วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 51 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2018, 07:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุปกิเลส โทษเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำจิตต์ใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก มี ๑๖ อย่าง คือ

๑. อภิชฌาวิสมโลภะ - ละโมบ จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร
๒. โทสะ - คิดประทุษร้าย
๓. โกธะ - โกรธ
๔. อุปนาหะ - ผูกโกรธไว้
๕. มักขะ - ลบหลู่คุณท่าน
๖. ปลาสะ - ตีเสมอ
๗. อิสสา - ริษยา
๘. มัจฉริยะ - ตระหนี่
๙. มายา - เจ้าเล่ห์
๑๐. สาเถยยะ - โอ้อวด
๑๑. ถัมภะ - หัวดื้อ
๑๒. สารัมภะ - แข่งดี
๑๓. มานะ - ถือตัว
๑๔. อติมานะ - ดูหมิ่นท่าน
๑๕. มทะ - มัวเมา
๑๖. ปมาทะ - เลินเล่อหรือละเลย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2018, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุปกิเลส ๑๖ สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อทุกข์โทษแก่ตัวเรา

วันนี้ จะได้พูดถึงกิเลสอีกประเภทหนึ่งซึ่งหลายชื่อ อันเป็นตัวเล็กตัวน้อย ที่อาจจะเกิดแทรกขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ เขาเรียกว่า อุปกิเลส

อุปกิเลส โทษเครื่องเศร้าหมอง ๑๖ อย่าง อันเป็นเครื่องเศร้าหมองในจิตใจ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ใจของคนเรานั้น เมื่อไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ก็สะอาดสงบ อยู่ตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีอะไรมาก่อกวนก็อยู่อย่างสงบ คล้ายกับน้ำใสๆ พอมีใครไปกวนเข้าก็ขุ่นขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่มีอะไรไปกวน ก็อยู่ในสภาพปกติ ความปกติของจิตนั้น คือ ความสงบ หรือว่าสะอาด ไม่มีสิ่งเศร้าหมองเข้ามาแผ้วพาน สิ่งเศร้าหมองหรือเรียกว่ากิเลสนั้น มันเกิดขึ้นจากสิ่งภายนอกที่มากระทบ ดังที่เราได้ศึกษามาแล้ว ว่าในร่างกายของเรานี้มีประตูอยู่ ๕ ประตู คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า ประตู (ทวาร) ที่จะนำอะไรต่างๆ เข้ามาสู่ความคิดของเรา มาสู่จิตของเรา

ถ้าหากว่า ตา ไม่เห็น รูป
หู ไม่ได้ยิน เสียง
จมูก ไม่ได้ กลิ่น
ลิ้น ไม่ได้ รส
กาย ไม่ได้ ถูกต้อง อะไรๆ ก็เรียกว่า ไม่มีอารมณ์

เมื่อไม่มีอารมณ์มากระทบ ใจก็อยู่ในความสงบ

แต่พอมีอารมณ์อะไรมากระทบ ก็เกิดยุ่งขึ้นมาทุกที เพราะใจมันไปรับเอาอารมณ์นั้นๆ แล้วการออกไปรับนั้น ไปรับด้วยอำนาจอวิชชา คือ ไม่รู้ชัดเห็นชัดในเรื่องนั้น ตามสภาพที่เป็นจริง เลยเกิด ความรัก ความชัง ความอยากได้ ความไม่อยากได้ ความหลงใหล ความมัวเมา ในเรื่องนั้นๆ ด้วยประการต่างๆ จิตของเราถูกอารมณ์กระทบ จิตมันก็เปลี่ยนหน้าไป เปลี่ยนจากหน้าตาเดิมของจิตไปอยู่ในสภาพที่สุดแล้วแต่อารมณ์ปรุงแต่งที่จะให้เกิดอะไรขึ้นในใจของเรา
สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา เราเรียกว่า สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง เรียกย่อๆว่า กิเลส


กิเลส เป็นคำรวมของสิ่งต่างๆ แบ่งแยกออกไปเป็น ตัณหา บ้าง เป็นโลภ เป็น โกรธ เป็นหลง เป็นริษยา เป็นพยาบาท มันรวมชื่ออยู่ในกิเลสทั้งนั้น แปลว่า สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง

มันมีชื่อต่างๆ มีรูปร่างหน้าแปลกๆ เข้ามาแสดงสลับฉากในวิถีจิตของเราเรื่อยไป แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เราจึงได้ศึกษามาโดยลำดับ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง เราจะได้รู้หน้าตาของมันไว้ ให้จำหน้ามันไว้ เมื่อมันเกิดขึ้นก็จะได้รู้ว่า อ้อ ไอ้นี่มาอีกแล้ว ไอ้ตัวนี้มาทีไรกูยุ่งทุกที สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ไว้ก่อน เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ง่าย
ถ้าเราไม่รู้มันก็เข้ามาแปลงตัวเข้ามาอยู่กับเรา จนเรารักใคร่สนิทสนมกับมัน ไว้วางใจ เอามาเป็นมิตรสหายในเรือนใจ เราเลยกลายเป็นคนอย่างนั้นไป

บางคนเป็นคนมักโกรธ กระทบนิดกระทบหน่อยไม่ได้ โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่รู้ว่านั่นมันคือความโกรธ หรือไม่รู้ว่ามันไม่ดี ไม่คิดเลิก ไม่คิดละ ยังรักษาไว้ในใจตลอดเวลา เหมือนกับเก็บอสรพิษไว้ในใจ ใจเราก็รกรุงรังด้วยพวกอสรพิษร้าย ซึ่งมันไม่เป็นความสุขอะไร แต่เป็นการสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นด้วยประการต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะรู้จัก และควรหาทางป้องกัน ไม่ให้มันรุกล้ำเข้ามาอาศัยอยู่ในใจของเรา ให้เพียงสักว่ามันเกิดขึ้น

ตา เห็น รูป สักแต่ว่า เห็น
หู ได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่า ได้ยิน ฯลฯ ไม่ให้มันเกิดอะไรต่อไปจากนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ

เป็นเรื่องของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะการเป็นอยู่ติในชีวิตประจำวัน เราควรจะถือหลักว่า เราอยู่เพื่อความสะอาด อยู่เพื่อความสงบ อยู่เพื่อความสว่างทางจิตใจ ไม่ใช่อยู่เพื่อความสกปรก เร่าร้อนวุ่นวาย ไม่ได้อยู่เพื่ออย่างนั้น แต่เผลอมันก็เป็นเอาได้ ถ้าไม่เผลอก็ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้น ควรจะระมัดระวังอย่าให้เผลอ ก่อนที่จะเผลอ ควรจะรู้จักหน้าตาของสิ่งเหล่านั้น แล้วเราจะได้กีดกันมันได้ง่าย ไม่ให้รบกวนทำให้เกิดความเดือดร้อน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2018, 18:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อารมณ์ เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์
ในภาษาไทย ความหมายเลือนไป เป็นความรู้สึก หรือความเป็นไปแห่งจิตใจ ในขณะช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น ว่า อย่าทำตามอารมณ์ วันนี้ อารมณ์ไม่ดี อารมณ์เสีย เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2018, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุปกิเลส มี ๑๖ อย่าง ดังต่อไปนี้

๑) อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง

อภิชฌาวิสมโลภะ แปลว่า ละโมบไม่สม่ำเสมอ นั้นแปลตามตัวของรูปภาษาบาลี ถ้าใจความก็คือ ความเพ่งเล็ง เพ่งเล็งในเรื่องอะไร ? ในเรื่องที่ก่อให้เกิดความกำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมา เราไปเพ่งอยู่ในเรื่องนั้น มีลักษณะเพ่งเล็ง จ้องมอง จ้องคิดอยู่ในเรื่องนั้น ตลอดเวลา เช่นว่า เห็นรูปสวยงาม เราก็จ้องอยู่แต่รูปนั้น ใจก็ไปจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้น
อันนี้ เรียกว่าการเพ่งเล็งในสิ่งนั้น เมื่อเกิดการเพ่งเล็ง มันก็เกิดการอะไรขึ้นต่อไป เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต สร้างเสริมความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ถ้าเราไปเพ่งเล็งมัน ใจจดใจจ่อแล้วก็ไม่ดี มันสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน
ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คนเราที่ไปติดอะไรๆ ก็เพราะว่าใจไปจดจ่ออยู่ เพราะว่าจิตคิดแต่จะดื่มอยู่ตลอดเวลา ติดการพนันเลิกไม่ได้ ก็เพราะจิตมันติดอยู่แต่เรื่องจะไปเล่นการพนัน
ติดเฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ ฯลฯ ก็แบบเดียวกัน ใจมันนึกอยู่ตลอดเวลา อยากจะสูบ อยากจะดื่ม อยากจะกิน อยากจะไปเล่น ใจมันไปอย่างนั้น เรียกว่า จดจ่ออยู่ในเรื่องนั้น เป็น อภิชฌาวิสมโลภะขึ้นในใจ

ในเรื่องความสวยความงามของอะไรก็เหมือนกัน เช่นว่า รูปที่สวยงาม
เสียงที่ไพเราะ
กลิ่นที่หอมหวาน
รสที่อร่อย เราติดใจ เราคิดฟุ้งอยู่ในเรื่องนั้น เดินคิด นั่งคิด นอนคิด อยู่กับเรื่องนั้น อยากจะได้เอาไว้ใกล้ๆ อยากจะดม อยากจะชมสิ่งนั้น อยู่ใกล้ตลอดเวลา อาการเช่นนี้ ทำให้เกิดการติดพันขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็ไม่มีความสงบ แต่จะมีความวุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะอยากจะได้สิ่งนั้น บางทีไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่เป็นอันพักผ่อน ใจมันกระวนกระวาย เดินว่อนเหมือนกับชะมดติดจั่น เพราะอารมณ์นั้นมันมารบกวนจิตใจ
ทีนี้ หากไม่ได้ดังใจ ก็เกิดความขุ่นเคืองเคียดแค้น อาจจะทำร้ายใครๆ ก็ได้ คนที่ฆ่ากันก็เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย คือใจมันจดจ่ออยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วก็มีคนมาขัดคอ คนที่มาขัดคอทำให้ตนไม่ได้สมหวัง เลยเกิดอาการเคียดแค้นขึ้นมาต่อไป แล้วก็ทำร้ายกัน ฆ่ากันตายก็เพราะเรื่องอย่างนี้มีอยู่ ฉะนั้น เราจึงต้องระมัดระวังไอ้เจ้าตัวนี้ไว้
คือว่าได้เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ได้รสอะไรแล้ว ให้มันผ่านพ้นไป อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาใฝ่ฝันคือมากในเรื่องนั้น ให้หลุดผ่านพ้นไป

เรื่องอันใด เกิดขึ้นในที่ใด ต้องปล่อยให้มันผ่านพ้น อย่าปล่อยให้มันมารบกวนเรา
ที่มันมารบกวนเราอีกนั้น ก็เพราะเราเก็บมันไว้ นึกถึงนี่แหละที่เรียกว่าเก็บไว้

สมมติว่าเราไปเห็นรูปอะไร สวยๆ งามๆ แล้วเอารูปนั้นมาด้วย ใส่พกใส่ห่อเอามาด้วย แล้วก็มานั่งคิดฝันอยู่คนเดียว มองเห็นแต่ภาพที่มีความสวยงามนั้น

ได้ยินเสียง ก็นึกแต่เสียงนั้น

ได้กลิ่นก็นึกอยู่แต่กลิ่นนั้น

ได้ลิ้มรสอะไรสักหน่อยก็นึกอยู่ตลอดเวลา

ได้สัมผัสก็นึกอยู่ว่ามันนิ่มนวล ชวนสัมผัส ชวนต้อง มีสัมผัสอันดีงาม คิดอยู่แต่เรื่องนั้น นี่แหละคือความจดจ่อในเรื่องนั้น แล้วลองดูว่ามันวุ่นวายขนาดไหน

สมมติว่าเราเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา ถ้าจิตนั้นไปจดจ่ออยู่ในกามคุณ กามคุณก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็จะทำให้เรียนหนังสือไม่ก้าวหน้า จิตใจไม่อยู่ที่บทเรียน ไปอยู่ทีเรื่องอื่น ที่ตนคิดฝันถึงตลอดเวลา ต่อไปแล้วมันจะเป็นอย่างไร ผลที่สุดก็ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้แหละเสียหาย

แม้คนเติบโตประกอบการงานในหน้าที่แล้ว ถ้าไปจัดจ่อในเรื่องกามคุณก็เสียคนเหมือนกัน เสียคนมามากแล้ว คนมัวเมาในเรื่องนี้ จิตมันคิดขึ้นตลอดเวลา มีพวกก็ใช้พวก เพื่อหาให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม ไม่คำนึงถึงประเพณีอันดีงาม ไม่นึกถึงอะไรทั้งนั้น ใจมันมืดหมด กูจะเอาให้ได้ อย่ามาขวางคลอง มันเกิดมาจากเรื่องที่จิตมันไปเพ่งอยู่อย่างนั้น เป็นความเสียหาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

วิธีแก้ ก็คือเห็นอะไร ก็สักแต่ว่าเห็นแล้วผ่านไป ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน แล้วผ่านไป ฯลฯ อย่าเอามาฝัน อย่าเอามาคำนึงให้วุ่นวาย
พอรูปนั้นพ้นไปแล้ว เราต้องรีบบอกตัวเองว่า ไม่เข้าเรื่อง ดูตัวเองเสียบ้าง คิดว่าดูผิวเผินมันก็อย่างนั้นแหละ ดูให้ซึ้งแล้วเหมือนกับไหปลาร้าเดินได้ เจริญกัมมัฏฐานนั่นเอง เรา เจริญกัมมัฏฐานเสียแล้ว สิ่งที่เราเพ่งเล็งมันก็หายไป จิตใจก็จะอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่วุ่นวายต่อไป
อันนี้ เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิดนึกไว้บ่อยๆ ในเรื่องดีงาม อย่าไปนึกไปคิดในเรื่องชั่ว ทำให้เกิดการติดอกติดใจ หลงใหลมัวเมา
เวลานึกอะไรไม่เข้าเรื่องขึ้นมา เราก็ต้องรีบรู้สึกตัว มีสติเกิดขึ้นแล้วก็มีปัญญาในเรื่องนั้น เช่น เรานึกถึงรูปที่สวยงาม ให้รีบรู้สึกว่ากำลังนึกอะไร อย่าให้มันเพลินไปโดยไม่รู้สึกตัว ไอ้ที่คิดเพลินไปนั่นแหละ คือไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่าเรากำลังคิดอะไร ดีหรือชั่ว ไม่ได้ไตร่ตรอง ขาดปัญญา มีแต่ความคิดไหลไปตามอารมณ์ ทีนี้ เราต้องมีความรู้สึกว่าคิดอะไร ตั้งปัญหาขึ้น ถามตัวเองว่าคิดอะไร แล้วเรื่องที่คิดนั้นมันมีอะไรดีมั่ง เอามาคิดตีปัญหาแยกแยะวิเคราะห์วิจัยในเรื่องนั้น

ถ้าเรากลับความคิดได้รวดเร็วเท่าไร (ต้องฝึก มันเกิดจากการฝึก) ภัยมันก็มีน้อย แต่ถ้าคิดไม่ทัน มัวเพลินไปยินดีไปกับเรื่องนั้น มันก็ไปเอาไกลเหมือนกัน จนกระทั่งเสียคนเหมือนกัน แต่ถ้าเรารู้สึกตัวว่ามันไม่ดี เราก็เปลี่ยนความคิดไปเสียให้เข้าสู่แนวที่มันตรงกันข้าม เพ่งมองให้เห็นว่าไม่สวยงาม ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเอามาเป็นของเรา เพราะไม่มีอะไรที่ดีงามอะไร คิดในทางตรงข้ามไว้ มันก็จะเบาไป ความเพ่งเล็งในเรื่องนั้นก็จืดจางไป ผลที่สุดมันก็ไม่เกิดแก่เราอีก สิ่งนั้น มันจะหายไปจากวิถีจิตคือความคิดของเรา เราก็อยู่ได้อย่างสบาย ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน นี่ประการหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 08:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒) โทสะ
๓) โกธะ

ตัวโทสะ กับ โกธะ อันไหนมาก่อน มีพระพุทธภาษิตว่า โทสะ โกธะสะมุฏฐาโน แปลว่า โทสะมีความโกรธเป็นสมุฏฐาน ซึ่งก็คือ โกรธก่อนแล้ว จึงจะเกิดโทสะ

โทสะ หมายถึง จิตคิดประทุษร้าย ประทุษร้ายในทางทรัพย์ ในทางกาม จิตมันคิดประทุษร้าย เรียกว่า โทสะ

โทสะ นั้นเกิดจากความโกรธ คือความโกรธในเรื่องอะไรก็ตาม แล้วเราคิดว่าจะทำร้าย พอคิดจะทำร้าย เรียกว่า เป็นตัวโทสะ เกิดขึ้นในใจ แล้วก็ไปทำร้ายคนนั้นคนนี้ด้วยประการต่างๆ ดังนั้น ความโกรธกับโทสะมีมาด้วยกัน เป็นเพื่อนคู่ขากัน ไอ้ตัวหนึ่งเริ่ม ได้ตัวหนึ่ง ก็ผสมโรงทันที

พอโกรธปั๊บ โทสะก็เข้าผสมโรงทันที คิดมุ่งร้ายหมายขวัญ มันมีความโกรธขึ้นก่อน

คนเราทำไมจึงโกรธ เรื่องโกรธมันเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เราควรจะมาศึกษาว่า ทำไมจึงโกรธ มันเกิดขึ้นมาจากอะไร ?

โกรธนี้ เกิดจากว่าไม่ได้ดังใจ ไม่เหมือนใจ ไม่ได้ดังใจในสิ่งที่เราต้องการ ได้มาก็ไม่เหมือนใจ ไม่ทันใจ ไม่ทันเวลา ไม่ทันความต้องการ เราจึงเกิดความโกรธ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เราใช้เด็กให้ไปนำอะไรมาให้เรา เราต้องการไวๆ แต่เด็กไปช้า มันอาจกำลังไปหาอยู่ก็ได้ อาจไม่รู้จักสิ่งนั้นก็ได้ เรารู้สึกอย่างไรในขณะที่เราคอย รู้สึกว่าร้อนใจ ร้อนใจในเรื่องที่ว่าทำไมมันช้า

ความร้อนใจนี้เป็นลักษณะของความโกรธ พอเด็กมา เอาของมาช้าก็เปรี้ยงเข้าให้ โทสะตามมาทันทีเลย ทำไมมึงช้า มันติดกันอย่างนี้

พอเกิดโกรธ ก็เกิดโทสะ คนที่เกิดโกรธ ก็เกิดโทสะ คนที่เกิดโกรธก็เพราะไม่ได้เหมือนใจ

คนที่โกรธนี้เขาเรียกว่าพวกใจร้อน ใจเร็ว มีความรู้สึกรุนแรงต่างๆ
ความรุนแรงมันไม่ใช่ของดี ต้องกลางๆจึงจะดี ใจอ่อนเกินไป หรือตึงเกินไปก็ไม่ดี มันต้องพอดีๆ ความรุนแรงมันทำให้เกิดความโกรธได้ง่าย

สังเกตดู คนที่ขี้โกรธนี่เป็นคนใจเร็วทั้งนั้น แต่ว่องไว คนพวกนี้ทำอะไรก็ว่องไว เพราะความว่องไวของตัว สมองไว ปากไว ทำงานว่องไว คนอื่นไม่เหมือนตัว จึงไม่ทันใจ จึงเกิดอารมณ์โกรธขึ้นง่าย เช่น ผู้ใหญ่เห็นลูกน้องปฏิบัติงานไม่ทันใจก็โกรธ นั่งรถไปขับรถช้าก็โกรธคนขับ เวลารับประทานอาการ ไปนั่งแล้วอาหารมาไม่ทันใจ อาหารร้อนเกินไป กินเข้าร้อนลิ้นก็โกรธ เย็นชืดเกินไปก็โกรธ เค็มไปก็โกรธ เผ็ดไปก็โกรธ ไม่ค่อยจะมีของถูกใจเสียเลย โกรธอยู่ตลอดเวลา แล้วอารมณ์ของคนประเภทนี้ขึ้นๆลงๆ ประเดี๋ยวดี ประเดี๋ยวร้าย ประเดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น ประเดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้ จิตใจก็ไม่มีความสงบ อยู่กับใครก็เดือดร้อน

ผู้อยู่ร่วมปฏิบัติงานกับคนชอบโกรธ มักเดือดร้อนมาก เพราะจะถูกโขกสับเรื่อยไป เพราะความโกรธของเขา ยิ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าในวงงาน ถ้าเป็นคนขี้โกรธละก็ยุ่งละ
อย่านึกว่าโกรธแล้วลูกน้องมันจะกลัว มันกลัวตอนเราโกรธเท่านั้น แต่พอลับหลังมันไปหัวเราะ ว่า เออ นายเราวันนี้เต็มที่เลย มันหัวเราะเป็นของขำไป แล้วก็ไม่เคารพนับถือ


คนที่มีจิตใจหนักแน่น คนเกรง พูดอะไรก็พูดด้วยความระมัดระวัง ไม่พูดด้วยอารมณ์โกรธ คนเกรง
แต่ถ้าพูดด้วยอารมณ์โกรธ พูดหยาบ พูดดัง คนไม่ได้เกรงอะไร มันเกรงประเดี๋ยว เวลาโกรธว่าจะถูกทุบหัวเท่านั้น แต่พ้นจากนั้นแล้ว มันไม่สนใจ บางทีก็ดูหมิ่น หาว่านายเรานี่ไม่ไหว ดินประสิว พกดินประสิวไว้ตลอดเวลา ระเบิดบ่อย ไม่ได้เรื่องอะไร
แล้วเราเองเวลาโกรธขึ้นแล้วก็ไม่สบาย แผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน เหงื่อออก หน้าแดง หูแดง เลือดขึ้นหน้า
ไอ้เลือดขึ้นหน้า แสดงว่าหัวใจทำงานหนัก ต้องสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยง พอเกิดมีอารมณ์โกรธ อันนี้ ต้องถามนายแพทย์ดูว่าต่อมอะไรมันทำงานก็ไม่รู้ เรียกว่าผิดปกติ

คนบางคนโกรธแล้ว นั่งหอบฮั่ก ฮั่ก บางคนเป็นลมไปเลย คนแก่โกรธมากเป็นลม ต้องช่วยกัน มันเป็นเรื่องที่เรียกว่า ไม่ดีเลยแม้แต่น้อย เราจึงควรจะทำลายมัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีพราหมณ์เคยไปถามพระพุทธเจ้าว่า ฆ่าอะไรแล้วจึงจะเป็นสุข ? พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ - ฆ่าความโกรธได้ เป็นสุข” ใครฆ่าความโกรธเสียได้ ก็มีความสุขสบายใจ แต่ถ้าเราฆ่ามันไม่ได้ มันฆ่าเรา มันทำให้เราอายุสั้น

สังเกตดูว่า พวกอายุยืนไม่ค่อยโกรธใคร ใจดีเยือกเย็น สงบตลอดเวลา อะไรมากระทบก็เฉยๆ ไม่วู่วาม ไม่เร่าร้อน แต่คนใดที่มักโกรธบ่อยๆ มีเรื่องให้โกรธบ่อยๆ แล้ว น่าสงสาร เป็นอย่างนั้นจริงๆ อายุสั้น แล้วก็ตายเร็ว

คนไม่โกรธนี่อายุมั่นขวัญยืน เพราะว่าร่างกายมันไม่กระทบกระเทือน ต่อมทำงานเป็นปกติทุกอย่าง โกรธขึ้นมาทีไร สั่งงานเลอะเทอะหมด กว่าจะจัดเขาระบบก็กินเวลาหลายนาที มันวุ่นหมด นี่ก็เสียหาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 09:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านนำมาบาทเดียว เต็มๆก็ดังนี้


เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์

พราหมณ์ถามว่า

กึสุ ฆตฺวา สุขํ เสติ - กึสุ ฆตฺวา น โสจติ
กิสฺสสฺสุ เอกธมฺมสฺส - วธํ โรเจสิ โคตมาติ.


บุคคลฆ่าอะไรได้สิ จึงอยู่เป็นสุข บุคคลฆ่าอะไรได้สิ จึงไม่เศร้าโศก
ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจซึ่งการฆ่าธรรมอะไรสิ ซึ่งเป็นธรรมอันเอก.

พระพุทธเจ้าตอบว่า

โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ - โกธํ ฆตฺวา น โสจติ
โกธสฺส วิสมูลสฺส - มธุรคฺคสฺส พฺราหฺมณ
วธํ อริยา ปสํสนฺติ - ตญฺหิ ฆตฺวา น โสจตีติ.


บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก
พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะบุคคลนั้นฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 17:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เพราะฉะนั้น เราควรจะระมัดระวังความโกรธ และความประทุษร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

ต้องแก้ที่ความโกรธก่อน โทสะมันมาทีหลัง ถ้าไม่โกรธ โทสะไม่มา เพราะฉะนั้น ระวังตัวเดียวคือตัวโกรธ อย่าให้โกรธ
คนเราจะไม่ให้โกรธจะทำอย่างไร ? ต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่าเรานี่เป็นคนมีสภาพจิตอย่างไร เป็นคนใจร้อน ใจเร็ว หุนหันพลันแล่น เป็นคนเจ้าอารมณ์ และก็ให้รู้ตัวว่าไม่ดี อย่างนี้ไม่ดี มันจะเกิดอารมณ์โกรธได้ง่าย เมื่อเรามองเห็นว่า มันเกิดอารมณ์ไม่ดีอย่างนี้ เราก็ไม่อยากให้มันเกิดในใจของเรา เราก็ต้องระมัดระวัง มีสติคอยควบคุมตัวเองไว้
ที่เราไปนั่งกัมมัฏฐานน่ะฝึกเรื่องนี้ คอยกำหนดจิตของเราไว้อย่าให้เกิดอารมณ์นั้นขึ้น อะไรมากระทบคอยระวัง อย่าให้อารมณ์โกรธ ไปที่ไหนถ้ามีอะไรที่จะทำให้เกิดความโกรธ เราก็รีบบอกตัวเองไว้ว่า ระวังอย่าไปโกรธเขา อย่าแสดงกิริยาที่ไม่ดีต่อหน้าคนเสียมารยาท ต้องควบคุมตัวเองไว้ให้ดี เตือนตัวเองไว้ก่อนว่าต้องควบคุมตัวเองไว้ รักษาใจไว้ให้สงบเยือกเย็น แล้วก็คอยคุมไว้ตลอดเวลา ในขณะที่เราไปทำอะไรๆ กับคนอื่นและคนอื่นนั้นจะทำให้เราโกรธ

คนที่เขาต้องการจะทำลายเรานั้น เขามีวิธีการพูดยั่วอารมณ์ ยุอย่างนั้นอย่างนี้ให้โกรธ เมื่อโกรธแล้วมันขาดเหตุผล ทำอะไรก็ไม่ได้
นายเคลย์แกชกมวย เคลย์นักมวยชั้นยอดเวลาชกพูดมาก พูดยั่วความโกรธเรื่อย ยั่วคู่ชกอย่างนั้นอย่างนี้ พูดเรื่อยๆ พูดทำไม พูดเพื่อยั่วให้คนนั้นโกรธ พอโกรธแล้วใจร้อน ขาดเหตุผล ขาดความยั้งคิด เสียแผนหมด เคลย์ก็น็อคเอ้าท์เอาเท่านั้นเอง เรียกว่า ยั่วให้โกรธเสียก่อน ให้ออกกำลังเสียก่อน กำลังเสียไปในทางโกรธ เวลาโกรธกำลังภายในสูญเสียไปมาก
พอหายโกรธ เหนื่อยเพราะความโกรธ เพราะฉะนั้น คู่ต่อสู้เขามีอุบายที่จะยั่วให้โกรธ เราต้องรู้ลูกไม้ ถ้าเขาพูดอะไรที่จะยั่วให้โกรธ อย่าไปโกรธ แต่เราเห็นเป็นของขำไปเสีย มองในแง่ขำ ในแง่ตลก ในแง่น่าหัวเราะ หัวเราะแล้วก็ไม่โกรธ เราก็สบาย ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ เราระวังไว้บ่อยๆก็ดี
ให้สังเกตตัว ว่าตัวเราวันหนึ่งถ้าไม่โกรธใครเลยสบายใจที่สุด จิตใจสงบราบเรียบ

แต่ถ้าเดี๋ยวโกรธคนนั้น เดี๋ยวโกรธคนนี้ ก็หงุดหงิด อันนี้ เป็นเรื่องเสียหาย เพราะฉะนั้น ต้องระวัง คอยเตือนตัวเองไว้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีเจ้านายผู้หญิงพระองค์หนึ่ง ท่านมักโกรธ รู้ตัวว่าเป็นคนมักโกรธ คิดจะแก้ไข เลยไปหาหลวงพ่อองค์หนึ่ง ท่านบอกให้ทำแหวนสักวง มาใส่นิ้วไว้ แล้วก็แหวนนั้นเขียนว่า “ฉันไม่โกรธ” แล้วดูบ่อยๆ เวลาจะพูดกับใครก็ดูแหวนเสียก่อน จะทำอะไรติดต่อกับใครก็ดูแหวนเสียก่อน ไม่ใช่อะไร เพื่อจะได้ดูบ่อยๆ อ่านคำว่า ฉันไม่โกรธบ่อยๆ
หรือจะเขียนไว้ที่กระจำก็ได้ เอาแป้งเขียนไว้ว่า ฉันไม่โกรธ เวลาดูกระจกทีไรอ่านทุกที นานๆ เข้า ใจมันเย็นขึ้น เพราะเราคอยสังเกตตัวเองว่า ฉันไม่โกรธ แล้วก็สบายใจ จิตใจสบายมีความสุขที่สุดเลย ไม่มีปัญหามากระทบกระเทือนใจอีกต่อไป
คนเราที่อยู่กันมากๆ ก็ต้องระมัดระวังจิตใจ อย่าให้โกรธต่อใครๆ กระทบนิดกระทบหน่อย อย่าถือสา อย่าเอาเรื่อง อย่าทำเรื่องไม่สลักสำคัญให้เป็นเรื่องขึ้นมา ให้นึกว่าเรื่องเล็กน้อยแบ่งกันกันมากกว่านั้น ใจเราก็ไม่รู้สึกอะไรขึ้นมาในใจ ความโกรธจะไม่เกิดเพราะเราคิดอย่างนั้น คิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ นานเข้าใจก็เย็นสงบไม่วู่วาม

นี่คือวิธีการแก้ไขในเรื่องความโกรธ ให้ทำสติ คือ ฝึกสติให้มาก ให้รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบ แล้วก็ความโกรธจะไม่เกิดขึ้น.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2018, 21:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นอกจากนั้นแล้ว ให้หมั่นพิจารณาโทษของความโกรธว่า คนที่โกรธ รูปร่างเป็นอย่างไร กิริยาเป็นอย่างไร คำพูดที่แสดงออกมาเป็นอย่างไร เรานึกถึงภาพคนโกรธบ่อยๆ แล้วก็เอามาพิจารณา เห็นว่ามันเป็นภาพที่น่าเกลียด พวกเราเคยเห็นยักษ์ ยักเป็นภาพของความโกรธนั่นเอง ที่เขาทำยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์หนังตะลุง นั่นคือภาพของความโกรธ มันจึงมีเขี้ยวออกมานอกปาก หมายความว่า เข็ดเขี้ยวเคี้ยวฟัน เขี้ยวโผล่ออกมา ดังว่าจะกินเลือดกินเนื้อ แล้วก็หน้ายุ่ง หน้ายุ่งก็คือหน้าโกรธนั่นเอง และยืนก็ต้องถือตะบอง แสดงว่า มีโทสะ จะประทุษร้ายเขา ท่าทางไม่น่าดู เรื่องของยักษ์ไม่น่าดู หนังตะลุงพอออก ยักษ์ต้องโครมคราม พอออกภาพมนุษย์เรียบร้อย รูปฤๅษีก็เรียบร้อย แต่พอยักษ์ก็ต้องปึงปังขึ้นมาทีเดียว หมายความว่า ตัวกิเลสมาแล้ว ตัวยักษ์คือกิเลส


เขาทำยักษ์วัดโพธิ์วัดแจ้งไว้ ก็เพื่อให้คนเห็นว่า นี่คือตัวกิเลส ความโกรธ

จะเข้าไปหาพระต้องฆ่าความโกรธ ทำลายความโกรธ อย่าเอาความโกรธเข้าไปหาพระ ให้ทิ้งไว้ตรงหน้าวัดนี่แหละ ยืนเฝ้าหน้าวัด อย่าให้เอาเข้าไป คนเรากลับไม่เข้าใจ กลับไปไหว้ยักษ์เสียอีก ก็เท่ากับว่าไปไหว้ความโกรธ เป็นเรื่องน่าขำดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรามองภาพคนโกรธ เอามาคิดมานึกว่าไม่ดีพอ ท่าทางก็ไม่สวย พูดจาก็ไม่เพราะ และบอกับตัวเองว่าเราอย่าเป็นเช่นนั้น อย่าให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในใจของเรา แล้วก็มันจะค่อยเบาบางไปเอง ด้วยความมีสติเท่านั้นเอง เมื่อมีสติควบคุมความโกรธแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าเป็นสุขขึ้น สบายใจขึ้น

คนมักโกรธนั้นเป็นคนใจอ่อน ไม่ใช่คนใจแข็ง บังคับควบคุมตนเองไม่ได้ ปล่อยให้อารมณ์มันมากระทบ
คนใจแข็ง คือคนที่ควบคุมตัวเองได้ บังคับตัวเองได้ อันนี้ ต้องเข้าใจให้ถูก อย่าไปชมคนขี้โกรธว่าเป็นคนใจแข็ง ไม่ใช่ แต่เป็นคนใจอ่อน เหมือนขี้ผึ้งลนไฟ อ่อนไปหมดทุกแง่ทุกมุม ใช้ไม่ได้ จิตใจอย่างนั้นมันไม่ดี จิตใจอย่างนี้ใช้ไม่ได้ พอเกิดความเข้มแข็งก็เลิกได้ บังคับจิตใจตัวเองเด็ดขาด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2018, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


โทสะ ความประทุษร้าย มีคู่กับ ความโกรธ ถ้าเราคุมโทสะได้ ความโกรธมันก็หายไป

การแก้อีกอย่างหนึ่งก็คือ หัดแผ่เมตตาไปหรือมองคนในแง่ดีไว้ อย่ามองในแง่ร้ายเสมอไป อย่าพูดเรื่องร้าย มันจะไม่เป็นฐานหล่อเลี้ยงโทสะหรือความโกรธ เพราะเรามองแต่ในแง่ดี เห็นอะไรก็เป็นเรื่องดีไป ไม่เห็นในทางร้าย ใครพูดอะไรก็นึกเป็นของขำ น่าสงสาร เช่นว่า คนพูดหยาบ เราก็ไม่โกรธ ถือว่าน่าสงสารที่ได้พูดคำเช่นนั้นออกมา เขาคงจะเป็นคนขาดการศึกษา ไม่ได้อยู่ในสำนักครูบาอาจารย์ ไม่มีใครแนะนำพร่ำเตือนจึงพูดคำเช่นนั้น ถ้าเราไปโกรธก็ดูว่าจะแย่กว่าคนนั้นเข้าไปอีก

มีคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครมาทำอะไรให้เธอโกรธ แล้วเธอก็แสดงความโกรธ เธอน่ะเลวกว่าคนนั้น ก็เปรียบดังว่า นาย ก. มาด่า นาย ข. แล้ว นาย ข. ไปด่าตอบ นาย ก. นาย ข. เลวกว่า นาย ก. นาย ก. เลวอยู่แล้วละที่มาด่านาย ข. แล้วนาย ข. ยิ่งมาด่าตอบ นาย ก. นาย ข. ก็ยิ่งเลวเข้าไปอีก
ทำไมจึงได้ลงโทษว่าเลวกว่า นาย ก. ? ก็เพราะนาย ก. ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ว่าทำด้วยอารมณ์โกรธ ทำด้วยโทสะ ทำด้วยอำนาจกิเลส ควรจะเอาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนจิตใจ แล้วก็ไม่ไปกระทำเช่นนั้นขึ้นอีกคนหนึ่ง แต่ว่ายับยั้งไม่ได้ เลยเกิดปากเสียงขึ้นมา พระองค์จึงตรัสว่า คนที่ไปโกรธ คนที่สองเลวกว่าคนที่หนึ่ง
ผู้ที่มาด่านั้นยังเลวน้อย คนด่าตอบเลวมากกว่า อันนี้สำคัญ เพราะฉะนั้น เมื่อใครมาทำอะไรให้เราโกรธนั้น เราก็ต้องคิดว่า ฉันไม่เลวกว่าแกดอก แกเลวอยู่คนเดียวพอแล้ว ฉันจะไม่เพิ่มความเลวขึ้นในโลกอีกคนหนึ่งละ บอกกับตัวเองอย่างนั้น ใจมันก็หยุดได้ ไม่วุ่นวาย

เรื่องนี้มันเกิดง่าย โกรธง่าย เราต้องระวัง หัดเป็นคนดี ใจสงบเยือกเย็น ให้มองไปในแง่ขำขันไปเสีย อย่าไปมองในแง่โกรธเคืองเลย เพราะเวลาเราโกรธนั้น เราลงโทษตัวเองแท้ๆ ไม่ได้ลงโทษใคร จุดไฟเผาตัวเอง เร่าร้อนเอง ผุดลุกผุดนั่งไม่เป็นปกติ พูดจาเลอะเทอะ เรื่องของเราทั้งนั้น คนที่เราโกรธเขา บางทีเขาหัวเราะเอาด้วยซ้ำ หัวเราะว่าเราทำท่าแปลกๆ แล้วมันเรื่องอะไรที่เราจะไปแสดงละครให้เขาหัวเราะอยู่อย่างนั้น มันไม่สมควร

คนเรายิ่งอายุมากขึ้น จิตใจต้องฉลาดขึ้น มีสติควบคุมตนเองได้มากขึ้น เพราะในชีวิตที่ผ่านมานั้นมีประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ ให้ถือว่าเป็นบทเรียนสอนใจ แล้วเราก็ต้องควบคุมจิตใจไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นในรูปเช่นนั้นซ้ำอีก อย่าให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำรอย แล้วเราจะก้าวหน้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ให้ใจเรามันใหญ่ด้วยคุณธรรม ด้วยคุณงามความดี ให้นึกว่าอารมณ์ร้อนๆ ที่โกรธอะไรๆ นั้น เป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ยังไม่ได้อบรมนิสัย ยังไม่ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา เราเข้าไปบวชไปเรียนแล้วก็ผ่อนหนักเป็นเบาหน่อย ให้จิตใจดีขึ้นหน่อยจึงจะดี
นี่ประการหนึ่ง เรียกว่าความโกรธ เป็นเรื่องไม่ดี ให้คิดแก้ไข บำบัดปัดเป่า เรื่องมันจะดีขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2018, 16:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔) อุปนาหะ ผูกโกรธไว้ ตัวผูกโกรธนี่ก็คือพยาบาทนั่นเอง มีความโกรธแล้วผูกไว้

หมายความว่า เก็บไว้กลายเป็นเรื่องพยาบาท อาฆาตจองเวรไป ยิ่งร้ายใหญ่ ถ้าเก็บไว้ละก็ยิ่งร้ายใหญ่ เขาไม่ให้เก็บเรื่องอย่างนี้ ให้ปล่อยวาง เรื่องความโกรธให้ปล่อยวาง อย่าเก็บไว้ ใจมันจะได้สบาย ไม่ยุ่งยากลำบาก อะไรเกิดขึ้นที่ไหนให้มันดับที่นั่น เกิดที่ถนนให้ดับที่ถนน เกิดตรงไหนให้ดับตรงนั้น ดี.

อันนี้คนเราไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องเกิดที่โน่น อุตส่าห์เอามานั่งคิดนอนนึก แหม มันทำกูเจ็บแสบ ทำอย่างนั้นมันทำให้กูเสียหน้า มีหน้าให้เขาเสีย มันก็ลำบาก อย่างนี้ มันลบเหลี่ยมกู มีเหลี่ยมให้เขาลบ มันยุ่งทั้งนั้นแหละ มีหน้าให้เขาเสีย มีเหลี่ยมให้เขาลบ มันก็ยุ่ง อย่าไปสร้างหน้าสร้างเหลี่ยมให้มันมากเกินไป ไอ้หน้า ไอ้เหลี่ยมนี่มันมาจากอะไร ? ก็มาจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูนี่แหละ ในตัวเรา ของเรานั่นแหละ แล้วก็นึกว่าข้าเป็นอย่างนั้น ข้าเป็นอย่างนี้ มันใหญ่ แล้วคนมาลบทำให้เล็ก ไม่ชอบอกชอบใจ เอามาคิดโกรธอยู่ นี่เรียกว่าผูกโกรธไว้ อารมณ์นี้เป็นเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในใจของผู้ใด เหมือนกับเอาตะเข็บตะขาบใส่ไว้ในอก มันกัดตรงนั้นนิด กัดตรงนั้นหน่อย ทำให้รำคาญอยู่ตลอดเวลา แล้วเมื่อได้เห็นอะไรเกี่ยวกับคน นั้นก็โกรธทั้งนั้น เขาถามว่านี่ลูกใคร ลูกคนนั้น โกรธขึ้นมาทันที อย่างนี้ไม่ดี

มีคนหนึ่งแกผูกโกรธมาก คือลูกสาวไปแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งท่านไม่ชอบ ก็เลยหนีตามกันไป แต่ว่าคู่นั้นเขารักกันจริงๆ แล้วเป็นคนเรียบร้อย แต่ว่าพ่อไม่ชอบ ไม่ให้เข้าบ้านเลย แล้วก็สั่งพี่ชายของผู้หญิงไป บอกว่าเอ็งไปตามน้องสาวกลับมา กูไม่ให้ดอกไอ้นั่นน่ะ พี่ชายก็ไป ไปเห็นน้องสาวกับน้องเขยเข้ากันได้เหมือนปี่กับขลุ่ย มันอยู่กันเรียบร้อย รักใคร่กันดี เลยไม่กล้าพูดอะไร กลับมาพ่อก็ว่า เอ็งนี่ใช้ไม่ได้ ข้าใช้ให้ไปเอามา กลับไปเห็นดีเห็นงาม ไม่ได้ความ ดุใหญ่เลย แล้วก็ไม่ให้เข้าบ้าน
ต่อมาลูกสาวก็มีลูกเป็นผู้ชาย หน้าตาน่าเห็นดู วันหนึ่ง คนเลี้ยงอุ้มเข้ามา คุณตาเห็นเข้า เห็นหน้าหลาน แต่ไม่รู้ว่าหลาน ก็ว่า เอ้อ ลูกใคร น่าเอ็นดู เอามือไปจับต้อง น่าเอ็นดู ปากนิดจมูกหน่อย ชมนั่นชมนี่ คนใช้ก็ว่า ลูกแม่ปลื้ม หดมือทันทีเลย เหมือนกับว่าเด็กนั้นเป็นตัวไส้เดือนกิ้งกือ เอาออกไป เอาออกไป ไม่ให้เข้ามาเลย พอรู้เท่านั้นก็เอาออกไป นี่เรียกว่าผูกโกรธเอาไว้ในใจ แล้วหนักไปกว่านั้น ยังสั่งอีกว่ากูตายมึงอย่ามาเผา ตายแล้วเขาจะมาเผ่าจะลุกขึ้นมาเตะเขาอย่างไร มันไม่เข้าเรื่อง นี่เรียกว่า มันไม่เข้าเรื่อง สั่งว่าตายแล้วอย่ามาเผา เขามาเผาแล้วเราจะเห็นหรือ เรียกว่า ผูกโกรธนานเหลือเกิน ผูกใจเจ็บไว้ไม่รู้ปล่อย ไม่รู้วาง ไม่ได้เรื่องอะไร มีถมไปคนแบบนี้ โกรธไม่เผาผีกันเลย ถ้าเจอกันก็นั่งไม่ดูหน้ากันเลย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง มันเรื่องอะไรที่ทำเช่นนั้น

ขณะใดที่เราคิดถึงคนที่เราโกรธ สบายใจไหม ? เราไม่ได้สบายใจดอก เป็นทุกข์ แล้วมันเรื่องอะไรที่จะสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเอง นี่แหละเขาเรียกว่าความโง่ หาเรื่องให้ตัวทุกข์ ให้ตัวร้อนใจ ให้ตัวเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะปล่อยๆวางๆเสียบ้าง มองในแง่ดีแง่งาม แล้วก็ให้อภัยกัน อย่าไปโกรธไปเคืองเขาเลย ให้อภัยเขามันก็หมดเรื่องเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร แต่ว่าไม่ยอม ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะว่ากูใจอ่อน ว่าไปอย่างนั้นอีก ไม่ยอมไปจนตาย แม้ตายก็อย่ามาดูผี อย่าดูเปลวอัคคี ตั้งแต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย มันหนักไปหน่อย อย่าเก็บความโกรธไว้ในใจ อย่าเก็บความเกลียดไว้ในใจ เพราะมันเป็นพิษเป็นภัยแก่เรา เก็บไว้ไม่ได้ ต้องเก็บได้แต่ความรัก ความเมตตา การรู้จักอภัย ไม่ถือโทษโกรธตอบในเรื่องนั้นๆ มันสบายใจดี กิเลสตัวนี้มันยุ่งอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มี.ค. 2018, 08:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อต่อไป

๕) มักขะ แปลว่า ลบหลู่คุณท่าน อันนี้ร้ายมาก ไม่ยอมรับว่าคนนั้นมีอุปการคุณต่อเรา ไม่ยอมรับว่าคนนั้นเป็นพ่อเป็นแม่เรา อย่างนั้นแย่เต็มทีแล้ว เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันไม่รู้จักพ่อแม่ พ่อนี่มันไม่รู้จักเลย สัตว์เดรัจฉาน เช่น ลูกแมวมันไม่รู้ว่าพ่อมันตัวไหน แต่รู้จักแม่ รู้จักแม่ขณะที่มันกินนม พอเลิกกินนมแล้ว มันไม่รู้จักว่าเป็นแม่ มันจำไม่ได้ ไม่มี “สัญญา” ตัวนี้เลย มันไม่รู้จักแม่ แต่นั่นเป็นธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉาน

มนุษย์เรามีสมองพิเศษ จำพ่อจำแม่ จำพี่จำน้องจำอะไรๆได้ทุกอย่าง แต่ว่าไม่ใช้ ความจำแบบนั้นไม่ใช้ ปฏิเสธไม่รับรู้ในบุญคุณที่เขามีต่อตน เช่น พ่อแม่ ไม่พูดดอกว่าไม่ใช่พ่อแม่ แต่ว่าเฉยๆ การเฉยๆ น่ะคือ ลบหลู่ แล้ว ไม่เอาใจใส่ต่อพ่อแม่ผู้แก่ชรา หรือว่าผู้ที่เราต้องเลี้ยงดู

ในพระสูตรตอนหนึ่ง บอกว่า ผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ แล้วไม่เลี้ยงพ่อแม่ คนนั้นเป็นคนเลว หรือว่าเป็นคนเสื่อมจากคุณงามความดี
เรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญดังที่พูดแล้ววันก่อน ในเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที ว่าเป็นเรื่องใหญ่ เราจะต้องรับรู้ในบุญคุณของผู้อื่นที่มีต่อเรา แม้เล็กน้อยก็ต้องรับรู้
พ่อแม่ครูบาอาจารย์ใครก็ตามที่ได้ช่วยเหลือเจือจุนเราแม้เล็กน้อย ต้องรับรู้บันทึกไว้ในความทรงจำของเรา ว่าคนนั้นมีบุญคุณต่อเรา อย่าลบหลู่ดูหมิ่นบุญคุณคนที่มีต่อตนนั้น เป็นความเสื่อมอย่างยิ่ง
เราจะไปคบหาสมาคมกับใคร ถ้าเขารู้ว่าเราเป็นคนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณคน นี่เขาอิดหนาระอาใจ เขาไม่อยากคบด้วยดอก ไม่อยากจะเอามาเป็นเพื่อนเป็นมิตรแล้ว เพราะว่าวันหนึ่งเขาอาจทรยศต่อเรา หักหลังเราได้
คนที่ไม่มีความสำนึกในบุญคุณของคนอื่น ไว้ใจไม่ได้ ร่วมหุ้นก็ไม่ได้ ร่วมงานก็ไม่ได้ เอามาเป็นเมียก็ไม่ได้ เอามาเป็นผัวก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งนั้น มันจะแย่เข้าสักวันหนึ่งต่อไปข้างหน้า เสียหาย ความลบหลู่บุญคุณคนจึงเป็นเรื่องร้ายกาจ เป็นเรื่องเสียหายมาก


ในเรื่องนี้เราต้องทำในทางตรงกันข้าม คือ ต้องประกาศคุณของคนอื่นที่มีคุณต่อเรา ถ้าใครเอ่ยชื่อใครสักคนหนึ่ง แล้วคนคนนั้นอยู่ในบัญชีแห่งคนมีบุญคุณต่อเรา เราต้องประกาศออกไปทันที โอ๊ย คนนั้น มีบุญคุณต่อผมมาก ได้ช่วยเหลือผมในเรื่องนั้นเรื่องนี้
การพูดอย่างนี้ มีกำไร ทำให้เกิดความนิยมขึ้นในตัวบุคคลนั้น คนอื่นเขานิยม นิยมในคุณค่าของคนนั้น ว่าผู้นี้ใช้ได้ เพราะเป็นผู้ที่ระลึกถึงบุญคุณของคนอื่น การทำอย่างนี้เป็นความดี
ถ้าเราไม่ประกาศคุณของคนอื่นที่มีบุญคุณต่อเรา เท่านั้นยังไม่พอ ยังพูดจาดูหมิ่นดูแคลน ใช้ไม่ได้ ที่คนโบราณเขาพูดว่า กินบนเรือนแล้วขี้รดบนหลังคา นั่นแหละ ไม่ไหวแล้วคนแบบนั้น มาอยู่มาอาศัยกับผู้ใดแล้ว ออกไปก็ติเตียนนินทาผู้นั้น คนอย่างนั้น ไปอยู่ไหนก็ลำบาก ไม่มีใครอยากคบ ไม่มีใครอยากเอาเป็นเพื่อน เป็นมิตร เพราะกลัวว่ามันจะเล่นงานเขาเข้าอีกในวันหนึ่งข้างหน้า มันก็เสียหายอย่างนี้ อันนี้ เป็นตัวร้ายกาจยิ่ง เพราะลบหลู่บุญคุณท่าน

วัวควายบางตัวตายแล้ว เจ้าของเอาเขาไปไว้บนลอมข้าว ในยุ้งข้าว
สมัยเด็กๆก็เคยเห็น ตะกร้าใบใหญ่ มีเขาวัวเขาควายหลายเขา ถามว่าเอามาเก็บไว้ทำไม เขาบอกว่าวัวควายพวกนี้มันช่วยเรา มันรับใช้เรา จนกระทั่งตัวตาย แล้วเอาเขามาไว้ เอาด้ายแดงด้ายขาวพันไว้ด้วย เวลามีงานการอะไรยังไปจุดธูปเทียนบูชา อันนี้ เป็นเรื่องสำนึกในบุญคุณว่า วัวควายพวกนี้มันมีประโยชน์แก่ชีวิตเรา เราก็ไปกราบไหว้
ฝรั่งเขาก็มีวันหนึ่งในรอบปี เขาเรียกว่า วันขอบคุณพระเจ้า โดยมากเขาทำเมื่อหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว พอเก็บเกี่ยวข้าวในนาในไรหมดแล้ว เขาไปทำพิธีขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า การขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ก็หมายความว่า ขอบคุณต่อธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศที่อำนวยให้เราปลูกข้าวโพดได้งดงาม ปลูกข้าวได้ผลดี เขาไปขายได้กำไรเอามาเลียงชีพกัน เขาก็ไปทำการอย่างนั้น
การขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า นั้นก็คือ การสอนให้กตัญญูกตเวที ให้รับรู้ว่าธรรมชาติมีประโยชน์ต่อชีวิตของเรา เราควรจะเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ

คนไทยเราสมัยโบราณ ถึงสมัยนี้ก็ยังมีอยู่ เขาเรียกว่า ไหว้บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้ว เขากราบ เขาไหว้ เขาถือว่าวิญญาณของบรรพบุรุษไม่ได้ไปไหน ยังอยู่ในบ้าน อยู่กับลูกกับหลาน มีงานก็ต้องจัดสำรับกับข้าวไปวางไว้ จุดธูปจุดเทียนบูชา เขาเรียกว่า เอาไปเซ่นไหว้ต่อผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเคารพรับรู้บุญคุณของบรรพบุรุษว่า เป็นผู้สร้างฐานะ สร้างสกุล สร้างครอบครัวให้มีเจริญก้าวหน้า เขาจึงไปกราบไหว้

ชาวจีน ที่เขาทำฮวงซุ้ยไว้ในที่ต่างๆ ปีหนึ่งก็ต้องไปไหว้ ทำพิธีเช็งเม้ง ไปตบแต่งบริเวณสุสานให้สะอาดให้เรียบร้อย จุดธูปเทียนบูชา เผากระดาษเงินกระดาษทอง เอาหมูเห็นเป็ดไก่ไปไหว้ เราดูว่าเป็นพิธีการ แต่ว่าส่วนลึกคือการสอนให้ระลึกถึงบุญคุณ ให้รับรู้ในบุญคุณของบรรพบุรุษ ที่ได้มาสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างฐานะให้เรารู้ เกิดมานี้ได้รับมรดก ได้อยู่เย็นเป็นสุข นั่นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูทั้งนั้น เป็นการประกาศคุณของท่านเหล่านั้นว่ามีบุญคุณต่อเรา เราจึงไปทำการกราบไหว้

พิธีการในครอบครัวเรา เช่นว่า วันตรุษ วันสงกรานต์ เราเอากระดูกของบรรพบุรุษมา กระดูกที่เผาแล้ว เก็บใส่โกศน้อยๆ ไว้ในบ้าน วันตรุษ วันสงกรานต์ ก็เอามาสรงน้ำ สมาชิกในครอบครัวทุกคนก็มากราบมาไหว้ มาสรงน้ำสักการะ นี่ทำเพื่ออะไร ก็เพื่อหัดลูกหลานให้สำนึกในบุญคุณ ให้รักบรรพบุรุษ รักพี่ รักน้อง รักวงศ์ตระกูล รักครอบครัว อันนี้เป็นฐานของความรักชาติ รักประเทศ คนเราจะรักชาติ รักบ้านเมือง ต้องตั้งฐานในครอบครัวก่อน ถ้ามีความรักกันในครอบครัวดีแล้ว ก็รักชาติรักบ้านได้
แต่ถ้าในครอบครัวแตกร้าวแล้ว จะไปรักชาติได้อย่างไร ทะเลาะกันเสียแล้วก็ไปไม่รอด คนเราถ้ารักเคารพบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย จะไม่ทะเลาะกัน กลัวบรรพบุรุษจะแช่ง คนโบราณเขากลัวอย่างนั้น เขาไม่ทะเลาะกัน เขาอยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง รักใคร่ประนีประนอมกันดี นี่ก็เกิดจากเรื่องรับรู้ในบุญคุณของผู้มีบุญคุณแก่ตน เรื่องก็เรียบร้อย

เหมือนกับเราผู้บวชในพระศาสนา เรารับรู้ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เรานึกถึงท่าน บูชาท่าน กราบไหว้ทุกค่ำเช้า แล้วก็เอาหลักมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างตัวสร้างฐานะให้เจริญก้าวหน้าก็ได้ประโยชน์
แต่ถ้าเราปฏิเสธแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีประโยชน์ พระธรรมไม่ได้เรื่อง พระสงฆ์นี่ก็รกบ้านรกเมือง ชักจะเลอะแล้ว คนนั้นชักจะออกไปนอกทางแล้ว เพราะไม่รับรองสิ่งทีเป็นคุณงามความดี เป็นยอดแห่งความดี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่าเป็นยอดแห่งความดี เราไม่ยอมรับมันก็วุ่นวาย จะไปเป็นคอมฯ เป็นอะไรง่ายแล้ว เพราะไม่ยอมรับศาสนาแล้ว ทำชั่วง่าย แต่ถ้าหากว่า จิตใจของเรายังมั่นคงต่อสิ่งนั้น ทิ้งไม่ได้ เรายังรัก ยังเคารพอยู่ นี่เป็นเรื่องสำคัญ

เราบวชกับใครวัดใด ก็นึกถึงวัดนั้น ว่าเป็นสถานที่ให้ประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราก็ตอบแทน การตอบแทนนี่ไม่ต้องมีอะไรดอก ทำให้ดีก็แล้วกัน ประพฤติตนให้เรียบร้อย แม้จะไม่มาเยี่ยมครูอาจารย์ แต่ว่าประพฤติตนเรียบร้อย อยู่ในศีลธรรม
แต่การมาเยี่ยมบ้างก็สบายใจ ส่วนหนึ่ง อาจารย์อุปัชฌาย์ก็ได้เห็นว่ายังอยู่ ยังไม่ตาย ปีหนึ่งมาเยี่ยมสักครั้งหนึ่งก็ยังดี ถ้าไม่มาเยี่ยมเลย ก็นึกว่าท่าจะตายเสียแล้ว ไม่เห็นหน้าเห็นตาเลย มาบ้างก็ดี อุปัชฌาย์ไม่มาเยี่ยมเลย ก็นึกว่าท่าจะตายเสียแล้ว ไม่เห็นหน้าเห็นตาเลย มาบ้างก็ดี อาจารย์อุปัชฌาย์ได้เห็นก็ชื่นอกชื่นใจว่ายังอยู่เรียบร้อย ไต่ถามสารพทุกข์สุกดิบกันไปตามเรื่อง. มักขะ นี้ไม่ดี ลบหลู่คุณท่าน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2018, 19:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๖) ปลาสะ ตีเสมอ คือ ยกตนเทียมท่าน นี่ก็ยุ่งเหมือนกัน เขาเรียกว่า ไม่เจียมตัว ไม่เจียมสังขาร คนประเภทนี้ไม่รู้จักฐานะของตัว ซึ่งมีธรรมะอยู่อันหนึ่ง เขาเรียกว่า อัตตัญญูตา เรียกว่า รู้จักตนเอง รู้จักตนเองว่ามีความรู้เท่าไร ความสามารถขนาดไหน เป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ความเป็นอยู่อย่างไร เรียกว่ารู้จักตัวเอง แล้วก็เป็นคนเจียมเนื้อเจียมตัว คนชนิดนี้น่าเอ็นดู แต่คนไม่รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวนี้ไม่ไหว มักยกตนข่มท่าน ทำท่าเขย่งเก็งกอยอยู่ตลอดเวลา ที่จะทำให้บ่าไหล่ไปเทียมกับคนที่ใหญ่กว่าตัว เรียกว่า ตีเสมอ ไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ เป็นคนที่ไม่มีใครพอใจ เขาเห็นแล้วหมั่นไส้ ผู้น้อยอย่าไปทำอะไรเหมือนผู้ใหญ่ คนเขาหมั่นไส้ คนส่วนมากถือจะไม่ให้เท่าเทียมกับผู้หลักผู้ใหญ่

คนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น เป็นทางแห่งความเจริญ ที่เราสวดให้พรทุกวันนั่นแหละ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ฯลฯ อายุก็คืออายุ วัณโณ คือผิดพรรณ ความสุขและพลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความอ่อนน้อม
ผู้ใดมีความอ่อนน้อมจะมีความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุข และกำลัง และคนก็ไม่เกลียด

เราไปไหนแสดงความอ่อนน้อม เขาก็รักเอ็นดู เราไปหาผู้ใหญ่ไปถึงก็เข้าไปกราบ ท่านแสดงความเอ็นดู แต่เราไปยืนเฉยๆ หรือไหว้ก็เก้งก้าง เขามองแล้วคงจะไม่ค่อยพอใจ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้กาลเทศะ

เวลาเข้าไปหาผู้ใหญ่ของาน สมัครงาน ต้องทำให้ดี ทำให้เกิดความน่าเอ็นดู อย่านึกว่าเป็นเรื่องศักดินา แต่เป็นมารยาทในสังคม เขามีกันทุกชาติทุกภาษา เรื่องนี้นับว่าสำคัญในชีวิตประจำวัน เราไปไหนแสดงความอ่อนน้อมความเคารพด้วยน้ำใจอันงาม ด้วยท่าทางตามแบบวัฒนธรรมที่เรียบร้อย ทำให้เขาพออกพอใจ เช่น เราไปหาคนแล้วเราเข้าไปคุกเข่ากราบบนตักเขา มันเกิดความน่าเอ็นดูทันที ที่เราไปกระทำเช่นนั้น แล้วจะพูดจาอะไรดูมันคล่องแคล่วเพราะเขาเอ็นดู

บางคนกราบไหว้คนไม่เป็น ซึ่งน่าจะหัดไว้ มันไม่ใช่ของเสียหายอะไร มันจะทำให้เขาเกิดความเอ็นดู เราจะพูดอะไรมันง่าย จิตมันเข้ากันแล้วพูดอะไรมันง่าย แต่ถ้าเขาไม่ชอบแล้วมันพูดยาก แต่ถ้าเราทำอาการดีๆ เข้าไปอย่างนั้นแล้ว เขาก็พอใจเช่นกัน เราจะขออะไรก็ได้ง่าย

เรื่องปลาสะ ตีเสมอนี้ ทำไมถึงไปตีเสมอท่าน ? ก็เพราะนึกว่าฉันมันก็เก่งเหมือนกันนั่นเอง แล้วก็เข้าใจผิด
การแสดงตัวเป็นคนเก่งนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ารักน่าพอใจ เรามันต้องรู้เรื่องจิตวิทยาในการเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ อย่าเก่งเสมอไป อย่ารู้เสมอไป อย่าฉลาดเสมอไป มันต้องทำโง่บ้าง ทำเล็กบ้าง เรามันต้องรู้เวลา เล็กไม่เป็นก็ไม่ได้ โง่ไม่เป็นก็ไม่ได้ มันต้องรู้เหมือนกัน เหมือนเจ้าคุณองค์หนึ่ง กล่าวว่า “ถ้าโง่ไม่เป็น เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้” เป็นคำคมน่าคิด ต้องโง่บ้างเป็นบางครั้ง ไม่โง่ก็ทำโง่เสียบ้าง ไม่ใช่รู้ไปเสียทุกอย่างทุกเวลา ต้องรู้จักเล็กใหญ่ รู้จักความเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ มันก็เข้ากับคนได้ด้วยความเรียบร้อย

วันนี้ เอาเพียง ๖ อย่าง คือ อภิชฌาวิสมโลภะ คือความเพ่งเล็ง โทสะ ร้ายกาจ โกธะ โกรธ อุปนาหะ ผู้โกรธไว้ มักขะ ลบหลู่บุญคุณท่าน ปลาสะ ตีเสมอ คือยกตนเทียมท่าน ๖ อย่างนี้เป็นอุปกิเลส เป็นสิ่งที่เข้ามาประทุษร้ายตัวเรา ไม่ช่วยให้เจริญ ไม่ช่วยเราให้ก้าวหน้า จึงเป็นเรื่องที่ควรจะระมัดระวังอย่าให้เกิดขึ้นในใจของเรา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 51 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร