ธรรมจักรล้อนี้มีที่น่าสังเกตคือ
ฐานสำหรับตั้งจำหลักเป็นดอกบัวใหญ่คล้ายบัวหัวเสา ทำแย้มกลีบกางออกอย่างแบบบัวกระจับ
รองรับวงล้อ บนดอกบัวใหญ่นั้นจำหลักรูปนางกษัตริย์นั่งขัดสมาธิราบ
ที่กล่าวว่านางกษัตริย์ ก็เพราะในรูปมีศิราภรณ์ สองหัตถ์ประคองพระอุทร
มีช้างสองเชือกยืนอยู่บนกลีบบัวดอกเดียวกันนั้นด้วยข้างละตัว ต่างชูงวงลือเต้าน้ำเทลงมายังนางกษัตริย์
( ดูรูปที่ 26 ) ล้อธรรมจักรนี้ ถ้าว่าในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ก็ควรได้รับพิจารณาอย่างยิ่ง จึงขอนำข้อคิดเห็นมากล่าวต่อไป
รูปที่ 26
ธรรมจักรหินปูน (ชำรุด) พิพิธภัณฑสถาน ฯ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
เบื้องล่างจำหลักเป็นนางกษัตริย์ประทับนั่งบนดอกบัวใหญ่
มีช้างสองเชือกชูงวง ถือเต้าน้ำเทลงมา
( เปรียบเทียบกับภาพลายเส้นแสดงส่วนสมบูรณ์ ดูรูปด้านล่าง )

ภาพลายเส้นแสดงส่วนสมบูรณ์ของธรรมจักรหินปูน
รูปที่ 26

ภาพนางกษัตริย์นั่งบนดอกบัวใหญ่
มีช้างสองเชือกชูงวงถือเต้นน้ำเทลงมา
ภาพลายเส้น ขยายจากรูปที่ 26
( เปรียบเทียบรูปที่ 29 และรูปที่ 31 )
รูปจำหลักเป็นนางกษัตริย์นั่งบนดอกบัวใหญ่
และมีช้างสองเชือกยืนอยู่ 2 ข้าง ต่างชูงวงยกเต้าน้ำเทรพลงมายังนางกษัตริย์ที่ล้อธรรมจักรดังกล่าวนี้
ศิลปินผู้สร้างและผู้แกะจำหลักในถิ่นนี้ จะคิดขึ้นเองหรือได้แบบอย่างมาจากไหน
? เราควรจะลองค้นคว้าหาแหล่งที่มาของแนวความคิดและแบบอย่างกันดู จะค้นคว้าได้อย่างใด
? ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ได้มีผู้นำเอาแบบอย่างวัฒนธรรมอินเดียโบราณเข้ามาสู่ดินแดนภาคนี้
เราจึงลองพากันเดินทางไปสืบดูในดินแดนนั้นบ้าง บางทีอาจพบแนวความคิดดังกล่าว
และสมมติว่าเรามีโอกาสได้เดินทางไปชมและนมัสการปูชนียสถานในอินเดียตอนกลาง
ผ่านไปนมัสการปูชนียสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โพธิคยา แล้วไปสารนาถที่ทรงประทานปฐมเทศนา
แล้วผ่านลึกเข้าไปตอนภาคกลางของประเทศไปดูภารหุต และวกลงไปนครอุชเชนีโบราณ
แล้วค่อย ๆ เลี้ยวลงทางตะวันตกเฉียงใต้เข้าไป จะพบบรรดาปูชนียสถานโบราณ
ณ บริเวณสาญจี ซึ่งมีพระมหาสถูป มีกำแพงศิลาและมีประตูหรือโดรณทำด้วยหิน
ตั้งตระหง่ายประจำอยู่ทั้งสี่ทิศ ประกอบด้วยพระสถูปใหญ่น้อยและปูชนียสถานอื่น
ๆ อีกมากมายมีภาพจำหลักเป็นคนและสัตว์ เป็นลายประดับ เป็นชาดกบางเรื่องและเป็นสัญญลักษณ์แสดงปางต่าง
ๆ ในพุทธประวัติบางตอน ซึ่งนักค้นคว้าทางโบราณคดีค้นพบว่าพระมหาสถูปสาญจีนั้น
แรกสร้างขึ้นไว้ในสมัยราชวงศ์เมารยะหรือโมริยะ ครองประเทศอินเดีย ราวระหว่าง
พ.ศ. 220 หรือ พ.ศ. 230 ถึงราว พ.ศ. 356 ซึ่งตั้งนครหลวงอยู่ ณ นครปาฏลิบุตร
ราชวงศ์เมารยะนี้มีพระมหากษัตริย์ที่นักประวัติศาสตร์รู้จักพระนามกันดี
3 พระองค์ คือ พระเจ้าจันทรคุปต์ ผู้ตั้งราชวงศ์เมารยะ พระเจ้าพินทุสาร
ซึ่งมีฉายาว่า อมิตตฆาฏ และพระเจ้าอโศก มหาราช องค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระบวรพุทธศาสนา
พระมหาสถูปสาญจีก็ดี ภาพจำหลักเป็นสัญญลักษณ์ที่ช่างศิลปชาวอินเดียนำมาใช้แสดงเป็นปางต่าง
ๆ ในพุทธประวัติก็ดี นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลงความเห็นกันว่า
ได้สร้างขึ้นและนำมาใช้ในรัชสมัยพระเจ้าอโศก มหาราช ซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง
ปี พ.ศ. 270 ถึง 311* สถานที่ซึ่งเรียกว่า สาญจี นั้นเป็นเนินเขา ในคัมภีร์มหาวงศ์
ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกา เรียกเนินเขาสาญจีว่า เจติยคิรี ปัจจุบันอยู่ในแคว้นโภปาล
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระเจ้าโอศก ครั้งดำรงตำแหน่งรัชทายาทและเสด็จไปยังนครอุชเชนี
ระหว่างทางได้หยุดประทับพักอยู่ ณ คฤหาสน์ของเศรษฐีผู้หนึ่งในเมืองวิทิศา
( คือเมือง Besnagar ปัจจุบัน ) ได้ทอดพระเนตรเห็นลูกสาวเศรษฐีผู้นั้นทรงสิริโฉมงดงาม
ก็ทรงสิเนหา และได้ทรงอภิเษกกับธิดาของเศรษฐีผู้นั้น เป็นมเหสีองค์แรก
ต่อมาพระมเหสีองค์นี้มีพระนามว่า วิทิศา - มหาเทวี 3 องค์ เป็นโอรส
2 ชื่อ อุชเชนิยะ กับ พระมหินท์ ** ส่วนธิดา คือ นางสังฆมิตตา ครั้นพระเจ้าอโศกได้เสวยราชย์สืบราชสมบัติต่อมาพระเจ้าพินทุสาร
พระราชบิดา และได้ทรงอุปถัมภ์พระบวรพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ทรงเป็นอุปถัมภกทำตติยสังคายนาซึ่งจัดให้มีขึ้น
ณ กรุงปาฏลิบุตร พระมหินท์ ราชโอรสก็เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา
และพระราชบิดได้โปรดให้ทรงเป็นหัวหน้านำคณะสมณฑูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป
ซึ่งในตำนานกล่าวว่า ก่อนพระมหินทเถระจะไปลังกานั้น ได้เสด็จไปเยี่ยมโยมมารดาที่เจติยคิรี
ใกล้เมืองวิทิศา และได้พักอยู่ในวิหารอันโอ่อ่าที่โยมมารดาได้สร้างขึ้นที่นั่น
ณ บริเวณเนินเขาสาญจี ซึ่งเรียกว่า เจติยคิรี พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงสร้างหลักศิลาจารึกพระราชโองการของพระองค์
ตลอดจนทรงก่อสร้างอนุสรณสถานอื่น ๆ ไว้ ณ เนินเขานั้นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
ก่อนหน้านั้นหรือระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าอโศกว่า "ได้ทรงทำให้ชมพูทวีป
( คืออินเดีย ) งดงามด้วยพระสถูปเจดีย์ชั่วพริบตา ด้วยอานุภาพของพวกยักษ์"
ตำนานทางพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่า พระเจ้าอโศกได้ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์จำนวนถึง
84,000 ในดินแดนประเทศอินเดีย และอาฟกานิสถาน แม้ตำนานจะกล่าวจำนวนไว้ดูจะมากเกินไป
แต่ก็แสดงว่าได้ทรงสร้างไว้มากมายรวมทั้งที่สร้างมหาสถูปสาญจีในแคว้นโภปาลดังกล่าวด้วย
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว อำนาจของพระราชวงศ์เมารยะก็เสื่อมลง
มหาอาณาจักรของราชวงศ์เมารยะก็แตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย กษัตริย์พระองค์สุดท้ายในราชวงศ์เมารยะ
ทรงพระนามว่า พฤหัทรถ ก็ถูกเสนาบดีมีนามว่าปุษยมิตร ซึ่งเกิดในสกุลพราหมณ์
ปลงพระชนม์เมื่อราว พ.ศ. 356 แล้วปุษยมิตรก็ขึ้นครองราชสมบัติและตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อ
ราชวงศ์ศุงคะ
พระเจ้าปุษยมิตร
แห่งราชวงศ์ศุงคะ ขึ้นครองราชสมบัติ ณ นครปาฏลิบุตร ราวระหว่าง พ.ศ.
356 - 392 มีตำนานกล่าวว่า ทรงเป็นศัตรูจองล้างจองผลาญพระพุทธศาสนา
เช่นที่กล่าวไว้ในคัมภรีย์มัญชุศรีมูลกัลป ว่า นาศยิษฺยติ
ตทา มุธา วิหารํ ธาตุวรํ สตธา ภิกฺษวะ ศีลสมฺปนฺนมฺ ฆาตยิษฺยติ ทุรฺติ
แปลว่า "ครั้งนั้น ผู้โฉดเขลา จักทำลายวิหารที่ประดิษฐานพระบรมธาตุให้ย่อยยับหาประโยชน์มิได้
จักฆ่าพระภิกษุผู้มีศีลสมบูรณ์" และว่าพระเจ้าปุษยมิตรทรงกำหนดวางสินบนเป็นค่าศีรษะพระภิกษุสงฆ์ไว้ด้วย
ดังมีกล่าวในคัมภรีย์ทิวยาวทาน ว่า โย เม ศฺรมณศิโร ทาสยติ,
ตสฺยาหํ ทินารฺศตํ ทาสยามิ แปลว่า "ผู้ใดนำศีรษะสมณะมาให้แก่เรา
เราจะให้รางวัลหนึ่งร้อยทินาร์แก่ผู้นั้น" นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวแย้งว่า
ข้อความในคัมภีร์ทั้งสองนี้ ดูจะเป็นคำปรับปรำพระเจ้าปุษยมิตรเกินไป
แต่ก็มีความจริงอยู่ว่า พระเจ้าปุษยมิตรนั้นมีพระชาติกำเนิดเป็นพราหมณ์และทรงนับถือศาสนาพราหมณ์
ทั้งปรากฏว่าภายหลังปราบดาภิเษกแล้ว ก็ได้โปรดให้รื้อฟื้นความเชื่อถือและลัทธิพิธีสมัยพระเวทขึ้นมาอีก
ซึ่งเป็นการตรงข้ามกับพระเจ้าอโศกมหาราชที่โปรดอุปถัมภ์บำรุงพระบวรพุทธศาสนา
จึงเป็นธรรมดาที่พระภิกษุสงฆ์ และชาวพุทธศาสนิกจะพากันไม่พอใจ จึงได้มีข้อความปรากฏในพระคัมภีร์ดังกล่าว
............................
* ปีเสวยราชย์และสวรรคตของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ กำหนดตามเลขคริสต์ศักราช
ในหนังสือ History of Fine Art in Indes & Ceylon ของ Vincent
A. Smith โดยใช้เกณฑ์ 543
** นักปราชญ์ฝรั่งบางท่านกล่าวว่า บางตำนานอ้างว่า พระมหินท์เป็นพระอนุชา
ของพระเจ้าอโศก
|