วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 32 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุปาทาน ๔ (สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อทุกข์โทษแก่ตัวเรา)

วันนี้จะพูดต่อ ถึงพวกกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อโทษ คือจะพูดถึง สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน

อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่น น่าคิดอยู่ ความยึดมั่นในสิ่งใดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอุปาทาน

อุปาทานนั้นเกิดขึ้นในจิตคนเราอยู่เสมอบ่อยๆ เพราะมนุษย์เรานั้นชอบจับเกาะอยู่ในเรื่องอะไรบางอย่าง ถ้าเกาะจับสิ่งอะไรก็นึกคิดถึงแต่สิ่งนั้นตลอดเวลา

การครุ่นคิดถึงสิ่งนั้นแหละ เป็นอุปาทาน เป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อน

ให้เราสังเกตจิตใจของเรา เวลาใดที่เราเป็นทุกข์ เพราะว่าเรามีความวิตกกังวล ในเรื่องบางสิ่งบางประการ
สิ่งที่เราวิตกกังวลนั้น เป็นต้นเหตุแห่งอุปาทาน เป็นการยึดมั่นถือมั่น ในภาษาบาลีก็เรียกว่า อุปาทาน หมายความว่า เข้าไปยึดไปถือสิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
การเข้าไปยึดถืออย่างนั้น เรียกว่า อุปาทาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 09:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุปาทาน นั้นแจกไว้เป็น ๔ อย่าง คือ

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในเรื่องกาม เรียกว่า กามุปาทาน

จิตนี้ ครุ่นคิดอยู่แต่ในเรื่องกาม เรียกว่า อุปาทานในเรื่องกาม เรียกตามศัพท์ว่า กามุปาทาน

คำว่า “กาม” นั่น แปลว่า สิ่งที่น่าใคร่, กามนั้น มี ๒ ประเภท

วัตถุกาม แปลว่า สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ ในโลกนี้มีอยู่ ๕ ประเภท คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรๆในโลกนี้มันรวมอยู่ใน ๕ อย่างนี้ รวมอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่าเป็นกามวัตถุ หรือวัตถุกาม เพราะเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจสำหรับบุคคลที่ยังหลงใหลมัวเมา

แต่บุคคลที่คลายจากความหลงใหลแล้ว ก็ไม่เป็นกามสำหรับคนผู้นั้น แต่จะยังเป็นกามของคนที่ใคร่ที่พอใจในเรื่องนั้น นี้เรียกว่า วัตถุกาม

วัตถุกามนี้ ไม่เป็นของยินดีสำหรับพระอรหันต์เจ้า พระอริยเจ้า พระอริยเจ้าท่านเสพ หรือดื่มกับของเหล่านั้นก็จริง แต่ทว่าใจของท่านไม่มัวเมาในสิ่งนั้น

เราปุถุชนนี้ยังมีกาม อาลัยใยดีอยู่ในเรื่องพรรค์นี้ ได้เห็นรูปที่สวยงามก็เกิดความอาลัยใยดี

ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ก็ติดพันอยู่ในเสียงนั้น

ได้กลิ่นหอมหวน ก็มีจิตติดพันในกลิ่นนั้น

ได้สัมผัสถูกต้องอะไร นิ่มนวลน่าจับต้อง จิตก็ไปผูกพันอยู่กับสิ่งนั้น

ได้กินอะไรที่เอร็ดอร่อย จิตก็ไปพัวพันอยู่ในเรื่องนั้น

แล้วอยากจะดูอีก

อยากฟังอีก

อยากจะดมอีก

อยากจะชิมอีก

อยากจะจับต้องอีก อันนี้ เขาเรียกว่า อาลัย มีอุปาทานเกิดขึ้นในใจของบุคคลนั้น ในวัตถุอันนั้นๆ

เราสังเกตดูสภาพจิตของเรา มันไปเกาะจับอยู่แต่ในเรื่องนี้ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งละ
บางทีก็ไปเกาะอยู่ในเสียง
บางทีก็ในกลิ่น
บางทีก็ในรส
บางทีก็ในสิ่งที่สัมผัสถูกต้องได้

ความที่ไปเกาะจับอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ก็เหมือนกันกับแมลงภู่ไปเคล้าเกสรดอกไม้ กินเคล้าอยู่ตลอดเวลา ได้ประโยชน์ คือ น้ำหวานติดเท้า เอาไปเก็บไว้ในรังต่อไป

มนุษย์เรา ก็เป็นแมลงที่เคล้าเกสรดอกไม้ ใจมันคิดอยู่ในเรื่องที่เราพอใจ ด้วยประการต่างๆ พอเกิดความมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น ยินดีอยู่ในสิ่งนั้น มันก็เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้น เรียกว่า วัตถุกาม แปลว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกำหนัด ความเพลิดเพลิน นี่เป็นพวกหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 16:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อีกพวกหนึ่ง คือ กิเลสกาม แปลว่า กิเลสเป็นเหตุให้ยินดีให้เพลิน เกิดขึ้นในใจแล้วทำให้เพลิดเพลิน เช่น เกิดกามราคะ ตัณหา รติ

เกิดกามราคะ คือ กำหนัดรักใคร่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส

เกิดตัณหา อยากได้ อยากได้อะไร ก็คืออยากได้ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส

รติ คือความเพลิดเพลินยินดีอยู่ในสิ่งนั้น ก็คือยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส
อาการที่เกิดความรู้สึกขึ้นในใจ เป็นความกำหนัด อยากได้ ยินดี เพลิดเพลิน ฯลฯ นี่เขาเรียกว่า กิเลสกาม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 17:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แทรกหลักสำหรับเทียบด้วย



“ภิกษุทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่าง ดังนี้ คือ รูปทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยตา....เสียงทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยหู...กลิ่นทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยจมูก...รสทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยลิ้น...โผฏฐัพพะทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยกาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ชวนให้รัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนติดใจ เหล่านี้แล คือ กามคุณ ๕

อาศัยกามคุณ ๕ ประการเหล่านี้ มีความสุข ความฉ่ำใจ (โสมนัส) ใดเกิดขึ้น นี่คือส่วนดี ของกามทั้งหลาย” (ม.มู.12/197/168) “นี่เรียกว่า กามสุข (ม.ม.13/398/371 ฯลฯ)

“คำว่า กาม โดยหัวข้อ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม (วัตถุอันน่าใคร่, สิ่งที่อยากได้) ๑ กิเลสกาม (กิเลสที่ทำให้ใคร่, ความอยากที่เป็นตัวกิเลส)

วัตถุกาม เป็นไฉน ? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชื่นชอบใจ เครื่องลาด เครื่องห่ม ทาสี ทาส แกะ แพะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี รัฐ ประเทศ กองทัพ คลังหลวง วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความติดใคร่ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ชื่อว่า วัตถุกาม ฯลฯ

กิเลสกาม เป็นไฉน ? ความพอใจก็เป็นกาม ราคะก็เป็นกาม ความชอบใจติดใคร่ก็เป็นกาม ความดำริก็เป็นกาม ราคะก็เป็นกาม ความครุ่นคิดติดใคร่ก็เป็นกาม กามฉันทะ กามราคะ กามนันทิ กามตัณหา กามเสน่หา ความเร่าร้อนกาม ความหลงใหลกาม ความหมกมุ่นกาม กามท่วมใจ กามผูกรัดใจ ความถือมั่นในกาม นิวรณ์คือกามฉันท์ กามในข้อความว่า นี่แน่ะกาม เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้วว่า เจ้าเกิดขึ้นมาจากความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าละ เมื่อทำอย่างนี้ เจ้าก็จักไม่มี เหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม(ขุ.ม. 29/2/1; 34/31)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 17:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ตัววัตถุกาม และกิเลสกาม มีความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ เกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะที่เราจะเกิดกิเลสก็เพราะว่ามีวัตถุ ถ้าไม่มีวัตถุเป็นที่ตั้ง กิเลสมันก็ไม่มี มันก็เกิดขึ้นไม่ได้

ในจิตใจของคนเรา ชอบจะแสวงหาสิ่งที่เป็นวัตถุ เพื่อให้เกิดความยินดี เพลิดเพลิน แล้วก็คิดว่าทำให้เกิดความสบายใจ ความเพลิดเพลิน เรานึกว่ามันเป็นความสบายใจ คล้ายๆกับว่า เรากินของหวาน เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นภัย กินไขมันมากๆ ไม่รู้ว่าเป็นภัย กินของหวานมากๆ ไม่รู้ว่าจะเป็นภัย ใจมันก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนภายหลัง เพราะฉะนั้น เจ้ากามทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเป็นเหตุให้ติดพัน แล้วถ้าเป็นเหตุให้ติดพันแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในภายหลัง

ความทุกข์ในชีวิตของมนุษย์เรา ควรจะพินิจพิจารณาดูเสียเถอะ ไม่ได้มาจากเรื่องอะไรดอก มาจากเรื่องนี้ทั้งนั้น มาจากเรื่องกาม ไม่ใช่เรื่องอะไร
เรื่องอยากได้อะไร จะเป็นอะไร แล้วมันก็วุ่นวาย ทำให้เกิดความเดือดร้อนทางจิตใจ
ความครุ่นคิดอยู่แต่ในสิ่งนั้น นั่งคิด นอนคิด เดินคิด คิดอยู่ตลอดเวลา คล้ายไฟไม้หมกอยู่ตลอดเวลา อาการเช่นนั้นแหละเรียกว่า กามุปาทาน คือความยึดถือในกาม หมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องกาม แม้ว่าจะปลีกตัวออกมาแล้วใจยังไม่ยอม ใจยังคิดถึง ว่างๆ มันก็เอาขึ้นมาคิด

อารมณ์ที่เราเก็บไว้มันคล้ายๆ กับ เป็นรูปที่เก็บไว้ในอัลบั้ม เราไปเที่ยวที่ไหนก็ถ่ายเก็บไว้ในอัลบั้ม ว่างๆก็เอามาเปิดดูกันเสียที เปิดดูแล้วก็หัวเราะตัวเอง ขำตัวเอง ไปยืนตรงนั้น ไปยืนตรงนี้
ถ้ามีคนมานั่งใกล้ๆ ก็ชี้ให้เขาดูตรงนั้นตรงนี้ เป็นอย่างนี้ นี้เรียกว่าอัลบั้มดู ร่าเริงสบายใจ ในชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน
ใจนี้ มันเป็นสต็อค สต็อคใหญ่ เก็บอะไรไว้เยอะ เก็บรูป เก็บเสียง เก็บกลิ่น เก็บรส เก็บสิ่งสัมผัสถูกต้องไว้ในใจ เป็นอัลบั้มใหญ่ที่มีอะไรๆมากมาย
ถ้าหากว่าเราเป็นคนไม่มีอะไรจะทำ ใจมันว่างจากงานจากการ ประเดี๋ยวเดียวมันก็คิดไปในเรื่องนั้น คิดไปถึงรูป เรื่องที่เคยดู
เสียงที่เคยฟัง
กลิ่นที่เคยดม
รสที่เคยลิ้ม
สิ่งที่เคยได้สัมผัสถูกต้อง
ครุ่นคิดเช่นนี้ เมื่อมันคิดขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้กระสับกระส่าย เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา เขาเรียกว่า ความคิดยึดมั่น นั้นเป็นตัวอุปาทาน ติดอยู่ในกามทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ

เรื่องของกามนี้เป็นเรื่องใหญ่ อะไรๆมันเกิดจากกามทั้งนั้น ความวุ่นวายในหมู่มนุษย์ ความก้าวหน้าในเรื่องอะไรต่างๆ ก็มีกามเป็นมูลฐาน เกิดจากกามเป็นมูลฐานทั้งนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2018, 19:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นักรบที่เก่งกล้าที่ออกทัพจับศึกมีชื่อเสียง ก็เรื่องของกาม ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องของความอยากได้ในกามคุณเลยทำให้มุมานะออกรบ ออกอะไรไปต่างๆ

กามคุณนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นรุนแรงในใจแล้ว จะกลายเป็นคนประเภทมีจิตผิดปกติ สภาพจิตผิดปกติบางทีเรามักจะเรียกว่า มหัศจรรย์ ความจริง ไม่ใช่ มันเพียงเป็นเรื่องผิดปกติเท่านั้น ที่คิดอยู่แต่ในเรื่อง กามารมณ์ แล้วก็ทำอะไรรุนแรงลงไป เช่น เขาว่านโปเลียนออกรบ ถ้าวันไหนรบหนัก สั่งงานเข้มแข็งละก็ แสดงว่า วันนั้น คิดถึงโยเซฟินมาก คิดถึงก็อยากไปหา แต่จะไปยังไม่ได้เพราะมีข้อผูกพันอยู่ ก็เรื่องรบ ฉะนั้น ต้องรบให้หนัก ให้สำเร็จไวๆ ให้มันชนะเสีย ชนะแล้วจะได้ไปคุยกับยอดดวงใจต่อไป นี่แสดงว่าจิตผิดปกติขึ้นแล้ว ในเรื่องอย่างนั้น เพราะเป็นไปในทางสร้างก็ได้ เป็นไปในทางทำลายก็ได้

กามคุณถ้าจะเป็นไปในทางสร้าง ก็มักจะทำอะไรเกินพอดี มันมักจะไม่ค่อยพอดี ทั้งในทางสร้างสรรค์และทางทำลาย เพราะอารมณ์ของคนที่หมกมุ่นมัวเมาในกาม มักจะเลยเถิดเกินพอดีไปเสมอ มันไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังคับให้เกิดความพอดี เพราะจิตยินดีอยู่แต่อย่างนั้น ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ในขณะที่จิตหมกมุ่นในเรื่องกามแล้วมันจะแรงขึ้นมาทั้งนั้น ขอให้สังเกตสุนัข

ถ้ามันเกิดติดตัวเมียแล้ว มันมีอารมณ์รุนแรง อะไรมากระทบนิดกระทบหน่อย ก็เอะอะปึงปัง เพราะฉะนั้น ในฤดูใดที่มันเป็นสัตว์กัน เราจะได้ยินเสียมันกัดกันบ่อยๆ ทะเลาะกันบ่อยๆ
ขณะใดที่มันไม่กัดกันก็นอนสงบ เรียบร้อย เจอะเพื่อนกันก็ไม่รังแกกัน แต่พอถึงฤดูเสพกามแล้วเป็นไม่ได้ สัตว์ก็เหมือนกัน กามมันมีอิทธิพลเหนือจิตใจ คนเราก็เช่นกัน



คนเราที่ทำอะไรเลยเถิดนั้น ถ้าศึกษาสภาพจิตของคนดูให้ดีแล้ว ก็จะพบว่ามีเรื่องกามเข้าไปแทรกแซง ความต้องการมันมากในทางกาม แล้วก็มีอะไรๆ เกิดขึ้นตามมาในรูปต่างๆ
ท่านจอมพลผ้าขาวม้าแดงที่ทำอะไรเด็ดขาด ไม่ใช่เรื่องอะไร ก็เพราะมาจากจิตใจท่านหมกมุ่นอยู่ในทางกามารมณ์ ทั้งนี้ ก็เพราะต้องการจะให้มันเสร็จเร็วๆ จะได้สมอารมณ์ทางกามคุณ ได้ชื่นอกชื่นใจกันต่อไป นี่มันเต็มไปด้วยเรื่องอย่างนี้ อันนี้ มันเป็นพิษเป็นภัยไม่ใช่น้อยในชีวิต ถ้าไม่รู้ทันแล้วจะลำบาก

แม้แต่คนที่ได้ปฏิบัติตนภาวนาอย่างดี ถ้าจิตใจเกิดนึกถึงกามคุณบ้าง ก็วิ่งไปไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวว่าไปในเรื่องอะไร ไปทั้งหญ้าคานั้นแหละ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ฤๅษีนุ่งผ้าครองหนังเสือวิ่งไปทั้งหนังเสือ วิ่งไปหาหญิงที่ตนต้องการ เพราะความคิดที่รุนแรงเกิดขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2018, 05:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


ในอินเดีย มีเรื่องเขาเล่าไว้ว่า ชายหนุ่มคนหนึ่ง เวลากลางคืนเขาคิดถึงหญิงสาวที่เขารัก แล้วเขาก็วิ่งออกไป

ขณะนั้น ความจริงมีลม มีฝน มีพายุแรงกล้า แต่เขาก็ยังฝ่าฝน ฝ่าพายุไป ไปถึงแม่น้ำ เขาก็กระโดดลงไปเกาะขอนไม้แล้วก็เอามือพุ้ยน้ำ เหมือนว่ายน้ำในกีฬาโอลิมปิคไปขึ้นฝั่ง ขึ้นฝั่งแล้ว เข้าไปทางหน้าต่างห้องของผู้หญิง ด้ายการปีนเชือกเถาวัลย์เข้าไปทางหน้าต่างเข้าไปในห้อง เพื่อไปหาหญิงที่ตนรักที่ตนพอใจ

แต่ผู้หญิง เห็นอาการมาของผู้ชายรุนแรงอย่างนั้น ก็เลยพูดว่า ท่านไม่เหมาะที่จะอยู่ครองบ้านครองเมือง จิตใจของท่านมันรุนแรงมาก น่าจะไปเป็นฤๅษีอยู่ในป่า เพราะการมาของท่านนั้นมาอย่างประหลาดทีเดียว ที่ท่านบอกว่า เกาะขอนไม้ลอยมา มันไม่ใช่ขอนไม้ แต่เป็นซากศพเน่าเหม็น แต่ท่านไม่รู้สึกเหม็นเลย ไม่รู้สึกรังเกียจซากศพนั้นเลย เพราะจิตที่คิดจะไปมันรุนแรงมาก
พอเกาะได้ก็พุ้ยน้ำมาด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าจนขึ้นฝั่งได้ ที่ท่านเข้ามาทางหน้าต่าง ท่านบอกว่า เกาะเถาวัลย์เข้ามา ความจริงมันไม่ใช่ มันเป็นงูตัวใหญ่ที่ห้อยอยู่ที่ต้นไม้ ท่านจับงูตัวนั้นกระโดดเข้ามา จับงูนะไม่ใช่เถาวัลย์
ท่านไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไป ท่านมีสมาธิเหมือนกัน แต่ทว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิในทางผิด จิตแนบแน่นอยู่อย่างเดียว ด้วยคิดจะไปพบแม่ยอดหญิงยาใจ จึงได้กระทำอย่างนั้น หญิงนั้น จึงบอกว่า ท่านจึงควรจะไปบวชเสียดีกว่า
ชายผู้นั้นรู้สึกตัวในสิ่งที่ตัวกระทำไป ก็เลยลาหญิงนั้นไปบวช ไปบวชก็ไปบวชอยู่ในป่า ปฏิบัติทรมานตัวเป็นฤๅษีอยู่ในป่านาน


อยู่มาวันหนึ่ง เข้ามาในเมือง พอเข้ามาในเมืองก็ได้เห็นหญิงคนหนึ่งสวยงาม รูปร่างดีมาก เป็นยอดหญิงในความงามนะ

พอเห็นเท่านั้นละก็ตามไปเลย ผู้หญิงนั้นนั่งรถไป เขาก็เดินตามไปอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงบ้านของหญิงผู้นั้น หญิงนั้นมีสามีแล้ว แต่เขาก็เข้าไปจนถึงในห้องอันเป็นที่อยู่ของหญิงผู้นั้น ด้วยความปรารถนาที่จะไปพูดจาด้วย ไปเล้าโลมไปตามเรื่องตามความคิดที่รุนแรงมาก เลยเข้าไปพบผู้หญิงถึงในห้อง
ขณะที่เข้าไปนั้น สามีของเธอก็เขามาพอดี เธอจึงบอกว่า นี่คือสามีของดิฉัน ท่านเข้ามาในนี้นั้นเป็นความผิด ไม่ใช่ความถูกต้อง ขอให้ท่านออกไปเสีย
ฤๅษีตนนั้นก็บอกว่า เราจะออกไปตามความต้องการของนาง แต่เราอยากจะได้ของเป็นที่ระลึกสักอย่างหนึ่ง หญิงนั้น ก็ถามว่าต้องการอะไร
ฤๅษีตนนั้นบอกว่า ต้องการปิ่นปักผม ปิ่นปักผมทำด้วยทอง ต้องการสักอันหนึ่ง

ฝ่ายหญิงนั้นก็ถอดออกด้วยความเต็มใจ พอเขาได้ปิ่นปักผมแล้วก็ได้คิดขึ้น เกิดความคิดขึ้นในใจ นี่มันยุ่ง ยุ่งเพราะลูกตานี่เอง ตามันไปเห็นเข้าก็เกิดรักเกิดชอบใจขึ้น ฉะนั้น เอาปิ่นปักผมนี่แทงลูกตาเสียดีกว่า แล้วก็แทงตาเลย แทงข้างขวาแล้วก็แทงข้างซ้ายให้ตามันบอดไปเสียเลย ให้ตามันบอดไปเสียเลยจะได้ไม่ดูอะไรอีกต่อไป
เมื่อได้กระทำเช่นนั้นแล้ว ทั้งสามีและภรรยาคู่นั้นก็มีความสงสารในการกระทำอันเด็ดเดี่ยวของฤๅษีนั้น ก็เลยจัดแจงรักษาเยี่ยวยาให้ แต่ก็ไม่หาย กลายเป็นฤๅษีตาบอดไป แต่เมื่อตาของเขาบอดแล้ว แต่จิตของเขากลับไม่บอด ตั้งแต่ตาบอก จิตกลับสว่างไสวโพลงด้วยสัจธรรม เขาบรรลุจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติธรรม

อันนี้เป็นตัวอย่างนำมาเล่าให้ฟังว่า ฤทธิ์เดชของกามมีความรุนแรงไม่ใช่น้อย ทำให้คนเป็นอะไรไปก็ได้ ทำให้บ้าคลั่งไปก็ได้ ให้ทำอะไรแผลงๆไปก็ได้ คนทำอะไรแผลงๆ ในประวัติศาสตร์มักจะเป็นคนพวกที่มีจิตหมกมุ่นในกามทั้งนั้น แล้วกลายเป็นคนจิตทรามไป เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอะไร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2018, 05:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องชาดกในทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า พระฤๅษีตนหนึ่งบำเพ็ญฌานแก่กล้า เหาะได้ เหาะไปในอากาศได้
อยู่มาวันหนึ่ง เหาะไปในอากาศ มีเสียงดังมาในอากาศเหมือนเรือบิน มันยังนั้น

พระราชินีของมหาราชา มเหสีของพระราชาลุกขึ้นไปแหงนดู เวลาลุกขึ้นผ้าหลุดด้วยความรีบร้อนลุกขึ้น ฤๅษีมองลงมาเห็นเข้า ฌานเสื่อมเพราะไปเห็นเต้านมของราชินีเข้า ฌานเสื่อมทันที หล่นตุบลงมา ครั้นหล่นลงมาแล้ว ก็เลยไปสมัครรักใคร่กับราชินี เลยฌานเสื่อมเหาะไม่ได้อีก

ต่อมาเขาจับได้ แต่ไม่ถึงกับฆ่าแกงอะไร เรียกว่าพระราชาก็เห็นใจ เห็นใจที่เผอิญเห็นของล่อตาเข้าให้ เลยเกิดกิเลสได้ เห็นใจส่งเข้าไปในป่าตามเดิม
พอส่งเข้าไปในป่า ฤๅษีก็สำนึกได้ว่าเรามันผิดใหญ่หลวง เลยตั้งต้นภาวนาต่อไป จนกระทั่งเหาะได้อีก แล้วก็ไม่แพ้ต่อไปอีกแล้ว นี่เรียกว่า อิทธิพลยังไม่แก่กล้า

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2018, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นักบวชเราในพระพุทธศาสนา ที่บวชนานๆไม่เหมือนบวช ๑๐ วัน ๑๕ วัน จิตควรจะมั่นคงดีกว่า แต่ยังมีที่บวชไปนานๆ จนอายุเข้า ๔๐ – ๕๐ ปี ยังลาสิกขา

มีเรื่องอะไร พอไปคุยก็บอกว่า มันหมดบุญ ว่าอย่างนั้นแหละ หมดบุญไม่รู้จะทำอะไร หมดบุญเพราะว่าไม่สร้างบุญเพิ่มเติม แต่ไปสร้างอารมณ์นั้นไว้ในใจ
คิดหรือเปล่าว่ากามมันโจมตีเลยพ่ายแพ้แก่อารมณ์อย่างนั้น ทีนี้ คนเราทำไมจึงมีอารมณ์หมกมุ่นในทางกาม อะไรมันเป็นเครื่องล่อ อะไรดูว่าเป็นของงามไปหมด
เห็นรูปก็ว่างาม
ฟังเสียงก็ว่าเพราะ
ได้กลิ่นว่าหอม
พูดได้ว่างามไปหมด มีตา ดูผม ดูเนื้อ ดูหนัง งามทั้งตัว ตอนแรกๆดูงามเป็นส่วนๆ จมูกงาม นัยน์ตางาม หน้าผากงาม แก้มงาม ฟันงาม ลำตัวได้สัดส่วน องค์เอวก็อรชรงามทั้งนั้น ไอ้นี่แหละเป็นที่ตั้งแห่งกาม
ความเห็นที่ว่างาม เป็นที่ตั้งแห่งกาม มองอะไรมองว่างาม ชอบไปหมด มองง่ายๆ ก็งามไปหมด ดูๆไป เอ้ ชักจะงามขึ้นทุกที อันนี้แหละตัวร้าย ตัวที่เห็นงามนั่นแหละ

เพราะฉะนั้น ในการแก้ไขอารมณ์เรื่องนี้ ท่านสอนว่า อย่ามองในแง่ความงาม ให้พิจารณาดูมองดูในทางตรงกันข้าม คือมองไม่ให้เห็นว่างาม อันการที่ให้มองว่าไม่ให้เห็นงามนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กนะ เรื่องมันใหญ่ มันก่อกันหลายชั้นกว่าจะรู้สึกว่ามันไม่สวย
แต่ผู้ใด มองเห็นว่ามันไม่งาม กิเลสไม่รบกวน มารไม่ทำให้ตกต่ำในชีวิตเป็นอันขาด ฉะนั้น จึงควรจะได้มองอย่างนั้นไว้บ้าง
แม้เราจะเป็นผู้ครองบ้านครองเรือน เป็นสามีเป็นอะไรก็ตามเถอะ ขอให้ประพฤติชอบด้วย คือให้งามเฉพาะของเรา อย่าไปเห็นของคนอื่นว่างามเข้า หรือไปเห็นว่าของเขางามกว่าของตัวไม่ได้ เดี๋ยวก็ตัวของกูไปเอาของเขาเท่านั้นเอง เพราะมันงามกว่าของตัว ไม่ได้ ต้องให้เห็นว่าของคนอื่น ให้เห็นคนอื่นเสมือนมารดา เป็นพี่เป็นน้อง
พอเห็นผู้หญิงคนไหนขนาดอายุเท่าๆคุณแม่ ก็นึกว่าเป็นคุณแม่ นึกว่าเป็นพี่เป็นน้องร่วมไส้ อย่าไปนึกว่าเป็นคู่ครอง หรือว่าเป็นคนรักคนใคร่ จิตอย่างนี้ ก็พอจะเบรกไว้ได้บ้าง ไม่รุนแรงเกินไป ที่มันรุนแรงเห็นอะไรๆก็ชอบๆ จิตใจมันตกต่ำ ถ้าเกิดกับผู้ใดแล้ว เสียผู้เสียคน เกิดอารมณ์บ่อยๆ เลยเสียหาย จึงควรจะได้คิดพิจารณาอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2018, 10:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อีกประการหนึ่ง เรามีความรู้สึกว่ามันชักจะเลยไป คนบางคนมีความเกินเลยไปมาก เขาเรียกว่า ตัณหาจัด จะมีความคิดมากในทางกาม ที่เขาเรียกว่า Sexual Instinct อันนี้ เราต้องคิดพิจารณา ตัวเราและคนอื่นว่าเป็นของไม่งาม ด้วยกัมมัฏฐานภาวนาเรื่องของ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็พอใช้ได้
แล้วก็พิจารณาส่วนอื่นอีกว่าไม่เห็นว่ามันงาม อย่ามองในแง่งาม ให้มองในแง่ว่าไม่งาม มองโดยหาเรื่องว่าไม่งามเลย
ดูผม ดูหน้า ดูตา ดูอะไร ถ้ามองมันไม่งาม มันก็จะไม่รบกวนจิตใจ ควรทำอย่างนั้น ควรเจริญกัมมัฏฐานในตัวเราอย่างนั้น
เพราะเวลาใดคิดอะไรที่ไม่ดีออกมาจากตัว ให้ถือโอกาสนั้นพิจารณา เริ่มด้วย ร่างกายมนุษย์นี้สกปรก ไม่สะอาด อุจจาระก็ไม่สะอาด ปัสสาวะก็ไม่สะอาด เหงื่อก็ไม่สะอาด อะไรๆที่ออกมาจากตัวเรานี้ไม่น่ารัก คิดไว้บ่อยๆ นึกไว้บ่อยๆ มันก็จะเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจ ไม่ให้มันไหลเลื่อนไปติดอยู่กับกาม ไม่ให้มันหลงไหนมัวเมาอยู่กับกามวัตถุอย่างนี้ ด้วยการคิดพิจารณาอย่างนี้


เมื่อโอกาสใดได้มีโอกาสเจริญอสุภะกัมมัฏฐาน ไปดูซากศพ ไปดูซากศพเสียบ้าง เช่น เวลามีศพก็เข้าไปดูเสียบ้าง ขอดูหน่อย ขอดูซากศพเพื่อให้มันติดตา มองนานๆ ตั้งแต่หัวถึงเท้า มองให้ทั่วเพื่อให้มันติดตา มานั่งหลับตามองเห็นแล้วก็พิจารณา ว่าร่างกายนี้เป็นของบูดเน่า ไม่งาม ไม่น่ารัก ไม่น่ายินดี เอามานั่งคิดบ่อยๆ คล้ายๆเราไปถ่ายภาพศพนั้นมา เอามาใส่ไว้ในฟิล์มคือในดวงใจ แล้วก็คอยเอามาส่องดูบ่อยๆ เพื่อเป็นเครื่องผ่อนคลายความกำหนัดในทางกาม
เวลาใดมีความคิดในกามารมณ์เกิดขึ้น ก็นึกถึงศพนั้นขึ้นมา นึกถึงร่างกายอันเปื่อยเน่านั้น
หรือเราเห็นคน เช่นว่า ร่างกายเป็นแผล เป็นแผลที่ขา เป็นแผลที่ตัว เป็นแผลที่หน้า ยิ่งเน่ายิ่งดี พยายามจดจำภาพนั้นไว้ แล้วเอามาเพื่อดู เมื่อเห็นอะไรงามก็นึกถึงสภาพร่างกายนั้นทันที เอาร่างกายนั้นมาเปรียบเทียบ ไม่สวย ไม่งาม มีเลือด มีหนอง มีของไม่สะอาด เราพิจาณาอย่างนั้น เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจได้ไม่ให้วุ่นวาย เรื่องนี้ มันขึ้นอยู่กับกำลังใจอีกนั่นแหละ ว่าเราจะทำได้อย่างนี้หรือไม่ อยู่ที่ว่าเราจะสร้างตัวเองหรือไม่


ทีนี้ คนเรามันเสียตรงนี้ เสียตรงที่ว่า ไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะปราบปรามตัวเองได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องหากัลยาณมิตร หาเพื่อนที่ดีๆไว้ แล้วก็บอกอาการโรคให้เพื่อนรู้ไว้ แล้วให้เพื่อนช่วยเตือน ช่วยบอก แนะนำบ่อยๆ นานๆ เข้าจิตใจมันค่อยสะอาดจากสิ่งเหล่านั้น เราก็จะอยู่ด้วยความสงบจิตใจ ไม่วุ่นวายอะไรมากเกินไป อันนี้ เรียกกามที่เข้าไปยึดจิตใจอยู่เป็นตัณหา ทำให้วุ่นวาย เรียกว่า กามุปาทาน เป็นเหตุให้เกิดโทษนานาประการ เมื่อมันเกิดอุปาทานขึ้นมาเมื่อใด มันก็คอยรบกวนจิตใจอยู่เมื่อนั้น นี้ประการหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2018, 10:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาลัย 1. ที่อยู่, ที่อาศัย, แหล่ง 2. ความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความพัวพัน มักหมายถึงตัณหา
ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า ห่วงใย หวนคิดถึง

บาลีไม่ใช่ภาษาไทย ดังนั้นศัพท์ทุกๆศัพท์ที่เป็นบาลี เขามีความหมายเฉพาะของเขา ถ้าเรานำมาพูดมาใช้แล้วไปตีความเอาเอง ความหมายก็คลาดเคลื่อนจากของเขาไป


อาลยสมุคฺฆาโต ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย, การถอนอาลัยคือตัณหาได้เด็ดขาด (เป็นไวพจน์แห่งวิราคะ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2018, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒) ประการต่อไป เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ทิฏฐิ กับ อุปาทาน มารวมกัน. ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น อุปาทาน แปลว่า ยึดถือ

พวกความคิดความเห็นนี้ ก็เป็นอุปาทานได้เหมือนกัน มันคอยขวางไม่ให้ก้าวหน้า ไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ให้เปลี่ยนชีวิตจิตใจเข้าหาแนวที่ถูกที่ต้อง เพราะว่าไปยึดมั่นอยู่ในสิ่งนั้น ว่าถูก ว่าชอบ ความจริงมันไม่ถูก ไม่ตรง แต่เราไปนึกว่า มันถูก มันตรง อันนี้ เราจะเห็นได้ง่ายๆ ในแง่ของการเมือง พวกที่ถือลัทธิต่างๆ เช่น พวกที่ยึดถืออะไรๆ ยึดถือว่าคอมมิวนิสต์ นี้แหละจะช่วยชาติ จะช่วยให้เกิดความสุขขึ้นในบ้านในเมืองในสังคม แล้วก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ตัวตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างนั้น เขายึดมั่น คนที่คิดอย่างนั้น ยึดมั่นอย่างนี้ ในภาษาชาวบ้านเขาชมว่ามันมีอุดมคติ ไอ้นี่มันมีอุดมคติ มีความคิดริเริ่ม อันนี้แหละทำให้เกิดทิฏฐุปาทาน การหลงผิดว่าความคิดของเรานั้นเป็นอุดมการณ์ เป็นเรื่องถูกเรื่องชอบ เป็นเรื่องที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ อะไรๆต่างๆ แล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในความคิดในความเห็น ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นอยู่แต่ในเรื่องนั้นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2018, 16:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แทรกความหมายหลัก ทิฏฐิ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ได้ เป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้ ไว้พอเห็นแนวทาง

ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็นทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึง ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎีความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจของตน หลักการที่เห็นสม ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิต ที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐาน ที่สืบเนื่องจากความเห็น ความเข้าใจ และความใฝ่นิยมเหล่านั้น


ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆ ทิฏฐิ ก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง
ความเห็น ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพราะเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในเรื่องสัมมาทิฏฐิ ๒ ประเภท

ทิฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝ่นิยมยึดถือต่างๆ นั้น มีอิทธิพลครอบงำ และมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิต และสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก

ในกรรมบถ ท่านจัดทิฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ มีผลมากมายร้ายแรงที่สุด ยิ่งกว่ากายกรรม และวจีกรรม เพราะเป็นตัวบันดาลกายกรรม และวจีกรรม อยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง สามารถนำชีวิต สังคม หรือมนุษย์ชาติทั้งหมด ไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรืองหลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้

ดังจะมองเห็นได้ในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิเป็นตัวชักจูง และกำหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้า และด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลก และชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่จะแปลความหมายของประสบการณ์ ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่าง ไร จะหันไปหา หรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็นด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนำแนวความคิดการพูดการกระทำที่จะสนองตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูด หรือ ทำอย่างไรกับบุคคลสิ่งสภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบ สำหรับการที่จะพูดจะทำเช่นนั้น

กล่าวสั้นๆด้วยศัพท์ธรรมว่า ปรุงแต่ง ชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะคือความคิด หรือ ความดำริ เป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือ เป็นสัมมา ตามทิฐินั้นๆ

ในทางปฏิบัติ ความสำคัญของทิฏฐิมองเห็นได้ไม่ยาก เช่น เมื่อคนชอบความมั่งมี เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุส่วนตัวเป็นจุดหมายของชีวิต เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของบุคคล และเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ เขาย่อมพยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจการงาน ก็ทำเพื่อจุดหมายนี้ และเมื่อมองดูคนอื่น เขาก็จะวัดจะตีค่าจะให้เกียรติคนนั้นๆ หรือไม่โดยถือเอาความมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเกณฑ์

ยิ่งถ้าเขาขาดความใฝ่สุจริตด้วยแล้ว เขาก็จะแสวงหาความมั่งคั่ง โดยไม่เลือกวิธีว่าเป็นไปโดยสุจริตชอบธรรมหรือไม่ และจะมองเห็นคนประพฤติสุจริตที่ยากไร้ว่า เป็นคนเขลาครึทึ่มทื่อ หรือไร้เกียรติ

ถ้าเด็กเห็นว่า การมีอำนาจ เป็นความเก่ง เป็นความดี เขาก็จะมีท่าทีที่น้อมไปในทางแสดงอำนาจ ทำตัวยิ่งใหญ่ ชอบครอบงำข่มเหงรังแกผู้อื่น

ถ้าคนเห็นว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงคำขู่หลอกไว้ เขาย่อมไม่เอาใจใส่สิ่งที่สอนว่าเป็นบุญ และไม่ระวังยั้งตัวในสิ่งที่ถือว่าเป็นบาป

เมื่อคนไม่เข้าใจซึ้งถึงสภาวะของโลกและชีวิตที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวร อยู่โดยธรรมดา เขาย่อมมีความยึดมั่นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และบุคคลแวดล้อมมาก แล้วเกิดความหวั่นกลัว ทำการ และมีพฤติกรรมสะท้อนความทุกข์ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของความยึดมั่น หวั่นไหวหวาดกลัวนั้น ดังนี้เป็นต้น

ส่วนในด้านดี ก็พึงทราบโดยนัยตรงข้าม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2018, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


ในพุทธกาลก็มีมาก พวกที่มีอุปาทาน มีทิฏฐิแรงๆ เมื่ออยู่ในลัทธิใด ในคำสอนใดแล้วก็ยึดมั่นอยู่ในคำสอนนั้น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลความคิดความเห็น
ตัวอย่างที่เห็นง่าย ก็คืออาจารย์สัญชัย ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ

เมื่อพระสารีบุตร (ตอนเป็นอุปติสสปริพาชก) ไปพบพระอัสสชิ ซึ่งเป็นพระรูปหนึ่ง ใน ๕ รูป ปัญจวัคคีย์ ซึ่งพระพุทธองค์ส่งไปประกาศพระศาสนารุ่นแรก โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ พระอัสสชิเป็นองค์น้อยกว่าเพื่อน ท่านออกไปเที่ยวบิณฑบาตก็ไปเจอกัน อุปติสสปริพาชก ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า คนโดยมากมักจะเรียกว่า พระสารีบุตร คือบุตรแห่งนามสารี่ มารดาของท่านชื่อสารี ก็เลยเรื่องชื่อว่า สารีบุตร

โมคคัลลีบุตรก็อย่างนี้ พระโมคคัลลานะ ชื่อเดิมท่านชื่อโกลิตะ บุตรแห่งนางโมคคัลลี เลยเรียกว่า โมคคัลลีบุตร หรือโมคคัลลานะ

เมื่ออุปติสสปริพาชกไปพบพระอัสสชิเข้าก็เลื่อมใสในอิริยาบถ ก็เลยเข้าไปคุยด้วย ผลที่สุดก็ได้ทราบรสแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้า เลิกการเป็นปริพาชกอย่างตั้งใจ คือเลิกเป็นปริพาชกโดยน้ำใจ แล้วก็หันมาเป็นพุทธบริษัทโดยน้ำใจ แม้แต่ยังไม่นุ่งห่มแบบชาวพุทธ ก็ลาพระอาจารย์อัสสชิ บอกว่าอาจารย์กลับไปก่อน ผมจะไปบอกสหายเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กัน เพราะได้สัญญากันไว้

สัญญากันไว้ว่าอย่างไร สัญญาไว้ว่า ในเราสองคนนี้ ถ้าใครได้พบธรรมะที่ประเสริฐกว่าก็ต้องบอกกันด้วย

พระสารีบุตรก็รักษาสัญญา กลับไปหาเพื่อน คือ โมคคัลลานะ บอกว่า เราได้พบของใหม่แล้ว แล้วก็เล่าเรื่องให้ฟัง พระโมคคัลลานะได้ฟังแล้วก็เข้าใจ เลยได้รับหลักธรรมะ คือ ดวงตาเห็นธรรม ก็ชวนกันไปลาอาจารย์สัญชัย ซึ่งเป็นอาจารย์เจ้าสำนัก บอกว่าท่านอาจารย์ บัดนี้ สมณโคดม พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้ว ข้าฯทั้งสองนี้ได้ฟังคำสอนนั้นแล้วเลื่อมใสศรัทธาจะไปบวชในสำนักของพระสมณโคดม ขอให้อาจารย์ไปด้วยกันเถอะ

อาจารย์สัญชัยแกมีอุปาทาน คือมีความคิด มีทิฏฐุปาทาน เลยบอกว่า คนในโลกนี้ คนฉลาด กับ คนโง่ พวกไหนมีมากกว่ากัน ถามอย่างนั้น

สองคนนั้น ก็ตอบว่า คนโง่มีมากกว่า ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีน้อย เออดีแล้ว คนฉลาดๆ ไปอยู่กับพระสมณโคดม เรามันโง่ จะอยู่กับคนโง่ๆต่อไป เลยไม่ยอมไป ไม่ยอมทิ้งสำนัก ไม่ยอมทิ้งความคิดความเห็นเดิม ทนอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง ก็เลยขาดจากประโยชน์ที่จะพึงได้ ถ้าไปก็อาจจะบรรลุมรรคชั้นสูงขึ้นไปได้ เพราะเป็นผู้ที่ได้อบรมบ่มอินทรีย์มาพอสมควร แต่ไม่ยอมไป

ที่ไม่ยอมไปนี้ เพราะอะไร ? ก็เพราะทิฏฐุปาทาน หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอม มีความเห็นเด็ดเดี่ยวในเรื่องเดียว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อันนี้ไม่ดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 08:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรารู้ทุกอย่าง แต่เราไม่ติดอยู่ความรู้นั้น ไม่ติดอยู่ความรู้ ไม่ยึดมั่นในความรู้นั้น แล้วพระองค์ก็เปรียบเทียบให้ฟังเหมือนวัตถุอย่างหนึ่ง บอกว่า ธรรมะ หรือคำสั่งสอนนี้ มันเหมือนกับแพหรือเรือที่ข้ามฟาก เพราะเรือหรือแพที่ใช้สำหรับข้ามฟากนั้น ไม่มีใครยึดถือเป็นเจ้าของ มันเป็นของสาธารณะสำหรับข้ามฟาก คนทุกคนใช้ข้ามไปข้ามมาก ไม่ใช่ไปยึดถือว่าเป็นของเราๆ
ถ้าใครไปใช้แพในแง่ที่ยึดถือ ก็เลยคิดไปว่าแพฉันสวย แพแกไม่สวย แพฉันดี แพท่านไม่ดี ผลที่สุดก็ถอดไม้ออกจากแพตีกัน แล้วก็เลยจมน้ำตายอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถจะข้ามฝั่งได้ เพราะมีทิฏฐิอยู่ตรงที่ว่า ของฉันดีกว่า ของท่านไม่ดี อะไรอย่างนี้ ก็ตีกันตาย พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้ทำอย่างนี้ ให้หลีกเลี่ยง ไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้ง

ถ้าจะสนทนากันก็ต้องสนทนากันด้วยใจสงบเยือกเย็น ถ้ารู้สึกว่ามันร้อนขึ้นมาแล้วหยุดพูดทันที นั่งสำรวม นับ ๑ ถึง ๑๐๐ สำรวมใจให้สงบก่อนแล้วจึงค่อยพูดกันต่อไป ถ้าพูดแล้วเขาไม่เข้าใจ เขาไม่ยอมรับสิ่งที่เราพูด อย่าไปโกรธเขา อย่าไปเคืองเขา ให้จากไปเสียด้วยความไมตรี

พระพุทธเจ้าท่านแวะไปคุยกับพวกลัทธิอื่นบ่อยๆ คุยกันไปบางทีก็เข้ากันได้ บางทีก็ไม่เข้ากัน ไม่เข้ากันพระองค์ก็ไม่ว่าอะไร
แต่พระองค์ก็พูดว่า ท่านชอบสิ่งนี้มานานแล้ว ประพฤติสิ่งนี้มาเสียนานแล้ว ท่านไม่เข้าใจสิ่งอื่นบ้างเลย แล้วก็ไปไม่พูดต่ออีกแล้ว เพราะคุยกันเท่าไรๆ มันไม่ยอม
คนเราถ้าไม่ยอมแล้วให้ชักเหตุผลอย่างไรๆ ก็ไม่ฟัง ไม่ยอมเด็ดขาด พูดไปซิ กูไม่ยอมก็แล้วกัน นี่แหละตัวทิฏฐิละ หัวดื้อ หัวรั้น ทิฏฐุปาทาน หัวดื้อหัวรั้น กูไม่ยอมฟัง มึงพูดให้ปากแหกก็ไม่ยอมฟัง แล้วจะพูดไปทำไม พูดไปก็ไม่ได้เรื่องอะไรแล้ว หยุดพูดกับคนนั้นได้แล้ว เพราะเป็นคนดื้อไม่เข้าใจแล้ว ตัวนี้คือ ทิฏฐุปาทาน เป็นตัวก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท

คนเราวิวาทกันหรือทะเลาะกัน วิวาท หมายความว่า เถียงกัน วิวาทะ แปลว่า ว่ากัน ทะเลาะ นี้คือ การชกกันเลย เราจึงใช้คำว่า ทะเลาะวิวาท
ความจริงวิวาทก่อนแล้วทะเลาะกันทีหลัง เถียงกันก่อน น้ำลายรดหน้ากันแล้วต่อยกันดีกว่า
ไอ้เรื่องทะเลาะกันน่ะ ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องทิฏฐิมันไม่ตรงกัน แล้วก็ไม่ยอมให้ทิฏฐิมันเข้ากันได้

ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปีที่ผมไปอยู่ใหม่ๆ พวกคริสต์เตียนกับพวกพุทธเกลียดกัน เถียงกัน ๒ คน ที่ศาลานั่งเล่นพักร้อน เถียงกันจนตายทั้งคู่ ไม่ยอม

คนหนึ่งว่า โลกมีผู้สร้าง อีกคนหนึ่งว่า ไม่มีใครสร้าง เถียงกันอยู่อย่างนี้

คนหนึ่งว่ามี อีกคนหนึ่งว่าไม่มี ว่ากันไป จนหน้าแดง พอหน้าแดงขึ้นมาก็จวกกันด้วยมีด ไปเที่ยวป่าช้าทั้งคู่ นี่แหละเขาว่า ทะเลาะกันด้วยทิฏฐิ เรื่องไม่ยอมใคร

พระพุทธเจ้าท่านสอนในเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าพูดเรื่องอันเป็นเหตุต้องเถียงกัน เพราะเมื่อเถียงกันแล้วมันต้องพูดมาก แล้วจิตฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ขาดปัญญา เหตุผลหายไปหมด แล้วก็ต่อเรื่องอะไรๆ ออกไปอีกยืดยาว”

เพราะฉะนั้น เพื่อตัดปัญหา จึงอย่าพูดเรื่องที่ต้องเถียงกัน เราลองหยั่งดูความคิดความเห็นของเพื่อน ถ้าไม่ดีไม่ยอมก็หยุดได้แล้ว อย่าไปขัดใจคนดื้อ
มีภาษิตของไทยบอกว่า “แม้เทวดาก็ไม่กล้าขัดใจคนดื้อ” ไม่ไหวคนดื้อนี้ เราอย่าไปทะเลาะ พูดกันสองสามคำพอรู้ ถ้าไม่ไหวหยุดพูดได้ ค่อยพูดกันวันหลังดีกว่า ก็ไม่มีเรื่องอะไร

แต่มนุษย์เรามันมีทิฏฐิทั้งสองฝ่าย นาย ก. ก็มีทิฏฐิอย่างหนึ่ง นาย ข. ก็มีทิฏฐิอย่างหนึ่ง

ทั้งนาย ก. และนาย ข. ต่างก็มีทิฏฐิคนละอย่าง พอไม่ยอมทั้งสองฝ่าย มันก็งัดข้อกันตายเท่านั้น อันนี้ต้องระวัง ไม่ว่าอยู่ในสังคมอะไร ถ้าเห็นว่าทิฏฐิของเขาแรง ค้านไม่ลง อย่าพูดไปดีกว่า เปลี่ยนเรื่องเสีย พูดเรื่องนั้นหน้ามันชักจะแดงๆ เปลี่ยนเรื่องเสีย กลบเกลื่อนอารมณ์ คุยเรื่องใหม่มันก็ไม่เสีย ไม่ก่อกรรมทำอะไรให้เกิดขึ้นแก่เราทั้งสองฝ่าย เรื่องทิฏฐินี่มันแรงอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงต้องระมัดระวัง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 32 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 30 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร