วันเวลาปัจจุบัน 17 ก.ย. 2024, 03:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2012, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พุทธวิธีชนะมาร
จากบทสวดพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ)


บทสวด

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง,....ค๎รีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง,
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะพญามารผู้นิรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ
ขี่คชสารครีเมขละพร้อมด้วยเสนามาร โห่ร้องก้องกึก ด้วยธรรมวิธีทานบารมี
เป็นต้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง,....โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง,
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,.........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะอาฬวกยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทน
มีฤทธิ์พิลึกยิ่งกว่าพญามารเข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง
ด้วยวิธีทรมานเป็นอันดีคือพระขันตี ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง,....ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง,
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,.......ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะช้างตัวประเสริฐชื่อนาฬาคิรี เป็นช้างเมายิ่งนัก
แสนที่จะทารุณประดุจไฟป่าและจักราวุธและสายฟ้า
ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำคือพระเมตตา ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง,....ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง,
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิต๎วา มุนินโท,........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี มีพระหฤทัยไปในที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์
ได้ชนะโจรชื่อองคุลิมาล (ผู้มีพวงคือนิ้วมือมนุษย์) แสนร้ายกาจ
มีฝีมือถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นทาง ๓ โยชน์
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

กัต๎วานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา,....จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ,
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ผู้ทำอาการ
ประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพราะทำไม้มีสัณฐานอันกลมให้เป็นประดุจมีท้อง
ด้วยวิธีสมาธิอันงามคือความระงับพระหฤทัยในท่ามกลางหมู่ชน
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะ กะวาทะเกตุง,....วาทาภิโรปิตะ มะนัง อะติอันธะภูตัง,
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิต๎วา มุนินโท,.......ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี รุ่งเรืองแล้วด้วยประทีปคือปัญญา ได้ชนะสัจจกนิครนถ์
ผู้มีอัชฌาสัยในที่จะสละเสียซึ่งความสัตย์ มีใจในที่จะยกถ้อยคำของตนให้สูง
ดุจยกธง เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก ด้วยเทศนาญาณวิธีคือรู้อัชฌาสัยแล้วตรัสเทศนา
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุทธัง มะหิทธิง,..ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต,
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,............ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี โปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส นิรมิตกายเป็นนาคราช
ไปทรมานพญานาคราช ชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก
ด้วยวิธีอันให้อุปเท่ห์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่่าน
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง,.....พ๎รัห๎มัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง,
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิต๎วา มุนินโท,.......ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะพรหมผู้มีนามว่าท้าวพกา ผู้มีฤทธิ์ มีอันสำคัญตนว่า
เป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีมืออันท้าวภุชงค์ คือทิฏฐิที่ตนถือผิด
รัดรึงไว้แน่นแฟ้นแล้ว ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษคือเทศนาญาณ
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา,...โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที,
หิต๎วานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ,...........โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ ฯ


นรชนใด มีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล
๘ คาถา แม้เหล่านี้ทุกๆ วัน นรชนนั้นจะพึงละเสียได้ ซึ่งอุปัทวอันตรายทั้งหลาย
มีประการต่างๆ เป็นเอนก ถึงซึ่งวิโมกขสิวาลัยอันเป็นบรมสุขแล.


:b46: :b45: :b46:

กระทู้ “หนังสือสวดมนต์-ไหว้พระ-สาธยายธรรม (แปล)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=20792

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2012, 09:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ชยมังคลอัฎฐคาถา หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ พุทธชัยมงคลคาถา หรือ คาถาพาหุง
เป็นพระคาถาที่กล่าวถึงการเผชิญอุปสรรคของพระพุทธเจ้า ๘ ประการ ในรูปแบบต่างๆ

ลักษณะพระคาถา แต่งเป็นแบบวสันตดิลกฉันท์ (หยาดฝน)
พระคาถานี้ไม่ปรากฏผู้แต่ง คาดว่าน่าจะแต่งขึ้นในศรีลังกา ราวๆ พ.ศ. ๙๐๐
หรือไม่ก็แต่งขึ้นในแถบล้านนาไทย เมื่อสมัยที่การศึกษาภาษาบาลีของพระนักปราชญ์ล้านนารุ่งเรือง

แต่ไม่ว่าจะแต่งขึ้นในที่ใดก็ตาม พระคาถานี้ก็เป็นที่นิยมสวดกันมาก
ในแถบเอเซียทั้งพม่า ลาว ไทย เขมร ศรีลังกา ฯลฯ
แม้ในอินเดีย ก็มีการสวดพระคาถาบทนี้ เป็นทำนองอินเดีย อย่างไพเราะ
ความหมายของพระคาถานี้ เป็นการนำเอาเรื่องราวในพุทธประวัติบางตอน
ทั้งในพระไตรปิฏกและอรรถกถามาแต่งเป็นพระคาถา
ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเผชิญอุปสรรคของพระพุทธเจ้าในรูปแบบต่างๆ
ที่มุ่งหวังจะทำลายพระพุทธศาสนา และพระองค์ก็ทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี

บทนี้นิยมสวดกันอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันอุปัทวันตรายทั้งหลาย
แต่เรื่องราวที่มาของคาถาซึ่งหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้คนทั่วไปคงได้ประสบพบเจอบ้างแน่นอน
พุทธศาสนิกชนพึงได้ศึกษาและเอาอย่างพระพุทธองค์ที่ทรงใช้หลักการและอานุภาพทางธรรม
เพื่อรับมือและต่อสู้จนเอาชนะมารที่เข้ามาหมายทำลายพระพุทธองค์โดยวิธีต่างๆ ได้

การศึกษาเรื่องราวที่มาของพระคาถา จึงเป็นประโยชน์อย่างลึกซึ้งแก่พุทธศาสนิกชน
ในแง่ของการศึกษาพระพุทธประวัติ, พระพุทธจริยา, พระพุทธธรรม อีกด้วย


:b48: :b48:

คาถาบทที่ ๑
ทานบารมีพิชิตพญามารวสวัตตีมาราธิราช

รูปภาพ

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง,....ค๎รีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง,
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะพญามารผู้นิรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ
ขี่คชสารครีเมขละพร้อมด้วยเสนามาร โห่ร้องก้องกึก ด้วยธรรมวิธีทานบารมี
เป็นต้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

-----

หลังจากที่พระมหาบุรุษ (พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ) ได้ทรงพิจารณาแล้วว่า
การบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น ไม่ใช่ทางหลุดพ้น จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา

และ ได้ทรงหันมา รำลึกถึงความหลัง ครั้งที่พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิภายใต้ต้นหว้า
ในพระราชพิธีแรกนาขวัญที่กรุงกบิลพัสดุ์ จึงทรงเห็นว่า การบำเพ็ญเพียรทางจิต
น่าจะเป็นหนทาง ที่จะทำให้บรรลุโมกขธรรมได้ คิดได้ดังนั้นแล้ว จึงทรงตั้งพระทัยว่า
จะทำให้พลังกายกลับคืนมา จึงได้ทรงออกภิกขาจาร

หลังจากนั้น ก็เสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทรอันเป็นที่เลี้ยงแพะ)
ซึ่งในแถบนั้นมีหมู่บ้านอยู่
และนางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส เพราะสำคัญว่าพระองค์เป็นเทวดา
ประจำต้นไทรที่นางเคยมาบนไว้ และหลังจากนั้น พระองค์ทรงรับข้าวมธุปายาส
เป็นข้าวสุกที่หุงด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง มีความเหนียวนุ่ม สามารถปั้นได้ ทั้งถาดทองคำ
และทรงนำเอาถาดนั้นไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา กระทบกับถาดทองคำอีก ๓ใบ
ซึ่งพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ก่อน ได้ทรงเสี่ยงทายไว้

พญากาฬนาคราช ซึ่งนอนมาหลายกัปป์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระองค์แรก
ก็ได้ตื่นขึ้นมารำพึงว่า "เมื่อวานก็มีพระพุทธเจ้ามา ตรัสไป วันนี้ก็มาอีกแล้วหรือ"
คัมภีร์พระสัมภารวิบากกล่าวว่า หลังจากนั้นแล้ว พญากาฬนาคราชก็กลับไปนอนหลับต่อ
แต่ในคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่า ได้พาพวกนางนาคบริวารไปเข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์

หลังจากที่ทรงลอยถาดแล้ว ระหว่างทางกลับ
ก็พบกับพราหมณ์ชื่อว่า โสตถิยะ แบกหญ้ากุสะ
(แปลกันว่าหญ้าคา แต่บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตะไคร้หอม) มา
เห็นอากัปกิริยาของพระโพธิสัตว์ก็เลื่อมใส จึงได้ถวายหญ้ากุสะแก่พระองค์
พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปพบกับต้นไม้ ชื่อว่า "อัสสัตถะ" ซึ่งมีอายุราว ๓๙ ปี
(ในคัมภีร์กล่าวว่า ต้นไม้นี้เป็นสหชาติ เกิดวันเดียวกับที่พระโพธิสัตว์ประสูติ)
ทรงเห็นว่ามีร่มไม้ใบหนา ใกล้กับแม่น้ำเนรัญชรา เหมาะแก่การประทับ นั่งเพื่อเจริญภาวนา
จึงได้ทางปูลาดหญ้ากุสะเพื่อเป็นที่ประทับนั่ง

ขณะนั้นก็บังเกิดอภินิหารกลายเป็นรัตนบัลลังก์ (บัลลังก์แก้ว)
พระองค์ทรงประทับนั่ง ตั้งมั่นในพระทัยว่า

"แม้ว่าเลือด เนื้อ เอ็นกระดูก ในกาย จะเหือดแห้งไปก็ตามที
หากไม่บรรลุความสำเร็จที่จะพึงได้
ด้วยความเพียรบากบั่นของลูกผู้ชายแล้วไซร้
เราจะไม่ยอมลุกเด็ดขาด"


ในคืนนั้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พญามาร วสวัตตีมาราธิราช
ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นที่ ๖ ฝ่ายมาร
ผู้ที่เปรียบเหมือนบุคลาธิษฐานของกิเลสในใจมนุษย์
ได้ดำริว่า พระสิทธัตถะจะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
และพ้นจากห้วง (กิเลส) แห่งเรา เราจักไปทำลายการบำเพ็ญของพระสิทธัตถะ

จึงได้ตระเตรียมพลโยธีเหล่ามาร และพญามารนั้นประทับนั่งบนคอช้าง
นามว่า นาฬาคีรีเมขละ
ในขั้นแรกได้มอบให้ธิดามาร คือ ราคา ตัณหา อรดี
ได้ไปยั่วยวนพระสิทธัตถะให้ลุกขึ้น
เลิกการบำเพ็ญเพียรแต่ไม่สำเร็จ จึงได้ออกไปเอง
ยกกองทัพมาประจัญหน้าพระแท่นวัชรอาสน์
ที่ประทับของพระโพธิสัตว์

ในขั้นแรก ได้ใช้อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ให้พระโพธิสัตว์ทรงหวาดกลัวและลุกหนี
บันดาลเป็นลูกไฟบ้าง พายุใหญ่บ้าง เมฆฝนบ้าง
แต่กลับตกลงมาเป็นของสักการะพระสิทธัตถะไปสิ้น
จึงได้พยายามใช้ วิธีเสียงข้างมาก โดยกล่าวตวาดพระสิทธัตถะ
ซึ่งขณะนั้นประทับนั่งพระหัตถ์ซ้ายวางลงบนตัก
พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระชานุ (หัวเข่า)

รูปภาพ

พญามาร : สิทธัตถะ ท่านจงลุกหนีจากรัตนบัลลังก์นี้เถิดไฉนยังนั่งเฉยอยู่ได้เล่า
รัตนบัลลังก์นี้เป็นของเราเกิดด้วยบุญของเรา

พระโพธิสัตว์ : พญามารเอยเราจะเล่าให้ท่านฟังเมื่อแรกมาถึง ณ ที่แห่งนี้
บัลลังก์นี้จึงเป็น ของเรา แล้วท่านจะให้เราลุกหนีจากรัตนบัลลังก์พระโพธิสัตว์
พญามารเอยท่านว่ารัตนบัลลังก์นี้เกิดด้วยบุญของท่าน เราอยากรู้ว่ามีใครรู้เห็นเป็นพยานบ้างเล่า ?

พญามาร : ก็หมู่เสนามารนี้แหละ คือพยานของเรา

พระโพธิสัตว์ : พญามารเอย เราจะเล่าให้ท่านฟัง เมื่อแรกมาถึง ณ ที่แห่งนี้
เราเอาหญ้าคา ๘ กำมือมาเรียงรายใต้ต้นอัสสัตถะและตั้งจิตอธิษฐาน
ทันใดนั้นก็พลันเกิดเป็นรัตนบัลลังก์ด้วยการอธิษฐานจิตของเรา ฉะนั้น บัลลังก์นี้จึงเป็นของเรา
แล้วท่านจะให้เราลุกหนีจากรัตนบัลลังก์นี้หาควรไม่ ท่านมีพยาน เราเองก็มีพยาน
ท่านมีพลโยธา เราเองก็มีพลโยธา เราจึงกล้าหาญอยู่ได้ในที่นี้

พญามาร : สิทธัตถะ ท่านอย่าพูดจาเหลวไหล ท่านนั่งอยู่คนเดียวแท้ๆ
แต่พูดว่า มีพลโยธาเหมือนอย่างเรา ไหนเล่าพลโยธาของท่าน?

พระโพธิสัตว์ : พระมารเอยเรานี้มีบารมี ๓๐ ทัศ เป็นพลโยธา
มีปัญญานี้แหละเป็นพยาน


(คำว่า บารมี ๓๐ ทัศ หมายถึงการบำเพ็ญบารมีในชาติก่อนๆ ของพระโพธิสัตว์
มีทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา
ในระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง รวมเป็น ๓๐)

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงระลึกการบำเพ็ญบารมีที่ผ่านมาทุกชาติและได้หลั่งน้ำทักษิโนทกลงบนพื้นดิน
และทรงใช้พระดัชนีขวา (นิ้วชี้ข้างขวา) ชี้ลงบนพื้นธรณี
และทรงอธิษฐานอ้างเอาพระบารมี ๓๐ ประการ เป็นพยาน

ในคัมภีร์ปปัญจสูทนีอรรถกถามัชฌิมนิกาย ได้กล่าวว่า ขณะนั้นพื้นพสุธาราวกับรับรู้ว่าพระองค์ตรัส
ได้สั่นสะเทือนขึ้น และพื้นพสุธาได้พลิกตลบ
ผลักเอาพญามารและเสนามารกระเด็นไปถึงขอบจักรวาล

ส่วนคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่า เมื่อทรงอ้างเอาพระบารมี ๓๐ ทัศเป็นพยานแล้ว
ก็เกิดรูปนารีผุดขึ้น มีนามว่า วสุนทรา ได้ประณมนมัสการพระโพธิสัตว์
และได้บีบมวยผมของตน ทำให้เกิดมหานทีใหญ่ทำให้กองทัพพญามาร
แม้แต่ช้างนาฬาคิรีเมฆ ถูกสายน้ำพัดแตกกระเจิงไปหมด

พญามารเห็นพระบารมีของพระโพธิสัตว์ ทำให้กองทัพของตนแตะกระเจิงไปเช่นนั้น
ก็กลับเกิดศรัทธาขึ้นมา จึงเปล่งคำสดุดีพระโพธิสัตว์ ว่า

ข้าแต่บุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่บุรุษผู้สูงสุด ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมพระองค์
ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก ไม่มีใครเทียบพระองค์ได้อีกแล้ว
พระองค์ คือ พระพุทธเจ้า
พระองค์ คือ พระศาสดา
พระองค์ คือ พระมุนี ผู้มีอำนาจเหนือมาร
พระองค์คือ ผู้ฉลาดในกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน (อนุสัยกิเลส)
พระองค์ทรงข้ามได้แล้วก็จะยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามด้วยได้

หลังจากนั้นแล้ว พญามารก็กลับไปยังที่อยู่ของตนอย่างผู้แพ้
และพระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญเพียรต่อ และได้บรรลุญาณตามลำดับ

-ในปฐมยาม ได้บรรลุทิพยจักขุญาณ คือญาณทำให้เกิดตาทิพย์
ที่มองเห็นชาติแต่หนหลังของพระองค์
ทำให้ทรงเห็นโทษภัย และความทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิด

-ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ทรงเห็นการเกิด
การจุติ การดับของสัตว์ มองเห็นกรรม ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

-ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสววักขยญาณ คือญาณเป็นเครื่องทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

-ในยามเช้า ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลาที่คนบางคนตื่น บางคนหลับ
แต่พระองค์ทรงตื่นแล้ว ตื่นจากการหลับในห้วงแห่งตัณหา
ทรงกำจัดแล้วซึ่งอาสวะกิเลสทั้งมวล พระทัยของพระองค์เบิกบานยิ่ง
เพราะความสว่างแห่งจิตอันปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัด
พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว !


รูปภาพ

:b48:

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/15/entry-1

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2012, 09:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๒
พระขันติธรรมพิชิตอาฬวกยักษ์

รูปภาพ

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง,....โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง,
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,.........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะอาฬวกยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทน
มีฤทธิ์พิลึกยิ่งกว่าพญามารเข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง
ด้วยวิธีทรมานเป็นอันดีคือพระขันตี ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

-----

สำหรับชัยชนะในคาถาบทที่ ๒ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุการณ์เกิดในพรรษาที่ ๑๖
เป็นชัยชนะที่มีต่อพวกยักษ์แก่โทสะ และใจคอเหี้ยมโหด
เป็นชัยชนะที่ได้มาด้วยขันติธรรมเป็นเลิศ
และด้วยเมตตานุภาพอันไม่มีประมาณ


ในสมัยพุทธกาล พระราชาเมืองอาฬวีถูกยักษ์จับ
แต่พระองค์ทรงให้สัญญากับยักษ์ว่า ถ้าหากยักษ์ปล่อยพระองค์ไป
พระองค์จะส่งคนมาให้ยักษ์กินเป็นอาหารทุกวัน

เมื่อพระราชารอดชีวิตมาได้ ทรงรับสั่งให้อำมาตย์ส่งนักโทษ
ให้นำอาหารใส่ถาดทองไปให้ยักษ์กินที่ใต้ต้นไทรใหญ่
เมื่อนักโทษผู้เคราะห์ร้ายไปถึงโคนต้นไทร จะถูกยักษ์จับกินเป็นอาหาร
ต่อมา เมื่อเรือนจำหมดนักโทษ พระราชาทรงรับสั่งให้นำเด็กทารกเกิดใหม่ส่งไปให้ยักษ์กิน
ทำให้หญิงที่ใกล้จะคลอดลูก ต้องหลบหนีไปคลอดลูกที่อื่น
เหลือแต่อาฬวกุมารเพียงพระองค์เดียว
ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังตัดสินพระทัย ให้นำพระกุมารส่งไปให้ยักษ์กิน

ขณะเดียวกันนั้นเอง พระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร
ทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่งด้วยพุทธจักขุพระพุทธองค์
รู้ถึงอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของอาฬวกยักษ์
จึงเสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปยังที่อยู่ของยักษ์ เป็นระยะทางไกลถึง ๓๐ โยชน์
พระองค์ได้เสด็จเข้าไปประทับยืนอยู่ที่ประตูวิมานของยักษ์
และขอพำนักอาศัยด้วยถึง ๓ ครั้ง

ขณะนั้นอาฬวกยักษ์ไปประชุมสมาคมของยักษ์ที่หิมวันตประเทศ
และประตูวิมานของยักษ์ได้เปิดออกเองเพื่อให้พระพุทธองค์เสด็จเข้ามา
เมื่อยักษ์มาถึง เห็นดังนั้นก็โกรธเป็นกำลัง ลุกขึ้นยืนบนพื้นมโนศิลาด้วยเท้าซ้าย
เท้าขวาเหยียบบนยอดเขาไกรลาส ทำลมให้ตั้งขึ้นด้วยคิดว่า จักทำลายพระพุทธเจ้า

เนื่องจากเสียงของอาฬวกยักษ์นั้น แม้เสียงก็ดังก้องไปทั่วชมพูทวีป
เป็น ๑ ใน ๔ เสียงพิเศษ เสียงทั้ง ๔ นั้น ได้แก่

๑. เสียงปุณณกยักษ์ ที่ส่งเสียงไชโยในคราวชนะพนันพระเจ้าธนัญชัย โกรพยะ
๒. เสียงท้าวสักกะ ร้องประกาศขู่จะกินพุทธบริษัทใจบาป
ไม่รักษาศีลรักษาธรรมในครั้งปลายพุทธกาลของพระกัสสปพุทธเจ้า
๓. เสียงพระเจ้ากุสราช ร้องประกาศพระนามของพระองค์
ในคราวที่ทรงพาพระนางปภาวดีขึ้นช้างออกจากพระนคร
ในคราวที่เมืองกุสาวดีถูกกษัตริย์ทั้ง ๗ ปิดล้อม
๔. เสียงอาฬวกยักษ์ ที่ร้องในครั้งนี้ที่ตั้งใจหมายทำลายพระพุทธเจ้า

เสียงร้องนั้นก่อภัยพิบัติแก่ชาวเมืองได้
แม้เทวดาทั่วโลกธาตุก็มาประชุมกันรอว่า
พระพุทธองค์จะทรงปราบอาฬาวกยักษ์ครั้งนี้อย่างไร
ครั้งนั้นลมพายุใหญ่ได้ถาโถมพุ่งตรงไปยังอาฬวีนคร
ทำให้สถานที่ต่างๆ พินาศแหลกลาญ พัดหลังคาบ้านลอยไปในอากาศ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่า "ขอภัยพิบัติอย่าได้มีแก่ใครๆ"
ด้วยแรงอธิษฐานนั้นทำให้พายุใหญ่ทำอันตรายใดๆ ผู้คนไม่ได้

เมื่ออาฬวกยักษ์ถึงปากถํ้า ได้ทำห่าฝนให้ตกลง
ด้วยคิดว่า จะให้น้ำท่วมพระองค์ให้ตาย
ฝนก้อนเมฆตั้งร้อยตั้งพันก่อตัวขึ้นแล้วตกลงมา
ด้วยความแรงของน้ำฝน แผ่นดินแตกเป็นช่องๆ
แต่ก็ไม่อาจทำให้แม้จีวรของพระองค์เปียกได้

อาฬวกยักษ์บันดาลฝนแผ่นหิน ฝนเครื่องประหาร ฝนถ่านเพลิง ฝนขี้เถ้า
ฝนทราย ฝนเปือกตมให้ตกลงมา แต่ฝนเหล่านั้นกลับกลายเป็นทิพยมาลา
เป็นของหอมทิพยบูชาพระพุทธองค์

ครึ่งคืนผ่านไป ยักษ์ยังไม่สามารถเอาชนะได้ จึงแก้ทุสสาวุธยกชูขึ้น
เหาะเวียนวนอยู่ใกล้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า ปล่อยอาวุธไปในอากาศ
คือ ทุสสาวุธ ซึ่งมีความร้ายแรงประหนึ่งวชิราวุธ
ของพระอินทร์และคฑาวุธของท้าวเวสสุวรรณ
ทุสสาวุธมีเสียงน่าสะพรึงกลัวแล่นไปในอากาศประดุจสายฟ้า

ความร้ายแรงของทุสสาวุธนั้น ถ้าโยนขึ้นไปในอากาศจะทำให้ฝนแล้วถึง ๑๒ ปี
ถ้าทิ้งลงพื้นดิน ต้นไม้ แผ่นดิน จะถูกไฟไหม้ทำลายถึง ๑๒ ปี
ถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำก็จะแห้งขอดถึง ๑๒ ปี
ถ้าทิ้งบนภูเขา แม้เขาสิเนรุมาศก็จะแตกกระจายเป็นผุยผง

แต่ครั้นทุสสาวุธมาใกล้พระพุทธองค์
ก็กลับกลายเป็นผ้าเช็ดพระบาทตกลงที่เบื้องพระบาท
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ยังไม่หมดหวัง
รีบตรวจดูว่าเหตุใดหนอ พระสมณะจึงไม่กลัว
ในที่สุดตนรู้ว่าเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งอยู่ในเมตตาธรรม
จึงคิดจะทำให้พระองค์โกรธ ด้วยการขับไล่พระพุทธองค์ให้ออกไปในทันที

เมื่อยักษ์ขับไล่เช่นนั้น พระองค์ทรงเสด็จออกไปโดยดี
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น เริ่มมีจิตอ่อนโยน ด้วยคิดว่า
"สมณะนี้ว่าง่ายจริง เราบอกคำเดียวก็ออกไปแล้ว
เราสามารถชนะสมณะนี้ด้วยคำพูดเพียงเท่านี้
เสียแรงอุตส่าห์ต่อยุทธกับสมณะนี้อยู่ตั้งครึ่งค่อนคืนด้วยอาวุธร้ายแรง"


ยักษ์ทดสอบให้พระบรมศาสดาเสด็จเข้าออกเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง
เพื่อดูว่า พระองค์เป็นผู้ว่าง่าย จริงไหม

ครั้งที่ ๔ ยักษ์เกิดความคิดชั่วว่า เราจะทำให้สมณะนี้ลำบากตลอดคืน
ด้วยการเข้าๆ ออกๆ อย่างนี้แหละ จึงสั่งว่า
"ท่านจงออกไปสมณะ"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"เราไม่ออกไป ท่านจงกระทำกิจที่ท่านควรทำเถิด"

เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จออกไปตามคำสั่ง
พวกยักษ์ถามเหตุผลที่ไม่เสด็จออกไปในครั้งที่ ๔
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า

"เมื่อเราเข้ามานั้น เราไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน
เมื่อเจ้าให้เราออก เราจึงออก
แต่เมื่อเจ้าผู้เป็นเจ้าของบ้านอนุญาตให้เราเข้ามาแล้ว
เหตุใดเราต้องออกไปอีก
ดูก่อนอาฬวกยักษ์ เจ้าอนุญาตให้ใครเข้ามาแล้วออกปากไล่เขานั้น
ไม่มีมารยาท ไม่มีใครนับถือ"

อาฬวกยักษ์จนด้วยพุทธปฏิภาณ
จึงตั้งใจจะถามปัญหาที่ค้างใจมานาน
เนื่องจากอาฬวกยักษ์เคยถามปัญหากับดาบส
และปริพาชกที่มีฤทธิ์มีเดชที่มาสู่วิมานของตน
ครั้นตอบไม่ได้ ยักษ์ก็ควักหัวใจของท่านเหล่านั้นมาขยี้ทิ้งหมด
ยักษ์นึกถึงปัญหาเหล่านั้นได้ รีบทูลถามพระบรมศาสดาว่า

"ดูก่อนสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหาท่าน ถ้าท่านไม่ตอบ หรือตอบไม่ได้
ข้าพเจ้าจักควักดวงจิตของท่าน จักฉีกหัวใจของท่าน
หรือจับที่เท้าแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่นํ้าคงคาโน้น"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
"เรายังไม่เห็นบุคคลใดในโลกพร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ อีกทั้ง สมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ที่จะควักหทัยของเราโยนทิ้ง จะพึงฉีกหทัยของเรา
หรือจับเราที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งนํ้าคงคาได้
ดูก่อนยักษ์ เมื่อท่านหวังจะถามปัญหาก็ถามเถิด เราจักตอบ"


รูปภาพ

อาฬวกยักษ์เริ่มทูลถามปัญหา ๘ ข้อ
(ในที่นี้มีตัวอย่างพอเป็นการศึกษาเท่านั้น) เช่น

ยักษ์ถามว่า
"อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลก ?
อะไรหนอ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ?
อะไรหนอ เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย ?
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐสุด ?"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
"ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้
ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าว
ชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด"


อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า
"คนข้ามโอฆะได้อย่างไร ?
ข้ามอรรณพได้อย่างไร ?
ล่วงทุกข์ได้อย่างไร ?
บริสุทธิ์ได้อย่างไร ?"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
"คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา"


อาฬวกยักษ์ถามว่า
"คนมีปัญญาได้อย่างไร ?
หาทรัพย์ได้อย่างไร ?
หาชื่อเสียงได้อย่างไร ?
ผูกมิตรได้อย่างไร ?
และทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศกเมื่อไปสู่ภพหน้า ?"


พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"บุคคลเชื่อฟังย่อมได้ปัญญา
บุคคลไม่ประมาท ฉลาด ไม่ทอดธุระ มีความเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้
บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์
ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
และบุคคลผู้มีธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ จาคะ และ ขันติ
บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก"


อาฬวกยักษ์ได้ถามปัญหาที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก
เมื่อได้ฟังคำตอบใจยักษ์ยิ่งเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะในพระพุทธองค์
หลังจากตั้งใจสดับธรรมะทุกข้อที่พระองค์ทรงตอบ
ในที่สุดอาฬวกยักษ์ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
เป็นผู้มั่นคงต่อหนทางพระนิพพาน กลายเป็นยักษ์ที่สำรวมระวังในศีล
ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ส่วนกษัตริย์และข้าราชบริพารพร้อมด้วยประชาชนในเมือง
ซึ่งรอพระพุทธองค์อยู่ด้านรอบนอก เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จกลับมา
ก็ทูลถามว่า พระองค์ปราบอาฬวกยักษ์ได้อย่างไร
ทรงแสดงอาฬวกสูตรให้ฟัง กษัตริย์และประชาชนได้ฟังในครั้งนั้น
ก็ได้บรรลุธรรมมากถึง ๘๔,๐๐๐ คน

:b48:

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/16/entry-1
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-03.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2012, 20:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๓
พระเมตตาชนะพญาช้างนาฬาคิริง

รูปภาพ

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง,....ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง,
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,.......ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะช้างตัวประเสริฐชื่อนาฬาคิรี เป็นช้างเมายิ่งนัก
แสนที่จะทารุณประดุจไฟป่าและจักราวุธและสายฟ้า
ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำคือพระเมตตา ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

-----

พุทธชัยมงคลคาถาที่ ๓
กล่าวถึงครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเผชิญกับช้างนาฬาคีรี
ซึ่งเป็นพญาช้างที่ดุร้ายอีกทั้งขณะที่ช้างพุ่งมาทำรายพระพุทธองค์นั้น
ก็ขาดสติเพราะเมาด้วยฤทธิ์สุราและบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย
เรื่องราวตอนนี้ต้องกล่าวย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน
ในเรื่องการพยายามปลงพระชนม์พระพุทธองค์ด้วย


ในพรรษาที่ ๓๗ พระเทวทัตภิกขุแสดงฤทธิ์ให้อชาตศัตรูกุมาร
(พระโอรสในพระเจ้าพิมพิสาร)
อชาตศัตรูกุมารเกิดความเลื่อมใส ได้ฟังคำยุยงจากเทวทัตภิกษุว่า
คนทั้งหลายมีทั้งอายุสั้นและอายุยืน
ความตายเป็นของไม่เที่ยงเกิดได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และท่านก็อาจจะตายตั้งแต่ยังเด็ก
ถ้ากระนั้นจงปลงพระชนม์พระบิดาเสียแล้วเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
และตัวเทวทัตเองก็จะปลงพระชนม์พระตถาคตแล้วเป็นพระพุทธเจ้า

กล่าวถึงที่มาของพระเทวทัตในกาลก่อนครั้งเมื่อองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์
เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายอนุรุทธะ ญาติวงศ์หลายพระองค์
และได้รวมถึง "เจ้าชายเทวทัต" ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระนางพิมพา
ทุกองค์ได้รับฟังพระธรรมเทศนา ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์
จึงตั้งพระทัยมั่นละทางโลก และเสด็จตามพระพุทธองค์
ออกผนวชเพื่อเจริญทางธรรมนับแต่นั้นมา

กาลผ่านไป ความเพียรในการปฏิบัติธรรมของพระญาติวงศ์ทุกพระองค์
ก็สำเร็จตามกำลังแห่งตน โดยเฉพาะพระเทวทัตทรงฝึกจิตภาวนา
ได้ฌานสมาบัติระดับโลกิยฤทธิ์ แสดงปาฏิหาริย์ อิทธิฤทธิ์ต่างๆ
เช่น การหาย ตัวและเหาะเหินเดินอากาศ

แต่ด้วยจิตอันเป็นอกุศล เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา
ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับดั่งพระพุทธเจ้า
ทำให้พระเทวทัตคิด พูด ทำสิ่งใดมักมุ่งร้ายต่อพระพุทธองค์
และบวรพุทธศาสนาเป็นที่สุด

กาลต่อมา พระเทวทัตทรงเห็นว่า หนทางแห่งลาภ ยศ สรรเสริญ
จะหลั่งไหลมาสู่ตนได้นั้นต้องใช้เล่ห์เพทุบายให้เจ้าชายอชาตศัตรู
โอรสแห่งพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งครองแคว้นมคธ มาเลื่อมใสศรัทธาในตนให้จงได้
เพื่อเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความมุ่งหวังที่ตนตั้งไว้

ในคราวนี้พระเจ้าอชาตศัตรูจะดำเนินสังหารพระราชบิดา คือ พระเจ้าพิมพิสาร
ส่วนพระเทวทัตจะดำเนินการปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า

ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นซ่อนกริชเข้าไปวางลอบปลงพระชนม์พระราชบิดา
แต่ถูกทหารรวบตัวไว้ได้ก่อนที่จะทำการสำเร็จ
พระเจ้าพิมพิสารรู้ว่าพระราชโอรสต้องการพระราชสมบัติก็ทรงยกราชบัลลังก์ให้
แต่พระเจ้าอชาตศัตรูก็ถูกยุยงจากพระเทวทัตให้ขังพระรบิดาไว้อีก
เพื่อป้องกันพระเจ้าพิมพิสารเปลี่ยนใจไม่ยกราชสมบัติให้

ในการคุมขังพระเจ้าพิมพิสารนั้น ทรมานมาก
ทรงถูกงดให้ได้เสวยพระกระยาหาร ห้ามเยี่ยม
เว้นให้เข้าเยี่ยมได้เฉพาะพระชายาของพระเจ้าพิมพิสาร
คือ พระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรูเท่านั้นที่เยี่ยมได้

โดยพระนางซ่อนอาหารโดยวิธีการต่างๆ เพื่อมาถวายแด่พระเจ้าพิมพิสาร
จนถึงขนาดเอาอาหารทาพระวรกายให้พระเจ้าพิมพิสารเลียพระวรกายเพื่อเสวย
จนถึงที่สุดพระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่ยอมให้ผู้ใดได้เข้าเยี่ยมพระเจ้าพิมพิสารอีกเลย
แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงอยู่ได้ด้วยการเดินจงกรมและมีปีติ

ในที่สุดพระเจ้าอชาตศัตรูเห็นพระราชบิดายังทรงพระวรกายแข็งแรง
ผิวพรรณเปล่งปลั่งด้วยกำลังจากพระปีติในการเดินจงกรม
จึงส่งช่างกัลบกเข้าไปกรีดพระบาทของพระเจ้าพิมพิสารอีก
จนทรงบาดเจ็บหนัก อีกทั้งอ่อนเพลียจากอดอาหารจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด

ฝ่ายพระเทวทัตที่วางแผนเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า
ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์
โดยเริ่มตั้งแต่ขอนายขมังธนู ๑๖ คน
แล้วส่งไปให้ลอบยิงพระพุทธเจ้าด้วยลูกธนูอาบยาพิษ
แต่นายขมังธนูกลับมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ยอมเข้าเป็นพุทธบุตรด้วยพระพุทธบารมี

รูปภาพ

เมื่อแผนการนี้ไม่สำเร็จ พระเทวทัตได้คิดแผนการใหม่
ด้วยการกลิ้งหินจากยอดเขาคิชฌกูฏหวังให้ทับพระพุทธองค์
แต่ไม่สำเร็จ มีเพียงสะเก็ดหินก้อนหนึ่งไปโดนข้อพระบาทของพระพุทธองค์
ทำให้ทรงห้อพระโลหิต
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระเทวทัตเป็นผู้กระทำ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า บัดนี้เทวทัตได้กระทำอนันตริยกรรมต่อพระองค์เสียแล้ว

แต่ถึงอย่างนั้นพระเทวทัตก็ไม่ลดละ ยังคิดต่อว่า

"การลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์ก็มิสำเร็จด้วยน้ำมือของตนได้
เพราะเทวาอารักษ์ ให้ความคุ้มครองรักษา
แม้แต่บุคคลใดเมื่อแลเห็นพระพุทธองค์ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
มิอาจทำร้ายทำลายพระพุทธองค์ได้เลย
เว้นเสียแต่สัตว์เดรัจฉานที่ไม่รู้จักพระรัตนตรัยซะกระมัง
ที่จะสามารถปลงพระชนม์พระพุทธองค์ได้"


ต่อมาเมื่อพระเทวทัตได้รับพระราชทานช้างจากพระเจ้ากรุงมคธแล้ว
ก็รีบมาปลุกปั่นยอยก ให้ลาภยศแก่นายควาญช้าง
ให้นายควาญช้างรับธุระมอมเหล้า ช้างนาฬาคิรี
ให้เมาเพิ่มกำลังบ้าคลั่งด้วยซับมันขึ้นอีกแรงหนึ่ง
และกำชับให้ปล่อยช้างในเวลาเช้า ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์
ตามถนนภายในพระนครราชคฤห์นี้

อันวิสัยสัตว์ไม่รู้จักคนชั่วคนดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็จะไล่ทิ่มแทงพระจอมไตรโลกาจารย์
ยามเมื่อเสด็จภิกษาจารพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก
ให้ย่อยยับอัปปางลงเป็นพัสมธุลี สิ้นชื่อพระชินสีห์ครั้งนี้แล

ครั้นรัตติกาลผ่านมาถึงเวลาอรุณรุ่งเช้า
พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกบริวาร
ก็ได้เสด็จพระพุทธดำเนินออกภิกษาจาร
ยังพระนครราชคฤห์ ตามมรรคาประเทศถนนหลวง
ประชาชนชาวเมืองทั้งปวงได้เห็นพระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวก
ต่างก็พากันวิตกกันไปต่างๆ
เพราะทราบเรื่องการการกระทำของพระเทวทัตอยู่แล้ว

พวกที่มีศรัทธาเลื่อมใสในสัมมาปฏิบัติ ก็มีความโสมนัสยินดีว่า
วันนี้จักชมบุญญาธิการอภินิหารของพระบรมไตรโลกนาถ
ที่จะทรงทรมานพญากุญชรให้สิ้นพยศ
พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็คิดในทางร้ายว่า
ในวันนี้ เราจักได้เห็นความพินาศวอดวายของพระสมณโคดม

ฝ่ายนายควาญช้างพระที่นั่ง เมื่อได้รับคำสั่งของพระเทวทัตแล้ว
ก็พากันจัดแจงหาสุราบานที่แรงกล้ามาเตรียมไว้
ครั้นรุ่งอรุโณทัยทิวาวาร
ก็พากันนำออกมากรอกพระยาเศวตคชนาฬาคิรีช้างพระที่นั่ง
ซึ่งกำลังคลุ้มคลั่งซับมัน สิ้นน้ำจัณฑ์ ๑๖ กระออม
ทำให้พญากุญชร เกิดพยศร้ายแรงเพราะฤทธิ์สุรา
ชูงวงยกงา กระทืบเท้าสะเทือนแท่น
ส่งเสียงร้องแปร๋แปร๋นอุโฆษก้องโกญจนาทน่าสะพึงกลัว

ครั้นรุ่งสางเป็นเวลาทรงบาตรพระบรมสุคต
นายควาญช้างก็เปลื้องปลอก
ปล่อยพญากุญชรนาฬาคีรีก็วิ่งทะยานออกสู่ถนน
บรรดาเหล่ามหาชนก็ตะโกนร้องกันต่อๆ ไป
ให้รีบหลบหาความปลอดภัยอันจะพึงมี
ทันใดนั้นพญาเศวตหัตถีก็ส่งเสียงกึกก้องโกญจนาท
วิ่งตรงมายังวิถีทางพระโลกนาถเสด็จพระพุทธดำเนิน

ในครั้่งนั้นภิกษุทั้งหลายต่างทูลให้พระพุทธองค์เสด็จกลับไปจากที่นี้เสีย
ด้วยช้างนาฬาคีรีโหดเหี้ยม อีกทั้งตกมันและเมามายสุรา
ซึ้งยังโดนเอาหอกทิ่มแทงให้เจ็บปวดเพื่อเพิ่มความดุร้ายอีก

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

"มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวเลย
ข้อที่ใครจะมาปลงชีวตเราตถาคตนั้น..ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพาน
เพราะการพยายามฆ่าของผู้อื่น"


บรรดาภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายจะเข้าช่วยปราบช้างนาฬาคีรี
แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การปราบช้างนาฬาคีรีนั้น
ไม่ใช่วิสัยของพระสาวก เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

แต่เมื่อช้างนาฬาคีรีมุ่งตรงมาหมายทำลายพระพุทธเจ้า
พระอานนทเถระพุทธอุปัฏฐาก เกรงอันตรายจะมีแด่พระพุทธเจ้า
จึงได้ออกมาขวางหน้าไว้ หวังให้ช้างทำลายตนเองแทน

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระมหากรุณา
ตรัสเรียกพระอานนทเถระให้ถอยกลับถึง ๓ ครั้ง
แต่พระอานนท์ก็ยังยับยั้งยืนหยัดสะกัดช้างนาฬาคิรีอยู่

พระพุทธองค์จึงทรงมีพระอาการสงบนิ่ง
แผ่เมตตาสู่จิตใจของช้างนาฬาคีรีที่เมามันด้วยความหลงความเมาเต็มที่
ด้วยฤทธานุภาพแห่งพระเมตตา ช้างนาฬาคีรีเริ่มมีอาการสงบลง
หายมึนเมาและยอบกายลงถวายความเคารพแด่พระพุทธองค์


พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวา ลูบกระพองศีรษะคชสารด้วยเมตตา
แล้วประทานโอวาทว่า

"ดูกร ! นาฬาคิรี แต่นี้ไป เจ้าจงสลัดตัดเสียซึ่งปาณาติบาต
อย่าได้ประมาทจิตคิดอาฆาตโกรธแค้นใครๆ
จงมีเมตตาจิตทั่วไปในคนและสัตว์
จงมีจิตโสมนัสหนักแน่นในเมตตาขันติ
เมื่อเจ้าวางวายจากภพนี้แล้วจะได้ไปสู่สุคติสถาน
พ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉานต่ำศักดิ์นี้
เป็นกุศลคุณอันหนักที่เจ้ามาพบเราตถาคต
จงอุตสาห์ตั้งใจกำหนดวิรัติปฏิบัติจนตราบเท่าอายุขัยนี้เถิด"


ช้างนาฬาคีรีได้ฟังพระพุทธโอวาทก้มีจิตชื่นชมยินดี
เอางวงลูบไล้ละอองพระบาทของพระพุทธองค์แล้วมาพ่นบนกระหม่อมของตัวเอง
จึงก้าวถอยหลังออกมาจนสุดสายตาที่จะแลเห็นพระพุทธองค์
แล้ววิ่งกลับโรงช้างของตน

เทวดาทั้งหลายต่างชื่นชมในพุทธบารมีครั้งนั้น
โปรยของหอม เครื่องสักการะถวายจนกลายเป็นเงินทองหล่นกองทั่วไปในเมือง
ช้างนาฬาคีรีจึงได้ชื่อใหม่ว่า ช้างธนปาล

ช้างนาฬาคีรีตัวนี้ ในคัมภีร์พุทธวงศ์กล่าวว่า เป็นช้างโพธิสัตว์
ในอนาคตกาลจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
พระนามว่า พระติสสะพระพุทธเจ้า เป็นองค์ที่ ๙ ถัดจากพระศรีอาริยเมตไตร

รูปภาพ

เรื่องราวของช้างนาฬาคีรีจบเพียงเท่านี้
แต่จะขอกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง "อนันตริยกรรม"
ซึ่งปรากฏในพระพุทธประวัติตอนนี้หลายเหตุการณ์

อนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด
ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน,
กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย
มี ๕ อย่าง คือ

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาตฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภททำสงฆ์ให้แตกกัน


ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖

ในพระพุทธประวัติ พระเทวทัตและพระเจ้าอชาตศัตรู
ต่างได้กระทำอนันตริยกรรม

พระเทวทัตทำอนันตริยกรรม ๒ อย่าง
คือ ๑. ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต และ ๒. ทำให้สงฆ์แตกแยก
(ในเหตุการณ์ที่พระเทวทัตทูลขอพรจากพระพุทธเจ้า
แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเพราะเป็นการทำให้สงฆ์แตกแยก)
พระเทวทัตนั้นก่อนโดนธรณีสูบก็สำนึกได้ โดนธรณีสูบจนเหลือแต่กระดูกคาง
จึงน้อมขอถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา

เจ้าชายอชาติศัตรู ทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพ่อตนเอง
ภายหลังสำนึกได้ ก็ไปช่วยอุปถัมป์พระพุทธศาสนาเต็มกำลัง
อุทิศชีวิตแด่พระพุทธศาสนา
แต่ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลใดๆ ได้
พระพุทธองค์ตรัสกับภิกษุว่า

"หากมหาบพิตรผู้นี้ไม่ทำอนันตริยกรรม วันนี้จะได้บรรลุโสดาบัน
ด้วยกรรมดีที่ทำมาตลอดชีวิตก็ไม่สามารถทำให้พ้นนรกได้"


ปกติโทษอนันตริยกรรมต้องไปอเวจีมหานรก
แต่กุศลของเจ้าชายอชาติศัตรูมามาก
แต่ก็ห้ามทางสวรรค์และนิพพานในชาตินั้นๆ

แต่ก็ไม่ตกอเวจี ไปแค่โลหะกุมภี แค่โทษปาณาติบาต รับกรรม ๖๐,๐๐๐ ปีนรก
แต่เมื่อพ้นกรรมทั้งพระเทวทัตและเจ้าชายอชาติศัตรู
จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

อนันตริยกรรมเมื่อทำแล้วจะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น
และไม่สามารถไปสวรรค์ พรหม นิพพานได้ ต้องไปนรกเท่านั้น


:b48: :b48:

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “พระเจ้าพิมพิสาร”
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7263

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-04.htm
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/17/entry-1

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2012, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๔
ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อกลับใจโจรองคุลิมาล

รูปภาพ

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง,....ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง,
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิต๎วา มุนินโท,........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี มีพระหฤทัยไปในที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์
ได้ชนะโจรชื่อองคุลิมาล (ผู้มีพวงคือนิ้วมือมนุษย์) แสนร้ายกาจ
มีฝีมือถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นทาง ๓ โยชน์
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

-----

พุทธชัยมงคลคาถาบทนี้ กล่าวถึงชัยชนะที่พระพุทธองค์
ทรงมีเหนือโจรร้ายองคุลีมาล ผู้ไล่ประหารชีวิตผู้คนด้วยความหลงผิด
ขณะที่องคุลิมาลได้พบพระพุทธองค์นี้ ได้ฆ่าคนมาแล้วถึง ๙๙๙ คน
เหลือคนสุดท้ายซึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระพลญาณว่า
องคุลิมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยจะได้มรรคผล
แต่กำลังจะทำมาตุฆาต อันเป็นอนันตริยกรรมอันเป็นกรรมหนักขวางมรรคผล
จึงทรงทำการอนุเคราะห์ด้วยการแสดงปาฏิหาริย์เพื่อกลับใจองคุลิมาล


รูปภาพ

องคุลิมาลนั้น เดิมทีมีนามว่า อหิงสกะ หรือ อหิงสกกุมาร
เป็๋นบุตรนางมันตานีกับท่านปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล
วันที่นางมันตานีให้กำเนิดอหิงสกะนั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ
พระแสงประจำพระองค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดแสงสว่างโชติช่วงขึ้นมาเอง
พราหมณ์ปุโรหิต ผู้เป็นบิดา จึงดูดาว
ได้ทราบว่า บุตรของตนนั้นเกิดในฤกษ์ดาวโจร
ต่อไปจะเป็นภัยแก่ราชสมบัติ จึงกราบทูลให้ทรงประหารบุตรของตนเสีย

พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม
มีจิตใจหนักแน่นในเมตตายุติธรรมจึงทรงถามปุโรหิตว่า
"บุตรชายของท่านเวลานี้มันเป็นโจรแล้วหรือยัง ?"

"ขณะนี้บุตรชายข้าพระเจ้าเป็นเพียงทารกน้อยยังไม่ใช่เป็นโจร
แต่ถ้าหากเขาเติบโตขึ้นมาเมื่อใด เขาจะต้องเป็นโจรแน่ๆและ
ไม่มีใครปราบได้พระเจ้าข้า..."

"เมื่อบุตรชายท่านเป็นโจร
เขาจะมีสมัครพรรคพวกบริวารมากหรือไม่ หรือเป็นโจรคนเดียว ?"

"เป็นโจรคนเดียวพระเจ้าข้า..."

พระเจ้าปเสนทิโกศลครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสว่า
"เมื่อเขาเป็นโจรเพียงคนเดียวไม่มีพวกบริวาร
เปรียบเหมือนข้าวสาลีรวงเดียวในนากว้างจักทำอะไรได้
เรามีทหารเป็นกองทัพทำไมจะปราบโจรคนเดียวไม่ได้
บุตรชายของท่านขอให้เลี้ยงดูเขาต่อไป
หากเขาเติบโตขึ้นมาและเป็นโจรร้ายเราจะปราบเขาเอง"

ย้อนไปในภพชาติหนึ่ง ด้วยกุศลกรรมทำให้จิตวิญญาณหนึ่ง
มาเกิดในครรภ์ของแม่ควายป่า ได้คลอดออกมาเป็นลูกควายเพศผู้เติบโต
เป็นควายหนุ่มฉกรรจ์กำยำ มีพละกำลัง อาจหาญยิ่งนัก

ด้วยความคะนองลำพองควายป่าตัวนี้จึงออกจากเขตป่ามา
อาละวาดทำร้ายช้าง, ม้า, วัว, ควายของชาวบ้าน
จนบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว
ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างคอกกลขึ้น
ชาวบ้านทั้งหลายใช้ศาสตราอาวุธฟาดฟันทิ่มแทงจอมมหิงษา
ก็คือ ควายหนุ่มฉกรรจ์ตัวนั้นจนตายคาที่
ก่อนจะสิ้นใจโกรธแค้นสุดขีดได้อาฆาตคนที่รุมฆ่ามันว่า

"หากได้เกิดชาติหน้าเมื่อใด ขอให้มาเกิดร่วมกัน
ชาตินี้พวกเจ้าร่วมกันฆ่าข้า ชาติหน้าข้าคนเดียวจะตามฆ่าพวกเจ้าให้หมด"


ควายป่าจอมมหิงษาตายไปแล้วก็ไปเกิดในชาติใหม่
เป็นบุตรชายท่านปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ผู้ได้รับขนานนาม ว่า อหิงสกกุมาร นี้เอง

ชาวบ้านที่รุมฆ่าควายป่ารวมทั้งผู้ที่ร่วมจิตเจตนาในการฆ่าควายป่านี้
เช่นช่วยกันทำคอก ช่วยกันคิดหาวิธีฆ่า รวมทั้งมีจิตเจตนาอยากฆ่า
อยากเห็นควายป่าตาย ครั้นควายป่าตายก็เกิดความปิติปราโมทย์ในการตายนั้นด้วย
(เป็นผู้ร่วมอยู่ในอกุศลกรรมเดียวกัน)
ต่างก็ไปเกิดเ็ป็นคนอยู่ในเขตเมืองพาราณสีและในเมืองใกล้เคียงทั้งหมด

ท่านปุโรหิตและภริยาเลี้ยงดูบุตรน้อย
โดยให้ชื่อเป็นการล้างอาถรรพณ์ชาติกำเนิดว่า
อหิงสกกุมาร แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียน

อหิงสกกุมารเติบโตเจริญวัยขึ้นมา เป็นผู้สุภาพอ่อนโยน
ฉลาดเฉลียว น่ารัก น่าเอ็นดู นอบน้อมเรียบร้อยตามราชประเพณีไม่บกพร่อง
อีกทั้งยังแสดงความจงรักภักดีต่อพระราชาอย่างมั่นคง

อายุได้ ๑๖ ปี ท่านบิดาได้ส่งไปเล่าเรียนวิชาการที่เมืองตักศิลากับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง
เขาพากเพียรเล่าเรียนอย่างจริงจังประกอบกับมีปัญญาเฉลียวลาดยิ่งกว่าผู้ใด
วิชาการทั้งหลายจึงเรียนสำเร็จอย่างรวดเร็ว
พระอาจารย์จึงรักใคร่และภาคภูมิในตัวศิษย์คนนี้ยิ่งนัก
มีความไว้วางใจถึงกับให้สอนศิษย์ร่วมสำนักแทนตนอยู่เนืองๆ

บรรดาศิษย์ทั้งหลายรุ่นเดียวกันเห็นดังนั้น ต่างก็เกิดความอิจฉาริษยา
จึงแอบตกลงกันใส่ความใส่ไฟป้ายความผิดแก่อหิงสกกุมาร
โดยเวียนกันไปบอกแก่พระอาจารย์ว่า อหิงสกกุมารมีจิตกำเริบ
มักใหญ่ใฝ่สูง ถือว่าตัวเองมีความเก่งกล้า
สามารถเทียบเท่าพระอาจารย์คิดจะตั้งตนเป็นเจ้าสำนักเสียเอง
และกำลังหาทางสังหารอาจารย์อยู่เพื่อที่ว่าตนเองจะได้เป็นใหญ่แต่ผู้เดียว

ตอนแรกพระอาจารย์ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่นานเข้าก็เชื่อ
คิดกำจัดอหิงสกกุมาร จึงทำอุบายเรียกอหิงสกะกุมารมาพบแล้วบอกว่า

"ข้ามีมนต์บทหนึ่งชื่อว่า วิษณุมนต์ ถ้าเรียนสำเร็จจะมีฤทธิ์
ปราบได้ทั้งไตรภพ คือมนุษย์ เทวดา พรหม ไม่มี ใครสู้ได้
ลูกศิษย์ทั้งหลายไม่มีผู้ใดเหมาะสมจะเรียนมนต์บทนี้นอกจากเจ้า
เจ้าต้องการเรียนหรือไม่ ?
ผู้ที่จะเรียนมนตรานี้สำเร็จต้องฆ่าคนบูชาครูให้ครบ ๑,๐๐๐ คนก่อน
ข้าจึงจะถ่ายทอดมนต์วิเศษนี้ให้"

การที่อาจารย์บอกเช่นนี้ เพราะต้องการยืมมือผู้อื่นฆ่าอหิงสกกุมารแทนตน
ด้วยคิดว่า หากตนฆ่าลูกศิษย์เสียเองต่อไปคงไม่มีใครมาเล่าเรียนในสำนักตน

อหิงสกกุมารลำบากใจที่จะเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
แต่ก็ด้วยความหลงเชื่อในอาจารย์ จึงได้กราบลาอาจารย์ ถืออาวุธเข้าป่า
เพื่อดักรอฆ่าคน เมื่อฆ่าคนแล้ว อหิงสกะจะตัดนิ้วมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้
ชาวบ้านจึงได้ขนานนามอหิงสกะว่า "จอมโจรองคุลิีมาล"
คือ จอมโจรผู้มีนิ้วเป็นพวงมาลัย

เมื่อนานเข้า ชาวบ้านรู้ว่า องคุลิมาลรอฆ่าคนอยู่ในป่า
จึงไม่ค่อยเข้าป่ากันอีก องคุลิมาลจึงต้องออกจากป่าเข้าไปฆ่าคนในหมู่บ้าน
เพราะเหลือเพียงอีก ๑ คนเท่านั้นก็จะครบ ๑,๐๐๐ คนแล้ว แต่ก็ยังหาใครไม่ได้เลย
ชาวบ้านต่างพากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล
พระราชาจึงได้จะออกเสด็จไปปราบโจร

ฝ่ายพราหม์ปุโรหิตผู้เป็นบิดารู้ว่า โจรที่พระราชาจะไปปราบนั้นก็คือ อหิงสกะ บุตรของตน
แต่พรามหณ์ผู้บิดาก็ไม่ช่วย ด้วยเห็นว่า บุคคลไม่ควรไว้ใจคน ๔ ประเภท ได้แก่
โจร เพื่อนเก่า พระราชา และ ผู้หญิง ด้วยเพียงสำคัญว่าเคยเป็นสหายกัน
เพราะอาจนำความเดือดร้อนหรือภัยมาสู่ตนได้

แต่นางมันตานีผู้เป็นมารดา เมื่อรู้ว่าพระราชาจะไปปราบโจร คือ บุตรของตน
เห็นพราหม์ปุโรหิตไม่ช่วย ด้วยความรักในบุตร
นางจึงคิดหาทางส่งข่าวบอกอหิงสกะด้วยตนเอง

ในเช้าตรู่วันนั้น พระพุทธองค์ทรงตรวจดูสัตว์โลกว่า
ทรงสมควรไปโปรดผู้ใด ได้ปรากฏองคุลิมาลในพระญาณ
จึงทรงพิจารณาว่าหากไม่ทรงไปโปรดในวันนี้
อหิงสกะจักทำมาตุฆาต คือ ฆ่ามารดาตนเองแน่นอน แล้วจะต้องไปอเวจี

รุ่งเช้าวันนั้น พระพุทธองค์ึงทรงเสด็จดำเนินไปตามทางในถิ่นขององคุลีมาล
พวกคนเลี้ยงโคก็ช่วยกันทูลห้ามมิให้พระองค์เสด็จ
เพราะแม้บุรุษมากถึง ๔๐ คนก็ยังถูกองคุลิมาลฆ่าตายหมด
พระพุทธองค์ทรงสดับแล้วนิ่งเสีย เสด็จดำเนินต่อไปจนถึงป่าชาลิวัน

ฝ่ายองคุลีมาลที่ต้องการฆ่าคนอีกเพียงคนเดียวก็จะครบหนึ่งพันคนนั้น
เห็นมารดาวิ่งมาเพื่อส่งข่าว ก็เงื้อดาบหมายจะฆ่ามารดาตนเองเสีย
แต่พระพุทธองค์ได้ทรงมาขวางทาง
องคุลีมาลจึงเปลี่ยนใจหมายฆ่าพระพุทธองค์แทน
คิดดังนั้น องคุลีมาลก็ถืออาวุธวิ่งไล่พระพุทธเจ้าไป

ในขณะนั้น พระพุทธอง์ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร
แม้ทรงเสด็จดำเนินด้วยพระอาการสงบนิ่งตามปกติ
แต่องคุลีมาลก็ไม่อาจตามพระองค์ได้ทันเสียที
แม้มาเข้าใกล้พระพุทธองค์แต่ก็กลับเหมือนห่างไกลออกไปอีก
ตลอดระยะทางประมาณ ๓ โยชน์ที่ทรงทรมานอหิงสกะ
จนเหน็ดเหนื่อยที่วิ่งไล่หมายฆ่าพระองค์
อหิงสกะเองทั้งเหน็ดเหนื่อยและแปลกใจว่า
ตนเป็นผู้มีกำลังดุจช้างสาร ๗ เชือก เหตุใดจึงวิ่งไล่สมณะผู้นี้ไม่ทันหนอ ?

คิดดังนั้น อหิงสกะจึงร้องออกไป

"สมณะ...หยุดก่อน สมณะ..จงหยุดก่อน"

พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า

"เราหยุดแล้ว... องคุลีมาลท่านสิ...ยังไม่หยุด"

องคุลีมาลได้ยินดังนั้นก็คิดว่า ตนเคยได้ยินว่า สมณะศากยบุตรผู้นี้เป็นผู้พูดจริง
เหตุใดตอนนี้ท่านยังเดินอยู่แต่กลับบอกแก่เราว่า ท่านหยุดแล้ว
จึงร้องถามไปว่า

"ดูก่อนท่านสมณะ ท่านกำลังเดินกลับกล่าวว่า หยุดแล้ว
เราสิที่หยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่าเรายังไม่หยุด
ที่ท่านกล่าวนั้นหมายถึงสิ่งใด ?"


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

"องคุลีมาล ตถาคตหยุดจากบาปธรรม
กรรมอันลามกแล้ว เธอยังไม่หยุดอีกหรือ ?"


รูปภาพ

ด้วยพระพุทธพจน์ องคุลีมาลกลับใจ คิดได้
ทิ้งศาสตราและทูลขอบรรพชา
พระพุทธองค์ทรงให้บรรพชาด้วยวิธีเอหิภิกขุ
แล้วพาเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร

ทางด้านพระเจ้าปเสนทิโกศลได้นำทหาร ๕๐๐ ออกไล่ล่าโจรองคุลีมาล
ผ่านพระเชตวันมหาวิหาร จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
กราบทูลราชกิจให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ทรงตรัสถามพระราชาว่า

"หากวันนี้องคุลีมาลได้กลับใจ ปลงผมและหนวด ถือเพศบรรพชิต
ฉันอาหารมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มหาบพิตรจักทำอย่างไรกับเขา ?"


พระราชาทูลตอบว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไหว้และบำรุงเขาอย่างสมณะ
แต่องคุลีมาลเป็นคนทุศีล คนอย่างนั้นจะหาความสำรวมที่ไหนได้"

พระพุทธองค์ทรงชี้ไปทางพระองคุลีมาล แล้วตรัสบอกว่า
นั่นอย่างไรองคุลีมาล ฝ่ายพระราชาและทหารต่างสะดุ้งหวาดกลัว
พระพุทธองค์ทรงรับสั่งว่า อย่ากลัวเลย องคุลีมาลไม่เป็นภัยแก่ใครๆ อีกแล้ว

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นักที่พระองค์มิได้ใช้พระอาญา
ไม่ทรงใช้ศาตราวุธ แต่ทรงทรมานบุคคลอันใครๆทรมานไม่ได้
ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ยังให้สงบไม่ได้ให้สงบได้
ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ดับไม่ได้ให้ดับได้"


พระองคุลีมาลนั้น ภายหลังที่ได้บรรพชาแล้ว
ก็ได้รับทุกข์มากมาย อาทิ การถูกฉีกผ้าสังฆาฏิ การถูกติเตียน
การถูกขว้างด้วยก้อนหินเวลาออกภิกขาจารบ้าง ฯลฯ
อันเป็นกรรมที่เกิดแต่ตนทำไว้เองในสมัยเป็นปุถุชน

หลังจากบำเพ็ญเพียร ในที่สุดพระองคุลีมาลก็ได้มรรคผลนิพพาน

:b48: :b48:

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “พระเจ้าปเสนทิโกศล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50277

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/18/entry-2
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-05.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2012, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๕
ความตั้งมั่นในสมาธิ คือ ความสงบระงับพระทัย
ทรงมีชัยเหนือนางจิญจมาณวิกาที่กล่าวเท็จให้ร้าย


รูปภาพ

กัต๎วานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา,....จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ,
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,........ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา
ผู้ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพราะทำไม้มีสัณฐานอันกลมให้เป็นประดุจมีท้อง
ด้วยวิธีสมาธิอันงามคือความระงับพระหฤทัยในท่ามกลางหมู่ชน
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น,

-----

บทนี้กล่าวถึงเรื่องราวในพระพุืทธประวัติ เหตุเกิดในพรรษาที่ ๗
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงถูกนางสาวิกาของพวกเดียรถีย์สร้างความเท็จ
มาใส่ร้ายว่า พระพุทธเจ้าเป็นสามีนาง แท้จริงพระพุทธองค์นั้นหาได้เว้นกามจริงๆไม่
นางแกล้งเอาไม้มาทำเป็นสัณฐานประดุจสตรีตั้งครรภ์ให้คนเข้าใจผิด
พระพุทธองค์ทรงตั้งอยู่ในพระอาการที่สงบระงับ สันติ
จนสุดท้ายความจริงก็ปรากฏว่า
นางจิญจมาณวิกาพูดเท็จให้ร้ายและถูกธรณีสูบ


ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงออกประกาศหลักธรรมนั้น
มีผู้เลื่อมใสศรัทธา กุลบุตรต่างพากันออกบวช
ประพฤติพรหมจรรย์ตามเป็นจำนวนมาก
ชื่อเสียงของพระพุทธองค์ขจรไปไกลในทุกทิศ
ด้วยพระจริยาและคำสอนที่มีปาฏิหารย์
คือ คำสอนที่เมื่อปฏิบัติตามแล้วเห็นผลจริงด้วยตัวเอง

เมื่อพระพุทธองค์มีผู้ศรัทธามากมหาศาลนั้น
ย่อมมีผลต่อบรรดานักบวชลัทธิอื่นและเดียรถีย์ทั้งหลาย
ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีแต่เสื่อมลาภสักการะไปเป็นอันมาก
เพราะมหาชนได้หันมาให้ความเลื่อมใสพระทศพล
ผู้ทรงจริยาวัตรงดงาม พระสุรเสียงไพเราะ
และเป็นผู้แสดงธรรมเพื่อดับทุกข์แทน

ยังผลให้มีเดียรถีย์กลุ่มหนึ่ง คิดหาทางทำลายชื่อเสียงพระพุทธเจ้า
โดยให้นางจิญจมาณวิกา ผู้เป็นปริพาชิกา คือ ผู้อยู่นอกพุทธศาสนา
รับอุบายจากพวกเดียรถีย์แล้ว
ก็แต่งกายสวยงาม และแสร้งทำมารยาให้คนทั่วไปเข้าใจผิด
ว่านางมีพฤติการณ์ซ่อนเร้นบางอย่างกับพระพุทธองค์

นางจิญจมาณวิกา เป็นหญิงงามดุจนางอัปสรสวรรค์
มีเล่ห์เหลี่ยมมารยามาก เมื่อตกยามเย็น นางแต่งกายด้วยอาภรณ์หรูหรา
ถือของหอมและทำทีเดินเข้าพระเชตวันมหาวิหาร
โดยจะเดินสวนทางกับบรรดามหาชนที่มาเฝ้าพระพุทธองค์
ขณะที่มหาชนออกจากพระวิหารเพื่อกลับสู่บ้านเรือนของตน
นางจิญจมาณวิกากลับเดินสวนทางเข้าไปในพระวิหาร
แท้จริงแล้วนางไปแอบซ่อนในวัดของพวกเดียรถีย์ใกล้พระเชตวันมหาวิหารนั่นเอง

เมื่อมหาชนเห็นผิดวิสัยที่นางเดินสวนเข้าพระวิหารในเวลาที่พวกตนมักกลับบ้าน
จึงถามว่า นางจักไปที่ใด ?
นางจิญจมาณวิกา จะแสร้างตอบเป็นปริศนาว่า
ท่านจะรู้ไปทำไมว่าข้าฯ ไปที่ใด ?

ในยามเช้าก็เช่นกัน นางไปซ่อนตัวในพระเชตวันมหาวิหาร
เมื่อมหาชนจะมาเฝ้าพระบรมศาสดา
นางก็แสร้งเดินกลับออกมาจากพระมหาวิหารสวนกับบรรดาสาธุชนที่เดินเข้าไป
เพื่อให้ผู้คนพากันเข้าใจว่า นางค้างคืนในพระเชตวันมหาวิหารนั่นเอง

เมื่อมีผู้ถามอีกว่า นางพักที่ใดมา ?
นางจิญจมาณวิกาก็แสร้างตอบเป็นนัยว่า
ท่านจะรู้ไปไยว่าข้าพักที่ใดมา ?

นางแสร้งอดทนตอบอยู่เช่นนี้ประมาณ ๑-๒ เดือน
หลังจากนั้นเพื่อมีผู้คนถาม นางก็จะตอบว่า
"พักอยู่คันธกุฎีเดียวกับพระสมณโคดม"

พฤติการณ์ของนางจิญจมาณวิกาและคำตอบที่นางตอบนั้น
ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูขึ้นทุกวัน
บ้างว่านางพูดไม่จริง แต่บ้างเริ่มเอนเอียงว่า หรือนางจะพูดจริง ?

รูปภาพ

จนเวลาผ่านไปถึง ๓-๔ เดือน การวิพากษ์วิจารณ์ก็มากขึ้น
นางก็เอาไม้สัณฐานคล้ายครรภ์ของสตรีใช้ผ้าพันไว้รอบท้อง
มองภายนอก นางดุเหมือนคนตั้งครรภ์จริงๆ
เมื่อครรภ์แก่ขึ้น นางใช้ไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้ดูบวมโต
เหมือนหนึ่งสตรีมีครรภ์แก่จริงๆ

จนในที่สุด วันหนึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมต่อนห้าสาธุชนในพระวิหาร
นางจิญจมาณวิกาก็ไปยืนต่อหน้าพระพักตร์ ชี้หน้ากล่าวใส่พระพุทธองค์ว่า

"พระสมณะ พระองค์อย่ามัวแต่แสดงธรรมอยู่เลย
บัดนี้ครรภ์ของหม่อมฉันครบกำหนดใกล้จะคลอดแล้ว
ขอพระองค์จงช่วยจัดหาสถานที่คลอดลูกแก่หม่อมฉันด้วยเถิด
หากพรองค์ไม่ทำเองก็ตรัสบอกพระเจ้าโกศล
หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือนางวิสาขา ให้จัดสถานที่คลอดแก่หม่อมฉันด้วยเถิด"


พระพุทธองค์ทรงหยุดแสดงธรรมและอยู่ในพระอาการสงบนิ่ง
มหาชนที่ศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธองค์ก็นิ่งอยู่
ส่วนบรรดามหาชนที่ศรัทธายังไม่แก่กล้าก็เริ่มหวั่นไหว

ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสตอบว่า

"น้องหญิง...คำที่เจ้ากล่าวมานั้น จะจริงหรือไม่ เราและเจ้าเท่านั้นย่อมรู้อยู่"

นางจิณจมาณวิกายังย้อนบริภาษพระพุทธองค์อีกว่า

"รู้กันสองคน ก็ใช่สิ ก็เราทำกันสองคนเท่านั้นนี่"

ในบัดนั้น...บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชก็เกิดร้อนขึ้นมา
จึงได้ตรวจดูว่ามีเหตุอันใดเกิดขึ้น จึงพบว่า
นางจิญจมาณวิกากำลังกล่าวใส่ร้ายพระพุทธองค์
ท้าวสักกเทวราชจึงได้เสด็จมาพร้อมเทวบุคร ๔ องค์
ทรงรับสั่งให้เทวบุตรแปลงร่างเป็นหนู เข้าไปกัดเชือก
ที่นางจิญจมาณวิกาใช้รัดไม้ติดกับหน้าท้องอยู่ให้ขาด
ไม้จึงหล่นลงมาถูกหลังเท้าของนางแตก
มหาชนเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นจึงรู้ว่า ที่แท้นางใส่ร้ายพระพุทธองค์
มหาชนถึงกับเข้ารุมทุบตีและขับไล่นางออกจากพระวิหารด้วยความโกรธ

นางด้นรนหนีออกไปจากพระวิหาร แต่ยังไปได้ไม่ไกล
ธรณีก็แยกออก สูบนางลงสู่อเวจี

นางจิญจมาณวิกานั้น หาได้ปองร้ายพระพุทธองค์เพียงในชาตินี้ไม่
นางเคยปองร้ายพระพุทธเจ้ามาแล้วในกาลก่อน
เพราะนางจิญจมาณวิกาก็คือ นางอมิตตดา ภรรยาของชูชก
ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรนั่นเอง


อีกทั้งแม้ในกาลก่อนๆ นี้
นางก็เคยให้ร้ายพระพุทธองค์สมัยเป็นพระโพธิสัตว์มาเช่นกัน

รูปภาพ

รูปภาพ

:b44: :b44:

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “นางจิญจมาณวิกา”
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7415

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/19/entry-1
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-06.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2012, 10:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๖
ทรงมีชัยเหนือพวกสัจจกนิครนถ์ด้วยพระปัญญาบารมี

รูปภาพ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะ กะวาทะเกตุง,....วาทาภิโรปิตะ มะนัง อะติอันธะภูตัง,
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิต๎วา มุนินโท,.......ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี รุ่งเรืองแล้วด้วยประทีปคือปัญญา ได้ชนะสัจจกนิครนถ์
ผู้มีอัชฌาสัยในที่จะสละเสียซึ่งความสัตย์ มีใจในที่จะยกถ้อยคำของตนให้สูง
ดุจยกธง เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก ด้วยเทศนาญาณวิธีคือรู้อัชฌาสัยแล้วตรัสเทศนา
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

----

สัจจกนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์
ยกย่องคำพูดตนเสมือนหนึ่งยกธงว่าเป็นผู้มืดมัวเมาฉะนั้น
พระจอมมุนีทรงเอาชนะด้วยพระปัญญาหยั่งรู้นิสัย
แล้วทรงประทานธรรมเทศนาที่เหมาะสม


ครั้งพุทธกาลมีศาสนาหนึ่งที่รุ่งเรือง ได้รับศรัทธาเป็นจำนวนมาก
คือ ศาสนาเชน มี "มหาวีระ" หรือ "นิครนถ์นาฏบุตร" เป็นศาสดา
นักบวชในศาสนานี้เรียกว่า นิครนถ์

ในเมืองเวสาลี (ไพศาลี) มีอาจารย์นิครนถ์หญิง ๑ คน และอาจารย์นิครนถ์ชาย ๑ คน
ต่างร่ำเรียนวาทะกันมาคนะ ๕๐๐ ต่างสามารถโต้วาทะักันได้อย่างเฉียบคม
หาผู้เพ้หรือชนะไม่ได้ กษัตริย์ลิจฉวีจึงเชิญทั้งสองเป็นอาจารย์สอนพระราชกุมาร

ต่อมาอาจารย์นิครนถ์ทั้งสองนี้ได้อยู่ร่วมกัน
และมีบุตรชาย ๑ บุตรธิดา ๔
บุตรธิดานั้นเป็นบัณฑิต เคยโต้วาทะกับพระสารีบุตรและพ่ายแพ้
ได้ขอบวชในพระพุทธศาสนาและสำเร็จมรรคผลกันหมดสิ้น
แต่ฝ่ายบุตรชาย คือ สัจจกนิครนถ์ นั้น เป็นผู้มีความรู้มาก
เรียนวาทะ ๑,๐๐๐ จากบิดามารดา และยังได้ไปร่ำเรียนในสำนักอื่นอีก
ในสมัยนั้นมีนิครนถ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน
เช่น ปูรณกัสสปนิครนถ์ มัขลิโคสาลนิครนถ์ อชิตเกสกัมพลนิครนถ์
ปกุทธะกัจจายนะนิครนถ์ สัญชัยนิครนถ์ เวลัฏฐบุตรนิครนถ์ เป็นต้น
แต่ผู้มีปัญญาแหลมคม ไหวพริบเป็นเลิศที่สุด คือ สัจจกนิครนถ์

สัจจนิครนถ์นั้นหลงตนเองมากด้วยสำคัญว่าตนมีปัญญามาก
ถึงขนาดเอาแผ่นเหล็กมารัดท้องกลัวว่าความรู้ที่อยู่ภายในจะทำให้ตนท้องแตก
ด้วยความทะนงตนนั้น สัจจกนิครนถ์ประกาศตัวว่า
ในเมืองเวสาลีนี้ไม่มีผู้ใด ไม่มีสมณะใด ไม่มีพระอรหันต์องค์ใด
จะสามารถโต้ตอบปัญหากับตนได้

ด้วยความชอบโต้ตอบโต้เถียงชิงไหวชิงพริบของสัจจกนิครนถ์
วันหนึ่งได้พบพระอัสสชิเถระ พระสาวกของพระพุทธเจ้า
ก็ได้เข้าไปแสดงวาทะ

สัจจกนิครนถ์ "ท่านบวชในศาสนาของพระสมณโคดมด้วยเหตุผลอันใดเล่า"

พระอัสสชิ "อาตมาออกบรรพชาเพื่อประโยชน์ในมรรคผลนิพพาน"

สัจจกนิครนถ์ "หลักคำสอนของพระสมณโคดมว่าอย่างไรเล่า"

พระอัสสชิ "พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องขันธ์ ๕
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน)

สัจจกนิครนถ์ "พระสมณโคดมมีหลักคำสอนเช่นนี้เองรึ
เห็นทีเราจักต้องเป็นผู้ปลดเปลื้องความเห็นผิดให้กับพระสมณโคดมเสียแล้วกระมัง"

สัจจกนิครนถ์มีความเห็นตรงกันข้าม
จึงประกาศว่าจะเอาชนะพระพุทธเจ้าด้วยวาทะ
แล้วจึงได้พาศิษย์ซึ่งเป็นพวกเจ้าลิจฉวีไปด้วยอีก ๕๐๐
เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่ามหาวัน

ครานั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าสู่มหากรุณาสมาบัติ
แผ่ข่ายสัพพัญญุตญาณ (พระปรีชาญาณหยั่งรู้ อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
เล็งเห็นอุปนิสัย แห่งสัจจกนิครนถ์ จักประกอบด้วย
ปัญญาสมบัติอันยิ่งยวดในอนาคตชาติ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์
ทรงมีพระดำริจักเสด็จโปรดสัจจกนิครนถ์ในวันรุ่งขึ้น

ครั้นอรุณรุ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมภิกษุสาวกเข้าสู่กรุงไพศาลี
เสด็จประทับ ณ กูฏาคารศาลา กลางป่ามหาวัน

บ่ายคล้อยนั้น สัจจกนิครนถ์พร้อมสานุศิษย์กว่า ๕๐๐ คน
เดินทางเข้าป่ามหาวันมุ่งตรงยังกูฏาคารศาลา
อันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า

สัจจกนิครนถ์เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์แล้ว
ด้วยความหยิ่งผยองลำพองตนก็
หาได้ทำการอภิวาทพระองค์ไม่ แล้วทูลว่า

"ข้าพเจ้าได้ยินกิตติศัพท์ความล้ำเลิศทาง
ปัญญาของท่านขจรขจายทั่วกรุงไพศาลี
ในกาลนี้ข้าพเจ้าจะขอซักถามว่าท่านแนะนำ
สั่งสอนสาวกด้วยหลักคำสอนใด"


พระพุทธองค์ตรัสตอบ

"ดูกร...สัจจกนิครนถ์ เราแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายว่า
ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
(การรับรู้ทางอายตนะ ๖) เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
(ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน)"


สัจจกนิครนถ์

"เป็นเช่นนั้นรึ...สมณะ หากบรรดาพืชพันธุ์ต่างๆ
ยังคงต้องอาศัย ผืนแผ่นดินในการเจริญงอกงามฉันใด
บุคคลก็จักต้องอาศัยรูปที่เป็นตัวตนนี้ประกอบกรรมดี-ชั่วฉันนั้น
หากท่านกล่าวว่า ขันธ์ ๕ อันมี รูป เป็นต้น ไม่มี
ตัวตน (อนัตตา) แล้วบุคคลจักประสบบุญ-บาป ได้อย่างไรเล่า ?"


พระผู้มีพระภาค

"ดูกร...สัจจกนิครนถ์ ท่านกล่าวว่า
ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนของท่านใช่หรือไม่ ?"


สัจจกนิครนถ์

"ใช่ ข้าพเจ้ายืนยันและเชื่อเช่นนั้นว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวตนของเรา (อัตตา)"


พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

"ดูก่อน อัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นเราจักสอบถามท่านว่า
พระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าอชาตศัตรู อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า
เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้คุณให้โทษบุคคล
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ใช่หรือไม่้ ?"


สัจจกนิครนถ์ตอบว่า

"ใช่แล้วพระโคดม อย่าว่าแต่พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรูเลย
แม้วัชชีและมัลละ ก็อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า
อาจเนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในแว่นแคว้นของตนได้เช่นกัน"


พระพุทธองค์ตรัสต่อ

"ดูก่อน อัคคิเวสนะ แล้วเช่นนั้นจะกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร
หากรูปเป็นของเรา เราก็ต้องกำหนดเองได้ไม่ใช่หรือ ?"


พระพุทธองค์ทรงตรัสถามซ้ำ
แต่นิครนถ์ก็นิ่งเฉยอยู่ จึงทรงตรัสว่า

"ดูก่อน อัคคิเวสนะ (ในอรรถกถา พระพุทธเจ้าทรงเรียกสัจจกนิครนถ์ว่า อัคคิเวสนะ)
บัดนี้ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่งอยู่ ท่านรู้หรือไม่ว่า ผู้ใดอันตถาคตถามแล้ว
ด้วยคำถามอันชอบถึง ๓ ครั้งแล้วมิได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง"


สัจจนิครนถ์ได้ฟังก็กลัวจนขนลุก เหงื่อกาฬแตก
รีบทูลพระพุทธองค์ว่า

"พระโคดมผู้เจริญ ท่านถามต่อเถิด ข้าพเจ้าจักแก้บัดนี้"

พระผู้มีพระภาค

"หากท่านยืนยันดังคำที่กล่าว เราขอถามท่านว่า

๑. ท่านมีอำนาจสั่งการ รูป ว่าอย่าได้ป่วยชราได้หรือไม่ ?
๒. ท่านมีอำนาจสั่งการ เวทนา ว่าอย่าได้มีความรู้สึกใดๆ ได้หรือไม่ ?
๓. ท่านมีอำนาจสั่งการ สัญญา ว่าอย่าจำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้หรือไม่ ?
๔. ท่านมีอำนาจสั่งการ สังขาร ว่าอย่าได้ปรุงแต่งความคิดได้หรือไม่ ?
๕. ท่านมีอำนาจสั่งการ วิญญาณ
ว่าอย่าได้รับรู้การสัมผัสจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้หรือไม่ ?"


สัจจกนิครนถ์ตอบได้แต่ "มิใช่เลย พระโคดมผู้เจริญ"

พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อ

"ดูก่อน..อัคคิเวสนะ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนอยู่
ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ?"


สัจจกนิครนถ์ "ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ"

พระพุทธเจ้า "ดูก่อน อัคคิเวสนะ ผู้ใดติดทุกข์
เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว
ยังเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของเรา มีอยู่หรือ ?"


สัจจกนิครนถ์ "ไม่มีเลย พระโคดม"

พระพุทธเจ้า "ดูก่อน อัคคิวสนะ เมื่อเป็นอย่างนั้น
ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา
เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ?"


สัจจกนิครนถ์ "มิใช่เลย พระโคดมผู้เจริญ"

พระพุทธเจ้า

"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ บุรุษต้องการแก่นไม้ ถือเอามีดคมไปสู่ป่า
เขาไปตัดฟันต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่ง เขาก็ไม่พบแม้แต่กระพี้และแก่นฉันใด
ดูก่อน..อัคคิเวสสนะ ท่านผู้เราซักไซร้ไล่เรียง
ก็ว่างเปล่าในถ้อยคำของตนเองเหมือนต้นกล้วยฉะนั้น"

"่ท่านกล่าววาจาในที่ชุมชนเมืองเวสาลี ว่าไม่มีสมณะ
พราหมณ์ คณาจารย์หรือแม้แต่พระอรหันตสัมมามัมพุทธเจ้าพระองค์ใด
ที่โต้ตอบกับท่านได้โดยไม่เกดอาการประหม่าหวั่นไหว
ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียว"

"ดูก่อน...อัคคิวสสนะ บัดนี้หยาดเหงื่อของท่าน
หยาดหยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่ม แล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อของเราหามีไม่"


สัจจกนิครนถ์น้อมรับในพระพุทธปัญญาโดยดุษฎี
พร้อมกับได้ทูลเชิญเสด็จไปรับภัตตาหารที่อารามของตนในวันรุ่งขึ้น

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการสงบ
สัจจกนิครนถ์จึงทูลลาพระพุทธองค์
และค่ำนั้นสัจจกนิครนถ์ก็เร่งตกแต่งอาสนะอย่างประณีต
เพื่อถวายการต้อนรับพระพุทธองค์และหมู่สงฆ์สาวกในวันรุ่งขึ้น

ครั้นรุ่งอรุณ พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวก
เสด็จยังอารามแห่งสัจจกนิครนถ์ แล้วสถิตบนอาสนะอันประณีตนั้น
สัจจกนิครนถ์ถวายภัตตาหาร แล้วนั่งในที่อันควร
ครั้นพระพุทธองค์เสร็จภัตตากิจแล้ว จึงตรัสต่อสัจจกนิครนถ์ว่า

"ดูกร...สัจจกนิครนถ์ บุญกุศลที่ท่านได้บำเพ็ญใน
ภพนี้ จักไม่สูญหายไปพร้อมกับ การดับของจิต
เพราะจิตดวงใหม่มีเหตุมีปัจจัยมาจากจิตดวงเดิม
เพื่อสืบต่อบุญที่ท่านสั่งสมไว้ ไปจนกว่าจะนิพพาน"


:b47: :b47:

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/20/entry-1
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-07.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2012, 16:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๗
อิทธิฤทธิ์เผด็จนันโทปนันทนาคราช

รูปภาพ

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุทธัง มะหิทธิง,..ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต,
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท,............ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี โปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส นิรมิตกายเป็นนาคราช
ไปทรมานพญานาคราช ชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก
ด้วยวิธีอันให้อุปเท่ห์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่่าน
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

----

นันโทปนันทนาคราช เป็นพญานาคมีกำลังมีฤทธิ์มาก
ได้เห็นพระพุทธองค์และพระสาวกเสด็จผ่านวิมานของตนไปยังเทวโลก
ก็เกิดโทสะว่า พระสมณะทั้งหลายเหาะข้ามศีรษะตน
จึงได้แสดงฤทธิ์เดชอย่างมากมาย
พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้พระอัครสาวกผู้มีฤทธิ์มาก คือ พระโมคคัลลานะ
ทำการทรมานพญานาคด้วยฤทธิ์จนมีชัยชนะ
ด้วยพระองค์ทรงหยั่งรู้ด้วยพระญาณว่า พญานาคมีอุปนิสัยบรรลุธรรม


ในสมัยหนึ่ง อนาถบิณฑิกคฤหบดีฟังพระธรรมเทศนา
แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันพรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป
ทรงรับภิกษาในเรือนข้าพระองค์เถิด" แล้วกลับไป

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ทรงใช้เวลากลางวันของวันนั้น
อีกทั้งส่วนราตรีกาลให้ล่วงไปด้วยพุทธกิจอื่นๆ แล้ว
ถึงใกล้รุ่งจึงทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ

ครั้งนั้นนันโทปนันทนาคราชาสู่คลองพุทธจักษุ
ในทางแห่งพระญาณของพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคำนึกดูว่า
"นาคราชผู้นี้มาสู่คลองในทางแห่งญาณของเรา
อุปนิสัยของเขามีอยู่หรือนาค"
ก็ทรงเห็นว่า "นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฐิไม่เสื่อมใสในพระไตรรัตน์"
จึงทรงรำพึงต่อไปว่า "ใครเล่าหนอ จะพึงเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฐิได้"
ก็ได้ทรงเห็นพระมหาโมคคัลลานเถระ (ว่าจะสามารถทำอย่างนั้นได้)


ต่อนั้น ครั้นราตรีรุ่งสว่างทรงชำระพระกายแล้ว
จึงตรัสเรียกท่านอานนท์ว่า
"อานนท์ เธอจงบอกแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปว่า
ตถาคตจะไปจาริกในเทวโลก"


พอดีวันนั้น พวกนาคราชได้จัดแต่งที่กินเลี้ยงสำหรับนันโทปนันทนาคราช
นาคราชนั้นมีเศวตรฉัตรทิพย์กั้น มีเหล่าระบำ ๓ พวก และนาคบริษัทแวดล้อม
นั่งชิมข้าวน้ำต่างๆ ที่เขาจัดลงในภาชนะทิพย์ทั้งหลายอยู่บนรัตนบัลลังก์ทิพย์
บรรยากาศเบิกบานใจ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอย่างที่นาคราชมองเห็น
เสด็จมุ่งไปดาวดึงส์เทวโลกพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป
ผ่านไปทางเบื้องบนเพดานของนาคราชนั้นทีเดียว

ก็แลสมัยนั้น ความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่นันโทปนันทนาคราชว่า
"ชิชะ พวกสมณะหัวโล้นนี่ เข้าๆ ออกๆ ภพดาวดึงส์ของพวกเทวดา
โดยทำอำนาจเหนือพวกเราทุกทีไป ทีนี้ข้าฯ จะต้องไม่ให้สมณะพวกนี้
โปรยละอองตีนลงบนหัวพวกเราได้อีกต่อไปละ"


ว่าแล้วก็ลุกจากบัลลังก์ไปยังเชิงเขาสิเนรุ
ละอัตภาพนั้น แล้วเนรมิตกายเป็นนาคใหญ่พิลึก
พันโอบเขาสิเนรุสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ด้วยขนด ๗ รอบ
ทำดังพานขึ้นเบื้องบนเขาสิเนรุ
แล้วกุมเอาภพดาวดึงส์ไว้ด้วยพังพานอันคว่ำลง
ถึงกับมองไม่เห็นภพดาวดึงส์

ครั้งนั้น ท่านรัฏฐปาลภิกขุเห็นผิดปกติ
จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนข้าพระองค์ยืน ณ ที่ตรงนี้
ย่อมมองเห็นเขาสิเนรุ เห็นบริภัณฑ์เขาที่ล้อมรอบเขาสิเนรุ
เห็นภพดาวดึงส์ เห็นปราสาทไพชยนต์
เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์,
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ
อะไรหนอเป็นปัจจัย บัดเดี๋ยวนี้ข้าพระองค์มองไม่เห็นเขาสิเนรุ ฯลฯ
ไม่เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า
"ดูกร รัฏฐปาล นี่คือนาคราชชื่อนันโทปนันทะ
ขัดเคืองท่านทั้งหลาย พันโอบเขาสิเนรุด้วยขนดถึง ๗ รอบ
แล้วบังข้างบนเสียด้วยพังพาน (จึง) ทำให้มืดอยู่"


ท่านรัฏฐปาลภิกขุกราบทูลอาสาว่าจะทรมานนาคราชนั้น
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต
ลำดับนั้นภิกษุทั้งปวงเช่นท่านภัททิยะ ท่านราหุลเป็นต้นลุกขึ้น
ทูลอาสาโดยลำดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็หาทรงอนุญาตไม่

ในที่สุด พระมหาโมคคัลลานเถระกราบทูลอาสาว่า
"ข้าพระองค์ขอทรมานเอง"
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า "ทรมานเถิด โมคคัลลานะ"


พระเถระก็ละอัตภาพอย่างมนุษย์เสียแล้วเนรมิตเป็นเพศนาคราช
ขนาดใหญ่กว่านันโทปนันทนาคราชสองเท่า
พันโอบนันโทปนันทะไว้ด้วยขนดถึง ๑๔ รอบ
ตั้งพังพานของตนไว้เหนือพังพานนันโทปนันทะนั้นแล้วบีบรัดเข้ากับเขาสิเนรุ
นาคราชจึงได้หวนควันขึ้นหมายรมพระเถระ ฝ่ายพระเถระจึงว่า

"มิใช่ควันจะมีอยู่แต่ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว
ของข้าฯ ก็มีเหมือนกัน"

แล้วนาคราชพระเถระก็บังหวนควันขึ้น
ควันของนาคราชไม่ทำอะไรพระเถระได้
แต่ควันของพระเถระมีผลแก่นาคราช

ลำดับนั้นนาคราชบันดลไฟขึ้นลนพระเถระ ฝ่ายพระเถระจึงว่า

"มิใช่ไฟจะมีอยู่แต่ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว
ของข้าฯ ก็มีเหมือนกัน"

แล้วบันดลไฟขึ้นบ้าง ไฟของนาคราชไม่ทำพระเถระให้ลำบาก
แต่ไฟของเถระทำนาคราชให้ลำบาก นาคราชคิดว่า

"คนผู้นี้บีบรัดเราเข้ากันเขาสิเนรุไว้แล้ว
ทั้งบังหวนควัน ทั้งบันดลไฟเอาทำเราให้ลำบาก"
(เพราะพระเถระแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่านาคราชมาก)

นาคราชจึงคิดแสร้งพูดจาด้วยโดยดีให้ตายใจ
โดยแสร้งถามขึ้นว่า "พ่อคุณ ท่านเป็นใคร"
พระเถระบอกว่า "เราคือโมคคัลลานะ อย่างไรละนันทะ"

นาคราชถามว่า "ท่านเป็นสมณะ เหตุใดจึงมาทำร้ายเรา ?"

พระเถระตอบว่า

"เราทรมานท่านเพื่อให้ท่านละมิจฉาทิฏฐิ
ให้รู้คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้คุณบิดามารดา
ตัวท่านนั้นไม่สมควรจะมาสำแดงความโกรธต่อพระพุทธองค์
เพราะต่อให้ละอองพระบาทของพระพุทธองค์
จะตกลงต้องศีรษะท่านก็เป็นมงคล หาอัปมงคลไม่"


นาคราชจึงลวงว่า
"พระคุณท่านเจ้าข้า ขอพระคุณท่านโปรดดำรงความเป็นภิกษุตามเดิมเถิด"

พระเถระก็ละอัตภาพนาคนั้นเสีย
แล้วเนรมิตเป็นอัตภาพอันละเอียดเข้าทางช่องหูขวาของนาคราชนั้น
แล้วออกทางช่องหูซ้าย เข้าทางช่องหูซ้ายออกทางช่องหูขวา
โดยนัยเดียวกันนั้นเข้าทางช่องจมูกขวาออกทางช่องจมูกซ้าย
เข้าทางช่องจมูกซ้ายออกทางช่องจมูกขวา
พอนาคราชอ้าปากขึ้น พระเถระก็เข้าทางปาก
เดินจงกรมไปทางตะวันออกและทางตะวันตก อยู่ภายในท้องของนาคราช

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนว่า
"โมคคัลลานะ จงใส่ใจไว้นะว่านาคนั้นมีฤทธิ์มาก"

พระเถระ (อยู่ในท้องนาค) กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์ได้เจริญทำให้มากทำให้เป็นดุจยานที่เทียมแล้ว
ทำให้เป็นดุจของใช้ที่จัดเตรียมไว้ เฝ้าตั้งไว้มิให้เสื่อม ช่ำชองทำได้ทันที
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่าว่าแต่นันโทปนันทะ (ผู้เดียวเลย)
ข้าพระองค์จะพึงทรมานนาคราชเช่นนันโทปนันทะนี้ตั้งร้อยตั้งพันตั้งแสนก็ได้"


ฝ่ายนาคราชคิดแค้นว่า

"เมื่อเข้าไป ข้าฯ ไม่ทันเห็นก็ช่างก่อนเถิด เวลาออกมาทีนี้ละ
ข้าฯ จะต้องยัดแกเข้าซอกเขี้ยวขบ (กิน) เสียจงได้"


จึงแสร้งพูดอ้อนวอนว่า

"นิมนต์ออกมาเถิดเจ้าข้า
โปรดอย่าเดินไปมาอยู่ในท้องทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย"


พระเถระก็ออกมายืนอยู่ข้างนอก
นาคราชพอเห็นว่านี้คือท่านพระเถระ ก็ปล่อยลมนาสวาต
คือพ่นลมออกทางจมูกอย่างแรง ลมนี้แม้โดนต้นไม้ใหญ่ก็จะหักโค่น
แต่พระเถระเข้าจตุตถฌานได้ทันที ลมนั้นไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนของท่านให้ไหว
นัยว่า ภิกษุนอกนั้นพึงอาจทำปาฏิหาริย์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นมาได้
แต่ถึงฐานะ กรณีปล่อยลมนาสวาตนี้เข้า
จักไม่อาจเข้าสมาบัติเป็นขิปปนิสันติ (เข้าได้ฉับพลัน) อย่างนั้น
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตการทรมานนาคราชแก่ภิกษุเหล่านั้น

นาคราชคิดท้อใจว่า "เราไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนของสมณะผู้นี้
ให้ไหวได้ด้วยลมนาสวาต สมณะนี้นี่มีฤทธิ์มากนะ"


เมื่อนาคราชเห็นว่าตนสู้ไม่ได้ก็กลัวหนีไป
พระเถระจึงละอัตภาพนั้นแปลงเป็นรูปครุฑ แสดงสุบรรณวาต
(ลมปีกครุฑ คือกระพือปีกทำให้เกิดลมอย่างแรงขึ้น) ติดตามนาคราช
นาคราชนั้นแปลงเป็นสัตว์น้อยบ้าง ใหญ่บ้างเพื่อหนีแต่ก็หนีไม่พ้น
เมื่อนาคราชเห็นว่าจะหนีไม้พ้น จึงละอัตภาพนั้นเสียแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพ
กล่าวขึ้นว่า "พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึง"
พลางกราบเท้าพระเถระ พระเถระเห็นนาคหมดพยศจึงว่า
"นันทะ เราเป็นพระสาวกของพระพฃผู้พระภาคเจ้า
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา
เพราะฉะนั้นเจ้าจงไปยังสำนักของพระองค์และถึงพระองค์เป็นที่พึ่งสูงสุดเถิด"


พระมหาโมคคัลลานะทรมานนาคราชทำให้หมดพิษแล้ว
ก็พาไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
นาคราชบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ของถึงพระองค์เป็นที่พึ่ง
ข้าพเจ้านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นพาล มิได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ
ขอพระองค์ได้โปรดอโหสิแก่กรรมที่ข้าพเจ้าทำพลั้งพลาด
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไปจนตราบชีวิตหาไม่"


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ประทานพร) ว่า
"สุขี โหหิ นาคราช = จงเป็นสุขเถิด นาคราช"
แล้วมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จไปสู่นิเวสน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดี
อนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลถามว่า
"ไฉนจึงได้เสด็จมาถึงจนสาย พระเจ้าข้า"

ทรงตรัส (เล่า) ว่า "โมคคัลลานะกับนันโทปนันทนาราชเกิดสงครามกันขึ้น"
กราบทูลถามว่า "ใครชนะ ใครแพ้ พระเจ้าข้า "

ตรัสบอกว่า "โมคคัลลานะชนะ นันโทปนันทะแพ้"

อนาถบิณฑิกะทราบดังนั้นแล้วจึงกราบทูลนิมนต์ถวายภัตตาหาร
แด่พระพุทธองค์และพระสาวกตลอด ๗ วัน
เพื่อเป็นการถวายมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

:b48: :b48:

อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/23/entry-1
http://www.luangpee.net/forum/?topic=1225.0
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-08.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2012, 17:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คาถาบทที่ ๘
เทศนาญาณแก้ความเห็นผิดของท้าวพกาพรหม

รูปภาพ

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง,.....พ๎รัห๎มัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง,
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิต๎วา มุนินโท,.......ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ


พระจอมมุนี ได้ชนะพรหมผู้มีนามว่าท้าวพกา ผู้มีฤทธิ์ มีอันสำคัญตนว่า
เป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีมืออันท้าวภุชงค์ คือทิฏฐิที่ตนถือผิด
รัดรึงไว้แน่นแฟ้นแล้ว ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษคือเทศนาญาณ
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

----

คาถาบทที่ ๘ กล่าวถึงสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับที่ป่าสุภวัน
ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงทราบปริวิตกของท้าวพกาพรหม
ผู้ที่กำลังหลงในห้วงแห่ง สัสสตทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้
ล้วนเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน จะสุขทุกข์อย่างไรก็เป็นไปตามนั้น
หาใช่ผลแห่งการสร้างบาปสร้างบุญหรือเกิดจากผลแห่งกรรมของตนแต่อย่างใด
และหลงคิดว่า พรหมนี้เที่ยงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ดับ
อันเป็นความคิดที่ผิดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
ซึ่งสอนว่าการประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่ว
ผลกรรมนั้นย่อมส่งผลให้สุขทุกข์สนองตามโอกาส ฯลฯ


ด้วยความที่พกาพรหมนั้นเสวยชาติเป็นพรหมมาอย่างยาวนานมาก
จนจดจำจุดเริ่มต้นและไม่อาจคาดจุดสิ้นสุดได้
ท้าวพกาพรหมจึงได้หลงผิดไปว่า พรหมนี้เที่ยงแท้ ไม่เกิดไม่ตาย

พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาปรารถนาจะแสดงธรรมวิโมกข์
ประทานสงเคราะห์พกาพรหมให้มีความเห็นที่ถูกต้อง
จึงแสดงปาฏิหาริย์ เสด็จพระพุทธลีลาไปสู่วิมานสถานอันเป็นที่อยู่ของพกาพรหม
ในครั้งนั้นพกาพรหมให้การต้อนรับด้วยความยินดี
กราบบังคมทูลให้เสด็จประทับ ณ พระแท่นอันวิจิตรตระการ
แต่ยังคงยืนยันความคิดของตนว่าถูกต้อง

พกาพรมหทูลพระพุทธองค์ว่า

"ดูก่อน ท่านผู้นฤทุกข์ เชิญท่านเสด็จมาสู่พรหมโลกเถิด
พรหมโลกนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา
พรหมโลกนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ
สุขกว่าพรหมโลกนี้ไม่มีอีกแล้ว"


พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสตอบว่า

"ดูกร...พรหมผู้เจริญ ท่านกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน
กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงว่าแข็งแรง
กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดาว่าไม่เคลื่อน
พรหมโลกนี้มีทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งตาย ทั้งจุติ ทั้งอุบัติ อยู่เป็นปกติ
แต่ท่านกลับกล่าวว่า พรหมโลกนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ
ดูกร...ท่านกำลังหลงอวิชชาแล้วหนอ"


ท้าวพกาพรหมกล่าวว่า

"ข้าแต่พระโคดม พวกข้ามี ๗๒ คน ล้วนได้ทำบุญมาดีแล้ว
มีอำนาจเหนือคนเหล่าอื่น ก้าวล่วงพ้นความเกิดและความแก่
การเกิดเป็นพรหมนี้ชื่อว่า ถึงพระเวทแล้ว
ข้าแต่พระโคดม การเกิดเป็นพรหมนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย
ความสุขยิ่งกว่าพรหมนี้ไม่มีอีกแล้ว"


และด้วยท้าวพกาพรมหยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่
จึงได้อวดอ้างฤทธานุภาพของตนว่าเหนือผู้ใด
และท้าทายพระพุทธองค์ว่า จะหายตัวไปในที่พระพุทธองค์หาไม่พบ
แต่ไม่ว่าไปเนรมิตกายหายตัวไปซ่อนในที่ใด
พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นตลอดว่า ท้าวพกาพรหมอยู่ที่ใด


ถึงคราพระพุทธองค์ทรงแสดงฤทธิ์บ้าง
โดยพระพุทธองค์มิได้เสด็จไปที่ใดเลย
หากแต่ไม่มีพระพรหมองค์ใดสามารถมองเห็นพระพุทธองค์เลย
ที่จริงทรงกำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรของท้าวพกาพรหมนั่นเอง
แล้วพระองค์จึงแสดงพระกายให้ปรากฏ


พระพุทธองค์ทรงแสดงกุศลกรรมแก่เหล่าพรหมว่า

"ดูก่อน พรหมผู้เจริญ เรานี้รู้อดีตของท่าน
ก่อนนี้ในกัปหนึ่ง ท่านเกิดเป็นดาบสอยู่ในทะเลทรายที่กันดาร
ได้เนรมิตน้ำให้พ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่มที่หลงทางนี้เป็นกุศลของท่าน

ก่อนนี้ท่านเป็นดาบสอาศัยอยู่ที่ชายป่า มีโจรลงมาจากเขามาปล้นชาวบ้าน
แล้วจับเอาคนจำนวนมากขึ้นไปบนเขา
ท่านแปลงกายเป็นพระราชาพร้อมกองทหาร
ขับไล่โจรไปแล้วช่วยชีวิตชาวบ้านไว้ได้นี้เป็นกุศลของท่าน

ก่อนนี้ท่านเป็นดาบสอยู่ริมฝั่งน้ำ ชาวเรือทิ้งเศษอาหารลงไปในน้ำ
ทำให้พญานาคโกรธ ขึ้นมาจะทำลายเรือ
ท่านแปลงเป็นครุฑ ขับไล่พญานาคไป ..นี้เป็นกุศลของท่าน

ดูก่อน พรหมผู้เจริญ เรารู้บุญกรรมของท่าน ดุจนอนฝันแล้วตื่นขึ้น"


พระพุทธเจ้าทรงแสดงความไม่เที่ยงต่อไปว่า

"ดูก่อน พกาพรหม ความจริงอายุของท่านนี้ไม่มากเลย
ท่านอย่าำสำคัญว่าอายุของท่านมาก
อายุของท่านนั้นเหลือเพียง ๑๐๐,๐๐๐ นิรพุทะเท่านั้น"

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่พรหมทั้งหลาย
ในที่สุดท้าวพกาพรหมและพรหมบริษัทก็อัศจรรย์ใจในธรรมานุภาพ
ละมิจฉาทิฏฐิเสียได้ ต่างได้บรรลุธรรมเบื้องต้นกันเป็นจำนวนมาก

หมายเหตุ

"กัปและนิรพุทะ" เป็นหน่วยนับเวลาของเวลาที่ยาวนานมาก

๑ นิรพุทะ มีความยาวเป็นปี ๑ (หนึ่ง) ตามด้วย ๐ (ศูนย์) อีก ๖๓ ตัว
๑ อสงไขยปี มีความยาวเป็น ๑ (หนึ่ง) ตามด้วย ๐ (ศูนย์) อีก ๑๔๐ ตัว
ส่วน กัป ยาวนานกว่านั้นอีกมาก คือ อุปมาเหมือนมีกำแพง
กว้าง สูง และยาวด้านละ ๑ โยชน์ ใส่เมล็ดผักกาดให้เต็ม
ทุก ๑๐๐ ปี จึงหยิบเมล็ดผักกาดออกเมล็ดหนึ่ง
เวลาที่ใช้หยิบเมล็ดผักกาดออกจนหมดสิ้นนี้นับเป็นกัปหนึ่ง


รูปภาพ

:b42: :b42:

เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคล อฏฺฐคาถา
โย วาจโน ทินทิเน สรเตมตนฺที
หิตฺวานเนกวิวิธานิ จุปทฺทวานิ
โมกขํ สุขํ อธิคเมยฺย นโร สปญฺโญ


แปลตามศัพท์ว่า

โย -นรชนใด

สปญฺโญ -มีปัญญา

มตนฺที -ไม่เกียจคร้าน

วาจโน -สวดก็ดี

สรเต -ระลึกก็ดี

พุทฺธชยมงฺคล อฏฺฐคาถา -ซึ่งพระพุทธชยมงคล ๘ คาถา

เอตาปิ -แม้เหล่านี้

ทินทิเน -ทุกๆ วัน

นโร -นรชน

หตฺวาน -ละเสียได้

จุปทฺทวานิ -ซึ่งอุปัทวอันตรายทั้งหลาย

อเนกวิวิธานิ -เป็นอเนกคือมิใช่อย่างเดียว

อธิคเมยฺย -พึงบรรลุ

สุขํ -ซึ่งสุข

โมกฺขํ -คือความพ้น หรือความพ้นซึ่งเป็นสุข ดั่งนี้

:b41: จบคาถา :b41:


อ้างอิงและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/01/25/entry-1
http://angkarn.siamtapco.com/book/book01-09.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2012, 15:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ความรู้เพิ่มเติมเรื่องบทสวดพาหุงฯ

นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพิ่มเติมอีกโดย อาจารย์มะเนาะ ยูเด็น
เป็นบทสวดถวายพรพระ ทำนองสรภัญญะ

เป็นบทสวดที่แปลมาจากคาถาพาหุงในภาษาบาลี ซึ่งมีอยู่แปดบท
กล่าวถึงชัยชนะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อมาร หรือเหตุการณ์ต่างๆ

ในการสวดสรภัญญะเป็นหมู่ นิยมสวดบทสวดที่หนึ่ง (ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท)
ซึ่งเป็นคำแปลโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
โดยดัดแปลงบทลงท้าย ชะยะมัง คะละลานิ มาเป็น ชะยะสิจธินิจจัง

บทที่สองถึงบทที่แปดนั้น อาจารย์มะเนาะ ยูเด็น
แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้แต่ง
ซึ่งได้แต่งไว้ในคำประพันธ์ชื่อ พาหุงคำฉันท์

๑. ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท- ธวิสุทธศาสดา
ตรัสรู้อนุตรสมา- ธิ ณ โพธิบัลลังก์
ขุนมารสหัสพหุพา- หุวิชาวิชิตขลัง
ขี่คีริเมขละประทัง คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
แสร้งเสกสราวุธประดิษฐ์ กลคิดจะรอนราน
รุมพลพหลพยุหะปาน พระสมุทรนองมา
หวังเพื่อผจญวรมุนิน- ทสุชินราชา
พระปราบพหลพยุหมา- รเมลืองมลายสูญ
ด้วยเดชะองค์พระทศพล สุวิมลไพบูลย์
ทานาทิธรรมวิธิกูล ชนน้อมมโนตาม
ด้วยเดชะสัจวจนา และนมามิองค์สาม
ขอจงนิกรพลสยาม ชยสิทธิทุกวาร
ถึงแม้จะมีอริวิเศษ พลเดชเทียมมาร
ขอไทยผจญพิชิตผลาญ อริแม้นมุนินทร

๒. ถ้วนรัตติอาฬวกยักษ์ มุหะกักขฬากร
โฆราปวาทพระชินวร หฤหรรษ์อหังการ
ยิ่งคราพระองค์ปรมพุทธ อภิยุทธ์ผจญมาร
สัมพุทธโปรดประณุทพาล อริจิตอมิตรคลาย
ทรงไขพระขันติวรธรรม วิธิคัมภิโรบาย
จิตจัณฑยักษ์มุหะมลาย กุธะฟุนละมุนลง
ด้วยเดชชเยศอภิยุท- ธพิสุทธิ์ภิเษกสรง
สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์ประสิทธิ์พลัน

๓. นาฬาคิรีพลพิลึก คชะคึกคะนองมัน
คืออัคนีประลยวัน วิยจักรารอน
เริงรุทรประดุจอสนิบาต นฤนาททิฆัมพร
โถมทวนพิถียบทจร พระสุคตเสด็จคลา
ทรงโสรจวรัมพุทกสิญ- จนะรินพระเมตตา
รื่นรส ณ คชหทยา มทะอุณห์ละมุนลง
ด้วยเดชพระเมตติยมฤต อภิสิตภิเษกสรง
สรวมพรบวรอนุตรมง- คลวัฒน์จิรัฐกาล

๔. โจรใจฉกาจทระนง กิระองคุลีมาล
ชูขรรค์ถลันถลทะยาน ระยะโยชนาตรี
อุกอำมหิตหทยะมาด จะพิฆาตพระชินสีห์
หากพุทธโกศลวิธี นิยยานการนำ
ด้วยอิทธิสังขตมโน วรโพธิญาณธรรม
พาพ้นอนันตริยกรรม ภยะร้ายสลายลง
ด้วยเดชชเยศมนมยิทธิ์ อภิสิตภิเษกสรง
สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์ประสิทธิ์ผล

๕. ปางจิญจยาปทุฐจิต กละคิดพิรากล
ก้อนกาฐะคาดอุทระตน วิยคัพภินียา
ในกลางนิกรชนะประกาศ อปวาทพระสัตถา
มวลสัตบุรุษจะสถิรา วิจิกิจฉ์ก็คิดแคลง
สัมพุทธดุษณิยสันต์ วิยะจันทร์จรัสแสง
สันตาธิวาสนแสดง ทุรุบายสลายลง
ด้วยเดชะสันตชยฤทธิ์ อภิสิตภิเษกสรง
สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์พิสิฐา

๖. เดียรัตถิย์สัจจกนิครนถ์ อธิอนธอันธา
เหิมจิตเพราะทิฐิอติมา- นะอนุตรวาที
เสียสัตย์จะทัดพระวรวากย์ ปฏิพากย์พระชินสีห์
เพียงเสาวณิตพระสวนีย์ ก็วิรัติวิวาทา
ปัญญาปทีปชวลิต พระพินิตนิคัณฐา
ฤๅรังสิขัชชุปนกา จะประจัญประภากร
ด้วยเดชชเยศพระนรสีห์ รศมีประภัสสร
สรวมสรรพพิสุทธิ์อนุตรพร ชยฤทธิ์ประสิทธิ์ผล

๗. นันโทปนันทภุชคิน- ทรหินชาติมนท์
กำแหงแสดงสทิสพล เพราะพิโรธนาวรณ์
มืดมน ณ บนอนิลบถ ธุมะจดทิฆัมพร
จึงองค์พระผู้อนธิวร วรพุทธฎีกา
พุทโธรสาอธิกฤทธิ์ ทมะทิสนาคา
ฤทธูปเทสะทมนา- คนุฤทธิ์พิชิตลง
ด้วยเดชชเยศวรฤทธิ์ อภิสิตภิเษกสรง
สรวมพรบวรอนุตรมง- คลพาสิตารมณ์

๘. พรหมมิจฉทิฐิอติมา- นะพกาภิไธยพรหม
หลงความวิสุทธิ์ชุตินิยม และมหิทธินิจจา
มิจฉาเสมือนอสิรพิษ ทฐวิส ณ หัตถา
สมเด็จบรมวรนา- ยกพาธพยาบาร
ทรงมอบมโหสถวิเศษ วรเวชอาธาร
คือองค์อนุตรติญาณ ปริวัฏตรีวง
ด้วยเดชพระญาณวรวิชช์ อภิสิตภิเษกสรง
สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์วิศิษฐา

ถ้วนอัฐมังคลชยุตม์ วรพุทธคาถา
ผู้ปรีชญาณละอลสา บริกรรมประจำกาล
จักป้องอุปัททรพเหตุ ภยเภทสลายลาญ
จักนีรทุกข์สุขพิศาล ลุวิมุตติวิสุทธิ์แล ฯ


:b46: :b46:

ที่มา : พาหุงคำฉันท์ของอาจารย์มะเนาะ ยูเด็น
http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=5111.15
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5395.0

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2015, 11:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


tongue
:b8:
:b8:
:b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร