วันเวลาปัจจุบัน 09 ก.ย. 2024, 23:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
อุบาสกผู้มีอุปการคุณต่อพระศาสนา
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รูปภาพ
สุทัตตะ หรือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกที่ป่าสีตวัน
ซึ่งเป็นป่าช้าขนาดใหญ่ มีความวังเวง น่ากลัว เป็นที่เผาศพของชาวเมืองราชคฤห์
ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงกำลังเสด็จเดินจงกรมในเวลาจวนสว่าง
เมื่อทอดพระเนตรเห็นสุทัตตะ ทรงเสด็จลงจากที่จงกรม
แล้วตรัสเรียกว่า “สุทัตตะ มานี่สิ” ครั้นแล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา
ทำให้สุทัตตะได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)
เข้าถึงพระสัทธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วถวายตนเป็นอุบาสก

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

เศรษฐีผู้ใจบุญ

ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับการสถาปนาพุทธบริษัทใน “เอตทัคคะ” (ในตำแหน่งความเป็นผู้เลิศกว่าคนอื่น) ด้านต่างๆ ตรัสถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า เป็นผู้เลิศกว่าบุคคลอื่นในด้านการถวายทาน

ท่านอนาถบิณฑิกะ เดิมชื่อว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถีโดยกำเนิด เป็นบุตรของสมุนะเศรษฐี ชีวิตในวัยหนุ่มเป็นอย่างไร จบการศึกษาชั้นไหน ไม่มีที่ไหนบอกไว้ (หรือมีแต่ผมอ่านไม่พบเองก็ได้) รู้แต่ว่าท่านได้แต่งงานกับสุภาพสตรีนามว่า บุญญลักขณา

อนาถบิณฑิกะกับคุณนายบุญญลักขณา มีบุตรด้วยกัน ๔ คน เป็นชายหนึ่งคน นามว่า กาละ เป็นหญิงอีกสามคน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนา ตามลำดับ

ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยเอาถ่าน ตามธรรมดาของลูกคนมีเงิน แต่พ่อก็มีวิธี “ปราบ” ลูก ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่สุด วิธีอย่างไรค่อยว่ากันภายหลัง เพราะเรื่องบุตรชายบุตรสาวของท่านเศรษฐี มีแง่มุมน่าศึกษาไม่น้อย

สุทัตตะ เดิมนับถือศาสนาอะไร ก็ไม่ชัดเช่นกัน แต่ภายหลังได้ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต หลังจากได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ป่า “สีตวัน” นอกเมืองราชคฤห์


เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งท่านเศรษฐีเดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์ คราวนี้ไม่ได้พักโรงแรมหรูๆ เหมือนเศรษฐีสมัยนี้ (สมัยโน้นอาจจะยังไม่มีก็ได้) ท่านได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านน้องเขยของท่าน ซึ่งเป็นเศรษฐีเมืองราชคฤห์

วันนั้น เศรษฐีน้องเขยท่านกำลังสั่งให้ตระเตรียมอาหาร และจัดสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงเป็นการใหญ่ สุทัตตะสงสัย จึงถามว่าจะมีงานเลี้ยงฉลองอะไรหรือ เลี้ยงต้อนรับใคร ดูท่าจะเป็นงานใหญ่โต

น้องเขยกล่าวว่า กำลังตระเตรียมอาหารถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ซึ่งเสด็จมาเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

พอเขาได้ยินว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เท่านั้น ปีติโสมนัสได้แผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย อยากจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ในบัดเดี๋ยวนั้น น้องเขยบอกว่า ใจเย็นๆ พรุ่งนี้เช้าพระพุทธองค์ก็จะเสด็จแล้วไว้ค่อยเฝ้าพระองค์เวลานั้น

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใคร่จะเข้าเฝ้าพระองค์อย่างยิ่ง ยังไม่ทันรุ่งสางเลย เขาก็ตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ที่พัก เดินมุ่งหน้าไปยังป่าสีตวัน ทั้งๆ ที่ยังมืดอยู่ กลัวก็กลัว แต่ความอยากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์มีมากกว่า จึงข่มความกลัว เดินทางไปจนถึง

ถึงปัจจูสมัยใกล้รุ่ง (คงประมาณตีสี่กว่าๆ) พระพุทธองค์ตื่นบรรทมเสด็จจงกรมอยู่ พอทอดพระเนตรเห็นสุทัตตะเดินเข้ามาใกล้ พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรม ตรัสว่า “สุทัตตะ มานี่เถิด”

สุทัตตะเกิดปีติปราโมทย์เป็นล้นพ้น ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกชื่อท่าน จึงเข้าไปหมอบแทบพระยุคลบาท กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงบรรทมหลับหรือไม่ (คงนึกว่าพระพุทธเจ้าคงนอนไม่หลับเหมือนตนเอง จึงมาเดินท่ามกลางความมืดอยู่เช่นนี้)

พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุทัตตะ ผู้ที่สละกิเลสสละบาปกรรมได้แล้ว ย่อมนอนหลับสบายทุกเมื่อ ผู้ไม่ติดอยู่ในความรัก เป็นผู้เยือกเย็น ไม่มีกิเลสแล้วย่อมนอนหลับสบายทุกเมื่อ ผู้ตัดความผูกพันทั้งปวง ขจัดความเร่าร้อนทุรนในใจได้แล้ว ย่อมนอนหลับสบายทุกเมื่อ”

พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” แก่เศรษฐีเป็นการวางพื้นฐาน สร้างความเข้าใจในเบื้องต้นแก่เศรษฐีก่อน แล้วได้ทรงแสดง “อริยสัจสี่” จนจบ หลังฟังพระธรรมเทศนา สุทัตตะเศรษฐีได้ “ดวงตาเห็นธรรม” แล้วกราบบังคมทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ


ตรงนี้มีคำศัพท์ ๓ คำ ที่คิดว่านักศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากได้ยินบ่อย แต่เพื่อประโยชน์ของอีกหลายท่านที่อาจไม่ “กระจ่าง” เกี่ยวกับคำ ๓ คำนี้ ขออนุญาต “แวะข้างทาง” ตรงนี้สักประเดี๋ยวนะครับ

คำแรกคือ อนุปุพพิกถา หมายถึง “การแถลงตามลำดับ” คือ แถลงเรื่องต่างๆ ๕ เรื่องด้วยกัน

ค่อยๆ ลึกลงตามลำดับ คือ เรื่องทาน (การให้ การเสียสละแบ่งปันให้คนอื่น)

เรื่องศีล (การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม)

เรื่องสวรรค์ (กล่าวถึงความสุข ความเพลิดเพลินส่วนดีของกาม อันเป็นผลที่พึงได้จากการปฏิบัติสองเรื่องข้างต้น)

เรื่องโทษของกาม (กล่าวถึงส่วนเสียของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม)

และเรื่องอานิสงส์การออกจากกาม (กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นในกาม มีใจอิสระจากกามคุณ)

ทั้ง ๕ เรื่องนี้ ทานทำได้ง่ายกว่า ศีลทำได้ยากกว่าทาน ความดี หรือผลแง่บวกของกาม อันเป็นผลของการให้ทานและรักษาศีลละเอียดขึ้นไปอีก แต่ก็พอมองเห็นได้ง่าย

ส่วนการมองเห็นแง่เสีย หรือโทษของกามนั้นยากกว่า ต้องคนที่มีจิตใจละเอียดมากพอสมควร จึงจะมองเห็นได้ ส่วนมากมักตกอยู่ในอำนาจของกามทั้งนั้น บางทีก็พอมองเห็นว่ากามเป็นทุกข์อย่างไร แต่เห็นก็สักแต่เห็น ไม่สามารถบังคับจิตให้อยู่เหนือกามได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติฝึกฝนจิตให้กล้าแข็งขึ้นตามลำดับ

คำที่สอง คือ อริยสัจ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงที่ทำให้คนเป็นผู้ประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค หลักอริยสัจเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา

คำสุดท้าย คือ ดวงตาเห็นธรรม คำนี้แปลมาจากคำบาลีว่า “ธรรมจักษุ” หมายถึง การบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับต้นขึ้นไป

พูดให้ชัดก็คือการเข้าใจสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริงของพระโสดาบันขึ้นไป ธรรมจักษุหรือดวงตาเห็นธรรมนั้นมีหลายระดับ

ระดับต้น หมายถึง การเข้าใจของพระโสดาบัน
ระดับสูง หมายถึง การเข้าใจของพระอริยบุคคลสูงกว่าพระโสดาบัน


ปุถุชนธรรมดาถึงจะเข้าใจอะไร มองเห็นอะไร ก็ไม่มีสิทธิเรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรม แต่ก็เห็นมีคนใช้อยู่


ในคืนวันนั้น (วันที่น้องเขยถวายทานนั่นแหละ) สุทัตตะก็สั่งเตรียมอาหารเป็นการใหญ่ ตระเตรียมภัตตาหารที่ประณีตไว้ถวายพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จมาแล้ว สุทัตตะก็ถวายภัตตาหาร ตรงนี้ภาษาศาสนาเรียกว่า “อังคาสพระพุทธองค์ด้วยมือ”

อังคาส แปลว่า เลี้ยง “เลี้ยงพระด้วยมือ”


ผมเคยมีความเข้าใจว่า ผู้เลี้ยงพระหรือผู้ถวายภัตตาหารพระ จะต้องเข้าครัวทำอาหารเอง ทำอย่างนี้จะได้ “บุญ” มากกว่าซื้ออาหารสำเร็จรูปมาถวาย เพราะมิได้ลงแรงเอง ผมเข้าใจอย่างนั้น แต่เมื่อได้ไปเห็นชาวพุทธลังกาเขาเลี้ยงพระจึงเข้าใจ

ชาวลังกาเขาไม่ประเคนอาหารพระทั้งหมด ถวายจานเปล่าให้พระ แล้วก็ตักข้าวและกับถวาย เมื่อพระท่านฉันหมดแล้วก็เติมให้ พระท่านฉันอิ่มแล้ว ท่านจะยกมือให้สัญญาณว่าพอแล้ว เสร็จแล้วก็ยกขันน้ำและสบู่มาให้ท่านล้างมือ (ชาวลังกา “กินมือ” ส่วนมาก) แล้วก็ถวายผ้าเช็ดมือให้ท่านเช็ดมือ เป็นอันเสร็จพิธีเลี้ยงพระ

นี่แหละครับที่เรียกว่า เลี้ยงพระด้วยมือ ลังกาอยู่ใกล้อินเดีย และพระพุทธศาสนาในลังกาเป็น “สายตรง” จากอินเดีย (ไทยเรารับมาจากลังกาอีกต่อหนึ่ง) ประเพณีของชาวลังกาโยงย้อนกลับไปยังสมัยพุทธกาลได้ใกล้กว่าไทย

ผมเข้าใจว่าสมัยพุทธกาล การเลี้ยงพระด้วยมือ ก็คงจะเป็นอย่างที่ผมเห็นมานี้ก็ได้


เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยภัตตาหารเสร็จ ทรงอนุโมทนาแล้ว สุทัตตะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรดชาวเมืองสาวัตถีบ้าง พระพุทธองค์ตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในเสนาสนะอันสงัด”

สุทัตตะก็ทราบทันทีว่าจะทำอย่างไร จึงกราบทูลว่า “ข้อนั้น ข้าพระองค์ทราบพระเจ้าข้า”

สุทัตตะเศรษฐีกลับไปเมืองสาวัตถีแล้ว ก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่จะสร้าง “เสนาสนะอันสงัด” คือ สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า สำรวจอยู่หลายวัน ในที่สุดก็ไปชอบใจสวนของเจ้าเชต จึงเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตเธอก็ไม่ประสงค์จะขาย จึงโก่งราคาชนิดที่ “แพงจังฮู้” เชียวแหละครับ

แพงขนาดไหนเอาไว้ต่อคราวต่อไปครับ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สร้างพระเชตวัน

เจ้าเชต ที่กล่าวถึง (ในครั้งก่อน) คือ เชตกุมาร ว่ากันว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล นาม “เชต” แปลว่า ผู้ชนะ

ที่ได้พระนามอย่างนี้ท่านว่า ด้วยเหตุผล ๓ ประการ ประการใดประการหนึ่งคือ

๑. เพราะพระราชกุมารเป็นผู้ชนะศัตรู

๒. เพราะพระราชกุมารประสูติ เมื่อครั้งพระราชบิดา (พระเจ้าปเสนทิโกศล) ทรงรบชนะศัตรู

๓. ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น แต่ได้พระนามนี้เพราะพระราชบิดาเห็นว่าเป็นมงคลนาม จึงพระราชทานให้ หลักฐานจากฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระราชมารดาของเชตกุมาร คือ พระนางวรรษิกา คงมิได้เป็นอัครมเหสี เพราะอัครมเหสีคือ พระนางวาสภขัตติยา


เชตกุมาร กับ วิทฑูฑภะ ไม่ทราบว่าใครเกิดก่อนกัน บาลีเรียกว่า “ภาตา” ภาษาฝรั่งเรียกว่า “brother” เลยไม่รู้ว่าเป็นพี่ชายหรือน้องชาย


ผมเดาเอาแล้วกัน เดาว่าเป็นพี่ชาย ที่มิได้เป็นมกุฎราชกุมาร เพราะมิได้เป็นเจ้าฟ้า อาจเป็นเพียง “พระองค์เจ้า”

วิฑูฑภะเมื่อยึดราชสมบัติจากพระราชบิดา (ทั้งๆ ที่เป็นมกุฎราชกุมารอยู่แล้ว) แล้วชวนเชตกุมารไปรบกับพวกศากยะ เพื่อชำระความแค้นแต่หนหลังของตน (เรื่องนี้เล่าไว้ในที่อื่น ประมาณ ๑๐ กว่าหนแล้วกระมัง ยังไม่ขอเล่าอีก) แต่ถูกเชตกุมารปฏิเสธ จึงสังหารเสีย

แต่พระกุมารก็ได้สร้างบุญกุศลไว้มากก่อนสิ้นพระชนม์ เพราะอานิสงส์ที่ได้คบกับสุทัตตะ หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ได้ขอซื้อสวนเจ้าเชต เพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า

ตอนแรก เจ้าเชตปฏิเสธ


เมื่อได้ฟังคำปฏิเสธขายสวนจากเจ้าเชต เศรษฐีก็อ้อนวอนขอซื้อ เรียกว่า ตื๊อจนถึงที่สุด ว่าอย่างนั้นเถอะ

เจ้าเชตจึงพูดว่า “ให้เอากหาปณะ (กษาปณ์) มาเรียงๆ กันจนเต็มพื้นที่ทั้งหมดนั่นแหละ คือราคาของสวนนี้ละ” โอโห อะไรจะ “แพงจังฮู้” ขนาดนั้น

เศรษฐีก็แน่จริงเหมือนกัน สั่งให้ขนกหาปณะออกจากคลังมาปูพื้นที่ เจ้าเชตเห็นความมุ่งมั่นของเศรษฐีจึงร้องว่า พอแล้ว แค่นั้น

ตกลงเศรษฐีจ่ายเงินไป ๑๘ โกฏิ เป็นค่าซื้อที่ดินเท่านั้นครับ

เศรษฐียังจ่ายเงินอีก ๑๘ โกฏิ เป็นค่าก่อสร้าง เช่น สร้างวิหาร หอฉัน กัปปิยะกุฏี (เรือนเก็บของ) เวจกุฏี (ส้วม) ที่จงกรม ศาลาจงกรม บ่อน้ำ ศาลาบ่อน้ำ เรือนไฟ ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี (สระบัว) ตลอดจนตกแต่งบริเวณมณฑลต่างๆ

เจ้าเชตช่วยสร้างซุ้มประตู ๗ ชั้นขึ้นอย่างสวยงาม

เมื่อวัดสร้างเสร็จ ได้ตั้งชื่อว่า “เชตวัน” เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเจ้าเชต ผู้เป็นเจ้าของสวน


แค่นั้นยังไม่พอ เศรษฐีได้จัดงานเฉลิมฉลองวัดเป็นการมโหฬารยิ่ง ใช้เงินเพื่อการนี้ถึง ๑๘ โกฏิ อะไรจะปานนั้นก็ไม่รู้สิครับ


รวมเบ็ดเสร็จ วัดพระเชตวันสร้างด้วยเงินจำนวน ๕๔ โกฏิ คิดเป็นเงินไทยเท่าไหร่ก็คำนวณเอาก็แล้วกัน

เมื่อวัดสร้างเสร็จเรียบร้อย เศรษฐีก็กราบทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์ก็ได้เสด็จมาประทับ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ โปรดเวไนยสัตว์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงนับแต่บัดนั้นมา

ยุคแรกที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ประทับที่วัดพระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ที่นี่เป็นศูนย์กลางแห่งแรกของพระพุทธศาสนา แต่หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองสาวัตถี ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล และเศรษฐีกับเศรษฐีนีสองท่าน คือ อนาถบิณฑิกะ และวิสาขามหาอุบาสิกา

ว่ากันว่า พระพุทธองค์ประทับที่วัดพระเชตวันนี้นานที่สุด พระอรรถกถาจารย์บันทึกรายละเอียดไว้ บอกพรรษาเท่าไหร่ ประทับอยู่ไหน แต่พอตอนท้ายๆ ชักจำไม่ได้ สรุปรวบยอดว่า พรรษาที่เหลือประทับอยู่ที่พระเชตวันเป็นส่วนมาก ว่าอย่างนั้น

บันทึกนั้นมีดังนี้ครับ

พรรษาที่ ๑ ประทับที่อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

พรรษาที่ ๒-๔ ประทับที่พระเวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างถวาย

พรรษาที่ ๕ ประทับที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน แห่งเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี

พรรษาที่ ๖ ประทับที่มกุฏบรรพต

พรรษาที่ ๗ ประทับภายใต้ต้นปาริชาต ณ ดาวดึงส์สวรรค์

พรรษาที่ ๘ ประทับที่เภสกลาวัน ป่าไม้สีเสียด ใกล้สุงสุมารคิรีภัคครัฐ

พรรษาที่ ๙ ประทับที่ป่าลิเลยยกะ เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ

พรรษาที่ ๑๐ ประทับที่หมู่บ้านนาฬายพราหมณ์ (หรือนาลา) ใกล้พุทธคยา แคว้นมคธ
(คัมภีร์พุทธองค์ว่า พรรษาที่ ๑๑)

พรรษาที่ ๑๑ ประทับที่ใต้ต้นสะเดา (ปุจิมันทพฤกษ์) เมืองเวรัญชรา
ตามคำอาราธนาของเวรัญชพราหมณ์
ว่ากันว่ามีเหตุทำให้ทรงเริ่มบัญญัติพระวินัยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

พรรษาที่ ๑๒ ประทับที่ปาลิยบรรพต (หรือจาลิกบรรพต)
หลักฐานบางแห่งว่า พรรษาที่ ๑๘ และ ๑๙ ก็ประทับที่นี่ด้วย

พรรษาที่ ๑๓ ประทับที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี

พรรษาที่ ๑๔ ประทับที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ (ศากยะ)

พรรษาที่ ๑๕ ประทับที่อัคคาฬเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี
ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองพาราณสี

พรรษาที่ ๑๖-๑๘ ประทับที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

พรรษาที่ ๑๙-๔๔ ประทับสลับกันระหว่างพระเชตวันกับบุพพาราม เมืองสาวัตถี
(ที่พระเชตวัน ๑๙ พรรษา ที่บุพพาราม ๖ พรรษา)

พรรษาที่ ๔๕ ประทับที่เวฬุวคาม ใกล้เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี


รูปภาพ
พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
ที่วัดพระเชตวัน (วัดเชตวันมหาวิหาร) เมืองสาวัตถี
กุฏิอันเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงประทับนานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา
ซึ่งด้านหน้ามีซากฐานของพระเจดีย์ทอง


อ่านเพิ่มเติมที่นี่ค่ะ >>>>>
:b44: พระมูลคันธกุฏี ที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=55476

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คนดีเทวดายังเกรง

เมื่อพูดถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐี จะข้ามกิจการหรือผลงานสำคัญของท่านไปไม่ได้ ชาวพุทธสมัยโน้นเรียกท่านโดยนามใหม่ว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่า “ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ”

หมายความว่า ท่านได้ให้ทานประจำ ไม่เฉพาะถวายทานแด่พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งคนอนาถาไร้ที่พึ่ง จำพวกยาจกวณิพกทั้งหลาย ท่านก็ให้เป็นประจำ


คำ “อนาถบิณฑิกะ” นี้ ถ้าไม่แปลตามตัวอักษร แปลเอาความก็คือ “เศรษฐีผู้ใจบุญ” นั่นเอง

ผมเปิดดูพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ อยากจะรู้ว่าเขาแปลคำนี้อย่างไร ก็ปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ที่เขาแปลเหมือนผมเดี๊ยะเลย เขาแปลว่า the benefactor ขอรับ

ความใจบุญของท่านเห็นได้ตั้งแต่วันแรกที่สร้างวิหารเสร็จ ก่อนจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการมโหฬาร ท่านได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านท่าน พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ท่านได้ถวายภัตตาหารที่ประณีต

วันรุ่งขึ้นได้จัดงานเฉลิมฉลองพระวิหารเป็นการใหญ่ เป็นเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืน

หมดเงินสำหรับการนี้จำนวน ๑๘ โกฏิ


รายละเอียดเอาเงินนี้ไปทำอะไรบ้าง ไม่ได้บอกไว้ คงรวมเบ็ดเสร็จหมดทุกอย่าง กล่าวเฉพาะทานที่ท่านถวายประจำ มีดังนี้

- สลากภัต ๕๐๐ ที่ สลากภัต คือ อาหารถวายตามสลากตามปกติ ไม่ได้ทำคนเดียว มักทำในเทศกาล เช่น เทศกาลผลไม้เผล็ดผล เป็นต้น คือ ทายกทั้งหลายต่างคนต่างเอาของมา (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาหาร อย่างอื่นก็ได้) เมื่อเอาของมารวมกันแล้ว ก็ทำสลากจดชื่อเจ้าภาพลงบนกระดาษใบละชื่อ ม้วนรวมกัน แล้วถวายให้พระท่านจับ พระท่านจับได้หมายเลขอะไร ก็ไปรับของจากทายกนั้น แต่เศรษฐีอาจทำคนเดียวกับครอบครัว คือ จัดไว้ ๕๐๐ ที่ เขียนหมายเลขกำกับไว้ แล้วให้พระท่านจับสลากหมายเลขอะไร ก็รับของถวายตามหมายเลขนั้น อย่างนี้ทำเป็นกิจวัตรทุกวันได้ ไม่มีปัญหา

- ปักขิตภัต ๕๐๐ ที่ เช่นเดียวกับสลากภัต แต่ของที่ถวายเป็นข้าวยาคู นัยว่าธรรมเนียมถวายข้าวยาคู เกิดในสมัยอนาถบิณฑิกเศรษฐี กับนางวิสาขามหาอุบาสิกานี้แหละ คือท่านทั้งสองเห็นว่า พระท่านกว่าจะบิณฑบาตได้ข้าวและฉัน ก็มักสายมากแล้ว ท่านคงหิวมาก จึงถวายข้าวยาคูให้ฉัน “เอาแรง” ก่อน ทำนองถวายข้าวต้มแด่พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนี้นั่นแล ว่ากัน (อีก) ว่า สมัยก่อนพระท่านฉันมือเดียวทุกรูป การฉันข้าวยาคูนี้เองได้กลายมาเป็นอาหารมื้อเช้าในเวลาต่อมา

- ปักขิกยาคู ยาคูที่ถวายทุก ๑๕ วัน ๕๐๐ ที่

- ธุวภัต ภัตตาหารที่ถวายทุกวันมิได้ขาด ๕๐๐ ที่

- อาคันตุกภัต อาหารที่ถวายแด่ภิกษุผู้จะเดินทางมาจากที่ไกล ๕๐๐ ที่

- คมิกภัต อาหารที่ถวายแด่ภิกษุผู้จะเดินทางไกล ๕๐๐ ที่

- คิลานภัต อาหารที่ถวายแด่ภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่

- คิลานุปัฏฐากภัต อาหารที่ถวายแก่ผู้พยาบาลภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่

ท่านถวายอย่างละ ๕๐๐ ที่เป็นประจำมิได้ขาด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านเป็น “อัครทายก” (ทายก หรือผู้ถวายทานที่เลิศ)

ผู้ร่ำรวยระดับอภิมหาเศรษฐีอย่างท่านอนาถบิณฑิกะก็มีมาก แต่ในบรรดาเศรษฐีใหญ่เหล่านั้น ไม่มีใครใจบุญทุ่มทรัพย์สินเงินทองเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนามากมายเท่าท่านอนาถบิณฑิกะ ด้วยเหตุนี้สมญานามว่า “เศรษฐีใจบุญ” จึงเหมาะสมกับท่านอย่างยิ่ง

มาคราวหนึ่งเศรษฐกิจ “ตกสะเก็ด” ธุรกิจของท่านประสบปัญหา ทำมาค้าขายขาดทุน เงินทองร่อยหรอลงตามลำดับ แต่ท่านก็ยังถวายทานเป็นประจำเช่นเดิม ไม่ตัดงบส่วนที่กันไว้สำหรับทำบุญแม้แต่บาทเดียว ว่าอย่างนั้นเถอะ คงจะคิดว่าจะจนเพราะทำบุญทำทานก็ให้มันรู้ไป อะไรทำนองนั้นกระมัง

จนเทวธิดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูทนไม่ได้ นัยว่าเพราะสงสารเศรษฐี มาปรากฏตัวต่อหน้าเศรษฐี บอกมิให้เศรษฐีทำบุญทำทานมากนัก ลดลงเสียบ้าง ทำจนยากจนลงทุกวันเห็นไหม อะไรทำนองนั้น

เศรษฐีถามว่า “ท่านเป็นใคร มาพูดอย่างนี้กับข้าพเจ้า”
“เป็นเทวธิดาที่อยู่ซุ้มประตูของท่าน”


เท่านั้นแหละครับ ได้เรื่องเลย เศรษฐีตวาดว่า การที่ได้เกิดเป็นเทพ ไม่ว่าเทพชั้นสูงหรือต่ำเป็นผลจากการทำทาน รักษาศีล ท่านยังไม่รู้หรือ ท่านยังจะมาห้ามมิให้ข้าพเจ้าทำบุญทำทานหรือ เท่ากับว่าเป็นเทพอันธพาล คน เอ๊ย เทพอย่างท่านไม่สมควรอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า จะไปไหนก็ไป

เทวธิดาจึงจำต้องออกจากซุ้มประตูบ้านเศรษฐี เร่รอนไปหาที่อยู่ใหม่ หาที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องกลับมาขอโทษเศรษฐี เศรษฐีก็ยกโทษให้ แล้วอนุญาตให้สิงอยู่ที่เดิมต่อไป

เรื่องอย่างนี้คนธรรมดาที่มองไม่เห็นแล้วเอามาเล่า ก็อาจมีบางคนว่าโม้หรือฝอย แต่เรื่องอย่างนี้ถ้าตนยังไม่สามารถพิสูจน์เองได้ (เพราะไม่มีเครื่องมือพิสูจน์) ก็มิบังควรรีบปฏิเสธ รับฟังท่านไว้ก็ไม่เสียหลาย

ในคราวที่ท่านเศรษฐีตกอับ กิจการค้าขายขาดทุนนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการจาริกไปสั่งสอนประชาชนที่แว่นแคว้นต่างๆ พระองค์ตรัสถามเศรษฐีว่า ยังให้ทานเหมือนเดิมหรือเปล่า เศรษฐีกราบทูลว่า ยังให้เป็นประจำเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าตอนนี้อาหารและสิ่งของที่ถวายมิได้ประณีตเท่าเดิม เพราะเศรษฐกิจซบเซา

พระพุทธองค์ตรัสว่า วัตถุที่ให้นั้นจะเศร้าหมองหรือประณีต (แปลเป็นไทยง่ายๆ คือจะราคาแพงหรือถูก หรือจะดีหรือไม่ดี) ก็ตาม นั่นมิใช่สิ่งสำคัญ เจตนาและความเลื่อมใส ตลอดจนกิริยาอาการที่ให้นั้นสำคัญกว่า

ถ้าให้ด้วยความไม่เคารพ ไม่นอบน้อม มิได้ให้ด้วยมือของตน ให้แบบทิ้งๆ ขว้างๆ สักแต่ให้ ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ทานนั้นไม่ว่าจะประณีตเพียงใด ก็ไม่มีอานิสงส์มาก แต่ถ้าให้ด้วยความเคารพนอบน้อม ให้ด้วยมือของตน ไม่ทิ้งให้เทให้ ให้เพราะเชื่อมั่นในกรรมและผลของกรรม ทานนั้นย่อมมีอานิสงส์มาก

แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องเวลาพราหมณ์ให้เศรษฐีฟัง เพื่อให้กำลังใจแก่เศรษฐี

พราหมณ์คนนี้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี เป็นอาจารย์สอนศิษย์ที่เป็นขัตติยราชกุมารถึง ๘๔ องค์ มีทรัพย์สมบัติมากมาย ให้ทานเป็นการใหญ่ ด้วยจิตศรัทธาเชื่อมั่นในผลของการทำบุญกุศล

จนการให้ทานของเขาเป็นที่รู้กันกว้างขวาง ในนาม “เวลามหายัญ” (ยัญยิ่งใหญ่ของเวลามะ)

พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องนี้แล้ว ทรงสอนต่อไปว่า ทานนั้นไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่ว่าจะสร้างวัดวาอารามมากมายเพียงไร ก็ยังสู้การถึงไตรสรณคมน์ (ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก) การรักษาศีล การเจริญเมตตา และการรำลึกถึงความเป็นอนิจจัง ไม่ได้หมายความว่าสี่อย่างหลังนี้ยิ่งใหญ่กว่าการให้วัตถุเป็นทาน

ทรงเตือนเศรษฐีว่าอย่าขวนขวายแต่เรื่องให้วัตถุทานเพียงอย่างเดียว บำเพ็ญศีลและภาวนาบ้าง

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ท่านเศรษฐีไปวัดบ่อยก็จริง เวลาท่านไปวัดเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นเวลาเช้านำภัตตาหารไปถวายพระองค์และภิกษุสงฆ์ ถ้าหลังจากเวลาฉันแล้ว ท่านก็จะให้นำเภสัช เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้าไปเวลาเย็นก็จะให้คนถือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เป็นต้นไป

ไม่เคยทูลถามธรรมปฏิบัติจากพระพุทธองค์เลย เพราะเกรงว่าพระพุทธองค์จะเหนื่อย อยากให้พระพุทธองค์ทรงพักผ่อนให้มาก หลังจากเทศนาโปรดประชาชนมามากมาย

เศรษฐีท่านคิดอย่างนี้จริงๆ ครับ จนพระพุทธองค์ตรัสเปรยๆ ในครั้งนี้ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีรักษาดูแลพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษาดูแล พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก ก็เพื่อสอนคนอื่น แต่เศรษฐีไม่ชอบฟังธรรม ไม่ยอมซักถามธรรมจากพระองค์เลย


เล่นเอามหาอุบาสกเขิน จนต้องนั่งลงฟังธรรมจากพระองค์เสีย ๑ กัณฑ์ หลังจากได้ฟังธรรมแล้ว เกิดฉันทะในการฟังธรรมยิ่งขึ้น (เพิ่งจะรู้ว่ารสพระธรรมนั้นอร่อยหวานมันแค่ไหน) คราวนี้ก็เลยเป็นนักฟังธรรมตัวยงคนหนึ่ง ไม่ฟังเฉพาะพระพุทธองค์ ยังนิมนต์พระเถระอาวุโสอื่นๆ ไปแสดงธรรมให้ฟังที่บ้านด้วย

พระสารีบุตรดูเหมือนจะได้รับนิมนต์บ่อย แต่พระสารีบุตรท่านเป็นนักวิชาการ อธิบายธรรมแต่ละข้ออย่างละเอียดลึกซึ้ง ผู้ฟังต้อง “ปีนบันไดฟัง” เลยเชียวแหละ ท่านเศรษฐีก็ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายเป็นพิเศษ แทนที่จะใช้ภาษานักวิชาการ ท่านเทศน์ง่ายๆ เศรษฐีฟังแล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหล

กราบงามๆ สามครั้งแล้ว เศรษฐีก็เรียนท่านว่า ทำไมท่านไม่แสดงธรรมะง่ายๆ อย่างนี้ให้โยมฟังบ้าง ต่อไปนิมนต์ท่านแสดงธรรมอย่างนี้เถิด

ธรรมะอะไรที่ท่านพระสารีบุตรแสดงแล้ว อนาถบิณฑกเศรษฐีฟังเข้าใจและขอร้องให้ท่านแสดงง่ายๆ เช่นนี้ต่อไป คราวหน้าจะนำมาเล่าให้ฟังครับ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจากเมืองราชคฤห์ มาพำนักประจำ ณ วัดแห่งใหม่ที่สุทัตตะเศรษฐีกับเจ้าเชตสร้างถวาย อันได้นามภายหลังว่า “วัดพระเชตวันมหาวิหาร” ตามชื่อเจ้าของสวน คือ เจ้าเชต

เป็นอันว่าหลังจากนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับประจำ ณ วัดแห่งนี้นานที่สุดกว่าวัดอื่นๆ แม้นางวิสาขาจะได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น

พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในเมืองสาวัตถี เมืองสาวัตถีจึงกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนาแห่งใหม่แทนเมืองราชคฤห์ด้วยประการฉะนี้

พระราชาแห่งเมืองสาวัตถี คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็สละสิทธิดั้งเดิม (นัยว่าทรงนับถือศาสนาเชนของนิครนถ์นาฏบุตร หรือศาสดามหาวีระ) มานับถือพระพุทธศาสนาพระองค์เป็นชาวพุทธอย่างเคร่งครัด มักหาเวลามาสนทนาธรรม ทูลถามปัญหาจากพระพุทธองค์เสมอ

ฝ่ายสุทัตตะเศรษฐี เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ท่านจึงปรากฏนามเป็นที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่า เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ หมายถึง “ผู้ใจบุญ” นามนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป

คัมภีร์พระพุทธศาสนาก็เรียกท่านโดยนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” จนกระทั่งลืมว่านามเดิมท่านว่ากระไร

มีอยู่คราวหนึ่ง การค้าขายของท่านเศรษฐีขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลงแต่ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม จนเทวดาที่สิงอยู่ตรงซุ้มประตูมาเตือนให้ท่านลดการถวายทานลงบ้าง เทวดาเตือนด้วยความเป็นห่วง

แต่เศรษฐีพอรู้ว่าผู้ที่มาเตือนคือเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านตน จึงขับไล่เทวดาออกไป

เทวดาตนนั้นไม่มีที่อยู่ไปขอความกรุณาจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสให้ไปขอขมาเศรษฐีเสีย ซึ่งเธอก็ทำตามที่ทรงแนะนำ เศรษฐีก็ยกโทษให้ และอนุญาตให้อยู่ ณ ซุ้มประตูบ้านตามเดิม

ท่านเศรษฐีมีบุตรชายนาม กาละ เป็นคนเกเรในเบื้องต้น แต่ท่านก็ปราบลูกชายได้ โดยจ้างให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เมื่อเข้าไปฟังธรรมบ่อยเข้า (เพื่อเอาค่าจ้าง) ก็ค่อยเข้าใจธรรมทีละนิดๆ จนในที่สุดก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล และไม่รับค่าจ้างจากบิดาอีกต่อไป

ส่วนลูกสาวของท่านซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามคน แต่ละคนก็เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ลูกสาวคนเล็กได้บรรลุอนาคามิผล ก่อนเสียชีวิตเพราะโรคปัจจุบัน ได้เรียกบิดาของตนว่าน้องชาย เศรษฐีนึกว่าลูกสาว “หลงทำกาละ” (ตายด้วยอาการไม่สงบ) รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสเฉลยว่า ลูกสาวของท่านเศรษฐีมิได้หลงทำกาละ นางได้บรรลุอนาคามิผลสูงกว่าบิดาหนึ่งขั้น ที่นางเรียกบิดาว่า “น้องชาย” นั้นถูกต้องแล้ว


อนาถบิณฑิกเศรษฐีเพราะความเคารพในพระพุทธองค์มาก เห็นพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจทุกวันจนเหน็ดเหนื่อย ไม่อยากให้พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยไปกว่านั้น จึงไม่เคยทูลถามปัญหาธรรมจากพระองค์เลย

จนพระองค์ตรัส (เชิงตำหนิ) ว่า “สุทัตตะดูแลรักษาเราในฐานะที่ไม่ควรดูแลรักษา” หมายความว่ารักพระพุทธองค์ไม่ถูกทาง

หลังจากทรงเตือนอย่างนี้แล้ว ท่านเศรษฐีได้ทูลถามปัญหาธรรมบ้างหรือไม่ ในตำราไม่ได้กล่าวไว้

แต่เชื่อว่าคงปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ เพราะมีหลักฐานปรากฏว่า ท่านชอบฟังธรรมมากขึ้น นิมนต์พระสารีบุตรและพระอานนท์ไปแสดงธรรมให้ฟังเสมอ ครั้งหนึ่งได้ฟังธรรมที่พระสารีบุตรแสดงให้ฟังง่ายๆ รู้สึกซาบซึ้งจนน้ำตาไหล เรียนท่านว่า ขอให้พระคุณเจ้าแสดงธรรมง่ายๆ เช่นนี้ให้ผู้อื่นฟังเสมอเถิด

สมัยหนึ่ง ท่านเศรษฐีป่วยหนัก ได้ส่งคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแทบพระยุคลบาท และขอได้โปรดมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรได้ไปแสดงธรรมให้ฟังด้วย

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระสารีบุตรไปอนุเคราะห์ท่านเศรษฐี พระสารีบุตรไปบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีพร้อมพระอานนท์ เมื่อเห็นท่านเศรษฐีมีอาการหนักมาก แต่สติยังดีอยู่ จึงแสดงธรรมที่เรียกว่า “อนาถปิณฑิโกวาทสูตร” ให้ฟัง

เนื้อพระสูตรกล่าวถึง ไม่ให้ยึดมั่นในจักษุ (ตา) โสตะ (หู) ฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย (ร่างกาย) มโน (ใจ) ไม่ให้ยึดมั่นในวิญญาณ (การรับรู้) ที่อาศัยอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนนั้น ไม่ให้ยึดมั่นในสัมผัสอันเกิดจากตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส ใจได้คิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ให้ยึดมั่นในเวทนา (ความรู้สึก) ที่เกิดขึ้นจากตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส ใจได้คิดเรื่องราวต่างๆ


การแสดงของพระสารีบุตร คงจะสื่อสารได้ด้วยโวหารง่ายๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงได้น้ำตาไหลพราก จนพระเถระถามว่า ท่านก็ได้ปฏิบัติธรรมมานาน ไฉนจึงร้องไห้กลัวตาย

ท่านเศรษฐีกล่าวกับพระเถระว่า มิได้ร้องไห้เพราะเหตุนั้น เพราะว่า ธัมมีกถา (การกล่าวธรรม) อย่างนี้ไม่เคยฟังมาก่อนเลย พระคุณเจ้าแสดงธรรมได้เข้าใจง่ายมาก

ต่อไปขอนิมนต์ท่านได้กล่าวธัมมีกถาเช่นนี้แก่คฤหัสถ์ให้มากเถิด

เมื่อพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับไปไม่นาน อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม ว่ากันว่าท่านไปเกิดเป็นเทพบุตร นาม อนาถบิณฑิกเทพบุตร บนสวรรค์ชั้นดุสิต วันดีคืนดีก็มาเฝ้าพระพุทธองค์ กล่าวโศลกธรรมถวายดังนี้

“พระเชตวันนี้ได้เกื้อกูลประโยชน์ เป็นสถานที่พระผู้แสวงคุณธรรมพักอาศัย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชาได้ประทับอยู่ ก่อให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ การกระทำ, ความรู้, ธรรมะ (ความดีงาม), ศีล และการดำรงชีวิตที่ประเสริฐเหล่านี้ ที่ทำให้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์ หาใช่โคตรหรือทรัพย์ไม่ เพราะฉะนั้น บัณฑิตเมื่อเห็นประโยชน์ตน พึงพินิจพิจารณาธรรมโดยอุบายแยบคายด้วยการกระทำเช่นนี้เท่านั้น จึงจะบริสุทธิ์ได้ พระสารีบุตรเป็นภิกษุที่ลุถึงจุดสุดยอดแห่งพรหมจรรย์ (บรรลุอรหัตผล) แล้ว มีปัญญา มีศีล และความสงบ นับเป็นยอดในเรื่องนี้แล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงเรื่องนี้ พระอานนท์กราบทูลถามว่า เทพบุตรที่มากล่าวโศลกธรรมนี้ ข้าพระองค์เดาว่าเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีใช่หรือไม่

พระพุทธองค์ตรัสว่า “อานนท์ เธอเดาได้ถูกต้องแล้ว”

เรื่องราวของท่านอนาถบิณฑกะโดยพิสดารนั้น ขอให้อ่าน “ชีวิตตัวอย่าง ชุดที่ ๓ อนาถบิณฑิกเศรษฐีใจบุญ” ซึ่งจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มในไม่ช้านี้ คติชีวิตที่พึงได้จากชีวประวัติของท่านผู้นี้มีมากมาย อาทิ


๑. ความเป็นผู้มั่นคงในการทำความดี ท่านได้นามว่า “ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา” แสดงถึงความเป็นผู้มีใจบุญสุนทานอย่างยิ่ง สร้างโรงทานไว้สำหรับผู้ยากไร้ ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์เป็นนิตย์

ว่ากันว่า เวลาท่านไปวัด ไม่ไปมือเปล่าเลย ถ้าไปเวลาเช้าก็นำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ ถ้าไปเวลาเย็นก็นำเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย อันเป็นเภสัช ไปถวายพระสงฆ์ มั่นคงแน่วแน่ในการทำบุญ

แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจค้าขายขาดทุน กลายสภาพจากเศรษฐีเป็น “คนที่เคยรวย” ท่านก็ไม่งดการทำบุญสุนทาน เคยตั้งงบไว้สำหรับการทำบุญอย่างไร ก็คงทำตามอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูทนเห็นท่านเศรษฐีอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ มาแนะนำให้ลดการถวายทานลงบ้าง ท่านก็ไม่ยอม ดังรายละเอียดได้กล่าวมาแล้ว

๒. ความมีปณิธานแน่วแน่ ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ คุณสมบัติข้อนี้เห็นได้จากการที่ท่านมุ่งมั่นจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ ทั้งๆ ที่น้องเขยบอกว่าให้รอจนถึงรุ่งเช้า พุทธองค์ก็เสด็จมาอยู่แล้ว ท่านก็ไม่รอ เพราะมีความมุ่งมั่นว่าจะเข้าพบฟังธรรมให้ได้ ในที่สุดท่านก็ออกจากคฤหาสน์ของน้องเขยไปเฝ้าพระพุทธองค์จนได้ เมื่อจวนสว่างของคืนวันนั้น

ความมุ่งมั่นอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อท่านตัดสินใจจะขอซื้อสวนจากเจ้าเชตสร้างวัด ท่านก็เอาให้จงได้ เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แม้ว่าเจ้าของสวนจะโก่งราคา (ให้เอากหาปนะมาปูเต็มพื้นที่) ท่านก็ยอม สั่งให้ขนกหาปณะมาปูพื้นที่ตามที่เจ้าของสวนต้องการ จนกระทั่งเจ้าเชตเห็นในความมีปณิธานแน่วแน่ของท่าน จึงลดราคาให้ และขอมีส่วนในการสร้างวัดด้วย

๓. คุณธรรมประการสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ ความเป็นพ่อที่ดีของลูก ท่านมีลูกชายหนึ่งคน ลูกสาวสามคน ลูกสาวนั้นต่างก็อยู่ในโอวาท ช่วยท่านถวายทานแด่พระสงฆ์ และให้ทานแก่ยาจกและวนิพก อันเป็นกิจวัตรประจำวัน


ตัวท่านเศรษฐีเองมักได้รับเชิญจากประชาชนชาวเมืองสาวัตถี เพื่อไปให้คำแนะนำแก่พวกเขาในการทำบุญทำกุศล เรียกสมัยนี้ว่า เป็น “มรรคนายก” นั้นแล ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน หน้าที่ในการตระเตรียมทานในบ้านจึงตกอยู่กับลูกสาว เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงานออกเรือนไปแล้ว คนรองก็รับหน้าที่ทาน เมื่อคนรองออกเรือนไปแล้ว คนเล็กก็ทำแทน

ส่วนลูกชายคนโตเป็นเด็กเกเร ชอบเที่ยวเตร่หาความสำราญตามประสา “เพลย์บอย” ไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำกิจการงาน ท่านอนาถบิณฑิกะมีเทคนิควิธีในการอบรมลูก เมื่อว่ากล่าวตักเตือน ลูกชายไม่รับก็คิดหาทางอื่นที่ได้ผล ในที่สุดก็ใช้วิธี “เอาเหยื่อล่อ” เมื่อลูกชอบใช้เงิน ใช้ทองมาเป็นเครื่องล่อ แต่วางเงื่อนไขว่า ถ้าอยากใช้เงินมากๆ ก็ให้ทำอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์

การจ้างลูกไปฟังธรรมจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ แรกๆ ลูกชายของท่านก็ไปฟังพอเป็นพิธี ไปถึงก็หาทำเลเหมาะนั่งหลับ เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบก็กลับบ้านทวงค่าจ้าง

ทำอย่างนี้ไประยะหนึ่ง พ่อจึงวางเงื่อนไขใหม่ คือให้จำบทธรรมที่ทรงแสดงจำได้มากจะจ่ายให้มาก ด้วยความโลภอยากได้เงินมาก เขาจึงตั้งใจฟัง พยายามจำให้ได้มากที่สุด


เมื่อเขาทำอย่างนี้นานเข้าก็เข้าใจในธรรมที่ทรงแสดง เมื่อเข้าใจมากขึ้นจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เลยไม่เอาค่าจ้างอีกต่อไป แม้ว่าพ่อจะเอาถุงทรัพย์จำนวนมากมามอบให้ต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ บุตรชายก็ปฏิเสธ เพราะเขาได้พบขุมอริยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์ภายนอกแต่อย่างใด

ในที่สุด ด้วยเทคนิควิธีอันแสนชาญฉลาด อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็กลับใจบุตรชายได้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเรเกตุง ลองนำวิธีของท่านอนาถบิณฑิกะไปใช้บ้างก็ดีนะครับ เผื่อจะได้ผล ถึงจะเสียเงินมาก แต่ถ้าลูกกลับกลายเป็นเด็กดี ก็คุ้มเกินคุ้มครับ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

จ้างลูกชายฟังธรรม (นายกาละ)

คราวนี้ขอ “โฟกัส” ไปยังชีวิตภายในครอบครัวของท่านเศรษฐีก่อน

ดังที่เล่ามาแล้วว่า ท่านเศรษฐีมีบุตรชายโทนกับบุตรสาวอีกสามคน

บุตรสาวทุกคนใจบุญสุนทานตามอย่างบิดาเลยทีเดียว บิดาจึงมอบให้ดูแลเกี่ยวกับการทำบุญเลี้ยงพระด้วย

พระที่รับนิมนต์มาฉันบ้านเศรษฐีประจำ มีจำนวนวันละพันรูป ที่บ้านจึงต้องมีผู้คนตระเตรียมอาหารถวายพระ ยังกับมีงานมหรสพทุกวันก็ว่าได้


มหาสุภัททา ลูกสาวคนโต เป็นแม่งานใหญ่ดูแลสั่งการทุกอย่าง งานดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยตลอดมา พอมหาสุภัททาแต่งงานออกเรือนไปแล้ว น้องสาวคนรองคือ จุลสุภัททา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน ครั้นจุลสุภัททาแต่งงานไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่สามีแล้ว น้องคนสุดท้องชื่อ สุมมาเทวี รับหน้าที่แทน

ครับ มีลูกสาวก็ดีอย่างนี้แหละ แบ่งเบาภาระได้ ตัวท่านเศรษฐีนั้นไม่มีเวลาว่างเลย ไปเป็นที่ปรึกษาในกิจการงานบุญของชาวบ้านตลอดเวลา เพราะท่านเป็นผู้ใกล้ชิดพระศาสนา ใกล้ชิดพระสงฆ์ ใครจะทำบุญเลี้ยงพระ หรือจัดงานบุญอื่นๆ ต้องมาขอคำแนะนำจากท่านอนาถบิณฑิกะตลอด

งานภายในบ้านต้องมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของบุตรสาว

แล้วบุตรชายคนโตและคนเดียวของเศรษฐีเล่า ไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ

ในเบื้องต้นแล้วไม่ได้ช่วยอะไรเลยครับ เป็นบุตรไม่เอาถ่าน เอาแต่เที่ยวเตร่เป็นเพลย์บอยตามประสาลูกมหาเศรษฐี

ดีว่าสมัยโน้นไม่มีรถซิ่ง ถ้ามีแกคงซิ่งรถแข่ง ไม่มีโอกาสตายตอนแก่ (รถคว่ำตาย) ก็อาจเป็นได้

ท่านเศรษฐีเองก็ “เจ๊กอั่ก” ที่มีลูกชายไม่เอาไหน แต่ท่านก็ใจเย็น คอยหาวิธีอบรมลูกชายด้วยความอดทน สารพัดเทคนิควิธี ท่านได้คิดค้นออกมาเพื่อจะปรับเปลี่ยนนิสัยของลูกชาย แต่ก็ไม่เป็นผล

ในที่สุด ท่านก็คิดได้วิธีหนึ่งขึ้นมาคือ “จ้างลูกไปฟังธรรม”

ท่านเรียกลูกชายมาต่อรองว่า ถ้าลูกไปฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงวันละครั้ง พ่อจะให้เงินเท่านั้นเท่านี้ คงให้มากโขกอยู่ ลูกชายจึงตกลงไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวันทุกเย็น ว่ากันว่า แกไปวัดเพราะอยากได้เงิน มิใช่อยากได้ความรู้ธรรม

เมื่อไปถึงก็มองหาทำเลเหมาะนั่งฟังธรรม แลเห็นใต้ธรรมาสน์เหมาะเหม็งดี จึงคลานเข้าไปนั่งฟังธรรม หลับไปอยู่ตรงนั้นเอง เมื่อฟังจบก็ลุกขึ้นกลับบ้าน แบมือทวงค่าจ้าง “ไหนเงิน”

“กินข้าวกินปลาก่อนค่อยเอาก็ได้” คุณพ่อบอก

“ไม่ได้ ต้องเอาเงินมาก่อน” ลูกชายกลัวเบี้ยว เศรษฐีต้องเอาถุงเงินมาวางไว้ตรงหน้า พอเจ้าประคุณจึงจะยอมกันข้าว

เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้พอสมควร วันหนึ่ง พ่อบอกลูกชายว่าถ้าลูกฟังแล้วจำได้วันละบท พ่อจะให้บทละเท่านั้นเท่านี้ ถ้าจำได้มาก พ่อก็จะให้มาก

บุตรชายดีใจมากที่พ่อจะขึ้น “ค่าตัว” จึงตั้งใจฟังตั้งแต่ต้น

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า เด็กหนุ่มต้องการจดจำพระธรรมให้ได้มากที่สุด พระพุทธองค์จึงแสดงธรรมให้เขาค่อยกำหนดทีละประโยค จนกระทั่งจบพระธรรมเทศนา เขาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เขาได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านเขาในวันรุ่งขึ้น

วันนั้นเขารีบกลับบ้าน รีบกินข้าว ไม่พูดถึงเงินค่าจ้างเลย รุ่งเช้าขึ้นมาเขาก็รีบไปวัดพระเชตวัน อุ้มบาตรพระพุทธองค์ตามเสด็จมาถึงคฤหาสน์ของตน ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์และพระสงฆ์ “ด้วยมือของตน”


ตรงนี้ขอแทรกนิดหน่อย สำนวนภาษาว่า “เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยมือของตน” มิใช่เข้าครัวทำกับข้าวเอง

เป็นประเพณีชาวชมพูทวีปสมัยโน้น เวลาจะถวายอาหารพระ ญาติโยมจะถวายภาชนะ (จานหรือชาม) เปล่าหนึ่งใบ ตัวเองก็ถือขันข้าวและแกงกับตักถวายพระท่านลงในภาชนะเดียวกัน (สมัยพุทธกาล พระท่านฉันในบาตรส่วนมาก) พระท่านก็ “ฉันมือ” (คือใช้มือแทนช้อนส้อม) ถ้าท่านพอแล้วก็ยกมือเป็นสัญญาณว่าพอแล้ว เสร็จแล้วก็ถวายน้ำล้างมือและผ้าเช็ดมือ อย่างนี้เรียกว่า “เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยมือของตน”

เมื่อพระพุทธองค์พร้อมภิกษุเสวยเสร็จ จะประทานอนุโมทนา เศรษฐีผู้เป็นพ่อก็นำเอาถุงทรัพย์ถุงใหญ่มาวางไว้ต่อหน้าลูกชาย กล่าวดังๆ ว่า “เอ้า นี่ค่าจ้างฟังธรรม รับไว้ซะ” ลูกชายถลึงตาใส่พ่อว่า อย่าพูดอย่างนั้น พ่อยังไม่ “เก็ต” กล่าวว่า ค่าฟังธรรมของลูก รับไว้เสีย เล่นเอาบุตรชายเศรษฐีหน้าแดงด้วยความละอาย

พระพุทธองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไรมาตั้งแต่ต้น พระองค์ตรัสกับเศรษฐีว่า “อนาถบิณฑิกะ” บัดนี้บุตรชายท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ไม่ยินดีรับทรัพย์ภายนอกใดๆ เพราะได้ทรัพย์ภายในแล้ว” เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสคาถาสอนธรรมสั้นๆ บทหนึ่งว่า

ปฐพฺยา เอกรชฺเชน สคฺคสฺส คมเนน วา
สพฺพโลกาธิปจฺเจน โสดาปตฺติผลํ วรํ

ยิ่งกว่าเอกราชทั่วแผ่นดิน ยิ่งกว่าขึ้นสวรรคาลัย
ยิ่งกว่าอธิปไตยในโลกทั้งปวง คือพระโสดาปัตติผล


Than sole sovereignty over the earth, than going to celestial worlds,
than lordship over all the worlds, is the fruit of a stream-winner.

ก็เป็นอันว่า ท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกชายได้สำเร็จ หมดเงินไปเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่ก็คุ้ม เพราะหลังจากนั้น
นายกาละ ลูกชายโทนของท่านก็เป็นอุบาสกคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ผู้เป็นพ่อเองก็ “ตายตาหลับ” ว่าอย่างนั้นเถิด

มีลูกไม่ดีนี่ อย่าว่าแต่จะตายตาไม่หลับเลยครับ ขณะยังไม่ตายนี่แหละ กลุ้มอกกลุ้มใจดุจไฟลน เรื่องของโลกก็อย่างนี้แหละ ไม่มีบุตรชายก็กลุ้ม เพราะค่านิยมถือว่าบุตรชายเป็นผู้สืบสกุล ถึงกับพูดว่า “แต่งงานแล้วไม่มีบุตรสืบสกุล จะตกนรกขุมปุตตะ” พอมีบุตรชายมา บุตรชายไม่เอาไหน เกเรเกตุง ก็ “ตกนรก” อีกเช่นกัน

เพราะเหตุนี้แหละ เมื่อเทวดาองค์หนึ่งมากล่าวภาษิตถวายพระพุทธองค์ว่า “คนมีบุตรย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร” พระองค์ตรัสว่า ไม่ถูกดอก นั่นมันมองโลกแบบโลกียชน ในสายตาของพระอริยเจ้าแล้วท่านเห็นตรงกันข้าม ท่านเห็นว่า “คนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร” ต่างหาก

ท่านผู้อ่านละครับ จะถือข้างไหน

คือจะเสมอข้าง “คนมีบุตร เพลิดเพลินเพราะบุตร” หรือ “คนมีบุตร เศร้าโศกเพราะบุตร” หรือจะเอาทั้งสองอย่าง เพลิดเพลินก็เอา เศร้าโศก (ถึงไม่เต็มใจ) ก็ยอมรับ สำหรับผมขอจบแค่นี้ก่อน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : keathadhammaboththai

กาละ บุตรเศรษฐีเกเรผู้กลับใจ

ชีวิตนี้ถือเป็นบทเรียนที่คุ้มค่าที่สุด น่าจะเป็นชีวิตของคนประเสริฐ ที่เรียกว่า “ต้นคดปลายตรง” หรือคนที่เหลวไหลมาก่อน ภายหลังกลับเนื้อกลับตัว

คนอย่างองคุลิมาลก็ดี พระเจ้าอโศกก็ดี เป็นแบบอย่างชีวิตที่น่าชื่นชม ที่พลาดถลำลงแล้วไม่ถลำลึกลงไปอีก รู้สำนึกตน ปรับปรุงตนให้ดีขึ้น และทำประโยชน์แก่สังคมให้มากขึ้น

แม้ไม่ได้ทำความดีอะไรแก่สังคมให้เป็นที่ปรากฏ เพียงการที่เขากลับตัวเป็นคนดี ก็มีส่วนได้ช่วยสังคมแล้ว คือ สังคมจะได้เอาเป็นแบบอย่าง สั่งสอนลูก หลาน เหลน เลียด (จากเหลนเป็น “เลียด” ครับ มิใช่ “โหลนๆ”) ต่อๆ ไป


นายกาละ ก็เป็นคนหนึ่งที่ควรนำมาพูดถึง

นายกาละเป็นบุตรโทนของท่านสุทัตตะเศรษฐี (ต่อมาเรียกขานกันในชื่อว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี) ในขณะที่บุตรสาวคนอื่นๆ ของเศรษฐีเป็นบุตรในโอวาท ช่วยกิจการงานของครอบครัว กาละ บุตรชายโทน เอาแต่เที่ยวเตร่ ดื่มกิน สนุกสนานกับเพื่อนๆ ลูกชายคนร่ำรวยอื่นๆ

เศรษฐีผู้เป็นบิดาจะตักเตือนสั่งสอนอย่างไรก็ไม่ฟัง หรือฟังแต่ก็เข้าหูซ้าย ออกหูขวา

ผู้ที่เดือดร้อน คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้บิดา เพราะตัวท่านเป็นผู้สนใจใคร่ธรรม เป็นผู้ถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ถวายทานแก่พระสงฆ์เป็นประจำทุกวัน บุตรสาวแต่ละคนก็ช่วยกันรับหน้าที่ดูแลงานแทนท่าน เมื่อบุตรสาวคนโตออกเรือนแล้วก็ได้บุตรสาวคนรอง เมื่อคนรองออกเรือนไปอีกคน ก็ได้บุตรสาวคนเล็กช่วยดูแล


ตัวท่านเองนั้นก็ได้รับเชิญไปให้ปรึกษาแก่ทายกทายิกาที่เขาทำบุญทำกุศลแทบทุกวันก็ว่าได้ จึงไม่มีเวลาดูแลเอง การบริหารกิจการเกี่ยวกับงานบุญงานกุศลประจำบ้าน จึงตกเป็นหน้าที่ของบุตรสาวทั้งสาม

ภาระหน้าที่นี้ แทนที่บุตรชายจะได้ช่วยแบ่งเบาบ้าง ก็พึ่งพาอาศัยไม่ได้เพราะเธอเอาแต่เที่ยวเตร่ แค่นั้นยังไม่เท่าไร ที่สำคัญทำให้ “ขายหน้า” ประชาชนนี้สิครับ พ่อเป็นคนธรรมะธัมโม แต่ลูกไม่เอาไหน รู้ถึงไหนอายถึงนั่น เขาหาว่าพ่อไม่มีปัญญาอบรมลูก

นี่แหละคือสิ่งที่ทิ่มแทงใจของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตลอดมา พยายามคิดหาวิธีการจะให้ลูกชายกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีได้

วันหนึ่งท่านก็คิดหาวิธีได้ คือจ้างให้ลูกไปฟังธรรม ท่านเรียกบุตรชายมาบอกว่า พ่อจะให้เงินเจ้าใช้วันละเท่านั้นเท่านี้ (ตำราไม่ได้บอกว่าให้วันละเท่าไร แต่คงมากพอสมควร) ขอให้ลูกไปฟังธรรมทุกวัน

ลูกชายตอบรับด้วยความดีใจ (ดีใจที่จะได้เงิน) ไปวัดพระเชตวันทุกเย็น เพราะทุกเย็นพระพุทธเจ้าจะประทับนั่งแสดงธรรมแก่ประชาชนจำนวนมาก กาละเข้าไปนั่งอยู่ใต้ธรรมาสน์ฟังธรรม ฟังไปได้หน่อยหนึ่งก็หลับ จะตื่นขึ้นมาก็ต่อเมื่อพระธรรมเทศนาจบ

แล้วก็รีบลงศาลากลับไปบ้าน รายงานให้พ่อทราบ พร้อมแบมือขอค่าจ้างเศรษฐีก็จ่ายให้ตามสัญญา เหตุการณ์ผ่านไปนานพอควร พ่อจึงกล่าวว่า “ถ้าลูกจำข้อธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงได้ พ่อจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นบทละเท่านั้นเท่านี้” (ราคาเท่าไรก็ว่ากันไป)

ด้วยความโลภในทรัพย์ นายกาละก็รับปากทันที วันรุ่งขึ้นไปนั่งใต้ธรรมาสน์เช่นเดิม คราวนี้ไม่นั่งหลับ ใจจดใจจ่อทีเดียว พยายามกำหนดเนื้อหาของธรรมที่ทรงแสดง เพื่อจะจำเอามากๆ ไปแลกค่าจ้าง

พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เขาลืม เมื่อลืมก็ตั้งใจจำบทต่อๆ ไปอย่างนี้ไปจนจบ ว่ากันว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดเขาโดยเฉพาะ เมื่อจบพระธรรมเทศนา เขากลับจำเนื้อความได้หมดและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน


เขาเข้าไปกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท ทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านในวันรุ่งขึ้น เช้าขึ้นมาเขาไปวัด อุ้มบาตรของพระพุทธองค์ตามเสด็จมายังคฤหาสน์ของตน

เศรษฐีผู้เป็นพ่อแปลกใจอยู่ที่ไม่เห็นลูกทวงเงินค่าจ้างเมื่อวันนี้ วันนี้ก็เห็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รู้สึกปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก

มาถึงบ้านเขาได้กุลีกุจอช่วยคนในบ้าน “อังคาสพระ” (เลี้ยงอาหารพระ) ยังกับคนคุ้นวัดคุ้นวามาเป็นสิบๆ ปี เศรษฐีผู้พ่อยกถุงเงินค่าจ้างมาห่อใหญ่ วางไว้ตรงหน้าบุตรชาย “เอ้า ลูก นี่คือค่าจ้างของลูก รับไว้เสีย” (นึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมวันนี้ลูกชายไม่ทวงค่าจ้าง)

นายกาละทำท่าทางอิดเอื้อน ไม่ยอมรับถุงเงิน แม้ว่าพ่อจะคะยั้นคะยออย่างไรก็ตาม

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องว่าอะไรเป็นอะไร จึงตรัสกับเศรษฐีว่า สุทัตตะ บุตรชายท่านไม่ต้องการทรัพย์ภายนอกใดๆ ต่อไปแล้ว เพราะเธอได้บรรลุโสดาปัตติผลอันเป็นอริยทรัพย์ มีค่ามากกว่าทรัพย์ภายนอกแล้ว แล้วตรัสโศลกธรรมบทหนึ่งว่า

ยิ่งกว่าเอกราชเหนือแผ่นดิน
ยิ่งกว่าขึ้นสวรรคาลัย
ยิ่งกว่าอธิปไตยในโลกทั้งปวง
คือพระโสดาปัตติผล


เป็นอันว่าวิธีจ้างลูกเกเรฟังธรรมของอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ผล ใครจะจำเอาไปใช้บ้างก็คงดีไม่น้อย
อย่างน้อยถ้าใช้วิธีอื่นล้มเหลวมาแล้ว น่าจะลองวิธีนี้ดูบ้าง

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกผมว่า ท่านก็เคยจ้างลูกชายซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย อ่านหนังสือ “สองทศวรรษในดงขมิ้น” ของ ไต้ ตามทาง

ผมถามว่าทำไมต้องจ้าง

ท่านบอกว่า หนังสือดีๆ แบบนี้ อยากให้ลูกอ่าน บอกเฉยๆ มันไม่อ่าน จึงจ้าง

และว่าต่อไปว่า บรรยากาศอย่างนี้ (อย่างที่บรรยายไว้ในหนังสือ) ต่อไปคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น

ลืมถามว่าได้ผลเหมือนอนาถบิณฑิกะหรือไม่

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ลูกสาวคนโตและคนรอง
(มหาสุภัททา กับ จุลสุภัททา)

เล่าเรื่องลูกชายคนโตของอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาแล้ว คราวนี้มาเล่าเรื่องลูกสาวของท่านบ้าง หมดเรื่องลูกสาวแล้วค่อยเล่าเรื่องภรรยา

ท่านเศรษฐีมีลูกสาวสามคน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนาเทวี

ในตำราระดับอรรถกถาเล่าเรื่องของนางมหาสุภัททากับนางจุลสุภัททา ปนกันจนเป็นเรื่องคนเดียวกัน

เรื่องที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ ในคัมภีร์อรรถกถาแห่งอังคุตตรนิกายว่าเป็นเรื่องของพี่สาว (มหาสุภัททา) แต่ในอรรถกถาธรรมบท (อรรถกถาแห่งขุททกนิกาย) บอกว่าเป็นเรื่องของจุลสุภัททา

เรื่องมีดังนี้

สมัย
อนาถบิณฑิกเศรษฐียังหนุ่มแน่น มีสหายรักอยู่คนหนึ่ง ชาวเมืองอุคคนคร ทั้งสองคนรู้จักกันและได้เป็นสหายกัน เพราะเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน ทั้งสองได้สัญญากันว่า เมื่อต่างคนต่างแต่งงานมีลูกมีเต้าแล้ว ถ้าใครมีลูกชายก็ขอให้หมั้นหมายกับลูกสาวของอีกฝ่ายหนึ่ง

หลังจากเรียนจบกลับมาบ้านเมืองของตน ทั้งสองต่างก็ได้เป็นเศรษฐี เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่บ้านเมืองของตน

วันหนึ่ง อุคคเศรษฐี เดินทางไปด้วยเรื่องธุรกิจที่เมืองสาวัตถี ได้ทราบว่าสุทัตตะ (นามเดิมของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) มีบุตรสาวถึงสามคน ตนมีลูกชายคนหนึ่ง จึงทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้สมัยยังเป็นนักศึกษา

เศรษฐีจึงเรียกจุลสุภัททา (อรรถกถาอังคุตตรนิกายว่าเป็นมหาสุภัททาผู้พี่) บอกว่าพ่อได้หมั้นหมายเจ้าไว้กับลูกอุคคเศรษฐี ตั้งแต่ลูกยังไม่เกิด บัดนี้เขามาทวงสัญญาแล้ว ลูกจะต้องแต่งงานกับลูกชายเขา

ธรรมเนียมสมัยโน้น แน่นอนย่อม “คลุมถุงชน” เป็นปกติธรรมอยู่แล้ว ลูกสาวจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อแม่ งานแต่งงานอันใหญ่โตโอฬารก็เกิดขึ้น

สมัยโน้น ฝ่ายหญิงต้องไปอยู่กับตระกูลฝ่ายสามี พ่อแม่จึงให้โอวาทสอนแล้วสอนอีกว่า แต่งงานแล้วจะต้องปรนนิบัติพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร โอวาท ๑๐ ข้อที่พ่อนางสุภัททาสอนนางนั่นแหละครับ เป็นโอวาที่พ่อแม่ทุกคนนำมาสอนลูก

โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ
๑. ไฟในอย่านำออก (อย่านำเรื่องภายในครอบครัวไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง)
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า (อย่าเอาเรื่องของคนข้างนอกมานินทาให้ครอบครัวฟัง)
๓. จงให้คนที่ให้ (คนยืมของแล้วคืน มายืมอีกจงให้)
๔. อย่าให้คนไม่ให้ (คนที่ยืมของแล้วไม่คืน ภายหลังอย่าให้ยืมอีก)
๕. จงให้คนที่ไม่ให้ (ญาติพี่น้อง ถึงเขายืมแล้วไม่คืนก็ให้)
๖. นั่งให้เป็นสุข (นั่งในที่ไม่ต้องลุก คืออย่านั่งขวางทางคนอื่น)
๗. นอนให้เป็นสุข (อย่านอนขวางทางคนอื่น)
๘. กินให้เป็นสุข (ไม่กินในที่ที่ขวางทางคนอื่น)
๙. จงบูชาไฟ (ให้ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี)
๑๐. จงบูชาเทวดา (ให้ทานต่อสมณชีพราหมณ์)


เวลาพ่อจะส่งลูกสาวให้ไปอยู่กับตระกูลสามี พ่อได้ส่งกฎุมพี ๘ คน ไปเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลลูกสาวด้วย ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับลูกสาว ก็ให้กฎุมพีทั้ง ๘ ช่วยวินิจฉัยด้วย คล้ายส่งที่ปรึกษาไปช่วยดูแลแทนนั้นแหละครับ


ว่ากันว่า ตระกูลสามีเป็น “มิจฉาทิฐิ” ในความหมายนี้ก็คือ พวกเขานับถือสมณชีพราหมณ์ลัทธิอื่น

นัยว่าตระกูลนี้นับถือพวกชีเปลือย
(ศาสนาเชน หรือนิครนถ์นาฏบุตร) ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในอินเดียสมัยโน้น


เวลามีงานมงคล พ่อสามีจะสั่งสอนให้ลูกสะใภ้มาไหว้สมณะที่เขาเคารพนับถือ นางก็ไม่ค่อยไป เมื่อบ่อยเข้าพ่อสามีก็หาว่าลูกสะใภ้หัวแข็ง ไม่เคารพต่อสามี มีความผิดมหันต์ถึงขั้นต้องส่งกลับตระกูลเดิม

ว่ากันว่า สตรีที่ตระกูลของสามีส่งกลับบ้าน นับว่าเป็นกาลกิณีใหญ่หลวง เป็นความอัปยศอย่างสุดประมาณ เผลอๆ พ่อแม่อาจไม่รับคืนบ้าน ขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ที่อื่นอีกต่างหาก

สุภัททาเธอเห็นว่า เรื่องจะไปกันใหญ่ จึงเล่าเรื่องให้กฎุมพี ๘ คนฟัง

กฎุมพีทั้ง ๘ จึงไปไกล่เกลี่ยไม่ให้เศรษฐีเอาเรื่อง เพราะนางไม่ผิด นางมีสิทธิ์นับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ที่ตนเลื่อมใส ไม่ควรบังคับให้นับถือชีเปลือย


ภรรยาเศรษฐียังไม่วายบ่น ว่าลูกสะใภ้ฉันมันหัวแข็งและปากไม่ดี หาว่าพระของพวกฉันไม่มียางอาย อยากรู้นักว่า พระของนางดีเด่นแค่ไหน

สุภัททาจึงกล่าวโศลกพรรณนาคุณของพระของนางให้ฟัง ดังนี้ครับ

ท่านมีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ยืนเดินเรียบร้อย มีจักษุทอดลงต่ำ พูดพอประมาณ สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

กายกรรมหมดจด วจีกรรมหมดจด มโนกรรมก็หมดจด สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

ท่านบริสุทธิ์ ไร้มลทิน ดุจสังข์ขัด และดุจมุกดามณี บริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก ด้วยธรรมอันหมดจด สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

ชาวโลกฟูเมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ฟุบเมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ และนินทา

สมณะของฉันไม่ฟูหรือฟุบ ไม่ว่าจะมีลาภหรือเสื่อมลาภ มียศหรือเสื่อมยศ มีสรรเสริญหรือนินทา จิตใจท่านมั่นคง สมณะของฉันเป็นเช่นนี้


แม่สามีกล่าวว่า เธอจงแสดงสมณะของเธอให้ฉันดูเดี๋ยวนี้ นางรับว่า ได้ พรุ่งนี้ฉันจะนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านให้ดูเป็นขวัญตา ว่าแล้วนางก็ขึ้นบนปราสาทชั้นบน ผินหน้าไปทางพระเชตวัน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทำการบูชาด้วยดอกไม้ของหอมแล้วกราบทูลอาราธนาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลูกสุภัททาขออาราธนาพระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารที่บ้านของลูกในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด”

เสร็จแล้วก็ซัดดอกมะลิไปในอากาศ ๘ กำ ดอกไม้นั้นลอยหายวับไปกับตาอย่างมหัศจรรย์ แล้วมาตกลงเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน ขณะทรงแสดงธรรมอยู่

หลังทรงแสดงธรรมเสร็จ อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านท่าน พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ตถาคตรับนิมนต์สุภัททา บุตรสาวท่านแล้ว”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุภัททาบุตรสาวข้าพระองค์อยู่ถึงอุคคนคร ไกลลิบเลย นางมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ได้อย่างไร”

ของพรรค์นี้ง่ายนิดเดียว นางสุภัททาเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ย่อมสามารถส่งกระแสจิตมานิมนต์พระพุทธองค์ได้ หรือแม้นางไม่ได้เป็นพระอริยะระดับใด พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นสัพพัญญูย่อมทรงทราบอยู่แล้ว พระองค์มิได้ตอบอนาถบิณฑิกเศรษฐีอย่างนี้ แต่ตรัสเป็นคาถา (โศลกประพันธ์) ว่า

สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล ดุจเขาหิมพานต์ อสัตบุรุษต่างหากแม้อยู่ไกลก็ไม่ปรากฏ ดุจลูกศรที่ยิงในเวลากลางคืน (มองไม่เห็น)

ว่ากันว่า วิสสุกรรมเทพบุตร นิรมิตเรือนยอดใหญ่โตให้พระพุทธองค์ประทับพร้อมภิกษุสงฆ์ แล้วเรือนยอดก็ลอยลิ่วๆ จากพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ไปยังอุคคนคร ปรากฏต่อสายตาครอบครัวอุคคเศรษฐี เป็นที่อัศจรรย์นัก

เศรษฐีเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลยทิ้งศาสนาเดิม หันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะพร้อมครอบครัว ถวายทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ๗ วันติดต่อกัน

เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับเมืองสาวัตถี พระองค์รับสั่งให้พระอนุรุทธะอยู่ก่อน เพื่ออนุเคราะห์นางสุภัททาและครอบครัวสามี


เรื่องที่เล่านี้ไม่รู้ว่าสุภัททาไหน มหาสุภัททาหรือจุลสุภัททา

เอาเป็นว่าสุภัททาบุตรสาวของเศรษฐีก็แล้วกัน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เมื่อลูกกลายเป็นพี่ของพ่อ
(สุมนาเทวี)

ลูกสาวคนโตและคนรองของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อ มหาสุภัททา และจุลสุภัททา ตามลำดับ

สองคนนี้คัมภีร์พระพุทธศาสนาเล่าประวัติปะปนกัน จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นสุภัททาผู้พี่ ใครเป็นสุภัททาผู้น้อง เพราะทั้งสองคนต่างก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และทั้งสองก็ได้แต่งงานกับสามีที่คู่ควรกัน และได้ไปอยู่ที่ตระกูลสามีตามประเพณีของชาวชมพูทวีป

ทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน มีศรัทธาไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย ไม่เหมือนปุถุชนยัง “แกว่ง” ไปมาอยู่

เมื่อเธอทั้งสองเป็นสาวิกาผู้แน่วแน่มั่นคง จึงไม่แปลกที่สามารถ convert ทั้งสามีและพ่อแม่สามี ให้ละทิ้งลัทธิคำสอนเดิมที่ตนเคยนับถือ หันมานับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

เมื่อพี่สาวทั้งสองออกเรือนไปแล้ว หน้าที่ในการดูแลการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ประจำก็ตกอยู่ที่
สุมนาเทวี บุตรสาวคนเล็กของท่านเศรษฐี

ท่านเศรษฐีนั้นคงไม่มีเวลามาดูแล เพราะต้องยุ่งกับธุรกิจค้าขาย และไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดูแลวัดและความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ตลอดถึงเป็นที่ปรึกษาในกิจการงานบุญที่ชาวบ้านอื่นๆ เขาทำด้วย

นัยว่า เวลาชาวบ้านเขาจะทำบุญทำทาน เขาก็มักเชิญท่านเศรษฐีกับนางวิสาขามหาอุบาสิกาไปให้คำปรึกษาหารือ ทำนองมรรคนายก และมรรคนายิกา อะไรอย่างนั้นแหละ

แล้วอย่างนี้ท่านจะมีเวลาที่ไหน ก็ต้องให้ลูกสาวรับหน้าที่ดูแลกิจการภายในบ้านแทน

เมื่อพี่สาวทั้งสองคนออกเรือนไปแล้ว
นางสุมนาเทวี น้องสาวคนเล็กก็ดูแลแทน ส่วนพี่ชายคนโต (นายกาละ) ในช่วงระยะเวลาที่กล่าวถึงนี้ คงเกเรเกตุง คุมผับบาร์ทั่วไป ไม่สนใจเรื่องทำบุญสุนทาน หรือเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งก็เป็นธรรมดา ลูกชายโทนส่วนมากมักจะมีนิสัยออกมาแนวนี้ เพราะถูกเลี้ยงอย่างเอาอกเอาใจ

เดชะบุญที่ในที่สุดท่านเศรษฐีผู้พ่อ “ดัดสันดาน” ได้สำเร็จ เรียกว่าถึงพ่อจะตายก็ตายตาหลับแล้ว ว่าอย่างนั้นเถอะ

วิธีฝึกลูกชายของเศรษฐี (ดังได้เล่าไว้แล้วในตอนก่อน) คือจ้างลูกไปฟังธรรมให้มันแพงๆ มันอยากได้เงินเที่ยวผับเที่ยวบาร์มากๆ มันก็ไปฟังเอง ตอนแรกก็จ้างให้ไปวัดฟังธรรมเฉยๆ ต่อมาจ้างให้มันจดจำคำเทศน์มาด้วย จำได้มากจะให้มาก เมื่อมีเครื่องล่อใจ คนเรามันก็ทำสิครับ แต่เมื่อฟังไปๆ ได้ความรู้มากขึ้น ก็ได้สำนึกขึ้นมาเอง ดังกรณีนายกาละคนนี้

พ่อแม่ท่านใดที่ยังแก้ปัญหาลูกชายเกเรไม่ตก ลองเอาวิธีของอนาถบิณฑิกเศรษฐีใช้บ้างก็ได้ครับ

หันมาพูดถึง
สุมนาเทวี ขณะที่รับหน้าที่เป็นแม่งานการถวายภัตตาหารประจำแก่พระสงฆ์นี้ นัยว่าเธอได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันแล้ว ต่อมาเธอก็ก้าวสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือเป็นพระสกทาคามี

ต่อมาไม่นานเธอก็ล้มป่วยลง เป็นโรคอะไรไม่แจ้ง แต่ปรากฏว่าอาการทรุดลงทุกขณะ จนกระทั่งใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต พ่อไม่อยู่บ้าน เพราะมัวแต่ไปให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน คนในบ้านไปตามพ่อ บอกว่าสุมนาเทวีอาการหนัก

เศรษฐีรีบกลับมาหาลูกด้วยความเป็นห่วง มาถึงก็ถามว่า “เป็นยังไงบ้างลูกพ่อ”

“ไม่เป็นอะไรมากดอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ

ได้ฟังดังนั้น เศรษฐีก็ตกใจว่าลูกสาวอาการหนักจนเพ้อ ปลอบลูกว่า “อย่ากลัวเลยลูก พ่ออยู่นี่”

“พี่ไม่กลัว น้องชาย” เรียกน้องเหมือนเดิม

“ลูกพ่อเพ้อแล้ว” เศรษฐีหดหู่ใจอย่างยิ่ง

“พี่ไม่ได้เพ้อนะ น้องชาย น้องชายอย่าเศร้าโศกเสียใจเลย พี่จะไปแล้ว”

ว่าแล้วก็เงียบ ไม่พูดไม่จาอีกต่อไป จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ

เศรษฐีเศร้าโศกเสียใจมาก แทบไม่เป็นอันกินอันนอน เสียใจที่สูญเสียลูกน่ะมากโขอยู่แล้ว แต่เสียใจที่ว่าลูกสาวของตน “หลงทำกาละ” มากกว่าหลายเท่า เมื่อนึกว่าลูกสาวคงมีคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าไม่ดีแน่ ก็ยิ่งรันทดใจหนักขึ้น


ตรงนี้ต้องขยายสักเล็กน้อย คือ คนที่ทำบาปทำกรรมมากๆ จะได้รับผลทั้งทันตาเห็นในโลกนี้ และในชาติหน้า ดังนี้ครับ

๑. ย่อมเสื่อมจากโภคทรัพย์ คือ เสียเงินเสียทองเพราะการทำชั่วเป็นเหตุ เช่น ถูกจับกุมต้องเสียเงินประกัน เสียเงินจ้างทนายขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกตัดสินริบทรัพย์สมบัติ ดังกรณีทรราชทั้งหลาย เป็นต้น

๒. ชื่อเสีย (ไม่มีตัว ง นับครับ) ขจรขยายไปทั่ว ถูกคนเขาสาปแช่งไปทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่มีอะไรดีเลย ถ้าชั่วมากจนแผ่นดินรับไว้ไม่ไหว ก็อาจถูกแผ่นดินสูบดังกรณีพระเทวทัต นางจิญจมาณวิกาในอดีต เป็นต้น ถ้าชั่วน้อยหน่อยก็ตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน ไปไหนมาไหนคนก็สะกิดให้กันดู “นั่นไง คนเอางบประมาณแผ่นดินเข้าพกเข้าห่อตัวเอง” อะไรทำนองนี้

๓. ไม่แกล้วกล้าในสมาคม เข้าสมาคมไหนก็จ๋องๆ หวาดๆ กลัวๆ เพราะตัวเองมีแผล กลัวจะโดนสะกิดแผลเข้า บางทีก็ลืมตัวไปว่าคนอื่น เพราะปากไว พอเขาสวนกลับเท่านั้น สะดุ้งแปดตลบ เพราะโดนแผลขี้เรื้อนตัวเองเข้า จำต้องสงบปากสงบคำ

๔. ย่อมหลงตาย หมายความว่าเวลาจะตายมักจะเพ้อไร้สติ เพราะนิมิตแห่งบาปกรรมที่ทำไว้มาปรากฏให้เห็น แล้วก็สะดุ้งหวาดกลัวร้องออกมา ว่ากันว่านายพลคนดังในอดีต สั่งประหารชีวิตคนจำนวนมาก บางทีก็ประหารผิด ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารตายไปหลายคน พอถึงคราวจะตาย เพ้อ “เผามันเลย ประหารมันเลย” แล้วก็ร้องว่า “โอ๊ย ร้อนๆ” แล้วก็ขาดใจตาย นี่แหละเรียกว่าหลงตาย

๕. ตายแล้วไปสู่ทุคติ คือไปเกิดในแดนไม่ดี ตกนรกหมกไหม้ หรือไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน


ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เห็นลูกสาวคนเล็กเพ้อไม่ได้สติก่อนที่จะสิ้นลม ท่านจึงรันทดใจมาก สงสัยว่าลูกสาวตัวเองก็ใจบุญสุนทาน ไม่ปรากฏว่าทำบาปทำกรรมอะไร ทำไมจึง “หลงตาย” ทำไมจึงต้องไปสู่ทุคติ

ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ ไม่วายตัดพ้อว่าเพราะเหตุใดคนที่ทำแต่ความดีอย่างลูกสาวตน จึงจะต้อง “หลงตาย” ด้วย หรือว่าบาปกรรมแต่ชาติปางไหน

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ทำไมคหบดีจึงว่าอย่างนั้น”

เศรษฐีกราบทูลว่า “เพราะลูกสาวข้าพระองค์เพ้อพูดกับข้าพระองค์ว่า “น้องชาย” แสดงว่าเธอหลงตาย พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุมนาพูดถูกแล้ว เธอเป็นอริยบุคคลระดับสกทาคามีแล้ว สูงกว่าท่านตั้งหนึ่งขั้น เธอจึงเป็นพี่ท่านในทางคุณธรรม เธอหาได้เพ้อไม่”


เศรษฐีเอามือป้ายน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม ความทุกข์โศกพลันสลายไปสิ้นแล

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นายดี คนใช้ไม่ดี
(นายกาลกัณณี-นายนันทะ)

ตามบริบทของพระสูตรและอรรถกถา มองเห็นภาพท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นคนใจบุญสุนทานจริงๆ มีความเคารพในพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาก

โดยเฉพาะความเคารพรักในพระพุทธองค์มีมากจนเกิดความไม่สมดุล หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ท่านรักและเคารพพระพุทธองค์ไม่ค่อยถูกทาง ดังพระพุทธดำรัสว่า “รักษาเราในฐานะที่ไม่ควรรักษา”

รักษาในที่นี้แปลว่า ดูแลเลี้ยงดูได้ด้วย (ดังภาษาชาวใต้นั่นแหละ) แปลว่าปกป้องคุ้มครองได้ด้วย


สาเหตุที่พระพุทธองค์ดำรัสอย่างนี้ ก็เพราะท่านเศรษฐี แม้ว่าจะ “ไปสู่ที่บำรุง” (หมายถึงเข้าเฝ้า) พระพุทธเจ้าวันละสามครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) ก็เฝ้าเฉยๆ เวลาใครไปทูลถามปัญหาและเวลาพระพุทธองค์ตอบปัญหาแก่ผู้เข้าเฝ้าอื่นๆ ก็พลอยนั่งฟังอยู่ด้วย ไม่เคยคิดที่จะทูลถามข้อข้องใจของตนกับพระพุทธองค์เลย

เหตุผลของท่านเศรษฐีก็คือ กลัวพระพุทธองค์จะทรงเหนื่อย พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนประชาชนมาทั้งวันแล้ว ถ้าจะทรงแสดงธรรมหรือประทานโอวาทแก่ตัวท่านอีก พระองค์จะไม่ทรงมีเวลาพักผ่อน จึงไม่คิดรบกวนพระพุทธองค์ ด้วยการถามปัญหาข้อข้องใจกับพระพุทธองค์ จนพระพุทธองค์ตรัสเปรยๆ ว่า ท่านเศรษฐี “รักษาพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษา” ดังกล่าวมา

แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คงไม่เก็บงำความสงสัยเรื่องต่างๆ ไว้ในใจตลอดไป เพราะมีพระเถระที่ท่านเศรษฐีคุ้นเคยมากที่สุดอย่างน้อยสองรูป คือ พระสารีบุตรอัครสาวกกับพระอานนท์พุทธอนุชา

ท่านมีข้อสงสัยอะไรก็เรียนถามพระเถระทั้งสอง รูปใดรูปหนึ่ง วันไหนว่างก็นิมนต์พระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟังที่บ้าน เนื่องจากพระสารีบุตรเป็นพระนักวิชาการ อธิบายธรรมละเอียดลึกซึ้ง ท่านเศรษฐีฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็สนุกเพลิดเพลินในการฟังธรรม

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายเป็นพิเศษ เศรษฐีเข้าใจแจ่มแจ้ง หลังพระสารีบุตรแสดงธรรมจบ ท่านเศรษฐีก็บอกว่า ต่อไปขอพระคุณเจ้าแสดงธรรมง่ายๆ อย่างนี้เสมอได้ไหม

จากเรื่องราวเช่นนี้ แสดงว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคุ้นเคยกับพระอัครสาวกมาก ถึงขนาดกล้า “คอมเมนต์” ว่า ที่แล้วๆ มาเทศนาไม่รู้เรื่อง แต่คราวนี้รู้เรื่องดี ต่อไปเทศน์แบบนี้สิขอรับ อะไรทำนองนั้น


ความจริงสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดีนะครับ ที่ท่านเศรษฐีไม่อยากรบกวนพระพุทธองค์ เพราะคิดว่า พระองค์เป็นคนของประชาชนให้พระองค์ทรงมีเวลาโปรดประชาชนได้เต็มที่จะดีกว่า ความสงสัยอะไรที่ตนมีถามพระเถระทั้งสองรูปดังกล่าวมาก็ย่อมได้ ไม่จำเป็นต้องรบกวนเบื้องยุคลบาทพระบรมศาสดา

ยกเว้นแต่เรื่องสำคัญๆ ค่อยทูลถาม มองในแง่มุมของเศรษฐีก็น่าจะเรียกว่า ท่านเศรษฐี “รักษาพระพุทธองค์ในฐานะที่ควรรักษา” ก็ได้นะครับ

ในอีกแง่มุมหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็น่าคิด ท่านเศรษฐีถึงจะเป็นคนมีบุญเป็นเศรษฐีใจบุญ แต่ท่านก็มีเพื่อนที่มักจะมีนิสัยตรงข้ามกับท่าน คนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเหล้า บางคนก็คิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบ เรียกว่า “มีบุญแต่กรรมบัง” ดังสำนวนไทยกระมังครับ

พูดถึงคนใช้ ว่ากันว่าคนใช้ของท่านก็มักไม่ค่อยฉลาด คนที่ฉลาดก็มักจะแกมโกง เป็นเสียอย่างนั้น คนใช้คนหนึ่ง (สงสัยจะเป็นประเภททาสในเรือนเบี้ย) เป็นเพื่อนเล่นกับท่านมาตั้งแต่เด็ก ชื่อไม่เป็นมงคลเสียด้วย คือชื่อ “กาลกัณณี” (นายอับโชค)

หลายคนเตือนท่านว่าอย่าเอาคนใช้คนนี้ไว้เลย จะทำให้ธุรกิจไม่เจริญก้าวหน้า ท่านก็ไม่เชื่อ เพราะถือว่าเป็น “เพื่อน” กันมาแต่เด็ก ต้องชุบเลี้ยงไว้


วันหนึ่งนายอับโชคก็นำโชคมาให้ท่านเศรษฐี ขณะที่ท่านไม่อยู่บ้าน พวกโจรมันย่องขึ้นบ้านท่าน วันนั้นอยู่บ้านแต่นายอับโชคคนเดียว นายอับโชคได้ต่อสู้กับพวกขโมย จนสามารถขับไล่พวกขโมยหนีไปได้ โดยไม่สูญเสียทรัพย์สมบัติใดๆ เศรษฐีกลับมาทราบเรื่องเข้า ก็ชมเชยนายอับโชค ตกรางวัลให้ตามสมควร

เล่าไว้อีกว่า สาวใช้คนหนึ่งทึ่มทึบมากขนาดฆ่าแม่ตัวเองตายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นแมลงวันเกาะจมูกแม่ ด้วยความหวังดี เอาสากฟาดแมลงวันตุ้บใหญ่ ได้ผล ตายแหงแก๋

แม่ตายครับ ไม่ใช่แมลงวัน

คนทึ่มปานนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป อย่านึกว่าไม่มี สมัยผมบวชพระอยู่วัดทองนพคุณ ฝั่งธนบุรี ท่านเจ้าคุณภัทรมุนี หรือที่ใครๆ รู้จักในนามว่า “เจ้าคุณอิน” ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของผม เมื่อครั้งผมบวช ท่านมีชื่อเสียงในทาง มีคน “ขึ้น” มากมาย

สิ่งหนึ่งที่ท่านพยายามทำคือ ฝึกศิษย์ให้มีปฏิภาณแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ท่านให้สังเกตแขกที่มาหาท่าน และให้ศิษย์ต้อนรับแขกอย่างถูกต้องเหมาะสม เวลาแขกมาก็ให้ยกน้ำท่ามาให้แขกโดยไม่ต้องให้ตะโกนเรียก ซึ่งมันดูไม่ดีไม่งาม

มีศิษย์คนหนึ่งชื่อ ไอ้โรจน์ ปัญญาค่อนข้างทึบ ท่านพยายามฝึกยังไงก็ไม่ดีขึ้น จะใช้ให้ทำอะไรต้องแจงละเอียด คิดเอาเองไม่ค่อยเป็น

วันหนึ่งท่านเห็นไอ้โรจน์ยกกับข้าวมาถวายเพล ท่านสังเกตเห็นถ้วยน้ำพริกไม่มีผักจิ้มมาด้วย ท่านจึงเอาช้อนเคาะจานเบาๆ ชำเลืองดูไอ้โรจน์ ไอ้โรจน์ก็ไม่ยอม “เก๊ต” ยืนทื่ออยู่ ท่านเห็นว่า ขืนไม่พูดคงอดฉันน้ำพริกแน่ จึงถามว่า “น้ำพริกนี่มากะอะไร”

ไอ้โรจน์ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “มากับถ้วยครับผม” (ฮิฮิ)

ถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะมีความพรั่งพร้อมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง แต่ก็มีบริวารที่ไม่ค่อยได้ดังใจดังกล่าวมา ซึ่งก็เป็นธรรมดาไม่ว่าสมัยไหน

ท่านเศรษฐีมีฟาร์มเลี้ยงโคใหญ่โต เป็นธุรกิจทำรายได้มหาศาล มีผู้ดูแลฟาร์มชื่อนันทะ ว่ากันว่านายนันทะคนนี้ “หนีราชภัย” (ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร) มาเป็นนายโคบาลอยู่กับเศรษฐี ฐานะความเป็นอยู่ของนายนันทะนั้นร่ำรวย มิใช่โคบาลธรรมดา

นายนันทะเห็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีอุปัฏฐากอุปถัมภ์พระพุทธเจ้าสม่ำเสมอก็อยากทำบ้าง ขออนุญาตเศรษฐีไปอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนหลายครั้ง

แต่พระพุทธองค์ตรัสให้รอก่อน ถึงเวลาอันควรแล้วพระองค์จะเสด็จไปเอง

คัมภีร์ศาสนาว่า พระพุทธองค์รอ “ความแก่กล้าแห่งอินทรีย์” ของนายนันทะ หมายความว่ารอความพร้อมของนายนันทะก่อน

เมื่อทรงทราบว่านายนันทะมีความพร้อมจะฟังธรรมและได้ผลจากการฟังธรรมแล้ว จึงพร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านนายนันทะ

นายนันทะตระเตรียมงานถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานติดต่อกัน ๗ วัน ในวันสุดท้ายหลังจากฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว นายนันทะได้บรรลุโสดาปัตติผลกลายเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น คือพระโสดาบัน

นายนันทะ ตามส่งเสด็จพระพุทธองค์กลับพระเชตวัน ระหว่างทางเดินกลับบ้าน ถูกยิงเสียชีวิต ว่ากันว่าคนยิงเป็นนายพรานคนหนึ่ง สงสัยคู่อริจ้างวานมาปลิดชีพก็เป็นได้ แต่นายนันทะก็ไม่ตายฟรี แม้ว่าจะจับคนจ้างวานและคนฆ่าไม่ได้ นายนันทะก็ตายหลังจากได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว

พระอริยบุคคลระดับนี้มีคติแน่นอนไม่ไหลงลงสู่ที่ต่ำ อยู่ในโลกเพียงวันเดียว ก็ดีกว่าคนไม่เห็นธรรมมีชีวิตอีกตั้งร้อยปี ปานนั้นแหละขอรับ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อานันทโพธิ์

ผู้มีโอกาสไปเยือนอินเดียเพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เมื่อย่างเข้าไปยังบริเวณวัดพระเชตวันมหาวิหารกว้างใหญ่อันเป็นที่เสด็จประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นวัดศรีลังกาซึ่งเพิ่งสร้างใหม่ไม่นาน ที่หน้าวัดเป็นที่นาของชาวบ้าน มีบริเวณที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังศพของนางจิญจมาณวิกา แล้วนางจิญจมาณวิกาเป็นใครหรือ

นางจิญจมาณวิกา เป็นคนให้ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ เล่นกันถึงขนาดหนัก ถึงขั้นว่าพระพุทธเจ้ามีสัมพันธ์กับนางจนมีบุตร พูดไม่พูดเปล่า นางมีตัวอย่างมาให้ประชาชนดูด้วย


“นี่ไง ดูครรภ์ของข้ามันโตขึ้น” ประชาชนที่ไม่ใช้สติปัญญาเป็นจำนวนมากต่างก็เชื่อไปตามๆ กัน ส่งเสียงอื้ออึงไป นางบอกอีกว่า “ถ้าไม่เชื่อตามข้ามา จะพาไปถามพระสมณโคดม อาจารย์ของท่านด้วยตัวเอง”

ว่าแล้วก็นำประชาชนจำนวนมากเข้าไปยังพระอารามที่พระองค์ท่านประทับ ไปถึงก็กล่าวว่า “สมณะ ท่านได้แต่สอนคนอื่น ภรรยามีบุตรไม่เคยดูแล”

พระพุทธองค์สงบพระวรกายดังเช่นปกติ ตรัสถามว่า “น้องหญิง ที่เจ้าพูดนั้นจริงหรือเท็จ เธอและเราเท่านั้นที่รู้ความจริง”

นางได้ฟังดังนั้นก็สนองรับทันที “ใช่สิๆ เรื่องนี้มีแต่เราสองคนที่รู้ดี” นางถือไพ่เหนือกว่าพระพุทธองค์ กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ คงสมใจอยาก พูดว่า “พี่น้องเห็นไหม ในที่สุดพระสมณโคดมก็ยอมรับแล้ว” พูดพลางกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ

บังเอิญกระโดดแรงไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ท่อนไม้ที่นางผูกไว้ที่พุงทำทีเป็นตั้งครรภ์ ก็หลุดลงต่อหน้าต่อตาประชาชน อนิจจา คนพาลที่ให้ร้ายพระพุทธองค์ก็มีอันเป็นไป ประชาชนต่างลุกฮือขึ้นจับตัวนางจิญจมาณวิกามาทำโทษ ไม่แน่ใจว่าทำโทษหนักเบาแค่ไหน บ้างก็ว่ารุนแรงถึงขั้นทำร้ายจนตาย

แต่พระคัมภีร์เล่าไว้ว่า ธรณีสูบร่างนางต่อหน้าต่อตาประชาชน เพราะเหตุนี้แหละ คนเขาจึงเชื่อกันว่า แผ่นดินสูบนาง ณ ที่แห่งนั้น

ส่วนภายในวัดนั้นมีสถานที่ควรพิจารณา ๒-๓ แห่ง คือ พระคันธกุฎี สถานที่ประทับของพระพุทธองค์ ปัจจุบันยังมีซากปรักหักพังให้เห็นอยู่ เมื่อผมไปอินเดีย ยังได้ไปสวดมนต์ไหว้พระ ณ กุฏิของพระพุทธองค์ ไปนั่งสมาธิกลางวันแสกๆ ตอนแรกก็ร้อนแดด นั่งไปสักหนึ่งแดดหายไป กลายเป็นความร่มเย็น มีสายลมเย็นพัดผ่านมาเป็นที่อัศจรรย์

ข้างกุฏิที่ประทับมีสระน้ำ (ยังมีน้ำอยู่) คนไปตักน้ำติดตัวไปด้วย ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใกล้สระน้ำมนต์นั้น มีต้นมหาโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่ง ทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี และพระอานนท์ ช่วยกันปลูก พระราชาตั้งชื่อต้นโพธิ์ว่า “อานันทโพธิ์”

ส่วนอีกสถานที่หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นที่พักของพระมหาเถระทั้งหลาย เช่น พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระสีวลี ฯลฯ เชื่อกันว่า เป็นกุฏิที่พระเหล่านี้ประทับอยู่ ส่วนกุฏิไหนเป็นของพระเถระรูปไหน รู้ได้อย่างไร ไม่ทราบเหมือนกัน ใครเป็นคนบอกไม่ทราบ แต่ก็มีคนเชื่อต่อๆ กันมา บอกเล่ากันว่า ที่นั่นเป็นของพระเถระรูปนั้นรูปนี้ รู้กันทั่วไป แม้แต่เด็กที่เดินตามหลังพวกเรา ต่างก็รู้ว่ากุฏิไหนเป็นของพระเถระรูปไหน

ปรากฏว่า กุฏิของพระสีวลีมักจะมีดอกไม้มาวางสักการะไม่ขาดสาย เรียกว่าเป็นที่โปรดปรานของญาติโยม เพราะท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงว่าเป็นพระเถระที่มีลาภมาก ลาภใครก็อยากได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ครานี้มาว่ากันถึงต้นอานันทโพธิ์ ความเป็นมาก็คือ คราวหนึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปหาพระอานนท์ พุทธอนุชา กราบเรียนท่านว่า เวลาที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ ณ ที่อื่น ขอให้พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าจะสร้าง “เจดีย์” (หมายถึงสถานที่ควรบูชา) อะไรสักอย่างสำหรับบูชาแทนพระพุทธองค์ ควรจะเป็นอะไร

พระอานนท์กราบทูลความประสงค์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสว่า เจดีย์มีอยู่ ๔ ชนิด คือ

๑. ธาตุเจดีย์ สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ สิ่งของที่พระพุทธเจ้าเคยใช้สอย หรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ
๓. ธรรมเจดีย์ สิ่งที่บรรจุพระธรรม
๔. อุทเทสิกเจดีย์ สิ่งที่สร้างอุทิศ (เจาะจง) พระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูป


พระอานนท์จึงกราบทูลขอพระพุทธานุญาตนำต้นโพธิ์จากพุทธคยามาปลูกเพื่อให้เป็นปูชนียสถาน เป็นเครื่องสักการะรำลึกถึงพระองค์ในคราวเสด็จไป ณ ที่อื่น ก็ได้รับพระบรมพุทธานุญาต

พระอานนท์จึงไปแจ้งเรื่องนี้ให้พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา มหาอุบาสิกาทราบ ได้นิมนต์ให้พระโมคคัลลานะ ไปนำต้นโพธิ์มาจากพุทธคยา พระโมคคัลลานะเข้าฌาน เหาะไปเอาเมล็ดมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธองค์ประทับเมื่อคราวตรัสรู้

ว่ากันว่า ท่านไปเอามาภายในวันเดียว


เมื่อได้เมล็ดโพธิ์แล้ว ก็ได้ปรึกษากันว่า จะให้ใครเป็นคนปลูก


พระอานนท์เสนอว่า ควรให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี และเป็นผู้นำแห่งพุทธศาสนิกฝ่ายคฤหัสถ์ ทรงเป็นผู้ปลูก แต่พระราชาทรงปฏิเสธ ตรัสว่า ควรให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นคนปลูก เพราะเป็นผู้ริเริ่มความคิดนี้ก่อนผู้อื่น ที่ประชุม (ผมเดาว่าต้องประชุมเป็นการเป็นงาน คงมิใช่ยืนคุยกันว่าเอายังไง อะไรทำนองนั้น) ตกลงยกให้เป็นเกียรติแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงนำเมล็ดโพธิ์มา เอาน้ำหอมประพรมแล้วปลูกลง ณ พื้นที่ที่เตรียมไว้ ท่ามกลางเหล่าพุทธศาสนิกชน อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นประธาน และเพื่อถวายเป็นเกียรติแก่พระอานนท์ ผู้เป็นตัวจักรสำคัญให้แนวคิดนี้สำเร็จขึ้นมา จึงพร้อมใจกันขนานนามต้นโพธิ์ตามนามของท่านว่า “อานันทโพธิ์” จะแปลตามศัพท์ว่า ต้นโพธิ์เพลิดเพลินเจริญใจ หรือโพธิ์สุขใจ ก็ไม่มีใครว่า ความหมายที่แท้จริงก็คือ ต้นโพธิ์ที่ปลูกขึ้นด้วยคำแนะนำและความช่วยเหลือของพระอานนท์

อานันทโพธิ์ ยังอยู่จนปัจจุบันนี้ ที่ยืนต้นให้เห็นนั้นคงเป็นลูกหลานของต้นเดิมกระมัง


:b45: :b45:

:b44: อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=57263

:b44: “ต้นพระศรีมหาโพธิ์”
ที่สำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันนี้ มี ๓ ต้น

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39333

:b44: ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จัดเป็น “อุทเทสิกเจดีย์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สุทัตตะ หรือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” มหาอุบาสกผู้เลิศในทางถวายทาน
ได้ถวายที่ดินและอาคารเสนาสนะต่อคณะสงฆ์
โดยมีพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาทรงรับถวาย
สุทัตตะได้หลั่งน้ำจากน้ำเต้าทองลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า
แสดงการอุทิศถวายมหาสังฆาราม วัดเชตวันมหาวิหาร แล้วต่อคณะสงฆ์
พระพุทธองค์ได้ทรงประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารแห่งนี้ในพรรษาแรก
และเป็นวัดที่ทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา

:b44: :b50: :b44:

ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ที่เคยบอกว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มักไม่ทูลถามข้อธรรมปฏิบัติจากพระพุทธเจ้า เพราะท่านเกรงว่าจะเป็นการรบกวนเบื้องยุคลบาท เมื่อไม่ต้องการให้พระพุทธองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงไม่ทูลถามปัญหาใดๆ นั้น มิได้หมายความว่าท่านเศรษฐีเป็นคนไม่ใฝ่ใจศึกษาปฏิบัติธรรม หามิได้

ที่จริงแล้วท่านเป็นผู้มี “ธัมมกามตา” (ความใฝ่ธรรม, ความใฝ่รู้) เป็นอย่างยิ่ง

ท่านมีพระเถระที่สนิทคุ้นเคยสองรูปคือ พระสารีบุตรและพระอานนท์ มีปัญหาข้องใจอะไร พระเถระทั้งสองจะเป็นผู้อนุเคราห์แสดงธรรมให้ท่านฟัง ดังปรากฏในพระสูตรหลายแห่ง


เข้าใจว่า เมื่อได้รับคำเตือนจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคงกล้ากราบทูลถามธรรมะมากขึ้น

ดังปรากฏว่ามีหลายสูตรบันทึกธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ท่านฟัง

น่าสนใจว่า ธรรมะที่ทรงแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นธรรมพื้นๆ ธรรมะสำหรับชาวบ้านพึงปฏิบัติ ผมขอยกตัวอย่างมาลงไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ใจศึกษา


:b39: ๑. “จิตที่คุ้มครองดีแล้ว ปลอดภัยเหมือนเรือนที่มุงบังดีแล้ว ฝนไม่รั่วรดฉะนั้น”

พุทธภาษิตบทนี้ทรงสอนคนอื่นในที่อื่นด้วย ความหมายทรงเน้นไปที่ “ราคะ” (ความกำหนัดในกาม) มันเหมือนฝนที่รั่วรดบ้านที่หลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคารั่วเดือดร้อนอย่างไร เวลาฝนตกเป็นที่รู้กันดี ทรงเปรียบเหมือนจิตใจที่ถูกราคะความกำหนัดครอบงำ ย่อมจะทำความเดือดร้อนกระวนกระวายให้ผู้นั้นอย่างยิ่ง

:b39: ๒. “การให้อาหารเป็นทาน ย่อมได้รับผลบุญ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ”

ข้อนี้อธิบายด้วยเหตุผลธรรมก็ได้ คนที่ให้ข้าวน้ำแก่คนอื่น คนที่รับ หรือคนที่กินข้าวน้ำนั้นย่อมจะมีอายุยืนยาวไปอีก มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีความสุข ไม่ต้องหิวโหย ทนทุกข์ทรมาน และมีพละกำลังเพิ่มขึ้น นี้พูดถึงอานิสงส์ที่ผู้รับได้ ส่วนผู้ให้ก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์เช่นนั้นเหมือนกัน เห็นคนอื่นเขาได้กินข้าวปลาอาหารที่ตนให้แล้ว ก็มีปิติสุข จิตใจผ่องใสเบิกบานว่าตนได้สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์


คนที่มีความสุขใจ ผิวพรรณก็ย่อมจะผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง ยืดอายุไปได้อีก มีกำลังใจและความเข้มแข็งขึ้น

มองสั้นเพียงแค่นี้ก็เห็นว่า การให้ข้าวน้ำเป็นทาน มีอานิสงส์มากมาย ยิ่งมองให้ลึกและมองให้ยาวไกล ยิ่งจะเห็นมากขึ้น

แปลกนะครับ คนที่ใจกว้าง ใจบุญ ใจกุศล ยิ่งให้มากๆ โดยมิได้คิดถึงผลตอบแทน ผลที่ตอบแทนกลับมีมากโดยไม่รู้ตัว ตรงกันข้าม ใครที่งก เห็นแก่ได้ ไม่รู้จักสละอะไรให้ใครๆ เลย มีแต่ความเห็นแก่ตัว มักไม่ค่อยได้อะไร

เอริก ฟรอมม์ นักจิตวิทยามีชื่อ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า “ความรักคือการให้ ยิ่งคุณให้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้มากเท่านั้น” ท่านผู้นี้พูดอย่างกับเปิดพระไตรปิฎกอ่านแน่ะครับ เพราะข้อเขียนของท่าน สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอดิบพอดี

:b39: ๓. “หน้าที่ ๔ อย่างที่คฤหัสถ์ผู้มีจิตศรัทธาจะพึงปฏิบัติคือ บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่” (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ที่บางท่านคิดเป็นคำง่ายๆ ว่า “ข้าว ผ้า ยา บ้าน”)

ธรรมะข้อนี้เท่ากับบอกหน้าที่ที่คฤหัสถ์พึงทำ และบอกด้วยว่า คฤหัสถ์เท่านั้นที่จะต้องทำหน้าที่นี้ บรรพชิตหรือพระมีหน้าที่อื่นที่ต้องทำ โดยสรุปคือ สั่งสอนประชาชนผู้ที่บำรุงเลี้ยงท่านด้วยปัจจัยสี่ เป็นการตอบแทน

พูดให้ชัดก็คือ การจัดหาอาหารบิณฑบาต การจัดสร้างสถานที่พำนักอาศัย การจัดหาจีวร เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนการถวายการรักษาพยาบาล เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์โดยตรง คฤหัสถ์ต้องดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ท่านสะดวกสบายทางด้านวัตถุ พระสงฆ์ท่านจะได้ไม่ต้องมากังวลในเรื่องเหล่านี้ จะได้อุทิศเวลาศึกษาปฏิบัติธรรม และสั่งสอนประชาชนได้เต็มที่

เมื่อใดพระสงฆ์ท่านมาเริ่มทำสิ่งเหล่านี้เสียเอง คือก่อสร้างโบสถ์ วิหาร เสนาสนะอื่นๆ กันเอง แสวงหาเงินทองมาเป็นทุนในการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมกันเอง ก็แสดงว่าชาวบ้านบกพร่องในหน้าที่ เพราะชาวบ้านไม่ได้ดูแลท่าน ท่านจึงต้องขวนขวายทำกันเอง เมื่อท่านมาทำเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ “เขว” ออกจากทางเดินของท่าน เรียกว่า “ออกนอกทาง” ว่าอย่างนั้นเถอะ

ชาวบ้านเห็นพระท่านเขวออกนอกทาง “เพราะความบกพร่องในหน้าที่ของตน” แทนที่จะละอายใจ แต่เพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องของตน ก็ยุพระส่งเลยว่า ท่านทำดีแล้ว ท่านเก่ง ท่านมีบารมีมาก หาเงินทองได้มาก ก็เลยเฮโลสนับสนุนเป็นการใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พระภิกษุบางรูปมีความสามารถในการระดมทุน ก็สนุกสนาน ขวนขวายหาเงินเป็นการใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมของพุทธศาสนิกชน (ผู้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง)

เมื่อมีหนึ่งรูป ก็มีรูปที่สอง ที่สาม ที่สี่ ตามมา ตกลงสังคมพุทธจึงเต็มไปด้วยพุทธบริษัทผู้ไขว้เขวในหน้าที่อันแท้จริงของตน หรือพูดให้ชัดก็คือ พากันเดินหลงทางไปกันหมด

แล้วอย่างนี้ เมื่อไรจะถึงเป้าหมายเล่าครับ มัวแต่เข้ารกเข้าพงกันไปหมดอย่างนี้


:b39: ๔. ความปรารถนาสมหวังได้ยาก ๔ ประการ คือ

๑. ขอให้สมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ
๒. ขอยศจงมีแก่เรากับญาติพี่น้อง
๓. ขอให้เรามีอายุยืนนาน
๔. เมื่อสิ้นชีวิต ขอให้เราจงไปเกิดในสวรรค์


ธรรมะหลักนี้ ตรัสสอนแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

ตรัสถึงสิ่งที่ปรารถนาแล้วสมใจยาก ๔ ประการ สิ่งเหล่านี้มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงปรารถนาอ้อนวอนเอา ต้องลงมือทำเหตุที่จะบันดาลผลเช่นนั้น และการสร้างการทำเอาก็มิใช่ว่าทำเล็กๆ น้อยๆ แล้วจะได้ผลดังกล่าว ต้องสร้างต้องสมอย่างจริงจัง และใช้เวลานานพอสมควร


ในมหาชนกชาดก มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า “น หิ จินฺตามยา โภคา คือ โภคทรัพย์ทั้งหลายจะสำเร็จด้วยการคิดเอาหาได้ไม่” หมายความว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องทำเอา อยากได้โภคทรัพย์ก็ต้องพยายามทำเหตุที่จะได้โภคทรัพย์ เช่น ตรัส “หัวใจเศรษฐี” ไว้ ๔ ประการ ใครอยากรวยให้ปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. ขยันหาทรัพย์ในทางซื่อสัตย์สุจริต
๒. หามาได้แล้วรู้จักใช้จ่าย รู้จักเก็บออม
๓. คบเพื่อนที่เกื้อกูลแก่อาชีพ (เช่น คนทำมาหากิน อย่าริคบนักเลงพนัน)
๔. ใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมแก่อัตภาพความเป็นอยู่ (เห็นเศรษฐีเขากินอาหารมื้อละหมื่น ตัวมีรายได้เดือนละแค่ไม่กี่พัน อย่าริทำตาม)

ถ้าสร้างเหตุที่เหมาะสม ก็จะได้ผลสมควรพอแก่เหตุ ไม่มีดอกครับที่จะลอยมาเฉยๆ

คนที่พากเพียรกระทำการต่างๆ ย่อมสามารถชนะอุปสรรค ได้รับผลน่าพึงพอใจในที่สุด ได้แล้วก็หายเหนื่อย ว่ากันว่า พลังแห่งความเพียรนี้ แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้

ขอเล่านิทานประกอบ (เพราะ “เข้าทาง” พอดี)


ในอดีตกาล พระราชาสองเมืองรบกันมาราธอนมาก ไม่มีใครแพ้ชนะ รบไปๆ ถึงหน้าฝนก็พักรบ หมดหน้าฝนก็มารบกันใหม่

ว่ากันว่า ฤๅษีตนหนึ่งเล่าเรื่องนี้ให้ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ฟัง แล้วถามพระอินทร์ว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ ฤๅษีก็เลยมาบอกให้ลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์ก็ไปบอกใครต่อใครว่า อาจารย์เราทายว่า พระราชา ก. จะชนะ

เรื่องล่วงรู้ไปถึงพระราชาทั้งสองพระองค์ องค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะก็ดีใจ ไม่สนใจฝึกซ้อมวิทยายุทธ์ ว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่ฝึกปรือทหารหาญ มัวประมาท เพราะคิดว่าตนจะชนะแหงๆ อยู่แล้ว

ข้างฝ่ายพระราชาที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ทีแรกก็เสียใจ แต่หักห้ามใจได้ คิดว่าถ้าฟ้าดินจะให้แพ้ก็ยอมรับลิขิตฟ้าดิน แต่ไหนๆ ก็ได้ลงสนามรบแล้ว เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด ว่าแล้วก็ระดมฝึกปรือทหารหาญเป็นการใหญ่ ไม่ประมาท เตรียมพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อถึงวันรบกัน ปรากฏว่า ข้างฝ่ายพระราชา ก. แพ้ยับเยิน พระราชา ข. กำชัยชนะไว้ได้

ต่อมาพระราชา ก. ก็ฝากต่อว่ามายังฤๅษีว่า ทำนายชุ่ยๆ โกหกทั้งเพ ว่าเราจะชนะ ท้ายที่สุดก็แพ้เขาหมดท่า “หมอดูเฮงซวย เชื่อไม่ได้” อะไรทำนองนั้น ฤๅษีก็ว่ามิใช่ตนเป็นคนทำนาย ตนฟังมาจากคนอื่น ว่าแล้วก็ถือไม้เท้ายักแย่ยักยันไปหาพระอินทร์ (ความจริงแกคงเข้าฌานหายตัวไปหาพระอินทร์มากกว่า) ต่อว่าพระอินทร์ที่ทำให้ขายหน้า และถูกด่าอีกต่างหาก

พระอินทร์กล่าวว่า ที่ทายนั้นไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามทางของมัน ท้ายที่สุด พระราชา ก. จะต้องชนะอย่างแน่นอน แต่นี้เพราะพระราชา ก. ประมาท พระราชา ข. ไม่ประมาท พากเพียรพยายามจนถึงที่สุด จึงกลับตาลปัตรอย่างนี้ แล้วพระอินทร์ก็กล่าวสุภาษิตซึ่งคมมากว่า

“คนที่พากเพียรพยายามอย่างแท้จริง แม้เทวดาก็กีดกันมิได้”

:b39: ๕. สิ่งที่น่าปรารถนาจะสำเร็จได้ยาก ๔ ประการ คือ

๑. ขอให้มีอายุยืนนาน
๒. ขอให้มีรูปงาม
๓. ขอให้มีความสุข
๔. ขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง


ถ้าคนเราปรารถนาด้วย ทำด้วย ในเรื่องทั้ง ๔ ประการนี้ ถึงจะสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะสำเร็จโดยง่าย อายุคนเรานั้นจะยืนนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกรรมเก่า และขึ้นอยู่กับกรรมใหม่

กรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าคนมักฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในปางก่อน เกิดมาชาตินี้จะมีอายุนั้น คำว่า “จะ” นั้น มิใช่ว่า “ต้อง” ขึ้นอยู่กับกรรมใหม่ เราทำมากพอหรือไม่ ถ้าแนวโน้ม (ตามกรรมเก่า) ว่าจะอายุสั้นแต่พยายามทำเหตุที่จะให้ยืดอายุ อายุนั้นก็อาจไม่สั้นก็ได้

นี้แหละเรียกว่า กรรมใหม่

มีเรื่องเล่าทำนองนิทานเล่าขานกันเล่นๆ แต่สาระน่าสนใจ คือ สามเณรน้อยได้รับคำพยากรณ์ว่า จะตายภายในเจ็ดวัน สามเณรน้อยเสียใจมาก เดินออกจากวัดไป หวังไปตายดาบหน้า ระหว่างทางไปพบปลาดิ้นอยู่ในแอ่งน้ำในนาซึ่งกำลังแห้งขอด เกิดความสงสารจึงจับปลานั้นไปปล่อยในน้ำ ช่วยชีวิตปลาไว้ได้

เลยเวลาเจ็ดวันแล้วสามเณรยังไม่ตาย จึงกลับวัดเดิม อาจารย์เห็นสามเณรไม่ตาย ก็สงสัยว่า ตาม “ดวง” ว่าจะเสียชีวิต แต่ทำไมยังรอดอยู่ได้ ว่ากันว่าสามเณรได้ “สร้างเงื่อนไขใหม่” คือ ทำบุญกุศลช่วยชีวิตปลา ชีวิตที่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุด ก็ยังไม่สิ้นสุด มีอายุยืนยาวออกไปอีก ว่าอย่างนั้น


มีนักวิชาการบอกว่า ถ้าอยากมีอายุยืน ให้ปฏิบัติตามหลัก ๕ อ. คือ อ.ออกกำลังกาย อ.อากาศ อ.อาหาร อ.อารมณ์ อ.อุจจาระ ว่าทำตามนี้เป็นกิจวัตร อายุจะยืน ว่าอย่างนั้นก็มิใช่ว่าจะเป็นสูตรตายตัว เพราะคนที่ระมัดระวังอย่างดี ทำตามนั้นทุกอย่าง ก็ตายไม่ทันแก่ก็มี สาเหตุใหญ่และสาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่กรรมเก่าทำมาอย่างไร และอยู่ที่กรรมใหม่ (การทำความดีใหม่ๆ) มากน้อยเพียงใดมากกว่า

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สิ่งที่น่าปรารถนาประการแรกคือขอให้อายุยืน ถึงจะสำเร็จ ก็สำเร็จได้ยาก

สิ่งที่น่าปรารถนาประการที่สอง ขอให้รูปงาม สำเร็จได้ยาก ข้อนี้อธิบายง่าย เอาแค่เกิดมารูปไม่หล่อ ไม่สวย อยากจะมีรูปหล่อ รูปสวย ก็สามารถทำได้สำเร็จ แต่ก็สำเร็จได้ยาก เพราะจะต้องเสียเงินทองแพงๆ บางคนหน้าหัก จมูกบี้ อยากสวยเหมือนคนอื่นเขา ก็ทำได้ด้วยการไปให้ศัลยแพทย์ตัดนั่น เฉือนนี่ เติมโน่น ออกมาดูดีได้ แต่กว่าจะสำเร็จ ก็หมดเงินไปหลายพัน หลายแสน สำเร็จได้โดยยากครับ

ยิ่งคนที่ไม่เคยทำบุญกุศลชนิดที่จะเป็นสาเหตุให้รูปงามด้วยแล้ว ยังไงๆ ก็เกิดมาในชาตินี้ด้วยรูปร่างหน้าตาที่สวยสดงดงามไม่ได้ เพราะเหตุนี้ การขอให้เกิดมารูปงามนั้น มิใช่สำเร็จได้โดยง่ายๆ ต้องทำบุญทำกุศลไว้มากพอสมควร

การขอให้มีความสุข ไม่มีทุกข์เลย หรือมีทุกข์น้อย ยิ่งเป็นไปได้ยาก คนจะมีความสุข ก็ต้องสร้างเหตุแห่งความสุข จึงจะมีสุข เช่น ไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำตนให้อยู่ในกรอบเบญจศีลเบญจธรรมอย่างเคร่งครัด จะเป็นเครื่องรับประกันว่า จะมีความสุขในชีวิตอย่างแน่นอน รวมทั้งชื่อเสียงที่ดีงามด้วย ดังในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ของการมีศีลบริสุทธิ์ว่า ผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะได้รับผลดี ๕ ประการ ๒ ใน ๕ ประการนั้นคือมีเกียรติยศชื่อเสียง มนุษย์ก็รัก เทพก็ชม พรหมก็สรรเสริญ มีความสุข ไม่มีเวรมีภัย แม้จะตายก็ยังตายอย่างสงบ

จะมีสุขปานนั้นหรือมีเกียรติยศปานนั้น ก็ต้องรักษาศีล (อย่างน้อย ศีล ๕) ได้อย่างครบถ้วน และการรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นมิใช่ของง่าย ยากยิ่งกว่ากลิ้งครกขึ้นเขาเสียอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า การขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง ขอให้มีความสุขมากกว่าความทุกข์ สำเร็จได้ไม่ง่ายนัก

แต่ถึงจะตรัสว่าสำเร็จยาก ก็บอกนัยแง่บวกไว้อยู่ว่า “สำเร็จได้” แต่สำเร็จยากเท่านั้นเอง

ถ้าเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ก็จะไม่หมดกำลังใจ อยากได้ผลอย่างไร ก็จะสร้างเหตุให้เกิดผลอย่างนั้น ด้วยความอุตสาหะพยายามต่อไป

:b39: ๖. กรรมกิเลส ๕ ประการ

ธรรมะพื้นฐาน แต่จำเป็นมากสำหรับคฤหัสถ์ทุกคน (บรรพชิตด้วย) คือการละเว้นจากกรรมกิเลส ๕ ประการดังจะกล่าวข้างท้ายนี้ ก่อนอื่นขอแปลศัพท์ กรรมกิเลสก่อน

กรรมกิเลส แปลว่า ความมัวหมองแห่งกรรม (การกระทำ) แปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การกระทำที่ทำให้เสื่อมเสีย มีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งก็คือการละเมิดศีล ๕ ข้อนั่นเอง มีดังนี้

๑. การฆ่าสัตว์
๒. การลักทรัพย์
๓. การผิดในกาม
๔. การพูดเท็จ
๕. การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


โดยตัวอักษร ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็น่าจะเป็นคนดีมีศีลแล้ว นั่นนับว่าถูกในระดับหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะว่าโดยความจริงแล้ว เวลาพระพุทธองค์ตรัสถึงศีล ท่านมักจะตรัสในแง่ลบและแง่บวกรวมกันไป

ทำให้เห็นว่า การงดเว้นจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้นๆ เป็นศีลในแง่ลบ ส่วนการบำเพ็ญหรือพัฒนาคุณธรรมเสริมเป็นศีลในแง่บวก


เช่น ตรัสว่า “ละขาดจากปาณาติบาต เว้นการตัดรอนชีวิต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายใจ กอปรด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง”

พูดอีกนัยหนึ่งว่า ศีลที่สมบูรณ์ในความหมายของศัพท์ คือ


๑. การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ (รวมถึงการเบียดเบียนต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ) และความเมตตากรุณา

๒. การละเว้นจากการลักทรัพย์ (รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้อื่นทางด้านทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์) และการประกอบสัมมาอาชีพที่ช่วยให้ชีวิตมั่นคง อันจะไม่เป็นเหตุให้ลักทรัพย์ (คนเราถ้ามีอาชีพมั่นคง ก็จะไม่จำเป็นต้องลักขโมยคนอื่นกิน นอกเสียจากจะเป็น “สันดาน”)

๓. การละเว้นจากการผิดในกาม (รวมถึงไม่ผิดต่อบุคคลที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ผิดประเวณีทางเพศ ไม่นอกใจคู่ครองของตน) และการสำรวมในกาม หรือความพอใจในคู่ครองของตนเท่านั้น

๔. การละเว้นจากการพูดเท็จ (รวมถึงพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ หรือการเบียดเบียนผู้อื่นทางวาจาในรูปแบบอื่น) และความซื่อสัตย์

๕. การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (รวมถึงเครื่องมึนเมา เครื่องเสพติดทุกชนิด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ บุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ) และความไม่ประมาท หรือมีสติสัมปชัญญะ


นักปราชญ์ไทยบัญญัติศีลกับธรรมเป็นคนละอย่าง คือเอา “ศีลในแง่ลบ” เป็นศีล เอา “ศีลในแง่บวก” เป็นธรรม เรียกว่า “เบญจศีล” กับ “เบญจธรรม” โดยจับคู่กันดังนี้


เวลาที่สอนก็จะเน้นว่า อย่างนี้คือศีล อย่างนี้คือธรรม แล้วอ้างอรรถกถาที่ท่านวางเกณฑ์ตัดสินว่า แค่ไหนเพียงไหนถือว่า “ศีลขาด” แค่ไหนไม่ขาด เรียกว่า “องค์ประกอบ” ของศีลแต่ละข้อ คือ

๑. ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ
- สัตว์มีชีวิต
- รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
- จิตคิดจะฆ่า
- ลงมือฆ่า
- สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น


๒. ศีลข้อ ๒ อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ
- ของนั้นเขาหวงแหน
- รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน
- จิตคิดจะลัก
- ลงมือลัก
-ลักมาได้สำเร็จ


๓. ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจารา มีองค์ ๔ คือ
- สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด
- จิตคิดเสพ
- พยายามเสพ
- เสพสำเร็จ


๔. ศีลข้อ ๔ มุสาวาท มีองค์ ๔ คือ
- เรื่องไม่จริง
- คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน
- พยายามกล่าวออกไป
- ผู้ฟังเข้าใจตามนั้น


๕. ศีลข้อ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มีองค์ ๔ คือ
- สิ่งนั้นเป็นของเมา
- จิตคิดที่จะดื่ม
- พยายามที่จะดื่ม
- น้ำเมานั้นร่วงลงสู่ลำคอไป


ถ้าถือองค์ประกอบเป็นหลักสำคัญ ก็กลายเป็นการศึกษาศีล แต่ในแง่ลบ การกระทำนั้นแม้จะเป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้ลำบากในรูปแบบต่างๆ แต่บังเอิญว่าไม่ครบองค์ประกอบของศีลแต่ละข้อ ก็ถือว่าไม่ผิดศีล ผู้ถือศีลในแง่ลบอย่างเดียว บางครั้งจึงเป็นคนโหดร้าย เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างน่าเกลียด

เพราะถืออย่างนี้เอง บางครั้งเราจึงได้เห็นภาพ (สมมตินะครับ) สามเณรน้อยไล่เตะหมา หมาร้องเอ๋งๆ ด้วยความเจ็บปวด ครั้นญาติโยมถามว่า เณร ทำไมเตะหมา เณรน้อยตอบด้วยความรอบรู้ว่า “ไม่เป็นไรดอกโยม ไม่ผิดศีล


การถือศีลเพียงในแง่นี้ ไม่มีทางที่จิตจะละเอียด ประณีต คนมีศีลในแง่ลบ ยิ่งมากเท่าไร กลับจะเป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมมากขึ้นเท่านั้น เพราะแต่ละคนจะหาทางเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย แถมยังภูมิใจด้วยว่า การกระทำนั้นไม่ผิดศีล เพราะไม่ครบองค์ประกอบ

เจ้าของโรงงานที่ใช้แรงงานจนเด็กพิการ ที่เขาเรียกว่าโรงงานนรก เศรษฐีนีเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยแพงหูดับตับไหม้ กระทั่งโรงงานผลิตสินค้าที่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นเหตุให้สุขภาพของประชาชนเสื่อมโทรม และผลิตสินค้าต้นทุนถูกแต่ขายแพง ฯลฯ ต่างก็นั่งภูมิใจว่าตนไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะไม่ครบองค์ประกอบ


เพราะฉะนั้น เมื่อจะรักษาศีลให้อำนวยประโยชน์ จึงต้องคำนึงถึง “ศีลในแง่บวก” (ที่ปราชญ์ไทยโบราณเรียกว่า “ธรรม”) ควบคู่ไปด้วย พูดให้ชัดว่าต้องรักษาทั้งศีลและธรรม

อันที่จริงเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนศีล พระองค์ทรงหมายรวมความหมายในแง่บวกด้วย ไม่เคยแยกว่า นี่ศีล นี่ธรรม เพราะศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล อ้าว ไม่เชื่อหรือ


ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดสรุปรวมลงในอริยมรรคมีองค์แปด และอริยมรรคมีองค์แปดสรุปได้อีกขั้นหนึ่งเป็นไตรสิกขา (สิกขา ๓) คือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือธรรม (ธรรมขั้นศีล) สมาธิก็คือธรรม (ธรรมขั้นสมาธิ) และปัญญาก็คือธรรม (ธรรมขั้นปัญญา) เห็นไหมครับ ทีนี้เชื่อหรือยังล่ะ

ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก คนส่วนมากมักจะพูดถึงศีลในแง่ลบ ให้ศีล รับศีล รักษาศีล เฉพาะในแง่ลบ พฤติกรรมของคนที่คิดว่าตนมีศีลจึงไม่ดีขึ้น เพราะขาดคุณสมบัติด้านบวกของศีล ปราชญ์ไทยโบราณจึงหาวิธีสอนศาสนาใหม่โดยแบ่งว่า นี่คือศีล และนี่คือธรรม แล้วก็บอกต่อไปว่า รักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาธรรมหรือพัฒนาธรรมด้วย จึงจะนับว่าเป็นคนดี ก็โอเคครับ การบัญญัติใหม่อย่างนี้เป็นไปด้วยกุศลจิต ด้วยความปรารถนาดีอยากจะให้คนมีศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก ถือว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

ศีล ๕ (ทั้งในแง่ลบและแง่บวก) นี้เป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์สะอาด ใครสามารถรักษาได้ครบถ้วน จะปราศจากความมัวหมองและปราศจากเวรภัย อย่าคิดว่าศีลในแง่ลบอย่างเดียวแล้วจะประกันความประพฤติได้

เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การละเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และสุราเมารัย เป็นเครื่องทำให้ไม่มีความเสื่อมเสียทางความประพฤติ และไม่ก่อเวรภัยแก่ตนและสังคมด้วยประการฉะนี้แล เอวัง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


วาระสุดท้ายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีป่วยหนักสองครั้ง (เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ที่ไม่บันทึกไว้ก็มีอีก)

ครั้งแรกท่านป่วยหนัก นึกถึงพระสารีบุตรเถระ จึงส่งคนไปนิมนต์ท่านไปยังนิเวศสถานของตน ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟังเพื่อบรรเทาทุกขเวทนา เพราะอาการไข้กำเริบ สุดจะอดกลั้นเวทนาไว้ได้ สงสัยไม่รอดแน่ๆ

พระสารีบุตรอัครสาวกได้แสดงธรรมให้ฟังว่า ท่านคหบดี ท่านจะร้อนใจไปทำไม คนอย่างท่านเป็นคนเลื่อมใส มั่นคงในพระรัตนตรัย ถึงพร้อมด้วยศีล มีสัมมาทิฐิ ประกอบสัมมากัมมันตะ (การทำงานชอบ) ประกอบสัมมาอาชีวะ (อาชีพสุจริต) มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ (ความหยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ) จะเดือดร้อนทำไม

ท่านกล่าวต่อไปว่า ปุถุชนมีกิเลสหนา ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่มีศีล มีมิจฉาทิฐิ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ (การหยั่งรู้ผิด) และมิจฉาวิมุติ (การหลุดพ้นผิด)

คนเช่นนี้ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ส่วนความไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเช่นที่ว่านั้น ไม่มีแก่ตัวท่าน ท่านมีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย มีศีล ฯลฯ มีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นความดีเหล่านี้ในคน ทุกขเวทนาพึงสงบระงับได้โดยพลัน

พอพระสารีบุตรเทศน์จบลง ทุกขเวทนาของเศรษฐีก็สงบระงับ ท่านจึง “อังคาส” (ถวายภัตตาหาร) แก่พระสารีบุตรด้วยมือ (เคยเล่าไว้แล้วว่า อังคาสพระสงฆ์ด้วยมือ มิใช่เข้าครัวทำอาหารเองแล้วมาถวายพระ หากหมายถึงคอยเสิร์ฟด้วยมือของตน จนพระท่านฉันเสร็จ มิใช่ยกอาหารประเคนพระ แล้วก็ไป ดุจดังชาวพุทธไทยปฏิบัติอยู่)

เมื่อพระสารีบุตรฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ได้กล่าวคาถาอนุโมทนา ความว่า “ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลอันงามที่พระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง (เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์)”

ลืมไปว่าพระอานนท์ได้ตามไปเป็น “ปัจฉาสมณะ” (พระตามหลัง) ของพระสารีบุตรในครั้งนี้ด้วย พระอานนท์นั้นเคารพนับถือพระสารีบุตรมาก พระสาวกทั้งปวงนับถือพระสารีบุตรเป็น “พี่ชายใหญ่” (คำนี้พระพุทธองค์ทรงรับสั่งเรียกเป็นพระองค์แรก) เช่น เวลาพระสงฆ์จะมากราบทูลลาพระพุทธองค์ไปยังต่างเมือง พระองค์ก็จะตรัสว่า “พวกเธอไปลาพี่ชายใหญ่ของพวกเธอด้วย”

เมื่อกลับพระอาราม พระอานนท์เข้าไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบถึงธรรมเทศนาที่พระสารีบุตรแสดงให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง

พระพุทธองค์ตรัสว่า อานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เธอได้จำแนก “โสตาปัตติยังคะ” (องค์คุณแห่งพระโสดาบัน) ๔ ประการ ออกเป็น ๑๐ ประการอย่างน่าฟังยิ่ง

ครั้งที่สอง ท่านป่วยหนักอีก ให้คนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้ท่านป่วยหนัก ลุกไม่ขึ้น ขอน้อมเกล้าฯ ถวายบังคมมา ณ บัดนี้ด้วย กับขออาราธนาพระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อระงับทุกขเวทนา พระพุทธองค์ทรงส่งพระสารีบุตรไป พระอานนท์เป็น “ปัจฉาสมณะ” ตามเคย

พระสารีบุตรได้แสดงธรรมเรื่องตัณหา (ความอยาก) มานะ (ความถือตัว ความยึดมั่นว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่) ทิฐิ (ความเห็นผิด)

สรุปธรรมเทศนาก็คือไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เมื่อแสดงธรรมจบลง ท่านทั้งสองเห็นว่าอาการป่วยของท่านเศรษฐีทุเลาลง

อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็น้ำตาไหล กล่าวกับพระเถระว่า ยังไม่เคยได้ฟังธรรมที่รู้สึกจับใจเช่นนี้มาก่อนเลย วันนี้ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายๆ เข้าใจดี

ต่อไปขอให้ท่านแสดงง่ายๆ อย่างนี้เถิด (พระนักวิชาการมักแสดงธรรมลึกซึ้ง แต่คราวนี้ท่านนำเสนอง่ายๆ เศรษฐีจึงประทับใจเป็นพิเศษ)

พอพระเถระทั้งสองคล้อยหลังไปไม่นาน อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม ว่ากันว่าไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดุสิต คืนนั้นเองเมืองล่วงปฐมยามแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตร ผู้มีรัศมีอันเรืองรอง ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้กล่าวโศลกสรรเสริญพระสารีบุตรว่า

พระเชตวันนี้ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พำนักอยู่ พระธรรมราชา (หมายถึงพระพุทธเจ้า) ก็ประทับอยู่ ณ ที่นี้ เป็นสิ่งซึ่งเพิ่มพูนปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยการงาน ความรู้ คุณธรรม ศีล และชีวิตที่อุดม หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่

เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงฟังธรรมโดยแยบคายจึงจะบริสุทธิ์ในธรรม พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา มีศีล มีธรรมเป็นเครื่องระงับ ในบรรดาภิกษุผู้บรรลุถึงฝั่ง (ถึงจุดหมายสูงสุด) ก็มีพระสารีบุตรนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุด กล่าวดังนี้แล้ว เทพบุตรก็อันตรธานหายไป

รุ่งเช้าขึ้น พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่ามีเทพบุตรองค์หนึ่งมากล่าวโศลกสรรเสริญพระสารีบุตร แล้วทรงเล่าโศลกให้ภิกษุสงฆ์ฟัง

พระอานนท์กราบทูลว่า เทพบุตรองค์นี้คงจะเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นแน่ เพราะท่านเคารพเลื่อมใสในพระสารีบุตรเหลือเกิน

ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากพระพุทธองค์

เรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผมได้ปะติดปะต่อจากพระสูตรต่างๆ เท่าที่มี เรียงร้อยเป็นเรื่องเป็นราวได้เพียงแค่นี้ครับ ชีวิตของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นชีวิตของชาวพุทธ (คฤหัสถ์) ตัวอย่าง เรียกว่าเป็น “อุบาสกรัตนะ” (อุบาสกแก้ว) เพราะมีคุณสมบัติล้ำเลิศ ๕ ประการ คือ

๑. มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย
๒. มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์
๓. เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว
๔. ไม่แสวงหาทักษิณนอกพระพุทธศาสนา (คือไม่ทำบุญนอกหลักการของพระพุทธศาสนา)
๕. อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง


น่าคิดว่า ท่านเป็นนักธุรกิจ แต่ท่านเชื่อมั่นในการทำธุรกิจที่ประกอบด้วยธรรม ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยมั่นคงในธรรม ท่านก็เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤต แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยความมั่นคงในธรรมเสมอต้นเสมอปลาย

ชีวิตของท่าน จึงน่าจะเป็นแบบอย่างของชาวพุทธ และนักธุรกิจการค้าทั้งหลายเป็นอย่างดี



:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b44: :b44: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2022, 19:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


•• วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี [วัดพระเชตวัน]

สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อยเหมือนในยุคหลัง วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือ “วัดพระเวฬุวัน” พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ “วัด” ในความหมายนี้ก็คือ สวนไผ่ หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละ เข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีอาคาร ปราสาท (แปลว่า เรือนชั้นหรือตึก) ด้วย คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า “สุทัตตะ” เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ไม่ใช่เศรษฐีค้าขายผูกขาดปั่นหุ้น ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมสถานที่อย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถามได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์สาวก

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ น้องเขยบอกว่า พรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย เพราะอยากพบพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ทนรอจนถึงรุ่งเช้าไม่ไหว จึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ไปยังสถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนรุ่งแจ้ง

ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสว่า “สุทัตตะ มานี่สิ” เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” (เทศนาอันว่าด้วย ทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกออกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ “เข้าสู่กระแสพระนิพพาน”

“สุทัตตะ” ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ตลอดชีวิต โดยเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ณ คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขย ตลอด ๗ วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด” เพียงแค่นี้เศรษฐีระดับดอกเตอร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา และตรัสให้หาที่อันเหมาะสมให้พระพุทธองค์ประทับ แล้วสุทัตตะก็ได้ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน


กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่เหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตไม่อยากขายจึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่าให้เอาเหรียญกระษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

โอโฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกระษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน ๑๘ โกฏิ (มากแค่ไหนผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)


เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า ทำไมจึงใจถึงปานนี้ จะซื้อสวนนี้ไปทำอะไรหรือ เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทันทีที่ได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าเชตก็เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที บอกเศรษฐีว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก ๑๘ โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ ใช้เวลาสร้างนานเท่าไรตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า “วัดพระเชตวัน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์

สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหน เป็นคนเดียวกับ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” อ่านออกเสียงว่า “อะนาถะบินดิกะเสดถี” นะครับ อย่าออกเสียงว่า “อะหนาด...” เป็นอันขาด แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลเอาความว่า “เศรษฐีใจบุญ” (benefactor, benevolent)

ใครที่ไปมนัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล (ลุมพินี สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า อยู่ที่ประเทศเนปาลครับ) ก็จะต้องไปเที่ยวชมและนมัสการพระเชตวัน จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึก และกุฏิของพระภิกษุสงฆ์สาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง


นอกจากนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินและอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น “เจดีย์” กราบไหว้แทนพระพุทธองค์ ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า “อานันทโพธิ์” (ต้นโพธิ์พระอานนท์)

“วัดพระเชตวัน” เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ “วัดบุพพาราม” ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า มีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน นี้ เพราะฉะนั้น “วัดพระเชตวัน” จึงมิเพียงเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสถานที่พระพุทธองค์ประทับยาวนาน และทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย จึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง



•• อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก
[อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา]

เอ่ยชื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากจะรู้จัก เพราะทั้งสองท่านนี้ถูกเอ่ยถึงบ่อยในตำราเรียนพระพุทธศาสนา

บ่อยจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าทั้งสองท่านคือบรรพบุรุษไทยเราทีเดียว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี นามเดิมว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล วันหนึ่งเดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ พักอยู่ที่บ้านของน้องเขย เห็นคนที่นั่นตระเตรียมสถานที่กันเอิกเกริก ยังกับจะมีงานรวมพล ยังไงยังงั้น จึงเอ่ยปากถามว่า มีงานเลี้ยงอะไรหรือ

ได้รับคำตอบว่า มิได้จัดงานเลี้ยงรับรองอะไร หากแต่พรุ่งนี้เช้าได้อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร พร้อมภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยปีติ บอกว่าอยากพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้องเขยบอกให้รอพรุ่งนี้เช้าก็ได้พบแน่นอน


แต่สุทัตตะรอไม่ไหว ตกดึกคือนั้นจึงออกจากคฤหาสน์น้องเขยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า

ได้พบและสดับพระธรรมเทศนาจากพระองค์จนบรรลุโสดาปัตติผล หลังจากขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น สุทัตตะกราบทูลเชิญเสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายยินดีในสถานที่สงบสงัด”

สุทัตตะเข้าใจเอาเองว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

เมื่อกลับเมืองสาวัตถี จึงได้ไปเจรจาซื้อสวนเจ้าเชตเพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาว่า เอากหาปณะมาปูลาดเต็มพื้นที่นั้นแหละคือราคาของสวนนี้ สุทัตตะจึงสั่งให้ขนกหาปณะจากคลังมาปูพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง หมดเงินไป ๑๘ โกฏิ เจ้าเชตเห็นความตั้งใจจริงของสุทัตตะจึงยินยอมเอาแค่ ๑๘ โกฏิ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตนออกสมทบ ทั้งสองร่วมกันสร้างวัดสำเร็จ ได้ขนานนามเป็นอนุสรณ์เจ้าของสวนเดิมว่า “วัดพระเชตวัน”


สุทัตตะ เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากคนจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นประจำ จึงถูกขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ

ฝรั่งแปลว่า benefactor หรือ “เศรษฐีใจบุญ” นั่นเอง

คัมภีร์กล่าวว่า ท่านใจบุญสมชื่อ คราวหนึ่งการค้าขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลง ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม ไม่ตัดทอนงบการทำบุญแต่อย่างใดจนเทวดาที่สิงอยู่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏกายขอร้องให้ลดการถวายทานลงบ้าง เมื่อรู้ว่าเป็นเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตู เศรษฐีจึงตะเพิดไล่หนีไป ในที่สุดเทวดานั้นต้องมาขอขมา จะไม่ขัดใจท่านผู้มีอำนาจอีกแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาวสามคน ต่างก็ช่วยงานบุญงานกุศลของบิดาคนละไม้คนละมือยกเว้นบุตรชายคนโตที่เกเร เอาแต่เที่ยวเตร่หาความสุขสนุกตามประสาลูกคนมีเงิน ดีว่าไม่ไปหาเรื่องเหยียบตีนชาวบ้าน แต่เท่านั้นก็สร้างความหนักใจให้ผู้เป็นพ่อมากในช่วงแรกๆ

ต่อมาเศรษฐีคิดอุบาย “ดัด” สันดานลูกชายได้สำเร็จ คือจ้างลูกชายไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานลูกชายก็กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ดำเนินรอยบุญตามพ่อ

หมายเหตุ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเร ลองนำเทคนิควิธีของท่านอนาถบิณฑิกะมาใช้บ้าง บางทีอาจแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่ต้องจ้างไปฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะ ให้เรียนให้เก่งนะ อย่าติดสินบนด้วยของเล่นหรือวัตถุแพงๆ

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวัน นางวิสาขาก็คิดสร้างวัดบ้าง จึงได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นทางทิศตะวันออกของเมือง เรื่องราวของนางวิสาขาน่าสนใจ ขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

นางเป็นบุตรสาว ธนัญชัยเศรษฐี กับ นางสมุนา แห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ นางได้พบพระพุทธเจ้าได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่ยังเด็ก (ว่ากันว่า วัยแค่ ๗ ขวบเท่านั้นเอง) นางเป็นสาวงามแบบ “เบญจกัลยาณี” คืองามพร้อม ๕ ส่วน ได้แก่ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูก (ฟัน) งาม, ผิวงาม และวัยงาม (ไม่รู้จักแก่ไปตามวัน)

นางได้แต่งงานกับบุตรชายเศรษฐีตระกูล “มิจฉาทิฐิ” (หมายถึงตระกูลที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) แต่นางก็ปรนนิบัติสามีและบิดามารดาของสามีอย่างเคารพ ไม่ขาดตกบกพร่อง

แต่ถึงประพฤติตัวดีอย่างไรก็พลาดจนได้ วันหนึ่งขณะนางพัดวีบิดาสามีผู้รับประทานอาหารอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งอุ้มบาตรมายืนหน้าบ้าน ทำนองขอบิณฑบาต (สมัยพุทธกาลภิกษุมักจะไปยืนหน้าบ้านทายกทายิกาที่คาดว่ามีศรัทธาถวายอาหาร)

เศรษฐีเฒ่าเห็นพระแต่ทำเป็นไม่เห็น แถมหันข้างให้ รับประทานอาหารไป นางจึงเลี่ยงออกมา กระซิบกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังกินของเก่า”

พูดขาดคำก็ได้ยินเสียงถ้วยชามดังเพล้ง แม่นแล้ว เศรษฐีลุกขึ้นเตะเอง ด้วยความโมโหที่ลูกสะใภ้บังอาจด่าตนหาว่า “กินอุจจาระ” ออกปากไล่นางออกจากตระกูลของตน


พราหมณ์ ๘ คนที่บิดานางมอบให้ดูแลนางวิสาขา ได้ทำการสอบสวนเรื่องราว นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาบิดาสามีว่ากินอุจจาระดังเข้าใจ หากนางหมายถึงว่า บิดาสามีนางทำบุญแต่ปางก่อนไว้มากจึงมาเกิดเป็นเศรษฐีในชาตินี้แต่มิได้สร้างบุญใหม่เพิ่มเลย ที่ว่าบิดาสามีนาง “กินของเก่า” หมายถึงกินบุญเก่า

พราหมณ์ทั้ง ๘ ตัดสินว่านางไม่มีความผิด เศรษฐีก็เข้าใจและให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูลแถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีนับถือลูกสะใภ้คนนี้ว่ามีบุญคุณต่อตนเป็นเสมือน “บิดาในทางธรรม” ของตน ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า วิสาขาวิคารมาตา (วิสาขามารดาแห่งมิคารเศรษฐี)

นางได้ขายเครื่องระดับราคาแพงของนางชื่อ “ลดาปสาธน์” ได้เงิน ๘ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ (ว่ากันว่าไม่มีใครซื้อ จึงควักเงินตัวเองซื้อ) และเพิ่มเงินอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว

ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างเป็นอุบาสกอุบาสิกาตัวอย่าง ว่ากันว่าทั้งสองท่านไม่เคยไปวัดมือเปล่าเลย ถ้าเป็นเวลาเช้าก็ถืออาหารไปถวายพระ ถ้าเป็นเวลาเย็นก็ถือดอกไม้ของหอมไปบูชาพระ จึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน

นี่คือเรื่องราวสังเขปของอุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรกในพระพุทธศาสนา


:b49: :b47: :b49:

ที่มา >>> :b39: สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47962

๏ สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
อุบาสกผู้มีอุปการคุณต่อพระศาสนา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333

๏ นางวิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา
(นางวิสาขามหาอุบาสิกา)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57225

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2024, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร