วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2013, 14:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วงการสงฆ์สูญเสียครั้งใหญ่

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) หรือ สมเด็จเกี่ยว ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ได้ละสังขารแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 08.41 น. ของวันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลสมิติเวช เนื่องจากติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุรวมได้ 85 ปี พรรษา 64 ส่วนพิธีบำเบ็ญกุศลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานน้ำหลวงสรงศพวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 เวลา 17.00 น. และทรงพระราชทานในพระบรมราชานุเคราะห์สวดพระอภิธรรม 7 วัน ถึงวันที่ 18 สิงหาคม โดยงดวันที่ 12 สิงหาคม

ขณะที่พุทธศาสนิกชนและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างเศร้าสลดเสียใจต่อการละสังขาร

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า ทางวัดสระเกศฯ จะมีพิธีเคลื่อนศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในเวลา 09.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไปยังวัดสระเกศฯ หลังจากนั้นในช่วงเวลา 13.00 น. จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยคาดว่าจะมีพิธีน้ำหลวงสรงศพ ในช่วงเวลา 17.00 น. จากนั้นจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมโดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารับการตรวจรักษายังโรงพยาบาลสมิติเวชอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 เดือน โดยครั้งล่าสุดสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณเดือนกว่าๆ และได้มรณภาพลงในที่สุด

สำหรับขั้นตอนจากนี้ไป มหาเถรสมาคม (มส.) จะต้องมีการคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่รูปใหม่จากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ รวม 7 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร, สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม วรวิหาร จากนั้นเมื่อทางมหาเถรสมาคมได้ลงมติคัดเลือกแล้ว ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะส่งเรื่องรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป


ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ.2533 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2471 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตรทั้งหมดรวม 7 คน ของ นายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และ นางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำอาชีพสวนมะพร้าว ปัจจุบันสกุลโชคชัย หรือแซ่โหย่ เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์

สำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี 2483 แต่ก่อนจะถึงกำหนดวันเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่าหากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2484 ณ วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ความตั้งใจเดิมคือบวชแก้บน 7 วัน แล้วจะสึกไปเรียนต่อ แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่คิดสึก โยมบิดา-มารดาจึงพาไปฝากหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพฯ แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ก็ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อพริ้งจึงรับตัวพาไปฝากพระอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามโลกสงบจึงพากลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรมสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2492 ณ วัดสระเกศ โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นปี พ.ศ.2497 ท่านสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อน และสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับดังนี้

พ.ศ.2501 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระเมธีสุทธิพงศ์

พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี

พ.ศ.2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์

พ.ศ.2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์

พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ) ที่ พระพรหมคุณาภรณ์

พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่ออายุ 62 ปี

นอกจากนี้ เคยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ.2508 ครั้นถึงปี พ.ศ.2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และ พ.ศ.2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม

เนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวรและเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2545 ทำให้ทรงประกอบภารกิจด้านการพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม (มส.) จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ.2547

ต่อมาการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนฯ นั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคม (มส.) จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ


พระผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก

ขณะเดียวกันสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกโดยในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ผู้เป็นพระอาจารย์เนื่องจากวัดสระเกศนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพระพุทธศาสนาต่างประเทศมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชดำริที่จะให้มีการฟื้นฟูพระศาสนาให้ตรงตามแบบเดิม จึงได้คัดเลือกพระที่จะไปสืบศาสนาที่ประเทศศรีลังกา และคัดเลือกได้พระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพจากวัดสระเกศ 2 รูป

ภายหลังเมื่อพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพกลับมาจากลังกา ได้นำหน่อต้นโพธิ์มาด้วย 3 หน่อ รัชกาลที่ 2 ทรงให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศต้นหนึ่ง ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง และที่วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับนิมนต์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และในโอกาสต่อมาก็ได้เริ่มวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกา โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน สมาคมชาวไทยเหนือ และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาในอเมริกา เพื่อหาวิธีการที่จะสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาให้ได้

ภายหลังการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกาบรรลุผลสำเร็จ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้เปลี่ยนเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปสังเกตการณ์พระศาสนาในยุโรป สำหรับทางยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เป็นดินแดนที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์สามารถไปสร้างวัดไทยได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก และเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีความเชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างคอนโดที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยเนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ค กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ วัดไทยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน วัดไทยไอซแลนด์ และวัดไทยเบลเยียม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง 3 วัดในลักซัมเบิร์กในเวลาต่อมา วัดไทยเนเธอร์แลนด์ นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรปเหนือ และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จากนั้นพระธรรมทูตก็จะถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ในแถบนี้

พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดนได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัด โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน และได้จัดสรรพื้นที่ให้กว่า 271 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย การที่ภาครัฐและเอกชนของประเทศสวีเดน ได้เข้ามาดูแลการสร้างวัดไทยเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา หากเอาเงินไทยไปสร้างวัดให้ฝรั่ง จะต้องนำเงินไทยออกจากประเทศจำนวนมหาศาลจึงจะสร้างวัดได้สักวัดหนึ่ง

การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านยุโรป พระสงฆ์ได้ใช้เงินไทยน้อยมาก โดยใช้เงินประเทศนั้นเพื่อสร้างวัดประเทศนั้น ซึ่งเป็นการให้ฝรั่งสร้างวัดพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งเอง เพราะเจ้าของผู้สร้างจะได้เกิดความรักความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา จะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงวางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า

“พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด และให้ชื่อว่า “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.2517” นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่อีกนัยหนึ่งนั้น ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก

อาจจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลกเกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก เป็นเหตุให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก ในปัจจุบัน

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯ ถวายน้ำพระราชทานสรงศพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2556 เวลา 17.15 น.


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
ที่มาของรูปภาพ : http://www.alittlebuddha.com

:b8: :b8: :b8: ขอน้อมกราบนมัสการลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยว ด้วยเศียรเกล้า
ทั้งน้อมระลึกถึงคุโณปการยิ่งที่ท่านมีต่อพระพุทธศาสนาและมวลมนุษย์ชาติ
กรรมใดที่ลูกได้ประมาทพลั้งเผลอล่วงเกินองค์สมเด็จเกี่ยว ไม่ว่าด้วยกาย วาจา ใจ
ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม
กราบขอองค์สมเด็จเกี่ยวได้โปรดเมตตาอโหสิกรรมและงดโทษให้ด้วยเทอญเจ้าค่ะ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2013, 14:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.ย. 2011, 21:51
โพสต์: 4941


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b2:

พฤษก กาสร อีกกุญชร อันปลดปลง

โททนต์ เสน่งคง สำคัญหมาย ในกายมี

นรชาติ ที่วางวาย มลายสิ้น ทั้งอินทรีย์

สถิตย์ทั่ว แต่ชั่วดี ประดับไว้ ในโลกา

:b7:
:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2013, 15:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ส.ค. 2010, 18:54
โพสต์: 615

สิ่งที่ชื่นชอบ: พระไตรปิฏก อรรถกถา
ชื่อเล่น: พุทธฏีกา
อายุ: 0
ที่อยู่: ดอยสัพพัญญู

 ข้อมูลส่วนตัว www


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ

ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง,
สัพพัง อะปะราธัง, ขะมะถะ เม ภันเต,
อาจะริเย ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง,
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
มาตาปิตะเร ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง,
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,
อุกาสะ ขะมามิ ภันเต


กรรมอันใด, ที่ข้าพเจ้า, ได้เคยล่วงเกิน, ประมาทพลาดพลั้ง
ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี
ในพระธรรมวินัยก็ดี
ในพระอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลายก็ดี
ในพระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ก็ดี
ในมารดาบิดาของข้าพเจ้าก็ดี
ในผู้มีพระคุณทั้งหลายก็ดี
ตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน
จะด้วยเจตนาหรือไม่ได้เจตนาก็ดี
จะด้วยกาย วาจา ใจ ก็ดี
เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม
ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลาย
ในพระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
มารดาบิดา ผู้มีพระคุณทั้งหลาย
ได้โปรดงดโทษให้แก่ข้าพเจ้า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ตราบเข้าถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ คือ พระนิพพาน ด้วย...เทอญ ฯ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
39777.กฎกติกา มารยาท และบทลงโทษ ในการใช้บอร์ด

42529.สีลัพพตปรามาส - สีลัพพตุปาทาน (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
44772.e-Book สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พระไตรปิฎกมาแล้ว อรรถกถาอยู่ตรงไหน ตอนที่ 1 (ลานธรรมเสวนา)
พระไตรปิฎกมาแล้ว อรรถกถาอยู่ตรงไหน ตอนที่ 2 (ลานธรรมเสวนา)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2013, 19:05 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอร่วมไว้อาลัยต่อการละสังขารด้วยค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2013, 23:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว


ถวายการไว้อาลัย การมรณภาพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนะเจ้าค่ะ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2013, 09:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 15 ต.ค. 2008, 19:58
โพสต์: 293

โฮมเพจ: https://www.facebook.com/McDoorEdgeRubber
แนวปฏิบัติ: ตามหาพุทโธ
งานอดิเรก: ถ่ายภาพ สะสมพระเครื่องพระบูชา เลี้ยงปลา เลี้ยงแมว
ชื่อเล่น: Mc
อายุ: 0
ที่อยู่: สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 ข้อมูลส่วนตัว www


น้อมส่งเจ้าประคุณสมเด็จฯครับผม :b8: :b8: :b8:

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
สังโฆ ปฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ

.....................................................
ถ้าจะตาย จะเสียดายทำไมเล่าชีวี
ต้องรู้เท่าทันธาตุขันธ์นี้ ล้วนแต่มีอนิจจังทั้งหมด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2014, 20:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.9) คารวะศพสมเด็จเกี่ยว ไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับสองพระมหาเถระผู้เคยร่วมงานกันมาใน "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างยาวนาน และเคยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในสหรัฐอเมริกา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ได้เข้ากราบคารวะศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นครั้งสุดท้าย ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส ในเวลาค่ำ ซึ่งเป็นเวลาฌาปนกิจ (เผาจริง) แขกที่มาร่วมงานในตอนกลางวันกลับกันไปหมดแล้ว พระพรหมคุณาภรณ์จึงเป็นผู้เคารพศพสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นคนสุดท้าย นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวัดสระเกศหน้าสำคัญที่ต้องจารึกไปตราบนานเท่านาน

http://www.alittlebuddha.com/SD_Putajar ... ajarn.html

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 89 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร