วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2018, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวสารัชชกรณธรรม ๕ (ธรรมที่ทำความกล้าหาญ ๕)

วันนี้พูดเรื่อง เวสารัชชกรณธรรม ธรรมที่ทำความกล้าหาญ ๕ อย่าง

เวสารัชชะ แปลว่า กล้าหาญ กรณะ แปลว่า กระทำ ธรรมะ คือ สิ่งหรือเครื่องประกอบการกระทำความกล้าหาญ

เรื่องความกล้าหาญ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของเรา คนเราบางทีก็ขี้ขลาด ความขี้ขลาด หรือความประหม่ามักเกิดขึ้นในใจบ่อยๆ จะเห็นว่าเด็กบางคนท่าทางขี้แย อ่อนแอพูดอะไรก็อ้อมๆแอ้มๆ ไม่ชัดถ้อยชัดคำ ถามก็ไม่ค่อยจะตอบ เป็นลักษณะของคนขลาด จึงไม่ค่อยกล้าหรือตอบอะไรกับใคร เพราะกลัวจะผิด แล้วคนอื่นหัวเราะเยาะ กลายเป็นคนขี้ขลาดไป แม้แต่ผู้ใหญ่เราบางคนยังมีนิสัยเช่นนั้น ในบางคนพูดจาอ้อมแอ้ม ไม่ชัดถ้อยชัดคำ เพราะมีความกลัวหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา อาการเช่นนี้ ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา หรือการงานที่จะปฏิบัติ ทำให้เราไม่กล้าเข้าสมาคมที่มีคนมากๆ ไม่กล้าแสดงความรู้สึกที่ตนมี พวกนี้เป็นพวกหนี ไม่ใช่พวกสู้ทางจิตใจ เขาเรียกว่าขี้ขลาด พวกสู้ เขาเรียกว่าเป็นคนกล้า

เพราะฉะนั้น การหนี ก็เกิดจากความกลัวที่ไม่มีอยู่ในใจ เป็นเหตุให้เกิดความกลัวจากประการต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ต่อหน้า และที่ไม่เห็น เช่นกลัวผี คนเรามักจะกลัวผี กลางคืนไม่กล้าเดิน ไม่กล้าเข้าไปในที่มืด เช่น บริเวณป่าช้า มักจะไม่ค่อยมีคนกล้าเดินผ่านตอนกลางคืน เพราะมีความกลัว

การกลัวผีนั้น เป็นความกลัวที่ไม่น่าจะกลัว ไม่น่าจะให้เกิดขึ้นในใจ เพราะโดยปกติเราก็ไม่เคยเห็นผี ไม่เคยพบกับมันสักหน่อย แต่เราสร้างความกลัวขึ้นในใจจนไม่กล้าจะไปไหนคนเดียวกลางคืน กลายเป็นคนขี้ขลาดอยู่ตลอดเวลา เป็นความเสียหายต่อการงานที่เราต้องปฏิบัติ สมมติว่า เราเป็นทหารจำเป็นจะต้องออกไปลาดตระเวนในเวลากลางค่ำกลางคืน เกิดความกลัวขึ้น มันก็ไปอย่างเป็นทุกข์ ไม่ไปไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่เขาสั่ง จึงต้องไปด้วยความทุกข์ความหวาดกลัว มันจะมีความสุขตรงไหน ขณะที่เดินไปก็กลัวไปด้วย ไม่ได้กลัวข้าศึกศัตรูอะไรดอก แต่ว่าไปกลัวผี ถ้าอย่างนั้น มันก็เสียเหลี่ยมนักรบ กลัวไม่เข้าเรื่อง มีอยู่ถมไปความกลัวอย่างนี้

ความกลัวอย่างนี้ ก็เกิดจากการที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เด็กกลัวผี เกิดขึ้นเพราะผู้ใหญ่ชอบพูดเรื่องผีให้ฟัง พูดแล้วทำท่าน่ากลัวแล้วหลอกว่าผีจะหักคอบ้างอะไรบ้าง เด็กฟังแล้วก็กลัวขึ้นมา
ผมตอนเด็กๆ อยู่วัดกลัวผีมาก ไม่กล้าลงไปจากศาลาไปถ่ายปัสสาวะกลางคืน มีร่องอยู่ตรงไหนก็ปล่อยมันตรงนั้น ที่ไม่กล้าลงไปปัสสาวะก็เพราะกลัวผี บางทีตอนหัวค่ำคุยเรื่องผี พอตอนนอนชักไม่เข้าที หวาดกลัวฝันร้ายไปต่างๆนานา เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำผิด

เด็กนั้นปกติจะไม่มีความกลัวผี หรือโครงกระดูกที่เขาเอามาแขวนไว้ ที่วัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่มีโครงกระดูหนึ่ง ซื้อไปจากโรงพยาบาล เอาไปแขวนไว้ในห้องสมุด ผู้ใหญ่ไปเห็นเข้าแล้วไม่กล้าเข้าใกล้ หวาดกลัวโครงกระดูกนั้น แต่เด็กไปถึงก็จับเล่น ผู้ใหญ่หันไปเห็นเด็กจับโครงกระดูกเข้าก็ร้องวี๊ดขึ้นมาทีเดียว อาการของผู้ใหญ่ที่ร้องวี๊ดโวยวายขึ้นมานั้น เป็นการสร้างภาพความกลัวให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก แล้วเด็กจะกลัวสิ่งเหล่านั้นตลอดไป เหล่านี้เป็นความบกพร่องของผู้ใหญ่ที่มีอวิชชาครอบงำจิตใจอยู่ ความจริงเด็กจับก็ไม่มีอะไรดอก ไม่น่าไปโวยวายเลย เหตุที่โวยวายก็เพราะผู้ใหญ่ฝังความกลัวไว้ตั้งแต่เด็กแล้ว เด็กๆไม่มีความกลัวมาแต่เดิม แม้บริเวณป่าช้าเด็กก็กล้าเข้าไปเล่นซ่อนหากัน เข้าไปแอบในที่เขาเก็บศพนั้นแหละ แล้วตะโกนกู่ให้หากัน บางทีหลบอยู่บนที่บรรจุศพด้วยซ้ำไป เด็กไม่มีความกลัวเพราะไม่มีใครสร้างภาพความกลัวให้เกิดขึ้นในใจของเด็ก แต่ถ้าสร้างให้เกิดขึ้นแล้ว มันก็จะติดตามไปตลอดจนกว่าจะมีปัญญาขึ้น จึงจะหายกลัวได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2018, 08:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความกลัวไว้ว่า มีเด็กคนหนึ่งไม่กล้าเข้าไปในห้อง ซึ่งในห้องนั้นก็ไม่มีอะไร แต่เด็กไม่กล้า สั่งให้เด็กเข้าไปแกก็ไม่ยอมเข้า ถามว่าทำไมไม่กล้าเข้า แกก็บอกว่ามีผีอยู่ในนั้น พอมืดแล้วไม่กล้าเข้า พ่อเลยปรึกษากับผู้รู้หาวิธีแก้ไขความกลัว โดยสร้างให้มีผีขึ้นมาจริงๆ ให้เด็กเห็นแล้วทุบให้มันตายไปเลย แล้วเอาไปทิ้งเสียในป่า

เลยวางแผนเอาคนใช้ไปนอนคลุมโปงปิดให้หมด แล้วมาบอกลูกในตอนกลางคืนว่า ลูกเอ๋ย พ่อไม่เชื่อมานานว่าในห้องมีผี ขอโทษด้วยที่ไม่เชื่อมานานว่าในห้องนั้นมีผี ขอโทษด้วยที่ไม่เชื่อแต่วันนี้พ่อเชื่อแล้ว เพราะเห็นกับตาตัวเองว่าผีมันนอนคลุมหัวอยู่ในห้องลูก เราไปดูกันหน่อย ลูกก็กล้าเพราะพ่อไปด้วย พอไปเห็นก็ว่านี่แน่ะผีมันนอนอยู่นั่น เราต้องช่วยกันทุบมันให้ตายแล้วจะได้เอาไปทิ้งที่ป่าช้า เลยเรียกคนใช้มาอีก ๒-๓ คน ชวนกันบุกทุกกันใหญ่เลย จนผีนั้นร้องโอ๊ย นอนนิ่งไป พ่อก็บอกว่ารวบหัวรวบหางไปทิ้งเสียป่าช้าเลย ตั้งแต่วันนั้นมา เด็กคนนั้นหายกลัวผี ที่หายกลัวก็เพราะนึกว่าผีตนนั้นถูกฆ่าแล้ว เพราะฉะนั้น ผีจึงไม่มีต่อไป

อันนี้เป็นตัวอย่างว่า ความกลัวต้องล้างให้หมดไปด้วยวิธีใดก็ได้ ทำให้เกิดปัญญาขึ้นก็ได้เหมือนกันจึงควรแก้ไข

ความกลัวอีกอย่างหนึ่ง คือความกลัวที่เรียกว่าประหม่า สมมติว่า ให้พูดจาต่อหน้าคนมากๆ พูดไม่ได้ พูดได้ ๒-๓ คำ สมองตื้อไปหมด พูดไม่ออก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่ไว้ใจตัวเอง หวาดกลัว การจะพูดให้ใครๆ ฟัง ถ้าไปเที่ยวดูคนที่นั่งฟัง เดี๋ยวไปเจอคนนั้นคนนี้ที่มีวิชาความรู้ ก็เกิดประหม่าว่า จะพูดผิดอายเขา บางคนพอพูด ออกไปพูดถึงกับสั่นพูดไม่ได้ นี่เป็นความขลาดที่ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้น จึงต้องแก้ด้วยการประพฤติธรรม ธรรมะที่ช่วยให้หายขลาดกลัวเรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม แปลว่า ธรรมทำความกล้าหาญ ถ้าใครมีธรรม ๕ ประการนี้ จะเป็นคนกล้าไม่ขลาดกลัวหรือประหม่าต่อไป ธรรม ๕ ประการนี้มี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2018, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๑ ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ. ศรัทธา คือความเชื่อ ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล ความเชื่ออย่างนี้ ทำให้เราสร้างความกล้าหาญได้ แต่ถ้าเราไม่เชื่อตัวเอง ไม่มีความรู้พอที่จะไว้ใจตัวเองได้ เราก็ลังเลจิตใจอ่อนแอไม่สามารถจะกระทำอะไรลงไปได้ด้วยความกล้า

ฉะนั้น เมื่อเราจะทำอะไรต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตัวเองว่า เรามีความสามารถมีความรู้เราทำได้ เราก็จะมีความกล้าหาญ

สมมติว่า เขาให้ทำอะไร ถ้าเรานึกในใจว่า จะไปไม่รอดก็ใจอ่อนแล้ว เราต้องทำได้ แม้ในขณะนั้น ยังมองไม่เห็นทาง ก็ต้องไปศึกษาไปเตรียมเนื้อเตรียมตัวว่าจะทำสิ่งนี้ ฉันจะทำได้ ฉันจะไม่ให้เสียชื่อในเรื่องนี้เป็นอันขาด คิดอย่างนั้นแล้วจะมีกำลังใจความเข้มแข็งไว้ใจตนเอง เพราะฉะนั้น ต้องปลุกความกล้าให้เกิดขึ้น เขาเรียกว่าปลุกตัวเองเสกตัวเอง

คนโบราณก็ทำเพื่อให้เกิดกำลังใจ มันก็เกิดจากศรัทธาอีกนั่นแหละ เช่น จะไปไหนก็ต้องไปหาอาจารย์ก่อน อาจารย์ก็จะทำพิธีเป่ากระหม่อมบ้าง เสกน้ำเสกหมากให้กินบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสร้างกำลังใจให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้น เพราะอาจารย์ก่เสกเป่าแล้ว

บางทีอาจารย์ก็ให้อะไรไปอมแล้วบอกว่า ไม่ต้องกลัวอยู่ยงคงกระพันยิ่งไม่เข้า ฟันไม่เข้า ด้วยความเชื่อมั่นเวลามีเหตุการณ์อะไรก็มีใจสู้ เหล่านี้ เป็นสิ่งภายนอกที่มาดลให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น สามารถจะทำงานนั้นได้

มีเรื่องเล่าของนักมวยญี่ปุ่นคนหนึ่ง ไปชกทีไรแพ้ทุกที เลยมาหาอาจารย์เซ็นคนหนึ่ง อาจารย์ก็สอนให้ฝึกสมาธิ โดยเพ่งเป็นลูกคลื่นให้มาก พัดมาหาตัวเอง แล้วตัวเองไม่ลอยไปตามคลื่น ไม่โยกไม่โคลงทำจนมีสมาธิอย่างนั้นก็ไปชกมวยอีก โดยก่อนชกก็สำรวมจิตนึกว่ากูนี่แข็งแรง คลื่นใหญ่ก็ทำอะไรไม่ได้ ทีนี้เลยชนะเรื่อย เพราะอาจารย์สร้างความเชื่อมั่นให้มีความกล้า เพราะฉะนั้น บางทีเราจะเห็นว่า คนที่จะไปรบทัพจับศึกก็มีการสร้างกำลังใจ โดยทำพิธีมงคลปลุกเสกน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ตัดไม้ข่มหนาม สิ่งเหล่านี้ เพราะความเชื่อขึ้นในใจทั้งนั้น ให้นึกว่าเรายกทัพครั้งนี้ไปด้วยความกล้าหาญหนักแน่น วิธีการอย่างนี้ เป็นการช่วยให้เกิดความเชื่อขึ้นในใจของคนนั้นแล้วไปทำงานได้สำเร็จ

แต่ความเชื่ออย่างนั้นมันยังไม่ดี มันเป็นของเด็กเล่นไป มันสู้การสร้างกำลังใจให้แก่ตัวเองไม่ได้ โดยสร้างความเชื่อมั่นและคิดในทางอดทนเข้มแข็ง จากกำลังใจนั้น เราก็สามารถทำอะไรได้
ฉะนั้น เราต้องคิดว่าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ แล้วคิดหาเครื่องประกอบว่า ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องใช้อะไรบ้าง

ถ้าเช่น เขาให้ปาฐกถาในเรื่องอะไร ถ้าเราเป็นคนใจอ่อนแอ เราก็บอกว่าทำไม่ได้ เรื่องนี้ทำไม่ได้ ถ้าพูดอย่างนี้ ก็เสียเหลี่ยมหมด เราต้องบอกว่าได้ไว้ก่อน ถ้าแม้จะไม่รู้ว่าได้อย่างไร เราก็ไปเตรียมตัวหาหนังสือมาอ่านไป ไปถามท่านผู้ในเรื่องนี้จะขึ้นต้นอย่างไร ไปตรงกลางอย่างไร ลงท้ายอย่างไร เมื่อหาความรู้เหล่านี้ได้แล้ว ก่อนพูดก็ต้องไปทดสอบจิตใจก่อน โดยไปยืนพูดคนเดียวให้ดังๆ หน่อย พูดตามป่าตามอะไรก็ได้

ถ้าเราอยู่ในวัด ก็แอบไปที่ป่าช้า พูดให้ผีฟังสักพัก แล้วก็เวลาพูดนึกว่าคนฟังมาเต็มไปหมดเลย สร้างภาพคนฟังขึ้น พอเห็นคนมาก็ฮึกเหิมเนื้อตัวสั่นเกิดความกล้าขึ้นในใจ เพราะเชื่อว่าตัวทำได้ ถ้าไม่เชื่อตัวเองแล้วเป็นทำไม่ได้

ความกล้านี้ มันขึ้นอยู่กับศรัทธา บรรดาเครื่องรางของขลังทั้งหลายเป็นเครื่องเพาะศรัทธาทั้งนั้น แล้วก็ทำให้เกิดความกล้า อันนี้ก็ต้องเชื่อเหมือนกัน เชื่อว่าองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ องค์นี้ขลัง เพราะฉะนั้น การทำของขลังต้องมีพิธีปลุกเสก เพื่อให้เกิดความขลัง สร้างความเชื่อมั่นขึ้นใจคนแล้วคนเอาไปใช้ก็ใช้ด้วยความเชื่อ ถ้าเราเอามาแล้วเราไม่เชื่อว่าหลวงพ่อนี้ช่วยเราได้ มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา

ถ้าเรานึกว่า มีของดีประจำตัว ผีทำอะไรเราไม่ได้ เราก็เกิดความกล้าขึ้นมาได้ด้วยสิ่งภายนอกช่วย สิ่งภายในก็คือเราต้องสร้างขึ้นมา

ถ้าเรากลัวผี เราก็ต้องลองคิดถามตัวเองว่าผีมันมีหรือเปล่า เราเคยเห็นไหม แล้วเคยปรากฏว่าผีทำร้ายคนไหม เมื่อคิดไปคิดมามันก็ไม่มีตามเขาเล่าลือ มันก็ปลงตกเองได้ว่าผีไม่มีแล้วเราก็ไปได้

เวลาเรากลัวความมืดหรือป่าช้า เราก็ทดลองไปโดยวันแรกไปตอน ๕ โมงเย็น แล้วไปนั่งสักครึ่งชั่วโมง แล้วกลับมาเสีย วันต่อไปก็ไปนั่งตอน ๕ โมงเย็น แล้วไปนั่งสักครึ่งชั่วโมงก็กลับ

วันต่อไป ก็ไปตอน ๖ โมง นั่งสักครึ่งชั่วโมงก็กลับ แล้วก็ไปเรื่อยๆ จนถึง ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ไปยืนสักชั่วโมง แล้วก็กลับ ต่อๆ ไปก็ชินขึ้นมาเอง เราก็ปลงตกว่า เฮ้อ ไม่เข้าเรื่อง มีแต่ปูน มีแต่ซีเมนต์ แล้วก็ซากศพที่ลุกขึ้นเดินไม่ได้ แล้วก็ไปกลัวอะไรกับสิ่งนั้น มันก็หมดความกลัวไปเอง

ส่วนความกลัวที่ว่า ให้แสดงอะไร ให้ทำอะไรแล้วกลัวทำไม่ได้ เราก็ต้องหัดพูดในที่ชุมนุมชน ถ้าเรากลัวคนมากๆ ก็เอาคนน้อยๆก่อน สัก ๕ คน ๖ คน ไปถึงก็พูดสัก ๕ นาที พอพูดจบก็พอ ต่อไปก็ขยับขึ้น ๑๐ นาที แล้วมันก็ค่อยๆ ดีขึ้นเอง ถ้ามีความเชื่อในตัวเองแล้วได้หมด จุดมุ่งหมายที่สำเร็จนี้อาศัยความเชื่อ เชื่อว่าทำได้ ถ้านึกไม่ไหว ก็ไม่สำเร็จเท่านั้น เมื่อมีความเชื่อแล้วมันก็คิดเองแหละ คิดวางแผนทำอะไรต่อมิอะไร ให้ตั้งใจลงไปว่าทำได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2018, 18:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๒ ศีล รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย. ระเบียบการนุ่งห่ม การแต่งตัว กิริยามารยาท อย่าทำให้เก้อเขิน ทำให้ไม่กล้า เราแต่งตัวเปิ่นๆ เราก็ไม่กล้าแล้ว เพราะพวกแต่ตัวดีๆ ทั้งนั้น เราก็ต้องแอบละทีนี้ แอบพุ่มไม้บ้าง แอบเสาบ้าง แอบฝาทำให้ขี้ขลาด เพราะเราไม่มีระเบียบในการแต่งกาย เพราะฉะนั้น การแต่งเนื้อแต่งตัวก็ต้องเรียบร้อย

ศีลในที่นี้ หมายถึงความเรียบร้อย มีระเบียบในเรื่องร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม กิริยามารยาท การพูดจา การเข้าสมาคม ต้องรู้ ต้องทำให้ถูก ให้ลองสังเกตว่า ถ้าเขาใช้ให้เราเข้าไปหาผู้ใหญ่ บางทีเราไม่กล้า เหตุที่ไม่กล้าเพราะไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ไม่รู้จะทำอย่างไร เช่นว่า เขาให้มาหาพระ คนหนุ่มๆ ไม่เคยเข้าวัด พอบอกให้ไปหาพระหน่อย อึกอักๆ จะพูดอย่างไรดี จะว่าอย่างไรดี

เมื่อวานนี้ มีผู้หญิงคนหนึ่งทำงาน ถ้าจะทำงานที่กระทรวงฯ โทรฯ ถามมาที่นี่ว่า เจ้าอาวาสวัดนี้ชื่ออะไร บอกว่าชื่อพระราชนันทมุนี แล้วจะเขียนจดหมายมาหาอย่างไร ก็เขียนว่า นมัสการพระราชนันทมุนี แล้วลงท้ายจะว่าอย่างไร ก็บอกว่า โดยความเคารพอย่างสูง บอกไปอย่างนั้น นึกในใจว่า เอ๊ะ แม่คนนี้ คงไม่ได้เข้าโรงเรียน เข้าทำงานได้อย่างไร ไม่เคยเขียนจดหมายหรือ เขาเรียนกันนี่หว่า เขียนจดหมายถึงพระควรจะใช้ว่าอย่างไร ถึงคนนั้นคนนี้ควรจะใช้อย่างไร นี่แกถามว่าขึ้นต้นว่าอย่างไร ลงท้ายลงอย่างไร แล้วถามว่า มีเรื่องอะไร บอกว่าหนูจะนิมนต์มาให้ฟังการอภิปรายเรื่องยาเสพติด เอ้อ ก็เท่านั้นเอง ถามว่าเมื่อไรล่ะ บอกวันเวลามา ฉันว่างก็จะไป เขาจะให้เขียนจดหมายมา แต่ตัวเขียนไม่ถูกว่าจะเขียนถึงพระอย่างไร ขึ้นต้นอย่างไร ลงท้ายอย่างไร ไอ้นั่นเขียน แต่ถ้าบอกว่าไปหาท่านเจ้าอาวาสวัดนั้นหน่อย เราไม่รู้ เอ๊ะ ไปถึงจะนั่งอย่างไร จะไหว้ท่าไหน แล้วจะพูดกับพระจะพูดอย่างไร เก้อเขินแล้ว ไม่กล้าแล้ว เพราะขาดระเบียบ เราไม่กล้า

ทีนี้ การแต่งตัว จะแต่งตัวอย่างไร เวลามาหาพระ ลำบาก ยิ่งไปหาคนที่เรียกว่าบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เช่นว่า ไปหารัฐมนตรีบางคนเข้าไปมันอย่างไรๆ อยู่ๆ ขาสั่นๆ พูดจาก็ไม่คล่องแคล่ว เพราะอะไร ? เพราะไม่รู้ระเบียบนั่นเอง จึงได้เป็นเช่นนั้น นี่ขาดศีล เรียกว่าไม่มีศีล ไม่ใช่ถือศีล ๕ แล้วจะไปได้ มันต้องมีศีลอื่นด้วย การแต่งเนื้อแต่งตัว ระเบียบในสังคม การนุ่งห่ม กิริยาท่าทาง อะไรต่างๆ ที่เราจะเข้าไปว่าควรเป็นอย่างไร ถ้าทำไม่ถูก แล้วเก้อเขินขี้ขลาด

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ในเรื่องนี้ จะไปที่นั่นจะแต่งตัวอย่างไร เช้าแต่งอย่างไร เวลาเย็นควรแต่งตัวอย่างไร แต่งให้ถูก แต่งตัวไม่เหมือนเขาเรากระดากขลาดไม่กล้า แต่ถ้าแต่งเหมือนกัน เราก็เดินผึงผายเข้าไปได้

แล้วยังขลาดเรื่องอื่นอีก เขาเลี้ยงอาหารเขาเลี้ยงโต๊ะ นั่งอย่างไร นั่งเก้าอี้อย่างไร เอามือไว้ตรงไหนแล้วจะหยิบอะไรก่อน ช้อนส้อมเขาวางไว้หลายอันจริงๆ จะกินอย่างไร เครื่องมือมากจริงๆ ไม่เหมือนที่บ้านมีแต่ช้อนกับส้อม มีดก็มีช้อนก็มี มีดก็ตั้งหลายอันจะจับอย่างไร เกิดความกระดากแล้ว ทำอะไรกุกๆ กักๆ แล้ว ไม่รู้ระเบียบมันลำบากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ ต้องทำให้ถูก การแต่งกาย กิริยาท่าทางควรจะทำอย่างไร จะยืนควรจะทำอย่างไร เราปฏิบัติให้ถูก เรียกว่า มีศีล ถ้าเรามีศีลแล้วไม่กระดาก เราทำอะไรได้เรียบร้อย แต่ถ้าไม่มีศีล ไม่มีระเบียบแล้ว มันก็ลำบาก เพราะฉะนั้น จะต้องรักษากายให้เรียบร้อย กายเรียบร้อย หมายความว่า แต่งกายเรียบร้อย กิริยาท่าทางก็ต้องทำถูก จะทำอย่างไรในชุมชนนั้น กับสถานที่นั้น

วาจา ควรจะพูดอย่างไร ที่เขานิยมพูดกัน พูดให้ถูกต้อง พูดว่าใต้เท้า หรือพูดว่าอะไร มันต้องเรียนในเรื่องนี้ ต้องรู้ระเบียบ แล้วก็ต้องพูดให้ถูกชัดถ้อยชัดคำ พูดอ้อมๆ แอ้มๆ บางทีผู้ใหญ่นั้น อะไร ว่าอย่างไร ชักจะอึกอักๆขึ้นมาแล้วอย่างนั้น เพราะไม่รู้จักใช้คำพูดแล้วก็เสียหาย ศีลมุ่งอย่างนั้น ต้องมีระเบียบเรียบร้อยแล้วจะไม่เกิดความขลาดกลัว ผู้ใดไม่มีระเบียบ คนนั้นขลาด ทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนไม่คล่องแคล่วในการปฏิบัติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2018, 09:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๓ พาหุสัจจะ ความเป็นผู้มีการศึกษามาก. เรื่องนี้สำคัญมากเป็นเรื่องที่เกิดความกล้าหาญ คนเรียนมากแล้วมันกล้า กล้าพูดกล้าแสดง เพราะรู้ไปทุกแง่ทุกมุม เรื่องอะไรก็รู้ทั้งนั้นแหละ จะพูดเรื่องเกษตรก็ได้ เรื่องการค้าก็ได้ เรื่องศาสนาก็ได้ วัฒนธรรมประเพณีรู้ทั้งนั้น ไปไหนก็ไม่มีความขลาด พูดก็พูดอย่างฉะฉาน เหมือนกับราชสีห์เปล่งสีหนาท สัตว์ทั้งหลายหลบกันเป็นแถวเลยทีเดียว เพราะมีความรู้

ทีนี้ จะเกิดพาหุสัจจะ จะทำอย่างไร ? ก็ต้องใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการศึกษาวิชาการ อย่านิ่งเฉย เมื่อมีเวลาต้องเรียน ต้องศึกษา วิชาทุกอย่างควรรู้ควรเรียน แต่จะเรียนให้หมดก็ไม่ไหว มันมากเกินไป เราควรจะเรียนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเรา เกี่ยวกับอาชีพของเรามีอาชีพอะไร ทำหน้าที่ประเภทใด เราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนั้น สมมติว่า เราเป็นนักกฎหมาย เป็นหมอความ เป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา ก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องกฎหมาย กฎหมายไทย กฎหมายต่างประเทศ ต้องเอามาอ่านต้องเอามาค้นคว้าศึกษา คำพิพากษาเก่าๆ ที่เขาตัดสินคำพิพากษาศาลฎีกาอะไรอย่างนั้น เอามาอ่านในเวลาว่าง เพื่อให้เกิดความรู้สำหรับงานในหน้าที่นั้น

ถ้าเราเป็นนักปกครอง ก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการปกครอง รัฐศาสตร์ปกครองคนนี่จะใช้วิธีอย่างไร ต้องใช้จิตวิทยาอย่างไร ต้องมีวิธีพูดจาโน้มน้าวจิตใจอย่างไร ต้องเรียนต้องศึกษา ต้องหาสิ่งที่เป็นความรู้มาประกอบตลอดเวลา

ถ้าเราเป็นชาวสวน ต้องเรียนรู้เรื่องการสวน การนา ให้รู้เรื่องให้เข้าใจวิธีการปลูกพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ คนค้าขายก็ต้องสนใจเรียนเรื่องค้าขาย อันเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนั้นยังต้องหาความรู้รอบตัวเอาไว้คุยด้วย เมื่อมีโอกาสนั่งคุยกับใครเราคุยได้

เรื่องการเมือ เรื่องการศาสนา เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม เรื่องภูมิศาสตร์ เราไปนั่งคุยตรงไหนก็พอคุยกันได้พอรู้เรื่อง อย่างนี้ เรียกว่า พหูสูต เป็นผู้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียน

อีกประการหนึ่ง ต้องเข้าใกล้ผู้รู้ ผู้ฉลาด คนใดมีความรู้ความเชียวชาญในด้านใด เราไปเป็นลูกศิษย์เขา หาความรู้ คนแก่ๆ ข้าราชการบำนาญ มีความรู้ระเบียบงานการมาก่อน เป็นพาหุสุตะบุคคลเหมือนกัน แล้วก็มีประสบการณ์มามาก ควรเข้าใกล้เพื่อสนทนาเรียนถามปัญหาต่างๆ ไปถามในแง่เป็นเชิงปรึกษา ผู้ใหญ่ชอบให้คนไปปรึกษา ถ้าไปปรึกษาแล้วท่านสบายใจ เพราะคนแก่มักจะเหงา เราไปคุยหรือหนุ่มๆไปคุยด้วยแล้วสบายใจ แล้วก็จะเป็นผู้ที่ช่วยเราได้ในบางแง่บางมุม เช่น ใครจะติว่าเรา ถ้าเราเคยไปปรึกษานี่ท่านจะคอยป้องกันเราเอง อย่าไปว่าเขาคนนั้นเขาดี เขาเข้าทีอยู่ ความคิดความอ่านใช้ได้ คอยช่วยเรา ไม่ใช่ไปอยู่โดดเดี่ยว ไปไหนต้องเข้าหาพระสงฆ์องค์เจ้า ข้าราชการบำนาญ คหบดี ผู้มั่งมีทรัพย์ก็เข้าไปติดต่อสมาคมกันไว้

แม้พวกที่เป็นนักเลงอันธพาลก็ควรรู้จักเอาไว้บ้าง เวลาจำเป็นจะได้ใช้มันบ้าง ให้มันไปตีหัวใคร แต่ว่าเราไม่ใช้อย่างนั้น รู้จักไว้ดี เมื่อมีการสืบสวนเรื่องอะไรก็จะได้สืบได้ เราต้องรู้จักคนทุกประเภท แต่ไม่ให้คนเหล่านั้นอยู่เหนือเรา เช่นพวกอันธพาลเราต้องรู้จักไว้ แต่ไม่ให้เขาอยู่เหนือเรา รู้จักไว้ ผูกมิตรกันไว้ช่วยเหลือบ้างในบางเรื่อง เพื่อเอาไว้ใช้ไม่เสียหาย แสวงหาความรู้รอบตัว ว่างๆ เราไปเที่ยวศึกษา อย่าไปเที่ยวเล่นเปลืองสตางค์ เที่ยวเพื่อศึกษาชมพูมิประเทศ ศึกษาหาความรู้

เช่นเราอยู่เมืองไทย ต้องรู้เรื่องเมืองไทย ว่าที่ไหนมีอะไรบ้าง การทำมาหากินเป็นอย่างไร ภาคเหนือเป็นอย่างไร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างไร ภาคใต้เป็นอย่างไร ว่างๆ พักร้อนก็ไปเที่ยวเสียหน่อย ไปเที่ยวเชียงใหม่ เขาว่ามีสาวสวย ไปอย่างนั้นก็เที่ยวด้วยกิเลส มันต้องไปเพื่อดูภูมิประเทศ หรือไปเชียงรายเพื่อไปดูภูมิประเทศ ไปดูว่ามันมาชนกันตั้ง ๓ ประเทศ ลาว จีน พม่า ทั้งไทยอีกก็เป็น ๔ ประเทศ ไปดูซะหน่อย หรือว่างๆก็ไปปักษ์ใต้ ดูภูมิประเทศเป็นความรู้รอบตัว

คนเราต้องลืมหูลืมตาอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่นั่งหลับหูหลับตา มันต้องหาความรู้ คนไหนมีชื่อเสียง เราต้องเข้าไปใกล้เพื่อคบหาสมาคม หนังสือก็ต้องหมั่นอ่าน หมั่นคิด เวลามันเยอะที่จะทำให้คนเราฉลาด มันก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น แต่เรามัวแต่เอาเวลาไปนั่งเล่นเฮฮากันไม่ได้เรื่อง มันไม่ดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2018, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๔ วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร ช่วยให้เกิดความกล้าได้อย่างไร? คือเมื่อสิ่งใดที่จะทำแล้วต้องลงมือทำทันที ทำไม่ถอย ไม่เสร็จไม่เลิก ทำรุดไปข้างหน้าอย่างเดียว คิดบากบั่นในหน้าที่การงาน เมื่อทำสิ่งใดก็ต้องพูดกับตัวเองว่าต้องทำให้สำเร็จ ถ้าไม่เสร็จจะไม่เลิก ไม่ละเป็นอันขาด อย่าเป็นคนมีนิสัยจับๆ วางๆ ทำนิดหน่อยค้างไว้ไม่สำเร็จสักอย่าง

การเรียนก็เหมือนกัน เรียนโน่นนิดเรียนนี่หน่อย รู้อย่างงูๆปลาๆ ไม่รู้จริงสักเรื่องหนึ่ง แบบนี้ เอาตัวไม่รอด การกระทำอะไรสักอย่างก็ต้องบุกให้มันแหลกไปด้วยความเพียร ความเพียรคือความบากบั่น นึกถึงความก้าวหน้า คิดว่ามันเป็นหน้าที่ เป็นกิจที่เราจะต้องทำ เอาใจใส่แล้วหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งนั้นสำเร็จ ผู้มีความเพียรมั่น ย่อมสำเร็จในกิจทุกอย่างลุล่วงไปได้หมด ไม่มีอะไรหนีไปจากความเพียรได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเพาะนิสัยขยันในการทำงานด้วยใจจดจ่อ คิดหาเหตุผลให้งานั้นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่กลัวต่ออุปสรรค อย่าไปกลัวมันเรื่องอุปสรรค เราจะต้องท้าให้มันเข้ามาเลย ว่าอุปสรรคทั้งหลายเชิญเข้ามาเลย มาขวางข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะฟันมันให้แหลกไปเลย ด้วยปัญญาด้วยความเพียรของข้าพเจ้านี่แหละ เราก็ก้าวไปได้เพราะไม่กลัว

แต่ถ้ามัวกลัวโน่นกลัวนี่มันก็ไปไม่รอด คนเราจึงต้องมีความกล้า อย่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว ให้นึกว่า เราเป็นสิงโตมิใช่ลูกแกะหรือหนู ถ้าเราเป็นก็ต้องเป็นแมวที่ขย้ำหนู หรือเป็นสิงโตที่แกร่งกล้าบุกตลอดเวลา ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดอย่างนี้ เรียกว่า ปรารภความเพียร

อันคนที่มีความปรารภความเพียรนั้น ต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการประกอบกิจอันเป็นหน้าที่ เราจะต้องคิดเรื่องนั้น ทำเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา มีอุปสรรคก็ไม่กลัว คิดทำต่อไป ทำจนกระทั่งสำเร็จได้ประโยชน์ในสิ่งนั้น จึงจะเรียกว่าสร้างความเพียรแล้วเกิดความกล้าหาญ พระพุทธเจ้าท่านเพียรอยู่ถึง ๖ ปี จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คนสำคัญๆของโลกเป็นผู้มีความเพียรมั่นทั้งนั้น ทำอะไรก็ทำจริงจนกระทั่งเป็นคนมีเกียรติมีชื่อเสียง นี่ก็อีกประการหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2018, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๕ ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้. ประการที่ ๓ พาหุสัจจะ หมายความว่าเป็นผู้ศึกษามากเรียนมาก ส่วน ปัญญา นี้หมายความว่า รู้ในสิ่งที่เราจะต้องทำเราจะต้องใช้ เราจะทำอะไรซึ่งเกี่ยวกับกิจอันใด ต้องรู้รอบในเรื่องนั้น ต้องเข้าใจในเรื่องนั้นทะลุปรุโปร่ง ถ้าเกิดความไม่เข้าใจขึ้นมาแล้วก็อึดอัด เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ต้องเข้าใจในเรื่องที่เราจะทำ มองเห็นว่าไปได้ มองเห็นโปร่งโล่งไป เรียกว่า มีปัญญา

ปัญญานี้มาจากพาหุสัจจะ คือว่าเพิ่มความรู้ไว้ เพิ่มสมรรถภาพทางสมองไว้ แล้วเราก็มีความรู้รอบตัว จะมองเห็นทะลุปรุโปร่งไป เราจึงต้องเอาตัวรอด มีปัญญาเป็นดวงตาของนรชน คนจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา จะก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบได้ก็ด้วยปัญญา ปัญญาจึงเป็นตัวสำคัญ

ให้สังเกตไว้อันหนึ่ง ในธรรมะหมวดต่างๆนี้ ถ้ามีศรัทธาอยู่ในที่ใด ต้องมีปัญญาอยู่ในที่นั้นด้วย เขาต้องเอามาใส่ไว้ด้วย ทำไมจึงควบคู่กันไป ศรัทธา กับ ปัญญาควบคู่กันเพราะอะไร เพราะว่าจะคอยถ่วงกันไว้ ศรัทธาที่ไม่มีปัญญานั้น มันจะงมงายไป เชื่อง่ายเขาบอกอะไรก็เชื่อทั้งนั้น มันเสีย ถ้ามีปัญญาเข้าไปกำกับศรัทธา ทำให้ศรัทธานั้นมีผล เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ไม่เชื่อแบบงมงาย ไม่เชื่อตามเขาว่า เพราะได้ใช้ปัญญาเข้าประกอบ มันก็ดีขึ้น

พวกปัญญาก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่ปัญญา ประเภทรู้มากยากนานก็ไม่ได้ ต้องมีความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อปัญญานั้นเป็นไปด้วยความพอดี มีประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ประเภทปัญญาโอ้อวด ชอบคุยชอบโม้แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ ต้องเอาศรัทธาเข้ามากำกับ เพราะฉะนั้น ทุกแห่งที่มีศรัทธาต้องมีปัญญา มีปัญญาต้องมีศรัทธาคู่กันอยู่ตลอดไป เพราะมันเกี่ยวข้อกันอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2018, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ถ้าเรามีไว้ในใจของเรา ในวิถีชีวิตของเรา ทำให้เราเป็นคนกล้า ไม่กลัวต่ออุปสรรค ไม่กลัวต่อการงานที่เราจะต้องปฏิบัติ ในหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างจะก้าวหน้าไปด้วยดี และจะทำให้กำลังใจนี้มั่นคงเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ให้เรียบร้อย จึงเป็นธรรมะที่เป็นประโยชน์ ควรจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ได้ทุกวัน เช่น เขาให้ทำอะไรต้องมี ศรัทธา ในเรื่องนั้น มี ระเบียบ เข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องมี ความรู้ ในเรื่องนั้นอย่างถูกต้อง มี ความเพียร ในเรื่องนั้น ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าควรทำอย่างไร แล้วก็ลงมือทำตามศรัทธา ตามปัญญา ที่เข้ามาผสมส่วนกันเข้ากิจที่เราทำนั้นก็จะเรียบร้อยด้วยดี ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เรียกว่ามี เวสารัชชกรณธรรม คือธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ ๕ ประการ

จบตอน จากหนังสือนี้ (หน้า ๔๕๑)

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร