วันเวลาปัจจุบัน 28 ก.ค. 2025, 04:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 23:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

คัดลอกมาจากหนังสือการบริหารจิตและการเจริญปัญญาที่วรานนท์ประกาศแจกครับ

ทำไมต้องเจริญสติปัฏฐาน ๔

สติคืออะไร ?
สติ คือ ความระลึกนึกได้ถึงความผิด ชอบ ชั่ว ดี เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้คิด ทำ พูด ในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ลืมตัว ไม่เผลอตัว ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้ ธรรมชาติของจิต มีการนึกคิดตลอดเวลา การนึกคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้งานอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้ว จะทำให้ไม่เผลอ ควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ
หน้าที่ของสติ

๑.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความระมัดระวังตัว ป้องกันภัยที่จะมาถึงตัว คือ ระแวงในสิ่งที่ควรระแวง และระวังป้องกันภัยที่จะมาถึงในอนาคต ความระแวง หมายถึง ความกริ่งเกรงล่วงหน้าว่า จะมีความเสียหายอันใดเกิดขึ้น เช่น คนกำลังขับรถขณะฝนตก ถนนลื่น ก็ระแวงว่ารถจะคว่ำ ระแวงว่าจะมีรถอื่นสวนมาในระยะกระชั้นชิด ส่วนความระวังคือ การป้องกันไม่ให้ภัยชนิดนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น ลดความเร็วลง ตั้งใจขับมากขึ้น อย่างนี้เป็นต้น

๒.สติเป็นเครื่องยับยั้ง เตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม ไม่ให้มัวเมาลุ่มหลง ไม่ให้เพลิดเพลินไปในสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเอง เช่น เพื่อนชวนไปดื่มเหล้า ก็มีสติยับยั้งตัวเองไว้ว่า อย่าไป เพราะเป็นโทษต่อตัวเอง ฯลฯ

๓.สติเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดีไม่แชเชือนหยุดอยู่กับที่ ไม่ทอดธุระ ไม่เกียจคร้าน ป้องกันโรค “นอนบิดติดเสื่อ งานการเบื่อทำไม่ไหว ข้าวปลากินได้อร่อยดี”

๔.สติเป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น คือ เมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดีแล้วก็ให้ทำอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่อืดอาดยืดยาด ไม่ทำแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ

๕.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ ตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ตระหนักถึงสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ

๖.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงานไม่สะเพร่า ไม่ชะล่าใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร

คำอุปมาสติ
สติเสมือนเสาหลัก ปักแน่นในอารมณ์คือ คนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคือในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก

สติเสมือนนายประตู คือ สติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์ก็ปล่อยผ่านไป แต่ถ้าสิ่งใดเป็นโทษสติก็จะเป็นตัวยับยั้ง เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน

สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อว่าของที่ได้เข้ามาและออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป
สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น ไม่ให้ตัวของเราไปทำในสิ่งที่ไม่ควร

ประโยชน์ของสติ
๑.ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจคิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เพราะฉะนั้น “ที่ใดมีสติ ที่นั่นมีสมาธิ ที่ใดมีสมาธิ ที่นั่นมีสติ”

๒.ทำให้ร่างกายและจิตใจ อยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่างเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเองพร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

๓.ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุดเพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระมีพลัง เพราะมีสติควบคุม เสมือนเรือที่มีหางเสือควบคุมอย่างดีย่อมสามารถแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่วกวน

๔.ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์

๕.ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพราะมีสติ จึงไม่เผลอไปเกลือกกลั้วบาปอกุศลกรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญา หรือเหตุผลบริสุทธิ์

การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท

๑.มีสติระลึกถึง การละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะไปทำชั่วทำบาปอะไรเข้า ก็มีสติระลึกได้ทันที ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบาปหรือไม่ ถ้าเป็นบาปก็ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด

๒.มีสติระลึกถึง การประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะทำอะไรก็มีสติระลึกได้เสมอ ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบุญเป็นกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นกุศลจึงจะทำ

๓.มีสติระลึกถึง ความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน นั้นมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ไม่ยอมทำชั่วเลย เพราะเกรงว่าจะต้องไปเกิดในอบายภูมิเช่นนั้น

๔.มีสติระลึกถึง ความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด ของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่า ถ้าเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป จึงหาโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้าพระนิพพานให้ได้เร็วที่สุด จะได้หมดทุกข์ เมื่อระลึกเช่นนี้บ่อยๆ ย่อมไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ได้ในที่สุด

๕.มีสติระลึกถึง กรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆมิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่าการที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็งทรงพลังเอาชนะความทะยานอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุดคือ การฝึกทำสมาธิ จึงต้องหาเวลาทำสมาธิภาวนาไม่ขาดเลย

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 23:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง

๑.ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่” อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ เช่น เล่นไพ่ คุยโม้ ดูแฟชั่น ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้

๒.ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็นเด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ หนึ่ง เพราะถ้านับอายุตั้งแต่ชาติแรกๆ จนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายกัปแล้ว

๓.ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค ไม่สบายเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่

๔.ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่ สุขสบายดี เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่ว สร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส

๕.ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

๖.ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่ อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิตทุกๆ อย่าง

๗.ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อโดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอย นั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้ จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรมเพราะทราบดีว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต คือ พระนิพพาน

การเจริญสติ ฯ คือ มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน การเจริญสติ ฯ เป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะให้ทานสักเท่าใด และทำให้จิตสงบสักเท่าใด แต่กิเลสทั้งหลายก็ไม่หมดสิ้นไปได้เลย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางปฏิบัติในอันที่จะดับกิเลสนั้นว่า ได้แก่การเจริญสติ ฯ ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมเจริญสติ ฯ ให้ ปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพื่อให้เกิดการละคลายที่เคยยึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าอยากจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ต้องเจริญสติ ฯ และมีทางเป็นพระอริยบุคคลได้
การเจริญสติฯ มี ๔ อย่าง เรียกว่า มหาสติปัฏฐาน คือ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้สภาพความรู้สึกดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้ สภาพลักษณะของจิต จิตดี จิตไม่ดี จิตมีมากมายหลายประเภท

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นของจริง (ทั้ง ๔ อย่างนี้ อย่าเลือกรู้ทีละอย่าง ต้องแล้วแต่สภาพธรรมใดจะเกิด)

สติจะเกิดเมื่อใด จะบังคับให้สติเกิดได้หรือไม่
สติจะเกิดเมื่อใด ไม่มีใครรู้ นอกจากผู้เจริญสติเอง สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่จะให้สติเกิดนั้น อาจมีหนทางอยู่บ้าง แต่เป็นไปโดยทางอ้อม ไม่ใช่บังคับให้สติเกิด ถ้าอยากให้สติเกิด ต้องพยายามหัดพิจารณาสังเกตุ น้อมไปที่จะให้สติเกิด พยายามเจริญกุศลทุกประเภท ฟังธรรมะ ใส่บาตร ศึกษาธรรม แล้วจะเริ่มรู้สึกตัววันละเล็กละน้อย นอกจากนี้ต้องพยายามระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏบ่อยๆเนืองๆ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น้อมไปที่จะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้ ซึ่งเมื่อย่อลงแล้วก็มี ๒ อย่าง คือ รูป และ นาม

ความจริงแรกๆ นั้น สติเกิดขึ้นนิดเดียว คือระลึกจริงแต่ยังไม่รู้ ปัญญายังไม่สามารถรู้แจ้งได้ ต้องปล่อยเป็นอย่างนี้ไปก่อน แล้วจะค่อยๆรู้เอง การพิจารณาสังเกต คือ กิจของปัญญาในขั้นต้น ที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีสติระลึกรู้ เมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญาก็เริ่มศึกษา สังเกตพิจารณาสภาพลักษณะของสิ่งปรากฏทีละเล็กละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่สติเกิดนั้นเป็นจุดเริ่มของปัญญา

จะรู้ได้อย่างไรว่าสติเกิด
เมื่อสติเกิดหรือรู้สึกตัว จะต้องมีสภาพธรรมปรากฏ คือ รูป - นาม ถ้าไม่มี รูป - นามปรากฏ ก็ไม่ใช่การเจริญสติ ฯ การเจริญสติ ฯ นั้น เป็นการเจริญปัญญา ผิดกับสมาธิหรือ สมถภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญความสงบชั่วคราว ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ มีสติอย่างเดียวไม่พอต้องอาศัยปัญญา ซึ่งมีหลายขั้น กิเลสก็จะหมดสิ้นไปได้เพราะเจริญปัญญาให้คมกล้าขึ้น จนสามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้
ขณะที่หลงลืมสติ กับมีสติต่างกันอย่างไร
ขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง คือขณะที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น ส่วนขณะที่มีสตินั้น เป็นขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางจมูก หรือทางหู ทางลิ้น ทางกาย ใจ โดยไม่บังคับเจาะจง เช่น ขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ระลึกรู้สภาพของกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้ว่ากลิ่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ในขณะที่รู้กลิ่นเลย

เมื่อเจริญสติ ฯ แล้วจะละคลายเองหรือต้องทำอย่างไร
เมื่อเจริญสติ ฯ รู้แล้วก็จะละ เมื่อรู้ก็ละความไม่รู้ ถ้ายังไม่รู้ก็ละไม่ได้ เมื่อปัญญาเกิดปัญญาก็ละคลายเอง ไม่ต้องทำอะไร และไม่มีใครรู้นอกจากตัวเองว่ารู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้นอย่างไร และเมื่อรู้แล้วก็จะละคลายความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
วิธีตรวจสอบว่ามีปัญญาที่จะละคลายมากน้อยแค่ไหน ประการแรก ต้องรู้ว่ามีสติกับหลงลืมสติต่างกันอย่างไร ประการที่สอง กำลังเห็นที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย เย็น สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้เท่านั้น ถ้ารู้ชัดได้อย่างนี้ก็เป็นปัญญาที่ละคลายตัวตนได้

การเจริญสติ ฯ เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าผู้ใดวิริยะความเพียร อดทน พยายามศึกษา ฟังคำบรรยายของอาจารย์ พิจารณาสังเกตสำเหนียกไปเรื่อยๆ ก็อาจเข้าใจและปฏิบัติได้ การเจริญสติ ฯ ทำที่ไหน เมื่อใดก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติ ในชีวิตประจำวันที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อยู่เป็นปกตินั้น จงพิจารณาเสียเนืองๆ ว่าขณะนี้เป็นลักษณะของนาม - รูปเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ถ้าเกิดโกรธไม่พอใจหรือเพลิดเพลินยินดีขึ้นมา ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีเหมือนกันทุกผู้ทุกคน ฉะนั้นจงพิจารณาเสียเนืองๆ เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพความโกรธ หรือความเพลิดเพลินนั้นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ถ้ายังละไม่ได้ ก็เพราะยังมีความยินดี พอใจแฝงอยู่ในลักษณะของนาม - รูปที่ปรากฏขณะนั้น

สติปัฎฐาน จะเกิดได้ ผู้ที่เจริญสติจะต้องมีความเข้าใจ ศึกษาพระอภิธรรม คำสอนขององค์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน ผู้ที่จะศึกษาแล้ว สติปัฎฐานจะเกิดได้ ต้องเข้าใจ หลักการดังต่อไปนี้

๑. ต้องเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เกิดรับรู้อารมณ์หนึ่งแล้วดับไป แล้วเกิดรับรู้อารมณ์
อีกหนึ่งแล้วดับไป ทีละขณะสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วมาก รวดเร็วเกินกว่าเราจะไปจดจ้องหยุดยั้งเพื่อ
พิจารณาหรือบังคับให้เกิดสติตามระลึกได้

๒. สติต้องระลึกในปรมัตธรรม สภาพธรรม หมายความว่าไม่ใช่ระลึกในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็น บัญญัติธรรม ต้องระลึกในสภาพธรรม ที่เป็นจิต - เจตสิก - รูป เท่านั้น สภาพธรรมนั้นแหละคือ
สัจธรรม

๓. สติจะต้องระลึก ในสภาพที่กำลังปรากฎ หรือ ในปัจจุบันขณะ หมายถึงขณะที่จิตยังไม่ละจากการรับรู้ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นสลับกันอย่างรวดเร็ว เช่นจิตเห็นเกิดขึ้นสลับกับจิตอื่นๆ และยังกลับมาเป็นจิตเห็นอยู่นั้นถือว่าเห็นยังเป็นปัจจุบันขณะ แต่ไม่ใช่จะไปเกิดขึ้นซ้อนในขณะเดียวกันขณะใด เพราะจิตจะต้องเกิดขึ้นทีละขณะเท่านั้นอย่างนี้เรียกว่าตามระลึก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว หรือเรื่องราวที่ยังไม่มาถึง

๔. สติปัฎฐานจะเกิดขึ้นตามฐานที่ตั้งของการปรากฏ แล้วแต่ว่าจิตอะไรจะเกิด ถ้าสติเกิด
ก็จะระลึกไปตามฐานที่ตั้งต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่สามารถจับมาระลึก หรือเพ่งหรือจดจ้องอยู่ในสิ่งเดียว อย่างเดียวได้ดังที่ท่านแจกแจงว่า ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม คือจากใกล้ตัว จนครอบคลุมธรรม ทุกอย่างเป็นสติปัฎฐานได้หมด

๕. สติปัฎฐานจะไม่มีทางเกิดได้ ถ้าหากเราอยากให้สติปัฎฐานเกิด เพราะความอยากนั้นเป็น
อกุศลเป็นเครื่องกั้น สติซึ่งเป็นกุศล สติจะเกิดขึ้นเองจากการเข้าใจในการฟังเรื่องราวของอภิธรรมก่อน เมื่อความเข้าใจเจริญถึงพร้อม จะเริ่มสังเกต ความแตกต่างระหว่างการหลงลืมสติ กับการมีสติ ความเข้าใจเมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้น สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้น ทีละน้อย ทีละน้อย

สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ได้แก่ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงคือตามที่สิ่งนั้น ๆ มันเป็นของมันเอง พระผู้มีพระภาคตรัสสติปัฏฐานไว้หลายสูตร เช่น ในทีฆนิกายเรียกว่ามหาสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกายเรียกว่าสติปัฏฐานสูตร แต่ในสติปัฏฐานสังยุตนี้มีข้อควรศึกษาดังต่อไปนี้

สติปัฏฐาน ๔
คำว่าสติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ สติปัฏฐาน 4 มีอะไรบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัส คำว่า อภิชฌา แปลว่า ความยินดีหรือยินร้าย โทมนัส แปลว่า ความเสียใจในโลกเสียให้พินาศไป เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ นี่เป็นที่ 2 มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป อันดับ 3 เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป อันดับ 4 เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป

ณ อัมพปาลิวันใกล้เมืองเวสาลี พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

..............................................

๒ พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม ๔ ภาค ๑ – หน้าที่ ๔๒๕
ที.ม.อ. (บาลี) ๒/๓๗๓/๓๗๖,ม.มู.อ. (บาลี) ๑/๑๖๐/๒๕๓.

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2009, 23:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

สติปัฎฐาน จะเกิดได้ ผู้ที่เจริญสติจะต้องมีความเข้าใจ ศึกษาพระอภิธรรม คำสอนขององค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน ผู้ที่จะศึกษาแล้ว สติปัฎฐานจะเกิดได้ ต้องเข้าใจ หลักการดังต่อไปนี้

๑. ต้องเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เกิดรับรู้อารมณ์หนึ่งแล้วดับไป แล้วเกิดรับรู้อารมณ์
อีกหนึ่งแล้วดับไป ทีละขณะสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วมาก รวดเร็วเกินกว่าเราจะไปจดจ้องหยุดยั้งเพื่อ
พิจารณาหรือบังคับให้เกิดสติตามระลึกได้

๒. สติต้องระลึกในปรมัตธรรม สภาพธรรม หมายความว่าไม่ใช่ระลึกในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็น บัญญัติธรรม ต้องระลึกในสภาพธรรม ที่เป็นจิต - เจตสิก - รูป เท่านั้น สภาพธรรมนั้นแหละคือ
สัจธรรม

๓. สติจะต้องระลึก ในสภาพที่กำลังปรากฎ หรือ ในปัจจุบันขณะ หมายถึงขณะที่จิตยังไม่ละจากการรับรู้ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นสลับกันอย่างรวดเร็ว เช่นจิตเห็นเกิดขึ้นสลับกับจิตอื่นๆ และยังกลับมาเป็นจิตเห็นอยู่นั้นถือว่าเห็นยังเป็นปัจจุบันขณะ แต่ไม่ใช่จะไปเกิดขึ้นซ้อนในขณะเดียวกันขณะใด เพราะจิตจะต้องเกิดขึ้นทีละขณะเท่านั้นอย่างนี้เรียกว่าตามระลึก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว หรือเรื่องราวที่ยังไม่มาถึง

4. สติปัฎฐานจะเกิดขึ้นตามฐานที่ตั้งของการปรากฏ แล้วแต่ว่าจิตอะไรจะเกิด ถ้าสติเกิด
ก็จะระลึกไปตามฐานที่ตั้งต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่สามารถจับมาระลึก หรือเพ่งหรือจดจ้องอยู่ในสิ่งเดียว อย่างเดียวได้ดังที่ท่านแจกแจงว่า ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม คือจากใกล้ตัว จนครอบคลุมธรรม ทุกอย่างเป็นสติปัฎฐานได้หมด

๔. สติปัฎฐานจะไม่มีทางเกิดได้ ถ้าหากเราอยากให้สติปัฎฐานเกิด เพราะความอยากนั้นเป็น
อกุศลเป็นเครื่องกั้น สติซึ่งเป็นกุศล สติจะเกิดขึ้นเองจากการเข้าใจในการฟังเรื่องราวของอภิธรรมก่อน เมื่อความเข้าใจเจริญถึงพร้อม จะเริ่มสังเกต ความแตกต่างระหว่างการหลงลืมสติ กับการมีสติ ความเข้าใจเมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้น สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้น ทีละน้อย ทีละน้อย

การเจริญสติปัฏฐาน ๔

ณ พราหมณคามชื่อโกศล แคว้นโกศล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วได้ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ว่า "มาเถิดผู้มีอายุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้กาย เวทนา จิต ธรรมตามความเป็นจริง"

ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียวเพื่อกำหนดรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากกาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว"

พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน
พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ได้ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลถามว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุปัจจัยเครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นานและตั้งอยู่ได้นาน เมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ?

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน และเพราะบุคคลเจริญกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว"

ความเสื่อมแห่งพระสัทธรรม
พระภัททะได้ถามพระอานนท์ว่า "อะไรเป็นเหตุปัจจัยเครื่องทำให้พระสัทธรรมเสื่อมและไม่เสื่อม ?
พระอานนท์กล่าวว่า "ท่านช่างคิดเฉียบแหลม ช่างไต่ถามเหมาะ ๆ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงเสื่อมและเพราะบุคคลได้เจริญกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงไม่เสื่อม"

:b8: :b8: :b8:

ยังไม่จบครับ

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2009, 10:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

กรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) คืออะไร
เหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษนั้น มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะนั่งหลับตาภาวนาดังกล่าว แต่มีองค์ประกอบและรายละเอียด อีกมากมาย ดังนั้น ความหมายของกรรมฐานเท่าที่เราเข้าใจ จึงยังคลุมเครือและยังต่างจากความหมายที่แท้จริงอยู่มาก การสร้างความบริสุทธิ์แห่งจิตนี้ จำเป็นจะต้องมีสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ได้ สิ่งอิงที่ว่านี้มี ๒ ลักษณะ คือ อาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่อยู่ภายนอกระบบร่างกายและจิตใจ หรือสิ่งที่อยู่ภายในระบบร่างกายและระบบจิตใจก็ได้ สิ่งที่อยู่นอกระบบร่างกายและจิตอาจเป็นส่วนที่สร้างขึ้นหรือมาจากภาวะแวดล้อม เช่น ดวงกสิณ ซากศพ หรืออาหารที่รับประทานอยู่ทุกวัน ส่วนสิ่งที่มาจากภายในระบบร่างกายและระบบจิตใจ ก็คือ อริยาบถต่าง ๆ และความคิด เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการฝึกอบรมจิตที่เรียกว่ากรรมฐานได้ (ชิน วินายะ มปป : ๒)

การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการกระทำด้วยความตั้งใจหรือจงใจลักษณะหนึ่ง แต่เป็นไปในฝ่ายกุศลส่วนเดียว เพราะมิได้มีเหตุจูงใจจากความต้องการในกามคุณอารมณ์ การปฏิบัติกรรมฐานจึงไม่ขึ้นกับโลกธรรมและกามคุณดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายพื้นฐาน คือ การอบรมจิตใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรม คือ ตัณหา ความคิดมุ่งร้าย ความเกียจคร้าน ความเร่าร้อน ไม่สบายใจ และระแวงสงสัย เป็นต้น จิตที่สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลายจักเข้าถึงสภาวะแห่งปัญญาได้ไม่ยากนัก

เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ (กิริยวาท) และเป็นศาสนาแห่งความเพียรหรือวิริยวาท (พระมหาบุญชิต สุดโปร่ง : ๒๕๓๖) ความเพียรในการปฏิบัตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่สำคัญ คือ ศรัทธา ๔ ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องกรรมหรือการกระทำ (กมฺมสทฺธา) ในเรื่องผลของกรรม (วิปากสทฺธา) ในความเป็นเจ้าของกรรมที่ตนทำ (กมฺมสกฺตาสทฺธา) และความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ (ตถาคตโพธิสทฺธา) ดังนั้น “ กรรม ” จึงเป็นคำสำคัญในคัมภีร์พระพุทธศาสนาใช้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับโลกและชีวิตในเชิงพุทธ มีความหมายสัมพันธ์กับคำว่า กุศล อกุศล บุญ บาป วาสนา บารมี
การกระทำโดยทั่วไปมี ๓ ลักษณะ โดยแบ่งตามช่องทางที่แสดงออก คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีทั้งส่วนที่เป็นกุศลและอกุศล ส่วนมากอาศัยอารมณ์ทั้ง ๕ และมีโลกธรรม ๘ เป็นอารมณ์ และเป็นเหตุจูงใจให้มีการกระทำที่เป็นกุศลหรืออกุศล เช่น บุคคลมีเจตนาคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น (อกุศลมโนกรรม) ด้วยอำนาจความโลภ จึงแสดงพฤติกรรมของการแย่งชิง หรือไม่ก็หยิบฉวยไปโดยไม่ได้รับอนุญาต (อกุศลกายกรรม) เป็นต้นทรัพย์สมบัติของผู้อื่นซึ่งเป็นรูปธรรมจึงเป็นเหตุให้มีการกระทำต่าง ๆ ตามมา

กล่าวโดยสรุป การฝึกกรรมฐานเป็นการกระทำกุศลกรรมชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะมโนกรรม ต่างจากกรรมทั่วไป ตรงที่เป้าหมายการกระทำเป็นไปเพื่อความสิ้นภพชาติ สิ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในแหล่งกำเนิดใดอีก เนื่องจากจิตต้องอิงอาศัยอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ และธรรมชาติของจิตมีความสัดส่ายไปตามอารมณ์ ไม่อาจหยุดนิ่งเพื่อการพิจารณาแม้เพียงชั่วครู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุบายบางอย่าง เพื่อลดความสัดส่าย โดยหาสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ อุบายที่ว่านี้คือ ที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่ากรรมฐาน

๑. ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ที่ตั้งแห่งการงาน อธิบายว่า เมื่อบุคคลดำเนินตามวีกรรมฐานแล้ว การงานในวิสัยย่อมสำเร็จหมด ในทางพระพุทธศาสนาหมายเอาอุบายทางใจมี ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ วิปัสสนากรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา

๒. หลวงปู่เทศก์ เทสรังสือ วัดหินหมากเป้ง จ. หนองคาย อธิบายว่ากรรม คือ การกระทำ ฐานะ คือที่ตั้ง ทำแล้วตั้งในที่ใด ที่นั้นแหละ เรียกว่ากรรมฐาน กรรมฐานในพระพุทธศาสนา ท่านพูดเฉพาะในเรื่อง การทำสมาธิภาวนา กรรมฐานอันนี้ ทำแน่วแน่เต็มที่จนกระทั่งหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ไม่เหมือนกรรมฐานทางโลก กรรมฐานทางโลก พวกชาวบ้านเขาทำการงานให้แน่วแน่เต็มที่ก็เรียกว่ากรรมฐาน เหมือนกัน เช่น ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ ทำบ้าน ทำเรือน ทำอะไรต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกประการที่ตั้งใจทำจริง ๆ จัง ๆ คือทำที่ตั้งให้มั่นในจิต เรียกว่า กรรมฐาน ด้วยกันทั้งหมด แต่มันเป็นของภายนอกไม่ได้เข้ามาอยู่ในกาย

๓. หลวงปู่ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ. ลำพูน กล่าวว่าความจริงวิปัสสนากัมมัฏฐานมีอยู่ในตัวของท่านทั้งหลายพร้อมแล้วเป็นแต่ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติเท่านั้น จึงได้มาขอกับครูบาอาจารย์ เพื่อให้ได้กัมมัฏฐาน

สมถกัมมัฏฐาน คือ กัมมัฏฐานฐานหรือเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งการประพฤติปฏิบัติให้จิตสงบ จากนิวรณ์ธรรม
ธรรมชาติใดที่ทำจิตให้สงบ ระงับจากนิวรณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สมถกัมมัฏฐาน
กัมมัฏฐานใด ที่ทำให้เกิดการรู้แจ้ง เห็นจริงในสภาวธรรม ธรรมชาตินั้นชื่อว่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน การทำกัมมัฏฐาน อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งการปฏิบัติความดี คนเราทั้งหลายควรทำตลอดไปทุกวันเวลา ตลอดชีวิตจึงจะเป็นการดีผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร มีความหวังต่อโลกุตรธรรม พึงรีบขวนขวาย บำเพ็ญอย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2009, 10:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

สรุปความแตกต่างเกี่ยวกับสมถะและวิปัสสนาโดยสังเขป

๑. สมถะ คือตัวสมาธิ ส่วนวิปัสสนา ก็คือ ตัวปัญญา

๒. ศีลธรรมดา มีอารมณ์เป็นภายนอก ส่วนศีลที่เกิดร่วมกับวิปัสสนานั้น เป็นศีลที่มีอารมณ์เป็นภายใน หมายถึงอินทรีย์สังวรศีลนั่นเอง เพราะอินทรีย์สังรศีล เป็นศีลที่มรประสิทธิภาพในอันที่จะกางกั้นอาสวธรรมที่จะไหลเข้าทางตาเป็นต้นได้

๓. สมถะ มีประสิทธิภาพในการกำจัดกิเลสอย่างกลาง ด้วยอำนาจของวิขัมภนปหาน ส่วนวิปัสสนานั้นมีประสิทธิภาพในการกำจัดอนุสัยกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานได้ด้วยอำนาจของตทังคปหาน

๔. สมถะ ไม่สามารถจะละหรือทำลายอนุสัยกิเลสอย่างละเอียดได้ เพราะแม้ในฌานสมาบัติเองก็ยังมีอนุสัยกิเลสอย่างละเอียดนอนเนื่องอยู่ เหตุนั้นจึงทำให้ผู้ได้ฌานสมาบัติยังมีความชื่นชมยินดีในความสุขที่เกิดจากฌานนั้นอยู่ ส่วนวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สามารถเปิดเผยความจริงของนามรูปที่อวิชชาคือความไม่รู้ อันเป็นตัวปิดบังความจริงเอาไว้ เมื่ออวิชชาทำกิจปกปิดความจริงไม่ได้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า "กำลังถูกวิปัสสนาทำลายให้หมดไปในตัวอีกส่วนหนึ่งด้วย"

๕. สมถะ เมื่อทำไปจนเกิดผลก็ทำให้เกิดความสงบสุข ส่วนวิปัสสนานั้นเมื่อทำไปจนเกิดวิปัสสนาแล้ว ก็ทำให้เห็นแต่ทุกข์อย่างเดียว เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นทุกขืแล้ว ตัณหาและทิฏฐิก็ไม่อาจจะอาศัยเกิดได้ในอารมณ์เช่นที่ว่านั้น

๖. สมถะ คือ สมาธิที่เกิดในฌานนั้น สามารถเกิดมีได้ทั้ง อุปจาระ และอัปปนาสมาธิ ส่วนสมถะคือสมาธิที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาปัญญานั้น จะเกิดมีได้เฉพาะ ขณิกสมาธิ ที่เกิดตามสภาวะอารมณ์ชั่วขณะที่อารมณ์นั้นๆ ยังปรากฏอยู่ชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น เมื่ออารมณ์นั้นดับไปแล้ว สมาธิที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาปัญญานั้น ก็พลอยดับไปด้วย

๗. การทำสมถะเพื่อให้เกิดฌานสมบัตินั้น สามารถทำได้เพียง ๒ ประตู คือ ประตูตา และประตูใจ เท่านั้น อันนี้หมายความว่า ใช้ตาดูกสิณหรืออสุภะเป็นต้น เพื่อให้ไปติดถึงใจ หรือกำหนดลมด้วยใจแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนวิปัสสนานั้นสามารถทำได้ทั้ง ๖ ประตูทีเดียว

๘. การทำสมถะเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธินั้น จะทำไปหยุดไปเป็นชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมงก็อาจทำได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ติดกัน และส่วนใหญ่จะทำได้ใน อิริยาบถนั่ง เท่านั้น ส่วนวิปัสสนานั้น สามารถทำได้ทุกๆ อิริยาบถ โดยไม่จำกัดและเวลาทำก็หยุดไม่ได้ จำเป็นจะต้องทำติดต่อกันไปเว้นแต่เวลาหลับเท่านั้น

๙. สมถะ ใช้อารมณ์เป็นบัญญัติ เช่น บัญญัติกสิณ หรืออสุภะเป็นต้น ส่วนวิปัสสนานั้น ต้องใช้สภาวะคือ นามรูป มาเป็นอารมณ์จึงจะใช้ได้

๑๐. อานิสงส์ของสมถะและวิปัสสนา ที่จะพึงได้จากการปฏิบัติก็แตกต่างกันทั้งในส่วนปัจจุบัน และอนาคต คืออานิสงส์ของสมถะในชาติปัจจุบันนั้น ทำให้ได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศหรือดำไปในดินดุจดำน้ำเป็นต้นก็ได้ อานิสงส์ของสมถะในอนาคตชาติคือชาติหน้านั้น ถ้าฌานไม่เสื่อม ก็ช่วยให้ได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกตามอำนาจของฌานนั้นๆ
ส่วนอานิสงส์ของวิปัสสนาในชาติปัจจุบันนั้น ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้สิ้นจากอาสวะกิเลส คือกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ หรือสิ้นจากกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนั่นเอง ส่วนอานิสงส์ในอนาคตชาตินั้น ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร และมรณะกันดาร ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตายในชาติอื่นๆ อีกต่อไป ดังนั้นสมถะกับวิปัสสนาจึงมีความแตกต่างกันดังแสดงมาโดยสังเขปดังนี้
พุทธพจน์

การรู้เหตุการณ์ต่อหน้าต่อตาตามจริง ซึ่งเมื่อมีสติอยู่เช่นนั้น จะเสวยสุข เสวยทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆ ก็เห็นความไม่เที่ยงของสุข ทุกข์ เฉย ผลคือความสลัดคืน ความยึดมั่นถือมั่นออกมาจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจ เพราะเห็นแจ้งแล้วว่าสรรพสิ่งมีค่าอย่างที่สุดแค่ให้สุขอยู่ครู่หนึ่ง ให้ทุกข์อยู่ครู่หนึ่ง ให้เฉยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกลับแปรปรวนดับสูญไปหมด หาค่าอื่นกว่านั้นให้จดจารึกไว้ไม่ได้เลย

การทำไว้ในใจอย่างถูกต้องแต่ต้นมือ จะช่วยลดปัญหาระยะยาวลงได้มาก ดูกันที่ความยึดมั่นถือมั่นของจิตเป็นหลัก จะได้ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องเกี่ยงเรื่องการปฏิบัติแบบใด สายใด ลัทธิใด หรือกระทั่งศาสนาใด ว่าจะส่งผลให้ถึงที่สุดทุกข์ได้สำเร็จแน่กว่ากัน เหมือนตั้งกติกาไว้อย่างชัดเจนว่าใครวิ่งมาถึงนครสวรรค์ก็ขึ้นชื่อว่ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาวนครสวรรค์ ไม่ต้องแบ่งแยกว่ามาจากภาคไหน ก้าววิ่งด้วยลีลาใด ช้าเร็วต่างกันอย่างไร ขอให้มาถูกทิศจริงเถอะ ขอให้รู้ว่าใกล้ถึงนครสวรรค์จริงเถอะ ขอให้ประจักษ์ว่าถึงนครสวรรค์แน่แล้วตรงตามที่เขาร่ำลือกันว่าเป็นนครสวรรค์เถอะ

อีกนัยหนึ่ง การทำไว้ในใจอย่างกระจ่างแต่เริ่มแรก ว่าแก่นสารอันเป็นที่สุดของพุทธศาสนานั้น ผลจะได้อย่างนี้ เป็นการป้องกันความหลงเข้าใจผิด เพราะจิตใจคนเราอาจถูกยกระดับได้จากหลายแนวทาง อย่างเช่นระดับตื้นคือถูกยกขึ้นด้วยการสดับตรับฟัง การคลุกคลีอยู่ในโลกของโวหารอันงดงามลึกซึ้งของปราชญ์ หรือระดับสูงขึ้นมาหน่อยคือถูกยกขึ้นเพราะมีโอกาสใกล้ชิด ซึมซับรับกระแสจากคนแสนดี เลยพลอยจูงจิตให้ดีตาม หรือระดับสูงขึ้นมาอีกหน่อยคือถูกยกขึ้นเพราะปฏิบัติภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดคุณวิเศษเหนือมนุษย์เป็นอเนก หรือกระทั่งระดับที่ร่ำๆจะสูงสุดคือถูกยกขึ้นด้วยการเรียนรู้บัญญัติอันล้ำค่าในขอบเขตของพุทธศาสนาเอง

มื่อจิตใจถูกยกสูงขึ้น บางทีก็เกิดมุมมองแปลกใหม่แตกต่างจากเดิม เช่นเห็นคนอื่นยืนอยู่ในที่ต่ำกว่า เห็นตนเองยืนอยู่ในที่สูงส่ง ล้วนแล้วแต่เป็นกับดักของธรรมชาติอันไม่ใช่แก่นสารของพุทธศาสนา เราจะผ่านด่าน ผ่านกับดักไปได้ ก็เพียงด้วยสติอันปลูกแล้วจากเมล็ดพันธุ์แห่งสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบ เห็นถูกตรงในตัวแก่นสาร และในหนทางเข้าถึงแก่นสาร การเติบโตขึ้นของสติจึงจะเหมือนโพธิ์ใหญ่ที่ประกอบพร้อมด้วยใบบังร่มเย็น กิ่งก้านสาขากว้างขวาง เปลือกงามชวนชม กับทั้งทรงแก่นแท้ที่แข็งแรงมั่นคง ตั้งตรงอย่างสง่างามบนพื้นอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2009, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ส.ค. 2009, 09:31
โพสต์: 639

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สติอยู่ในระดับความคิดค่ะ

๑. รู้กายว่าอะไร
๒. รู้สึกว่ากายรู้สึกยังไง
๓. รู้ว่าอารมณ์เป็นยัง
แล้วจึงรู้ ๔. รู้ทุกสิ่งจากสัจธรรมค่ะ

เมื่อมีสติในระดับความคิด ก็หมายความว่าไม่ประมาทในความคิด นั่นก็ต่อไปว่า ไม่ประมาทในการกระทำ นั่นก็ต่อไปที่ ไม่ประมาทในความรู้สึก แล้วก็ต่อไปที่ ไม่ประมาทในจิต จิตนิ่ง นั่นก็เข้าสมาธิของแท้ค่ะ

ในทุกๆการมีสติ นั่นหมายถึง สมาธิค่ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2009, 20:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร