วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2018, 17:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ (ต่อ)

วันก่อนได้พูดถึงปฐมเทศนามาโดยลำดับจนกระทั่งจบพระธรรมเทศนา ผลของการแสดงธรรมก็ปรากฏว่า พระโกณฑัญญะ ได้บรรลุเป็นโสดาบัน คือได้ความรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็จะดับไปเป็นธรรมดา เรียกว่า “บรรลุโสดาปัตติผล” วันนี้จะได้พูดต่อไปถึงเรื่อง อริยสัจข้อสุดท้าย อันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหลักปฏิบัติ

อริยสัจ ๓ ข้อข้างต้นนั้นเป็นทฤษฎี คือเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ นี้มันเป็นหลักการ มันเป็นทฤษฎี
แต่ตัวปฏิบัติแท้ๆ นั้น มันอยู่ที่อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือทางสายกลาง อันนี้เป็นตัวปฏิบัติ อริยสัจ ๔ นั้น ไม่มีข้อปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องหลักการให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ส่วนการปฏิบัติเพื่อบรรลุนั้น จะต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกว่าทางสายกลาง

มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หรือเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ อย่าไปพูดว่ามรรค ๘ จะผิดหลักไป พูดผิด ถ้าพูดว่ามรรค ๘ พูดผิดความหมายไป ต้องพูดให้เต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ เพราะว่า มรรค ซึ่งแปลว่า หนทาง นี้ มันประกอบขึ้นด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่ใช่ ๘ อย่าง ไม่ใช่ ๘ ทาง ไม่ใช่ ๘ ตอน แต่ว่า เป็นทางสายเดียว เรียกว่า เป็นทางเอก ซุปเปอร์ไฮเวย์ พูดกันตามแบบทางหลวง แต่ว่าทางนี้ ประกอบขึ้นด้วยองค์ ๘ ประการ คือประกอบขึ้นด้วย

๑. สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ
๒.สัมมาสังกัปปะ - ความดำริชอบ
๓.สัมมาวาจา - การพูดชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ - การงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ - การเลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายามะ - ความเพียรพยามชอบ
๗. สัมมาสติ - การระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ - ความตั้งใจมั่นชอบ

๘ อย่างนี้ เอามารวมกันเข้า กลายเป็นมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกับเชือก ๓ เกลียว เชือกมันมีเกลียว ๓ เกลียว เอามารวมกันเข้าเป็นเชือกเส้นเดียว เราเรียกว่าเชือกมีองค์ ๓ เชือกมีองค์ ๕ มรรคก็เหมือนกัน ข้อปฏิบัติที่พระผู้มีประภาคเจ้าตรัสไว้ เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประกอบขึ้นด้วยเรื่อง ๘ ประการ แล้วในการปฏิบัติก็ต้องให้เกิด มรรคสามัคคี แปลว่า ความพร้อมเพรียงแห่งองค์มรรคทั้ง ๘ ประการ มันต้องกลมเกลียวกัน จึงจะเกิดเป็นทางสายเดียว ทางสายเอกขึ้นมา

ถ้าเราเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่ง ยังไม่ชื่อว่าปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ต้องสัมพันธ์กลมกลืนกันตลอดสาย ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด จึงจะชื่อว่าเป็นมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2018, 17:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มรรคที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เริ่มต้นด้วย

องค์มรรคที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ความเห็นชอบในมรรคมีองค์ ๘ นั้น ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ทุกเข ญาณัง ทุกขะสะมุทะเย ญาณัง ฯลฯ หมายความว่าเห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ได้ เห็นข้อปฏิบัติซึ่งให้เห็นข้อความดับทุกข์
คำว่า “เห็น” นี่ ไม่ได้หมายความว่า ได้เห็นด้วยตา ไม่ใช่เราไปอ่านเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วเป็นสัมมาทิฏฐื ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เห็นด้วยปัญญา เรียกได้ว่า ด้วยญาณ ญาณนี่คือความเห็นที่ประกอบด้วยปัญญา รู้แจ้งเห็นชัดในเรื่องนั้น แล้วก็ปฏิบัติตามเรื่องนั้นด้วย จึงจะเรียกคนนั้นว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐินั้น ต้องรู้และต้องปฏิบัติในเรื่องนี้ด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล

สัมมาทิฏฐินี้ ถ้าใครปฏิบัติแล้วก็เป็นฐานรองรับความพ้นทุกข์

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพํ ทุกฺขํ อุปจฺจคุํ แปลว่า ผู้ใดสมาทานสัมมาทิฏฐิ ผู้นั้นย่อมพ้นทุกข์ได้

คำว่า สมาทาน หมายความว่า ปฏิบัติตามสัมมาทิฏฐิ ผู้นั้นย่อมพ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้ แต่ว่าถ้าในสัมมาทิฏฐินี้ พูดกันในแง่การปฏิบัติ เราก็ควรจะแบ่งออกเป็น ๒ ขั้น คือ สัมมาทิฏฐิแบบศีลธรรม (โลกียสัมมาทิฏฐิ) สัมมาทิฏฐิแบบปรมัตถธรรมหรือแบบสัจธรรม (โลกุตรสัมมาทิฏฐิ)

สัมมาทิฏฐิในแง่ศีลธรรมนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิขั้นเบื้องต้นสำหรับบุคคลทั่วๆไป ที่ยังอยู่ในขั้นของศีลธรรม ส่วน สัมมาทิฏฐิปรมัตถธรรม นั้น หมายถึงสัมมาทิฏฐิแท้ ตามหลักอริยสัจ ๔

แต่ว่า บางทีคนเรามันไปไม่ถึงขั้นปรมัตถ์ ยังอยู่ในขั้นศีลธรรมหรือในขั้นโลกียวิสัย ไม่ปฏิบัติเป็นการพ้นทุกข์เป็นตัวโลกุตระ แต่ว่า อยากจะพ้นทุกข์แบบชาวโลกธรรมดาๆ ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิให้เขาบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าอย่างไรถูก อย่างไรผิด ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เราจึงควรแบ่งสัมมาทิฏฐิว่าเป็นขั้นศีลธรรม

สัมมาทิฏฐิขั้นศีลธรรมนั้น เห็นว่าอย่างไร ? เช่นเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้อยู่ในขั้นศีลธรรม เพราะยังมีเรื่องได้เรื่องเสียสำหรับบุคคลนั้นอยู่ ไม่ใช่ขั้นสูงสุด แต่ว่าถ้าไม่มีหลักนี้เป็นพื้นฐานมันจะไปกันใหญ่ คนเราถ้าไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จิตใจก็จะกวัดแกว่งออกไปนอกลู่นอกทาง ปฏิเสธในการกระทำไปเสียทั้งหมด เช่น ทำอะไรก็ไม่เป็นไร ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว ชีวิตนี้ มันไม่มีอะไรอย่างนี้ เขาเรียกว่าสุดโต่ง เป็นความเห็นผิดไป ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในใจรุนแรง ก็ทำชั่วได้ เพราะเห็นว่าทำแล้วมันก็ไม่มีอะไร ผ่านพ้นไปเท่านั้นเอง อันนี้ จะเสียหาย จึงต้องมีหลักยึดไว้ในใจว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เรียกว่าเชื่อกฎแห่งกรรม ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราหนีจากผลที่ทำไว้ไม่ได้ ผู้ที่ฐานในใจอย่างนี้ไว้ ก็ย่อมจะเกรงกลัวต่อผลกรรม มีความยับยั้งช่างใจ ไม่กระทำอะไรที่เป็นเรื่องเสียหาย เพราะทำแล้วตนก็รู้ว่า ตกเป็นของตน เรามีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อเชื่อหลักอย่างนี้อยู่อย่างมั่นคงแล้ว ย่อมเป็นคนกลัวบาปกลัวกรรม ย่อมเป็นคนรักดี รักงาม การประพฤติปฏิบัติก็จะเป็นไปในทางที่เรียบร้อย

เราสังเกตชีวิตของคนบางคนที่ปล่อยกายปล่อยใจไปตามอำนาจของกิเลส ทำอะไรก็ทำไปตามอารมณ์ ถ้าศึกษาถึงพื้นฐานทางจิตใจของคนนั้นแล้ว ก็จะพบว่าเป็นคนประเภทไม่มีหลัก ใจเลื่อนลอย ไม่มีหลักสำหรับยึดมั่นไว้ในใจว่าอะไรเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ทำอะไรตามอารมณ์ จะไปฆ่าใครก็ได้ จะไปลักขโมยของใครก็ได้ จะประพฤติทำชู้กับลูกเมียใครก็ได้ จะพูดโกหกใครก็ได้ มันไม่มีหลักอะไรในใจ เสียผู้เสียคนได้ง่าย เพราะฉะนั้น จึงมีฐานว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไว้เป็นฐานในใจ

อันการรู้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้น เรียกว่าเป็นการรู้แบบศีลธรรม แต่ถ้าเราจะพิสูจน์ว่า ทำดีได้ดีอย่างไร ทำชั่วได้ชั่วอย่างไร เป็นการรู้แบบศีลธรรม แต่ถ้าเราจะพิสูจน์ว่า ทำดีได้ดีอย่างไร ทำชั่วได้ชั่วอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของปัญญา ที่จะคิดนึกละเอียดออกไป เราก็รู้ความหมายกันอยู่แล้วว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หนีไม่พ้น นอกจากนั้นแล้วยังเกิดในชีวิตของตนต่อไป กรรมมันสนองกรรม ไอ้เรื่องกรรมมันสนองกรรมนี้ เห็นกันอยู่ง่ายๆ แม้กรรมของบุคคล กรรมของหมู่คณะ กรรมของชาติของประเทศ มันเกิดทั้งนั้นแหละ ถ้าเราเอาหลักกรรมเข้าจับแล้ว จะเห็นว่ามีผลย้อนหลังอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นว่า ฝรั่งประเทศต่างๆ ที่เคยแสดงหาเมืองขึ้น เอาคนมาอยู่ในปกครองมากมาย กอบโดยทรัพยากรธรรมชาติในประเทศนั้นๆ ไปใช้บำรุงประเทศของตัว ก็เป็นสุขไปพักหนึ่ง เวลาต่อมาเขาดิ้นรนต่อสู้ ต้องปล่อยประเทศเหล่านั้นออกไป ฯลฯ

เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต้องคิดให้มาก ให้เชื่อหลักนี้ไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อะไรที่เราทำแล้วหนีไม่พ้น มันต้องกลับมาหาเราจนได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันย้อนรอยกลับมา อย่างนี้ เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างหนึ่ง เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2018, 17:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ มีอีกอันหนึ่งอยากจะทำความเข้าใจ เรื่องเกิดเรื่องตาย ตายเกิด ตายสูญ ในเรื่องตายแล้วเกิด กับ ตายแล้วสูญ เราควรจะยึดถืออย่างไรดี จริงอยู่ ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่พูดบ่งชัดว่า ตายแล้วเกิด ไม่พูดว่าตายแล้วสูญ พูดไว้ว่า ถ้าถือว่าตายแล้วเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้ ไอ้ที่ถูกนั้นพูดอย่างใด พูดว่า สิ่งทั้งหลายย่อมเป็นไปตามปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อสิ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งก็ตามมา อย่างนี้ เรียกว่าอาศัยเครื่องปรุงแต่ง ที่พระองค์ได้ตรัสเช่นนั้น ก็เพราะว่า ในอินเดียสมัยนั้น มันมีทิฏฐิอยู่หลายอย่าง แต่ว่า ที่เกี่ยวพันกันอยู่ ๒ ประการ

สัสสตทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยง เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นี่ความเห็นว่าเที่ยง เป็นอะไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป เป็นคนก็เป็นคนเรื่อยไป เป็นสัตว์ก็เป็นสัตว์เรื่อยไป นี่ สัสสตทิฏฐิ อีกพวกหนึ่ง เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ หมายความว่า สูญไปเลย

สองอย่างนี้ ถือว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ไม่ถูกไม่ตรง อันนี้พระพุทธศาสนาถือว่า ไม่ใช่เที่ยงแล้วก็ไม่ใช่สูญ ถือเอาตรงกลาง ตรงกลางนั้น หมายความว่า สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไฟมันยังลุกอยู่ได้เพราะมีไส้มีน้ำมัน พอไส้หมดน้ำมันหมดก็ดับไปเท่านั้นเอง แล้วถ้ามีปัจจัยมาปรุงแต่งให้ไฟลุก มันก็ลุกขึ้นมาอีก มันเป็นอย่างนั้น นั่นคือหลักความจริงที่สอนไว้

แต่ว่าในชีวิตของเราปุถุชนนี้ อยู่ในโลกนี้ ในความเชื่อว่า ตายแล้วไม่เกิด กับ ตายแล้วเกิด ลองพิจารณาอันไหนดีกว่ากัน ? ตามความเห็นของหลวงพ่อนี้เห็นว่า ถือว่า ตายแล้วเกิดดีกว่า เพราะว่าตายแล้วเกิดมันมีหวังสักหน่อยในชีวิต มีหวังไว้ว่า ข้างหน้ามันยังมีอยู่ ทำอะไรมันก็ต้องคิดหน้าคิดหลังหน่อย แต่ถ้าคนไหนถือว่าตายแล้วไม่เกิดใหม่ มันจะฉิบหายไว เพราะมันไม่มีอะไร ไม่มีอนาคต มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นเอง ไม่มีอนาคต คนเราถ้าไม่มีอนาคตมันลำบาก

เพราะฉะนั้น ในแง่ศีลธรรม ในแง่ของคนธรรมดา ควรจะถือว่าตายแล้วเกิดไว้ดีกว่า ไอ้เกิดอย่างไร อะไรไปเกิดนั้น นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันอย่างมากกมาย มันนอกเหนือปัญหา

แต่ถ้าเราถือหลักไว้ว่าตายแล้วมันเกิดอีก แล้วการเกิดอีกมันต้องรับอะไรต่ออะไรต่อไป อันนี้ มันยับยั้งชังใจได้บ้าง ทำให้คนกลัวบาปรักบุญ แล้วก็ทำอะไรๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม หลวงพ่อเคยสังเกตคนหลายคน ที่เห็นว่าตายแล้วไม่เกิด ไม่ค่อยเอาเรื่อง ไม่ค่อยบริจาคทรัพย์ ไม่ค่อยทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เอาแต่เรื่องส่วนตัว กินเล่น สนุกสนาน ใช้คนเดียว ไม่คิดถึงเพื่อนมนุษย์ ไม่คิดสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล วัดวาอารามอะไร ก็ไม่ค่อยเอาเรื่อง ไม่คิดแล้ว คิดแต่จะกินจะใช้คนเดียว ถ้าเมื่อเหลือก็เหลือไปตามเรื่อง อย่างนี้มันก็เสีย เพราะฐานมันตั้งไว้ผิด ถ้าฐานตั้งไว้ผิดแล้วอันอื่นมันก็พลอยผิดไปด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังเป็นปุถุชนอยู่ ยังมีกิเลสอยู่ ถือว่าตายแล้วเกิดก็ยังดีกว่าตายแล้วสูญ เพราะว่ามันยังมีความหวังในอนาคต พอจะช่วยเหนี่ยวรั้งบังคับจิตใจไม่ให้เราทำอะไร ๆ ที่ทำความเสียหาย เช่น เกิดความโกรธจะฆ่าคนขึ้นมา มันยังใจได้ อือ ไม่ดี เดี๋ยวมันมาฆ่าเราในชาติต่อไป ถ้าไม่ใช่ชาติต่อไป เดี๋ยวชาตินี้มันจะมาฆ่าเราอีก กรรมมันสนองกรรมอยู่ ทำให้คนมีความดีงามอยู่ในศีลธรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย ถ้าเราจะตอบกับใครที่เขามาถามเรื่องนี้ เช่น เขาถามว่า ตายแล้วจะเกิดอีกไหม ก็ควรจะตอบไปว่า ถ้าคุณมีกิเลสแล้วมันเกิดเรื่อยไป ตอบไปอย่างนั้นว่า คุณยังมีกิเลสอยู่ มันเกิดเรื่อยไปแหละ ไม่จบไม่สิ้น เหมือนกับคนไปดูหนังแหละ ไปบาร์ ไนต์คลับ ถ้าคุณติดอกติดใจ คุณไปนั่งดูขาอ่อนต่อไปอีก มันเกิดอีกแหละ ไปเกิดในโรงหนัง ไปเกิดในบาร์ในไนต์คลับ เพราะว่าเรามันชอบ

คนเราถ้ายังมีกิเลสก็หมายความว่ายังอยากจะอยู่ มันก็ต้องเกิดอีกแหละ แต่ถ้าไม่อยากอยู่แล้วมันอีกเรื่องหนึ่ง มันไปอีกเรื่องหนึ่ง อย่างนี้เราพูดกับเขาอีกเรื่องหนึ่ง นั่นมันตัดปัญหา ไม่ต้องพูดมากเกินไป ญาติโยมถามก็ตอบอย่างนั้น โดยมากแล้วก็ชอบถาม ไปเทศน์ที่ไหนคนชอบถามมาก ตายแล้วเกิดอีกไหม ตายแล้วไม่เกิดที่ไหน ก็ตอบไปตามหลักศีลธรรม ตอบว่า ถ้ามีกิเลสท่วมหัวอยู่มันก็เกิดเรื่อยไป ไม่จบสิ้น ไอ้จะไปเกิดที่ไหน ก็สุดแล้วแต่การกระทำของเรา ถ้าเราทำดีก็ไปสวรรค์ หรือไปเป็นมนุษย์ ถ้าทำไม่ดีก็ไปนรก หมดกิเลสมันไปนิพพาน หลักมันก็ว่าอย่างนั้น เราก็ตอบอย่างนั้น คนเขาก็พอจะรับได้ แล้วก็เป็นเครื่องสนับสนุนศีลธรรม ให้ศีลธรรมมีความตั้งมั่นอยู่ได้ เพราะความเชื่อแบบนั้น
เมื่อคนเหล่านั้นได้ศึกษาธรรมะไปมากขึ้นจนเข้าใจความจริง เขาก็ปล่อยวางได้เอง จิตใจก็สูงขึ้น พอจิตใจสูงขึ้นแล้วเขาก็ไม่ทำชั่ว พ้นระดับนั้นไปไม่เป็นไรแล้ว มันสำคัญตรงนี้ ไอ้หนุ่มทีนเอจ คนอยู่ในระบบศีลธรรมคล้ายกับหนุ่มทีนเอจ

เพราะฉะนั้น ต้องระวังหน่อย จะได้เป็นพื้นฐานไว้ ความเชื่อว่าตายแล้วเกิด กับ ตายแล้วไม่เกิดนี่ ตายแล้วเกิดดีกว่า ใครเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอันตรายล่อแหลมต่ออันตราย เดี๋ยวก็โกรธขึ้นมาว่า ตายแล้วหมดเรื่อง กูฟันหัวมันซะเลย มันก็ไปเท่านั้นแหละ แต่ถ้ายังคิดว่าไม่ได้ ว่ามันกรรมสนองกรรม เดี๋ยวมันเกิดตอบสนองเรา คิดดังนี้ มันเกิดยับยั้งชั่งใจ เป็นห้ามล้อจิตใจได้ ในเมื่อเราเข้าใจในรูปอย่างนั้น นี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิขั้นต้นๆ เรียกว่า อยู่ในขั้นศีลธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 09:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(แทรกสัมมาทิฏฐิ ๒ ประเภทจากบาลีเทียบไว้ด้วย)

พุทธพจน์แห่งหนึ่ง แยกความหมายของสัมมาทิฏฐิ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ กับ ระดับโลกุตระ

ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ? เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง”

สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน ? คือความเห็นว่าทาน ที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรม ที่ทำไว้ดี และชั่ว มีผลมีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพรามหณ์ ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองมีอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์

๑. โลกิยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกีย์ คือ ยังเนื่องในโลก ขึ้นต่อโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เป็นไปตามคลองธรรม หรือสอดคล้องกับศีลธรรม ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงไว้แล้วข้างต้น

โดยทั่วไป สัมมาทิฏฐิประเภทนี้เกิดจาก ปรโตโฆสะ คือปัจจัยฝ่ายภายนอก หรือ องค์ประกอบทางสังคม ด้วยอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยงหรือชักนำ เฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาของสังคม เช่น การอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น แม้สัมพันธ์กับโยนิโสมนสิการ ก็มักเป็นโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล

ทิฏฐิระดับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า เช่นว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด อะไรดีกว่า อะไรเลวกว่า ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น หรือว่าน่าเป็น ไม่น่าเป็น อย่างไร เป็นต้น ตลอดจนหลักความเชื่อ หลักความเห็นต่างๆ ที่จะรักษาคุณค่าที่ดีงามถูกต้องไว้

เพราะเหตุที่เกิดจากการหล่อหลอมของสังคม มีการถ่ายทอดโดยปรโตโฆสะ ทิฐิประเภทนี้มีลักษณะเป็นหลักการ กฎเกณฑ์ มาตรฐาน ความเชื่อถือ ชนิดที่มนุษย์ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ หรือบัญญัติวางกันขึ้น เป็นของซ้อนเข้ามา หรือต่างหากจากกฎธรรมดาของธรรมชาติอีกทีหนึ่ง และดังนั้น จึงมีลักษณะของความเป็นโลกิยะ คือ มีรายละเอียดข้อปลีกย่อยผิดแปลกแตกต่างกันออกไปตามกาลเทศะ เปลี่ยนแปลงได้ตามอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและความเป็นไปของสังคม ทิฏฐิจำพวกข้อถูกใจ ความใฝ่นิยม หรือค่านิยมทั้งหลาย ล้วนรวมอยู่ในทิฏฐิประเภทโลกิยะนี้ทั้งสิ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 09:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน ? คือ องค์มรรค ข้อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ของผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค”



๒. โลกุตรสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบระดับโลกุตระ คือ เหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง หรือรู้เข้าใจตามสภาวะของธรรมชาติ พูดง่ายๆว่า รู้เข้าใจธรรมชาตินั่นเอง

สัมมาทิฐิประเภทนี้ เกิดจาก โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายในตัวบุคคล ปรโตโฆสะที่ดี หรือกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงด้วยการกระตุ้นให้บุคคลนั้นใช้โยนิโสมนสิการแล้วรู้เห็นเข้า ใจเอง หมายความว่า สัมมาทิฐิประเภท นี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา เพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ โลกุตรสัมมาทิฐิจึง ไม่เกี่ยวข้อกับหลักการ กฎเกณฑ์ ข้อยึดถือที่ปรุงแต่งหรือบัญญัติวางซ้อนเพิ่มขึ้นมาต่างหากจากธรรมดาของ ธรรมชาติ และจึงเป็นอิสระจากการหล่อหลอมของสังคม ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดาเสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย

โดยนัย นี้ สัมมาทิฐิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นโลกุตระ คือ ไม่ขึ้นต่อกาล ไม่จำกัดสมัย เป็นความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวกัน จำเป็นสำหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้นในทุกถิ่นทุกกาลเสมอเหมือนกัน

สัมมาทิฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ที่ท่านจัดเป็นโลกุตระนั้น หมายเอาเฉพาะที่เป็นความรู้ความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เป็นอริยบุคคลเท่านั้น

แต่กระนั้น ก็ตาม สัมมาทิฐิเป็นมรรคเป็นผลนั้น ก็สืบเนื่องไปจากสัมมาทิฐิแบบเดียวกัน ที่เป็นของปุถุชนนั่นเอง ดังนั้น จึงขอเรียกสัมมาทิฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ในขั้นเป็นของปุถุชนว่า สัมมาทิฐิแนวโลกุตระ

พึงเห็นความสำคัญของสัมมาทิฐิที่เป็นโลกุตระ หรือแนวโลกุตระนี้ว่า เป็นธรรมที่มีผลลึกซึ้งกว่าโลกิยสัมมาทิฐิมาก สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพอย่างที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน

สัมมาทิฐิระดับนี้เท่านั้น จึงกำจัดกิเลสได้ มิใช่เพียงกด ข่ม หรือทับไว้ และทำให้เกิดความมั่นคงในคุณธรรมอย่างแท้จริง ไม่แกว่งไกวไหวโอนไปตามค่านิยมที่สังคมหล่อหลอม เพราะมองเห็นความจริงผ่านทะลุกเลยระดับสังคมไปถึงสภาวธรรมที่อยู่เบื้องหลัง แล้ว จึงไม่เต้นส่ายไปกับภาพปรุงแต่ในระดับสังคม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 12:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เดินต่อ


ทีนี้ สัมมาทิฏฐิที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็หมายถึงว่า เห็นในเรื่องความทุกข์ เข้าใจในเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ถูกต้อง เข้าใจว่า ทุกข์นี้ดับได้ แล้วก็รู้ด้วยว่าดับด้วยอะไร อันนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิชั้นสูง พูดง่ายๆว่า เห็นอริยสัจ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ตามภาพที่เป็นจริง
คือรู้จักว่า
อะไรเป็นทุกข์
อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
อะไรเป็นความดับทุกข์
และ
อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความดับทุกข์ได้ มันเป็นมาโดยลำดับ
อันนี้ เรียกว่า เป็นตัวสัมมาทิฏฐิสูงขึ้นไป

ทีนี้ เราลองมาฟังความคิดเห็นของพระสารีบุตร มีพระสูตรอยู่สูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก เรียกว่า สัมมาทิฏฐิสูตร ชื่อตรงๆเลย เป็นสูตรที่กล่าวในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์


พระสูตรนี้เล่าเรื่องไว้ว่า พระผู้พระภาคเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตะวัน เขตอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีในเมืองสาวัตถี ภิกษุพวกหนึ่งได้เข้าไปหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรท่านก็ถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกท่านที่มาสู่ธรรมวินัยนี้ พวกท่านมีความเข้าใจอย่างไรในเรื่องสัมมาทิฏฐิ
พระเหล่านั้น ก็บอกกับพระสารีบุตรว่า พวกกระผมเดินทางมาจากที่ไกล ต้องการจะมาฟังพระอาจารย์พระสารีบุตรพูดธรรมะให้ฟัง อย่าให้พวกผมพูดเลย ให้พระสารีบุตรพูดให้ฟังดีกว่า

ตอนนี้ พระสารีบุตรบอกว่า เออ ถ้าอย่างนั้น จงฟังเถอะ เราจะกล่าวให้ฟัง แล้วท่านก็กล่าวไปโดยลำดับอย่างนี้ว่า

๑. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล และรากเหง้าของอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล อันนี้เป็นอันแรก เรียกว่า รู้จักสิ่งทีเป็นกุศล รู้จักสิ่งที่เป็นอกุศล รู้จักรากเหง้าของมันทั้ง ๒ อย่าง เป็นตัวสัมมาทิฏฐิอันหนึ่ง

อกุศลนั้น หมายถึงอะไร ? อกุศลก็หมายความว่า การฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของผู้อื่น ปองร้ายเขา เห็นผิด อันนี้ เรียกว่า อกุศล

คราวนี้ รากเหง้าของอกุศลนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่ โลภะ ความโลภ โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลง อันนี้เรียกว่า เป็นรากเหง้าของอกุศล ถ้าเรารู้จักว่าอะไรเป็นอกุศล เราก็ไม่ทำสิ่งนั้น อะไรเป็นรากเหง้าของอกุศล เราก็ไม่คิดสิ่งนั้น ก็เป็นสัมมาทิฏฐือย่างหนึ่ง

คราวนี้ กุศลนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการอยากได้ของผู้อื่น เว้นจากการปองร้ายใคร เว้นจากความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นชอบ อย่างนี้ เรียกว่า เป็นกุศล

รากเหง้าของกุศล ก็คือ อโลภะ คือความไม่โลภ อโทสะ คือความไม่ประทุษร้าย อโมหะ คือความไม่หลง อันนี้ เรียกว่า รากเหง้าของกุศล

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล รากเหง้าของอกุศล อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล อย่างนี้ เมื่อนั้นละ ราคะ โทสะ ทิฏฐิ และมานะ ได้ มีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย อีกประการหนึ่ง นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ที่ท่านพระสารีบุตรท่านอธิบายอย่างหนึ่งว่า รู้จักเรื่อง กุศล อกุศล รากเหง้าของกุศล รากเหง้าของอกุศล จำย่อๆอย่างนั้น

พวกภิกษุนั้นชื่นชมในคำสอนแล้ว ก็ถามต่อไปว่า มีอะไรอีก ?

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒. ท่านพระสารีบุตรท่านบอกว่า อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาหาร เหตุเกิดของอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ดับซึ่งอาหาร แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ

อาหารนั้น มีอะไรบ้าง ?

ท่านแบ่งอาหารนั้นออกเป็น ๔ ประเภท

อาหารคือคำข้าว เรียกตามภาษาพระว่า กวฬิงการาหาร อาหารคือผัสสะ เรียกว่า ผัสสาหาร อาหารคือความคิดอ่านจงใจ เรียกว่า มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือวิญญาณ เรียกว่า วิญญาณาหาร

อาหาร ๔ ประการนี้ อาหารที่เรียกว่าคำข้าวนั้น คือ น้ำ ขนม นม เนย ของที่รับประทานเข้าไปเลี้ยงร่างกาย เรียกว่า อาหารทั้งนั้น อาหารคือคำข้าว เป็นสิ่งเลี้ยงกาย
อาหารคือผัสสะ เป็นสิ่งเลี้ยงใจ
อาหารคือมโนสัญเจตนาหาร ก็คือความคิดนึกที่สร้างอะไรๆขึ้นในใจของเรา สร้างสุข สร้างทุกข์ สร้างดี สร้างชั่ว
อาหารคือวิญญาณ นี่เป็นอาหารที่ให้เกิดผัสสะ
ผัสสะ เป็นอาหารให้เกิดเวทนา
เวทนา เป็นอาหารให้เกิดตัณหา
ตัณหา ก็เป็นอาหารให้เกิดอุปาทาน แล้ว
อุปาทาน ก็เป็นอาหารของภพ ชาติ ทุกข์ เรื่อยไป

นี่คืออาหาร ๔ เป็นเรื่องที่ควรรู้ ควรจะเข้าใจเหตุเกิดดับของอาหารซึ่งมีอยู่. อาหาร ๔ นี้มันเกิดเพราะอะไร ? เกิดเพราะตัณหา ความดับย่อมมีเพราะดับตัณหาได้ การดับตัณหาก็ต้องดับด้วยมรรคมีองค์ ๘ นี่ท่านเรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง คือรู้จักเรื่องของอาหาร การเกิดขึ้นของอาหาร ความดับของอาหาร ทางให้ถึงความดับอาหาร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 17:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓. อันที่สามท่านว่าอย่างนี้ อริยสาวกรู้ชัดซึ่งทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ

คราวนี้ ในการรู้สิ่งนี้คือรู้อย่างไร ? รู้ว่า ทุกข์มันเป็นอย่างไร ทุกข์คืออะไร ? ทุกข์ก็ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความแห้งใจ ความคิดร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่สมหวัง แต่ละอย่างๆล้วนเป็นทุกข์ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ นั้นแหละเป็นตัวทุกข์ อันนี้เรียกว่า เป็นความทุกข์

(อ่านลิงค์นี้ให้เข้าใจก่อน viewtopic.php?f=1&t=55145 )

ทุกขสมุทัยเป็นไฉน ? ได้แก่ ตัณหา ทำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยความสามารถแห่งความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือกาม ตัณหา อยากมี ภวตัณหา อยากเป็น วิภวตัณหา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นเพราะความเขลา เรียกว่า ทุกขสมุทัย

ทุกขนิโรธเป็นอย่างไร ? ได้แก่ ความดับด้วยสามารถแห่งความสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น เรียกว่า ทุกขนิโรธ คือดับตัณหาได้ เรียกทุกขนิโรธ

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ความรู้อย่างนี้ เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ

ท่านพระสารีบุตรยังกล่าวต่อไปอีกว่า อริยสาวกรู้ซึ่งชรามรณะ เหตุเกิดแห่งชรามรณะ ความดับแห่งชรามรณะ และทางที่ให้ถึงความดับแห่งชรามรณะ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วท่านอธิบายต่อไปว่า ก็ชรามรณะ เหตุเกิดแห่งชรามรณะ ความดับแห่งชรามรณะ ทางที่จะให้ดับแห่งชรามรณะ เป็นไฉน ? ความแก่ ได้แก่ ความคร่ำคร่า ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่งอมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์นั่นๆ อันนี้ เรียกว่า ชรา. ความรู้ในเรื่องชรา มองเห็นชัดว่าร่างกายนี้มันชราลงไปทุกวินาที หนีจากความชราไม่พ้น อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ตัวหนึ่งเหมือนกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 17:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔. ต่อไปท่านว่า อริยสาวกรู้ซึ่งชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ ทางให้ถึงความดับชาติ ชาติก็คือความเกิด ความเกิดแห่งความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายทั้งปวง ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา มารู้ชัดอย่างนี้แล้วก็ถอนความยึดมั่นถือมันในสิ่งนั้นออกเสีย อันนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ

แล้วต่อไปท่านว่า ภพ คือรู้จักว่าภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ ปฏิปทาที่จะให้ถึงซึ่งความดับแห่งภพ อันนี้ ทั้งหมดรวมอยู่ในคำว่า รู้จักปฏิจจสมุปบาท แต่ละปัจจัยโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ คือรู้ชัดว่าอะไรมันเกิดขึ้นอย่างไร มีตา มีหู มีรูป มีนาม มีอายตนะ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ มันเกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร รู้ขบวนการของมันทั้งหมด

เมื่อรู้ขบวนการของมันทั้งหมด เราก็ไม่ไปยินดีอะไร ไม่พัวพันอยู่กับสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ย่อมหายไปโดยลำดับ ไม่เข้ามาทำให้เราเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนต่อไป อันนี้เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ คือรู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ปฏิจจสมุปบาท ก็เรียกว่า เป็นตัวสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิทั้งหมดนี้ ได้แก่ การรู้ชัดกุศล อกุศล รากเหง้าของกุศล อกุศล อาหารสี่ ทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท แต่ละปัจจัยตั้งแต่ชาติถอยไปจนถึงอวิชชา อาสวะ ว่ามันเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ดับอย่างไร ทางให้ถึงความดับคืออะไร แต่ละอย่างๆ ล้วนเป็นตัวสัมมาทิฏฐิทั้งนั้น




คำบรรยายของพระสารีบุตร ซึ่งเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เราก็จะเห็นว่าตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้เห็นในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ได้อย่างไร และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันแสดงฤทธิ์เดชอย่างไร ทำให้เรามีความทุกข์ได้อย่างไร มีความร้อนใจอย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรศึกษาเพื่อจำไว้ เข้าแบบที่เขาเรียกว่า ผิดเป็นครู นั่นเอง คือ จำไว้เพื่อเป็นครูต่อไป ไม่ให้มันมาซ้ำรอยในชีวิตของเรา
เช่น รู้ว่าความโลภเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ โทสะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นรากเหง้าของอกุศล ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นรากเหง้าของกุศล เราก็จะได้รู้ไว้ อะไรเป็นอาหารของความทุกข์ ก็จะได้ตัดอาหาร ตัดอาหารแล้วมันตาย ต้นไม้ไม่มีอาหารก็ตาย คนไม่กินอาหารก็ตาย กองทัพของข้าศึกไม่มีทางลำเลียงอาหารไปส่ง มันรบไม่ได้ท้องแห้งตาย

จิตใจของเรามันมีอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง รูปบ้าง อาหารคือคำข้าว อาหารคือผัสสะที่มากระทบแล้วอาหารก็เกิดขึ้นใจเอง อาหารคือวิญญาณ เรารู้ว่ามันเกิดมาทางไหน เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วเกิดขึ้นที่ใจ เราก็ระวังไม่ให้มันเกิด พอทำท่าว่าจะเกิดก็ไปทำแท้งเสียก่อน เรียกว่าทำแท้ง อย่าให้มันเกิดออกมา เกิดออกมาแล้วมันเป็นทุกข์ คือเป็นความร้อนใจ ไม่สบายใจ นี่มันเป็นทุกข์.
ทำแท้ง หมายความว่า เอาสติปัญญาเข้าไปสกัดไว้ ไม่ให้เกิดสืบเนื่องต่อกัน เหมือนเราเห็นไฟไหม้ฟาง เอาน้ำไปดับไว้เสีย ไม่ใช่เราไปดับไฟ แต่ว่าตัดไฟไม่ให้ลุกไปหาเชื้อ เมื่อไฟมันไม่ได้เชื้อ ไฟก็ดับเท่านั้นเอง เรารู้ว่าเชื้อของไฟคือไม้ คือขยะมูลฝอย น้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิง อะไรเป็นเชื้อเพลิงเราตัด ไม่ให้ไฟมันไป เอาน้ำมาตัดไฟ ไม่ใช่ไปดับไฟ ตัดไม่ให้ไฟไปลุกไหม้ เมื่อไฟไม่ลุกไหม้มันก็ดับของมันเอง ไฟดับก็เพราะว่าไม่มีอาหารของไฟ อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน มันต้องแก้ด้วยการตัด ตัดอารมณ์เหล่านั้น ไม่ให้มันเกิดการกระทบกัน

เพราะฉะนั้น เขาจึงตัดที่ผัสสะ ตัดที่เวทนา แล้วมันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่สร้างภพสร้างชาติ ไม่นั่งฝันนั่งเพ้ออยู่คนเดียว ด้วยเรื่องปัญหาร้อยแปด มันเกิดอย่างนี้ เราจึงรู้วิธีเหล่านี้ การเรียนรู้วิธีเหล่านี้ เรียกว่า วิธีเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวแรก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2018, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คราวนี้ ตัวต่อไปเรียกว่า องค์มรรคที่ ๒

องค์มรรคที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ แปลว่า ความคิดชอบ คิดอย่างไรเรียกว่าคิดชอบ ? คิดในการออกจากกาม ในการไม่เบียดเบียน ในอันไม่พยาบาท สัมมาสังกัปปะ คิด ๓ แบบ คิดออกจากกาม คิดไม่เบียดเบียนกัน คิดไม่พยาบาทใคร ความคิดอย่างนี้ เรียกว่า เป็นตัวสัมมาสังกัปปะ

ตัวสัมมาสังกัปปะอันแรก เรียกว่า คิดออกจากกาม กามเป็นสิ่งที่เรียกว่า เปือกตม เป็นหนาม เป็นเหมือนกับหัวฝี เป็นเหมือนกับลูกศรที่เสียบแทงใจ กามมันมีรสชาติอร่อยนิดหน่อย แต่ว่าทุกข์มันมากกว่านั้น ทุกข์มากว่าความอร่อย ความเพลิดเพลินในกามนั้น เป็นความอร่อยนิดหน่อย แล้วให้ทุกข์มากกว่านั้น ในการที่จะออกจากกามนี้ ต้องรู้เหมือนกัน รู้ว่ากามนี้มันมีรสชาติอย่างไร มีทุกข์อย่างไร แล้วก็ควรรู้ว่าจะออกจากมันได้อย่างไร.

เราจะเบื่อหน่ายสิ่งใด จะออกจากสิ่งใด ต้องรู้จักมันอย่างละเอียด จึงจะออกจากมันได้ ถ้าไม่รู้ละเอียดคือไม่รู้ว่าอร่อยอย่างไร ? มีโทษอย่างไร ? เราออกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้

เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาในเรื่องของกาม แต่สัมมาสังกัปปะนี้ต้องหมั่นพิจารณาโทษของกามคุณ พิจารณาให้เห็นว่ามันมีทุกข์มาก แต่ว่ามันมีสุขน้อย ไม่ใช่สุขมาก ทุกข์น้อย แต่มันทุกข์มากสุขน้อย เราจึงควรพิจารณาว่า มันให้ความสุขแต่เพียงเล็กน้อย แต่ว่าความทุกข์นั้นมากกว่า


ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่า เราคนครองเรือน ลองคิดดูในชีวิตครองเรือน ถ้าไม่มีปัญญาตามแบบธรรมะแล้ว เราจะมีความทุกข์มาก ความกังวล มีปัญหาเยอะแยะ แต่ถ้าเราใช้ธรรมะมันเบาเพราะเรารู้เท่ารู้ทันต่ออารมณ์นั้น พอจะแก้ปัญหาต่างๆได้ จิตใจจะได้สบาย


คราวนี้ ถ้าเราคิดมองเห็นว่า กามคุณนี้เป็นเหมือนหัวฝี หัวฝีน่ะเป็นกันแล้ว เป็นอย่างไร เช่น เป็นที่สะโพก ยอดมันแหลมออกมาสุกปลั่งออกมา เรารู้สึกอย่างไร ค่อยๆ ประคับประคองมัน ค่อยๆนั่ง กลัวมันจะไปทับพ่อเจ้าประคุณนั้นเข้า จะนั่งก็ลำบาก จะนอนก็ลำบาก มันลำบากทั้งนั้นแหละ ไอ้เป็นฝีนี้

ถ้าเป็นที่จมูกชั้นยอดเลย ล้างหน้าเช้าๆ ต้องชักอ้อมมัน ล้างอ้อมมันเข้า กลัวไปแตะมันเข้า เรียกว่าเป็นเหมือนหัวฝี ต้องประคบประหงม กระทบนิดก็เจ็บ กระทบนิดก็ปวด ลักษณะของกามมันเป็นอย่างนั้น

กามคุณเป็นเหมือนลูกศร ลูกศรนั้น มันมีลักษณะเสียบแทงๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดราวทางจิตใจ ทางความคิด ทางอารมณ์ นี่มันเป็นลูกศร กามน่ะมันเป็นลูกศรคอยเสียบแทง ดูคนหนุ่มที่มัวเมาในกาม คิดถึงแฟนแล้วจิตใจมันเป็นอย่างไร มันแทงอยู่ตลอดเวลา นั่งก็ถูกแทงใจ นอนก็ถูกแทงใจ จะไปไหนมันก็แทงใจ อยู่ตลอดเวลาที่จะต้องไป มันเสียบแทงใจอยู่ตลอดเวลาที่จะไปหา พอไปหาแล้วก็สบายใจนิดหน่อย แต่พอจากมาก็เอาอีก ถูกแทงอีก อย่างนี้ เรียกว่าเหมือนถูกจี้สีข้าง พูดง่ายๆว่าอย่างนั้น ถูกจี้สีข้าง คิดอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีความสุขใดขึ้นมาดอกเหมือนลูกศร เป็นเหมือนหัวฝี นี่เขาเปรียบไว้อย่างนั้น


เขาเปรียบ กามคุณเป็นเหมือนสุนัขแทะกระดูก อันนี้ฟังแล้วมันก็สำคัญหน่อย สุนัขแทะกระดูก เรามีกระดูกไก่ กระดูกเป็ด กระดูกหมู ก็ตามใจ กินเนื้อให้หมด เสร็จแล้วโยนไปไม่มีแล้ว ไม่มีเนื้อสักหน่อย แต่ว่าสุนัขมันก็เอาไปแทะอยู่นั่นแหละ ไม่ปล่อยเลย คาบไปเรื่อยไป นอนแทะเรื่อยไป มันอร่อยอะไร ? น้ำลายตัวมันเองแท้ๆ น้ำลายออกมาแล้วก็กลืนลงไปเสียหน่อย นี่เขาเรียกว่าอร่อยน้ำลายตัวเอง กามคุณก็เหมือนกับกระดูกที่สุนัขแทะ สุนัขแทะกระดูกอะไรอย่างนั้น ทุกข์มันมาก สุขมันน้อย ถ้าคิดดูให้ดีนะ

แต่ว่าเรากระโจนเข้าไปแล้วไม่รู้ทำอย่างไร เราก็อยู่ด้วยปัญญา ให้รู้เท่าทันของสิ่งเหล่านี้ คล้ายๆกับเรากินปลามันมีก้าง เราต้องกินด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ก้างมันแทงคอเรา เลือกเอาก้างออกเสีย กินแต่เนื้อปลา อย่าให้มันเกิดความทุกข์ ว่าเราต้องไปเดินไปที่โคลนตม ต้องเดินค่อยๆ ไม่ให้โคลนตมมันแตกเปรอะแข้งขา


เพราะฉะนั้น อยู่ในโลก อยู่ด้วยครอบครัว ก็ต้องระมัดระวังทุกแง่ทุกมุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาในชีวิต ทีนี้เกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็ใช้ปัญญาแก้ไขให้ทันท่วงที ต้องรู้สาเหตุของมันแล้วก็ตัดเหตุ ผลจะไม่ปรากฏ ผิดแล้วจำไว้เป็นครู จะไม่ให้ผิดอย่างนั้นต่อไป อันนี้คิดเรื่องการแก้ไข สิ่งทั้งหลายก็จะเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ เรื่องกามท่านพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่า คิดในการออกจากกาม


ทีนี้ สัมมาสังกัปปะ ข้อคิดในการไม่เบียดเบียนใคร คิดไม่เบียดเบียนใคร ก็หมายความว่า คิดในทางตรงกันข้าม แง่ตรงกันข้ามกับการเบียดเบียน ก็คือการให้อภัยอย่างหนึ่ง การมีเมตตาต่อกัน เมตตาปรานีต่อกัน อย่าขึ้งเคียดเกลียดชังใครๆ เมื่อแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข อย่ามีเวร อย่ามีภัย อย่าประทุษร้ายแก่กันและกันเลย อย่างนี้เป็นเรื่องที่ถูกที่ชอบ เรื่องที่ควรจะได้คิดบ่อยๆ ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ในข้อสัมมาสังกัปปะข้อนี้ ต้องอยู่ด้วยความเมตตา อยู่ด้วยน้ำใจเมตตา เห็นอะไรใครมาก็ตาม แผ่เมตตา หัดแผ่เมตตา เห็นคนก็แผ่เมตตา เห็นสัตว์ก็แผ่เมตตา ไม่เห็นใครก็ส่งกระแสจิตออกไปรอบทิศ เพื่อชาวโลกทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข อุทิศว่าขอให้ชาวโลกทั้งอยู่เย็นเป็นสุข อย่ามีเวร อย่ามีภัยกันเลย อย่างนี้บ่อยๆ เรียกว่า คิดในการไม่เบียดเบียนใคร คนที่คิดเบียดเบียน ใจมันเหี้ยมอยู่ตลอดเวลา เรียกในธรรมะว่า มีปฏิฆะ


ปฏิฆะ ก็คืออารมณ์ที่ดุร้าย คล้ายๆ กับคนเดินบนถนนลูกรัง ลูกกรวด เดินแล้วมันกระย่องกระแย่งอยู่ตลอดเวลา เดินไม่เรียบร้อย จิตที่มีปฏิฆะก็อย่างนั่น กระทบนั่นกระทบนี่อะไรอย่างนั้น อะไรกระทบก็ฟูขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสงบใจ ไม่มีความเย็นใจสบายใจแม้แต่น้อย มีเรื่องกระทบกระทั่งอยู่บ่อยๆ ที่เราเรียกกันว่าหงุดหงิด คนอารมณ์หงุดหงิดนั้น ทางภาษาพระท่านเรียกว่า มีปฏิฆะ หมายความว่ากระทบเรื่อย เหมือนกับคนเดินบนหนาม นอนบนหนาม สะดุ้งตลอดเวลา แล้วมันจะเป็นสุขที่ตรงไหน คนเราถ้าคิดจะเบียดเบียนแล้วมันก็ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้น หลักการทางพระพุทธศาสนา จึงถือว่า อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก มหาตมะคานธีแก่ถือว่า อะหิงสา ปะระโม ธัมโม อหิงสาคือการไม่เบียดเบียนกันนั่นแหละ คือบรมธรรม


ความไม่เบียดเบียนนี่มันกว้างนะ เราคิดแล้วมันกว้าง เบียดเบียนตนนี่ก็ไม่ได้ เบียดเบียนคนอื่นนี่ก็ไม่ได้ คนบางคน เบียดเบียนตนเอง การ เบียดเบียนตนเอง ก็คือการปล่อยใจไปในความชั่ว ก็เป็นการ เบียดเบียนตนเอง เช่น ชอบดื่มสุราเมรัย นี่ก็เบียดเบียนตนเอง แล้วสูบฝิ่น สูบกัญชา สูบเฮโรฮีน เสพยาบ้า ฯลฯ เบียดเบียนตนเอง ไปเล่นการพนัน นี่ก็เบียดเบียนตนเอง

ไปเที่ยวกลางคืน ก็เบียดเบียนตนเอง คบคนชั่วมาเป็นเพื่อน ก็เบียดเบียนตนเอง เกียจคร้านการงาน ก็เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนตนเองก่อน เมื่อเบียดเบียนตัวเองแล้ว มันหนีไม่พ้น ต้องเบียดเบียนคนอื่นด้วย ต้องเบียดเบียนพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนด้วย เช่น เด็กหนุ่มที่เบียดเบียนตัวเองนี่ ประทุษร้ายต่อตัวเองด้วยการดื่มของมึนเมา สูบเสพของมึนเมา สนุกสนานเอาสตางค์ที่ไหนมาใช้ ก็ต้องไปแบมือขอแม่ ขอดีๆไม่ได้ เดี๋ยวก็พูดจาหยาบคาย หนักเข้าก็ลงไม้ลงมือทุบตีแม่ ฯลฯ ทำให้คุณแม่กระทบกระเทือนจิตใจ เป็นลูกเนรคุณถ่มน้ำลายรดฟ้า อย่างนี้ มันก็ไม่ไหว สร้างความทุกข์ให้แก่คนในครอบครัว ในเพื่อนบ้าน บ้านใกล้เรือนกระทบไปหมด ทำให้สังคมวุ่นวาย ทำให้สังคมเดือดร้อน นี่ก็คือการเบียดเบียนตนทั้งนั้น เป็นเรื่องเสียหาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร