|
 |
|
กำลังอ่านอยู่ : 8 คน |
|
|
|
|

ปัญหาอีกประการหนึ่ง
ก็คือลำดับการศึกษาก่อนหลัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์อันใด
เป็นเพียงความเห็นที่นำมาเล่าให้ฟังเท่านั้น
ในหลักธรรมเปรียบเป็นรูปธรรม
เพื่อให้เห็นง่ายนั้น เปรียบได้หลายอย่าง ในที่นี้ จะเปรียบเหมือนตัวคนเรานี่เอง
คือ ในขณะทีเราต้องสมัครเข้าทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง สมมุติว่าเราจะสมัครเป็นพนักงานพิมพ์คอมพิวเตอร์
เราจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการเร่งด่วน คือ เรียนรู้ว่าจะใช้นิ้วพิมพ์ยังไง
พิมพ์ 10 นิ้วยังไง ต้องจำรหัสอะไรบ้าง ใช้สายตาให้ว่องไวยังไง พิมพ์ช้าเอ้ออ้าเดี๋ยวก็ตกงาน
ตรงนี้เปรียบเหมือนหลักธรรมใหญ่
ๆ คือสิ่งที่เราต้องเอามาใช้ก่อน เพื่อลดทอนทุกข์ใจอันใหญ่และหนัก
ที่กำลังทับถมเราอยู่จนลุกไม่ขึ้น ให้มันเลื่อนออกไปเสียก่อน จิตใจนัวเนียอยู่กับสิ่งใดให้ทุกข์นัก
ธรรมะบอกให้วาง วางเลยไม่ต้องม้วนไปม้วนมา ไม่ต้องเผื่อกันเหนียว บอกให้ตัด
ตัดเลย ตัดได้มากได้น้อยก็เอาเถอะ ตัดไป ตัดไปเรื่อย ๆ
การทำอย่างนี้
เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า หักด้ามพร้าด้วยเข่าก็ได้ ทุกข์ใจหนักต้องผ่าตัด
จะมัวประเล้าประโลมประคบ ประหงมด้วยสมุนไพรช้า ๆ เห็นทีจะคางเหลือง
แต่ก็เหมาะกับคนชอบความเจ็บ ชอบผ่าตัดทุกข์ออกจากใจสด ๆ
เปรียบอีกอย่างก็เหมือนเวลาหิวจัด
เห็นอะไรเป็นสีเขียวๆแดงๆใกล้จะหน้ามืดแล้ว ก็ควรกินข้าวราดแกง ที่สั่งปุ๊ปตักราดแล้วกินได้เลย
หลักธรรมใหญ่
ๆ ที่กล่างถึงนี้ ก็คือ คำสอนหลักของหลวงพ่อพุทธทาสที่ท่านเน้นไปเน้นมาอยู่ไม่กี่เรื่องนี่เอง
คือ อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน , จิตว่างคือทำใจให้ว่างจากกิเลศที่เข้ามา
อย่าเดินตามมันไป แม้มันจะมาตาม , การปล่อยวาง , ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด
เพราะทุกอย่างไม่เที่ยง , มันเป็นเช่นนั้นเอง
เมื่อคิดถึงข้อธรรมเหล่านี้กับทุกเรื่องที่เข้ามาในใจทุกวัน
มันจะเกิดการเรียนรู้ที่จะต่อสู้กันใหญ่ในใจของเรา การปล่อยวางปากพูดแต่ใจไม่วาง
วางไม่ลง วางไม่ได้ วางแล้วยังจับไว้ไม่ปล่อย กว่าจะทั้งปล่อยทั้งวางได้
สู้กันหนัก เพราะเราติดอยู่กับอัตตาตัวตนของเรานั่นเอง ถ้าเราเข้าข้างธรรม
ไม่ช้าเราจะชนะ วางเลย วางลง วางได้หรือไม่ได้
เชียร์ตัวเองไว้ก่อน แต่หากเข้าข้างตัวเอง เราจะแพ้ เราจะ
จริงด้วย วางได้ไง วางไม่ได้ ยอมแพ้เสียหน้าไม่วาง
ถึงตรงนี้บางท่านอาจจะนึกหมั่นไส้ว่าพูดอย่างนี้ได้อย่างไร
ของมันต้องฝึกกันยาวนาน จะมาพูดว่าบอกให้ปล่อย ก็ปล่อยเลย เรียกว่า
พูดพล่อย ๆ หรืออวดดี แต่ขอเรียนว่าไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นกลวิธีที่จะนำตัวเองไปในขณะปฏิบัติ
ซึ่งผลนั้นมากน้อยแล้วแต่บุคคล หากแต่ได้สอบถามถึงการปฏิบัติกับหลายคน
เมื่อทำไประยะหนึ่งแล้ว ก็ได้คำตอบว่า รู้สึกเย็นลง
มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวเองที่ดีขึ้น ซึ่งอันนี้จะทำให้คนทำรู้สึกมีกำลังใจที่จะทำต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไป
ได้เข้าใจตนเอง ได้เกิดความสงบเย็นขึ้นในใจแล้ว หลังจากนั้น จึงค่อยหาโอกาสศึกษาธรรมในรายละเอียด

เปรียบเหมือนพนักงานคอมพิวเตอร์คนหนึ่ง
เมื่อได้งานมั่นคงแล้ว ก็มีเวลาสนใจตัวเองในเรื่องอื่น เช่น ศึกษาสรีระว่า
มือที่ใช้พิมพ์นั้น ประกอบด้วยนิ้วมือ ผิวหนัง กระดูก เอ็น เส้นเลือด
เม็ดเลือดแดง ประกอบกันอย่างไร
หรือเปรียบเหมือนคนหิว
เมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว จึงไปศึกษาว่า แกงเขียวหวานที่กินไปเมื่อครู่
ประกอบด้วยอะไร กะทิ มะเขือ ไก่ ฯลฯ และศึกษาลึกไปแต่ละตัว ว่ามะเขือปลูกยังไง
ไก่เลี้ยงยังไง มาจนปรุงยังไงในที่สุดมาเป็นแกงอยู่ในชาม
ธรรมที่ละเอียดก็เป็นเช่นเดียวกัน
สอนลงไปถึงจิตว่ามีอกุศลจิต 12 อย่าง มหากุศลจิต 8 หรือเจตสิก คือ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตมี 52 ประเภท ใด ๆ บ้าง ละเอียดลงไปมากมาย ลึกลงไปถึงดีเอ็นเอ
ต่อไปถึงวิญญาณ ทะลุไปถึงการเกิดใหม่ ลอยไปถึงขั้นเทวดา และผ่านรกให้ดู
แต่ละคนที่ไม่ได้อยู่กลางพายุปัญหา
ก็เรียนรู้ได้ เป็นบทเรียนที่เป็นลำดับขั้นตอน มีอาจารย์สอน ใช้เวลายาวนานเป็นปี
ๆ ในการเล่าเรียน บางคนแก่แล้ว ว่างตลอดจึงเรียนหลายรอบ ใช้เวลามาแล้ว
18 ปีก็มี

คนที่มีน้ำตาไหลพราก
เดินมาหยุดฟังบรรยายธรรม เช่นนี้ ก็จะยังเอาไปใช้อะไรไม่ได้ในวันนั้น
เหมือนคนไม่เคยเรียนหนังสือแล้วมาเจอคนบอกว่า น้ำในแก้วนี้ ประกอบด้วยไฮโดรเจน
2 ส่วน จับตัวกับออกซิเจน 1 ส่วน ย่อมไม่เข้าใจเป็นธรรมดา แต่ถ้าบอกว่าน้ำแก้วนี้กินได้
ก็ยกขึ้นกินเลย ได้ประโยชน์ไปตรงกับปัญหา
สำหรับคนที่ชีวิตไม่มีปัญหา
สนใจธรรม มีเวลาศึกษายาวนานก็สึกษาธรรมละเอียดก่อนได้ หลักธรรมใหญ่ก็จะอยู่ในเนื้อหาของธรรมละเอียดนี่เอง
เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง จะยืนมองดูลำต้น กิ่ง ใบ ผล ดอก ก่อนก็ได้ หรือจะดูเซลล์
ท่อน้ำเลี้ยง ข้างในแล้วค่อยดูแก่น กระพี้ เปลือก ก็ย่อมเห็นลำต้นอยู่ตรงนั้นด้วยไปในตัว
การลำดับการศึกษาธรรมจึงอยู่ที่ความจำเป็นเร่งด่วนของจิตใจ
ว่ารุ่มร้อนหรือสงบเย็นเพียงใด ถ้าไฟติดลุกร้อนก็ต้องเอาขวานจาม ตัดการลุกไล่
แล้วโยนลงแม่น้ำโดยเร็ว เพื่อดับไฟเสียก่อน
ท่านจึงว่าเรียนธรรมไว้ก่อนก็จะดี
คล้ายมีภูมิต้านทานเมื่อเกิดเหตุเภทภัยขึ้น ก็พร้อมรับมืออยู่แล้ว
เหมือนปลูกข้าวไว้รอ เมื่อหิวก็เอาไปหุงกินได้ แต่ถ้าไม่สนใจ พอหิวค่อยมาพรวนดิน
หว่านข้าว มันก็ไม่ทันการณ์ อันนี้ต้องเป็นลมตาย

|