วันเวลาปัจจุบัน 06 พ.ค. 2025, 00:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 106 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2014, 20:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พึงเขาใจคำว่า ธรรม


"ธรรม" เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดจนกระทั่งความไม่มี ที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึง ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น


ถ้าจะให้ ธรรม มีความหมายแคบเข้า หรือจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เติมคำขยายประกอบลงไป เพื่อจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเอาส่วน หรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้น ก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวโดดเต็มรูปของมันตามเดิมนั่นแหละ แต่ตกลง หรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้นๆ ในกรณีนั้น หรือในความแวดล้อมอย่างนั้นๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น เช่น เมื่อคู่กับอธรรม หรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรม คือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึง ปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน ดังนี้เป็นต้น

ธรรมในความหมายเช่นนี้ จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อแยกแยะแจกแจงประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรม บ้าง โลกิยธรรมและโลกุตรธรรม บ้าง สังขตธรรม และอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม (สภาวะที่เป็นกลางๆ) บ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ศึกษาในที่นี้ คือชุดสังขตธรรม และอสังขตธรรม


ธรรมทั้งหลายทั้งปวง แยกประเภทได้เป็น ๒ อย่าง คือ


๑. สังขตธรรม ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้า หรือ สิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงือนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขาร ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกัน หมายถึง สภาวะทุกอย่าง ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทั้งที่ดี ที่ชั่ว และที่เป็นกลางๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน


๒. อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกนัยหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลงว่า สภาวะปลอดสังขาร หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 05:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา น่าจะใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ใช้กับงานได้ทุกชนิด คือเอางาน สิ่งที่ทำ หรือจุดหมายที่ต้องการ เป็นอารมณ์ของจิต

ดูบาลีนิดหนึ่งพอเห็นเค้าความหมาย



ข้อความจากบาลีมาทบทวนความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่าอิทธิ

อิทธิ แปลว่า ความสำเร็จ:

“คำว่า อิทธิ หมายความว่า ความสำเร็จ, ความสัมฤทธิ์, การสำเร็จ, การสำเร็จด้วยดี, การได้, การได้จำเพาะ, การถึง, สมบัติ, การถูกต้อง, การประจักษ์แจ้ง, การบำเพ็ญให้ถึงพร้อม ซึ่งธรรมเหล่านั้น”

"ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาทเป็นไฉน ? มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อการได้อิทธิ เพื่อประสบอิทธิ
มรรคา ปฏิปทานี้ เรียกว่า อิทธิบาท"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 05:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (ความสำเร็จ หรือฤทธิ์) หรือธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือแปลง่ายๆว่า ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความมีใจจดจ่อ) และ วิมังสา (ความสอบสวนไตร่ตรอง) แปลให้จำง่าย ตามลำดับว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

อิทธิบาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสพันไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด ก็มีชื่อเรียกตาม อิทธิบาทข้อนั้น โดยนัยนี้ จึงมีสมาธิ ๔ ข้อ คือ

๑. ฉันทสมาธิ สมาธิที่เกิดจากฉันทะ หรือสมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่

๒. วิริยสมาธิ สมาธิที่เกิดจากวิริยะ หรือสมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

๓. จิตตสมาธิ สมาธิที่เกิดจากจิตตะ หรือสมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

๔. วีมังสาสมาธิ สมาธิที่เกิดจากวิมังสา หรือสมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่



อนึ่ง สมาธิเหล่านี้ จะเกิดมีควบคู่ไปด้วยกันกับความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า "ปธานสังขาร" ซึ่งแปลว่า สังขารที่เป็นตัวความเพียร หรือความเพียรที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง แปลง่ายๆว่า ความเพียรที่เป็นแรงสร้างสรรค์ หรือความเพียรสร้างสรรค์ (ได้แก่ ความเพียรซึ่งทำหน้าที่ ๔ กัน-ละ-เจริญ-รักษา ที่เรียกว่า ปธาน ๔ นั่นเอง)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 05:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สมาธิเกิดจาก ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือจากความมีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน ได้อย่างไร มีแนวความเข้าใจ ดังนี้


1. ฉันทะ ความพอใจ ได้แก่ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น อยากทำสิ่งนั้นๆให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุถึงจุดหมาย พูดง่ายๆว่า รักงานและรักจุดหมายของงาน พูดให้ลึกลงไปในทางธรรมว่า ความรักความใฝ่ใจปรารถนาต่อภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดหมายของสิ่งที่กระทำ หรือซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการกระทำนั้น อยากให้สิ่งนั้นๆ เข้าถึง หรือดำรงอยู่ในภาวะที่ดีที่งดงามที่ประณีต ที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ของงานนั้น เกิดมีเป็นจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น


ความอยากที่เป็นฉันทะนี้เป็นคนละอย่างกันกับความอยากได้สิ่งนั้นๆ มาเสพเสวย หรืออยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นตัณหา ความอยากที่เป็นฉันทะนั้น ให้เกิดความสุข ความชื่นชมเมื่อเห็นสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ บรรลุความสำเร็จ เข้าถึงความสมบูรณ์ อยู่ในภาวะอันดีงามของมัน


อาการของความอยากที่เป็นฉันทะนี้ พูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้น หรืองานนั้น กำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็เกิดปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ ครั้นสิ่งหรืองานที่ทำบรรลุจุดหมาย ก็ได้รับความโสมนัสเป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่พร้อมด้วยความรู้สึกโปร่งโล่ง ผ่องใสเบิกบานแผ่ออกไปเป็นอิสระไร้ขอบเขต


ส่วนความอยากที่เป็นตัณหา ให้เกิดความสุขความชื่นชมเมื่อได้สิ่งนั้นมาให้ตนเสพเสวยรสอร่อย หรือปรนเปรอความยิ่งใหญ่พองขยายของตัวตน เป็นความฉ่ำชื่นใจที่เศร้าหมอง หมกหมักตัว กีดกั้นกักตนไว้ในความคับแคบ และมักติดตามมาด้วยความหวงแหนห่วงกังวล เศร้าเสียดายและหวั่นกลัวหวาดระแวง


ถ้า สามารถปลุกเร้าฉันทะให้เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เกิดความรักในคุณค่าความดีงาม ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น หรือจุดหมายนั้นอย่างเต็มที่แล้ว คนก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจอุทิศให้แก่สิ่งนั้น เมื่อรักแท้ก็มอบใจให้ อาจถึงขนาดยอมสละชีวิตเพื่อสิ่งนั้นได้

เจ้า ขุนนาง เศรษฐี พราหมณ์ คนหนุ่มสาวมากมายในพุทธกาล ยอมสละวัง ทรัพย์สมบัติ และอามิสมากมายออกบวชได้ ก็เพราะเกิดฉันทะในธรรม
เมื่อได้สดับซาบซึ้งคำสอนของพระพุทธเจ้า


แม้ คนทั้งหลายที่ทำงานด้วยใจรัก ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีฉันทะนำแล้ว ก็ต้องการทำสิ่งนั้น ให้ดีที่สุด ให้สำเร็จผลอย่างดีที่สุดของสิ่งนั้น ของงานนั้น ไม่ห่วงพะวงกับสิ่งล่อเร้า หรือผลตอบแทนทั้งหลาย จิตใจก็มุ่งแน่วแน่มั่นคงในการดำเนินสู่จุดหมาย เดินเรียบ สม่ำเสมอ ไม่ซ่าน ไม่ส่าย ฉันทะสมาธิจึงเกิดขึ้นโดยนัยนี้ และพร้อมนั้น ปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์ ก็ย่อมเกิดควบคู่มาด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 05:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


2. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ ความอาจหาญ แกล้วกล้า บากบั่น ก้าวไป ใจสู้ ไม่ย่อท้อ
ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรค และ ความยากลำบาก เมื่อคนรู้ว่าสิ่งใดมีคุณค่าควรแก่การบรรลุถึง ถ้าวิริยะเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว แม้ได้ยินว่าจุดหมายนั้นจะลุถึงได้ยากนัก มีอุปสรรคมาก หรืออาจใช้เวลายาวนานเท่านั้นปี
เท่านี้เดือน เขาก็ไม่ท้อถอย กลับเห็นเป็นสิ่งท้าทายที่เขาจะเอาชนะให้ได้ ทำให้สำเร็จ


ในพุทธกาล มีนักบวชนอกศาสนาหลายท่านในสมัยพุทธกาล เมื่อสดับพุทธธรรมแล้วเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้รับทราบว่า ผู้เคยเป็นนักบวชนอกศาสนาจะต้องประพฤติวัตรทดสอบตนเองก่อน เรียกว่าปริวาส (ติตถิยปริวาส) เป็นเวลา 4 เดือน ใจก็ไม่ท้อถอย กลับกล้าเสนอตัวประพฤติทดสอบเพิ่มเป็นเวลา ถึง 4 ปี


ส่วนผู้ขาดความเพียร อยากบรรลุความสำเร็จเหมือนกัน แต่พอได้ยินว่าต้องใช้เวลานานเป็นปีก็หมดแรง ถอยหลัง ถ้าอยู่ระหว่างปฏิบัติก็ฟุ้งซ่าน จิตใจวุ่นวาย ปฏิบัติได้ผลยาก

คนที่มีความเพียร เท่ากับมีแรงหนุน เวลาทำงาน หรือ ปฏิบัติธรรมก็ตาม จิตใจจะแน่วแน่ มั่นคง พุ่งตรงต่อจุดหมาย สมาธิก็เกิดขึ้นได้ เรียกว่าวิริยสมาธิ พร้อมทั้งปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์เข้าประกอบคู่ไปด้วยกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 05:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


3. จิตตะ ความคิดจดจ่อ หรือเอาใจฝักใฝ่ ได้แก่ ความมีใจผูกพัน จดจ่อ เฝ้าคิดเรื่องนั้น ใจอยู่กับงานนั้น ไม่ปล่อย ไม่ห่างไปไหน ถ้าจิตตะเป็นไปอย่างแรงกล้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง คนผู้นั้น จะไม่สนใจไม่รับรู้เรื่องอื่นๆ ใครจะพูดอะไรเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ แต่ถ้าพูดเรื่องนั้นงานนั้นจะสนใจเป็นพิเศษทันที บางทีจัดทำเรื่องนั้น งานนั้น ขลุกง่วนอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่เอาใจใส่ร่างกาย การแต่งเนื้อแต่งตัว อะไรเกิดขึ้นก็ไม่สนใจ เรื่องอื่นเกิดขึ้นใกล้ๆ บางทีก็ไม่รู้ ทำจนลืมวันลืมคืน ลืมกินลืมนอน

ความมีใจจดจ่อฝักใฝ่เช่นนี้ ย่อมนำให้สมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่ แนบสนิทในกิจที่ทำ มีกำลังมากเฉพาะสำหรับกิจนั้น เรียกว่าเป็นจิตตสมาธิ พร้อมนั้นก็เกิดปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์ร่วมสนับสนุนไปด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 07:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


4. วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง ได้แก่ การใช้ปัญญาพิจารณาหมั่นใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบ ข้อที่ยิ่งหย่อน เกินเลยบกพร่อง หรือ ขัดข้องเป็นต้นในกิจที่ทำ รู้จักทดลอง และค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง

ข้อนี้ เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่ยาก คนที่มีวิมังสาชอบคิดค้นหาเหตุผล
ชอบสอบสวนทดลอง เมื่อทำอะไร ก็คิดพิจารณาทดสอบไป เช่น คิดว่า ผลนี้เกิดจากเหตุอะไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ผลคราวนี้ เกิดจากปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เท่านี้
ถ้าชักองค์ประกอบนี้ออกเสียจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเพิ่มองค์ประกอบนี้เข้าไปแทน จะเกิดผลอย่างนี้
ลองเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นแล้ว ไม่เกิดผลอย่างที่คาดหมาย เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขที่จุดไหน ฯลฯ


ในการปฏิบัติธรรม ก็ชอบพิจารณาใคร่ครวญสอบสวนเช่นว่า ธรรมข้อนี้ๆ มีความหมายอย่างไร
มีความมุ่งหมายอย่างไร ควรใช้ในโอกาสอย่างใด ควบคู่สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นข้อใด
ปฏิบัติธรรมคราวนี้ไม่ค่อยก้าวหน้า อินทรีย์ใดอ่อนไป อินทรีย์ใดเกินไป
คนสมัยปัจจุบันอยู่ในสภาพอย่างนี้ ขาดแคลนธรรมข้อใดมาก จะนำธรรมข้อนี้เข้าไป ควรใช้วิธีอย่างใด ควรเน้นความหมายด้านไหน เป็นต้น


การคิดหาเหตุผลและสอบสวนทดลองอย่างนี้ ย่อมช่วยรวมจิตให้คอยกำหนด และติดตามเรื่องที่พิจารณาอย่างติดแจตลอดเวลา เป็น เหตุให้จิตแน่วแน่แล่นดิ่งไปกับเรื่องที่พิจารณา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง เรียกว่าวิมังสาสมาธิ ซึ่งก็จะมีปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์ เกิดมาด้วย เช่นเดียวกับสมาธิข้ออื่นๆ



ความจริง อิทธิบาท 4 อย่างนี้ เกื้อหนุนกัน และมักมาด้วยกัน เช่น เกิดฉันทะ มีใจรัก แล้วก็ทำให้พวกเพียร เมื่อพากเพียร ก็เอาใจจดจ่อใฝ่ใจอยู่เสมอ และเปิดช่องให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง
แต่ที่แยกพิจารณาแต่ละข้ออย่างนี้ ก็ด้วยถือเอาภาวะที่เด่นเป็นใหญ่ เป็นตัวนำ เป็นตัวชักจูงข้ออื่นๆ ในแต่ละกรณี เช่นว่า

เมื่อฟังธรรมด้วยกัน คนหนึ่ง ชอบศึกษาธรรม ฟังด้วยความรักความพอใจในธรรม อยากรู้อยากเข้าใจธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป (หรือแม้เพียงแต่ชอบใจธรรมที่แสดงในคราวนั้น หรือชอบผู้แสดงคราวนั้น) จึงฟังด้วยจิตแน่วแน่ ก็มีฉันทะเป็นตัวเด่น ชักนำสมาธิ และกุศลธรรมอื่นๆ

อีกคนหนึ่ง มีนิสัย หรือความรู้สึกเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เมื่อพบอะไรที่พึงทำก็ต้องสู้ต้องเอาชนะ
ต้องเข้าเผชิญและทำให้สำเร็จ จึงฟังด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทาย จะต้องพยายามเข้าใจให้ได้ ก็มีวิริยะเป็นธรรมเด่น

อีกคนหนึ่ง มีนิสัยเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ว่าอะไรที่ตนเกี่ยวข้องก็จะต้องใส่ใจเอาจิตจดจ่อติดตาม
จึงตั้งใจฟัง เอาจิตติดตามเนื้อความไป ก็มีจิตตะเป็นใหญ่

อีกคนหนึ่ง คิดจะตรวจสอบว่า ธรรมที่แสดงนั้น จริงหรือไม่ ดีหรือไม่ หรือจะค้นหาเหตุผลในธรรม
ที่ฟัง ฟังไปก็คิดใคร่ครวญพิจารณาสอบสวนไป ใจจึงแน่วแน่อยู่กับธรรมที่ฟัง ก็มีวิมังสาเป็นใหญ่

ด้วยเหตุนี้ บางแห่ง ท่านจึงเรียกอิทธิบาท 4 นี้ว่า เป็นอธิบดี หรือ อธิปไตย 4 โดยกำหนดเอาภาวะที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ในกรณีนั้นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2014, 07:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาระของการสร้างสมาธิตามหลักอิทธิ บาท ก็คือ เอางาน สิ่งที่ทำ หรือ จุดหมายที่ต้องการเป็นอารมณ์ของจิต แล้วปลุกเร้าระดม ฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือ วิมังสาเข้าหนุน สมาธิก็เกิดขึ้นและมีกำลังแข็งกล้า ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี


โดยนัยนี้ ในการปฏิบัติธรรมก็ดี ในการเล่าเรียนศึกษา หรือประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี
เมื่อต้องการสมาธิ เพื่อให้กิจที่ทำนั้น ดำเนินไปอย่างได้ผลดี ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท 4 อย่างนี้ ให้เกิดเป็นองค์ธรรมเด่นนำขึ้นสักข้อหนึ่ง แล้วสมาธิความสุขสบายใจ และการทำงานที่ได้ผล ก็เป็นอันหวังได้เป็นอย่างมากว่า จะเกิดมีตามมาเอง พร้อมกันนั้น การฝึกสมาธิ หรือการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็จะเกิดมีขึ้นในห้องเรียน ในบ้าน ในทุ่งนา ในที่ทำงาน และในสถานที่ทุกๆแห่ง


ตัวอย่าง เช่น เมื่อจะสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูก็ทำตนเป็นกัลยาณมิตร
โดยอาจชี้แจงให้นักเรียนเห็นคุณค่าความดีของวิชานั้นหรือเรื่องราวนั้น ให้มองเห็นผลตอบแทน หรือความเจริญก้าวหน้าในชีวิตเป็นต้น (ใช้โลภะเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ) ก็ได้ หรือ ถ้าจะให้ดีควรเป็นประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ความเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ (ฉันทะบริสุทธิ์) ก็ได้ จนทำให้นักเรียนเกิดความรักความพอใจอยากเรียน เพราะอยากรู้วิชานั้น นี้เรียกว่า ปลุกฉันทะให้เกิดขึ้น



อีกอย่างหนึ่ง อาจพูดปลุกเร้าในแง่ที่เป็นสิ่งท้าทายสติปัญญาความสามารถ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง
คึกคักที่จะเรียน หรือกล่าวถึงตัวอย่างการกระทำสำเร็จของผู้อื่น ให้เกิดกำลังใจสู้ เป็นต้น เรียกว่าปลุกเร้าวิริยะขึ้น


อีกอย่างหนึ่ง อาจปลุกเร้าในแง่ของความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ หรือความรับผิดชอบ ให้เห็นความเกี่ยวข้อง
และความสำคัญของเรื่องนั้นต่อชีวิตหรือต่อสังคม เช่น เรื่องเกี่ยวกับภัยอันตรายและความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแม้นักเรียนจะมิได้ชอบมิได้รักเรื่องนั้น แต่ก็จะเอาใจใส่ตั้งจิตจดจ่อ เรียนอย่างแน่วแน่ เรียกว่า ทำให้เกิดจิตตะ



อีกอย่างหนึ่ง ครูอาจสอนตามแนวของการสำรวจตรวจสอบสืบสวนทดลอง หรือค้นคว้าหาเหตุผล เช่น ตั้งเป็นปัญหาหรือคำถาม เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนต้องใช้วิมังสา นักเรียนก็จะเรียนอย่างมีสมาธิได้เหมือนกัน เรียกว่าใช้วิธีวิมังสา


ยิ่งถ้าครูจับลักษณะนิสัยของนักเรียนได้ แล้วปลุกเร้าอิทธิบาท ข้อที่ตรงกับลักษณะนิสัยอย่างนั้น ก็ยิ่งดี หรือ อาจปลุกเร้าอิทธิบาทหลายๆ ข้อไปพร้อมกันก็ได้


ในขณะเดียวกัน ผู้เรียน หรือผู้ทำงานที่ฉลาดอาจใช้โยนิโสมนสิการปลุกเร้าอิทธิบาทขึ้น มาใช้สร้างผลสำเร็จได้ด้วยตนเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2014, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทความในพระสูตรนี้ก็น่าจะได้


ถึงจะยังบริโภคกามสุข ก็ต้องมีปัญญารักษาอิสรภาพไว้ รู้หนทางปลอดภัยจากกามทุกข์


อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า ตามปกติ กามสุข กับความสุขอย่างประณีตนั้น ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะกามสุขพัวพันอยู่กับอารมณ์ที่ให้ตื่นเต้น ประกอบด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย หาอารมณ์มาสนองระงับให้เกิดความสงบ ส่วนความสุขประณีตเริ่มต้นจากความสงบ ดังจะเห็นว่า ฌานสุขจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อจิตสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายก่อน


ดังนั้น สำหรับปุถุชน การที่จะเสวยทั้งกามสุข และทั้งได้ความสุขประณีต โดยเฉพาะฌานสุขด้วย จึงเป็นไปได้ยาก เพราะปุถุชนพอใจอะไรแล้ว มักติด มักหมกมุ่นหลงใหลง่าย เมื่อฟุ้งซ่านกระวนกระวายเพริดไปด้วยแรงปรารถนากามสุขแล้ว ก็ยากที่จะให้สงบเข้าสู่แนวแห่งฌานสุข จึงปรากฏเรื่องราวที่ฤษีและนักบวชเสื่อมจากฌาน เพราะติดใจกามกันบ่อยๆ ต่อเมื่ออริยชน อย่างบุคคลโสดาบัน จึงจะอยู่กับกามสุขได้ด้วยดีโดยปลอดภัย


ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนย้ำให้รู้จักวางใจอย่างถูกต้องต่อกามสุข ให้มีปัญญาที่จะสลัดตัวออกได้ ดังที่ในการปฏิบัติที่ตรัสไว้ต่อไปนี้


ในปาสราสิสูตร ท่านเปรียบกามคุณเหมือนบ่วงดักของนายพราน แล้วกล่าวถึงสมณพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไว้ ๓ จำพวก


พวกที่หนึ่ง คือ สมณพราหมณ์ที่บริโภคกามคุณทั้ง ๕ * โดยมีความติด หลงใหล หมกมุ่น ไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาพาตัวรอด เป็นเหมือนเนื้อป่าที่ติดบ่วงและนอนทับบ่วงอยู่ ย่อมจะประสบความเสื่อม ความพินาศ ถูกพรานทำเอาได้ตามปรารถนา


พวกที่สอง คือ สมณพราหมณ์ที่บริโภคกามคุณทั้ง ๕ โดยไม่ติด ไม่หลงใหล ไม่หมกมุ่น รู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาพาตัวรอดได้ เป็นเหมือนเนื้อป่าที่นอนทับบ่วงแต่ตัวไม่ติดบ่วง ย่อมจะไม่ประสบความเสื่อม ความพินาศ ไม่ถูกพรานคือมารร้ายทำอะไรเอาตามปรารถนา


พวกที่สาม คือ ภิกษุที่สงัดจากกาม ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้บรรลุรูปฌาน และอรูปฌาน ขั้นใดขั้นหนึ่ง ตลอดจนบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ และเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว (ประสบสุขประณีตสูงสุดแล้ว) ได้ชื่อว่าทำให้มารตาบอด มองไม่เห็นร่องรอย ถึงภาวะที่มารมองไม่เห็น เป็นเหมือนเนื้อป่าเที่ยวไปป่าใหญ่ จะเดินจะนั่งจะนอน ก็ปลอดโปร่งเบาใจ เพราะไม่อยู่ในสายตาของนายพราน



ตามความในสูตรนี้ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงเพ่งแต่จะสอนให้ละเลิกความเกี่ยวข้องกับกามคุณไปถ่ายเดียว แต่ทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง โดยยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ตกไปเป็นทาสของกามคุณ และมิให้กามคุณกลายเป็นสิ่งก่อโทษทุกข์ภัย



การเกี่ยวข้องเสพกามคุณตามแบบของสมณพราหมณ์พวกที่สอง นับว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่พึงเน้นมากที่สุดสำหรับคนทั่วไป ตามวิธีปฏิบัติแบบนี้ คำแสดงหลักที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ คือคำว่า ปัญญาพาตัวรอด ซึ่งแปลจาก นิสสรณปัญญา จะแปลว่า ปัญญารู้ทางรอดก็ได้ หมายถึง ปัญญาที่รู้จักทำตนให้เป็นอิสระได้ อาจเรียกแบบง่ายๆว่า ปัญญาที่ทำให้ตัณหาล่อเอาไว้ไม่อยู่ หรือปัญญาที่ทำให้ตัณหาดักไม่ติด


นิสสรณปัญญานี้ ตามปกติอรรถกถาทั้งหลายอธิบายว่า หมายถึงการรู้จักพิจารณาเมื่อบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ โดยมองถึงความมุ่งหมายที่แท้จริงของการบริโภคสิ่งเหล่านั้น คือมองที่ตัวประโยชน์ หรือคุณค่าที่แท้ของสิ่งเหล่านั้นต่อชีวิต เช่น ใช้เครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันหนาวร้อนแดดลมเหลือบยุง และปกปิดที่อาย มิใช่มุ่งเพื่อยั่วยวนอดโก้หรูหรา เป็นต้น บริโภคอาหารเพื่อยังชีพให้ร่างกายมีกำลังอยู่สบายทำกิได้ด้วยดี มิใช่เพื่อสนุกนานมัวเมาหรืออวดโก้ฟุ้งเฟ้อ เป็นต้น



การรู้จักปฏิบัติโดยใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ นอกจากจะทำให้จิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ ไม่ก่อให้เกิดโทษ และความทุกข์ ที่เกิดจากการวกเวียนวุ่นอยู่ในวงจรอันคับแคบแห่งความหงุดหงิดดีใจเสียใจสมใจผิดหวังแล้ว ยังทำให้เกิดความพอดีในการบริโภคหรือใช้สอย ซึ่งเป็นคุณแก่ชีวิตอีกด้วย ท่านจึงเรียก การปฏิบัติด้วยนิสสรณปัญญา ว่าเป็นความรู้จักประมาณ


ผู้ปฏิบัติถูกต้องต่อกามสุข ย่อมก้าวหน้าไปสู่สุขที่ประณีตได้ง่ายขึ้น เมื่อประสบสุขประณีตแล้ว สุขประณีตนั้น ก็กลับเป็นเครื่องช่วยควบคุมการแสวงหา และการเสพกามสุข ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความถูกต้องดีงาม เพราะบุคคลผู้นั้นเห็นคุณค่าของสุขประณีตที่สูงกว่า และความสุขประณีตต้องอาศัยกุศลธรรม


ครั้นบุคคลนั้นบรรลุภูมิธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีก ประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดก็จะไม่วกเวียนมาหากามสุขอีกเลย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2014, 07:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กาม กามคุณ กามสุข ได้ยินบ่อยๆ อะไร ?

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2014, 08:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กาม สิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ และความใคร่ในสิ่งสนองความต้องการเหล่านั้น


"ภิกษุทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่างดังนี้ คือ รูปทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยตา...เสียงทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยหู...กลิ่นทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยจมูก...รสทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยลิ้น...โผฏฐัพพะทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยกาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนติดใจ เหล่านี้แล คือ กามคุณ ๕ อาศัยกามคณ ๕ ประการเหล่านี้ มีความสุข ความฉ่ำใจ (โสมนัส) ใดเกิดขึ้น นี่คือส่วนดี (อัสสาทะ ความหวานชื่น) ของกามทั้งหลาย นี้เรียกว่า กามสุข"


"คำว่า กาม โดยหัวข้อ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม (วัตถุอันน่าใคร่ สิ่งที่อยากได้) ๑ กิเลสกาม (กิเลสที่ทำให้ใคร่ ความอยากที่เป็นตัวกิเลส) ๑


"วัตถุกาม เป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชื่นชอบใจ เครื่องลาด เครื่องห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี รัฐ ประเทศ กองทัพ คลังหลวง วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความติดใคร่ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ชื่อว่า วัตถุกาม ฯลฯ


"กิเลสกาม เป็นไฉนๆ ความพอใจเป็นกาม ราคะก็เป็นกาม ความพอใจติดใคร่ก็เป็นกาม ความดำริก็เป็นกาม ราคะก็เป็นกาม ความครุ่นคิดติดใคร่ก็เป็นกาม กามฉันทะ กามราคะ กามนันทิ กามตัณหา กามเสน่หา ความเร่าร้อนกาม ความหลงใหลกาม ความหมกมุ่นกาม กามท่วมใจ กามผูกรัดใจ ความถือมั่นในกาม นิวรณ์คือกามฉันท์ กามในข้อความว่า นี่แน่ะกาม เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้วว่า เจ้าเกิดขึ้นมาจากคามดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าละ เมื่อทำอย่างนี้ เจ้าก็จักไม่มี เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2014, 21:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ม.ค. 2014, 08:17
โพสต์: 73

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปแล้ว น้องคนที่ถาม ได้คำตอบ เพื่อไปใช้ในชีวิตหรือยัง


หากน้องได้คำตอบแล้ว ขออนุโมทนากับท่านผู้มีกรุณา ให้คำตอบกับน้อง


กระทู้นี้จะเป็นประโยชน์ กับ พุทธศาสนิกชน เป็นอย่างมาก

หาก ไม่เริ่มต้นด้วยถกเถียงกัน

คนที่เขาจะเข้ามาอ่าน เพื่อเอาคำตอบไปใช้ คงจะต้องอดทนอย่างมาก จนกว่าจะอ่านได้แล้วคำตอบ

อาจจะมีบ้าง เข้ามาเห็นเถึยงกันอยู่นั่น ไหนล่ะ คำตอบ ที่เราต้องการนำไปใช้
เลย ไม่อ่านต่อ จึงไม่ได้คำตอบกลับไปเพราะ เบื่อ กับการเถียงแบบ ไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใด

ฝาก ท่านทั้งหลาย... พิจารณา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2014, 11:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.ย. 2011, 21:51
โพสต์: 4941


 ข้อมูลส่วนตัว


s006 s006
ชื่อกระทู้ถามให้บอกฆราวาสธรรม

คำถามในกระทู้ที่ไปก็อปเขามาแปะถามน้องเขาก็ถามอีกอย่าง (อยากเห็นภาพรวมว่า หลักธรรม มีอะไรบ้าง)

เรื่องที่ถกเถียงกับเช่นนั้นก็เป็นอีกอย่าง

แสดงว่ากรัชกายนี่เป็นนักสร้างเรื่องจริงๆ .......จะเป็นสร้างเรื่อง หรือ หาเรื่อง ก็ยังน่าสงสัยอยู่นะนี่

ถ้าเป็นเรื่องฆราวาสธรรมก็น่าจะบอกลิ้งค์ที่ให้รายละเอียดได้ดีให้น้องเขาไป นักวิชาการใหญ่อย่างกรัชกายคงรู้ที่และชำนาญการค้นหาอยู่แล้ว ในลานธรรมจักรนี้ก็มีบอกไว้เยอะในหัวข้ออื่น หรือจะก็อปมาแปะให้น้องเขาอ่านเลยก็จะยิ่งดี.......หรือนี่ต้องการมาถามลองภูมิผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ตั้งแต่ต้นกระทู้
s004 s004
s006 s006


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2014, 12:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


asoka เขียน:
s006 s006
ชื่อกระทู้ถามให้บอกฆราวาสธรรม

คำถามในกระทู้ที่ไปก็อปเขามาแปะถามน้องเขาก็ถามอีกอย่าง (อยากเห็นภาพรวมว่า หลักธรรม มีอะไรบ้าง)

เรื่องที่ถกเถียงกับเช่นนั้นก็เป็นอีกอย่าง

แสดงว่ากรัชกายนี่เป็นนักสร้างเรื่องจริงๆ .......จะเป็นสร้างเรื่อง หรือ หาเรื่อง ก็ยังน่าสงสัยอยู่นะนี่

ถ้าเป็นเรื่องฆราวาสธรรมก็น่าจะบอกลิ้งค์ที่ให้รายละเอียดได้ดีให้น้องเขาไป นักวิชาการใหญ่อย่างกรัชกายคงรู้ที่และชำนาญการค้นหาอยู่แล้ว ในลานธรรมจักรนี้ก็มีบอกไว้เยอะในหัวข้ออื่น หรือจะก็อปมาแปะให้น้องเขาอ่านเลยก็จะยิ่งดี.......หรือนี่ต้องการมาถามลองภูมิผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ตั้งแต่ต้นกระทู้


แล้วตรงไหน ไม่เป็นฆราวาสธรรม :b1:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2014, 21:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.ย. 2011, 21:51
โพสต์: 4941


 ข้อมูลส่วนตัว


:b16:
อ้างคำพูด:
(อยากเห็นภาพรวมว่า หลักธรรม มีอะไรบ้าง)


แค่ตรงนี้ ก็มีทั้งใช่และไม่ใช่ฆราวาสธรรมแล้ว
:b34: :b34:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 106 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร