เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ ทาน ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ  
 

ติโรกุฑฑกัณฑ์

          เปรตทั้งหลายพากันมาสู่เรือนของตนแล้วยืนอยู่ภายนอกฝาเรือนที่ตรอกและทาง ๓ แพร่ง และยืนอยู่ที่ใกล้บานประตู

          เมื่อข้าว น้ำ ของกิน ของบริโภคเป็นอันมากเขาเข้าไปตั้งไว้แล้ว แต่ญาติไรๆ ของเปรตเหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เป็นปัจจัยเหล่าชนผู้อนุเคราะห์ย่อมให้ข้าว น้ำและโภชนะอันสะอาดประณีตสมควรแก่ญาติทั้งหลายตามกาล ดุจทานที่มหาบพิตรทรงถวายแล้ว ฉะนั้น ด้วยเจตนาอุทิศว่า

          ขอทานนี้แล จงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเราจงเป็นสุขเถิด

          ส่วนเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น พากันมาชุมนุมในที่นั้น เมื่อข้าวและน้ำมีอยู่เพียงพอ ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า

          เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติของเราเหล่านั้นจงมีชีวิตอยู่ยืนนาน การบูชาเป็นอันพวกญาติได้ทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และญาติทั้งหลายผู้ให้ก็ไม่ได้ไร้ผล เพราะในเปตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม การค้าขายเช่นนั้นก็ไม่มี การซื้อการขายด้วยเงินก็ไม่มี สัตว์ผู้ทำกาละจะไปเกิดในปิตติวิสัยนั้นย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่ญาติ หรือมิตรให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้

          น้ำฝนอันตกลงในที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วจากมนุษย์โลกนี้ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

          ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

          กุลบุตรเมื่อหวนระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า คนโน้นให้สิ่งของแก่เรา คนโน้นได้ทำอุปการะแก่เรา ญาติ มิตรและสหาย ได้ให้สิ่งของแก่เรา และได้ช่วยทำกิจของเรา ดังนี้

          พึงให้ทักษิณาแก่เปรตทั้งหลาย ด้วยว่าความร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี ความร่ำไรอย่างอื่นก็ดีไม่ควรทำเลย

          เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย ญาติทั้งหลายย่อมดำรงอยู่อย่างนั้น อันทักษิณานี้แลที่ให้แล้ว เข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้นโดยพลัน สิ้นกาลนานญาติธรรมมหาบพิตรได้แสดงให้ปรากฏแล้ว การบูชาอันยิ่งเพื่อเปรตทั้งหลายมหาบพิตรทรงทำแล้ว และกำลังกายมหาบพิตรได้เพิ่มให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญมีประมาณไม่น้อยมหาบพิตรได้ทรงขวนขวายแล้ว

                                                                                                    ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
                                                                                (ติโรกุฑฑกัณฑ์ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๗)


          อรรถกถาติโรกุฑฑเปตวัตถุ

          พระศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ ทรงปรารภพวกเปรตเป็นอันมาก จึงตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ติโรกุฑฺเฑสุติฏฐนฺติ ดังนี้

          ในข้อนั้นมีกถาพิสดาร ดังต่อไปนี้ :-

          ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัททกัปนี้ ได้มีนครหนึ่งชื่อว่า กาสี พระราชาทรงพระนามว่า
ชัยเสน ทรงครองราชย์สมบัติในพระนครนั้น พระองค์ได้มีพระราชเทวีทรงพระนามว่า สิริมา
พระโพธิสัตว์นามว่า ผุสสะ บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางแล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
โดยลำดับ

          พระเจ้าชัยเสนเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นว่า บุตรของเราออกมหาภิเนษกรมณ์เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระธรรมเป็นของเรา พระสงฆ์ก็เป็นของเรา ดังนี้แล้วทรงอุปัฏฐากด้วยพระองค์เองทุกๆ กาล ไม่ทรงให้โอกาสแก่ชนเหล่าอื่น

          พี่น้อง ๓ คนผู้ต่างมารดากัน เป็นพระกนิษฐภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พากันคิดว่า ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอุบัติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งมวล มิใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคลผู้เดียว และพระบิดาของพวกเราก็ไม่ยอมให้โอกาสแก่ชนเหล่าอื่นเลย ทำอย่างไรหนอ พวกเราจะพึงได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ พี่น้องทั้ง ๓ พระองค์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

          เอาเถิด พวกเราจะทำอุบายสักอย่างหนึ่งให้ได้ พี่น้อง ๓ พระองค์เหล่านั้นได้สร้างสถานการณ์ชายแดนประหนึ่งว่า เกิดการปั่นป่วน แต่นั้น พระราชาทรงสดับว่า แถบชายแดนเกิด ความปั่นป่วนจึงได้ส่งพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปปราบปัจจันตชนบทสงบแล้วกลับมา พระราชาทรงพอพระทัย ได้ประทานพรว่า

          พวกลูกปรารถนาสิ่งใด ก็จงถือเอาสิ่งนั้นเถิด

          พี่น้องทั้ง ๓ พระองค์นั้น กราบทูลว่า
          ข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า

          พระราชาตรัสว่า
          เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้านี้เสีย เธอจงเลือกเอาอย่างอื่นเถิด

          พี่น้อง ๓ พระองค์นั้นกราบทูลว่า
          พวกข้าพระองค์ไม่ต้องการสิ่งอื่น

          พระราชาตรัสว่า
          ถ้าอย่างนั้น พวกเธอจงกำหนดเวลามาแล้วถือเอาเถิด

          พี่น้อง ๓ พระองค์นั้นทูลขอถึง ๗ ปี พระราชาไม่ทรงอนุญาต พี่น้อง ๓ พระองค์กราบทูลว่าขอ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน จนกระทั่งขอเพียง ๓ เดือน ด้วยประการฉะนี้

          ในกาลนั้นพระราชาได้ทรงอนุญาตว่า
          จงถือเอาเถิด

          พี่น้อง ๓ พระองค์นั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับการอยู่จำพรรษาตลอด
๓ เดือนนี้ แก่ข้าพระองค์เถิด

         พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับด้วยดุษฎีภาพ

         พี่น้อง ๓ พระองค์นั้น จึงส่งลิขิตไปถึงนายเสมียนในชนบทของตนว่า
พวกเราพึงอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือนนี้ ขอท่านจงจัดแจงสัมภาระสำหรับอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่วิหารไป
นายเสมียนนั้นได้จัดแจงทุกอย่างแล้ว ส่งลิขิตตอบไป
พี่น้อง ๓ พระองค์นั้น ต่างนุ่งผ้ากาสายะ พร้อมกับบุรุษ ๑,๐๐๐ คน ผู้ทำการขวนขวาย ได้พากันอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์โดยเคารพ นำไปยังชนบทมอบถวายวิหารให้อยู่จำพรรษา

         บุตรคฤหบดีคนหนึ่ง ผู้เป็นภัณฑาริกของพี่น้อง ๓ พระองค์นั้นพร้อมด้วยภริยา เป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส เขาได้ถวายทานวัตรแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานโดยเคารพ
นายเสมียนในชนบท พาเขาไปพร้อมกับชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ได้ให้ทานเป็นไปโดยเคารพทีเดียว
ในคนเหล่านั้น ชาวชนบทบางพวก ได้เกิดขัดใจกันขึ้น เขาเหล่านั้นจึงพากันทำอันตรายแก่ทาน พากันกินไทยธรรมด้วยตนเอง และเอาไฟเผาโรงครัว
ราชบุรุษผู้ปรารถนาแล้ว ก็พากันทำสักการะแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วก็ปรินิพพาน
ส่วนราชบุตร เสมียนในชนบท และผู้เป็นภัณฑาคาริกพร้อมด้วยบริษัททำกาละแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์ตามลำดับเหล่าชนผู้ขัดใจกัน ก็พากันไปบังเกิดในนรก
เมื่อชนทั้ง ๒ พวกนั้น จากสวรรค์เข้าถึงสวรรค์จากนรกเข้าถึงนรก ด้วยอาการอย่างนี้ ผ่านไป ๙๒ กัป
ครั้นในภัททกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ คนผู้ขัดใจกันเหล่านั้น เกิดในพวกเปรต

         ในกาลนั้น พวกมนุษย์พากันให้ทาน อุทิศเพื่อประโยชน์แก่พวกเปรตผู้เป็นญาติของตนว่า ขอทานที่ให้นี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติของพวกเราเถิด เปรตเหล่านั้นได้เสวยสมบัติ
ลำดับนั้น เปรตเหล่านี้ได้เห็นดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พวกข้าพระองค์จะพึงได้สมบัติเห็นปานนี้หรือไม่หนอ ?

         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
          บัดนี้ ท่านยังไม่ได้ แต่ในอนาคต จักมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคตมะ

         ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จักมีพระราชาทรงพระนามว่า พิมพิสาร ใน ๙๒ กัป แต่ภัททกัปนี้พระองค์ได้เป็นญาติของพวกท่าน พระองค์ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า แล้วจักอุทิศแก่พวกท่าน พวกท่านจักได้ในกาลนั้น ได้ยินว่า เมื่อพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ พระดำรัสนั้นได้เป็นเสมือนตรัสแก่พวกเปรตเหล่านั้นว่า จักได้ในวันพรุ่งนี้

          ครั้นพุทธันดรหนึ่งผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราทรงอุบัติขึ้นแล้ว ราชบุตรทั้ง ๓ แม้เหล่านั้น พร้อมด้วยบุรุษ ๑,๐๐๐ คน จุติจากเทวโลกแล้วเกิดในสกุลพราหมณ์ในมคธรัฐ พากันบวชเป็นฤาษีตามลำดับ ได้เป็นชฎิล ๓ พี่น้อง ณ คยาสีสประเทศ นายเสมียนในชนบทได้เป็นพระเจ้าพิมพิสาร คฤหบดีบุตรผู้เป็นขุนคลังได้เป็นเศรษฐี ชื่อว่า วิสาขะ ภริยาของคฤหบดีบุตรนั้นได้เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่า ธรรมทินนา ฝ่ายคนนอกนั้นบังเกิดเป็นบริวารของพระราชานั่นเอง

          พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ของพวกเรา ก็ทรงอุบัติขึ้นในโลกล่วงไป ๗ สัปดาห์ ก็เสด็จมายังกรุงพาราณสีโดยลำดับ ทรงประกาศธรรมจักร ทรงแนะนำตั้งต้นแต่พระปัญจวัคคีย์จนถึงชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน แล้วได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์

          ก็ในบรรดาชนเหล่านั้น พระองค์ทรงให้พระเจ้าพิมพิสาร ผู้เข้าไปเฝ้าในวันนั้นนั่นเอง พร้อมกับพราหมณ์ และคฤหบดีชาวอังคะและมคธะ ๑๑๐,๐๐๐ คนให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
ลำดับนั้น พระราชาทรงนิมนต์ด้วยภัตต์ เพื่อเสวยพระกระยาหารในวันพรุ่งนี้ พระองค์ทรงรับแล้วในวันที่ ๒ อันท้าวสักกะจอมเทพ ผู้แปลงเพศเป็นมาณพน้อย นำเสด็จไปชมเชยด้วยพระคาถา มีอาทิอย่างนี้ว่า

          พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงฝึกพระองค์แล้วผู้พ้นวิเศษแล้ว ผู้มีวรรณะเพียงดังว่าลิ่มทองสิงคี พร้อมด้วยปุราณชฎิล ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ดังนี้
จึงเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงรับมหาทานในพระราชนิเวศน์ ส่วนพวกเปรตเหล่านั้น ได้พากันยืนล้อมด้วยหวังใจว่าบัดนี้ พระราชาจักอุทิศทานแก่พวกเรา บัดนี้พระราชาจักอุทิศ
พระราชาทรงถวายทานแล้ว ทรงพระดำริเฉพาะสถานที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอดังนี้ จึงไม่ได้อุทิศทานนั้นแก่ใครๆ พวกเปรตเมื่อไม่ได้ทานนั้น อย่างนั้น ก็สิ้นหวังในเวลากลางคืน จึงพากันส่งเสียงร้องอันน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งใกล้พระราชนิเวศน์ พระราชาทรงถึงความสังเวช อันน่าสะพึงกลัว น่าหวาดเสียว เมื่อราตรีผ่านไป จึงได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ได้สดับเสียงเห็นปานนี้ จักมีเหตุอะไรแก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า

         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
         อย่าทรงกลัวเลยมหาบพิตร จักไม่มีความชั่วช้าลามกอะไรแก่พระองค์ดอก
อนึ่ง ญาติเก่าก่อนของพระองค์ที่เกิดในพวกเปรตก็มี ญาติเหล่านั้นหวังจะพบเฉพาะพระองค์แต่ผู้เดียวถึงพุทธันดรหนึ่ง ท่องเที่ยวไปด้วยหวังใจว่า พระองค์ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแล้ว จักอุทิศแก่พวกเราบ้าง เพราะพระองค์ถวายทานเมื่อวันวานแล้วมิได้อุทิศ จึงพากันสิ้นหวัง ส่งเสียงร้องเห็นปานนั้น

         พระราชาตรัสถามว่า
         เมื่อหม่อมฉันถวายทานแม้ในบัดนี้ เปรตเหล่านั้นจะพึงได้รับหรือ พระเจ้าข้า ?

         พระศาสดาตรัสว่า
         ได้ มหาบพิตร

         พระราชากราบทูลว่า
         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดรับทานของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันนี้ ข้าพระองค์จักอุทิศแก่พวกเปรตเหล่านั้น

          พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับนิมนต์ด้วยดุษฎีภาพ

          พระราชาเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ทรงให้จัดแจงมหาทานแล้ว ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนอาสนะที่บรรจงจัดไว้
เปรตเหล่านั้นไปด้วยหวังว่า วันนี้พวกเราจะพึงได้อะไรเป็นแน่ ดังนี้
จึงได้พ กันยืนอยู่ในที่ต่างๆ มีภายนอกฝาเรือน เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำโดยที่พวกเปรตเหล่านั้นทั้งหมดมาปรากฏตัวแด่พระราชา พระราชาเมื่อจะทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก จึงอุทิศว่า
ทานที่ข้าพเจ้าให้แล้วนี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติเถิด
ในบัดดลนั้นเอง สระโบกขรณีอันดาระดาษด้วยกลุ่มดอกกมลได้บังเกิดแก่พวกเปรต เปรตเหล่านั้นพากันอาบและดื่มในสระโบกขรณีนั้น ได้สงบระงับความกระวนกระวาย ความลำบากและความกระหาย ได้เป็นผู้มีสีดั่งทองคำ
พระราชาถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว และของบริโภค แล้วอุทิศให้
ขณะนั้นนั่นเอง ข้าวยาคู ของเคี้ยว และอาหารอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น
เปรตเหล่านั้นพากันบริโภคข้าวยาคู เป็นต้น นั้นแล้วก็ได้เป็นผู้มีอินทรีย์กระปรี้กระเปร่า
ลำดับนั้น พระองค์ได้ถวายผ้า, ที่นอน, และที่นั่ง แล้วอุทิศให้ เครื่องประดับมีชนิดต่างๆ เช่น ผ้า ปราสาท เครื่องลาด และที่นอน เป็นต้น อันเป็นทิพย์ได้บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น และสมบัติของเปรตเหล่านั้นทั้งหมดนั้นได้ปรากฏแก่พระราชา โดยประการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานไว้
พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงพอพระทัยยิ่งนัก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงห้ามภัตรแล้ว เพื่อจะทรงอนุโมทนาแก่พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้ตรัสติโรกุฑฑเปตวัตถุว่า
         (ข้อความเหมือนตอนต้น ในติโรกุฑฑกัณฑ์)

         ในเวลาจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ผู้มีใจสลดด้วยการพรรณนาโทษของการเกิดในเปรตวิสัย ผู้เริ่มโดยอุบายอันแยบคาย
แม้ในวันที่ ๒ ก็ทรงแสดงติโรกุฑฑเทศนากัณฑ์นี้แหละ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมาภิสมัยเช่นนั้นนั่นแหละ ได้มีด้วยอาการอย่างนี้ถึง ๗ วันแล

         (จาก พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เปรตวัตถุเล่มที่ ๒ ภาคที่ ๑ หน้า ๓๗)

ส่วนเสริม
          พระสูตรที่ว่าด้วยเปรตญาติ ที่มารอรับส่วนบุญของญาติที่ยังไม่ตายนั้น ในพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่มีที่ใดที่แสดงไว้ชัดเจนเหมือนกับพระสูตรนี้ ข้อเสียไปมีอยู่ว่า ในพระสูตรนี้ไม่มีท้องเรื่องเป็นการแสดงขึ้นลอยๆ และสั้นๆ ด้วยส่วนรายละเอียดไปมีอยู่ในส่วนของอรรถกถาธรรมบท ที่ว่าด้วยเรื่องเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารมาขอส่วนบุญ แต่จะอย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เชื่อก็มีหลักฐานยืนยันแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อเราก็ไม่ว่ากัน แต่เมื่อไม่เชื่อแล้ว ถ้าเกิดว่ามันกลายเป็นเรื่องจริงในชาติหน้าๆ ก็อย่ามาขอส่วนบุญกับญาติก็แล้วกัน เพราะอยากไม่ทำเอาไว้เองก่อน

          สำหรับผู้เขียน มีความเห็นว่าการเชื่อตำราไว้ก่อนโดยเฉพาะพระไตรปิฎก ย่อมจะเป็นการดีกว่า ได้กำไรกว่าเพียงแต่อยากจะขอติงนิดเดียวว่า อย่าเชื่อจนหมดหัวใจเผื่อไว้สำหรับไม่จริงบ้าง !
นั่นก็คือ การพบกันครึ่งทางนับว่าปลอดภัย และดีที่สุด สำหรับปุถุชนอย่างเราๆ กล่าวคือ ถ้าเราไม่เชื่อเลย เราก็ไม่ทำบุญเลย หรือทำบุญแต่ไม่ยอมอุทิศส่วนบุญไปให้เปรตญาติเลย ถ้าเปรตญาติของเรามีจริงเขาก็อด และเขาก็ต้องโกรธแค้นเรา ถ้าเราเชื่อก็ขอให้เชื่อเถิด แต่อย่าเชื่อจนงมงาย ให้มีปัญญาร่วมด้วย ทำแต่พอประมาณ และขอให้เลือกผู้รับด้วย การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้ ย่อมเป็นของเราตลอดไป ไม่มีใครจะมาแย่งเอาไปได้ ถ้าพอมีโอกาสและไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ขอให้รีบทำเอาไว้อย่ารอไว้เมื่อนั่นเมื่อนี่ ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ไม่หลักประกัน ข้อสำคัญ ให้ทำด้วยศรัทธาจริงๆ เป็นศรัทธาที่บริสุทธิ์ อย่าทำบุญเอาหน้า อย่าภาวนาหลอกลวง อย่าทำเพื่อหวังอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ควรจะตั้งเป้าไว้ที่ ๒ จุด คือ

ก. เพื่อบูชาคุณท่าน หรือเพื่อสงเคราะห์
ข. เพื่อกำจัดความตระหนี่ หรือความเห็นแก่ตัวจัด

          อย่าได้ไปหวังว่า ขอให้เกิดเป็นคนรวย เกิดในสวรรค์มีวิมานสูงๆ หรือใหญ่ๆ มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร... อะไรทำนองนั้น นั่นมันเป็นการเพิ่มตัณหา และค้ากำไรเกินควร ทำให้ผลแห่งทานนั้นไม่บริสุทธิ์ มีอานิสงส์อ่อน ไม่ขัดเกลากิเลสแต่เพิ่มตัณหา และเป็นไปเพื่อวัฏฏะ ไม่พ้นทุกข์ เราทำบุญทำทานไว้แล้ว ตราบใดที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราก็ต้องได้รับอยู่แล้ว จะต้องไปปรารถนาทำไมอีก ? ถ้าจะปรารถนาก็ควรที่จะปรารถนาสิ่งสูงสุดคือปรารถนาพระนิพพานนั่นแหละ แต่ไม่ใช่ปรารถนาอย่างเดียวนะ ต้องทำเหตุร่วมด้วยจึงจะได้ การทำบุญไว้กับไม้กับมือของตนเองนี่แหละดีที่สุด แน่นอนที่สุด การมัวแต่ประมาท รอไว้ให้ญาติทำให้เมื่อตายไปแล้ว โอกาสที่เราจะได้รับนั้นยาก เพราะเราอาจจะไปเกิดในภูมิที่รับไม่ได้ หรือพอจะรับได้แต่เขาไม่ทำบุญหรือทำบุญจริงแต่เขาไม่อุทิศไปให้เรา เราก็อดอีก ฉะนั้น จงอย่าประมาทเลย ทำเอาไว้ด้วยตนเองดีกว่า มีน้อยก็ทำน้อย มีมากก็ทำมาก ทำตามกำลังทรัพย์และตามกำลังศรัทธาโดยไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อนเป็นดีที่สุด

          จากพระสูตรและอรรถกถานี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ในการทำบุญทุกครั้งควรจะต้องมีการอุทิศส่วนบุญไปให้แก่เปรตญาติของเราด้วย และควรทำทุกครั้งไป เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้แล้วว่า ภพหรือภูมิที่ญาติของเราจะไม่ไปเกิดเป็นเปรตนั้นยาก การทำเผื่อไว้ก่อนจึงเป็นการดี สิ่งที่ไม่ควรคิด ก็คือ ผลแห่งบุญนี้ไม่มีการหมดหรือพร่อง อย่ากลัวว่าเมื่อเราอุทิศให้คนอื่นแล้วมันจะหมดหรือพร่อง บุญเป็นสิ่งประหลาด ยิ่งให้มันก็จะยิ่งมาก ท่านอุปมาเหมือนเราจุดเทียนขึ้นเล่มหนึ่งแล้วให้คนอื่นจุดต่อๆ กันไป แสงเทียนเล่มเดิมก็คงเดิม แต่แสงสว่างที่จุดต่อๆ กันไป ยิ่งเพิ่มแสงสว่างมากยิ่งขึ้น ผลแห่งบุญก็เช่นเดียวกันยิ่งให้ก็ยิ่งมาก !

          สำหรับการกรวดน้ำ เราทำได้สองวิธี คือ กรวดน้ำแห้งหรือกรวดน้ำเปียกก็ได้ ถือเจตนาที่ตั้งใจอุทิศให้เป็นสำคัญ ด้วยการระบุเจาะจงลงไปเลย ถ้ารู้จักชื่อก็ควรออกชื่อด้วย ถ้าไม่รู้ก็ว่ารวมๆ กันไป การกรวดน้ำด้วยภาษาไทยนั่นแหละดีกว่า ถ้าอยากจะใช้คำพระด้วยก็ได้ แต่ควรจะรู้คำแปล หรือว่าคำแปลไปพร้อมๆ กันเป็นดีที่สุด ถ้าไม่รู้คำแปลก็อย่าว่าเลย มันจะถูกหลอกหรืองมงาย ปัญหาอาจมีในบางคนว่า ควรกรวดน้ำให้ใครก่อน ? ควรกรวดให้แก่คนที่มีพระคุณแก่เรามากที่สุดและอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ใครเอ่ย ? ก็พ่อแม่ของเราไงล่ะ ! ถ้าท่านยังไม่ตาย เราก็ ‘แผ่ส่วนบุญ’ ให้แก่ท่าน ถ้าท่านตายไปแล้วเราก็ ‘อุทิศส่วนบุญ’ ไปให้ท่านโดยออกชื่อและนามสกุลของท่านด้วย

         แผ่ส่วนบุญ ให้แก่คนเป็น
         อุทิศส่วนบุญ ให้แก่คนตายไปแล้ว

ต่อจากพ่อแม่ ก็เป็นเจ้ากรรมนายเวร และญาติสนิทและต่อๆ กันไป จนสรรพสัตว์ทั่วทั้งสากลจักรวาล

 

     

สารบัญ
คำนำ
ทาน
ติโรกุฑฑกัณฑ์
ผลของทาน
เงื่อนไขแห่งทาน
ทานที่เห็นผลในปัจจุบัน
ทักขิณาวิภังคสูตร
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน