แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย
 
 กำลังอ่านอยู่ : 6 คน

ไตรลักษณ์
 

            ไตรลักษณ์ แปลตามตัวคือ ลักษณะ 3 อย่าง คือ

            1. อนิจจัง ไม่เที่ยง

            2. ทุกขัง เป็นทุกข์

            3. อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

            ความไม่เที่ยง ทำให้เราเป็นทุกข์ใจ ความทุกข์ใจนี้ เรารู้อยู่แล้ว
เมื่อพบกับมัน แต่ตัวที่เราไม่ได้ตะหนักก็คือไม่เที่ยง ความจริงเราก็รู้จักแต่ด้วยความคุ้นเคยนั่นเอง ที่ทำให้มองข้ามไป เช่น เราเรียกชื่อเล่นของเพื่อนอยู่ทุก ๆ วัน พอมีคนถามมาถามเพื่อนเราด้วยชื่อจริง บางทีเราลืมไปเลยว่า อ๋อ ก็เพื่อนเราเอง

            ท่านสอนว่า ทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง

            เราลองมามองดูกันจริง ๆสักทีเพื่อให้เห็นตัวมันชัด ๆ จะลองจัดกระบวนเพื่อให้กระชับขึ้น ดังนี้

            1. มองไกล ดูแบบดูหนังสารคดี ถอยออกไปดูประวัติศาสตร์หรือจะนึกถึงหนังคลีโอพัตราก็ได้ ชาวอียิปต์ ชาวโรมันเจริญเป็นร้อยปี แต่ตอนนี้ก็เสื่อม เหลือแต่ซากเอาไว้ให้นักโบราณคดีมีงานทำ ทวีปก็เคลื่อนย้ายจากติดกัน หลุดไปเป็นเกาะ เช่น ทวีปออสเตรเลีย ไม่มีอะไรคงที่ คือ ไม่เที่ยงนั่นเอง

            2. มองใกล้ พรุ่งนี้นัดลูกค้าไปอยุธยา พอเช้ามาโทรฯมาเลื่อน พราะติดประชุมด่วน ไปไม่ได้

            3. มองตัวเอง ก็แก่ลงไปทุกวัน

            4. มองของรัก ถ้วยสวย ๆเหมือนจะไม่แตก เก็บไว้ในตู้อย่างดี พอวันนี้เอาออกมาตั้งไว้ชม เพื่อนทำแตกต่อหน้าเลย

            หรือถ้วยสวย เก็บไว้อย่างดี จนเป็นมรดก ( คือตัวเราเองเป็นฝ่ายไม่เที่ยงไปซะก่อน ก็คือตายนั่นแหละ ) ตกไปถึงสมัยเหลนอาจจะทำแตกหรือขายให้ฝรั่งไป

            5. มองอารมณ์ อารมณ์ของเรา แม้จะเกิดชั่วคราว หรือติดต่อกันยาวนาน แต่วันหนึ่งก็ต้องหมดไป สิ้นไป

            ความเศร้า แม้จะเศร้าติดต่อยาวนาน แต่วันหนึ่งก็ต้องหายเศร้า

            หัวเราะ แม้จะหัวเราะติดต่อยาวนาน แต่ก็ต้องหยุด

            รัก แม้จะรักติดต่อยาวนาน วันหนึ่งก็คลาย

            เกลียด แม้จะเกลียดติดต่อยาวนาน วันหนึ่งก็เบื่อที่จะสนใจ

            จน แม้จะจนติดต่อยาวนาน แต่ก็รู้สึกสบายได้ ตามอัตภาพ

            รวย แม้จะรวย ติดต่อยาวนาน วันหนึ่งก็อาจจะล้มละลายได้

            6. มองดูสั้น ดูง่าย ๆ สั้น ๆ เลยก็คือลมหายใจของเราเอง ใน 1 กระบวนการหายใจ ก็จะมีการหายใจเข้า กลั้นไว้นิดหนึ่ง ( จนแทบไม่รู้สึก ) หายใจออกจบกระบวนการไป 1 ครั้ง เทียบได้ดังนี้

            หายใจเข้า (เกิดขึ้น) กลั้นไว้ (ตั้งอยู่) หายใจออก( ดับไป)

            อันนี้เห็นง่าย คงไม่ต้องอธิบายอะไรอีก ความไม่เที่ยงก็คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะให้เที่ยง ก็ลองหายใจออกแล้วไม่ต้องหายใจเข้าอีก ถ้าทำได้ก็เที่ยงแน่ แต่ไม่ต้องกลับมาเล่าให้ฟังนะกลัว

            เมื่อเราตระหนักได้แล้วว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง เราจึงควรปล่อยวางจิตใจในอันที่จะทุกข์ เพราะอะไรๆมันเปลี่ยนไป ไม่คงอยู่อย่างที่ใจต้องการให้มันคงอยู่ อันนี้ทำได้โดย ‘ ยอมรับความจริง ‘ ว่ามันไม่เที่ยงและไม่ยึดมั่นถือมั่นที่จะ

            ดื้อดึงให้มันคงอยู่

            มีอารมณ์เมื่อมันเปลี่ยนแปลง เช่น โกรธ

            เศร้าสร้อยเมื่อมันจากไป

            ยึดติดไว้ในใจ ไม่มีวันลืม 40 ปีก็ไม่ลืม ทำให้ต้องเสียใจอยู่ตลอด 40 ปี ทำให้ชีวิตเสียเวลาไปมาก พระพุทธเจ้าถามว่าวันเวลาล่วงไป ๆ ทำอะไรอยู่

 


<< กลับหน้าที่ผ่านมา
หน้าถัดไป >>
แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย

หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม