วันเวลาปัจจุบัน 22 พ.ค. 2025, 11:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2008, 15:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธวจนะ

“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส
นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ นิพฺพานสฺ เสว สนฺติเก

ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา
ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้พระนิพพาน.”



นี่ เป็นอีกพระสูตรหนึ่ง

ที่ ชาวพุทธในปัจจุบันบางท่านปารภให้ฟัง
ในทำนองที่ว่า... " ฌาน....จะไปมีส่วนให้เป็น ผู้อยู่ใกล้พระนิพพาน ได้อย่างไร".... จิตที่ทรงฌานนั้น ต้องไม่สามารถใช้เหตุผลได้ สิ ....ฌานต้องเป็นสิ่งที่ปิดกั้นปัญญา สิ และ ๆลๆ


ความจริงแล้ว พระสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่ไพราะ ลึกซึ้งมาก
และ ไม่ต้องกังวล ว่าจะมีการคลาดเคลื่อน ใดๆเลย

เพียงแต่ ชาวพุทธไทยในยุคปัจจุบัน ไม่เข้าใจกันเอง

ถ้าจะเข้าใจพระพุทธพจน์นี้ ต้องเปิดใจให้กว้าง สลัดความเชื่อที่จำกัดวง ของ คำว่า ฌาน ไว้เพียง โลกียฌานที่เป็นมิจฉาสมาธิ(แบบของ อาฬารดาบส อุทกดาบส)ออกไปเสียก่อน...

แล้ว มองคำว่า ฌาน ในความหมายที่กว้างขึ้น


พระสูตรนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์ ของ โลกุตรฌาน(เอกัคคตารมณ์ที่ห้อมล้อมด้วยองค์แห่งอริยมรรคอีกเจ็ด) และ ปัญญา เป็นเครื่องส่งเสิมให้ใกล้พระนิพพาน (นิพพานสันติเก)


ฌาน ในอรรถนี้ ย่อมหมายเอา โลกุตรฌาน หรือ สัมมาสมาธิของพระอริยะ แน่นอน...

คำว่า ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา สื่อถึง สัมมาสมาธิของพระอริยะ(โลกุตรฌาน) ต้องมีปัญญาในอริยมรรค(อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ)เป็นเหตุ เป็นองค์ประกอบนำหน้า ดังเช่น ในมหาจัตตารีสกสูตร ที่กล่าวว่า

[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ฯ



นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงว่า สมถะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ นั้น...ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง

[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน?
คือ สมถะและ วิปัสสนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค


(ปล... ปัญญาอันยิ่ง คือ อธิปัญญา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ)



ส่วนคำว่า ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน สื่อถึง ปัญญาที่เป็นอริยผล(สัมมาญาฌะ) ที่สืบเนื่องไปจากสัมมาสมาธิของพระอริยะ(โลกุตรฌาน) นั่นเอง



อนึ่ง ใน อริยมรรคที่มีองค์แปด
สรุป เข้าสู่ ไตรสิกขา ได้ดังนี้

1.อธิปัญญาสิกขา(ปัญญา) ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

2.อธิศีลสิกขา(ศีล) ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

3.อธิจิตตสิกขา(สมาธิ) ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ




พึงสังเกตุ... สัมมาสติ ก็คือ หลักธรรมที่เรียกว่า สติปัฏฐาน(อ่านรายละเอียด จาก พุทธธรรม) ก็เป็นองค์มรรคที่ถูกจัดไว้ในหมวดสมาธิ เช่นเดียว กันกับ สัมมาสมาธิ เสียด้วยซ้ำ.

และ สัมมาสติ นี่เองที่คือ ตัวตัดสินว่า ฌานจิตที่บังเกิดขึ้นนั้นจัดเป็น มิจฉาสมาธิ(ขาดสัมมาสติ) หรือ สัมมาสมาธิ(มีสัมมาสติ)

หรือ อาจจะกล่าวให้กระชับได้ว่า สมาธิ ที่บังเกิดขึ้นในการเจริญภาวนาตามหลักการแห่งสติปัฏฐาน ย่อมนำไปสู่สัมมาสมาธิ ในที่สุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2008, 15:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


เนื่องจาก สมาชิก มีทั้งที่เพิ่งศึกษา และ ศึกษามาบ้างแล้ว....
มีทั้งที่ชอบอ่านพระสูตร และ ไม่ชอบอ่านพระสูตร

ผมจึงนำ พระพุทธพจน์ดั้งเดิมในพระสูตร
เกี่ยวกับ คำจำกัดความ ของ"สัมมาสมาธิ"มาลงในกระทู้นี้

เผื่อว่าใครยังไม่เคยอ่าน



“สัมมาสมาธิ” คือ อย่างไร?


สัมมาสมาธิ ที่อยู่ในพระสูตรโดยตรง มีกล่าวถึงคุณสมบัติไว้ คือ

1. เป็นสมาธิที่มีกำลังแห่งสมาธิในระดับ รูปฌาน๑ ถึง รูปฌาน๔

จาก http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?st ... yte=447351

”.....สัมมาสมาธิ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะ
วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่

เธอมี อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ …..”


มีคนเคยปารภ ในลักษณะที่ว่า พระสูตรนี้ ไม่เห็นมีข้อความในลักษณะที่ว่า"ต้องมีสัมมาสติเป็นเหตุนำ" แห่ง สัมมาสมาธิ เลย ...
ฌาน ในที่นี้ ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นโลกุตรฌานเสียหน่อย ...เห็น ใช้คำว่า ฌาน เฉยๆ
ฌาน ในที่นี้ก็สามารถบับรวมฌานของฤาษีชีไพรทั่วๆไปด้วยสิ???
ฌานของฤาษีชีไพรทั่วๆไป ก็ต้องนับเป็นสัมมาสมาธิ ด้วยสิ???

ความจริงคือ

ต้องไม่ลืมว่า พระสูตรนี้ ตรัสแสดงไว้ใน มหาสติปัฎฐานสี่ (สัจจบรรพ)

กล่าวคือ กำลังตรัสแสดงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่.... นั่นเอง
และ การภาวนาตามหลักการแห่งสติปัฏฐานนั้น ก็คือ การเจริญสัมมาสตินั่นเอง(อ่าน จากพุทธธรรม)

และ อยากเสนอให้สังเกตุ คำว่า "ภิกษุในธรรมวินัย"...
ซึ่งคำว่า ธรรมวินัย นี้ก็สื่อถึง การเดินตามทางแห่งอริยมรรค...ซึ่ง ก็ต้องมีสัมมาสติเป็นองค์ประกอบแห่งอริยมรรคอยู่แล้ว
ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น ไม่มีฤาษีชีไพรที่ไหน จะสามารถรู้อริยมรรคได้(เว้น พระปัจเจกๆ)

อีกทั้ง ฌานสี่ที่ทรงตรัสว่า "มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่า ฌานในที่นี้ ไม่ใช่ ฌานแบบขาดสัมมาสติ เช่นที่ฤาษีชีไพรทั่วๆไป บำเพ็ญกัน

ดังนั้น รูปฌานหนึ่งถึงสี่ ที่กล่าวในพระสูตรนี้ จึงจำกัดเฉพาะ โลกุตรฌาน เท่านั้น


2.สัมมาสมาธิในองค์มรรคนี้ เป็นสมาธิที่มีองค์แห่งอริยมรรคอีก7อย่างแวดล้อม(เป็นบริขาร)

เช่น ที่ทรงแสดงใน มหาจัตตารีสกสูตร

”.....ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิ …..”


(ปล... คำว่า "ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง" ก็คือ "เอกัคคตารมณ์" ... ข้อสุดท้าย ในองค์แห่งฌาน)


ฌานฤาษี (เช่น จาก การเพ่งกสิณ) ถึงแม้นจะมีกำลังแห่งสมาธิในระดับรูปฌาน๑ ถึง รูปฌาน๔ ได้เช่นกัน..... แต่ขาด คุณสมบัติ ตามมหาจัตตารีสกสูตร(ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีสัมมาสตินำหน้า). จึงไม่จัดเป็นสัมมาสมาธิในอริยมรรค และ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเห็นธรรม.....
เว้นเสียแต่ จะนำฌานนั้นมา เป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา ดังที่มีพระสูตรแสดงกล่าวเอาไว้ ในฌานสูตร


สัมมาสมาธิ เป็นจุดประชุมขององค์แห่งอริยมรรคทั้งเจ็ด ก่อนที่จะบังเกิดผลเป็น สัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุติ

ถ้า ปฏิบัติถูกตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้.... ต่อให้ปฏิบัติแบบแนวทางไหน....สัมมาสมาธิ ก็จะต้องบังเกิดขึ้นแน่นอน.

เพราะ ถ้าหากปราศจาก สัมมาสมาธิ เสียแล้ว มรรคย่อมไม่ครบองค์ประกอบ และมรรคสมังคี ย่อมไม่บังเกิดขึ้น......


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2008, 15:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


เอกัคคตารมณ์ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนเอาไว้ เป็นภาวะที่จิตตั้งมั่นไม่ไหลไปตามอารมณ์..... ด้วยเหตุว่ามีสัมมาสติ อันผ่องแผ้ว... จึงเอื้อ ต่อการเห็นแจ้งในธรรมทั้งหลาย

ไม่ใช่ อย่างเดียวกับ ฌานแบบของพระฤาษี ที่ปราศจากสัมมาสติ.....ที่เป็นภพ เป็นชาติ อันประณีต แต่ฝ่ายเดียว เป็นเหตุให้เคลิบเคลิ้ม หลงติด อยู่กับ ภพ-ชาติ นั้นๆ....แน่นอน

ทั้งนี้เพราะเอกัคคตารมณ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสในพระสูตรต่างๆนั้น เป็นการปฏิบัติในหลักการแห่งอริยมรรค เช่น ที่ทรงแสดงในมหาจัตตารีสกสูตร.

ในมหาจัตตารีสกสูตรพระองค์ทรงแสดง สัมมาสมาธิ ก็จริง... แต่จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระองค์แสดงตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ ยาวไปจนถึง สัมมาวิมุติ. นี่คือว่า สัมมาสมาธินั้น เป็นองค์ธรรมที่เกิดสืบเนื่องมาจาก สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ(อธิปัญญา ในขั้นอริยมรรค) ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนนำไปสู่ สัมมาญาณะ(ปัญญาญาณ ในขั้น อริยผล) และ สัมมาวิมุติ(ที่สุด คือ พระนิพพาน).




มีบทความน่าสนใจ จาก พุทธธรรม

"....ในภาวะแห่งฌานที่ปฏิบัติถูกต้อง เมื่อจิตเป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว จิตแนบสนิทกับอารมณ์หนึ่งเดียว สติยิ่งกำหนดชัดเจน ทำให้จิตเหมาะที่จะใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
ไม่ใช่เป็นจิตที่เคลิบเคลิ้มเลือนหายหมดความรู้สึก ไม่ใช่อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Trance

โดยเฉพาะฌานที่ 4 จะมีคำแสดงลักษณะว่า “อุเปกขาสติปาริสุทธิ จตุตถชฌาน” แปลว่า จตุตถฌานอันมีอุเบกขาเป็นเครื่องให้สติบริสุทธิ์

และคำสรุปท้ายฌาน 4 เมื่อใช้เพื่อบรรลุวิชชาจะมีว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้มลทิน ปราศจากสิ่งมัวหมอง นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว จึงน้อมจิตนั้นไป (นำเอาจิตไปใช้) เพื่อ....” (เช่น ที.สี.9/132/102 และดาษดื่นในพระไตรปิฎกเกือบทุกเล่ม, คำอธิบายดู อภิ.วิ.35/683/352, วิสุทธิ.1/214)...."


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2008, 15:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


มีประเด็น เพิ่มเติมครับ



เกี่ยวกับ

การที่ ผลจากการเจริญวิปัสสสนา คือ การปล่อยวาง เป็นอารมณ์แห่งสมถะ .... และ นำไปสู่ เอกัคคตารมณ์ หรือ โลกุตรฌาน ในที่สุด


จาก พระสูตร

ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ เพราะ***ความที่จิตมีอารมณ์เดียว***ไม่ฟุ้งซ่านเป็นสมาธิ


และ จากที่ท่านเจ้าคุณๆกล่าว

พอวิปัสสนาเต็มเปี่ยมดี จิตก็จะเกิดภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียว(=เป็นสมาธิ)ขึ้น
โดยมี***ความปล่อยวาง***ธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนา นั้นเองเป็นอารมณ์
อันนับว่าเป็นสมถะ



คำกล่าวที่ว่า "ความปล่อยวาง ธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนา" เป็น อารมณ์ของ สมถะ...นั้น

ผมระลึกได้ ว่าเคยเห็น คุณยาย ก. ณ เขาสวนหลวง ท่านกล่าวถึง คำว่า "เพ่ง-ปล่อยวาง"เอาไว้ เหมือนกัน


จาก บทกลอน

เมื่อจิตนิ่ง เห็นสิ่งว่าง อย่างทั่วถึง
ไม่คำนึง หลงตาม ความแปรเปลี่ยน
เห็นเกิด-ดับ ตามกฏ เป็นบทเรียน
มีความเพียร เพ่ง-ปล่อยวาง ทุกอย่างไปๆลๆ




และ มี ในระดับคัมภีร์รุ่นหลังพุทธกาล

กล่าวถึง ว่า ฌาน นั้นแบ่งเป็นสองอย่าง



อ้างคำพูด:
มีอธิบายความแตกต่างกันระหว่าง อารัมมณูปนิชฌาน กับลักขณูปนิชฌาน เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ คือ

กล่าวโดยอารมณ์
อารัมมณูปนิชฌาน มีสมถกัมมัฏฐาน เช่น ปฐวีกสิณ คือ บัญญัติ เป็นต้น เป็นอารมณ์
ส่วนลักขณูปนิชฌานนั้น วิปัสสนาญาณ มีวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ รูป นาม ไตรลักษณ์ สังขตธรรม เป็นอารมณ์ มัคคญาณ ผลญาณ มีอสังขตธรรม คือนิพพาน เป็นอารมณ์

กล่าวโดยองค์ธรรม
อารัมมณูปนิชฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ที่ประกอบกับมหัคคตฌานทั้ง ๙ เป็นองค์ธรรม
ส่วน ลักขณูปนิชฌาน ก็มี วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา ที่ประกอบกับมหากุสลจิต มัคคจิต ผลจิต เป็นองค์ธรรม




คือ ในคัมภีร์รุ่นหลังพุทธกาล ท่านกล่าวว่า
ลักขณูปนิชฌาน เป็นฌาน ที่มี"รูป นาม ไตรลักษณ์ สังขตธรรม เป็นอารมณ์ มัคคญาณ ผลญาณ มีอสังขตธรรม คือนิพพาน เป็นอารมณ์"


เปรียบเทียบกับ ที่ท่านเจ้าคุณๆ ท่านประมวลไว้นั้น ท่านกล่าวว่า

"***ความปล่อยวาง***ธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนา นั้นเองเป็นอารมณ์"

และ คุณ ยาย ก. ท่านใช้คำว่า "เพ่งปล่อยวาง"



ความเห็นส่วนตัวน่ะครับ

ลักขณูปนิชฌาน ใกล้เคียงกับ สมถะอันเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนา

คำว่า ลักขณูปนิชฌาน ในคัมภีร์รุ่นหลังพุทธกาล นั้น
ผมเห็นว่า ท่าน อาจจะกำลังอธิบายกล่าวถึง ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งที่ห้อมล้อมด้วยองค์แห่งอริยมรรคอีกเจ็ด (สัมมาสมาธิ ใน มหาจัตตารีสกสูตร)อยู่

ดังนั้น ฌาน ที่เป็นพระพุทธพจน์ ที่ตรัสว่า

ฌาน ย่อมไม่มี ในผู้ที่ไม่มีปัญญา
ปัญญา ย่อมไม่มี ในผู้ที่ไม่มีฌาน


คำว่า ฌาน นี้ กำลังตรัสระบุถึง สัมมาสมาธิ... ไม่ใช่ตรัสถึง ฌาน แบบของ อาฬารดาบส-อุทกดาบส


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2008, 15:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย



ท่านเคยแสดงธรรมในเรื่อง ฌาน ไว้ดังนี้

http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... oot_49.htm



ฌานในสมถภานา และ ฌานในการเจริญวิปัสสนา


ๆลๆ

ขอพูดถึงเรื่องฌาน ฌาน ว่าโดยสรุปมีอยู่ ๒ ประเภท



ประเภทหนึ่งเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ลักษณะของอารัมมณูปนิชฌานมีปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติดังนี้

ในเมื่อผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นสมาธิ ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรืออยู่ในระดับแห่งฌานขั้นที่ ๑,๒,๓,๔

ฌานขั้นที่ ๑ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานขั้นที่ ๒ มี ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานขั้นที่ ๓ มี สุข เอกัคคตา

ฌานขั้นที่ ๔ มี เอกัคคตา กับ อุเบกขา

ฌานประเภทนี้เรียกว่า ฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติมีสิ่งรู้อยู่ในจุดเดียว ถ้าจิตเพ่งอยู่ที่นิมิต ก็รู้อยู่ที่นิมิตอย่างเดียว ถ้าจิตเพ่งรู้อยู่ที่จิตก็อยู่ที่จิตอย่างเดียว

อาการแห่งความรู้หรือสิ่งต่างๆ ไม่ปรากฏขึ้น อันนี้เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ฌานในสมถภาวนา



ประเภทที่ ๒ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปณิชฌานภาวนาสามารถทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิได้เหมือนกัน แต่เมื่อจิตสงบนิ่งอยู่ในระดับฌานขั้นที่ ๔

ซึ่งมีแต่เอกัคคตากับอุเบกขา ลักษณะของจิตสงบ นิ่ง สว่างไสว วางเฉยเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา แต่พร้อมๆ กันนั้น มีบางสิ่งบางอย่างผ่านเข้ามาเป็นเครื่องรู้ของจิต

ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เหมือนตามกฎของธรรมชาติ บางทีจะมีปรากฏเหมือนๆ กับมีสิ่งผ่านเข้ามา เหมือนกับขี้เมฆ บางทีก็มีภาวะต่างๆ ปรากฏขึ้นในความรู้สึกของผู้ภาวนา

แต่ผู้ภาวนานั้นรู้เฉยอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ จิตผู้สงบนิ่งนิ่งอยู่ สิ่งที่ผ่านเข้ามาก็ผ่านเข้ามาเรื่อยๆ จิตรู้สิ่งนั้น แต่ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

สิ่งที่ผ่านเข้ามานั้นมีความเปลี่ยนแปลง ยักย้ายไม่คงที่ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา จิตก็ดูอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ แต่หากไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนี้ความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใดๆ ทั้งสิ้น

เป็นแต่สงบ นิ่ง สว่าง แล้วก็รู้เห็นสิ่งที่ผ่านเข้ามาอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่รู้เห็นนั้นไม่มีภาษา สมมติบัญญัติว่าจะเรียกว่าอะไร ลักษณะอย่างนี้ ลักขณูปนิชฌาน เป็นฌานในการเจริญวิปัสสนา หรือเป็นการเจริญวิปัสสนาในฌาน

สติปัญญาและวิปัสสนาปัญญา

สภาวะความเป็นเองของจิตของพิจารณาสภาวธรรม ในขั้นที่เราตั้งเจตนาหรือตั้งใจ ค้นคิดพิจารณาสิ่งนั้นๆ เรียกว่าการพิจารณาโดยสติปัญญาธรรมดา เป็นปฏิปทาของนักปฏิบัติทุกคนจะพึงปฏิบัติเช่นนี้

แต่อาศัยการค้นคิดพิจารณานั้น จิตสามารถที่จะสงบลงเป็นสมาธิ มีปีติ มีความสุข และดำเนินเข้าไปสู่องค์ฌานตามขั้นตอนในระดับขององค์ฌานนั้นๆ

เมื่อจิตถึงฌานขั้นที่ ๔ แล้วจิตก็จะไปสงบนิ่งแล้วก็มีปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็น


สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการค้นคว้าพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้น คือก่อนที่จิตยังไม่สงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว สิ่งนี้เข้าไปหนุนเนื่องให้จิตเกิดความรู้

แต่ในเมื่อจิตเกิดความรู้แล้ว จิตก็ไม่สำคัญมั่นหมายสิ่งนั้นน่าเป็นอะไร อันนี้คือสัจธรรมปรากฏในจิตใจของผู้ปฏิบัติในขั้นปรมัตถธรรม ซึ่งไปตรงกับคำในท้ายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า

ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมังสัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา

อันนี้เป็นความรู้ของท่านอัญญาโกณฑัญญะ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็รับรองว่า ท่านอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนาเป็นองค์แรก

.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2008, 21:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา

:b4: :b4: :b4: สุดยอดครับอาจาย์ :b15: :b15: :b15:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2008, 18:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธพจน์

ยสฺส เสลุปมํ จิตฺตํ ฐิตํ นานุปกมฺปติ
วิรตฺตํ รชนีเยสุ โกปเนยฺเย น กุปฺปติ
ยสฺเสวํ ภาวิตํ จิตฺตํ กุโต ตํ ทุกฺขเมสฺสตีติ

จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ไม่โกรธเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการโกรธเคือง

จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน

ขุททกนิกาย อุทาน




เป็น พระพุทธพจน์ที่ไพเราะมาก


อาการ ที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการโกรธเคือง
นี่คือ สภาะที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ หรือ สมถะ(สัมมาสมาธิ) นั่นเอง

จิต ที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการโกรธเคือง
นี่คือ สภาะที่เรียกว่า เอกัคคตาจิต นั่นเอง

นึกถึง ครูบาอาจารย์ ท่านจะกล่าวไว้บ่อยๆว่า
"ชอบใจ หรือ ไม่ชอบใจ ...ไม่ต้องเอา ทั้งนั้น"

สภาวะจิตที่เป็นหนึ่ง เช่นนี้ จึงจะเป็นสภาวะจิตที่ปัญญาญาณสามารถเจริญงอกงามได้

ท่านผู้รู้ กล่าวว่า นี่คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงของสมถะ



ปล...

ในสมัยพุทธกาล เอกัคคตารมณ์ นั่นก็คือ land markของคำว่า ฌาน ...
เมื่อใดก็ตาม ที่จิตมีเอกัคคตารมณ์....ในสมัยพุทธกาล ท่านเรียก ลักษณะสภาวะจิตเช่นนี้ ว่า ฌาน
อย่างที่กล่าว ใน คห.ข้างต้น


แต่ พอกาลเวลาผ่านไป...
ฌาน เหมือนจะถูกเข้าใจเหลือเพียง ฌานแบบฤาษี เท่านั้น...
ฌานแบบของพระพุทธเจ้า... ฌานที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ คนในปัจจุบัน ไม่ค่อยจะเชื่อว่า มีอยู่จริง....


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2008, 21:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ค. 2006, 20:52
โพสต์: 1210

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:
ขอบคุณค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ หลังจากที่เข้าใจว่าฌาณ คือฌาณแบบฤาษี มาตั้งนาน โอ้ อวิชชา หนอ

.....................................................
สัพเพ สังขารา อนิจจา
สัพเพ ธรรมา อนัตตา...


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 09:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
ขอบคุณค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ หลังจากที่เข้าใจว่าฌาณ คือฌาณแบบฤาษี มาตั้งนาน โอ้ อวิชชา หนอ



ยินดีครับ ที่ คุณแมวขาวมณี ได้รับประโยชน์ :b8:




ความจริงแล้ว
ฌานที่ยังไม่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธิ เช่น ฌานฤาษีทั่วๆไป ก็มีประโยชน์อยู่
คือ จิตที่เป็นมหากุศลจิต นั้น.... เป็น สภาวะจิตที่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เช่นกัน
ถึงแม้นอาจจะยังไม่ใช่ องค์แห่งอริยมรรคโดยตรงก็ตาม แต่ ก็มีส่วนเอื้อ ให้กุศลธรรมชั้นสูงอื่นงอกงามได้

(แต่ โลกียฌาน ก็อาจติดสุขจากสมาธิ หรือ หลงตนเองในกรณีที่มีญาณทัศนะได้)



อนึ่ง
อยากให้สังเกตุว่า ในช่วงแรกที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ท่านจะไปโปรดใครก่อน?

แรกสุด ท่านจะไปโปรด อดีตอาจารย์ดาบสทั้งสอง แต่ ปรากฏว่าท่านทำกาละไปแล้ว
ท่านเลยไปโปรด ปัญญจวัคคีย์(ฤาษีทั้งห้า) จึงครบทั้งรัตนตรัย

พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระฤาษี ผู้ถือพรหมจรรย์ ผู้ออกจากกามสุขก่อน

ทำไม???


อยากเสนอ อ่าน

(จาก หนังสือ ธรรมจักษุ)


โพธิราชกุมารสูตร

(พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. มัชฌิมนิกาย,โพธิราชกุมารสูตร)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระโพธิราชกุมารว่า

ก่อนตรัสรู้ พระองคืได้ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ อุปมา ๓ ข้อได้ปรากฏแก่พระองค์ ดังนี้คือ

ข้อ ๑ ไม้สดชุ่มด้วยยางอยู่ในน้ำ ถ้าบุรุษนำมาสีไฟ พึงทำให้เกิดไฟไม่ได้
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กายยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ถึงแม้จะเสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้

ข้อ ๒ ไม้สดชุ่มด้วยยางอยู่บนบกไกลน้ำ ถ้าบุรุษนำมาสีไฟ พึงทำให้เกิดไฟไม่ได้
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง กายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจในกาม ถึงแม้จะเสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียร ก็ไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้

ข้อ ๓ ไม้แห้งเกราะอยู่บนบกไกลน้ำ ถ้าบุรุษนำมาสีไฟ พึงทำให้เกิดไฟได้
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กายหลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ละได้ด้วยดี สงบระงับด้วยดีภายใน ถึงแม้จะเสวยทุกขเวทนาหรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนากล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียร ก็ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ได้



การหลีกออกจากกามในพระสูตรนี้
กล่าวไว้สองนัยยะ คือ

"ออกจากกามทางกาย"คือ ถือศีลพรหมจรรย์
กับ
"สงบระงับด้วยดีภายใน"คือ ออกจากกามทางใจ ห่างจากกามดัวยเนกขัมมะ คือ สมาธิที่ระงับนิวรณ์(รวม ทั้งราคะ) ได้แก่ สุขในขั้นฌานต่างๆ


และจาก พระสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ?
ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ?
ย่อมละราคะได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
วิปัสสนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ?
ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ?
ย่อมละอวิชชาได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะย่อมไม่หลุดพ้น หรือ ปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชาย่อมไม่เจริญ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แล
ความสิ้นราคะ ชื่อเจโตวิมุติ
ความสิ้นอวิชชา จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ.....”

ป. ทุก. อํ. (๒๗๕-๒๗๖)
ตบ. ๒๐ : ๗๗-๗๘ ตท. ๒๐ : ๖๙-๗๐
ตอ. G.S. ๑ : ๕๕-๕๖




นี่คือ เหตุผลที่ ผู้ที่พยายามออกจากกาม จะบรรลุมรรคผล ง่ายกว่า ผู้เสพกามสุขอยู่

ศีลพรหมจรรย์(รวมศีลแปด) และ สมาธิจิต(ที่ถึงแม้นอาจจะยังไม่ใช่โลกุตรฌาน) จึงช่วยในการเจริญธรรมขั้นสูง ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าทรงตรัส เรื่อง ความสุข10ชั้นดังนี้

1.สุขจากกาม
2-5 สุขจากรูปฌาน
6-9 สุขจากอรูปฌาน
10 บรมสุขจากพระนิพพาน

จากพุทธธรรม
พระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า

ถึงหาก อริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้มากยิ่งนัก
แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จัก ปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัย กาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วก วียนกลับมาหากามอีก- (ม.มู. 12/211/180)


ปิติ และ ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม นั้นก็คือ สุขจากรูปฌาน และ อรูปฌาน

ส่วน ความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นอีก คือ พระนิพพาน

นี่คือ ท่านกำลังสอนให้พระสาวกออกจากกามสุข



สังเกตุดีๆน่ะครับ
เมื่อพระสาวกออกจากกามสุข มายังสุขขั้นรูปฌาน หรือ อรูปฌาน แล้ว....
พระองค์ ก็ทรงสอนต่อไปอีก ให้ละวาง แม้นแต่สุขในภพอันประณีตเหล่านั้น...
ให้ ไปสู่ บรมสุข อัน สิ้นชาติ-ขาดภพ-จบพรหมจรรย์ คือ พระนิพพาน

ดังเช่น ที่แสดงใน ฌานสูตร

ฌานสูตร นว. อํ. (๒๐๔)
ตบ. ๒๓ : ๔๓๘-๔๓๙ ตท. ๒๓ : ๓๙๐-๓๙๑


“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ

เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหาร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา

เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น

ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั้นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละ คือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้นย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย....”



นี่คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าใช้สอน แด่พระสาวกในครั้งพุทธกาลที่ท่่านสำเร็จโลกียฌาน ใช้โลกียฌานมาเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาโดยตรง.....

(ปล...

อนึ่ง

ฌาน ที่ตรัสในฌานสูตร ที่แสดงว่า "เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหาร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา"....นี้หมายเอา โลกียฌาน ของพระฤาษี .

ฌาน ที่ตรัสในฌานสูตร นี้ หาใช่ โลกุตรฌาน ที่เป็นองค์แห่งอริยมรรคสมังคี ดังที่ปรากฏในพระสูตรนี้ แต่อย่างใด

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?st ... yte=109458


[๑๔๗] อริยมรรคสมังคีบุคคล ย่อมเผาสังกิเลสที่ยังไม่เกิด ด้วยโลกุตตรฌานที่เกิดแล้ว

เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวโลกุตตรฌานว่าเป็นฌาน

บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฐิต่างๆ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในฌานและวิโมกข์

ถ้าพระโยคาวจรตั้งใจมั่นดีแล้ว ย่อมเห็นแจ้ง ฉันใด
ถ้าเมื่อเห็นแจ้ง ก็พึงตั้งใจไว้ให้มั่นคงดี ฉันนั้น

สมถะและวิปัสสนาได้มีแล้วในขณะนั้น ย่อมเป็นคู่ที่มีส่วนเสมอกันเป็นไปอยู่


ดังนั้น เวลาอ่าน พระสูตร ต้องดูให้ดีๆ ว่า กำลังตรัสระบุไปถึง ฌาน แบบไหน

และพึงสังเกตุคำกล่าวที่ว่า "ท่านจึงกล่าวโลกุตตรฌานว่าเป็นฌาน" )




ฤาษี ที่สำเร็จโลกียฌาน ...ในความรู้สึกของท่าน ย่อมไม่เห็นสิ่งใด จะเยี่ยมยอดเท่าโลกียฌานแล้ว...
จิตท่านไม่สนใจในกามสุข(ถึงแม้นจะยังไม่เด็ดขาดด้วยอนาคามีผลก็ตาม)....
แต่ จิตท่าน ยังคงติดอยู่ในภพอันละเอียดประณีตเหล่านั้น.....
และ ฌานสูตร นี่คือ คำสอนที่ใช้ในการละความยึดมั่นถือมั่นในภพที่ประณีตนั้นๆ


ในขณะที่พระพุทธเจ้า ตรัสสอนไม่ให้สาวกกลัวสุขจากสมาธิ และ แสดงอานิสงส์แห่งสมาธิไว้มากมาย...
แต่ พระองค์ก็สอนให้ละความยึดมั่นถือมั่นในภพอันประณีต ที่บังเกิดจากกำลังแห่งสมาธินั้นๆ ด้วย.....เช่นกัน

คือ ทรงสอนให้รู้จักการใช้ประโยชน์จากสมาธิ โดยที่ไม่ยึดติดในสมาธิ


และ....นี่ คือ สิ่งที่ฤาษี ชีไพร ยุคก่อนพุทธกาล ไม่รู้จักกัน
(ยกเว้น พระปัจเจกพุทธเจ้า)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


"สมถะแบบของฤาษี" (ซึ่งคัมภีร์รุ่นหลังพุทธกาลหลายเล่ม ก็จะกล่าวสมถะในแง่มุมนี้เช่นกัน ดังปรากฏในคำสอนเรื่องสมถะกรรมฐาน40กอง)
คือ เข้าไปสงบนิ่งเฉยๆ ไม่เอื้อต่อการเกิดปัญญา
สมถะแบบของฤาษี ย่อมนำไปสู่ มิจฉาสมาธิ ไม่เอื้อต่อการเกิดปัญญา..หาก ไม่นำมาสู่การเจริญวิปัสสนาตามแนวทางแห่งอริยมรรค ดังเช่นที่ปรากฏใน ฌานสูตร


เป็นคนล่ะแบบกับ "สมถะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้" ที่ปรากฏในระดับชั้นพระสูตร






ลองพิจารณา จากพระสูตรนี้ อีกสักครั้ง

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?st ... yte=109458

[๑๔๗] อริยมรรคสมังคีบุคคล ย่อมเผาสังกิเลสที่ยังไม่เกิด ด้วยโลกุตตรฌานที่เกิดแล้ว

เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวโลกุตตรฌานว่าเป็นฌาน

บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฐิต่างๆ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในฌานและวิโมกข์

ถ้าพระโยคาวจรตั้งใจมั่นดีแล้ว ย่อมเห็นแจ้งฉันใด
ถ้าเมื่อเห็นแจ้ง ก็พึงตั้งใจไว้ให้มั่นคงดีฉันนั้น

สมถะและวิปัสสนาได้มีแล้วในขณะนั้น ย่อมเป็นคู่ที่มีส่วนเสมอกันเป็นไปอยู่




สมถะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ย่อมนำไปสู่ สัมมาสมาธิ หรือ ตรงกับคำว่า"โลกุตรฌาน"....ในพระสูตรนี้ บรรยายด้วยคำว่า"ตั้งใจมั่นดีแล้ว"

วิปัสสนาในพระสูตรนี้ กล่าวถีง สัมมาญาณะ ......ในพระสูตรนี้ บรรยายด้วยคำว่า"เห็นแจ้ง"

ซึ่ง พระสูตรนี้ แสดง อริยมรรคสมังคี ....
กล่าวถึง
ความสัมพันธ์ที่อิงกัน แยกขาดออกจากกันไม่ได้ ระหว่าง "สมถะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้"(สัมมาสมาธิ) กับ "วิปัสสนาที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้"(วิปัสสนาที่อยู่บนพื้นฐานของสัมมาสมาธิ)


ถ้า เรา-ท่าน ไม่ตั้งหลักกันให้ดีเสียก่อน ว่า คำว่า"สมถะ"ที่กำลังกล่าวอยู่นั้น เป็น ความหมายเดียวกันไหม
เวลาเสวนาเรื่อง สมถะ-วิปัสสนา นี้ จะไม่มีทางเข้าใจตรงกันเลย
คนหนึ่งกล่าวถึง สมถะแบบของฤาษี ... หรือ สมถะในความหมายของคัมภีร์รุ่นหลังพุทธกาล
อีกคนกล่าวถึง สมถะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ ในระดับพระสูตร


ผมจึงขอเสนอว่า

เวลาเสวนาเรื่อง สมถะ-วิปัสสนา นี้ ควรย้อนกลับไปยังระดับพระสูตรโดยตรง จะดีกว่า
เพราะเมื่อใช้ แหล่งอ้างอิงเดียวกันแล้ว จะเข้าใจตรงกันง่ายขึ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 15:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศตะวันออก หลั่งไปสู่ทิศตะวันออก บ่าไปสู่ทิศตะวันออกฉันใด

ภิกษุเจริญพอกพูนซึ่งฌาน ๔ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพานฉันนั้น...."



ฌานสังยุต มหา. สํ. (๑๓๐๑-๑๓๐๔ )
ตบ. ๑๙ : ๓๙๒-๓๙๓ ตท. ๑๙ : ๓๖๐-๓๖๑
ตอ. K.S. ๕ : ๓๗๒


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ย. 2008, 17:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


มี โอวาทธรรม ของ พระสุปฏิปันโน ในยุคปัจจุบัน(หลวงปู่ ชา สุภัทโท)

มาเสนอ

ท่านกล่าวถึง การพิจารณาความสงบ จนไม่ติดในความสงบ


"....อะไรจะเป็นตัววิปัสสนา อะไรจะเป็นตัวสมถะ ก็ตัวจิตนี่เอง

และเมื่อจิตสงบแล้วความสงบเบื้องแรกสงบด้วยสมถะ คือสมาธิธรรมทำให้จิตเป็นสมาธิมันก็สงบ
ถ้าความสงบหายไปก็เกิดทุกข์ ทำไมอาการนี้จึงให้เกิดทุกข์ เพราะความสงบของสมถะเป็นตัวสมุทัย แน่นอนมันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

เมื่อมีความสงบแล้วยังไม่จบ พระศาสดามองเห็นแล้วว่าไม่จบ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ มันไม่จบเพราะอะไร เพราะมันยังมีทุกข์อยู่

ท่านจึงเอาตัวสมถะตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปอีก
ค้นหาเหตุผลจนกระทั่งท่านไม่ติดในความสงบ ความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมติ เป็นบัญญัติอีก ติดอยู่นี่ก็ติดสมมติ ติดบัญญัติ


เมื่อติดสมมติติดบัญญัติก็ติดภพติดชาติ ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนี่แหละ เมื่อหายความฟุ้งซ่านก็ติดความสงบก็เป็นภพอีก เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้...."




ในระดับพระสูตร ท่านพระอานนท์ท่านได้สรุปประมวล แนวทางการเจริญ สมถะ-วิปัสสนา ไว้ดังนี้


ปัญหา การเจริญกรรมฐานมี ๒ อย่างคือ สมถะ และวิปัสสนา ใน ๒ อย่างนี้ จะเจริญสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อน ? จะเจริญควบคู่กันไปจะได้หรือไม่ ?

พระอานนท์ตอบ ว่า
“....ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า
(หรือ).... เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า
(หรือ).... เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป....
มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด....”

ปฏิปทาวรรค ที่ ๒ จ. อํ. (๑๗๐)
ตบ. ๒๑ : ๒๑๒ ตท. ๒๑ : ๑๘๓-๑๘๔
ตอ. G.S. II : ๑๖๒




การเจริญสมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า นั้น
ดังที่ปรากฏในฌานสูตร
หรือ คล้ายๆกับ ที่หลวงปู่ ชา สุภัทโท ท่านกล่าวไว้

แนวทางนี้ เป็นการใช้ฌานเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาโดยตรง
เป็นแนวทางของท่านผู้ที่เชี่ยวชาญในฌานอย่างยิ่ง
ในปัจจุบัน น่าจะมีผู้ปฏิบัติกัน ได้น้อย....แต่ ในสมัยพุทธกาล มีผู้ที่ได้ฌานสมาบัติ มากกว่าในปัจจุบันมาก




นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่เจริญทั้งสมถะ และ วิปัสสนา ไปทั้งสองอย่าง...หรือ ในพระสูตร กล่าวว่า"เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป"

เป็นลักษณะอาศัย ภาวะจิตที่ตั้งมั่น นุ่มนวล ควรแก่การงาน(สมาหิโต) ที่ได้จากสมาธิ มาเอื้อต่อการเจริญปัญญา
แนวทางนี้ ไม่ได้ใช้ฌานเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาโดยตรง


ดังปรากฏ ในหนังสือ พุทธธรรม

"....ประโยชน์ของสมาธิและฌานในทางพุทธธรรม ก็คือ ภาวะจิตที่เรียกว่า "นุ่มนวล ควรแก่งาน"

ซึ่งจะนำมาใช้เป็นที่ปฏิบัติของปัญญา..."


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร