วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหนังสือนี้ หน้า ๒๐๕

รูปภาพ

คำสอนในทางพุทธศาสนานี้ มี ๒ ชั้น คือธรรมะหรือพระธรรมมี ๒ ชั้น : ธรรมะ ที่เป็น ศีลธรรม อย่างหนึ่ง กับ ที่เป็น สัจธรรม อีกอย่างหนึ่ง

ศีลธรรม นั้นเป็นคำสอนชั้นธรรมดา ที่มีคล้ายกันทุกศาสนา ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ มีคำสอนในด้านศีลธรรมคล้ายกัน ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

เรื่องของศีลธรรมเกิดขึ้นอย่างไร เราควรรู้ เพราะศีลธรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคม

สัจธรรม เป็นเครื่องแก้ปัญหาเฉพาะคน

ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงหน่อย ก็เรียกว่า สัจธรรมเป็นเรื่อง “ปัจเจกชน” ศีลธรรมเป็นเรื่อง “สังคม”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 19:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวเรา คืออะไร ?

การศึกษาธรรมอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีจุดหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการให้รู้จักว่า ตัวเราคืออะไร ?
สิ่งที่เกิดขึ้นๆ ในตัวเรานั้นคืออะไร ? มันมีเหตุมาจากอะไร , แล้วเราจะจัดการแก้ไขกับสิ่งนั้นอย่างไร ?

อันนี้ เป็นจุดหมายสำคัญในการศึกษาธรรมะ เรื่องของตัวเราเองต้องรู้ คนเราที่เสียผู้เสียคนเพราะไม่รู้จักตัวเอง
ไม่รู้จักตัวเองแล้วจะไปรู้จักสิ่งอื่นได้อย่างไร ตนนี้มีหน้าที่อะไร และควรจะทำอะไรเป็นประจำในชีวิต
เรื่องอย่างนี้ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ปล่อยตนไปตามเรื่องตามราว กินไปเล่นไป ตายเข้าโลงเน่า ชีวิตไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร เพราะไม่เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้

แต่ถ้าบุคคลใดรู้จักตน ก็สามารถจะทำตนให้ดีให้งามขึ้นไปได้ เพราะเมื่อรู้จักตัวเองแล้วก็รู้จักว่า เราควรจะทำอะไรเพื่อให้ตัวเรามีค่ามีราคา นี่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ.

และการศึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้น เราต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาที่ตัวเราก่อน และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา ศึกษาวิธีการที่แก้ไขนั้นต่อไป อันนี้เป็นการเรียนที่ถูกต้อง ได้ประโยชน์เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็เรียนไปตามเรื่อง ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร จะเกิดประโยชน์แก่ตนอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง จึงควรจะได้เรียนเรียงเรื่องกันไปโดยลำดับ.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 19:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไอ้ที่เขาเรียงไว้ในหนังสือ เช่นว่าใน นวโกวาท เรียงธรรมะไว้เป็นหมวดๆ ทุกะหมวด ๒ เริ่มด้วย ธรรมะมีอุปการะมาก ๒ อย่าง และเรื่อยไปจนกระทั่งหมวด ๑๐ หมวด ๑๑ อะไรโดยลำดับ

อันนี้ เป็นวิธีการโดยตำรา ซึ่งเรียบเรียงในรูปอย่างนั้น การเรียบเรียงนี้โดยพระสารีบุตรมหาเถระ ซึ่งเป็นสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า พระโมคคัลลานะเป็นเหมือนพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า สองรูปนี้เขาเรียกว่า สาวกขวาซ้าย ถือเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชน

ท่านพระสารีบุตรนั้นท่านเป็นเลิศในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นเลิศในทางฤทธิ์ ถ้าจะฝึกคนพระสารีบุตรท่านฝึกคนมาก่อน ท่านเอาคนเข้ามา
พระมหาโมคคัลลานะท่านก็ฝึกต่อให้เป็นผู้บรรลุมรรคผลต่อไป สององค์นี้จึงเป็นผู้ทำงานหนักเป็นกำลังใหญ่ของพระพุทธเจ้า

เมื่อคราวหนึ่ง นิครนถ์ได้ตาย คือ มหาวีระน่ะที่เป็นศาสดาของชินะ ได้มรณะไป เขาเรียกว่าถึงนิรวาณ ไปถึงนิพพานเหมือนกัน เขาเรียกว่า โมกษะ เขาไม่เรียกว่านิพพาน เรียกว่า โมกษะ หมายความว่า หลุดพ้น และสาวกเกิดแตกกันเป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่ายทะเลาะเบาะแว้งกัน

พระสารีบุตรท่านเห็นว่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับพุทธศาสนา คือถ้าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน เกรงว่าพระภิกษุทั้งหลายจะแตกแยกกัน จะไม่อยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านจึงคิดว่า สมควรจะได้กระทำการสังคายนา

สังคายนา แปลว่า ร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบแบบแผน ที่เรียกว่า ทำสังคายนา

สังคายนาน่ะ พระสงฆ์จำนวนมากมาประชุมกัน สะสางรวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบแบบแผน เรียกว่า ประชุมกันสังคายนา

ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ปรินิพพาน พระสารีบุตรก็ได้สังคายนาด้วยตัวท่านเองก่อน ด้วยการรวบรวมธรรมเป็นหมวดเป็นหมู่ เรียกว่ารวมกันเข้าเป็นสูตรใหญ่ในพระคัมภีร์ เริ่มธรรมตั้งแต่หมวด ๑,๒,๓,๔,๕, ไปโดยลำดับ

ธรรมหมวดใดมีเรื่องเดียว ก็เอามารวมไว้หมวด ๑ หมวดใดมี ๒, ๓, ๔ ฯลฯ เรื่อง ก็เอามารวมไว้ในพวก หรือหมวด ๒, ๓, ๔ ฯลฯ อันนี้เป็นงานที่ท่านได้เริ่มต้นไว้ แต่ว่าก็ยังไม่บริบูรณ์ ท่านก็ได้นิพพานไปเหมือนกัน

พระสาวกทั้งหลายก็ได้เอามารวบรวมกันอีกที เป็นหมวดเป็นหมู่เป็นพรรคเป็นพวกๆ เรียกว่าเป็นนิกาย เช่น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย เป็นต้น รวมไว้เป็นพวกๆ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเล่าเรียน สะดวกแก่การค้นคว้า

คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเรานั้น มีระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่ครั้งพระองค์นิพพานแล้วใหม่ๆ (สังคายนาครั้งที่ ๑)

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นธรรมะในหนังสือ นวโกวาท เริ่มต้นด้วยทุกะหมวด ๒ และก็ว่าไปโดยลำดับเป็นหมวดๆ การเรียงไว้ในรูปเช่นนั้น เป็นการเรียงแบบปริยัติหรือทฤษฎี เพื่อสะดวกแก่การเอาไว้ท่องจำ เราเรียนเพื่อการปฏิบัติแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเราเรียนเพื่อการปฏิบัตินั้นต้องเรียนรู้อีกวิธีหนึ่ง คือต้องเรียนรู้จากตัวเราออกไปโดยลำดับ คือตั้งแต่จากตัวเรา

คืออะไรๆมันควรจะตั้งต้นที่ตัวเราทั้งนั้น แล้วก็มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกายยาววาหนาคืบกว้างศอกหนึ่งนี้ เราบัญญัติว่ามีทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีการดับทุกข์ มีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เธอจงพิจารณาเอาในร่างกายนี้

พระพุทธดำรัสนี้เป็นเครื่องชี้บ่งให้เราศึกษาจากตัวเรา เรียนจากในตัวของเรา แม้เรารู้อะไรมาจากที่อื่น แต่ถ้าในรูปของการปฏิบัติแล้วต้องมุ่งเอาที่ตัว ต้องมาศึกษาที่ตัว จะไปศึกษาเอาที่อื่นนั้นไม่สะดวก

สู้เรียนเอาจากตัวเองไม่ได้ เพราะในตัวเองนั้นมีพร้อมทุกอย่าง เราจะเรียนเรื่องอะไรก็ได้ และประสบการณ์ชีวิตของเราแต่ละวันมันก็เป็นบทเรียนอยู่ทั้งนั้น แต่ว่าเราไม่ค่อยจะได้ศึกษา ไม่สนใจ

อะไรเกิดขึ้นแล้วก็ปล่อยผ่านพ้นไป ความทุกข์เกิดขึ้น หายทุกข์แล้วก็หมดเรื่องไป

ความสุขเกิดขึ้นผ่านพ้นไป แล้วมันก็หมดเรื่องกัน

อันนี้ มันไม่เกิดปัญญา ไม่เป็นการศึกษาเรื่องตัวเองให้เข้าใจ ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น เพราะไม่ได้บทเรียน ไม่ได้ครูจากตัวเราเอง

ในทางที่ถูกเราควรจะทำอย่างไร ? เราควรจะได้เอามาคิด วิเคราะห์ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 19:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญหาอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราอย่าให้มันผ่านไปเฉยๆ แต่เราต้องเอามาวิเคราะห์วิจัยอีกทีหนึ่งว่า สิ่งนี้คืออะไร มันเกิดขึ้นจากอะไร ให้คุณให้โทษอย่างไร เราควรจะเข้าไปจัดการกับมันในรูปใด ต้องเอามาคิดมามาวิเคราะห์วิจัย

การมาวิเคราะห์วิจัยนั่นแหละ คือ การศึกษา หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เจริญวิปัสสนาก็ได้ เพราะวิปัสสนานั้น เป็นเรื่องของการคิดค้น เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นอยู่จริงๆ เราจึงต้องหมั่นคิดหมั่นค้นในเรื่องอย่างนั้น เอามาวิเคราะห์วิจัย

ความทุกข์เกิดขึ้น ก็ต้องเอามาคิดค้น

ความสุขเกิดขึ้นก็ต้องเอามาคิดมาค้น เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และจะได้จำไว้เพื่อจะไม่ทำอีก หรือว่าจะได้กระทำสิ่งนั้นอีก ในเมื่อสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ อันนี้แหละที่ถูกต้อง คือการศึกษาจากเรื่องภายในออกไปสู่โลกภายนอก ไม่ใช่เรียนจากภายนอกมาสู่ภายใน

การเรียนพระพุทธศาสนานั้น เรียนจากภายในออกมาภายนอก เพื่อจะได้รู้เรื่องของตัวเองได้ถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรจะได้รู้ไว้

ทีนี้ เมื่อเราตั้งต้นจากตัวเรา เราก็ต้องรู้ว่าตัวเรานี้คืออะไร ?

ในเบื้องต้นขอทำความเข้าใจเอาไว้ก่อนว่า ที่เรียกว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา อะไรนั้น พูดกันโดยธรรมะแล้วมันเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น แต่ว่าสมมติกันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

สมมติในโลกเรานี้ เราพูดกันอยู่ ๒ อย่าง พูดกันด้วย สำนวนสมมติ อย่างหนึ่ง สำนวนที่เป็นจริง อย่างหนึ่ง เขาเรียกว่า สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ

เช่น พูดว่า “คน” เป็นความจริงโดยสมมติ พูดว่า นายแก้ว นายขัน นายจันทร์ นายดี เป็นความจริงโดยสมมติ แล้วก็รับรองกัน

ถ้าเราเรียกว่า นายแก้ว ก็ขานทันทีแหละ นั่นเป็นเรื่องสมมติว่า ตัวผมสมมติเป็นชื่อ แก้ว ชื่อ ขัน ชื่อ ดี

เป็นเรื่องสมมติว่า นี่เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นเสื้อ เป็นผ้า นี่เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องของจริงของแท้ เพราะเรื่องเอามาร่วมกันเข้า ไหลไปตามอำนาจแห่งการปรุงแต่ง สิ้นฤทธิ์ของการปรุงแต่งก็สลายตัวไป หมดเรื่องไปทีหนึ่ง แล้วมันจะไปผสมปรุงแต่งเรื่องอะไรอีกก็ได้ สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยของเรื่องนั้น เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้

เหตุดับผลดับ เหตุอยู่ผลก็อยู่ อะไรมีเหตุมันก็ต้องมีผลควบคู่กันไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ อยู่ที่การสมมติ

บางทีเขาด่าเราว่า “ไอ้สัตว์” เราชักจะเคืองขึ้นมาทันที ต่อยกันเถอะว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นนักธรรมะจะไม่โกรธไม่เคืองอะไร เพราะเขาพูดความจริง เรามันเป็นสัตว์จริงด้วย

คำว่า “สัตว์” นั้น มันหมายความว่าอย่างไร ? หมายความว่าผู้ข้องผู้ติดอยู่ในอารมณ์ เรามันข้องหรือเปล่า เรามันติดอยู่ในอารมณ์หรือเปล่า เราเป็นคนข้องติดอยู่ในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เขาเรียกเราว่า “สัตว์” มันก็ถูกต้องแล้ว ไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหาย ไม่น่าจะโกรธจะเคืองอะไร นั่นถ้าเป็นนักธรรมะก็นั่งเฉยๆ ยิ้มซะ นั่นมันพูดถูกของมัน เพราะเขาเรียกเราว่า “สัตว์”

เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์นี่ เขาสมมติได้ คล้ายกับหัวโขนมาสวมให้ สวมเข้าเป็นหัวอนุมาน ก็เต้นเป็นอนุมานได้ สวมหัวทศกัณฐ์ก็เต้นเป็นทศกัณฐ์

สวมหัวเป็นพระรามก็เต้นเป็นพระราม เต้นผิดหน้าที่ไม่ได้ ถึงเวลาเขาสวมหัวอนุมานไปเต้นเป็นพระลักษณ์พระรามก็ไม่ได้ คนไม่ดู เดี๋ยวก็ถูกขว้างเท่านั้นเอง นั้นเป็นเรื่องสมมติ เราต้องรู้จักว่าไอ้นี่เป็นเรื่องสมมติ สมมติเป็นขุนหลวง คุณพระ

นั่นสมมติว่าเจ้าคุณ พระครู อย่าไปเที่ยวเห่อให้วุ่นวายไป เขาสมมติเอามาสวมให้นิดหน่อย เดี๋ยวเขาก็ถอดออก เอาหัวอื่นมาสวมให้อีกแหละ ให้เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญ ทำงานดีๆ ก็เป็นชั้นราช เดี๋ยวก็ให้เลื่อนเป็นชั้นเทพ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เรื่องสมมติๆทั้งนั้น นี่คือความสมมติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 20:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องแทรก :b9:

หลายท่านเข้าใจสมมติเป็นเหลวไหลไป แต่ สมมติ ไม่ใช่หมายความว่า เป็นเรื่องเหลวไหล ตรงข้าม สมมติ คือ สํ. (ร่วมกัน) + มติ = มติร่วมกัน ได้แก่ ข้อตกลง การยอมรับร่วมกัน หรือสิ่งที่เห็นร่วมกันแล้วกำหนดวางเป็นข้อที่จะหมายรู้ (= บัญญัติ) หรือที่จะปฏิบัติไปตามนั้น

ด้วยเหตุนี้ สมมติ แม้จะไม่มีสภาวะที่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นความจริงที่ผลอันสำคัญตามตกลง ที่จะต้องกำหนดวางสมมตินั้นด้วยปัญญา แล้วปฏิบัติให้สมตามสมมติด้วยปัญญาที่รู้เหตุรู้ผลอย่างจริงจัง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 20:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ทีนี้ ที่เป็นความจริงนั้นหมายถึงอะไร ? หมายถึง สภาวะที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เช่น เรื่อง ขันธ์ เรื่อง ธาตุ เรื่อง อายตนะ อันเป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริง - สัจจะ ไม่ใช่เรื่องสมมติ.

เราจึงควรรู้ว่า ในตัวเรานี้ มันมีทั้งเรื่องสมมติ และเรื่องความจริง

อะไรเป็นเรื่องสมมติ ก็อย่ายึดมั่น ให้รู้จักปล่อยวาง อะไรเป็นเรื่องความจริง ก็ให้ยึดถือไว้ * (คำว่า “ยึดถือไว้” ในที่นี้ มิได้มีความหมายว่า ยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่มีความหมายในทางถูกต้อง คือยึดถือไว้ในฐานะเป็นความจริงที่เราต้องมองให้เห็นชัดว่ามันเป็นสักแต่ว่าอย่างนั้นเอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นสูญญตา ฯลฯ ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเราของเราไม่ได้ เมื่อเห็นชัดถึงที่สุด จิตก็สิ้นความยึดถือโดยประการทั้งปวง) เพราะการยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์ทั้งนั้น อุปาทาน เขาเรียกว่า ยึดมั่นถือมั่น เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์. ชีวิตของเรานี้เป็นตัวการ

คำว่า “ชีวิต” หมายความว่าอย่างไร ? เขาพูดคำว่า ชีวิต คือความเป็นอยู่ พระท่านสวดศพว่า ชีวิตคือความเป็นอยู่ ใครห่อนรู้กำหนดกาล อย่างนี้ เป็นต้น หมายความว่า มันเป็นอยู่ สิ่งใดมีชีวิต สิ่งนั้นยังเป็นอยู่ สิ่งใดไม่เป็นอยู่ สิ่งนั้นมันไม่มีชีวิต

ทีนี้ ที่เป็นอยู่มันเพราะอะไร ที่เป็นอยู่ได้มันเพราะอะไร ที่เรียกว่า ชีวิตคือการเป็นอยู่ คือยังไม่ตาย แล้วที่เป็นอยู่มันเพราะอะไร ? ก็เพราะว่าความเปลี่ยนแปลง ตัวความเปลี่ยนแปลงคือชีวิต ความเปลี่ยนแปลงคือชีวิต

ดูในร่างกายของเรานี้ อะไรมันเปลี่ยนแปลงบ้าง เปลี่ยนอยู่ทุกอย่าง เห็นง่ายๆ ลมหายใจ เปลี่ยนตลอดเวลา หายใจเข้า หายใจออก หายใจออก หายใจเข้า นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ก็เรียกว่าชีวิต เพราะมีลมเข้าลมออก ถ้าลมหยุดก็ไม่มีชีวิต แล้วลมเข้าลมออกนั้นมันไม่เปลี่ยนแปลง แต่ลมเข้าลมออกอยู่ เลยไปทำให้โลหิตในร่างกายเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะลมหายใจเข้าเป็นออกซิเจน เข้าไปแล้วทำให้โลหิตดำเป็นโลหิตแดง ส่งขึ้นไปเลี้ยงร่างกาย แล้วเอาฟอกใหม่ ไม่เหมือนน้ำมันหยอดเครื่องใช้แล้วเททิ้ง ไอ้โลหิตดำเททิ้งมันก็แย่ เพราะฉะนั้นต้องหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงด้วยการเอามาฟอกใหม่ เช่น โลหิตดำกลับมาก็มาฟอก ฟอกแล้วไอ้ส่วนเสียก็หายใจออกมา

จมูกสองรูของมนุษย์นี้มันท่อไอเสียนั่นเอง ท่อไอเสีย แต่ว่าท่อไอเสียของมนุษย์มันเอามาไว้ตรงหน้า ใต้ตาเหนือปาก เข้าที แล้วก็ทำอย่างประณีต ไม่มีควันดำออกมา เรียบร้อย ถ้าหายใจเป็นควันดำ โลกมันจะสงบกว่านี้ มนุษย์ไม่เข้าใกล้จึงไม่ยุ่ง นี่มันไม่ดำ มนุษย์ถึงเข้าใกล้กันบ่อยๆ และเข้าใกล้กันแล้ว ก็ชอบเอาไปติดกันเสียด้วย นี่มันยุ่ง ติดทีไรมันยุ่ง มนุษย์มันชอบอย่างนั้น นี่ท่อไอเสีย ถ่ายของเสียออกมาทางท่อไอเสียเป็นคาร์บอนไปแล้ว ก็เอาออกซิเจนเข้าไปล้างต่อไป และนี้แหละเปลี่ยนแปลง

อาหารที่เรารับประทานเข้าไปมันก็เปลี่ยนแปลง ถูกย่อยให้เป็นโอชะ เอาส่วนที่ร่างกายจะใช้ไปเลี้ยงร่างกาย ส่วนเสียก็ปล่อยเป็นกากลงไปในลำไส้ตามลำดับ ตื่นเช้าต้องทิ้งทุกที นี่คือการเปลี่ยนแปลง
กล้ามเนื้อทุกส่วนเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น

ผมที่หงอกออกไป หลุดไป ผมใหม่ขึ้นแทน เล็บเก่าหลุดเล็บใหม่ขึ้นมาแทน หนังเก่าลอกไป หนังใหม่ออกมาแทนสืบต่อไป

อาการสืบต่ออย่างนี้ภาษาธรรมะเรียกว่า “สันตติ” แปลว่า การสืบเนื่องของสิ่งต่างๆ ทีนี้ มันสืบเนื่องด้วยอะไร ? ด้วยปัจจัยมันหล่อเลี้ยง

ปัจจัย แปลว่า สิ่งที่ไปหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดอะไรขึ้นมา เรากินอาหาร เราดื่มน้ำเข้าไปจึงมีชีวิตอยู่ได้ กินข้าวไม่ได้ หายใจไม่ได้ มันก็ตายเท่านั้น หมดชีวิต ที่สุดของชีวิตก็คือที่สุดของการเปลี่ยนแปลง ที่สุดของการเปลี่ยนแปลง ก็คือความตาย ทุกคนต้องเป็นอย่างนั้น อันนี้ เป็นกฎตามธรรมชาติ มีเกิด มีดับ อยู่ไม่ได้ จะอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ มันต้องเข้าโลงสักวันหนึ่ง

แม้โลกที่เราอยู่อาศัยนี้มันก็ต้องแตกสักวันหนึ่ง เพราะโลกมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัย มันจะแตกเมื่อไรตามเรื่อง เราอยู่ไปก่อน มันอย่างนี้ เรื่องของชีวิตมันอยู่ในลักษณะอย่างนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2017, 20:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชีวิตนี้ มันประกอบด้วยอะไรบ้าง ? ประกอบด้วยสิ่ง ๒ ประการ เราเรียกว่า รูป กับ นาม

ชีวิตของเรานี้มีรูป นาม รูปคือร่างกาย นาม คือ จิต หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า กาย กับ จิต ก็ได้

ใจ มันเป็นภาษาไทย จิต เป็นภาษาบาลี แต่เมื่อเวลาเราพูดมักจะเอาทั้งบาลี และไทย คือพูดว่าจิตใจ

ถ้าพูดว่า ใจเฉยๆ กลัวจะฟังไม่รู้เรื่อง ว่าใจมันเป็นอย่างไร ? เลยพูดไปทั้งสองภาษา

ความจริงมันก็อันเดียวกัน จิต กับ ใจ ของอันเดียวกัน เรามีกาย และ ก็มี ใจ

กาย นี้ เราว่าเป็นเรื่อง รูป เมื่อมีรูป มีนามมารวมกัน ก็มีชีวิต รูปนาม แตกแยกออกจากกันก็ไม่มีชีวิต นี่คือร่างกาย ชีวิตประกอบด้วยของ ๒ สิ่งนี้

เรื่องของรูปนั้น มีเพียงเรื่องเดียว : แต่ นาม นั้น แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง แบ่งออกเป็น เวทนา เป็น สัญญา เป็น สังขาร เป็น วิญญาณ ที่เราสวดเช้าๆ นั้นน่ะ รูปัง อะนิจจัง เวทนา อะนิจจา ฯลฯ ว่าอย่างนั้น สวดเรื่องตัวเราทั้งนั้น ไม่ได้สวดเรื่องคนอื่น ให้รู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร

รูป ก็เป็น รูป นามแบ่งออก ๔ รวมกันแล้ว เรียกว่า ขันธ์ ๕ แปลว่า กอง เรียกว่า ๕ กอง เรียกเป็นบาลีว่า ปัญจขันธ์

ปัญจ แปลว่า ๕ ปัญจขันธ์ แปลว่า ขันธ์ ๕ คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ แบ่งเป็นกองๆได้ ๕ กอง รูป มีเรื่องเดียว นามมี ๔ เรื่อง รวมเป็น ขันธ์ ๕

(ตำราเขาจัดไว้ลงตัวหมดแล้ว แต่พวกเรา มาเก็บสิ่งซึ่งท่านจัดทำลงตัวแล้วนั่นมาคิดซ้ำอีก จึงที่ลงตัวกลายเป็นกระจุยกระจายเละเทะ นี่อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจภาษาบาลีของเขา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ธ.ค. 2017, 19:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เรามาพูดเรื่องรูปก่อน : รูปนั้น ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔

ธาตุ ๔ คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุดิน หมายถึงของแข็ง

ธาตุน้ำ หมายถึงของเหลว

ธาตุลม ก็คือแก๊ส

ธาตุไฟ ก็คืออุณหภูมิ ที่มีอยู่ในร่างกาย

ร่างกายของคนเราทุกคนที่เป็นรูปมันอยู่อย่างนี้ มีธาตุปรุงแต่ง

ถ้าไม่มีธาตุ มันก็อยู่ไม่ได้ มีธาตุสมบูรณ์ ร่างกายเราก็อยู่ได้ ขาดธาตุร่างกายมันก็เจ็บป่วย

หมดแผนโบราณเวลาคนป่วยเขาคำนวณธาตุตามสูตร ถูกของเขาที่เขาตั้งไว้ เกิดวันอะไร ปีอะไร แล้วเอามาคูณมาหารกัน ได้ผลอย่างไรตามสูตร ก็รู้ธาตุอะไรขาด ธาตุดินขาด เติมธาตุดิน ยาประเภทธาตุดินมันมี ขาดธาตุน้ำ ก็เติมธาตุนั้น ขาดธาตุไฟธาตุลมก็เติมธาตุนั้นเข้าไป แล้วก็หายโรคหายไขไป ร่างกายก็เป็นปกติ เพราะรู้เหตุเกิดจากขาดธาตุ ก็เอาธาตุเติมเข้าไป

หมอสมัยใหม่เติมธาตุเหมือนกัน แต่เขาเติมวิตามินต่างๆ เติมวิตามินอย่างนั้นอย่างนี้ ขาดอะไรก็ใส่ๆเข้าไป ร่างกายก็เป็นปกติ

ร่างกายทั้งหมดนี้เกิดจากธาตุทั้ง ๔ ดังที่กล่าวแล้ว ความจริงไม่ใช่เพียง ๔ ดอก มากกว่านั้น

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ต้องการให้เราเรียนละเอียดในเรื่องธาตุ แต่ให้รู้ว่าร่างกายนี้คือธาตุ รูปก็คือธาตุ เวทนาก็คือธาตุ สัญญาก็คือธาตุ สังขารก็คือธาตุ วิญญาณก็คือธาตุ รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุทั้งนั้น

รูปร่างกายนี้อาศัยธาตุหรือสิ่งเหล่านี้ จึงอยู่ได้ และรูปร่างกายนี้มันมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ งอได้ เป็นลักษณะของร่างกาย เคลื่อนไหวได้ อ่อนไป อ่อนมา เป็นลักษณะของชีวิต พอตายแล้วเคลื่อนไหวไม่ได้ ความเบาหายไป กลายเป็นของหนักอื้งขึ้นมา ไม่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นเรื่องของรูป

ทีนี้ ในรูปร่างกายนี้ ส่วนอะไรมันมีบ้าง เราควรรู้ ส่วนประกอบของร่างกาย ที่เป็นหัวเป็นมือ เป็นเท้า ไม่ต้องเรียน เพราะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ ส่วนเรื่องที่เกิดในชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องเรียน :

ชีวิตหรือส่วนของร่างกายนี้ มันเป็นสิ่งทำให้อะไรเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น เรื่องอายตนะ คือเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะ อายตนะ แปลว่า ที่ต่อ, เครื่องต่อ
อายตนะคือตา เอาไว้ต่อกับ รูป

หู เอาไว้ต่อ กับ เสียง

จมูก เอาไว้ต่อกับ กลิ่น

ลิ้น เอาไว้ต่อกับรส

ร่างกาย เอาไว้ต่อกับโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะหมายถึงส่วนที่สัมผัสด้วยร่างกายด้วยกายประสาท เช่น เราไปจับอย่างนี้ได้ นี่มันโผฏฐัพพะมากระทบกับร่างกาย

ใจ เป็นเครื่องต่อ กับ ธรรมารมณ์ มันมีได้ เพราะอาศัยสิ่งภายนอกมากระทบ เช่น ตาไปกระทบกับรูป หรือรูปมากระทบกับตา

เวลาตาอยู่เฉยๆ เขาเรียกว่ามันเป็นธาตุ เรียกว่า จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ฯลฯ เช่น ธาตุตา ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุหู ธาตุใจ มันยังไม่ทำหน้าที่ เรียกว่า ธาตุ เป็นสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุรุษบุคคล ไม่ใช่ตัวคนเรา เรา เขา เหล่านั้น มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุตามปกติ

ทีนี้ เราควรรู้ต่อไปว่ามันทำหน้าที่อย่างไร? มันไม่ใช่เป็นธาตุเฉยๆ เมื่อธาตุทำหน้าที่ เขาเรียกมันว่าอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอายตนะ เป็นเครื่องต่อ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่

อันนี้ ฟังให้ดี มันเป็นอายตนะเครื่องต่อขึ้นมา เมื่อมันทำหน้าที่

ตา มีหน้าที่ไปดู รูป พอมันทำหน้าที่ ก็เป็นอายตนะเกิดขึ้น

หู ฟังเสียงก็เป็นอายตนะ - โสตายตนะ

จมูก ได้กลิ่นเป็น ฆานายตนะ

ลิ้น ได้รสเป็น ชิวหายตนะ

กาย ได้สัมผัสถูกต้องอะไรก็เป็น กายายตนะ

จิตรับรู้อารมณ์ก็เป็นมนายตนะ คือเป็นเครื่องต่อขึ้นมา

เมื่อมันไปต่อกับอะไร มันก็เป็นอะไรตามมา ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป อะไรๆมันก็เกิดขึ้น นี่เรียกว่า อายตนะ หมายความว่า เป็นเครื่องต่อ มีอยู่ในร่างกาย และไอ้นี่ เรียกว่าอายตนะ เรียกว่า ประตู ก็ได้ ภาษาธรรมะเรียกว่า ทวาร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ธ.ค. 2017, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทวาร แปลว่า ประตูเข้าออกของอารมณ์

จักขุทวาร ประตูตา

โสตทวาร ประตูหู

ฆานทวาร ประตูจมูก

ชิวหาทวาร ประตูลิ้น

กายทวาร ประตูกาย

มโนทวาร ประตูใจ อันนี้เป็นศัพท์ทางเทคนิคอยู่ เราต้องจำอยู่เหมือนกัน เวลาไปอ่านหนังสือธรรมะ เขาใช้ศัพท์ใช้แสง พูดไม่เป็นศัพท์มันก็ไม่เข้าท่า เลยต้องจำไว้ว่า จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโน เป็นเครื่องที่จะไปติดต่อกับเรื่องภายนอก เป็นทวาร เป็นปากทางที่จะไหลเข้าไป

แล้ว ประตู ๕ ประตู มันไปรวมอยู่ที่ใจ ใจมันอยู่ตรงกลาง เส้นหนึ่งเป็นตา เส้นหนึ่งหู เส้นหนึ่งจมูก เส้นหนึ่งลิ้น เส้นหนึ่งเป็นกาย มันมีสายโยงมาที่ใจ

ใจนั้น ทำหน้าที่อยู่สมอง ถ้าพูดแบบสรีรวิทยา สมองมันทำงาน เกิดเป็นความรู้สึกขึ้น ที่รู้สึกนั้น เรียกว่า จิต เรื่องของจิต แต่ว่ามีรูปเป็นเครื่องประกอบ มีรูปตา มีรูปหู มีรูปจมูก รูปลิ้น รูปกาย เป็นเครื่องประกอบ

คนหูหนวกสัมผัสเสียงไม่ได้ แต่จมูกมันดีอยู่ตลอดเวลา มีเหมือนกันนะ บางคนจมูกไม่รู้กลิ่น คือว่าฆานะประสาทเสีย

ลิ้นนี้ก็ต้องรู้รสทั้งนั้น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม รู้

ร่างกายเป็นเหน็บชา เราก็รู้เหมือนกัน นี่เป็นเครื่องรับรู้ เรียกว่า อายตนะภายใน อยู่ที่ตัวของเรา สำหรับรับสิ่งภายนอกเข้ามา และก็สิ่งภายนอกนั้น ก็เป็นอายตนะเหมือนกัน เรียกว่า อายตนะภายนอก

อายตนะคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากระทบกับอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปตามเรื่องของมัน

นี่เป็นเรื่องในตัวเราที่จะต้องเรียนรู้ไว้ เพราะมันเป็นเครื่องประกอบที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ ขึ้นมา

ตา นี้เป็นเหตุทำให้เกิดความรู้สึกได้ หูก็เป็นเหตุทำให้เกิดความรู้สึกได้ ฯลฯ กาย ใจ เป็นเครื่องประกอบทั้งนั้น อยู่ในตัวของเรา ในตัวของเราทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของรูป

ที่ในรูปของเรานี้ มันมีจิตใจ เรียก มโน ก็ได้ วิญญาณ ก็ได้ เรียกได้หลายชื่อเหมือนกัน จิต มโน วิญญาณ สามคำนี้ ให้เข้าใจว่า มันเป็นไวพจน์ของกันและกัน จิต มโน วิญญาณ สามคำนี้ ให้เข้าใจว่า มันเป็นไวพจน์ของกันและกัน จิต มโน วิญญาณ นี่เหมือนกัน มันแทนกันได้ เรียกแทนกันได้ ศัพท์สามคำนี้ใช้แทนกันได้ แล้วแต่หน้าที่ที่มันจะเป็นผู้กระทำ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ธ.ค. 2017, 19:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในกายของเรานี้ มีสิ่งหนึ่งเรียกว่า จิต

จิตคืออะไร ? อย่าไปถามไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไรเหมือนกัน รู้แต่อาการของมัน อาการที่ปรากฏ ต้องไปถามนักจิตวิทยา เรียกว่า พฤติ. พฤติ ของจิตเป็นอาการที่เกิดนึกขึ้นมาในความคิดความรู้สึกต่างๆ เลยเป็นอาการของจิต

ตัวจิตคืออะไรก็ไม่มีใครรู้ อย่างถามว่าไฟฟ้าคืออะไร ก็ไม่มีใครตอบได้ ตอบได้ว่า มันเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง จิตมันก็คล้ายอย่างนั้น มันเป็นพลังงานในร่างกาย เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย มีหน้าที่สำหรับคิดนึกตรึกตรอง ในเรื่องอะไรต่างๆ เป็นเรื่องของจิตที่มีอยู่ในร่างกาย

จิตนั้น มีหน้าที่อะไร ? คือคิดนึกตรึกตรองในเรื่องอะไรต่างๆ แบ่งหน้าที่ออกไปก็เป็น ๔ เรื่อง แต่ตัวเราจิตมันทำงาน ๔ ประเภท ประเภทเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำงาน ๔ ประเภท เป็นเรื่องของจิตที่จะต้องกระทำ นี่ในเรื่อง ๔ ประการ

(อารมฺมณํ จินฺเตตีติ จิตฺตํ - ธรรมชาติใด ย่อมคิดซึ่งอารมณ์ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2017, 08:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่นี้อธิบายเรื่องของเวทนาก่อน

“เวทนา” หมายถึง ความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ ความรู้สึกที่เกี่ยวกับเวทนาของมนุษย์นี่มันเป็นอย่างนี้ รู้สึกเป็นสุข ก็เรียกว่า สุขเวทนา เป็นทุกข์ ก็เรียกว่า ทุกขเวทนา เฉยๆเป็น อุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา

เอาละ รู้สึกสามนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา เช่น เราดูเสามันรู้สึกอย่างไร ดูพื้นดูเสา มันรู้สึกเฉย ไม่มีอะไรขึ้นในใจ มันเฉยๆ

แต่ถ้าที่เสานั้น มีผู้หญิงมายืนอยู่ มันเป็นเวทนามาเยือนเป็นสุขก็ได้ ถ้ารูปร่างนั้นสวยสดงดงามน่าดู ก็เป็นอุเบกขาเวทนา

ถ้าเขาเอาขยะมาวางที่เสา หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เมื่อดูเข้าก็เป็นทุกขเวทนา

ดูเสาเฉยๆ ดูฟ้า ดูเพดาน ไม่เกิดอะไร มันเป็นอุเบกขาเวทนา อารมณ์มันเฉยๆ ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่ชัง ไม่ยินดียินร้าย

แต่สิ่งที่จะทำให้รัก-ชัง โกรธ เกลียดนั้น มันเป็นรูปของมนุษย์ แต่เป็นเพศตรงกันข้ามเสียด้วย ท่านจึงกล่าวว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ของสตรี ย่อมเป็นที่ปรารถนาพอใจของบุรุษ, รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ของบุรุษ ย่อมเป็นที่ปรารถนาพอใจของสตรี มันจะเข้าหากันเรื่อย สองอย่างนี้มันพอใจกัน จึงเกิดเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา

แต่ถ้าเราดูไปที่เสาไฟฟ้า ต้นหญ้า ต้นไม้ นี่มันเฉยๆ มันแบบอุเบกขาเวทนา แบบเฉยๆ

แต่พอดูรูปร่างคน มันเกลียดก็ได้ รักก็ได้ เป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ นี่เรียกว่า “เวทนา” รู้ความหมายของศัพท์ไว้ก่อน ว่าเวทนามันหมายความอย่างนั้น

ทีนี้ เรามาพูดในภาษาไทยว่า ไอ้นี่มันน่าเวทนาจริงๆ อย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องเวทนา นั่นหมายความว่า มันน่าสงสาร น่าเอ็นดู น่าเกลียด น่าชัง มันหลายเรื่อง เมื่อพูดไปในแบบไทยว่า เวทนา มันไม่ถูกศัพท์อะไรดอก พูดไปตามเรื่องอย่างนั้นเอง

ศัพท์ว่าเวทนานี้ หมายความว่า มีความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ และเฉยๆ อย่างว่ามานั้นแหละ ให้เข้าใจศัพท์นั้นก่อนว่าเวทนาเป็นอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2017, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวทนา แปลกันว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรส ของอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็ เฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือ เกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น (เวทนาจัดอยู่ในจำพวกวิบากไม่ดีไม่ชั่วโดยลำพังตัวของมันเอง) ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมสังขาร ดังนั้น คำว่าชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องมาจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรมเช่น

- เห็นรูปที่น่าปรารถนาน่าใคร่ => เกิดความสุขสบาย => ก็ชอบใจ (ต่ออารมณ์นั้น)

(จักขุ + อิฏฐารมณ์ =>จักขุวิญญาณ => (สุขเวทนา) ==> (สังขาร – ราคะ)

- ได้ยินเสียงที่ไม่ปรารถนา น่ารำคาญ => เกิดความทุกข์ไม่สบาย => ก็ไม่ชอบใจ (ต่ออารมณ์นั้น)

(โสตะ + อนิฏฐารมณ์ => โสตวิญญาณ) => ทุกขเวทนา ==> (สังขาร – โทสะ)

เวทนา มีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งมุ่งประสงค์ เสาะแสวง (หมายถึง สุขเวทนา)

และเป็นสิ่งเกลียดกลัวเลี่ยงหนี (หมายถึงทุกขเวทนา) สำหรับสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีการรับรู้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เวทนาจะเป็นขั้วต่อ และเป็นต้นทางแยก ที่ชี้แนะหรือส่งแรงผลักดันแก่องค์ธรรมอื่นๆ ว่าจะดำเนินไปในทางใด อย่างไร เช่น

ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้วสุขสบาย ก็จะกำหนดหมายอารมณ์นั้นมาก และในแง่หรือในแนวทางที่จะสนองเวทนานั้น และคิดปรุงแต่งเพื่อให้ได้อารมณ์นั้นมาเสพเสวยต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2017, 08:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัญญาหมายถึงอะไร ? จำได้อยู่ รู้เรื่องอยู่ หมายถึงอย่างนั้น คนมีสัญญาคือคนที่ยังไม่สลบไสล เขาเรียกว่ามีสัญญา มีสติสัมปฤดีก็ได้ แต่ว่าศัพท์ไม่ค่อยใช้พูดกันว่า สติสัมปฤดี ไม่ใช่พวกไม่มีสัญญา

คนสลบนั้น ไม่มีสัญญา จำอะไรไม่ได้ รู้อะไรไม่ได้ในขณะนั้น แต่ถ้าเรายังมีสติอยู่ ก็เรียกว่าเรามีสัญญา จำรูปได้ จำเสียง จำกลิ่น จำรสได้ จำสิ่งนั้น สิ่งนี้ได้ เรียกว่า “สัญญา”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2017, 08:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัญญา เป็นความรู้จำพวกหนึ่ง หมายถึง การหมายรู้ หรือกำหนดรู้ อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมติบัญญัติต่างๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา ทุ้ม แหลม อ้วน ผอม โต๊ะ ปากกา หมู หมา ปลา แมว คน เขา เรา ท่าน เป็นต้น

การหมายรู้ หรือกำหนดรู้นี้ อาศัยการเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่า กับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่

ถ้าประสบการณ์ใหม่ตรงกับประสบการณ์ เก่า เช่น พบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียง ที่เคยได้ยินแล้ว ดังตัวอย่าง นาย ก. รู้จักนาย เขียว ต่อมาอีกเดือนหนึ่ง นาย ก. เห็นนายเขียว อีก และรู้ว่าคนที่เขาเห็นนั้นคือนายเขียว อย่างนี้เรียกว่า จำได้

ถ้าประสบการณ์ใหม่ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอาประสบการณ์ หรือความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วนั่นเอง มาเทียบเคียงว่าเหมือนกันและไม่เหมือนในส่วนไหน อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือ ตามที่ตนกำหนดเอาว่า เป็นนั่น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ ใช่นี่ อย่างนี้ เรียกว่า กำหนดหมาย หรือหมายรู้

การหมายรู้เช่นนี้ ย่อมมีหลายชั้น หมายรู้ไปตามความตกลงอันเนื่องด้วยความรู้สามัญบ้าง เช่น ว่า เขียว ขาว เหลือง แดง เป็นต้น ตามนิยม ของโลก ของสังคม ของวัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น บ้าง เช่นว่า อย่างนี้สุภาพ อย่างนั้นสวยงาม อย่างนั้น ถูกธรรมเนียม อย่างนี้ผิดธรรมเนียม เป็นต้น ตามนิยมปรุงแต่งจำเพาะตน บ้าง เช่นว่า อย่างนี้สวย อย่างนั้นน่าชม อย่างนี้น่าหมั่นไส้ เป็นต้น

หมายรู้สองชั้น (แบบสัญลักษณ์) บ้าง เช่นว่า สีเขียวแดงหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่ง หนึ่ง เสียงระฆังสองครั้งหมายถึงการกินอาหาร ตลอดจนตามการศึกษา อบรม ในทางธรรม เช่น หมายรู้ในภาวะที่ไม่เที่ยง หมาย รู้ในภาวะที่เป็นอนัตตา เป็นต้น มีทั้งความหมายรู้สามัญและความ หมายรู้ที่ละเอียดซับซ้อน (คือสัมพันธ์กับขันธ์อื่นมากขึ้น) มี ทั้งหมายรู้เกี่ยวกับรูปธรรม และหมายรู้เกี่ยวกับนามธรรม

คำแปล สัญญา ว่าจำได้ กำหนดได้ หมายรู้ กำหนดหมาย จำหมาย สำคัญหมาย ล้วนแสดงแง่ต่างๆ แห่งความหมายของกองสัญญานี้ทั้งสิ้น

พูดเพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายๆ สัญญาก็คือกระบวนการเรียกเก็บ รวบรวมและสั่งสมข้อมูลของการเรียนรู้ และวัตถุดิบสำหรับความคิดนั่นเอง

สัญญา เกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างมาก

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีโทษมิใช่น้อย เพราะมนุษย์จะยึดติดตามสัญญา ทำให้สัญญากลายเป็นเครื่องกีดกั้นกำบังตนเอง และห่อหุ้มคลุมตัวสภาวะไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไป

สัญญา แยกออกคร่าวๆ เป็น ๒ ระดับ คือ สัญญาอย่างสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมัน อย่างหนึ่ง

และสัญญาสืบทอด หรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง “ปปัญจสัญญา” อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ ซับซ้อนพิสดาร ด้วยแรงผลักดันของตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งเป็นสังขารชั้นนำฝ่ายร้าย อีกอย่างหนึ่ง

การแยกเช่นนี้ จะช่วยให้มองเห็นความหมายของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระเหว่างสัญญา กับ ขันธ์อื่น ภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2017, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อายุ สภาวธรรมที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่หรือเป็นไป, พลังที่หล่อเลี้ยงดำรงรักษาชีวิต, พลังชีวิต, ความสามารถของชีวิตที่จะดำรงอยู่และดำเนินต่อไป, ตามปกติท่านอธิบายว่า อายุ ก็คือ ชีวิตินทรีย์ นั่นเอง, ช่วงเวลาที่ชีวิตจะเป็นอยู่ได้ หรือได้เป็นอยู่, ในภาษาไทย อายุ มีความหมายเพี้ยนไปในทางที่ไม่น่าพอใจ เช่น กลายเป็นความผ่านล่วงไปหรือความลดถอยของชีวิต

ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการตามรักษาสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมด้วย) ดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว เป็นต้น มี ๒ ฝ่ายคือ

๑. ชีวิตินทรีย์ที่เป็นชีวิตรูป เป็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่ง เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงเหล่ากรรมชรูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) บางทีเรียกว่า รูปชีวิตินทรีย์

๒. ชีวิตินทรีย์เป็นเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก อย่างหนึ่ง เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงนามธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลาย บางทีเรียกอรูปชีวิตินทรีย์ หรือนามชีวิตินทรีย์

ชีพ ชีวิต, ความเป็นอยู่

ชีวิต ความเป็นอยู่




รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 21 ก.พ. 2018, 19:35, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 32 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron