แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย
 
 กำลังอ่านอยู่ : 6 คน

ปฏิจจสมุปบาท
 

            คำนี้อ่านยากและเข้าใจยาก ท่านที่สนใจจะมีหนังสือชื่อ ปฎิจจสุมปบาท ของท่านพุทธทาสอยู่เล่มหนึ่งโดยเฉพาะ หาอ่านได้หนาไม่เท่าไรหรอก แค่ 199 หน้าเอง

            ในที่นี้ จะลอกมาเล่าเพียงให้เข้าใจง่าย ดังนี้

            ปฏิจจสมุปบาท คือ

            1. คือ การแสดงให้รู้เรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นในรูปสายฟ้าแลบในจิตใจของคนเป็นประจำวัน

            2. เป็นสิ่งที่มีอยู่ในคนเราแทบจะตลอดเวลา

            3. เป็นเรื่องที่ถ้าผู้ใดเข้าใจแล้ว ก็อาจจะปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ของตนได้

            4. ทำไมต้องรู้เรื่องนี้? เพื่อให้รู้ถูกต้องและดับทุกข์เสียได้

            5. จะดับทุกข์โดยวิธีใด ? โดยวิธีที่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ปฏิจจสมุปบาท คือ อย่าให้กระแสปฏิจจสมุปบาทมันเกิดขึ้นมาได้ โดยมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา

            6. ปฏิจจสมุปบาท มีจำนวนธรรม 11 แสดงให้เห็นว่าเพราะอาศัยสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้น

                        1. เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัยจึงมี สังขาร

                        2. เพราะ สังขาร “ วิญญาณ

                        3. เพราะ วิญญาณ “ นามรูป

                        4. เพราะ นามรูป “ อายตนะหก

                        5. เพราะ อายตนะหก “ ผัสสะ

                        6.เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัยจึงเกิด เวทนา

                        7. เพราะ เวทนา “ ตัณหา

                        8. เพราะ ตัณหา “ อุปาทาน

                        9. เพราะ อุปาทาน “ ภพ

                        10.เพราะ ภพ “ ชาติ

                        11. เพราะชาติ “ ชรา , มรณะ, โสกะ , ปริเทวะ

                         ( โอ้โฮ ศัพท์ตรึม คุณผู้อ่านแวะไปกินยาหอมยาลมก่อนได้ เดี๋ยวมาอ่านต่อ )

                        อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง ความเขลา

                        สังขาร คือ การปรุงแต่งกาย วาจา ใจ เช่น ความรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย

                        วิญญาณ คือ การรับรู้

                        นามรูป คือ ตัวเรา นามคือจิต รูปคือร่างกาย

                        อายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

                        ผัสสะ คือ การกระทบ เช่น ลิ้นกระทบอาหาร

                        เวทนา คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ

                        ตัณหา คือ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น

                        อุปาทาน คือ ความยึดมั่นในตัวตน

                        ภพ คือ กระบวนการแห่งการเกิด

                        ชาติ คือ ความเกิด

                        ชรา มรณะ คือ ความดับไปสิ้นไปของเรื่องนั้นในคราวหนึ่ง ๆ

            ปฏิจจสมุปบาท มีลักษณะเป็นลูกโซ่ที่คล้องกันเป็นวงกลม จึงไม่มีต้นหรือปลายและไม่ต้องเรียงลำดับว่าอวิชชาต้องเป็นข้อที่หนึ่งเสมอ อย่างที่เขียนมาให้ดูนี้ เป็นการแสดงว่าใน 11 ข้อประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีความเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ

            1. สายเกิด อาศัยสิ่งหนึ่งเกิด ความอยากได้จึงเกิดขึ้น เช่น เมื่อความชอบเกิด ความอยากได้จึงเกิด

            2. สายดับ อาศัยสิ่งหนึ่งดับ อีกสิ่งหนึ่งจึงดับไป
เช่น เมื่อความชอบหมดไป ความอยากได้จึงหมดไป
ปฏิจจสมุปบาทนี้ คือ สิ่งต่าง ๆ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นความสัมพันธ์ของทุกอย่าง ทั้งในธรรมชาติ เรื่องรอบตัวเรา และเรื่องในตัวเรา

            ความสัมพันธ์ในธรรมชาติ เช่น เพราะตัดต้นไม้ --> ภูเขาจึงหัวโล้น --> ทำให้ฝนตกมา ไม่มีต้นไม้กรองน้ำฝน--> ทำให้น้ำพัดลงมากับซุง-->ทำให้หมู่บ้านพัง-->ทำให้มีการเรี่ยไร-->ทำให้มีการจัดงานรับบริจาคทางทีวี--> ทำให้ ฯลฯ

            ความสัมพันธ์เรื่องรอบตัวเรา เช่น มิเกเดินมาถูกรถชนเบา ๆ ถามว่าเหตุเกี่ยวพันคืออะไร คนขับรถอาจจะเมา ( สาวไปสายคนขับรถว่า อะไรทำให้เมามา ) หรือมีคนเอาน้ำมันไปหกบนถนน หรือมิเกเดินตัดหน้ารถเอง ทำไมมิเกจึงมาตรงนั้น แม่ให้ใช้ไปซื้อ

            ก๋วยเตี๋ยว แต่มิเก( แปลว่า เด็กดี ) จะรีบกลับไปดูบอล เลยไม่ได้ดูรถ คือ สาวหาสาเหตุที่สัมพันธ์กันไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งหนึ่งเกิดอีกสิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้น หมายความว่า ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นเองลอย ๆ อยู่ ๆ มิเกจะไม่มายืนให้รถชนโดยไม่มีสาเหตุเชื่อมโยง

            แต่ที่เราควรสนใจมากที่สุด คือปฏิจจสมุปบาทที่มาทำให้เราเป็นทุกข์ใจ ซึ่งส่วนนี้เกิดจากการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้รับรู้ทางใจ อย่างหนึ่งอย่างใดใน 6 อย่างนี้ เมื่อเรารับรู้แล้ว ก็ทำให้เกิดการตอบรับเป็นความพอใจ ไม่พอใจ ( เรียกว่า เวทนา ) จากนั้นมันก็เร่งเร้าให้เราเกิดตัณหา คือ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือถ้าไม่ชอบก็อยากทำลาย อยากผลักออกไป

            3 ตัวนี้ เป็นตัวที่เราจับความรู้สึกได้ชัดเจน หลังจากนั้นก็จะเกิดกระบวนการไปตามลูกโซ่ต่อไปของปฏิจจสมุปบาท เพื่อดิ้นรนหาทางเป็นหรือทำอะไรเพื่อสนองตัณหาของเรา เป็นขบวนการแห่งการเกิดทุกข์ของใจ

            ดังนั้น เราต้องดูแลใจไม่ให้หล่นลงไปในหลุมของความทุกข์

            หลวงพ่อพุทธทาสสอนให้ตัดตั้งแต่ผัสสะ คือ การกระทบทันทีที่ตาเห็นรูปแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่า “ เห็นก็ให้สักแต่ว่าเห็น “ อย่าปล่อยใจให้ไปรับเวทนา ถ้าสติวิ่งไม่ทันมันจะเกิดตัณหา ต้องรีบวิ่งไปตัดตัณหา สกัดมันไว้ ถ้ายังไม่ทันอีก เราก็แพ้แล้วงานนี้ ก็เป็นทุกข์ไปก่อน เป็นสาวน้อยตกน้ำ ตามงานวัด

            แต่ถ้าเราตัดได้ทัน ใน 3 จังหวะนี้ เราก็จะหลุดรอดปลอดภัย ไม่ทุกข์ใจ เพื่อไปเจอแบบฝึกหัดใหม่ ๆ ต่อไป

            ปฏิจจสมุปบาทนี้………แหม ชื่อยาว เราคุยกันตรงนี้ ขอตั้งชื่อเล่นเฉพาะกิจตรงนี้ว่า นายหาวก็แล้วกัน ขออภัยพระบาลี มิได้ลบหลู่แต่ประการใด เป็นเพราะพวกลูกช้างยังอยู่อนุบาล พูดชื่อยาว ๆแล้วจะหาวตาม เอ้า…..ต่อนะ

            นายหาวนี้ท่านว่าเกิดได้กับตัวเราวันละไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เพราะเขาจะเข้าประจำหน้าที่ในทุก ๆ เรื่องไป ยกเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งดีกว่า มันจะเห็นง่ายหน่อย

            นะจังงัง เป็นชายหนุ่มรูปหล่อ วันนี้จะไปห้างสรรพสินค้า ก่อนจะเดินเที่ยวก็แวะกินข้าว

            พอกินข้าว นายหาวหมายเลข 1 ก็เข้าประจำการ ทำให้นะจังงัง เกิดความรู้สึกอร่อย กินใหญ่จนเกือบปวดท้อง เป็นทุกข์

            กินเสร็จก็เดินเที่ยว พลันนายหาวหมายเลข 2 ก็เข้าประจำการ เมื่อสายตาได้ประสบพบ ( ผัสสะ ) นาฬิการ ร้องว่า โอ้ สวยจัง ( สังขารปรุงแต่งว่าสวย ) ช๊อบ ชอบ ( เวทนา ) อยากได้จังเลย ( ตัณหา ) ทำไงดี เงินไม่พอ ( ทุกข์ใจ )

            กลับไปบ้านนอนฝันถึงนาฬิการอยู่ 3 วัน นายหาว 2 เต้น มโนห์ราอยู่ในใจตลอด 3 วัน เป็นทุกข์อย่างยิ่ง

            ระหว่าง 3 วันนั้น ไม่ว่านายหาว 4 จนถึงนายหาว 100 จะมาประจำการเรื่องอะไร ๆอื่นๆจนวุ่นไป แต่นายหาว 2 ก็ยังเกาะติดหัวใจอยู่ตลอดเวลาไม่ยอมปล่อย

            มีทางอยู่ 2 ทางที่นะจังงังจะเลือกทำ คือ

            ทางแรก เอามาให้ได้ ยอมแพ้นายหาว 2 อย่างหมดรูป ก็ไปยืมเงินท่านขุนพักตร์โลหิต ได้เงินมาด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 20 เอาไปซื้อนาฬิกามาสมใจ ต่อมาทุกเดือน ๆ ก็ต้องทำงานหน้ามืด โกงค่าขนมลูก เก็บค่ารถเมลล์เมีย ปล่อยให้เมียเดินไปทำงาน เพื่อรวบรวมเงินไปใช้หนี้

            และนอกจากนี้ยังมีความทุกข์ใจ มีลูกตัวเล็ก ๆ ของนายหาว 2 คอยเอาไม้จิ้มฟันแหลม ๆ แทงหัวใจ คือ ความที่นาฬิกาแพง ไปไหนก็ต้องระวังไม่ให้โดนขีดข่วน เดี๋ยวจะเป็นรอย นี่ตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งก็ให้ระวังเวลาถอดเก็บต้องใส่กุญแจให้ดี เดี๋ยวหาย ถ้าคืนไหนฝันร้าย ต้องลุกมาไขกุญแจดูว่า นาฬิกายังอยู่หรือเปล่า ดังนี้เป็นต้น ทุกข์เป็นนานจนกว่านาฬิกาจะเสีย ถ้าเกิดนาฬิกาเสีย นะจังงังจะเสียตาม ต้องจองวัด

            ทางที่สอง พระพุทธเจ้าสอนว่า “ เห็นก็ให้สักแต่ว่าเห็น “ คือ ตัดต้นทาง อย่าให้เกิดปรุงแต่งว่าสวย เกิดเวทนาว่าช๊อบ ชอบ เกิดตัณหาว่าอยากได้จัง

            นะจังงังเชื่อพระพุทธเจ้า เห็นให้สักแต่ว่าเห็น เขาจึงคิดว่าเออ ! ดีแล้ว อย่างน้อยก็ได้เห็นนาฬิกาสวย ๆ ครั้งหนึ่ง ลูกใครนะออกแบบเก่งจัง ดูจนช่ำแล้วก็คืนพนักงานขายไป แล้วเดินต่อไปฝรั่งว่า OUT OF SIGHT     OUT OF MIND คือ พอไม่เห็น ก็ออกไปจากใจ อันนี้เอามาใช้ได้ผลอยู่เหมือนกัน นะจังงังเดินไปดูของอย่างอื่นต่อ ไม่คิดถึงนาฬิกาอีก ใจไปอยู่ที่สิ่งอื่น ๆ ในที่สุดก็ลืมไปหมดทุกข์เรื่องนาฬิกา ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องคอยเก็บรักษาอย่างเป็นทุกข์

            พอนะจังงัง เลือกทางสายที่ 2 นายหาว 2 ประจำนาฬิกาก็ได้ตายไป โดยนะจังงังไม่ได้ตายตาม

            หัวหน้ามาเฟียตัวใหญ่ที่สุดก็คือ ตัณหา ดับมันเสียได้ก็พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องฝึกกำลังภายใน ใช้วิทยายุทธชั้นเยี่ยมจากเส้าหลินมาปราบมัน เขาสอนว่า “ กระบี่อยู่ที่ใจ “

            ก็ขอจบเรื่องปฏิจจสมุปบาทเพียงเท่านี้


<< กลับหน้าที่ผ่านมา
หน้าถัดไป >>
แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย

หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม