วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2018, 21:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พละ ๕ (ธรรมเป็นกำลัง ๕)

วันนี้จะได้พูดถึงเรื่อง พละ คือ ธรรมที่เป็นกำลัง ๕ อย่าง กำลังในที่นี้ หมายถึง กำลังใจ กำลังของคนนั้นมี ๒ อย่าง คือ กำลังกาย อย่างหนึ่ง กำลังใจ อย่างหนึ่ง

กำลังกาย เกิดจากการที่มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ก็มีกำลังมาก แต่กำลังใจ นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องอาศัยกันทั้งกาย และใจ เพราะกาย กับ ใจ นั้นต้องอยู่ร่วมกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ขืนแยกเมื่อไรก็ต้องย้ายทะเบียนไปอยู่ป่าช้า

ถ้ากายกับใจยังรวมกันอยู่ ก็เรียกว่ามีชีวิต ก็ต้องมีกำลังทั้ง ๒ ประการ คู่กันไป กำลังกาย นั้นใช้เกี่ยวเนื่องกับวัตถุ เช่น การยก การรื้อ การขน การแบก การหาม ต้องใช้กำลังร่างกาย

กำลังใจนั้น เป็นการสนับสนุนกำลังกายอีกทีหนึ่ง เราจะเห็นได้ง่ายๆ ว่า การทำอะไรก็ตาม ถ้าขาดกำลังใจสนับสนุนแล้ว ไปไม่รอด แต่ถ้ามีกำลังใจสนับสนุนแล้ว การกระทำนั้นก็สำเร็จด้วยดี ไม่ว่าเป็นงานเล็กงานใหญ่

ถ้าไม่มีกำลังใจเข้าช่วยไม่สำเร็จประโยชน์ เช่น คนมาชวนเราไปเที่ยว เราไม่อยากจะไป แม้ไปก็ไปอย่างนั้นแหละ ไม่สนุก ไม่เบิกบาน ที่เขาเรียกว่า “ซังกะตาย” ไปอย่างนั้นเอง ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าไม่มีกำลังใจเกิดขึ้นในการที่จะไป

แต่ถ้าหากเรามีกำลังใจ งานนั้นก็ก้าวหน้าดี เช่นว่า จะทำอะไรสักชิ้นหนึ่ง ถ้าเต็มใจทำ เต็มใจทำ หมายความว่า มีกำลังใจ ถ้ามีกำลังใจแล้ว งานสำเร็จรวดเร็ว

การเรียนหนังสือก็เหมือนกัน ถ้าเรามีกำลังใจที่จะเรียน คือพอใจ ชอบใจในวิชานั้น การเรียนก็สำเร็จด้วยดี

แต่ถ้าไม่พอใจที่จะเรียน เกรงใจพ่อแม่ แล้วก็เรียนไปอย่างนั่น ใจไม่ชอบ เรียนไม่สำเร็จ

เด็กคนหนึ่งชอบเรียนวิชาวิศวะฯ แต่ว่าคุณพ่อให้ไปเรียนหมอ เขาเรียนเพราะเกรงใจคุณพ่อ แต่ว่าเรียนไม่สำเร็จ เพราะใจไม่มีกำลังที่จะเรียน การเรียนนั้นก็ไม่ก้าวหน้า

แต่ถ้าเขามีความรักในวิชานั้น หมายความว่ามีกำลังใจ ก็เรียนได้สำเร็จรวดเร็ว ไม่ว่าเรื่องอะไร ต้องอาศัยกำลังใจทั้งนั้น กำลังใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาปัจจุบัน เขาเรียกว่า กำลังภายใน

กำลังภายใน เป็นเครื่องประกอบสำคัญในกิจการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ปานใดก็ตาม ถ้าไม่มีกำลังใจเข้าร่วมแล้ว ไม่สำเร็จเรียบร้อย มันอ่อนไปหมด ถ้ามือไม้อ่อนไปเพราะไม่มีกำลังใจนั้นสำคัญ ที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น ในเมื่อเราประกอบการงานอะไร ถ้าขาดกำลังใจแล้ว งานไม่ก้าวหน้าไม่สำเร็จ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2018, 08:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การที่จะทำให้เกิดกำลังใจนั้น คือ ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องประกอบ ธรรมะที่จะเป็นเครื่องประกอบ ส่วนใหญ่นั้น มี ๕ ประการ

๑. สัทธา ความเชื่อ

๒. วิริยะ ความเพียร

๓. สติ ความระลึกได้

๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น

๕. ปัญญา ความรอบรู้

พละ กำลัง

(๑) พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ดำรงอยู่ได้ในสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย อย่างไม่หวั่นไหว อันธรรมที่เป็นปฏิปักษ์จะเข้าครอบงำไม่ได้ เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค จัดอยู่ในจำพวกโพธิปักขิยธรรม มี ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

(๒) พละ ๔ คือธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยต่างๆ ได้แก่

๑. ปัญญาพละ กำลังปัญญา ๒. วิริยพละ กำลังความเพียร ๓. อนวัชชพละ กำลังคือการกระทำที่ไม่มีโทษ (กำลังความสุจริตและการทำแต่กรรมที่ดีงาม) ๔. สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นด้วยดี ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2018, 08:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เราลองเทียบกันหน่อยว่า ในธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ ๕ (เวสารัชชกรณธรรม ๕) นั้น มีศรัทธาเป็นข้อแรกเหมือนในพละ ๕ นี้เหมือนกัน ในกำลังหรือพละ ๕ นี้ ก็มีศรัทธา ทีนี้ ในธรรมะซึ่งทำให้กล้าหาญ ๕ ข้อ ๒ เป็นศีล แต่ในพละ ๕ นี้ กลายเป็นความเพียร ข้อ ๓ ของธรรมทำให้กล้าหาญ คือ พาหุสัจจะ แต่ของพละ ๕ นี้ กลายเป็นเรื่องสติ ความระลึกได้ ข้อ ๔ ในธรรมทำความกล้าหาญ คือ ปรารถนาความเพียร แต่ในพละ ๕ นี้กลายเป็นสมาธิ ส่วนข้อ ๕ คือ ปัญญา เหมือนกัน

อันนี้ เราจะเห็นว่า หมวดธรรม ๒ หมวดนี้ มีความแตกต่างกัน เราก็ควรจะเอาไปเทียบเคียงวินิจฉัยว่า ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ กับ ธรรมที่ทำให้เกิดกำลัง นั้น เครื่องประกอบไม่เหมือนกัน แล้วจะเห็นความแตกต่างของส่วนประกอบเหล่านั้น ว่าสร้างอะไรให้เกิดขึ้นในใจของเรา

เวสารัชชกรณธรรม ธรรมทำความกล้าหาญ, ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ, คุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า มี ๕ อย่าง คือ ๑. สัทธา (เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ) ๒. ศีล (มีความประพฤติดีงาม) ๓. พาหุสัจจะ (ได้สดับหรือศึกษามาก) ๔. วิริยารัมภะ (เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง) ๕. ปัญญา (รู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2018, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๑. เรียกว่า สัทธา คือความเชื่อ ความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราทำอะไร ต้องมีความเชื่อมั่นในสิ่งนั้น ก็เหมือนๆกับธรรมที่ทำความกล้าหาญ คนมีความเชื่อมั่นแล้ว แต่ถ้าขาดความเชื่อมั่นไม่กล้า ในเรื่องกำลังก็เหมือนกัน ความเชื่อเป็นกำลังใหญ่จึงจะทำได้สำเร็จ ไม่มีความเชื่อแล้วกำลังไม่เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อคนเราจะทำอะไร เขาจะต้องปลุกความเชื่อให้เกิดขึ้นเสียก่อนว่าทำได้

สมมติว่า ทหารจะออกไปรบ ก็ต้องมีการปลุกใจ เร่งเร้าอารมณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อว่า การไปรบนี้ เป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องที่ช่วยกู้ชาติบ้านเมือง กู้ศักดิ์ศรีของชาติบ้านเมืองให้คงอยู่ในสภาพเดิมต่อไป ทหารได้ฟังแล้วเกิดเกิดอารมณ์ความรักชาติรักประเทศ มีน้ำใจเสียสละที่จออกไปรบ อันนี้ เรียกว่า รบด้วยศรัทธา ยิ่งการรบเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ ก็ต้องมีศรัทธา

เราคงจะได้ยินข่าวสงครามบางประเภท เขาเรียกว่าสงครามศาสนา ความจริงมันไม่ใช่สงครามศาสนา ดอก เพราะศาสนาไม่ใช่เรื่องที่จะมาก่อสงครามกัน แต่ว่ามันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา เราศาสนาเป็นเครื่องเร่งเร้าศรัทธา ให้เกิดกำลังใจ แล้วก็ออกไปรบกัน เช่น สงครามระหว่างพวกคริสต์เตียน กับ พวกอิสลาม รบกันมาก เรียกว่าสงครามครูเสด รบกันตั้ง ๑๐๐ ปี ไม่ใช่เวลาน้อย เรื้อรัง เวลาทหารจะออกไปรบ

พวกนักบวชในศาสนาคริสต์เตียน ช่วยกันเร่งเร้าอารมณ์ เพื่อให้เสียสละชีวิตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ให้รักษาศาสนาไว้

อีกฝ่ายหนึ่ง ก็เร่งเร้าอารมณ์แบบเดียวกัน ว่าให้นึกถึงพระผู้เป็นเจ้า ช่วยกันรักษาศาสนาของเราไว้ อย่าให้พวกคริสต์เตียนมาย่ำยีเราเป็นอันขาด

ต่างคนต่างเร่งเร้ากิเลส คือ ให้เกิดราคะ ความกำหนัด โทสะ ความขัดเคือง โมหะ ความลุ่มหลงขึ้นในใจ ให้เกิดกิเลส ให้เกิดความเชื่อในทางที่เป็นอย่างนั้น ทหารก็ออกรบกันอย่างถวายหัวทีเดียว เกิดกำลังใจอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ในเรื่องจะทำอะไร ผู้ที่เป็นหัวหน้าจะต้องปลุกใจเสียก่อน ปลุกใจลูกน้องให้เกิดกำลังใจ เรียกว่า สร้างความเชื่อ เช่น จะลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็เรียกมาประชุมแล้ว ก็พูดให้ฟังว่าทำไมเราจะต้องทำสิ่งนี้ ทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เกิดประโยชน์อย่างไร ถ้าเราทำสิ่งนี้แล้ว มันจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นในที่ที่เราอยู่ ในงานที่เราทำ ในชาติในบ้านเมืองของเรา ปลุกเร้าอารมณ์ ในบางเรื่องบางกรณี มันเป็นการเร่งเร้ายั่วยุกิเลส เช่น ยั่วยุให้เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ เป็นเรื่องสงคราม เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น เร่งเร้าให้เกิดราคะความกำหนัดในชาติของตัว ความรักในชาติของตัว เกิดโทสะ ประทุษร้ายต่อข้าศึกศัตรู เกิดโมหะหลงใหลเรื่องอะไรต่างๆ เช่น ในเรื่องเชื้อชาติ ในเรื่องผิว ในเรื่องศาสนา เป็นโมหะเข้าครอบงำใจ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะรบ อยากจะฆ่า อันนี้ เป็นศรัทธาที่เป็นกำลังเหมือนกัน แต่ว่า เป็นกำลังที่ไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ อย่างชนิดที่เป็นไปเพื่อความสุขสงบอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นศรัทธาแท้ ไม่ใช่กำลังที่สูงส่ง

กำลังที่สูงส่งนั้นคืออะไร ? คือกำลังที่จะให้เกิดความก้าวหน้าในการที่จะปฏิบัติธรรม ในการทำลายล้างข้าศึกภายใน คือกิเลสนี่เอง มีความเชื่อที่จะทำลายความโลภ ทำลายความโกรธ ทำลายความหลง ทำลายกิเลสทุกประเภท ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของเรา เราจะต้องต่อสู้กับมัน อันนี้ เป็นข้าศึกภายใน

ข้าศึกภายนอกเป็นคน เป็นวัตถุซึ่งยกมาเป็นหมู่เป็นพวกจะทำร้ายเรา แต่ข้าศึกภายในนั้นมันอยู่ในตัวแล้ว มันเกิดขึ้นได้ทุกโอกาส แล้วทำลายเราให้ย่อยยับ เสียผู้เสียคน เราก็ต้องต่อสู้กับมัน การต่อสู้นั้น เราเรียกว่าการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมก็คือการต่อสู้ กับ อำนาจฝ่ายต่ำ อันเป็นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่ว่าเราจะปฏิบัติในเรื่องใด เช่น ทำทานก็คือการต่อสู้ชนิดหนึ่ง รักษาศีลก็เป็นการต่อสู้แบบหนึ่ง เจริญภาวนาก็เป็นการต่อสู้แบบหนึ่ง แม้เรามาฟังธรรมะก็เป็นการต่อสู้ การเผยแผ่ธรรมะก็เป็นการต่อสู้กิเลสทั้งนั้น

รวมความว่า การปฏิบัติธรรมะทุกอย่าง ตังแต่เบื้องต้นจนถึงสุดท้าย เป็นวิธีการต่อสู้เพื่อปราบศัตรูคือกิเลส อันเป็นเหตุให้จิตใจเราเศร้าหมองด้วยประการต่างๆ

ในการต่อสู้นั้น ต้องมีกำลังใจ ถ้าไม่มีกำลังภายใน คือกำลังใจที่เข้มแข็งพอแล้ว สู้ไม่สำเร็จ เช่น รักษาศีล ขาดกำลังใจไม่อยากจะรักษาแล้ว รักษาศีลต้องอดทน ต้องขาดนั่นขาดนี่ ไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไปสนุก กำลังใจหมดลงไป พอไม่มีกำลังใจก็อ่อนลงไป เลิกถือศีล

ยิ่งการเจริญทางสมาธิยิ่งสำคัญใหญ่ ที่เราเรียกว่า การเจริญภาวนา ไม่มีกำลังใจ ไม่มีศรัทธา แล้วก็ทำไม่ได้ ทำไปอย่างนั้น ซังกะตายทำไปตามเรื่อง ไม่มีศรัทธา แต่ถ้ามีศรัทธา มีความเชื่อมั่นว่า วิธีการเช่นนี้แหละที่จะทำให้เราอิสระ เป็นไทแก่ตัว หลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนประจำวัน เราจะมีกำลังใจเข้มแข็งเพื่อเอาชนะข้าศึกศัตรูภายในของเรา เรามีความคิดในรูปอย่างนั้น ช่วยส่งเสริมศรัทธาให้เกิดขึ้นในใจของเรา และทำด้วยความเชื่อมั่น ก็จะสำเร็จตามปรารถนา

เรื่องการปฏิบัติต้องมีศรัทธาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า ศรัทธาเป็นกำลังให้เราสำเร็จกิจที่เราประสงค์

แม้ที่เรามาบวชในศาสนา ก็เป็นเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะได้เอาวิธีไปต่อสู้กับกิเลส จะได้อยู่อย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ได้อยู่อย่างกพร่องกะแพร่งไม่สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้น การงานมันไม่ก้าวหน้า จึงมีศรัทธามาบวช มิได้มาบวชเพราะพ่อแม่บังคับขอร้องให้มาบวช เรามาบวชด้วยความเต็มใจ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาปฏิบัติ ขูดเกลากิเลสออกให้หมด เมื่อเราออกไปเป็นคฤหัสถ์ เอาคุณค่าทางจิตภายในที่เราสะสมไว้นั้น ไปต่อสู้กับข้าศึกต่อไป ต้องทำด้วยศรัทธา ท่านจึงกล่าวว่า สัทธา พันธะติ ปาเถยยัง แปลว่า ศรัทธารวบรวมกุศลไว้ในตัวเรา

เรามีศรัทธาแล้วก็เหมือนมีเพื่อนแท้ไว้กับเรา เพื่อนคือศรัทธาก็จะไปรวมบุญรวมกุศลไว้ให้ ทำให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น จึงควรเพาะเชื้อในเรื่องแห่งความเชื่อ ให้เกิดขึ้นในเรื่องที่เราจะทำ เช่น จะเรียน หรือ ทำงานอันใดอันหนึ่ง ต้องสร้างกำลังให้เกิดขึ้นในใจ กำลังตัวแรกก็คือ เชื่อว่านี้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่ชาติบ้านเมือง เราจะต้องทำและทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ แล้วกำลังก็จะเกิดขึ้น ต้องสร้างฐานขึ้นในใจคือศรัทธา เมื่อฐานมั่นคงแล้วก็สร้างตัวอื่นต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2018, 17:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒. วิริยะ หมายถึง ความเพียร ความบากบั่น ความก้าวไปข้างหน้ามุมานะที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

ตัวความเพียรนี่เป็นกำลังใหญ่ทีเดียว เป็นกำลังตัวที่ ๒ รองจากความเชื่อ เมื่อมีความเชื่อแล้ว ความเพียรจะตามมา เมื่อมีกำลังศรัทธาแล้ว ต่อไปเราก็มีความเพียรที่จะประกอบสิ่งนั้นให้ก้าวหน้าต่อไป

บุคคลที่มีความเพียรนั้น ย่อมไม่กลัวต่อความลำบาก ไม่กลัวอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น เขามีความคิดแต่เพียงว่า ฉันต้องทำให้สำเร็จจะไม่เลิกละเป็นอันขาด

แต่ว่าขาดความเพียรแล้ว ก็ทำอะไรไม่สำเร็จ พระพุทธเจ้ากล่าว่า “วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ คนจะพ้นทุกข์ได้ เพราะความเพียร” คือเราต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ต่อเวลา มอบชีวิตให้กับงานนั้น ถึงเวลาก็ทำด้วยความขยัน ความต้องอกตั้งใจ ไม่เบื่อหน่ายในงาน

ความเบื่อหน่าย คือศัตรูของความเพียร ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย ? ก็ต้องคอยปลุกปลอบตัวเอง ปลอบตนเองว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ? เรามีหน้าที่อะไร เวลานี้ เราอยู่ในฐานะอะไร ต้องตั้งปัญหาถามตัวเอง ก็จะได้คำตอบว่าเราเกิดมาเพื่อหน้าที่

หน้าที่นั้นคือตัวธรรมะ หรือธรรมะก็คือหน้าที่ เรามีหน้าที่อะไร เรามีหน้าที่จะต้องทำสิ่งนี้ เราก็ต้องทำสิ่งนี้ แม้ว่า สิ่งนี้มันจะยากก็ต้องทำ หนักก็ต้องทำ ลำบากอย่างไรก็ต้องทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ เรื่องหน้าที่เราทิ้งไม่ได้ ถ้าเราละเลยทอดทิ้งหน้าที่ เราก็เป็นคนไม่มีราคา ไม่มีความหมาย ไม่มีค่า และเราต้องทำหน้าที่ลุล่วงไปตามเวลาด้วยนะ ไม่ใช่เรื่อยๆ ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะเวลามันวิ่ง เราก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะชีวิตอยู่ในโลกมันต้องแข่งขันกันโดยธรรมชาติ ถ้าเราเฉื่อยชาชักช้าเราก็ไม่ทันกิน บุคคลแบบนี้ เรียกว่า มีความเพียรมั่น งานที่ทำนั้นก็จะสำเร็จตลอดไป

บุคคลที่ปฏิบัติธรรมะก็เช่นกัน จะต้องมีความเพียร ต่อการกระทำอย่างจริงจัง ต้องไม่มีความอ่อนแอละเลย หรือเฉื่อยชาต่อหน้าที่ที่เกิดขึ้นในใจ ต้องมีความคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้

สำหรับนักปฏิบัติธรรมะ เช่นว่า การเจริญภาวนา เราต้องบอกตัวเองว่า เราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการกระทำเช่นนี้ การกระทำอย่างนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราพ้นความทุกข์ ความเดือดร้อน

เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำ ทำ ทำ ไม่หยุด นอกจากมีการพักผ่อนหรือหยุดเป็นเวลา คนกระทำความเพียรนั้น ต้องรู้จักเวลา มีตางรางสำหรับปฏิบัติหน้าที่ ชีวิตของผู้มีความเพียรนั้น เป็นชีวิตที่มีระเบียบ ปฏิบัติง่าย ซื่อตรงต่อเวลาตามระเบียบที่ตั้งไว้ คนไม่มีความเพียร ก็ไม่ค่อยมีระเบียบ เพราะทำตามใจตัว ใจอยากจะเที่ยวก็เที่ยวไปเสีย อยากนอนก็นอนเสีย เลยไม่ได้เรื่อง เหลวไหล เราจึงเห็นว่าคนมีความเพียรเป็นคนว่องไว ไม่เฉื่อยชา ตื่นก็ตื่นทันที มีอะไรก็พร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ อย่างนี้ เรียกว่า มีความเพียร เราจึงต้องแก้ไข ดูตัวเราเองว่ามีนิสัยอย่างไร สร้างสมอะไรไว้ สร้างความเฉื่อยชาเกียจคร้านไว้หรือเปล่า หรือสะสมความตื่นตัวว่องไว ความรักหน้าที่

เราลองมาพิจารณาดูตัวเราเอง ถ้าเห็นว่าเราเป็นคนสะสมสิ่งตรงกันข้าม กับ ความก้าวหน้า เวลานั้น ก็จะไม่ได้ประโยชน์ เราต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอ โดยแข็งใจละจากสิ่งนั้นๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็งก็ละไม่ได้ หัดทำตนให้มีระเบียบ มีกติกาในการดำรงชีวิต อย่างนี้ จึงจะเอาตัวรอดจากอันตรายด้วยประการทั้งปวง

ที่วัดมหาธาตุฯ สมัยก่อน สมเด็จพระวันรัตท่านเจ้าอาวาส ฝึกลูกศิษย์ของท่านให้รักงานมาก เพระฉะนั้น ลูกศิษย์ที่สึกออกไปจากวัดมหาธาตุฯ ไม่ว่าจะทำงานกรมไหนกองไหน เขาไม่รังเกียจทั้งนั้น เพราะเป็นคนเอาการเอางาน

วิธีการอบรมของท่านก็คือท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านทำงานสม่ำเสมอ เป็นเวลา ลูกศิษย์รู้ว่า เวลานี้สมเด็จฯ กำลังทำอะไร สมมติว่า ๓ โมงท่านกำลังทำอะไร ๔ โมง ท่านกำลังทำอะไร เขารู้กัน เพราะทำเป็นระเบียบตลอดเวลา ท่านขยันในการทำงาน เช่น สอนหนังสือ ความจริงก็มีครูสอนอยู่ทุกวัน แล้วท่านก็ต้องไปสอนทุกวันเหมือนกัน ตั้งแต่ชั้นต่ำไปจนถึงชั้นสูง เวลาท่านไปสอน ครูต้องยืนฟังอยู่ด้วย ว่าท่านสอนว่าอย่างไร นักเรียนก็ฟังด้วย ท่านสอนไปจนถึงชั้นเปรียญ ๘ ประโยค ๙ ประโยค มีคนน้อยท่านก็เอาไปสอนที่กุฏิตอนเช้าๆ

แต่ถ้าตอนบ่ายๆ ท่านก็เอาไปสอนที่โรงเรียนด้วยทุกวัน แม้มีครูแล้วท่านก็ยังไปสอน อันนี้ เป็นการตรวจงานไปในตัว เหมือนกับซ้อมนักเรียนว่า เข้าใจที่ครูสอนไหม ถ้านักเรียนไม่เข้าใจ ท่านก็เรียกครูมาประชุม ครูจึงต้องกวดขันในการสอน

วัดนี้ จึงมีระเบียบมาก พอตีระฆังเป้งๆ ทั้งครูทั้งนักเรียน พร้อมอยู่ในห้องเรียน พร้อมแล้ว ถ้าพอขาดเสียงระฆังแล้วครูยังไม่ถึงชั้นเรียน ท่านก็รู้ เพราะท่านเริ่มเดินตรวจตั้งแต่เสียงระฆังครั้งแรก

และศิษย์คนไหน พอจะทำงานได้ ท่านก็เรียกมาใช้งาน ให้ไปค้นหนังสือมาให้ เช่น ค้นพระไตรปิฎก อรรถกถา เรื่องโน้นเรื่องนี้ เป็นการฝึกคนให้ปฏิบัติหน้าที่

นอกจากงานในวัดแล้ว ยังสั่งให้ไปดูงานจังหวัดโน้น จังหวัดนี้ อำเภอโน้น อำเภอนี้ ให้ไปดูความเป็นอยู่ของพระสงฆ์องค์เจ้า ดังนั้น ลูกศิษย์ทุกคนขยัน และออกไปแล้วจึงเก่งทั้งนั้น

หลวงวิจิตรวาทการ เมื่อสึกออกไปแล้ว ยังพูดว่า ข้าพเจ้าได้รับการอบรมให้รักงานขยันขันแข็งจากวัดมหาธาตุฯ เพราะฉะนั้น ไปอยู่ที่ไหน ไม่มีใครรังเกียจ ท่านสมเด็จฯ นั้นตื่นตี ๔ เขียนหนังสือทุกวัน ปกติแล้วพระก็ต้องตื่นตี ๔ เหมือนท่าน แต่ท่านก็เอาเวลาไปเขียนบทละคร เขียนโคลง เขียนกลอน และตำราต่างๆ ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

คนมีความเพียรนี้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพลิดเพลินอยู่กับงาน คนเราเมื่อเพลินกับงานแล้วก็ไม่รู้จักเหนื่อย แต่พอเบื่องานแล้วจะรู้สึกเหนื่อยอ่อนลงมาทีเดียว ความเพียรเป็นกำลังสำคัญในการประกอบกิจหน้าที่ นับว่าเป็นกำลังตัวที่ ๒

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2018, 17:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓. สติ ความระลึกได้ นับเป็นกำลังสำคัญอีกตัวหนึ่ง

สติหมายความว่าอย่างไร ? หมายความว่า นึกได้อยู่เสมอ นึกได้ในเรื่องอะไร นึกได้อยู่ว่าฉันมีหน้าที่จะไปทำอะไร ก็นึกอยู่เสมอว่าฉันมีงาน ฉันจะมานั่งโขกหมากรุกอยู่ไม่ได้ ฉันจะไปเล่นสนุกอยู่ไม่ได้ ฉันจะมาคุยนานๆ ก็ไม่ได้ มีอะไรก็รีบทำ เพราะว่านึกอยู่เสมอ สติมันคอยเตือนคอยบอก คนเรามันมีสติคอยบอกอยู่เสมอ

แต่บางทีก็ทำหูทวนลมเสียอย่างนั้นแหละ ไม่เอาใจใส่ มันคอยสะกิด ตัวสตินี่คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มันคอยสะกิดอยู่ตลอดเวลา เราจะไปไหน เราจะทำอะไรหรือเราจะคิดอะไร ธรรมชาติฝ่ายสูงมันคอยเตือนว่าอย่านะ แต่ว่าเรามันดื้อ คนเราเป็นอย่างนั้น ชอบดื้อ ไม่เชื่อฟังเขาเตือนแล้วก็ไม่เชื่อ

ควรหมั่นฟังเสียงข้างใน เสียงภายในตัวเรา เรียกว่า เสียงข้างใน มันคอยบอกคอยเตือน เช่นว่า เราไปไหน มันคอยบอกว่ากลับได้แล้วนะ ไปอ่านหนังสือเสียบ้าง เราไม่ค่อยได้ยินเสียงนั้น เพลินอยู่กับเสียงอะไรๆ ข้างนอก เลยไม่กลับ

แต่ถ้าได้ยินเสียงข้างในบอกกลับได้แล้วนะ ต้องกลับทันที มันดีขึ้นเรื่อย คนนั้นดีขึ้นเรื่อย เพราะรู้จักฟังเสียงข้างใน เป็นคนไม่ดื้อไม่ดัน ฟังเสียงที่มันคอยเตือน เมื่อเราคิดจะทำอะไร ความคิดอันหนึ่งก็เกิดขึ้นว่า ไม่ได้นะ อย่าไปทำนะเรื่องนี้มันผิดนะ ทำให้เสียหาย เราไม่เชื่อ มันจะไปเชื่อมาร ไม่เชื่อพระ ความคิดดีนั้นแหละพระ ตัวสติเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้นะเรื่องนี้ทำแล้วจะเสียหาย ไม่เป็นไร แน่ะ ไอ้ตัวนั้นมันเกิดมาคัดค้าน และมันก็ชนะเสียด้วย เราจึงเสียคนกัน เสียกันตรงนี้

เพราะฉะนั้น เราต้องฟังเสียเขาหน่อย เสียงความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจ เรื่องอะไรต่างๆ มันเกิดบอกว่าอย่านะ ไม่เหมาะ ไม่ดีนะ ถึงเวลาที่จะต้องกลับไปบ้านละนะ กลับไปทำหน้าที่ละนะ มันคอยเตือน เช่น สมมติว่าเราเป็นข้าราชการ เพื่อนมาชวนว่า เฮ้ย ไปดูหนังกันนะ เขาเรียกว่า “กระโดดร่ม” ภาษาข้าราชการเขาเรียกอย่างนั้น พอเพื่อนมาชวน ความคิดอันหนึ่งก็เกิดขึ้น มนุษย์เราต้องคิดทุกคน ว่านี่มันเวลาราชการจะไปดูหนังได้อย่างไร เพื่อนก็คะยั้นคะยอว่า ไปเถอะนะ งานไม่หนักหนาอะไร ทิ้งไว้ก่อนก็ยังได้ แล้วก็ไป ที่ไปน่ะแสดงว่าเราไม่เชื่อเสียงข้างใน ไม่เชื่อพระที่อยู่ข้างใน เชื่อผีที่มาชวนอยู่ข้างนอก แล้วก็ไปกับคนนั้น และถ้าทำอย่างนั้นบ่อยๆ ผลที่สุดก็ถูกจับว่ากระโดดร่มบ่อยๆ ก็เลยถูกคัดออกจากราชการไป

เราต้องหัดฟังไว้บ้าง ต้องหัดฟังเสียงข้างในไว้บ้าง เวลาเขาสะกิดเขาเตือนต้องคอยฟังเอาไว้ พอเกิดขึ้นต้องคอยฟัง มีอยู่เสมอ ขอให้สังเกตเถอะ ทำอะไรๆ ไม่ดี มันคอยบอกนะ สมมติว่า เราร่วมกลุ่มกันทำอะไรไม่เหมาะ มันบอกข้างในว่า เฮ้ยไม่เหมาะน่ะ ไม่ดีนะ แล้วเราไม่เอาเรื่อง ไม่ฟังเสียง ดื้ออยู่ตลอดเวลา เราก็เสียหาย อันนี้ เรียกว่าสติ สติเกิดขึ้นมาเตือนจิตสะกิดใจเราให้เราเกิดความรู้สึกนึกได้ ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี่ไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร มันจะเสียหายสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน เราไม่ฟังเสียงนั้น เรากลับไปฟังเสียงมาร ทำไมจึงได้ฟังเสียงมาร เพราะเสียงมารมันสนุก มันยั่ว มันตื่นเต้น ซู่ซ่าดี เราก็หลงใหลไปกับเสียงนั้น

เพราะฉะนั้น ให้คอยกำหนดสักหน่อย กำหนดว่าอะไรมันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา เมื่อคิดว่า จะทำอะไรแล้ว ก็คิดว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามีความรู้สึกว่าไม่ได้นะ ไม่ดีนะ แสดงว่าธรรมชาติฝ่ายสูงมันคอยเตือนแล้ว มาสะกิดเราแล้ว เราก็ต้องคิดว่า เอ้อ มันไม่ดีจริงๆ ไอ้นั่นมันเสียหายจริงๆ คิดให้รอบคอบ พิจารณาเหตุผล ชั่งดูฝ่ายหนึ่งว่าให้ทำ อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่ให้ทำ เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูว่า สองอยางนี้ อันไหนมันจะเป็นอย่างไร

ถ้าเราไปอย่างนั้น มันจะดีไหม ทำอย่างนี้มันจะดีไหม เมื่อพิจารณาอย่างนั้นก็จะเกิดความยับยั้งชั่งใจ มันก็ไม่เสียหาย เรียกว่า มีสติเกิดขึ้น ตัวสตินี้ จึงเป็นกำลังสำหรับหักห้ามใจ เหนี่ยวรั้งจิตใจไม่ให้ไหวไปในทางชั่วทางต่ำ จึงเป็นกำลังที่สำคัญอีกแล้ว เรียกว่า กำลังสติที่จะหักห้ามใจไว้ เราจึงควรจะได้ใช้ตัวนี้ไว้บ่อยๆ คอยใช้ ธรรมะเรียนแล้วต้องเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ถ้าเราไม่ใช้ก็ไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่ากัน

สติ มีหน้าที่ดึงอารมณ์มาสู่จิต เหนี่ยวอารมณ์ไว้กับจิต คุมหรือกำกับจิตไว้กับอารมณ์ ตรึงเอาไว้ไม่ยอมให้ลอยผ่านหรือคลาดกันไป จะเป็นการดึงมาซึ่งอารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว หรือดึงไว้ซึ่งอารมณ์ที่จะผ่านไปก็ได้

สติ จึงมีขอบเขตความหมายคลุมถึง การระลึก นึกถึง นึกไว้ นึกได้ ระลึกได้ ไม่เผลอ

สติ เป็นการริเริ่มเองจากภายใน โดยอาศัยพลังแห่งเจตนาหรือเจตจำนง ในเมื่ออารมณ์อาจจะไม่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เป็นฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ จึงจัดอยู่ในพวกสังขาร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2018, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔. สมาธิ สมาธิหมายความว่า ตั้งใจมั่น ตั้งใจลงไปอย่างเด็ดเดี่ยว ว่าเราจะทำสิ่งนั้น เราจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ ถ้าทำไม่สำเร็จเราจะไม่เลิกละ เรียกว่า สมาธิ หรือว่ากำลังจิตรวมเพื่อเพ่งพินิจพิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อให้สำเร็จเป็นไปด้วยดี เรียกว่า มีกำลังสมาธิ

กำลังสมาธินี้ เป็นกำลังใหญ่เหมือนกัน เช่นว่า เราเรียนหนังสือต้องมีสมาธิในการอ่าน เขียนคิดค้นในเรื่องอะไรต่างๆ ถ้าไม่มีสมาธิแล้ว การกระทำนั้นคงง่อนแง่นคลอนแคลน

การกระทำจิตให้เป็นสมาธิต้องฝึก

พวกเราที่บวชเข้ามามีเวลา อยู่บ้านไม่มีเวลา มาบวชมีเวลาที่จะอบรมฝึกฝนสมาธิให้เกิดขึ้นในใจของเรา ให้มีกำลังสมาธิขึ้นไว้ในใจของเรา คือการฝึกภาวนา ที่ไปฝึกกันอยู่ทุกวันนั้นแหละ เมื่อใดเรามีกำลังสมาธิเกิดขึ้น ปฏิบัติงานก็ประหยัดเวลา ประหยัดเรี่ยวแรง และสำเร็จรวดเร็วด้วย

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น เราอ่านหนังสือ ถ้าเรามีสมาธิอ่านไปก็รู้เรื่องทันที จำได้เพราะว่าจิตมันอยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าเราไม่มีกำลังสมาธิ อ่านไปแล้ว เอ๊ะ ไม่รู้เรื่อง อ่านใหม่ก็ไม่รู้ อ่านอีก อ่านไปอ่านมาเสียเวลาไปเท่าไร เวลามีค่าเราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์

ทีนี้ มันจะเกิดประโยชน์ก็ต้องอาศัยกำลังสมาธิในการเรียน การเขียน การคิด การค้น หรือว่าในการทำงานก็เหมือนกัน ถ้ามีสมาธิก็ไม่ผิดพลาด

คนบางคนเขียนหนังสือเขาเขียนไม่ผิดเลย หน้าหนึ่งไม่มีผิดเลยเรียบร้อย วรรคตอนเรียบร้อย ตัวหนังสือสวยงามเรียบร้อย แสดงว่ามีสมาธิดี ใจอยู่กับเรื่องนั้น จึงเขียนไม่ผิดพลาด เขียนแล้วใช้ได้เลย ไม่ต้องไปอ่านทานอีก มันเสร็จไปในตัว แสดงว่าจิตไม่ฟุ้งซ่านมีสมาธิอยู่ในการเขียน จึงเขียนได้เรียบร้อย ประหยัดเวลา

ถ้าเราร่างหนังสือ ร่างแล้ว ไม่ได้ความ ขยำกระดาษทิ้ง เปลืองกระดาษเปลืองเวลา เปลืองแรงงาน ไม่มีอะไรคุ้มค่า

ถ้าหากว่าจิตเราเป็นสมาธิเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้วเซ็นชื่อได้เลย พร้อมจะเอาไปพิมพ์ คนพิมพ์ก็ต้องมีสมาธิด้วย ดังนั้น จึงต้อง เอาสมาธิเข้าเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลาไม่ว่าเรื่องอะไร

แม้แต่การฟังก็ต้องเอาสมาธิอยู่กับเสียงที่ฟัง ถ้าใจฟุ้งซ่านก็ฟังไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไรไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาพูดไป ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ได้เพียง ๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เพราะขาดสมาธิ จะต้องมีกำลังตัวนี้เข้าประกอบ ทุกเรื่องทุกแง่ทุกมุม จิตที่ไม่มีสมาธิต้องรู้จึงฝึกให้มีสมาธิขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2018, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๕. ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ปัญญาที่เป็นกำลังนี้ หมายความว่าเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งต่างๆ ในการกระทำอะไรทุกอย่าง ต้องมีสติ และปัญญาควรคู่กันไป มีสตินึกได้ พอนึกได้ ก็มีปัญญาพิจารณาแล้ว ว่าอันใดถูกผิด หรือควรไม่ควร ต้องใช้ปัญญาพิจารณาคู่กันกับตัวสติ และต้องมีสมาธิคู่กันไปด้วย ต้องพิจารณาด้วยสมาธิ ไม่ใช้สมาธิ ปัญญามันจะไม่เกิดกำลังกล้า

ขอให้เราสังเกตว่า คนที่คิดค้นอะไรขึ้นทางวัตถุ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น จรวด ดาวเทียม พวกเหล่านี้ต้องมีกำลังศรัทธา กำลังความเพียร มีกำลังสติ กำลังสมาธิ มีกำลังปัญญา ทั้ง ๕ ประการนี้ให้สมดุลกันจึงจะสำเร็จได้ พระพุทธเจ้าท่านใช้กำลัง ๕ นี้ พร้อมบริบูรณ์จึงได้ตรัสรู้

ถ้าขาดกำลัง ๕ ประการนี้แล้วก็ไม่สำเร็จ

แม้เราจะสอบไล่ก็ต้องมีกำลังอยู่ในตัว เรายังไม่ได้เรียนเรื่องกำลัง ๕ นี้ แต่เราบังเอิญไปค้นพบมันเข้า เราก็มีความเชื่อ มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ ปัญญา แล้วก็สำเร็จ

ทีนี้ พอมารู้เครื่องประกอบของกำลังความสำเร็จมันอยู่ตรงนี้ สร้างกำลังให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เราก็สร้างศรัทธา สร้างความเพียร สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา ขึ้น การปฏิบัติงานก็ก้าวหน้าไปด้วยดี

ปัญญา * แปลกันว่า ความรอบรู้ เติมเข้าอีกว่า ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด คือ รู้ทั่วถึงความจริงหรือรู้ตรงตามความเป็นจริง

ท่านอธิบายขยายความกันออกไปต่างๆ เช่นว่า รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ควรไม่ควร รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้เท่าทันสังขาร รู้องค์ประกอบ รู้เหตุปัจจัย รู้ที่ไปที่มา รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย รู้ตามความเป็นจริง รู้ถ่องแท้ เข้าใจถ่องแท้ รู้เข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้พินิจพิจารณา รู้วินิจฉัย รู้ที่จะจัดแจงจัดการหรือดำเนินการอย่างไรๆ แปลกันอย่างง่ายๆ พื้นๆ ปัญญา คือความเข้าใจ (หมายถึงเข้าใจถูก เข้าใจชัด หรือเข้าใจถ่องแท้) เป็นการมองทะลุสภาวะหรือมองทะลุปัญหา

ปัญญา ตรงข้ามกับ โมหะ ซึ่งแปลว่า ความหลง ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด

* (ปัญญา มักแปลกันว่า wisdom หรือ understanding)

จบตอน จากหนังสือนี้ (หน้า ๔๖๑)

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2022, 04:00 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2023, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2023, 09:08 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 30 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร