แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย
 
 กำลังอ่านอยู่ : 8 คน

รอบรั้วธรรม
 

           สมัยที่เรียนหนังสือ ต้องอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย พอตกเย็นของฤดูสอบ ก็จะสุมหัวกันติว ติวไปกินขนมไป ไม่นาน คนชอบนอนเริ่มจะเอาหนังสือหนุนหัว และออกคำสั่งเผด็จการกับคนติวว่า

           “ พูดไปเรื่อย ๆ นะ จะฟัง “

           เพื่อนบางคนก็เขกหัวเอาทีหนึ่ง เมื่อเจ้าตัวบอกว่า ให้หนังสือมันออสโมซิส ( ซึม ) เข้าไปในหัว อีกคนแหย่ว่า

           “เอาหัวทับหนังสือ แล้วเวลาอยู่ในห้องสอบ แกจะเปิดหนังสือออก
เหรอ แกต้องเอาหนังสือทับหัวซี่ถึงจะถูก “

           ธรรมะก็เหมือนตำราเรียน เราอาจจะมีปัญหาซื้อหนังสือธรรมะและเทปมาเก็บไว้จนเต็มห้องใหญ่ เราอาจจะอ่านมันจนจบทุกเล่มแล้ว แต่ถ้าไม่ได้เอามาใช้ ในที่สุดมันก็จะกลับไปอยู่ในหนังสือตามเดิม

           เหมือนซื้อหนังสือแม่ครัวมา 10 เล่ม แต่ไม่เคยซื้อของมาปรุงเลย ก็ไม่มีวันทำกับข้าวเป็น

           แต่ถ้าจะลองทำดู ก็จะสนุก แม้จะเก้ ๆ กัง ๆ บ้างในตอนแรกไม่รู้ว่าตะหลิวเซี๊ยอยู่หนใด ชามเอาไว้ไหน หรือแม้แต่อาจจะเอาหม้อข้าวมาดาวไข่เป็นปฐม ก็ไม่เป็นไร ท่านพุทธทาสสอนว่า “ ทำงานให้สนุก เป็นสุขกับการทำงาน “ การฝึกปฏิบัติธรรมก็เป็นงานอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่ทำอย่างสนุกได้

           ทีนี้เมื่อจะลงมือทำ นอกจากจะอ่านตำราจนรู้แล้วว่า แกงเขียวหวาน มันมีเครื่องปรุงและวิธีอย่างไร แต่เราก็ต้องรู้จักวิธีใช้ครัวของเราก่อนเหมือนกัน เช่น ครกเอาไว้โขลก หม้อเอาไว้ต้มน้ำ ถ้าเราไม่รู้วิธีใช้ธรรมะในลักษณะเดียวกัน เราก็จะพยายามเอาครกไปต้มน้ำ

           ธรรมะมีมากมายหลายอย่างเหมือนกับข้าว และก็มีหลายระดับเหมือนกับข้าวอีกนั่นแหละ มันเสิร์ฟให้คนกินหลายระดับและมันก็แก้ไขให้กับปัญหาหลายระดับด้วย ฉะนั้นเราก็เลือกให้เหมาะกับตัวเรา เหมาะกับโอกาส และเหมาะกับปัญหา แต่ก็มีหลักอยู่ว่าอย่าตีความไปในทางเกเร เสาหลักหน้าประตู 2 ต้นก่อนที่จะก้าวเข้าไปในตัวบ้าน ก็คือ หนึ่งเป็นสิ่งที่ดีไหม กับ สองผิดศีลหรือเปล่า

           บางเรื่องไม่ผิดศีล แต่ก็ไม่ดี ก็สรุปว่าให้เซย์โนไปเสีย อย่าดันทุรัง ส่วนที่ว่าอะไรดีไม่ดีนั้น ถ้าเปิดใจให้ตรงก็คงจะพอตัดสินได้เอง ถ้าสิ่งที่ไม่ดี ดันทุรังว่าดีให้ได้ อันนี้ก็ตัวใครตัวมัน ก็ทำไปตามใจอยาก เพราะใครทำคนนั้นก็รับกรรมไปเองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเถียงกัน

           เปรียบไปอีกอย่างให้เห็นง่าย ธรรมะก็เหมือนกับร้านขายยา ในร้านขายยาย่อมมียามากมายร้อยพันอย่าง แต่ก็สำหรับร้อยพันโรคเหมือนกัน ตู้นี้ใส่ยาแก้ปวดท้อง ตู้นั้นใส่ยาแก้ปวดหัว

           ถ้าเราปวดท้อง เราก็เดินไปที่ตู้ยาแก้ปวดท้องตู้เดียวพอไปถึง เราจะพบการแตกแขนงย่อยไปอีก จะมียาแก้ปวดท้อง เพราะลมจุกเสียด เพราะลำไส้อักเสบ เพราะกระเพาะเป็นแผล เพราะ ฯลฯ เราก็เลือกเอายาที่ตรงกับสาเหตุที่เราเป็น เอาไปกินแล้วก็จะหาย

           แต่ถ้าเดินเข้าไปแล้วนั่งเฉย ๆ อยู่ในร้านยา ยิ้มแล้วคอยให้หายปวดท้องไปเอง อันนี้ก็ต้องหาอีกตู้ด้วย คือ ยาเช็คประสาท

           คนที่เลาะอยู่ตามขอบรั้วธรรมะ บ้างลังเลใจสงสัย บ้างไม่รู้จัก บ้างรู้จักนิดหน่อย เดินเลียบไปเลียบมาไม่กล้าเข้า และบางคนก็นำธรรมะไปใช้ได้จริงจัง ก็จะมีเรื่องราวต่าง ๆ พอจะเอามาคุยกันให้เป็นตัวอย่าง อันนี้ถ้าตามศัพท์นักเรียน บางทีเขาเรียก ปฐมนิเทศ แต่เราจะเรียกว่า ออเดิร์ฟ ( รู้สึกจะไม่ค่อยพ้นเรื่องกินเลยนะ )


<< กลับหน้าที่ผ่านมา
หน้าถัดไป >>
แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย

หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม