หน้าหลัก l กระดานสนทนา l สมุดเยี่ยม l รวมเว็บ 
 
หน้า 5 หน้า 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l 9


                 ถ้าจะพากเพียรขบคิดหาหัวข้อธรรมเข้าประกอบคำอธิบายให้ลงตัวได้ จำนวนเท่ากับซี่กำของวงล้อนั้น ๆ ก็เชื่อว่าคงจะพากเพียรขบคิดค้นหากันจนได้ แต่ก็คงจะเลอะเทอะเลื่อนลอยไม่เป็นหลักเกณฑ์ที่จะพึงยึดถือให้เกิดสาระอันใด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าช่างที่สร้างกงล้อหรือธรรมจักรศิลานี้ขึ้นไว้ อาจจมิได้มุ่งหมายจะทำซี่กำให้มีจำนวนเท่ากับหลักธรรมข้อนั้นข้อนี้ หากแต่คงคิดประดิษฐ์ให้เป็นเครื่องหมายแทนพระธรรมจักร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเทศนา และพระธรรมจักรที่พระพุทธเจ้าโปรดเทศนานั้น ก็ตรัสไว้ตรงตัวอยู่แล้วว่า ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺต ซึ่งแปลว่าได้ว่าพระสูตรว่าด้วยการหมุนล้อแห่งธรรม หมายความว่าธรรมจักร หรือล้อรถแห่งธรรมนั้นมิได้ตั้งอยู่เฉย ๆ แต่หมุนเวียนไป ซึ่งในพระสูตรนั้นเองก็บอกไว้แล้วว่า "ธรรมจักรประเสริฐยิ่ง ที่สมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใคร ๆ ในโลก หมุนกันไม่ได้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมุนได้แล้ว" เมื่อช่างมาประดิษฐ์สร้างขึ้นเป็นวงล้อ เป็นสัญญลักษณ์ประทานปฐมเทศนา ก็คงมุ่งหมายให้คนดูเห็นว่า ล้อกำลังหมุนไป เมื่อวงล้อมันหมุน สายตาของเราที่มองดูอยู่ก็จะเห็นจำนวนของซี่กำแตกต่างกันไป สุดแต่สายตาจะกำหนดได้ แต่การเขียนภาพหรือทำรูปซึ่งเป็นของตั้งอยู่กับที่ จะทำให้เห็นเป็นหมุนได้อย่างไร เขาคงคิดกันมาแล้ว ข้อนี้ถ้าพิจารณาโดยอาศัยหลักศิลปทางจิตรกรรม และประติมากรรมเข้ามาประกอบกับข้อความในพระบาลีที่กล่าวข้างต้น และสังเกตให้ดี จะเห็นลายกระหนกที่ขอบกงชั้นนอกของธรรมจักรหรือวงล้อศิลาบางอันช่างเขาทำอย่างมีความหมาย คือทำเป็นลายกระหนกเอนลู่ไปมารอบ ๆ วง แสดงว่า ล้อ หรือธรรมจักรนั้นกำลังหมุนไป มิได้หยุดนิ่ง อาจหมุนเป็นอนุโลมปฏิโลมก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเทียบล้อวงล้อที่บัวหัวเสาของของพระเจ้าอโศก จะเห็นท่าทางของสัตว์ทั้งสี่กำลังวิ่งและเดิน เมื่อสัตว์เหล่านั้นต่างวิ่งและเดิน วงล้อหรือธรรมจักรจะตั้งอยู่นิ่ง ๆ ได้อย่างไร จำจะต้องหมุนไปด้วย

                        
รูปที่ 12                                              รูปที่ 13

ธรรมจักรศิลาแลง                                               ธรรมจักรหินทราย
พิพิธภัณฑสถานฯ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                  ธรรมจักรหรือวงล้อศิลา ทำลอยตัว ดังกล่าวมาแล้วนั้นเป็นของทำด้วยหินแลงก็มี ทำด้วยหินทรายก็มี แต่เป็นส่วนน้อย เท่าที่พบเห็นก็มีอยู่ 2 - 3 อัน และไม่มีลวดลายจำหลักอันใด นอกจากสกัดให้เป็นรูปวงล้อ มีดุม มีกำและมีกง เช่นที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ฯ พระปฐมเจดีย์ ( ดูรูปที่ 12 ) และในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ( ดูรูปที่ 13 ) แต่ก็ล้อธรรมจักร ส่วนมากเท่าที่พบในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นของทำด้วยหินปูนสีเขียวแก่ อย่างที่เรียกว่า bluish limestone ( ดูรูปที่ 14 - 20 ) ธรรมจักรที่ทำด้วยหินปูนสีเขียวแก่นี้ ได้เคยสืบหาแหล่งหินกัน และเข้าใจว่าเป็นเนื้อหินที่หาได้จากบริเวณเขาตกน้ำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี กับบริเวณห้วยชินสีห์ จังหวัดราชบุรี และบริเวณเทือกเขาในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่ว่าหาได้จากบริเวณนั้นบริเวณนี้ เพราะไม่แต่จะหาหินชนิดนั้นได้จากภูเขา หากแต่มีหินชนิดดังกล่าวเป็นแผ่นหินลอยตัวอยู่ตามพื้นดินที่ราบในบริเวณนั้นๆ เช่นล้อธรรมจักที่วัดคลองขวาง ตำบลเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา ( ดูรูปที่ 7 ) ก็คงทำจากแผ่นหินที่หาได้ในลำห้วยแถวตำบลเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน นั่นเอง และขอบอกกล่าวไว้เสียเลยว่า เนื้อหินของธรรมจักรที่วัดคลองขวาง เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมจักรที่พบในจังหวัดนครปฐมแล้ว เห็นได้ว่าฝีมือช่างและเนื้อหินต่างกัน เพราะทำจากหินและฝีมือช่างต่างถิ่นกัน หินปูนดังกล่าวนี้ นอกจากนำมาจำหลักเป็นล้อธรรมจักรแล้วยังใช้จำหลักเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ ด้วย คงจะเนื่องด้วยเนื้อหินชนิดนี้อ่อน แกะจำหลักได้ง่าย และธรรมจักรที่ขุดพบในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้พบทั้งฐานและเสาศิลา จึงเข้าใจกันว่า ล้อธรรมจักรที่เห็นกันมา แต่เดิมคงจะตั้งอยู่บนยอดเสา หน้าพระสถูป ( ดูรูปที่ 1,2 และ 27,28 เปรียบเทียบ )


รูปที่ 14
ธรรมจักรหินปูน  ระเบียงวิหารคต  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
รอบดุมจำหลักเป็นบัวรวน  กงโดยรอบเป็นลายก้านขด


รูปที่ 15
ธรรมจักรหินปูน  ระเบียงวิหารคต  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
รอบดุมจำหลักบัวกลีบเตี้ย  กงเป็นลายประจำยาม



รูปที่ 16
ธรรมจักรหินปูน  ระเบียงวิหารคต  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม



รูปที่ 17
ธรรมจักรหินปูน  ระเบียงวิหารคต  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
บัวรอบดุมไม่มีเกสร วงล้อเป็นลายเนื่องและเส้นลวด
บัวรองทำเป็นกลีบยาวคล้ายกาบหอยแคลง



รูปที่ 18
ธรรมจักรหินปูน  ระเบียงวิหารคต  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
ลวดลายรอบดุมและที่กงจำหลักเป็นลายบัวรวนแข้งสิงห์
ฐานรูปสี่เหลี่ยมเจาะรู



รูปที่ 19
ธรรมจักรหินปูน  ระเบียงวิหารคต  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
ลายรอบดุน  จำหลักเป็นลายกลีบบัว ( ธรรมดา )
ส่วนลายขอบกง จำหลักเป็นรูปบัวฟันยักษ์



รูปที่ 20
ธรรมจักรหินปูน  พิพิธภัณฑสถาน ฯ  พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม
ที่กงล้อจำหลักเป็นลายก้านขด


หน้า 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l 9  หน้าถัดไป >>