วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 20:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2019, 11:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


พระจูฬปันถกเถระ
พระปัญญาทึบผู้แตกฉาน

:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


:b50: :b47: :b50:

คุณสมบัติของท่านฟังดูแล้วขัดแย้งกัน คนปัญญาทึบ ทำไมจึงมีปัญญาแตกฉาน...ปัญญาทึบมาก่อนแต่ภายหลังเป็นผู้ฉลาด มีปัญญาแตกฉาน...

พระจูฬปันถกเถระ ท่านเป็นบุตรของธิดาธนเศรษฐีแห่งเมืองราชคฤห์ มารดาท่านเป็นบุตรสาวคนเดียวของตระกูล จึงอยู่ในความกวดขันดูแลของพ่อแม่อย่างเคร่งครัด มิให้มีโอกาสคบกับบุรุษใดๆ เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียอันจักเกิดขึ้นแก่วงศ์ตระกูล

แต่การเข้มงวดเช่นนั้นกลับกลายเป็นผลร้ายในภายหลัง หญิงสาวได้มีจิตรปฏิพัทธ์แอบได้เสียกับคนรับใช้ในตระกูล เมื่อกลัวพ่อแม่รู้ความเข้าในภายหลัง จะต้องถูกลงโทษ จึงชวนสามหนีไปอยู่ที่อื่น อยู่กันตามประสายากในชนบท

พักหนึ่ง นางก็ตั้งครรภ์ เมื่อจวนคลอด ก็นึกถึงพ่อแม่ เกรงว่าคลอดลูกออกมาแล้วจะไม่ปลอดภัยและลำบาก จึงชวนสามีกลับบ้าน แต่สามีเกรงภัยจะมาถึงตัวจึงไม่ยินยอม นางฉวยโอกาสที่สามีไม่อยู่ หนีกลับบ้าน

สามีตามมาทันระหว่างทาง พากลับไปยังที่อยู่ของตน บังเอิญนางคลอดบุตรระหว่างทาง บุตรน้อยจึงได้นามว่า “ปันถก” (แปลว่า ผู้คลอดระหว่างทาง)

ต่อมาเมื่อตั้งครรภ์บุตรคนที่สอง ก็เกิดเรื่องทำนองเดียวกัน บุตรก็คลอดระหว่างทางเช่นกันกับคนแรก และได้ตั้งชื่อ “ปันถก” เหมือนกัน เพื่อให้เรียกไม่สับสน คนโตจึงมีชื่อว่า “มหาปันถก” (ปันถกคนโต) คนน้องได้ชื่อว่า “จูฬปันถก” (ปันถกคนเล็ก)

ต่อมาสองสามีภรรยานำมหาปันถกและจูฬปันถกไปฝากให้ตาและยายเลี้ยง เพราะทั้งสองไม่กล้ากลับไปสู้หน้าพ่อแม่ จึงไปมีชีวิตอยู่ตามยถากรรม ข้างฝ่ายมหาปันถกเกิดศรัทธาในพระศาสนา ขออนุญาตลาไปบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าตั้งแต่อายุยังน้อย

เมื่ออายุครบบวช ก็ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธองค์ บำเพ็ญสมณธรรมด้วยความพากเพียรไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน)

ท่านได้รับ “เอตทัคคะ” (ตำแหน่งความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีความฉลาดในปัญญาวิวัฏฏะ (คือ ฉลาดเชี่ยวชาญในวิปัสสนา) นี้เป็นเรื่องของพระผู้พี่

ส่วนเรื่องราวของพระผู้น้อง เมื่อพระมหาปันถกได้บรรลุธรรม มีความแตกฉานแล้ว ก็นึกถึงน้องชาย จึงไปขออนุญาตโยมตาเอาน้องชายมาบวชอยู่ด้วย จูฬปันถกน้องชายท่าน มีคุณสมบัติไม่เหมือนกับพี่ชาย คือ เป็นคนมีปัญญาทึบ หัวช้า ท่องจำอะไรไม่ค่อยได้

บวชมาแล้วก็ไม่สามารถท่องบ่นสาธยายอะไรได้ กระทั่ง “คาถา” (คือโศลก) ๔ บาท ใช้เวลาตั้ง ๓-๔ เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นมีความว่า

ปทฺมํ ยถา โกกนทํ สุคนฺธํ ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ
องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ ตปนฺตมาทิจฺจมิวมนฺตลิกฺเข
ดอกบัวโกกนท มีกลิ่นหอม บานแต่เช้า มีกลิ่นอบอวลฉันใด
เธอจงดูพระอังคีรสเจ้า (พระพุทธเจ้า) ผู้รุ่งโรจน์ดุจพระอาทิตย์สว่างกลางหาว ฉะนั้น

ท่านพยายามท่องอยู่ตั้ง ๔ เดือนก็ยังจำไม่ได้ พระมหาปันถกผู้พี่ชาย จึงออกปากขับไล่ ด้วยเกรงว่าน้องชายผู้มีปัญญาทึบจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

จูฬปันถก ถูกขับไล่ออกจากวัด ไม่รู้จะไปที่ไหน จึงได้แต่ยืนร้องไห้อยู่นอกพระอาราม

ในเวลานั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ไปหาพระมหาปันถกในฐานะที่ท่านเป็น “ภัตตุทเทศก์” (ผู้จัดพระไปกิจนิมนต์) ขอนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน ท่านก็จัดการให้ตามประสงค์ โดยเว้นจูฬปันถกน้องชายท่านไว้

เมื่อได้เวลา หมอชีวกให้คนยกภัตตาหารเข้าไปถวายพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชีวกยังมีพระภิกษุอยู่ในวัด มิใช่หรือ”

พระมหาปันถกกราบทูลว่า “พระภิกษุมาด้วยกันหมดแล้วพระเจ้าข้า ไม่มีอีกแล้ว”

พระพุทธองค์คงถามย้ำอยู่เช่นเดิม หมอชีวกจึงให้คนไปที่วัด เขากลับมารายงานว่าที่วัดมีพระเต็มไปหมด พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าให้ถามว่ารูปไหนชื่อจูฬปันถก เขาไปแล้วกลับมารายงานว่า ทุกรูปต่างก็บอกว่าตนชื่อจูฬปันถก พระองค์จึงตรัสบอกว่าสังเกตดูรูปไหนอ้าปากตอบก่อนให้จับแขนรูปนั้นทันที

เขาไปอีกครั้ง ทำตามพระพุทธองค์ทรงตรัสบอก พระรูปอื่นจำนวนมากหาบวับไปกับตา เหลือแต่ท่านจูฬปันถกรูปเดียว และท่านก็ได้ตามไปยังคฤหาสน์หมอชีวกโกมารภัจจ์ในวันนั้น

ถามว่า ท่านจูฬปันถกยืนร้องไห้อยู่ก่อนหน้านี้ ทำไมตอน (ที่กล่าวถึง) นี้ จึงกลายเป็นพระผู้มีฤทธิ์มากมายปานนั้น คำตอบก็คือ ขณะที่ท่านยืนร้องไห้อยู่นั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมา ทรงซักถามปัญหาของท่านแล้วช่วยเหลือท่านด้วยพระมหากรุณา

คือ ให้ท่านนั่งลง เอามือลูบผ้าขาว พร้อมบริกรรมว่า “รโช หรณํ” (อ่านว่า “ระโชหะระนัง” แปลว่า ผ้าเช็ดธุลี) ติดต่อกัน ท่านนั่งลูบผ้าขาว พลางบริกรรมไปพลาง (คือท่องเบาๆ) ว่า “รโช หรณํๆๆ”

เมื่อระยะเวลาผ่านไป จิตของท่านก็เป็นสมาธิ ลืมโลกภายนอกหมด เมื่อผ้าขาวหมองคล้ำเพราะเหงื่อมือปรากฏให้เห็น ก็ได้ความคิดเปรียบเทียบว่า ผ้าที่ขาวสะอาดเมื่อกี้นี้ บัดนี้กลับเศร้าหมอง เพราะเหงื่อมือฉันใด จิตคนเราเดิมสะอาดอยู่แล้ว เมื่อถูกราคะ โทสะ โมหะ มาครอบงำ ย่อมกลายเป็นจิตที่เศร้าหมอง ฉันนั้น

พิจารณาเห็นไตรลักษณ์เข้าสู่ทางวิปัสสนา ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมอภิญญา (ความสามารถพิเศษ เหนือสามัญวิสัย) เพราะเหตุนี้แล เมื่อคนของหมอชีวกไปในวัด ท่านจึงเนรมิตร่างกายให้มีเป็นร้อยเป็นพันอยู่เต็มวัด จนเขาวิ่งหน้าตาตื่นไปรายงานหมอชีวก

เรื่องของพระจูฬปันถก ให้แง่คิดอย่างดีสำหรบครูที่ไม่รู้นิสัย อุปนิสัย และอธิมุติ (ความถนัด) ของศิษย์ย่อมสอนศิษย์ไม่สำเร็จผล ครูจะต้องเรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยของศิษย์ และมีเทคนิควิธีสอนที่เหมาะกับผู้เรียน การสอนจึงจะสัมฤทธิ์ผล

พระพี่ชายไม่รู้จักน้องชายดี จึงสอนน้องชายไม่ถูกทาง คนหัวไม่ดีเกณฑ์ให้ท่องหนังสือ ย่อมยากที่จะท่องได้

แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้วิธีอื่น ไม่ให้ท่านท่อง คือ ทรงให้ท่านลูบผ้าขาว ซึ่งก็คือทรงบอกวิธีปฏิบัติกรรมฐานนั้นเอง เพียงแต่ไม่ตรัสบอกโดยตรงเท่านั้น เมื่อไม่ต้องท่องให้ทำเฉยๆ ท่านจูฬปันถกก็มีกำลังใจ เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น หลังจากปฏิบัติตามพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในที่สุดดังกล่าวแล้ว

พระจูฬปันถก ได้รับเอตทัคคะในทางผู้มีมโนมยิทธิ (มีฤทธิ์ทางใจ) เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเวลาก็นิพพานไปตามอายุขัย...


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b50: :b47: :b50:

:b45: ภิกษุ ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46461


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 เม.ย. 2024, 09:41 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร