พระอาจารย์มิตซูโอะ
คเวสโก เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่น ท่านอุปสมบทในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี หลวงพ่อเจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร
(ชา สุภัทโท) เป็นองค์อุปัชฌาย์ ท่านเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา
สุภัทโท ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ได้อุปัฏฐากดูแลหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานด้วยความเคารพบูชาอย่างสูง
ท่านอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติซึ่งมี พระอาจารย์สุเมโธ
(ปัจจุบันคือพระราชสุเมธาจารย์) เป็นหัวหน้าคณะ
ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ในประเทศไทยนั้น
ท่านบำเพ็ญเพียรมาหลายรูปแบบ และธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร
ในประเทศไทยท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกไปตามภาคต่างๆ
ท่านได้รู้จักและเห็นความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งรู้สึกสำนึกในความศรัทธา
ความเสียสละ และความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์
ซึ่งมีส่วนทำให้ท่านยิ่งเร่งทำความเพียรมากขึ้น
การที่ท่านพระอาจารย์ได้มาประเทศไทย
และได้บวชเป็นศิษย์ต่างชาติท่านหนึ่ง ของหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร
(ชา สุภัทโท) นั้น เป็นเรื่องที่ "เป็นไปเอง"
ตั้งแต่เด็กๆ ท่านคิดเสมอว่า "อะไรคือชีวิตที่น่าพอใจ
..
ชีวิตน่าจะมีอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านี้
.." ท่านพระอาจารย์จึงออกสัญจรรอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านเดินทางสู่อินเดีย เนปาล อิหร่าน และยุโรป
แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปแอฟริกา วกกลับสู่อินเดีย
เมื่อเดินทางถึงพุทธคยา
เห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ก็ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์และประจักษ์ต่อใจว่า
"นี่คือสิ่งที่แสวงหา สัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง
ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ทุกคนทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้"
ท่านจึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก เข้าสู่การค้นหาภายใน
จากนั้นท่านก็ได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่ง
ในประเทศอินเดียนั่นเอง และก็เริ่มมีประสบการณ์โยคะบ้าง
ท่านเกิดความพอใจ คิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต
แต่บังเอิญวีซ่าหมด มีคนแนะนำ ให้เดินทางมากรุงเทพฯ ต่อมาก็มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา
สุภัทโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ
ตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมาในเดือนเมษายน
พ.ศ. ๒๕๓๒ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พร้อมลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่งชื่อ
พระญาณรโต ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะ
ถึง PEACE MEMORIAL PARK เมืองฮิโรชิมา การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด
๗๒ วัน เป็นการเดินทางด้วยเท้ากว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร รวมการเดินทั้งหมดประมาณ
๒ ล้าน ๒ แสนก้าว หลังจากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษา ณ
วัด SHINAGAWA-JI ในกรุงโตเกียว
การเดินธุดงค์ครั้งนี้
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกและพระญาณรโต ตั้งใจเดินเพื่อเป็นการระลึกถึงสันติภาพของโลก
และตลอดการเดินธุดงค์นั้นท่านยังคงเคร่งครัดต่อพระวินัยโดยไม่มีการยืดหยุ่น
คือการไม่ถือเงิน และการฉันมื้อเดียวด้วยการอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตหรืออาหารที่มีผู้จัดถวาย
นอกจากนั้นพระภิกษุทั้ง ๒ รูป ยังได้สมาทานการเดินธุดงค์โดยไม่มีการนั่งรถ
นับตั้งแต่สนามบินนาริตะ จนถึงเมืองฮิโรชิมา
ดังนั้นระหว่างการเดินทางท่านจึงได้ประสบและพบเห็นกับสิ่งต่างๆ
ที่ทำให้ท่านหวนระลึกได้ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลกได้
ก็ต่อเมื่อชาวโลกทั้งหลายละความเห็นแก่ตัว โดยการให้ทาน
๑๐ ประการ เป็นทานจักร แล้วสังคมของเรา โลกของเราก็จะมีแต่ความสงบ
ความร่มเย็น โดยไม่ต้องสงสัย
ในประเทศญี่ปุ่น
เด็กๆ และเยาวชนได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นสมบัติอันมีค่า
เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
และด้วยความปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยมีโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่นบ้าง
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงได้ปรารภปัญหาดังกล่าวรวมทั้งความประสงค์ในการสงเคราะห์เด็กๆ
ของไทยแก่ญาติโยมชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็ยินดีสนับสนุนในการจัดหาทุนเพื่อโครงการนี้กันอย่างเต็มที่
โดยเริ่มแรกได้ถวายทุนมาเป็นจำนวนเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท
ดังนั้น
ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เดินทางกลับถึงประเทศไทย
ท่านจึงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความดำริของท่าน และการสนับสนุนจากสาธุชนชาวญี่ปุ่นให้คุณสิริลักษณ์
รัตนากร คุณวิชา มหาคุณ คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และคุณดารณี
บุญช่วย ฟัง ท่าน ๔ ท่านเห็นดีและสนับสนุนในกุศลเจตนาของพระอาจารย์
และมีความเห็นว่าน่าจะได้ดำเนินการในรูปของมูลนิธิ คุณสุขสันต์
จิรจริยาเวช และผู้ช่วยคือ คุณสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จึงได้เริ่มจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิจนแล้วเสร็จ
เป็นมูลนิธิมายา โคตมี ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๓ โดยมีคุณมนูญ
เตียนโพธิ์ทอง อนุเคราะห์สถานที่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ
สำหรับตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธินั้น
เนื่องจากมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงเห็นควรที่จะอัญเชิญพระรูปของพระพุทธองค์ปางประสูติประทับยืนบนดอกบัว
เบื้องหน้าของวงล้อแห่งทานจักร ๑๐ ประการ อันเป็นหัวใจของมูลนิธิ
เป็นสัญญลักษณ์ของมูลนิธิ โดยล้อมรอบด้วยวงกลม ๒ ชั้น
ซึ่งภายในวงกลมด้านบนมีชื่อภาษาไทยว่า "มูลนิธิมายา
โคตมี" ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า "MAYA
GOTAMI FOUNDATION"
ชาวอุบลราชธานีได้อุปฐากท่านและพระอาจารย์องค์อื่นๆ
ด้วยใจศรัทธา ท่านพูดถึงชาวบุ่งหวายและชาวบ้านก่อนอกว่า
"เหมือนเป็นพ่อแม่พี่น้องของอาตมา ได้อุปการะเลี้ยงดูอาตมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร"
.. และนี่คือที่มาของมูลนิธิมายา โคตมี ที่ท่านริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อช่วยเหลือให้ทุนการศึกษาและจัดอบรมจริยธรรมให้เยาวชนด้อยโอกาสในจังหวัดอุบลราชธานี
เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ การให้ทุนการศึกษาได้ขยายออกไปยังอีกหลายจังหวัดของประเทศไทยในเวลาต่อมา
ท่านพระอาจารย์ได้สอนสมาธิวิปัสสนากรรมฐานโดยจัดอบรมอานาปานสติ
ที่วัดป่าสุนันทวนารามเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙๒๗
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และได้มีการจัดอบรมเป็นระยะๆ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
ซึ่งเป็นวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
|