วันเวลาปัจจุบัน 01 พ.ค. 2025, 20:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2012, 09:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5325


 ข้อมูลส่วนตัว


๗. กุสลากุสลพลวาพลวปัญหา ๗๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน กรรมไหนมีกำลังยิ่งกว่า กุศลหรืออกุศล?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร กุศาลมีกำลังยิ่งกว่า อกุศลหาอย่างนั้นไม่."
ร. "ข้าพเจ้ายังไม่ยอมรับตามคำว่า 'กุศลมีกำลังยิ่งกว่า อกุศลหาอย่างนั้นไม่' นั้นดอก. ชนทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้ถือเอาซึ่งสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เป็นผู้มักกล่าวปด เป็นผู้ฆ่าซึ่งชาวบ้าน เป็นผู้ประทุษร้ายในหนทาง เป็นผู้หลอกลวงเขา มีปรากฏอยู่, เพราะกรรมอันเป็นบาปมีประมาณเท่านั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมได้ซึ่งกรรมกรณ์ คือ อันตัดมือ ตัดเท้า ตัดทั้งมือทั้งเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดทั้งหูทั้งจมูก และพิลังคถาลิกะกรรมกรณ์ (คือ ผ่ากบาลศีรษะแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใส่ลงในกบาลศีรษะนั้น มันสมองที่เป็นอยู่ในกบาลศีรษะก็ลอยขึ้นบ้างบน) สังขมุณฑิกะกรรมกรณ์ (คือ เชือดดริมฝีปากข้างบน และหนังที่หุ้มหมวกหูทั้งสองข้าง และหลุมคอ แล้วขมวดผมทั้งหมดให้เป็นขอดในที่เดียวกันแล้วกระชากออก หนังก็หลุดออกพร้อมกับผม แล้วขัดกบาลศีระษะด้วยกรวดอันหยาบแล้วล้าง กระทำกบาลศีรษะให้เหมือนสีสังข์) ราหุมุขะกรรมกรณ์ (คือ เอาขอเกี่ยวปากไว้ให้อ้าแล้วจุดไฟไว้ในปาก แล้วเอาเหล็กหมาดสักตั้งแต่หมวดหูกระทั้งปาก โลหิตก็ไหลออกเต็มปาก) โชติมาลิกะกรรมกรณ์ (คือ พันตัวทั้งหมดด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟเผา) หัตถะปโชติกะกรรมกรณ์ (คือ พันมือทั้งสองด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วเอาไฟเผา) เอรกวัติกะกรรมกรณ์ (คือ เฉือนแผ่นหนังตั้งแต่คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วผูกนักโทษนั้นไว้ด้วยเชือกแล้วกระชากมา นักโทษนั้นก็เหยียบแผ่นหนังของตนล้มลง) จีรกวาสิกะกรรมกรณ์ (คือ เฉือนแผ่นหนังตั้งแต่คอลงไปถึงสะเอว แล้วเฉือนแผ่นหนังตั้งแต่สะเอวลงไปถึงข้อเท้า สรีระมีในเบื้องต่ำของนักโทษนั้น ก็เป็นเหมือนผ้านุ่งที่ทำด้วยเปลือกไม้ เพราะแผ่นหนังมีในเบื้องบนมีอยู่) เอเณยยกะกรรมกรณ์ (คือ สอดซี่เหล็กคาบไว้ที่ข้อศอกทั้งสองและเข่าทั้งสอง แล้วค้ำไว้ด้วยหลาวเหล็ก นักโทษนั้นตั้งอยู่บนพื้นด้วยหลาวเหล็กสี่อันทีหลังเขาล้อมนักโทษนั้นนำไฟเข้าเผา ด้วยเห็นกันเหมือนว่า เผาเนื้อทราย) พลิสมังสิกะกรรมกรณ์ (คือ เอาเบ็ดเกี่ยวปากไว้ทั้งสองข้างแล้วดึงให้หนังเนื้และเอ็นหลุดออก) กหาปณะกรรมกรณ์ (คือเอาพร้าอันคมเถือสรีระทั้งสิ้นของนักโทษนั้นให้ตกลงทีละเท่าแผ่นกหาปณะ) ขาราปฏิจฉกะกรรมกรณ์ (คือ ฟันสรีระของนักโทษนั้นด้วยอาวุธให้ทั่วแล้วถูด้วยน้ำแสบ ให้หนังและเนื้อเอ็นไหลออกเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก) ปลิฆปริวัตติกะกรรมกรณ์ (คือ ให้นักโทษนั้นนอนตะแคง แล้วเอาหลาวเหล็กแทลงลงที่ช่องหูให้ทะลุออกช่องล่างติดเนื่องกับแผ่นดิน ทีหลังเขาจับเท้าทั้งสองของนักโทษนั้นเวียนไป) ปลาสปีฐกะกรรมกรณ์ (คือ ไม่เชือดผิวหนัง ทุบกระดูกทั้งหลายด้วยลูกหินบดแล้วจิกผมทั้งหลายยกขึ้น กองเนื้อเท่านั้นมีอยู่ ทีหลังเขารวบผมทั้งหลายเข้าพันกองเนื้อนั้นไว้ดุจมัดฟาง) รดด้วยน้ำมันอันร้อนบ้าง ยังสุนัขทั้งหลายให้เคี้ยวกินบ้าง เสียบบนหลาวบ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง; ชนทั้งหลายบางพวกทำบาปในราตรี ย่อมเสวยผลของบาปนั้นในราตรีนั้นเอง บางพวกกระทำบาปในราตรี ย่อมเสวยผลในกลางวัน, บางพวกกระทำในกลางวัน ย่อมเสวยผลในราตรี, บางพวกต่อสองวันสามวันล่วงไปจึงเสยผล;ชนทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทั้งปวง ย่อมเสวยผลในทิฏฐธรรมทีเดียว. มีหรือ พระผู้เป็นเจ้าใคร ๆ ให้ทานทั้งบริวารแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือสองคน สามคน สี่คน ห้าคน สิบคน ร้อยคน พันคน แสนคน แล้วได้เสวยโภคทรัพย์ ยศ หรือความสุขซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม หรือได้เสวยโภคทรัพย์เป็นต้นนั้น ด้วยศีลหรืออุโบสถกรรม?"
ถ. "มีอยู่ ขอถวายพระพร บุรุษสี่คนให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถธรรม ถึงซึ่งยศในเทวโลกชื่อไตรทศ (ชั้นดาวดึงส์) โดยอัตภาพนั้นนั่นเอง ในทิฏฐธรรมทีเดียว."
ร. "ใครบ้าง?"
ถ. "พระเจ้ามันธาตุราชหนึ่ง พระเจ้านิมิราชหนึ่ง พระเจ้าสาธีนราชหนึ่ง คุตติลคนธรรพ์หนึ่ง."
ร. "ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวนั้นเป็นข้อลี้ลับ โดยพันแห่งพิภพมิใช่อันเดียว, และข้อนั้นปรากฏแก่จักษุของเราทั้งสองไม่ได้; ถ้าพระผู้เป็นเจ้าสามารถ ก็จงกล่าวในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ณ ภพเป็นปัจจุบัน."
ถ. "ในภพเป็นปัจจุบัน ทาสชื่อปุณณกะถวายโภชนะแก่งพระสารีบุตรเถระ ได้รับที่เศรษฐีในวันนั้น ปรากฏนามว่าปุณณกเศรษฐีในกาลนั้น. นางโคปาลมาตาเทวีถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัจจายนเถระผู้มีตนเป็นที่แปด ด้วยกหาปณะทั้งแปดที่ขายผมทั้งหลายของตนได้มา ได้ถึงที่อัครมเหสีแห่งพระเจ้าอุเทนในวันนั้น. นางสุปปิยาอุบาสิกา ถวายเนื้อล่ำด้วยเนื้อที่ขาของตนแก่ภิกษุไข้รูปใดรูปหนึ่งในวันที่สองเป็นผู้มีแผลหาย มีผิวหาโรคมิได้. นางมัลลิกาเทวีถวายก้อนขนมกุมาสค้างคืนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระราชาโกศลในวันนั้นเอง. นายสุมนมาลาการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกมะลิแปดกำมือ ได้ถึงสมบัติใหญ่ในวันนั้นเอง. เอกสาฎกพราหมณ์บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้าห่ม ได้หมวดแปดแห่งวัตถุทั้งปวงวันนั้นเอง. ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทั้งปวงได้เสวยโภคทรัพย์และยศซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม."
ร. "พระผู้เป็นเจ้าค้นหา ได้พบชนหกคนเท่านั้นหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร."
ร. "ถ้าอย่างนั้น อกุศลมีกำลังยิ่งกว่า กุศาลหาอย่างนั้นไม่. ก็วันเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นบุรุษทั้งหลายสิบคนบ้าง ยี่สิบคนบ้าง สามสิบคนบ้าง สี่สิบคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง ร้อยคนบ้าง พันคนบ้างรับอาชญาขึ้นอยู่บนหลาวทั้งหลาย เพราะผลแห่งกรรมเป็นบาป... ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า 'อกุศลมีกำลังยิ่งกว่าแน่แท้ กุศลหาอย่างนั้นไม่' ฉะนี้. อสทิสทานอันพระเจ้าโกศลทรงบริจาคในพระพุทธศาสนานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ยินหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ได้ยิน."
ร. "เออก็ พระเจ้าโกศลทรงบริจาคอสทิสทานนั้นแล้ว ย่อมได้ทรัพย์สมบัติยศและความสุขอะไร ๆ ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรมอันเป็นผลของการบริจาคนั้นหรือ?"
ถ. "หามิได้ ขอถวายพระพร."
ร. "ถ้าว่าพระเจ้าโกศลทรงบริจาคทาน ไม่มีทานอื่นจะยิ่งกว่าเห็นปานนี้ ก็ไม่ได้แล้วซึ่งทรัพย์สมบัติยศและความสุข ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม อันเป็นผลของการบริจาคนั้น, ถ้าอย่างนั้น อกุศลก็เป็นของมีกำลังกว่าแท้ กุศลหาอย่างนั้นไม่."
ถ. "ขอถวายพระพร เพราะความที่อกุศลเป็นของเล็กน้อยอกุศลจึงแปรไปเร็ว เพราะความที่กุศลเป็นของมาก กุศลจึงแปรไปโดยกาลยืดยาว. คำที่อาตมภาพว่านี้ บรมบพิตรต้องทรงพิจารณาโดยอุปมา.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาในชนบทมีในที่สุดชนบทอื่นอีก เกี่ยวมาไว้ในฉางได้เดือนหนึ่งจึงแปรไป, ข้าวสาลีทั้งหลาย แปรไปโดยห้าหกเดือน; ในของสองอย่างนี้ ธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาและข้าวสาลีทั้งหลาย จะผิดกันอย่างไร แปลกกันอย่างไร?"
ร. "ผิดกัน แปลกกัน เพราะความที่แห่งธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาเป็นของที่เนื้อน้อย, และเพราะความทีแห่งข้าวสาลีทั้งหลายเป็นของมีเนื้อแน่น. ข้าวสาลีทั้งหลายเป็นของควรแด่พระราชา เป็นพระกระยาหารของพระราชา, ธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกา เป็นโภชนะของทาสและกรรมกรทั้งหลาย."
ถ. "เพราะความที่แห่งอกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงแปรไปเร็ว เพราะความที่แห่งกุศลเป็นของมาก กุศลจึงแปรไปโดยกาลยาวฉันนั้นแล."
ร. "ในกรรมทั้งสองนั้น กรรมใด แปรไปเร็ว กรรมนั้น เป็นของมีกำลังยิ่งกว่าในโลก, เพราะเหตุนั้น อกุศลกรรมเป็นของมีกำลังยิ่งกว่า กุศลกรรมหาอย่างนั้นไม่. ทหารคนใดคนหนึ่ง เข้าไปสู่การรบใหญ่ จับศัตรูคู่ต่อสู้ที่รักแร้ได้ ฉุดมานำเข้าไปส่งนายโดยพลัน ทหารนั้นชื่อว่า เป็นผู้อาจ เป็นผู้กล้าในโลก, อนึ่ง แพทย์คนใด ถอนลูกศรออกให้โรคหายโดยพลัน แพทย์คนนั้นชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด, คนผู้นับคำนวณใด นับคำนวณเร็ว ๆ แล้วแสดงทันที คนผู้นับคำนวณนั้น ชื่อว่าเป็นคนฉลาด, คนปล้ำใด ยกคนปล้ำคู่ต่อสู้พลันให้ล้มหงาย คนปล้ำนั้นชื่อว่าเป็นผู้สามารถ เป็นผู้กล้า ฉันใดก็ดี: สิ่งใดแปรไปเร็ว กุศลหรืออกุศลก็ตาม สิ่งนั้นเป็นของมีกำลังยิ่งกว่า ฉันนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร กรรมแม้ทั้งสองนั้น เป็นของที่สัตว์จะต้องเสวยในสัมปรายภพ, อีกประการหนึ่ง อกุศลกรรมเป็นของที่สัตว์จะต้องเสวยผลในทิฏฐธรรมโดยขณะ เพราะความเป็นของเป็นไปกับด้วยโทษที่ควรเว้น.
ขอถวายพระพร พระราชกำหนดนี้ อันพระมหากษัตริย์ทั้งหลายในกาลก่อนทรงตั้งไว้แล้วว่า 'ผู้ใดฆ่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน ผู้ใดลักฉ้อสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดถึงภริยาของบุคคลอื่น ผู้ใดกล่าวปด ผู้ใดฆ่าชาวบ้าน ผู้ใดประทุษร้ายตามหนทาง ผู้ใดทำซึ่งอันล่อลวงเขา ผู้นั้น ๆ ควรปรับไหม ควรเฆี่ยน ควรตัดอวัยวะ ทำลายอวัยวะ ควรฆ่า ตามโทษานุโทษ' ฉะนี้. พระมหากษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยพระราชกำหนดนั้น ทรงพิจารณาแล้วทรงพิจารราแล้ว ให้ปรับไหมบ้าง ให้เฆี่ยนบ้าง ให้ตัดอวัยวะบ้าง ให้ทำลายอวัยวะบ้าง ให้ฆ่าบ้าง ตามโทษานุโทษ. ความกำหนดนี้ อันชนบางพวกตั้งไว้แล้วว่า 'ผู้ใดให้ทานรักษาศีลหรือทำอุโบสถกรรม ควรให้ทรัพย์หรือยศแก่ผู้นั้น' ฉะนี้ มีอยู่หรือ?
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้ว ซึ่งความกำหนดไว้นั้น ย่อมให้ทรัพย์บ้าง ยศบ้าง แก่ผู้นั้น ราวกะให้การเฆี่ยนและจำจองแก่โจรผู้ทำโจรกรรมหรือ?"
ร. "หามิได้เลย"
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่า ชนทั้งหลาย พึงพิจารณาแล้วพิจารณาแล้ว ให้ทรัพย์หรือยศแก่ทายกทั้งหลายไซร้, ถึงกุศลก็พึงเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรม. ก็เพราะเหตุใด ชนทั้งหลายไม่พิจารณาแล้วว่า 'เราทั้งหลาย จักให้ทรัพย์หรือยศแก่ทายกทั้งหลาย' ดังนี้, เพราะเหตุนั้น กุศลจึงหาเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรมไม่.
ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แล อกุศลจึงเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรม, และผู้ทำอกุศลกรรมนั้น ย่อมเสวยเวทนาที่มีกำลังยิ่งกว่าในสัมปรายภพ."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหานี้ อันใคร ๆ เว้นเสียแต่ผู้รู้เช่นด้วยพระผู้เป็นเจ้า พึงแก้ไขไม่ได้; ของที่เป็นไปในโลก อันพระผู้เป็นเจ้าให้รู้แจ้ง โดยความเป็นของข้ามขึ้นจากโลก."

๘. เปตอุททิสสผลปัญหา ๗๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ทายกทั้งหลายเหล่านี้ ให้ทานอุทิศถึงญาติผู้วายชนม์แล้วในกาลก่อน ด้วยตั้งจิตว่า 'ทานนี้ จงถึงแก่ญาติทั้งหลายผู้วายชนม์แล้วในกาลก่อน' ฉะนี้. ญาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมได้รับผลของทานอะไร ๆ บ้างหรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "บางพวกได้รับ บางพวกหาได้รับไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "พวกไหนได้รับ พวกไหนไม่ได้รับ?"
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในนรก ย่อมไม่ได้รับและสัตว์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในครรภ์ สัตว์ทั้งหลายผู้ไปในกำเนิดดิรัจฉานย่อมไม่ได้รับ;ในเปรตทั้งหลายสี่พวก เปรตทั้งหลายสามพวก คือ วันตาสิกเปรต ขุปปิปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต ย่อมไม่ได้รับ; ปรทัตตูปชีวีเปรตทั้งหลาย ย่อมได้รับ, แม้เปรตเหล่านั้น ระลึกถึงอยู่นั่นเทียว จึงได้รับ."
ร. "ถ้าอย่างนั้น ทานของทายกทั้งหลาย เป็นของไปปราศจากกระแส หาผลมิได้, ทานที่ทายกทั้งหลายกระทำอุทิศถึงญาติทั้งหลายผู้ตายแล้วเหล่าใด ถ้าว่าญาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่ได้รับผล."
ถ. "ขอถวายพระพร ทานนั้นเป็นของไม่มีผล ไม่มีวิบากก็หาไม่, ทายกทั้งหลาย ย่อมเสวยผลแห่งทานนั้นแท้."
ร. "กระนั้น ก็ขอพระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้าหมายรู้ได้โดยเหตุ."
ถ. "มนุษย์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ตกแต่งปลาเนื้อสุราภัตตาหารและของควรเคี้ยวทั้งหลายแล้ว ไปสู่ตระกูลญาติ, ถ้าว่าญาติทั้งหลายเหล่านั้น ไม่รับพร้อมซึ่งของฝากนั้นไซร้, ของฝากนั้น พึงถึงความไปปราศจากกระแสและพึงเสียหายบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ ของฝากก็คงเป็นของเจ้าของทั้งหลายนั่นเอง."
ถ. "ข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้นนั่นแล, ทายกทั้งหลาย ย่อมเสวยผลของทานนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษเข้าไปสู่ห้อง ในเมื่อช่องเป็นที่ออกข้างหน้าไม่มี จะพึงออกข้างไหน?
ร. "ต้องออกโดยช่องที่เข้าไปแล้วนั่นเองซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้นนั่นแล, ทายกทั้งหลายนั่นเอง ย่อมเสวยผลของทานนั้น."
ร. "ยกไว้เถิด พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้นว่า 'ทายกทั้งหลายนั่นเอง ย่อมเสวยผลของทานนั้น', เราทั้งหลาย จะไม่กระทำเหตุนั้นให้เสียระเบียบ."

๙. กุสลากุสลมหันตามหันถภาวปัญหา ๗๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน หากว่าทานที่ทายกเหล่านี้ให้แล้ว ย่อมถึงแก่ญาติทั้งหลายผู้ตายแล้วในกาลก่อน, และญาติผู้บุรพเปรตชนทั้งหลาย ย่อมเสวยผลของทานนั้น, ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้กระทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ผู้โลภ ผู้ใจร้าย ผู้มีความดำริในใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ฆ่ามนุษย์ทั้งหลาย กระทำกรรมชั่วร้ายแล้ว อุทิศถึงญาติผู้บุรพเปรตทั้งหลาย, ดังนี้ ผลของกรรมอันนั้นจะถึงแก่บุรพเปรตชนทั้งหลายบ้างหรือ?"
ถ. "หาไม่เลย ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุอะไรในข้อนั้น กุศลย่อมถึงอกุศลย่อมไม่ถึง ด้วยเหตุอันใด เหตุอันนั้นเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ปัญหานั้นอันใคร ๆ ไม่ควรถามล และบรมบพิตรอย่าตรัสถามซึ่งปัญหาที่ไม่ควรถาม ด้วยเข้าพระทัยว่า 'บุคคลผู้วิสัชนามีอยู่' ดังนี้เลย; บรมบพิตรจักตรัสถามซึ่งปัญหาไม่ควรถามนั้นกะอาตมภาพบ้างหรือว่า 'เพราะเหตุไร อากาศจึงไม่มีที่หน่วงเหนี่ยว เพราะเหตุไร แม่น้ำคงคาจึงไม่ไหลขึ้นข้างบน เพราะเหตุไรมนุษย์และนกทั้งหลายเหล่านี้มีเท้าสอง เนื้อทั้งหลายมีสี่เท้า? ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าไม่ได้เพ่งความเบียดเบียนถามพระผู้เป็นเจ้า, ก็แต่ข้าพเจ้าถามเพื่อประโยชน์แก่อันกำจัดเสียซึ่งความสนเท่ห์ ข้าพเจ้าถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยคิดอย่างนี้ว่า 'มนุษย์ทั้งหลายในโลกมาก มักถือเอาโดยเบื้องซ้าย มีดวงตาคือปัญญาไปปราศแล้ว; มนุษย์เหล่านั้น จะไม่พึงได้ซึ่งความสันนิษฐานเป็นที่ตกลงว่ากระไร."
ถ. "ขอถวายพระพร กรรมเป็นบาป อันใคร ๆ ไม่อาจแบ่งปันกับด้วยบุคคลผู้ไม่ได้กระทำกรรมเป็นบาปแล้ว ผู้ไม่มีกรรมเป็นบาป มีอณูเป็นประมาณ. เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย นำน้ำไปด้วยเครื่องนำน้ำแม้สู่ที่ไกล, ภูเขาหินใหญ่ทึบ อันบุคคลอาจนำไปตามปรารถนาด้วยเครื่องนำไปบ้างหรือ ขอถวายพระ?"
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "ข้ออุปไมย ก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้.
อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างประทีป อันบุคคลอาจให้โพลงด้วยน้ำมัน, ประทีปอันบุคคลอาจให้โพลงด้วยน้ำท่าได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ."
ถ. "ข้ออุปไมย ก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้.
อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ชาวนาน้ำน้ำออกแต่เหมืองแล้วยังข้าวเปลือกให้สุกรอบได้, ชาวนานำน้ำออกแต่มหาสมุทร แล้วยังข้าวเปลือกให้สุกรอบได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้."
ร. "เพราะเหตุไร? กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้; พระผู้เป็นเจ้าจงยังข้าพเจ้าให้หมายรู้โดยเหตุ, ข้าพเจ้าไม่ใช่คนบอด ไม่ใช่คนมืด ฟังแล้วจักรู้แจ้ง."
ถ. "ขอถวายพระพร อกุศลเป็นของน้อย กุศลเป็นของมาก; เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงครอบงำผู้กระทำผู้เดียว, เพราะความที่กุศลเป็นของมาก กุศลจึงกลบโลกทั้งเทวโลก."
ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมา."
ถ. "เปรียบเหมือนหยาดน้ำหยาดเดียว เป็นของน้อย พึงตกลงบนแผ่นดิน, หยาดน้ำมัน ย่อมท่วมทับที่สิบโยชน์บ้าง สิบสองโยชน์บ้างได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ หยาดน้ำนั้นตกลงแล้วในที่ใด ก็พึงติดอยู่ในที่นั้นเท่านั้น."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่หยาดน้ำหยาดเดียวเป็นของน้อยซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล อกุศลเป็นของน้อย เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงครอบงำบุคคลผู้กระทำผู้เดียว อันผู้กระทำไม่อาจแบ่งปัน.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาเมฆ ยังฝนให้ตกลงกระทำพื้นแผ่นดินให้ชุ่มชื้น, มหาเมฆนั้น พึงท่วมโดยรอบบ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ท่วมได้ซิ มหาเมฆนั้น ยังบึงและสระใหญ่น้อย คลอง ซอก ธาร หนอง เหมือง สระบัว ทั้งหลาย ให้เต็มท่วมที่สิบโยชน์บ้างสิบสองโยชน์บ้าง."
ถ. "เพราะเหตุอะไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่แห่งเมฆเป็นของใหญ่นะซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลเป็นของมาก เพราะความที่แห่งกุศลเป็นของมาก กุศลจึงเป็นของแม้อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายอาจแบ่งปันได้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร อกุศลเป็นของน้อย กุศลเป็นของมาก?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง่ในโลกนี้ให้ทานสมาทานศีล กระทำอุโบสถกรรม, บุคคลนั้น เป็นผู้ร่าเริงแล้ว ร่าเริงทั่วแล้ว ยินดีแล้ว ยินดีทั่วแล้ว บันเทิงทั่วแล้ว มีใจเลื่อมใสแล้ว มีความรู้แจ้งเกิดแล้ว: ปีติของบุคคลนั้นย่อมเกิดสืบ ๆ, กุศลย่อมเจริญยิ่ง ๆ แก่บุคคลผู้มีใจปีติแล้ว; น้ำพึงเข้าไปในบ่อที่สมบูรณ์ด้วยน้ำมากโดยทางหนึ่ง พึงออกโดยทางหนึ่ง, แม้เมื่อน้ำออกอยู่ น้ำก็ย่อมเกิดขึ้นสืบ ๆ, น้ำนั้นเป็นของอันใคร ๆ ไม่อาจให้ถึงซึ่งความสิ้นไป ฉันใด: กุศลย่อมเจริญยิ่งขึ้น ๆ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงนึกถึงกุศลที่กระทำแล้ว แม้สิ้นร้อยปี, เมื่อบุรุษนั้นนึกถึงอยู่ กุศลย่อมเจริญยิ่ง ๆ, กุศลนั้น เป็นของอันบุรุษนั้นอาจเพื่อจะแบ่งปันกับด้วยชนทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนาอย่างไร.
ขอถวายพระพร กุศลเป็นของมากกว่าด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ฝ่ายบุคคลผู้กระทำอกุศล เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง, จิตของบุคคลผู้มีความเดือดร้อน ย่อมท้อถอยหดหู่หันกลับ ย่อมไม่คลี่คลาย ย่อมเศร้าโศกเร่าร้อน เสื่อมสิ้นไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมครอบงำในจิตนั้นเท่านั้น.
ขอถวายพระพร ในเมื่อหาดทรายในแม่น้ำอันแห้ง สูงขึ้นและยุบลงขยับเขยื้อนอยู่ น้ำน้อยมาอยู่ข้างบน ย่อมเสื่อมหายไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมติดอยู่ในที่นั้นเท่านั้น ฉันใด; จิตของบุคคลผู้กระทำอกุศล ย่อมท้อถอยหดหู่หันกลับ ย่อมไม่คลี่คลาย ย่อมเศร้าโศกเร่าร้อน เสื่อมสิ้นไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมครอบงำในจิตนั้นเท่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร อกุศลเป็นของน้อยด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๑๐. สุปินปัญหา ๗๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุรุษและสตรีทั้งหลายในโลกนี้ เห็นสุบินดีบ้างชั่วบ้าง เคยเห็นบ้าง ยังไม่เคยเห็นบ้าง เคยทำแล้วบ้าง ยังไม่เคยทำแล้วบ้าง เป็นของเกษมบ้าง เป็นไปกับด้วยภัยบ้าง มีในที่ไกล้าง มีในที่ใกล้บ้าง ย่อมเห็นสุบินทั้งหลายที่ควรพรรณนา มิใช่พันเดียว มีอย่างเป็นอันมาก. อะไรชื่อสุบินนั้นและคนชนิดไร ย่อมเห็นสุบินนั้น?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิมิตใด ย่อมเข้าใกล้คลองแห่งจิต นิมิตนั้น ชื่อว่าสุบิน. ชนทั้งหลายเหล่านี้หกพวก ย่อมเห็นสุบิน คือ ชนผู้ประกอบด้วยลมกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนผู้ประกอบด้วยดีกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนผู้ประกอบด้วยเสมหะกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะเทวดาอุปสังหรณ์หนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะตนเคยประพฤติมาหนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะนิมิตในก่อนหนึ่ง. บุคคลย่อมเห็นสุบินอันใดเพราะบุรพนิมิต สุบินอันนั้นแหละแน่ สุบินเหลือจากนั้นไม่แน่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลใด ย่อมเห็นสุบินเพราะบุรพนิมิต จิตของบุคคลนั้น ไปเลือกเอานิมิตเองหรือ, หรือว่านิมิตนั้น เข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น หรือว่าธรรมารมณ์อื่นมาบอกแก่จิตนั้น?"
ถ. "ขอถวายพระพร จิตของบุคคลนั้น หาไปเลือกนิมิตนั้นไม่ และธรรมารมณ์ไร ๆ อื่น ก็หาได้มาบอกแก่จิตนั้นไม่, อันที่แท้นิมิตนั้นนั่นแล เข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น. กระจกหาได้ไม่เลือกเอาเงาในที่ไหน ๆ เองไม่, อะไร ๆ อื่น ก็หาได้นำเงามาให้ขึ้นสู่กระจกไม่, อันที่แท้เงามาแต่ที่ใดที่หนึ่ง เข้าใกล้คลองแห่งกระจกฉันใดก็ดี; จิตของบุคคลนั้น หาได้ไปเลือกเอานิมิตนั้นเองไม่ ธรรมารมณ์ไร ๆ อื่น ก็หาได้มาบอกไม่, อันที่แท้ นิมิตมาแต่ที่ใดที่หนึ่งเข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "จิตนั้นใด ย่อมเห็นสุบิน จิตนั้น ย่อมรู้ว่า 'ผล คือ สุขเกษม หรือทุกข์ภัยจักมีอย่างนี้' ดังนี้บ้างหรือ?"
ถ. "จิตนั้น ย่อมไม่รู้เลยว่า 'ผล คือสุขเกษมหรือทุกข์ภัยจักมี'ดังนี้: ก็ในเมืองนิมิตเกิดขึ้นแล้ว บุคคลผู้เห็นสุบิน ย่อมกล่าวแก่ชนทั้งหลายอื่น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงบอกเนื้อความให้."
ร. "เชิญพระผู้เป็นเจ้าแสดงเหตุ."
ถ. "ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกระหรือไฝหรือต่อมตั้งขึ้นในสรีระเพื่อลาภ เพื่อเสื่อมลาภ เพื่อยศ เพื่อเสื่อมยศ เพื่อนินทา เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่อสุข เพื่อทุกข์. ต่อมเหล่านี้ รู้แล้วจึงเกิดขึ้นบ้าง หรือว่า 'เราทั้งหลาย จักยังประโยชน์ชื่อนี้ให้สำเร็จฉะนี้?"
ร. "หาไม่ ต่อมเหล่านั้น ย่อมเกิดพร้อมในโอกาสเช่นใด บุคคลผู้รู้นิมิตทั้งหลาย เห็นต่อมเหล่านั้นในโอกาสนั้นแล้ว ย่อมทำนายว่า 'ผลจักมีอย่างนี้' ฉะนี้."
ถ. "จิตนั้นใด ย่อมเห็นสุบิน จิตนั้น ย่อมไม่รู้ว่า' ผล คือ สุขเกษม หรือทุกข์ภัยจักมีอย่างนี้' ดังนี้: ก็ครั้นนิมิตเกิดขึ้นแล้วบุคคลผู้เห็นสุบินนั้น กล่าวแก่ชนทั้งหลายอื่น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงบอกเนื้อความให้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "บุคคลใด เห็นสุบิน บุคคลนั้น หลับอยู่เห็นหรือว่าตื่นอยู่เห็น?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลนั้นใด เห็นสุบิน บุคคลนั้น หลับอยู่ย่อมไม่เห็น แม้ตื่นอยู่ก็ย่อมไม่เห็น, ก็แต่ในเมื่อความหลับหยั่งลงแล้ว ในเมื่อภวังค์ยังไม่ถึงพร้อมแล้ว บุคคลย่อมเห็นสุบินในระหว่างนั้น. จิตของบุคคลผู้ขึ้นสู่ความหลับ เป็นของถึงภวังค์แล้ว, จิตที่เป็นของถึงภวังค์แล้ว ย่อมไม่เป็นไป, จิตที่ไม่เป็นไปแล้ว ย่อมไม่รู้แจ้งซึ่งสุขและทุกข์, สุบินย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่รู้แจ้ง, ในเมื่อจิตเป็นไปอยู่บุคคลจึงเห็นสุบิน.
ขอถวายพระพร เงาในกระจกแม้ใสดี ย่อมไม่ปรากฏในเวลามัวมืดไม่สว่าง ฉันใด, ในเมื่อจิตขึ้นสู่ความหลับถึงภวังค์แล้ว ในเมื่อสรีระแม้ตั้งอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไป, ครั้นจิตไม่เป็นไปแล้ว บุคคลย่อมไม่เห็นสุบิน ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร สรีระ บรมบพิตรควรทรงเห็นประดุจกระจก, ความหลับ บรมบพิตรควรทรงเห็นราวกะความมืด, จิต บรมบพิตรควรทรงเห็นประหนึ่งความสว่าง.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง แสงแห่งพระอาทิตย์ที่มีหมอกบังเสีย ย่อมไม่ปรากฏ, รัศมีพระอาทิตย์มีอยู่ ก็ย่อมไม่เป็นไป, ครั้นรัศมีพระอาทิตย์ไม่เป็นไปแล้ว ความสว่างก็ย่อมไม่มี ฉันใด; จิตของบุคคลผู้ขึ้นพร้อมสู่ความหลับ เป็นของถึงภวังค์ จิตที่ถึงภวังค์ ย่อมไม่เป็นไป, ครั้นจิตไม่เป็นไปแล้ว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นสุบิน ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร สรีระ บรมบพิตรควรทรงเห็นอย่างพระอาทิตย์, ความหลับ บรมบพิตรควรทรงเห็นดังความที่หมอกบังเสียฉะนั้น, จิตบรมบพิตรควรทรงเห็นเช่นรัศมีพระอาทิตย์.
ขอถวายพระพร ครั้นเมื่อสรีระของบุคคลทั้งหลายสองแม้มีอยู่จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้ว คือ เมื่อสรีระของบุคคลผู้ขึ้นพร้อมสู่ความหลับแล้ว ถึงภวังค์แล้ว แม้มีอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้วหนึ่ง, ครั้นเมื่อสรีระของบุคคลผู้เข้านิโรธ แม้มีอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้วหนึ่ง, จิตของบุคคลผู้ตื่นอยู่ เป็นของวุ่นวายเปิดเผยปรากฏไม่เสมอ, นิมิตย่อมไม่เข้าถึงคลองแห่งจิตของบุคคลเห็นปานนั้น.
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความลับ ย่อมเว้นบุรุษผู้เปิดเผย ผู้ปรากฏ ผู้ไม่กระทำ ผู้ไม่ควรความลับ ฉันใด, เนื้อความดุจทิพย์ ย่อมไม่เข้าถึงคลองจิตแห่งบุคคลผู้ตื่นอยู่ ก็ฉันนั้นแล, เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่เห็นสุบิน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เนื้อความดุจทิพย์ ย่อมไม่เข้าถึงคลองจิตแห่งบุคคลผู้ตื่นอยู่นั้น เปรียบเหมือนกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายปัญญาเครื่องตรัสรู้ ย่อมไม่ยังภิกษุผู้มีอาชีวะทำลายแล้ว ผู้ประพฤติไม่ควร ผู้เป็นบาปมิตร ผู้ทุศีล ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความเพียรต่ำช้า ให้เข้าถึงคลองจิตฉะนั้น, เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่เห็นสุบิน."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของความหลับมีหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร เบื้องต้นของความหลับก็ดี ท่ามกลางของความหลับก็มี ที่สุดของความหลับก็มี."
ร. "อะไรเป็นเบื้องต้น อะไรเป็นท่ามกลาง อะไรเป็นที่สุด?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความที่กายเกียจคร้าน ความที่กายย่อหย่อน ความที่กายมีกำลังชั่ว ความที่กายอ่อนเพลีย ความที่กายไม่ควรแก่การงาน อันใด อันนี้ เป็นเบื้องต้นแห่งความหลับ: ผู้ใดอันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว จิตที่เกลื่อนกล่นยังตื่นอยู่ อันนี้ เป็นท่ามกลางแห่งความหลับ; ความถึงภวังค์ เป็นที่สุดของความหลับ; บุคคลผู้เข้าถึงท่ามกลางของความหลับ อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้วย่อมเห็นสุบิน.
ขอถวายพระพร ผู้บำเพ็ญเพียรบางคน มีจิตตั้งมั่น มีธรรมตั้งอยู่แล้ว มีปัญญาเครื่องรู้ไม่หวั่นไหว หยั่งลงสู่ป่ามีเสียงอื้ออึงละแล้ว คิดอยู่ซึ่งเนื้อความอันสุขุม, ผู้นั้นไม่หยั่งลงสู่ความหลับในป่านั้น, ผู้นั้นมีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์อันเดียว ย่อมแทงตลอดซึ่งเนื้อความอันสุขุม ฉันใด, บุคคลผู้ตื่น ไม่ถึงพร้อมความหลับ เข้าถึงเฉพาะ ซึ่งความหลับดุจวานร อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว ย่อมเห็นสุบิน ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร ความตื่นอยู่ บรมบพิตรควรทรงเห็นเหมือนเสียงอื้ออึง, บุคคลผู้อันความหลับดุจวานรครอบงำ บรมบพิตรควรทรงเห็นดุจป่าอันสงัด, บุคคลผู้ตื่นอยู่ไม่ถึงพร้อมความหลับ อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว ย่อมเห็นสุบิน ราวกะบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรนั้นละเสียซึ่งเสียงอื้ออึง เว้นเสียซึ่งความหลับ เป็นผู้มีตนเป็นท่ามกลางย่อมแทงตลอดซึ่งเนื้อความอันสุขุม ฉะนั้น."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้เจริญ ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


วรรคที่เก้า
๑. กาลากาลมรณปัญหา ๗๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ตาย ย่อมตายในกาล หรือย่อมตายในสมัยไม่ใช่กาลบ้าง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ความตายในกาลก็มี ความตายในสมัยไม่ใช่กาลก็มี ขอถวายพระพร."
ร. "สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น พวกไหนตายในกาล พวกไหนตายในสมัยไม่ใช่กาล?"
ถ. "ขอถวายพระพร ก็ผลมะม่วงผลหว้าหรือผลไม้ชนิดอื่นดิบและสุก ซึ่งหล่นแล้วจากต้น บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรหรือ?"
ร. "เคยเห็นซิ พระผู้เป็นเจ้า.
ถ. "ผลไม้ทั้งปวงซึ่งหล่นจากต้น ย่อมหล่นในกาลอย่างเดียวหรือว่าหล่นในสมัยไม่ใช่กาลบ้าง?"
ร. "ผลไม้ทั้งปวงที่งอมหลุดหล่น ย่อมหล่นในกาล; บรรดาผลไม้ทั้งปวงที่เหลือจากนั้น ผลไม้บางอย่างหนอนไชหล่น บางอย่างนกตีหล่น บางอย่างลมตีหล่น บางอย่างเน่าข้างในหล่น, ผลไม้ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมหล่นในสมัยไม่ใช่กาล."
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายที่กำหนดความชรากำจัดแล้วตาย ชื่อว่าย่อมตายในกาล; สัตว์ทั้งหลายอันเหลือจากนั้น บางพวกตายด้วยกรรมชักนำ บางพวกตายด้วยคติชักนำ บางพวกตายด้วยกิริยาชักนำ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ตายด้วยกรรมชักนำ คติชักนำ กิริยาชักนำ กำลังความชราชักนำ ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน; ถึงสัตว์ที่ตายในครรภ์มารดา ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือน, ถึงสัตว์ที่ตายในเรือนอยู่ไฟ, ที่อายุได้เดือนหนึ่งจึงตาย... ที่อายุได้ร้องปีจึงตาย ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน. ด้วยเหตุนี้ ธรรมดาว่าความตายในสมัยไม่ใช่กาล ไม่มีเลย; เหตุว่าสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมตาย สัตว์เหล่านั้นทั้งปวง ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคลทั้งหลายเจ็ดเหล่านี้ แม้มีอายุมากก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล คือ:-
(๑) บุคคลผู้หิวอาหาร เมื่อไม่ได้โภชนะ มีภายในอันโรค คือ ความหิวเข้าเบียดเบียนแล้ว แม้อายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๒) บุคคลผู้อยากน้ำ เมื่อไม่ได้น้ำควรดื่ม มีหทัยเหือดแห้ง แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๓) บุคคลที่งูกัดอันกำลังพิษเบียดเบียนเฉพาะแล้ว เมื่อไม่ได้ผู้แก้ไข แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๔) บุคคลผู้กินยาพิษ ครั้นอังคาพยพน้อยใหญ่เร่าร้อนอยู่ ไม่ได้ยากแก้ แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๕) บุคคลถูกไฟไหม้ เมื่อไม่ได้ของที่ดับพิษไฟ แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๖) บุคคลตกน้ำ เมื่อไม่ได้ที่อาศัย แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๗) บุคคลผู้อันหอกประหารเอาเจ็บ เมื่อไม่ได้หมอรักษา แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล.
ขอถวายพระพร บุคคลทั้งหลายเจ็ดเหล่านี้แล แม้มีอายุมากก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล. อาตมภาพกล่าวโดยส่วนหนึ่งในบุคคลเจ็ดแม้เหล่านั้น.
ขอถวายพระพร กาลกิริยาย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยแปดอย่างคือ:-
(๑) โดยโรคมีลมเป็นสมุฏฐาน,
(๒) โดยโรคมีดีเป็นสมุฏฐาน,
(๓) โดยโรคมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน,
(๔) โดยโรคมีสันนิบาตเป็นสมุฏฐาน,
(๕) โดยความแปรเปลี่ยนฤดู,
(๖) โดยความบริหารอริยาบถไม่เสมอ,
(๗) โดยความเพียรแห่งผู้อื่น,
(๘) โดยวิบากแห่งกรรม,
ในแปดอย่างนั้น กาลกิริยาโดยวิบากแห่งกรรมนั่นแล เป็นกาลกิริยาที่ควรได้โดยสมัย, กาลกิริยาที่เหลือจากนั้นเป็นกาลกิริยาที่ควรได้โดยกาลไม่ใช่สมัย ก็คาถาประพันธ์นี้มีอยู่ว่า:-
"สัตว์ตายด้วยความหิวอาหาร ด้วยความอยากน้ำและอันงูกัดตายด้วยยาพิษ ด้วยไฟ น้ำ หอกทั้งหลาย ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาลนั้น. สัตว์ตายด้วยลมและดี ด้วยเสมหะ ด้วยสันนิบาต และด้วยฤดูทั้งหลาย และด้วยความบริหารอริยาบถไม่เสมอ และความเพียรแห่งผู้อื่นทั้งหลาย ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาลนั้น" ดังนี้.
ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายบางพวกตายด้วยวิบากแห่งอกุศลกรรมนั้น ๆ ที่ได้ทำไว้ในกาลก่อน. สัตว์ในโลกนี้ที่ให้เขาตายด้วยความหิวอาหารในชาติก่อน เป็นผู้อันความหิวอาหารเบียดเบียนแล้วซบเซาแล้วด้วยความหิวอาหาร ลำบากอยู่ มีหัวใจแห้งเหี่ยว ถึงความเหือดแห้งแล้ว เกรียมอยู่ไหม้อยู่ ภายใน ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยความหิวอาหารนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้เขาตายโดยความอยากน้ำในชาติก่อน เป็นนิชฌามตัณหิกเปรตเศร้าหมองผอมมีหัวใจแห้ง ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยความอยากนั้นนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นี้ควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้งูกัดเขาตายในชาติก่อน วนเวียนอยู่ในปากงูเหลือม แต่ปากงูเหลือม ในปากงูเห่าแต่ปากงูเห่า อันงูทั้งหลายเหล่านั้นเกินแล้วและกินแล้ว อันงูทั้งหลายนั้นแหละกัดแล้ว ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้ยาพิษเขากินตายในชาติก่อน มีอังคาพยพน้อยใหญ่ไหม้อยู่ มีสรีระแตกอยู่ ยังกลิ่นศพให้ฟุ้งไปอยู่ ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยยาพิษนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.



เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2012, 09:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


.. :b8:

อนุโมทนาแล้วๆๆ ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ส.ค. 2012, 09:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5325


 ข้อมูลส่วนตัว


สัตว์ที่ให้เขาตายด้วยไฟในชาติก่อน วนเวียนในภูเขาไฟแต่ภูเขาไฟ ในยมวิสัยแต่ยมวิสัย มีตัวไหม้แล้วและไหม้แล้ว ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยไฟนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้เขาตายด้วยน้ำในชาติก่อน มีตัวอันน้ำเบียดเบียนแล้ว กำจัดแล้ว ทำลายแล้ว และทุรพล มีจิตกำเริบ ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยน้ำนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้เขาตายด้วยหอกในชาติก่อน เป็นผู้ถูกเขาตัดทำลายทุบตี ถูกเขาเบียดเบียนด้วยปลายหอก ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยหอกนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวคำใดว่า 'ความตายในสมัยไม่ใช่กาลมีอยู่' ดังนี้ เชิญพระผู้เป็นเจ้าแสดงเหตุในคำนั้นแก่ข้าพเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร กองเพลิงใหญ่ไหม้หญ้าและไม้กิ่งไม้ใบไม้ มีเชื้อติดแล้ว ย่อมดับเพราะความสิ้นเชื้อ, เพลิงนั้นโลกกล่าวว่า ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ชื่อว่าย่อมดับในสมัย' ฉะนี้ ฉันใด, บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่สิ้นพันวันเป็นอันมาก แก่แล้วด้วยอำนาจความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้นอันโลกกล่าวว่า 'เป็นผู้เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
อีกนัยหนึ่ง ครั้นหญ้าและไม้กิ่งไม้ใบไม้ไหม้แล้ว มหาเมฆตกลงดับเพลิงใหญ่นั้นเสีย กองเพลิงใหญ่นั้นชื่อว่าดับในสมัยหรือหนอแล?"
ร. "หาไม่เลย."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร กองเพลิงมีในภายหลังไม่เป็นของมีคติเสมอกันกับกองเพลิงก่อน?"
ร. "กองเพลิงนั้นอันเมฆจรมาเบียดเบียน จึงดับแล้วในกาลไม่ใช่สมัยซิ."
ถ. "บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยไม่ใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ดี อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่เสมหะ อันโรคเกิดแต่ความประชุมพร้อมแห่งลมและดีเสมหะ อันโรคเกิดแต่ความแปรเปลี่ยนแห่งฤดู อันโรคเกิดแต่บริหารอิริยาบถไม่เสมอ อันโรคเกิดแต่ความเพียรแห่งผู้อื่นหรืออันความหิวอาหาร อันความอยากน้ำ อันงูกัด อันความกินยาพิษ อันไฟ อันน้ำ อันหอกเบียดเบียนแล้ว ชื่อว่าย่อมตายในสมัยไม่ใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. อันนี้เป็นเหตุในข้อที่สัตว์ตายในสมัยไม่ใช่กาลนี้.
ขอถวายพระพร อนึ่ง มหาวลาหกตั้งขึ้นแล้วในอากาศตกลงยังที่ลุ่มและที่ดอนให้เต็ม มหาวลาหกนั้นโลกกล่าวว่า 'เมฆไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้' ดังนี้ ฉันใด, บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่นาน คร่ำคร่าแล้วด้วยอำนาจความชรา เป็นผู้ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อนึ่ง เหมือนอย่างว่า มหาวลาหกตั้งขึ้นแล้วในอากาศพึงถึงความอันตรธานไปด้วยลมมากในระหว่างนั่นเทียว, วลาหกนั้นเป็นของชื่อว่าหายแล้วในสมัยบ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "หาไม่."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็เพราะเหตุไรวลาหกมีในภายหลังไม่เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยวลาหกก่อนเล่า?"
ร. "วลาหกนั้นอันลมที่จรมาเบียดเบียนแล้ว ถึงซึ่งกาลไม่ใช่สมัยหายแล้วซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยไม่ใช่กาล บุคคลผู้นั้นอันโรคที่จรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม... และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาล ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง อสรพิษมีกำลังโกรธแล้วกัดบุรุษคนหนึ่ง, พิษของอสรพิษไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ยังบุรุษนั้นให้ถึงความตาย, พิษนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ถึงที่สุด' ฉะนี้ ฉันใด;บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่นาย แก่แล้วด้วยอำนาจความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้น โลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ถึงที่สุดแห่งชีวิต เข้าถึงความตายที่ควรได้ในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนหมองู ให้ยาแก่บุคคลที่อสรพิษมีกำลังกัดแล้ว พึงกระทำให้ไม่มีพิษในระหว่างนั่นเทียว พิษนั้นเป็นของชื่อว่าหายแล้วในสมัยบ้างหรือหนอแล?"
ร. "หาไม่เลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "เพราะเหตุไร พิษมีในภายหลังนั้น ไม่ได้เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยพิษก่อนเล่า ขอถวายพระพร?"
ร. "พิษอันยาที่จรมาเบียดเบียนแล้ว ยังไม่ถึงที่สุดนั่นเทียวหายแล้วซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคที่จรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม....และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง นายขมังธนูแผลงศรไป. ถ้าศรนั้นไปสู่ที่ไปอย่างไรและทางที่ไปและที่สุด, ศรนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุด' ฉะนี้ ฉันใด; บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่นาน แก่แล้วด้วยอำนาจความชราไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนนายขมังธนูแผงศรไป, ใคร ๆ ถือเอาศรของนายขมังธนูนั้นเสียในขณะนั้นนั่นเทียว, ศรนั้นเชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไรและทางที่ไปและที่สุดบ้างหรือหนอแล?"
ร. "หาไม่เลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "เพราะเหตุไร ศรมีในภายหลังนั้นไม่ได้เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยศรก่อนเล่า ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความถือเอาซึ่งจรมา ความไปของศรนั้นจึงขาดแล้วซิ."
ถ. "บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาล ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเคาะภาชนะที่แล้วด้วยโลหะ, เสียงแห่งภาชนะนั้นเกิดแล้วแต่ความเคาะ ย่อมไปสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุด, เสียงนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุด' ฉะนี้ ฉันใด; บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่สิ้นพันวันเป็นอันมาก คร่ำคร่าแล้วด้วยสามารถความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายด้วยเหตุสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเคาะภาชนะที่แล้วด้วยโลหะ เสียงแห่งภาชนะนั้นพึงเกิดแต่ความเคาะ, ครั้นเสียงเกิดแล้วไปยังไม่ไกล ใคร ๆ มาจับต้อง เสียงก็ต้องเงียบพร้อมกันกับความจับต้อง, เสียงนั้นเป็นของชื่อว่าไปแล้วสู่ที่ไปอย่างไร และทางที่ไปและที่สุดบ้างหรือหนอแล?"
ร. "หาไม่เลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "เพราะเหตุอะไร เสียงมีในภายหลังไม่ได้เป็นของมีคติเสมอ ๆ กันกับด้วยเสียงก่อนเล่า ขอถวายพระพร?"
ร. "เสียงนั้นหยุดหายแล้วด้วยความที่ใคร ๆ จับต้องซึ่งจรมาซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาลบุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ โรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาล ฉันนั้นนั่นแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้.
ขอถวายพระพร อนึ่ง เหมือนอย่างว่าพืชแห่งข้าวเปลือกงอกงามแล้วในนา เป็นของมีรวงคลุมแผ่เกลื่อนกล่นมาก เพราะฝนตกมากย่อมถึงสมัยเป็นที่เก็บเกี่ยวแห่งข้าวกล้า, ข้าวเปลือกนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เป็นของชื่อว่าถึงพร้อมด้วยสมัยแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด;บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอยู่สิ้นพันวันเป็นอันมาก คร่ำคร่าแล้วด้วยความชรา ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ ย่อมตายเพราะเหตุสิ้นอายุ บุคคลนั้นโลกกล่าวว่า 'ไม่มีเหตุร้ายหาอันตรายมิได้ เข้าถึงความตายในสมัย' ฉะนี้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อนึ่งเปรียบเหมือนพืชข้าวเปลือกงอกงามแล้วในนา วิกลด้วยน้ำพึงตายเสีย, ข้าวเปลือกนั้นเป็นของชื่อว่าถึงพร้อมด้วยสมัยแล้วบ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "หาไม่เลย."
ถ. "เพราะเหตุไรเล่า ขอถวายพระพร ข้าวเปลือกมีในภายหลังไม่ได้เป็นของมีคติเสมอกันกับด้วยข้าวเปลือกก่อน?"
ร. "ข้าวเปลือกนั้นอันความร้อนซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว จึงตายแล้วซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาลบุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว จึงตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้.
ขอถวายพระพร บรมบพิตรเคยทรงสดับว่า 'หนอนทั้งหลายตั้งขึ้นแล้วกระทำข้าวกล้ารุ่นอันสมูบรณ์แล้วให้ฉิบหายไปทั้งราก ฉะนี้หรือ?"
ร. "เรื่องนั้นข้าพเจ้าเคยได้ยินและเคยเห็น."
ถ. "ข้าวกล้านั้นฉิบหายในกาล หรือว่าฉิบหายในสมัยมิใช่กาล?"
ร. "ในสมัยมิใช่กาลซิ; ถ้าว่า หนอนทั้งหลายไม่เคี้ยวกินข้าวกล้านั้นไซร้, ข้าวกล้านั้นพึงถึงสมัยเป็นที่เกี่ยว."
ถ. "ข้าวกล้าพึงฉิบหายด้วยเหตุเข้าเบียดเบียนซึ่งจรมาแล้ว, ข้าวกล้าที่ไม่มีเหตุเข้าเบียดเบียน ย่อมถึงสมัยที่เกี่ยวหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "อย่างนั้นซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นมาพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง บรมบพิตรเคยทรงสดับว่า 'ในเมื่อข้าวกล้าถึงพร้อมแล้ว ทรงรวงน้อมไปแล้ว ถึงความเป็นกอแล้ว ห่าฝนตกลงกระทำข้าวกล้าให้ฉิบหาย กระทำให้ไม่มีผล' ฉะนี้ บ้างหรือ?"
ร. "เรื่องนั้นข้าพเจ้าเคยได้ยินด้วย เคยได้เห็นด้วย."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้าวกล้านั้นฉิบหายในกาล หรือว่าในสมัยมิใช่กาลเล่า?"
ร. "ในสมัยมิใช่กาล; ถ้าว่าห่าฝนไม่พึงตกลงไซร้, ข้าวกล้านั้นพึงถึงสมัยเป็นที่เกี่ยว."
ถ. "ข้าวกล้าย่อมฉิบหายด้วยเหตุเข้าเบียดเบียนซึ่งจรมา, ข้าวกล้าอันเหตุนั้นไม่เข้าเบียดเบียนแล้ว ย่อมถึงสมัยเป็นที่เกี่ยวหรือ ขอถวายพระ?"
ร. "อย่างนั้นซิ."
ถ."ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งตายในสมัยมิใช่กาล บุคคลนั้นเป็นผู้อันโรคซึ่งจรมาเบียดเบียนแล้ว คือ อันโรคตั้งขึ้นพร้อมแต่ลม...และอันกำลังแห่งหอกเบียดเบียนแล้ว ย่อมตายในสมัยมิใช่กาลฉันนั้นนั่นเทียวแล. ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่ด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน น่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้านาคเสนของไม่เคยมี ๆ แล้ว, เหตุพระผู้เป็นเจ้าสำแดงดีแล้ว, ข้ออุปมาเพื่อแสดงความตายในสมัยมิใช่กาลว่า 'ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่' ฉะนี้ พระผู้เป็นเจ้าสำแดงดีแล้ว กระทำให้ตื้นแล้ว กระทำให้ปรากฏแล้ว กระทำให้เป็นชัดแล้ว. แม้บุคคลผู้ฟุ้งซ่านด้วยหาความคิดมิได้ ก็พึงเข้าใจว่า 'ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่' ฉะนี้ ด้วยข้ออุปมาอันหนึ่ง ๆ ก่อน; จะกล่าวไปไย บุคคลผู้มีความคิดจะไม่พึงเข้าใจฉะนั้น. ข้าพเจ้าทราบแล้วด้วยข้ออุปมาเป็นประถมทีเดียวว่า 'ความตายในสมัยมิใช่กาลมีอยู่' ฉะนี้, ก็แต่ข้าพเจ้าอยากฟังเนื้อความเครื่องนำออกอื่น ๆ จึงยังไม่ยอมรับรองเสียแต่ชั้นต้น."

๒. ปรินิพพุตเจติยปาฏิหาริยปัญหา ๗๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปรินิพพานแล้วทุกพวก, หรือว่าบางพวกจึงมี?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "บางพวกมี บางพวกไม่มี ขอถวายพระพร."
ร. "พวกไหนมี พวกไหนไม่มี พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว เพราะความอธิษฐานแห่งบุคคลสามพวก ๆ ใดพวกหนึ่ง, บรรดาบุคคลสามพวกนั้น พวกไหนบ้าง?
ขอถวายพระพร พระอรหันต์ในโลกนี้ เมื่อยังดำรงชีพอยู่อธิษฐานไว้เพื่อความเอ็นดูเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า 'ขอปาฏิหาริย์ในจิตกาธารจงมีอย่างนี้' ดังนี้, ปาฏิหาริย์ก็ย่อมมีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์นั้น ด้วยสามารถแห่งความอธิษฐาน; ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยสามารถแห่งความอธิษฐานของท่านเองอย่างนี้หนึ่ง.
เทวดาทั้งหลายสำแดงปาฏิหาริย์ในจิตกาธาร แห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว เพื่อความเอ็นดูแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า 'พระสัทธรรมจักเป็นของอันสัตว์ทั้งหลาย ประคับประคองไว้เป็นนิตย์ด้วยปาฏิหาริย์นี้, และมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสแล้ว จักเจริญด้วยกุศล' ดังนี้; ปาฏิหาริย์ก็มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยความอธิษฐานแห่งเทพดาทั้งหลายอย่างนี้หนึ่ง.
สตรีหรือบุรุษมีศรัทธาเลื่อมใสแล้ว เป็นบัณฑิตฉลาดมีปัญญาถึงพร้อมด้วยปัญญา คิดโดยแยบคายแล้ว จึงอธิษฐานของหอมดอกไม้ ผ้าหรือวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วยกขึ้นไว้ในจิตกาธารว่า 'ปาฏิหาริย์นี้จงมีเถิด' ดังนี้, ปาฏิหาริย์ก็มีในจิตรกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยสามารถแห่งความอธิษฐานแห่งสตรีหรือบุรุษนั้น; ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความอธิษฐานของมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้หนึ่ง. ปาฏิหาริย์มีในจิตกาธารแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความอธิษฐานของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง แห่งบุคคลสามพวกเหล่านี้แล.
ขอถวายพระพร ถ้าว่าความอธิษฐานของชนทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีไซร้, ปาฏิหาริย์ในจิตกาธารแม้แห่งพระขีณาสพผู้มีอภิญญาหกประการ ผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้มีอำนาจในจิต ก็ย่อมไม่มี. แต่ถึงปาฏิหาริย์ไม่มี เทวดามนุษย์ทั้งหลายเพ่งความประพฤติของท่านบริสุทธิดีแล้ว พึงหยั่งลง พึงเข้าใจ พึงเชื่อถือว่า 'พระพุทธโอรสนี้ปรินิพพานดีแล้ว' ฉะนี้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๓. เอกัจจาเนกัจจานํ ธัมมาภิสมยปัญหา ๘๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ธรรมาภิสมัยความตรัสรู้ธรรมเกิดมีแก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวง ผู้ปฏิบัติโดยชอบหรือ, หรือว่าไม่เกิดมีแก่บุคคลบางจำพวก."
พระเถรเจ้าทูลว่า "เกิดมีแก่บุคคลบางจำพวก, ไม่เกิดมีแก่บุคคลบางจำพวก, ขอถวายพระพร."
ร. "เกิดมีแก่บุคคลพวกไร, ไม่เกิดมีแก่บุคคลพวกไร พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้เกิดในดิรัจฉานแม้ปฏิบัติดีแล้ว, และธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้เกิดในเปตวิสัย แก่บุคคลผู้มิจฉาทิฏฐิ แก่บุคคลโกง แก่บุคคลผู้ฆ่ามารดา แก่บุคคลผู้ฆ่าบิดา แก่บุคคลผู้ฆ่าพระอรหันต์ แก่บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ แก่บุคคลผู้ทำโลหิตให้ห้อขึ้นในพระกายแห่งพระพุทธเจ้า แก่บุคคลผู้ลักสังวาส แก่บุคคลผู้หลีกไปสู่ลัทธิแห่งเดียรถีย์ แก่บุคคลผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี แก่บุคคลผู้ต้องครุกาบัติสิบสามอันใดอันหนึ่งแล้วไม่อยู่กรรม แก่บัณเฑาะก์ แก่อุภโตพยัญชนก แม้ปฏิบัติดีแล้ว, อนึ่ง ธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแม้แก่มนุษย์ยังเด็กผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี. ธรรมาภสมัยไม่เกิดมีแก่บุคคลสิบหกจำพวกเหล่านี้แม้ปฏิบัติดีแล้ว."
ร. "ธรรมาภิสมัยเกิดมีหรือไม่เกิดมีแก่บุคคลสิบห้าจำพวก ซึ่งเป็นผู้ปิดทางดีแล้วก็ยกไว้เถิด, พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่เพราะเหตุไรธรรมาภิสมัยจึงไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว? ปัญหาในข้อนี้ยังมีอยู่ก่อน. ราคะไม่มีแก่ทารก, โทสะก็ไม่มี, โมหะก็ไม่มี, มานะก็ไม่มี, ความเห็นผิดก็ไม่มี, ความชิงชังก็ไม่มี กามวิตกก็ไม่มี ไม่ใช่หรือ? ธรรมดาเด็กน้อยนั้นไม่เจือแล้วด้วยกิเลสทั้งหลายประกอบถึงที่แล้วย่อมควรจะตรัสรู้ของจริงสี่ด้วยความตรัสรู้อย่างเอก."
ถ. "ขอถวายพระพร อาตมภาพกล่าวว่า 'ธรรมาภิสมัยไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว' ฉะนี้ ด้วยเหตุไร. เหตุนั้นนั่นแลในปัญหานี้.
ขอถวายพระพร ถ้าว่าเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี พึงกำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด พึงประทุษร้ายในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย พึงหลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง พึงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา พึงรู้แจ้งซึ่งความเห็น พึงรู้แจ้งซึ่งความยินดีและความไม่ยินดี พึงตรึกถึงอกุศลไซร้, ธรรมาภิสมัยพึงเกิดมีแก่เด็กน้อยนั้น. เออก็จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปีเป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหนักมากใหญ่โต; เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี ไม่อาจตรัสรู้นิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหนักมากใหญ่โต ด้วยจิตซึ่งมีกำลังชั่วเล็กน้อยอ่อนแอไม่มีแจ้งนั้น.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพญาเขาสิเนรุเป็นของหนักใหญ่โต บุรุษจะพึงอาจเพื่อจะยกพญาเขาสิเนารุนั้นด้วยเรี่ยวแรงกำลัง และความเพียรอันมีอยู่ตามปกติของตนได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่อาจเลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่บุรุษมีกำลังทราม และเพราะความที่พญาเขาสิเนรุเป็นของใหญ่ซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร จิตเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อยอ่อนแอไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหนักมากใหญ่โต, เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี ไม่อาจตรัสรู้นิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหนักมากใหญ่โต ด้วยจิตซึ่งมีกำลังชั่วเล็กน้อย ซึ่งอ่อนแอไม่มีแจ้งฉันนั้นนั่นเทียวแล, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสมัยย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปีแม้ปฏิบัติดีแล้ว.
ขอถวายพระพร อนึ่ง ราวกะว่าแผ่นดินใหญ่นี้ เป็นของยาวรีหนากว้างขวางมากมายใหญ่โต, โคร ๆ จะอาจให้แผ่นดินใหญ่นั้นชุ่มด้วยหยาดน้ำ หยาดนิดเดียวทำให้ลื่นได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่น้ำหยาดหนึ่งเป็นของนิดเดียว, และเพราะความที่แผ่นดินใหญ่เป็นของโตซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของยาวรีหนากว้างขวางมากมายใหญ่โต, เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี ไม่อาจตรัสรู้นิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของใหญ่ ด้วยจิตซึ่งมีกำลังชั่วเล็กน้อยอ่อนแอไม่มีแจ้งนั้น ฉันนั้นนั่นแลเทียว, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสมัย ย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว.
ขอถวายพระพร อนึ่ง ราวกะไฟอันเป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่วเล็กน้อยนิดเดียว, ใคร ๆ จะอาจกำจัดความมืดในโลกกับทั้งเทวดาส่องให้สว่างด้วยไฟน้อยเพียงเท่านั้นได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่ไฟเป็นของน้อย, และเพราะความที่โลกเป็นของใหญ่ซิ."
ถ. "ของถวายพระพร จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้ง, และจิตนั้นเป็นของอันความมือ คือ ความไม่รู้เท่าอย่างใหญ่ปิดแล้ว, เพราะเหตุนั้น ยากที่เด็กน้อยจะส่องแสงสว่าง คือ ความรู้เท่าได้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสัย ย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว ขอถวายพระพร.
อีกประการหนึ่ง ราวกะหนอนกินหน่อไม้ เป็นสัตว์กระสับกระส่ายผอม และมีกายมีอณูเป็นประมาณ เห็นช้างประเสริฐผู้มีน้ำมันแตกทั่วโดยส่วนสาม มีอวัยวะยาวเก้าศอก กว้างสามศอก โอบอ้อมสิบศอก สูงแปดศอก ยืนอยู่ พึงคร่ามาเพื่อจะกลืนกิน หนอนกินหน่อไม้นั้น จะพึงอาจกลืนกินช้างประเสริฐนั้นได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "เพราะเหตุอะไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่หนอนกินหน่อไม้เป็นสัตว์เล็ก และเพราะความที่ช้างประเสริฐเป็นสัตว์ใหญ่ซิ."
ถ. "จิตของเด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี เป็นของไม่มีกำลัง มีกำลังชั่ว เล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้ง, ส่วนนิพพานธาตุ ซึ่งหาปัจจัยปรุงแต่มิได้ เป็นของใหญ่, เด็กน้อยนั้นไม่สามารถจะตรัสรู้นิพพานธาตุซึ่งหาปัจจัยปรุงแต่มิได้ เป็นของใหญ่ ด้วยจิตมีกำลังชั่วเล็กน้อย อ่อนแอ ไม่มีแจ้งนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล, ด้วยเหตุนั้น ธรรมาภิสัยย่อมไม่เกิดมีแก่เด็กน้อยผู้มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี แม้ปฏิบัติดีแล้ว."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๔. นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา ๘๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวหรือ หรือว่าเจือด้วยทุกข์?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวหาเจือด้วยทุกข์ไม่."
ร. "ข้าพเจ้าไม่เชื่อ คำว่า 'นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว' นั้น. ข้าพเจ้าเห็นในปัญหาข้อนี้อย่างนี้ว่า 'นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์'ฉะนี้; และข้าพเจ้าจับเหตุในปัญหาข้อนี้ว่า 'นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์' ฉะนี้ได้, เหตุในปัญหาข้อนี้ เป็นไฉน? คือ ชนเหล่าใดแสวงหานิพพาน ความเพียรยังกิเลสให้เร่าร้อน ย่อมปรากฏแก่กายและจิตแห่งชนเหล่านั้น, และความระวัง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหาร, การปราบปรามความง่วงเหงา ความลำบากแห่งอายตนะทั้งหลาย ความละทรัพย์ที่ควรสงวนและญาติมิตรเป็นที่รัก ย่อมปรากฏแก่กายและจิตแห่งชนเหล่านั้น; ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นผู้ถึงความสุขอิ่มไปด้วยความสุข ชนเหล่านั้นทั้งหมด เขาย่อมยังอายตนะทั้งหลายให้ยินดี ให้เจริญจิตด้วยกามคุณทั้งห้า คือ เขายังจักษุให้ยินดีให้เจริญด้วยรูปที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก ยังใจให้เอิบอาบ, ยังโสตให้ยินดีให้เจริญจิตด้วยเสียที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังฆานะให้ยินดีให้เจริญจิตด้วยกลิ่นที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ แก่นไม้ ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังชิวหาให้ยินดี ให้เจริญจิตด้วยรสที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ของควรเคี้ยว ของควรบริโภค ของควรลิ้ม ของควรดื่ม ของควรชิม ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังกายให้ยินดี ให้เจริญจิต ด้วยผัสสะที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ละเอียดนุ่มอ่อนละมุน ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังใจให้ยินดี ให้เจริญ ด้วยความตรึกความทำในใจมีอย่างมาก คือ อารมณ์ดีและชั่ว อารมณ์งามและไม่งาม ที่ยังใจให้เอิบอาบ. ท่านทั้งหลายกำจัดเสีย ฆ่าเสีย ดับเสีย ทอนเสีย ปิดเสีย กั้นเสียซึ่งความเจริญแห่งจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย ใจนั้น, ด้วยเหตุนั้น แม้กายของผู้แสวงหานิพพาน ก็เร่าร้อน แม้จิตของผู้แสวงหานิพพาน ก็เร่าร้อน, ครั้นกายเร่าร้อน ผู้แสวงหานิพพาน ก็ย่อมเสวยทุกขเวทนาที่เป็นไปในกาย, ครั้นจิตเร่าร้อน ผู้แสวงหานิพพาน ก็ย่อมเสวยทุกขเวทนาที่เป็นไปในจิต, แม้ปริพพาชกชื่อ มาคันทิยะ เมื่อติเตียนพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า "พระสมณโคดมฆ่าความเจริญเสีย" ฉะนี้. เหตุนี้เป็นเหตุที่ข้าพเจ้ากล่าวในปัญหาข้อนี้ว่า "นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์" ฉะนี้.
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานไม่เจือด้วยทุกข์เลย นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว. ก็แต่บรมบพิตรรับสั่งข้อใดว่า 'นิพพานเป็นทุกข์.' ข้อนั้น จะชื่อว่านิพพานเป็นทุกข์ก็หาไม่, ก็แต่ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน, ข้อนั้น เป็นการแสวงหานิพพาน. นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวแท้ หาเจือด้วยทุกข์ไม่. อาตมภาพจะกล่าวเหตุในปัญหานั้นถวาย. ขึ้นชื่อว่าสุขในราชสมบัติมีแด่พระราชาทั้งหลายหรือขอถวายพระพร?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า สุขในราชสมบัติมีแด่พระราชาทั้งหลาย"
ถ. "ราชสมบัตินั้นเจือทุกข์บ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ก็เพื่อเหตุไร ขอถวายพระพร พระราชาเหล่านั้น ครั้นปัจจันตชนบทกำเริบแล้ว จึงต้องพร้อมด้วยอมาตย์ราชภัฏขุนพลทวยหาญทั้งหลาย เสด็จไปประทับแรมเป็นผู้อันเหลือม และยุง ลม และแดดเบียดเบียนแล้ว ต้องทรงวิ่งไปในที่เสมอและไม่เสมอ ทรงกระทำการรบกันใหญ่ด้วย ถึงซึ่งความไม่แน่พระหฤทัยในพระชนมชีพด้วย เพื่ออันทรงเกียดกันเสียซึ่งข้าศึกทั้งหลายที่อาศัยปัจจันตชนบทอยู่เหล่านั้นแล?"
ร. "ข้อนั้น หาชื่อว่าเป็นสุขในราชสมบัติไม่, ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งความแสวงหาสุขในราชสมบัติ. พระราชาทั้งหลายแสวงหาราชสมบัติ ด้วยความทุกข์แล้ว ย่อมเสวยสุขในราชสมบัติ. เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขในราชสมบัติไม่เจือด้วยทุกข์, สุขในราชสมบัตินั้นก็ต่างหากทุกข์ต่างหาก."
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์, ก็แต่ชนเหล่าใด แสวงหานิพพานนั้น ชนเหล่านั้น ต้องยังกายและจิตให้ระส่ำระสาย ต้องระวังการยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหารต้องปราบปรามความง่วงเหงา ต้องให้อายตนะลำบาก ต้องสละกายและชีวิต ต้องแสวงหานิพพานด้วยความทุกข์ แล้วย่อมเสวยนิพพานอันเป็นสุขส่วนเดียว ดุจพระราชาทั้งหลาย กำจัดปัจจามิตรเสียได้แล้ว เสวยสุขในราชสมบัติ ฉะนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวไม่เจือด้วยทุกข์, นิพพานต่างหาก ทุกข์ต่างหาก ฉันนั้นแล.
ขอถวายพระพร บรมบพิตรจงทรงสดับเหตุในปัญหาว่า 'นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์ ทุกข์ต่างหาก นิพพานต่างหาก' ฉะนี้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป. ชื่อว่าสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ มีแก่อาจารย์ทั้งหลายผู้มีศิลปศาสตร์หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ มีแก่อาจารย์ทั้งหลายผู้มีศิลปศาตร์."
ถ. "เออก็ สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์นั้น เจือด้วยทุกข์หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่เจือเลย."
ถ. "ก็เพื่อเหตุอะไร ขอถวายพระพร อาจารย์เหล่านั้น เมื่อยังเป็นศิษย์ท่านอยู่ ยังกายให้ร้อนรน เพราะไม่เป็นอันนอนไม่เป็นอันกินด้วยต้องวางจิตของตนเสียประพฤติตามจิตของผู้อื่น คือ ต้องกราบไหว้และบำรุงอาจารย์ทั้งหลาย และต้องตักน้ำมาให้ กวาดที่อยู่ ให้ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก รับของเป็นเดนไปทิ้ง กลบกลิ่นไม่สะอาด ให้อาบน้ำ นวดเฟ้นเท้า?"
ร. "ข้อนั้น ไม่ชื่อว่าสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการแสวงหาศิลปศาสตร์. อาจารย์ทั้งหลาย แสวงหาศิลปศาสตร์ด้วยความทุกข์ แล้วได้เสวยสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์. เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ไม่เจือด้วยทุกข์, สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์นั้นต่างหากทุกข์ต่างหาก."
ถ. "นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์, ก็แต่ชนเหล่าใดแสวงหานิพพานนั้น ชนเหล่านั้น ยังกายและจิตให้เดือดร้อน ต้องระวังรักษาอิริยาบถทั้งสี่และอาหาร ปราบปรามความง่วงเหงา ยังอายตนะทั้งหลายให้ลำบาก แล้วได้เสวยนิพพานอันเป็นสุขส่วนเดียว ประดุจอาจารย์ได้เสวยสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ฉะนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือทุกข์, ทุกข์ต่างหาก นิพพานต่างหาก ฉันนั้นแล."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."






เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ส.ค. 2012, 13:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


.. :b8:
อนุโมทนาแล้วๆๆ ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ส.ค. 2012, 09:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5325


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. นิพพานปัญหา ๘๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวคำว่า "นิพพาน นิพพาน" ดังนี้ อันใด ก็พระผู้เป็นเจ้าอาจแสดงรูปสัณฐาน วัยหรือประมาณแห่งนิพพานนั้น โดยอุปมา โดยเหตุ โดยปัจจัย หรือโดยนัยได้หรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นธรรมชาติไม่มีส่วนเปรียบ เพราะฉะนั้น อาตมภาพไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นถวายได้."
ร. "ข้าพเจ้าไม่เคารพรับข้อซึ่งรูปเป็นต้นแห่งนิพพาน อันมีอยู่เป็นธรรมดาแต่หาปรากฏโดยอุปมาเป็นต้น หาได้ไม่, ขอพระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ข้าพเจ้าทราบโดยเหตุ?"
ถ. "ข้อซึ่งทรงพระปรารภนั้น จงยกไว้ อาตมภาพจะให้บรมบพิตรทรงทราบโดยเหตุการณ์บัดนี้. มหาสมุทรมีอยู่หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "มหาสมุทรนั้นมีอยู่."
ถ. "ถ้าว่าใคร ๆ ทูลถามบรมบพิตรอย่างนี้ว่า 'น้ำในมหาสมุทรเท่าไร, และสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยมหาสมุทรเท่าไร' ฉะนี้; บรมบพิตรเป็นผู้อันเขาทูลถามอย่างนี้ จะทรงพยากรณ์แก่เขาว่ากะไร?"
ร. "ถ้าว่าใคร ๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ไซร้, ข้าพเจ้าจะต้องตอบเขาว่า 'ท่านมาถามเราผู้ไม่ควรถามล การถามนั้นอันใคร ๆ ไม่พึงถาม, เหตุว่าปัญหานั้นต้องยกเว้น, มหาสมุทรอันนักปราชญ์ผู้ปรากฏในโลกไม่แก้ไขแล้ว, เพราะฉะนั้น เราก็ไม่สามารถจะกำหนดนับน้ำในมหาสมุทรและสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในนั้นได้' ข้าพเจ้าต้องตอบเขาอย่างนี้."
ถ. "เพราะเหตุไรเล่า ขอถวายพระพร บรมบพิตรต้องตรัสตอบเขาอย่างนี้ ในเรื่องมหาสมุทรอันมีอยู่เป็นธรรมดา? บรมบพิตรควรทรงคำนวณนับแล้วรับสั่งกะเขาว่า 'น้ำในมหาสมุทรเท่านี้ และสัตว์ทั้งหลายเท่านี้ อาศัยอยู่ในมหาสมุทร' ฉะนี้ ไม่ใช่หรือ?"
ร. "ไม่อาจบอกได้ซิ, เพราะว่าปัญหานั้นไม่ใช่วิสัย."
ถ. "ขอถวายพระพร ใคร ๆ ไม่อาจกำหนดนับน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา และสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในนั้นได้ ฉันใด, ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานอันมีอยู่เป็นธรรมดา โดยอุปมาเป็นต้นได้ ฉันนั้นแล. ขอถวายพระพร ท่านผู้มีฤทธิ์ถึงซึ่งความเป็นผู้มีอำนาจในจิต พึงคำนวณนับน้ำในมหาสมุทร และสัตว์ทั้งหลายอันอาศัยอยู่ในนั้นได้, ก็แต่ท่านไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นได้เลย.
ขอบรมบพิตรทรงสดับเหตุซึ่งว่า 'ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานอันมีอยู่เป็นธรรมดา โดยอุปมาเป็นต้น'แม้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป. เทวดาทั้งหลายชื่ออรูปกายิกา มีอยู่หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "เทพดาทั้งหลายชื่ออรูปกายิกา มีอยู่ซิ."
ถ. "ก็บรมบพิตรอาจทรงแสดงรูปเป็นต้น แห่งอรูปกายิกาเทพดาทั้งหลายเหล่านั้น โดยอุปมาเป็นต้นได้หรือ ขอถวายพระพา?"
ร. "ไม่อาจเลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ถ้าอย่างนั้น อรูปกายิกาเทพดาทั้งหลาย ไม่มีหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "อรูปกายิกาเทพดาทั้งหลายมีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า, ก็แต่ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้น แห่งอรูปกายิกาเทพดาเหล่านั้น โดยอุปมาเป็นต้นได้."
ถ. "ขอถวายพระพร ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งอรูปกายิกาเทพดาทั้งหลายอันเป็นสัตว์มีอยู่โดยอุปมาเป็นต้นได้ ฉันใด, ใคร ๆ ก็ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานอันมีอยู่เป็นธรรมดา โดยอุปมาเป็นต้นได้ ฉันนั้นแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ นิพพาเป็นเอกันตสุขจริง ก็แต่ใคร ๆ ไม่อาจแสดงรูปเป็นต้นแห่งนิพพานโดยอุปมาเป็นต้นได้. ถึงกระนั้น การแสดงคุณแห่งนิพพานเทียบเข้าด้วยเหตุทั้งหลายอื่นคงมีอยู่หรือแสดงเหตุอะไร ๆ สักว่าชี้อุปมาก็คงมีอยู่."
ถ. "ขอถวายพระพร การแสดงคุณแห่งนิพพานเทียบเข้าด้วยเหตุทั้งหลายอื่นโดยธรรมดาของตน ย่อมไม่มี, ก็แต่อาจแสดงเหตุอะไร ๆ สักว่าชี้อุปมาโดยคุณได้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะได้เหตุสักว่าความชี้แจงแม้แต่โดยเอกเทศ ด้วยประการใด ขอพระผู้เป็นเจ้าแสดงโดยพลัน ด้วยประการนั้น, และขอพระผู้เป็นเจ้าดับความกระวนกระวายหัวใจของข้าพเจ้า, และขอได้แนะนำข้าพเจ้าด้วยลมกล่าว คือ ถ้อยคำอันเยือกเย็นและไพเราะ."
ถ. "ขอถวายพระพร คุณหนึ่งประการ แห่งดอกบัว,
คุณสองประการ แห่งน้ำ,
คุณสามประการ แห่งยา,
คุณสี่ประการ แห่งมหาสมุทร,
คุณห้าประการ แห่งโภชนะ,
คุณสิบประการ แห่งอากาศ,
คุณสามประการ แห่งแก้วมณี,
คุณสามประการ แห่งจันทน์แดง,
คุณสามประการ แห่งสัปปิอย่างใส,
คุณห้าประการแห่งยอดภูเขา แต่ล้วนเป็นคุณควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ คุณประการหนึ่งแห่งดอกบัวควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ดอกบัวอันน้ำไม่ซึมติดอยู่ได้ ฉันใด พระนิพพานอันกิเลสทั้งปวงก็ไม่ซึมติดอยู่ได้ ฉันนั้นแล. คุณประการหนึ่งแห่งดอกบัว ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสองประการแห่งน้ำ ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่าพระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำเป็นของเย็นเป็นของดับความกระวนกระวายเสีย ฉันใด, นิพพานก็เป็นของเย็น เป็นของดับความกระวนกระจาย คือ กิเลสเสีย ฉันนั้น, นี้เป็นคุณที่หนึ่ง.
น้ำเป็นของบำบัดเสียซึ่งความอยากน้ำ ของหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ผู้เหน็ดเหนื่อย สะดุ้งกลัว อยากน้ำ และเร่าร้อนเพราะฤดูร้อนฉันใด, นิพพานก็เป็นของบำบัดเสียซึ่งความกระหาย กล่าวคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฉันนั้น, นี้เป็นคุณที่สอง. เหล่านี้แลคุณสองประการแห่งน้ำ ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสามประการแห่งยา ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยาเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันพิษแห่งงูเป็นต้นเบียดเบียนแล้ว ฉันใด, นิพพานก็เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันพิษกล่าวคือ กิเลสเบียดเบียนแล้ว ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
ยาเป็นของกระทำที่สุดแห่งโรค ฉันใด, นิพพานก็เป็นของกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
ยาเป็นของไม่ตาย ฉันใด, นิพพานก็เป็นของไม่ตาย ฉันนั้น นี้เป็นคุณที่สาม. เหล่านี้แล เป็นคุณสามประการแห่งยาควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสี่ประการแห่งมหาสมุทร ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร มหาสมุทรเป็นของสูญว่างจากทรากศพทั้งปวง ฉันใด, นิพพานก็เป็นของสูญว่างจากทรากศพ กล่าวคือ กิเลสทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
มหาสมุทรเป็นของใหญ่แลไม่เห็นฝั่งนี้และฝั่งโน้น, ย่อมไม่เต็มด้วยน้ำที่ไหลมาทั้งปวง ฉันใด, นิพพานก็เป็นของใหญ่ ไม่มีฝั่งนี้และฝั่งโน้น, ย่อมไม่เต็มด้วยสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
มหาสมุทรเป็นที่อยู่แห่งภูตใหญ่ทั้งหลาย ฉันใด, นิพพานก็เป็นที่อยู่แห่งภูตใหญ่ทั้งหลายขีณาสพ ไม่มีมลทิน ถึงซึ่งกำลังและเป็นผู้มีความเป็นผู้สามารถ คือ พระอรหันต์ทั้งหลายมาก ฉันนั่น, นี่เป็นคุณที่สาม.
มหาสมุทรเบิกบานแล้วด้วยดอกไม้ กล่าวคือ คลื่นละลอกไพบูลมีอย่างต่าง ๆ อันนับไม่ได้ ฉันใด, นิพพานก็เบิกบานแล้วด้วยดอกไม้กล่าว คือ วิชชาและวิมุตติ อันบริสุทธิ์ไพบูลมีประการต่าง ๆ อันนับไม่ได้ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สี่. เหล่านี้แล เป็นคุณสี่ประการแห่งมหาสมุทรควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณห้าประการแห่งโภชนะ ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร โภชนะเป็นของทรงอายุแห่งสัตว์ทั้งปวงไว้ ฉันใด, นิพพานอันบุคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นของทรงอายุไว้ เพราะความที่ชราและมรณะหายไป ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
โภชนะเป็นของยังกำลังแห่งสัตว์ทั้งปวงให้เจริญ ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นของยังกำลังฤทธิ์แห่งสัตว์ทั้งปวงให้เจริญ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
โภชนะเป็นเครื่องเกิดพรรณแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นเครื่องเกิดพรรณ คือ คุณความดีแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม.
โภชนะเป็นของระงับความกระวนกระวายแห่งสัตว์ทั้งปวงเสีย ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้ว ก็เป็นของระงับความกระวนกระวาย คือ กิเลสแห่งสัตว์ทั้งปวงเสียฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สี่.
โภชนะเป็นของบรรเทาความเป็นผู้มีกำลังชั่วด้วยสามารถความหิวแห่งสัตว์ทั้งปวงเสีย ฉันใด, นิพพานอันบุคคลกระทำให้แจ้งแล้วก็เป็นของบรรเทาความเป็นผู้มีกำลังชั่วด้วยสามารถความหิว กล่าวคือ ความทุกข์ทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่ห้า. เหล่านี้แล คุณห้าประการแห่งโภชนะ ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "คุณสิบประการแห่งอากาศ ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร อากาศย่อมไม่รู้เกิดหนึ่ง ย่อมไม่รู้แก่หนึ่ง ย่อมไม่รู้ตายหนึ่ง ย่อมไม่จุติหนึ่ง ย่อมไม่เกิดอีกหนึ่ง, ยากที่อะไร ๆ จะข่มเหงได้และอันโจรลักนำไปไม่ได้หนึ่ง ไม่อาศัยอะไร ๆ หนึ่ง เป็นที่ไปแห่งนกหนึ่ง ไม่มีเครื่องกางกั้นหนึ่ง หาที่สุดมิได้หนึ่งฉันใด, นิพพานก็ย่อมไม่รู้เกิดหนึ่ง ย่อมไม่รู้แก่หนึ่ง ย่อมไม่รู้ตายหนึ่ง ย่อมไม่จุติหนึ่ง ย่อมไม่เกิดอีกหนึ่ง, ยากที่อะไร ๆ จะข่มเหงได้ และโจรลักนำไปไม่ได้หนึ่ง ไม่อาศัยอะไร ๆ หนึ่ง เป็นที่ไปแห่งพระอริยเจ้าหนึ่ง ไม่มีเครื่องกางกั้นหนึ่ง หาที่สุดมิได้หนึ่ง ฉันนั้น. เหล่านี้แล คุณสิบประการแห่งอากาศ ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "ก็คุณสามประการแห่งแก้วมณี ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ."ขอถวายพระพร แก้วมณีเป็นของให้ผลที่ใคร ๆ อยากได้ฉันใด, นิพพานก็เป็นของให้ผลที่ใคร ๆ อยากได้ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
แก้วมณีกระทำความร่าเริง ฉันใด, นิพพานก็กระทำความร่าเริงฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
แก้วมณีกระทำประโยชน์ให้รุ่งเรืองขึ้น ฉันใด, นิพพานก็กระทำประโยชน์ให้รุ่งเรืองขึ้น ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม. เหล่านี้แล คุณสามประการแห่งแก้วมณี ควรเทียบด้วยนิพพาน."
ร. "คุณสามประการแห่งแก่นจันทน์แดง ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร แก่นจันทน์แดงเป็นของที่หาได้ด้วยยากฉันใด, นิพพานก็เป็นของที่หาได้ด้วยยาก ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
แก่นจันทน์แดงเป็นสิ่งที่ไม่มีของหอมอื่นจะเสมอ ฉันใด, นิพพานก็เป็นธรรมชาติไม่มีของหอมอื่นเสมอ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
แก่นจันทน์แดงเป็นของอันบุคคลผู้ดีสรรเสริญ ฉันใด, นิพพานก็เป็นธรรมชาติอันพระอริยบุคคลสรรเสริญ ฉันนั้น นี่เป็นคุณที่สาม. นี้แล คุณสามประการแห่งแก่นจันทน์แดง ควรเทียบกับนิพพาน."
ร."ก็คุณสามประการแห่งสัปปิอย่างใด ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร สัปปิอย่างใส เป็นของถึงพร้อมด้วยสีฉันใด, นิพพานก็เป็นของถึงพร้อมด้วยสีกล่าว คือ คุณความดี ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
สัปปิอย่างใส เป็นของถึงพร้อมด้วยกลิ่น ฉันใด, นิพพานก็เป็นของถึงพร้อมด้วยกลิ่นกล่าวคือศีล ฉันนั้น, เป็นคุณที่สอง.
สัปปิอย่างใส เป็นของถึงพร้อมด้วยรส ฉันใด, นิพพานก็เป็นของถึงพร้อมด้วยรส ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม. เหล่านี้แล เป็นคุณสามประการแห่งสัปปิอย่างใส ควรเทียบกับนิพพาน."
ร. "ก็คุณห้าประการแห่งยอดภูเขา ควรเทียบกับนิพพานเป็นไฉนเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยอดภูเขาเป็นของสูง ฉันใด, นิพพานก็เป็นของสูง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่หนึ่ง.
ยอดภูเขาเป็นของไม่หวั่นไหว ฉันใด, นิพพานก็เป็นของหวั่นไหว ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สอง.
ยอดภูเขาเป็นของยากที่จะขึ้นไปได้ ฉันใด, นิพพานก็เป็นของยากที่กิเลสทั้งปวงจะขึ้นไปได้ ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สาม.
ยอดภูเขาเป็นที่ไม่งอกขึ้นแห่งพืชทั้งปวง ฉันใด, นิพพานก็เป็นที่ไม่งอกขึ้นแห่งกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่สี่.
ยอดภูเขา เป็นของพ้นพิเศษแล้วจากความเป็นที่ยินดียินร้ายฉันใด, นิพพานก็เป็นของพ้นวิเศษแล้วจากความยินดีและความยินร้ายฉันนั้น, นี่เป็นคุณที่ห้า. เหล่านี้แลคุณห้าประการแห่งยอดเขาควรเทียบกับนิพพาน"
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. นิพพานสัจฉิกรณปัญหา ๘๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า "นิพพานไม่ใช่เป็นธรรมชาตล่วงไปแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาต ยังไม่มาถึง ไม่ใช่เป็นธรรมชาตเกิดขึ้นเฉพาะหน้า, ไม่ใช่เป็นธรรมชาตเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาตไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาตอันกิเลสทั้งหลายยึดมั่น" ฉะนี้. ก็บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน บุคคลผู้นั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือว่ายังนิพพานให้เกิดขึ้นแล้วจึงกระทำให้แจ้ง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน บุคคลผู้นั้นไม่กระทำให้แจ้ง ซึ่งนิพพานที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ยังนิพพานให้เกิดแล้วจึงกระทำให้แจ้ง. ก็แต่ว่านิพพานธาตุที่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วกระทำให้แจ้งมีอยู่."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าอย่าแสดงปัญหานี้กระทำให้ปกปิด, จงแสดงกระทำให้เปิดเผยให้ปรากฏ, พระผู้เป็นเจ้าจงเกิดฉันทะ เกิดอุตสาหะกระจายข้อความทั้งปวงที่พระผู้เป็นเจ้าศึกษาแล้วในปัญหานี้, มหาชนนี้หลงพร้อมแล้ว เกิดความสงสัย แล่นไปสู่ความสงสัยในปัญหานี้, พระผู้เป็นเจ้าจงทำลายลูกศรกล่าวคือโทษภายในเสีย."
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานธาตุนั้นเป็นธรรมชาตระงับแล้วเป็นสุขประณีต, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายตามคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ชำนะแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นด้วยปัญญา.
ขอถวายพระพร อันเตวาสิกย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งวิทยาด้วยปัญญา ตามคำพร่ำสอนแห่งอาจารย์ ฉันใด, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานด้วยปัญญา ตามคำพร่ำสอนแห่งพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ฉันนั้น. ก็นิพพานอันบัณฑิตพึงเห็นอย่างไร? พึงเห็นโดยความเป็นของไม่มีเหตุร้าย โดยความเป็นของไม่มีอันตราย โดยความเป็นของไม่มีภัย โดยความเป็นของเกษม โดยความเป็นของระงับแล้ว โดยความเป็นสุข โดยความเป็นของสำราญ โดยความเป้นของประณีต โดยความเป็นของสะอาด โดยความเป็นของเยือกเย็น.
ขอถวายพระพร บุรุษร้อนอยู่ด้วยไฟอันโพลงร้อน มีกองไม้มากพ้นจากไฟนั้นด้วยความพยายามแล้ว เข้าไปสู่โอกาสไม่มีไฟ พึงได้สุขอย่างยิ่งในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบ บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง อันมีความร้อนพร้อม คือ ไฟสามอย่างไปปราศแล้ว ด้วยความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ไฟได้แก่ไฟสามอย่าง บุรุษผู้ไปแล้วในไฟได้แก่บุคคลปฏิบัติชอบแล้ว โอกาสอันหาไฟมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ไปแล้วสู่กองส่วนแห่งทรากศพงูสุนัขและมนุษย์และคูถ เข้าไปแล้วสู่ระหว่างปะปนด้วยหมู่ทรากศพ พ้นจากทรากศพนั้นด้วยความพยายามแล้วเข้าไปสู่โอกาสหาทรากศพมิได้ พึงได้สุขอย่างยิ่งในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง อันปราศจากทรากศพ กล่าวคือ กิเลสด้วยความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ทรากศพได้แก่กามคุณห้าประการ บุรุษผู้ไปสู่ทรากศพได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติขชอบ โอกาสหาทรากศพมิได้นั้นได้แก่นิพพาน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้สะดุ้งหวาดกลัวแล้ว มีจิตแปรปรวนหมุนไปแล้ว พ้นจากจิตเช่นนั้นด้วยความเพียรแล้ว เข้าไปสู่ที่หาภัยมิได้ และมั่นคงไม่หวั่นไหว พึงได้บรมสุขในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นบรมสุข มีความกลัวและความสะดุ้งไปปราศแล้ว ด้วยโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ภัยได้แก่ภัยที่อาศัย ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นไปเนือง ๆ บุรุษผู้กลัวได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ สถานซึ่งหาภัยมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าบุรุษล้มลงที่ประเทศเต็มไปด้วยเลนตมอันหม่นหมอง ชำระล้างเลนตมนั้นเสียด้วยความเพียรแล้ว เข้าไปสู่ประเทศหมดจดไม่มีมลทิน พึงได้บรมสุขในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใด ปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้น ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน อันเป็นบรมสุข อันมีเปือกตมหม่นหมอง คือ กิเลสไปปราศแล้วด้วยโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร เปือกตม ได้แก่ลาภสักการะและความสรรเสริญบุรุษผู้ไปสู่เปือกตม ได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ ประเทศอันบริสุทธิ์หามลทินมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน.
ก็แหละ บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นเป็นไฉน? ขอถวายพระพร คือ บุคคลใด ปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย, เมื่อพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, บุคคลนั้น ย่อมไม่เห็นซึ่งอะไร ๆ ในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา.
ขอถวายพระพร บุรุษย่อมไม่เห็นซึ่งประเทศแห่งหนึ่ง ข้างต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในก้อนเหล็กแดงร้อนอยู่ตลอดวัน ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ฉันใด, บุคคลใด พิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย บุคคลนั้น เมื่อพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายอยู่ ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, ย่อมไม่เห็นความสุขความสำราญหน่อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, ย่อมไม่เห็นอะไร ๆ ในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ฉันนั้น. เมื่อบุคคลนั้นได้เห็นอะไร ๆ ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ความไม่สบายในจิตก็ย่อมตั้งอยู่พร้อม, ความเร่าร้อนในกายก็ย่อมหยั่งลง, บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่งย่อมเบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงเข้าไปสู่กองไฟใหญ่ มีเปลวรุ่งเรือง, บุรุษนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่งของตนในกองไฟนั้น พึงเบื่อหน่ายในไฟ ฉันใด, เมื่อบุคคลนั้นไม่เห็นอะไร ๆ ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ความไม่สบายในจิตย่อมตั้งอยู่พร้อม, ความเร่าร้อนในกายย่อมหยั่งลง, บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่ง พึงเบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย ฉันนั้น. เมื่อบุคคลนั้นเห็นภัยในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นปกติ จิตย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า 'ก็ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายนี้ เป็นของร้อนพร้อม ร้อนแต่ต้น ร้อนโดยรอบมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก;ถ้าใคร ๆ มาได้ความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายไซร้, คือ ธรรมชาตนี้ใด ธรรมเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่คลายย้อม ธรรมเป็นที่เงียบหาย ธรรมเป็นที่ดับ ธรรมชาตนั้นเป็นของระงับแล้ว ธรรมชาตนั้นเป็นของประณีต ดังนี้. จิตนี้ของบุคคลนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมร่าเริง ในความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายว่า 'ความออกไปจากภพทั้งสาม อันเราได้เฉพาะแล้ว' ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร บุรุษผู้เสียหายแล้ว หลีกไปสู่ต่างประเทศแล้ว เห็นหนทางที่นำออกแล้ว ย่อมแล่นไป ย่อมพอใจ ย่อมร่าเริงในหนทางนั้นว่า 'หนทางเป็นที่นำออกจากความพินาศ อันเราได้เฉพาะแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด, จิตของบุคคลผู้เห็นภัยในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นปกติ ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมร่าเริง ในความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายว่า 'ความออกไปจากภพทั้งสามอันเราได้เฉพาะแล้ว'ฉะนี้ ฉะนั้น. บุคคลนั้น ประมวลมา แสวงหาให้เจริญกระทำให้มาก ซึ่งหนทางเพื่อความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายอยู่, สติวิริยะและปีติของบุคคลนั้นย่อมตั้งมั่น เพื่อความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายนั้น. เมื่อบุคคลนั้นกระทำในใจซึ่งจิตนั้นเนือง ๆ จิตก็ก้าวล่วงความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเสีย หยั่งลงยังความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย;ขอถวายพระพร บุคคลผู้ถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว บัณฑิตย่อมกล่าวว่า 'เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน' ฉะนี้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น.

๗. นิพพานปัฏฐานปัญหา ๘๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ประเทศที่นิพพานตั้งอยู่ มีอยู่ในทิศบูรพา หรือทิศทักษิณ ทิศปัศจิม ทิศอุดร หรือข้างบน ข้างล่าง ด้านขวาง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ประเทศที่นิพพานตั้งอยู่ ในทิศบูรพาเป็นต้นไม่มี ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน หากว่าโอกาสที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มีไซร้ ถ้าอย่างนั้น นิพพานก็ไม่มี, และนิพพานที่ผู้ใดกระทำให้แจ้งความกระทำให้แจ้งของผู้นั้นก็เปล่าซิ. ข้าพเจ้าจะกล่าวเหตุในข้อนั้น; นาเป้นที่ตั้งขึ้นแห่งธัญชาติมีอยู่ ดอกไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งกลิ่นมีอยู่ กอไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งดอกไม้มีอยู่ ต้นไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งผลไม้มีอยู่ บ่อเกิดรัตนะเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งรัตนะมีอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ปรารถนาของใด ๆ ในที่ทั้งหลายนั้น บุคคลนั้น ไปในที่ทั้งหลายนั้น นำของนั้น ๆ มาฉันใด; ถ้าว่านิพพานมีอยู่ แม้โอกาสเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งนิพพานนั้นใคร ๆ ต้องปรารถนา ฉันนั้น. เพราะเหตุซึ่งโอกาสเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งนิพพานไม่มี ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า 'นิพพานไม่มี'ดังนี้, และนิพพานอันผู้ใดกระทำให้แจ้ง ความกระทำให้แจ้งแม้ของผู้นั้นก็เปล่า"
ถ. "ขอถวายพระพร โอกาสเป็นที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี, แต่นิพพานนั้นมีอยู่, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานโดยโยนิโสมนสิการ. ขอถวายพระพร ธรรมดาไฟ ย่อมมีอยู่โอกาสที่ตั้งของไฟนั้น ย่อมไม่มี. บุคคลสีไม้สองอันเข้าแล้ว ย่อมได้ไฟฉันใด, นิพพานมีอยู่ โอกาสที่ตั้งของนิพพาน ย่อมไม่มี บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน โดยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ขอถวายพระพร.
อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า แก้วทั้งเจ็ดมีอยู่ แก้วทั้งเจ็ดนั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว โอกาสที่ตั้งแห่งแก้วเจ็ดประการนั้น ไม่มี แต่เมื่อบรมกษัตริย์ปฏิบัติชอบแล้ว แก้วเจ็ดประการนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งการปฏิบัติ ฉันใด; นิพพานมีอยู่ โอกาสที่ตั้งแห่งนิพพาน ไม่มี
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน โอกาสที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มีก็ช่างเถิด ก็แต่ฐานะที่บุคคลตั้งอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน มีอยู่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ฐานะที่บุคคลตั้งอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน มีอยู่."
ร. "ก็ฐานะนั้นเป็นไฉน พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ฐานะ คือ ศีล บุคคลตั้งมั่นในศีลแล้วเมื่อกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ ตั้งอยู่ในสกลนครและยวนนครก็ดี ในจีนนครและวิลาตนครก็ดี ในอลสันทนครก็ดี ในนิกุมพนครก็ดี ในกาสีนครและโกสลนครก็ดี ในกัสมีรนครก็ดี ในคันธารนครก็ดี บนยอดภูเขาก็ดี บนพรหมโลกก็ดี ในที่ใดที่หนึ่งก็ดี ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
ขอถวายพระพร บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งมีจักษุ คือ ปัญญา ตั้งอยู่แล้วในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ย่อมเห็นอากาศ ฉันใดบุคคลผู้ตั้งมั่นในศีลแล้ว เมื่อกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ ตั้งอยู่แล้วในที่ทั้งหลายมีสกนครและยวนนครเป็นต้น ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรพทิศย่อมมีปรากฏแก่บุรุษผู้ตั้งอยู่ในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ฉันใด, เมื่อบุคคลตั้งมั้นในศีล กระทำในใจโดยแยบคาย ตั้งอยู่ในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ปฏิบัติชอบแล้ว ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ก็ย่อมมีปรากฏ ฉันนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นิพพาน พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, คุณทั้งหลายแห่งศีล พระผู้เป็นเจ้ากระทำรอบคอบแล้ว, สัมมาปฏิบัติ พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, ธงคือพระธรรม พระผู้เป็นเจ้ายกขึ้นแล้ว, แบบอย่างแห่งธรรม พระผู้เป็นเจ้าให้ตั้งอยู่พร้อมแล้ว, สัมมาปโยคของบุคคลผู้ประกอบทั่วดีแล้ว ไม่เป็นหมัน, พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐเลิศแห่งหมู่ชน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."





เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ส.ค. 2012, 13:28 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว




e0b89ae0b8b1e0b8a7e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b88722.jpg
e0b89ae0b8b1e0b8a7e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b88722.jpg [ 42.6 KiB | เปิดดู 5605 ครั้ง ]
.. :b8:

น่าเสียดาย..อันผู้ปรารถนาความสงบเยือกเย็นจากกระแสพระนิพพาน มิได้แม้เพียงรักษาศีล ๕ ข้อ อันเป็นบาท เป็นฐาน เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นรั้ว เป็นทางเดินไปสู่ลำดับขั้นของกระแสแห่งความสงบเยือกเย็น อันวิเศษนั้น ได้แต่มองข้าม ทอดเวลาให้ยาวนานหมดไปชาติแล้วภพเล่าโดยเปล่า.. แค่ประโยคว่า ความเป็นพระโสดาบันนี้ อันผู้ใดถึงแล้ว เป็นอันไม่ตกต่ำนั้น ก็เพราะผู้เ็ป็นพระโสดาบันนั้น ได้ถึงกระแสแห่งความสงบเยือกเย็น ไม่ร้อนนั้นแล้ว จึงไม่ปรารถนาเวียนกลับไปเป็นผู้มักมาก กระทำตนให้เร่าร้อนอีกนั่นเอง ก็ผู้ใดเล่าเมื่อได้สุขในที่ใดแล้ว.. จะย้ายตนเองกลับไปเสวยทุกข์อีกเล่า..

อนุโมทนาแล้วๆๆ ..
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ส.ค. 2012, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5325


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. อนุมานปัญหา ๘๕

ลำดับนั้น พระราชามิลินท์ เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสน ผู้มีอายุโดยสถานที่ท่านอยู่ ครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว นมัสการพระนาคเสนผู้มีอายุแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. ประทับเป็นปกติแล้ว เป็นผู้ใคร่ทรงทราบ ใคร่ทรงสดับ ใคร่ทรงจดจำ ใคร่ทรงเห็นอาโลกกล่าว คือ พระญาณปรีชา ใคร่ทรงทำลายอัญญาณความไม่รู้เสีย ใคร่ทรงกระทำญาณาโลกให้เกิดขึ้น ใครทรงกระมืด คือ อวิชชาให้พินาศ เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความรู้ยิ่งซึ่งปัญญา ซึ่งพระอุตสาหะ และซึ่งพระสติสัมปชัญญะแล้ว จึงได้ตรัสพระวาจาอันนี้กะพระนาคเสน ผู้มีอายุว่า "พระนาคเสนผู้เจริญ, พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ?"
พระเถรเจ้าถวายพระพรว่า "อาตมภาพไม่ได้เห็น ขอถวายพระพร."
ร. "ก็อาจารย์ทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ?"
ถ. "อาจารย์ทั้งหลายของอาตมภาพก็หาได้เห็นไม่."
ร. "พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้าก็มิได้เห็น, อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็มิได้เห็น, ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มี, เพราะว่า พระพุทธเจ้าย่อมไม่ปรากฏในปัญหาข้อนี้."
ถ. "ขอถวายพระพร บรมกษัตริย์ผู้เป็นประถมขัตติยราชวงศ์ของบรมบพิตร มีหรือไม่?"
ร. "มีซิ สงสัยอะไร."
ถ. "ก็บรมบพิตรได้เคยทรงเห็นหรือ?"
ร. "ไม่เคยเห็น."
ถ. "ก็ชนทั้งหลายผู้สำหรับกราบทูลเตือนบรมบพิตร คือ ปุโรหิตเสนาบดี อมาตย์ผู้วินิจฉัย ได้เคยเห็นหรือ?"
ร. "ไม่เคยเห็นเหมือนกัน."
ถ. "ถ้าว่าบรมบพิตรไม่ได้เคยทรงเห็นบรมกษัตริย์ผู้เป็นประถมขัตติยราชวงศ์ และชนทั้งหลายผู้สำหรับกราบทูลเตือน ก็ไม่ได้เห็นบรมกษัตริย์ผู้เป็นประถมขัตติยราชวงศ์จะมีที่ไหน, เพราะว่า ไม่ปรากฏในปัญหาข้อนี้."
ร. "เครื่องราชูปโภคทั้งหลายที่บรมกษัตริย์ ผู้เป็นประถม
ขัตติยราชวงศ์ ได้ใช้สอยยังปรากฏอยู่ คือ เศวตฉัตร มหามกุฏ ฉลองพระบาท วาลวิชนี พระขรรค์แก้ว และที่บรรทมทั้งหลายมีราคามาก ข้าพเจ้าจึงทราบและเชื่อแน่ว่า 'บรมกษัตริย์ผู้เป็นประถม
ขัตติยราชวงศ์มีจริง."
ถ. "ขอถวายพระพร อาตมภาพทราบและเชื่อซึ่งพระผู้ทรงพระภาคเจ้าว่า 'มีจริง' เหมือนฉะนั้น, เหตุเป็นเครื่องให้อาตมภาพทราบและเชื่อแน่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่จริง' ฉะนี้ มีอยู่ คือ เครื่องพุทธบริโภคทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ผู้เห็น ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธนั้นได้ทรงใช้สอยมีอยู่, คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยาษฏางคิกมรรคแปด, โลกทั้งเทวโลก ย่อมรู้ย่อมเชื่อแน่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่' ฉะนี้. ขอถวายพระพร บรมบพิตรพึงทราบโดยเหตุ โดยปัจจัย โดยนัย โดยทางอนุมานนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีอยู่' ฉะนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า 'ทรงยังประชุมชนให้ข้ามจากสงสารกันดารเสด็จปรินิพพานแล้ว เพราะสิ้นไปแห่งอุปธิกล่าวคือเบญจขันธ์ กิเสลกรรม, บรมบพิตรธรรมิกมหาราช ควรทรงทราบโดยทรงอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า มีอยู่จริง' ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้ากระทำอุปมา."
ถ. "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่านายช่างผู้ตกแต่งพระนครอยากสร้างพระนคร ก็เลือกหาพื้นที่อันเสมอ ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่มีกรวด และหิน ไม่มีอุปัทวะ ไม่มีโทษ น่ารื่นรมย์ก่อนแล้ว ให้กระทำพื้นที่ซึ่งไม่เสมอให้เสมอ แล้วให้ชำระตอไม้และหนามแล้ว จึงสร้างพระนครลงในพื้นที่นั้น พระนครนั้นแบ่งกำหนดโดยส่วนอย่างงาม มีคูและกำแพงขุดก่อแล้ว มีประตูหอรบและยุ้งฉางมั่นคง มีท้องสนามและถนนสี่แยก ถนนติดต่อกันสายเดียว ถนนสามแยกเป็นอันมาก มีทั้งถนนหลวง มีพื้นเสมอสะอาด มีร้านตลาดแบ่งปันตั้งไว้ดีแล้ว มีสวนเป็นที่ยินดีและสระใหญ่สระบัว บริบูรณ์ด้วยน้ำควรดื่ม ประดับแล้วด้วยสถานอันประเสริฐมีอย่างมาก เว้นจากโทษที่จะพึงติว่าไม่งามทั้งปวง, นายช่างผู้ตกแต่งพระนครนั้น ครั้นพระนครนั้นถึงแล้วซึ่งความเป็นของไพบูลย์โดยประการทั้งปวง ก็ไปเสียยังประเทศอื่น, ครั้นต่อมา พระนครนั้นแข็งแรงเจริญสุข มีอาหารบริบูรณ์เกษมสำราญมั่งคั่ง ไม่มีเหตุร้าย หาอันตรายมิได้ ขนเป็นอันมาก คับคั่งด้วยชนต่างชาติต่างภาษา คือ กษัตริย์ พราหมณ์ เวสสะ สุททะ นายช้าง นายม้า นายรถ คนเดินเท้า คนถือธนู คนถืออาวุธ ราชบุตรเข้มแข็ง ทหารผูกเกราะไล่ข้าศึกกล้าหาญ บุตรทาส บุตรอมาตย์ หมู่คนปล้ำ คนทำครัว ช่างตัดผม ช่างจาระไน ช่างดอกไม้ ช่างทอด ช่างเงิน ช่างตะกั่ว ช่างดีบุก ช่างโลหะ ช่างลูกปืน ช่างเหล็ก ช่างแก้วมณี ช่างทอผ้า ช่างหม้อ ช่างเกลือ ช่างหนัง ช่างรถ ช่างงา ช่างเชือก ช่างหวี ช่างด้าย ช่างสาน ช่างธนู ช่างสายธนู ช่างศร ช่างเขียน ช่างทำที่อาศัย ช่างย้อม คนทำงานต่าง ๆ คนทำเครื่องหอม คนเกี่ยวหญ้า คนตัดฟืน คนทำการจ้าง คนหาผัก คนหาผลไม้ คนหารากไม้ คนหุงข้าว คนทำขนม คนหาปลา คนหาเนื้อ คนทำของเมา คนฟ้อนรำ คนโลดเต้น คนเล่นกล คนขับร้อง คนเผาศพ คนเทดอกไม้ พราน หญิงแพศยา ทาสีผู้นำไปซึ่งหม้อ ชาวสกนครและชาวยวนนคร จีนนคร วิลาตนคร ชาวอุชเชนีนคร ชาวภารุนครและกัจฉกนคร ชาวกาสีนครและโกสลนคร อปรันตกนคร ชาวมคธนคร ชาวสาเกตนคร ชาวโสรัฏฐกนคร ชาวปาเฐยยกนคร ชาวโกตุมพนครและมธุรกนคร ชาวอลสันทนคร กัสมีรนคร คันธารนคร ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในพระนครนั้น, ชนชาวต่างประเทศเห็นพระนครใหม่ ซึ่งจำแนกภูมิสถานเป็นต้นดีหาที่ติมิได้ เป็นที่น่ารื่นรมย์นั้นแล้ว ย่อมรู้โดยอนุมานว่า 'นายช่างผู้สร้างพระนครนี้ เป็นผู้ฉลาดทีเดียว' ดังนี้ ฉันใดก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไม่มีผู้ใดเสมอ เป็นผู้เสมอด้วยบุคคลผู้หาใครเสมอมิได้ เป็นผู้ไม่มีบุคคลผู้เสมอเปรียบ เป็นผู้หาใคร ๆ เช่นด้วยพระองค์มิได้ เป็นผู้อันบุคคลไม่พึงชั่ง ไม่พึงนับ ไม่พึงประมาณ เป็นผู้มีพระคุณอันนับไม่ได้ เป็นผู้ถึงซึ่งความเปี่ยมแห่งพระคุณ เป็นผู้มีปัญญาเครื่องเห็นหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มีพระเดชานุภาพหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มีพระวิริยะหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มีพระกำลังหาที่สุดมิได้ เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเปี่ยมแห่งพระพุทธพล พระองค์ยังมารพร้อมด้วยเสนาให้ปราชัยแล้วทรงทำลายซึ่งข่ายคือทิฏฐิแล้ว ยังอวิชชาให้สิ้นไปแล้ว ให้วิทยาเกิดขึ้นแล้วทรงไว้ซึ่งคบเพลิงกล่าวคือพระธรรม ถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง มีสงครามอันผจญชนะแล้ว ได้ทรงสร้างพระนคร กล่าวคือ พระธรรมไว้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร ธรรมนครของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคู มีญาณเป็นซุ้มประตู มีวิริยะเป็นหอรบ มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด มีสติเป็นนายประตู มีปัญญาเป็นปราสาท มีสุตันตปิฎกเป็นท้องสนาม มีอภิธรรมปิฎกเป็นถนนสามแพร่ง มีวินัยปิฎกเป็นวินิจฉัยสภาคารสถาน มีสติปัฏฐานเป็นถนน.
อนึ่ง ร้านทั้งหลายเห็นปานนี้ เป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดไว้แล้ว ในถนนกล่าวคือ สติปัฏฐาน, คือ ร้านขายดอกไม้ ร้านขายของหอม ร้านขายผลไม้ ร้านขายยาถอนพิษ ร้านขายยาแก้โรคต่าง ๆ ร้านขายน้ำอมฤต ร้านขายแก้ว ร้านขายของทั้งปวง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ร้านขายดอกไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความจำแนกอารมณ์ทั้งหลายเป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็น ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะนั้น ได้ตรัสไว้ คือ สัญญาว่าไม่เที่ยง สัญญาว่ามิใช่ตัวตน สัญญาว่าไม่งาม สัญญาว่ามีอาทีนพ สัญญาในอันละ สัญญาในวิราคธรรม สัญญาในนิโรธธรรม สัญญาในความไม่น่าเพลิดเพลินยิ่งในโลกทั้งปวง สัญญาในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง สติระลึกลมหายใจออกเข้า สัญยาในซากศพอันเน่าพองขึ้น สัญยาในซากศพที่มีสีเขียว สัญญาในซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกอยู่ สัญญาในซากศพที่ขาดกลางตัว สัญญาในซากศพที่สัตว์กัดกิน สัญญาในซากศพที่มีมือเท้าและศีรษะขาด สัญญาในซากศพที่เขาสับฟันบั่นเป็นท่อน ๆ สัญญาในซากศพที่มีโลหิตไหลออกอยู่ สัญญาในซากศพที่ขาดกลางตัว สัญญาในซากศพที่สัตว์กัดกิน สัญยาในซากศพที่มีมือเท้าและศีรษะขาด สัญญาในซากศพที่เหลือแต่ร่างกระดูก สัญญาในเมตตา สัญญาในกรุณา สัญญาในมุทิตา สัญยาในอุเบกขา ระลึกถึงความตาย สติไปในกายความจำแนกอารมณ์เหล่านี้แล เป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ บุคคลผู้อยากจะพ้นจากชาติชราและมรณะ ย่อมถือเอาซึ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่ง, ก็ย่อมพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และข้ามสงสาร ห้ามเสียซึ่งกระแสแห่งตัณหา ชำระมลทินสามอย่าง ด้วยอารมณ์นั้น, ฆ่าเสียซึ่งกิเลสทั้งปวง เข้าไปแล้วสู่พระนคร คือ พระนิพพาน อันไม่มีมลทิน ไม่มีธุลี หมดจดขาวผ่อง ไม่มีความเกิด ไม่มีชรา ไม่มีมรณะ เป็นสุข เป็นของเย็น หาภัยมิได้ สูงสุดกว่าเมืองตามธรรมดา ยังจิตให้พ้นพิเศษ เพราะความเป็นพระอรหันต์. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายดอกไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า'.
ท่านทั้งหลาย ถือเอาราคาคือกระทำความเพียรเป็นต้นเข้าไปสู่ร้าน ซื้อเอาอารมณ์แล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงด้วยธรรมชาติเป็นที่พ้นนั้น ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายของหอมแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความจำแนกศีลทั้งหลายเป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็นผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะนั้นได้ตรัสไว้, พุทธโอรสแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ลูบไล้ของหอมกล่าวคือศีล ยังโลกทั้งเทวโลกให้ตลบไปด้วยกลิ่นคือศีล, ย่อมฟุ้งไปในทิศใหญ่ทิศน้อยตามลมทวนลม. ความจำแนกศีลทั้งหลายเหล่านั้นเป็นไฉน? คือ ศีลกับทั้งสรณะ ศีลห้า ศีลมีองค์แปด ศีลมีองค์สิบ ปาฏิโมกขสังวรศีลอันนับเข้าในอุทเทสห้า. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายของหอมแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.' แม้พุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดาล่วงเสียซึ่งเทพดา ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
'กลิ่นแห่งบุปผชาติย่อมไปทวนลมไม่ได้, กลิ่นแห่งแก่นจันทน์หรือกลิ่นแห่งกฤษณาและดอกมะลิ ก็ย่อมไปทวนลมไม่ได้ ส่วนกลิ่นของท่านผู้เป็นสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไปทวนลมได้, เหตุว่าท่านผู้เป็นสัตบุรุษ ย่อมฟุ้งไปในทิศทั้งปวง, บรรดาคันธชาตทั้งหลายเหล่านี้ คือ แก่นจันทน์ กฤษณา ดอกบัว และดอกมะลิ คันธชาตคือศีล เป็นของไม่มีคันธชาตอื่นจะยิ่งไปกว่า. กลิ่นกฤษณา กลิ่นแก่นจันทน์เป็นของมีกลิ่นน้อย, ฝ่ายกลิ่นของท่านผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นของอุดม ย่อมฟุ้งไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย' ดังนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายผลไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ผลทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล สุญญตผลสมาบัติ อนิมิตตผลสมาบัติ อัปปณิหิตผลสมาบัติ. บรรดาผลเหล่านั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งย่อมปรารถนาผลใด บุคคลผู้นั้นให้ราคา คือ ทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ซื้อเอาผลที่ตนปรารถนานั้น คือถ้าว่าปรารถนาโสดาปัตติผลเป็นต้น ก็ซื้อโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนไม้มะม่วงของบุรุษบางคน เป็นไม้มีผลเป็นนิตย์, คนซื้อทั้งหลายยังไม่มาเพียงใด บุรุษนั้นก็ไม่ยังผลทั้งหลายให้หล่นจากต้นเพียงนั้น, ครั้นรับราคาจากคนซื้อทั้งหลายผู้มาซื้อแล้วจึงกล่าวว่า 'บุรุษผู้เจริญ ไม้มะม่วงนั้นเป็นไม้มีผลเป็นนิตย์ ท่านปรารถนาผลชนิดใด จงถือเอาผลชนิดนั้น ดิบก็มี สุกก็มี' ดังนี้ คนซื้อนั้นถ้าปรารถนาผลดิบ ก็ถือเอาผลดิบตามราคาที่ตนให้นั้น ถ้าปรารถนาผลสุก ก็ถือเอาผลสุกตามราคาที่ตนให้นั้น ฉันใด, บุคคลผู้ใดปรารถนาผลอันใด บุคคลนั้นให้ราคาคือทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ซื้อเอาผลที่ตนปรารถนานั้น คือ ถ้าว่าปรารถนาโสดาปัตติผลเป็นต้น ก็ซื้อโสดาปัตติผลเป็นต้น ฉันนั้น. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายผลไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ชนทั้งหลายให้ราคากล่าวคือ ทำความเพียรเป็นต้น แล้วก็ถือเอาผลไม้กล่าว คือ อมฤตธรรม, เพราะเหตุนั้น ชนเหล่าใดได้ซื้อผลไม้กล่าวคือ อมฤตธรรม, ชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสุข ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายยาถอนพิษของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยาถอนพิษทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลื้องโลกทั้งเทวโลกจากพิษ คือกิเลส อันพระองค์ได้ตรัสไว้, ก็ยาถอนพิษเหล่านั้นไฉน? คืออิรยสัจสี่ อันพระองค์ได้ตรัสไว้. คือ ทุกขอริยสัจหนึ่ง ทุกขสมุทัยอริยสัจหนึ่ง ทุกขนิโรธอริยสัจหนึ่ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจหนึ่ง. บรรดาอริยสัจจสี่นั้น บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้เพ่งเพื่อความรู้ทั่วถึง ฟังอยู่ซึ่งอริยสัจธรรมสี่ บุคคลเหล่านั้น ย่อมพ้นจากชาติชรามรณะและโสกปริปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าว่า 'ร้านขายยาถอนพิษแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ยาถอนพิษเหล่าใดเหล่าหนึ่งใน โลกอันบำบัดเสียซึ่งพิษทั้งหลายซึ่งจะเสมอด้วยยาถอนพิษ คือธรรม มิได้มี ภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงดื่มยาถอนพิษคือธรรมนั้น ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายยาแก้โรคต่าง ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยาแก้โรคต่าง ๆ ทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ไขเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันพระองค์ได้ตรัสไว้คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ ด้วยยาแก้โรคต่าง ๆ เหล่านี้, และให้ทำซึ่งอันยังของเสีย คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนมิทธะ อหิริกะและอโนตตัปปะ สรรพกิเลสให้อาเจียนออกเสียด้วยยาแก้โรคต่าง ๆ เหล่านี้. นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายยาแก้โรคต่าง ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ยาเหล่าใดเหล่าหนึ่งแก้โรคต่าง ๆ มีอยู่ในโลกมาก ซึ่งจะเสมอด้วยยาแก้โรคต่าง ๆ กล่าวคือ ธรรมย่อมไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงดื่มยาแก้โรคต่าง ๆ กล่าวคือธรรมนั้น. ชนเหล่าใด ดื่มยาแก้โรคต่าง ๆ กล่าวคือ ธรรมแล้ว ชนเหล่านั้น พึงเป็นผู้หาแก่และตายไม่, และชนเหล่าใด เจริญแล้ว เห็นแล้ว ชนเหล่านั้นเป็นผู้ดับแล้ว เหตุสิ้นไปแห่งอุปธิ ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายน้ำอมฤตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำอมฤตอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาบโลกทั้งเทวโลกด้วยน้ำอมฤตไรเล่า, เทพดามนุษย์ทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอาบด้วยน้ำอมฤตไรเล่า ย่อมพ้นจากชาติชราพยาธิมรณะ และโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย น้ำอมฤตนั้นเป็นไฉน? น้ำอมฤตนั้นได้แก่กายคตาสติ. แม้พุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดาล่วงเสียซึ่งเทพดา ได้ทรงภาสิตไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดบริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่า บริโภคอมฤตธรรม' ฉะนี้. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายน้ำอมฤตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นหมู่คนผู้เจ็บแล้วได้เปิดไว้ซึ่งร้านขายน้ำอมฤต, ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงซื้อน้ำอมฤตนั้นด้วยราคาคือ ความเพียรเป็นต้นแล้ว ถือเอาน้ำอมฤตนั้นด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายแก้วของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร แก้วทั้งหลายอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ พุทธโอรสทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประดับแล้วด้วยแก้วเหล่าใดเล่า ย่อมยังโลกทั้งเทวโลกให้รุ่งเรืองโพลงแจ่มกระจ่างส่องสว่างข้างบนล้างล่างด้านขวาง. แก้วเหล่านั้นเป็นไฉน? แก้วคือศีล แก้วคือสมาธิ แก้วคือปัญญา แก้วคือวิมุตติ แก้วคือวิมุตติญาณทัสสนะ แก้วคือปฏิสัมภิทา แก้วคือโพชฌงค์.
ขอถวายพระพร แก้วคือศีลของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือปาฏิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยสันนิสสิตศีล จุลลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล มัคคศีล ผลศีล, โลกทั้งเทวดาทั้งมารทั้งพรหม หมู่สัตว์ทั้งสมณะพราหมณ์ ย่อมรักใคร่ปรารถนา บุคคลผู้ประดับด้วยแก้ว คือ ศีล. ภิกษุผู้ประดับด้วยแก้ว คือ ศีล ย่อมไพโรจน์รุ่งเรืองทั่วทิศใหญ่ทิศน้อยข้างบนข้างล่างด้านขวาง, ล่วงยิ่งครอบงำแก้วทั้งปวงตั้งอยู่ในระหว่างนี้ คือข้างล่างตั้งแต่อเวจีอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เปิดไว้ในร้านขายแก้ว. นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือศีลของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'แก้ว คือ ศีลทั้งหลายเห็นปานนี้ มีอยู่ในร้านของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ท่านทั้งหลายจงซื้อแก้ว คือศีลนั้น ด้วยราคาคือทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ประดับแก้วคือศีลนั้นด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้ว คือ สมาธิของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน คือ สมาธิมีวิตกวิจาร, สมาธิไม่มีวิตกมีแต่สักว่าวิจาร, สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร, สุญญตสมาธิ, อนิมิตตสมาธิ, อัปปณิหิตสมาธิ, กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก วัตถุเครื่องเศร้าหมอง คือ มานะ อุทธัจจะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา และความตรึกชั่วทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ ทั้งปวง มากระทบสมาธิแห่งภิกษุผู้ประดับด้วยแก้วคือสมาธิ ย่อมเรี่ยรายกระจัดกระจายไป ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เข้าไปติดอยู่ไม่ได้. ความที่สมาธิเป็นของอันกามวิตกเป็นต้นมากระทบแล้วไม่ตั้งอยู่ได้ เพราะเหตุแห่งอะไร? เพราะความที่สมาธิเป็นของบริสุทธิ์, เปรียบเหมือนน้ำในใบบัว ย่อมเรี่ยรายกระจัดกระจายไป ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เข้าไปติดอยู่ไม่ได้, ความที่น้ำไม่ติดในใบบัวได้นั้น เพราะเหตุแห่งอะไร? เพราะความที่ใบบัวเป็นของบริสุทธิ ฉะนั้น. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้ว คือ สมาธิของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
แก้ว คือ สมาธิทั้งหลายเห็นปานนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เปิดไว้แล้วในร้านขายแก้ว. ความตรึกชั่วทั้งหลาย ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้มีระเบียบแห่งแก้ว คือ สมาธิ และจิตของบุคคลนั้น ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน, เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงประดับ แก้วคือสมาธินั้น ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือ ปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นไฉน? คือพระอริยสาวกย่อมรู้แจ้งตามเป็นอย่างไร ด้วยปัญญาไรเล่าว่า 'นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ, นี้ควรเสพ, นี้ไม่ควรเสพ, นี้ต่ำช้า นี้ประณีต, นี้เป็นของดำ นี้เป็นของขาว, นี้เป็นส่วนเปรียบด้วยของดำและของขาว, นี้เป็นตัวทุกข์, นี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นพร้อม, นี้เป็นธรรมที่ดับทุกข์ นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์' ฉะนี้. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า'
ภพย่อมไม่เป็นไปนายแก่บุคคลผู้มีระเบียบแห่งแก้ว คือ ปัญญา, บุคคลนั้น ย่อมถูกต้องอมฤตธรรมพลัน, และบุคคลนั้นย่อมไม่ชอบใจในภพ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือวิมุตติของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือ พระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แก้วคือวิมุตติ, ภิกษุผู้ถึงพระอรหัตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอประดับแก้ว คือ วิมุตติแล้ว. เปรียบเหมือนบุรุษประดับพวงแก้วมุกดา และเครื่องประดับเป็นวิการแห่งแก้วมณี ทองคำ แก้วประพาฬ มีตัวอันลูบไล้ด้วยกฤษณาและแก่นจันทน์แดง ตกแต่งด้วยดอกกากะทิง ดอกบุนนาค ดอกรัง ดอกจำปา ดอกแค ดอกบัว ดอกมะลิ ย่อมไพโรจน์ส่องสว่างล่วงชนอันเหลือทั้งหลาย ด้วยอาภรณ์แล้วด้วยดอกไม้ของหอมและแก้วฉันใด, พระขีณาสพผู้ถึงพระอรหัตแล้วประดับวิมุตติรัตน์แล้ว ย่อมไพโรจน์ส่องสว่างล่วงภิกษุทั้งหลายผู้พ้นพิเศษแล้ว เพราะเปรียบเทียบด้วยวิมุตติ ฉันนั้น, ความที่พระขีณาสพผู้ประดับวิมุตติรัตน์เป็นผู้ไพโรจน์ล่วงภิกษุผู้พ้นพิเศษทั้งหลายด้วยวิมุตตินั้น เพราะเหตุแห่งอะไรเพราะเครื่องประดับ คือ วิมุตติรัตน์เป็นยอดแห่งสรรพเครื่องประดับทั้งหลาย. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือ วิมุตติของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ชนในเรือนย่อมแลดูท่านผู้เจ้าของเรือน ทรงระเบียบแห่งแก้วมณี, ฝ่ายโลกทั้งเทวโลกทั้งหลาย ย่อมแลดูท่านผู้ทรงระเบียบแห่งวิมุตติรัตน์ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือ วิมุตติญาณทัสสนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือพระอริยสาวกย่อมพิจารณาซึ่งมรรคผลนิพพานทั้งหลาย และซึ่งกิเลสที่ละแล้วและกิเลสที่ยังเหลืออยู่ทั้งหลายด้วยญาณใด, ปัจจเวกขณญาณอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แก้วคือ วิมุตติญาณทัสสนะ.
พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสรู้ ซึ่งความเป็นผู้กระทำกิจเสร็จแล้วด้วยญาณใด, พระชิโนรสทั้งหลาย ย่อมพยายามเพื่ออันได้ญาณรัตน์นั้น ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือปฏิสัมภิทา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? ปฏิสัมภิทามีสี่ประการ คือ อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในอรรถ) ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในธรรม) นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในถ้อยคำหรือภาษา) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในความเข้าใจ). ภิกษุตกแต่งด้วยแก้ว คือ ปฏิสัมภิทาเหล่านี้ ย่อมเข้าบริษัทใด ๆ ขัตติยบริษัทหรือพราหมณบริษัท หรือคฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท เป็นผู้ไม่ครั่นคร้าม ไม่ขวยเขิน ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้งกลัว ไม่สยองขน เหมือนกับทหารเป็นผู้กล้าในสงคราม มีอาวุธห้าอย่างผูกสอดแล้ว มิได้กลัวเข้าสู่สงครามด้วยรำพึงคิดว่า 'ถ้าว่าข้าศึกอยู่ไกล เราจักยิงด้วยศร ถ้าอยู่ใกล้แต่นั้น เราจักพุ่งด้วยหอก, ถ้าอยู่ใกล้แต่นั้น เราจักฟันด้วยดาบ, ถ้าอยู่ชิดเข้ามาอีก เราจักตัดด้วยกระบี่ให้เป็นสองท่อน, ถ้าอยู่ชิดกันทีเดียว เราจักแทงด้วยกริช' ฉะนี้ ฉันใด, ภิกษุผู้ประดับด้วยรัตนะ คือ ปฏิสัมภิทาสี่ เป็นผู้กล้า ไปหาบริษัทรำถึงคิดว่า 'ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในอัตถปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบอรรถโดยอรรถแก่เขา, คือ จักตอบปัจจัยโดยปัจจัยแก่เขา จักตอบเหตุโดยเหตุแก่เขา จักตอบนัยโดยนัยแก่เขา, จักกระทำไม่ให้เขาสงสัย จักให้เขายินดีด้วยปัญหาเวยยากรณ์. ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในธัมมปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบธรรมโดยธรรมแก่เขา, คือจักตอบอมตธรรมโดยอมตธรรมแก่เขา จักตอบอสังขตธรรมโดยอสังขตธรรมแก่เขา จักตอบนิพพานธรรมโดยนิพพานธรรมแก่เขา จักตอบสุญญตธรรมโดยสุญญตธรรมแก่เขา จักตอบอนิมิตตธรรมโดยอนิมิตตธรรมแก่เขา จักตอบอัปปณิหิตธรรมโดยอัปปณิปิตธรรมแก่เขา จักตอบอเนญชธรรม (ธรรม คือ ความเป็นผู้ไม่มีตัณหา) โดยอเนญชธรรมแก่เขา, ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในนิรุตติปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบนิรุตติโดยนิรุตติแก่เขา, คือจักตอบบทโดยบทแก่เขา จักตอบอนุบทโดยอนุบทแก่เขา จักตอบอักษรโดยอักษรแก่เขา จักตอบสนธิโดยสนธิแก่เขา จักตอบพยัญชนะโดยพยัญชนะแก่เขา จักตอบอนุพยัญชนะโดยอนุพยัญชนะแก่เขา จักตอบวรรณยุตติโดยวรรณยุตติแก่เขา จักตอบสระโดยสระแก่เขา จักตอบบัญญัติโดยบัญญัติแก่เขา จักตอบโวหารโดยโวหารแก่เขา, จักกระทำไม่ให้เขาสงสัย จักให้เขายินดีด้วยปัญหาเวยยากรณ์, ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในปฏิภาณปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบปฏิภาณโดยปฏิภาณแก่เขา คือ จักตอบอุปมาโดยอุปมาแก่เขา จักตอบลักษณะโดยลักษณะแก่เขา จักตอบรสโดยรสแก่เขา, จักกระทำไม่ให้เขาสงสัย จักให้เขายินดีด้วยปัญหาเวยยากรณ์ ฉันนั้นทีเดียว. นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือ ปฏิสัมภิทาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
บุคคลใดซื้อปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว พึงถูกต้องด้วยญาณ, บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่กลัวไม่สะดุ้ง ย่อมรุ่งเรืองล่วงโลกทั้งเทวโลกทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือโพชฌงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์หนึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์หนึ่ง วิริยสัมโพชฌางค์หนึ่ง ปีติสัมโพชฌงค์หนึ่ง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์หนึ่ง สมาธิสัมโพชฌงค์หนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์หนึ่ง. ภิกษุประดับด้วยโพชฌงค์รัตนะเจ็ดเหล่านี้ ย่อมครอบงำเสียซึ่งมืดทั้งปวงยังโลกทั้งเทวโลกให้สว่างไสว. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือโพชฌงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
โลกทั้วเทวโลกทั้งหลายย่อมลุกขึ้น เพื่อท่านผู้มีระเบียบแห่งโพชฌงครัตน์. เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงซื้อโพชฌงครัตน์นั้นด้วยราคา คือกระทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ประดับโพชฌงครัตน์นั้น ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ร้านขายของทั้งปวงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร พระพุทธวจนะมีองค์เก้า พระเจดีย์อันบรรจุพระบรมสารีริกธาต พระเจดีย์อันบรรจุบริขารซึ่งเป็นพุทธบริโภคและสังฆรัตนะ ชื่อว่าร้านขายของทั้งปวงแห่งพระผุ้มีพระภาคเจ้า. สมบัติคือชาติ สมบัติคือทรัพย์ สมบัติคืออายุ สมบัติคือความไม่มีโรค สมบัติคือวรรณ สมบัติคือปัญญา สมบัติเป็นของมนุษย์ สมบัติเป็นทิพย์ สมบัติคือนิพพาน แต่ล้วนเป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดไว้ในร้านขายของทั้งปวง. ชนเหล่าใดปรารถนาสมบัติเหล่านั้น ๆ ชนเหล่านั้นให้ราคาคือ กระทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ซื้อเอาสมบัติที่ปรารถนาและปรารถนาแล้ว, บางพวกซื้อด้วยสมาทานศีล บางพวกซื้อด้วยอุโบสถกรรม, ย่อมได้สมบัติทั้งหลายอาศัยราคาแม้มีประมาณน้อย. เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายถือเอางาถั่วเขียนและถั่วขาวในร้าน อาศัยแลกด้วยข้าวสารถั่วเขียวถั่วขาวเล็กน้อยบ้าง ซื้อด้วยราคาน้อยบ้างฉันใด, ชนทั้งหลายย่อมได้สมบัติทั้งหลายในร้านขายของทั้งปวง แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า อาศัยราคาแม้เล็กน้อย ฉันนั้น; นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายของทั้งปวงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
อายุ ความเป็นคนไม่มีโรค วรรณ สวรรค์ ความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง และนิพพานเป็นธรรมชาติไม่ตาย หาปัจจัยปรุงแต่งมิได้ มีอยู่ในร้านขายของทั้งปวง เป็นของพระชินพุทธเจ้า. ชนทั้งหลายย่อมถือเอาด้วยราคา คือกระทำความเพียรเป็นต้น น้อยหรือมาก, ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนี้ ท่านทั้งหลายจงซื้อด้วยราคา คือความเชื่อแล้ว จงเป็นผู้สำเร็จพร้อมด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมอาศัยอยู่ในธรรมนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าคือ ผู้ทรงพระสูตร ผู้ทรงพระวินัย ผู้ทรงพระอภิธรรม ผู้กล่าวธรรม ผู้กล่าวชาดก ผู้กล่าวทีฆนิกาย ผู้กล่าวมัชฌิมนิกาย ผู้กล่าวสังยุตตนิกาย ผู้กล่าวอังคุตตรนิกาย ผู้กล่าวขุททกนิกาย ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยสมาธิ ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยปัญญา ผู้ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ ผู้มีปัญหาเห็นแจ้ง ผู้ประกอบประโยชน์ของตนเนือง ๆ ผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นวัตร ผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นวัตร ผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ผู้มีอันอยู่ใกล้กองไม้เป็นวัตร ผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร ผู้มีอันนั่งเป็นวัตร ผู้มีอันเดินเป็นวัตร ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้เสขะ ผู้พร้อมเพรียงแห่งผล ผู้โสดาบัน ผู้สกทาคามี ผู้เอนาคามี ผู้อรหันต์ ผู้ได้ไตรวิชชา ผู้ได้อภิญญาหก ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงบารมีในปัญญา ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรคอันประเสริฐ ฌานวิโมกข์ สมาบัติประกอบด้วยสุขอันละเอียด คือ รูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ, ธรรมนครได้เป็นสถานเกลื่อนกลาดไปด้วยชนเหล่านั้น ดุจป่าไม้อ้อและป่าไม้สาละ ฉะนั้น นิพนธคาถาในศาสนานี้ก็มีอยู่ว่า:-
ท่านผู้มีราคะ โทสะ โมหะไปปราศ หาอาสวะมิได้ มิได้เป็นทาสแห่งตัณหา ไม่มีอุปาทานเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร ท่านผู้มีปัญญามั่งคง ทรงธุดงคปฏิบัติ ถือเป็นวัตรอยู่ในป่ามีผ้าครอบเศร้าหมอง จิตปองนักในที่สงัดเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ถือนั่ง ถืออยู่ในที่ลาดปู อนึ่ง ท่านผู้ยืนและจงกรมไปมา ทรงผ้าบังสุกุลทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร. ท่านผู้รู้พิเศษ สันดานดีตรง ทรงผ้าไตรจีวร มีท่อนหนังเป็นที่สี่ ยินดีในอาสนะเดียวเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร. ท่านผู้มีปัญญารักษาไว้ซึ่งตน เป็นบุคคลมักน้อยสันโดษตามประโยชน์ที่ได้และไม่ได้ทุกประการ มีอาหารน้อย มิได้ละโมภเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้มีปัญญามักเพ่งยินดีในฌาณ มีจิตสันดานสงบตั้งมั่นปรารถนาอากิญจัญญายตนสมาบัติเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ปฏิบัติตั้งอยู่ในผล พร้อมเพียงแห่งผล เป็นเสขบุคคลหวังประโยชน์สูงสุดเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้วิมลาริยบุคคล คือตั้งต้นแต่พระโสดาบัน ถัดนั้น พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระ
ขีณาสวอรหันต์เหล่านั้นย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ฉลาดในสติปัฏฐานยินดีในการเจริญโพชฌงค์ มีปัญญาปลงเห็นแจ่มใส ทรงจำไว้ซึ่งพระธรรม เหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ฉลาดในอิทธิบาททั้งสี่ ยินดีในสมาธิภาวนากิจ ประกองเนืองนิตย์ซึ่งสัมมัปปธานเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ถึงอภิญญาบารมี ยินดีในโคจรเป็นของพระพุทธบิดาสัญจรในนภากาศเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้มีจักษุทอดลงพอเหมาะ พูดไพเราะพอประมาณ มีทวารอันได้รักษาระวังทั่ว ทรมานตัวดีในธรรมอันอุดมเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้มีไตรวิชชาฉฬภิญญา และถึงอิทธิบารมี ปัญญาบารมีเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใด ทรงไว้ซึ่งญาณอันประเสริฐ อันประมาณไม่ได้ ไม่มีกิเลสเครื่องข้อง มีคุณไม่พึงชั่ง มียศไม่พึงชั่ง มีกำลังไม่พึงชั่ง มีเดชไม่พึงชั่ง ยังธรรมจักรให้เป็นไปเนือง ๆ ได้ถึงปัญญาบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมเสนาบดีในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด มีฤทธิ์ มีปฏิสัมภิทาบรรลุแล้ว มีเวสารัชชธรรมถึงแล้ว เที่ยวไปในอากาศ หาผู้เสมอยาก ยากที่ใคร ๆ จะผจญได้ยังสมุทรสาครอันรองรับแผ่นดินและแผ่นดินให้หวั่นไหว จับต้องพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้ ฉลาดในฤทธิ์และอธิษฐานอภินิหารได้ถึงอิทธิบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ปุโรหิตในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด ถือธุดงค์ เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ยินดีตามมีเกลียดวิญญัติและอเนสนะ เที่ยวบิณฑบาตไม่ขาด เข้าไปสู่ป่าอันสงวัดราวกะผึ้งเคล้าเกสรดอกไม้แล้ว เข้าไปสู่ป่าอันสงัดฉะนั้น มิได้ใยดีในกายและชีวิต ถึงพระอรหัต วางอารมณ์ในธุดงคคุณ, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้พิพากษาในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน ไม่มีเครื่องเศร้าหมองฉลาดในจุตูปปาตญาณ ได้ถึงทิพยจักษุบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ให้พระนครรุ่งเรืองด้วยประทีปในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสุตมีนิกายเป็นที่มา ๆ ถึงแล้ว ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ฉลาดในการกำหนดอักษร ที่เป็นสิถิล ธนิต ทีฆะ รัสสะ ครุ ลหุ ทรงนวังคศาสน์, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้รักษาธรรมในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด รู้วินัย ฉลาดในวินัย ฉลาดในนิทานและการกล่าว ฉลาดในอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติ ลหุกาบัติ อาบัติเยียวยาได้ อาบัติเยียวยาไม่ได้ วุฏฐาน เทสนา นิคคหะ ปฏิกรรม โอสารณกรรม นิสสารณกรรม ปฏิสารณกรรม ได้ถึงวินัยบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฉลาดในรูปในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้เนื่องด้วยระเบียบดอกไม้ คือ วิมุตติรัตนะอันประเสริฐ ถึงซึ่งความเป็นผู้น่าเลือกสรรเลิศ มีค่ามาก บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ขายดอกไม้ในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ตรัสรู้สัจจะสี่ มีสัจจะสี่แทงตลอดแล้ว เห็นแล้ว มีศาสนธรรมรู้วิเศษแล้ว มีความเคลือบแคลงในสามัญญผลสี่ข้ามได้แล้ว มีความสุขเกิดแต่ผลได้เฉพาะแล้ว ย่อมจำแนกซึ่งผลเหล่านั้นแก่ผู้ปฏิบัติแม้เหล่าอื่น, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ขายผลไม้ในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ลูบไล้ของหอมเลิศ คือ ศีล ทรงคุณมากอย่างเป็นอเนก ขจัดเสียซึ่งของเหม็น กล่าวคือ กิเลส, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ขายของหอมในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด ใคร่ธรรม กล่าวแต่ถ้อยคำอันไพเราะ บันเทิงยิ่งในอภิธรรม อภิวินัย ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่รุกขมูลก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมดื่มรสเลิศแห่งธรรม, หยั่งลงรสเลิศแห่งธรรมด้วยกายวาจาใจ มีปฏิภาณยิ่ง มีปฏิภาณในการแสวงหาธรรม การพูดถึงความมักน้อย การพูดถึงความสันโดษ การพูดถึงความสงัดทั่ว การพูดถึงความไม่คลุกคลี การพูดถึงความปรารภความเพียร การพูดถึงศีล การพูดถึงสมาธิ การพูดถึงปัญญา การพูดถึงวิมุตติ การพูดถึงวิมุตติญาณทัศสนะ มีในที่ทั้งหลายใด ๆ แต่ที่นี้หรือแต่ที่นั้น เธอก็ไปในที่ทั้งหลายนั้น ๆ ย่อมดื่มรสแห่งการพูดนั้น, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า นักเลงดื่มในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด ประกอบตามชาคริยานุโยคตลอดเบื้องต้นแห่งราตรี และเบื้องปลายแห่งราตรี ให้คืนและวันล่วงไปด้วยการนั่ง การยืน และการเดิน ประกอบตามภาวนานุโยค ขวนขวายประโยชน์ตนเพื่อห้ามเสียซึ่งกิเลส, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า นคราภิบาลในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้มีโภคทรัพย์ โดยโภคะ กล่าวคือธรรมรัตนโภคะ กล่าวคือนิกายเป็นที่มา และปริยัติธรรมและสุตะ แทงตลอด ลักษณะแห่งสระและพยัญชนะที่แสดงออกแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งแผ่ไป, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมเศรษฐีในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้แทงตลอดซึ่งการแสดงอย่างยิ่ง แสดงออกซึ่งความจำแนกด้วยอารมณ์ที่สั่งสมแล้ว ได้ถึงสิกขาคุณบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ราชบัณฑิตในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ขอถวายพระพร ธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า, จำแนกดีแล้ว สร้างไว้ดีแล้ว จัดแจงดีแล้ว บริบูรณ์ดีแล้ว กะแปลนดีแล้ว รักษาดีแล้ว ปกครองดีแล้ว ยากที่ปัจจามิตรจะข่มเหงได้ ด้วยประการอย่างนี้ ๆ .
ขอถวายพระพร บรมบพิตรพึงทรงทราบ โดยปัจจัย โดยเหตุ โดยนัย โดยทรงอนุมานนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจริง' ฉะนี้.
เห็นพระนครอันจำแนกดีแล้วเป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ก็รู้การที่นายช่างผู้สร้างเป็นผู้มีวิทยามากได้โดยอนุมาน ฉันใด, เห็นธรรมนครอันประเสริฐของพระโลกนาถ ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจริง' ฉะนี้ ฉะนั้น.
เห็นคลื่นทั้งหลายในทะเล ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'คลื่นทั้งหลายปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ทะเลนั้นคงใหญ่ จักมีจริง' ฉันใด, คงรู้จักพระพุทธเจ้าผู้บรรเทาเสียซึ่งความโศก ผู้ไม่ปราชัยในที่ทั้งปวง ผู้ถึงธรรมที่สิ้นไปแห่งตัณหา ผู้พ้นจากสาครคือภพได้ โดยอนุมาน ฉันนั้น.




เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ส.ค. 2012, 12:58 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว




e0b89ae0b8b1e0b8a7e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b88722.jpg
e0b89ae0b8b1e0b8a7e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b88722.jpg [ 42.6 KiB | เปิดดู 5579 ครั้ง ]
.. :b8:

พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วนี้ แม้ว่าจักเขียนสืบๆ เก็บไว้ จากรุ่นสู่รุ่น ก็ยังมีชำรุด มีสูญหาย เลอะเลือน ด้วยภัยต่างๆ หากแต่รักษาไว้ด้วย "ผู้รู้" ที่ประพฤติไว้ชอบแล้วต่างหาก จึงรักษาพระธรรมไว้ไม่เสื่อมสูญ ..

อนุโมทนาแล้วๆๆ ..
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5325


 ข้อมูลส่วนตัว


เห็นคลื่น กล่าวคือ ธรรมทั้งหลายในโลกทั้งเทวโลกก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้าเป็นอัครบุคคล จักมีจริงดุจความที่คลื่น กล่าวคือธรรมแผ่ไปทั่ว' ฉะนั้น.
เห็นภูเขาสูง ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'ภูเขานั้นสูงจักเป็นภูเขาหิมวันต์' ฉันใด, เห็นภูเขากล่าวคือธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นของเย็นไม่มีอุปธิ เป็นของสูง เป็นของไม่หวั่นไหว ประดิษฐานอยู่ด้วยดีแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจริง' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นภูเขา กล่าวคือธรรม ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้านั้น จักเป็นผู้เลิศเป็นผู้แกล้วกล้ามากแท้จริง.'
มนุษย์ทั้งหลายเห็นรอยเท้าแห่งคชสาร ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'คชสารนั้นใหญ่จริง' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นรอยพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐผู้ให้มีแจ้ง ก้รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระองค์จักเป็นยิ่งจริง' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นมฤคน้อยทั้งหลายตกใจกลัว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'มฤคน้อยเหล่านี้ตกใจน้อย เพราะสำเนียงแห่งมฤคราช' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นเดียรถีย์ทั้งหลายมีใจกลัวมากแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'อันพระพุทธเจ้าผู้ธรรมราชาคุกคามแล้ว' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นแผ่นดินเย็นสนิทแล้ว หรือใบไม้สดเขียวมีน้ำมาก ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'เย็นเพราะมหาเมฆ' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นชนนี้ร่าเริงบันเทิงแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'อันเมฆ คือ ธรรมให้เอิบอิ่มแล้ว' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นแกลบและตมแผ่นดินเป็นโคลนติดอยู่แล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'ลำน้ำเป็นของใหญ่' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นชนนี้ ผู้เปื้อนเปรอะแล้วด้วยธุลีและเปือกตม คือ กิเลส ล้างแล้วในแม่น้ำ คือ ธรรม ทิ้งเสียแล้วในทะเล กล่าวคือธรรม, เห็นโลกนี้ทั้งเทวโลกถึงอมฤตธรรมแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'ธรรมขันธ์เป็นของใหญ่' ฉะนี้ ฉันนั้น.
ดมของหอมอย่างสูงสุด ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'กลิ่นหอมนี้ย่อมฟุ้งไป เพราะฉะนั้น ดอกไม้จักบานแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด, กลิ่นหอมคือศีลนี้ ย่อมฟุ้งไปในโลกทั้งเทวโลก, ก็ควรรู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลอื่นยิ่งกว่า มีจริง' ฉะนี้ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ผู้มีปัญญาอาจแสดงพระกำลังแห่งพระพุทธเจ้าโดยร้อยโดยพันแห่งปัจจัย โดยร้อยโดยพันแห่งเหตุ โดยร้อนโดยพันแห่งนัย โดยร้อยโดยพันแห่งอุปมาเห็นปานนี้แล. นายมาลาการผู้มีฝีมือ พึงกระทำกองแห่งชั้นดอกไม้แต่กองดอกไม้ต่าง ๆ ให้วิจิตรด้วย พยายามแห่งบุรุษเฉพาะตน ตามคำพร่ำสอนของอาจารย์ ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีพระคุณไม่มีที่สิ้นสุด มีพระคุณอันบุคคลไม่พึงนับดุจกองดอกไม้อันวิจิตร ฉันนั้นแล. บัดนี้อาตมภาพเป็นดุจนายมาลาการผู้ร้องกรองบุปผชาติในพระชินศาสน์ จักสำแดงพระกำลังแห่งพระพุทธเจ้า โดยหนทางแห่งบุรพาจารย์บ้าง โดยกำลังแห่งความรู้ของอาตมภาพบ้าง โดยเหตุและอนุมานที่ไม่พึงนับได้บ้าง, ขอบรมบพิตรยังความพอพระหฤทัย เพื่อทรงสดับให้เกิดในปัญหานี้ ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ การสำแดงพระพุทธพละโดยเหตุและอนุมานเห็นปานนี้ ยากที่ชนเหล่าอื่นจะกระทำได้, เพระาปัญหาเวยยากรณ์อันวิจิตรอย่างยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้ดับความสงสัยได้แล้ว."

๙. ธุตังคปัญหา ๘๖

พระเจ้ามิลินท์ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์รักษาธุดงค์ คือ ถืออยู่ในป่าเป็นวัตร และทอดพระเนตรเห็นคฤหัสถ์ ตั้งอยู่ในพระอนาคามิผล. เพราะทอดพระเนตรเห็นชนแม้ทั้งสองเหล่านั้นเป็นตนั้นเค้าให้เกิดความสงสัยใหญ่ว่า "ถ้าฆราวาสคิหิชนตรัสรู้ธรรมทั้งหลายได้เหมือนกัน ธุดงคคุณนั้นน่าจะไม่มีผลใหญ่ไพศาล, การย่ำยีคำคนพาลพูดอย่างอื่นในพระไตรปิฎก เป็นการละเอียดนัก จำเราจะซักไซ้ไต่ถาม ท่านผู้มีถ้อยคำอย่างประเสริฐ, ท่านจะได้เปิดเผยแสดงนำความสงสัยของเราเสีย" ดังนี้.
ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสนผู้มีอายุ ทรงนมัสการและประทับในที่ควรเป็นปกติแล้ว ได้ตรัสกะพระนาคเสนผู้มีอายุว่า "มีอยูหรือพระนาคเสนผู้เจริญ คฤหัสถ์ผู้มีกรรมเกื้อกูลแก่เรือนเป็นกามโภคี อยู่ครอบครองเรือนอันเป็นที่นอนคับแคบด้วยบุตรและภริยา ใช้สอยแก่นจันทน์เป็นของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน เกล้ามวยผมอันวิจิตรด้วยแก้วมณีแก้ว มุกดาและทองคำ เป็นผู้กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันมีประโยชน์อย่างยิ่งเป็นของละเอียด?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร คฤหัสถชนกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานไม่ใช่แต่ร้อยคน สองร้อยคน สามร้อยคน สี่ร้อยคน ห้าร้อนคน พันคน แสนคน ร้อยโกฏิคน พันโกฏิคน แสนโกฏิคน; การตรัสรูของคฤหัสถชนสิบคน ยี่สิบคน ร้อยคน พันคน ยกไว้ก่อน, อาตมภาพจะถวายคำตอบที่ซักถามแด่บรมบพิตร โดยปริยายไหน?"
ร. "นิมนต์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวปริยายนั้นเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักทูลแด่บรมบพิตร, คฤหัสถชนกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นร้อยคนบ้าง พันคนบ้าง แสนคนบ้าง โกฏิคนบ้าง ร้อยโกฏิคนบ้าง พันโกฏิคนบ้าง แสนโกฏิคนบ้าง. ในเมื่อมีบุคคลผู้ถึงพร้อมซึ่งนิพพาน การพูดถึงข้อปฏิบัติทั้งหลายของผู้กระทำให้แจ้งนิพพานซึ่งอาศัยธุดงคคุณอันประเสริฐ อันเป็นสัลเลขปฏิบัติอาจารย์ ปฏิบัติในพระพุทธพจน์ มีองค์เก้าทั้งปวง ย่อมประชุมลงในธุดงคคุณนี้, เปรียบเหมือนน้ำที่ตกลงในที่ลุ่มที่ดอนที่เสมอและที่ไม่เสมอ น้ำนั้นทั้งหลาย ย่อมไหลแต่ที่ทั้งหลายนั้นไปประชุมลงในทะเล ฉะนั้น. แม้การแสดงเหตุตามความฉลาดรู้ของอาตมภาพ ก็ประชุมลงในธุดงคคุณนี้, เพราะเหตุนี้ ธุดงคคุณนี้จักเป็นของมีประโยชน์ที่จำแนกไว้ดีแล้ว จักเป็นของวิจิตรบริบูรณ์ที่นำมาพร้อมแล้ว, เปรียบเหมือนครูเลขผู้ฉลาดสอนศิษย์ ตั้งจำนวนเลขรายย่อยไว้แล้วผสมรวมให้ครบ ด้วยการแสดงเหตุตามความฉลาดรู้ของตน, จำนวนเลขนั้นจักเป็นของครบบริบูรณ์ไม่บกพร่องฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ในพระนครสาวัตถี มีอุบาสกอุบาสิกาผู้เป็นอริยสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประมาณห้าโกฏิ ได้ตั้งอยูในพระอนาคามิผลประมาณสามแสนห้าหมื่นเจ็ดพันคน, ชนเหล่านั้นทั้งหลายล้วนเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่บรรพชิต, ยังอีก สัตว์ทั้งหลายยี่สิบโกฏิได้ตรัสรู้ เพราะยมกปาฏิหาริย์ที่โคนไม้คัณฑามพพฤกษ์ ณ พระนครสาวัตถีนั้น. เทพดาทั้งหลายเหลือที่จะนับได้ตรัสรู้ เพราะมหาราหุโลวาทสูตร มังคลสูตร สมจิตตปริยายสูตร ปราภวสูตร ปุราเภทสูตร กลหวิวาทสูตร จูฬพยูหสูตร มหาพยูหสูตร ตุวฏกสูตร และสารีปุตตสูตร. อุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอริยสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประมาณสามแสนห้าหมื่นอยู่ในพระนครราชคฤห, มนุษย์ทั้งหลายเก้าสิบโกฏิ ได้สำเร็จมรรคผลในสมัยเป้นที่ทรมานช้างประเสริฐชื่อ ธนบาล ณ พระนครราชคฤหนั้น, มนุษย์ทั้งหลายสิบสี่โกฏิ ได้สำเร็จมรรคผลในปารายนสมาคม ณ ปาสาณกเจดีย์, เทวดาทั้งหลายแปดสิบโกฎิ ได้สำเร็จมรรคผล ณ ถ้ำชื่ออินทสาลคูหา, พรหมทั้งหลายสิบแปดโกฏิและเทพดาทั้งหลายไม่มีประมาณ ได้บรรลุมรรคผล เพราะประถมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี, เทพดาทั้งหลายแปดสิบโกฏิได้บรรลุมรรคผล เพราะอภิธรรมเทศนา ณ บัณฑุกัมพลศิลาในดาวดึงสพิภพ, มนุษย์และเทพดาทั้งหลายผู้เลื่อมใสสามสิบโกฏิ ได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะโลกวิวรณปาฏิหาริย์ ณ ประตูสังกัสสนครในสมัยเป็นที่ลงจากเทวโลก. เทพดาทั้งหลายเหลือประมาณ ได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะพุทธวังสเทสนา และมหาสมัยสุตตเทสนา ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์แดนสักกชนบท. มนุษย์แปดหมื่นสี่พัน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ในที่สมาคมแห่งนายสุมนมาลาการ ในที่สมาคมแห่งครหทินน์ ในที่สมาคมแห่งอานันทเศรษฐี ในที่สมาคมแห่งชัมพุกาชีวก ในที่สมาคมแห่งมัณฑูกเทพบุตร ในที่สมาคมแห่งมัฏฐกุณฑลีเทวบุตรในที่สมาคมแห่งนางสุลสานครโสภิณี ในที่สมาคมแห่งนางสิริมานครโสภิณี ในที่สมาคมแห่งธิดาช่างหูก ในที่สมาคมแห่งนางจูฬสุภัททา ในที่สมาคมเป็นที่แสดงสุสานะแก่สาเกตพราหมณ์ ในที่สมาคมแห่งสุนาปรันตกะ ในที่สมาคมแห่งสักกปัญหา ในที่สมาคมแห่งติโรกุฑฑกัณฑ์ ในที่สมาคมแห่งรัตนสูตร.
ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ในโลกตราบใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสำราญพระอริยาบถอยู่ในสถานที่ใด ๆ ณ มหาชนบททั้งหลายสิบหก ณ มณฑลทั้งหลายสาม เทพดามนุษย์ทั้งหลายสองคนบ้าง สามคนบ้าง สี่คนบ้าง ห้าคนบ้าง ร้อยคนบ้าง พันคนบ้าง แสนคนบ้าง ได้กระทำให้แจ้งนิพพานโดยชุกชุมในสถานนั้น ตราบนั้น. เทพดาเหล่านั้นล้วนเป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น หาใช่บรรพชิตไม่. เทพดาประมาณแสนโกฏิเป็นอเนกเหล่านี้ด้วย เหล่าอื่นด้วย ล้วนเป็นกามโภคีอยู่ครอบครองเคหสถาน ได้กระทำให้แจ้งพระนิพพานอันสงบ เป็นประโยชน์สูงสุด."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าคฤหัสถ์ทั้งหลายกระทำให้แจงนิพพานได้, ธุดงคคุณทั้งหลายจะให้ประโยชน์อะไรสำเร็จ; ด้วยเหตุนั้นธุดงคคุณทั้งหลายเป็นของหาได้กระทำกิจไม่. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าเว้นมนต์และโอสถ โรคย่อมระงับได้, จะต้องการอะไรด้วยการกระทำร่างกายให้ทุพพลภาพ มีอันสำรอกและถ่ายเป็นต้น, ถ้าว่าข่มศัตรูตอบด้วยกำมือได้, จะต้องการอะไรด้วยดาบหอกศรธนูเกาทัณฑ์และไม้ค้อนทั้งหลาย; ถ้าว่าเถาวัลย์และกิ่งไม้เป็นตาคตโพรงหนาม เป็นเครื่องเหนี่ยวขึ้นต้นไม้ได้, จะต้องการอะไรด้วยการแสวงหาพะองที่ยาวมั่นคง; ถ้าว่าการนอนบนแผ่นดินเป็นของเสมอที่นอนตามปกติเดิมได้, จะต้องการอะไรด้วยการแสวงหาที่นอนประกอบด้วยสิริใหญ่ ๆ เป็นที่สัมผัสเป็นสุข; ถ้าว่าคนเดียวเป็นผู้สามารถเดินข้ามที่กันดารประกอบด้วยความรังเกียจมีภัย เป็นที่ไม่เสมอได้, จะต้องการอะไรด้วยการเตรียมผูกสอดศัสตราวุธและแสวงหาเพื่อนมาก ๆ; ถ้าว่าสามารถจะข้ามแม่น้ำและทะเลสาบด้วยกำลังแขนได้, จะต้องการอะไรด้วยสะพานมั่นคงและเรือ; ถ้าว่ากระทำอาหารและเครื่องนุ่งห่มด้วยของมีแห่งตนเองเพียงพอ, จะต้องการอะไรด้วยการคบหาคนอื่นและเจรจาเป็นที่รัก และวิ่งไปข้างหลังข้างหน้า; ถ้าว่าได้น้ำในบ่อสระแล้ว, จะต้องการอะไรด้วยการขุดบ่ออีก ฉันใด, ถ้าว่าคฤหัสถ์กามโภคีบุคคล กระทำใหแจ้งนิพพานได้, จะต้องการอะไรด้วยการสมาทานธุดงคคุณอันประเสริฐฉันนั้นเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็คุณแห่งธุดงค์ทั้งหลายยี่สิบแปดเหล่านี้เป็นคุณมีความเป็นของเป็นจริงอย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งปวงรักใคร่ปรารถนา; คุณแห่งธุดงค์ทั้งหลายยี่สิบแปดเป็นไฉน? คือ ธุดงค์ในศาสนานี้
(๑) เป็นของมีอาชีวะบริสุทธิ์.
(๒) เป็นของมีความสุขเป็นผล.
(๓) เป็นของไม่มีโทษ.
(๔) เป็นของไม่ยังผู้อื่นให้ลำบาก.
(๕) เป็นของไม่มีภัย.
(๖) เป็นของไม่เบียดเบียนพร้อม.
(๗) เป็นของมีความเจริญส่วนเดียว.
(๘) เป็นของหาความเสียมิได้.
(๙) เป็นเครื่องรักษาทั่ว.
(๑๐)เป็นเครื่องรักษาทั่ว.
(๑๑)เป็นของให้ผลที่ปรารถนา.
(๑๒)เป็นเครื่องทรมานของสัตว์ทั้งปวง.
(๑๓)เป็นของเกื้อกูลแก่ความระวัง.
(๑๔)เป็นของสมควร.
(๑๕)เป็นของไม่อาศัยตัณหามานะทิฏฐิ.
(๑๖)เป็นเครื่องพ้นพิเศษ.
(๑๗)เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งราคะ.
(๑๘)เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งโทสะ.
(๑๙)เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งโมหะ.
(๒๐)เป็นเครื่องละมานะ.
(๒๑)เป็นเครื่องตัดความตรึกชั่วเสีย.
(๒๒)เป็นเครื่องข้ามความสงสัย.
(๒๓)เป็นเครื่องกำจัดความเกียจคร้านเสีย.
(๒๔)เป็นเครื่องละความไม่ยินดี.
(๒๕)เป็นเครื่องทนทานต่อกิเลส.
(๒๖)เป็นของชั่งไม่ได้.
(๒๗)เป็นของไม่มีประมาณ.
(๒๘)เป็นเครื่องถึงธรรมที่สิ้นไปแห่งสรรพทุกข์.
คุณแห่งธุดงค์ทั้งหลายยี่สิบแปดเหล่านี้แล เป็นคุณมีความเป็นของเป็นจริงอย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งปวงรักใคร่ปรารถนา.
ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใด ส้องเสพธุดงคคุณทั้งหลายโดยชอบ บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งหลายสิบแปดประการ; คุณสิบแปดประการเป็นไฉน? คือ:-
(๑) อาจาระของบุคคลเหล่านั้นเป็นของบริสุทธิ์ดี.
(๒) ปฏิปทาของบุคคลเหล่านั้นเป็นของเต็มด้วยดี.
(๓) สิ่งที่เป็นไปทางกายและสิ่งที่เป็นไปทางวาจา เป็นของอนบุคคลเหล่านั้นรักษาดีแล้ว.
(๔) มโนสมาจารของบุคคลเหล่านั้นบริสุทธิ์ดี.
(๕) ความเพียรเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นประคองไว้ด้วยดี.
(๖) ความเพียรเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นประคองไว้ด้วยดี.
(๖) ภัยของบุคคลเหล่านั้นย่อมเข้าไประงับ.
(๗) อัตตานุทิฏฐิของบุคคลเหล่านั้นไปปราศแล้ว.
(๘) ความอาฆาตเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นงดเว้นได้.
(๙) เมตตาเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นเข้าไปตั้งไว้แล้ว.
(๑๐)อาหารเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว.
(๑๑)บุคคลนั้นเป็นผู้อันสัตว์ทั้งปวงกระทำความเคารพ.
(๑๒)บุคคลนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
(๑๓)บุคคลนั้นเป็นผู้ประกอบตามความเป็นผู้ตื่น.
(๑๔)บุคคลนั้นเป็นผู้หาที่อยู่ไม่ได้.
(๑๕)บุคคลนั้นเป็นผู้มีอันอยู่ในที่สำราญเป็นปกติ.
(๑๖)บุคคลนั้นเป็นผู้เกลียดบาป.
(๑๗)บุคคลนั้นเป็นผู้มีความเงียบเป็นที่มายินดี.
(๑๘)บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทเนืองนิตย์.
บุคคลเหล่าใด ส้องเสพธุดงคคุณทั้งหลายโดยชอบ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งหลายสิบแปดประการเหล่านี้แล.
ขอถวายพระพร บุคคลสิบเหล่านี้เป็นผู้ควรสมาทานธุดงคคุณ; คือ:-
(๑) เป็นผู้มีศรัทธา.
(๒) เป็นผู้มีหิริ.
(๓) เป็นผู้มีปัญญา.
(๔) เป็นผู้ไม่ล่อลวง.
(๕) เป็นผู้มีอำนาจในประโยชน์
(๖) เป็นผู้ไม่มีความโลภ.
(๗) เป็นผู้รักความศึกษา.
(๘) เป็นผู้สมาทานมั่น.
(๙) เป็นผู้มีปกติไม่โพนทะนามาก.
(๑๐)เป็นผู้มีเมตตาเป็นธรรมอยู่.
บุคคลสิบเหล่านี้แล เป็นผู้ควรสมาทานธุดงคคุณ.
ขอถวายพระพร คฤหัสถ์กามโภคีบุคคลเหล่าใด กระทำใหแจ้งซึ่งนิพพาน คฤหัสถ์เหล่านั้น ล้วนเป็นผู้มีการปฏิบัติในธุดงค์สิบสาม อันกระทำแล้ว เป็นผู้มีกรรมเป็นภูมิในธุดงค์สิบสามอันกระทำแล้วในชาติก่อน ๆ; คฤหัสถ์เหล่านั้น ยังอาจาระและปฏิบัติในธุดงคคุณสิบสามนั้นให้หมดจดแล้ว จึงกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานในกาลนี้ได้.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนคนแผลงศรผู้ฉลาด หัดศิษย์ทั้งหลายในชนิดของแล่งศร การขึ้นคันศร การถือคันศร การบีบไว้ในกำมือ การใช้นิ้วมือ การตั้งเท้า การจับลูกศร การพาดลูกศร การเหนี่ยวมา การตรวจ การเล็งที่หมด การแผลงไป ในการยิงหุ่นหญ้าเครื่องกำบัง กองหญ้า กองฟาก กองดิน โล่ เป้า ในศาลาที่ยิงแล้ว แสดงการยิงให้เป็นที่โปรดปรานในสักของพระราชาแล้ว ย่อมได้รถเทียมอาชาไนย ช้าง ม้า ทรัพย์ควรสงวน เงินและทอง ทาสและทาสี ภริยาบ้านส่วย ฉะนั้น. คฤหัสถ์เว้นการส้องเสพธุดงค์ทั้งหลายในชาติก่อน ๆ ไม่กระทำให้แจ้งพระอรหัตในชาติหนึ่งแท้, คฤหัสถ์กระทำให้แจ้งซึงพระอรหัตก็เพราะความเพียรสูงสุด เพราะการปฏิบัติสูงสุด เพราะอาจาระ และกัลยาณมิตรเห็นปานนั้น.
อนึ่ง เปรียบเหมือนหมอบาดแผล ยังอาจารย์ให้ยินดีด้วยทรัพย์หรือด้วยวัตรปฏิบัติแล้ว ศึกษาเนือง ๆ ซึ่งการจับศัสตรา เชือด กรีด พัน ผูก ถอนลูกศรออก ล้างแผลให้แผลแห้ง ทายาบ่อย ๆ ให้อาเจียน ให้ถ่ายและอบเนือง ๆ เป็นผู้มีการศึกษาอันกระทำแล้วมีมืออันกระทำชำนาญแล้วในวิทยาแพทย์ทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้คนไข้ผู้กระสับกระส่ายทั้งหลายเพื่อแก้ไข ฉันใด; คฤหัสถผู้กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ล้วนได้ปฏิบัติในธุดงคคุณสิบสามในชาติก่อน ๆ ยังอาจาระและจ้อปฏิบัติในธุดงคคุณสิบสามนั้นให้หมดจด จึงเป็นผู้กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานในกาลนี้ได้ ฉันนั้นแล. ธรรมาภิสมัยย่อมไม่มีแก่บุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่บริสุทธิ์ด้วยธุดงคคุณทั้งหลาย. เปรียบเหมือนความไม่งอกงามขึ้นแห่งพืชทั้งหลาย เพราะไม่รดน้ำ ฉะนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนความไปสุคติ ย่อมไม่มีแก่ชนทั้งหลาย ผู้ไม่กระทำกุศล ผู้ไม่ปกระทำกรรมงาม ฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยแผ่นดิน ด้วยใจความว่า เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยน้ำ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องล้างมลทิน คือ กิเลสทั้งปวง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยยา ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องระงับพยาธิ คือ กิเสลทั้งปวง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยน้ำอมฤต ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องให้พิษคือกิเลสหาย แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยนา ด้วยใจความว่า เป็นที่งอกขึ้นแห่งข้าวกล้าคือ สามัญคุณทั้งปวง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยของที่กระทำให้ยินดี ด้วยใจความว่า เป็นผู้ให้สมบัติอันประเสริฐทั้งปวง ที่ปรารถนาและอยากได้ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยเรือ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องไปสู่ฝั่งแห่งห้วงทะเลใหญ่คือสงสาร แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยเครื่องป้องกันความขลาด ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องกระทำความหายใจคล่อง แห่งบุคคลผู้ขลาดต่อความชราและมรณะ ผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยมารดา ด้วยใจความว่า เป็นผู้ให้สรรพสามัญคุณเกิด แห่งบุคคลผู้ใคร่ความเจริญแห่งกุศล ผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยมิตร ด้วยใจความว่า เป็นผู้ไม่หลอกลวง ในการแสวงหาสรรพสามัญคุณ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยดอกบัว ด้วยใจความว่า เป็นของอันมลทิน คือสรรพกิเลสไม่ติดอยู่ได้ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยของหอมอันประเสริฐมีชาติสี่ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งของเหม็นคือกิเลส แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยภูเขาใหญ่อันประเสริฐ ด้วยใจความว่าเป็นของไม่หวั่นไหวด้วยลม คือ โลกธรรมทั้งแปด แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยอากาศ ด้วยใจความว่า เป็นของไม่มีที่ยึดถือในที่ทั้งปวง และเป็นของสูงกว้างใหญ่ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยแม่น้ำ ด้วยใจความว่า เป็นที่ลอยมลทินคือกิเลส แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยคนบอกหนทาง ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องนำออกจากกันดารคือชาติ และชัฏป่าคือกิเลส แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยพ่อค้าเกวียนใหญ่ ด้วยใจความว่า เป็นผู้ให้ถึงเมือง คือ นิพพาน ซึ่งเป็นของสูญจากภัยทั้งปวง และเป็นของเกษมไม่มีภัย เป็นของประเสริฐบวร แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยกระจกเช็ดดีไม่ได้มัว ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องส่องความเป็นเองของสังขารทั้งหลาย แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยโล่ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องป้องกันไม้ค้อนและศรหอกคือกิเลสแห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยร่ม ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องกั้นฝนคือกิเลส และแดดอันร้อนคือไฟสามอย่าง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยพระจันทร์ ด้วยใจความว่า เป็นของอันบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษอยากได้และปรารถนา.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยพระอาทิตย์ ด้วยใจความว่า เป็นของให้มืดหมอกคือโมหะหายไป แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยสาคร ด้วยใจความว่า เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งรัตนะอันประเสริฐคือสามัญคุณไม่ใช่อย่างเดียว และด้วยใจความว่า เป็นของจะกำหนดจะนับจะประมาณไม่ได้ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.



เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 13:08 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


.. :b8:

อนุโมทนาแล้วๆๆ ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ส.ค. 2012, 07:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5325


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอถวายพระพร ธุดงคคุณเป็นของมีอุปการมาก และเป็นของบรรเทาความกระวนกระวายความเร่าร้อนทั้งปวง เป็นของบรรเทาความไม่ยินดี เป็นของบรรเทาภัย เป็นของบรรเทาภพ เป็นของบรรเทากิเลส เป็นของบรรเทามลทิน เป็นของบรรเทาความโศก เป็นของบรรเทาทุกข์ เป็นของบรรเทาราคะ เป็นของบรรเทาโทสะ เป็นของบรรเทาโมหะ เป็นของบรรเทามานะ เป็นของบรรเทาทิฏฐิ เป็นของบรรเทาสรรพอกุศล. ธรรม เป็นของนำมาซึ่งยศ เป็นของนำมาซึ่งความเกื้อกูล เป็นของนำมาซึ่งความสุข เป็นของกระทำความสำราญ เป็นของกระทำปีติ เป็นของกระทำความเกษมจากโยคะ เป็นของไม่มีโทษ เป็นของมีสุขที่ปรารถนาเป็นวิบาก เป็นกองแห่งคุณ เป็นตะล่อมแห่งคุณ เป็นของมีคุณจะประมาณจะนับไม่ได้ เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศแห่งบุคคล ผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ ด้วยประการฉะนี้แล.
ขอถวายพระพร มนุษย์ทั้งหลาย เสพโภชนะด้วยสามารถแห่งความอุปถัมภ์. เสพยาด้วยสามารถแห่งความเกื้อกูล, เสพมิตรด้วยสามารถแห่งความอุปการ, เสพเรือด้วยสามารถแห่งอันข้าม, เสพดอกไม้ของหอมด้วยสามารถแห่งกลิ่นดี, เสพคนผู้ป้องกันความขลาดด้วย สามารถแห่งความไม่มีภัย, เสพแผ่นดินด้วยสามารถแห่งอันเป็นที่ตั้งอาศัย, เสพอาจารย์ด้วยสามารถแห่งศิลปศาสตร์, เสพพระเจ้าแผ่นดินด้วยสามารถแห่งยศ, เสพแก้วมณีด้วยสามารถแห่งอันให้ผลที่อยากได้ฉันใด; พระอริยเจ้าทั้งหลาย เสพธุดงคคุณ ด้วยสามารถแห่งอันให้สรรพสามัญคุณ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง น้ำเพื่ออันงอกขึ้นแห่งพืช ไฟเพื่ออันเผาสิ่งของ อาหารเพื่ออันนำกำลังมา เถาวัลย์เพื่ออันพันผูกศัสตราเพื่ออันตัดฟัน น้ำควรดื่มเพื่ออันบรรเทาความอยากน้ำ ขุมทรัพย์เพื่ออันกระทำความหายใจคล่อง เรือเพื่ออันให้ถึงฝั่ง ยาเพื่ออันระงับพยาธิ ยานเพื่ออันไปสบาย เครื่องป้องกันความขลาดเพื่ออันบรรเทาความกลัว พระเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่อันรักษาทั่ว โล่เพื่ออันบังท่อนไม้ก้อนดิน ไม้ค้อน ศรและหอก อาจารย์เพื่ออันพร่ำสอน มารดาเพื่ออันเลี้ยง กระจกเพื่ออันส่องดู เครื่องประดับเพื่ออันงาม ผ้าเพื่ออันปกปิด บันไดเพื่ออันขึ้นไป คันชั่งเพื่ออันชั่งของ มนต์เพื่ออันร่าย อาวุธ เพื่ออันห้ามความคุกคาม ประทีปเพื่ออันบรรเทาความมืด ลมเพื่ออันยังความร้อนกระวนกระวายให้ดับหาย ศิลปศาสตร์เพื่ออันสำเร็จการเลี้ยงชีพ ยาดับพิษเพื่ออันรักษาชีวิต บ่อเกิดเพื่ออันเกิดแห่งรัตนะ รัตนะเพื่ออันประดับ อาชญาเพื่ออันไม่ก้าวล่วง อิสริยะเพื่ออันให้เป็นไปในอำนาจ ฉันใด; ธุดงคคุณก็เพื่ออันงอกขึ้นแห่งพืช คือ สามัญคุณเพื่ออันเผาเครื่องหม่นหมองคือกิเลส เพื่ออันนำกำลังคือฤทธิ์มา เพื่ออันผูกสติสังวรไว้ เพื่ออันถอนความสงสัยสนเท่ห์ เพื่ออันนำความอยากน้ำคือตัณหาเสีย เพื่ออันกระทำความยินดีในอภิสมัย เพื่ออันออกไปจากโอฆะสี่ เพื่ออันระงับพยาธิ คือ กิเลส เพื่ออันได้สุข คือ นิพพาน เพื่ออันบรรเทาภัย คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเสีย เพื่ออันรักษาสามัญคุณไว้ เพื่ออันห้ามความตรึกชั่วด้วยอำนาจความไม่ยินดี เพื่ออันตามสอนสามัญประโยชน์ทั้งสิ้น เพื่ออันเลี้ยงสามัญคุณทั้งปวงไว้ เพื่ออันแสดงสมถะวิปัสสนา มรรคผลนิพพาน เพื่ออันโลกสรรเสริญชมเชย และกระทำให้งามมาก ๆ เพื่ออันปิดอบายทั้งปวงเสีย เพื่ออันขึ้นสู่ยอดภูเขาแล้วด้วยหิน คือ สามัญประโยชน์ เพื่ออันวางจิตที่คดโกงไม่เสมอเสีย เพื่ออันกระทำการสาธยายธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพให้สำเร็จประโยชน์ เพื่ออันคุกคามศัตรูตอบคือกิเลสทั้งปวง เพื่ออันกำจัดมืดคืออวิชชา เพื่ออันให้ความกระวนกระวายร้อนพร้อมคือไฟสามอย่างดับ เพื่ออันให้สมาบัติอันละเอียดสุขุมสำเร็จ เพื่ออันตามรักษาสรรพสามัญคุณทั้งสิ้นไว้ เพื่ออันเกิดขึ้นแห่งรัตนะอันประเสริฐคือโพชฌงค์ เพื่ออันประดับชนผู้โยคาวจร เพื่ออันไม่ก้าวล่วงสันติสุขอันเป็นอนวัชชสุขอันละเอียดสุขุมเพื่ออันเป็นไปในอำนาจแห่งอริยธรรม คือ สามัญคุณทั้งสิ้น ฉันนั้นแล. ธุดงคคุณอันหนึ่ง ๆ เพื่อความบรรลุคุณเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร ธุดงคคุณเป็นที่พึงชั่งไม่ได้ ที่นับไม่ได้ ไม่มีสิ่งไรเสมอ หาสิ่งเปรียบไม่ได้ ไม่มีสิ่งไรจะประเสริฐกว่า เป็นของยิ่ง เป็นของกว้าง เป็นของหนัก เป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร บุคคลใด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว เป็นคนโกง เป็นคนโลภเห็นแก่ท้อง อยากได้ลาภยศสรรเสริญ เป็นผู้ไม่ควรไม่เหมาะ สมาทานธุดงคคุณ, บุคคลนั้น ย่อมถึงอาชญาทวีคูณ ย่อมถึงความฆ่าคุณเสีย คือย่อมได้ความละอาย ความครหา ความเยาะเย้ย ความทอดทิ้ง ความไม่อยู่ร่วม ความขับไล่ เป็นไปในทิฏฐธรรมชาตินี้, แม้ในสัมปรายภพย่อมไหม้ ดุจฟองน้ำ น้ำกลับขึ่นลงขวาง ในที่ล้อมด้วยเปลวไฟอันเร่าร้อนในมหาอเวจี ซึ่งประกอบด้วยร้อยโยชน์ สิ้นแสนโฏิปีมิใช่อันเดียว, ครั้นพ้นจากนั้นแล้ว เป็นผู้มีอังคาพยาพน้อยใหญ่ผอมหยาบดำ มีศีรษะเป็นโพลงดุจสุนับศีรษะพอง หิวอยากน้ำ มีวรรณแห่งรูปไม่เป็นปกติน่ากลัว มีช่องหูอันทำลาย มีดวงตาเหลือกขึ้นเหลือกลง มีตัวเป็นแผลไหม้เกรียม มีกายทั้งสิ้นเกลื่อนกล่นไปด้วยหนอน กองไฟลุกโพลงข้างในดุจลุกโพลงในช่องลม หาผู้ป้องกันมิได้ หาที่พึ่งมิได้ คร่ำครวญร้องไห้ ร้องเพื่อให้การุญ เป็นสมณมหานิชฌามตัณหิกเปรต เที่ยวร้องแสดงความลำบากอยู่ที่แผ่นดิน. เปรียบเหมือนบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งไม่ควรไม่เหมาะ เป็นคนมีชาติต่ำช้า ย่อมอภิเษกด้วยขัตติยาภิเษก, บุคคลนั้นย่อมได้กรรมกรณ์มีตัดมือตัดเท้าเป็นต้น, เพราะเหตุอะไร? เพราะเป็นผู้ไม่ควรไม่เหมาะ มีชาติต่ำช้า ตั้งตนไว้ในความเป็นอิสระอันใหญ่ ฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ก็บุคคลใด เป็นผู้ควร เหมาะ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีจิตสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ มีความเพียรปรารภแล้ว ยอบตน ไม่โอ่อวด ไม่หลอกลวง ไม่เห็นแก่ท้อง ไม่มุ่งลาภยศความสรรเสริญเป็นผู้มีศรัทธาบวชด้วยศรัทธา อยากพ้นจากชราและมรณะ สมาทาน ธุดงคคุณ ด้วยรำถึงว่า ‘เราจักยกย่องพระศาสนา’ ดังนี้. บุคคลนั้นย่อมควรซึ่งอันบูชาทวีคูณ คือ เป็นผู้เป็นที่รัก เป็นที่ยังใจให้เจริญแห่งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย และเป็นผู้อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายปรารถนา, เป็นราวกะดอกมะลิซ้อนและมะลิวัน เป็นที่ปรารถนาของผู้อาบแล้ว ชโลมทาแล้ว เป็นราวกะว่าโภชนะอันประณีตของผู้หิว, เป็นราวกะน้ำควรดื่มที่เย็นใส มีกลิ่นหอมของผู้อยากดื่ม เป็นราวกะโอสถอันประเสริฐของผู้อันพิษแล่นไปแล้ว เป็นราวกะรถอันอุดมซึ่งเทียมม้าอาชาไนยของผู้อยากไปเร็ว เป็นราวกะแก้วมณีซึ่งให้ยินดีของผู้อยากได้ประโยชน์ เป็นราวกะเศวตฉัตรอันขาวไม่หมองมัวของผู้อยากอภิเษก เป็นราวกะความบรรลุพระอรหัตผลของผู้ใคร่ต่อธรรม. สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยาษฎางคิกมรรคแปด ของบุคคลนั้น ย่อมถึงความเป็นของเจริญบริบูรณ์, บุคคลนั้น ย่อมบรรลุสมถะและวิปัสสนา, การปฏิบัติเพื่ออธิคมของบุคคลนั้น ย่อมน้อมไปรอบ, คุณธรรมทั้งปวงคือสามัญผลสี่ปฏิสัมภิทาสี่ วิชชาสาม อภิญญาหก สมณธรรมทั้งสิ้น ย่อมเป็นเครื่องประกาศแห่งบุคคลนั้น, บุคคลนั้น ย่อมอภิเษกด้วยเศวตฉัตร คือ วิมุตติ. เปรียบเหมือนราชภัฏทวยหาญพร้อมทั้งชาวแว่นแคว้น ชาวนิคมชาวชนบท ย่อมบำรุงบำเรอพระมหากษัตริญืผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว, และราชบุรุษสามสิบแปด คือ คนฟ้อนรำ คนรู้มงคลที่หน้า คนกล่าว ความสวัสดี สมณพราหมณ์หมู่คนเจ้าลัทธิทั้งปวง ย่อมถึงยิ่งซึงพระมหากษัตริย์นั้น, พระมหากษัตริย์นั้น เป็นเจ้าของในการทรงว่ากล่าวเนือง ๆ ซึ่งท่าเรือ บ่อเกิดรัตนะ พระนคร สถานที่ตั้งส่วย ราชสมบัติต่าง ๆ ชนผู้แตกร้าวกันทั้งปวง ฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ท่านผู้ทำให้บริสุทธิ์ด้วยธุดงค์เหล่าใด เข้าไปสู่มหาสมุทร คือ นิพพานแล้ว ย่อมเล่นธรรมมีอย่างมาก, ย่อมใช้สมาบัติทั้งแปด คือ รูปสมาบัติสี่ อรูปสมาบัติสี่ ย่อมถึงซึงฤทธิ์มีอย่างต่าง ๆ ทิพยโสตธาตุ ปรจิตตวิชชา บุพเพนิวาสานุสสติ ทิพยจักษุ และความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งปวง ธุดงค์เหล่านี้นั้น มีสิบสามประการ คือ
(๑) องค์ของผู้มีอันทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ.
(๒) องค์ของผู้มีอันทรงผ้าสามผืนเป็นปกติ.
(๓) องค์ของผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ.
(๔) องค์ของผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นไปด้วยความไม่ขาดเป็นปกติ.
(๕) องค์ของผู้มีอันบริโภคในอาสนะเดียวเป็นปกติ.
(๖) องค์ของผู้มีอันบริโภคในบาตรเป็นปกติ.
(๗) องค์ของผู้ห้ามภัตรที่นำมาถวายเพื่อภายหลังเป็นปกติ.
(๘) องค์ของผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ.
(๙) องค์ของผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นปกติ.
(๑๐) องค์ของผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ.
(๑๑) องค์ของผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ.
(๑๒) องค์ของผู้มีอันอยู่ในที่ลาดไว้อย่างไรเป็นปกติ.
(๑๓) องค์ของผู้มีอันนั่งเป็นปกติ.
ท่านผู้มีปัญญา ย่อมได้สามัญคุณทั้งสิ้นด้วยธุดงคคุณสิบสามเหล่านี้ ซึ่งท่านได้เสพมากแล้ว เสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ประพฤติแล้ว ให้บริบูรณ์แล้วในปางก่อนแล, สมาบัติเป็นของนำความสุขมาเป็นของประณีตทั้งสิ้น เป็นเครื่องประกาศแห่งท่านนั้น. เปรียบเหมือนนายเรือผู้มีทรัพย์ เสียภาษีที่ท่าเรือด้วยดีแล้ว เข้าไปสู่มหาสมุทร ถึงวังคนคร ตักโกลนคร จีนนคร โสวีรนคร สุรัฏฐนคร อลสันทนคร โกลปัฏฏนนคร และสุวัณณภูมินคร แล้วไปสู่ประเทศที่เที่ยวไปด้วยเรือ ประเทศใดประเทศหนึ่งแม้อื่น ฉะนั้น. และเปรียบเหมือนชาวนานำหญ้าและไม้และหิน เป็นโทษในนาออกเสียก่อนแล้ว ไถหว่านแล้ว ยังน้ำให้เข้าไปแล้วเฝ้ารักษาไว้ เป็นผู้มีข้าวเปลือกมากด้วยอันเกี่ยวและนวด, ชนยากจนไม่มีทรัพย์ เป็นผู้ประกาศแห่งชาวนานั้น ฉะนั้น. อนึ่ง เปรียบเหมือนพระมหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เป็นผู้มีชาติยิ่ง ย่อมเป็นผู้มีอิสระมีอันให้เป็นไปในอำนาจ เป็นเจ้าของกระทำตามความปรารถนา ในการทรงพร่ำสอนชนผู้แตกร้าวกัน, แผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้น เป็นที่ประกาศแห่งพระมหากษัตริย์นั้น ฉันใด ท่านผู้มีปัญญา เป็นผู้มีอิสระมีอันให้เป็นไปในอำนาจ เป็นเจ้าของกระทำตามปรารถนา ในพระชินศาสนาอันประเสริฐ ด้วยธุดงคคุณสิบสามเหล่านี้ที่เสพมากแล้ว เสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมให้เต็มรอบแล้วในปางก่อน, อนึ่ง สามัญคุณทั้งหลายทั้งสิ้น เป็นเครื่องประกาศแห่งท่านนั้น ฉันนั้นแล.
ขอถวายพระพร พระอุปเสนเถระผู้บุตรวังคันตพราหมณ์มิใช่หรือ มิได้เอื้อเฟื้อกติกาแห่งสงฆ์ในกรุงสาวัตถี ด้วยความเป็นผู้กระทำให้เต็มในธุดงคคุณเป็นเครื่องเกลากิเลส พร้อมด้วยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรทรมานนรชน ผู้ประทับอยู่ในที่เร้น ถวายนมัสการ พระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วนั่งในที่ควรส่วนหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรบริษัทอันพระเถระแนะนำดีแล้วนั้น ทรงร่าเริงบันเทิง มีพระหฤทัยเบิกบาน ตรัสปราศรัยกับด้วยบริษัทแล้วได้ตรัสพุทธพจน์นี้ ด้วยพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม อันไม่ขัดขวางว่า
‘ดูก่อนอุปเสนะ บริษัทของท่านนี้นำมาซึ่งความเลื่อมใส, ท่านแนะนำบริษัทอย่างไร?’
ฝ่ายพระอุปเสนเถระนั้นเป็นผู้อันพระสัพพัญญูทศพลเทพาดิเทพตรัสถามแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสามารถแห่งคุณตามที่เป็นที่มีว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เข้ามาหาข้าพระองค์ ขอบรรพชาหรือนิสสัย, ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้กะบุคคลนั้นว่า ‘แน่ะผู้มีอายุ เราเป็นผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ มีอันเทียวบิณฑบาตเป็นปกติ มีอันทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มีอันทรงไตรจีวรเป็นปกติ; ถ้าว่าแม้ท่านจักเป็นผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ มีอันทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มีอันทรงไตรจีวรเป็นปกติเหมือนกันไซร้, เราจักให้ท่านบวช เราจักให้นิสสัยแก่ท่าน’ ฉะนี้; ถ้าว่าบุคคลนั้นรับข้าพระองค์แล้ว ยินดีรื่นรมย์. ข้าพระองค์จึงให้บุคคลนั้นบวช ให้นิสสัยแก่บุคคลนั้น ถ้าว่าบุคคลนั้น ไม่ยินดีไม่รื่นรมย์ข้าพระองค์ก็ไม่ให้บุคคลนั้นบวชไม่ให้นิสสัยแก่บุคคลนั้น; ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แนะนำบริษัทอย่างนี้’ ดังนี้.
ขอถวายพระพร ท่านผู้มีปัญญา สมาทานธุดงคคุณอันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้มีอิสระ มีอันให้เป็นไปในอำนาจ เป็นเจ้าของ กระทำตามปรารถนาในพระชินศาสนาอันประเสริฐ, สมาบัติทั้งหลาย เป็นของละเอียด เป้นของนำความสุขมาทั้งสิ้น ย่อมเป็นเครื่องประกาศแห่งท่านผู้นั้น ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร ดอกบัวมีชาติอันสูงแต่เดิมเกิดมา เพราะเป็นของเจริญยิ่งและบริสุทธิ์ เป็นของสนิท เป็นของอ่อน เป็นของน่าอยากได้ เป็นของมีกลิ่นหอม เป็นที่รัก อันบุคคลปรารถนา มิได้เปื้อนด้วยน้ำตม ประดับด้วยกลีบและเกสรและฝักอันละเอียด อันหมู่ภมรส้องเสพ เนื่องด้วยน้ำอันเย็น ฉันใด, พระอริยสาวกเข้าถึงพร้อมแล้วด้วยคุณอันประเสริฐสามสิบประการ เพราะธุดงคคุณสามสิบเหล่านี้ ที่ท่านเสพมากแล้ว เสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมให้เต็มรอบแล้วในกาลก่อนฉันนั้นแล. คุณอันประเสริฐสามสิบประการเป็นไฉน? คือ:-
(๑) เป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอันสนิทอ่อนละมุน.
(๒) เป็นผู้มีกิเลสอันฆ่ากำจัดแล้ว.
(๓) เป็นผู้มีความเย่อหยิ่งด้วยอำนาจความถือตัว อั้นกำจัดให้พินาศแล้ว.
(๔) เป็นผู้มีความเชื่อไม่หวั่นไหว ตั้งมั่น หาความเคลือบแคลงมิได้.
(๕) เป็นผู้มีอันได้สมาบัติ อันบริบูรณ์เยือกเย็น น่ารื่นรมย์ น่าอยากได้ อันละเอียดเป็นสุข.
(๖) เป็นผู้อบรมด้วยของหอมอันสะอาด หาของหอมอื่นเสมอไม่ได้ อันประเสริฐ คือ ศีล.
(๗) เป็นผู้เป็นที่รักเป็นที่ให้ใจเอิบอาบ แห่งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
(๘) เป็นผู้อันพระอริยบุคคลผู้ประเสริฐ มีอาสวะสิ้นแล้วปรารถนาแล้ว.
(๙) เป็นผู้อันเทพดามนุษย์ทั้งหลายกราบไหว้และบูชา.
(๑๐) เป็นผู้อันชนผู้บัณฑิตรู้วิเศษชื่นชมสรรเสริญแล้ว.
(๑๑) เป็นผู้อันโลกไม่ฉาบทาไว้ในโลกนี้และโลกหน้า.
(๑๒) เป็นผู้มีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเล็กน้อย.
(๑๓) เป็นผู้ยังประโยชน์อันประเสริฐคือมรรคและผลให้สำเร็จแก่ชนผู้ต้องการสมบัติ.
(๑๔) เป็นผู้มีส่วนแห่งปัจจัยลาภอันไพบูลย์ประณีต ที่สัตว์โลกบูชาแล้ว.
(๑๕) เป็นผู้อยู่ในที่มิใช่ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง.
(๑๖) เป็นผู้มีฌานอย่างประเสริฐเป็นธรรมที่อยู่.
(๑๗) เป็นผู้มีที่ตั้งแห่งข่าย คือ กิเลสอันรื้อแก้แล้ว.
(๑๘) เป็นผู้มีคติผู้กั้นไว้อันทำลายแล้วหักแล้วตัดเสียแล้ว.
(๑๙) เป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ.
(๒๐) เป็นผู้มีที่อยู่อันจัดไว้โดยเฉพาะ.
(๒๑) เป็นผู้มีอันบริโภคสิ่งหาโทษมิได้.
(๒๒) เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากคติ.
(๒๓) เป็นผู้มีความสงสัยอันข้ามสิ้นแล้ว.
(๒๔) เป็นผู้มีตนอันอาบแล้วด้วยวิมุตติ.
(๒๕) เป็นผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว.
(๒๖) เป็นผู้เข้าถึงแล้วซึ่งเครื่องต่อต้านความขลาด อันไม่หวั่นไหวมั่นคง.
(๒๗) เป็นผู้มีอนุสัยอันถอนขึ้นแล้ว.
(๒๘) เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสรรพอาสวะ.
(๒๙) เป็นผู้มีสมาบัติเป็นสุขละเอียดเป็นธรรมที่อยู่มาก.
(๓๐) เป็นผู้เข้าถึงพร้อมสมณคุณทั้งปวงแล้ว.
พระอริยสาวก เป็นผู้เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยคุณอันประเสริฐสามสิบประการเหล่านี้.
ขอถวายพระพร พระสารีบุตรเถระมิใช่หรือ เป็นอัครบุรุษในหมื่นโลกธาตุ ยกเส้นแต่พระทศพลผู้บรมโลกาจารย์. แม้พระสารีบุตรเถระนั้น เป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีกุศลมูลสร้างสมพร้อมแล้ว สิ้นอสงไขยและกัปป์นับไม่ได้แล้ว ละความยินดีในกามและทรัพย์อันประเสริฐ นับด้วยร้อยมิใช่อันเดียว เป็นของยังใจให้เจริญ บรรพชาในพระชินศาสนาแล้ว ทรมานกายวจีจิตด้วยธุดงคคุณสิบสามเหล่านี้มาตามพร้อมแล้วด้วยคุณหาที่สุดมิได้ ได้ยังธรรมจักรให้เป็นไปตามในพระศาสนาอันประเสริฐ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคดมในกาลนี้.
ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ได้ทรงภาสิตไว้ในพระลัญจกรอันประเสริฐ คือเอกังคุตรนิกายว่า
‘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นผู้หนึ่ง ผู้ยังธรรมจักรอันยิ่งที่พระตถาคตให้เป็นไป ให้เป็นไปตามโดยชอบ เหมือนสารีบุตร; เพราะว่า สารีบุตรยังธรรมจักรอันยิ่งที่พระตถาคตให้เป็นไปให้เป็นไปตามโดยชอบ’ ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสนดีแล้ว, นวังคพุทธวจนะอันใดอันหนึ่ง ความกระทำโลกุตตระอันใดอันหนึ่ง สมาบัติอันไพบูลย์ประเสริฐ คือ ความตรัสรู้อันใดอันหนึ่ง, คุณชาติมีนวังคพุทธวจนะเป็นต้นนั้นทั้งหมดเป็นของถึงแล้วซึ่งอันประชุมลงในธุดงคคุณสิบสามประการ.”

เมณฑกปัญหา จบ.





เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ



ร่วมทำบุญ หุ้มทองคำแท้ และทองจังโก "พระธาตุเจดีย์นพีสีพิศาลมงคล" จ.เชียงใหม่
โทร. 086-1155287



พระหลวงพ่อสมเด็จองค์ปฐม เพื่อกอบกู้ธรณีสงฆ์วัดศาลพันท้ายนรสิงห์
โทร.08-9826 9986




เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก ณ วัดแปลงห้า อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่


ร่วมสร้างพระนาคปรกสูงเท่าตึกสองชั้น ที่สกลเมืองนาคถวายครูอาจารย์วัดป่า
0840999587



ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธเมตตาขนาด 6.5 เมตร องค์ที่ 1 และทอดกฐินสามัคคี
ภาพองค์ต้นแบบ สร้างที่ วัดเจริญราษฎร์บำรุง



เชิญร่วมเป็นเจ้าภาพ เททองหล่อพระประธาน พระพุทธฉัตรมงคลสุเมธาธิบดี หน้าตัก ๘๔ นิ้ว
080-300-3535


ด่วน..ต้องการเจ้าภาพหน้าต่าง ๕ ช่อง/กระเบื้องปูพื้น ๘๐ ต.ร.ม.
๐๘๕-๑๙๘-๒๙๑๑


ขอเชิญร่วมทำบุญสร้างศาลามหาทรงธรรมพุทธเจดีย์ ณ วัดถ้ำพวง (ภูลังกา)
089 – 0049597


ร่วมบุญกับ ลพ.เยื้อนเพื่อสร้างเจดีย์เพื่อครอบน้ำทรัพย์
081 - 803 – 3533


บอกบุญ สร้างศาลาการเปรียญ วัดป่ารัตนประสิทธิ์ฯ
086-081-3202


(ด่วน)งบประมาณ 3,000 บาท ซื้ออิฐก้อนละ 15 บาท ปูทางเดินพระสงฆ์ วัดวังขอน
085-361-4989



ขอเชิญร่วมสร้างพิมพ์หล่อพระสมเด้จองค์ปฐมหน้าตัก ๔ ศอกพร้อมทั้งหล่อสมเด็จองค์ปฐม ๔ ศอกปิดทองทั้งองค์ ประดับเพชรถวาย

ณ วัดหลวง อ บ้านหลวง ต เชียงม่วน จ พะเยา
0837003968



เชิญเป็นเจ้าภาพบริจาคสร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถวัดโพธิญาณรังสี
081-9979093


ขอเชิญทุกท่านมาร่วมบุญจัดสร้างห้องน้ำ ๗ ห้อง/ห้องละ ๑๓,๐๐๐บาทได้ตามกำลังศรัทธา
๐๘๒-๒๒๕๕๙๐๔


ขอเชิญร่วมปิดยอดบุญถวายสีทาโรงครัวถวายวัด จำนวน ๓ ถัง ๆ ละ ๒,๒๐๐ บาท
๐๘-๕๐๓๗-๐๓๗๐


ร่วมบุญผ้าป่าอิฐก่อฐานองค์พระประธานและก่อผนังพร้อมฐานโบสถ์
ณ ธุดงค์สถานป่าศิริสมบูรณ์
(สาขาที่ ๒๓๔ ของวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
บ้านไร่สมบูรณ์ ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์

ทอดผ้าป่าในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
(วันเดียวกับงานทอดกฐิน)




หาปัจจัยค่าอาหารเครื่องดื่มโรงทาน ค่าปัจจัยถวายพระภิกษุสงฆ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ งานกฐิน
ตั้งโรงทาน ณ สถานปฏิบัติธรรมท่านอาจารย์แทน งานกฐินจัดวันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน 2555 เพื่อทอดกฐิน ณ วัดโพธิ์ศรีธาตุ ต.เกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์



ขอเชิญญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ ซื้อโลงเย็ เพื่อเป็นสาธารณะสงเคราะห์ในการบำเพ็ญกุศลศพ ซึ่งยังขาดปัจจัยอีกมาก หากท่านมีความประสงค์จะร่วมทำบุญโปรดติดต่ออาตมได้ที่วัดชัยสถิต อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หรือโทร 0850358036



สวัสดีครับ เชิญชวนทุกท่านมาร่วมทำบุญงานกฐินวัดหนองช้างในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 นี้

ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้ากฐินสามัคคีสร้างอุโบสถวัดโพธิญาณรังสี จังหวัดสุรินทร์
ในวันเสาร์ที่ 17 พ.ย. 2555 เวลา 09.34 น. ณ.วัดโพธิญาณรังสี บ.ปรือเกียน ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์



กฐินสามัคคี ที่พักสงฆ์พรหมรังศรี
ร่วมบุญใหญ่ หนึ่งปีมีครั้งเดียว วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2555


สั่งบูรณะด่วน'พระปรางค์วัดอรุณ'
ทั้งนี้หากประชาชนอยากที่จะมีส่วนร่วมบูรณะโบราณสถาน
สามารถสมทบทุนเข้า กองทุนเพื่อการบูรณะโบราณสถาน
เลขที่บัญชี 081-0-09603-6 ธนาคารกรุงไทย สาขาราชดำเนินได้"




ขอเชิญท่นผู้ใจบุญ ร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี กรุงเทพฯ-ยโสธร ในวันที่ 8-9 กันยายน 55 เพื่อสมทบทุน ในการก่อสร้างโรงครัวของทางวัดกระจายใน ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธรโทร 089-2834743


ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคี ตามกำลังศรัทธา
เพื่อสร้างวิหารประดิษฐาน
พระสมเด็จองค์ปฐมและพระวิสุทธิเทพ
กำหนดการ
วันอาทิตย์ ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
เวลา 11.00 น ถวายภัตตาหารเพล
เวลา 13.00 น ถวายผ้าป่า (เสร็จพิธี)
หมายเหตุ มีโรงทานเลี้ยงตลอดงาน
โทร 089-7726217



วัดศรีสง่าสามัคคีเพื่อสมทบซื้อที่ดินให้วัดอยู่วันทอดกฐินสามัคคีแล้ว วันที่27 -28 ฟฤศจิกายน 2555
081-0412624



ขอเชิญร่วมทำบุญสร้างพระวิหารวัดโบสถ์ฆ้องคำ และ สะพานข้ามไปวัดซึ่งตอนนี้ชำรุด ได้ที่ หมายเลขบัญชี ธ.ไทยพานิชย์ สาขา นาก่วม ชื่อบัญชี พระ สุนทร มนสุนทรโร เลขที่บัญชี 702-2-23840-3 ประเภท ออมทรัพย์ **หมายเหตุ ถ้า ท่านใด บริจาคเงินเข้าวัดแล้ว ถ้าเป็นไปได้ กรุณา แจ้ง หลวงตาสุนทร ที่ 089 6369231 หรือ คุณเปรมศรี แก้วบุญเรือง ได้ที่เบอร์ 089-7565767



ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี ๕๕ (พระครูปราสาทพรหมคุณ)0804892999


ขอเชิญร่วมบุญเป็นเจ้าภาพยกเสาเอกอุโบสถวิหารและถวายผ้าป่ามหาสังฆทานร่วมกับกฐิน
กำหนดการ<O ></O >

พิธียกเสาเอกอุโบสถวิหาร และพิธีทอดถวายกฐินสามัคคี<O ></O >

วัดสันป่าม่วง ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา<O ></O >

วันเสาร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕<O ></O >




ขอเชิญร่วมบุญกฐินบรมจักรพรรดิ บุญใหญ่..สร้างง่าย..
ณ. วัดพระพุทธบาทหริภุญชัยห้วยทรายขาว
หมู่๑ ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน

ในวันเสาร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕



ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพกฐิน วัดถ้ำตะโก ลพบุรี ปี ๕๕
ในวันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ พระอุโบสถวัดถ้ำตะโกฯ


ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพ ซื้อตู้ใส่พระไตรปิฏก จำนวน ๓ ตู้
๐๘๒-๔๔๔๘๒๗๐



ร่วมบุญโรงทานเนื่องในวันทำบุญวันระลึกวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
กำหนดการ
วันที่ ๗ ต.ค. เวลา ๐๘.๐๐ น. ทําพิธีบวงสรวง ขอขมาพระรัตนตรัย จากนั้นรับสังฆทาน
งานทำบุญวันที่ระลึกวันคล้ายวันเกิดพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ที่บ้านสายลม มีเจ้าภาพตั้งร้านเลี้ยงอาหาร




ดาวน์โหลด-MP3-ธรรมบรรยาย 1,400 เรื่อง

- ความยาว 1,700 ชั่วโมง -

เสียงธรรม-พระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ
http://www.หนังสือพระไตรปิฎก.com/LOAD-MP3-BIA-1400.html

ขอเชิญท่านที่สนใจ ฝึกกสิณกรรมฐาน ดิน น้ำ ลม ไฟ
ระดับต้น เรียนฟรี ครั้งที่ 4
วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555
08.30 น. ลงทะเบียน บัตรประชาชน 1 ใบ
09.00 น. ไหว้พระ แนะนำประวัติของชมรมศิษย์สุวรรณโคม
10.15 น. กรรมฐาน ๔๐
การเริ่มต้นกสิณดิน
สมาทานกสิณ กสิณดิน
เจริญ กสิณดิน
เดินจงกรม ด้วยกสิณกรรมฐาน
ศุภะอาสนะ
สนทนาธรรม กสิณกรรมฐาน
12.00 น. พักรับประทานอาหารตามอัธยาศัย
13.15 น. เจริญกสิณน้ำ
สนทนาธรรม กสิณกรรมฐาน
สวดมนต์สวดมนต์ สรภัญญะโบราณ
เจริญ กสิณลม
เจริญ กสิณไฟ

นำผลการฝึกสิณมาเปรียบเทียบกับผลการคำนวณ
สรุปกสิณที่เหมาะสมกับตน

17.00 น. กลับบ้านโดยปลอดภัย

การแต่งกาย เสื้อขาว กางเกงที่สะดวก ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้น
http://www.srisuwankhomkhum.com/



ขอเชิญทุกท่าน รับฟังธรรม เรื่่อง การทำบุญให้ทาน (อ.วศิน)
https://www.youtube.com/watch?v=F9NHQxa ... re=mh_lolz


เปิดสอนบาลีศึกษา และ ธรรมศึกษา สำหรับฆราวาสที่สนใจ
เริ่มวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555 นี้ครับ เวลา 12.30-15.00น. (หรืออาจเริ่มประมาณ13.00น. เพราะต้องไปรับพระอาจารย์ประมาณ 12.15น)
จะมีการเรียนการสอนทุกวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
ผู้สอนคือพระอาจารย์จากวัดบางไผ่(อารามหลวง) อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

สถานที่สอนคือ ที่ตั้งชมรม I am number one "ขอเป็นคนดีที่ ๑ ในกึ่งพุทธกาล" เลขที่ 202/43 หมู่บ้านชัยพฤกษ์ บางบัวทอง ถ.บางกรวย-ไทรน้อย อ.บางบัวทอง จ. นนทบุรี

ดูรายละเอียด, แผนที่, การเดินทาง, การใช้บริการรถตู้ และอื่นๆ ได้ที่
www.iamnumberoneclubs.com
มีหนังสือเรียนแจกฟรี สมุดปากกาฟรี รถตู้ฟรี อาหารฟรี ฟรีทุกอย่าง เพื่อเป็นธรรมทาน.




เรียนเชิญทุกท่านๆร่วมพิมพ์หนังสือตามแนวหลวงพ่อจรัญร่วมพิมพ์เพื่อแจกครับ


จุดประสงค์ ผมจะนำหนังสือพร้อมสังฆทานไปถวาย วัดและสำนักสงฆ์แถวๆ อ.เบตง จ.ยะลา
0860449335



รับบริจาคกลองเพล จะเก่าหรือใหม่ จะเล็กหรือใหญ่ ก็ได้
ณ ที่พักสงฆ์ป่าเหล่าหลวงอุดมธรรม บ้านหนองหลุบ หมู่ 2 ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด 45000


ขอเชิญร่วมบริจาคซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด ตารางวาละ 1000.- บาท ผู้ใจบุญท่านสนใจร่วมบริจาคติดต่อ คุณธนารีย์ แต้มสมบูรณ์ เบอร์โทรศัพท์ 082-9467370



ร่วมบุญสมทบทุนซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าถวายครูบาอินสมวัดจอมทอง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮองสอน
จึงขอเชิญทุกท่านร่วมทำบุญกัน
โอนเงินเข้าบัญชี

ชื่อบัญชี นายธนกร เตมียบุตร

ธนาคารกรุงเทพ สาขาเทสโก้ โลตัส ลาดพร้าว

เลขที่บัญชี 035-0-22792-2



ขอเชิญร่วมพิมพ์หนังสือการ์ตูนธรรมะเพื่อมอบให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ bobubalis@hotmail.com




ร่วมด้วยช่วยกันสร้างกระท่อมให้เด็กยากไร้ในชนบทพระครูใบฎีกาภูวนารถ ธมฺมานนฺโทประธานสงฆ์อาศรมเข็กน้อย เพชรบูรณ์นอกจากมีหน้าที่เป็นพระธรรมจาริกแล้ว ปกติจะมีอัธยาศัยชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกระกำลำบาก


ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้าง “อาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี” รพ.ราชวิถี
ท่านสามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้าง “อาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี” และจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้ดังนี้

1. บริจาคโดยตรงด้วยตนเองที่ “มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ชั้น 1 โรงพยาบาลราชวิถี หรือบริจาคเงินผ่านตู้รับบริจาคภายในโรงพยาบาลราชวิถี

2. บริจาคเงินผ่านทางบัญชีออมทรัพย์ “ธนาคารไทยพาณิชย์” สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-62799-0
ชื่อบัญชี “ครบรอบ 60 ปี โรงพยาบาลราชวิถี”
และส่งแฟกซ์ใบโอนเงิน พร้อมชื่อ-ที่อยู่
ระบุความจำนงในการบริจาคว่า “สมทบทุนสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี”
หมายเลขโทรสาร 02-354-7997-9 ต่อ 1 ทางมูลนิธิฯ จะส่งใบเสร็จรับเงินไปให้ท่านต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ส.ค. 2012, 10:43 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว




e0b89ae0b8b1e0b8a7e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b88722.jpg
e0b89ae0b8b1e0b8a7e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b88722.jpg [ 42.6 KiB | เปิดดู 5548 ครั้ง ]
.. :b8:

ชีวิตนี้ เป็นของน้อย ที่ว่าน้อยเพราะไม่อาจรู้ได้ว่าถัดจากลมหายใจเข้า ออกขณะนี้จะเป็นอย่างไร.. แต่วัฎฏะสงสารเป็นของยืดยาวมองไม่เห็นเบื้องต้น และเบื้องปลาย มีความเพลิดเพลินอยู่นั่นแหละเป็นเครื่องกำบังจิตอยู่ ผู้ลงสู่ทางเดินแห่งพระธรรมแล้ว กระทำความเพียรแล้ว ย่อมถึงทางแห่งความสงบเยือกเย็น อันพึงจะเกิดขึ้นในหมู่สัีตว์ได้ยาก มีแต่สัตว์ประเสริฐ ชื่อ พระพุทธเจ้า นั่นแลจะเสวยความสงบสุขเยือกเย็น หาความร้อนกระวนกระวายไม่ได้เป็นผู้บอกสอนพระธรรมอันงามให้ผลเป็นความสงบสุขเยือกเย็นกับเหล่าหมู่สัตว์ทั้งหลาย ก็หมู่สัตว์อันทุกข์ยากเพราะไม่รู้มีมาก ปัญญามืดบอดแล้วเพราะกรรมชั่วแต่กาลก่อนย่อมเสวยผลวิบากแห่งกรรมนั้น แสดงเป็นตัวอย่างแก่ชนรุ่นหลังให้ได้โอกาสเห็นแล้วด้วยตาเนื้อ ก็หมู่สัตว์เหล่าใดปล่อยศรัทธาแล้ว พึงรับเอาพระธรรมอันงามนี้ไว้ แม้ต้องเสวยวิบากกรรมชั่วแต่ในกาลก่อนอยู่ ก็ยังมีหวังอันพ้นทุกข์ได้ในกาลข้างหน้า อย่างไม่ต้องสงสัย


อนุโมทนาแล้วๆๆ ..
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร