วันเวลาปัจจุบัน 17 พ.ค. 2025, 04:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2025, 20:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7820

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปุณณะวัฒนะกุมาร
เนื้อคู่ของ “นางวิสาขา มหาอุบาสิกา”
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:b50: :b49: :b50:

ในช่วงระยะเวลานั้นมีบุตรชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยของมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี ชื่อ ปุณณะวัฒนะกุมาร หรือจะเรียกให้สั้นๆ ว่า “ปุณณวัฒน์”

ปุณณวัฒน์ ถึงวัยจะต้องมีครอบครัวแล้ว เศรษฐีผู้บิดาจึงสั่งให้คนไปดูสตรีที่มีคุณสมบัติคู่เคียงกับลูกชายของตน เรียกว่าส่ง “แมวมอง” ไปด้อมๆ มองๆ หาสาวงามมาเป็นลูกสะใภ้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

เขียนมาถึงตรงนี้ชักสงสัยว่า วัฒนธรรมแขกอินเดีย ฝ่ายหญิงสาวมิใช่หรือเป็นผู้ที่จะต้องไปสู่ขอชาย แล้วทำไมในเรื่องนี้ท่านจึงเขียนกลับตาลปัตรไปอย่างนี้ล่ะครับ

สงสัยตำราพระพุทธศาสนาเล่มนี้คงไม่ได้แต่งที่อินเดีย คนแต่งคงมิใช่ชาวภารตะ (ดังที่อ้างว่าพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียแต่ง) คงจะเป็นเถระชาวลังกากระมังหว่า ประเพณีลังกาผู้ชายขอผู้หญิงกระมังครับ ท่านจึงเผลอเขียนไว้อย่างนี้

แต่ช่างเถอะ เรามาฟังกันต่อดีกว่า

คนที่เศรษฐีส่งไปคือพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในการดูโหงวเฮ้ง และทรงความรู้ด้านอื่นด้วยจำนวน ๘ ท่าน ก่อนส่งไปก็เชิญมารับเลี้ยงอย่างอิ่มหมีพีมันก่อนด้วย พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปเสาะหาหญิงเบญจกัลยาณียังเมืองต่างๆ ก็ยังไม่พบ ต่อเมื่อหวนกลับมายังเมืองสาเกตซึ่งเพิ่งจะตั้งใหม่หมาดๆ ก็ได้พบกุลสตรีผู้งามสรรพเข้าจนได้

ช่วงนั้นเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เทศกาลอะไรไม่แจ้ง รู้แต่ว่า วันเช่นนี้ผู้คนต่างก็ออกจากบ้านเรือนไปสนุกสนานในงาน นางวิสาขา (ความจริง “นางสาว” หรือต่อไปไม่ช้าก็จะเป็น “คุณวิสาขา” แล้ว) พร้อมด้วยสตรีบริวารจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่าตั้งห้าร้อย) ก็ออกไปสนุกสนานในงานด้วย

บรรดาหนุ่มๆ ลูกเศรษฐี ลูกคุณหญิงคุณนาย “ไฮโซ” ทั้งหลาย ก็ได้มีโอกาสมาด้อมๆ มองๆ แอบยลโฉมของเยาวนารีแรกรุ่นทั้งหลาย เพราะสตรีสาวทั้งหลายมีโอกาสได้เผยร่างโดยไม่ต้องเอาผ้าคลุมหน้า เพราะได้รับอนุญาตพิเศษ ในวันนักขัตฤกษ์เช่นนี้ ไม่ถือว่าผิดประเพณี

การคล้องพวงมาลัยให้แก่หญิงสาวของชายหนุ่มก็ไม่ถือว่าผิดอันใด เป็นเครื่องแสดงว่า เขาได้พึงพอใจ หมายมั่นประสงค์อยากได้กุลสตรีนางนั้นเป็นคู่ครอง ว่ากันอย่างนั้น

พราหมณาจารย์ได้เข้าไปอาศัยอยู่บนศาลาแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ สอดส่ายสายตาดูหญิงสาวเหล่านั้น

ขณะนั้นนางวิสาขามีอายุ ๑๕ ปี กำลังจะย่างเข้า ๑๖ ปี

นางได้แต่งกายเป็นพิเศษ ประดับประดาเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง พร้อมทั้งเหล่ากุมารีอีก ๕๐๐ คน แวดล้อมอยู่ ได้ชักชวนกันเดินทางไปยังแม่น้ำ เพื่อประสงค์จะอาบน้ำกันให้สนุก เมื่อเดินไปถึงริมฝั่งน้ำ เมฆตั้งเค้าทะมึนขึ้นทันที ฝนตกลงมาอย่างหนัก กุมารีทั้งหลาย ๕๐๐ คน ต่างรีบวิ่งไปสู่ศาลาฝั่งน้ำเพื่อหลบฝน พวกพราหมณ์ก็พยายามจับตาดูกุมารีทั้ง ๕๐๐ คน เหล่านั้น ก็ไม่เห็นเลยสักคนเดียวที่ต้องด้วยเบญจกัลยาณี

ส่วนนางวิสาขานั้นมิได้วิ่งหนีฝนดังเช่นเพื่อนหญิงอีก ๕๐๐ คน นางเดินไปตามปกติ ผ้าและอาภรณ์ก็เปียกโชกด้วยน้ำฝน

พวกพราหมณ์ที่จับตาดูอยู่ก็เห็นความงามของนางถึง ๔ อย่าง แต่กล่าวบอกซึ่งกันและกันว่า หญิงผู้นี้เป็นคนเฉื่อยชา สามีของหญิงคนนี้ เห็นทีจักไม่ได้กินแม้เพียงข้าวปลายเกวียน

นางวิสาขาได้ยินเช่นนั้นจึงถามพราหมณ์นั้นว่า พวกท่านว่าใครกัน พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า ว่าเธอนั่นแหละ พราหมณ์จึงได้ยินสำเนียงไพเราะของเธอที่เปล่งออกมา ประหนึ่งเสียงของกังสดาล เธอจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นต่อไปด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า เพราะเหตุไรท่านจึงมาว่าฉัน

พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า เพราะบรรดาหญิงทั้งหลายซึ่งเป็นบริวารของเธอ เขาพยายามไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับของเขาเปียก จึงรีบวิ่งมาสู่ศาลา ส่วนเธอนั้นมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น เธอเดินด้วยความเฉื่อยชา ปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกโชก พวกเราจึงพากันว่าเธอ

นางวิสาขาจึงตอบแก้พราหมณ์นั้นว่า พราหมณ์ พวกท่านอย่าพูดอย่างนั้น ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้นมาก แต่เพราะฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่วิ่งมาโดยเร็ว

พราหมณ์จึงถามด้วยความสงสัยว่า ด้วยเหตุอะไร

นางวิสาขาจึงให้เหตุผลว่า ท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วย่อมไม่งาม นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และยังไม่ใช่เพียงเท่านี้ อย่างอื่นยังมีอยู่อีก

พราหมณ์ถามว่า ชน ๔ จำพวกที่เธอกล่าวนั้น ได้แก่ชนเหล่าใดบ้าง

นางวิสาขาตอบว่า ท่านทั้งหลาย ชนประเภทที่ ๑ คือ พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง ถ้าถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวง ย่อมจะไม่งาม ทั้งยังจะได้รับคำครหานินทาอย่างแน่นอนว่า เพราะเหตุใดพระราชาองค์นั้นจึงวิ่งเหมือนคหบดี พระราชาที่ค่อยๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม

อีกประการหนึ่ง ช้างมงคลของพระราชา เมื่อประดับแล้ววิ่งไปก็ไม่งาม ต้องเดินไปด้วยลีลาแห่งช้างจึงจะงาม

อีกประการหนึ่ง บรรพชิตเมื่อวิ่งก็ไม่งาม จะได้รับคำครหานินทาว่า ทำไมสมณะรูปนี้จึงวิ่งเหมือนกับคฤหัสถ์ แต่ถ้าเดินอย่างอาการสำรวม อย่างผู้สงบเสงี่ยมจึงจะดูงดงาม

อีกประการหนึ่ง สตรีเมื่อวิ่งก็ไม่งาม เพราะจะถูกติเตียนอย่างเดียวว่า ทำไมผู้หญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย แต่ถ้าเดินอย่างธรรมดาจึงจะงาม

นี่แหละท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วดูไม่งดงาม

ทดสอบความงามและความฉลาด

พราหมณ์จึงซักถามต่อไปอีกว่า แล้วเหตุอย่างอื่นที่ยังมีอยู่อีกเล่า ได้แก่อะไรบ้าง

นางวิสาขาตอบด้วยความฉลาดว่า ท่านทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดาท่านย่อมถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ของธิดาท่านในระหว่างเลี้ยงดู พวกดิฉันนี้เหมือนสิ่งของอันบิดามารดาจะพึงขายได้

มารดาบิดาเลี้ยงฉันมาจนกระทั่งโตเป็นสาว ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลสามี ถ้าหากว่าในเวลาที่พวกดิฉันวิ่งไปเหยียบผ้านุ่งหรือลื่นหกล้มลง มือหรือเท้าดิฉันอาจจะหัก พวกดิฉันก็จะเป็นภาระของตระกูลอีกต่อไป ส่วนเครื่องแต่งตัวที่เปียกนี้ก็ยังแห้งได้ ไม่เสียหายอะไร เมื่อดิฉันกำหนดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วจึงไม่วิ่ง

พราหมณ์คล้องพวงมาลัยให้

ในระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น พราหมณ์ทั้งหลายได้เห็นความงามของฟันทั้งหมด ครบเบญจกัลยาณี พราหมณ์จึงเปล่งขึ้นมาว่า สมบัติเช่นนี้พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย เมื่อกล่าวจบลงแล้ว จึงสวมพวงมาลัยทองนี้ให้ แล้วกล่าวว่าพวงมาลัยพวงนี้สมควรแก่เธอเพียงคนเดียวเท่านั้น

นางวิสาขาจึงถามว่า “พวกท่านทั้งหลายมาจากเมืองไหน ?”

พราหมณ์ตอบว่า “มาจากเมืองสาวัตถี โดยเศรษฐีใช้ให้มา”

วิสาขาจึงถามว่า “ตระกูลเศรษฐีนั้นชื่ออะไร ?”

พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร จ้ะ”

นางวิสาขาจึงกล่าวรับรองว่า ถ้าเช่นนั้น ตระกูลของเราทั้งสองก็เสมอกัน นางจึงส่งข่าวให้แก่บิดาของนางว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่ส่งรถมารับพวกดิฉันด้วย ตอนนี้เป็นที่น่าสงสัยว่า ในระหว่างที่นางเดินทางมาหาความสำราญที่ริมแม่น้ำ นางก็เดินมาเอง ไม่ได้ขึ้นรถมา แต่ทำไมขากลับ จึงส่งข่าวให้คุณพ่อคุณแม่เอารถมารับ

ข้อนี้มีประเพณีอยู่ว่า เมื่อสตรีใดได้ประดับด้วยพวงมาลัยทองคำแล้ว ย่อมจะเดินไปเช่นนั้นไม่ได้ ส่วนเด็กหญิงทั้งหลายที่เป็นบริวารก็ต้องขึ้นรถไปด้วย ต่างกันแต่ว่ารถที่นั่งไปนั้น สตรีพวงมาลัยทองจะต้องนั่งรถกั้นฉัตรหรือใบตาลข้างบน ถ้าฉัตรและใบตาลไม่มี ก็ให้ยกชายผ้านุ่งขึ้นมาพาดบนบ่า

ปรากฏว่าบิดาของนางวิสาขาส่งรถมาถึง ๕๐๐ คัน แล้วก็รับพราหมณ์เหล่านั้นไปด้วย ครั้นไปถึงบ้านของนางวิสาขาเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านเดินทางมาจากไหน ?”

พราหมณ์ตอบว่า “ข้าพเจ้ามาจากเมืองสาวัตถี”

เศรษฐีถามว่า “เศรษฐีตระกูลนี้ชื่ออะไร ?”

พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อมิคารเศรษฐี”

เศรษฐีถามต่อไปว่า “บุตรชายของเศรษฐีเล่าชื่ออะไร ?”

พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร”

เศรษฐีถามอีกว่า “ตระกูลนี้มีทรัพย์เท่าไร ?”

พราหมณ์ตอบว่า “มีอยู่ ๕๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐี”

ท่านเศรษฐีได้ฟังเช่นนั้นก็คิดว่า ทรัพย์เพียงแค่นั้นเทียบกับทรัพย์ของเราก็เท่ากับกากณึกเดียวเท่านั้น แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ถือว่าไม่สำคัญ เศรษฐีจึงให้พราหมณ์พักอยู่เพียง ๒ วัน แล้วให้เดินทางกลับไป เพื่อส่งข่าวให้แก่มิคารเศรษฐีถึงเรื่องการยอมยกธิดาให้เป็นบุตรสะใภ้

เมื่อพราหมณ์เดินทางถึงเมืองสาวัตถีแล้ว จึงเรียนกับท่านเศรษฐีว่า ข้าพเจ้าได้นางทาริกาแล้ว

มิคารเศรษฐีจึงถามพราหมณ์ว่า “เป็นลูกสาวของใคร พราหมณ์ ?”

พราหมณ์ตอบว่า “เป็นลูกสาวของท่านธนัญชัยเศรษฐี”

เมื่อมิคารเศรษฐีได้ทราบเช่นนั้น ก็ดีใจว่าตนได้นางทาริกามาจากตระกูลใหญ่มั่งคั่ง จึงนำความเรื่องนี้กราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า ตระกูลใหญ่นี้พระองค์นำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อาศัยที่เมืองสาเกต จึงควรที่พระองค์จะได้ยกย่องตระกูลนี้ ด้วยการเสด็จไปในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงได้แจ้งความประสงค์ว่าจะเสด็จไปในพิธีแต่งงานครั้งนี้

มิคารเศรษฐีจึงได้ส่งข่าวมายังท่านธนัญชัยเศรษฐีว่า พระราชาจะเสด็จมาในงานของข้าพเจ้าด้วย ซึ่งรี้พลข้าทาสบริวารของพระราชาก็มีมาก ท่านสามารถที่จะต้อนรับคนทั้งหลายเหล่านี้ได้หรือไม่

ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ตอบไปว่า อย่าว่าแต่พระองค์จะเสด็จมาเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้พระราชาจะเสด็จมาสักสิบพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จมาได้ และให้ขนคนในเมืองมาให้หมด เหลือไว้แต่คนเฝ้าเรือน เราก็สามารถที่จะต้อนรับได้

ธนัญชัยเศรษฐีกับนางวิสาขาเตรียมงานต้อนรับ

ท่านธนัญชัยเศรษฐีจึงได้ปรึกษากับนางวิสาขาว่า ลูกพ่อทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จมากับพ่อสามีของลูกด้วย เราควรจะจัดเรือนหลังไหนสำหรับเป็นที่พักของพ่อสามีลูก หลังไหนสำหรับเป็นที่ประทับของพระราชา และหลังไหนเป็นที่พักของพวกอำมาตย์ข้าราชบริพาร

เมื่อนางวิสาขาได้ทราบเช่นนั้น เธอก็ใช้ความฉลาดเฉียบแหลมที่ได้อบรมมาตลอดแสนกัป บงการจัดสถานที่ทันที โดยจัดเรือนพักสำหรับพ่อสามีหลังหนึ่ง สำหรับพระราชาปเสนทิโกศลหลังหนึ่ง สำหรับอุปราชหลังหนึ่ง

พร้อมกันนั้น ก็เรียกข้าทาสกรรมกรมาประชุม มอบภาระหน้าที่การงานให้หมดทุกคน โดยแบ่งให้ทาสกรรมการเหล่านั้นดูแลสัตว์พาหนะ อันมี ช้าง ม้า เป็นต้น

การจัดสายงานต้อนรับแขกต่างเมืองที่มาในงานครั้งนี้ นางวิสาขาจัดต้อนรับถึงคนเลี้ยงสัตว์ของพระราชาเหล่านั้นด้วย นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของนางวิสาขา เพราะตามธรรมดาแล้วงานใหญ่ๆ ส่วนมากผู้ต้อนรับมิได้คำนึงถึงผู้น้อยเท่าไรนัก เช่น เป็นต้นว่า คนรถ คนใช้ ส่วนมากมักจะถูกลืมในงานทั่วๆ ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าภาพจึงไม่พ้นไปจากการนินทาของชนชั้นนี้ได้

นางวิสาขาทราบเช่นนี้เป็นอย่างดี นางจึงจัดการต้อนรับให้ความสะดวกสบายแก่คนทั้งหมดโดยทั่วถึงกัน เพื่อป้องกันมิให้คนเหล่านี้นินทานั่นเอง เพราะคนเหล่านั้นจะได้เที่ยวชมมหรสพในงานอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการดูแลช้างม้า

โอวาท ๑๐ ข้อ

ธนัญชัยเศรษฐี ผู้บิดานางวิสาขา ได้เรียกช่างทอง ช่างออกแบบ หรือดีโซเนอร์ชั้นดี จำนวน ๕๐๐ คน สั่งให้ทำเครื่องประดับอันงามวิจิตรพิสดารพันลึก มีนามว่า “มหาลดาปสาธน์” เพื่อเป็นชุดวิวาห์ของบุตรสาวสุดที่รัก โดยใช้ทองคำสุกปลั่งพันลิ่ม แก้วมณี แก้วประพาฬ และเพชร พอสมส่วนกัน ว่ากันว่า มหาลดาปสาธน์ นี้ ใช้เพชรถึง ๒๐ ทะนาน (กี่กะรัต นับเอาแล้วกัน ผมไม่มีความรู้ในเรื่องนี้) แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน ไม่ใช้ด้ายเลย เอาเงินแทนด้าย

ชุดที่ว่านี้สวมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ลูกดุมทำเป็นวงแหวนทองคำ ห่วงสำหรับลูกดุมทำด้วยเงิน วงหนึ่งสวมที่กลางกระหม่อม ที่หลังหู ๒ วง ที่ข้างสะเอวสองข้างอีก ๒ วง ที่เครื่องประดับนั้นทำเป็นนกยูงรำแพน ๑ ตัว ขนปีกนกทำด้วยทองถึง ๕๐๐ ขน จะงอยปากนกยูงทำด้วยแก้วประพาฬ ตาสองข้างทำด้วยแก้วมณีที่คอและแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนนกยูงทำด้วยเงิน ขาทำด้วยเงิน รูปนกยูงนี้ประดิษฐ์อยู่กลางกระหม่อมผู้สวม ประหนึ่งว่ากำลังรำแพนอยู่บนยอดเขา เสียงก้านปีกสองข้างกระทบกัน ไพเราะกังวานดุจเสียงดนตรี

ชุดวิวาห์นี้มีค่าถึง ๙ โกฏิ เศรษฐีจ่ายค่าหัตถกรรมกระทำเครื่องประดับครั้งนี้ จำนวน ๑ แสนบาท เอ๊ย ไม่ใช่บาท แสนกหาปณะครับ เทียบเงินไทยประมาณสี่ถึงห้าแสนบาท ถูกมากสำหรับเครื่องประดับอันสวยงามปานนั้น และผู้ว่าจ้างก็เป็นอภิอมตะมหาเศรษฐี แค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วง

เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ใช้เวลาประดิดประดอยเป็นเวลาถึงสี่เดือนจึงเสร็จ นอกจากนี้ ท่านเศรษฐีได้มอบของขวัญแต่งงานให้แก่บุตรสาวมากมาย ประกอบด้วย กหาปณะ ภาชนะทองคำ ทองแดง ภาชนะสำเริด (สัมฤทธิ์ก็ว่า) ผ้าด้วยไหม เนยใน น้ำมัน น้ำอ้อย ข้าวสารและข้าวสาลี อย่างละ ๕๐๐ เล่มเกวียน รวมถึงอุปกรณ์เกษตรกรรม ๕๐๐ เล่มเกวียน นอกจากนี้ ก็มีรถ ๕๐๐ คัน (ยี่ห้ออะไรบ้างไม่บอก) แต่ละคันมีสตรีรูปงามประจำรถ ๓ คน และให้นางปริจาริกา (ก็สาวใช้นั่นแหละครับ) อีก ๑,๕๐๐ คน อ้อ มีโคนมอีก ๖๐,๐๐๐ ตัว

ลูกสาวออกเรือนทั้งที ก็ให้สมบัติมากๆ สมกับเป็นลูกสาวเศรษฐีใหญ่

ก่อนจะส่งตัวลูกสาวไปอยู่ในตระกูลสามี ธนัญชัยเศรษฐีได้เรียกลูกสาวมาให้โอวาท ๑๐ ข้อ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ

๑. ไฟในอย่านำออก
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า
๓. พึงให้แก่คนที่ให้
๔. ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้
๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข
๗. พึงนอนให้เป็นสุข
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข
๙. พึงบำเรอไฟ
๑๐. พึงบูชาเทวดา


ฟังอย่างนี้อาจไม่เข้าใจ ต้องมีคำอธิบายประกอบจึงจะกระจ่าง ท่านให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ครับ

๑. ไฟในอย่านำออก หมายถึง อย่าเอาเรื่องภายในครอบครัวไปเล่าให้คนข้างนอกฟัง เช่น ทะเลาะกันตามประสาผัวเมียแล้วนำไปโพทะนาข้างนอก ไส้กี่ขดๆ คนอื่นเขารู้หมด มันก็ไม่ดี เป็นความเสื่อมเสียแก่ครอบครัว

๒. ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง เรื่องราวข้างนอกก็ไม่ควรมาเล่าให้กวนใจคนในบ้าน เช่น มีใครนินทาว่าร้ายสามี พ่อหรือแม่สามี (เช่น ญาติตัวเอง) ก็ไม่ควรนำมาเล่าให้คนในบ้านฟัง จะเกิดความไม่สงบขึ้นได้

๓. พึงให้แก่คนที่ให้ หมายความว่า ใครยืมของใช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็จงให้ไป เพราะคนเช่นนี้เป็นคนที่รักษาคำมั่นสัญญาดี

๔. ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า คนที่ยืมแล้วไม่คืน ทำเป็นลืม เจอหน้าก็ตีหน้าเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ คนเช่นนี้มายืมอะไรอีก อย่าให้เป็นอันขาด

๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้ หมายความว่า ถ้าใครมายืมของแล้ว ไม่ว่าเขาจะคืนหรือไม่คืนก็จงให้ เป็นการสงเคราะห์ญาติ ว่าอย่างนั้นเถอะ

๖. พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า เวลาอยู่ในตระกูลสามี ต้องรู้จักระมัดระวัง เวลานั่งก็อย่าขวางประตู หรือที่ที่จะต้องลุกให้คนผ่าน

๗. พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า เวลาจะพิงจะเอน ณ ที่ใดก็ตาม พึงดูด้วยว่าที่นั้นเหมาะสมหรือไม่ ขวางทางใครหรือไม่ แม้เวลาเข้านอนก็พึงรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่พึงนอน ยิ่งประเพณีโบราณถือว่าภรรยาต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง เมื่อพ่อเจ้าประคุณนอนยึดพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ตัวเองจะนอนที่ไหน ก็เป็นเรื่องของการรู้จักกาลเทศะ เกิดเป็นสตรี โดยเฉพาะสตรีอินเดีย ก็กลุ้มอย่างนี้แหละครับ ดังคำพังเพยว่า “วัวลังกา ม้าอินเดีย เมียฮินดู” ถูกใช้อานเลย ขอรับ

๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า กินทีหลังสามี เวลาจะกินก็ต้องรู้ว่าจะนั่งกินตรงไหน เวลาใด นี่เป็นเรื่องกาลเทศะอีกเช่นกัน การกินให้เป็นสุข รวมถึงการรู้จักมารยาทในการกิน ตามที่กุลสตรีพึงปฏิบัติอีกด้วย

๙. พึงบำเรอไฟ หมายถึง พ่อสามี แม่สามี และสามี ถือว่าเป็น “ไฟ” ในครอบครัว พึงบำเรอ คือดูแลอย่างดี ธรรมดาไฟนั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ เช่นเดียวกัน ถ้าดูแลไฟไม่ดี ไฟอาจไหม้บ้านวอดก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลทั้งสามในตระกูลของสามี สตรีที่มาอยู่ด้วยต้องปรนนิบัติดูแลเป็นอย่างดี ถ้าทำให้เขาเหล่านั้นโกรธ ไม่พอใจ ก็นับว่าเป็นสะใภ้ที่ใช้ไม่ได้ อาจถึงกับถูกตราหน้าว่าเป็น “กาลกิณี” ต่อตระกูลวงศ์สามีก็ได้

๑๐. พึงบูชาเทวดา หมายความว่า ให้นับถือพ่อสามี แม่สามี และสามี ดุจเทวดา ไม่ต้องสงสัย เมื่อเห็นพวกเขาเป็นเทวดา ก็พึงนอบน้อมแต่เทวดา ทำตามคำบัญชาของเทวดาโดยไม่ขัดขืน และเทวดาเดินได้นี่ เอาใจยากเสียด้วยสิครับ

เศรษฐีผู้เป็นพ่อกำชับลูกสาวว่า อยู่ในตระกูลสามีให้ปฏิบัติตามโอวาท ๑๐ ข้อนี้อย่างเคร่งครัด ลูกสาวก็ตกปากรับคำพ่อเป็นอย่างดี


ขัดแย้งกับพ่อสามี

นางวิสาขา เมื่อมาอยู่ในตระกูลของมิคารเศรษฐี ก็วางตัวได้อย่างเหมาะสมกับที่เป็นลูกผู้ดีมีสกุล

นางมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป

ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส ผู้อยู่ในวัยควรเรียกว่า พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา นางก็เรียกเหมาะสมแก่วัยของผู้นั้นๆ นางจึงเป็นที่รักของคนทั้งปวง

อยู่ในตระกูลสามีก็ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีด้วยดีไม่บกพร่อง เป็นที่รักของสามีและพ่อแม่ของสามีทั่วหน้ากัน

วันหนึ่งก็เกิดเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันจนได้ แต่ก็ยังไม่ถึงกับใหญ่โตนัก คือสกุลมิคารเศรษฐีนั้นนับถือพวก “อเจลลกะ” (ชีเปลือย) มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่วิสาขาเป็นอริยสาวกของพระพุทธศาสนา นี่แหละครับคือที่มาแห่งความขุ่นเคืองและลุกลามไปเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในที่สุด

ก่อนอื่นก็ขอ “แวะข้างทาง” ตรงนี้ซักหน่อย

นักบวชสมัยพุทธกาลมีมากมายหลายลัทธิ ลัทธิที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากก่อนที่พระพุทธศาสนาแพร่หลาย ก็คือลัทธิเชนของศาสดามหาวีระ (ตำราพุทธเรียกว่า นิครนธ์นาฏบุตร) มหาวีระหรือนิครนธ์นาฏบุตร บางตำราว่าเป็นขัตติยราชกุมารออกบวช ถือความเคร่งครัดมาก ขนาดไม่ยอมนุ่งห่มผ้า เพราะถือว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะหมดกิเลสจริงต้องไม่ยึดแม้กระทั่งเสื้อผ้า

พูดง่ายๆ ว่าต้องเปลือยกายล่อนจ้อน

พวกที่เปลือยกายเดินโทงๆ ทั่วไปจึงเรียกกันว่า “อเจลกะ” แปลว่าไม่นุ่งผ้า หรือชีเปลือย

แต่ก็มีชีเปลือยอีกพวกหนึ่งไม่สังกัดลัทธิเชนก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงอเจลกะ (ชีเปลือย) จึงอาจหมายถึงพระในลัทธิเชนหรือชีเปลือยทั่วไปก็ได้ ชีเปลือยที่ตระกูลสามีของนางวิสาขานับถือกันมาหลายชั่วอายุคนนี้ คงเป็นพวกพระในลัทธิเชนดังกล่าวข้างต้น

ท่านเศรษฐีนิมนต์พระเชนมาฉันที่คฤหาสน์ เมื่อพระมาถึงท่านก็สั่งให้คนไปเชิญลูกสะใภ้มา “ไหว้พระอรหันต์”

นางวิสาขาได้ยินคำว่า “พระอรหันต์” ก็ดีใจ เพราะนางเป็นอริยสาวิการะดับพระโสดาบัน มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย จึงรีบมาเพื่อนมัสการพระอรหันต์

แต่พอมาถึงก็เห็นประดา “นู้ดภิกขุ” (พระนู้ด) เต็มไปหมด นางเกิดความขยะแขยงจึงกล่าว (ค่อนข้างแรง) ว่า นึกว่าคุณพ่อให้มาไหว้พระ กลับเรียกมาไหว้พวกไม่มียางอายผ้าผ่อนก็ไม่ยอมนุ่ง

ว่าแล้วก็เดินหนีไป

พระคุณเจ้า “(นู้ดภิกขุ) โกรธจนหน้าดำหน้าแดง ว่าท่านเศรษฐีทำไมเอาคนนอกศาสนาไม่เคารพพระสงฆ์เข้ามาเป็นสะใภ้ภายในบ้าน เท่ากับนำ “กาลกิณี” เข้าบ้าน ไม่เป็นสิริมงคลเสียเลย มีอย่างที่ไหนปล่อยให้มาด่าพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างนี้ ท่านเศรษฐีต้องจัดการไล่อีตัวกาลกิณีนี้ออกจากตระกูล หาไม่พวกอาตมาจะไม่มารับอาหารบิณฑบาตจากบ้านท่านเป็นอันขาด

ถูกยื่นโนติสอย่างนี้ ท่านเศรษฐีจึงว่า กราบขออภัยเถอะขอรับ นางยังเด็ก ยังไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษให้นางด้วยเถอะ

“ไม่ได้ เศรษฐีต้องไล่นางไป เรื่องนี้มิใช่เรื่องเล็ก จะมาอ้างว่ายังเด็กยังเล็กไม่ได้ โตจนมีผัวเป็นตัวเป็นตนแล้ว พ่อแม่ไม่สั่งสอนหรืออย่างไร”

“แต่ว่านางเป็นธิดาของตระกูลใหญ่ การจะไล่นางออกง่ายๆ นั้นไม่ได้ขอรับ เพราะก่อนจะส่งตัวนางมา พ่อแม่ของนางก็มอบนางไว้ในความดูแลของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งแปด ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากพราหมณ์เหล่านั้นก่อน” เศรษฐีอธิบาย

“ไม่รู้ล่ะ ท่านเศรษฐีต้องจัดการก็แล้วกัน” ว่าแล้วท่านพร้อมทั้งบริวารก็ลงจากเรือนไปด้วยจิตใจที่ขุ่นเคือง (ฮั่นแน่ ไหนว่าไม่นุ่งผ้าแล้วกิเลสจะไม่มี ที่แท้แค่นี้ยังแสดงอาการโกรธ งอนตุ๊บป่องเลยเชียว)

เศรษฐีถึงจะไม่พอใจลูกสะใภ้ที่พูดเช่นนี้ แต่ก็คิดว่า เรื่องไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องส่งนางกลับตระกูลเดิม

แต่อยู่มาวันหนึ่ง เรื่องที่เศรษฐีเห็นว่าร้ายแรงก็เกิดขึ้น

วันนั้น นางวิสาขาปรนนิบัติพ่อสามี ขณะที่นั่งรับประทานอาหารข้าวมธุปายาสอย่างดีอยู่ที่ระเบียงบ้าน พระเถระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง เดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐีพอดี ท่านได้มายืนต่อหน้าเศรษฐี

ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า สมัยก่อนโน้นพระมายืนหน้าบ้านได้ ถ้าชาวบ้านปรารถนาจะใส่บาตร ก็นำอาหารไปใส่ ถ้าไม่มีอะไรจะใส่ หรือยังไม่พร้อมที่จะใส่ ก็บอกท่านว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด เจ้าข้า” ท่านก็จะไปยืนที่อื่น

แต่พระสงฆ์ในเมืองไทย ถ้ารูปใดไปยืนรอให้คนใส่บาตร จะถูกตำหนิติเตียน เรื่องนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่

เศรษฐีมองเห็นพระแล้ว แต่ทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้าก้มตากินข้าวมธุปายาสเฉย ซึ่งนางวิสาขาก็รู้จึงค่อยๆ ถอยออกไปกระซิบกับพระคุณเจ้า ดังพอที่พ่อสามีจะพึงได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดเจ้าข้า คุณพ่อของดิฉันกำลังกินของเก่า”

เท่านั้นแหละครับ เศรษฐีพันล้านลุกขึ้นเตะจานข้าวกระจายเลย พูดด้วยความโกรธจัดว่า พวกเอ็งไล่นางกาลกิณีคนนี้ออกไปจากตระกูลข้าเดี๋ยวนี้ หนอยแน่ะ มันกำแหงถึงขนาดหาว่าข้ากินขี้เชียวเรอะ

ครับ คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ ครอบครัวที่เคยสงบสุขมานาน ก็ปั่นป่วน ณ บัดดล พ่อสามีโกรธ แม่สามีก็โกรธ เจ้าประคุณสามีก็โกรธด้วย ที่ถูกหญิงสาวจากตระกูลอื่นมาด่าเสียๆ หายๆ แบบนี้

นางวิสาขาต้องเข้าไปเคลียร์กับคนเหล่านั้นว่าไม่ได้หมายความตามที่พวกเขาเข้าใจ แต่ใครมันจะฟังเล่าครับ

นางวิสาขาพูดว่า นางเองมิได้ถูกนำมาสู่ตระกูลนี้ ดุจนางกุมภทาสีที่เขานำมาจากท่าน้ำ นางเป็นบุตรของตระกูลใหญ่เช่นเดียวกัน ก่อนจะมาอยู่ในตระกูลนี้ บิดามารดาก็ได้มอบความรับผิดชอบไว้กับพราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งแปด เมื่อเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น ต้องให้ท่านทั้งแปดรับทราบด้วย

เศรษฐีจึงพูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว จึงเรียกพราหมณ์ทั้งแปดมาตัดสินคดี และแล้วท่านทั้งแปดก็ถูกตามตัวมา เศรษฐีได้ฟ้องว่า นางวิสาขาลูกสะใภ้ของตน ด่าด้วยคำพูดหยาบคายว่า ตนกินขี้ ขอให้พวกท่านตัดสินเอาผิดนางด้วย

และแล้วการพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้น โดยนางวิสาขาตกเป็นจำเลย คราวหน้าค่อยมาฟังคำให้การของจำเลยนะครับ วันนี้ขอยุติเพียงเท่านี้ก่อน

วิสาขาถูกสอบสวน

พราหมณ์ทั้งแปดถูกเชิญมาสอบสวนกรณีพิพาทระหว่างนางวิสาขา กับมิคารเศรษฐี พ่อสามี เศรษฐีได้กล่าวหานางวิสาขาว่า ดูถูกดูหมิ่นตน หาว่าตนกินของเก่า ซึ่งหมายถึงกินอุจจาระ เป็นคำพูดสบประมาทที่ร้ายแรงมาก ยอมไม่ได้

สะใจที่ด่าว่าพ่อสามีเสียหายเช่นนี้ต้องถูกขับไล่โดยถ่ายเดียว ไม่มีข้อยกเว้น

พราหมณ์ทั้งแปดหันมาถามนางวิสาขาว่า เป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น นางก็ต้องรับโทษทัณฑ์อย่างหนักตามที่เศรษฐีกล่าวแล้ว

นางตอบว่า “หาเป็นเช่นนั้นไม่ นางมิได้ดูหมิ่นว่าคุณพ่อสามีของนางกินอุจจาระแต่ประการใด คุณพ่อเข้าใจไปเอง”

“เข้าใจไปเองอย่างไร นางพูดกับพระใช่ไหมว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า ถึงฉันจะแก่แล้วแต่หูฉันยังดี ได้ยินคำพูดเธอชัดถ้อยชัดคำ” เศรษฐีเถียง

“ดิฉันพูดเช่นนั้นจริง” นางกล่าว

“เห็นไหม ท่านทั้งหลาย นางยอมรับแล้วว่านางพูดจริง” เศรษฐีหันไปกล่าวต่อพราหมณ์ทั้งแปด

“หามิได้ ดิฉันกล่าวเช่นนั้นจริง แต่มิได้หมายความอย่างที่คุณพ่อเข้าใจ ดิฉันหมายถึงว่า คุณพ่อดิฉันเกิดมาในตระกูลมั่งคั่ง เสวยโภคทรัพย์มากมายในปัจจุบันนี้ เพราะอานิสงส์แห่งบุญเก่าที่ทำไว้แต่ปางก่อน แต่คุณพ่อของดิฉันมิได้สร้างบุญใหม่ในชาตินี้เลย ดิฉันหมายเอาสิ่งนี้ จึงกล่าวว่า คุณพ่อดิฉันกินของเก่า”

เมื่อนางวิสาขาแก้ดังนี้ พวกพราหมณ์จึงหันมาหาเศรษฐี กล่าวว่า “ที่นางพูดนั้นก็ถูกต้องแล้ว นางไม่มีความผิดเพราะเรื่องนี้”

เมื่อเศรษฐีแพ้ในกระทงแรก แกก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังหาเรื่องต่อไปอีกว่า “เรื่องนี้ก็ช่างเถิด ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง นางวิสาขากับคนใช้หนีจากเรือนไปยังหลังเรือนกลางดึกวันหนึ่ง สงสัยว่านางแอบไปทำความไม่ดีอะไรบางอย่าง ไม่สมควรที่จะเป็นสะใภ้ของตระกูลใหญ่เช่นตระกูลของข้าพเจ้า”

“จริงหรือ วิสาขา” พราหมณ์ผู้ไต่สวนซัก

“จริงเจ้าค่ะ แต่มิใช่อย่างที่คุณพ่อเข้าใจ คืนนั้นมีคนรายงานว่าแม่ลา ซึ่งเป็นแม่ม้าอาชาไนยกำลังตกลูกใกล้กับเรือนนี้ ดิฉันคิดว่าไม่ควรนิ่งดูดาย เพราะม้าอาชาไนยหายาก กลัวว่ามันจะเป็นอันตราย ดิฉันกับคนใช้ชายหญิงจำนวนหนึ่งจึงลงไปดูแลช่วยเหลือแม่ลาที่ตกลูกนั้นให้ปลอดภัย”

กรรมการผู้ตัดสินกล่าวแก่เศรษฐีว่า “ถ้าเช่นนั้น วิสาขาก็ไม่มีความผิดตามที่กล่าวหาแต่ประการใด”

เศรษฐีแพ้กระทงนี้ก็หาเรื่องต่อไปว่า “ช่างเถิด แต่มีข้อแคลงใจข้าพเจ้ามานานแล้ว วันแต่งงานลูกชายข้าพเจ้า พ่อของนางได้กระซิบความลับสิบประการแก่นาง ซึ่งคงมีความมุ่งหมายไม่ดีแน่นอน บังเอิญข้าพเจ้าได้รับรู้มาว่าความลับสิบประการนั้น ข้อที่หนึ่ง ห้ามนำไฟในออกข้างนอก มันเป็นไปได้หรือที่จะไม่ให้นำไฟจากข้างในเรือนไปข้างนอก แสดงว่าต้องมีความลับลมคมในอะไรสักอย่าง”

“เรื่องนี้จะว่าอย่างไร วิสาขา” พราหมณ์ทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการตัดสินถาม

นางตอบว่า “คุณพ่อของดิฉัน (ธนัญชัยเศรษฐี) ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ท่านหมายความว่า ไม่ควรนำความไม่ดีของครอบครัวออกไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง เพราะไม่มีอะไรจะร้ายแรงเท่าไฟ คือการนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเรือนไปโพนทะนาให้คนข้างนอกฟัง”

ประเด็นนี้ นางวิสาขาไม่ผิดอีก

เศรษฐีจีงกล่าวหาต่อไปว่า “ยังมีอีก ไฟนอกไม่ควรนำเข้า, พึงให้แก่คนที่ให้, ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้, พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้, พึงนั่งให้เป็นสุข, พึงบริโภคให้เป็นสุข, พึงนอนให้เป็นสุข, พึงบำเรอไฟ, พึงนอบน้อมต่อเทวดา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความลับลมคมในทั้งสิ้น”

เมื่อถูกถามให้อธิบาย นางวิสาขาจึงอธิบายให้ฟังว่า “ที่คุณพ่อดิฉันสอนว่า ไฟนอกไม่ควรนำเข้า หมายถึง ไม่ควรเอาเรื่องราวข้างนอก เช่น มีคนอื่นกล่าวร้ายคนในครอบครัวมาเล่าให้ครอบครัวฟัง เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทะเลาะวิวาทโดยใช่เหตุ

ที่ว่า พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึง ใครยืมของใช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็พึงให้

คำว่า ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ใครยืมแล้วไม่เอามาคืน ภายหลังมายืมอีกก็ไม่พึงให้

คำว่า พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้ หมายความว่า ญาติของทั้งสองฝ่ายมายืมของไป ถึงเขาจะเอามาคืนหรือไม่ก็ตาม พึงให้เขายืม เพราะถือเป็นการสงเคราะห์ญาติ

คำว่า พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า พึงนั่งในที่ที่จะไม่ต้องลุกหลีกทางให้คนอื่น

คำว่า พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า พึงบริโภคอาหารภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี

คำว่า พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึง พึงนอนภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี

คำว่า พึงบำเรอไฟ หมายความว่า พึงเคารพนบนอบ ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี

คำว่า พึงนอบน้อมต่อเทวดา หมายความว่า พ่อสามี แม่สามี และสามี ให้ถือเสมือนเป็นเทวดา พึงนอบน้อมเคารพเชื่อฟังท่านทั้งสามอย่างดี”

ได้ฟังอรรถาธิบายจากนางวิสาขาแล้ว พราหมณ์ทั้งแปดจึงตัดสินใจว่า นางไม่มีความผิด หรือท่านเศรษฐีติดใจอะไรไหม เศรษฐีกล่าวว่า ไม่ติดใจแล้วครับ ข้าพเจ้าเข้าในแจ่มแจ้งแล้ว ลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ข้าพเจ้าต้องขออภัยที่เข้าใจนางผิดไป

นางวิสาขากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ดิฉันตั้งใจจะกลับตระกูลตามคำขับไล่ของคุณพ่อสามีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคุณพ่อได้มอบให้ดิฉันอยู่ในความดูแลของท่านทั้งหลาย ดิฉันจึงยังไปไม่ได้ จนกว่าท่านทั้งหลายจะตัดสินคดี บัดนี้ท่านทั้งหลายตัดสินว่าดิฉันไม่มีความผิดแล้ว ดิฉันพร้อมที่จะกลับตระกูลได้แล้ว ดิฉันให้คนจัดข้าวของไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอลา ณ บัดนี้”

มิคารเศรษฐีได้ยินดังนั้น จึงขอพราหมณ์ทั้งแปดให้เกลี้ยกล่อมนางไม่ให้ไป พร้อมกับกล่าวขอโทษนางและให้นางอยู่ต่อไป นางวิสาขากล่าวขึ้นว่า จะให้อยู่ได้อย่างไร นางเป็นอริยสาวิกาของพระพุทธศาสนา มาอยู่ในตระกูลสามีไม่เคยมีโอกาสได้ทำบุญในพระพุทธศาสนาเลย ถ้าจะให้นางอยู่ ขอให้นางได้ทำบุญตักบาตร นิมนต์ให้พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านได้

เศรษฐีกล่าวว่า “เอาเถอะลูกเอ๋ย พ่อยินดีอนุญาตให้ลูกทำอย่างที่ลูกประสงค์”

เป็นอันว่าพ่อสามียอมทุกอย่าง นางวิสาขาจึงยอมอยู่ในตระกูลสามีต่อไป จนต่อมานางได้รับสมญาว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี) ลูกสะใภ้คนนี้ได้กลายเป็นแม่ของพ่อสามี เรื่องราวเป็นมาอย่างไรโปรดติดตาม

เมื่อสะใภ้กลายเป็นมารดาพ่อสามี

ฟังแล้วก็พิลึกดีเหมือนกัน แต่ถ้ารู้ความเป็นมาเป็นไปแล้วก็จะไม่แปลกใจแต่อย่างใด ดังที่กล่าวไว้ครั้งก่อนว่า พ่อสามีของลูกสะใภ้หาว่าลูกสะใภ้กิน “อุจจาระ” เนื่องจากนางวิสาขากล่าวกับพระที่มายืนรอรับบิณฑบาตที่หน้าบ้าน ขณะพ่อสามีกินข้าวอยู่ว่า “ขอนิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า” คำว่า “ของเก่า” ในที่นี้เศรษฐีเขาว่าของเก่าที่ออกจากกระเพาะ (ก็อึนั่นไงเล่าครับ)

แต่เมื่อกรรมการสอบสวนซักถามจำเลยแล้ว จำเลยนามว่าวิสาขาชี้แจงว่า “ของเก่า” หมายถึงบุญเก่า มิใช่ดังที่พ่อสามีเข้าใจ พร้อมให้อรรถาธิบายอย่างแจ่มชัดว่า บุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน เรียกว่า “ของเก่า” พ่อสามีนางเกิดมาในตระกูลร่ำรวย มีโภคทรัพย์มากมาย ก็เพราะอานิสงส์แห่งบุญแต่ปางก่อน แต่มาชาตินี้เศรษฐีไม่สนใจทำบุญกุศลเลยจึงเท่ากับกินบุญเก่านั่นเอง

เมื่อพ่อสามีแพ้แก่เหตุผลของลูกสะใภ้ หันมาพิจารณาตนด้วยจิตใจเป็นกลาง ก็รู้ว่าตนนั้น “กินของเก่า” จริงๆ จึงยอมขอขมาลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้ได้ทีก็พูดจาขึงขังว่า เมื่อนางพ้นผิดแล้วก็ขอกลับไปตระกูลของนางตามความประสงค์ของคุณพ่อสามีต่อไป ว่าแล้วก็สั่งให้คนขนของเตรียมเดินทาง เศรษฐียิ่งร้อนใจจึงอ้อนวอนว่าอย่าไปเลย พ่อก็ขอโทษแล้ว พ่อผิดจริง นาง (คราวนี้ “ขี่แพะ” เลย) จึงต่อรองว่า “ถ้าจะให้ลูกอยู่ต่อไป ต้องอนุญาตให้ลูกนิมนต์พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มาฉันอาหารที่บ้านทุกวัน” เศรษฐีก็ยินยอม

นางจึงอยู่ต่อไป

วันต่อมา นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง นางจึงให้คนไปแจ้งแก่พ่อสามีว่าให้มา “อังคาส” พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

“อังคาส” หมายถึงเลี้ยงพระ คือลูกสะใภ้เชิญให้พ่อสามีมาเลี้ยงพระด้วยกัน เศรษฐีก็ทำท่าจะมา แต่พวก “อเจลกะ” (นักบวชเปลือยกาย) ห้ามไว้ว่า ท่านเศรษฐีไม่ควรไปเสวนากับพระสมณโคดม

เศรษฐีจึงให้คนไปบอกลูกสะใภ้ว่า เชิญลูกอังคาสพระองค์เองเถอะ เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์เสวยเสร็จแล้วจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา นางวิสาขาให้คนไปแจ้งพ่อสามีอีกว่า ให้มาฟังธรรม คราวนี้พวกอเจลกะจะห้ามอย่างไรเศรษฐีก็ไม่ฟัง คิดว่าเป็นการไม่สมควรที่จะขัดใจลูกสะใภ้ (เดี๋ยวนางจะโกรธจะกลับตระกูลของนางเสีย) พวกอเจลกะบอกว่าท่านเศรษฐีจะไปฟังก็ได้ แต่ให้ฟังอยู่นอกม่าน อย่าเห็นพระสมณโคดม ว่าแล้วก็สั่งคนไปกั้นม่าน จัดที่ให้เศรษฐีนั่งฟังธรรม

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ถึงเศรษฐีจะนั่งอยู่นอกจักรวาล ถึงจะถูกภูเขาหลายแสนลูกบังอยู่ ก็สามารถได้ยินเสียงของพระองค์ ว่าแล้วพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มุ่งสอนเศรษฐีโดยตรง เริ่มด้วยทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” (พรรณนาเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม อานิสงส์การออกจากกาม แล้วจบลงด้วยอริยสัจสี่ประการ)

เศรษฐีรู้สึกประหนึ่งว่า พระธรรมเทศนานี้ทรงมุ่งเทศน์ให้ตนฟังคนเดียว จึงตั้งอกตั้งใจส่งกระแสจิตพิจารณาไปตามความที่ทรงแสดง เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น มีศรัทธามั่นคง ปราศจากความสงสัยในพระรัตนตรัย และเลิกให้การสนับสนุนพวกอเจลกะ กลายเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าในที่สุด

เศรษฐีได้ยกย่องนางวิสาขาบุตรสะใภ้ของตนเป็น “มิคารมาตา” (แปลว่า แม่ของมิคารเศรษฐี) เพราะนางเป็นประดุจแม่ผู้ให้กำเนิดในทางธรรมแก่ตน

ว่ากันว่าเศรษฐีได้จุมพิตที่ถันของนางด้วย ทำนองเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นลูกผู้ดื่มนมจากแม่จริงๆ อันนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมแขกมากกว่าไทย คงเลียนแบบไม่ได้ เดี๋ยวลูกชายจะหาว่าพ่อมาทำมิดีมิร้ายกับเมียตน นี่แหละครับ คือความเป็นมาของสมญานามว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี)

นางวิสาขาก็คงรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับนามนี้พอสมควร กลัวใครๆ จะหาว่า “ข่ม” พ่อสามี ซึ่งเป็นอันตรายมิใช่น้อยในสังคมยุคที่นิยมยกย่องเพศชาย กดขี่เพศหญิง ดังอินเดียสมัยนั้น นางจึงหาทางออกในเวลาต่อมา คือ เมื่อนางมีบุตรชาย นางจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า “มิคาระ” เหมือนชื่อพ่อสามี เพราะเหตุฉะนี้แล เมื่อใครเรียกนางว่า มิคารมาตา (มารดาของมิคาระ) จึงสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะลูกของนางชื่อมิคาระจริงๆ

ต่อมาท่านเศรษฐีเห็นว่าเครื่องประดับที่ชื่อ “ลดาปสาธน์” นั้น หนักเกินไป นางวิสาขาจะสวมใส่ทุกโอกาสได้ยาก จึงทำเครื่องประดับให้ใหม่ เบากว่าเดิม ชื่อ “ฆนะมัฏฐกะ” ให้ช่างฝีมือดีสร้างไป สิ้นเงินไปหนึ่งแสนกหาปณะ

รูปภาพ

นางวิสาขาผู้ทรงพลังเท่าช้างห้าเชือก

ก็เล่าขานประหนึ่งนิยายว่า นางวิสาขามีพลังมาก มากเท่าช้างห้าเชือกเลยทีเดียว

คัมภีร์กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลบุญที่นางทำไว้แต่ปางก่อน

เรื่องนี้ปัจจุบันนี้เรามีคำพูดฮิตติดปากกว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ฟังๆ ไว้ก็แล้วกันครับ เพราะเรื่องบาปบุญนี้มันเหนือวิสัยสามัญมนุษย์จะหยั่งรู้ได้

เสียงร่ำลือนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ก็คงไม่เชื่อเหมือนคนทั่วๆ ไป จึงทรงประสงค์จะทดสอบโดยสั่งให้ปล่อยช้างเชือกหนึ่ง ดุเสียด้วย วิ่งไปหาทางที่นางวิสาขาพร้อมบริวารจำนวนร้อยเดินผ่านมา ช้างก็แปร๋นๆ มาเชียว ฝ่ายสตรีสาวสวยบริวารของนางวิสาขาก็แตกฮือหนีเอาตัวรอดไป เหลือนางวิสาขายืนอยู่คนเดียว เมื่อช้างเข้ามาใกล้ นางก็เอานิ้วสองนิ้วจับงวงมัน แค่นั้นแหละครับ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ช้างเชือกนั้นก็ทรุดตัวลง ทรงกายไม่อยู่เลยทีเดียว อะไรจะปานนั้น

คราวนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อสนิทว่า ที่ว่านางมีพลังเท่าช้างห้าเชือกนั้นของจริง มิใช่ราคาคุย


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

หัวข้อ นางวิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา

>>> http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57225

:b50: :b49: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

:b50: :b49: อนุปุพพิกถา คืออะไร ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=42446

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2025, 09:23 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2536

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร