วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มี.ค. 2019, 08:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระสังฆมิตตาเถรี
ภิกษุณีรูปสุดท้ายในประวัติศาสตร์เถรวาท
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


รูปภาพ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกลานิยาราชมหาวิหาร
(อังกฤษ : Kelaniya Raja Maha Vihara or Kelaniya Temple)
เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
ฝีมือศิลปินชาวศรีลังกา โสริอัส เมนดิส (​Solias Mendis)
:b50: :b50: ในภาพ...ปี พ.ศ.๒๓๖ พระสังฆมิตตาเถรี
อัญเชิญกิ่งด้านขวาของพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้
แล้วเดินทางโดยเรือไปเกาะลังกา (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
ขณะที่พระราชาแห่งลังกา “พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ”
เสด็จลงไปรอรับถึงในน้ำด้วยพระองค์เอง

:b47: :b46: :b47:

วันนี้ขอนำเรื่องหลังพุทธกาลมาเล่า กล่าวถึงภิกษุณีที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๓ นัยว่าเป็นรูปสุดท้ายเท่าที่ปรากฏมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กระมัง จึงขาดและเสื่อมสูญไป แต่ก็มิได้มีบันทึกเรื่องราวของภิกษุณีนอกเหนือไปจากสังฆมิตตาเถรี ผมจึงถือว่าสังฆมิตตาเถรีเป็นภิกษุณีรูปสุดท้ายในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสายเถรวาท

ที่กล่าวเฉพาะในสายเถรวาท ก็เพราะในสายมหายานเขาถือว่าภิกษุณียังไม่ขาดวงศ์ ยังคงมีภิกษุณีสืบมาจนปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน ยังคงมีสำนักภิกษุณีสงฆ์อยู่ สตรีไทยที่ไปบวชเป็นภิกษุณีที่ไต้หวัน ปัจจุบันมาพำนักอยู่ที่ประเทศไทยก็มีอยู่ เพียงแต่ท่านมิได้ออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณะเท่านั้น ยังคงบำเพ็ญศีลภาวนาสืบพระศาสนาอย่างเงียบๆ

พระสังฆมิตตาเถรีเป็นกนิษฐาของพระมหินทเถระ ทั้งสองเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ ๓ เจ้าชายอโศกได้ตะลุยบัลลังก์เลือดปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระราชาแห่งเมืองปาตลีบุตร เรียกอย่างนี้คงไม่ผิด เพราะพระองค์ต้องฆ่า “พี่ชายและน้องชาย” มากมาย เหลือไว้เพียง ติสสกุมาร พระอนุชาร่วมพระอุทรเท่านั้น

พระเจ้าอโศกเป็นพระราชาที่ดุร้ายเหี้ยมโหด จนได้พระนามว่า “จัณฑาโศก” (อโศกผู้ดุร้าย) แต่ต่อมาพฤติกรรมเปลี่ยน กลายเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยึดถือพระธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ พระนามจึงได้เปลี่ยนใหม่เป็น “ธรรมาโศก” (อโศกผู้ทรงธรรม) ทั้งนี้ เพราะอิทธิพลของพระพุทธศาสนา

เมื่อครั้งไปรบที่แคว้นกลิงคะ ทอดพระเนตรเห็นคนตายจำนวนมาก เกิดสลดพระทัย (เมื่อก่อนไม่สลด มีแต่ฮึกเหิม มาครั้งนี้คงเพราะอุปนิสัยปัจจัยได้ “สุกงอก” ก็เป็นได้ จึงทรงสลดพระทัย) หันมาสนพระทัยในพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาแห่งความไม่เบียดเบียน กอปรกับได้ทรงสนทนาธรรมกับสามเณรน้อยนามนิโครธ (พระเจ้าหลานของพระองค์เอง) สามเณรน้อยสอนมิให้ประมาท จึงยึดมั่นพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนมชีพ

เมื่อเกิดเหตุการณ์อลัชชีเข้ามาบวชจำนวนมาก แสดงผิดธรรมวินัย สังฆมณฑลเกิดปั่นป่วน พระสงฆ์ผู้ทรงศีลไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับสงฆ์อลัชชี พระเจ้าอโศกทรงรับสั่งให้เสนาบดีไป “จัดการ” ให้เรียบร้อย เสนาบดีไปบังคับให้สงฆ์ทำสังฆกรรมร่วมกัน เมื่อพระสงฆ์ผู้ทรงศีลขัดขืนจึงประหารเสียจำนวนมาก โชคดีพระติสสเถระ พระอนุชาของพระราชามาขัดขวางไว้ เรื่องจึงไม่ลุกลาม


พระราชาทรงเสียพระทัยที่เสนาบดีไปทำเกินกว่าเหตุ จึงไปขอขมาพระสงฆ์พระเถระผู้ใหญ่ ถวายพระพรว่า ทางเดียวที่จะ “ไถ่บาป” ได้ ก็คือต้องสังคายนา ชำระสะสางสังฆมณฑลให้บริสุทธิ์ เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป พระเจ้าอโศกจึงทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๓ ดังที่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาทราบกันดีแล้ว

หลังสังคายนาเสร็จก็จัดส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ ๙ สายด้วยกัน พระโสณะ พระอุตตระ และคณะ ถูกส่งมาที่สุวรรณภูมิ (นัยว่าคือดินแดนที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง) พระมหินทเถระ พระราชโอรสพระเจ้าอโศก ถูกส่งไปที่เกาะลังกา (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)

พระมหินท์ได้บวชให้กุลบุตรชาวลังกาจำนวนมาก เกิดมีพระสงฆ์หมู่ใหญ่พร้อมที่จะสืบทอดพระศาสนาต่อไป ขณะนั้นพระนางอนุฬาราชเทวี ชายาของพระมหานาคอุปราช มีพระประสงค์อยากบวช แต่เนื่องจากไม่มีภิกษุณีอุปัชฌาย์ พระราชา (พระเจ้าเทวานัมปิยาติสสะ) จึงแต่งราชทูตไปทูลขอภิกษุณีจากอินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระองค์ไปเกาะลังกา

ในการเดินทางมาเกาะลังกาคราวนี้ พระเถรีได้อัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ลงเรือไปด้วย พระเถรีพร้อมคณะภิกษุณีจำนวนหนึ่งออกเดินทางจากเมืองปาตลีบุตร (ปาฏลีบุตร) มาถึงเกาะลังกาโดยสวัสดิภาพ พระเจ้าเทวานัมปิยาติสสะเสด็จมารับกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ด้วยพระองค์เอง ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์และเฉลิมฉลอง ๗ วัน ๗ คืน ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่ากันว่าได้เจริญยืนยาวมาเป็นเวลา ๒,๐๐๐ ปี

เมื่อผมไปประเทศศรีลังกาเมื่อหลายปีมาแล้ว พระที่นั่นอธิบายว่าต้นโพธิ์นี้เป็นต้นเดียวกับที่พระสังฆมิตตาเถรีนำมาจากอินเดีย ผมเรียนท่านว่า อาจเป็น “ลูกหลาน” ของต้นเดิมก็ได้ ต้นเดิมคงจะตายไปแล้ว ท่านว่า Maybe แต่สังเกตดูท่านคงเชื่ออย่างแรกมากกว่า ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลครับ

ในประเทศศรีลังกานั้น ความเลื่อมใสในต้นพระศรีมหาโพธิ์มีความหนักแน่นมาก เช่น ถือว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นนี้ ต้นนี้จึงมีความสำคัญมาก ถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวศรีลังกาจะเดินประทักษิณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นประจำ ไม่เฉพาะในเวลาเทศกาลสำคัญเท่านั้น ในชีวิตประจำวันก็จะเห็นอยู่เสมอๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่กล่าวนี้ได้รับการอารักขาอย่างเข้มงวด ไม่อนุญาตให้ใครๆ เข้าไปถึงต้นได้ มีรั้วรอบสามชั้นทีเดียว เขาให้เหตุผลว่ากลัวคนจะนำเชื้อโรคไปให้ต้นโพธิ์

ขณะที่พระสังฆมิตตาเถรีเดินทางไปเกาะลังกา พระมหินท์ผู้เป็นเชษฐาก็อยู่ที่นั่นก่อนแล้ว สองพี่น้องได้ช่วยกันวางรากฐานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในเกาะลังกามาแต่บัดนั้น โดยพระสังฆมิตตาเถรีได้ให้การอุปสมบทแก่สตรีชาวลังกาที่ประสงค์จะบวชเป็นจำนวนมาก ภิกษุณีสงฆ์ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว พระราชาต้องสร้าง “ภิกขุนูปัสสัย” (วัดสำหรับภิกษุณีอยู่พำนัก) ขึ้นต่างหาก


“พระสังฆมิตตาเถรี” ได้สั่งสอนและอบรมเหล่าพระภิกษุณี และสตรีชาวศรีลังกาให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก จนได้รับความเคารพนับถือยกย่องให้เป็น “แม่พระ” ของสตรีชาวศรีลังกาทีเดียว พระเถรีมีชีวิตอยู่ ๗๙ ปีก็ดับขันธ์ หลัง“พระมหินทเถระ” ผู้เป็นเชษฐาหนึ่งปี ในรัชสมัยของพระเจ้าอุตติยะแห่งศรีลังกา พระราชาได้ถวายพระเพลิงพระศพของพระสังฆมิตตาเถรีอย่างสมพระเกียรติ ปัจจุบันนี้ชื่อเสียงของพระสังฆมิตตาเถรียังก้องอยู่ในจิตวิญญาณของชาวศรีลังกาไม่รู้เลือน พระเถรีนับว่าเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติสูงสุดจากชาวศรีลังกา

คัดลอกมาจาก...หนังสือ ๔๐ พระอรหันต์ บรรลุธรรมพุทธสมัย
(หัวข้อ สิบอรหันต์หญิง ลำดับที่ ๙) :b8: :b8: :b8:
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

:b47: :b46: :b47:

:b44: ภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46460

♥ ประวัติ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทั้ง ๔ ต้น ณ พุทธคยา
♥ ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี
♥ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39333

:b50: :b49: พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
อทิฏฐสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58086

:b50: :b49: พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงธรรม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50365

:b50: :b49: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ซึ่งการสังคายนาครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๕ ณ วัดอโศการาม
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2022, 10:54 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร