วันเวลาปัจจุบัน 03 พ.ค. 2025, 05:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 11:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



ได้พบเห็นข้อความด้านล่างที่เว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง อ่านแล้วได้แง่คิดกว้างขวางดีจัง จึงนำมาลงให้พิจารณากัน
อ่านแล้วอาจได้แง่คิดบ้าง

และเพื่อให้เข้ากับเรื่อง จะลงข้อธรรม คือ องค์มรรคข้อ 5 คือ สัมมาอาชีวะ ข้อนี้ชาวพุทธมองข้ามไป สัมมาอาชีวะ อยู่ในหมวดศีลสิกขา ท่านอธิบายไว้อย่างไรนั้นติดตามอ่านเพื่อประดับความรู้และการวางท่าทีทางความคิดต่อไป

แต่ตอนนี่อ่านข้อความที่กล่าวถึงนั้นก่อน


ดิฉันมีอำนาจในการควบคุมการเงินของบริษัทแห่งหนึ่งมีผู้บังคับบัญชา ที่ต้องการจะยึดหุ้น ของผู้ถือหุ้นท่านอื่น (ซึ่งเป็นทั้ง เพื่อน ญาติ และ ชาวต่างชาติ)

คำชักชวนอันสุขุม มีทางหนีทีไล่ เหตุผลที่ง่าย คือ ใครๆก็ทำกัน

ผลตอบแทน ที่ทำให้จิตใจพองโต สามารถจะเสกฝันที่ฝันไว้ ให้กลายเป็นจริงในพริบตา
ความฝันของดิฉันก็คือ การมีรีสอร์ทเล็กๆ ที่ต่างจังหวัดและมีร้านอาหารที่ต่างประเทศ
มีเงินที่ชอปปิ้งได้วันละหลายหมื่น ทุกวัน มีงบเที่ยวต่างประเทศฟรี

การยักยอก มันเริ่มจากเล็กๆ น้อยๆตอนนั้น พวกระดับเล็ก ที่ดวงซวย ก็จะโดน
พระเดช พระคุณ ให้เป็นผู้รับเคราะห์

พวกระดับกลางที่ทนได้ก็ทนไป เงินเดือนดี หรือมีภาระ พวกที่ทนไม่ได้ก็ทยอยลาออกไป

ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ ผู้บริหารได้หุ้นและทรัพย์สินที่ต้องการ
โดยที่ถึงแม้จะมีการฟ้องร้อง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก กว่าจะสู้กันเสร็จ
ก็หมดอายุความ

ตอนนี้ดิฉันไม่รู้ว่าสภาวะจิตใจเป็นอย่างไร แต่มันก็คงไม่ทันอะไรแล้ว เพราะดิฉันได้ร่วมมือกับเขาไปแล้ว ความรู้สึกผิด ละอายต่อบาป มันก็เป็นแค่จุดเล็กๆเท่านั้น
แต่ความอยากของดิฉัน ก็ได้อย่างใจ มันก็เป็นความสุขอย่างมาก แม้จะไม่มีความภูมิใจก็ตาม

ดิฉันก็สามารถมีชีวิตต่อไปได้ สุขสบาย และมีอีกหลายคนที่ทำแบบดิฉัน ที่เป็นข้ออ้างปลอบใจตนเสมอ และถ้าเข้ามาในหมู่นักปฏิบัติ ดิฉันก็จะกลายเป็นแกะดำ ที่มีศีลด่างพร้อย

คนดี ที่ต้องโดนดิฉันและหัวหน้างานหลอก ก็ไม่เห็นจะมีความสามารถอะไร
ที่จะแก้ปัญหา และเข้าก็มีชีวิตต่อไป

ส่วนคนระดับล่าง ในองค์กร ก็ไม่มีผลกระทบอะไรเลย

ตอนนี้ทุกอย่างก็ไปได้ดี แค่โดนยึดใบอนุญาตแต่ดิฉันก็มีทุกสิ่ง มีเงินมากมาย ที่จะใช้จ่าย
มีความสุข

** นี่คงเป็นการเข้ามาเป็นครั้งสุดท้าย และสิ้นสุดการเป็นคนดี ที่แสนยาก **

เพราะดิฉันไม่อยากเป็นแกะดำ ดิฉันก็สามารถมีชีวิตต่อไปในสังคมได้ดี

ดิฉันเห็นคนดี ที่รวย
ที่โง่เง่า ใจดี ไร้สาระ ไร้อำนาจ เพ้อฝัน หลอกง่าย มีเงินแต่ไม่มีปัญญา ไม่เอาจริง

คนดี ที่จน ก็ไร้ค่า ไร้อำนาจ ไม่มีสิทธิ์ พวกพนักงานรายเดือน รายวัน

คนดีที่ฉลาด มีน้อยมาก นับตัวได้ แค่ไม่ต้องเข้าใกล้ เพราะเขาจะรู้ทัน ไม่อยากคบ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 12:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(จากพุทธธรรมหน้า 778)

หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ


อาชีวะ เป็นหลักการขั้นศีลที่มักถูกมองข้ามไปเสีย ในที่นี้จึงเห็นควรนำหลักคำสอนเกี่ยวกับอาชีวะมาแสดงไว้พอเป็นแนวทางของความเข้าใจ พอเป็นที่สังเกตดังนี้

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหลักทั่วไปในเรื่องอาชีวะ มีดังนี้


1.พุทธศาสนามองเป้าหมายของอาชีวะ โดยมุ่งเน้นด้านเกณฑ์อย่างต่ำที่วัดด้วยความต้องการแห่งชีวิตของตน
คือมุ่งให้ทุกคนมีปัจจัย 4 พอเพียงที่จะเป็นอยู่ เป็นการถือเอาคนเป็นหลัก มิใช่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ความมีวัตถุ
พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ซึ่งเป็นการถือเอาวัตถุเป็นหลัก ความข้อนี้ จะเห็นได้แม้ในหลักธรรมเกี่ยวกับการ
ปกครอง เช่น กำหนดหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิข้อหนึ่งว่า เจือจานหรือเพิ่มทรัพย์ให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์-
(ที.ปา.11/35/65) หมายความว่าคอยดูแลไม่ให้คนขัดสนยากไร้ในแผ่นดิน

พูดอีกอย่างหนึ่ง ความสำเร็จในด้านอาชีวะหรือเศรษฐกิจของผู้ปกครอง พึงวัดด้วยความไม่มีคนอดอยาก
ยากไร้ มิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์เต็มพระคลังหลวงหรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เมื่อได้เกณฑ์อย่างต่ำนี้แล้ว
ไม่ปรากฏว่าท่านจะรังเกียจในเรื่องที่จะมีทรัพย์มากน้อยอีกเท่าใด หรือว่าจะมีเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะ
เนื่องด้วยปัจจัยอื่นๆอีกเช่นในข้อ 2 ที่จะกล่าวต่อไป

2. ความมีปัจจัย 4 พอแก่ความต้องการของชีวิต หรือแม้มีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ก็ตาม มิใช่เป็นจุดหมาย
ในตัวของมันเอง เพราะเป็นเพียงขั้นศีล เป็นเพียงวิธีการขั้นตอนหนึ่งสำหรับช่วยให้ก้าวต่อไปสู่จุดหมาย
ที่สูงกว่า คือเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิตและพัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตดีงาม และการประสบ
สุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
คนบางคนมีความต้องการวัตถุเพียงเท่าที่พอเป็นอยู่ แล้วก็สามารถหันไปมุ่งเน้นด้านการพัฒนาคุณภาพจิต
และปัญญา
แต่บางคนยังไม่พร้อม ชีวิตของเขายังต้องขึ้นต่อวัตถุมากกว่า เมื่อการเป็นอยู่ของเขาไม่เป็นเหตุเบียดเบียน
ผู้อื่น ก็ยังเป็นที่ยอมรับได้ นอกจากนั้น บางคนมีความโน้มเอียง ความถนัด และความสามารถในการช่วย
เหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ดี การมีทรัพย์มากมายของเขาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

3. คำว่า สัมมาชีพ ในทางธรรมมิใช่หมายเพียงการใช้แรงงานให้เกิดผลผลิตแล้วได้รับปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพเป็นผลตอบแทนมาโดยชอบธรรมเท่านั้น แต่หมายถึงการทำหน้าที่ ความประพฤติหรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น การที่พระภิกษุดำรงตน
อยู่ในสมณธรรมแล้วได้รับปัจจัย 4 ที่ชาวบ้านถวาย ก็เป็นสัมมาชีพของพระภิกษุ หรือการที่ลูกประพฤติตน
เป็นลูกที่ดีสมควรแก่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ก็พึงนับเป็นสัมมาชีพของลูก

อนึ่ง ในการวัดคุณค่าของแรงงาน แทนที่จะวัดเพียงด้วยการได้ผลผลิดเกิดขึ้นสนองความต้องการของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นความต้องการด้วยตัณหา หรือความต้องการของชีวิตแท้จริงก็ยังไม่แน่
ทางธรรมกลับมองที่ผลอันเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูลแก่ชีวิตแก่สังคมหรือการดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่มนุษย์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 18:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากความที่ว่ามานี้มีข้อพิจารณาสืบเนื่องออกไป 2 อย่างคือ

ก. ว่าโดยทางธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับอาชีวะและผลตอบแทน แยกได้เป็น 2 ประเภท

1) สำหรับคนทั่วไปหรือชาวโลก การใช้แรงงานในหน้าที่เป็นเรื่องของอาชีวะโดยตรง คือ เป็นไปเพื่อได้ผลตอบแทนเป็นปัจจัยเครื่องยังชีพ ดังมองเห็นกันอยู่ตามปกติ

2) สำหรับสมณะหรือผู้สละโลก การใช้แรงงานในหน้าที่ไม่เป็นเรื่องของอาชีวะ ไม่มีความมุ่งหมายใน
ด้านอาชีวะ หรือไม่เกี่ยวกับอาชีวะเลย คือไม่เป็นไปเพื่อให้ผลตอบแทนเป็นปัจจัยเครื่องยังชีพ แต่เป็นไปเพื่อธรรมและเพื่อผดุงธรรมในโลก ถ้าเอาแรงงานที่พึงใช้ในหน้าที่มาใช้ในการแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพ กลับถือเป็นมิจฉาชีพ และถ้าใช้แรงงานในหน้าที่เพื่อผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ร้องขอปัจจัยเครื่อง
ยังชีพโดยมิใช่เป็นความประสงค์ของผู้ให้ที่จะให้เองก็ดี ก็ถือว่าเป็นอาชีวะไม่บริสุทธิ์

โดยนัยนี้ นอกจากมิจฉาชีพอย่างชัดเจน คือการหลอกลวง การประจบเขากิน การเลียบเคียง การขู่เข็ญ
บีบเอา และการเอาลาภต่อลาภแล้ว (ม.อุ.14/257/186)การหาเลี้ยงชีพด้วยการับใช้เขาเช่นเป็นคนเดิน
ข่าว ก็ดี ด้วยการประกอบศิลปะและวิชาชีพต่างๆ เช่น ดูฤกษ์ยามทำนายลักษณะ รักษาโรค ก็ดี ก็จัดเข้าเป็น
มิจฉาชีพสำรับพระภิกษุเหมือนกัน (สํ.ข.17/517/297 ฯลฯ) ภิกษุไม่เจ็บไข้ขอโภชนะอันประณีต
หรือแม้แต่กับข้าวหรือข้าวสุกมาเพื่อตนเองแล้วฉัน ก็เป็นวิบัติแห่งอาชีวะ (วินย.3/517/314 ฯลฯ)
เอาธรรมมาทำเป็นดังสินค้าก็ผิดจรรยาบรรณนักบวช (ขุ.อุ.25/134/197) แม้แต่เพียงแสดงธรรมโดยคิด
ให้เขาชอบแล้วอาจได้อะไรๆ ก็เป็นธรรมเทศนาที่ไม่บริสุทธิ์ (สํ.นิ.16/472/234) หรือเพียงแต่การ
ให้ของเขามีลักษณะเป็นการให้ค่าตอบแทน ก็ไม่เป็นการสมควร ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้า

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาต ทรงเข้าไปหยุดประทับยืนในเขตไรนาของพราหมณ์ผู้หนึ่งพราหมณ์
ทูลว่า “ข้าพเจ้าไถหว่านแล้วจึงได้กิน แม้ท่านก็จงไถหว่านแล้วบริโภคเถิด”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พระองค์ก็ทรงไถหว่านแล้วจึงบริโภคเหมือนกัน เมื่อ พราหมณ์ไม่เข้าใจและ
แต่งคาถาทูลถามกลับมา พระองค์ก็ตรัสตอบเป็นคำร้อยกรองชี้แจงการไถหว่านของพระองค์ที่มีผลเป็นอมตะพราหมณ์เห็นชอบด้วย เกิดความเลื่อมใสจึงนำเอาอาหารเข้ามาถวาย พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับโดยตรัสว่า
ไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา (ขุ.สุ.25/297/340)

ที่มาอันชอบธรรมและบริสุทธิ์แท้จริงของปัจจัยเครื่องยังชีพสำหรับพระภิกษุก็คือ การที่ชาวบ้านมองเห็นคุณค่าของธรรม และเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยให้บุคคลผู้ทำหน้าที่ผดุงธรรม มีชีวิตอยู่และทำหน้าที่นั้นต่อไป จึงเมื่อรู้ความต้องการอาหารของสมณะเหล่านั้นอันแสดงออกด้วยการเที่ยวบิณฑบาตโดยสงบแล้ว ก็นำอาหารไปมอบให้ด้วยความสมัครใจของตนเอง โดยที่ผู้ให้หรือผู้ถวายนั้นได้รับผลคือการชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสและชักนำจิตของตนให้เป็นไปในทางสูงขึ้น ด้วยการที่ตระหนักว่าตนได้ทำสิ่งที่ดีงาม ช่วยสนับสนุนผู้บำเพ็ญธรรม และมีส่วนร่วมในการผดุงธรรม เรียกสั้นๆว่า ทำบุญหรือได้บุญ

ฝ่ายภิกษุผู้รับปัจจัยทานนั้นก็ถูกกำกับด้วยหลักความประพฤติเกี่ยวกับปัจจัย 4 อีกว่าพึงเป็นผู้มักน้อยสันโดษ รู้จักประมาณในการรับปัจจัย 4 เหล่านั้น อันตรงข้ามกับด้านการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การสั่งสอนแนะนำแสดงธรรม ซึ่งพึงกระทำให้มากเท่าที่จะทำได้โดยมุ่งแต่ประโยชน์สุขผู้รับคำสอนฝ่ายเดียว
โดยนัยนี้หลักการกินให้น้อยที่สุด จึงเป็นไปได้สำหรับสมณะ โดยที่แรงงานในการทำหน้าที่กับอาชีวะตั้งอยู่คนละฐาน อย่างไม่มีจุดบรรจบที่จะให้มีการยกเอาปริมาณแรงานขึ้นเปรียบเทียบ เพื่อเรียกร้องสิทธิในด้านอาชีวะได้เลย และเมื่อสมณะยังปฏิบัติอยู่ในหลักการนี้ ระบบของสังคมก็ไม่อาจครอบงำสมณะได้เช่นกัน

หลักการเท่าที่กล่าวมานี้ทั้งหมด มีความมุ่งหมายที่สำคัญคือ การมีชีวิตแบบหนึ่งที่เป็นอิสระจากระบบทั้งหลาย
ของสังคม หรือมีชุมชนอิสระชุมชนหนึ่งไว้ทำหน้าที่ด้านธรรมที่ต้องการความบริสุทธิ์สิ้นเชิงแก่ชาวโลก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข. มองในแง่ของธรรม การใช้แรงในทางผลิด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบริการก็ตาม มีเป็นอันมากที่ไม่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม นอกจากที่เป็นไปเพื่อทำลายโดยตรงเช่นผลิตอาวุธและยาเสพติดเป็นต้นแล้ว
ก็ยังมีจำพวกที่ทำลายธรรมชาติแวดล้อมบ้าง ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ทำลายคุณธรรมความดีงามและคุณภาพจิต เป็นต้นบ้าง ตลอดจนแรงงานในการห้องกันต่อต้านแก้ไขผลในทางทำลายของการผลิต
เหล่านั้น แรงงานผลิตจำพวกนี้ส่วนมากไม่มีเสียได้จะดีกว่า ความเจริญในการผลิตอย่างนี้ โน้มไปในทางที่ทำให้มนุษย์ต้องทุ่มเททุนและแรงงานอย่างมากมายยิ่งๆขึ้นในด้านที่จะป้องกันแก้ไขผลในทางทำลายเหล่านั้น
ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
ส่วนแรงงานที่เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นการผลิดในทางเศรษฐกิจ เช่นชีวิตแบบอย่างทางธรรม ซึ่งส่งเสริมทั้งปัญญาและคุณธรรมของมนุษย์ แม้มองในแง่ผลผลิต บางทีคุณธรรมก็มีค่ามากกว่าแรงงานที่ใช้เพื่อการนั้น เช่น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า โดยมิได้ใช้แรงงานเพื่อการรักษาป่าเลย แต่เจ้าหน้าที่รักษาป่าอาจบอกว่าท่านช่วยสงวนป่าไว้อย่างได้ผลดีกว่าพวกเขาซึ่งใช้แรงงานเพื่อการนั้นโดยเฉพาะรวมกัน
หลายๆคน

ถ้าจะมุ่งถึงประโยชน์สุขของมนุษย์ชาติอย่างแท้จริงแล้ว การมองดูแต่คุณค่าของการผลิตและการบริโภคเท่านั้นหาเพียงพอไม่ จะต้องมองดูคุณค่าของการไม่ผลิตและไม่บริโภคด้วย เมื่อมองในแง่ธรรม บุคคลหนึ่งแม้มิได้ผลิตอะไรในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเขาบริโภคทรัพยากรของโลกให้สิ้นเปลืองไปน้อยที่สุด และมีชีวิตที่เกื้อกูลแก่สภาพแวดล้อมตามสมควร ก็ยังดีกว่าบุคคลอีกผู้หนึ่งซึ่งทำงานผลิตสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตและสังคม
เป็นอันมากพร้อมทั้งบริโภคทรัพยากรของโลกสิ้นเปลืองไปอย่างมากมาย แต่ดูเหมือนว่าลัทธิเศรษฐกิจทั้งหลายจะยกย่องบุคคลหลังที่ผลิตและบริโภค (ทำลายมาก) ยิ่งกว่าบุคคลแรกที่ผลิตและบริโภคน้อย (ทำลายน้อย) เป็นการยุตธรรมหรือไม่ที่จะกล่าวถึงหน้าที่ในการผลิตของคน โดยไม่พิจารณาถึงด้านบริโภคว่าเขา
ทำความสิ้นเปลืองแก่ทรัพยากรมากหรือน้อยเพียงใด และการมุ่งเน้นหน้าที่ในการผลิตนั้น เป็นการเกื้อกูล
แก่ชีวิตและสังคมแท้จริงหรือไม่ การที่เศรษฐศาสตร์สนใจเฉพาะแต่สิ่งที่คำนวณนับกำหนดเป็นตัวเลขได้
และปริมาณที่เพิ่มพูนทางวัตถุ ด้ายถือตนว่าเป็นจำพวกวิทยาศาสตร์นั้น ก็จะต้องให้เศรษฐศาสตร์และ
ลัทธิเศรษฐกิจทั้งหลายเท่าที่มีอยู่ยอมรับด้วยถึงความคับแคบไม่เพียงพอและความไม่สมบูรณ์ของตน ในการ
ที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เหนือศาสตร์ การยอมรับความจริงเช่นนี้แหละ
จะเป็นความดีงามและความสมบูรณ์แห่งประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์และลัทธิเศรษฐกิจเหล่านั้นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 10:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


4. ดังได้กล่าวแล้ว ทางธรรมไม่สู้สนใจในแง่ที่ว่าใครจะมีทรัพย์มากน้อยเพียงใด คือไม่ถือเอาการมีทรัพย์
มากหรือน้อยเป็นเกณฑ์วัดความชั่วหรือดี และถือการมีทรัพย์เป็นเพียงวิถีไปสู่จุดหมายอื่น มิใช่เป็นจุดหมาย
ในตัว การที่จะสนับสนุนความมีทรัพย์หรือไม่มีจึงอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อจุดหมาย ดังนั้น จุดที่ธรรมสนใจต่อทรัพย์
จึงมีสองตอนคือ วิธีการที่จะได้มาซึ่งทรัพย์ว่าได้มาอย่างไร และการปฏิบัติต่อทรัพย์ที่มีหรือได้มาแล้วว่าจะใช้
มันอย่างไร
พูดสั้นๆว่าไม่เน้นการมีทรัพย์แต่เน้นการแสวงหาและใช้จ่ายทรัพย์ การมีทรัพย์หรือได้ทรัพย์มาแล้วเก็บสะสม
ไว้เฉยๆ ท่านถือเป็นความชั่วอย่างยิ่งเช่นเดียวกับการแสวงหาทรัพย์ในทางที่ผิด และใช้ทรัพย์ในทาง
ที่เกิดโทษ โดยนัยนี้ความชั่วร้ายที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในขั้นต้นจึงมี 3 อย่างคือ การแสวงหาทรัพย์โดย
ไม่ชอบธรรม การครอบครองทรัพย์ไว้โดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และการใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่เป็นโทษ

อย่างไรก็ดี แม้จะแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม และใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แล้ว ก็ยังหาชื่อว่าเป็น
การปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกต้องทางธรรมโดยสมบูรณ์ไม่ ทั้งนี้เพราะทางธรรมเน้นคุณค่าทางจิตใจและ
ทางปัญญาด้วย คือการวางใจวางท่าทีต่อทรัพย์นั้น ว่าจะต้องเป็นไปเพื่อนิสสรณปัญญา มีความรู้เท่าทัน
เข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริงของทรัพย์ และขอบเขตแห่งคุณค่าหรือประโยชน์นั้น มีจิตใจเป็นอิสระ
ไม่เป็นทาส แต่เป็นนายของทรัพย์ ให้ทรัพย์มีเพื่อรับใช้มนุษย์ เป็นอุปกรณ์สำหรับทำประโยชน์และสิ่งดีงาม ช่วยผ่อนเบาทุกข์ ทำให้มีความสุข มิใช่กลายเป็นเหตุเพิ่มความทุกข์ ทำให้เสียคุณภาพจิต ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือทำให้มนุษย์ต่อมนุษย์แปลกหน้ากัน

ด้วยเหตุนี้ ในการจำแนกผู้ครองเรือนหรือชาวบ้านเป็น 10 ประเภท พระพุทธเจ้าทรงแสดงผู้ครองเรือนประเภทที่ 10 ว่าเป็นผู้ครองเรือนที่ประเสริฐเลิศสูงสุด จากคุณสมบัติของผู้ครองเรือนอย่างเลิศนั้น จะเห็นหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกต้องตามหลักธรรม สรุปได้ดังนี้ (องฺ.ทสก.24/91/194)

1) การหา: แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ข่มเหง

2) การใช้
ก. เลี้ยงตน (และคนที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ) ให้เป็นสุข
ข. เผื่อแผ่แบ่งปัน
ค. ใช้ทรัพย์ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ เป็นบุญ (รวมทั้งใช้เผยแผ่ส่งเสริมธรรม)

3) คุณค่าทางจิตและปัญญา: ไม่ลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติอย่างรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ มีจิตใจเป็นอิสระด้วยนิสสรณปัญญา และอาศัยทรัพย์ได้โอกาสที่จะพัฒนาจิตปัญญายิ่งๆขึ้นไป

ขอยกพุทธพจน์ที่ตรัสสอนให้เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์มาดูเป็นตัวอย่าง


“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 3 จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก สามจำพวกไหน ? คือ คนตาบอด
คนตาเดียว คนสองตา


“คนตาบอดเป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน กับทั้งไม่มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้รู้จักธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล...ธรรมที่
มีโทษไม่มีโทษ...ธรรมทรามธรรมประณีต...ธรรมที่เปรียบได้กับของดำหรือของขาว
นี้เรียกว่า บุคคลตาบอด

“คนตาเดียว เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน แต่ไม่มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้รู้จักธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล...ธรรมที่
มีโทษไม่มีโทษ...ธรรมทรามธรรมประณีต...ธรรมที่เปรียบได้กับของดำหรือของขาว
นี้เรียกว่า บุคคลตาเดียว

“บุคคลสองตา เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน อีกทั้งมีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้รู้จักธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล...ธรรมที่มีโทษไม่มีโทษ...ธรรมทรามธรรมประณีต...ธรรมที่เปรียบได้กับของดำหรือของขาว
นี้เรียกว่า บุคคลสองตา

“คนตาบอด ตาเสีย มีแต่กาลีเคราะห์ร้ายทั้งสองทาง คือ โภคทรัพย์อย่างที่ว่าก็ไม่มี คุณความดีก็ไม่กระทำ
อีกคนหนึ่ง ที่เรียกว่า ตาเดียว เที่ยวแสวงหาแต่ทรัพย์ ถูกธรรมก็เอาผิดธรรมก็เอา ไม่ว่าจะเป็นการลัก
ขโมย คดโกง หรือโกหกหลอกลวงก็ได้ เขาเป็นคนเสวยกามที่ฉลาดสะสมทรัพย์ แต่จากนี้ ไปนรก
คนตาเดียวย่อมเดือดร้อน ส่วนคนที่เรียกว่าสองตา เป็นคนประเสริฐ ย่อมปันทรัพย์ซึ่งได้มาด้วยความขยัน
จากกองโภคะที่ได้มาโดยชอบธรรม ออกเผื่อแผ่ มีความคิดสูงประเสริฐ มีจิตใจแน่วแน่ ย่อมเข้าถึงสถานที่
งามที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก พึงหลีกเว้นคนตาบอดและคนตาเดียวเสียให้ไกล ควรคบหาแต่คนสองตาผู้
ประเสริฐ” (องฺ.ติก.20/468/162)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร