วันเวลาปัจจุบัน 02 พ.ย. 2024, 22:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2015, 11:42 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระเจ้าปเสนทิโกศล
ผู้ครองนครสาวัตถี แคว้นโกศล
================

รูปภาพ

:b44: ชาติภูมิ

พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามหาโกศล ผู้ครองนครสาวัตถี แคว้นโกศล เมื่อยังเป็นพระกุมารได้เสด็จไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ กรุงตักศิลา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับกรุงสาวัตถี ได้แสดงศิลปวิทยาที่ได้ศึกษามาให้หมู่ญาติมีพระชนก พระชนนีเป็นประธานได้ทอดพระเนตร ปเสนทิกุมารได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้ามหาโกศลเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้อภิเษกในราชสมบัติ เป็นพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล โดยมีเมืองสาวัตถี (Savatthi) หรือศราวัสตี (Sravasti) ในภาษาสันสกฤตเป็นราชธานี ในปกร์ฝ่ายสันสกฤตเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าประเสนชิต

ราชอาณาจักรโกศลมีความกว้างขวางรองจากอาณาจักรมคธ จากแม่น้ำคุมติ (Gumti) ถึงเมืองคันฑัก (Gandak) และจากชายแดนเนปาลในปัจจุบันถึงฝั่งแม่น้ำคงคา ต่อมาพระองค์ก็ได้ผนวกแคว้นกาสี อันมีเมืองพาราณสีอยู่ในราชอาณาจักรอีกด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระชนมายุเท่ากับพระพุทธองค์ และในบรรดาพระมหากษัตริย์หลายเมืองพระองค์นับว่ามีความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์มากที่สุด พระพุทธองค์ประทับอยู่เมืองสาวัตถีนานที่สุด

พระองค์มีสรีระที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ แม้จะเสด็จไปไหนก็ไม่สะดวก ทรงอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเคยทำสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรู แคว้นมคธผู้เป็นหลาน ๔ ครั้ง แต่ก็ต้องแพ้ทั้ง ๔ ครั้งเช่นกัน สาเหตุเพราะแย่งอาณาเขตแคว้นกาสี แต่ครั้งที่ ๕ พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะ เพราะจารบุรุษของพระองค์ได้แอบฟังเทคนิคการรบ จากพระธนุคคหติสสะสนทนากับพระทันตเถระ ที่เชตวันมหาวิหาร ด้วยว่าพระธนุคคหติสสะก่อนบวช เป็นนายทหารที่ฉลาดหลักแหลมและออกรบอย่างอาจหาญมาตลอด พระเจ้าอชาตศัตรูจึงถูกจับขังคุกที่สาวัตถีหลายปี แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่าเป็นหลานก็เลยปล่อยกลับไป

พระองค์มีพระมเหสีหลายพระองค์แต่ที่เด่นๆ คือ ๑. พระนางมัลลิกา ๒. พระนางวาสภขัตติยา มีพระโอรสหลายพระองค์ คือ ๑. เจ้าชายพรหมทัต (Brahmadatta) ๒. เจ้าชายวิฑูฑภะ (Vidudabha) ต่อมาเจ้าชายพรหมทัตก็ได้ออกบวชจนบรรลุพระอรหันต์ ส่วนเจ้าชายวิฑูฑภะยึดอำนาจจากพระองค์แล้วครองราชย์สมบัติต่อมา ก่อนที่เจ้าชายวิฑูฑภะจะสวรรคตที่ริมฝั่งแม่น้ำ หลังนำทัพเข้าโจมตีเมืองกบิลพัสดุ์ได้ไม่นาน


:b44: การนับถือพระพุทธศาสนา

พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภก (ผู้อุปถัมภ์ศาสนา) ที่สำคัญในสมัยพุทธกาล ทรงมีความรักและความเคารพพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ ทรงปราศรัยกับพระพุทธเจ้าในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้

(ก) พบพระพุทธเจ้าครั้งแรก

พระเจ้าปเสนทโกศลทรงสนพระทัยในเรื่องศาสนามาก ในสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิศาสนา ตั้งตนเป็นศาสดาสั่งสอนธรรมอยู่หลายท่าน ที่มีชื่อเสียงได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ ๖ ท่าน คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถนาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ และอชิตเกสกัมพล ซึ่งมักจะรวมเรียกว่าศาสดาทั้ง ๖

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบกิตติศัพท์ (เสียงเล่าลือ) ดังกล่าวมีพระประสงค์จะพบพระอรหันต์ผู้ประกาศตนว่าเป็นพุทธะเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) จึงโปรดให้นิมนต์ศาสดาทั้ง ๖ ไปรับพระราชทานอาหารในพระราชวัง แล้วทรงตรัสถามตรงๆ ว่าท่านทั้งหลายสามารถปฏิญาณ (ยืนยัน) ได้หรือไม่ว่าเป็นพุทธะ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ศาสดาทั้ง ๖ เกรงพระบรมเดชานุภาพของพระราชา คิดว่าถ้าหากทูลว่าตนเป็นพุทธะ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสถามธรรมที่ลึกซึ้งอันเป็นพุทธวิสัย จะไม่อาจทูลตอบได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะถูกลงโทษฐานหลอกลวงมหาชนว่าเป็นพุทธะ จึงได้นิ่งเสีย ไม่มีผู้ใดกล้าปฏิญาณว่าตนเองเป็นพุทธะ เมื่อถูกถามซ้ำอีกไม่มีทางตอบบ่ายเบี่ยงเป็นอย่างอื่น จึงต้องยอมรับว่าพวกตนมิได้เป็นพุทธะ เป็นแต่คณาจารย์ธรรมดา คำที่เล่าลือกันว่าเป็นพุทธะนั้นเป็นเรื่องของสาวกบริวารที่ยกย่องกันเอง

เมื่อพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในแคว้นมคธแล้ว อีก ๒ ปีต่อมาก็ได้แผ่ไปถึงแคว้นโกศล มีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบริจาคทรัพย์สร้างวัดในกรุงสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศลหลายแห่ง เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวันมหาวิหาร และนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างวัดบุพพาราม

คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แล้วทูลถามว่าท่านพระโคดมทรงปฏิญาณได้หรือไม่ว่า ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ทรงปฏิญาณว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมแล้ว

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า บรรพชิตเหล่าอื่น เช่น ศาสดาทั้ง ๖ เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า ท่านเหล่านั้นปฏิญาณได้หรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ไม่มีผู้ใดปฏิญาณสักคน ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอายุมากแล้ว เป็นเจ้าลัทธิที่มหาชนยกย่อง ส่วนพระพุทธเจ้ายังทรงหนุ่มอยู่ ผนวชมาก็ไม่สู้นาน ไฉนพระองค์จึงกล้าปฏิญาณเล่า

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นของ ๔ อย่างว่าเป็นของเล็กน้อย” คือ

(๑) อย่าดูถูก ดูหมิ่นกษัตริย์ว่ายังทรงพระเยาว์
(๒) อย่าดูถูก ดูหมิ่นงูว่าตัวเล็ก
(๓) อย่าดูถูก ดูหมิ่นไฟว่าเล็กน้อย
(๔) อย่าดูถูก ดูหมิ่นภิกษุว่ายังหนุ่มอยู่


ของ ๔ อย่างนี้ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะพระมหากษัตริย์แม้ยังทรงพระเยาว์ แต่ก็มีพระราชอำนาจมาก หากทรงพิโรธขึ้นอาจลงพระราชอาญาอย่างหนักได้ งูพิษแม้ตัวเล็กก็กัดคนให้ตายได้ ไฟเพียงเล็กน้อยก็อาจเผาบ้านเรือนผลาญชีวิตคนได้ พระภิกษุแม้ยังหนุ่ม แต่ก็เป็นผู้มีศีล ผู้ใดประทุษร้ายต่อภิกษุผู้มีศีล ผลแห่งกรรมชั่วย่อมแผดเผาผู้นั้น บุตรภรรยาและทรัพย์สมบัติของผู้นั้นย่อมพินาศ

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าแจ่มแจ้งนัก และปฏิญาณตนเป็นอุบาสกของถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


(ข) ทรงพบหมู่พระสงฆ์

ในวันหนึ่ง ขณะที่ประทับยืนบนปราสาท พระเจ้าปเสนทิโกศล ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์หลายพันรูป ไปฉันภัตตาหารในคฤหาสน์ของคหบดีผู้มั่งคั่ง มีท่านอนาถบิณฑิกะ เป็นต้น มีพระราชประสงค์จะถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ จึงได้ทรงให้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุเพื่อฉันภัตตาหารในพระราชวังตลอด ๗ วัน

หลังจากนั้น ทรงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าฉันในพระราชวังเป็นประจำ แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธเพราะทุกคนต่างรอคอยพระองค์ ซึ่งต้องสงเคราะห์ประชาชนให้ทั่วหน้ากัน ประการสำคัญพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะไม่เสวยภัตตาหารในที่เดียวตลอดไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้า ส่งพระภิกษุไปฉันในพระราชวังเป็นประจำ พระพุทธเจ้าทรงมอบภาระนี้แก่พระอานนท์


(ค) ทรงลืมจัดของถวายพระสงฆ์

ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลืมจัดของถวายแด่พระสงฆ์ ที่เข้าไปฉันภัตตาหารในพระราชวังติดต่อกันถึง ๓ วัน ในวันหลังๆ จึงไม่มีภิกษุเข้าไปในพระราชวัง มีแต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ไม่พอพระทัยจึงเสด็จไปทรงตำหนิพระสงฆ์ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนิภิกษุ แต่ทรงชี้ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบว่า การที่สาวกของพระองค์ไม่เข้าไปฉันในราชสำนักเพราะยังไม่มีความคุ้นเคย

(ง) ทรงเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า

ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อเสด็จกลับไปแล้ว ทรงดำริว่าเราควรทำความคุ้นเคยกับภิกษุสงฆ์ จะทำอย่างไรดีหนอ ภิกษุสงฆ์จึงจะคุ้นเคยกับเรา ทรงดำริว่าถ้าเราอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงในตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า ภิกษุสงฆ์ก็จะเกิดความคุนเคยกับเรา เพราะคิดว่าเราเป็นญาติของพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงส่งพระราชสาส์นไปขอธิดาของวงศ์ศากยะ มาเพื่ออภิเษกเป็นพระมเหสี ปรากฏว่าทางศากยวงศ์ประชุมกันแล้วไม่เต็มใจที่จะถวาย แต่เนื่องด้วยเกรงพระราชอำนาจของพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงจำใจส่งเจ้าหญิงวาสภขัตติยา ธิดาของพระเจ้ามหานามะ ผู้เกิดจากนางทาสี (หญิงรับใช้ของพระเจ้ามหานามะ) ไปถวาย

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัย อภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ต่อมาพระนางวาสภขัตติยาประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง คือ วิฑูฑภะ ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่าพระนางเป็นธิดาของนางทาสี ทรงกริ้วมาก รับสั่งให้ปลดพระนางวาสภขัตติยาจากตำแหน่งอัครมเหสี และวิฑูฑภะจากตำแหน่งรัชทายาท และให้ริบเครื่องอิสริยยศที่เคยพระราชทานแก่พระนางวาสภขัตติยา และพระโอรส

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงทูลเรื่องนี้ ด้วยความน้อยพระทัยว่า พระญาติของพระพุทธเจ้าประทานลูกทาสีมาให้เป็นอัครมเหสี

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มหาบพิตร พวกเจ้าศากยะไม่สมควรทำอย่างนี้ ธรรมดาเมื่อจะให้พระธิดาก็ควรให้พระธิดาที่มีพระชาติเสมอกัน” เป็นการแสดงความเห็นใจ ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงคลายความขุ่นพระทัยลงที่ทรงเห็นว่าพระทพุธเจ้าเป็นฝ่ายเดียวกับพระองค์ไม่เข้าข้างฝ่ายพระญาติ

เมื่อพระเจ้าปเสนิโกศลได้ระบายความน้อยพระทัย และได้รับความเห็นใจจากพระพุทธเจ้าที่ทรงยอมรับว่าพวกเจ้าศากยะทำไม่ถูก เป็นการแสดงอารมณ์ร่วมแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงชี้แจงต่อไปว่า พระนางวาสภขัตติยาเป็นราชธิดาของกษัตริย์ ได้รับการอภิเษกในตระกูลของกษัตริย์ แม้วิฑูฑภะกุมารก็ถือกำเนิดจากกษัตริย์ วงศ์ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สำคัญ วงศ์ตระกูลฝ่ายบิดาเท่านั้นเป็นสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งในสมัยโบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงผู้ยากจนมีอาชีพหาบฝืน และโอรสที่เกิดจากอัครมเหสีนั้นต่อมาก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับพระโอวาทแล้ว ทรงเห็นจริงว่าวงศ์ตระกูลของบิดาเท่านั้นเป็นสำคัญ จึงโปรดให้คืนยศและตำแหน่งแก่พระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภะพระโอรสดังเดิม


(จ) ทรงถวายอสทิสทาน

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลปราศรัยถึงเรื่องต่างๆ ก่อนจะเสด็จกลับได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งภิกษุ ๕๐๐ รูปรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ในพระราชฐาน และตรัสชวนประชาชนที่มาฟังธรรมในพระเชตวันมหาวิหารให้ไปร่วมอนุโมทนาทานนั้นด้วย

เมื่อถึงเวลาพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ทรงทำภัตกิจที่ในวัง ชาวเมืองก็ไปร่วมอนุโมทนาด้วยมากมาย เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ชาวเมืองจึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับภิกษุ ๕๐๐ รูป เสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น และทูลเชิญเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งอำมาตย์-ราชบริพารมาอนุโมทนาด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลกับชาวเมืองผลัดกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระ และเชิญอีกฝ่ายหนึ่งมาร่วมอนุโมทนาอย่างนี้ ถึงฝ่ายละ ๖ ครั้ง ในครั้งแรกๆ ก็เกิดด้วยศรัทธาปสาทะ แต่ครั้งหลังๆ กลายเป็นแข่งขันกันไปโดยไม่รู้ตัว ชาวเมืองพยายามหาของดีๆ ของแปลกๆ เช่น พืช ผัก และผลไม้ที่หายากมาถวาย

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงพยายามจัดหาของที่ดีและประณีตให้มีแปลกมีใหม่ แต่ก็สู้ชาวเมืองไม่ได้สักครั้ง เพราะชาวเมืองมีจำนวนมากร่วมกันถวายทีหลัง จึงสามารถจัดของถวายให้แปลกให้ดีกว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปริวิตกถึงเรื่องนี้ จึงตรัสเล่าให้พระนางมัลลิกาเทวีทราบ พระนางมัลลิกาเทวีทรงหาวิธีที่จะให้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะชาวเมือง จึงจัดทานที่เรียกว่า “อสทิสทาน” แปลว่า ทานที่หาผู้ทำเสมอมิได้ คือทานที่ไม่มีใครเหมือน

พระนางมัลลิกาเทวีเป็นผู้ฉลาด แทนที่จะเอาชนะด้วยภัตตาหารที่แปลกที่ประณีตที่หายาก พระนางกลับเอาชนะด้วยพิธีการที่ยิ่งใหญ่จนชาวเมืองทำตามไม่ได้ คือ ให้ปลูกพระมณฑปใหญ่สำหรับเป็นที่ฉันภัตตาหารสำหรับพระ ๕๐๐ รูปที่กลางสนามหลวง ที่อาสนะสำหรับพระแต่ละรูป มีช้างยืนถือเศวตรฉัตรบูชาพระอยู่เบื้องบน และให้เจ้าหญิงแห่งราชตระกูลเป็นผู้ถวายภัตตาหาร ชาวเมืองไม่มีช้าง ไม่มีเศวตรฉัตร ไม่มีเจ้าหญิง จึงไม่อาจแข่งขันกับพระเจ้าปเสนทิโกศลได้


(ฉ) พบพระพุทธเจ้าครั้งสุดท้าย

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมทฬุปนิคม ในแคว้นสักกะของพวกศากยะ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จประพาสหัวเมืองผ่านมาทางนั้น โปรดให้พักกองทัพไว้ไม่ไกลวัดนัก ตั้งพระราชหฤทัยจะเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ชื่อว่าทีฑการายนะรักษาไว้ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระคันธกุฎีกราบทูลถึงความที่พระองค์มีความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าด้วยเหตุต่างๆ เป็นอันมาก ในตอนสุดท้ายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นชาวโกศล หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ ปี หม่อมฉันก็มีอายุ ๘๐ ปีเหมือนกัน...”

ในระหว่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระคันธกุฎีแต่เฉพาะพระองค์ ทีฆการายนะอำมาตย์เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์กลับไปกรุงสาวัตถี สถาปนาวิฑูฑภะซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี (แม่ทัพ) ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน เหลือไว้แต่ม้าตัวหนึ่งกับนางสนมคนหนึ่ง

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลลาเสด็จกลับออกมาจากพระคันธกุฎี ไม่พบทีฆการายนะอำมาตย์ ซึ่งพระองค์มอบให้รักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้จึงเสด็จไปยังค่ายที่พักพล พบเพียงม้าตัวหนึ่งกับนางสนมคนหนึ่ง สอบถามได้ความว่าทีฆการายนะอำมาตย์กับวิฑูฑภะเสนาบดียกกองทัพกลับกรุงสาวัตถีแล้วพร้อมทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็ทรงแน่พระทัยว่าเจ้าชายวิฑูฑภะเป็นขบถแน่ จึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อขอกำลังทหารจากพระเจ้าอชาตศัตรูราชาแห่งแคว้นมคธผู้เป็นพระราชนัดดาไปกู้ราชบัลลังก์คืน แต่เนื่องด้วยทรงพระชราและทรงเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง จึงสิ้นพระชนม์อยู่นอกประตูเมืองราชคฤห์ในราตรีที่เสด็จไปถึงนั่นเอง นางสนมที่โดยเสด็จก็ร้องไห้คร่ำครวญความทราบถึงพระเจ้าอชาตศัตรู จึงโปรดให้จัดการพระบรมศพให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี


:b44: บทบาทที่สำคัญ

(ก) อำนาจ

เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงช้างชื่อปุณฑรีกะ เลียบพระนคร ทอดพระเนตรเห็นภรรยาของคนยากจนคนหนึ่ง ทรงเกิดความรักมากจนหักห้ามพระทัยไม่ได้ เมื่อกลับถึงพระราชวัง จึงวางแผนที่จะยึดครองภรรยาของคนยากจนนั้น พระองค์ได้ทรงกลั่นแกล้งคนยากจนคนนั้นต่างๆ นานา แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น พระองค์จึงทรงส่งเขาไปหาของป่าในป่าลึก และทรงสั่งให้กลับมาก่อนประตูเมืองปิด ชายคนหนึ่งนั้นเที่ยวหาของได้ตามประสงค์ และกลับสู่เมืองทันเวลา แต่ไม่อาจเข้าเมืองได้ เพราะประตูถูกปิดก่อนเวลาปกติ เขาจึงเข้าอาศัยศาลาวัดนอนตลอดคืน

ในตอนดึกคืนนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระสับกระส่าย เพราะทรงคิดถึงแต่ภรรยาคนยากจนนั้น บรรทมไม่หลับตลอดคืน พระองค์ทรงได้ยินเสียงประหลาด และตกพระทัยมาก รุ่งเช้า ตรัสเรียกโหรมาทำนาย โหรทนายว่าจะมีเคราะห์กรรมขนาดใหญ่ จะต้องบูชาด้วยการฆ่าสัตว์อย่างละ ๑๐๐ ตัว จึงจะเสดาะเคราะห์ได้ พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทรงสั่งให้จับสัตว์ประเภทละ ๑๐๐ ตัว ขังไว้เพื่อบูชายัญ ในจำนวนนั้นมีมนุษย์ ๑๐๐ คน รวมอยู่ด้วย สัตว์และมนุษย์เหล่านั้นร้องโหยหวนด้วยความกลัวตาย

พระนางมัลลิกาเทวี มเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าปเสนทิโกศล ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเสียก่อน พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ประจักษ์ว่า เสียงร้องนั้นไม่ใช่เสียงที่ก่อเคราะห์กรรมแก่ผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นเสียงของสัตว์นรกที่กำลังเสวยผลกรรมของตน เนื่องจากประพฤติผิดในภรรยาของคนอื่น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสำนึกผิด หมดความใยดีในภรรยาของคนยากจน เสด็จกลับพระราชวังแล้วสั่งให้ปล่อยสัตว์และมนุษย์ที่ถูกขังไว้จนหมด


(ข) ทรงแข่งกันทำบุญ

ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประกาศให้ประชาชนทำทานแข่งกับพระองค์ เพราะมั่นพระทัยว่า จะไม่มีใครทำทานได้อย่างพระองค์เป็นแน่ แต่เมื่อถวายทาน กลับปรากฏว่าพระองค์ทรงพ่ายแพ้ต่อประชาชน เพราะประชาชนร่วมกันถวายจึงสามารถจัดทานได้อย่างมโหฬาร

พระนางมัลลิกาเทวีทรงหาวิธีที่จะให้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะ จึงจัดทำทานที่เรียกว่า อสทิสทาน (ทานที่ไม่มีใครเหมือน) เลือกเอาแต่ประณีตที่ประชาชนไม่มี ผู้เป็นกำลังในการจัดไทยทานล้วนเป็นชาววัง พระองค์ทรงชนะประชาชนด้วยอสทิสทานนี้


(ค) ทรงประสงค์จะได้ผู้มีบุญ

พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นภัสดาของกันและกัน แต่คนมีบุญมากในแคว้นมคธมีถึง ๕ คน ในขณะที่แคว้นโกศลมีเพียงคนเดียว พระเจ้าปเสนทิโกศทรงขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งคนมีบุญไปอยู่แคว้นโกศลอีกหนึ่งคน พระเจ้าพิมพิสารจึงส่งธนัญชัยเศรษฐีไป ธนัญชัยเศรษฐีรอนแรมไปตลอดจนเข้าเขตแคว้นโกศล เมื่อไปถึงที่ที่ภูมิฐานดีแห่งหนึ่ง จึงกราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ทราบว่า บริวารของตนมีมาก หากเข้าไปอยู่ในเมืองจะเป็นการแออัด จึงขอสร้างเมืองใหม่ในบริเวณนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงอนุญาตและประทานนามเมืองนั้นว่า “สาเกต” (หมายถึงเมืองที่จับจองในเวลาเย็น)

(ง) กลวิธีแก้การเสวยพระกระยาหารเกินส่วน

ตามปกติพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาการจุมาก วันหนึ่งเสวยพระกระยาหารแล้วยังไม่ทรงพักผ่อน เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงรู้สึกง่วงถึงกับบรรทมหลับในที่ประทับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงโอวาทว่า การบริโภคมากเป็นของไม่ดี เพราะจะทำให้เกิดการโงดง่วงเซื่องซึม คนที่บริโภคมากมักจะนอนเหมือนสุกรที่ถูกเลี้ยงจนอิ่ม การบริโภคพอประมาณจึงจะมีความสุข

พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่อาจทรงจำพระโอวาทได้เพราะทรงง่วงมาก ทรงให้พระภาคิไนย (หลาน) ชื่อ สุทัสสนะ จดจำเพื่อท่องให้สดับในเวลาเสวยพระกระยาหาร ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประสพสุข เพราะปฏิบัติตามพระโอวาทของพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลความจริงให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีทรัพย์ใดยิ่งกว่าความสันโดษ ไม่มีญาติประเภทใดจะเสมอเหมือนความคุ้นเคยกัน และสุขอื่นใดจะเหมือนสุขคือนิพพานหามีไม่”

พระเจ้าปเสนทิโกศล สมัยยังทรงพระเยาว์ได้ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกับ เจ้าชายมหาลิจฉวี กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี และพันธุละเสนาบดี โอรสของเจ้ามัลละแห่งเมืองกุสินารา เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้เสด็จกลับนครสาวัตถี และได้ครองราชย์สมบัติสืบแทนพระราชบิดาต่อไป

พระเจ้าปเสนทิโกศลนับถือนักบวชพระพุทธศาสนามาก่อน สาเหตุที่หันมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนานั้นมีเรื่องเล่ากันว่า วันหนึ่งขณะยืนประทับอยู่บนปราสาท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์หลายพันรูปเดินไปฉันภัตตาหารที่บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีด้วยอาการสงบสำรวม รู้สึกเลื่อมใสในอากัปกิริยาอันงดงามของพระสงฆ์ จึงมีพระราชประสงค์จะถวายภัตตาหารบ้าง จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลขออาราธนาให้พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกายาหารในพระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ แล้วทรงมอบพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และทรงขอให้พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกายาหารเช่นนี้เป็นประจำ

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะต้องสงเคราะห์ประชาชนทั่วหน้ากัน จะไม่เสวยพระกายาหารที่เดียวตลอดไป” จึงทรงมอบภาระให้พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก พาภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งไปฉันภัตตาหารเป็นประจำแทน

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความมั่นคงในพระรัตนตรัย และมีความเคารพในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่ทรงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอภิวาท (กราบ) แทบพระยุคลบาทพระพุทธองค์อย่างนอบน้อม จนพระพุทธองค์ทักว่าเป็นถึงราชามหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องแสดงความเคารพถึงขนาดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “พระองค์ถวายความเคารพอย่างสูงเช่นนี้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลก เป็นผู้ประดิษฐานมหาชนไว้ในกุศลธรรม” คือทรงสั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรมอันดีงามยากที่คนอื่นจะทำได้

ทุกครั้งที่พระองค์ว่างจากพระราชภารกิจ จะเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าฟังธรรมและขอคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าเสมอ จึงทรงคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี และทรงปรารถนาจะมีความคุ้นเคยทางสายเลือดกับพระพุทธองค์อีกด้วย จึงทรงขอพระธิดาของพระเจ้าศากยะมาเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระทัยใฝ่ในการบุญการกุศลอย่างยิ่ง ดังหลักฐานปรากฏว่าพระองค์ทรงทำทานแข่งกับประชาชน เมื่อประชาชนจำนวนมากร่วมมือร่วมใจกันถวายทานอันใหญ่โต พระองค์พ่ายแพ้ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสี ได้ถวายคำแนะนำให้ทรงทำ “อสทิสทาน” จึงสามารถเอาชนะประชาชนได้

พระเจ้าปเสนทิโกศล ถูก “ทีฆการายนะอำมาตย์” ยึดพระนครขณะเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระองค์จึงทรงมอบราชสมบัติให้วิฑูฑภะ พระราชกุมารครองราชย์สมบัติสืบแทน ส่วนพระองค์ก็เสด็จหนีไปเมืองราชคฤห์ เพื่อขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูมาช่วยปราบกบฏ แต่ไปไม่ทันเวลาประตูเมืองปิดเสียก่อน ด้วยความเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำพระวรกาย และด้วยความเสียพระราชหฤทัย พระองค์ก็เสด็จสวรรคต ณ ค่ำคืนนั้น ที่ข้างประตูเมืองราชคฤห์นั่นเอง


:b44: คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

๑. ทรงมั่นคงในพระรัตนตรัย หลังจากหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมั่นคงในพระรัตนตรัยมาก ดังทรงแสดงออกถึงความเคารพอย่างสูงต่อพระพุทธเจ้า และดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เป็นอย่างดีตลอดรัชกาลของพระองค์

๒. ทรงรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง มีหลายครั้งที่พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาถูกลัทธิตรงข้ามผู้ไม่ปรารถนาดีใส่ร้ายป้ายสีให้มัวหมองเสื่อมเสีย พระองค์จะไม่ทรงเฉยเมย ทรงเอาพระทัยใส่ช่วยขจัดปัดเป่าให้หมดไปในฐานะที่ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ดังกรณีที่พวกนิครนถ์ ได้ฆ่านางสุนทรี สาวิกาของพวกตน และนำศพไปทิ้งไว้ใกล้พระเชตวัน จากนั้นปล่อยข่าวว่าสาวิกาของพวกตนถูกสาวกของพระพุทธเจ้าฆ่าตาย พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่เชื่อ กลับรับสั่งให้สอบสวนจนถึงต้นตอ จึงได้ความจริงผู้ที่ฆ่านางก็คือพวกนิครนถ์นั่นเอง เพื่อใส่ร้ายป้ายสีให้พระพุทธศาสนามัวหมอง และดังกรณีที่พวกนิครนถ์จ้างโจรไปฆ่าพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเอาเป็นภาระรับสั่งให้สืบสวนสอบสวนจนได้ตัวการที่แท้จริง เป็นต้น

๓. ทรงมีพระทัยกว้างยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น พระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยนั้น มักไม่ค่อยมีใครกล้าตักเตือน หรือมักไม่ค่อยฟังความคิดเห็นของคนอื่น แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงมีทิฐิมานะเช่นนั้น แต่กลับยอมรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากคนอื่น แม้ผู้นั้นจะอยู่ในสถานะด้อยกว่าพระองค์ก็ตาม ดังทรงรับฟังคำแนะนำของพระนางมัลลิกาเทวี ที่ถวายคำแนะนำให้ทรงเห็นโทษในการฆ่าสัตว์บูชายัญและให้ทรงทำ “อสทิสทาน” แข่งกับประชาชน หรือกระทำตามข้อเสนอแนะของฉัตตปาณิอุบาสก ในการเสด็จไปทูลขอพระสาวกของพระพุทธเจ้ามาช่วยสั่งสอนธรรมให้แก่พระมเหสี เป็นต้น

๔. ทรงยอมรับความคิดเห็นและพร้อมที่จะแก้ไข คุณสมบัติข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อ ๒, ๓ เมื่อตนทำผิดและมีคนอื่นแนะนำ ก็ยอมรับในความผิดพลาดและพร้อมจะแก้ไข ข้อนี้ปรากฏชัดเจนคือเมื่อครั้งที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้สังหารพันธุละเสนาบดี พร้อมทั้งบุตร ๓๒ คนเพราะทรงหลงเชื่อคำยุยงว่าพันธุละเสนาบดีคิดจะยึดครองราชย์สมบัติ เมื่อความจริงปรากฏว่าพันธุละเสนาบดีบริสุทธิ์ พระองค์ก็เสด็จไปทรงขอขมาต่อพระนางมัลลิกา ผู้เป็นภริยาของพันธุละเสนาบดี


>>> ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7262

ศึกษาพระราชประวัติโดยละเอียดจาก
การศึกษาบทบาทในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระเจ้าปเสนทิโกศล (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระวิเชียรบุรี สติสมฺปนฺโน (ขวัญโพก)

http://oldweb.mcu.ac.th/userfiles/file/library1/Thesis/442554.pdf

================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2015, 11:51 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระเจ้าปเสนทิโกศล
พระมหากษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระศาสนา
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
==================

เล่าเรื่องของพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ไม่เล่าเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดูกระไรอยู่ เพราะสองกษัตริย์นี้มีอะไรๆ เกี่ยวข้องกันอยู่ ไม่ว่าจะในด้านการเมืองหรือในด้านการพระศาสนา ไว้เล่ารายละเอียดข้างหน้า

ก่อนอื่นขอเล่าพระประวัติตั้งแต่ต้นก่อน


พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามหาโกศล เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล สมัยยังเป็นพระราชกุมาร พระราชบิดาส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่มหาวิทยาลัยตักสิลา

ณ ที่นี้ เจ้าชายปเสนทิโกศลได้พบกับเจ้าชายอีกสององค์ ซึ่งเป็น “ศิษย์ร่วมรุ่น” กับพระองค์ และทรงรักกันมากคือ
เจ้าชายมหาลิ จากเมืองไพศาลีแห่งแคว้นวัชชี และเจ้าชายพันธุละ จากเมืองกุสินาราแห่งแคว้นมัลละ

เมื่อจบการศึกษาแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับมาตุภูมิ และได้แสดงศิลปวิทยาการที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตักสิลาแก่พระประยูรญาติโดยทั่วหน้ากัน และพระเจ้ามหาโกศลได้มอบพระราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสครอบครองแทนพระองค์ในเวลาต่อมา

ข้างฝ่ายเจ้าชายมหาลิแห่งแคว้นวัชชี ถูกกษัตริย์ลิจฉวีบางคนที่มีจิตใจอิจฉาริษยากลั่นแกล้ง ขณะใช้ดาบฟันลำไผ่หลายลำที่เขามัดเข้าด้วยกันไว้ ได้เกิดอุบัติเหตุ ซี่เหล็กที่เขาแอบใส่ไว้กระเด็นเข้าถูกตาทั้งสองข้าง ได้รับบาดเจ็บจนกระทั่งบอดทั้งสองข้างในเวลาต่อมา

พวกกษัตริย์ลิจฉวีเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถมาก จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าชายมหาลิเป็นอาจารย์สอนเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลาย ในราชสำนักแห่งเมืองไพศาลี

เจ้าชายพันธุละถูกคู่อริกลั่นแกล้งเช่นกัน แม้การแสดงศิลปวิทยาท่ามกลางพระประยูรญาติจะจบลงด้วยความพอใจของมหาสมาคม แต่เจ้าชายพันธุละทรงน้อยพระทัยที่ไม่มีใครบอกให้ทราบก่อนว่ามีซี่เหล็กอยู่ในนั้น ถ้ารู้ก็จะได้ฟันมัดไม้ไผ่ให้ขาดกระเด็นโดยไม่ให้มีเสียง “กริ๊ก” แม้แต่นิดเดียว

ฟันขาดจริง แต่ยังมีเสียงดังกริ๊ก แสดงว่าวิทยายุทธ์ยังไม่ยอดเยี่ยมจริงอะไรทำนองนั้น ไม่มีใครคิดอย่างนี้ แต่เจ้าชายพันธุละทรงคิด รู้สึกเสียศักดิ์ศรี จึงออกจากเมืองกุสินาราไปหาพระสหายร่วมรุ่น คือ พระเจ้าปเสนทิโศล ขอถวายตัวเข้ารับราชการเพื่อรับใช้พระราชาหนุ่ม พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงดีพระทัยมากที่พระสหายของพระองค์ยินดีมาอยู่ด้วย จึงทรงแต่งตั้งให้พันธุละเป็นเสนาบดี

เรื่องราวของพันธุละและนางมัลลิกา ภริยาพันธุละ “ถูกกระทำ” จากพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นอย่างไรได้เขียนเล่าไว้แล้วในที่อื่น (ที่ไหนก็จำไม่ได้แน่) ไปตามหาอ่านเอาเองแล้วกัน จะไม่ขอเล่าอีก ขอพูดถึงแง่มุมอื่นก็แล้วกัน


พระเจ้าปเสนทิโกศล เดิมทีนั้นนับถือศาสนานิครนถ์ (ศาสนาเชน หรือลัทธิชีเปลือยของศาสดามหาวีระ) และเชื่อถือในการบูชายัญของพราหมณ์อีกด้วย เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังไม่เลิกบูชายัญ และยังติดต่อกับพวกชีเปลือยเป็นต้นอยู่

ที่พูดดังนี้ก็เพราะมีหลักฐานในพระไตรปิฎกเล่าถึงเรื่องเหล่านี้ว่า ครั้งหนึ่งขณะที่อยู่ในสำนักพระพุทธเจ้า พอดีเหล่าชีเปลือย ปริพาชก เป็นต้น เดินผ่านมาใกล้ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงคุกพระชานุ ประคองอัญชลี ประกาศว่า ข้าพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี ขอนมัสการพระคุณเจ้าทั้งหลาย เมื่อพวกเขาคล้อยหลัง พระเจ้าปเสนทิโกศลหันมากราบทูลพระพุทธองค์ว่า สมณะเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนสติว่า มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์ผู้ “บริโภคกาม” (กามโภค) รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ทำเอาพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชะงักทีเดียว

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า

จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
จะรู้ว่ามีความสะอาดหรือไม่ ด้วยการสนทนา
จะรู้ว่ากำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ ก็ต้องเมื่อตกอยู่ในอันตราย


ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประกอบพิธีบูชายัญยิ่งใหญ่ มีการตระเตรียมฆ่าสัตว์อย่างละ ๗๐๐ บังเอิญว่าพระนางมัลลิกาพระมเหสีทรงทัดทาน การฆ่าสัตว์ครั้งมโหฬารจึงไม่เกิดขึ้น

จากหลักฐานดังกล่าว แสดงว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อทั้งลัทธิพราหมณ์ ทั้งลัทธินิครนถ์ (รวมถึงลัทธิอื่นๆ ด้วยในขณะเดียวกัน) คงเป็นด้วยว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระศาสนา พระองค์ย่อมจะนำเอาหลักพระศาสนามาปรับใช้ในการปกครองประเทศ พระองค์จึงให้ความสำคัญแก่พระศาสนาต่างๆ ทัดเทียมกัน

ต่อเมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาน้อมนำเอาพระรัตนตรัยมาเป็นสรณะเด็ดขาดแล้ว จึงทรงเลิกการกระทำที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิต (เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญ) และนำเอาหลักคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแบบอย่างดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

สาเหตุที่พระเจ้าปเสนทิโกศลนับถือพระพุทธศาสนา มิได้พูดไว้ชัดเจน แต่คงจะมาจากสองสาเหตุ คือ
๑. เพราะการแนะนำของพระนางมัลลิกา
๒. เพราะเหตุผลทางการเมือง


สาเหตุแรกนี้มีความเป็นไปได้เพียงใด อยู่ที่ระยะเวลาเข้ามาเป็นมเหสีของพระราชา ถ้าหลักฐานบ่งชัดว่า พระนางมัลลิกาเป็นมเหสีหลังจากพระเจ้าปเสนทิโกศลนับถือพระพุทธศาสนา ก็แสดงว่าพระราชามิได้นับถือเพระการแนะนำของพระนางมัลลิกา แต่ถ้าก่อนหน้านั้นพระราชายังนับถือลัทธินิครนถ์อยู่ พอนางมัลลิกาเป็นมเหสีแล้ว พระนางมัลลิกานั้นแหละเป็นผู้ชักจูงพระราชาเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา

พระนางมัลลิกานั้น เป็นสาวิกาผู้มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อมาเป็นพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ย่อมจะทรงมีอิทธิพลต่อความเชื่อของพระราชสวามีมิใช่น้อย

หลักฐานในพระไตรปิฎกหลายแห่งบ่งบอกอิทธิพลของพระนางต่อพระราชสวามี ดังเช่นเรื่องการฆ่าสัตว์บูชายัญ (ที่กล่าวในตอนที่แล้ว) และคำแนะนำในเรื่องสำคัญๆ อีกมาก

ถ้ามิใช่เหตุผลข้อแรก พระเจ้าปเสนทิโกศลคงนับถือพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา เพื่อจะเอาชนะพระเจ้าพิมพิสารมากกว่า

กษัตริย์สองพระองค์นี้เป็น “ดอง” กัน คือ ต่างฝ่ายก็อภิเษกสมรสกับพระกนิษฐาภคินีของกันและกัน เพราะฉะนั้นการที่จะรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งราชอาณาจักร หรือแผ่ขยายอาณาจักรจึงเป็นไปไม่ได้

แต่ก็ใช่ว่าทั้งสองเมืองจะไม่ “รบกัน” ทั้งสองพระองค์ไม่รบกันทางกาย แต่ก็รบกันทางใจ เรียกว่าเล่น “สงครามจิตวิทยา” กัน ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดมนุษย์ เปรียบดุจสมบัติล้ำค่าของโลก เมื่อไปอยู่ ณ อาณาจักรใด อาณาจักรนั้นย่อมเจริญรุ่งเรือง ชื่อเสียงขจรขยายไปทั่ว และอาณาจักรนั้นก็ร่มเย็นด้วยร่มเงาแห่งพุทธธรรม

ในช่วงแรกๆ หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประกาศพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธ ประทับอยู่ที่แคว้นนี้ พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายความอุปถัมภ์ พูดอย่างสามัญก็ว่า พระเจ้าพิมพิสารทรง “ได้หน้า” ที่มีพระบรมศาสดาเอกของโลกเป็น “สมบัติ” หรือเป็น “อาภรณ์” ประดับเมือง

พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมจะทรงคิดบ้างล่ะว่า ทำไมจะต้องเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ทำไมไม่เป็นเราบ้าง อะไรทำนองนี้

เมื่อคิดเช่นนั้น จึงหาทาง “ดึง” พระพุทธเจ้าไปที่แคว้นของตนและประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าบ้าง เพื่อไม่ให้น้อยหน้าพระเจ้าพิมพิสาร และในที่สุดพระองค์ก็ทำสำเร็จ

ไม่มีที่ไหนบอกไว้ชัดแจ้งดอกครับ แต่ถ้าโยงกับเหตุการณ์ที่สุทัตตคหบดี (อนาถบิณฑิกเศรษฐี) ไปอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปที่เมืองสาวัตถี เรื่องราวก็จะ “สอดรับ” กันพอดี

สุทัตตะอาจได้รับนโยบายจากพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ ใครจะไปรู้

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประจำอยู่ที่เมืองสาวัตถีแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงถวายความอุปถัมภ์ดูแลพระพุทธองค์และพระสงฆ์อย่างดี พระองค์เองเสด็จเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลถามปัญหาธรรมและฟังพระพุทธโอวาทอยู่เสมอ

คงจะภูมิใจลึกๆ ว่า แว่นแคว้นของพระองค์ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเป็นศักดิ์เป็นศรี มิได้น้อยหน้าพระเจ้าพิมพิสารแต่ประการใด

ดูเหมือนว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้เป็นพระโสดาบัน ปุถุชนย่อมอดที่จะคิดยื้อแย่งแข่งดีกันทำนองนี้ โดยไม่ต้องสงสัย อ่านตำราแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลคิดจะเอาชนะพระเจ้าพิมพิสารมากกว่านั้น นั่นคือคิดอยากจะเป็นญาติทางสายโลหิตกับพระพุทธเจ้า แทนที่จะเป็นญาติทางธรรมเพียงอย่างเดียว

เพราะความคิดนี้เองที่เป็นสาเหตุให้ศากยวงศ์ต้องถูกทำลายล้างจนสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ในเวลาไม่นาน

ได้ทิ้งท้ายตอนที่แล้วไว้ว่า จะเล่าเรื่องศากยวงศ์หลังจากที่ถูกวิฑูฑภะทำลายล้าง ก็เห็นจะต้องเล่าตามสัญญาละครับ เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพมาทำลายล้างศากยวงศ์ เพื่อชำระความแค้นแต่ปางหลัง ได้รับสั่งว่า ยกเว้นแต่ผู้ที่อยู่กับพระเจ้าตาของข้าเท่านั้น นอกนั้นฆ่าให้หมด เลือดให้นองพื้นปฐพีในคราวนั้น

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่า พระเจ้ามหานามทรงเศร้าสลดพระทัยที่พระญาติวงศ์ถูกฆ่าตายเป็นเบือ จึงไปกระโดดน้ำตาย บังเอิญลงไปยังนาคพิภพ พญานาคเจ้าแห่งนาคพิภพได้รับไปอยู่ด้วย ดูแลอย่างดีเสมือนญาติโกโหติกาว่าอย่างนั้น

ตอนสมัยที่ผมเป็นเณรน้อย แปลบาลีถึงตรงนี้ก็นึกวาดภาพ “นาคพิภพ” ที่อยู่ใต้ทะเลลึก และสงสัยครามครันว่า พระเจ้ามหานามไม่ใจขาดตายหรือไปอยู่ใต้น้ำอย่างนั้น

มาบัดนี้เณรน้อยคือผมนั้น ได้เติบโตมาแล้ว ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ความสงสัยนั้นหายไปแล้วครับ เพราะเข้าใจใหม่ว่า “นาค” ที่ว่านี้คือมนุษย์เผ่านาคา ซึ่งมีอยู่มากในชมพูทวีปสมัยโน้น

พระเจ้ามหานามคงหนีไปอาศัยอยู่กับเผ่านาคาที่ว่านี้แล

เข้าใจว่า นอกจากพระเจ้ามหานามกับบรรดาบริษัทบริวารแล้ว คงมีอีกหลายคนทีเดียวที่หนีเล็ดลอดออกไปได้ อย่างน้อยก็บรรพบุรุษของจันทรคุปต์ จันทรคุปต์เป็นโจรชิงราชสมบัติ ได้ซ่องสุมพลพรรคจำนวนมาก บุกเข้าโจมตีเมืองปาตลีบุตรหลายครั้ง ในช่วงนั้นเมืองปาตลีบุตรอยู่ในครอบครองของกษัตริย์วงศ์นันทะ (พระนามลงท้ายด้วยนันทะหมดทุกองค์) จันทรคุปต์บุกเข้าตีทีไรก็พ่ายแพ้มาทุกที

ครั้งล่าสุดถูกโต้กลับพ่ายยับเยิน แถมถูกตามล่าด้วย จันทรคุปต์หนีกระเจิดกระเจิงผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงแม่ดุลูกสาวว่า “อีหน้าโง่ มึงนี่โง่เหมือนโจรจันทรคุปต์ จะตีเมืองทั้งที เสือกยกเข้าตีใจกลางกรุง แทนที่จะตีมาแต่รอบนอกแบบป่าล้อมเมือง มึงก็เหมือนกิน จะกินขนมเบื้องทั้งๆ ที่ร้อน มึงต้องค่อยๆ แทะจากขอบมาซีวะ”

แม่เห็นลูกสาวกัดขนมกร้วมตรงกลาง และวางด้วยความร้อน จึงด่ากระทบกระเทียบจันทรคุปต์ หารู้ไม่ว่าผู้ถูกด่ายืนแอบฟังอยู่ในมุมมืดใกล้บ้าน จันทรคุปต์จึงได้คิด จึงคิดพยายามจะโจมตีปาตลีบุตรอีกครั้ง

ในช่วงนั้นอเล็กเซนเดอร์มหาราช บุกมาจากกรีกเข้ามายังประเทศอินเดีย จันทรคุปต์ทราบข่าว จึงไปเจรจาขอกำลังช่วยตีเมืองปาตลีบุตร แต่เจรจากันอีท่าไหนไม่ทราบ ทั้งสองทะเลาะกันรุนแรง (สงสัยกษัตริย์กรีกดูหมิ่นเอาก็ไม่รู้ จันทรคุปต์จึงไม่ยอม) ในที่สุดจันทรคุปต์ถูกจับขัง แต่หนีรอดออกมาได้ พร้อมที่ปรึกษาคู่ใจ นามว่า จาณักยะ

บังเอิญช่วงนั้นเหล่าทหารของอเล็กซานเดอร์ขัดขืนเจ้านาย ไม่ยอมยกทัพต่อไป เพราะมาไกลมากจนเมื่อยล้า อเล็กซานเดอร์จำต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง จันทรคุปต์ได้ทีก็โจมตีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เคยอยู่ในครอบครองของอเล็กซานเดอร์ได้แล้ว ก็ยาตราทัพเข้าบุกเมืองปาตลีบุตร คราวนี้ประสบความสำเร็จ ได้ประกาศสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ว่า ราชวงศ์โมริยะ (หรือเมารยะ) จันทรคุปต์นี้เองที่อ้างตนว่ามีเชื้อสายศากยะสืบเนื่องมาแต่พวกที่หนีภัยสงคราม “ล้างโคตร” คราวโน้น

ถ้าเช่นนั้น จันทรคุปต์ก็เป็นลูกหลานพระพุทธเจ้า

ในรัชกาลของพระเจ้าจันทรคุปต์ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับกรีก เพราะรบกันไม่มีใครแพ้ชนะ จึงแลกเปลี่ยนทูตกัน ผู้คนชาวกรีกก็มาอาศัยอยู่ทีเมืองปาตลีบุตร ชาวปาตลีบุตรก็ไปอยู่ที่กรีก ว่ากันว่าพระมเหสีองค์หนึ่งพระเจ้าจันทรคุปต์เป็นเจ้าหญิงกรีก

และว่ากันอีกแหละว่า จากพระมเหสีพระองค์นี้ก็กำเนิด
พินทุสาร พินทุสารขึ้นครองราชย์ มีพระราชโอรสพระนามว่า อโศก

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พระเจ้าอโศกก็มีสายเลือดกรีก และเป็นลูกหลานพระพุทธเจ้า นักประวัติศาสตร์บางคนโยงกันถึงปานนี้แหละครับ กระทั่งท่านเนห์รูเองก็ยังตั้งข้อสันนิษฐานว่า ที่พระพุทธศาสนาไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากชาวอินเดีย ก็เพราะเขาถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สถาปนาขึ้นโดยคนนอก (พระพุทธเจ้า มิใช่เชื้อสายอารยันแท้) และอุปถัมภ์โดยคนนอก (พระเจ้าอโศก มิใช่เชื้อสายอารยันแท้เช่นกัน) :b12: :b16:

ข้อความนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าผมได้อ่านที่ไหน ถ้าจำผิดต้องขออภัยด้วยนะครับ

นี่แลคือ “เกร็ดประวัติศาสตร์” ที่นำมาเล่าให้ฟัง ฟังแล้วจะเชื่อหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลครับ



:b8: :b8: :b8: คัดเนื้อหามาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


==================

:b47: น้ำเต้า ไม้เถาในพระสุบิน “พระเจ้าปเสนทิโกศล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19578

:b47: “เมืองสาวัตถี” แห่งแคว้นโกศล เมืองคนดีและคนบาป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=55476

:b47: สันตติมหาอำมาตย์ ขี้เมาผู้บรรลุธรรม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50409


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2015, 11:52 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2018, 09:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2019, 20:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2007, 21:20
โพสต์: 1


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร