วันเวลาปัจจุบัน 17 พ.ค. 2025, 05:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 40 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 14:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 มิ.ย. 2008, 22:48
โพสต์: 1173


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณวรานนท์ครับ


คำถามของคุณเหมือนกับท่านหนึ่งในเว็บพลังจิต ผมจึงขอนำคำตอบของผมในลง

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ ความจริงแท้๒
คนที่ฆ่าคนโดยลงมือด้วยอาวุธที่ตนเองมีจะไม่มีจิตคิดฆ่ามันเป็นไปไม่ได้ คนที่ดื่มยาพิษไปแม้ไม่เจตนาก็ย่อมต้องตาย


คำถามของคุณผิด คนที่ฆ่ามันต้องมีจิตคิดฆ่าอยู่แล้ว แต่จิตที่คิดฆ่านั้นเป็นกุศล หรืออกุศล หรือไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล เท่านั้น

เช่น คุณเป็นทหาร เขาให้ไปรบ คุณก็ยิงกระสุนปืนออกไปตามหน้าที่เพื่อไล่ข้าศึกศตรูออกไป และเพื่อป้องกันตัวตามสัญชาติญาณ มันยิงมาก็ก็ยิงไป จิตของคุณไม่ได้มีอกุศลจากการยิงอันนั้น... มันจึงเป็นบาปไม่ได้

หรือเพชรฆาต เจ้านายเขาสั่งให้ยิงนักโทษ คุณก็ทำหน้าที่ยิงของคุณ จิตของคุณไม่ได้มีอกุศลจากการยิงอันนั้น... มันจึงเป็นบาปไม่ได้เช่นกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2009, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ศึกษาเรื่องศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่งคือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น ทั้งในส่วนรายละเอียดที่ต่างกัน และส่วนรวมสูงสุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาดและได้ผลจริง


ในที่นี้จะแสดงตัวอย่าง การกระจายความหมายขององค์มรรคขั้นศีล ออกไปเป็นหลักความประพฤติที่บังเกิดผลในทางปฏิบัติ
หลักความประพฤติที่นำมาแสดงเป็นอย่างนี้ เป็นหลักที่กระจายความหมายออกไปโดยตรง
มีหัวข้อตรงกับในองค์มรรคทุกข้อ เป็นแต่เรียงลำดับฝ่ายกายกรรม (ตรงกับสัมมากัมมันตะ) ก่อนฝ่ายวจีกรรม (ตรงกับสัมมาวาจา) และเรียกชื่อว่า กุศลกรรมบถบ้าง สุจริตบ้าง ความสะอาด
ทางกาย วาจา (และใจ) บ้าง มีเรื่องตัวอย่าง ดังนี้


(วิธีชำระตัวให้สะอาดแบบพราหมณ์)

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ เมืองปาวา ในป่ามะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร
นายจุนทะมาเฝ้าได้สนทนาเรื่องโสไจยกรรม (พิธีชำระตนให้บริสุทธิ์) นายจุนทะทูลว่า
เขานับถือบัญญัติพิธีชำระตัวตามแบบของพราหมณ์ชาวปัจจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัย สาหร่าย บูชาไฟ ถือการลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติของพราหมณ์พวกนี้มีว่า แต่เช้าตรู่ทุกๆวัน เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนจะต้องเอามือลูบแผ่นดิน
ถ้าไม่ลูบแผ่นดิน ต้องลูบมูลโคสด หรือ ลูบหญ้าเขียว หรือบำเรอไฟ หรือยกมือไหว้พระอาทิตย์
หรือมิฉะนั้นก็ต้องลงน้ำให้ครบ ๓ ครั้ง ในตอนเย็น อย่างใดอย่างหนึ่ง

(วิธีชำระตัวให้สะอาดแบบพุทธ)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัญญัติเรื่องการชำระตัวให้สะอาดของพวกพราหมณ์นี้ เป็นอย่างหนึ่ง
ส่วนการชำระตัวให้สะอาดในอริยวินัย เป็นอีกอย่างหนึ่ง หาเหมือนกันไม่ แล้วตรัสว่า
คนที่ประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า มีความไม่สะอาดทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ
คนเช่นนี้ ลุกขึ้นเช้า จะลูบแผ่นดิน หรือ ไม่ลูบ
จะลูบโคมัยหรือจะไม่ลูบ
จะบูชาไฟ จะไหว้พระอาทิตย์ หรือไม่ทำ ก็ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง เพราะอกุศลกรรมบถ
เป็นสิ่งทั้งไม่สะอาด ทั้งเป็นตัวการทำให้ไม่สะอาด และตรัสกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่เป็นเครื่องชำระตัว
ให้สะอาด คือ

ก. เครื่องชำระตัวทางกาย ๓ ได้แก่ การที่บุคคลบางคน
๑. ละปาณาติบาต เว้นขาดจากการตัดรอนชีวิต วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอายใจ กอปรด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ปวงสัตว์โลก

๒. ละอทินนาทาน เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ ไม่ยึดถือทรัพย์สินอุปกรณ์
อย่างใดๆของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นของที่อยู่ในบ้าน หรือในป่า ซึ่งเขามิได้ให้ อย่างเป็นขโมย

๓. ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ไม่ล่วงละเมิดในสตรี เช่น อย่างผู้
ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ผู้ที่พี่น้องชายรักษา ผู้ที่พี่น้องหญิงรักษา ผู้ที่ญาติรักษา ผู้ที่ธรรมรักษา
(เช่น กฎหมายคุ้มครอง) หญิงมีสามี หญิงหวงห้ามโดยที่สุดแม้หญิงที่หมั้นแล้ว

ข. เครื่องชำระตัวทางวาจา ๔ ได้แก่ การที่บุคคลบางคน

๑. ละมุสาวาท เว้นขาดจากการพูดเท็จ เมื่ออยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ท่ามกลางชุมนุมชนก็ดี อยู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างตัวซักถามเป็นพยานว่า เชิญเถิดท่าน ท่านรู้สิ่งใด จงพูดสิ่งนั้น เมื่อไม่รู้ เขาก็กล่าวว่าไม่รู้
เมื่อไม่เห็น ก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อรู้ ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อเห็น ก็กล่าวว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้
ไม่ว่าเพราะเหตุแห่งตนเอง หรือเพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสใดๆ

๒. ละปิสุณาวาจา เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ไม่เป็นคนที่ฟังความข้างนี้ แล้วเอาไปบอกข้างโน้น
เพื่อทำลายคนฝ่ายนี้ หรือฟังความข้างโน้น แล้วเอามาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนฝ่ายโน้น เป็นผู้สมาน
คนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่สมัครสามานกัน ชอบสามัคคี ยินดีในสามัคคี พอในความสามัคคี
ชอบกล่าวถ้อยคำที่ทำให้คนสามัคคีกัน

๓. ละผรุสวาจา เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าวแต่ถ้อยคำชนิดที่ไม่โทษ รื่นหู น่ารัก จับใจสุภาพ
เป็นที่พอใจของพหูชน เป็นที่ชื่นชมของพหูชน

๔. ละสัมผัปปลาปะ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ (พล่อยๆ) พูดถูกกาล พูดคำจริง
พูดเป็นอรรถ พูดเป็นธรรม พูดเป็นวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีกำหนดขอบเขต
ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร


ค. เครื่องชำระตัวทางใจ ๓ ได้แก่ อนภิชฌา (ไม่คิดจ้องเอาของคนอื่น) อพยาบาท
และสัมมาทิฏฐิ เฉพาะ ๓ ข้อนี้ เป็นความหมายที่ขยายจากองค์มรรค ๓ ข้อแรก
คือ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ จึงไม่คัดมาไว้ในที่นี้


“บุคคล ผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ถึงตอนเช้าตรู่ ลุกขึ้นจากที่นอน
จะมาลูบแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงจะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ฯลฯ
ถึงจะยกมือไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงจะไม่ยกมือไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นสะอาด
อยู่นั่นเอง ....เพราะว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นของสะอาดเองด้วย เป็นตัวการที่ทำให้สะอาด
ด้วย...”
(องฺ.ทสก.24/165/283....ความหมายธรรม ๑๐ อย่างตามคำขยายความอย่างนี้ มีที่มาอีกมากมากเช่น 24/189/305 ฯลฯ)

ความหมาย ซึ่งขยายออกไปในรูปประยุกต์ อาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมกับกรณีนั้น
ขอยกตัวอย่าง เช่น เมื่อกล่าวถึงบุคคลที่ออกบวชแล้ว นอกจากศีลบางข้อจะเปลี่ยนไป และมีศีลเพิ่มใหม่อีกแล้ว แม้ศีลข้อที่คงเดิมบางข้อ ก็มีความหมายส่วนที่ขยายออกไปต่างจากเดิม
ขอให้สังเกต ข้อเว้นอทินนาทาน และเว้นมุสาวาทต่อไปนี้ เทียบกับความหมายในกุศลกรรมบถ
ข้างต้น

ละอทินนาทาน เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่”

“ละมุสาวาท เว้นขาดจากการพูดเท็จ กล่าวแต่คำสัตย์ ธำรงสัจจะ ซื่อตรง เชื่อถือได้ ไม่ลวงโลก”
(ที.สี.9/3-4/5 ฯลฯ)


มีข้อสังเกตสำคัญในตอนนี้อย่างหนึ่ง คือ ความหมายท่อนขยายขององค์ธรรมขั้นศีลเหล่านี้ แต่ละข้อ ตามปรกติจะแยกได้เป็นข้อละ ๒ ตอน
ตอนต้น กล่าวถึงการละเว้นไม่ทำความชั่ว
ตอนหลังกล่าวถึงการทำความดี ที่ตรงข้ามกับความชั่วที่งดเว้นแล้วนั้น
พูดสั้นๆ ว่า ตอนต้นใช้คำปฏิเสธ ตอนหลังใช้ส่งเสริม

เรื่องนี้ เป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งของคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่มักใช้คำสอนควบคู่
ทั้งคำปฏิเสธ (negative) และ คำสนับสนุน (positive) ไปพร้อมๆกัน ตามหลัก “เว้นชั่ว
บำเพ็ญดี”
เมื่อถือ การเว้นชั่วเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ก็ขยายความในภาคบำเพ็ญดีออกได้เรื่อยไป ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะ
เท่าที่ขยายเป็นตัวอย่างในองค์มรรคเหล่านี้เท่านั้น
ตัวอย่าง เช่น ข้อเว้นอทินนาทาน ในที่นี้ยังไม่ได้ขยายความในภาคบำเพ็ญดีออกเป็นภาคปฏิบัติที่เด่นชัด แต่ก็ได้มีคำสอนเรื่องทานเป็นหลักธรรมใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว ดังนี้
เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2009, 09:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ศีลพื้นฐาน

ศีลพื้นฐาน คือ ศีลที่เป็นหลักกลาง ซึ่งเป็นความหมายของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
ที่เป็นองค์มรรค ได้แก่ การพูด การกระทำ การประกอบอาชีวะอย่างใดก็ตาม ที่ประกอบด้วยเจตนา
ซึ่งปราศจากความทุจริต หรือความคิดเบียดเบียน กินความคลุมถึงสุจริตที่เป็นคู่กันด้วย แสดงได้ ดังนี้

๑. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่

๑) ละมุสาวาท เว้นการพูดเท็จ รวมถึง สัจวาจา พูดคำจริง
๒) ละปิสุณวาจา เว้นการพูดส่อเสียด รวมถึง สมัคคกรณีวาจา พูดคำสมานสามัคคี
๓) ละผรุสวาจา เว้นการพูดคำหยาบ รวมถึง สัณหวาจา พูดคำอ่อนหวานสุภาพ
๔) ละสัมผัปปลาปะ เว้นการพูดเพ้อเจ้อ รวมถึง อัตถสัณหิตาวาจา พูดคำมีประโยชน์

๒. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ได้แก่

๑) ละปาณาติบาต เว้นการทำลายชีวิต รวมถึง การกระทำที่ช่วยเหลือเกื้อกูล
๒) ละอทินนาทาน เว้นการเอาของที่เขามิได้ให้ (คู่อยู่ทีสัมมาอาชีวะหรือทาน)
๓) ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นความประพฤติผิดในกาม รวมถึง สทารสันโดษ

๓. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ ละมิจฉาชีพ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ รวมถึง ความขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพที่สุจริต เช่น ทำงานไม่ให้คั่งค้างอากูล
(ไม่หมักหมม ไม่ผัดเพี้ยน ไม่จับจด ไม่ยุ่งเหยิงสับสน) เป็นต้น


สำหรับคนทั่วไป ท่านยอมผ่อนเบา เอาสาระของศีลพื้นฐานนี้ มาแสดงเป็นข้อกำหนดอย่างต่ำที่สุด
ในทางความประพฤติของมนุษย์ เท่าที่จำเป็นพอที่จะให้สังคมมนุษย์อยู่กันโดยปกติสุขและแต่ละคนมี
ชีวิตที่ไม่เป็นโทษภัย เรียกข้อกำหนดนี้ว่า สิกขาบท (ข้อฝึกความประพฤติ) ๕ หรือที่ต่อมานิยมเรียกกัน
เป็นสามัญว่า ศีล ๕
ได้แก่


๑. เว้นจากปาณาติบาต คือ ไม่ทำลายชีวิต จับเอาสาระว่า ความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตที่ปราศจากการ
เบียดเบียนผู้อื่นทางด้านชีวิตร่างกาย

๒. เว้นจากอทินนาทาน คือ ไม่เอาของที่เขามิได้ให้ หรือ ไม่ลักขโมย จับเอาสาระว่า ความประพฤติ
หรือการดำเนินชีวิตที่ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่นทางด้านทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์

๓. เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือ ไม่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย จับเอาสาระว่า ความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตที่ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่นทางด้านคู่ครอง บุคคลที่รักหวงแหน ไม่ผิดประเพณีทางเพศ ไม่นอก
ใจคู่ครองของตน

๔. เว้นจากมุสาวาท คือไม่พูดเท็จ จับเอาสาระว่า ความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตที่ปราศจากการ
เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจาเท็จโกหกหลอกลวงตัดรอนประโยชน์หรือแกล้งทำลาย

๕. เว้นจากของเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ ไม่เสพของมึนเมา จับเอา
สาระว่า ความประพฤติหรือการดำเนินชีวิตที่ปราศจากความประมาทพลั้งพลาดมัวเมาเนื่องจากการใช้สิ่งเสพติด
ที่ทำให้เสียสติสัมปชัญญะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2009, 09:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



ความหมายและขอบเขตของศีล 5 และศีลจำพวกเดียวกันนั้น ที่จำกันมามักว่า ตามที่อธิบายสืบๆกันมา
ในชั้นหลัง
ในที่นี้ จึงขอนำพุทธพจน์มาเสนอให้พิจารณา (ด้วย)


“คหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายสำหรับน้อมเข้ามาเทียบตัว...

1. อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเองอยากมีชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์
ถ้าใครจะปลงชีวิตเรา ผู้อยากอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข
เกลียดทุกข์ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเรา จะปลงชีวิตคนอื่นผู้อยากอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข
เกลียดทุกข์ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่นเหมือนกัน
สิ่งใด ตัวเราเองไม่ชื่นชอบ ไม่พอใจ ถึงคนอื่นเขาก็ไม่ชื่นชอบ
ไม่พอใจเหมือนกัน
สิ่งใด ตัวเราเองก็ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไฉน จะพึงเอาไปผูกใส่ ให้คนอื่นเล่า
อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้ ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต
ด้วยตนเองด้วย ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย
ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งการงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย
กายสมาจาร ของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามด้านอย่างนี้

2. อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ถ้าใคร จะถือเอาสิ่งของที่มิได้ให้ด้วยอาการขโมย ก็จะไม่เป็นข้อ
ที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเรา จะถือเอาของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ก็จะไม่เป็นข้อ
ที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน....

3. อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ก็ถ้าใคร จะประพฤติผิดในภรรยาของเรา ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบ
ที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเรา จะประพฤติผิดในภรรยาของคนอื่น ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบ
ที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน....

4. อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ก็ถ้าเรา จะทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ก็จะไม่เป็นข้อ
ที่ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเรา จะทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จก็จะไม่เป็นข้อ
ที่ชื่นชอบที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน....

5. อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ถ้าใครจะยุยงเราให้แตกจากมิตร ด้วยคำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นข้อที่
ชื่นชอบที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเราจะยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตร ด้วยคำส่อเสียด ก็จะไม่เป็นข้อ
ที่ชื่นชอบ ที่พอใจแก่คนอื่น เหมือนกัน...

6. อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ถ้าใครจะพูดจากะเราด้วยคำหยาบ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจ
แก่เรา
ก็ถ้าเราจะพูดจากะคนอื่นด้วยคำหยาบ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบที่พอใจ
แก่คนอื่น เหมือนกัน...

7. อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ถ้าใครจะพูดจากะเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบ
ที่พอใจแก่เรา
ก็ถ้าเรา จะพูดจากะคนอื่นด้วยคำเพ้อเจ้อ ก็จะไม่เป็นข้อที่ชื่นชอบ
ไม่พอใจเหมือนกัน
สิ่งใดตัวเราเอง ก็ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไฉนจะพึงเอาไปผูกใส่
ให้คนอื่นเล่า
อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ด้วยตนเองด้วย ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วย
ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการพูดเพ้อเจ้อด้วย วจีสมาจารของอริยสาวก
นั้น ย่อมบริสุทธิ์ ทั้งสามด้านอย่างนี้
(สํ.ม.19/1458-1465/442-6)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2009, 12:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาชญากรรม ที่ร้ายแรงแทบทั้งหมดเป็นเรื่องของการละเมิดศีล ๕ ในสังคมที่มากด้วยการสังหารผลาญชีวิต
การปองร้าย การทำร้ายกัน ปล้อน แย่งชิง การทำความผิดพลาดทางเพศ มีคดีฆาตกรรม โจรกรรม
การข่มขืน หลอกลวง การเสพของมึนเมาและสิ่งเสพติด ตลอดจนการก่อปัญหาและอุบัติเหตุต่างๆ เนื่องมา
จากของมึนเมาและสิ่งเสพติดเหล่านั้น ระบาดแพร่หลายทั่วไป ชีวิตและทรัพย์สินไม่ปลอดภัย จะอยู่ไหนหรือ
ไปไหนก็ไม่มีความมั่นใจ เต็มไปด้วยความห่วงใยวิตกกังวล จิตใจหวาดผวาบ่อยๆ ผู้คนพบเห็นกันแทนที่
จะอบอุ่นใจ ก็หวาดระแวงกัน อยู่กันไม่เป็นปกติสุข สุขภาพจิตของประชาชนย่อมเสื่อมโทรม ยากที่จะ
พัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพของจิต และสังคมเช่นนั้น ก็ไม่เป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลสำหรับการสร้าง
สรรค์สิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป เพราะมีความเดือดร้อนระส่ำระสายยุ่งแต่การแก้ปัญหา และมีแต่กิจกรรมที่บ่อน
ทำลายให้สังคมเสื่อมโทรมลงไปทุกที
การขาดศีล ๕ จะเนื่องมาจากเหตุใดก็ตาม จึงย่อมเป็นมาตรฐานวัดความเสื่อมโทรมของสังคม
ส่วนสภาพพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตที่ตรงข้ามจากนี้นั่นแหละ คือ การมีศีล ๕

ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติมนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อม
ทางสังคมให้อยู่ในภาวะเกื้อกูล และเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2009, 16:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระอรรถกถาจารย์ ได้ประมวลหลักเกณฑ์บางอย่างไว้สำหรับกำหนดว่า การกระทำแค่ไหนเพียงใด จึงจะชื่อว่า
เป็นการละเมิดศีลแต่ละข้อๆ เป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้รักษาศีล โดยจัดวางเป็นองค์ประกอบของการ
ละเมิด เรียกว่าสัมภาระ หรือ เรียกกันง่ายๆ ว่าองค์
บุคคลจะชื่อว่า ละเมิดศีล (เรียกกันง่ายๆ ว่าศีลข้อนั้นจะขาด)ต่อเมื่อ กระทำการครบองค์ทั้งหมดของการ
ละเมิด ดังนี้

ศีลข้อ 1 ปาณาติบาต มีองค์ 5 คือ
1. สัตว์มีชีวิต
2. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต
3. จิต คิดจะฆ่า
4. มีความพยายาม
5. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น


ศีลข้อ 2 อทินนาทาน มีองค์ 5 คือ
1. ของผู้อื่นหวงแหน
2. รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน
3. จิตคิดจะลัก
4.มีความพยายาม
5.ลักของได้ด้วยความพยายามนั้น


ศีลข้อ 3 กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ 4 คือ
1. อคมนียวัตถุ ได้แก่ สตรี หรือ บุรุษที่ไม่ควรละเมิด
2.จิตคิดจะเสพ
3. มีความพยายามในการเสพ
4. ยังมรรค คือ อวัยวะสืบพันธุ์ให้ถึงกัน


ศีลข้อ 4 มุสาวาท มีองค์ 4 คือ
1.เรื่องไม่จริง
2. จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน
3. มีความพยายามเกิดจากจิตที่คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนนั้น
4. ผู้อื่นเข้าใจความที่พูดนั้น

ศีลข้อ 5 สุราเมรัย ฯ มีองค์ 4 คือ
1. สิ่งนั้นเป็นของเมา
2. จิตใคร่จะดื่ม
3. มีความพยายามเกิดจากจิตที่ใคร่จะดื่มนั้น
4. กลืนให้ล่วงลำคอลงไป


สำหรับศีลข้อที่ ๑ แม้ว่า การฆ่าสัตว์ท่านจะมุ่งเอาสัตว์ที่เรียกว่า มนุษย์เป็นหลัก
ดังพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงแล้ว แต่สัตว์จำพวกที่เรียกว่าดิรัจฉาน ก็รักชีวิต รักสุขเกลียดทุกข์ เป็นเพื่อนร่วมโลก เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่ควรเบียดเบียนเช่นเดียวกัน
ศีลข้อนี้ ท่านจึงให้แผ่คลุมไปถึงสัตว์จำพวกดิรัจฉานด้วย แต่ยอมรับว่าการฆ่าสัตว์จำพวกดิรัจฉานมี
โทษน้อยกว่าการฆ่าสัตว์จำพวกมนุษย์ และพระอรรถกถาจารย์ก็ได้แสดงหลักสำหรับวินิจฉัยว่า การฆ่า
สัตว์ใดมีโทษน้อยหรือโทษมาก คือ
๑. คุณ - สัตว์มีคุณมากฆ่าก็มีโทษมาก สัตว์มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณก็มีโทษน้อย เช่น ฆ่าพระอรหันต์
มีโทษมากว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าสัตว์ช่วยงานมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย เป็นต้น
๒.ขนาดกาย - สำหรับสัตว์จำพวกดิรัจฉานที่ไม่มีคุณเหมือนกัน ฆ่าสัตว์ใหญ่มีโทษมาก ฆ่าสัตว์เล็กมี
โทษน้อย
๓. ความพยายาม - มีความพยายามมากในการฆ่ามีโทษมาก มีความพยามน้อยมีโทษน้อย
๔. กิเลส หรือ เจตนา - กิเลส หรือ เจตนาแรงมีโทษมาก กิเลสหรือเจตนาอ่อน มีโทษน้อย เช่น ฆ่าด้วยโทสะ หรือ จงใจเกลียดชัง มีโทษมากกว่าฆ่าด้วยป้องกันตัว เป็นต้น
แม้ในศีลข้ออื่นๆ ท่านก็กล่าวถึงการละเมิดที่มีโทษมากหรือโทษน้อยไว้แนวเดียวกัน เช่น อทินนาทาน มีโทษมากหรือน้อยตามคุณค่าของสิ่งของ คุณความดีของเจ้าของ และความพยายามในการลัก
กาเมสุมิจฉาจาร - มีโทษมากหรือน้อยตามคุณความดีของคนที่ถูกละเมิด ความแรงของกิเลสและความเพียรพยายาม
มุสาวาท - มีโทษมากหรือน้อย แล้วแต่ประโยชน์ที่จะถูกตัดรอนเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กน้อย และแล้ว
แต่ผู้พูด เช่น คฤหัสถ์จะไม่ให้ของของตน พูดไปว่าไม่มี ก็ยังมีโทษน้อย ถ้าเป็นพยานเท็จมีโทษมาก
สำหรับบรรพชิตพูดเล่น มีโทษน้อย จงใจบอกของที่ไม่เคยเห็นว่าเห็น มีโทษมาก
สำหรับการดื่มของเมา มีโทษมากน้อย ตามอกุศลจิตหรือกิเลสในการที่จะดื่ม ตามปริมาณที่ดื่ม
และตามผลที่จะก่อให้เกิดการกระทำผิดพลาดชั่วร้าย *
( * ที่มาเดียวกับเรื่ององค์ของการละเมิดศีล และ วิภงฺค.อ. 497)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2009, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในยุคหลังต่อมา ปราชญ์ได้นำเอาธรรมบางข้อที่เข้าคู่กันกับ สิกขาบท หรือ ศีล ๕ นั้น มาจัดวาง
เป็นหมวดขึ้น สำหรับแนะนำให้คฤหัสถ์ปฏิบัติคู่กันไปกับเบญจศีล โดยเรียกชื่อว่า เบญจธรรม หรือ
เบญจกัลยาณธรรม ข้อธรรมที่นำมาจัดนั้น เรียงตามลำดับให้เข้าคู่กับศีล ๕ คือ

๑. เมตตาและกรุณา
๒. สัมมาอาชีวะ (บางท่านเลือกเอาหรือรวมเอาทานเข้าด้วย)
๓. กามสังวร คือ ความรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ หรือ เรื่องรักใครไม่ให้ผิดศีลธรรม (บางท่านเลือกเอาสทารสันโดษ คือ ความยินดีด้วยคู่ครองของตน)
๔. สัจจะ
๕. สติสัมปชัญญะ (บางท่านเลือกเอาอัปปมาท คือ ความไม่ประมาท ซึ่งได้ความเกือบไม่ต่างกัน)


สำหรับข้อสทารสันโดษ ที่เป็นข้อปฏิบัติตรงข้ามกับกาเมสุมิจฉาจาร มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวไว้
สทารสันโดษ แปลว่า ความพอใจด้วยภรรยาของตน ว่าโดยสาระก็คือความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน แม้ว่ามองกว้างๆ หลักการจะเปิดให้เกี่ยวกับจำนวนของคู่ครอง มิได้กำหนดไว้ตายตัวว่า คนเดียวหรือ
กี่คน สุดแต่ตกลงยินยอมกันโดยสอดคล้องกับประเพณีและบัญญัติของสังคม โดยถือสาระว่า ไม่ละเมิดต่อคู่ครองหรือของหวงห้ามที่เป็นสิทธิของผู้อื่น ไม่ละเมิดฝ่าฝืนความสมัครใจของคู่กรณีและไม่นอกใจคู่ครอง
ของตน เมื่อพร้อมใจกันและเป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ละเมิดและไม่เสียความซื่อสัตย์ต่อกันแล้ว ก็ไม่จัดเป็น
เสีย
แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อว่าโดยนิยมท่านยกย่องการมีคู่ครองแบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งมีความรักใคร่ภักดีต่อกัน
มั่นคงยั่งยืน มีความมั่นคงภายในครอบครัว ลูกหลานมีความร่มเย็นเป็นสุขและอบอุ่นใจ ฯลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2009, 16:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ยังมีศีลที่ตรัสไว้ในสิงคาลกสูตร ที่ชาวพุทธลืมไป จะนำมาให้เห็นเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เห็น
ความขว้างขวางของศีล)

ศีล เพื่อเสริมความดีงามของชีวิตและสังคม

หลักคำสอนในสิงคาลกสูตร- (ที.ปา.11/172-206/194-207) ทั้งหมด พระอรรถกถาจารย์กล่าว
ว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ให้เป็นคิหิวินัย - (ที.อ.3/167) คือ วินัยของคฤหัสถ์ หรือ ศีล
สำหรับชาวบ้าน หรือ ศีลสำหรับประชาชน
หลักที่ทรงสอนในสูตรนั้น สรุปได้ ดังนี้

หมวด ๑ ละกรรมกิเลส คือข้อเสื่อมเสียของความประพฤติ ๔ ประการได้แก่ ปาณาติบาต อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาท

หมวด ๒ ไม่กระทำบาปกรรมโดย ๔ สถาน คือ ไม่ทำกรรมชั่วด้วยลุแก่
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

หมวด ๓ ไม่เสพอบายมุขแห่งโภคะ ๖ ประการคือ
๑. ติดสุราและของมึนเมา
๒. ติดเที่ยวกลางคืน
๓. ติดเที่ยวดูการเล่น
๔. ติดการพนัน
๕. ติดคบเพื่อนชั่ว
๖. เกียจคร้านการงาน

ให้รู้จักมิตรแท้ มิตรเทียม ซึ่งควรคบและไม่ควรคบ ได้แก่
ก. มิตรเทียม ๔ จำพวก คือ
๑. คนปอกลอก
๒. คนดีแต่พูด
๓. คนหัวประจบ
๔. คนชวนฉิบหาย

ข. มิตรแท้ ๔ จำพวกคือ
๑.มิตรอุปการะ
๒.มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. มิตรแนะประโยชน์
๔. มิตรมีน้ำใจ

และให้รู้จักรวบรวมเก็บรักษาสะสมทรัพย์ เหมือนดังผึ้งขยันรวบรวมน้ำเกสรดอกไม้สร้างรังหรือ เหมือนมดปลวกก่อสร้างจอมปลวก แล้วพึงจัดสรรทรัพย์ใช้สอยและผูกมิตรโดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน
กินเลี้ยงดูทำประโยชน์ส่วนหนึ่ง
ทำทุนประกอบการงานสองส่วน
เก็บไว้ใช้คราวจำเป็นหนึ่งส่วน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 09:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีข้อสังเกตบางอย่าง ที่ควรทราบเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศีลในพระพุทธศาสนา
กับ ศีลในศาสนาเทวนิยม (รวมถึงเรื่องกรรม ความดี ความชั่ว) ดังนี้


๑. ในพุทธธรรม ศีลเป็นหลักความประพฤติที่กำหนดขึ้นตามหลักเหตุผลของกฎธรรมชาติ

ส่วนในศาสนาเทวนิยม ศีลเป็นเทวโองการ ที่กำหนดขึ้นโดยเทวประสงค์

๒. ในแง่ปฏิเสธ ศีลตามความหมายของพุทธธรรม เป็นหลักการฝึกอบรมตนในการงดเว้น
จากความชั่ว จึงเรียกศีลที่กำหนดเป็นข้อๆว่า สิกขาบท (ข้อฝึกหัด - rule of training)

ส่วนในศาสนาเทวนิยมเป็นข้อห้าม หรือ คำสั่งห้ามจากเบื้องบน (divine commandment)

๓. แรงจูงใจที่ต้องการในการปฏิบัติตามศีลแบบพุทธธรรม ได้แก่ อาการวตีศรัทธา คือ ความมั่นใจ (confidence) ในกฎแห่งกรรม โดยมีความเข้าใจพื้นฐานมองเห็นเหตุผลว่าพฤติกรรมและผลของมันจะต้องเป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัย
ส่วนแรงจูงใจที่จะต้องการในการปฏิบัติตามศีลของศาสนาเทวนิยม ได้แก่ ศรัทธาแบบภักดี (faith) คือ เชื่อ ยอมรับ และทำตามสิ่งใดๆ ก็ตามที่กำหนดว่า เป็นเทวประสงค์
มอบความไว้วางใจให้โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องถามหาเหตุผล

๔. ในพุทธธรรม การรักษาศีลตามความหมายที่ถูกต้อง ก็คือ การฝึกอบรมตนในทางความประพฤติ เริ่มแต่เจตนาที่จะละเว้นความชั่วอย่างนั้น ๆ จนถึงประพฤติดีงามต่างๆ ที่ตรงข้ามกับความชั่วนั้นๆ

ส่วนในศาสนาเทวนิยม การรักษาศีล ก็คือการเชื่อฟังและปฏิบัติตามเทวโองการโดยเคร่งครัด

๕. ในพุทธธรรม การประพฤติปฏิบัติในขั้นศีล มีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ เพื่อเป็นฐานของสมาธิ
กล่าวคือ เป็นระบบการฝึกอบรมบุคคลให้มีความพร้อมและความสามารถที่จะใช้กำลังงานของจิตให้
เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุด ในทางที่จะก่อให้เกิดปัญญาและนำไปสู่ความหลุดพ้น หรือ อิสรภาพสมบูรณ์
ในที่สุด ส่วนการไปสวรรค์เป็นต้น เป็นเพียงผลพลอยได้ของวิถีแห่งความประพฤติโดยทั่วไป

แต่ในศาสนาเทวนิยม การประพฤติศีลตามเทวโองการ เป็นเหตุให้ได้รับความโปรดปรานจากเบื้อง
บน เป็นการประพฤติถูกต้องตามเทวประสงค์ และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงประทานรางวัลด้วยการส่ง
ไปเกิดในสวรรค์

๖. ในพุทธธรรม ผลดีหรือผลร้ายของการประพฤติหรือไม่ประพฤติศีล เป็นสิ่งที่เป็นไปเองโดย
ธรรมชาติ คือ เป็นเรื่องการทำงานอย่างเที่ยงธรรมเป็นกลางของกฎธรรมชาติที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม การให้ผล
นี้ แสดงออกตั้งต้นแต่จิตใจ กว้างออกไปจนถึงบุคลิกภาพ และ วิถีชีวิตทั่วไปของบุคคลผู้นั้นไม่ว่าในชาตินี้
หรือ ชาติหน้า

ส่วนในศาสนาเทวนิยม ผลดีผลร้ายของการประพฤติตามหรือการละเมิดศีล (เทวโองการ) เป็นเรื่องของการ
ให้ผลตอบแทน (retribution) ผลดีคือการได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นฝ่ายรางวัล
(reward) ส่วนผลร้าย คือ ไปเกิดในนรกเป็นฝ่ายการลงโทษ (punishment)
การจะได้ผลดี หรือ ผลร้ายนั้นย่อมสุดแต่การพิพากษาหรือวินิจฉัยโทษ (judgment) ของเบื้องบน

๗. ในแง่ความเข้าใจเกี่ยวกับความดีความชั่ว ทางฝ่ายพุทธธรรมสอนว่า ความดีเป็นคุณค่า
ที่รักษาและส่งเสริมคุณภาพของจิต ทำให้จิตใจสะอาดผ่องใสบริสุทธิ์ หรือยกระดับให้สูงขึ้น จึงเรียกว่าบุญ (good, moral หรือ meritorious) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญ
งอกงามแก่ชีวิตจิตใจ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นหรืออิสรภาพทั้งทางจิตใจและทางปัญญา
เป็นการกระทำที่ฉลาด ดำเนินตามวิถีแห่งปัญญาเอื้อแก่สุขภาพจิต จึงเรียกว่า กุศล (skilful หรือ wholesome)
ส่วนความชั่ว เป็นสภาพที่ทำให้คุณภาพของจิตเสื่อมเสีย หรือ ทำให้ตกต่ำลง
จึงเรียกว่าบาป (evil) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ชีวิตจิตใจ ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด ไม่เอื้อแก่สุขภาพจิต จึงเรียกว่า อกุศล (unskillful หรือ unwholesome)

ส่วนในศาสนาเทวนิยม ความดีความชั่ว กำหนดด้วยศรัทธาแบบภักดี ต่อองค์เทวะเป็นมูลฐาน คือ ถือเอาการเชื่อฟังยอมรับและปฏิบัติตามเทวะประสงค์และเทวบัญชาหรือไม่เป็นหลัก โดยเฉพาะ ความชั่วหมายถึงการผิด หรือ ล่วงละเมิดต่อองค์เทวะ (sin) ในรูปใดรูปหนึ่ง


๘ .จากพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างกันต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ประการ คือ

ก. ศีลในพุทธธรรม จึงต้องเป็นคำสอนที่ต่อเนื่องกันตามเหตุผลเป็นระบบจริยธรรม เพราะผู้ปฏิบัติ
จะประพฤติได้ถูกต้อง ต่อเมื่อมีความเข้าใจในระบบและเหตุผลที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย
ส่วนศีล หรือ จริยธรรมทั่วไปในศาสนาเทวนิยม ย่อมเป็นประกาศเทวโองการ หรือ คำแถลง
เทวประสงค์ เป็นเรื่องๆ ข้อ ๆ ต่างๆ กันไป แม้นำมารวบรวมไว้ก็ย่อมเรียกว่าประมวล ไม่ใช่ระบบ
เพราะผู้ปฏิบัติต้องการความเข้าใจอย่างมากก็เฉพาะในความหมายของสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น ไม่จำเป็นต้อง
เข้าใจในระบบและเหตุผลที่เกี่ยวข้อง เพราะถือว่าระบบและเหตุต่างๆ ทั้งปวงอยู่ในพระปรีชาขององค์เทวะหมด
สิ้นแล้ว อันผู้ปฏิบัติไม่พึงสงสัย เพียงแต่เชื่อฟัง มอบความไว้วางใจ และปฏิบัติตามเทวโองการเท่านั้น
เป็นพอ

ข. ศีลหรือระบบจริยธรรมแบบพุทธ เป็นหลักกลางๆ และเป็นสากล กำหนดโดยข้อเท็จจริง
ตามกฎธรรมชาติ (หมายถึงสารัตถะของศีล ในฝ่ายธรรมอันเกี่ยวด้วยบุญบาป ไม่ใช่ในความหมายฝ่ายวินัย อันเกี่ยวด้วยการลงโทษ) เช่น พิจารณาผลหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของจิต ผลต่อพฤติกรรม นิสัย และบุคลิกภาพ เป็นต้น จึงไม่อาจวางข้อจำกัดที่เป็นการแบ่งแยกเพื่อผลประโยชน์เฉพาะพวก เฉพาะกลุ่ม หรือเอาความพอใจของตนเป็นเครื่องวัดได้ เช่น ไม่จำกัดว่า คนศาสนานี้เท่านั้น
มีกรุณาจึงเป็นคนดี คนศาสนาอื่นมีกรุณาก็เป็นคนดีไม่ได้ ฆ่าคนศาสนานี้เท่านั้นเป็นบาป ฆ่าคนศาสนาอื่นไม่บาป คนศาสนานี้เท่านั้นให้ทานไปสวรรค์ได้ คนศาสนาอื่นประพฤติอย่างไรไม่เชื่อฉันเสียอย่างเดียวตกนรกหมด ฆ่าสัตว์ (รวมทั้งที่ไม่เป็นอาหาร)ไม่บาป เพราะสัตว์เป็นอาหารของตน- *
(คนไม่เป็นอาหารของเสือและสิงโต เป็นต้น ? ) ดังนี้ เป็นต้น
จะมีการจำกัดแบ่งแยกได้ เช่นว่าบาปมากบาปน้อยเป็นต้นอย่างไร ก็เป็นไปโดยข้อเท็จจริงตาม
กฎธรรมชาติ เช่น พิจารณาผลและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของจิต เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว

ส่วนในศาสนาเทวนิยม หลักเหล่านี้ ย่อมกำหนดให้จำกัดหรือขยายอย่างไร ก็ได้ตามเทวประสงค์
ดุจเป็นวินัยบัญญัติ หรือนิติปัญญัติ เพราะองค์เทวะทรงเป็นทั้งผู้ตรากฎหมายและผู้พิพากษาเอง

๙. เนื่องจากศีลเป็นหลักกลางๆ กำหนดด้วยข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติตามแนว
พุทธธรรม จึงต้องเป็นผู้กล้ายอมรับและกล้าเผชิญหน้าความจริง ความดี ชั่ว ถูก ผิด มีอยู่เป็นข้อเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องกล้ายอมรับความจริงตามที่เป็นเช่นนั้น
ส่วนตนจะปฏิบัติ หรือ ไม่แค่ไหนเพียงไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต้องกล้ายอมรับการที่ตนปฏิบัติดีไม่ดี
ตามข้อเท็จจริงนั้น มิใช่ถือว่าไม่ชั่ว เพราะตัวอยากทำสิ่งนั้น ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ มิได้ขึ้นต่อการวัดวัดด้วยการอยากทำหรือไม่ของตน
ถ้ามีอันถึงกับจะทำกรรมที่ให้ตกนรกสักอย่างหนึ่ง การที่ยอมรับพูดกับตนเองว่า กรรมนั่นไม่ดี แต่ตนยอมเสียสละตกนรก ยังดีกว่าหลอกตัวเองว่ากรรมนั้นไม่เป็นกรรมชั่ว

......

* ท่าทีต่ออาหาร ที่เป็นไปอย่างถึงธรรมชาติแท้ๆ คือ ยอมรับความจริงว่าเพราะยังเดินทางไป่ถึงจุดหมาย เราจึงจำต้องทำสิ่งที่เราเองก็ไม่ปรารถนา แต่ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น โดยให้นึกถึงอาหารที่กินั้น เหมือนกับพ่อแม่จำใจกินเนื้อลูกของตนระหว่างเดินทางกันดาร
ดู สํ.นิ.16/241/119

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2009, 09:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีสิ่งที่อาจถือว่าเป็นข้อดีหรือได้เปรียบของศีลแบบเทวโองการ คือ

๑ . ตัดการพิจารณาเรื่องถูกผิด จริงไม่จริง ออกเสีย กล่าวได้ว่า เมื่อเชื่อเสียแล้วศรัทธาล้วนแบบ
ภักดี ย่อมได้ผลในทางปฏิบัติที่รวดเร็วเร่งเร้าและรุนแรงกว่า แต่จะเกิดปัญหาขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในยุค
แห่งเหตุผลว่า ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อได้ ปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่
ไม่ศรัทธาเหมือนตน ปัญหาเรื่องความมั่นคงของศรัทธานั้น และการไม่มีโอกาสเข้าถึงอิสรภาพทางปัญญา

๒ .สำหรับสามัญชนทั่วไป ย่อมเข้าใจถึงความหมายของศีลตามแบบศรัทธาล้วนได้ง่ายกว่า และศีลแบบนี้ก็
ควบคุมความประพฤติของคนสามัญได้อย่างดี ดังนั้น แม้ในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ความ เข้าใจในเรื่องศีล
เรื่องบาปจึงยังคงมีส่วนที่คล้ายกับศาสนาเทวนิยมแฝงอยู่ด้วย เช่น เห็นศีลเป็นข้อห้าม (แต่ลางเลือนว่าใคร
เป็นผู้ห้าม) เห็นผลของบุญบาปเป็นอย่างผลตอบแทน เป็นรางวัลหรือการลงโทษ เป็นต้น แต่ปัญหาก็คง
เป็นอย่างเดียวกับข้อ ๑ คือ ทำอย่างไรจะให้เชื่อกันอยู่ได้ตลอดไป

๓ . การบัญญัติกรรมไม่ดีบางอย่าง ที่เห็นว่ายังจำเป็นต้องทำเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของตน ให้เป็น
กรรมที่ไม่ผิดไปเสีย จัดเป็นวิธีจูงใจตัวเองได้อย่างหนึ่ง
พุทธธรรมยอมรับว่าวิธีจูงใจตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ได้ผลมากอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง
ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในเรื่องนั้นๆ เช่น บัญญัติว่าฆ่าสัตว์ไม่บาป ก็ทำให้เบาใจและไม่รู้สึกสะกิดใจ
ในการฆ่าสัตว์ แต่การจูงใจแบบนี้ทำให้เกิดผลร้ายในด้านอื่น และไม่เป็นวิถีทางแห่งปัญญา
พุทธธรรมนิยมให้เป็นอยู่ด้วยการรับรู้ความเป็นจริงจะแจ้งในทุกขั้นทุกตอน ให้รู้จักเลือกตัดสินด้วยตน
เอง
พุทธธรรมสอนให้ใช้วิธีจูงใจตนเองบ้างเหมือนกัน แต่สอนโดยให้ผู้นั้นรู้เข้าใจในเรื่องที่จะใช้จูงใจนั้นตาม
ข้อเท็จจริง แล้วให้นำไปใช้ด้วยตนเอง เรื่องที่ใช้จูงใจนั้นไม่มีแง่ที่เสียหาย และให้ใช้เฉพาะในกรณี
ที่ช่วยเป็นพลังในการทำความดีอย่างอื่นให้ได้ผลยิ่งขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 40 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร