บทที่ ๗
นันโทปะนันทะภุชะคัง
วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พญานาค ชื่อนันโทปนันทะ ผู้มี
ความรู้ผิดมีฤทธิ์มาก พระจอมมุนี ทรงมี
พุทธบัญชาให้พระโมคคัลลานะพุทธโอรส ไป
ปราบด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า ด้วยเดช
แห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคล จงมีแก่ท่าน
คราวนี้ทรงเอาชนะพญานาคราช
ซึ่งพอเอ่ยคำว่า นาค ก็นึกไปถึงพญางูใหญ่
ที่มีพิษร้ายขึ้นมาทันที งูใหญ่มันมาทำอะไรให้จึงต้องปราบ
ก็เป็นปัญหาคาใจผู้ศึกษาพระพุทะศาสนาไม่น้อย ฤาว่า
นาค ในที่นี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง มิได้แปลตามตัวอักษร
เรื่องนี้ค่อยว่ากันตอนท้าย ตอนนี้ขอเล่าประวัติความเป็นมาก่อนแล้วกัน
ว่ากันว่า
สมัยหนึ่งพระพุทะเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญาล้วน
เสด็จไปโดยนภากาศด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์แห่งฌานสมาบัติ
จนลุถึงถิ่นที่อยู่แห่งพญานาคนามว่า นันโทปนันทะ
นันโทปนันทะ
และบริวารกำลังพักผ่อนสำเริงสำราญอยู่ในสถานที่อยู่ของตน
เห็นพระพุทะองค์พร้อมภิกษุจำนวนมาก เหาะข้ามศรีษะ
ของตนก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
สมณะโล้นพวกนี้ถือดีว่ามีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินหาวได้
เหาะข้ามศรีษะเรา ปล่อยผงธุลีจากเท้าหล่นต้องศรีษะเรา
เดี๋ยวจะเห็นดีกัน
ว่าแล้วแกก็ใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้เกิดหมอกควันมืดฟ้ามัวดิน
ดุจดังกลุ่มหมอกควันพิษจากไฟป่าอินโดนีเซีย อะไรทำนองนั้นแหละครับ
พระเถระนามว่า
รัฐปาละ พระอรหันต์ทรงอภิญญารูปหนึ่ง
กราบทูลอาสาไปปราบพญานาคอันธพาลตัวนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต
ตรัสว่า
หน้าที่นี้เป็นของโมคคัลลานะ
บุตรตถาคตอยู่แล้ว เธอจะรู้เองว่าควรทำอย่างไร
พระโมคคัลลานะ
ทราบว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้ท่านไปปราบพญานาค
จึงนิรมิตกายเป็นพญานาค เหมือนกัน แต่รูปร่างใหญ่และยาวกว่านันโทปนันทะหนึ่งเท่า
รัดร่างนันโทปนันทะกับเขาพระสุเมรุ
พญานาคจะดิ้นอย่างไร
ก็ไม่หลุด ยิ่งดิ้นยิ่งถูกรัดแน่นเข้าๆ จนในที่สุดต้องยอมแพ้แต่โดยดี
จำแลงกายเป็นมาณพน้อยรูปหล่อ (พ่อรวยหรือไม่ ไม่แจ้ง)
ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระเถระเจ้า ขอถวายตนเป็นศิษย์
พระเถระพามาณพน้อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระองค์ทรงประทานพระโอวาท ให้นันโทปนันทะ เว้นขาดจากปาณาติบาต
ดำรงตนอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัดแต่บัดนั้นมา
การเอาชนะพญานาคราชผู้มีฤทธิ์ครั้งนี้
พระพุทธองค์มิได้ทรงแสดงฤทธิ์ปราบเอง หากทรงมีพุทะบัญชาให้พระอัครสาวกเบื้องซ้ายคือพระโมคคัลลานะไปปราบแทน
ซึ่งก็มีหลายครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้
ผู้ที่รับพุทธบัญชาไปดำเนินการปราบจนสำเร็จมักจะเป็นพระเถระรูปนี้
เนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก
คำว่า
ปราบ ในความหมายนี้มิได้หมายถึง
การประหัตประหารให้ตกตายไปข้างหนึ่งตามความหมายทั่วไป
หมายถึงการ ทรมาน ให้สิ้นพยศ ก็อีกแหละ คำว่า
ทรมาน ในที่นี้ หมายถึง การข่ม การทำให้สิ้นพยศ
หรือให้ละทิ้งความเห็นผิด หันมาเห็นถูกต้อง
ที่นี้มาถึงคำว่า
นาค คืออะไร ผมใคร่กราบเรียนท่านผู้อ่านดังนี้ครับ
-
ถ้าเราแปลตามตัวอักษร นาคก็คือนาค นาคก็คืองูใหญ่
นาคมีสองประเภทคือนาคที่มีฤทธิ์ กับนาคไม่มีฤทธิ์
ประเภทที่มีฤทธิ์นั้นสามารถแปลงเป็นคนได้ และร่างคนนั้นจะคงอยู่ได้ตราบเท่าที่แกยังมีสติควบคุมต่อเมื่อขาดสติควบคุม
เช่นเวลานอนหลับร่างจะกลับเป็นนาคเหมือนเดิมทันที
ดังกรณีนาคที่แปลงเป็นคนมาบวชในพระพุทธศาสนาที่เล่าไว้ในพระวินัยปิฎกนั้นแล
ถ้าเชื่อว่าพระโมคคัลลานะไปปราบนาค
ก็คือไปปราบนาคประเภทมีฤทธิ์นี้ ก็มีสิทธิเชื่อได้ไม่เสียหายอะไร
เพราะมีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงยืนยัน