วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ย. 2024, 01:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นางวิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา
(นางวิสาขามหาอุบาสิกา)
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
:b47: :b46: :b47:

เล่าเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วเห็นจะลืมบุคคลอีกท่านหนึ่งไม่ได้เป็นอันขาด เพราะท่านผู้นี้มีอุปการคุณมากต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรวม

ท่านผู้นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรไว้บอกภายหลัง ตอนนี้ขอนำพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้แก่ท่านผู้นี้ฟัง ดังต่อไปนี้

คราวหนึ่ง หลานสาวที่รักยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง นางเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสสอนเธอว่า

“วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้นใจ”

นางวิสาขาได้หายเศร้าโศกเพราะธรรมเทศนานั้น

พระพุทธเจ้าได้เปล่งอุทานว่า “โศก ปริเวทนาและทุกข์มากหลาย ย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีรัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้นผู้ไม่ต้องการโศกเศร้าก็ไม่ควรรักสิ่งใด”

ข้อความข้างต้นมาจากพระสูตรชื่อ วิสาขาสูตร ฟังชื่อพระสูตรก็รู้แล้วใช่ไหมว่าทรงแสดงแก่วิสาขามหาอุบาสิกาฟัง คราวหนึ่งนางมีความทุกข์ ร้องห่มร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพราะหลานสาวตาย
มีหลายคนสงสัยว่า นางวิสาขาเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันมิใช่หรือ แล้วทำไมจึงเศร้าโศก

ก็ขอเรียนว่า พระอริยบุคคลระดับต้นๆ ยังละกิเลสอะไรได้ไม่มาก ความเศร้าโศกจึงมีเหมือนๆ ปุถุชนอื่นๆ มีบางท่านเปรียบการละกิเลสของพระอริยะระดับต่างๆ เป็นเปอร์เซ็นต์เชียวครับ บอกว่าพระโสดาบัน ละได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พระสกทาคามี ละได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระอนาคามี ละได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์ละได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นเป็นรูปธรรมดีแท้


:b44: • เป็นโสดาบันอายุ ๗ ขวบ

นางวิสาขา เป็นบุตรสาวของอภิอมตะเศรษฐีคนหนึ่งเชียวครับ บิดาของนางชื่อว่า ธนัญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นบุตรของ เมณฑกเศรษฐี และมารดาของนางชื่อว่า นางสุมนา ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่า คุณหญิงสุมนา เป็นอย่างต่ำ เมณฑกเศรษฐีนี้ว่ากันว่าร่ำรวยมหาศาล ไว้เล่าให้ฟังวันหลังแล้วกัน

นางวิสาขาเกิดที่เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ติดกับแคว้นมคธ แห่งพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาสำคัญพระองค์หนึ่ง

ในเวลาที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร (วัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย) เป็นส่วนใหญ่ เสด็จไปโปรดสัตว์ยังต่างเมืองเป็นครั้งคราว

คราวหนึ่งเสด็จไปยังเมืองภัททิยะ นางวิสาขา (เรียกเด็กหญิงวิสาขาจึงจะถูก) มีอายุ ๗ ขวบเท่านั้น พร้อมกับบริวารจำนวนมาก ได้ไปฟังธรรม ด้วยบุญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญมาแต่ปางก่อน เป็นอุปนิสัยปัจจัย นางจึงได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน

หลังฟังพระธรรมเทศนาจบ ได้เป็นสาวิกาผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย มีศรัทธาไม่คลอนแคลนในพระพุทธศาสนามาแต่บัดนั้น

ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มีพระประสงค์อยากได้เศรษฐีระดับอภิอมตะเช่นธนัญชัยไปประดับเมืองของพระองค์บ้าง เพราะเมืองราชคฤห์นั้นมีเศรษฐีอยู่หลายท่าน เช่น โชติกเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี (ปู่ของนาวิสาขา) ธนัญชัยเศรษฐี ขอมาสักหนึ่งเศรษฐี ก็คงไม่กระทบกระเทือนเมืองราชคฤห์เท่าไร

ถามว่าขอกันง่ายๆ อย่างนี้หรือ ตอบว่าไม่ใช่ง่ายดอกครับ บังเอิญว่ามหาราชทั้งสองพระองค์นี้ “ดอง” อยู่แล้ว ด้วยต่างก็เป็นสวามีของภคนีของกันและกันอยู่แล้ว มีความรักใคร่ชอบพอกันดี จึงขอกันได้ หาไม่คงไม่มีทางสำเร็จดอก นั่นคือเหตุผล

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เศรษฐีที่กล่าวถึงนี้ ท่านเต็มใจที่จะย้ายไปอยู่เมืองใหม่อยู่แล้วด้วย (บางทีอาจเห็นว่ามีทำเลสำหรับประกอบธุรกิจได้ดีกว่าเดิมก็ได้) การโยกย้ายจึงเกิดขึ้น

เข้าใจว่า ในสมัยนั้นแคว้นอังคะคงอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่เช่นนั้น ธนัญชัยเศรษฐีคงไม่ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลขอจากพระเจ้าพิมพิสาร

การที่ครอบครัวมหึมาเช่นครอบครัวของธนัญชัยเศรษฐีจะเคลื่อนย้ายที่อยู่นั้น คงทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องมีการเตรียมการกันนานโข เมื่อ “คาราวาน” ใหญ่ปานนั้นเคลื่อนย้ายออกจากเมืองราชคฤห์ ก็ปรากฏประดุจว่าว่างไปถนัดตา

เมื่อมาถึงกึ่งกลางระหว่างเมืองสาวัตถี กับเมืองราชคฤห์ต่อกัน ธนัญชัยเศรษฐีจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปเสนทิโกศลขอสร้างเมืองขึ้น ณ สถานที่นั้น ซึ่งก็ได้รับพระราชทานอนุญาตตามปรารถนา

ตำรามิได้บอกว่าเมืองใหม่นี้สร้างนานสักเท่าไร แต่คงไม่ใช่ ๗ วันเสร็จ ดังพระเจ้าสร้างโลกดอกครับ เมืองที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีนามว่า “สาเกต”

ตกลงเด็กหญิงวิสาขาเลยกลายเป็นพลเมืองของเมืองสาเกตไป ด้วยประการฉะนี้


:b44: • เบญจกัลยาณี

เด็กหญิงวิสาขาเจริญเติบโตตามลำดับ ยิ่งโตก็ยิ่งสดสวยงดงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจของผู้พบเห็น ว่ากันว่านางงามพร้อมทั้งห้าส่วน อันเรียกว่า “เบญจกัลยาณี” คือ

๑. ผมงาม (เกศกัลยาณะ)
๒. เนื้องาม (มังสกัลยาณะ)
๓. กระดูกงาม (อัฏฐิกัลยาณะ)
๔. ผิวงาม (ฉวิกัลยาณะ)
๕. วัยงาม (วยกัลยาณะ)


ความงามประการที่หนึ่ง (ผมงาม) คงไม่ได้หมายถึงทรงผมแน่นอน เพราะทรงผมเปลี่ยนแปลงได้ตามแฟชั่น คงจะหมายถึงผมที่ดำเงางามสลวย (ในกรณีผมดำ) ถ้าผมสีทองหรือสีอื่นก็สลวยงามเป็นเงาเช่นเดียวกัน) คัมภีร์อธิบายว่า ผมนั้นสลวยยาว ปล่อยลงมาถึงชายผ้านุ่ง และปลายงอนขึ้นดุจกำหางนกยูง ว่าอย่างนั้น (สงสัยสมัยนั้นนิยมหญิงผมยาว)

ความงามประการที่สอง (เนื้องาม) ท่านหมายเอาริมฝีปากแดงงาม ดังสีผลตำลึกสุกโดยไม่ต้องเอาสีอื่นใดมาทา แดงงามโดยธรรมชาติ (สาวสมัยนี้ถึงเกิดมาเนื้อริมฝีปากไม่แดง ก็หาลิปสติกมาทาให้แดงได้ จะเอา แดงแก่ แดงอ่อน หรือแม้กระทั่งสีม่วง สีคราม สีดำ ก็ย่อมทาได้)

ความงามประการที่สาม (กระดูกงาม) คงไม่มีใครไปเอ็กซเรย์ดูว่า กระดูกข้างในนั้นงามทุกท่อนหรือไม่ ในที่นี้ท่านหมายถึงฟันสวยงาม เบญจกัลยาณี ฟันจะต้องขาวเป็นระเบียบ ไม่ห่าง ไม่เก เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดอย่างดี แล้วเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย (สมัยนี้คนมีเขี้ยวออกมา กลับเห็นว่างามดี ถ้าสมัยก่อนคงไม่นับเป็นเบญจกัลยาณีเป็นแน่)

ความงามประการที่สี่ (ผิวงาม) หมายถึงผิวพรรณเปล่งปลั่ง คนดำผิวก็ดำเนียนงาม คนผิวขาวก็ขาวงาม เคยเห็นนิโกรงาม ถึงจะดำก็ดำงามจริงๆ ครับ

ความงามประการที่ห้า (วัยงาม) หมายถึงอายุจะมากเท่าไรก็ดูเหมือนไม่แก่ไปตามวัย เป็นประเภทสาวพันปี ว่าอย่างนั้นเถอะ

มีบางคน (หลายคน) อยากวัยงาม อุตส่าห์ไปดึงนั่นดึงนี่ ดูเผินๆ ก็เต่งตึงดีดอกครับ อย่าแอบไปดูที่ซอกหู หรือใต้ท้องแขนเป็นอันขาด จะเห็นรอยเย็บน่าเกลียด หรือเห็นเนื้อท้องแขนหย่อนยานไม่น่าดูชม เขาเหล่านี้ดึงแล้วดึงอีก ก็ยังสู้ความชราไม่ไหว อย่างนี้ไม่เรียกว่าวัยงามดอกครับ

นางวิสาขานั้น ว่ากันว่าไม่แก่ตามวัย เมื่อมีบุตรหลานจำนวนมากแล้ว เดินไปไหนมาไหนด้วยกันกับลูกๆ หลานๆ ไม่มีใครจำได้เลยว่านางวิสาขาคนไหน เพราะทุกคนวัยไล่เลี่ยกันหมด

งามปานนั้นนะขอรับ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: • ปุณณะวัฒนะกุมาร เนื้อคู่ของนางวิสาขา

ในช่วงระยะเวลานั้นมีบุตรชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยของมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถีชื่อ ปุณณะวัฒนะกุมาร หรือจะเรียกให้สั้นๆ ว่า “ปุณณวัฒน์”

ปุณณวัฒน์ ถึงวัยจะต้องมีครอบครัวแล้ว เศรษฐีผู้บิดาจึงสั่งให้คนไปดูสตรีที่มีคุณสมบัติคู่เคียงกับลูกชายของตน เรียกว่าส่ง “แมวมอง” ไปด้อมๆ มองๆ หาสาวงามมาเป็นลูกสะใภ้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

เขียนมาถึงตรงนี้ชักสงสัยว่า วัฒนธรรมแขกอินเดีย ฝ่ายหญิงสาวมิใช่หรือเป็นผู้ที่จะต้องไปสู่ขอชาย แล้วทำไมในเรื่องนี้ท่านจึงเขียนกลับตาลปัตรไปอย่างนี้ล่ะครับ

สงสัยตำราพระพุทธศาสนาเล่มนี้คงไม่ได้แต่งที่อินเดีย คนแต่งคงมิใช่ชาวภารตะ (ดังที่อ้างว่าพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียแต่ง) คงจะเป็นเถระชาวลังกากระมังหว่า ประเพณีลังกาผู้ชายขอผู้หญิงกระมังครับ ท่านจึงเผลอเขียนไว้อย่างนี้

แต่ช่างเถอะ เรามาฟังกันต่อดีกว่า

คนที่เศรษฐีส่งไปคือพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในการดูโหงวเฮ้ง และทรงความรู้ด้านอื่นด้วยจำนวน ๘ ท่าน ก่อนส่งไปก็เชิญมารับเลี้ยงอย่างอิ่มหมีพีมันก่อนด้วย พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปเสาะหาหญิงเบญจกัลยาณียังเมืองต่างๆ ก็ยังไม่พบ ต่อเมื่อหวนกลับมายังเมืองสาเกตซึ่งเพิ่งจะตั้งใหม่หมาดๆ ก็ได้พบกุลสตรีผู้งามสรรพเข้าจนได้

ช่วงนั้นเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เทศกาลอะไรไม่แจ้ง รู้แต่ว่า วันเช่นนี้ผู้คนต่างก็ออกจากบ้านเรือนไปสนุกสนานในงาน นางวิสาขา (ความจริง “นางสาว” หรือต่อไปไม่ช้าก็จะเป็น “คุณวิสาขา” แล้ว) พร้อมด้วยสตรีบริวารจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่าตั้งห้าร้อย) ก็ออกไปสนุกสนานในงานด้วย

บรรดาหนุ่มๆ ลูกเศรษฐี ลูกคุณหญิงคุณนาย “ไฮโซ” ทั้งหลาย ก็ได้มีโอกาสมาด้อมๆ มองๆ แอบยลโฉมของเยาวนารีแรกรุ่นทั้งหลาย เพราะสตรีสาวทั้งหลายมีโอกาสได้เผยร่างโดยไม่ต้องเอาผ้าคลุมหน้า เพราะได้รับอนุญาตพิเศษ ในวันนักขัตฤกษ์เช่นนี้ ไม่ถือว่าผิดประเพณี

การคล้องพวงมาลัยให้แก่หญิงสาวของชายหนุ่มก็ไม่ถือว่าผิดอันใด เป็นเครื่องแสดงว่า เขาได้พึงพอใจ หมายมั่นประสงค์อยากได้กุลสตรีนางนั้นเป็นคู่ครอง ว่ากันอย่างนั้น

พราหมณาจารย์ได้เข้าไปอาศัยอยู่บนศาลาแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ สอดส่ายสายตาดูหญิงสาวเหล่านั้น

ขณะนั้นนางวิสาขามีอายุ ๑๕ ปี กำลังจะย่างเข้า ๑๖ ปี

นางได้แต่งกายเป็นพิเศษ ประดับประดาเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง พร้อมทั้งเหล่ากุมารีอีก ๕๐๐ คน แวดล้อมอยู่ ได้ชักชวนกันเดินทางไปยังแม่น้ำ เพื่อประสงค์จะอาบน้ำกันให้สนุก เมื่อเดินไปถึงริมฝั่งน้ำ เมฆตั้งเค้าทะมึนขึ้นทันที ฝนตกลงมาอย่างหนัก กุมารีทั้งหลาย ๕๐๐ คน ต่างรีบวิ่งไปสู่ศาลาฝั่งน้ำเพื่อหลบฝน พวกพราหมณ์ก็พยายามจับตาดูกุมารีทั้ง ๕๐๐ คน เหล่านั้น ก็ไม่เห็นเลยสักคนเดียวที่ต้องด้วยเบญจกัลยาณี

ส่วนนางวิสาขานั้นมิได้วิ่งหนีฝนดังเช่นเพื่อนหญิงอีก ๕๐๐ คน นางเดินไปตามปกติ ผ้าและอาภรณ์ก็เปียกโชกด้วยน้ำฝน

พวกพราหมณ์ที่จับตาดูอยู่ก็เห็นความงามของนางถึง ๔ อย่าง แต่กล่าวบอกซึ่งกันและกันว่า หญิงผู้นี้เป็นคนเฉื่อยชา สามีของหญิงคนนี้ เห็นทีจักไม่ได้กินแม้เพียงข้าวปลายเกวียน

นางวิสาขาได้ยินเช่นนั้นจึงถามพราหมณ์นั้นว่า พวกท่านว่าใครกัน พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า ว่าเธอนั่นแหละ พราหมณ์จึงได้ยินสำเนียงไพเราะของเธอที่เปล่งออกมา ประหนึ่งเสียงของกังสดาล เธอจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นต่อไปด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า เพราะเหตุไรท่านจึงมาว่าฉัน

พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า เพราะบรรดาหญิงทั้งหลายซึ่งเป็นบริวารของเธอ เขาพยายามไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับของเขาเปียก จึงรีบวิ่งมาสู่ศาลา ส่วนเธอนั้นมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น เธอเดินด้วยความเฉื่อยชา ปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกโชก พวกเราจึงพากันว่าเธอ

นางวิสาขาจึงตอบแก้พราหมณ์นั้นว่า พราหมณ์ พวกท่านอย่าพูดอย่างนั้น ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้นมาก แต่เพราะฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่วิ่งมาโดยเร็ว

พราหมณ์จึงถามด้วยความสงสัยว่า ด้วยเหตุอะไร

นางวิสาขาจึงให้เหตุผลว่า ท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วย่อมไม่งาม นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และยังไม่ใช่เพียงเท่านี้ อย่างอื่นยังมีอยู่อีก

พราหมณ์ถามว่า ชน ๔ จำพวกที่เธอกล่าวนั้น ได้แก่ชนเหล่าใดบ้าง

นางวิสาขาตอบว่า ท่านทั้งหลาย ชนประเภทที่ ๑ คือ พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง ถ้าถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวง ย่อมจะไม่งาม ทั้งยังจะได้รับคำครหานินทาอย่างแน่นอนว่า เพราะเหตุใดพระราชาองค์นั้นจึงวิ่งเหมือนคหบดี พระราชาที่ค่อยๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม

อีกประการหนึ่ง ช้างมงคลของพระราชา เมื่อประดับแล้ววิ่งไปก็ไม่งาม ต้องเดินไปด้วยลีลาแห่งช้างจึงจะงาม

อีกประการหนึ่ง บรรพชิตเมื่อวิ่งก็ไม่งาม จะได้รับคำครหานินทาว่า ทำไมสมณะรูปนี้จึงวิ่งเหมือนกับคฤหัสถ์ แต่ถ้าเดินอย่างอาการสำรวม อย่างผู้สงบเสงี่ยมจึงจะดูงดงาม

อีกประการหนึ่ง สตรีเมื่อวิ่งก็ไม่งาม เพราะจะถูกติเตียนอย่างเดียวว่า ทำไมผู้หญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย แต่ถ้าเดินอย่างธรรมดาจึงจะงาม

นี่แหละท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วดูไม่งดงาม

ทดสอบความงามและความฉลาด

พราหมณ์จึงซักถามต่อไปอีกว่า แล้วเหตุอย่างอื่นที่ยังมีอยู่อีกเล่า ได้แก่อะไรบ้าง

นางวิสาขาตอบด้วยความฉลาดว่า ท่านทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดาท่านย่อมถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ของธิดาท่านในระหว่างเลี้ยงดู พวกดิฉันนี้เหมือนสิ่งของอันบิดามารดาจะพึงขายได้

มารดาบิดาเลี้ยงฉันมาจนกระทั่งโตเป็นสาว ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลสามี ถ้าหากว่าในเวลาที่พวกดิฉันวิ่งไปเหยียบผ้านุ่งหรือลื่นหกล้มลง มือหรือเท้าดิฉันอาจจะหัก พวกดิฉันก็จะเป็นภาระของตระกูลอีกต่อไป ส่วนเครื่องแต่งตัวที่เปียกนี้ก็ยังแห้งได้ ไม่เสียหายอะไร เมื่อดิฉันกำหนดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วจึงไม่วิ่ง

พราหมณ์คล้องพวงมาลัยให้

ในระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น พราหมณ์ทั้งหลายได้เห็นความงามของฟันทั้งหมด ครบเบญจกัลยาณี พราหมณ์จึงเปล่งขึ้นมาว่า สมบัติเช่นนี้พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย เมื่อกล่าวจบลงแล้ว จึงสวมพวงมาลัยทองนี้ให้ แล้วกล่าวว่าพวงมาลัยพวงนี้สมควรแก่เธอเพียงคนเดียวเท่านั้น

นางวิสาขาจึงถามว่า “พวกท่านทั้งหลายมาจากเมืองไหน?”

พราหมณ์ตอบว่า “มาจากเมืองสาวัตถี โดยเศรษฐีใช้ให้มา”

วิสาขาจึงถามว่า “ตระกูลเศรษฐีนั้นชื่ออะไร?”

พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร จ้ะ”

นางวิสาขาจึงกล่าวรับรองว่า ถ้าเช่นนั้น ตระกูลของเราทั้งสองก็เสมอกัน นางจึงส่งข่าวให้แก่บิดาของนางว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่ส่งรถมารับพวกดิฉันด้วย ตอนนี้เป็นที่น่าสงสัยว่า ในระหว่างที่นางเดินทางมาหาความสำราญที่ริมแม่น้ำ นางก็เดินมาเอง ไม่ได้ขึ้นรถมา แต่ทำไมขากลับ จึงส่งข่าวให้คุณพ่อคุณแม่เอารถมารับ

ข้อนี้มีประเพณีอยู่ว่า เมื่อสตรีใดได้ประดับด้วยพวงมาลัยทองคำแล้ว ย่อมจะเดินไปเช่นนั้นไม่ได้ ส่วนเด็กหญิงทั้งหลายที่เป็นบริวารก็ต้องขึ้นรถไปด้วย ต่างกันแต่ว่ารถที่นั่งไปนั้น สตรีพวงมาลัยทองจะต้องนั่งรถกั้นฉัตรหรือใบตาลข้างบน ถ้าฉัตรและใบตาลไม่มี ก็ให้ยกชายผ้านุ่งขึ้นมาพาดบนบ่า

ปรากฏว่าบิดาของนางวิสาขาส่งรถมาถึง ๕๐๐ คัน แล้วก็รับพราหมณ์เหล่านั้นไปด้วย ครั้นไปถึงบ้านของนางวิสาขาเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านเดินทางมาจากไหน?”

พราหมณ์ตอบว่า “ข้าพเจ้ามาจากเมืองสาวัตถี”

เศรษฐีถามว่า “เศรษฐีตระกูลนี้ชื่ออะไร?”

พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อมิคารเศรษฐี”

เศรษฐีถามต่อไปว่า “บุตรชายของเศรษฐีเล่าชื่ออะไร?”

พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร”

เศรษฐีถามอีกว่า “ตระกูลนี้มีทรัพย์เท่าไร?”

พราหมณ์ตอบว่า “มีอยู่ ๕๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐี”

ท่านเศรษฐีได้ฟังเช่นนั้นก็คิดว่า ทรัพย์เพียงแค่นั้นเทียบกับทรัพย์ของเราก็เท่ากับกากณึกเดียวเท่านั้น แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ถือว่าไม่สำคัญ เศรษฐีจึงให้พราหมณ์พักอยู่เพียง ๒ วัน แล้วให้เดินทางกลับไป เพื่อส่งข่าวให้แก่มิคารเศรษฐีถึงเรื่องการยอมยกธิดาให้เป็นบุตรสะใภ้

เมื่อพราหมณ์เดินทางถึงเมืองสาวัตถีแล้ว จึงเรียนกับท่านเศรษฐีว่า ข้าพเจ้าได้นางทาริกาแล้ว

มิคารเศรษฐีจึงถามพราหมณ์ว่า “เป็นลูกสาวของใคร พราหมณ์?”

พราหมณ์ตอบว่า “เป็นลูกสาวของท่านธนัญชัยเศรษฐี”

เมื่อมิคารเศรษฐีได้ทราบเช่นนั้น ก็ดีใจว่าตนได้นางทาริกามาจากตระกูลใหญ่มั่งคั่ง จึงนำความเรื่องนี้กราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า ตระกูลใหญ่นี้พระองค์นำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อาศัยที่เมืองสาเกต จึงควรที่พระองค์จะได้ยกย่องตระกูลนี้ ด้วยการเสด็จไปในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงได้แจ้งความประสงค์ว่าจะเสด็จไปในพิธีแต่งงานครั้งนี้

มิคารเศรษฐีจึงได้ส่งข่าวมายังท่านธนัญชัยเศรษฐีว่า พระราชาจะเสด็จมาในงานของข้าพเจ้าด้วย ซึ่งรี้พลข้าทาสบริวารของพระราชาก็มีมาก ท่านสามารถที่จะต้อนรับคนทั้งหลายเหล่านี้ได้หรือไม่

ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ตอบไปว่า อย่าว่าแต่พระองค์จะเสด็จมาเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้พระราชาจะเสด็จมาสักสิบพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จมาได้ และให้ขนคนในเมืองมาให้หมด เหลือไว้แต่คนเฝ้าเรือน เราก็สามารถที่จะต้อนรับได้

ธนัญชัยเศรษฐีกับนางวิสาขาเตรียมงานต้อนรับ

ท่านธนัญชัยเศรษฐีจึงได้ปรึกษากับนางวิสาขาว่า ลูกพ่อทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จมากับพ่อสามีของลูกด้วย เราควรจะจัดเรือนหลังไหนสำหรับเป็นที่พักของพ่อสามีลูก หลังไหนสำหรับเป็นที่ประทับของพระราชา และหลังไหนเป็นที่พักของพวกอำมาตย์ข้าราชบริพาร

เมื่อนางวิสาขาได้ทราบเช่นนั้น เธอก็ใช้ความฉลาดเฉียบแหลมที่ได้อบรมมาตลอดแสนกัป บงการจัดสถานที่ทันที โดยจัดเรือนพักสำหรับพ่อสามีหลังหนึ่ง สำหรับพระราชาปเสนทิโกศลหลังหนึ่ง สำหรับอุปราชหลังหนึ่ง

พร้อมกันนั้น ก็เรียกข้าทาสกรรมกรมาประชุม มอบภาระหน้าที่การงานให้หมดทุกคน โดยแบ่งให้ทาสกรรมการเหล่านั้นดูแลสัตว์พาหนะ อันมี ช้าง ม้า เป็นต้น

การจัดสายงานต้อนรับแขกต่างเมืองที่มาในงานครั้งนี้ นางวิสาขาจัดต้อนรับถึงคนเลี้ยงสัตว์ของพระราชาเหล่านั้นด้วย นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของนางวิสาขา เพราะตามธรรมดาแล้วงานใหญ่ๆ ส่วนมากผู้ต้อนรับมิได้คำนึงถึงผู้น้อยเท่าไรนัก เช่น เป็นต้นว่า คนรถ คนใช้ ส่วนมากมักจะถูกลืมในงานทั่วๆ ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าภาพจึงไม่พ้นไปจากการนินทาของชนชั้นนี้ได้

นางวิสาขาทราบเช่นนี้เป็นอย่างดี นางจึงจัดการต้อนรับให้ความสะดวกสบายแก่คนทั้งหมดโดยทั่วถึงกัน เพื่อป้องกันมิให้คนเหล่านี้นินทานั่นเอง เพราะคนเหล่านั้นจะได้เที่ยวชมมหรสพในงานอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการดูแลช้างม้า

โอวาท ๑๐ ข้อ

ธนัญชัยเศรษฐี ผู้บิดานางวิสาขา ได้เรียกช่างทอง ช่างออกแบบ หรือดีโซเนอร์ชั้นดี จำนวน ๕๐๐ คน สั่งให้ทำเครื่องประดับอันงามวิจิตรพิสดารพันลึก มีนามว่า “มหาลดาปสาธน์” เพื่อเป็นชุดวิวาห์ของบุตรสาวสุดที่รัก โดยใช้ทองคำสุกปลั่งพันลิ่ม แก้วมณี แก้วประพาฬ และเพชร พอสมส่วนกัน ว่ากันว่า มหาลดาปสาธน์ นี้ ใช้เพชรถึง ๒๐ ทะนาน (กี่กะรัต นับเอาแล้วกัน ผมไม่มีความรู้ในเรื่องนี้) แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน ไม่ใช้ด้ายเลย เอาเงินแทนด้าย

ชุดที่ว่านี้สวมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ลูกดุมทำเป็นวงแหวนทองคำ ห่วงสำหรับลูกดุมทำด้วยเงิน วงหนึ่งสวมที่กลางกระหม่อม ที่หลังหู ๒ วง ที่ข้างสะเอวสองข้างอีก ๒ วง ที่เครื่องประดับนั้นทำเป็นนกยูงรำแพน ๑ ตัว ขนปีกนกทำด้วยทองถึง ๕๐๐ ขน จะงอยปากนกยูงทำด้วยแก้วประพาฬ ตาสองข้างทำด้วยแก้วมณีที่คอและแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนนกยูงทำด้วยเงิน ขาทำด้วยเงิน รูปนกยูงนี้ประดิษฐ์อยู่กลางกระหม่อมผู้สวม ประหนึ่งว่ากำลังรำแพนอยู่บนยอดเขา เสียงก้านปีกสองข้างกระทบกัน ไพเราะกังวานดุจเสียงดนตรี

ชุดวิวาห์นี้มีค่าถึง ๙ โกฏิ เศรษฐีจ่ายค่าหัตถกรรมกระทำเครื่องประดับครั้งนี้ จำนวน ๑ แสนบาท เอ๊ย ไม่ใช่บาท แสนกหาปณะครับ เทียบเงินไทยประมาณสี่ถึงห้าแสนบาท ถูกมากสำหรับเครื่องประดับอันสวยงามปานนั้น และผู้ว่าจ้างก็เป็นอภิอมตะมหาเศรษฐี แค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วง

เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ใช้เวลาประดิดประดอยเป็นเวลาถึงสี่เดือนจึงเสร็จ นอกจากนี้ ท่านเศรษฐีได้มอบของขวัญแต่งงานให้แก่บุตรสาวมากมาย ประกอบด้วย กหาปณะ ภาชนะทองคำ ทองแดง ภาชนะสำเริด (สัมฤทธิ์ก็ว่า) ผ้าด้วยไหม เนยใน น้ำมัน น้ำอ้อย ข้าวสารและข้าวสาลี อย่างละ ๕๐๐ เล่มเกวียน รวมถึงอุปกรณ์เกษตรกรรม ๕๐๐ เล่มเกวียน นอกจากนี้ ก็มีรถ ๕๐๐ คัน (ยี่ห้ออะไรบ้างไม่บอก) แต่ละคันมีสตรีรูปงามประจำรถ ๓ คน และให้นางปริจาริกา (ก็สาวใช้นั่นแหละครับ) อีก ๑,๕๐๐ คน อ้อ มีโคนมอีก ๖๐,๐๐๐ ตัว

ลูกสาวออกเรือนทั้งที ก็ให้สมบัติมากๆ สมกับเป็นลูกสาวเศรษฐีใหญ่

ก่อนจะส่งตัวลูกสาวไปอยู่ในตระกูลสามี ธนัญชัยเศรษฐีได้เรียกลูกสาวมาให้โอวาท ๑๐ ข้อ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ

๑. ไฟในอย่านำออก
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า
๓. พึงให้แก่คนที่ให้
๔. ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้
๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข
๗. พึงนอนให้เป็นสุข
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข
๙. พึงบำเรอไฟ
๑๐. พึงบูชาเทวดา


ฟังอย่างนี้อาจไม่เข้าใจ ต้องมีคำอธิบายประกอบจึงจะกระจ่าง ท่านให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ครับ

๑. ไฟในอย่านำออก หมายถึง อย่าเอาเรื่องภายในครอบครัวไปเล่าให้คนข้างนอกฟัง เช่น ทะเลาะกันตามประสาผัวเมียแล้วนำไปโพทะนาข้างนอก ไส้กี่ขดๆ คนอื่นเขารู้หมด มันก็ไม่ดี เป็นความเสื่อมเสียแก่ครอบครัว

๒. ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง เรื่องราวข้างนอกก็ไม่ควรมาเล่าให้กวนใจคนในบ้าน เช่น มีใครนินทาว่าร้ายสามี พ่อหรือแม่สามี (เช่น ญาติตัวเอง) ก็ไม่ควรนำมาเล่าให้คนในบ้านฟัง จะเกิดความไม่สงบขึ้นได้

๓. พึงให้แก่คนที่ให้ หมายความว่า ใครยืมของใช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็จงให้ไป เพราะคนเช่นนี้เป็นคนที่รักษาคำมั่นสัญญาดี

๔. ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า คนที่ยืมแล้วไม่คืน ทำเป็นลืม เจอหน้าก็ตีหน้าเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ คนเช่นนี้มายืมอะไรอีก อย่าให้เป็นอันขาด

๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้ หมายความว่า ถ้าใครมายืมของแล้ว ไม่ว่าเขาจะคืนหรือไม่คืนก็จงให้ เป็นการสงเคราะห์ญาติ ว่าอย่างนั้นเถอะ

๖. พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า เวลาอยู่ในตระกูลสามี ต้องรู้จักระมัดระวัง เวลานั่งก็อย่าขวางประตู หรือที่ที่จะต้องลุกให้คนผ่าน

๗. พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า เวลาจะพิงจะเอน ณ ที่ใดก็ตาม พึงดูด้วยว่าที่นั้นเหมาะสมหรือไม่ ขวางทางใครหรือไม่ แม้เวลาเข้านอนก็พึงรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่พึงนอน ยิ่งประเพณีโบราณถือว่าภรรยาต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง เมื่อพ่อเจ้าประคุณนอนยึดพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ตัวเองจะนอนที่ไหน ก็เป็นเรื่องของการรู้จักกาลเทศะ เกิดเป็นสตรี โดยเฉพาะสตรีอินเดีย ก็กลุ้มอย่างนี้แหละครับ ดังคำพังเพยว่า “วัวลังกา ม้าอินเดีย เมียฮินดู” ถูกใช้อานเลย ขอรับ

๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า กินทีหลังสามี เวลาจะกินก็ต้องรู้ว่าจะนั่งกินตรงไหน เวลาใด นี่เป็นเรื่องกาลเทศะอีกเช่นกัน การกินให้เป็นสุข รวมถึงการรู้จักมารยาทในการกิน ตามที่กุลสตรีพึงปฏิบัติอีกด้วย

๙. พึงบำเรอไฟ หมายถึง พ่อสามี แม่สามี และสามี ถือว่าเป็น “ไฟ” ในครอบครัว พึงบำเรอ คือดูแลอย่างดี ธรรมดาไฟนั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ เช่นเดียวกัน ถ้าดูแลไฟไม่ดี ไฟอาจไหม้บ้านวอดก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลทั้งสามในตระกูลของสามี สตรีที่มาอยู่ด้วยต้องปรนนิบัติดูแลเป็นอย่างดี ถ้าทำให้เขาเหล่านั้นโกรธ ไม่พอใจ ก็นับว่าเป็นสะใภ้ที่ใช้ไม่ได้ อาจถึงกับถูกตราหน้าว่าเป็น “กาลกิณี” ต่อตระกูลวงศ์สามีก็ได้

๑๐. พึงบูชาเทวดา หมายความว่า ให้นับถือพ่อสามี แม่สามี และสามี ดุจเทวดา ไม่ต้องสงสัย เมื่อเห็นพวกเขาเป็นเทวดา ก็พึงนอบน้อมแต่เทวดา ทำตามคำบัญชาของเทวดาโดยไม่ขัดขืน และเทวดาเดินได้นี่ เอาใจยากเสียด้วยสิครับ

เศรษฐีผู้เป็นพ่อกำชับลูกสาวว่า อยู่ในตระกูลสามีให้ปฏิบัติตามโอวาท ๑๐ ข้อนี้อย่างเคร่งครัด ลูกสาวก็ตกปากรับคำพ่อเป็นอย่างดี


ขัดแย้งกับพ่อสามี

นางวิสาขา เมื่อมาอยู่ในตระกูลของมิคารเศรษฐี ก็วางตัวได้อย่างเหมาะสมกับที่เป็นลูกผู้ดีมีสกุล

นางมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป

ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส ผู้อยู่ในวัยควรเรียกว่า พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา นางก็เรียกเหมาะสมแก่วัยของผู้นั้นๆ นางจึงเป็นที่รักของคนทั้งปวง

อยู่ในตระกูลสามีก็ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีด้วยดีไม่บกพร่อง เป็นที่รักของสามีและพ่อแม่ของสามีทั่วหน้ากัน

วันหนึ่งก็เกิดเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันจนได้ แต่ก็ยังไม่ถึงกับใหญ่โตนัก คือสกุลมิคารเศรษฐีนั้นนับถือพวก “อเจลลกะ” (ชีเปลือย) มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่วิสาขาเป็นอริยสาวกของพระพุทธศาสนา นี่แหละครับคือที่มาแห่งความขุ่นเคืองและลุกลามไปเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในที่สุด

ก่อนอื่นก็ขอ “แวะข้างทาง” ตรงนี้ซักหน่อย

นักบวชสมัยพุทธกาลมีมากมายหลายลัทธิ ลัทธิที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากก่อนที่พระพุทธศาสนาแพร่หลาย ก็คือลัทธิเชนของศาสดามหาวีระ (ตำราพุทธเรียกว่า นิครนธ์นาฏบุตร) มหาวีระหรือนิครนธ์นาฏบุตร บางตำราว่าเป็นขัตติยราชกุมารออกบวช ถือความเคร่งครัดมาก ขนาดไม่ยอมนุ่งห่มผ้า เพราะถือว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะหมดกิเลสจริงต้องไม่ยึดแม้กระทั่งเสื้อผ้า

พูดง่ายๆ ว่าต้องเปลือยกายล่อนจ้อน

พวกที่เปลือยกายเดินโทงๆ ทั่วไปจึงเรียกกันว่า “อเจลกะ” แปลว่าไม่นุ่งผ้า หรือชีเปลือย

แต่ก็มีชีเปลือยอีกพวกหนึ่งไม่สังกัดลัทธิเชนก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงอเจลกะ (ชีเปลือย) จึงอาจหมายถึงพระในลัทธิเชนหรือชีเปลือยทั่วไปก็ได้ ชีเปลือยที่ตระกูลสามีของนางวิสาขานับถือกันมาหลายชั่วอายุคนนี้ คงเป็นพวกพระในลัทธิเชนดังกล่าวข้างต้น

ท่านเศรษฐีนิมนต์พระเชนมาฉันที่คฤหาสน์ เมื่อพระมาถึงท่านก็สั่งให้คนไปเชิญลูกสะใภ้มา “ไหว้พระอรหันต์”

นางวิสาขาได้ยินคำว่า “พระอรหันต์” ก็ดีใจ เพราะนางเป็นอริยสาวิการะดับพระโสดาบัน มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย จึงรีบมาเพื่อนมัสการพระอรหันต์

แต่พอมาถึงก็เห็นประดา “นู้ดภิกขุ” (พระนู้ด) เต็มไปหมด นางเกิดความขยะแขยงจึงกล่าว (ค่อนข้างแรง) ว่า นึกว่าคุณพ่อให้มาไหว้พระ กลับเรียกมาไหว้พวกไม่มียางอายผ้าผ่อนก็ไม่ยอมนุ่ง

ว่าแล้วก็เดินหนีไป

พระคุณเจ้า “(นู้ดภิกขุ) โกรธจนหน้าดำหน้าแดง ว่าท่านเศรษฐีทำไมเอาคนนอกศาสนาไม่เคารพพระสงฆ์เข้ามาเป็นสะใภ้ภายในบ้าน เท่ากับนำ “กาลกิณี” เข้าบ้าน ไม่เป็นสิริมงคลเสียเลย มีอย่างที่ไหนปล่อยให้มาด่าพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างนี้ ท่านเศรษฐีต้องจัดการไล่อีตัวกาลกิณีนี้ออกจากตระกูล หาไม่พวกอาตมาจะไม่มารับอาหารบิณฑบาตจากบ้านท่านเป็นอันขาด

ถูกยื่นโนติสอย่างนี้ ท่านเศรษฐีจึงว่า กราบขออภัยเถอะขอรับ นางยังเด็ก ยังไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษให้นางด้วยเถอะ

“ไม่ได้ เศรษฐีต้องไล่นางไป เรื่องนี้มิใช่เรื่องเล็ก จะมาอ้างว่ายังเด็กยังเล็กไม่ได้ โตจนมีผัวเป็นตัวเป็นตนแล้ว พ่อแม่ไม่สั่งสอนหรืออย่างไร”

“แต่ว่านางเป็นธิดาของตระกูลใหญ่ การจะไล่นางออกง่ายๆ นั้นไม่ได้ขอรับ เพราะก่อนจะส่งตัวนางมา พ่อแม่ของนางก็มอบนางไว้ในความดูแลของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งแปด ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากพราหมณ์เหล่านั้นก่อน” เศรษฐีอธิบาย

“ไม่รู้ล่ะ ท่านเศรษฐีต้องจัดการก็แล้วกัน” ว่าแล้วท่านพร้อมทั้งบริวารก็ลงจากเรือนไปด้วยจิตใจที่ขุ่นเคือง (ฮั่นแน่ ไหนว่าไม่นุ่งผ้าแล้วกิเลสจะไม่มี ที่แท้แค่นี้ยังแสดงอาการโกรธ งอนตุ๊บป่องเลยเชียว)

เศรษฐีถึงจะไม่พอใจลูกสะใภ้ที่พูดเช่นนี้ แต่ก็คิดว่า เรื่องไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องส่งนางกลับตระกูลเดิม

แต่อยู่มาวันหนึ่ง เรื่องที่เศรษฐีเห็นว่าร้ายแรงก็เกิดขึ้น

วันนั้น นางวิสาขาปรนนิบัติพ่อสามี ขณะที่นั่งรับประทานอาหารข้าวมธุปายาสอย่างดีอยู่ที่ระเบียงบ้าน พระเถระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง เดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐีพอดี ท่านได้มายืนต่อหน้าเศรษฐี

ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า สมัยก่อนโน้นพระมายืนหน้าบ้านได้ ถ้าชาวบ้านปรารถนาจะใส่บาตร ก็นำอาหารไปใส่ ถ้าไม่มีอะไรจะใส่ หรือยังไม่พร้อมที่จะใส่ ก็บอกท่านว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด เจ้าข้า” ท่านก็จะไปยืนที่อื่น

แต่พระสงฆ์ในเมืองไทย ถ้ารูปใดไปยืนรอให้คนใส่บาตร จะถูกตำหนิติเตียน เรื่องนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่

เศรษฐีมองเห็นพระแล้ว แต่ทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้าก้มตากินข้าวมธุปายาสเฉย ซึ่งนางวิสาขาก็รู้จึงค่อยๆ ถอยออกไปกระซิบกับพระคุณเจ้า ดังพอที่พ่อสามีจะพึงได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดเจ้าข้า คุณพ่อของดิฉันกำลังกินของเก่า”

เท่านั้นแหละครับ เศรษฐีพันล้านลุกขึ้นเตะจานข้าวกระจายเลย พูดด้วยความโกรธจัดว่า พวกเอ็งไล่นางกาลกิณีคนนี้ออกไปจากตระกูลข้าเดี๋ยวนี้ หนอยแน่ะ มันกำแหงถึงขนาดหาว่าข้ากินขี้เชียวเรอะ

ครับ คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ ครอบครัวที่เคยสงบสุขมานาน ก็ปั่นป่วน ณ บัดดล พ่อสามีโกรธ แม่สามีก็โกรธ เจ้าประคุณสามีก็โกรธด้วย ที่ถูกหญิงสาวจากตระกูลอื่นมาด่าเสียๆ หายๆ แบบนี้

นางวิสาขาต้องเข้าไปเคลียร์กับคนเหล่านั้นว่าไม่ได้หมายความตามที่พวกเขาเข้าใจ แต่ใครมันจะฟังเล่าครับ

นางวิสาขาพูดว่า นางเองมิได้ถูกนำมาสู่ตระกูลนี้ ดุจนางกุมภทาสีที่เขานำมาจากท่าน้ำ นางเป็นบุตรของตระกูลใหญ่เช่นเดียวกัน ก่อนจะมาอยู่ในตระกูลนี้ บิดามารดาก็ได้มอบความรับผิดชอบไว้กับพราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งแปด เมื่อเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น ต้องให้ท่านทั้งแปดรับทราบด้วย

เศรษฐีจึงพูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว จึงเรียกพราหมณ์ทั้งแปดมาตัดสินคดี และแล้วท่านทั้งแปดก็ถูกตามตัวมา เศรษฐีได้ฟ้องว่า นางวิสาขาลูกสะใภ้ของตน ด่าด้วยคำพูดหยาบคายว่า ตนกินขี้ ขอให้พวกท่านตัดสินเอาผิดนางด้วย

และแล้วการพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้น โดยนางวิสาขาตกเป็นจำเลย คราวหน้าค่อยมาฟังคำให้การของจำเลยนะครับ วันนี้ขอยุติเพียงเท่านี้ก่อน

วิสาขาถูกสอบสวน

พราหมณ์ทั้งแปดถูกเชิญมาสอบสวนกรณีพิพาทระหว่างนางวิสาขา กับมิคารเศรษฐี พ่อสามี เศรษฐีได้กล่าวหานางวิสาขา ว่า ดูถูกดูหมิ่นตน หาว่าตนกินของเก่า ซึ่งหมายถึงกินอุจจาระ เป็นคำพูดสบประมาทที่ร้ายแรงมาก ยอมไม่ได้

สะใจที่ด่าว่าพ่อสามีเสียหายเช่นนี้ต้องถูกขับไล่โดยถ่ายเดียว ไม่มีข้อยกเว้น

พราหมณ์ทั้งแปดหันมาถามนางวิสาขา ว่า เป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น นางก็ต้องรับโทษทัณฑ์อย่างหนักตามที่เศรษฐีกล่าวแล้ว

นางตอบว่า “หาเป็นเช่นนั้นไม่ นางมิได้ดูหมิ่นว่าคุณพ่อสามีของนางกินอุจจาระแต่ประการใด คุณพ่อเข้าใจไปเอง”

“เข้าใจไปเองอย่างไร นางพูดกับพระใช่ไหม ว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า ถึงฉันจะแก่แล้วแต่หูฉันยังดี ได้ยินคำพูดเธอชัดถ้อยชัดคำ” เศรษฐีเถียง

“ดิฉันพูดเช่นนั้นจริง” นางกล่าว

“เห็นไหม ท่านทั้งหลาย นางยอมรับแล้วว่านางพูดจริง” เศรษฐีหันไปกล่าวต่อพราหมณ์ทั้งแปด

“หามิได้ ดิฉันกล่าวเช่นนั้นจริง แต่มิได้หมายความอย่างที่คุณพ่อเข้าใจ ดิฉันหมายถึงว่า คุณพ่อดิฉันเกิดมาในตระกูลมั่งคั่ง เสวยโภคทรัพย์มากมายในปัจจุบันนี้ เพราะอานิสงส์แห่งบุญเก่าที่ทำไว้แต่ปางก่อน แต่คุณพ่อของดิฉันมิได้สร้างบุญใหม่ในชาตินี้เลย ดิฉันหมายเอาสิ่งนี้ จึงกล่าวว่า คุณพ่อดิฉันกินของเก่า”

เมื่อนางวิสาขาแก้ดังนี้ พวกพราหมณ์จึงหันมาหาเศรษฐี กล่าวว่า “ที่นางพูดนั้นก็ถูกต้องแล้ว นางไม่มีความผิดเพราะเรื่องนี้”

เมื่อเศรษฐีแพ้ในกระทงแรก แกก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังหาเรื่องต่อไปอีกว่า “เรื่องนี้ก็ช่างเถิด ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง นางวิสาขากับคนใช้หนีจากเรือนไปยังหลังเรือนกลางดึกวันหนึ่ง สงสัยว่านางแอบไปทำความไม่ดีอะไรบางอย่าง ไม่สมควรที่จะเป็นสะใภ้ของตระกูลใหญ่เช่นตระกูลของข้าพเจ้า”

“จริงหรือ วิสาขา” พราหมณ์ผู้ไต่สวนซัก

“จริงเจ้าค่ะ แต่มิใช่อย่างที่คุณพ่อเข้าใจ คืนนั้นมีคนรายงานว่าแม่ลา ซึ่งเป็นแม่ม้าอาชาไนยกำลังตกลูกใกล้กับเรือนนี้ ดิฉันคิดว่าไม่ควรนิ่งดูดาย เพราะม้าอาชาไนยหายาก กลัวว่ามันจะเป็นอันตราย ดิฉันกับคนใช้ชายหญิงจำนวนหนึ่งจึงลงไปดูแลช่วยเหลือแม่ลาที่ตกลูกนั้นให้ปลอดภัย”

กรรมการผู้ตัดสินกล่าวแก่เศรษฐีว่า “ถ้าเช่นนั้น วิสาขาก็ไม่มีความผิดตามที่กล่าวหาแต่ประการใด”

เศรษฐีแพ้กระทงนี้ก็หาเรื่องต่อไปว่า “ช่างเถิด แต่มีข้อแคลงใจข้าพเจ้ามานานแล้ว วันแต่งงานลูกชายข้าพเจ้า พ่อของนางได้กระซิบความลับสิบประการแก่นาง ซึ่งคงมีความมุ่งหมายไม่ดีแน่นอน บังเอิญข้าพเจ้าได้รับรู้มาว่าความลับสิบประการนั้น ข้อที่หนึ่ง ห้ามนำไฟในออกข้างนอก มันเป็นไปได้หรือที่จะไม่ให้นำไฟจากข้างในเรือนไปข้างนอก แสดงว่าต้องมีความลับลมคมในอะไรสักอย่าง”

“เรื่องนี้จะว่าอย่างไร วิสาขา” พราหมณ์ทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการตัดสินถาม

นางตอบว่า “คุณพ่อของดิฉัน (ธนัญชัยเศรษฐี) ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ท่านหมายความว่า ไม่ควรนำความไม่ดีของครอบครัวออกไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง เพราะไม่มีอะไรจะร้ายแรงเท่าไฟ คือการนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเรือนไปโพนทะนาให้คนข้างนอกฟัง”

ประเด็นนี้ นางวิสาขาไม่ผิดอีก

เศรษฐีจีงกล่าวหาต่อไปว่า “ยังมีอีก ไฟนอกไม่ควรนำเข้า, พึงให้แก่คนที่ให้, ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้, พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้, พึงนั่งให้เป็นสุข, พึงบริโภคให้เป็นสุข, พึงนอนให้เป็นสุข, พึงบำเรอไฟ, พึงนอบน้อมต่อเทวดา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความลับลมคมในทั้งสิ้น”

เมื่อถูกถามให้อธิบาย นางวิสาขาจึงอธิบายให้ฟังว่า “ที่คุณพ่อดิฉันสอนว่า ไฟนอกไม่ควรนำเข้า หมายถึง ไม่ควรเอาเรื่องราวข้างนอก เช่น มีคนอื่นกล่าวร้ายคนในครอบครัวมาเล่าให้ครอบครัวฟัง เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทะเลาะวิวาทโดยใช่เหตุ

ที่ว่า พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึง ใครยืมของใช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็พึงให้

คำว่า ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ใครยืมแล้วไม่เอามาคืน ภายหลังมายืมอีกก็ไม่พึงให้

คำว่า พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้ หมายความว่า ญาติของทั้งสองฝ่ายมายืมของไป ถึงเขาจะเอามาคืนหรือไม่ก็ตาม พึงให้เขายืม เพราะถือเป็นการสงเคราะห์ญาติ

คำว่า พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า พึงนั่งในที่ที่จะไม่ต้องลุกหลีกทางให้คนอื่น

คำว่า พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า พึงบริโภคอาหารภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี

คำว่า พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึง พึงนอนภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี

คำว่า พึงบำเรอไฟ หมายความว่า พึงเคารพนบนอบ ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี

คำว่า พึงนอบน้อมต่อเทวดา หมายความว่า พ่อสามี แม่สามี และสามี ให้ถือเสมือนเป็นเทวดา พึงนอบน้อมเคารพเชื่อฟังท่านทั้งสามอย่างดี”

ได้ฟังอรรถาธิบายจากนางวิสาขาแล้ว พราหมณ์ทั้งแปดจึงตัดสินใจว่า นางไม่มีความผิด หรือท่านเศรษฐีติดใจอะไรไหม เศรษฐีกล่าวว่า ไม่ติดใจแล้วครับ ข้าพเจ้าเข้าในแจ่มแจ้งแล้ว ลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ข้าพเจ้าต้องขออภัยที่เข้าใจนางผิดไป

นางวิสาขากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ดิฉันตั้งใจจะกลับตระกูลตามคำขับไล่ของคุณพ่อสามีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคุณพ่อได้มอบให้ดิฉันอยู่ในความดูแลของท่านทั้งหลาย ดิฉันจึงยังไปไม่ได้ จนกว่าท่านทั้งหลายจะตัดสินคดี บัดนี้ท่านทั้งหลายตัดสินว่าดิฉันไม่มีความผิดแล้ว ดิฉันพร้อมที่จะกลับตระกูลได้แล้ว ดิฉันให้คนจัดข้าวของไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอลา ณ บัดนี้”

มิคารเศรษฐีได้ยินดังนั้น จึงขอพราหมณ์ทั้งแปดให้เกลี้ยกล่อมนางไม่ให้ไป พร้อมกับกล่าวขอโทษนางและให้นางอยู่ต่อไป นางวิสาขากล่าวขึ้นว่า จะให้อยู่ได้อย่างไร นางเป็นอริยสาวิกาของพระพุทธศาสนา มาอยู่ในตระกูลสามีไม่เคยมีโอกาสได้ทำบุญในพระพุทธศาสนาเลย ถ้าจะให้นางอยู่ ขอให้นางได้ทำบุญตักบาตร นิมนต์ให้พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านได้

เศรษฐีกล่าวว่า “เอาเถอะลูกเอ๋ย พ่อยินดีอนุญาตให้ลูกทำอย่างที่ลูกประสงค์”

เป็นอันว่าพ่อสามียอมทุกอย่าง นางวิสาขาจึงยอมอยู่ในตระกูลสามีต่อไป จนต่อมานางได้รับสมญาว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี) ลูกสะใภ้คนนี้ได้กลายเป็นแม่ของพ่อสามี เรื่องราวเป็นมาอย่างไรโปรดติดตาม

เมื่อสะใภ้กลายเป็นมารดาพ่อสามี

ฟังแล้วก็พิลึกดีเหมือนกัน แต่ถ้ารู้ความเป็นมาเป็นไปแล้วก็จะไม่แปลกใจแต่อย่างใด ดังที่กล่าวไว้ครั้งก่อนว่า พ่อสามีของลูกสะใภ้หาว่าลูกสะใภ้กิน “อุจจาระ” เนื่องจากนางวิสาขากล่าวกับพระที่มายืนรอรับบิณฑบาตที่หน้าบ้าน ขณะพ่อสามีกินข้าวอยู่ว่า “ขอนิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า” คำว่า “ของเก่า” ในที่นี้เศรษฐีเขาว่าของเก่าที่ออกจากกระเพาะ (ก็อึนั่นไงเล่าครับ)

แต่เมื่อกรรมการสอบสวนซักถามจำเลยแล้ว จำเลยนามว่าวิสาขาชี้แจงว่า “ของเก่า” หมายถึงบุญเก่า มิใช่ดังที่พ่อสามีเข้าใจ พร้อมให้อรรถาธิบายอย่างแจ่มชัดว่า บุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน เรียกว่า “ของเก่า” พ่อสามีนางเกิดมาในตระกูลร่ำรวย มีโภคทรัพย์มากมาย ก็เพราะอานิสงส์แห่งบุญแต่ปางก่อน แต่มาชาตินี้เศรษฐีไม่สนใจทำบุญกุศลเลยจึงเท่ากับกินบุญเก่านั่นเอง

เมื่อพ่อสามีแพ้แก่เหตุผลของลูกสะใภ้ หันมาพิจารณาตนด้วยจิตใจเป็นกลาง ก็รู้ว่าตนนั้น “กินของเก่า” จริงๆ จึงยอมขอขมาลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้ได้ทีก็พูดจาขึงขังว่า เมื่อนางพ้นผิดแล้วก็ขอกลับไปตระกูลของนางตามความประสงค์ของคุณพ่อสามีต่อไป ว่าแล้วก็สั่งให้คนขนของเตรียมเดินทาง เศรษฐียิ่งร้อนใจจึงอ้อนวอนว่าอย่าไปเลย พ่อก็ขอโทษแล้ว พ่อผิดจริง นาง (คราวนี้ “ขี่แพะ” เลย) จึงต่อรองว่า “ถ้าจะให้ลูกอยู่ต่อไป ต้องอนุญาตให้ลูกนิมนต์พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มาฉันอาหารที่บ้านทุกวัน” เศรษฐีก็ยินยอม

นางจึงอยู่ต่อไป

วันต่อมา นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง นางจึงให้คนไปแจ้งแก่พ่อสามีว่าให้มา “อังคาส” พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

“อังคาส” หมายถึงเลี้ยงพระ คือลูกสะใภ้เชิญให้พ่อสามีมาเลี้ยงพระด้วยกัน เศรษฐีก็ทำท่าจะมา แต่พวก “อเจลกะ” (นักบวชเปลือยกาย) ห้ามไว้ว่า ท่านเศรษฐีไม่ควรไปเสวนากับพระสมณโคดม

เศรษฐีจึงให้คนไปบอกลูกสะใภ้ว่า เชิญลูกอังคาสพระองค์เองเถอะ เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์เสวยเสร็จแล้วจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา นางวิสาขาให้คนไปแจ้งพ่อสามีอีกว่า ให้มาฟังธรรม คราวนี้พวกอเจลกะจะห้ามอย่างไรเศรษฐีก็ไม่ฟัง คิดว่าเป็นการไม่สมควรที่จะขัดใจลูกสะใภ้ (เดี๋ยวนางจะโกรธจะกลับตระกูลของนางเสีย) พวกอเจลกะบอกว่าท่านเศรษฐีจะไปฟังก็ได้ แต่ให้ฟังอยู่นอกม่าน อย่าเห็นพระสมณโคดม ว่าแล้วก็สั่งคนไปกั้นม่าน จัดที่ให้เศรษฐีนั่งฟังธรรม

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ถึงเศรษฐีจะนั่งอยู่นอกจักรวาล ถึงจะถูกภูเขาหลายแสนลูกบังอยู่ ก็สามารถได้ยินเสียงของพระองค์ ว่าแล้วพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มุ่งสอนเศรษฐีโดยตรง เริ่มด้วยทรงแสดง “อนุปุพพีกถา” (พรรณนาเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม อานิสงส์การออกจากกาม แล้วจบลงด้วยอริยสัจสี่ประการ)

เศรษฐีรู้สึกประหนึ่งว่า พระธรรมเทศนานี้ทรงมุ่งเทศน์ให้ตนฟังคนเดียว จึงตั้งอกตั้งใจส่งกระแสจิตพิจารณาไปตามความที่ทรงแสดง เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น มีศรัทธามั่นคง ปราศจากความสงสัยในพระรัตนตรัย และเลิกให้การสนับสนุนพวกอเจลกะ กลายเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าในที่สุด

เศรษฐีได้ยกย่องนางวิสาขาบุตรสะใภ้ของตนเป็น “มิคารมาตา” (แปลว่า แม่ของมิคารเศรษฐี) เพราะนางเป็นประดุจแม่ผู้ให้กำเนิดในทางธรรมแก่ตน

ว่ากันว่าเศรษฐีได้จุมพิตที่ถันของนางด้วย ทำนองเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นลูกผู้ดื่มนมจากแม่จริงๆ อันนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมแขกมากกว่าไทย คงเลียนแบบไม่ได้ เดี๋ยวลูกชายจะหาว่าพ่อมาทำมิดีมิร้ายกับเมียตน นี่แหละครับ คือความเป็นมาของสมญานามว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี)

นางวิสาขาก็คงรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับนามนี้พอสมควร กลัวใครๆ จะหาว่า “ข่ม” พ่อสามี ซึ่งเป็นอันตรายมิใช่น้อยในสังคมยุคที่นิยมยกย่องเพศชาย กดขี่เพศหญิง ดังอินเดียสมัยนั้น นางจึงหาทางออกในเวลาต่อมา คือ เมื่อนางมีบุตรชาย นางจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า “มิคาระ” เหมือนชื่อพ่อสามี เพราะเหตุฉะนี้แล เมื่อใครเรียกนางว่า มิคารมาตา (มารดาของมิคาระ) จึงสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะลูกของนางชื่อมิคาระจริงๆ

ต่อมาท่านเศรษฐีเห็นว่าเครื่องประดับที่ชื่อ “ลดาปสาธน์” นั้น หนักเกินไป นางวิสาขาจะสวมใส่ทุกโอกาสได้ยาก จึงทำเครื่องประดับให้ใหม่ เบากว่าเดิม ชื่อ “ฆนะมัฏฐกะ” ให้ช่างฝีมือดีสร้างไป สิ้นเงินไปหนึ่งแสนกหาปณะ

นางวิสาขาผู้ทรงพลังเท่าช้างห้าเชือก

ก็เล่าขานประหนึ่งนิยายว่า นางวิสาขามีพลังมาก มากเท่าช้างห้าเชือกเลยทีเดียว

คัมภีร์กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลบุญที่นางทำไว้แต่ปางก่อน

เรื่องนี้ปัจจุบันนี้เรามีคำพูดฮิตติดปากกว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ฟังๆ ไว้ก็แล้วกันครับ เพราะเรื่องบาปบุญนี้มันเหนือวิสัยสามัญมนุษย์จะหยั่งรู้ได้

เสียงร่ำลือนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ก็คงไม่เชื่อเหมือนคนทั่วๆ ไป จึงทรงประสงค์จะทดสอบโดยสั่งให้ปล่อยช้างเชือกหนึ่ง ดุเสียด้วย วิ่งไปหาทางที่นางวิสาขาพร้อมบริวารจำนวนร้อยเดินผ่านมา ช้างก็แปร๋นๆ มาเชียว ฝ่ายสตรีสาวสวยบริวารของนางวิสาขาก็แตกฮือหนีเอาตัวรอดไป เหลือนางวิสาขายืนอยู่คนเดียว เมื่อช้างเข้ามาใกล้ นางก็เอานิ้วสองนิ้วจับงวงมัน แค่นั้นแหละครับ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ช้างเชือกนั้นก็ทรุดตัวลง ทรงกายไม่อยู่เลยทีเดียว อะไรจะปานนั้น

คราวนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อสนิทว่า ที่ว่านางมีพลังเท่าช้างห้าเชือกนั้นของจริง มิใช่ราคาคุย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: • นางวิสาขาขายเครื่องประดับสร้างวัด

หลังจากนางวิสาขาเดินตรวจตราดูรอบๆ พระอาราม เพื่อดูว่าพระคุณเจ้ารูปใดขาดสิ่งใด จะได้จัดถวาย นางเรียกหาเครื่องประดับ “ลดาปสาธน์” สาวใช้ผู้ดูแลเครื่องประดับตกใจ เรียนนายหญิงว่า ตนลืมไว้ที่วัด จึงรีบกลับไปเอา

พระอานนท์เห็นสาวใช้นางวิสาขา จึงถามว่า “เธอมาด้วยประสงค์ใด”

สาวใช้ตอบว่า “มาเอาเครื่องประดับของนายหญิงที่ตนลืมไว้”

พระอานนท์ตอบว่า “อาตมาเก็บไว้ที่ราวบันได เธอจงไปเอาเถิด”

สาวใช้จึงรีบเอาเครื่องประดับนั้นกลับไปส่งให้นายหญิง นางวิสาขาฉุกคิดอะไรขึ้นมา จึงถามว่า “มีใครเห็นเครื่องประดับนี้หรือเปล่า”

“พระอานนท์เห็นเจ้าค่ะ ท่านเอาไปพาดไว้ที่ราวบันไดกุฏิ”

“ถ้าเช่นนั้น ฉันจะไม่ใช้เครื่องประดับที่พระคุณเจ้าอานนท์ถูกต้องแล้ว ขอถวายให้แก่ท่านเสียเลย แต่เมื่อพระท่านไม่ใช้เครื่องประดับ ฉันจะขายเอาเงินไปบำรุงวัด”

นางวิสาขาจึงเรียกช่างมาตีราคาเครื่องประดับ ช่างได้ตีราคาว่าเครื่องประดับมีค่า ๙ โกฏิ และค่ากำเหน็จอีก ๑ แสน นางจึงประกาศขายในราคาเท่านั้น

ว่ากันว่าในชมพูทวีปสมัยนั้น คนที่มีเครื่องประดับล้ำค่าอย่างนี้มีอยู่ ๓ คนเท่านั้นเอง นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางมัลลิกาภริยาพันธุละเสนาบดี แห่งแคว้นโกศล และลูกสาวเศรษฐีกรุงพาราณสีคนหนึ่ง (ชื่ออะไรไม่เห็นบอก) จึงหาคนซื้อไม่ได้

นางจึงซื้อเสียเอง แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ กับอีก ๑ แสน ใส่เกวียนไปพระเชตวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไรกับเงินจำนวนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้สร้างที่อยู่สำหรับภิกษุสงฆ์ทางด้านทิศปราจีน นางวิสาขาจึงเอาเงิน ๙ โกฏินั้นซื้อที่ดิน และบริจาคเพิ่มอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดถวายพระสงฆ์ด้วยทรัพย์จำนวนนั้น เป็นอาคารสองชั้น มีห้องถึง ๑,๐๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง สร้างยอดปราสาท บรรจุน้ำได้ถึง ๖๐ หม้อ นางได้ตั้งชื่อวัดว่า “บุพพาราม” ใช้เวลาสร้างนาน ๙ เดือน จึงสำเร็จ

ในช่วงเวลาที่นางวิสาขาสร้างวัดนั้น พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ยังแว่นแคว้นอื่น ก่อนเสด็จไป พระองค์มีพุทธบัญชาให้พระมหาโมคคัลลานะกับภิกษุจำนวนหนึ่ง อยู่คอยให้คำแนะนำแก่นางวิสาขาจนสร้างวัดเสร็จดังกล่าว

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จนิวัติยังพระนครสาวัตถี นางวิสาขาจึงกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองวัดบุพพารามถึง ๔ เดือน แล้วถวายภัตตาหารทุกวันเป็นประจำ (ธรรมดาของการทำบุญฉลอง ไม่ว่าสมัยไหน ก็คงมีมหรสพต่างๆ ประกอบด้วย)

ครั้งนั้นมีหญิงเป็นสหายเก่าของนางวิสาขาคนหนึ่ง อยากมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย จึงนำผ้าอย่างดีราคาพันหนึ่ง มาเพื่อปูลาดพื้นที่ (สงสัยจะเป็นพรมปูพื้น) ขอโอกาสนางวิสาขาเพื่อจะปูลาดผ้านั้น นางวิสาขาบอกว่า ตามสบายเถิด เห็นสมควรที่จะปูลาดตรงไหน เพื่อนจงจัดการเถิด นางเดินหาที่ที่จะปูลาดผ้าของตนไม่พบ เพราะผ้าที่ปูอยู่ก่อนแล้วล้วนราคามากกว่าผ้าของนาง เมื่อไม่มีโอกาสปูลาดผ้า นางจึงยืนร้องไห้อยู่

พระอานนท์มาพบเข้า ถามไถ่ได้ความว่า หาที่ปูลาดผ้าไม่พบ เพราะตลอดทั้ง ๑,๐๐๐ ห้องมีผ้าปูลาดไว้หมดแล้ว และมีราคามากกว่าผ้าของนางด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้นางก็หมดโอกาสได้ทำบุญกุศลแล้ว

พระเถระบอกว่า ถ้าอย่างนั้นตามอาตมามา ว่าแล้วก็พานางไปชี้ให้ดูที่ขั้นบันได “จงลาดผ้าไว้ที่เชิงบันไดนี้ให้เป็นผ้าเช็ดเท้าพระ หลังจากท่านล้างเท้าแล้ว จะได้เช็ดเท้า ณ จุดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญกุศลเป็นอันมากย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน” นางจึงได้ทำตามพระเถระแนะนำ มีความปลาบปลื้มปีติมากที่ได้มาส่วนร่วมในการฉลองวัดบุพพารามของนางวิสาขา

การฉลองวัดหมดเงินไป ๙ โกฏิ (ดูเหมือนเลย ๙ จะเป็นมงคลนะครับ) เป็นอันว่าวัดบุพพารามสร้างและฉลองเป็นเงินทั้งหมด ๒๗ โกฏิ (ซื้อที่ ๙ โกฏิ ค่าก่อสร้าง ๙ โกฏิ ค่าจัดงานฉลอง ๙ โกฏิ)

ในงานฉลองวัดครั้งนี้ นางวิสาขาเต็มไปด้วยปีติโสมนัส เดินชมรอบพระวิหารแล้วเปล่งอุทานจากความรู้สึกภายในใจ ด้วยสำเนียงอันไพเราะว่า

- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอเราจะได้สร้างปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน ถวายเป็น “วิหารทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะมีโอกาสถวายเตียงตั่ง ฟูกและหมอน เป็น “เสนาสนภัณฑ์” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายสลากภัตผสมด้วยเนื้อบริสุทธิ์เป็น “โภชนทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าทอที่แคว้นกาสีอย่างดี) ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย เป็น “จีวรทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็น “เภสัชทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

พระภิกษุจำนวนหนึ่งเห็น และได้ยินนางวิสาขาเดินครวญเพลงเบาๆ รอบปราสาท (ตึก) ไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่า นางวิสาขาไม่เคยร้องเพลงในวัดอย่างนี้เลย วันนี้นึกครึ้มใจอะไรขึ้นมา หรือ “ดีของนางกำเริบ” (เป็นสำนวนโบราณ คงหมายความว่า เกิดผิดปกติอะไรขึ้นมา อะไรทำนองนั้น)”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ไม่มีอะไรดอก วันนี้ธิดาของเราได้ทำทุกสิ่งสมความปรารถนาที่ตั้งไว้ จึงเปล่งอุทานออกมาด้วยความดีใจเท่านั้นเอง”

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: • นางสุปปิยา คนสนิทผู้ใจบุญของนางวิสาขา

นางสุปปิยาเป็นคนสนิทของนางวิสาขา มักจะติดตามนางวิสาขาเดินดูความเรียบร้อยของพระอาราม หลังจากเสร็จธุระเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ในพุทธประวัติมีชื่อนางสุปปิยาอีกคน คนนี้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติว่า ภิกษุห้ามฉันเนื้อมนุษย์ และเนื้อสัตว์ที่ไม่ควรอื่นๆ อีก ๙ ชนิด

ผมจึงตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นสุปปิยาคนเดียวหรือคนละคน ว่าจะค้นมาเล่าสู่กันฟัง จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ค้น


ตามข้อมูลที่อยู่ในมือ (ข้อมูลมีน้อย เพราะไม่ได้ค้นดังได้บอกแล้ว) สุปปิยาที่เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ มีเล่าในพระวินัยปิฎกเล่ม ๕ (ข้อความแวดล้อมน่าสงสัยมาก สงสัยอย่างไรจะบอกภายหลัง ตอนนี้ฟังข้อมูลไปก่อน)

เมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สามีภรรยาคู่หนึ่งชื่อ สุปปปิยะ และสุปปิยา ตามลำดับ เป็นทายกและกัปปิยการกบำรุงพระสงฆ์มาโดยตลอด

บ่ายวันหนึ่ง นางสุปปปิยา ได้เดินเรียนถามความต้องการของพระภิกษุ ตามที่อยู่ของท่าน พบพระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เป็นโรคท้องเดิน ฉันน้ำเนื้อดิบเป็นยารักษา

บังเอิญวันนั้นเป็นวันห้ามฆ่าสัตว์ ไม่มีเนื้อขายในตลาด นางสั่งให้คนไปหาที่ไหนๆ ก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจเอามีดคมกริบเฉือนเนื้อขาของตนเอง สั่งให้หญิงรับใช้นำไปต้ม เอาน้ำไปถวายพระภิกษุรูปนั้น ส่วนตนก็เอาผ้าพันขา แล้วเข้าห้องนอน

สุปปิยะอุบาสก ผู้สามีกลับมาบ้าน ทราบเรื่องราวเข้า แทนที่จะตำหนิภรรยา กลับปีติยินดีที่ภรรยาของตนมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ถึงขั้นเฉือนเนื้อขาตัวเองถวายเป็นอาหารภิกษุสงฆ์ จึงไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนในเช้าวันรุ่งขึ้น “เพื่อเจริญกุศลยิ่งใหญ่และปีติปราโมทย์” ยิ่งๆ ขึ้นไป ว่าอย่างนั้น

รุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของคนทั้งสอง พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวของสุปปิยา จากคำกราบบังคมทูลของสามีนาง ทรงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า

ตอนแรกนางคิดว่าคงไม่สามารถลุกขึ้นไปเข้าเฝ้าได้ เพราะบาดแผลระบมตลอดทั้งคืน แต่พอขยับกายเท่านั้น ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ปรากฏว่าแผลได้มีเนื้อขึ้นเต็ม สมานสนิทเหมือนปกติด้วยพุทธานุภาพ

ครั้นเสวยเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดสองสามีภรรยา

เสด็จนิวัติยังพระอาราม รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงไต่ถามเอาความจริงจากภิกษุรูปที่ฉันน้ำต้มเนื้อมนุษย์นั้นว่า

“เขาว่าเขาเอาน้ำต้มเนื้อมนุษย์มาถวายหรือ”

“พระเจ้าข้า” ภิกษุรูปนั้นรับ

“เธอฉันแล้วหรือ”

“ฉันแล้ว พระเจ้าข้า”

“เธอพิจารณาหรือเปล่า” (ดูหรือเปล่าว่าเป็นเนื้อคน)

“ไม่ได้พิจารณา พระเจ้าข้า”

ตรัสถามอะไรก็รับเป็นสัตย์หมดทุกกระทงความ พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนแล้วค่อยฉัน เธอเป็นคนมักมาก เห็นแก่ตัว ประมาท ฉันเนื้อมนุษย์ไปแล้ว การกระทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ไม่ทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น” เสร็จแล้วทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ใครฝ่าฝืนต้องอาบัติถุลลัจจัย

ต่อมามีผู้เอาเนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี เนื้อสุนัข เนื้องู ไปถวายพระภิกุบางเหล่า พวกท่านก็ได้ฉันเนื้อเหล่านั้น

พระพุทธองค์ทรงทราบจึงทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันเนื้อดังกล่าว ใครฝ่าฝืนปรับอาบัติทุกกฎ

พจนานุกรม “วิสามานยนาม” รวบรวมโดย ดร.มาลาลา เสเกรา พูดเช่นเดียวกันว่า สุปปิยาเป็นชาวเมืองพาราณสี

ถ้าเป็นเช่นนั้น สุปปิยา ผู้ติดตามนางวิสาขา กับสุปปิยาผู้ถวาย “ซุปน่องคน” แก่พระอาพาธรูปหนึ่ง เป็นคนละคน

ที่ผมว่า “ข้อความแวดล้อม” มันน่าสงสัยก็คือ เรื่องเหล่านี้บอกว่าเกิดขึ้นในสมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สมัยที่เกิดเรื่องนี้ มีพระสงฆ์อยู่ร่วมกันเป็นอันมาก นางสุปปิยามักจะเดินตรวจตราดูความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เป็นประจำ จนพบพระรูปดังกล่าวป่วย หาเนื้อไม่ได้ จึงเฉือนเนื้อขาของตนต้มถวาย จนเป็นเหตุให้มีพุทธบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อ

ความน่าจะเป็นก็คือ พระองค์คงเสด็จกลับมาพำนักที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหลายครั้งหลายคราวแน่นอน (คงไม่ใช่พักครั้งเดียวเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์แน่) เพียงแต่ไม่มีหลักฐานบ่งชัดไว้เท่านั้น เหตุการณ์ทรงบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อมนุษย์ จะต้องเกิดขึ้นหลังจากพรรษาที่ ๑๑ และก่อนเสด็จไปประจำที่เมืองสาวัตถี

ทำไมจึงว่าอย่างนั้น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มีหลักฐานว่าระยะแรก พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุเสพเมถุน ใครเสพต้องอาบัติปาราชิก หลังจากนั้นก็มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปอื่นๆ อีก พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้ออื่นๆ ต่อมา

ปาราชิกข้อที่หนึ่งเกิดก่อนข้ออื่นๆ และปาราชิกข้อหนึ่งนี้ทรงบัญญัติเมื่อคราวพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชรา ในพรรษาที่ ๑๑

การบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อมนุษย์ก็ต้องมีขึ้นที่หลังปฐมปาราชิกแน่เหมือนแช่แป้งอยู่แล้วใช่ไหมขอรับ

การศึกษาพระพุทธศาสนาลำบากอยู่นิดหนึ่ง คือ ชื่อคนมักจะซ้ำกัน แล้วท่านก็ไม่ค่อยให้รายละเอียดไว้ด้วย ทำให้ผู้ศึกษาสับสนและนำมาปะปนกัน

อีกทั้งในคัมภีร์ก็ไม่ค่อยจะคำนึงถึงเรื่องช่วงเวลาด้วย มักจะกล่าวกว้างๆ เช่น ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่...เกิดเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ เลยไม่รู้ว่า “สมัยหนึ่ง” น่ะ สมัยไหน ปีไหน เดือนไหน

อยากให้นักวิจัยมาวิจัยเรื่องวันเวลา สถานที่ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก จะได้เป็นข้อมูลที่สำคัญ และได้คำตอบในหลายเรื่องที่ยังคลุมเครืออยู่

ใครมีฝีมือกรุณาทำด้วยเถิดครับ จะเป็นประโยชน์แก่การศาสนศึกษาอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในภาพ...นางวิสาขามหาอุบาสิกา พร้อมหมู่เพื่อนหญิงบริวาร
ได้ขอสมาทานถวาย “ผ้าอาบน้ำฝน” ที่เรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ
หรือ “ผ้าวัสสิกสาฎก” (อ่านว่า วัด-สิ-กะ-สา-ดก)
แด่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต
ซึ่งสมัยนั้นยังมิได้มีพุทธบัญญัติการถือครองผ้าเกิน ๓ ผืน



:b44: • ต้นเหตุเกิดผ้าอาบน้ำฝน

สมัยก่อน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระใช้ผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น คือมี จีวร (ผ้าห่ม) สบง (ผ้านุ่ง) สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อน) เท่านั้น

ผ้าสามผืนนี้ ศัพท์ทางวิชาการจริงๆ เขาเรียกดังนี้ครับ

จีวร (ผ้าห่ม) เรียกว่า อุตราสงค์
สบง (ผ้านุ่ง) เรียกว่า อัตราวาสก
ผ้าห่มซ้อน เรียกว่า สังฆาฏิ


เฉพาะผ้าสังฆาฏินั้น ปัจจุบันนี้พระสงฆ์ไทยเอามาพาดบ่า เป็นสายสะพายไปเสียแล้ว สมัยพุทธกาลใช้ห่มซ้อนเวลาอากาศหนาวมาก ในพุทธประวัติปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงใช้ปูลาดสำหรับบรรทมด้วย ดังพระอานนท์ได้ลาดผ้าสังฆาฏิถวายให้พระองค์บรรทมขณะเสด็จถึงแม่น้ำกกุธา ก่อนที่จะเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา

ปัจจุบันนี้ถ้าภิกษุรูปใดเอาผ้าสังฆาฏิมาปูนั่งปูนอน เดี๋ยวก็โดนพระอุปัชฌาย์หาว่าอุตริ พิเรนทร์ แน่นอน

พระสงฆ์สมัยนั้น เวลาอาบน้ำ ก็เปลือยกายอาบน้ำกันเพราะไม่มีผ้านุ่งอาบน้ำ จนนางวิสาขาเห็นความลำบากของพระสงฆ์ จึงขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าสำหรับอาบน้ำแก่พระสงฆ์

เรื่องมีว่า วันหนึ่ง นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ (คือรับด้วยอาการนิ่ง) นางกลับถึงบ้าน ก็สั่งเตรียมอาหารไว้สำหรับถวายพระในวันรุ่งขึ้น บังเอิญว่าตอนเช้ามืดฝนตกหนัก ภิกษุทั้งหลายก็พากันอาบน้ำก่อนที่จะไปฉันข้าว นางวิสาขาสั่งให้สาวใช้ไปนิมนต์พระ หลังจากตระเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว สาวใช้ไปที่วัดพระเชตวัน บังเอิญพระคุณเจ้าบางรูปยังอาบน้ำไม่เสร็จ สาวใช้แลไปเห็นพระคุณเจ้าเปลือยกายล่อนจ้อนอาบน้ำอยู่ ก็รีบกลับไปรายงานนายหญิงว่า

“ไม่มีพระสงฆ์อยู่เลยเจ้าค่ะ”

“ไม่มีได้อย่างไร ฉันนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไว้แล้ว เมื่อวานนี้” นางวิสาขาสงสัย

“ไม่มีจริงๆ เจ้าค่ะ เห็นแต่พวกชีเปลือยเต็มวัดไปหมดเลย” สาวใช้ยืนยัน

สาวใช้เข้าใจอย่างนั้นจริงๆ เพราะในอินเดียสมัยนั้น (สมัยนี้ก็ยังมีอยู่) นักบวชประเภทไม่นุ่งผ้ามีเป็นจำนวนมาก อย่างพระเชน (ศิษย์ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร) และพวกอเจลกะก็ไม่นุ่งผ้า ท่านเหล่านี้ได้รับความนับถือบูชาจากชาวชมพูทวีปไม่น้อยไปกว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

นางวิสาขาเป็นคนฉลาด พอได้ยินสาวใช้รายงานเช่นนั้นก็รู้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารเสร็จ นางวิสาขาจึงกราบทูลขอพรจากพระพุทธองค์

“เราตถาคตเลิกให้พรแล้ว วิสาขา” พระพุทธองค์ตรัส

“ได้โปรดเถิด หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสม ไม่มีโทษพระพุทธเจ้าข้า”

“จงบอกมาเถิด วิสาขา”


“หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) สำหรับภิกษุ ถวายภัตเพื่อพระอาคันตุกะ ถวายภัตเพื่อพระที่เตรียมจะเดินทาง ถวายภัตเพื่อพระอาพาธ ถวายภัตเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ ถวายเภสัชแก่ภิกษุอาพาธ ถวายข้าวยาคูประจำสำหรับภิกษุ ถวายผ้าอุทกสาฏิกา (ผ้าผลัดอาบน้ำของนางภิกษุณี) ตลอดชีวิตพระเจ้าข้า”

“เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงปรารถนาจะถวายสิ่งเหล่านี้” พระพุทธองค์ตรัสถาม

นางวิสาขากราบทูลว่า วันนี้หม่อมฉันสั่งให้สาวใช้ไปนิมนต์พระ นางไปเห็นพระสงฆ์กำลังอาบน้ำอยู่ นึกว่าเป็นพวกชีเปลือย หม่อมฉันจึงคิดว่า พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนทั้งหลาย และคนเขาจะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างชีเปลือยนอกศาสนากับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเห็นว่ามีสิ่งจำเป็นอื่นๆ อีกที่พระสงฆ์ต้องการ จึงอยากถวายทั้ง ๘ ประการ ดังกราบทูลให้ทรงทราบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ การเปลือยกายอาบน้ำไม่งามสำหรับภิกษุสงฆ์ หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุสงฆ์

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ พระอาคันตุกะที่ไม่ชำนาญทาง ไม่รู้จักโคจร (ที่สำหรับเที่ยวไปบิณฑบาต) ย่อมลำบากในการเที่ยวบิณฑบาต เมื่อท่านได้ฉันอาคันตุกภัตแล้วก็จะไม่ลำบากเบื้องต้น หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายอาคันตุกภัต

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางไกล ถ้ามัวแต่แสวงหาภัตอยู่ก็จะไม่ทันการณ์ อาจพลาดจากหมู่เกวียนที่ตนจะอาศัยเดินทางไปด้วย กว่าจะถึงที่หมายอาจพลบค่ำหรือมืดก่อน เดินทางลำบาก เมื่อท่านได้ฉันภัตตาหารก่อนแล้วก็จะไปทันเวลาและการเดินทางก็จะไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อพระผู้จะเดินทาง

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ เมื่อพระอาพาธ ไม่ได้อาหารที่สบายโรคภัยไข้เจ็บก็อาจจะกำเริบ อาจถึงมรณภาพได้ เมื่อท่านได้ฉันอาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธก็จะทุเลาลง จนกระทั่งหายในที่สุด หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อภิกษุอาพาธ

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ มัวแต่แสวงหาอาหารให้พระที่อาพาธ ตนเองก็จะไม่ได้ฉันภัตตาหาร หม่อมฉันมีความปรารถนาอยากถวายแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธด้วย ท่านจะได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ภิกษุไข้เมื่อไม่ได้เภสัชที่ถูกกับโรค ก็จะไม่หายป่วยไข้ บางทีอาจถึงแก่มรณภาพ หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายเภสัชเพื่อภิกษุไข้

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญอานิสงส์ของการบริโภคข้าวยาคูไว้ ๑๐ ประการ (คือ อายุยืน, ผิวพรรณผ่อง, มีความสุขสบาย, มีกำลัง, มีปฏิภาณ, ขจัดความหิว, บรรเทาความกระหาย, ลมเดินคล่อง, ล้างลำไส้, ระบบย่อยอาหารดี) หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายข้าวยาคูประจำแก่ภิกษุสงฆ์

เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ภิกษุณีเปลือยกายอาบน้ำร่วมกับนางแพศยา ถูกนางพวกนั้นค่อนแคะว่า ไม่แตกต่างไปจากพวกเขา ทำให้ภิกษุณีเก้อเขิน อีกอย่างหนึ่งสตรีเปลือยกายไม่งาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสตรีทีประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้จึงปรารถนาอยากถวายผ้าผลัดอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์


เมื่อนางวิสาขากราบทูลเหตุผลจบสิ้นลง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์ ๘ ประการนี้ จึงขอพรจากเราตถาคต เราตถาคตอนุญาตพรทั้ง ๘ ประการนี้ แล้วตรัสอนุโมทนาว่า

สตรีใดให้ข้าวให้น้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่ได้แล้ว บริจาคทาน อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้นอาศัยมรรคปฏิบัติ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วใจปราศจากธุลี ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์

สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีความสุขสมบูรณ์ด้วยพลานามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน


:b50: :b47: :b50:

:b39: ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=38930

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: • วิสาขา ที่พึ่งแก่เหล่าเพื่อนหญิง

นางวิสาขามีเพื่อนหลายคนคบหากันตลอด เวลาเพื่อนคนใดมีความทุกข์ หรือมีปัญหาชีวิต นางวิสาขาก็ช่วยปัดเป่าทุกข์ให้ด้วยความยินดี

ครั้งหนึ่งไปพบเพื่อนหญิงของนางหลายคนพากันดื่มสุรา เมาแอ่น เสียงเอะอะโวยวาย ก็สลดใจ นึกไม่ถึงว่าไม่ได้พบเพื่อนหญิงหลายเดือน พวกเธอเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นนี้ได้อย่างไร

สอบถามได้ความว่า พวกนางได้สามีที่เป็นนักเลงสุราทั้งนั้น เมื่อมีงานมหรสพ สามีเหล่านั้นก็ “ตั้งวง” ดื่มสุรากันสนุกสนาน

คราวหนึ่งหลังงานเลิกแล้ว มีสุราเหลืออยู่ พวกนางจึงพากันลองชิมดูบ้าง อยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร สามีของพวกนางจึงชอบดื่มกันนัก

ลองแล้วก็เลยติดในรสสุรา จึงแอบนัดกันไปตั้งวงดื่มกัน ในที่สุดพวกสามีก็จับได้ จึงทุบตีพวกนาง ทำนองว่าเป็นผู้หญิงริดื่มสุรา เสียชื่อหมด (ในขณะที่ตัวเองดื่มได้ไม่เสีย ว่าอย่างนั้นเถอะ)

แต่พวกนางก็ไม่เข็ด มีโอกาสเมื่อไรก็นัดกันไป “ก๊ง” จนกระทั่งนางวิสาขามาพบเข้า จึงว่ากล่าวตักเตือน พวกนางก็ทำท่าว่าเห็นด้วยกับที่นางวิสาขาตักเตือน แต่ก็อดที่จะแอบดื่มสุราไม่ได้

ของมันเคยแล้วนี่ครับ เลิกยากเสียแล้ว

วันหนึ่งพวกนางขอติดตามนางวิสาขาไปชมสวน แล้วเลยไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ที่วัดพระเชตวัน

นางวิสาขาบอกว่า ก็ได้ แต่พวกเธออย่าดื่มสุราเป็นอันขาด หาไม่จะเป็นที่ตำหนิติเตียนของพวกเดียรถีย์ เขาจะหาว่าสาวิกาของพระพุทธเจ้าเป็นนักเลงสุรา กระทำการไม่เหมาะไม่ควร

พวกนางก็รับปากแข็งขัน แต่ก็แอบเอาสุราใส่ขวดซ่อนไว้ เดินชมสวนไปก็ดื่มน้ำอมฤตไปด้วย หลายอึกเข้าก็มันเมาเป็นธรรมดา กว่าจะมาถึงวัดก็หมดไปหลายอึก

ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ พวกเธอก็ลืมตัว บ้างก็ถลำขึ้นรำ บ้างก็ร้องเพลงฟังไม่ได้ศัพท์ บ้างก็หัวเราะขบขัน ไม่มีปี่ไม่ขลุ่ย แสดงอาการอันน่าทุเรศต่อสายตาวิญญูชน

พระพุทธองค์จึงทรงบันดาลให้เกิดความมืดมนทันที สตรีเหล่านั้นตกอยู่ในความหวาดกลัว หายเมาไปครึ่งต่อครึ่ง นั่งตัวสั่นอยู่

ทันใดนั้น พระพุทธองค์ทรงฉายรัศมีออกจากพระอุณาโลม เกิดแสงสว่างขึ้น ดุจแสงพระจันทร์พันดวง

พระองค์ตรัสกับสตรีเหล่านั้นว่า จะมัวสนุกสนานกันอยู่ไย เมื่อโลกลุกเป็นไฟเป็นนิตย์ พวกเธอถูกความมืดมิดปิดบังอยู่ฉะนี้ ไยไม่แสวงหาแสงสว่างกันเล่า พวกนางได้สติ หายเมาหมดสิ้น และได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

นางวิสาขากราบทูลว่า สุรานั้นมีพิษสงร้ายกาจเหลือเกิน สหายของข้าพระพุทธเจ้าตามปกติก็เป็นคนสงบเสงี่ยม พอสุราเข้าปากกลับทำอะไรต่างๆ ที่น่าละอายมากมาย แม้ต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่เว้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นเช่นนั้น วิสาขา” แล้วทรงเล่าความเป็นมาของสุราให้นางวิสาขาฟัง


เรื่องราวเป็นฉันใด คราวหน้าค่อยว่าต่อครับ

ประวัติของสุรา

ประวัติของสุราผมเคยเขียนไว้ที่อื่นบ้างแล้ว แต่เป็นฉบับ “แปลงสาร” คือไม่เอาตามต้นฉบับเดิมทั้งหมด ดัดแปลงเพื่อจุดประสงค์เฉพาะกิจ

คราวนี้เห็นทีจะต้องดำเนินตามต้อนฉบับเดิมเสียหน่อย ต้นฉบับเดิมมีอยู่ในชาดก นามว่า กุมภชาดก

เนื้อความมีดังนี้ครับ

ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี (นิทานชาดกทุกเรื่องเกิดที่เมืองนี้ และพระเจ้าแผ่นดินก็พระนามนี้ เป็น “สูตรสำเร็จ” ขอรับ) มีนายพรานป่าคนหนึ่ง นามว่า สุระ คนละคนกับ สุระ แสนคำ (เขาทราย)

นายสุระไปเห็นบรรดานกทั้งหลายพากันมากินน้ำที่โพรงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง แล้วก็เมามายตกลงมายังพื้นดิน สักพักนกเหล่านั้นก็สร่างเมา บินต่อไปได้

จึงมีความฉงนใจอยากรู้ว่า นกมันกินน้ำอะไร จึงเกิดอาการอย่างนั้น

แกปีนต้นไม้ขึ้นไปดู เห็นโพรงใหญ่มาก เต็มไปด้วยน้ำ มีกลิ่นและสีแปลกๆ จึงเอานิ้วจิ้มและดูดดู ปรากฏว่ารสมันซาบซ่านถึงหัวใจเลย คิดว่าน้ำนี้คงไม่มีพิษ เพราะถ้ามีพิษจริง พวกนกเหล่านี้ก็คงตายกันหมดแล้ว

ว่าแล้วก็ตักใส่กระติก เอ๊ย กระบอกไม้ไผ่ไปกิน เมื่อหมดแล้วก็ขึ้นไปตักมากินใหม่ ทำอยู่อย่างนี้หลายเดือน

วันหนึ่ง หลังจากดื่มน้ำพรรค์อย่างว่าเข้าไปหลายอึก เห็นบรรดานกมันเมา สลบเหมือดอยู่บนพื้นดิน ก็เกิดความคิดขึ้นว่า เอานกมาย่างกินกับน้ำนี้ก็คงดี จึงจับนกมาฆ่า ย่างได้ที่แล้วก็จับกินกับน้ำนั้น บ๊ะ รสชาติมันช่างเอร็ดอร่อยแท้

ตั้งแต่นั้น นายสุระแกก็กินน้ำนั้นกับนกย่างบ้าง ไก่ป่าย่างบ้าง สำเริงสำราญอยู่คนเดียว ธรรมเนียมกับแกล้มก็เกิดมาตั้งแต่บัดนั้นแหละขอรับ กินน้ำพรรค์นี้แล้วต้องมีกับแกล้มด้วย จึงจะอร่อยถึงที่ ว่าอย่างนั้นเถอะ

น้ำนี้ต่อมาได้ชื่อว่า “สุรา” ตามนามของผู้ค้นพบ ตั้งเป็นเกียรติแก่คนที่พบคนแรก ดุจดังสมัยนี้ ใครค้นพบอะไร หรือประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมา กระทั่งค้นพบเชื้อโรค หรือยารักษาโรค ที่ยังไม่มีใครรักษาหาย เขาก็จะตั้งชื่อตามชื่อของผู้ที่ค้นพบนั้น เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่คนค้นพบ

อาทิ ในเมืองไทยนี่เอง ในด้านโลหิตวิทยา มีโรคธาลัสซีเมียชนิดหนึ่งชื่อว่า “วะสี” ตั้งตามนามของนายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ค้นพบนั่นเอง

ต่อมานายพรานป่าสุระ ดื่มสุราคนเดียวรู้สึกไม่ค่อยมัน จึงพยายามหาเพื่อนมาร่วมวง

พอดีไปเจอฤๅษีนามว่า วรุณ นั่งบำเพ็ญญาณอยู่ที่อาศรมในป่าหิมพานต์ ก็เข้าไปสนทนาด้วย

แรกๆ ก็สนทนาธรรมดีอยู่ ไปๆ มาๆ แกก็เสนอให้ท่านฤๅษีลองดื่มน้ำสุราดูบ้าง บอกว่าเป็นน้ำวิเศษ ดื่มแล้วจะคึกคัก แก้กระษัยได้อย่างดี เคยปวดเคยเมื่อยเวลานั่งสมาธินานๆ ไม่ต้องให้สีกานวด ดื่มน้ำวิเศษนี้ก็จะหาย

หลวงพ่อแกลองดื่มดูสักแก้วหนึ่ง รู้สึกรสมันซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์ ลองแก้วที่สอง ที่สาม ที่สี่ บ๊ะ มันช่างอร่อยเหาะอะไรปานนั้น

ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองก็ “ตั้งวง” กันร่ำสุราเป็นอาจิณ ฤๅษีวรุณก็ลืมจำศีลภาวนา กลายเป็นนักดื่มคอทองแดงไปเลย

ตั้งแต่นั้นมา น้ำสุราก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วารุณี” หลวงพ่อฤๅษีแกขอมีเอี่ยวด้วยในการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่นี้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ต่อมาทั้งสองคิดว่า การที่เทียวไปเทียวมาเพื่อนำน้ำสุรามาดื่มนั้น มันเสียเวลามาก จึงคิดผลิตขึ้นมาเองดีกว่า ทั้งสองก็ศึกษาวิธีการผลิตน้ำเมานี้ เริ่มจากดูส่วนประกอบของมันว่ามีอะไรบ้าง เช่น มีเมล็ดข้าวสาลี ผลไม้อื่นๆ ฯลฯ อะไรบ้าง สัดส่วนแค่ไหนอย่างไร ศึกษาอย่างละเอียดแล้วก็ลองผลิตขึ้นมา ลองชิมดูว่ารสชาติได้ที่หรือยัง ทดลองอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งได้น้ำเมาที่รสชาติทัดเทียมของเดิม

ว่ากันว่า นี่เป็นโรงงานกลั่นสุราแห่งแรกในโลกเชียวครับ

นายสุระกับฤๅษีวรุณ เมื่อผลิตสุราได้จำนวนมาก ก็คิดหาตลาดจำหน่ายสินค้า จึงตักน้ำใส่กระบอกมากมายไปขายให้ชาวเมือง

ชาวเมืองต่างก็ซื้อไปดื่มกันกันแพร่หลาย ในไม่ช้าไม่นาน บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยพวกคอทองแดง

เสียงเล่าลือก็ขจรขจายไปทั่วว่า มีน้ำวิเศษชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วในโลก ใครไม่ได้ลองลิ้มรสจะ “เชยระเบิด”

ยิ่งเล่าลือไปไกล สองคนต้นคิดก็ยิ่งมั่งคั่งร่ำรวยเป็น “หลวงเสี่ย” และ “อาเสี่ย” เพราะสินค้าของพวกเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เสี่ยทั้งสองจึงเดินทางไปยังอีกเมืองหนึ่งเพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้น เสนอโปรเจ็กต์ผลิตสุราให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง จนกระทั่งพระองค์ทรงเลื่อมใสมองเห็นทางมาของรายได้เข้ารัฐมากมาย

จึงรับสั่งให้ตั้งโรงงานผลิตสุราเป็นทางการเลยทีเดียว โดยแต่งตั้งให้ทั้งสองคนเป็นผู้ควบคุมการผลิต

ทั้งสองให้หาตุ่มใหญ่มา ๕๐๐ ใบ ใส่น้ำเต็มทุกตุ่ม ใส่ส่วนผสมลงไปจนครบสูตร แล้วปิดฝาอย่างมิดชิด หมักน้ำนั้นให้แปรสภาพเป็นน้ำเมา

เมื่อตุ่มหมักน้ำเมาตั้งเรียงรายมากมายเช่นนั้น ก็มีปัญหาหนูชุกชุม จึงแก้ปัญหาโดยเอาแมวมาผูกติดไว้กับตุ่มใบละสองตัวเพื่อไล่หนูไม่ให้มารบกวน

เมื่อน้ำหมักเกิดแปรสภาพกลายเป็นฟองขึ้นมา มันก็ไหลล้นออกมาจากตุ่ม แมวที่ผูกติดอยู่กับตุ่มหิวน้ำ จึงเลียน้ำนั่นเข้าไป เมามายจนสลบไสลไปทุกตัว

เมื่อข้าราชบริพารเดินผ่านมาเห็นเข้า ก็นำความไปกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระเจ้าสัพพมิตต์ (ลืมบอกไปว่า พระราชาเมืองนี้พระนามว่า พระเจ้าสัพพมิตต์) ทรงเข้าพระทัยผิดว่า สองคนนี้คงวางแผนผลิตยาพิษเพื่อฆ่าพระองค์และประชาชนเป็นแน่แท้ จึงรับสั่งให้จับมาประหาร

ทั้งสองคนกราบทูลว่า น้ำนี้มิใช่ยาพิษ เป็นน้ำดื่มวิเศษ มีรสชาติอร่อยมาก ดื่มแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยใดๆ ทั้งสิ้น พระราชาไม่ทรงเชื่อ เพราะมีประจักษ์พยานชัดเจน คือพวกแมวที่ดื่มน้ำนั้นแล้วตายเป็นจำนวนมาก

เป็นอันว่าสองนักคิดค้นผู้ยิ่งใหญ่ ได้จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้แล

หลังจากประหารชีวิตสองคนแล้ว มหาอำมาตย์ก็เข้าเฝ้ากราบทูลว่า แมวที่คิดว่าตายเพราะดื่มน้ำนั้นฟื้นและหนีกันไปหมดแล้ว พระราชาจึงรับสั่งให้นำน้ำมาลองเสวยดู ก็ทรงทราบว่ามิใช่ยาพิษ จึงทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่งที่ได้น้ำดื่มพิเศษขึ้นมา

จึงรับสั่งให้จัดพระราชพิธีเสวยน้ำสุราขึ้นอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยให้ประดับประดาพระนครด้วยธงชัยและธงแผ่นผ้าให้สวยงาม สร้างมณฑปที่หน้าพระลานหลวง ถึงเวลาพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพระราชบัลลังก์ ที่ยกเศวตฉัตรขึ้นไว้ในมณฑปที่ตกแต่งสวยงามนั้น แวดล้อมไปด้วยเหล่าอำมาตย์มุขมนตรีทั้งหลาย

พระราชพิธีอันมโหฬารกำลังจะเริ่มพอดี ก็มีผู้มาขัดจังหวะ พราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง แต่งกายขาวสะอาด ลอยอยู่บนนภากาศตรงข้ามมณฑปที่ประทับ มือประคองหม้อน้ำขนาดย่อมใบหนึ่ง กล่าวกับพระเจ้าสัพพมิตต์ว่า “ขอเดชะฯ หม้อนี้บรรจุน้ำวิเศษยิ่งกว่าน้ำดื่มใดๆ ในโลก ขอพระองค์โปรดซื้อหม้อน้ำนี้ไปเถิด”

พระเจ้าสัพพมิตต์ทรงทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์เช่นนั้น คิดว่าท่านผู้นี้มิได้ยืนอยู่บนพื้นดินเหมือนคนทั่วไป คงจักเป็นผู้มีคุณวิเศษที่มีชื่อคนใดคนหนึ่งแน่ จึงตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร และน้ำวิเศษที่ท่านว่านี้ มีสรรพคุณอย่างไร”

“ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นใคร ยกไว้ก่อนเถิด แต่ว่าน้ำวิเศษนี้มีสรรพคุณมากมาย ดังข้าพระพุทธเจ้าจะบรรยายถวาย ณ บัดนี้”

ว่าแล้วพราหมณ์เฒ่าก็ได้บรรยายสรรพคุณของน้ำวิเศษนั้นให้พระเจ้าสัพพมิตต์ฟัง

มีอย่างไรบ้าง อดใจฟังวันหน้าครับ
>>> (ประวัติของสุรา ยังมีอีก รอแป๊บค่ะจะมาลงจนครบ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 12:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: • อริยสาวิการ้องไห้

เล่าเรื่องราวของนางวิสาขามหาอุบาสิกา มาหลายตอน เห็นจะต้องจบลงในสองตอนต่อไปนี้แล้วครับ จะได้เอาเวลาไปเขียนเรื่องอื่นบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้คฤหัสถ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีของพระภิกษุและภิกษุณีได้ ดังเรื่องราวต่อไปนี้

ภิกษุณีรูปหนึ่งออกบวชด้วยศรัทธา แต่อยู่ๆ เธอก็ท้องโตขึ้นๆ จนล่วงรู้กันทั่วไป พระเทวทัต ผู้ดูแลภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีนางภิกษุณีรูปดังกล่าวรวมอยู่ด้วยตัดสินใจโดยไม่ฟังคำแย้งของนางว่า นางต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว

ภิกษุณีนางนั้นยืนยันในความบริสุทธิ์ของตน จึงอุทธรณ์ต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า นางภิกษุณีรูปนั้นบริสุทธิ์ แต่เพื่อให้ปรากฏชัดเจนต่อประชาชนทั่วไป จึงทรงแต่งตั้งพระอุบาลีเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย ช่วยตัดสินอธิกรณ์

พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้พระจะรู้เท่าคฤหัสถ์นั้นยาก จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากคฤหัสถ์ ผู้มีประสบการณ์ช่วยเหลือ จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตให้เชิญคฤหัสถ์มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งก็ได้รับประทานอนุญาต

พระอุบาลีจึงตั้งนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาช่วย เรื่องของผู้หญิง ผู้หญิงรู้ดีกว่า นางวิสาขาจึงมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้

นางนิมนต์นางภิกษุณีผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ถามวันที่ออกบวช ถามวันที่ประจำเดือนหมด ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฯลฯ ครบหมดทุกด้านได้ข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปว่า “นางภิกษุณีตั้งครรภ์ก่อนบวช” จึงเสนอพระอุบาลีเถระ

พระเถระก็ได้ข้อมูลนั้นมาประกอบการพิจารณาอธิกรณ์ ในที่สุดก็ตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุโมทนาว่า นางภิกษุณีรูปนั้นบริสุทธิ์

พระเทวทัตก็หน้าแตกไปตามระเบียบ

เห็นหรือยังครับ สมัยพุทธกาลก็ปรากฏว่าคฤหัสถ์อย่างนางวิสาขา อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีบทบาทในการช่วยพิจารณาอธิกรณ์ของสงฆ์

แล้วสมัยนี้ถ้าคฤหัสถ์อย่างคุณ อย่างผม จะมีส่วนในการชำระพระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เอาไว้กราบไหว้อย่างสนิทใจ จะไม่ได้หรือ

นางวิสาขามหาอุบาสิกา มีส่วนคล้ายท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีอยู่เรื่องหนึ่ง คือตลอดเวลาที่ปรนนิบัติดูแลพระพุทธองค์และพระสงฆ์ทั้งปวง ท่านไม่ค่อยมีเวลาได้ปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร เพราะภารกิจในการถวายความสะดวกแก่พระสงฆ์นั้นมีมาก จนเกินเวลาของท่านทั้งสองแทบหมดสิ้น

ไหนยังจะต้องไปให้คำปรึกษาหารือแก่ประชาชนเวลาเขาทำบุญทำทาน ทำนอง “มรรคนายก” และ “มรรคนายิกา” อีกด้วย

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ไม่กล้าทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์ด้วยเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนก็ทรงเหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว ตนจึงไม่ควรไปรบกวนให้พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพิ่มขึ้นอีก ให้พระองค์ทรงมีเวลาพักผ่อนมากๆ ดีกว่า

จนพระพุทธองค์ตรัสถึงท่านลับหลังว่า “สุทัตตะรักษาเราในสถานะที่ไม่ควรรักษา” ตีความง่ายๆ ว่า ท่านเศรษฐีรักพระพุทธองค์ไม่ถูกทาง หรือทะนุถนอมพระพุทธองค์ในทางที่ไม่ถูก ว่ากันให้ชัดๆ อย่างนี้ดีกว่าเนาะ

คุณวิเศษที่ทั้งสองท่านได้บรรลุก็เท่ากัน คือได้เป็นพระอริยบุคคลระดับต้น (ระดับโสดาบัน) และทั้งสองท่านก็ได้บรรลุธรรมขั้นนี้ เมื่อครั้งแรกที่ได้พบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงอีกเลย

ภูมิพระโสดาบันนี้ก็สูงกว่าปุถุชนเล็กน้อย ท่านว่าละกิเลสได้ ๓ อย่าง คือ สักกายทิฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตน, ความยึดมั่นในตัวกูของกู ขอใช้สำนวนของท่านพุทธทาสก็แล้วกัน) ๑ วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในกฎแห่งกรรม สงสัยในพระคุณของพระรัตนตรัยว่าดีจริงหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น) ๑ สีลัพพตปรามาส (แปลกันมาว่า “ลูบคลำศีลาและพรต” ฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ความหมายที่แท้จริง คือ ถือศีล ถือพรต ผิดจุดประสงค์ของศีลพระพรต เช่น รักษาศีลแทนที่จะเพื่อขัดเกลาจิต กลับรักษาศีลเพื่ออวดว่าตนเคร่ง) ๑

ส่วนกิเลสอื่น และกิเลสที่สำคัญ คือ โลภ โกรธ หลง ก็ยังมีอยู่เหมือนปุถุชน เพียงแต่เบาบางลงกว่าปุถุชนเท่านั้น

พระโสดาบันนั้นร้องห่มร้องไห้ได้เวลาเศร้าโศก

อนาถบิณฑิกะที่บรรลุระดับโสดาบันก็เคยสะอึกสะอื้นไปเฝ้าพระพุทธองค์ ตอนลูกสาวคนเล็กตาย เสียใจที่ลูกสาวตายก็มากอยู่แล้ว แถมก่อนตายลูกสาวยังเพ้อ ตายอย่างไม่มีสติอีก คือเพ้อ เรียกพ่อว่า “น้องชาย”

ท่านเข้าใจว่าลูกสาวของท่าน “หลงทำกาละ” (ตายอย่างไม่มีสติ) คงจะต้องไปสู่ทุคติแน่นอน

เมื่อคิดดังนี้จึงร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถูกแล้วที่ลูกสาวท่านเรียกท่านว่า “น้องชาย” เพราะลูกสาวคหบดีได้บรรลุสกทาคามิลผลสูงกว่าโสดาปัตติผล เท่ากับเป็นพี่ของท่าน

ใช่ว่านางเพ้อหรือหลงทำกาละแต่อย่างใดไม่

นางวิสาขาก็เช่นกัน วันหนึ่งก็ร้องไห้ขี้มูกโป่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ดูก่อน วิสาขา ทำไมเธอร้องไห้น้ำตานองหน้าเช่นนี้”

นางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมาริกาหลานรักของหม่อมฉัน ได้ทำกาละเสียแล้ว หม่อมฉันไม่มีโอกาสเห็นหน้าเธออีกแล้ว” ว่าแล้วก็สะอึกสะอื้น

“วิสาขา ในกรุงสาวัตถีนี้มีคนประมาณเท่าไร” พระพุทธองค์ตรัสถาม

“ประมาณ ๗ โกฏิ พระเจ้าข้า”

“ถ้าคนเหล่านั้นน่ารักเหมือนหลานสาวของเธอ เธอจะรักเขาเหมือนหลานสาวเธอหรือไม่”

“รัก พระเจ้าข้า”

“วิสาขา ในเมืองสาวัตถีนี้ คนตายวันละเท่าไร”

“มาก พระเจ้าข้า มากจนกำหนดไม่ได้”

“ถ้าเช่นนั้น เธอมิต้องเศร้าโศกทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ เธอมิต้องร้องห่มร้องไห้ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ”

ตรัสสอนต่อไปว่า

“วิสาขา อย่าโศกเศร้าเสียใจเลย เพราะความโศกก็ดี ความกลัวก็ดี ย่อมเกิดแต่ความรัก
วิสาขาเอย ผู้ใดมีสิ่งที่รักร้อยสิ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์ร้อย
ผู้ใดมีสิ่งที่รักเก้าสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์เก้าสิบ
ผู้ใดมีสิ่งที่รักแปดสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์แปดสิบ
ผู้ใดมีสิ่งที่รักหนึ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์หนึ่ง
ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีความคับแค้นใจ”


นางคิดตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ตรัสสอน ก็บรรเทาความเศร้าโศกได้ในที่สุด

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “โศก ปริเทวนา (ความคร่ำครวญ) และทุกข์มากมายย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้า ก็ไม่ควรรักสิ่งใด”

นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นผู้มีใจบุญสุนทานเป็นอย่างยิ่ง นางมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นนิจศีล และชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย ดังชักจูงสามีและบิดาสามีให้มานับถือพระพุทธศาสนาจนกระทั่งมิคาระเศรษฐีผู้บิดาสามี ยกย่องเธอเป็น “แม่ในทางธรรม” ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีชื่อเรียกขานอีกอย่างหนึ่งว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคาระเศรษฐี)

นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้รับยกย่องจากพุทธองค์ใน “เอตทัคคะ” (เป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางถวายทาน

นับเป็นอุบาสิกาตัวอย่างที่ชาวพุทธทั้งหลายพึงดำเนินรอยตามเป็นอย่างยิ่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 12:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: • ผู้เป็นเลิศในทางถวายทาน

ชาวพุทธย่อมจะคุ้นเคยกับนาม วิสาขามหาอุบาสิกา และอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะสองท่านี้เป็นอุบาสก อุบาสิกา “คู่ขวัญ” ในพระพุทธศาสนา ทั้งสองท่านนี้ได้ให้ความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันทีเดียว

ประวัติโดยพิสดารของนางวิสาขาเขียนไว้ต่างหากแล้ว ในที่นี้ขอเล่าโดยย่อ นางวิสาขาเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ติดกับแคว้นมคธ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

ต่อมาตามบิดาไปอยู่เมืองสาวัตถี ได้แต่งงานกับปุณณวัฒนะ บุตรมิคารเศรษฐี

นางวิสาขาเป็นสตรีที่ลือชื่อว่าเป็นเบญจกัลยาณี คือ มีความงาม ๕ ประการ ได้แก่
๑. ผมงาม หมายถึง ผมสลวย เป็นเงางาม (เกสกัลยาณะ)
๒. เนื้องาม หมายถึงมีริมฝีปากงาม ไม่ต้องทาลิปสติก (มังสกัลยาณะ)
๓. กระดูกงาม (หมายถึง ฟันงาม (อัฏฐิกัลยาณะ)
๔. วัยงาม หมายถึง ไม่แก่ตามอายุ (วลกัลยาณะ)
๕. ผิวงาม หมายถึง ผิวพรรณผุดผ่อง (ฉวิกัลยาณะ)

ก่อนส่งตัวไปยังตระกูลสามี บิดาได้ให้โอวาทนางวิสาขา ๑๐ ข้อ ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่ออยู่ในตระกูลสามี

ตระกูลสามีของนางเป็น “มิจฉาทิฐิ” (คือไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) เมื่อนางซึ่งเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ไปอยู่ที่ตระกูลสามี นางก็ทำบุญใส่บาตรเป็นประจำ

วันหนึ่งก็เกิดเรื่อง คือ ขณะที่บิดาสามีของนางบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขานั่งปรนนิบัติพัดวีอยู่ เศรษฐีเห็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามาบิณฑบาตยืนอยู่ที่หน้าบ้าน เศรษฐีแกล้งไม่เห็นภิกษุรูปนั้น หันข้างให้พระภิกษุท่าน

นางวิสาขาก็ค่อยถอยออกไปพูดกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “พระคุณเจ้านิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด บิดาของดิฉันกำลังกินของเก่า”

เศรษฐีได้ยินก็โกรธ หาว่าลูกสะใภ้ดูถูกตนว่า “กินอุจจาระ” จึงไล่นางออกจากตระกูลของตน พราหมณ์ทั้ง ๘ คนที่เศรษฐีส่งมาให้ดูแลนางได้ทำการสอบสวนเรื่องราว เรียกทั้งบิดาของสามีและนางวิสาขามาซักถาม

นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาว่าบิดาของสามีนางกิน “อุจจาระ” คำว่า “กินของเก่า” ของนางหมายถึง บิดาสามีของนางได้เกิดเป็นเศรษฐีทุกวันนี้ เพราะ “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน แต่เศรษฐีมิได้สร้างบุญใหม่เลย ท่านเศรษฐีจึงได้ชื่อว่า “กินของเก่า”

พราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ตัดสินว่า นางวิสาขาไม่ผิด และเศรษฐีก็ให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูลเดิมอีกต่อไป แถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีได้นับถือลูกสะใภ้ว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อตน ที่นำตนเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาจึงเรียกขานนางว่าเป็น “มารดาในทางธรรม”

ตั้งแต่บัดนั้นมา นางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า วิสาขา มิคารมาตา (วิสาขา มารดาแห่งมิคาระเศรษฐี)

นางวิสาขาได้ขายเครื่องประดับที่มีค่าแพงของนางชื่อ ลดาปสาธน์ ได้เงิน ๘ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ (ตั้งราคาให้แต่ไม่มีใครซื้อ จึงซื้อเสียเอง) และเพิ่มเงินอีกจำนวน ๙ โกฏิ สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “วัดบุพพาราม”

นางวิสาขาไปวัดทุกเช้าเย็น ดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด บางครั้งก็มีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ด้วย ดังกรณีนางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ

ภิกษุณีรูปหนึ่งอยู่ในปกครองของพระเทวทัต ตั้งท้องก่อนมาบวช เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น ก็เป็นที่โจษจันกัน พระเทวทัตผู้ปกครองสั่งให้นางสละเพศบรรพชิตทันที เพราะถือว่าเป็นปาราชิกแล้ว แต่นางยืนยันในความบริสุทธิ์ของตน จึงไม่ยอมสึกอุทธรณ์ขึ้นไปถึงพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระอุบาลีเถระชำระอธิกรณ์ พระอุบาลีเถระมาขอแรงนางวิสาขาให้ช่วยพิจารณาด้วย นางได้สอบถามวันออกบวช วันประจำเดือนหมด ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คำนวณวันเวลา ได้รายละเอียดทุกอย่างแล้วสรุปว่านางได้ตั้งครรภ์ก่อนบวช จึงไม่มีความผิดทางพระวินัยแต่อย่างใด คำวินิจฉัยนั้นถือว่าถูกต้องยุติธรรม ได้รับการยอมรับจากพระพุทธองค์

ภิกษุณีรูปที่กล่าวถึงนี้ คือมารดาของพระกุมารกัสสปะ พระเถระนักแสดงธรรมผู้มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะ (เป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน เป็นอุบาสิกาตัวอย่างที่ควรดำเนินตามอย่างยิ่ง

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

******
:b44: อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46456

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 12:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


onion

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2022, 12:02 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร