วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2017, 20:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหนังสือนี้ หน้า ๔๗๗

รูปภาพ

โลกธรรม ๘ (ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก ๘)

วันนี้ฝนไม่ตก อากาศร้อนหน่อย โลกมันก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ขึ้นๆ ลงๆ พวกเราทำวัตร เหงื่อไหล ไคลย้อย ก็เป็นเรื่องธรรมดา เขาเรียกว่า เป็นเรื่องของโลก.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2017, 21:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วันนี้ จะได้พูดถึงเรื่อง โลกธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับโลก คือธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น เรียกว่า โลกธรรม ใครเกิดมาในโลก ก็ย่อมต้องถูกครอบงำด้วยโลกธรรม ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดาที่ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเสมอ เพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจเสีย เพื่อจะได้ทำไม่ให้เป็นทุกข์ เพราะถูกโลกธรรมเข้าครอบงำ

โลกธรรมที่ครอบงำใจสัตว์โลกทั้งนั้น มี ๘ ประการ คือ

มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์

๘ อย่าง แบ่งเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งคือพวก มี อีกพวกหนึ่ง คือพวก ไม่มี

พวก มี ได้แก่ พวกที่มีลาภ ยศ สรรเสริญ มีความสุข อันนี้ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ แปลว่า สิ่งน่าชอบใจ น่าพึงใจ

พวกที่ ไม่มี ได้แก่ ไม่มีลาภ ไม่มียศ นินทา ทุกข์ อันนี้เป็น อนิฏฐารมณ์ ก็แปลว่า สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพบ ไม่น่าเห็น

แต่ว่าในสิ่ง ๒ ประการนี้ เราหนีไม่พ้น มันต้องเกิดขึ้นแก่เราไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นอยู่อย่างนี้สลับกันอยู่ตลอดเวลา

ชีวิตของเราเหมือนกับฉากละคร ย่อมมีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ คู่กันไป เป็นเหมือนตัวละคร ที่มาเต้นแร้งเต้นกาในชีวิตของเราตลอดเวลา ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
คนเราเป็นสุขเป็นทุกข์ก็เพราะเรื่องอย่างนี้ เวลาได้ดีใจ เพลินใจ ติดใจ

แล้วเวลาเสียล่ะ เสียดาย เสียใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ไม่รู้จักทำให้แยบคาย ไม่ได้ใช้โยนิโสมนสิการ คือ การคิดโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ = รู้จักคิด คิดเป็น คิดมีเหตุผล คิดปลุกเร้ากุศล) จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความทุกข์เมื่อไม่ได้ นี่มันเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ดี

ไอ้ที่ดีนั้น เราควรจะต้องไม่เป็นทุกข์เป็นสุขกับสิ่งเหล่านั้น แต่ว่า เราควรจะวางใจเป็นกลาง ไม่ให้ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น เช่น เรื่องมีนี่
มีลาภ ไม่มีลาภ คู่กัน

มียศ ไม่มียศ มันคู่กัน

นินทา สรรเสริญ เป็นสิ่งคู่กัน

สุขอยู่ กับ ทุกข์ ก็เป็นคู่กันธรรมดา เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแก่เรา เช่นว่า ลาภเกิดขึ้น เราอย่าไปยินดีในลาภนั้น ไม่มีลาภก็อย่ายินร้าย

มียศ ก็อย่าไปเมา ไม่มียศก็อย่าไปเสียใจ

นินทา ก็ทำใจเฉยๆ มีความทุกข์เกิดขึ้นก็อย่าให้มันอยู่นานๆ อย่าให้มีทุกข์อยู่นานๆ รีบเอาออกไปจากใจเราไปเสีย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2017, 17:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในเรื่องนี้ เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะไม่ยุ่ง : เวลาใดมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความสุข เราก็ต้องนึกให้รู้ว่า (คู่ที่ ๑) นึกว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ลาภนี้ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา วันหนึ่ง ก็จะไม่มีลาภ ให้คิดไว้ว่าอย่างนั้น ว่าลาภนี้เกิดขึ้นแก่เรา แต่ลาภนี้ไม่ยั่งยืนไม่ถาวร มันอาจจะเสื่อมไปเมื่อใดก็ได้ เราก็ไม่หลงใหลในลาภนั้น เพราะเรารู้ว่ามันไม่เที่ยง มันมีการเปลี่ยนแปลง มันอาจจะสูญเสียไปเมื่อไรก็ได้ และเมื่อใดเราต้องสูญเสียลาภนั้นไป ก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจ เพราะเราได้เตรียมตัวล่วงหน้าไว้แล้ว ว่าไอ้นี่ มันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป มันจะต้องจากเราไปสักเวลาหนึ่ง ครั้นเมื่อมันต้องจากเราไป เราก็ทำใจเฉยๆได้ คือปลงตกลงไปได้

สิ่งที่เรามีเราได้ไว้ เช่นว่า เรามีเงินมีทองมีข้าวมีของ ถ้ามีไม่เป็นมันก็มีทุกข์ ถ้ามีเป็นมันก็ไม่เป็นทุกข์

มีไม่เป็น มันเป็นอย่างใด ? มีด้วยความยึดมั่นถือมั่น หลงใหลอยู่ในสิ่งนั้น ว่าสิ่งนั้นเป็นของฉัน เป็นของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้คิดว่าสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลง มันอาจจะสูญไปเมื่อไรก็ได้ แตกหายไปเมื่อใดก็ได้ เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นเราก็เตรียมตัวไม่ทัน เลยเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เพราะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป อันนี้เป็นความทุกข์

เพราะฉะนั้น ท่านสอนให้คิดไว้ว่า อะไรๆ ที่เรามีเราได้ มันไม่แน่นอนดอก มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปดอก มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น ได้ลาภ ลาภมันก็ไม่ถาวร มันต้องเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าเราสูญเสียอะไรไป เราก็นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งเหล่านี้ มันไม่ใช่มีอยู่กับเราตลอดเวลา เราไม่ได้สิ่งนั้นมาตั้งแต่เราเกิด สิ่งนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง เราไปยึดถือว่าเป็นของเราเข้าเอง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราจะไม่เป็นทุกข์ เราก็ต้องนึกว่า อันหนึ่งมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป คิดในแง่ว่า ธรรมชาติสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้น แล้วมันก็ดับไป ไม่ใช่อะไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป มันมีเท่านั้น

เราคิดได้อย่างนี้ ใจสบาย ไม่ต้องวิตกกังวล ในเมื่อได้ ในเมื่อสูญเสียอะไรไป เราก็ไม่ต้องทุกข์ใจ เพราะเรานึกว่า ธรรมดา มีเกิดก็ต้องมีดับ มีได้ก็ต้องมีเสีย มีพบกันมันก็ต้องมีจากกัน เหมือนกันทั้งนั้น อะไรๆในโลกนี้ มันอยู่ในสภาพเช่นนั้นแหละ ต้องจากกันสักวันหนึ่ง เช่น เราเกิดมาในครอบครัว เรามีมารดา บิดา ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด เราก็อยู่กับท่าน ถ้าเราไม่ได้คิดไว้ว่า วันหนึ่ง ท่านจะต้องจากเราไป เวลาท่าน จากเราไป เราก็มีความทุกข์ มีความเสียดาย

แต่เรามาคิดถึงกฎธรรมดาของสิ่งทั้งหลายว่า มีแล้วหาไม่ ได้แล้ว มันก็จะหายไป มีพบกันมันก็มีจากกัน ไมมีอะไรมั่นคงถาวรอยู่ในชีวิตของเราอยู่สักอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น เมื่อคนที่เรารักจากไป เช่น คุณแม่จากเราไป คุณพ่อจากเราไป เมียที่รักจากเราไป ผัวที่รักจากเราไป เราไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร มานึกได้ว่า มันเรื่องธรรมดา สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้น ต้องดับไปเป็นธรรมดา สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้น ไม่ดับไม่มี มานึกถึงกฎความจริง ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เราก็จะไม่เสียอกเสียใจในอะไรๆมากเกินไป

สิ่งใดที่เราไม่ชอบใจ ก็ต้องนึกว่า เออ ไอ้นั่นมันเกิดขึ้นไม่เท่าใด มันก็หายไป มันไม่อยู่นานดอก เพราะมันไม่เที่ยง ความดีมันก็ไม่เที่ยง ความชั่วมันก็ไม่เที่ยง ความสุขมันก็ไม่เที่ยง ความทุกข์มันก็ไม่เที่ยงแท้อะไร มันเกิดขึ้นแล้วมันก็เปลี่ยนไปเอง เราไม่ต้องตกอกตกใจ เหมือนกับดวงจันทร์อยู่ฟากฟ้า บางทีก็มีแสงส่องลงมาพื้นโลก บางทีก็มีเมฆมาบัง แต่มันบังไม่นานดอก เดี๋ยวเดียวดวงจันทร์ก็พ้นหมู่เมฆส่องแสงต่อไป ประเดี๋ยวมีเมฆหมู่อื่นลอยมาบังต่อไป

ดวงอาทิตย์ก็เหมือนกัน บางทีก็มีเมฆบังแล้วก็เลื่อนหายไป มองบนท้องฟ้าก็เอามาเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้

ดูต้นไม้ เราก็เอามาเป็นเครื่องเตือนใจได้ว่า ใบไม้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็แก่เหี่ยว ผลที่สุดมันร่วงออกไปจากขั้วของมัน ไม่มีอะไรคงถาวรสักอย่างเดียว เราคิดอย่างนี้ใจมันสบาย เวลามีก็ไม่หลง เวลาไม่มีก็ไม่เดือดร้อนใจ.

(ธรรมดา อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ; สามัญ, ปกติ, พื้นๆ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2017, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(คู่ที่ ๒) เรื่องยศ ก็เหมือนกัน มันก็เป็นหัวโขน หัวโขนที่เขาสวมให้ คนเราปกติไม่มียศ แต่เขาเอายศมาสวมให้

ยศมันมี ๒ อย่าง เรียกว่า อิสริยยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ บริวารยศ หมายถึง ความมีพวกพ้อง อิสริยยศนี้มันต้องมาก่อน แล้วบริวารมันก็เกิดตามมา

คนเรามันก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ อยู่ไปนานๆ มันก็ต้องใหญ่บ้าง ไม่ใช่มันเล็กอยู่ตลอดเวลา มันต้องใหญ่ขึ้นบ้าง คราวนี้มันใหญ่ขึ้นในบ้านในเมือง เขาก็ต้องมีเครื่องเชิดชูบูชา คนทำความงามความดี เขาเลยให้ยศให้เป็นท่านขุน คุณหลวง คุณพระ พระยา อะไรต่างๆ ในสมัยก่อน สมัยนี้ไม่มีแล้ว มีแต่คุณท่านขุนเก่าๆ พระยาเก่าๆ พระยานี้ก็เกือบจะหมดแล้ว เจ้าพระยาก็ยังเหลืออยู่คนเดียวในเมืองไทยนี้ ก็หล่นไปเรื่อยๆ ไม่เท่าไรเจ้าพระยาก็จะหล่นไปอีกสักคนหนึ่งละ เพราะว่าแก่ลงไปเต็มทีแล้ว แล้วก็หายไป ยศที่เอามาให้เท่ากับหัวโขนที่เอามาสวมไว้บนหัว

หัวโขนนี้ ใครสวมอยู่ตลอดเวลาแล้วก็เป็นบ้าตาย เขาไม่ได้สวมหัวโขนอยู่ตลอดเวลา หัวโขนสวมเวลาต้องแสดง ออกไปแสดง ออกไปเป็นตัวทศกัณฐ์สวมหัวทศกัณฐ์ ออกเป็นตัวอนุมานสวมหัวหนุมานออกไป ออกเป็นตัวพระลักษณ์ พระราม สวมหัวพระลักษณ์ พระราม ครั้นกลับเข้าฉากต้องถอดออก ขืนไม่ถอดออกมันอึดอัดตายเท่านั้นแหละ ไม่ใช่มันสนุกอะไรไอ้หัวโขนนี่ มันต้องถอดออก แล้วถ้าโขนปิดโรงปิดฉากแล้ว หัวโขนนั้นก็เก็บใส่ในที่เก็บใส่นั่นใส่ในหีบ ในอะไรที่เขาทำไว้สำหรับเก็บหัวโขน แล้วก็เอาไปเก็บไว้ ไม่แตะต้องมันต่อไป

ยศที่เขาเอามาให้แก่คนนั้นมันก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ยะโส ลัทธา นะ มัชเชยยะ ได้ยศแล้วไม่พึงเมา ท่านบอกว่าได้ยศแล้วอย่าเมา ถ้าขืนเมาแล้วมันเป็นทุกข์ มันวุ่นวาย มันมีปัญหา อะไรร้อยแปดขึ้นไปทีเดียว พอได้ยศขึ้นมา
เหมือนกำนันคนหนึ่ง เขาให้เป็นขุน แกเป็นกำนันตำบลท่ามิหรำ เลยเขาให้เป็น ขุนท่ามิหรำเริงยศ สมัยก่อนกำนันเขามีชื่ออย่างนั้น ขุนเขาเจียกจำเริญสุข ขุนหมู่ปรางค์ หมู่ประชาราษฎร์ อยู่ตำบลไหนเขาก็เอาตำบลนั้นใส่เข้ามาทั้งนั้นแหละ ขุนคูหากำแหง ตำบลคู่หาสวรรค์ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง

ทีนี้ ท่านขุนนี้ พอได้ยศวันนั้น เขาแต่งตั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษา กลับไปถึงบ้านบอกเมียเก่า นี่กูกินข้าวในครัวไม่ได้แล้วนะ ต้องใส่สำรับกับข้าวเป็นที่เป็นทาง ยกมาวางข้างนอก เพราะวันนี้ มันไม่ใช่กำนันปานแล้ว กูเป็นท่านขุนแล้วมึงรู้ไหมล่ะ เลยแม่บ้านต้องจัดสำรับกับข้าวมาวางให้กินข้างนอก เพราะว่าเป็นท่านขุนแล้ว แล้วไปไหนแกก็ต้องบอกว่า กูเป็นท่านขุนแล้วนะ มึงอย่าเรียกกำนันปาน กูเป็นท่านขุนแล้ว เที่ยวบอกเขาเรื่อยไป แกชักจะเมาไปหน่อย เราความเป็นท่านขุนของตน ผลที่สุดแกก็ตาย เป็นได้ไม่นานสักเท่าไร เป็นเท่านั้นเอง เขาเรียกว่าเมายศ ได้ยศเขาไม่ให้เมา

ยศที่เขาแต่งตั้งให้นั้นเพื่อสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็เป็นเครื่องล่อใจคนให้เพลิดเพลิน ให้ทำดี แล้วก็มีรางวัลแล้วก็ได้หน้า ได้รางวัลแล้วก็อย่าทำเหมือนกับลิงได้แก้ว มันไม่ดี ลิงได้แก้วมันถือมาอย่างนั้นแหละ ผลที่สุดแก้วตกแตก มันไม่ได้ประโยชน์อะไร เราได้มาก็เพียงนึกว่า ไอ้นี่มันเป็นเครื่องตอบแทนคุณงามความดี เขาจึงให้ยศแก่เรา เราจะต้องรักษาความดีต่อไป เพื่อไม่ให้เสื่อม อย่างนี้ มันก็ไม่เดือดร้อนใจ ไม่เป็นทุกข์

เหมือนกับ พระสงฆ์เรานี้ ความจริงไม่น่าจะมียศ ไม่มีสมณศักดิ์ แต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินท่านแต่งตั้งให้เป็นนั่นเป็นนี่ เพราะว่าคฤหัสถ์ทำความดีความชอบแก่บ้านเมือง ให้เหรียญ ให้สายสะพาย ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน หลวง พระยา เป็นลำดับ

พระที่ทำความดีความชอบแก่บ้านเมืองมากๆ พระเจ้าแผ่นดินต้องการสนับสนุนพระทำดี ก็เลยพระราชทานสมณศักดิ์ เรียกว่า พระราชาคณะ พระราชาคณะก็คือพระที่เป็นพวกของพระราชา รับยศจากพระราชาแต่งตั้งให้ เช่น ให้เป็นพระครู เรียกว่าธรรมดาที่สุด เป็นพระครูแล้วก็เป็น พระราชาคณะชั้นเจ้าคุณ เจ้าคุณนั่น เจ้าคุณนี่ เจ้าคุณนั้นมีหลายชั้น เป็นเจ้าคุณ ธรรมดาๆ เจ้าคุณชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม แล้วก็ชั้นสุพรรณบัฏ จารึกลงในแผ่นทอง ชั้นหิรัญบัตร เป็นชั้น สมเด็จ แล้วก็เป็นพระสังฆราช ว่ากันไปโดยลำดับ ไปตามเรื่องตามราว

นี่เป็นหัวโขนเหมือนกัน ที่สวมให้แก่พระคุณเจ้าทั้งหลาย เพื่อให้เต้นให้มันเหมาะจังหวะหน่อย เต้นให้ถูกเรื่องถูกราว แล้วชาวบ้านเขาก็พอใจ พระองค์ไหนเป็นเจ้าคุณยกมามือไหว้กันสลอนกันไปเลยทีเดียว เจ้าคุณไหว้เป็นพิเศษหน่อย ถ้าพระหลวงตามาก็เฉยๆ ไม่ค่อยเท่าไร ชาวบ้านเขาก็ชอบ เพราะฉะนั้น พระราชาท่านก็แต่งตั้งให้ หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินคือท่านสถาปนา หน้าที่เรารับไว้ อย่าเอามาเมาก็แล้วกัน อย่าไปยึดถือว่าฉันเป็นเจ้าคุณนะ ไม่ต้องอย่างนั้น อย่าไปยึดถือ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แบบนี้มันเมา ยุ่งไม่เข้าเรื่อง เพียงแต่มีวิธีใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้มันก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะ มันก็ไม่มีเรื่องอะไร นี่เรียกว่ายศที่เขาแต่งตั้ง ไม่ให้มึนเมาในยศเหล่านั้น ได้มาก็ให้นึกแต่เพียงว่า นี่คือรางวัลแห่งการทำดี เราจะต้องทำดีให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ไม่ใช่เพื่อรับรางวัล แต่เพื่อความดี ไม่ใช่เพื่อให้ใครให้รางวัล แต่คนที่เขาเห็นว่าเราดี เขารางวัลให้แก่เรา เราก็รับไปตามเรื่อง

อย่าไปปฏิเสธว่าไม่เอา ไม่เอามันก็มากไป เป็นอัตตาเหมือนกัน เรียกว่า มีมานะทิฏฐิ ฉันไม่เอา ทางที่ถูกนั้นเอาโดยความไม่ยึดมั่นถือมั่นดีกว่า ไม่ขัดโลก ไม่ขืนโลก ใจนั้นอย่างหนึ่ง กายนั้นอย่างหนึ่ง เรียกว่าปากอย่างใจอย่าง หรือมีอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่ง มือมันไปรับถือพัดมา แต่ว่าใจมันไม่รับถือเครื่องยศมา ใจมันไม่ได้ถือ เอามาเก็บไว้ตามเรื่องตามราว เพื่อจะได้เห็นว่าก็มีความดีอยู่บ้างแหละ ไม่ใช่เป็นพระไม่ได้เรื่องอะไร พระเจ้าแผ่นดินยังรู้จักมักจี่ ยังให้นั่นให้นี่ มันก็เป็นเรื่องประกาศคุณงามความดีของผู้นั้น แต่ว่าเราไม่ได้ไปเมาในสิ่งนั้น

เรื่องยศมันเป็นอย่างนี้ อย่าไปเมาในยศ แล้วถ้าเสื่อมยศก็เฉยๆ ถ้าเราไม่ยึดมันก็ไม่เสื่อม เราไม่รับมันก็เสื่อม เราไม่รับมันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าเราไปรับมาถือไว้ มันมีอาการคือยึดถือ ถ้ายึดถือ เวลาเสียไปเราก็เป็นทุกข์ และถ้าเราไม่ยึดถือสิ่งนั้นมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา มีหรือไม่มีมันก็เท่านั้น อย่างนั้นมันก็สบาย

........

คำว่า “ยศ” ในบาภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เกียรติยศ ยศคือเกียรติ ได้แก่ ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ
๒. อิสริยศ ยศ คือความเป็นใหญ่
๓.บริวารยศ ยศคือบริวาร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2017, 18:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(คู่ที่ ๓) ทีนี้ นินทา กับ สรรเสริญ มันเป็นของคู่กัน คนเรานี้ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะถูกนินทาร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะถูกสรรเสริญร้อยเปอร์เซ็นต์ มันปนกันไป ถูกนินทาบ้าง ถูกสรรเสริญบ้าง

สุนทรภู่ท่านเขียนว่า “แม้องค์พระปฏิมายังราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา” อันนี้เข้าที เขียนเป็นธัมมะธัมโม แม้แต่พระพุทธรูปในโบสถ์ยังเศร้าหมองเลย แล้วก็คนเรานี้เป็นคนเดินดินทำไมจึงไม่ถูกนินทาเล่า มันต้องถูกบ้างเป็นธรรมดา เรื่องธรรมดา คนที่ชอบเขาก็ชม เขาก็สรรเสริญเรา คนที่ชังเขาก็ติ

คราวนี้เราจะไปบังคับคนอื่นว่าให้ชมฉันนะ อย่าติฉันนะ มันได้เมื่อไหร่ มันไม่ได้ เราไปบังคับเขาไม่ได้ จะไปบังคับให้เขาชมเราก็ไม่ได้ จะไปบังคับให้เขาติเราก็ไม่ได้ มันเรื่องของเขา มันทัศนะของเขา ความคิดของเขา เขาอาจจะชมก็ได้ เขาอาจจะติก็ได้ แล้วสิ่งที่เราทำนี้ เราทำอย่างนี้คนชอบก็มี คนไม่ชอบก็มี คนสรรเสริญมันก็มี คนนินทามันก็มีเหมือนกัน ในเรื่องเดียวๆ กันนั้นแหละ มีทั้งคนชอบ มีทั้งคนนินทา เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา เราอย่าไปสนใจในคำเหล่านั้นเข้า ต้องมีความอดทนต่อถ้อยคำเหล่านี้

คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าถูกคนด่ามาก คือ นางมาคันทิยา แกโกรธพระพุทธเจ้าแล้วก็ไปเที่ยวด่า จ้างคนด่าพระพุทธเจ้า
พระอานนท์ก็รำคาญเต็มที เพราะพระอานนท์ท่านยังไม่บรรลุมรรคผลชั้นสูง ก็รำคาญใจ ก็เลยกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เมืองนี้ไม่ไหว คนขี้ด่ามากเหลือเกิน ไปเถอะ ไปเมืองอื่นเถอะ
พระพุทธเจ้าถามว่า ไปเมืองไหน ไปเมืองที่เขาไม่ด่า ถ้าไปเมืองนั้นเขาด่าอีกจะทำอย่างไร
ก็ไปเมืองโน้นมันต่อไป

พระองค์บอกว่าเรื่องมันไม่จบ อานนท์ ไม่จบ เรื่องเกิดที่ไหน ก็ควรจะดับที่นั่นแหละ เกิดที่กอไผ่ให้มันดับที่กอไผ่ อย่าเอามาถึงตรงนี้ มันเกิดตรงนี้ให้มันดับตรงนี้ อย่าไปเอาตรงโน้น
ทีนี้คนเรามันไม่อย่างนั้น ชอบเอาไป เรื่องเกิดที่หน้าโบสถ์เอาไปถึงหลังวัด เรื่องเกิดหลังวัดเอาไปถึงหน้าโบสถ์

เรื่องเกิดที่บางรักเอาไปถึงบ้าน เที่ยวเก็บเรื่อยไป อย่างนี้ เรียกว่า เรื่องเกิดที่ไหนไม่ให้มันดับที่นั่น ชอบต่อเรื่องต่อความ เมื่อต่อเรื่องต่อความไปอย่างนั้น มันไม่จบ ถ้าเป็นทุกข์ก็ทุกข์เรื่อยไป ถ้าเป็นสุขก็เมาเรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น ไม่ถูกหลักเกณฑ์

ถ้าให้ถูกหลักของพระพุทธเจ้า : เรื่องเกิดที่ไหนดับที่นั่น เกิดเพราะอะไรก็ต้องให้ดับเพราะเหตุนั้น ไม่ใช่เราหนีเรื่อง แต่เราต้องสู้กับเรื่อง เพื่อให้มันดับไปด้วยปัญญา เช่น คนด่าพระพุทธเจ้า ถ้าหนีไป กลับมามันด่าอีก มันไม่จบดอก พระองค์บอกว่าไม่ควรหนี แต่ว่าเราควรจะต่อสู้กับสิ่งนั้นเหมือนกับช้างออกศึก

ช้างออกศึกนั้นมันยืน ๔ ขา ยืนปักหลักแน่น ลูกศรยิงมาเหมือนห่าฝน ช้างไม่ถอย ช้างไม่หนี ยืนเฉย จนกระทั่งศรเต็มตัว แล้วก็ยืนตายอยู่ในสมรภูมิ เราตถาคตก็ต้องอดทน เหมือนกับช้างศึกในสงคราม คนจะด่าจะว่าอย่างไรก็ทนเอา เพราะมนุษย์นี้มีหลายแบบ คนเรามันว่าได้เรื่อย คนไหนพูดมาก็ถูกติ ไม่พูดก็ถูกติ คนไหนไม่พูดก็ว่าไม่พูดอะไรเลย ถ้าพูดมากก็หาว่า ป.ม. หาว่าปากหมาพูดมากไป อย่างนี้ เป็นตัวอย่าง เดินก้มไปก็ว่าก้มเหมือนกับเดินหาสตางค์ พอเดินแหงนหน้าหาว่าทำท่ายกคออวดดี

มนุษย์เรานี้มันไม่ดีสักคนเดียว มันมีเรื่องติกันทั้งนั้นแหละ ลองไปถามใครๆ ดูเถอะ เช่นว่า คนที่เรานึกว่าดีนั้นต้องมีคนติ ติทั้งนั้นแหละ หลวงพ่อนี้เข้าไปถามบางคนมาแล้วว่าดี แต่ไปถามบางคนว่าไม่ได้ความเลย มันเป็นอย่างนั้น ท่านพุทธทาสก็เหมือนกัน บางคนมันก็ว่าไม่ดี บางคนก็ว่าดี ไม่มีอะไร ฝนตกฟ้าร้องก็มีใครชมใครติ มันต้องมีแหละ
เมื่อฝนตกลงมาพวกด่าก็มี พวกชมก็มี แดดออกคนด่าก็มี คนชมก็มี หนาว ร้อน อ่อน แข็ง กับข้าวที่อร่อยมีคนชอบคนชังทั้งนั้นแหละ เหมือนกับข้าวเขาเลี้ยงวันนี้ มากมายก่ายกอง ก็มีคนอาจจะไม่ชอบก็ได้ ไอ้นี่ไม่ไหว ไอ้นั้นอย่างนั้น ไอ้นี่อย่างนี้ เรื่องธรรมดา โลกนี้ มันอยู่กันแบบนี้แหละ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปหวั่นไหวต่อคำเหล่านั้นของชาวโลก เฉยๆ เช่นว่าถูกเขานินทาอย่าไปหวั่นไหว ถูกคำชมอย่าละเลิงเหลิงตน

ผู้ที่ทำตามคำสอนของพระตถาคตนั้นทำตามอย่างไร ? คือจะไม่ยินดียินร้าย แต่ต้องเอามาพิจารณา เช่นเขาว่าเราชั่ว เราก็ไม่โกรธ เขาว่าเราดีเราก็ไม่ดีใจ เช่น เขาว่า เราชั่ว เราไม่โกรธ เรานั่งพิจารณาว่า เราชั่วจริงหรือเปล่า ถ้าพบว่าชั่วจริงก็ดี เพราะว่าเขาเตือน อย่าโกรธเขาเลย เขากล่าวแนะกล่าวเตือน คนใดชี้โทษให้แก่เรา เหมือนกับมาชี้บอกขุมทรัพย์ให้แก่เรา เราควรจะขอบใจเขา ในการที่เขามาบอกว่าไม่ดี เราจะได้แก้ไข เพราะคนเรามันมองเห็นเมือไรว่าตัวชั่วตัวดี ไม่ค่อยรู้ ไอ้ดีก็พอมองเห็น แต่ความชั่วของตัวนั้นใครเห็นบ้าง ไม่ค่อยได้เห็น มันดีแล้วที่มีคนมาบอกว่า

คุณมันชั่วอย่างนั้นน่ะ เราไปชกหน้าชกปากเขาเข้า แต่ควรยกมือไหว้ขอบคุณเขาว่า ที่คุณได้มาเตือน อันนี้มันดีแล้ว ผมนี่มันมองไม่เห็นตัวเองอยู่นานแล้ว แนะให้เห็นอย่างนี้ ขอบใจมาก เราอย่าไปโกรธเขา ขอบใจเขา แล้วเราก็มาปรับปรุงเราดีกว่า ว่าเรานี้มันชั่ว เอ้อ ชั่วนี้มีจริง เลิกชั่วนั้นเสีย

ถ้าเขาชมว่าดี เราก็อย่าไปเหลิง อย่าไปเพลินต่อคำว่าดีนั้น แต่เราคิดว่าเราดีเหมือนเขาว่าหรือเปล่า เก่งจริงเหมือนเขาว่าหรือเปล่า ลองพิจารณาตัวเอง ถ้ามองเห็น เออ เขาว่าดี แต่เรามันไม่ได้ความอะไร ไม่ได้เรื่องแล้ว ไม่สมกับคำเขาชม ต้องปรับปรุงตัวเสียหน่อย เพื่อให้มันดีสมชื่อที่เขาชม อย่างนี้มันก็สบาย ไม่มีเรื่องวุ่นวาย ไม่เดือดร้อน

ได้รับคำนินทาเราก็เอามาเป็นครู ได้รับคำสรรเสริญก็เอามาเป็นครู เขาเรียกว่า แปลงลูกศรให้เป็นดอกไม้

ข้าศึกยิงลูกศรมาเป่าพรวดเป็นดอกไม้ไปไหมเลย ไม่ทำร้ายตัวเรา มันปลอดภัย แต่ถ้าไม่เป่าเป็นดอกไม้มันเป็นลูกศรอาบยาพิษ เช่น เขานินทาเราโกรธ โกรธก็เรียกว่าเราถูกยิงแล้ว เราเจ็บใจเราก็ถูกยิงแล้ว เราคิดว่าเราต้องไปซัดปากมันสักที แล้วถูกยิงหนักเข้าไปอีก เรียกว่าแสบเข้าไปถึงทรวงแล้ว มันไม่ดี มันไม่ได้เรื่องอะไร ผู้มีปัญญาย่อมไม่ทำตนให้ตกต่ำเพราะคำติ ผู้มีปัญญาย่อมไม่ทำตนให้เหลิงเพราะคำชม แล้วมันก็สบาย คำติดคำชมนั้นมันเป็นเพียงแต่ลมปาก ออกจากปากก็เข้าหู ออกจากรูล่างมันก็หมดเรื่องเท่านั้นเองแหละ ไม่มีอะไรแก่เรา อย่างนี้แล้วมันก็สบายใจ ไม่มีเรื่องยุ่ง ทำใจอย่างนี้ดี

นินทา กับ สรรเสริญต้องคิดในรูปอย่างนั้น จึงจะไม่มีความทุกข์ในใจ เพราะนินทา เพราะสรรเสริญ.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2017, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(คู่ที่ ๔) คราวนี้เรื่องสุข เรื่องทุกข์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา บางครั้ง เป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์

เวลาเป็นสุขก็เพลิดเพลิน มัวเมา หลงใหลอยู่ในความสุขนั้น

พอเกิดเป็นทุกข์ ใจก็หดหู่เหี่ยวแห้ง มันคล้ายกับว่าพอสุข เหมือนปรอทสูงขึ้น พอทุกข์ลงพรวดลงไปเลย อย่างนี้มันแย่ อย่างนี้ มันไม่ไหว มันไปปกติ เขาเรียกว่าคนไม่ปกติ ขึ้นๆลงๆ ผีเข้าผีออก เราจึงควรทำใจอย่างนี้

เวลาใดมีความสุขเกิดขึ้น เราก็ควรพิจารณาว่า ความสุขเกิดขึ้นแก่เรา แต่ความสุขนี้ ไม่เที่ยง มันอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นความทุกข์ไปเมื่อไรก็ได้

เราอย่าไปหลงใหลมัวเมาในความสุขนี้ แต่เราใช้ปัญญาเพ่งพินิจทันทีว่า นี่คืออะไร มันเกิดในใจเราได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ต้องพิจารณาศึกษาค้นคว้า เพื่อให้พบเหตุของเจ้าความทุกข์ตัวนั้น แล้วเราก็แก้ไขต่อไป ไม่ให้ความทุกข์นั้นมันตีเรา ซ้ำเติมเรา ทำให้เราต้องเจ็บแสบ เพราะฉะนั้น เราเอาปัญญาเข้ามาแก้ อย่างนี้ เราจึงจะอยู่รอดปลอดภัย แต่ถ้าเราไม่ใช้ปัญญา สุขก็เสีย ทุกข์ก็เสีย เพราะฉะนั้น จึงต้องระมัดระวัง

คนเราอยู่ในโลกนี้ มันต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับเราเดินทาง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ขึ้นเขาบ้าง ลงห้วยบ้าง ลำบากบ้าง สบายบ้าง เป็นธรรมดาในชีวิตของเราแต่ละคน ก็ต้องประสบพบเห็นกับสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะได้พบกับสิ่งเหล่านี้ ต้องพบอย่างบัณฑิต อย่าพบอย่างคนพาล

พบอย่างบัณฑิต นั้นหมายความว่า พบมันแล้วใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยสิ่งนั้น ให้เห็นว่า มันไมมีอะไร มันเป็นแต่เพียงธรรมชาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็ดับไปเท่านั้น เมื่อมันดับ แล้วอย่าไปคุ้ยเขี่ยมันขึ้นมาอีก ที่เราได้ยินว่า คนเราพูดว่า ฟื้นฝอยหาตะเข็บอีก ไปฟื้นหาตะเข็บให้มันกัดมือเล่น เขาเรียกว่าคนหาเรื่อง อยู่ดีๆ หาเรื่องมากลุ้มใจเล่น หาเรื่องมาให้นอนไม่หลับเล่นๆ นี่มันเรื่องอะไร นอนให้มันหลับไปดีกว่า ไปหาเรื่องให้กลุ้มอกกลุ้มใจให้มีความทุกข์ ให้มีความเดือดร้อน ซึ่งมันไม่มีสาระอะไร ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ชีวิตของเรา

คนเราที่มันเป็นโรคประสาท เพราะเรื่องอย่างนี้ เรื่องไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แล้วก็ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น ติดสุขก็มี ติดทุกข์ก็มี ไม่ได้ทั้งนั้น ติดสุขก็ไม่ได้ ติดทุกข์ก็ไม่ได้ ผิดหลักพระพุทธศาสนา
ไอ้ที่มันอยู่ตรงไหน ตรงที่เรารู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องแล้ว เราไม่ติดมัน เราก็สบาย เช่น ความสุขเกิดขึ้น เราไม่ติดในความสุข แต่เรารู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งนี้ต้องดับไป

ความทุกข์เกิดขึ้น เรารู้ว่าไอ้นี่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนี้ไม่เที่ยง มันก็จะต้องแตกดับไป มองพิจารณาไปในรูปอย่างนั้น จิตใจเราก็ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพราะสิ่งที่มากระทบกระเทือนจิตใจ อันนี้ เป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง เรียกว่า เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ.

สุขในโลกธรรม ไม่ใช่สุขจากความสงบ : เป็นสุขที่เกิดจากสิ่งยั่วยุ รูปยั่วตา เสียงก็ยั่วหู กลิ่นยั่วจมูก รสยั่วลิ้น สิ่งถูกต้องมายั่วกายประสาท ใจก็ไปเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น นั่นมันเป็นความสุขประเภทอามิส มีเครื่องล่อเครื่องจูงใจ ไม่ใช่ความสุขที่ต้องการ

ความสุขที่ต้องการนั้นต้องอยู่ในภาพใจสงบ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นัตถิ สันติปะรัง สุขัง - สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ปฏิเสธเลยว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสงบนั้นคือความสุข

ความสงบก็คือความที่ใจไม่ถูกรบกวนด้วยอารมณ์ภายนอก เวลานั้นเราสงบ จิตที่สงบนั่นแหละ คือ ความสุขที่ถาวร เกิดขึ้นในใจเรา แต่ถ้าสุขเพราะเครื่องล่อเครื่องจูงใจ ก็ขึ้นๆลงๆ ตามดีกรีของสิ่งที่มากระทบ

เรากินอาหารรสอร่อย กลืนเข้าไป ชอบใจ พอไม่อร่อยก็ไมได้ความ มันก็เสียอกเสียใจ อย่างนี้ เรียกว่า โลกธรรมมันเล่นงานแล้ว มันเล่นงานเอางอมแงมไปเลย เจ็บแสบไปเลย

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ว่า มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ สรรเสริญ สุข ทุกข์นี่ เป็นแต่เพียงโลกธรรม ที่เกิดขึ้นมากระทบเรา แล้วให้มันแตกดับไปที่นั่น เราจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น ก็สบายใจ

นี่วิธีการต่อสู้กับโลกธรรม ๘ ประการ เพราะมันมากระทบอยู่บ่อยๆ ทุกๆวัน อยู่ๆ คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าคุณอย่างนั้น เราก็ อ้อ อย่างนั้นหรือ แล้วมันก็หมดเรื่องไป อย่าไปเที่ยวต่อ ช่างเถอะ พูดอะไรก็ ช่างเถอะ ดี ไอ้ช่างเถอะนี่ดี ช่างหัวมัน ก็ได้ ช่างหัวมันแล้วก็สบาย นี่ดีเหมือนกัน ช่างหัวมันนี่ดีเหมือนกัน เป็นภาษาที่ใช้ได้ ไอ้ช่างหัวมัน นี่ทำให้ไม่ยุ่ง ทีนี้ ถ้าไม่ช่างหัวมันแล้วมันยุ่งละ นี่เรื่องโลกธรรม เอาเพียงเท่านี้.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2017, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน
แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวาหวาด

ส่วนผู้เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบ ก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละ
จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้" * (ม.มู.13/451/411 ฯลฯ )

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2017, 19:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธพจน์บางตอนที่แสดงให้เห็นลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตแห่งความยึดมั่นถือมั่น กับ ชีวิตแห่งปัญญา เช่น

"ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

“อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

"ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับ ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้"

"ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ ร่ำไห้ รำพัน ตีอกร้องไห้ หลงใหลฟั่นเฟือนไป เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และ เวทนาทางใจ

"เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้น ย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด
ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น...ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ

"อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจ เพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา ก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร ?

เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้น ย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่่รู้...ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนา (= อุเบกขาเวทนา) ย่อมนอนเนื่อง

"ถ้าได้เสวยสุขเทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าได้เสวยทุกขเทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าได้เสวยอทุกขมสุขเทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว

"ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบ ด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2017, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฟั่นเพือน เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

"เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิ่งบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้น ย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น...ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

"อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจ เพราะถูกทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจ เพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร ? เพราะอริยสาวก ผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อเธอไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้...ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง

"ถ้าเสวยสุขเทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเทนา เธอก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์"

"ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับ ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้" (สํ.สฬ.18/369-372/257-260)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2017, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำสอนในทางพุทธศาสนานี้ มี ๒ ชั้น คือธรรมะหรือพระธรรมมี ๒ ชั้น: ธรรมะที่เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่ง กับ ที่เป็นสัจธรรมอีกอย่างหนึ่ง

ศีลธรรม นั้นเป็นคำสอนชั้นธรรมดา ที่มีคล้ายกันทุกศาสนา ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ มีคำสอนในด้านศีลธรรมคล้ายกัน ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

เรื่องของศีลธรรมเกิดขึ้นอย่างไร เราควรรู้ เพราะศีลธรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคม

สัจธรรม เป็นเครื่องแก้ปัญหาเฉพาะคน

ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงหน่อย ก็เรียกว่า สัจธรรมเป็นเรื่อง “ปัจเจกชน”

ศีลธรรมเป็นเรื่อง “สังคม”

ดูเต็มๆ ที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55033

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร