หน้าหลัก l กระดานสนทนา l สมุดเยี่ยม l รวมเว็บ 
 
หน้า 6 หน้า 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l 9


                  ล้อธรรมจักรที่ทำด้วยหินปูนสีเขียวแก่ดังกล่าว มีลวดลายจำหลักอยู่ทั่วไป ทั้งที่วงรอบดุม ที่กำและที่กง โดยปกติที่วงรอบดุมจะมีรูปจำหลักเป็นเม็ดกลม ๆ เรียกว่า ลายเนื่อง โดยรอบ คงจะสมมติเป็นเกสรบัว แล้ววงถัดออกมา จำหลักเป็นกลีบบัวธรรมดาบ้าง บัวรวนบ้าง บัวฟันยักษ์บ้าง วงถัดออกมาจำหลักเป็นลายเนื่องโดยรอบอีก ถัดออกมาจำหลักเป็น ซี่กำ โคนใหญ่ปลายย่อม ให้เห็นซี่เป็นรูปกลมบ้าง เป็นเหลี่ยมบ้าง และที่วงล้อเบื้องล่างจำหลักเป็น บัวคว่ำหัวหงาย มี ลายก้านขด ต่อขึ้นไปเป็นรูป 3 เหลี่ยม บางล้อก็มีรูปเทวดาหรือกษัตริย์ทรงมงกุฎโผล่พระพักตร์เพียงอุระ สองหัตถ์เกาะอยู่ขอบราวกลีบบัว คล้ายโผล่บัญชร ( ดูรูปที่ 21 )


รูปที่ 21
ธรรมจักรหินปูน ขุดพบในโบราณสถาน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ที่ฐานจำหลักเป็นรูปเทวดาหรือกษัตริย์โผล่บัญชร หัตถ์ทั้งสองเกาะราวกลีบบัว
ที่ฐานรองรับสี่เหลี่ยมมีจารึกคาถาภาษาบาลี ( ดูรปที่ 25 )


                  ปลายกำด้านติดกับ ท้องกง แต่ละซี่จำหลักเป็นกระหนกคล้าย บัวหัวเสา รับท้องกง วงถัดออกมาเป็นท้องกง จำหลักเป็น เส้นลวด เสียรอบหนึ่ง ถัดออกมาก็จำหลักเป็น รักร้อยประเภทกลีบบัว เป็นวงไปโดยรอบบ้างเป็น ลายก้านขด ชั้นเดียวหรือสองชั้นบ้าง เป็น ลายก้านต่อดอก บ้าง แล้วจำหลักเป็น เส้นลวด คั่น วงขอบนอกของกงจำหลักลายคล้าย กระหนกเปลว บ้าง เป็น เม็ดบัว บ้าง เป็นรูปอื่น ๆ บ้าง แต่ธรรมจักรบางอันก็จำหลักละเอียดประณีตกว่าที่กล่าวมานี้มาก เช่น ธรรมจักรศิลาอันใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำหลักลวดลายละเอียดหลายวงหลายชั้น* และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ธรรมจักรทุกล้อ จำหลักเป็นฐานที่ตั้งติดอยู่ในบัว แต่บางล้อก็ทำเป็นแกนคล้ายกับจะเสียบตั้งลงในฐานะรองรับอันอื่น ฐานที่ตั้งติดล้อนั้น บางอันก็จำหลักเป็นบัวหงายบัวคว่ำ บางอันที่เป็นบัวหงายก็จำหลักกลีบบัวเสียยาวเฟื้อยมองดูคล้ายหอยแคลง ( ดูรูปที่ 17 ) บางอันก็ทำเป็นลายก้านขดคู่ บางอันก็ทำเป็นลวดลายอย่างอื่น และบางอันก็ทำเป็นลายกระหนกสูงขึ้นมาปิดซี่กำด้านล่างจนถึงขอบดุม มีล้อธรรมจักรอยู่ 2 ล้อ ที่ฐานด้านตั้งทำเป็นรูปเทวดานั่งขัดสมาธิราบ มือทั้งสองถือก้านชูดอกตูมข้างละดอกยกขึ้นเหนือบ่าทั้งสอง ซึ่งท่านผู้รู้บางท่านอธิบายว่าเป็นรูปอรุณเทพบุตร ( ดูรูปที่ 22 ) และมีอยู่ล้อหนึ่งที่ข้างทั้งสองของอรุณเทพบุตรนั้นจำหลักเป็นรูปคนแคระหรือกุมภัณฑ์ เอาหลังยันแบกขอบล่างของวงล้อข้างละคน ( ดูรูปที่ 23 )


                   
รูปที่ 22                                                        รูปที่ 23
ธรรมจักรหินปูน พิพิธภัณฑสถาน ฯ พระปฐมเจดีย์          ธรรมจักรหินปูน ที่ฐานรองมีรูปอรุณเทพบุตร
กงล้อ จำหลักเป็นลายก้านขอ ที่ฐานรองรับทำเป็น            และมีคนแคระหรือภุมภัณฑ์ แบบอยู่สองข้าง
รูปเทวดาถือดอกบัว หรืออรุณเทพบุตร..........................................................................

กับมีฐานของธรรมจักรชิ้นแตกหัก แต่ตรงที่เป็นรูปอรุณเทพบุตร หรือบางท่านว่าเป็นรุปครุฑ ถือดอกบัว ยังอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ ตั้งอยู่ที่ระเบียงพระปฐมเจดีย์อีกชิ้นหนึ่ง ( ดูรูปที่ 24 ) กับขุดพบที่เนินโคกเจดีย์ ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่ากำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อีกล้อหนึ่ง ที่ฐานศิลา 4 เหลี่ยมจารึกคาถาภาษาบาลี ( ดูรูปที่ 21 และ 25 ) ว่า


                     
รูปที่ 24                                                            รูปที่ 25
ฐานธรรมจักรหินปูน ระเบียงวิหารคต                          ฐานรองรับธรรมจักรศิลารูปที่ 21
พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม                         มีจารึกคาถาภาษาบาลี ดูคำอ่านด้านล่าง
รูปเทวดาหรือบางท่านว่าเป็นรูปครุฑถือดอกบัว         ขุดพบที่โบราณสถานเมืองกำแพงแสน
............................................................................   อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

                                           สจฺจกิจฺกตญาณํ          จตุธา จตุธา กตํ
                                           ติวฏฺฏํ ทฺวาทสาการํ     ธมฺมจกฺกํ มเหสิโน

       
         แปลว่า ธรรมจักร ของพระ (พุทธเจ้า) ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ ทำ (ซี่กำ) ให้เป็นสี่ ๆ (คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) มีญาณรู้สัจจะ รู้ที่ควรทำ รู้ที่ทำแล้ว หมุนไป 3 รอบ จึงเป็นอาการ 12

                ที่ข้าพเจ้านำเรื่องลวดลายจำหลักในธรรมจักรศิลามากล่าวโดยสังเขป ก็เพื่อเป็นแนวให้ท่านผู้สนใจใช้เป็นข้อสังเกตเมื่อพบเห้น ลักษณะของลวดลายในล้อธรรมจักรดังกล่าวนี้ นักโบราณคดีวินิจฉัยกันว่าธรรมจักรในเมืองไทย เป็นของทำขึ้นในสมัยทวารวดี ( พุทธศตวรรษที่ 11 - 16 ) เพราะส่วนใหญ่คล้ายกับลวดลายสมัยราชวงศ์คุปตะในอินเดีย ถ้ากระนั้นก็แสดงว่าได้มีผู้นำเอาแบบอย่างวัฒนธรรมของอินเดียโบราณ เข้ามาสู่ดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ภาคนี้ อย่างน้อยก็ในสมัยราชวงศ์คุปตะครองประเทศอินเดีย ระหว่าง พ.ศ. 850 - 1150 หรือถัดมายังมีธรรมจักรศิลาชิ้นสำคัญอีกล้อหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่แตกชำรุดและบางส่วนหายไป เดี๋ยวนี้เก็บรักษาล้อธรรมจักรนี้ไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ฯ พระปฐมเจดีย์

 


หน้า 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l 9  หน้าถัดไป >>