เรื่องกรรมนี่น่ากลัว
มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งที่อาจารย์รู้จัก
เขาเป็นทุกข์ เขาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด
สามีไปทำงานที่กรุงเทพฯ มีเมียน้อย เขาก็เป็นทุกข์เป็นธรรมดา
เขาทะเลาะกับสามี ว่าสามี วันหนึ่งก็พูดรุนแรงกับสามีว่า
ฉันอยากจะตัดแขนของเมียน้อย พูดตอนเช้า
พอตอนเย็นเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำแขนตัวเองขาด
นี่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
อันนี้เราก็ต้องพยายามศึกษาจนเข้าใจว่า
เราต้องพยายามทำความดี ละความชั่ว
ตรวจตราว่า เรายังคิดชั่วไหม พูดชั่วไหม ทำชั่วไหม
พยายามละ เพราะทำชั่วได้ชั่วแน่นอน
ทีนี้เรา ก็ต้องพยายามหัด คิดดี พูดดี
ทำดี กับเขา
หัดทำอะไรตรงกันข้ามกับความรู้สึก คือตัณหา ฝืนความรู้สึกให้ได้
เขาทำอะไรให้เราไม่ถูกใจ การแสดงออก
ทั้งทางกาย วาจา จิต ของตนเองตามนิสัยเก่าก็มี
แต่ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าเราก็ต้อง ดัด .
. จริต ฝืนทำดู
คือการทวนกระแส ทวนกิเลส ทวนตัณหา
หัดคิดดี พูดดี ทำดี ดูซิเป็นอย่างไร เปรียบเทียบดู
เราต้องมีจิตใจกล้าหาญที่จะทดลองอย่างนี้
อันนี้เราก็ต้องกล้าหาญ ต้องทดลอง
ถ้าเราไม่ทดลอง ปัจจุบันอยู่อย่างไร อนาคตก็จะอยู่อย่างนั้น
ภาระมาก
!
ถ้าเราไม่ตั้งใจปฏิบัติ
เราก็อ้างเหตุผลต่างๆ อ้างภาระ อ้างสิ่งภายนอก
ว่าเป็นเหตุที่ทำให้เราปฏิบัติไม่ได้จริงจัง
.. ความจริงไม่ใช่
ใครจะอยู่ในสังคม รับผิดชอบมากขนาดไหนก็ตาม
ประชุมนี่ ประชุมนั่น ประสานนี่ ประสานนั่น
อันนี้ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะปฏิบัติจริงจังไม่ได้
อย่างนี้แหละ เรียกว่า เราขี้โกง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต
คอรัปชั่น ใจไม่ดี ใจชั่วนี่แหละ
สิ่งใดที่เราไม่ได้ทำ
เราก็ไม่ยอมรับว่า เราไม่ได้ตั้งใจทำ
โยนให้คนอื่นรับผิดชอบ
ที่จริงแล้วไม่ว่าภาระจะมากขนาดไหน
เราก็พูดอยู่ ทำอยู่ คิดอยู่ ตลอดวัน
การปฏิบัติเบื้องแรกที่เราต้องทำคือ อบรมปัญญา คิดให้ถูก
ครูบาอาจารย์ของเราก็สอนว่า ภาวนา คือ คิดให้ถูก
เมื่อเราถูกอารมณ์กระทบ เรามีเวลาสัก 5 นาที 10 นาที ที่จะคิดไหม
คิดผิดเป็นอย่างไร คิดถูกเป็นอย่างไร
ความคิด ก็ไม่ขึ้นกับอิริยาบถอะไรทั้งนั้น อยู่ที่ไหนก็คิดได้
ปกติพอกระทบอารมณ์ เราก็แสดงอาการโมโห ว่าไป
แต่ถ้าเรา ปุ๊บ ตั้งสติขึ้นมา
ถ้ามีเวลาสัก 5 นาที 10 นาที ก็คิดแก้
คิดสอนตัวเอง
ผิดอย่างไรก็ระลึกได้ ตรวจตัวเองดูว่า
คิดผิดอย่างไร พูดผิดอย่างไร ทำผิดอย่างไร
ถ้าเราสุจริต เราก็กล้า กล้ามองเห็นความจริงได้
ก็ไม่มีอะไร ไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะอะไร
เพราะเห็นว่าผิด พูดผิด ทำผิด คิดผิด
ถ้าเรามีจิตใจซื่อสัตย์ ก็รู้จัก ก็สอนใจตัวเอง
เราผิดอย่างนี้ๆ
ถ้าต่อไปเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เราต้องทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้
คิดอย่างนี้
อย่างน้อยแค่นี้เราก็ตั้งสติได้
อันนี้ไม่ต้องใช้เวลา เพราะไม่เกี่ยวกับอิริยาบถอะไรทั้งนั้น
นี่แหละการปฏิบัติธรรม
พยายามสร้างปัญญา ให้คิดดี คิดถูก นั่นแหละ
ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติ ก็ทำอย่างนี้
คอยตามดูว่า เราทำอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่
เมื่อเกิดอารมณ์ ก็สอนตัวเองไปเรื่อยๆ
หลักง่ายๆ คือ ไม่แน่
เกิดอารมณ์ปุ๊บ ไม่พอใจปุ๊บก็ ไม่แน่
คิดนินทาเขาก็ ไม่แน่
แล้วก็สอนว่า อย่าเชื่อ ความคิดที่เกิดจากอารมณ์กิเลส
เกิดความรู้สึกนึกคิดก็ ไม่แน่ ไม่แน่
ถ้าเกิดอารมณ์ก็เอา ทุกข์เพราะคิดผิด มาตั้งไว้ข้างหน้า
ดูถูกดูหมิ่นเขาใช้ไม่ได้
เราก็ต้องเปรียบเทียบ
ธรรมะเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกของใจจริงๆ เป็นอย่างไร
ทุกข์เพราะคิดผิด เราจึงทุกข์ เราจึงไม่พอใจ
ไม่ใช่ว่าเขาเป็นอะไรๆ
ถ้าเรามองดูตัวเอง การปฏิบัติก็ง่ายขึ้น การปฏิบัติก็ไม่ยุ่งยาก
เพียงแต่ตรวจดูกาย วาจา จิต
ถ้าเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ก็มีแต่ปล่อยวาง
ความคิด คิด คิด.
. ก็ไม่แน่
เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน.
. ปล่อยวาง
ความรู้สึก เป็นทุกข์ ไม่พอใจ ก็ปล่อยไป
ไม่ต้องคิดปรุงแต่งไป
อย่าคิดปองร้าย อาฆาต พยาบาท.
. อันนี้ใช้ไม่ได้
ดูหมิ่นดูถูกเขาใช้ไม่ได้
ความรู้สึกสักแต่ว่าความรู้สึก
ความคิดสักแต่ว่าความคิด
อันนี้เป็นตัวปัญญา
ความรู้สึก ความคิด ไม่พอใจ นี้ออกมาจากโทสะของเรา
ออกมาจากกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ของเรา
กิเลสเป็นพลังใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ
คิดปองร้าย ดูหมิ่น ดูถูกเขา
ความรู้สึก ความคิดเกิดขึ้นมา พยายามสับ สับ สับ
เอาดาบ คือปัญญามาสับ สับ สับ.
. ตัด.
. ปล่อย
การปฏิบัติก็ง่าย
เทวดาก็ช่วยไม่ได้
เราคิดแค่นี้ก็ยังคิดไม่ได้ จะทำอย่างไร
อุตส่าห์ปฏิบัติมา 30 ปี 40 ปี
เมื่อเกิดอารมณ์ คิดแค่นี้ก็คิดไม่ได้
จะให้ใครช่วย ให้เทวดาช่วยหรือ
เทวดาก็ช่วยไม่ได้หรอก เพราะไม่มีช่องว่างที่จะให้เทวดาช่วย
เพราะเต็มไปด้วยมาร ตั้งแต่ขันธมาร กิเลสมาร
เทวบุตรมาร อภิสังขารมาร มัจจุราชมาร เต็มอยู่อย่างนั้น
เทวดาเข้าไปช่วยไม่ได้
เราต้องช่วยตัวเอง ต้องยอมรับความจริง
ต้องเชื่อธรรมะ น้อมเข้าไปหาธรรมะ ไม่ใช่คิด ธรรมะ
|