นินทาผู้อื่นเท่ากับนินทาตัวเอง
เราต้องพยายามพิจารณาให้เห็นจริงๆ ว่า
การที่เรานึกนินทาผู้อื่นนั้น เท่ากับเรานินทาตัวเอง
เราต้องสร้างความรู้สึกถึงขนาดนั้น
จิตจึงจะสงบได้
ไม่กล้าคิดผิด คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว
เกิดหิริโอตตัปปะ ละอายบาป อายที่จะคิดชั่ว อายที่จะทำชั่ว
โอตตัปปะ คือ กลัว
กลัวว่าสิ่งที่เราคิดไปด้วยโทสะ จะทำให้เราเศร้าหมองทันที
และจะกลับมาหาเราและให้โทษแก่ตัวเราด้วย
อันนี้ก็เป็นความจริงนะ
ถ้าเราสนใจธรรมะจริงๆ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า มีมรรค มีศีล สมาธิ ปัญญา
เชื่อทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เชื่อว่าเมื่อเราบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็จะพ้นทุกข์ได้
ถ้าเราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ
เราก็ต้องพิจารณาดูตัวเอง
ดูว่า เราเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอรัปชั่น ไม่โกง รึเปล่า
สิ่งใดเป็นหน้าที่ของตัวเองก็ไม่ขี้เกียจขี้คร้านทำ
แม้จะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน หรือเจ็บเพียงใด ก็พยายามทำ
ความรู้สึกว่าเราเจ็บๆ ๆ ความน้อยใจ เสียใจ เจ็บใจ อะไรๆ
ก็มี
แต่ถ้าเราพร้อมที่จะทำลายความชั่วของตัวเอง
เราก็ต้องตั้งใจ.
. แล้วก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้
ถ้าเราเอาแต่ขี้โกง มักได้
มองข้ามตัวเอง จับผิดคนอื่น แล้วก็บ่นอีก
ก็ไม่มีวันสงบได้ ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้
เราก็เสียเวลาอยู่อย่างนั้น
ใครๆ ก็ว่ากล่าวตักเตือนได้
มีแต่ความอยาก อยาก ธรรมะ แต่ปฏิบัติไม่ถูก
เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตัวเอง
โกหกตัวเองอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราต้องสังเกต
เช่นมีบุรุษคนใดคนหนึ่ง ว่ากล่าวตักเตือนเรา
ให้เราสังเกตดูใจของตัวเอง
ปกติจิตใจเราก็จะวิ่งชนเขานั่นแหละ
เราพยายามแก้ตัว ป้องกันตัวเอง
เราไม่ผิด เรารับฟังไม่ได้ จิตก็นึกปรุงไป
ถ้าตามหลักแล้ว
ผู้ปฏิบัติธรรมต้องปวารณาตัวเองกับทุกๆ คนว่า ถ้ามีอะไรๆ
ก็ว่ากล่าวตักเตือนได้
ถ้าเรามีจิตใจอย่างนี้ ก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้
แต่ถ้าใครพูดผิดใจนิดหน่อย อารมณ์ขึ้น อย่างนี้เราปิดทางก้าวหน้า
ถ้าเราสนใจปฏิบัติธรรมจริงๆ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคน
ใครจะคิดอะไรกับตัวเรา ให้ว่ากล่าวตักเตือนได้
เราต้องรับฟังด้วยใจปกติ
ที่จริงแล้ว ใครพูดอะไร จะผิดจะถูกก็ไม่สำคัญ
เราไม่ต้องวิจารณ์ว่าเขาพูดผิด หรือถูก
เขาพูดผิด หรือถูกก็ไม่สำคัญ
สำคัญที่ว่าเราต้องรับฟังได้ ด้วยใจปกติ และใจดี
แล้วก็น้อมเข้ามาพิจารณาดูว่า สิ่งที่เขาพูดไปนั้นจริงหรือไม่
ธรรมดาก็จริง ไม่มากก็น้อย ส่วนมากก็เป็นอย่างนั้น
ใครจะว่าเรา ตำหนิเรา ส่วนมากก็เป็นจริง
ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่มาก
เราไม่ต้องคิดแก้ตัว
ฉะนั้น เรา ก็ไม่ต้องปฏิเสธ ไม่ต้องคิดแก้ตัว
ใจเราก็ชอบปฏิเสธ ชอบแก้ตัว
ใครจะพูดอะไร ว่ากล่าวตักเตือนเรา
ปัญญาปลอมๆ ของเราก็วิ่งเข้าชนแล้ว
ปัญญาหรือกิเลสก็ไม่ทราบ ปัญญาทางโลกนะ
ทางธรรมะเรียกว่ากิเลส ทางโลกเรียกว่าปัญญา
ความฉลาดของเราก็วิ่งออกไปแก้ตัว
ฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาพูดไม่จริง
นี่ก็ไม่ใช่ลักษณะของคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ลักษณะของคนดี
คนดีต้องรับฟังได้
ใครจะพูดสรรเสริญเรา นินทาเรา หรือว่ากล่าวตักเตือนเรา
เราต้องฟังได้ จึงจะเป็นคนดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
อันนี้เราต้องพิจารณาดูว่า เรามีลักษณะอย่างนี้หรือไม่
การปฏิบัติในเบื้องต้น เราก็ต้องพัฒนาตัวเอง
ถ้าเรามีลักษณะอย่างนี้ เราก็ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ เราก็ปิดทาง
ความอยาก ก็เพิ่มขึ้นๆ
ก้าว ก็ก้าวไม่ได้ มีแต่หยุดอยู่และถอย
มีแต่ ความอยาก อยากได้ธรรมะ อยากสงบ
แต่การปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
นี่ก็เป็นการปฏิบัติเบื้องต้น ที่เราต้องเข้าใจ
ถ้าเราเข้าใจธรรมะข้อนี้ ใจเราก็เข้าสู่ความสงบ
ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้จริงๆ ใจเราก็ต้องสงบ.
. เพราะอะไร
เราสังเกตดูจิตใจตัวเองนะ เราคิดอะไรอยู่บ้าง
เราก็คิดนินทาคนโน้น บ่นว่าคนนี้
คนนั้นเป็นคนโง่ คนนี้เป็นอะไรๆ ที่เราก็นึกบ่น นึกว่าอยู่ในใจ
อันนี้เป็นมโนกรรม.
. มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม
กรรม คือ การกระทำ
การกระทำทางกาย เป็นกายกรรม
การกระทำทางวาจา เป็นวจีกรรม
การกระทำทางใจ ก็เป็นมโนกรรม คือ คิด คิด คิด
ถ้าเราเข้าใจว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ใจเราก็สงบ
ใจที่บ่น นินทา คนนี้ คนนั้นก็หมดไป
ถ้ามีใครสักคนหนึ่งทำอะไรไม่ถูกใจเรา
เราก็นิมิตคนนั้นขึ้นมานินทาอยู่อย่างนั้น
นึกนินทานึกบ่นอยู่อย่างนั้น ซึ่งก็เท่ากับนินทาตัวเอง
สิ่งใดที่เราคิดชั่วไปเราก็ต้องรับหมด
เราได้ชั่วแน่นอน
ถ้าเรารู้ธรรมะจุดนี้ แล้วก็เกิดหิริ โอตตัปปะ
ละอาย
.. ละอายการคิดชั่ว นินทาคนนี้ บ่นว่าคนนั้น
กลัว เพราะรู้ว่าสิ่งใดที่เรานึกไป ว่าไป ก็ต้องกลับมาหาเราทั้งนั้น
ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็ต้องระวังตัว
ระวังทั้ง กาย วาจา จิต
ไม่ให้กระทบคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์
แม้แต่เราจะไม่ถูกใจก็ตาม
เราก็มุ่งแต่คิดดี พูดดี ทำดี อยู่อย่างนั้น
ไม่ถูกใจขนาดไหนก็คิดดีได้
เพราะเรารู้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ไม่ใช่เขาทำถูกใจเราจึงจะคิดดีกับเขา
ไม่ใช่นะ
แม้แต่เราไม่ชอบเขา ไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ความรู้สึกลึกๆ ก็น่าโกรธ
น่าโมโห
แต่ถ้าเราค่อยๆ ปฏิบัติ จนค่อยๆ เข้าใจว่า ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว
ปัญญามันจะบอกว่า คิดชั่วไม่ได้
ถ้าเป็นอย่างนี้ จิตของเราก็ต้องสงบแล้ว
ความฟุ้งซ่าน วุ่นวายใจ ก็ค่อยๆ หมดไปๆ
ธรรมะยังไม่ถึงใจ
ถ้าเราชอบบ่นอยู่อย่างนั้น ก็แสดงว่าธรรมะยังไม่ถึงใจ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ที่เราได้ยินได้ฟังตั้งแต่เล็กๆ
ตั้งแต่คุณยาย คุณแม่สอนเรา
อันนี้ก็อยู่ในสมอง ถึงสมอง แต่ยังไม่ถึงใจ
สมองกับใจก็อยู่ใกล้ๆ กัน จะพูดว่าอยู่ติดกันก็ได้
แต่.
. ไม่ถึงใจ
กิเลส.
. ความรู้สึก อัตตาตัวตน.
. กั้นไว้
กั้นธรรมะไม่ให้ถึงใจ ใจเราจึงวุ่นวายอยู่อย่างนี้
เห็นอะไร ได้ยินเสียงอะไร ไม่ถูกใจ ก็อารมณ์ขึ้น
ถ้าเราเข้าใจหลักความจริงที่ว่า
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือ หลักอริยสัจ 4 ก็ดี
เมื่ออะไรจะมากระทบก็ตาม กิเลสเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม
จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ไม่คิดอาฆาตพยาบาท ไม่นึกปองร้ายเขา
เพราะถ้าเรานึกปองร้ายเขา ความชั่วนั้น ก็ต้องกลับมาหาเรา
เราต้องมองเห็นจุดนี้ด้วยปัญญา
ถ้ามองไม่เห็น ก็หาความสงบไม่ได้
เพราะอยู่ที่ไหนเราก็มีแต่ความไม่ถูกใจ
ใจเรามัน ก็โง่อยู่อย่างนั้น
เหตุการณ์เกิดในอดีต เราก็นึกขึ้นมา ยกขึ้นมา จำขึ้นมา
นึกอย่างนั้นอย่างนี้ นึกพยาบาทอาฆาตอยู่อย่างนั้น สติปัญญาไม่ทัน
ถ้าเราเกิดประสบการณ์ทุกข์ โกรธ ไม่พอใจ
ให้รีบยกขึ้นมาพิจารณา.
. ใครผิด ใครถูก
แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ดูว่า ใครผิด ใครถูก
ให้ดูตัวเรา ให้เห็นว่าตัวเราผิด ผิด ผิดนั่นแหละ
ความยินร้าย ไม่พอใจ โกรธ
.. ฯลฯ.
. มันผิด
ถ้าเรานึกได้อย่างนี้ ก็เห็นชัด
คำพูด ความคิดที่เรานึกไปนั้นก็เหมือนกับนินทาตัวเองนี่แหละ
ถ้าเราคิดด่าเขา เราก็ด่าตัวเอง
ใครทำอะไรไม่สวยจริงๆ ด้วย เราก็บ่นไป นินทาไป
คำพูดเหล่านั้นก็กลับมาหาเราหมด เพราะเป็นกฎตายตัวอยู่แล้ว
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
|