้องต้นเหมือนกัน

ปฏิบัติ คือ การทำจริง ในศีล สมาธิ ปัญญา ก็เรียกว่างามในท่ามกลาง

ปฏิเวธ คือ มรรค ผล นิพพาน เป็นผลเกิดมาจากปฏิบัติ ก็งามในที่สุด ได้ชื่อว่า ไพเราะ ๓ สถานเหมือนกัน

เช่น การเรียนก็เป็นเรื่องดี การปฏิบัติก็เป็นเรื่องดี ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็เป็นเรื่องดี
ในภาษาบาลี เรียกว่า ปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียน

ปฏิบัติ หมายถึง ทำจริงตามสิ่งที่ได้เรียนมานั้น

ปฏิเวธ หมายถึง ได้รับผล อันจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ก็เรียกว่า ไพเราะอีกเหมือนกัน

เมื่อกล่าวเฉพาะวงการปฏิบัติ การเว้นจากกามสุขัลลิกานุโยค งามในเบื้องต้น
การเว้นจากอัตตกิลมถานุโยค งามในท่ามกลาง
การเสพมัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ งามในที่สุด
นั่นคือการพูดถึงการปฏิบัติ เลิกมัวเมาในกาม เลิกทรมานตนตามแบบโยคี ซึ่งปฏิบัติกันมากในสมัยนั้น แล้วมาเสพ คือ ปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นหลักประกาศอันถูกต้อง เป็นทางเอกทางเดียว ที่จะนำเราไปสู่ทางพ้นทุกข์ ก็เรียกว่า ไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดเหมือนกัน

เมื่อกล่าวโดยผล ธรรมที่เป็นอุบายเครื่องพ้นจากอบายภูมิ ชื่อว่างามในเบื้องต้น
สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากกามคุณของมนุษย์ หรือของทิพย์อันเป็นบ่วงตรึงรัด ชื่อว่างามในท่ามกลาง
ส่วนที่เป็นอุบายให้พ้นไปจากภพชาติ คือโมกขธรรม ถือว่า งามในที่สุด. ที่ว่ามานี้ พูดถึงผล ผลที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ก็มี ๓ ชั้น

ไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ไพเราะในเบื้องต้น หมายความว่า เมื่อปฏิบัติแล้วช่วยให้เราพ้นจากอบายภูมิ คือให้จิตเราพ้นจากความเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต อสุรกาย เรียกว่าพ้นจากอบายภูมิ และ
ถ้าเราปฏิบัติอีกต่อไปอย่างนั้นสูงขึ้นไป จิตของเราก็พ้นจากกามคุณ ไม่ใยดีมัวเมาในกาม เรียกว่าพ้นจากกาม เป็นท่ามกลาง
แล้วก็พ้นจากภพ ชาติ กิเลส ไม่มีอีกแล้ว ความยึดมั่นไม่เกิดอีก จิตสงบนิ่งถึงพระนิพพาน นี้เป็นที่สุด

นี้เป็นชั้นๆ โดยหลุดจากอบายภูมิ หลุดจากกาม ซึ่งเรียกว่าหลุดจากการเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ไม่ติดอยู่ในความเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา พ้นเครื่องผูกมัดด้วยประการทั้งปวง หมดกิเลสไม่หลงเหลืออยู่ในจิตใจ ของเรา แม้แต่น้อย ผู้นั้น ได้ชื่อว่า พ้นโดยเด็ดขาด ชื่อว่า พ้นจากทางที่ปฏิบัติในทางพุทธศาสนา

เมื่อกล่าวโดยการละเว้น คำสอนที่เป็น ตะทังคะปหานะ ละชั่วคราว เช่น กิเลสดับได้เป็นชั่วคราว ก็เป็นความงามในเบื้องต้น
วิกขัมภะนะปหานะ ข่มไว้ได้นานด้วยกำลังฌาน เช่น คนที่เจริญสมาธิแก่กล้า จนถึง บรรลุฌานที่ ๓ ที่ ๔ นี่เรียกว่างามในท่ามกลาง
ส่วนที่เป็นสมุจเฉทะปหานะ ละได้เด็ดขาด ไม่มีกำเริบต่อไป เรียกว่า งามที่สุด. ๓ ชั้นเหมือนกัน

เมื่อกล่าวโดยความเจริญ ธรรมที่ทำความเจริญในโลกนี้ ชื่อว่างามในเบื้องต้น
ที่เป็นความเจริญในโลกหน้า ชื่อว่างามในท่ามกลาง
ที่ให้ข้ามพ้นจากโลกถึงนิพพาน ชื่อว่างามในที่สุด เรียกว่าไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ด้วยประการฉะนี้
ที่เราว่า อาทิกัลยาณัง ไพเราะในเบื้องต้น มัชเฌกัลยาณัง ไพเราะในท่ามกลาง ปะริโยสานะกัลยาณัง ไพเราะในที่สุด นั้น มีอธิบายดังว่ามานี้.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2018, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีคำต่อไปที่เรียกว่า สาตถัง สะพยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรัหมะจะริยัง ปะกาเสสิ ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือแบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ

คำว่า “ประกาศ” ปะกาเสสิ คือ การแสดงธรรมเผยแผ่ คำนี้ ใช้เฉพาะพระศาสดา

ถ้าสาวกใช้ อะภิวะทันติ ใช้ศัพท์คนละอย่าง แปลว่า กล่าวโดยยิ่ง รวมความก็คือ ประกาศเผยแผ่เหมือนกัน

คำว่า “พรหมจรรย์” หมายถึง ธรรมวินัยทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้

คำว่า “พร้อมทั้งอรรถ” คือ เนื้อความพิสดาร

“พร้อมทั้งพยัญชนะ” คือคำสรุปความย่อความตอนท้าย เพื่อให้จำง่าย มักผูกเป็นคาถาไว้

คำว่า “บริสุทธิ์” คือไม่เจือด้วยเท็จเทียม ทรงกล่าวคำใดว่า เป็นทุกข์ก็ทุกข์จริง ว่าทำอันตรายแก่ผู้ประพฤติก็ทำจริง ถ้าสุขก็สุขจริง

คำว่า “บริบูรณ์” คือพร้อมที่จะให้สำเร็จประโยชน์ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ไม่ครึ่งๆกลางๆ เช่น ความรู้อุทกดาบสรามบุตรไปติดเสียแค่อรูปฌานเท่านั้น เป็นต้น

พระพุทธคุณ และพระพุทธจริยาทั้งหมดนี้ ควรที่เราทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระองค์จะกำหนดถือเอา เพื่อปฏิบัติควรแก่เพศโดยแท้ เป็นหลักที่จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เราผู้เข้ามาศึกษาในพระพุทธศาสนา ไม่ควรประมาทในการประพฤติธรรมะ มีอะไรที่ควรจะละ ที่ควรเจริญขึ้น ก็ควรละ ควรเจริญขึ้นไป ตามฐานะ ตามโอกาส ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเรื่องของพุทธานุสสติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2018, 17:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม - พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฏฐิโก - เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

อะกาลิโก - เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล

เอหิปัสสิโก - เป็นที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

โอปะนะยิโก - เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ - เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2018, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ จะกล่าวต่อไปถึงบทสวดมนต์ ธัมมาภิถุติ อภิถุติ แปลว่า ชมเชย คำว่า หันทะ มะยัง ธัมมาภิถุติง กะโรมะ เส เราทั้งหลายมากล่าวคำชมเชยพระธรรมกันเถิด โย โส สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรมนั้นใด เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว



ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสนั้น เป็นการตรัสดีแล้ว ดีอย่างไร ? คือ ดีพร้อมทุกประการ ดีในเบื้องต้น ดีในท่ามกลาง ดีในที่สุด เมื่อผู้ใดเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ ผู้นั้น ย่อมเห็นผลประจักษ์ชัดด้วยตนเอง จึงได้ชื่อว่าเป็นของดี เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เป็นสิ่งที่ให้คุณให้ค่าแก่ชีวิตของเรา
ในเรื่องนี้ ขอทำความเข้าใจกันสักหน่อยว่า คนเรา กับ ธรรมะต้องอยู่ด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าขืนแยกแล้วก็เกิดทุกข์ เกิดโทษ

ในเวลาใด ที่เรามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ หรือว่าในเวลาใด ที่เราทำอะไรผิดพลาด เสียหายในการงาน ในชีวิตประจำวัน แสดงว่าในขณะนั้น เราขาดคุณธรรม เป็นเครื่องคุ้มครอง เราไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักในการปฏิบัติ

ถ้าได้ใช้ธรรมะเป็นหลักในการปฏิบัติอะไรอยู่แล้ว ก็จะไม่เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่เกิดความเสียหายในเรื่องนั้น เพราะว่า มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครอง รักษากิจการในชีวิตประจำวัน เช่น ขับรถ ถ้าขับรถด้วยความมีธรรมะ ก็ไม่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ตกถนน ไม่ชนกับใครๆ แม้เราเดินก็เหมือนกัน ที่เราไปสะดุดอะไรนั้นเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ดูให้ดี ประมาท จึงได้เดินสะดุดไป

สมัยเด็กๆ อ่านหนังสือแบบเรียนเร็ว จำได้ หนูพัน พี่ หนูพูน น้อง แล้วหนูพูนก็เดินไป ตะปูตำเท้า ร้องไห้แงๆ หนูพันก็ถามว่า ร้องไห้ทำไม หนูพูน ตอบว่า ตะปูตำเท้าฉัน

หนูพัน ถามว่า ทำไมมันจึงตำเอา หนูพูนตอบว่า ฉันไม่ทันเห็นมันจึงตำเท้า ข้อความในหนังสือแบบเรียนเร็วอย่างนั้น ในสมัยนั้น ก็อ่านไปเรื่อยๆ ตามเรื่องตามราว ไม่ได้นึกว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้น แต่ว่าเมื่อโตแล้วก็นึกไปถึงแบบเรียนเร็ว ตาโถเป่าปี่ ตาดีมือแป ตาหวังหลังโกง ไม่เรียบร้อยทั้งนั้น ในแบบเรียนเร็วนี่ มือแปบ้าง หลังโกงบ้าง ไม่เรียบร้อยสักคนเดียว ที่เอามาว่ากันนี่นะ มานึกว่า แบบเรียนของเราสนุกดี แล้วก็มีของดีอยู่ในนั้น เช่น หนูพูนเดินไปถูกตะปูตำนี่ ทำไมมันจึงตำเอา ฉันไม่ทันเห็นมัน จึงตำเท้า
หนูพันก็บอกว่า เพราะเธอเดินไม่ดี มันจึงถูกตำ นี่แหละ คือไม่ประมาทธรรมละ
หนูพูดน่ะไม่ประพฤติธรรม ตะปูมันจึงตำเท้า ถ้าประพฤติธรรมก็ไม่ตำ
คนประพฤติธรรมอย่างไร ? ค่อยๆ เดิน ตาดู แล้วก็ค่อยๆกำหนดดูอยู่ในที่ที่เท้าเดิน ตรงไหนมีตะปูจะไปเหยียบมันทำไม เราเห็นนี่เราก็ไม่เหยียบ
เคยนั่งรถไป คนขับรถบางคนเก่ง ตะปูตัวเดียวแกมองเห็นบนถนน หลบวูบ ถามหลบอะไร ตะปูตัวใหญ่ว่าอย่างนั้น แสดงว่าไม่สะเพร่า เวลานั้น มีธรรมะประจำจิตใจ ธรรมะก็คุ้มครอง ไม่ให้ตะปูตำยางรถยนต์ นี่ตัวอย่างง่ายๆ

เรื่องอื่นก็เหมือนกัน คนเราที่ผิดพลาดเสียหายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากไม่ประพฤติธรรม สมมติว่าคนมีฐานะดีแล้วก็กลับหมดเนื้อหมดตัว เราต้องศึกษาว่า คนนั้นหมดเนื้อหมดตัวเพราะอะไร คงจะมีความบกพร่องในชีวิตประจำวัน เช่นว่า ชอบเล่นการพนัน เมื่อเล่นการพนันหนักเข้าก็หมดตัว เพราะไปเล่นการพนัน หรือว่า
เป็นคนชอบสนุกนานที่เรียกว่า สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร อันเป็นอบายมุขทั้งนั้น

มีสตางค์ก็ชักสนุก เมื่อก่อนนี้ไม่มีสตางค์ ไม่เที่ยวไม่เตร่ ทำงานทำการ สร้างเนื้อสร้างตัว พอมีสตางค์ขึ้นมาก็เมาทีเดียว เมาในทรัพย์ เมาในอำนาจที่ตนมีพอสมควร เมาในความเป็นใหญ่ เมื่อเกิดเมามายขึ้นมาในรูปอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายในชีวิตของตัว เพราะไปทำความผิด ประพฤติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการต่างๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน มันมีความผิดพลาดทั้งนั้น

เราเองแต่ละองค์ นี่ ลองนึกถอยหลังไปดูบ้าง ว่าในชีวิตชีวิตประจำวัน มันมีความผิดพลาดทำให้ชีวิตตกต่ำ เช่นว่า บาคนอาจจะเป็นนักดื่ม เมามาย ดื่มบ่อยๆ ดื่มเช้า ดื่มเย็น ดื่มจนเป็นนิสัย แล้วร่างกายก็ไม่ดี สติก็ไม่ดี ปัญญาก็ไม่ดี ประสาทก็ไม่ดี ร่างกายทุกส่วนเสียหาย นี่เพราะอะไร ? เพราะไม่ประพฤติธรรม คือ ไม่งดเว้นความชั่ว ทำความดี ระวังจิตใจของตนไว้ ไม่ให้ตกไปสู่ความชั่วร้าย มีชีวิตตกต่ำ บางคนก็เรื่องสุรา บางคนก็เรื่องการพนัน บางคนก็เรื่องสุรุ่ยสุร่าย จ่ายเติบกินเติบ บางคนก็ขี้เกียจ ไม่เอางานเอาการ เป็นข้อเสียอันเกิดจากไม่ประพฤติธรรมทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ในชีวิตชีวิตประจำวัน ถ้ามีอะไรผิดขึ้น ต้องคิด ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะก็ดี ศึกษาธรรมะก็ดี เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ต้องศึกษาทันทีว่าเหตุใดมันจึงเกิดขึ้น ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะว่า สิ่งทั้งหลายต้องมีเหตุ เหตุนั้นก็อยู่ในตัวเรานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหน เราก็ต้องศึกษาว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ศึกษาเพื่อให้รู้แล้วจะได้จำไว้ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับชีวิตต่อไป

ถ้าใครทำอะไรผิดพลาดแล้ว ก็ศึกษาค้นคว้าหาเหตุของเรื่องนั้นๆ จนรู้จักแล้วคิดเลิก คิดละ มันไปไม่ไกล ชั่วไม่นาน ไม่เสียคนแน่ๆ เพราะว่าเราคอยศึกษาค้นคว้า

ทีนี้ คนไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้า สิ่งใดผิดพลาดก็ไม่ศึกษา แล้วไม่โทษตัวเองเสียด้วย ไปโทษดวงไม่ดีบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง ผมมันคนเกิดมาอาภัพ ดวงมันอย่างนี้แหละครับ/ค่ะ ชั่วก็อย่างนี้จนตาย ไม่ได้ เราไม่คิดจะแก้ก็แก้ไม่ได้ ถ้าเราใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้มันก็ได้ ธรรมะเป็นสิ่งใช้ได้


เพระฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมจาริง (ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม) ผู้ใดประพฤติธรรมดีแล้ว ย่อมไม่ตกไปในที่ชั่วที่ต่ำ

ที่ชั่วน่ะ มันมี ๒ อย่าง ตามความเข้าใจของคนทั่วไป; ที่ชั่วในโลกนี้ ก็คือความยากจน ติดคุกติดตะราง เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ต่างๆ นานา เพราะการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร อันนี้ เรียกว่าเป็นที่ชั่ว ทุคติในโลกนี้
สำหรับผู้มีความเชื่อว่าตายแล้วเกิด อนาคตมันมี มีทุคติข้างหน้า ตกนรกอะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง เพราะผลกรรมที่ตัวได้กระทำไว้ อันนี้ เป็นเรื่องที่จะปรากฏแก่ผู้กระทำ เราควรจะนึกว่าอะไรที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของใคร ต้องแก้ที่ตัวเรา ว่าเราบกพร่องอะไร เราเสียหายอะไร แล้วเราก็แก้ไขปัญหา อย่างนี้ก็ดี

ทีนี้ ปัญหาความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันก็เหมือนกัน

บางทีเราก็มีความน้อยใจ มีความทุกข์ใจในปัญหาต่างๆ เราก็เก็บเอาเรื่องนั้นไว้เป็นความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
คนที่เก็บความทุกข์ไว้ก็เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา

ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาอีกหน่อยว่า เราทุกข์เรื่องอะไร กลุ้มใจเรื่องอะไร ทำไมจึงกลุ้ม ทำไมจึงทุกข์ ต้องคิดหาเหตุผลไป นานๆเข้า ก็ย่อมจะรู้ด้วยตนเองว่า มันไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของเราเอง อันนี้ เป็นเรื่องที่ยากอยู่สักหน่อย ยากตรงที่ว่าจะไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดของตัว ยากตรงนี้

คนเราตามปกติ ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด คนไหนที่มีใจยินดี เบิกบาน ในการรับว่า ตัวผิด คนนั้น ชีวิตเรียบร้อย ไม่ค่อยจะตกต่ำ ไม่ค่อยวุ่นวาย เพราะเป็นผู้ที่มองเห็นความผิดของตัวเองอยู่เสมอ แล้วพร้อมที่จะรับว่าตัวผิด เรื่องมันไม่ยุ่ง
ไอ้ที่ยุ่งๆกันนั้น เพราะไม่ยอมรักผิดนั่นเอง ไม่ว่าในการเมือง ในการบ้าน ในการอะไรที่เราสังเกตดูเรื่องราวทั้งหลาย เรื่องไม่ยอมรับผิดทั้งนั้น แล้วมันก็วุ่นวายกัน ไม่ค่อยได้ยินใครพูดว่า ผมผิด สักคนเดียว ในสังคมมนุษย์นี่ ไม่มีใครพูดดอกว่า แหม มันเป็นความผิดของผมเอง ไม่เคยพบ แต่ว่าพูดอย่างอื่นไป เรื่องมันต้องต่อสู้กัน ผมก็หวังดีแล้วจะอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีใครผิด ทุกคนไม่ผิด มันก็ยุ่งเท่านั้น ถ้าทุกคนว่าตัวเองผิดเรื่องหยุดทันที มันหยุดเพราะรู้ว่า อ้อ เราเป็นผู้ผิด


พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสไว้ในพระธรรมบท บทหนึ่งว่า ปะเร จะ นะ วิชานันติ มะยะเมตถะ ยะมามะ เส เย จะ ตัตถะ วิชานันติ ตะโต สัมมันติ เมธะคา (ในหมู่คนที่กำลังทะเลาะวิวาทกันนั้น ไม่มีใครรู้สักคนเดียว ว่าเราจะฉิบหายกันแล้ว แต่ถ้าใครรู้ขึ้นสักคนหนึ่ง ความสงบจะเกิดแก่คนนั้น) คนที่รู้สึกตัวว่า กูจะฉิบหายนะ มันหยุดเท่านั้น มันหยุดทันที หยุดพูดหยุดทำ หยุดอะไรต่ออะไร เพราะรู้ว่า เราจะฉิบหายกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีใครรู้สึกตัวว่า เราจะฉิบหายกันแล้ว มันไม่หยุด มันยังไปกันเรื่อยไป เถียงกันเรื่อยไป ทะเลาะกันเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น อันนี้ มีอยู่ทั่วๆไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 28 มี.ค. 2018, 17:35, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2018, 07:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ ในจิตเราก็เหมือนกัน สภาพจิตใจของเรา เราต้องรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจ บ้าง มีความทุกข์เรื่องอะไร ไม่สบายใจเรื่องอะไร แยกแยะออกไป ค้นหาสาเหตุของเรื่อง เป็นเพราะอะไร แล้วคิดไปคิดมา ว่าเออ เรามีความผิดในข้อใดบ้าง ให้รู้ว่าเราผิดแล้วหยุดคิดเท่านั้น
แต่ถ้ายังนึกว่า เราไม่ผิด คนโน้นผิด คนนั้นผิด เที่ยวซัดทอดไปเรื่อยไป เรื่องมันไม่จบ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรม ย่อๆ สั้นๆ ก็คือ มองดูตัวเอง พิจารณาจิตใจตัวเอง เมื่อพบสิ่งใดไม่ดีในตัวแล้ว จงรีบแก้ไขทันทีแล้วจะปลอดภัย ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายประการหนึ่งของธรรมะ

ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก็ดีตรงที่มันเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ ทำผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อน.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2018, 07:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมคุณบทต่อไป คือ

สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง ประจักษ์ด้วยตนเอง รู้เห็นเอง

อย่างเกลือมีรสเค็ม ถ้าเราไม่ได้ชิมจะรู้ได้อย่างไร น้ำตาลหวานถ้าเราไม่กิน จะรู้ไหมว่าหวานอย่างไร บอระเพ็ดขม ถ้าเราไมได้กินมันจะรู้ได้หรือว่าขมอย่างไร ซึ่งเรียกว่า สันทิฏฐิโก เช่น นาย ก. ชิมน้ำตาล ว่ามีรสหวาน นาย ข. จะรู้ได้อย่างไรว่าหวานอย่างไร รสอื่นก็เช่นกัน
ใครสัมผัสลิ้มรสก็เป็นความรู้สึกของคนนั้น มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ไม่ได้ชิมนั้น ย่อมรู้ไม่ได้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นเด็ดขาด

ทีนี้ ธรรมะก็เหมือนกัน ผู้ใดศึกษา ผู้ใดปฏิบัติ ย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ใครมาบอกเล่าดอกว่าเป็นอย่างไร เช่น เรารักษาศีล เราก็รู้ด้วยตัวเองว่า ศีล มันคุ้มครองอะไรเราบ้าง รักษาอะไรเราบ้าง ผู้ปฏิบัติคือเราจะรู้ได้เอง

แต่ว่า บางที อาจไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้เพราะอะไร เพราะไม่รู้ว่ามันให้ประโยชน์อะไรแก่เรา เพราะไม่ได้สังเกตตัวเองในชีวิตประจำวันของตัวว่า เมื่อก่อน กับ เดี๋ยวนี้ มันต่างกันอย่างไร ก่อนนี้เราไม่ได้ถือศีล เราทำอะไรตามเรื่องตามราว แล้วเดี๋ยวนี้ เรามาถือศีล ไม่ได้เอามาเปรียบเทียบกัน ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร
เมื่อไม่ได้เอามาเปรียบเทียบ เมื่อก่อน กับ เดี๋ยวนี้ เราก็ไม่รู้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แล้วก็ไม่รู้ว่า มันจะมีผลอะไรบ้าง
ผู้ที่เข้ามาไหว้พระในวัดวาอาราม ปฏิบัติกิจทางศาสนา ขาดส่วนนี้อยู่เป็นส่วนมาก คือขาดการเปรียบเทียบ หรือพูดสมัยใหม่ว่าขาดการวัดผลของการปฏิบัติ ไม่มีการวัดผลของตัวเอง ว่าเริ่มเข้าวัดนี่เป็นอย่างไร จิตใจเมื่อก่อนเข้าวัด กับ มาวัดแล้วเป็นอย่างไร ความโกรธ ความเกลียด ความริษยาพยาบาท ความหุนหันพลันแล่นใจเร็วที่เคยมีมันลดลงไปบ้าง หรือมันเบาจางหายไปจากจิตใจของเราหรือเปล่า
เราไม่ได้วัดผลว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะมีความเชื่อฝังหัวเพียงประการเดียวว่า รักษาศีลได้บุญ ฟังเทศน์ได้บุญ เจริญภาวนาได้บุญ เอาอาหารไปใส่บาตรพระได้บุญ บุญซะเรื่อยเลย
แต่ไม่รู้ว่าบุญนั้นคือะไร กุศลนั้นคืออะไร ไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำตามเขาว่า เขาให้ทำก็ทำไปอย่างนั้นแหละ แล้วยังไปเที่ยวถามใครๆอีกว่า ทำอย่างไรจะได้บุญมาก ถ้าเขาว่าทำอย่างนั้นดีก็วิ่งไปทำ เที่ยวไปไหว้พระ ไหว้ทั่วไปทุกหนแห่ง

เมื่อคราวก่อน มีคนมาบวชที่นี่ บอกว่า คุณแม่ไปจมน้ำตาย ถามว่า ทำไมจึงไปจมน้ำตาย ก็เพราะเรื่องไหว้พระอย่างเดียว ขยันไหว้ ไหว้พระบาท ไหว้พระฉาย ไหว้พระพุทธชินราช พระพุทธโสธร พระมงคลบพิตร อยู่ที่ไหนๆ คุณแม่ไปไหว้ทุกแห่ง ยังไม่ได้ไหว้แต่พระบนเกาะกลางทะเล เลยยกพวกเป็นขบวนใหญ่ ไปไหว้พระในกลางทะเล เรือล่มจมน้ำตาย ลูกชายบอกว่าคุณแม่ผมตายเพราะไปไหว้พระแท้ๆ ที่แท้ เรื่องมันไม่เข้าถึงพระ จึงได้ตายอย่างนั้น
ถ้ารู้เสียหน่อยว่า พระมีอยู่ในตัวเราเอง ทำจิตใจให้สงบ ทำจิตใจให้สะอาด สว่าง เรียกว่า มีพระ แต่ไม่เข้าใจ เลยไปเที่ยวไหว้ แล้วที่ไปไหว้น่ะ ไม่มีอะไร ไปขอทั้งนั้น ขอให้ถูกหวย ขอให้ร่ำรวย ขอให้ขายของดี ความเชื่ออย่างนี้ฝังหัวเลย ไมได้วัดตัวเราว่าที่เราไปไหว้พระได้อะไร การเดินทางไกลๆ ไปเหน็ดเหนื่อย เพื่อไปทำบุญ ถามว่าได้อะไรบ้าง เขาก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน ว่าได้อะไรบ้าง นี่คือความเข้าใจผิด ไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ผลมันอยู่ตรงไหน เราจึงต้องเข้าใจการปฏิบัติธรรมนั้น ว่าผลอยู่ที่ความสะอาดของจิต ความสงบของจิต ความสว่างของจิต ซึ่งสว่างขึ้น สะอาดขึ้น สงบขึ้น ละอะไรได้มากขึ้น

เมื่อก่อน กับ เดี่ยวนี้ มันแตกต่างกันอย่างไร เราต้องพิจาณา เช่น เหมือนว่า เรามาบวชได้เกือบเดือนแล้ว เคยมองไปข้างหลังหรือเปล่า หรือว่า เคยมองปัจจุบันหรือเปล่า ว่าเรามีอะไรอยู่ในใจบ้าง มีความคิดมีอะไรบ้าง เคยอยากอะไร เคยกินอะไร สมมติว่าเราเคยติดเหล้างอมแงม เวลามาบวชนี่ เย็นๆ มันมากระซิบบ้างหรือเปล่า มาเยี่ยมเยือนบ้างหรือเปล่า หรือตอนเช้ากำลังฉันอาหาร มันมาบ้างหรือเปล่า

มาอย่างไร ? ก็มาว่า แหม ขาดไปสิ่งหนึ่ง ถ้าได้สักก๊งท่ามันจะดี มีกับมีไก่เยอะแยะแบบนี้ ถ้าได้สักก๊งท่ามันจะดี นั่นแหละมันมาเยี่ยมเรา ในฐานะที่เรานุ่งห่มผ้ากาสายะอยู่ในตัวอย่างนั่นแหละ เราจึงไปไม่ได้กับมัน เพราะสิ่งนี้ผูกมัดไว้ แต่ว่าตอนออกไปแล้ว ให้ระวังว่ามันจะมาเยี่ยม ตอนนั้นแหละ พอสึกออกจากวัดไปมันก็มาถามเลย สึกมาแล้วเรอะ แหม ๓ เดือน ไมได้แตะเลย ต้องไปดูหน่อยว่ารสเป็นอย่างไร นั่นแหละ ถ้ามันมาเยี่ยมแล้ว เราก็ไปตามมันก๊งมันตามเรื่อง ก็แสดงว่า ยังไม่ได้ผล การบวชยังไม่ได้ผล ธรรมะยังไม่ได้ซึมซาบเข้าไปในจิตใจ อยู่เพียงผิวเผิน ไม่เข้าถึงใจ

ถ้าธรรมะเข้าถึงใจจริงๆ มันมาเยือนอย่างนั้นก็ต้องว่า กูไม่ใช่คนก่อนแล้ว กูเกิดใหม่แล้ว ไอ้คนนั้นมันตายไป ๓ เดือนแล้ว กูเกิดในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าได้รักษาศีล เจริญภาวนา ฝึกหัดบังคับตัวเองมา ๓ เดือนแล้ว อย่ามาเรียกเลย ข้าไม่ยอมแพ้เอ็ง ข้าจะสู้กับเอ็งอย่างสุดฝีมือทีเดียว อย่างนี้ พอใช้ได้ เรียกว่า ชนะ
แต่ต้องระวัง มันยังจะแอบมาบ่อยๆ บางทีมันก็ปลอมมาในรูปของเพื่อนฝูงมิตรสหาย มาถึงก็ว่าไปบวชอยู่ไม่ได้พบกันนาน สึกแล้วเรอะ นั่นแหละ มันปลอมมา เขาเรียกว่า ผีปลอมมาในรูปของเพื่อน อาศัยร่างเพื่อนมา แบบนี้ เรียกว่า เข้าทรง ละ มาถึงก็พูดจาชักชวน ถ้าเรามีกำลังธรรมะไม่พอ เราก็ไปกับเพื่อนไปดื่มฉลองกันใหญ่
ถ้าเรามีกำลังธรรมะพอ เราก็บอกเพื่อนว่า ฉันมันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว บวชแล้วนา ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาพอแล้วว่า ไอ้ชีวิตที่ผ่านมามันยังไมได้เรื่องอะไร ไม่ได้ประโยชน์ เพื่อนอย่ามาชวนเลย แล้วฉันจะชวนเพื่อนให้เลิกเสียด้วยนา อย่างนี้ แปลว่า ธรรมะชนะ นับว่าใช้ได้ แต่ถ้าอธรรมชนะนับว่ายังไม่ไหว

เพราะฉะนั้น ต้องคิดว่าเรามันเป็นอย่างไร ได้อะไรไปบ้าง สังเกตดูผลจากการปฏิบัติของเราทุกแง่ทุกมุม เช่น เมื่อก่อนเราเป็นคนขี้โกรธ ใจร้อนใจเร็ว มาบวชแล้วรู้สึกอย่างไร อารมณ์อะไรมากระทบพอจะยับยั้งได้ไหม เย็นลงไหม หรือยังร้อนเหมือนเดิม
ถ้าไม่มีอะไรมากระทบมันวัดไม่ได้ มันต้องลองด้วยเครื่องกระทบ เช่นว่า ใครๆมาว่าเราด้วยถ้อยคำแสลงหู ไม่น่าฟัง ถ้าเรา เฉยๆ ควบคุมตัวเอง มีสติยับยั้งอารมณ์ขณะนั้นไว้ได้ แปลว่า ดีขึ้น

แต่ถ้ายับยั้งไว้ไม่ได้ ระเบิดปึงปังขึ้นมาเหมือนเดิม ก็แสดงว่ายังไม่พอ ธรรมะยังไม่เข้าถึง ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นวัดผลตรวจสอบตัวเรา

เราอยู่ด้วยกัน จะทดสอบกันบ้างก็ได้ แต่ต้องระวังให้ดี ทดสอบเดี๋ยวเตะปึงขึ้นมาก็เสียหาย เหมือนอาจารย์ภาวนา แกสอนลูกศิษย์ นั่งสอน เวลาเดินจิตอยู่ที่ไหน
บางคนตอบว่า อยู่ที่ส้นตีน เขาไม่พูดเช่นนั้นดอก ต้องพูดว่า อยู่ที่เท้า มันก็ว่าส้นตีน แล้วก็ฟาดเปรี้ยงเข้าให้ อาจารย์เลยโดนไอ้นั่นเตะเท้าขวา เท้าซ้าย
:b32:
อาจารย์ก็ไม่ได้หันแก้มขวาไปให้เตะอีกดอก สลบไปเลย อย่างนี้มันก็ไม่ไหว เรียกว่า ทดสอบอารมณ์ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็แสดงว่ากูยังไม่ดีขึ้นเลย ตั้งแต่มาเจริญภาวนา เลยเปรี้ยงอาจารย์เข้าให้ อย่างนี้ไม่ไหว อาจารย์เสียท่า

เราเองก็เหมือนกัน อย่าไปสอบอารมณ์เพื่อนแรงๆ เกิดเปรี้ยงปร้างขึ้นมาละก็เสียชื่อ ต้องค่อยๆ เย้าดูนิดๆหน่อยๆ เราเองก็ต้องควบคุมไว้ เช่น กับ อาจารย์เซ็น ที่ไปตีลูกศิษย์น่ะ เคาะเบาๆ ฉันตีแกละนะ แกต้องทำใจให้ดีๆ อย่านึกว่าถูกตี ซึ่งก็ต้องทำใจให้ได้ในขณะนั้น พอฟาดเปรี้ยงเข้าให้ก็เฉยเลย อดทนอย่างนั้นก็รู้ได้เฉพาะตนเหมือนกัน สันทิฏฐิโก เป็นอย่างนั้น
สุข ทุกข์ ดี ชั่ว รู้ได้เฉพาะคนทั้งนั้น แม้แต่ปฏิบัติภาวนา สงบหรือไม่สงบรู้ได้เฉพาะตัว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2018, 17:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ อะกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล หมายความว่าไม่จำกัดเวลา ผลไม้ให้ผลเป็นฤดู ลำไยให้ผลเป็นฤดู มะม่วง ทุเรียนก็ให้ผลเป็นฤดู พอหมดฤดูมันก็หมด ไม่ออกผลต่อไป เพราะของเหล่านั้นเป็นวัตถุที่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา มันขึ้นอยู่กับอะไรหลายๆอย่าง ดิน ฟ้า อากาศ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

แต่ว่าธรรมะอันเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เราจะเอาปฏิบัติในชีวิตนั้น ไม่เกี่ยวกับเวลา ศึกษาเมื่อใดก็ได้ ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้ ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติลอดไป
อันนี้ มีปัญหาอยู่อันหนึ่งที่คนชอบถามว่า ในสมัยนี้มีพระอรหันต์หรือไม่ เราจะไปรู้ว่าคนนั้นเป็นอรหันต์ คนนี้เป็นอรหันต์ไม่ได้ เพราะพระอรหันต์ไม่มีอะไรบอก ไม่มีอะไรติดไว้ที่หน้าผาก มันอยู่ที่ใจ สันทิฏฐิโก ขึ้นอยู่กับตัวใครตัวมัน เราจะไปรู้ได้อย่างไร อันนี้ ไม่ต้องสงสัย อย่าไปเที่ยวสงสัย หลักมันมีอยู่แล้วว่า อะกาลิโก ไม่จำกัดเวลา
ถ้าเราปฏิบัติเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น รักษาศีลก็ได้ผลจากศีล เจริญสมาธิก็ได้ผลจากสมาธิ เจริญปัญญาก็เกิดผลจากปัญญา
ไม่ใช่ว่า ครั้งพุทธกาลได้ผล มาปัจจุบันไม่ได้ผลอะไร ยังให้ผลเพราะธรรมะนั้นไม่ได้ร่วงโรยไปไหน ยังอยู่สดชื่นเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเรื่อยไป
เวลาพระองค์จะเสด็จปรินิพพาน สุภัททะปริพาชกได้เข้าไปทูลถามอะไรหลายข้อ แล้วตอนสุดท้าย พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า สุภัททะเอ๋ย ถ้าชาวโลกยังเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกนี้จักไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์
ที่ว่าโดยชอบ หมายความว่า อยู่ตามอริยมรรคมีองค์แปด

เมื่อชาวโลกยังปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ โลกนี้ จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ อะกาลิโก มันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เราอย่าไปเที่ยวสงสัยแคลงใจ แล้วก็ไม่ต้องไปพิสูจน์อะไรดอกว่าใครเป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็น เราพิสูจน์ตัวเราเองดีกว่า เรามีคุณธรรมขนาดไหน มีจิตใจสงบ มีจิตเยือกเย็น อย่างไร ตรวจสอบที่ตัวเราเองเถิด อย่าตรวจคนอื่นให้มันวุ่นวายไปเลย
ตรวจสอบตัวเราเองดีกว่า แล้วให้มีความเชื่อในหลักการนี้ว่า ได้ผล ทำแล้วได้ผล เหมือนอาบน้ำแล้วมันก็ต้องเย็น อยู่กลางแดดก็ต้องร้อน จับไฟมือก็ต้องไหม้ จับน้ำแข็งมันก็ค่อยเย็นหน่อย เป็นของธรรมดา

ธรรมะก็เหมือนกัน เอามาปฏิบัติแล้วก็ต้องได้ ได้หรือไม่ได้นั้นเป็น สันทิฏฐิโก รู้ได้เฉพาะตัว ไม่ต้องไปอวดใคร “คนได้ ไม่อวด คนอวดไม่ได้” จำไว้อันหนึ่ง คนได้ละก็ไม่อวดดอก คนอวดละก็ไม่ได้

คนถึงแล้วไม่อวด คนไม่ถึงละก็ไปเที่ยวอวด คือว่าถ้าได้มรรคผลขั้นสูงแล้วเขาไม่อวด ไม่มีตัวจะเอาไปอวด ไม่มีกิเลสจะเอาไปอวด

ไอ้ที่อวดๆน่ะมันยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัวที่จะรับความดีความชั่ว รับคำสรรเสริญเยินยอ จากคนนั้นจากคนนี้ จึงมีเรื่องอวดได้
แต่ว่าจิตใจถึงพระนิพพาน หรือเป็นพระอรหันต์แล้วจะเอาอะไรไปอวด
ท่านเหล่านั้น เป็นผู้อยู่อย่างสงบ ไม่พูดเรื่องส่วนตัว ไม่พูดอวดพูดคุยอะไรทั้งนั้น พูดแต่เรื่องเป็นสาระ เป็นธรรมะอยู่ตลอดเวลา สภาพอย่างนั้นเป็นสิ่งที่จะถึงได้ เพราะธรรมะเป็น อะกาลิโก ให้ผลไม่จำกัดเวลา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2018, 17:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ พระธรรมคุณบทต่อไปว่า

เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด เมื่อเราปฏิบัติในเรื่องอะไร ได้รับผลจากการปฏิบัตินั้น ก็เรียกให้ใครๆ มาดูได้ มาดูด้วยตนเองนะ ไม่ใช่เราทำให้เขาดู
แต่ว่าเราแสดงให้ดูก็ได้ ในเรื่องบางประการ เช่นว่า ไม่เป็นทุกข์ให้เขาดู จิตสงบให้เขาดู ไม่มีความโกรธ ไม่มีความร้อนใจให้เขาดู นี่เรียกว่าทำให้เขาดู หรือแนะให้เขาดูจากตำรับตำรา จากหลักการทฤษฎีต่างๆ เป็นเรื่องที่ควรจะแนะนำเขา ให้เขาเอาไปทดสอบด้วยตัวของเขาเอง เรียกว่า เรียกให้มาดูได้ เพราะเราได้ชิมด้วยตัวเราเองแล้ว ได้ทดสอบด้วยตัวเราเองแล้วได้ผล จึงเรียกให้คนอื่นมาดูได้

สิ่งใดที่เรายังไม่ได้ มาทดสอบให้ได้ผล เรียกให้มาดูมันก็ลำบาก เมื่อเขาถามว่าท่านได้ชิมมันแล้วหรืออย่างไร เช่น เราบอกว่า แหม ไอ้นี่อร่อยเหลือเกิน เรียกเพื่อนให้มากิน
ถ้าเพื่อนมาแล้วบอกว่า คุณกินแล้วหรือยัง
ผมก็ยังไม่ได้กินเหมือนกัน เอ้า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าอร่อย ก็ยังไม่ได้ชิมเลยสักหน่อย เพราะฉะนั้น ต้องกินก่อน ชิมก็คือลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง แล้วก็จะเกิดผลในทางจิตใจ เมื่อเกิดผลแล้วในทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงไป ไม่มั่นคง ไม่ถาวร มีความเปลี่ยนแปลง เช่น ความแก่ แก่แล้วจะเป็นอย่าไร ก็เจ็บไข้ เห็นพวกคนป่วยตามโรงพยาบาล อยากให้ไปโรงพยาบาล ไปดูเสียว่า น่าศึกษา เราไปรักษาตัวเราก็ไปดูคนอื่นเสียบ้าง เวลารอหมอเขาเรียก อย่านั่งเฉยๆ ต้องนึกถึงธรรมะเสียบ้าง
ที่มานี่ล้วนเหมือนๆกันทั้งนั้นแหละ ปวดหัวปวดท้อง ปวดแข้งปวดขา โรคข้างนอกโรคข้างใน เอ เรานี่ก็เข้าหุ้นอยู่กับเขาด้วยเหมือนกัน ลงเรือลำเดียวกันมา เออ มนุษย์นี่มันหนีไมพ้น มันเจ็บมันไข้กันทั้งนั้น


ถ้าเราไปเที่ยวที่ป่าช้า เขานิมนต์พระไปสวดศพ อย่าไปสวดเฉยๆ เอาสตางค์แล้วกลับกุฏิ เราจะต้องพิจารณาว่าเป็นตัวอย่างของชีวิต เมื่อแก่ เมื่อเจ็บ แล้วก็ต้องตาย ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ทุกคนต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้ เราล่ะหนีไม่ได้เหมือนกันละ จะต้องตายสักวันแน่ๆ เอ แล้วจะตายเมื่อไร ไม่รู้เหมือนกันว่าจะตายเมื่อไร ไม่รู้ก็ได้ รู้แต่เพียงว่าต้องตายแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ครั้นเมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องตายแล้ว ควรจะทำอย่างไร เราก็คิดไปว่า เราเกิดมาทำไม เราอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะปฏิบัติเพื่ออะไร
พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำอะไร นึกไปถึงธรรมะเป็นข้อปฏิบัติ แล้วก็รีบทำมันเสีย เพราะอีกไม่เท่าใดก็ตาย ตายกันบ่อยๆ ยิ่งไปวัดธาตุทอง ศพทั้งนั้น ไม่ว่าศาลาไหน น่าศึกษาน่าสนใจ นั่นน่ะเขาเรียกว่า เทวทูต

ไปเห็นนักโทษผู้ต้องราชทัณฑ์ เราก็นึกถึงกฎแห่งกรรม อ้อ มนุษย์นี่หนีไม่พ้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำแล้วก็ต้องได้รับผลอย่างนี้แหละ แล้วบอกตัวเราอย่าไปทำอย่างนั้นเข้านะ เดี๋ยวจะได้เอาโซ่มาประดับแข้งประดับขา อย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจของความชั่วร้าย ชีวิตจะตกต่ำ

ไปเห็นเด็กน้อย เราก็คิด เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เห็นนักโทษก็คิด เห็นนักบวชก็คิดเหมือนกัน เออ นั่นเขาบวชดี ไม่ยุ่ง แต่ต้องบวชเพื่อศึกษา เพื่อปฏิบัติ ไม่ใช่บวชเลี้ยงชีพ เรียกว่าบวชไม่ได้เรื่อง ก็คิดไปในทางอย่างนั้น
อย่างนี้ เรียกว่า มองเห็นอะไรแล้ว เอามาเป็นเครื่องเตือนใจ เป็น เอหิปัสสิโก เหมือนกัน เรียกว่า น่าดูน่าชมในสิ่งที่เราได้พบเห็น แล้วอย่าชมคนเดียว บอกคนอื่นให้มาดูมาชมกันบ้าง
การไปสอนธรรมะนั้นก็เข้าบทนี้แหละ ต้องเที่ยวเรียกให้เขามาดู ไปเที่ยวป่าวร้องให้เขามาดู เท่ากับตีฆ้องร้องป่าวให้คนมาดูมาฟังธรรมะ มาปฏิบัติธรรมะ นั่นเรียกว่าทำหน้าที่เรียกร้องให้มาดูธรรมะกัน

เอหิปัสสิโก เรียกใครๆมาดูได้ อันนี้ ไม่ใช่ธรรมะขั้นต่ำๆ แต่ว่าพูดในแง่ต่ำก็ได้ เช่น ว่าผลของการ รักษาศีล ผลของการ เจริญภาวนา ผลของการ อดทน ผลของการ บังคับตัวเอง ผลของการ ซื่อสัตย์ ผลของการ เสียสละ อันเป็นเรื่องทางศีลธรรม
ถ้าเราปฏิบัติมันก็มีผลเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา แล้วเราก็ชวนใครให้มาดูได้ เช่น พูดให้เขาเห็นได้ว่า ผมเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำงานมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แล้วก็มีผลอย่างนี้ ชีวิตเรียบร้อย มีความสงบในครอบครัว ผมอาจจะมีเงินไม่เหมือนเขา แต่ว่าผมมีจิตใจสบายตามฐานะ มีชีวิตอยู่อย่างสงบ สบาย อวดใครๆได้ ให้เขามาดูได้ว่า ผลความซื่อสัตย์เป็นอย่างไร หรือว่าผลแห่งความขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจการงาน เช่นว่า คนขยันทำงานทำการก็อวดใครได้ เรียกใครให้มาดูได้ว่า นี่แหละเป็นผลแห่งความขยัน ผมไม่มีอะไร มามือเปล่าเหมือนกับคุณนั่นแหละ ไม่ใช่ลูกเศรษฐี ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมา แต่ว่าผมประพฤติธรรม รู้จักคุณค่าของชีวิต คิดแต่จะทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ก็ได้ผลอย่างที่เห็นอยู่นี้ มีบ้านเรือนอยู่ มีนามีสวน มีลูกมีหลานให้ได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ฐานะ เราเรียกให้เขามาดูได้ เพราะเราได้กระทำอย่างนั้น
รวมความว่า เรากระทำดีอย่างไร แล้วได้ผลจากการประพฤติดี ประพฤติชอบนั้น เป็นเรื่องที่เราจะเรียกให้เขามาดูได้ นี่ทางฝ่ายดี

ทีนี้ ในฝ่ายชั่ว เราเรียกให้เขามาดูได้ไหม เป็นธรรมะเหมือนกัน เรียกว่าเป็นอธรรม อกุศล ฝ่ายดีเป็นกุศล ฝ่ายชั่วเป็นอกุศล เราก็เรียกให้เขามาดูได้ว่า ความฉิบหายเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะการพนัน เพราะดื่มเหล้า เพราะเที่ยวกลางคืน เพราะการสนุกสนาน เป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ แล้วก็มีผลดังที่เห็นนี้ เรียกให้เขามาดูได้ ความชั่วก็เรียกให้เขามาดูได้

เหมือนเราเข้าไปคุกบางขวางก็เป็น เอหิปัสสิโก ไปดูคุกดูตะราง ดูผู้ต้องขังทั้งหลายว่ามีชีวิตเป็นอย่างไร ลองเข้าไปคุยด้วย ถามว่า ต้องโทษอะไร เรื่องอะไร บางคนติด ๕๐ ปี ๘๐ ปี แต่ละคนน่าดูทั้งนั้น โทษมันก็ต่างๆกัน ถามก็ได้ผลจากอกุศลกรรมทำให้เป็นคนทุกข์
กุศลกรรมก็เป็นผลให้ความสุขความเจริญ ดูได้ทั้งนั้น เรียกให้มาดูกันได้ มีตัวอย่างที่จะแสดงให้ดู

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2018, 17:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมะ กับ อธรรม ให้ผลไม่เหมือนกัน ธรรมะนำคนไปสุคติ อธรรมนำคนไปทุคติ ธรรมะนำคนไปสู่ความสุข อธรรมนำคนไปสู่ความเดือดร้อน ก็เป็นเรื่องที่ควรดู เพื่อเป็นบทเรียน
ไอ้สิ่งที่ควรมันมีหลายอย่าง ซึ่งเขาเรียกว่า เทวทูต ซึ่งแปลว่า ผู้มาเยือน ผู้มาเตือนมาบอกให้เรารู้ ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นักโทษในเรือนจำ เด็กน้อย เขาเรียกว่าเทวทูต เป็นผู้เตือนใจ เตือนใจอย่างไร ? เตือนใจให้นึกถึงความหลังของเรา ว่าเราเคยเป็นเด็กน้อย เหล่านี้ เราเป็นคนหนุ่ม คนสาว กลางคน ไม่เหมือนเดิมแล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เกิดจากความไม่เที่ยงของชีวิต พระพุทธเจ้าท่านว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงมิใช่ของเที่ยง เตือนให้เราไม่ประมาทในชีวิต.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร