วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=25



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2012, 20:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระพุทธจุลนาคและพระพุทธมังคโล ในพระวิหารวัดอนงคาราม


รำลึกสมเด็จย่าในถิ่นนิวาสสถานเดิม ณ วัดอนงคาราม

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ นับเป็นเวลากว่า ๑๗ ปีแล้ว ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของคนทั้งประเทศไปอย่างไม่มีวันกลับ นั่นก็คือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย นั่นเอง เราคงยังจำได้ถึงความเศร้าโศกของประชาชนในช่วงนั้น อีกทั้งยังได้ไปร่วมเคารพพระบรมศพของพระองค์ท่านที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังด้วย เนื่องจากวันที่ ๒๑ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ดังนั้น ในวันนี้จึงอยากจะพาทุกท่านไปเยือนถิ่นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ซึ่งอยู่ในแถบวัดอนงคาราม ย่านคลองสานนี่เอง

ความสัมพันธ์ของ “สมเด็จย่า” กับ “วัดอนงคาราม” เขตคลองสาน นั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ และอยู่อาศัยที่ “บ้าน” ในชุมชนหลังวัดอนงคารามตั้งแต่ทรงจำความได้ ซึ่งเป็นห้องแถวชั้นเดียว ใช้เวลาเดินเท้าจากวัดอนงคารามประมาณ ๕ นาที ภายในบ้านเล็กๆ ประกอบไปด้วย ที่นอน ห้องครัว และห้องโถงที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชีพทำทองของบิดาของพระองค์

รูปภาพ

รูปภาพ
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่า ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ


ครั้นเมื่อสมเด็จย่าทรงเจริญวัยขึ้น ก็ได้ทรงเข้าเรียนครั้งแรกกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม รูปที่ ๖ ที่โรงเรียนอุดมวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงในวัดอนงคาราม ดังนั้นที่วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานศึกษาแห่งแรกในวัยเยาว์ของสมเด็จย่า พระองค์จึงทรงมีความผูกพันและเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกุศลที่วัดนี้อยู่เสมอๆ

และในวันนี้ก็ได้มายืนอยู่ที่ “วัดอนงคาราม วรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร หรือชื่อเดิมคือ วัดน้อยขำแถม ตามชื่อของผู้สร้างคือ ท่านผู้หญิงน้อย ภริยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย โดยสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดคู่กันกับ “วัดพิชยญาติการาม” ของสามี แล้วถวายให้เป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ส่วนคำว่าขำแถมนั้นมีเพิ่มเติมมาจากนามเดิมของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ วัดนี้ก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ในภายหลังว่า วัดอนงคาราม อย่างในปัจจุบัน

รูปภาพ
พระวิหารวัดอนงคาราม


แม้พื้นที่ของวัดแห่งนี้จะค่อนข้างคับแคบ แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาลงรักประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างก็มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม

ส่วนใน “พระวิหาร” ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน แม้พระวิหารจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีบรรยากาศที่เงียบสงบดี และมีพระพุทธรูปสำคัญอย่าง “พระพุทธจุลนาค” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระวิหาร และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมี “พระพุทธมังคโล” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย

และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมี “พระมณฑป” จำนวน ๒ หลังซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร โดยหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐาน พระพุทธรูปไสยาสน์ ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐาน พระพุทธบาทจำลอง เอาไว้

นอกจากนั้น ณ “วัดอนงคาราม” แห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับเขตคลองสานอีกด้วย เพราะบนชั้นสองของห้องสมุดประชาชนภายในวัดนั้น เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน” ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์นั้นได้มีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ในเขตคลองสาน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งชื่อที่มาของเขต “คลองสาน” ที่มีข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อเขตถึง ๓ ข้อด้วยกัน คือ มาจากคำว่าประสาน หมายถึงคลองที่เชื่อมประสานคลองต่างๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยา, บ้างก็ว่ามาจากคำว่า “สาน” ที่หมายถึงเส้นทางคลองที่สอดสานกัน และที่มาสุดท้ายมาจากคำว่า “ศาล” เนื่องจากในอดีตเคยมีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ปากคลอง

รูปภาพ
ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน

รูปภาพ
ตู้พระไตรปิฎก ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย


ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสานยังให้ความรู้อีกว่า ในแถบคลองสานนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในอดีต เรือสินค้าของต่างชาติจะต้องมาจอดอยู่บริเวณนี้ ดังนั้นพ่อค้าต่างชาติจึงนิยมมาตั้งรกรากและประกอบการค้าที่นี่ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งคลองสานจึงเป็นที่ตั้งกิจการน้อยใหญ่ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ ฯลฯ ซึ่งบางแห่งก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้เราได้เห็นบ้าง

อีกทั้งที่คลองสานนี้ยังถือว่าเป็นย่านขุนนางอีกแห่งหนึ่ง โดยเป็นนิวาสสถานของตระกูลบุนนาคและขุนนางชั้นสูงอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเจ้าสัวจีนอีกหลายตระกูล ที่ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวจีนที่แต่งสำเภามาค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา และอีกส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในยุครัชกาลที่ ๓-รัชกาลที่ ๕ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หลายคนคงจะคุ้นหูกับนามสกุลหวั่งหลี นามสกุลบูลกุล นามสกุลพิศาลบุตร นามสกุลโปษยานนท์ ตระกูลเหล่านี้แหละที่เป็นเจ้าสัวจีนในแถบคลองสาน

นอกจากนี้แล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีข้าวของต่างๆ จัดแสดงไว้ให้ชม ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็น “ตู้พระไตรปิฏก” ซึ่งเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เขียนเป็นรูปพระมโหสถตอนข้าศึกเข้าล้อมเมือง มีฝีมือการเขียนที่งดงามมากทีเดียว

ออกมาจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสานและวัดอนงคารามแล้ว ก็และเมื่อมาเยือนถิ่นนิวาสถานเดิมของสมเด็จย่าแล้ว ก็อย่าลืมแวะเข้าไปที่ “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา ๓ เข้าไปจนเกือบสุดซอย อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “อุทยานสมเด็จย่า” นี้ เดิมเคยเป็น ‘บ้าน’ ที่ประทับแห่งแรกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างขึ้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมที่พระบรมราชชนนีเคยพำนักอยู่เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์

รูปภาพ
อาคารพิพิธภัณฑ์ ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ


ภายในอุทยานฯ นั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นสวนสาธารณะร่มรื่น มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ด้านหน้าสวนจะมี พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จย่า ตั้งอยู่ โดยเป็นพระรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถสบายๆ เหมือนกับกำลังประทับเล่นอยู่ในสวน นอกจากนั้นแล้ว ภายในสวนก็ยังจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ เล่าพระราชประวัติของสมเด็จย่า ตั้งแต่ปฐมวัยและยังเป็นสามัญชนอาศัยอยู่ในย่านวัดอนงคาราม และเรื่องราวก่อนที่จะเลื่อนฐานันดรศักดิ์มาเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ รวมไปถึงพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่า อีกทั้งยังมีเรือนจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่าที่เคยประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์อีกด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ ๒๐-๒๑ ตุลาคม ของทุกปีนี้ ที่อุทยานสมเด็จย่าก็ยังมีการจัดงาน “น้อมรำลึกถึงสมเด็จย่า ณ นิวาสสถานเดิม” ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างนิทรรศการ “คิดถึงสมเด็จย่า” และ “ความรัก ความผูกพัน ความกตัญญู” การจัดแสดงผลงานของสล่าล้านนาในรูปแบบงานหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทรรศการบ้านตุ๊กกะตุ่นและการแสดงหุ่นกระบอกไทย นิทรรศการจิตรกรรมชื่อดอกไม้ไม่จำนรรจ์ และมีการจัดคอนเสิร์ตวงดุริยางค์สากล ตามรอยพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

หากใครจะมากราบพระที่วัดอนงคาราม เรียนรู้เรื่องราวในย่านคลองสานที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน และปิดท้ายด้วยการมาร่วมงานรำลึกถึงสมเด็จย่าที่อุทยานสมเด็จย่า ก็จะถือเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวได้ดีทีเดียว

รูปภาพ

รูปภาพ
เรือนจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่า ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

:b8: โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2012, 20:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่า
ประทับนั่งในพระอิริยาบถทรงพระสำราญ



อุทยานเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


บริเวณหลังวัดอนงคาราม ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา ๓ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้น เดิมเคยเป็น “บ้าน” ที่ประทับแห่งแรกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ตั้งแต่ทรงจำความได้ และทรงมีความผูกพันกับชุมชนแห่งนี้มาก รวมทั้งโรงเรียนในเขตวัดอนงคารามก็เคยเป็นสถานที่ศึกษาแห่งแรกของพระองค์ด้วย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ เกี่ยวกับ “บ้าน” ที่ประทับแห่งแรกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ซึ่งทรงเล่าไว้นั้น มีความตอนหนึ่งว่า

รูปภาพ
เรือนจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่า ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

รูปภาพ
ห้องครัว เรือนจำลอง

รูปภาพ
ห้องอเนกประสงค์ เรือนจำลอง

รูปภาพ
ห้องนอน เรือนจำลอง


“...เมื่อจำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ ‘บ้าน’ นั้นเหมือนห้องแถวชั้นเดียวแต่มีหลายห้องแทนที่จะเป็นห้องเดียว ‘บ้าน’ จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้อง และประกอบด้วยหลายชุด (Unit) ด้านหนึ่งของ ‘บ้าน’ มี ๔-๕ ชุดซึ่งมีคนอยู่ อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง ‘บ้าน’ ที่อยู่นั้นเก่าพอใช้และอยู่ในสภาพไม่ดี เพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้ เช่น พื้นนั้นผู้เช่านำมาเอง...ข้างหน้าบ้านมีระเบียง พื้นเป็นไม้ปิดข้างๆ และมีหลังคามุงจาก ส่วนนอกก่อนถึงถนนเป็นอิฐ แล้วจึงเป็นถนน เมื่อเข้าไปบ้านแล้วจะมีห้องโล่งๆ ด้านขวามียกพื้นซึ่งเป็นทั้งห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่...”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริที่จะทรงอนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสสถานเดิมของสมเด็จย่าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสำรวจจนพบว่า อาคารที่เคยเป็นบ้านที่ประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์นั้นไม่ปรากฏแล้ว มีเพียงบริเวณใกล้เคียงที่ยังหลงเหลือคืออาคารโบราณที่เคยเป็นบ้านและที่ดินในหมู่ตึกที่อาศัยของ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีพระคลังสินค้า สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันเท่านั้น และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลานั้นคือ นายแดง นานา และนายเล็ก นานา เมื่อทั้งสองท่านได้รับทราบพระราชประสงค์เช่นนั้น จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินดังกล่าวทั้งหมด ๔ ไร่ ด้วยความปีติยินดี

รูปภาพ
อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

รูปภาพ

รูปภาพ
ภายในบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ


ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และพัฒนาสถานที่ดังกล่าวเป็น “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “อุทยานสมเด็จย่า” โดยมีการปรับปรุงอาคารที่เคยเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และโปรดให้จำลอง “บ้าน” ที่เคยเป็นที่ประทับขนาดเท่าของจริง และพัฒนาพื้นที่ที่เหลือให้เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน เป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ เพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจฟื้นฟูสุขภาพ และจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ

รูปภาพ

รูปภาพ
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ


ทั่วอาณาบริเวณของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วน เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ที่ให้ความร่มรื่น สงบเย็น บริเวณด้านหน้าเป็นบริเวณสวนพักผ่อนทั่วไป จัดเป็นสวนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ฟื้นฟูสุขภาพ ร่วมชุมนุมประกอบพิธีหรือกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ และเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ รวมถึงเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ อบรมงานศิลปะและงานฝีมือ โดยจัดให้ผสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งด้านหนึ่งของสวนได้ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่า หล่อด้วยโลหะ ประทับนั่งในพระอิริยาบถทรงพระสำราญ ดุจดังยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และเฝ้ามองลูกหลานที่มาเยือนอย่างเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา

รูปภาพ
อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ


ถัดจากสวนด้านหน้าเป็นบริเวณอนุรักษ์ ประกอบด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีอยู่ ๒ หลังด้วยกัน หลังแรกทางขวามือ เป็นสถานที่จัดแสดงภาพเก่าๆ ที่เล่าเรื่องราวของสมเด็จย่าตั้งแต่ปฐมวัยและยังเป็นสามัญชนอาศัยอยู่ในย่านวัดอนงคาราม อีกทั้งประวัติชุมชนย่านวัดอนงคาราม ชุมชนประวัติศาสตร์ที่ผู้คนหลายเชื้อชาติหลายศาสนาหลายวัฒนธรรม ทั้งคนไทย จีน อิสลาม และลาว อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และภาพช่วงที่เป็นนักเรียนพยาบาล ก่อนที่จะเลื่อนฐานันดรศักดิ์มาเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ ซึ่งมีภาพที่น่าประทับใจของสมเด็จย่าและพระราชธิดา พระราชโอรสทั้งสอง ที่จะไม่ได้เห็นที่ไหนนอกจากที่นี่ รวมไปถึงภาพเหตุการณ์ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์อีกด้วย

รูปภาพ
ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ


สำหรับพิพิธภัณฑ์อีกหลังหนึ่ง เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวของพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่าที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การดำเนินงานของคณะแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือการเสด็จเยี่ยมและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดน นอกจากนั้นก็ยังจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ รวมทั้ง งานฝีพระหัตถ์ที่สมเด็จย่าโปรด นั่นก็คือการเขียนลวดลายบนถ้วยกระเบื้อง งานทับดอกไม้แห้งเพื่อทำเป็นการ์ดหรือที่คั่นหนังสือ งานภาพปัก รวมไปถึงการปั้นพระพุทธรูป เป็นต้น

รูปภาพ
แผ่นหินแกะสลักภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จย่า

รูปภาพ

รูปภาพ
แผ่นหินแกะสลักภาพกระบวนแห่ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง


สำหรับภายในสวนด้านใน ได้รับการจัดแบ่งเป็นส่วนของ “บ้านจำลอง” บ้านเดิมของสมเด็จย่า โดยตกแต่งภายในตามรายละเอียดที่ปรากฏในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” และใกล้ๆ กับบ้านจำลองเป็นอาคารเก่าแก่ที่เคยเป็นเรือนบริวารและเรือนครัวในบ้านของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) นอกจากนี้ยังมีแผ่นหินแกะสลักเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นงานประติมากรรมแบบนูนต่ำ แกะสลักจากหินทรายสีเขียว ยาว ๘ เมตร สูง ๑ เมตร ๘๐ เซนติเมตร หนา ๙๐ เซนติเมตร หนักประมาณ ๓๒ ตัน โดยด้านหนึ่งเป็นภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพแสดงกระบวนแห่ไหว้สาแม่ฟ้าหลวงของชาวล้านนา

รวมทั้ง ศาลาแปดเหลี่ยม ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสครบ ๘ รอบ วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ได้ทรงเสด็จสวรรคตก่อนสร้างแล้วเสร็จ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, บ่อน้ำโบราณ ซึ่งเป็นบ่อน้ำที่มีมาพร้อมกับบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) สำหรับใช้อุปโภคโดยการโพงน้ำคือใช้ถังจ้วงและฉุดขึ้นโดยสาวเชือกที่ผูกติดกับถังน้ำ

รูปภาพ
ศาลาแปดเหลี่ยม

รูปภาพ
บ่อน้ำโบราณ

รูปภาพ
อาคารทิมบริวาร


อาคารทิมบริวาร ซึ่งเป็นอดีตเรือนข้าทาสบริวารของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) และเจ้าของที่ดินในละแวกเดียวกับบ้านที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จย่า โดยได้บูรณะอาคารโบราณเพื่อปรับใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เครื่องไม้หลังคาและประตูหน้าต่างใช้เครื่องไม้ที่รื้อจากบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี มาเสริมแต่งอาคารเดิมให้เหมาะสมกับหน้าที่ใช้สอยของพิพิธภัณฑ์ ลักษณะอาคารเป็นแบบจีนตึกแถว ก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเกร็ด ผนังด้านหลังทึบ มีช่องแสงตอนบนกั้น แบ่งห้องเป็น ๒ ห้อง สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐถือปูน

ศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เป็นอาคารเก่าโบราณที่ปรับปรุงจากเรือนครัวเดิมของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี เพื่อปรับใช้เป็นห้องอ่านหนังสือ และใช้เป็นอาคารศูนย์ศิลป์ สำหรับจัดงานแสดงนิทรรศการทางศิลปวัฒนธรรมไทย โดยหมุนเวียนจัดแสดงผลงานตลอดทั้งปีอีกด้วย

อุทยานฯ แห่งนี้เปิดทุกวัน ตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. แต่ในส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ชมเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. (ทุกวันยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามรายละเอียดเส้นทางไปอุทยานฯ ได้ที่โทรศัพท์ ๐-๒๔๓๗-๗๗๙๙, ๐-๒๔๓๙-๐๙๐๒ และ ๐-๒๔๓๗-๑๘๕๓

ไม่เพียงแต่ผู้คนที่ได้มาเยือนสถานที่นี้จะได้รับความรู้สึกผ่อนคลายเบาสบายและเป็นสุขแล้ว ทางอุทยานฯ ยังได้จัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายรูปแบบ อาทิ อบรมฝึกอาชีพ ศิลปะ โยคะ ฯลฯ ให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือเพื่อสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่เคยตรัสว่า “เวลาเป็นของมีค่า”

เนื่องในวโรกาสอันเป็นมงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ทางอุทยานฯ ได้จัดงานน้อมรำลึกถึงสมเด็จย่าเพื่อร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ที่ทรงมีต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย โดยภายในงานจะมีการแจกหนังสือ “รวมธรรมะของสมเด็จย่า” แก่ผู้ที่เข้าร่วมงานตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป

รูปภาพ
ศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)

รูปภาพ
หมู่แมกไม้และร่องรอยความเก่าแก่ของหมู่อาคารสถานที่

:b8: โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2012, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


แผนที่การเดินทางไปยัง.....
วัดอนงคารามวรวิหาร, วัดพิชยญาติการามวรวิหาร,
อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดอนงคารามวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๔๑ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ ๐-๒๔๓๗-๑๕๙๕, ๐-๒๔๓๘-๓๑๕๖

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา ๓ (ซอยอยู่ติดกับวัดอนงคารามวรวิหาร)
โทรศัพท์ ๐-๒๔๓๗-๗๗๙๙, ๐-๒๔๓๙-๐๙๐๒, ๐-๒๔๓๙-๐๘๙๖
เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ น.
แต่ในส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ และศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)
จะเปิดให้ชมตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. (ทุกวันยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

สำหรับการเข้าชมนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
แต่สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความประสงค์เยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ
จะมีวิทยากรบรรยายและนำชมสถานที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การเดินทาง : มีรถประจำทางธรรมดา สาย ๖, ๔๒, ๔๓ ผ่าน


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2020, 18:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b20:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร