วันเวลาปัจจุบัน 21 ก.ค. 2025, 08:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2018, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจาก

viewtopic.php?f=1&t=56237

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2018, 20:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้ายังมองความหมายของจริยธรรม กันไม่ชัด ระบบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะรวนเร


งานของผู้พิพากษา ว่าโดยทั่วไป ก็คือตัดสินคดีเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เรื่องที่คนทำและพูด
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะตัดสินได้ดี มีความมั่นใจที่สุด และทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติได้สูงสุด ผู้พิพากษาก็น่าจะเป็นผู้ที่เจนจบในเรื่องที่เรียกกันว่า จริยธรรม


ในตอนก่อน ได้บอกแจ้งขอให้ตระหนักไว้ เพื่อป้องกันความสับสนว่า จริยธรรม ในที่นี้ มิใช่มีความหมายอย่างคำว่า "จริยธรรม" ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไปในปัจจุบัน และบอกไว้ด้วยว่า จะอธิบายเหตุผลข้างหน้า

ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้


ตัวจริยะ/จริยธรรมที่แท้ ได้พูดไปข้างต้นในตอนก่อนแล้ว ในตอนนี้ ต้องการแยกจริยะแท้นั้นออกไป จากความหมายอย่างอื่นที่อาจจะทำให้เข้าใจสับสน แต่ก็จะพยายามพูดให้น้อย


การที่แยกมาทำความเข้าใจต่างหาก ก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างเด่นชัด และช่วยป้องกันความสับสนได้ดียิ่งขึ้น

"จริยธรรม" ที่พูดแล้วก่อนหน้า เป็น "จริยะ" ในระบบของธรรม ในสายความคิดของพระพุทธศาสนา ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของศัพท์มาแต่เดิม


ส่วน "จริยธรรม" ที่พูดกันในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ใหม่ไม่นาน ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ และถ้าดู จากที่มาที่ไปและความเป็นมาเป็นไปของคำว่า "จริยธรรม" นั้นเอง ก็จะ มองเห็นได้ว่า เป็นคำที่คลุมเครือ มีความหมายไม่ชัดเจนตลอดมา


แม้จนบัดนี้ ในเมืองไทยเรายังพยายามหาทางลงตัวกับการให้ความหมายแก่คำว่า "จริยธรรม" (พยายามจนกระทั่งไปๆมาๆ ความหมายอาจจะแปลกไปจากคำฝรั่งเดิม ซึ่งเป็นต้นศัพท์ที่เราเอามาบัญญัติเป็นจริยธรรมนี้)


ความรู้เข้าใจและความคิดของสังคมไทยที่คืบคลานมาในการให้ความหมายและการใช้ คำศัพท์ที่สำคัญอย่างคำว่า จริยธรรม นี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา


ที่ว่า "จริยธรรม" เป็น คำเกิดใหม่เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมานี้ ก็คือ มันเกิดขึ้นมาในฐานะเป็นคำศัพท์บัญญัติ เพื่อใช้แสดง ความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" (ถ้าเป็น ethics ก็แปลเป็นศัพท์บัญญัติในวิชาปรัชญาว่า จริยศาสตร์ และในวิชา รัฐศาสตร์ว่า จริยธรรม จริยศาสตร์ หรือ บางทีก็ตรงกับคำว่า code of conduct ที่เราแปลว่า จรรยาบรรณ)


เมื่อเป็นศัพท์บัญญัติสำหรับคำฝรั่ง เราก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า จริยธรรมนั้น ตามความหมายของคำที่เป็นต้นบัญญัติของมัน คือ ต้องเข้า ใจความหมายของคำว่า "จริยธรรม" ตามความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" นั้น ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องตรงไปตรงมา


เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการทราบว่า จริยธรรม หรือ ethic คืออะไร ก็ไปเปิดดูใน dictionary หรือ ใน encyclopedia ของฝรั่ง


อย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ในฐานะมีหน้าที่บอกความหมายของถ้อยคำ ที่ใช้กันอันเป็นที่ยอมรับใน ภาษาไทย ได้แสดงความหมายของ "จริยธรรม" ว่า "ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม


ตามความหมาย พจนานุกรม บอกไว้นี้ จริยธรรมก็มีความหมายเหมือน กับ "ศีลธรรม" ที่เราใช้กันมาในสังคมไทยนานแล้วก่อนจะมีคำบัญญัติว่า จริยธรรม นี้


ยิ่งเมื่อไปเทียบกับตำราฝรั่ง ก็ให้ความหมายของศีลธรรม และจริยธรรม moral และ ethic ปนเปกันไปจนแทบจะเป็นอย่างเดียวกัน


แต่ที่สำคัญก็คือ ที่พูดกันอยู่ทั่วไปนั้น ความหมายของคำเหล่านี้ ตัวผู้พูดเองก็คลุมเครือ บางทีก็พูดไปอย่างนั้นเอง คล้ายเป็นคำ โก้หน่อยๆ ตัวคนพูดก็ไม่ชัด คนฟังก็พร่าๆ


พอมองเข้าไปในวงวิชาการ ก็เห็นชัดว่าความพร่ามัวคลุมเครือนั้นปรากฏออกมา ในการเถียงกันของนักวิชาการ เอง ที่ยุติไม่ได้ เช่น ว่า จริยธรรม (ethic) กับ ศีลธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน จะเอา อย่างไรกันแน่ และถ้าต่างกันแล้ว ต่างกันอย่างไร


แง่ที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก ก็คือ เราจะบัญญัติศัพท์ขึ้นมา ใหม่สำหรับคำฝรั่งว่า "ethic" แต่เราพยายามไปหาคำเก่าในภาษาบาลีมา ใช้ และคำที่สำเร็จขึ้นมาคือ "จริยธรรม" นี้ ก็เป็นคำก้ำกึ่ง


ที่ว่าก้ำกึ่ง คือ เราไปเอาคำจากภาษาบาลี ๒ คำ มาจับต่อกัน เพื่อมาใช้ใน ความหมายใหม่ที่เราต้องการ (ให้ตรงกับฝรั่ง) แต่ในคำที่จับเอามารวมกัน นั้น ศัพท์ที่เป็นตัวยืน (จริย) มีความหมายทางวิชาการของมันอยู่ แล้ว ซึ่งเทียบกับความหมายใหม่ที่ต้องการได้ในบางแง่ แต่ไม่ตรงกัน จริง
ส่วนอีกคำหนึ่ง (ธรรม) ที่เอามารวมเข้า ก็เป็นคำกว้างๆ ที่ไม่ช่วยแยกความหมายออกไป แล้วแทนที่จะบอกให้ชัดไปเลยว่า ที่เราเอามาใช้นี้เป็นเรื่องต่างหาก และต่างออกไป แต่เรากลับใช้แบบปนเปกัน ก็จึงทำให้ เกิดความสับสนมากขึ้น


ถ้าจับหลักไม่ได้ แล้วไปค้นหาที่ไปที่มาในภาษาบาลี พอไปเจอคำ ว่า "จริยธรรม" ในคำว่า "ภิกขาจริยธรรม" (บาลีเป็น "ภิกฺขาจริยธมฺมํ" แปลว่า ธรรมคือภิกขาจริยา หรือ ภิกขาจาร ได้แก่ การเที่ยวไปเพื่ออาหาร คือการเที่ยวขออาหาร - เช่น ธ.อ.๖/๓๒) ก็คงยิ่งงงกันใหญ่


หันกลับไปดูความสับสนที่พูดถึงเมื่อกี้ (คำว่า บางท่าน ที่จะพูดต่อไปนี้ รวมทั้งบางสถาบัน หรือบางหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย)


ในระยะไม่นานมานี้ จนถึงขณะนี้ มีบางท่านในวงวิชาการ บอกว่า "จริยธรรม" กับ "ศีลธรรม" มีความหมายไม่เหมือนกัน


ทีนี้ ท่านที่ว่า จริยธรรม กับ ศีลธรรม ต่างกันนั้น ก็ไม่ลงกัน อีก
บางท่านว่า จริยธรรม มีความหมายกว้างกว่า ศีลธรรม หมายถึง กฎเกณฑ์สำหรับประพฤติปฏิบัติทั่วไป แต่ศีลธรรมหมาย ถึง หลักสำหรับประพฤติดีประพฤติชอบ หรือความประพฤติปฏิบัติที่ประกอบ ด้วยคุณความดี


ส่วนบางท่านก็ว่า ศีลธรรม มีความ หมายกว้างกว่าจริยธรรม ดูง่ายๆ ในพจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า "ศีลธรรม" ว่า "ความประพฤติที่ดีที่ ชอบ, ศีลและธรรม, ธรรมในระดับศีล" เมื่อพูดว่า ศีลและธรรม ก็ย่อมคลุมหมด


ที่ชัดแน่ก็คือ เมื่อคน ไทยยังไม่มี (คำว่า) "จริยธรรม" ดังเช่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก (คำว่า) "จริยธรรม" (คำว่า) "จริยธรรม" ยังไม่เข้าไปใน โรงเรียน
หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มีวิชาศีลธรรม (แม้ถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ยังมีวิชาศีลธรรม) และ ศีลธรรมนั้นก็รวมทั้งคุณธรรม ด้วย
ต่างจากเวลานี้ ที่จริยธรรมไม่รวมคุณธรรม ต้องพูดแยกกัน ว่า "คุณธรรม และจริยธรรม" ศีลธรรม จึงมีความหมายกว้างกว่าจริยธรรม


เวลานี้ เมื่อมีคำว่า "จริยธรรม" ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามแยกความ หมายออกไปทุกคำว่า "คุณธรรม" "จริยธรรม" และ "ศีลธรรม" ต่างกัน อย่างไร (ดูเหมือนว่า ขณะที่เรายังยุ่งอยู่กับการแยก ความหมายของถ้อย คำ คนและสังคมก็ทรุดลงไปในทุกธรรม อย่างน้อย ศีลธรรมก็ทำท่าจะหมดไป)


บางท่านว่า "จริยธรรม" หมายถึง หลักความประพฤติที่พึงที่พึงปฏิบัติทั่ว ไป
ส่วน "ศีลธรรม" หมายถึง หลักความประพฤติที่เป็นคำสอนของ ศาสนา หรือจริยธรรมที่มาจากศาสนา


(แถมยังเอาคำฝรั่งมาสนับสนุนด้วย ว่า จริยธรรม คือ ethic ส่วน ศีลธรรม คือ moral และ ว่า moral เป็นหลักความประพฤติตามคำสอนของศาสนา แต่ถ้าเราไปดูคำอธิบายของฝรั่งเอง พอพูดถึง ethic ก็อธิบายด้วย moral พอพูด ถึง moral ก็ว่าคือ ethical มิฉะนั้น ก็ต้องออกไปที่คำพื้นๆ ว่า เป็นเรื่องของ right conduct ไม่ไปไหน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2018, 21:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7517

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


rolleyes
ชีวิตคือมีอุปาทานขันธ์
ยึดขันธ์5ว่าเป็นตัวตน
คือมิจฉาทิฏฐิมีแล้ว
ขันธ์แปลว่าเกิดดับ
โลกแปลว่าสิ่งที่เกิดดับ
:b12:
:b32: :b32:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2018, 09:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Rosarin เขียน:
rolleyes
ชีวิตคือมีอุปาทานขันธ์
ยึดขันธ์5ว่าเป็นตัวตน
คือมิจฉาทิฏฐิมีแล้ว
ขันธ์ แปลว่า เกิดดับ
โลก แปลว่า สิ่งที่เกิดดับ


อ้างคำพูด:
ขันธ์ แปลว่า เกิดดับ


ขันธ์ แปลว่า กอง,หมวด,หมู่ ...

สะกดอย่างนี้ "ขัน" พอแปลว่า เกิดดับได้ ได้แก่ ขัน แบบนี้ :b32:

รูปภาพ


อ้างคำพูด:
โลก แปลว่า สิ่งที่เกิดดับ

ส่วนโลกมีหลายนัย เช่น โลกเป็นที่อยู่ โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือสังขาร ฯลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2018, 09:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


จริยธรรม” ก็ยังคลุมเครือสับสน “จริยธรรมสากล” ก็จึงยิ่งพร่ามัว


ที่จริง การเอาคำว่า “จริยธรรม” มาเทียบกับคำว่า “ศีลธรรม” อย่างที่ว่ามานั้น ก็เป็นเพียงการพยายามคิดความหมายขึ้นมาใหม่โดยที่ตัวผู้เทียบก็ไม่ได้สืบสาวความหมายที่แท้จริงของคำทั้งสองนั้นอย่างจริงจัง เมื่อพูดออกไปเพียงแง่หนึ่งด้านหนึ่ง ก็ยิ่งพาให้คนทั่วไปพลอยสับสนไปด้วย


พวกหลังที่พูดเทียบเคียงอย่างนั้น มักเป็นเพราะต้องการจะก้าวต่อไปอีก โดยมีเป้าหมายที่จะเอาเรื่องจริยธรรมสากลเข้ามา

ท่านพวกนี้ก็จะพูดต่อไปว่า ในโลกปัจจุบันที่ถึงกันทั่วนี้ ศีลธรรมหรือจริยธรรมของศาสนาทั้งหลายกำหนดวางไว้แตกต่างกัน บางทีก็ขัดแย้งกัน ควรหันไปใช้จริยธรรมที่เป็นของกลางๆ ที่ยอมรับกันทั่วทุกหนแห่งเป็น “จริยธรรมสากล”


ที่จริง คำว่า “จริยธรรมสากล” ก็เป็นคำพูดที่ไม่ลงตัว แม้แต่ตัวศัพท์ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน พอจะเอาความหมาย ก็ยิ่งไม่มีความชัดเจน

“จริยธรรมสากล” คืออย่างไร อยู่ที่ไหน จะแก้ปัญหาความแตกต่างได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้ได้พูดไว้ที่อื่นมากและนานแล้ว * (หนังสือ ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย (โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พิพม์ครั้งแรก ต.ค. ๒๕๓๔) ภาค ๒ จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง หน้า ๙๑-๑๕๓) ในที่นี้ จึงขอกล่าวไว้เพียงโดยสุรป


เบื้องแรก ควรย้ำไว้ก่อนว่า “จริยธรรมสากล” ยังเป็นเพียงเรื่องที่บางคนบางกลุ่มพยายามคิดจะให้มีขึ้น มีการพูดถึงบ้างประปราย ยังไม่เป็นที่ยอมรับกว้างขวาง และยังไม่ลงตัวที่จะเป็นหลักให้ชัดขึ้นมาได้


ก) เรื่องสืบเนื่องมาจากว่า เมื่อชาวตะวันตกพ้นออกมาจากสมัยกลางของยุโรป (พ้นเมื่อ ค.ศ.1453/พ.ศ.๑๙๙๖) แล้ว ศาสนาคริสต์ก็ได้เสื่อมจากอำนาจที่เคยควบคุมรัฐและสังคม และต่อมาก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ที่ผู้คนนิยมวิทยาศาสตร์ และตื่นเต้นกับความเจริญในยุคอุตสาหกรรม สังคมมีแนวโน้มทั่วไปที่ผลจากศาสนา (คริสต์) และมองเห็นไปว่าหลักความประพฤติ (ศีลธรรม/จริยธรรม) ที่ศาสนาสอนไว้ว่า เป็นเทวโองการหรือเทพบัญชาลงมานั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีจริง แต่ที่แท้เป็นเรื่องที่มนุษย์นี่เองบัญญัติกันขึ้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามกาลเทศะ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คนสมัยใหม่นั้นจึงโน้มไปในทางที่จะไม่เชื่อถือและไม่ใส่ใจในเรื่องศีลธรรม/จริยธรรม


ข) แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ศีลธรรม/จริยธรมก็เป็นของจำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ ซึ่งคนจะอยู่กันโดยไม่มีหลักที่จะควบคุมความประพฤติไม่ได้ ถึงจะมีกฎหมายบังคับ ก็ไม่เพียงพอ เมื่อศาสนาคริสต์เสื่อมอำนาจอ่อนกำลัง คนส่วนหนึ่งก็หันไปฟังนักปราชญ์ที่อธิบายเรื่องศีลธรรม/จริยธรรม อย่างที่พยายามให้เป็นเหตุเป็นผล คือพวกนักปราชญ์ด้านจริยศาสตร์ แต่นักปราชญ์ทั้งหลายโดยมากก็ยุ่งกับการแสดงหลักการหรือลัทธิของตนออกไปเป็นส่วนตัวบ้าง แก่กลุ่มพวกหรือลูกศิษย์ของตัวบ้าง มักจะอยู่แค่ถกเถียงแสดงเหตุผล แต่ไม่ได้พัฒนาวิธีการหรือมาตรการที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง และนักปราชญาเหล่านั้นก็เถียงกันเองไม่ลงกัน
ดังนั้น นักปราชญาเหล่านั้นก็เพียงได้ช่วยให้ความคิดทางจริยธรรม มีการพัฒนาในเชิงเหตุผลมากขึ้น หรือ
บางคนมีอิทธิพลในวงการการศึกษา ก็อาจจะให้ผลในทางปฏิบัติชัดขึ้นบ้าง แต่คนทั่วไปก็ยังปฏิบัติไปตามหลักคำสอนที่เป็นเทวโองการของศาสนาอยู่นั่นเอง ทั้งที่ในแง่ความเชื่อถือและความสนใจก็จืดจางคลางแคลงหรือง่อนแง่นคลอนแคลน ในภาวะเช่นนี้ เรื่องศีลธรรม/จริยธรรมก็ค่อนข้างโหวงเหวงเคว้งคว้าง


แต่ข้อสำคัญก็คือ ถึงแม้นักปรัชญาเหล่านี้จะแยกตัวจากความเชื่อของศาสนา โดยมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล (บางคนพยายามทำให้ความเชื่อของศาสนากลายเป็นสิ่งที่มีเหตุผล) แต่เขาก็ยังมองความหมายของศีลธรรม/จริยธรรมในแง่เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติ และเป็นเรื่องแยกต่างหากนอกวงวิทยาศาสตร์ ทำให้เสียโอกาสและไม่สามารถหยั่งลึกลงไปในความจริงของธรรมชาติที่จะโยงประสานแดนทั้งสองให้เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


ค) ในยุคสมัยใหม่นั้น ในโลกตะวันตก ศาสนาคริสต์ได้แตกออกเป็น ๒ นิกายแล้ว (เริ่มแยกเมื่อ ค.ศ. 1517/ พ.ศ.๒๐๖๐) โดยเฉพาะในนิกายที่แยกออกไป คือโปรเตสแตนต์ได้ค่อยๆ แตกนิกายย่อยๆออกไปมากมาย
ต่อมา เมื่อชาวยุโรปต่างกลุ่มต่างชาติหนีภัยการข่มเหงบีฑาทางศาสนา และการเมืองไปอยู่ในอเมริกา คนชาติใหม่คืออเมริกันนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ถือนิกายโปรเตสแตนต์ แต่สังกัดนิกายย่อยๆ ที่แตกต่างกัน อันสอนหลักความเชื่อถือ และหลักความประพฤติที่แปลความหมายไปคนละอย่างๆก็เกิดปัญหา เฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนว่าจะสอนหลักศีลธรรม/จริยธรรม แบบนิกายย่อยใด ทำให้มีความขัดแย้งแตกแยกกันอย่างรุนแรงและยึดเยื้อ แก้ปัญหาไม่ตกตลอดเวลาเป็นร้อยปี *


ตอนนี้แหละ ในอเมริกานี่เองเป็นจุดตั้งต้น ก็เริ่มเกิดแนวคิดที่มาเรียกกันว่า “จริยธรรมสากล” คือมีผู้เลือก และรวบรวมหลักความประพฤติ อันเป็นหลักศีลธรรมสามัญที่ไม่ขัดต่อหลักของนิกายใด ดังที่สถาบันธรรมจริยาศึกษา (Character Education Institute ตั้งเมื่อ ค.ศ.1911/พ.ศ.๒๔๕๔) ได้เป็นแกนนำจัดทำ “ประมวลหลักศีลธรรม” (morality codes) ขึ้นมา แล้วโรงเรียนทั้งหลายก็รับไปใช้ ถือว่าเป็นสากลหรือเป็นกลางๆที่ร่วมกันได้


จากนั้น ความก้าวหน้าในแนวทางนี้ก็ดำเนินต่อมา จนมีบุคคลสำคัญที่ได้คิดหาทางยุติปัญหาความแบ่งแยกระหว่าง (นิกาย) ศาสนา โดยมิใช่เพียงรวบรวมกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติทางศีลธรรมมาประมวลกันไว้เท่านั้น แต่วางหลักที่ลงลึกได้เนื้อหาสาระเป็นหลการทางปรัชญาด้วย ได้แก่ จอห์น ดิวอี (John Dewey 1859-1952) ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า The (American) civil Religion คือ ศาสนาประชาราษฎร์ (ของอเมริกัน) แต่ทำไปทำมา ที่ว่าเป็นสากล ก็คือสากลของอเมริกา (เท่านั้น)


ความคิดในเรื่องจริยธรรมสากลในอเมริกา เดินหน้าต่อมา บุคคลที่เด่น คือ นักจิตวิทยาการศึกษาที่ชื่อ ลอเรนซ์ โกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg 1927-1987) ซึ่งได้เสนอทฤษฎีพัฒนาการทางศีลธรรม (moral development) ที่ถือว่า การพิจารณาวินิจฉัยในทางจริยธรรม โดยถือความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล (universal ethical principle) เป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นสูงสุด ความคิดของทางผู้นี้ได้ทำให้จริยธรรมสากลปรากฏตัวมีฐานะสำคัญขึ้นมาอีก


อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนำทฤษฎีเข้าสู้ปฏิบัติการ ซึ่งโกลเบอร์ก จัดลำดับพัฒนาการทางจริยธรรมเป็น ๓ ระดับ (ระดับก่อนบัญญัติ-ระดับบัญญัติ-ระดับเหนือบัญญัติ) และซอยแต่ละระดับเป็น ๒ ขั้น รวมทั้งหมดเป็นพัฒนาการ ๖ ขั้น ก็น่าเสียดายว่า พอเอาเข้าจริง โกลเบอร์กได้ตัดขั้นที่ ๖ (ขั้นถือจริยธรรมสากลเป็นเกณฑ์วินิจฉัย) ออกจากการใช้วัด โดยยอมรับว่าเป็นขั้นที่เขาคิดสร้างขึ้นจากสถานการณ์สมมติ เป็นขั้นที่น้อยคนเหลือเกินจะก้าวไปถึง และเขาไม่พบตัวอย่างในกลุ่มคนที่ใช้ทดลอง พูดง่ายๆ ก็คือเขาไปยังไม่ถึงจริยธรรมสากล


จริยธรรมสากลในความคิดของโกลเบอร์กนี้ นับว่าเป็นความก้าวหน้าในโลกตะวันตก ที่จะทำให้จริยธรรม (มีเค้าของการ) เชื่อมโยงจากบัญญัติเข้ามาต่อกับสภาวะ แม้ว่าความคิดของเขายังดูจะไม่ชัดเจน และเขาต้องตัดมันออกไปจากการใช้งานจริง


แม้ว่าโกลเบอร์กจะล่วงลับไปแล้ว แต่ความคิดก็ยังเป็นที่ยอมรับนับถือมาก ดังที่เกณฑ์วัดอันไม่ครบ ๖ แต่ตัดเหลือ ๕ ขั้น ที่ท่านให้ไว้นี้ ยังมีการใช้อยู่ในวงการจิตวิทยาการศึกษาในเมืองไทย

ง) อย่างที่เล่าแล้วว่า ความคิดของโกลเบอร์กทำท่าจะโยงจากบัญญัติเข้าหาสภาวะ แต่ก็มาเลือนรางขาดตอนเสีย ไม่ผ่านทะลุตลอดโล่งไป
หลังจากโกลเบอร์กแล้ว นักแสวงหาจริยธรรมสากลก็มี แต่กลับไปวนเวียนอยู่กับวิธีคัดเลือกรวบรวมหลักความประพฤติที่เข้ากันได้ ที่ต่างพวกต่างลัทธิยอมรับ เอามาประมวลไว้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นว่าได้แต่เพียงเรื่องพื้นๆ ลงลึกไม่ได้ เสี่ยงต่อการที่จะเป็นจริยธรรมแบบ syncretic ที่คลุกเคล้า หรือไม่ก็จับฉ่ายไปเลย


จ) ยังมีแง่มุมปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ที่น่าสังเกต หรือพึงระวัง ซึ่งจะทำให้จริยธรรมที่เรียกว่าสากลนั้น ไม่เป็นสากลจริง หรือไม่ได้ผลจริง เช่นว่า เท่าที่พูดๆกันมา จริยธรรมสากล ก็เป็นแค่จริยธรรมของฝรั่ง เหมือนคำว่า เสื้อผ้าชุดสากล ก็คือเสื้อผ้าแบบฝรั่งของชาวตะวันตก อย่างนี้ก็ไม่ใช่สากลจริง สากลจริง ก็ต้องทั่วทั้งโลก


ทีนี้ นอกจากจริยธรรมเทวบัญชาของศาสนาตะวันตก ที่ฝรั่งสมัยใหม่ผลออกมาแล้ว จริยธรรมตามทฤษฎีและทัศนะของนักปราชญ์นักปราชญาของฝรั่งก็แตกต่างกันมากมาย ยากนักที่จะหาหลักกลางที่ยอมรับร่วมกันได้จริง


ยิ่งกว่านั้น นักแสวงหาคัดจัดประมวลจริยธรรมสากลเองนี่แหละ ตัดเองก็ไม่ใช่เป็นปราชญ์ใหญ่ต้นความคิดทางจริยธรรม ได้แต่มาคัดเลือกหลักของพวกนักปราชญ์บ้าง ของวัฒนาธรรมประเพณี เป็นต้น นอกจากการเลือกสรรนั้นจะขึ้นต่อสติปัญญาสามัตถิยะของเขาแล้ว พวกที่เป็นนักเลือกสรรนั้น ต่างบุคคลต่างกลุ่มต่างคณะก็มีความคิดตัดสินใจเลือกแตกต่างกันอีก กลายเป็นจริยธรรมสากลของกลุ่มนั้นคณะนี้ บางทีก็ขัดแย้งกัน จะทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น


แล้วปัญหาซ้อนก็คือ จริยธรรมสากลชุดที่มีการเลือกสรรตกลงในหมู่พวกตนแล้วนำเสนอขึ้นมา ไปๆมาๆ กลายเป็นศาสนาหรือลัทธิใหม่ขึ้นอีกรายการหนึ่งต่างหาก ซึ่งมีไว้เพื่อรอเวลาที่จะวิวาทขัดแย้งกับรายการอื่นๆต่อไป (เหมือนในอดีตมากครั้ง ที่ขบวนการเพื่อปรองดองรวมศาสนา ได้กลายเป็นศาสนาใหม่ขึ้นมา เพิ่มจำนวนศาสนาที่จะขัดแย้งกันในโลกนี้)


ฉ) ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งทางจริยธรรมที่ผุดเด่นขึ้นมาในยุคเทคโนโลยีก้าวไวและก้าวไกลนี้ คือ การตัดสินใจในเรื่องยุ่งยากใจที่เกิดศัพท์ใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่าชีวจริยธรรม (bioethics) เช่น การทำโคลนนิ่ง การปฏิบัติต่อเด็กผิดปกติในครรภ์ การจัดการกับ stem cells ตลอดจนเรื่องจำพวกสิทธิที่จะตาย การุณยฆาต การทำแท้ง เป็นต้น อันเป็นปัญหาเก่าที่ยังใหม่อยู่เสมอ
พอเจอปัญหาเหล่านี้ จริยธรรมสากลที่เป็นชุมนุมหลักจริยธรรมพื้นๆ ก็ยากจะมีอะไรมาเพิ่มพูนภูมิปัญญา จึงมักได้แค่เข้ามาร่วมวงของการว่ายวนอยู่กับปัญหา อย่างในเมืองฝรั่งเวลานี้ ความคิดความเข้าใจก็ขัดแย้งแตกต่างกันไป แค่ออกกฎหมาย ต่างรัฐก็ออกกฎหมายกำหนดในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน


ว่าโดยรวม ในที่สุด ไม่ว่าจริยธรรมสากลจะไปถึงไหน ก็คือจริยธรรมนั่นเอง ดังนั้น จุดอ่อนที่แท้ของมันจึงอยู่ที่ปัญหาซึ่งอยู่ในตัวของจริยธรรมเอง ถ้าจริยธรรมยังพร่องพร่ามัวอยู่ จริยธรรมสากลก็ไม่อาจพ้นปัญหาไปได้


จากที่ได้พูดไปแล้ว ควรจับมาย้ำไว้เป็นจุดสังเกตสำคัญว่า

๑. ชาวตะวันตกเจ้าของศัพท์ ethic ที่เราเอามาแปลเป็นไทยว่า “จริยธรรม” นั้น ตามปกติ เขามองความหมายของคำนี้เพียงแค่เป็นหลัก หรือกฎเกณฑ์ทางความประพฤติที่แสดงออกภายนอก เฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคม (ต่างจากที่พูดแล้วว่า “จริยะ” คำเดิม หมายถึงการที่จะต้องทำต้องประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่เป็นเหมือนเสียงเรียกร้องจากกฎธรรมชาติ)


๒. ชาวตะวันตก แม้แต่ที่เรียกว่าเป็นนักปราชญ์สำคัญๆ โดยทั่วไป มักใช้คำว่า “จริยธรรม” คือ ethic โดยหมายถึงบัญญัติธรรมหรือไม่ก็ใช้อย่างคลุมๆ เอาบัญญัติธรรมเป็นหลักและเห็นจริยธรรมเป็นเงาๆ * (เช่น ในเกณฑ์วัดพัฒนาการทางจริยธรรม ๕-๖ ขั้น ของโกลเบอร์ก จะเห็นได้ชัดว่าจริยธรรมของเขาในระดับต้น เป็นเรื่องของบัญญัติธรรมทั้งนั้น)


๓. เนื่องกันกับสองข้อต้นนั้นก็คือ เมื่อ “จริยธรรม” ที่เป็นคำใหม่นี้ เขาหมายถึงเพียงหลักการกฎเกณฑ์ความประพฤติภายนอก ที่เป็นบัญญัติธรรม ก็ชัดอยู่แล้วว่าจริยธรรมตามความหมายของเขานั้น ไม่เกี่ยวกับความจริงตามสภาวะ ไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงไปถึงกฎธรรมชาติ


เมื่อจริยธรรมมีความหมายแค่นี้ ความเป็นจริยธรรมสากลของเขาจึงอยู่ที่ว่ามันเป็นของกลางๆ ที่เข้าได้กับทุกพวกทุกฝ่าย หรือที่ทุกพวกทุกฝ่ายยอมรับได้ ต่างจากจริยธรรมสากลในความหมายที่ว่า เมื่อเป็นความจริง ก็เป็นสากลในตัวของมันเอง เพราะไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ มันก็มีผลต่อทุกคนทุกพวกทุกฝ่าย ไม่ต้องรอใครมาเห็นด้วย


ถ้าเป็น “จริยะ” ตามความหมายในระบบของธรรม ๓ ที่ว่าข้างต้น ก็ไม่ต้องแยกว่าเป็น จริยธรรมสากล หรือไม่สากล เพราะความเป็นสากลอยู่ที่ความเป็นจริง มิใช่อยู่แค่ที่ความเป็นกลาง


ความจริงนั่นแหละ ทั้งเป็นสากล คือทั่วกันหมดทั้งสิ้น และเป็นกลาง คือไม่เข้าใครออกใคร เมื่อเป็นจริยะ ตามหลักการที่ว่ามา ถึงจะไม่บอกว่าเป็นสากล ก็เป็นสากลอยู่ในตัวเอง เพราะมีความจริงที่ทำให้มีความเป็นสากลอยู่แล้วในตัว
......

ที่อ้างอิง * ตามลำดับ

* แม้ในปัจจุบัน อเมริกาก็แก้ปัญหานี้ไม่จบสิ้น ดังเช่น เมื่อผู้เรียบเรียงไปอเมริกาในระยะ พ.ศ.๒๕๒๔ คุณแม่ของเด็กนักเรียนประถม ที่เมืองเล็กๆในรัฐ Massachusetts เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของลูกว่า ตอนเทศกาลอีสเตอร์ (Easter) คุณครูเล่าและอธิบายเรื่องอีสเตอร์ให้เด็กๆฟัง แต่คำอธิบายของคุณครูเป็นไปตามความเชื่อของนิกายย่อยที่คุณครูนั้นนับถือ เมื่อเด็กกลับบ้านเล่าให้คุณแม่ฟัง ปรากฏว่าคำคุณครูขัดกับความเชื่อแห่งนิกายของครอบครัวนั้น คุณแม่โกรธมาก จะประท้วงเอาเรื่องกับทางโรงเรียน

* คงต้องถือว่าความสับสนนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของเราเอง ที่แปล ethic นั้นว่า จริยธรรม แทนที่จะแปลด้วยถ้อยคำที่เป็นบัญญัติธรรม (ขอให้เทียบกับ ethics ที่ในความหมายหนึ่ง เราแปลว่า จรรยาบรรณ ซึ่งเป็นบัญญัติธรรมอย่างชัดเจน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2018, 10:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Rosarin เขียน:
rolleyes
ชีวิตคือมีอุปาทานขันธ์
ยึดขันธ์5ว่าเป็นตัวตน
คือมิจฉาทิฏฐิมีแล้ว
ขันธ์แปลว่าเกิดดับ
โลกแปลว่าสิ่งที่เกิดดับ



ขันธ์ กอง, พวก, หมวด, หมู่ ลำตัว, หมวดหนึ่งๆ ของรูปธรรม และนามธรรมทั้งหมด ที่แบ่งออกเป็น ๕ กอง
คือ
รูปขันธ์ กองรูป
เวทนาขันธ์ กองเวทนา
สัญญาขันธ์ กองสัญญา
สังขารขันธ์ กองสังขาร
วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)


ขันธปัญจก หมวดห้าแห่งขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (นิยมเรียก ขันธบัญจก)

โลก แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย โลก ๓ คือ

๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร

สัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์

๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน,

อีกนัยหนึ่ง

๑. มนุษยโลก โลกมนุษย์

๒. เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น

๓. พรหมโลก โลกของพระพรหม

อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ท่านก็เรียกว่า โลก

มีพุทธพจน์ตรัสว่า ในอริยวินัย เรียก กามคุณ ๕ ว่า เป็นโลก หรือโลกก็คือกามคุณ ๕ นั่นเอง ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก

ผู้ใดเข้าถึงฌาน จะเป็นรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตาม ท่านเรียกผู้นั้นว่า ได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และอยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก

ส่วนผู้ใดก้าวล่วงอรูปฌานขั้นสุดท้ายไปได้แล้ว เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ และเป็นผู้หมดอาสวะเพราะเห็นสัจธรรม ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้ามพ้นโยงใยที่เหนี่ยวพัน (ตัณหา) ให้ติดอยู่ ในโลกไปได้แล้ว * (องฺ.นวก.23/242/448)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2018, 11:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ไปให้ถึงจริยธรรมแท้ ที่เป็นระบบชัดเจน จึงจะเห็นความเป็นจริงของชีวิต และสังคม ที่ดีงาม

มาถึงตอนนี้ ความคลุมเครือสับสนเกี่ยวกับถ้อยคำสำคัญบางคำคงจะคลายลงไปแล้ว ถ้าไม่หมด ก็คงไม่น้อย คราวนี้ เราก็สามารถผ่านคำว่า "จริยธรรม" ไปได้ และลงลึกไปให้ถึงตัวจริง คือ "จริย" (เขียนอย่างไทยเป็น จริยะ)

เรื่องจริยะนั้น ได้พูดไปมากพอแล้ว ในแง่ที่สำคัญคือในฐานะที่เป็นองค์หนึ่งใน ระบบ ๓ ของธรรม คือ สภาวะ-จริยะ-บัญญัติ (สภาวธรรม จริยธรรม บัญญัติธรรม) ในแง่นั้นจึงไม่ต้องพูดอีก

แต่ยังมีอีกแง่หนึ่ง ซึ่ง สำคัญไม่น้อยกว่านั้น คือแง่เฉพาะตัวของจริยะ ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในตัวของมันเอง จึงจะพูดเรื่องระบบของจริยะนี้ ต่อไป


“จริยะ” คือ อะไร ? จริยะ ก็มาจาก “จร” (อ่านอย่างภาษาบาลีว่า “จะระ” อ่านอย่างไทยว่า “จอน”)

“จร” ก็คือเดิน เดินทาง หรือเที่ยวไป เช่น สัญจร คือเดินกันผ่านไปมา จราจร คือเดินไปเดินมา หรือเที่ยวไปเที่ยวมา พเนจร คือเดินป่าหรือเที่ยวไปในป่า (ในภาษาไทย กลายเป็นเที่ยวเรื่อยเปื่อยไปอย่างไร้จุดหมาย)

ทีนี้ “จร” หรือเดินทางนั้น เมื่อเอามาใช้ทางนามธรรม กลายเป็นเดินทางชีวิต อย่างที่นิยมพูดว่า “ดำเนินชีวิต”

คนแต่ละคนก็ดำเนินชีวิตของตนไป แล้วการดำเนินชีวิตของคนเหล่านั้น ก็ไปรวมกันเป็นสังคม เมื่อมองดูผิวเผินแค่ภายนอก ก็กลายเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต และระบบของการเป็นอยู่ ประพฤติปฏิบัติของหมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า สังคม

แต่มองแค่นั้น ก็ผิวเผินเกินไป ไม่เพียงพอ ต้องดูให้ลึกลงไปอีก การดำเนินชีวิตของคนเรานี้ อยู่แค่ที่แสดงออกมาเห็นๆกันเท่านั้นหรือ ไม่ใช่แน่


การดำเนินชีวิตของคนหนึ่งๆ ที่เรามองเห็น และที่คนอื่นเกี่ยวข้องด้วย คือการแสดงออกทางกาย และวาจา ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามักเรียกว่าความประพฤติ อันเป็นด้านนอกแห่งการดำเนินชีวิตของเขา เรามักมองคนแค่นี้ (และที่เรียก "จริยธรรม" ก็มักจับเอาความหมายแค่นี้)


ถ้าเรามองคนแค่นี้ เราจะไม่เห็นตัวจริงของคนนั้นเลย ความประพฤติ หรือการแสดงออกภายนอกทางกาย และวาจา ไม่ใช่ชีวิตทั้งหมดที่เขาดำเนินอยู่ ก็อย่างที่ว่าแล้ว มันเป็นเพียงด้านภายนอกของการดำเนินชีวิตของเขาเท่านั้น


ลึกลงไป เบื้องหลังการพูดและทำอะไรต่างๆ ที่เราประพฤติหรือแสดงออกมาข้างนอกนั้น มีตัวชี้นำที่กำหนดหรือสั่งการออกมาข้างในจิตใจ ตัวชี้นำกำหนดหรือสั่งการนี้ เราเรียกว่า “เจตนา”


ทางพระบอกว่า ถ้าไม่มีเจตนานี้ การแสดงออกของคน ก็ไม่มีความหมายอะไร จะมีค่าเพียงแค่เหมือนกิ่งไม้ผุหักหล่นลงมา หรือต้นไม้ต้องลมสั่นไหวแล้วใบไม้ร่วง เท่านั้นเอง ดังนั้น เจตนาจึงสำคัญอย่างยิ่ง

เจตนา จะตัดสินใจสั่งการอย่างไร ก็มีแรงจูงใจที่ร้ายหรือดีคอยกระซิบบอก อย่างง่ายๆ ก็คือสั่งการไปตามที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ

แต่บางทีการตัดสินใจที่จะสั่งการนี้ ก็เป็นไปอย่างซับซ้อน เจตนาจึงมีกองบัญชาการทำงานให้มัน โดยมีตัวทำงานอยู่ในจิตใจมากมาย รวมแล้วก็คือ มีฝ่ายดี กับ ฝ่ายร้าย


ในฝ่ายร้าย มีตัวเด่นคือ โลภะ โทสะ โมหะ

ส่วนในฝ่ายดีก็มีมาก เช่น ศรัทธา เมตตา หิริ โอตตัปปะ ซึ่งเรานิยมเรียกกว้างๆ ว่า คุณธรรม


ตัวทำงานเหล่านี้ ส่งข้อเสนอแนะในการสังการให้แก่เจตนานั้น ถ้าตัวใดมีกำลังมาก ก็จะมีอิทธิพลครอบงำการสั่งการของเจตนาเลยทีเดียว


ในกองบัญชาการของจิตใจนี้ ยังมีฝ่ายกำลังสนับสนุน เช่น ความขยัน ความเพียร ความอดทน ความกล้าหาญ ความเข้มแข็งมั่นคง คอยรับสนองงาน ที่จะขับเคลื่อนให้งานสำเร็จตามต้องการ เป็นสมรรถภาพของจิตใจ

แล้วก็มีฝ่ายแสดงผล - วัดผล คอย ตามกำกับอยู่ตลอดเวลา ว่าอันไหน ทางไหน รับได้หรือไม่ได้ เช่น ความขุ่นมัว ความเครียด ความเศร้า ความหดหู่ ความหงอยเหงา ความว้าเหว่ หรือความสดชื่น ความร่าเริง ความเบิกบาน ความผ่องใส ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ความสุข เป็นต้น รวมแล้วก็เป็นฝ่ายสุข ที่ตามหา กับ ฝ่ายทุกข์ ที่จะให้ดับหาย


อย่างไรก็ตาม การ ตัดสินใจสั่งการ และการทำงานของกองบัญชาการในจิตใจทั้ง หมดนั้น ต้องพึ่งพาข้อมูลความรู้ อาศัยความเข้าใจ และการมองเห็น เหตุผล เท่าที่จะมีปัญญารู้ไปถึง


ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นแค่ไหน เจตนาก็สั่งการให้กายวาจามีพฤติกรรมคืบเคลื่อนไปได้ภายในขอบเขตแค่นั้น ถ้าปัญญารู้เข้าใจมองเห็นกว้างไกลออกไป ลึกลงไป มองเห็นช่องทางและโอกาสมากขึ้น เจตนาก็สั่งการให้กายวาจาปรับขยายรูปแบบของพฤติกรรมออกไปช่วยให้ทำการได้ซับ ซ้อนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ผล มีทางสำเร็จมากขึ้น


ถ้าขาดความรู้ อับไร้ปัญญาเสียแล้ว พฤติกรรมก็ติดตัน ขัดข้อง จิตใจก็อึดอัด อับจน เครียด เป็นทุกข์ ดังนั้น ปัญญาทีรู้เข้าใจนี้ จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบอกทิศ ชี้ช่อง นำทาง ขยายโอกาส ตลอดจนปลดปล่อยให้อิสรภาพ แก่พฤติกรรม และแก่จิตใจที่มีเจตนาเป็นหัวหน้างานนั้น


ที่ว่ามานี้ ก็คือระบบการดำเนินชีวิตของคน ที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเป็นไปอยู่ตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สรุปแล้วมี ๓ แดน ทำงานประสานก้าวไปด้วยกัน ต้องครบทั้ง ๓ แดน จะขาดแดนหนึ่งแดนใดมิได้


จึงขอสรุปไว้ในที่นี้ ว่า “จริยะ” คือการดำเนินชีวิตของคน เป็นระบบอันหนึ่ง ที่มีองค์ประกอบ ๓ แดน (จะเรียกว่าด้าน หรือส่วน ก็ได้)
คือ
๑. แดนพฤติกรรม (กาย-วาจา) ที่แสดงออก ติดต่อสัมพันธ์ และกระทำต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม *

๒. แดนจิตใจ ที่เป็นเหมือนเจ้าของพฤติกรรมทั้งหมด ตั้งแต่เป็นผู้ต้องการ บงการหรือสั่งการ ขับเคลื่อน ตลอดจนเสวยผลของพฤติกรรมทั้งหมดนั้น โดยมีตัวประกอบที่ร่วมในการทำงานแต่ง สรรมากมาย ภายใต้การนำของเจตนา ที่เป็นทั้งหัวหน้า และเป็นตัวแทน ที่ทำงานเชื่อมต่อสั่งการออกมาให้มีผลเป็นพฤติกรรมออกไป ทั้งนี้ ตัวประกอบที่ทำงานนั้น แยกได้เป็น ๓ แดน คือ

@ ตัวแต่งสรรฝ่ายดี กับฝ่ายร้าย ที่พึงคัดเอาไว้แต่ฝ่ายดี ซึ่งมักเรียกกันแบบรวมๆง่ายๆว่า “คุณธรรม” หรือ “คุณภาพจิต”

@ ตัวทำงานที่ทำให้ก้าวไปอย่างแน่วแน่เข้มแข็งมั่นคง เรียกพอรู้กันว่า “สมรรถภาพจิต”

@ ตัวแสดงผล ซึ่งเหมือนกับวัดผลไปในตัว เพราะ จะมีอิทธิพลในการที่จะเลือกพฤติกรรมว่าจะ ทำจะเอาหรือไม่ คือฝ่ายสุข กับ ฝ่ายทุกข์ โดยจะมุ่งไปหาไปพบฝ่ายสุข ที่เรียกพอรู้กันว่า “สุขภาพจิต”

๓. แดนปัญญา ที่เอื้ออำนวยข้อมูล ชี้ช่อง ส่องทาง บอกทิศขยายขอบเขตและโอกาส ปรับแก้ ตลอดจนปล่อยให้เกิดอิสรภาพ แก่พฤติกรรมและจิตใจ

นี่คือ “จริยะ” หรือระบบการดำเนินชีวิตของคน ซึ่งประกอบด้วยทั้งกาย-วาจา ทั้งใจ ทั้งปัญญา
ถ้าไม่ครบ ๓ อย่างนี้ ชีวิตจะดำเนินไปไม่ได้ แต่ ที่จริงก็คือ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ แต่เรานี่แหละ ถ้ามองและปฏิบัติจัดการกับมันไม่ครบส่วน ไม่ครบด้าน เราก็ทำการที่มุ่งหมายไม่สำเร็จ และจะเกิดปัญหาแก่ตัวเอง


อนึ่ง จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตของคน ที่พูดไปแล้วนี้ ว่าไปตามธรรมชาติของมัน ตอนนี้ ยังไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี หรือควรและไม่ควรอย่างไร

ทีนี้มาถึงตอนที่ว่า เราต้องการมีจริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตที่ดี ในเมื่อ จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิต เป็นคำกลางๆ จะให้ดี หรือไม่ดี ก็เติมคุณศัพท์เข้าไปข้างหน้า

ถ้าเป็นจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ดี ก็เป็นปุญญจริยะ หรือธรรมจริยะ หรือเศรษฐจริยะ

ถ้าเป็นจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี ก็เป็นปาปจริยะ หรืออธรรมจริยะ

ในที่นี้ เรามุ่งเอาจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ดี ก็เป็นปุญญจริยะ หรือธรรมจริยะ หรือเศรษฐจริยะ ซึ่งในพระพุทธศาสนามีคำเฉพาะ เรียกไว้ว่า "พรหมจริยะ" ว่า แปลว่า จริยะอันประเสริฐ หรือจริยะที่แท้ ก็คือจริยะหรือการดำเนินชีวิต ซึ่งชีวิตทั้ง ๓ ด้านที่พูดไปแล้วนั้น ดี และประสานกันอย่างถูกต้อง


การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงสั่งสอนธรรมตลอดเวลา ๔๕ ปี ที่เรียกว่าประกาศพระศาสนานั้น ก็คือทรงประกาศพรหมจริยะนี่แหละ (“ประกาศพระศาสนา” เป็นคำพูดของเรา แต่พระพุทธเจ้าเองตรัสว่า พระองค์ “ประกาศพรหมจริยะ”)

เอาเถิด เมื่อมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “จริยธรรม” ขึ้นมาแล้ว แต่มีความหมายก้ำกึ่งกัน จะตรงกันก็ไม่จริง จะต่างกันก็ไม่ต่างให้ไกลไปเสียเลย เราก็มาตกลงหรือทำความเข้าใจกันให้ชัดเสียว่า

“จริยธรรม” ในความหมายที่เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ ซึ่งถือตามความหมายของคำฝรั่ง คือ ethic

ส่วน “จริยธรรม” ในความหมายของเรา ได้แก่ จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตถูกต้องดีงาม ซึ่งมีองค์ประกอบประสานสัมพันธ์กันทั้ง ๓ ด้าน (ทั้งกาย วาจา จิตใจ และปัญญา) ที่มีชื่อเต็มว่า “พรหมจริยะ” นี้

เมื่อทำความเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นชัดว่า สาระทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์ ขยายไปถึงสังคม ที่จะเป็นอยู่กันอย่างถูกต้องดีงาม เป็นสุข ก็คือ “จริยธรรม” ในความหมายที่เป็นพรหมจริยะนี่แหละ

พร้อมกันนั้น การจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ ด้านที่ว่ามาแล้วนั้น โดยฝึกหัดพัฒนาปรับแก้ให้คนดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดีงามเป็นประโยชน์มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” (คำพระเรียกการศึกษานี้ ในฐานะมีองค์ประกอบ ๓ ด้าน ว่า ไตรสิกขา)

ถ้าเราถือหลักตามความหมายของพระพุทธศาสนา ก็จะเห็นว่าสาระหรือแกนขจองอารยธรรมมนุษย์ ก็มีเพียงการดำเนินชีวิตและสังคมให้ดีด้วยจริยธรรม (พรหมจริยะ) และพัฒนาคนให้ดำเนินชีวิตและสังคมให้ดีจนมีพรหมจริยะอย่างนั้น ด้วยการศึกษา (ไตรสิกขา)

แต่เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมัวไปสับสนคลางแคลงอยู่กับถ้อยคำที่พร่าคลุมเครือ วิถีของชีวิตและสังคม ก็ยิ่งหมักหมมปัญหาและเพิ่มทวีความทุกข์

ที่พูดนี้ไม่ใช่แกล้งว่า ขอให้ดูสังคมของเรานี้ ที่เป็นอยู่และเป็นมากับความไม่ชัดเจนในเรื่องจริยธรรม แล้วมีสภาพสับสนกะพร่องกะแพร่งอย่างไร

.......

ที่อ้างอิง *

* นี้พูดอย่างง่าย แต่ถ้าจะให้ครบจริง ด้านที่ ๑ ที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก คือ สังคมและสิ่งแวดล้อมนี้ ต้องแยกย่อยเป็น ๒ ส่วน คือ ติดต่อสัมพันธ์โดยการรับรู้ ด้วยผัสสทวาร ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (ไปรวมที่ใจ) และติดต่อสัมพันธ์โดยการแสดงออก ด้วย กรรมทวาร คือ กาย และวาจา (ออกมาจากเจตนาในใจ)


.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2018, 10:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หนักสมองนักพักดูความหมายของศัพท์หน่อยหนึ่ง

เจตนา ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตจำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นตัวการในการทำกรรม

จักกวัตติสูตร ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอน ภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือ พึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้น ไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง,

จักรพรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า

๑. พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธ์ทั้งหลาย

๒. มิให้มีการอันอธรรม เกิดขึ้นในแผ่นดิน

๓. ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์

๔. ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อความและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบอยู่เสมอ

จักรพรรดิ วัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑ เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับ จัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง

นอกนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรพรรดิวัตร ๑๒

พระสูตรนี้ ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ กับ จริยธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2018, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7517

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กรัชกาย เขียน:
Rosarin เขียน:
rolleyes
ชีวิตคือมีอุปาทานขันธ์
ยึดขันธ์5ว่าเป็นตัวตน
คือมิจฉาทิฏฐิมีแล้ว
ขันธ์ แปลว่า เกิดดับ
โลก แปลว่า สิ่งที่เกิดดับ


อ้างคำพูด:
ขันธ์ แปลว่า เกิดดับ


ขันธ์ แปลว่า กอง,หมวด,หมู่ ...

สะกดอย่างนี้ "ขัน" พอแปลว่า เกิดดับได้ ได้แก่ ขัน แบบนี้ :b32:

รูปภาพ


อ้างคำพูด:
โลก แปลว่า สิ่งที่เกิดดับ

ส่วนโลกมีหลายนัย เช่น โลกเป็นที่อยู่ โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือสังขาร ฯลฯ

:b32:
แปลให้ตรงภาษาตั้งต้นก่อนนะคะ
เวลาเข้าใจจะได้ไม่ผิดพลาด
ขันธ์แปลว่าธัมมะที่เกิด-ดับ
โลกแปลว่าสิ่งที่เกิดดับ
มีอุปาทานขันธ์คือยึดโลกและขันธ์
คือยึดสิ่งที่เกิดดับและธัมมะที่เกิด-ดับว่าเป็นตัวเราเดี๋ยวนี้ไงคะมีแล้ว
ธัมมะที่กำลังเกิดดับตามเหตุตามปัจจัยมีแล้วไม่ต้องทำไม่รู้เพิ่มขึ้น
เพราะมันเกิดดับเพิ่มขึ้นตามปกติเป็นกิเลสอยู่แล้วคือไม่รู้อยู่ตลอดเวลาไงคะ
จึงต้องเริ่มต้นฟังพระพุทธพจน์เพื่อตามรู้จักกิเลสตนที่ไหลไปไม่ขาดสายดับไม่รู้ทีละขณะ
ถ้าไม่เริ่มฟังก็ไม่รู้ตัวตามที่เคยเป็นมานั่นแหละเมื่อเริ่มฟังจึงเริ่มมีปัญญาใหม่แทรกเข้าไงคะ
:b16:
:b4: :b4:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2018, 16:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


กังวลว่า ศีลธรรม หล่นหาย สังคมไทยเที่ยวเวียนค้นคูหาตามล่าจริยธรรม

อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ความรู้เข้าใจและความคิดของสังคมไทยที่คืบเคลื่อนมาในการให้ความหมายและการใช้คำศัพท์ที่สำคัญอย่างคำว่าจริยธรรมนั้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา แต่ในยามกระชั้นชิดนี้ ขอพูดโดยยังไม่ได้ทบทวนและตรวจสอบให้ละเอียด

เท่าที่ระลึกได้ ก่อนเกิดมีศัพท์บัญญัติว่า “จริยธรรม” เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อนนั้น สังคมไทย ก็เหมือนกับสังคมทั่วไปในโลก ได้ตื่นเต้นอยู่กับความหวังในความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหญ่มาเป็นเวลานาน ผู้คนไม่ค่อยสนใจในเรื่องศีลธรรม แม้ว่าเวลานั้นจะยังใช้คำว่า “ศีลธรรม” เด็กยังต้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม แต่จิตใจคนกำลังห่างเหินออกมา (คงคล้ายคำเปรียบที่ว่า ยามน้ำมากหาง่าย คนไม่เห็นคุณค่า แต่เมื่อใดไม่มีน้ำจะกิน แม้แต่เพชรพลอยก็หมดสิ้นความหมาย)

ต่อมา เมื่อมีคำใหม่ว่า “จริยธรรม” ที่บัญญัติขึ้นจากคำฝรั่ง และคำว่าศีลธรรมเลือนรางลงไปๆ ก็พอดีหรือบังเอิญว่า สังคมไทยได้เข้าสู่ยุคที่ประสบปัญหาทางศีลธรรมมากขึ้นๆ คนมีปัญหาจิตใจมากขึ้น จนคนบ่นกันหนาหูขึ้นเรื่อยๆว่า ศีลธรรมเสื่อมๆ (คำว่า ศีลธรรม เสื่อมหาย)

ถึงตอนนี้ สังคมหันมามองเห็นความจำเป็นของศีลธรรม ในขณะที่คำใหม่ที่โก้กว่า คือ จริยธรรม กำลังเริ่มเด่นขึ้นมาแทน

ยุคของความสนใจปัญหาสังคม จึงมาพร้อมกับการค่อยๆเลือนหายของคำว่า “ศีลธรรม” และการนิยมคำใหม่ว่า “จริยธรรม”

ก่อนนั้นไม่นาน สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคพัฒนา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ และประเทศไทยก็ได้มี แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรก คือ ฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๙ (แผน ๑ นี้ ในชื่อมีคำว่า “การ” แต่ไม่มี “และสังคม”) ในแผนฉบับแรกนี้ ซึ่งมุ่งที่เศรษฐกิจ ไม่เอ่ยถึงศีลธรรมเลย (“จริยธรรม” ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นคำที่ยังไม่ใช้)

ระหว่างที่เน้นการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจนั้น คนไทยได้มองเห็นปัญหาสังคมที่คนมีความเสื่อมโทรมทางจิตใจ ห่างเหินจากศีลธรรมไกลออกไปๆ ตอนนั้น เริ่มมีระบบผ่อนส่ง ซึ่งแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการกู้หนี้ยืมสินระบาดไปทั่ว

เมื่อได้เห็นความสำคัญของปัญหาสังคมที่พ่วงมากับความเห่อวัตถุและปัญหาความเสื่อมจากศีลธรรม ก็เป็นเหตุให้แผนพัฒนาฉบับต่อมา ขยายขอบเขตออกไปโดยเพิ่มคำว่า “และสังคม” เข้าไปในชื่อ กลายเป็น แผนพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ และในแผนนี้ ก็ได้เริ่มมีคำว่า “ศีลธรรม” โดยเฉพาะได้เกิดมีคำว่า “พัฒนาจิตใจ” ซึ่งเป็นจุดเน้นที่กล่าวถึงสืบมาอีกหลายแผน

ต่อมา เมื่อขึ้นสู่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ * (พึงสังเกตว่า ตั้งแต่แผน ๓ นี้ไป ในชื่อแผนไม่มีคำว่า การ) ฉบับที่ ๓ นี้มากขึ้นๆ พอถึงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๒๙ ก็มีคำว่า “พัฒนาจริยธรรม” ถึงตอนนี้ คำว่า ศีลธรรมแม้จะยังมีใช้อยู่ แต่ก็น้อย จริยธรรมกลายเป็นคำเด่น ซึ่งทางการก็หันไปใช้มาก (ในแผ่น ๕ นี้ มีคำว่า ศีลธรรม เพียง ๕ ครั้ง แต่เอ่ยอ้างจริยธรรมถึง ๑๘ ครั้ง)

คำว่า “พัฒนาจิตใจ” ซึ่งได้เข้ามาสู่แผนพัฒนาฯ พร้อมกับคำว่า “ศีลธรรม” โดยเริ่มขึ้นในฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๑๔) นั้น ตอนแรกยังใช้น้อย ไม่บ่อยไม่เด่นเท่าคำว่า ศีลธรรม แต่อย่างที่กล่าวแล้ว พอเข้าแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ ๓ (๒๕๑๕-๒๕๑๙) คำว่า ศีลธรรมก็เริ่มมีคำว่า “จริยธรรม” เข้ามาแข่ง และปรากฏตัวน้อยลงๆ ในขณะที่คำว่า “พัฒนาจิตใจ” กลับมีการการใช้มากกขึ้นๆ

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ “พัฒนาจิตใจ” ก็ได้ขึ้นมาเป็นหัวข้อใน “บทที่ ๒ แนวนโยบายและเป้าหมายด้านประชากร กำลังคน การพัฒนาจิตใจและสิ่งแวดล้อม”


พอถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ (๒๕๓๐- ๓๔) ปรากฏว่า “ศีลธรรม” มีใช้เพียง ๒ ครั้ง แต่ใช้ “พัฒนาจิตใจ” ถึง ๑๕ ครั้ง จากนั้น “พัฒนาจิตใจ” ก็ถึงจุดโดดเด่นที่สุดในแผน ฯ ๗ (๒๕๓๕-๓๙) โดยขึ้นมาเป็นชื่อบทหนึ่งในแผนนั้น คือ “บทที่ ๒ การพัฒนาจิตใจ วัฒนธรรมและสังคม” และใช้บ่อยไม่น้อยกว่า ๒๔ ครั้ง

(พึงสังเกตด้วยว่า คำว่า “คุณภาพชีวิต” “สิ่งแวดล้อม” “ระบบนิเวศน์” “ทรัพยากรธรรมชาติ” ก็ทวีความสำคัญขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้กัน ตั้งแต่แผน ๕ เป็นต้นมา)

ข้อความใน แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๒๕-๒๙ และ ฉบับที่ ๖ พ.ศ.๒๕๓๐-๓๔ ช่วยบอกเราว่า ในช่วงเวลานั้น ค่อนข้างชัดว่าคนนิยมใช้ “จริยธรรม” มากขึ้นๆ ขณะที่ใช้ “ศีลธรรม” น้อยลงๆ และ “คุณธรรม” ก็เข้ามาเป็นตัวเสริมมากขึ้นๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่า “จริยธรรม” จะเข้ามาแข่งหรือเบียด “ศีลธรรม” แต่ยังอยู่ในระยะที่ไม่ลงตัว (คงไม่แน่ใจ) ในช่วงแรกจึงยังใช้ลักลั่นอยู่ (ยังไม่คุ้นและไม่ได้ตกลงความหมายกันให้ชัด) และเมื่อเอาคำว่า “คุณธรรม” มาเข้าคู่ ตอนแรกก็เหมือนกับเอาแค่ให้มีคุณธรรมด้วย แต่จะให้เข้าคู่กับคำไหนแน่ ก็บอกไม่ได้

ดังตัวอย่าง ในแผน ๕ “คุณธรรมและจริยธรรม” ก็เริ่มมีใช้ แต่ใช้ว่า “ศีลธรรมและจริยธรรม” มากกว่า และใช้ว่า “คุณธรรมและศีลธรรม” ก็มี บางทีก็ใช้ว่า “ศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงาม”

ในแผน ๖ และแม้ในแผน ๗ ที่เน้นการพัฒนาจิตใจอย่างยิ่ง ก็ใช้คำเหล่านี้ปะปนกันไป เช่นว่า “พัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม จริยธรรม” บ้าง “การพัฒนาทางด้านจิตใจ คุณธรรมและและศีลธรรม” บ้าง “ส่งเสริมปลูกฝังศีลธรรมและจริยธรรม” บ้าง “การพัฒนาจิตใจหรือจริยธรรม” บ้าง “การสอนเรื่องศาสนาและจริยธรรม” บ้าง (เรียกว่าใช้กันนัวเนีย แม้กระทั่งในแผน ๘ ก็ยังมีทั้ง “ศีลธรรม จริยธรรม” “คุณธรรมจริยธรรม” และ “สาสนาและจริยธรรม”)

“พัฒนาจิตใจ” ยังเฟื่องมาถึงแผน ๘ แต่เมื่อผ่านมาถึงแผน ๙ และแผน ๑๐ มีใช้เพียง ๒-๓ ครั้ง คือแทบจะหายไปเลย แต่คำว่า “จริยธรรม” กลับมีความมั่นคงมากขึ้น

ถึงตอนนี้ การอบรมจริยธรรมก็มาเข้าชุดกับ การพัฒนาจริยธรรม ทั้งส่วนราชการและเอกชน ตื่นขึ้นมาจัดอบรมจริยธรรมกันดื่นไปทั่ว ในขณะเดียวกัน ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการ คำว่า ศีลธรรมค่อยๆ หล่นหายไปจากหลักสูตรการศึกษา และคำว่า จริยธรรม ก็ค่อยๆเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตาม คำว่า “จริยธรรม” ตามความหมายที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น มองออกไปทางด้านสังคม เน้นความประพฤติที่แสดงออกหรือมีผลกระทบต่อภายนอก มุ่งที่การปฏิบัติต่อกันและการอยู่ร่วมในสังคม

การตื่นอบรมจริยธรรมเดินหน้ามาระยะหนึ่ง ก็ชักสงสัยกันวุ่นวายไปว่า เอ๊ะ...ไม่ได้นะ การอบรมจริยธรรมที่เอาแต่เรื่องความประพฤติข้างนอกนี่ ไม่พอ ไม่ได้ผลหรอก ต้องให้มีคุณธรรมในจิตใจด้วย ความประพฤติข้างนอกจึงจะดีได้ เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาจิตใจ เน้นให้ถึงคุณธรรม ต้องเติมคุณธรรมลงไป ต้องอบรมคุณธรรม

ตอนนี้ สังคมไทยก็ก้าวมาอีกขั้นหนึ่ง ตกลงว่า การจัดอบรมจริยธรรม มีชื่อยาวขึ้น กลายเป็น การอบรมคุณธรรมและจริยธรรม

พอถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ (๒๕๔๕-๔๙) และ ฉบับที่ ๑๐ (๒๕๕๐-๕๔) “คุณธรรม” ก็ได้มาเข้าคู่กับ “จริยธรรม” ลงตัวแล้ว

ในแผน ๙ พบ “จริยธรรม” ๖ ครั้ง และทุกครั้งมี “คุณธรรม” เป็นคู่อยู่ด้วย
ส่วนในแผน ๑๐ มีคำคู่ว่า “คุณธรรม จริยธรรม” ถึง ๒๒ ครั้ง (เขียนชัดกันบ้าง มี ‘และ’ คั่นบ้าง หรือ สับที่กันเป็น “จริยธรรม คุณธรรม” ก็มี)

ถึงตอนนี้ “ศีลธรรม” แม้จะยังใช้อยู่ แต่ไม่มีที่จะมาเข้าคู่ว่า “ศีลธรรมและจริยธรรม” อย่างก่อนหน้านั้น คือ ใช้แยกความหมายออกไป เช่นว่า “...ปลูกฝังศีลธรรมให้สำนึกในคุณธรรม จริยธรรม”

บางที่มีเค้าหรือเป็นแนวโน้มทำนองว่าจะใช้ “ศีลธรรม” ในกรณีที่พูดคลุมๆหรือกล่าวถึงภาพรวมของสังคม เช่นว่า “เวลานี้ สังคมมีปัญหาทางศีลธรรมมาก” หรือว่า “บ้านเมืองกำลังเสื่อมโทรมทางศีลธรรม” แต่เอาเข้าจริง คนก็ยังใช้ทั้งศีลธรรมและจริยธรรมสับสนปนเปกันไป

ในขณะเดียวกัน ระหว่างนี้ นักวิชาการของเราก็ยังพยายามจำกัดความให้ความหมายคำเหล่านี้อยู่ เพื่อช่วยให้สังคมไทยยุติความเข้าใจในถ้อยคำเหล่านี้

นี่คือ เบื้องหลังความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาที่เรียกว่าเป็นเรื่องของจริยธรรมในสังคมไทย เรามากันได้แค่นี้ คือมาถึงขั้นที่เห็นๆกัน ตามถ้อยคำที่เราใช้สื่อสารกันอยู่ในระดับชาติเวลานี้แหละว่า การอบรมคุณธรรมและจริยธรรม บ้าง การพัฒนาจริยธรรมและพัฒนาจิตใจ บ้าง

ดูตามที่พูดมา เห็นเค้าว่าสังคมนี้ คงจะต้องเดินทางไกล และคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน กว่าจะถึงจุดหมายของการพัฒนาคน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2018, 17:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยุติความสับสน หยุดวิ่งเวียนวน เข้าหาจริยะแท้ที่เป็นผลของการศึกษา ซึ่งพัฒนาคนทั้งคน

ลองมองไปข้างๆ และรอบๆตัวบ้าง อย่างน้อยก็คงมองเห็นว่า เวลานี้ ในวงการทางการศึกษา มีการก้าวไปในความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ดังที่มีการพูดถึงคติในการพัฒนาเด็กว่า ให้เก่ง-ดี-มีความสุข

พูดสั้นๆ นี่ก็คือการยอมรับว่า ในการพัฒนาคนนั้น ความสุขก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ อันจำเป็นที่จะทำให้การพัฒนาคนนั้นสำเร็จ

ขอให้ดูในจริยธรรมแบบพรหมจริยะข้างบนโน้น จะเห็นว่า ไม่เฉพาะคุณธรรมเท่านั้น แต่ความสุขก็เป็นส่วนประกอบของจริยธรรมอยู่ในแดนของจิตใจ

ทีนี้ ก็ต้องเดินหน้าต่อไปอย่างที่พระว่าไว้ คือบอกว่า คุณธรรมและจริยธรรมเท่านั้น ไม่พอหรอก จริยธรรมจะดีได้ ในใจต้องมีคุณธรรม แล้วคุณธรรมนั้นจะอยู่ได้ จิตใจต้องมีความสุข
ถ้าคนไม่มีความสุข จิตใจมีแต่ความทุกข์ มันก็ดิ้นรน มันทุกข์ ก็จะดำรงจริยธรรมไม่ได้ จะรักษาความดีไม่ไหว เพราะฉะนั้น ต้องให้คนมีความสุขด้วย ตกลงว่า คุณธรรมและจริยธรรมไม่พอ ต้องมีความสุขด้วย

คอยดูเถอะ คงอีกไม่นานนัก นักแก้ปัญหาจริยธรรมก็จะต้องพูดว่า การอบรมคุณธรรมและจริยธรรมนั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนาความสุขด้วย

ทีนี้ละ งานอบรมจริยธรรมก็คงจะมีชื่อยืดยาวออกไปอีก เช่น กลายเป็นว่า โครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และความสุข

แต่แค่นั้น ยังไม่จบ ต่อไป ไม่ช้าหรอก วงการจริยธรรมก็จะตื่นขึ้นมาตรหนักรู้อีกขั้นหนึ่งว่า เออ...คุณธรรม และจริยธรรม แล้วเพิ่มความสุขเข้ามาอีกนี่ ก็ยังไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วยนะ

ถ้าไม่มีปัญญาบอกให้ การประพฤติจริยธรรมก็ไม่สำเร็จจริง คือ ไปไม่ตลอด คนอาจจะผิดจริยธรรม โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่ามีความสุข ก็อาจจะสุขแบบโง่ๆ ถึงจะมีคุณธรรม ก็อาจจะมีแบบโง่ๆ เช่น เมตตา กรุณา อย่างโง่ๆ อะไรทำนองนี้ ไปๆมาๆ ก็ได้จริยธรรมแบบโง่ๆ ในที่สุดก็ไปไม่รอด พาชีวิตและสังคมเสียหายหมด เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัญญาด้วย

เป็นอันว่า ที่พร่ำพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ว่าคุณธรรมและจริยธรรมนั้นไม่พอหรอก เราพลาดมานานแล้ว ถึงเวลาต้องสะสางกันแล้ว

ตอนนี้ มากันได้แค่ที่พูดว่า คุณธรรม บ้าง คุณธรรมและจริยธรรมบ้าง ความสุขก็ยังไม่ค่อยถึงเลย

ทางด้านวงการศึกษา เอาละ ตอนนี้ บอกว่า ต้องเก่ง ดี และมีความสุข นี่คือ ความสุขมาแล้ว แต่ปัญญาที่เป็นตัวคุมจริยธรรมก็ยังไม่มา มีแต่ปัญญาสำหรับหาผลประโยชน์

ถ้าปัญญาที่แท้นี้ยังไม่มา จริยธรรมก็ไม่เป็นระบบที่บูรณาการ ตอนนี้ ผู้จัดการศึกษา บางทีจะเอาปัญญาไปไว้ที่ “เก่ง” แต่อย่างที่ว่าแล้ว ปัญญานั้นอาจจะเป็นปัญญาที่ฉลาดหาผลประโยชน์ใส่ตัว ไม่ใช่ปัญญาสำหรับแก้ปัญหาชีวิตและสร้างสรรค์สังคม ที่อยู่ในระบบของจริยธรรม เขาอาจจะเก่งเอาเปรียบคนอื่น ไม่ใช่เก่งที่ประสานกับดี เป็นเก่งที่บูรณาการกับ “ดี” ไม่ได้ ฉะนั้น มันก็เลยไม่ชัด

ฉะนั้น ต้องให้ครบ ให้เป็นระบบที่ชัดกันไปเลยที่ว่า ต้องมีทั้งพฤติกรรมกาย วาจา ต้องมีจิตใจ ต้องมีให้ครบถึงปัญญา ต้องมาบูรณาการกัน อย่างที่ชอบพูดกันนักว่าให้เป็นองค์รวมจริงๆ

ถึงตอนนี้ นักจัดอบรม ก็ต้องขยายงานและชื่อโครงการออกไป กลายเป็นว่า โครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม ความสุข และปัญญา

นี่คือความคลุมเครือที่นำมาสู่ความสับสนวุ่นวายที่สังคมของเรายังเคว้งคว้างกันอยู่

แต่ถ้าจับหลักได้แล้ว เรามาถึงความที่แท้ พอครบเป็นระบบจริงแล้ว ก็เป็นจริยธรรมในความหมายแบบพรหมจริยะ คือ พูดว่า “จริยะ” (หรือจริยธรรม) คำเดียว ก็รวมไปถึงคุณธรรม ความสุข ตลอดจนปัญญาด้วย พร้อมทั้งหมด

ไม่ต้องคอยตามที่จะเติมเพิ่มเข้าไปทีละข้อๆ อย่างที่ทำกันมาและยังทำกันอยู่ แล้วก็ไปยังไม่ถึงไหน ซึ่งพูดรวบรัดก็คือ ยังหาจริยธรรมไม่เจอนั่นเอง

ขอสรุปอีกทีว่า “จริยะ” คือระบบการดำเนินชีวิตของเรานี้ มีส่วนประกอบ อยู่ ๓ ด้าน ซึ่งประสานกลมกลืนไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ คือ

๑. แดนพฤติกรรม หรือแดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินไป ด้วยกาย และวาจา (พร้อมทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก)

๒. แดนจิตใจ ที่ดำเนินไปด้วยเจตนา โดยมีคุณสมบัติมากมาย ในจิตใจหล่อเลี้ยง สนองงาน และเสวยผล มีทั้งด้านเครื่องปรุงแต่งให้ดีหรือ ชั่ว ด้านกำลังความสามารถ และด้านความสุขความทุกข์

๓. แดนปัญญา ที่ดำเนินไปด้วยความรู้ ซึ่งเอื้อให้เจตนาในแดนแห่งจิตใจสามารถคิดหมายทำการต่างๆ ได้สำเร็จผล ให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพได้

ครบหมดทั้ง ๓ แดนนี้ ดำเนินหรือเป็นอยู่เป็นไปด้วยกัน เรียก ว่า จริยะ และทั้งนี้ก็ควรให้มันเป็น จริยะที่ดีประเสริฐ เต็มตัว เป็นของแท้ (พรหมจริยะ)

เพื่อให้เป็นจริยะที่ดีงามประเสริฐดัง ที่ว่ามานี้ เราจะต้องจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ แดนนั้น โดยฝึกหัดพัฒนา แก้ไขปรับปรุงให้ชีวิตดำเนินไปได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดีงามเป็นประโยชน์มีความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์

การฝึกหัดพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ แดนที่ว่า นั้น เรียกว่า การศึกษา ซึ่งมี ๓ ส่วน ตรงกับ ๓ แดนนั้น คือ

๑. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนพฤติกรรม หรือ แดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยฝึกหัดกาย - วาจา (พร้อมทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก) เรียกว่า ศีล (ชื่อเต็มว่า อธิศีลสิกขา)

๒. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนจิตใจ โดย พัฒนาเจตนาให้เจริญในกุศลยิ่งๆขึ้นไป พร้อมทั้งมีความเข้มแข็งสามารถ และ ศักยภาพที่จะมีความสุข จนไร้ทุกข์สิ้นเชิง เรียกว่า สมาธิ (ชื่อ เต็มว่า อธิจิตตสิกขา)

๓. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนปัญญา โดย พัฒนาความรู้ความรู้เข้าใจจนเข้าถึงรู้ทันเห็นประจักษ์แจ้งความจริงของ สิ่งทั้งหลาย มีชีวิตที่เป็นอิสระและเป็นอยู่ด้วยปัญญา เรียก ว่า ปัญญา (ชื่อเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา)

ในฐานะที่การศึกษานี้มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

พระพุทธศาสนาถือเรื่องการศึกษาเป็นสำคัญ ถึงกับจัดระบบของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ให้เป็นระบบการศึกษา ที่เรียกว่าไตรสิกขา นี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญในที่สุดก็คือ เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริง แล้วก็ปฏิบัติตามหลักความจริง หรือตามกฎความจริงนั้น ให้ความจริงเป็นไปในทาง ที่เกิดผลดี แก่ชีวิตและสังคมของตน

เมื่อพัฒนาชีวิตด้วยไตรสิกขานี้แล้ว ก็จะมีจริยะ คือการ ดำเนินชีวิตเป็นอยู่ ทั้งส่วนตัว และขยายไปถึงสังคม ที่อยู่กันอย่างถูกต้องดีงาม มีสันติสุขที่ยั่งยืน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2018, 21:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อที่

viewtopic.php?f=1&t=56487

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร