แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย
 
 กำลังอ่านอยู่ : 6 คน

ศัพท์ โลภ โกรธ หลง
 

            ต่อไปจะต้องเล่าถึงเรื่องโอวาทปาติโมกข์ แต่ก่อนจะเล่าต้องแทรกเรื่องของศัพท์ 3 ตัวนี้ไว้เป็นตัวนำเรื่อง

            เวลาเราอ่านหนังสือธรรมะ คำที่เจอบ่อยก็คือ โลภ โกรธ หลง เพราะมันคือกิเลส ตัวที่ทำให้เราวุ่นวายกันทั้งชีวิตนั่นแหละ

            แต่ความหมายของมัน ต่างจากในภาษาไทยที่เราพูดกันอยู่บ้าง จึงอยากให้เข้าใจกันไว้เลา ๆ เวลาไปอ่านเจอ จะได้รู้ว่าท่าน หมายถึง โลภ โกรธ หลง ในบาลี

            เคยได้ยินคนพูดกันมากเลยว่า เรื่องโลภนั้นไม่โลภหรอก มีแต่โกรธ ยังโกรธอยู่มาก คนเราจะรู้สึกอย่างนี้กัน เพราะเราคิดว่าโลภคืออยากได้ของคนอื่น หรืออยากได้ข้าวของอะไรไม่หยุด เรียกว่า โลภมาก

            แต่คำว่า โลภหรือโลภะ นั้น ท่านหมายถึงความพอใจ อะไรในโลกนี้ที่ทำให้พอใจ จัดเข้าหมวดโลภทั้งนั้น ตอนเย็นเลิกงานกลับบ้านแล้วว่าง นั่งดูโทรทัศน์สบายใจ ดูโทรทัศน์ก็จัดเป็นโลภไปแล้ว เพราะทำให้เราเกิดความพอใจ เมื่อพอใจก็ติดอยู่ในโลก อยากจะเกิดมาสบายอย่างนี้อีก ได้ดูอะไรสนุก ๆ อย่างนี้อีก เป็นต้น

            ไปทอดกฐิน เอากลองฉิ่งฉับไว้ท้ายรถ ร้องเพลงกันไป ตั้งแต่กรุงเทพฯถึงอุดรธานี ก็ได้ทำบาปเรื่องโลภไปตลอดทาง

            พูดอย่างนี้แล้ว ชีวิตเหมือนจะอยู่ไม่ได้ อะไรวะ ! ดูโทรทัศน์ก็ไม่ได้ ร้องเพลงก็ไม่ได้ ตายดีกว่า ความจริงตายก็ไม่ดีกว่า เพราะต้องไปเกิดใหม่อีก โอ๊ย ! กลุ้ม

            อันนี้ก็ไม่ต้องไปกลุ้มหรอก ก็ท่านสอนไว้ทุกระดับขั้น ตั้งแต่ต่ำสุดคือ ไม่โลภไปอยากได้ของคนอื่น แล้วชิงมา ค่อย ๆ สูงไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นสูงสุดคือ ไม่ยินดีพอใจในอะไร ใครทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ไม่อย่างนั้น เราคงต้องตามเอายูบีซีไปถวายพระธุดงค์ที่ถ้ำบนยอดเขา

            ส่วนคำว่า โกรธหรือโทสะนั้น ในภาษาไทยว่าโกรธคือโมโหนั่นแหละ แต่ถ้าโทสะ ก็หมายถึง ใดๆในโลกที่ไม่พอใจ ท่านจัดไว้เป็นโทสะ

            เรื่องที่เราไม่ได้โมโห แต่เราไม่ชอบ รวมทั้งเรื่องเศร้าเสียใจ ร้องไห้ ในภาษาไทย ถ้าบอกว่าร้องไห้เป็นโกรธก็คงฟังดูตลก แต่ในบาลีท่านหมายถึงทุกอย่างในฝ่ายที่ไม่ยินดี จัดเข้าพวกเดียวกันในบาลีท่านหมายถึงทุกอย่างในฝ่ายที่ไม่ยินดี จัดเข้าพวกเดียวกันหมด เพราะฉะนั้น เสียใจร้องไห้ก็คือลูกน้องของกลุ่มไม่ยินดีด้วย

            ส่วนหลง ก็คือไม่รู้

            โมหะคือ หลงนี้ คือไม่รู้ มีความไม่รู้หลายแบบมาก ท่านพุทธทาสอธิบาย ยกตัวอย่างเป็นบางตัวไว้ดังนี้

            มานะ แปลว่า สำคัญผิด คิดว่าเราเลวกว่าเขา เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา แล้วทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆขึ้น เช่นเกิดปมด้อย ปมเขื่อง

            ทิฐิ ในที่นี้ หมายถึง ฝ่ายที่เป็นอกุศล คือ มีความเข้าใจผิดต่าง ๆ เข้าใจผิดในเรื่องไม่เที่ยงว่าเที่ยง เรื่องทุกข์ว่าเป็นสุข เข้าใจสิ่งไม่ใช่ตัวตนว่าตัวตน อย่างนี้ หรือเข้าใจผิดถือว่าตายแล้วเกิดแน่ หรือเข้าใจผิดว่าตายแล้วหมดกัน ไม่มีอะไรเหลือ คำว่าทิฐินี้ก็แปลว่าหลง เป็นโมหะเหมือนกัน

            สงสัย คือ ยังไม่รู้ สงสัยเรื่อยไป

            ความซึมเซาเหงอหงอย ไม่มีความกล้าหาญร่าเริง อย่าเข้าใจว่า ความง่วงเหงา ซึมเซา เกียจคร้านนี้ ว่าไม่ใช่กิเลส ที่แท้เป็นกิเลสชนิดหนึ่งเต็มที่ของมันทีเดียว เป็นกิเลสประเภทโมหะ

            ความฟุ้งซ่าน สงบไม่ได้ ฟุ้งขึ้นตามอารมณ์เรื่อย

            ความไม่ละอายต่อบาป ไม่กลัวความชั่ว

            ตอนนี้คงเข้าใจความหมายของ โลภ โกรธ หลง กันแล้วในทำนองบาลี ต่อไปก็จะได้เข้าหลักธรรมที่ 2 คือ โอวาทปาติโมกข์

 


<< กลับหน้าที่ผ่านมา
หน้าถัดไป >>
แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย

หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม