หน้าหลัก l กระดานสนทนา l สมุดเยี่ยม l รวมเว็บ 
 
หน้า 4 หน้า 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l 9 


                  ธรรมจักรที่พบในประเทศไทยส่วนมากจำหลักลอยตัว และจำหลักทั้งสองด้าน มีอยู่อันหรือสองอันที่จำหลักด้านเดียวเช่นที่ในวัดมหาธาตุจังหวัดเพชรบุรี ล้อธรรมจักรที่พบและรู้จักกันในประเทศไทยนั้น เข้าใจว่าเริ่มแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งโปรดให้ขุดแต่งบูรณะพระปฐมเจดีย์ในรัชกาลที่ 4 ปรากฎว่าได้ขุดพบธรรมจักรหรือวงล้อศิลา ในบริเวณพระปฐมเจดีย์ เป็นจำนวนหลายอัน ซึ่งบางอันแตกหัก ชิ้นส่วนสูญหายไป ที่ยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ดีก็มี แต่ละอันมีลายประดับมากบ้างน้อยบ้าง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงนิพนธ์ถึงธรรมจักรหรือวงล้อเหล่านี้ไว้ในเรื่องพระปฐมเจดีย์ มีความตอนหนึ่งว่า "เขาขุดได้จักรศิลาที่คนแต่ก่อนทำบูชาพระไว้ในวัดเก่า ๆ จมอยู่ใต้ดินมีหลายอัน นี่ก็รู้ได้ว่าแต่ก่อนนั้นเห็นจะเป็นเมืองใหญ่โต ไพบูลย์ด้วยโภไคยไอศวรรย์สมบัติ เป็นเเมืองอันพระมหากษัตริย์ได้ครอบครอง เห็นท่านผู้เป็นเจ้าของจักรสำคัญคิด ว่าสมบัติของเรานี้วิจิตรโตใหญ่อยู่แล้ว ยังขาดอยู่แต่จักรแก้วยังหามีไม่ จึงได้ทำจักรศิลาบูชาพระรัตนตรัยในเพลานั้น ด้วยมุ่งหวังหาผลเป็นสำคัญของท่านผู้ครอบครองแผ่นดิน อีกอย่างหนึ่งจะทำไว้ให้เห็นว่าเมืองนี้เป็นสุทัศนเทพนคร เมื่อถึงศาสนกาลนี้ได้มีนามกรว่าเมืองกุสินารา เป็นมงคลประเทศปรากฎเล่าลือมาจนกาลบัดนี้ ว่าเป็นที่เกิดที่มีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิมาแต่ก่อน จักกรัตนะจึงได้ซุกซ่อนลับจมอยู่ใต้ดิน"* ธรรมจักรหรือวงล้อเหล่านี้ ต่อมาได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ บ้าง จัดตั้งแสดงไว้ที่ระเบียงด้านตะวันอตกองค์พระปฐมเจดีย์บ้าง เก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานฯ พระปฐมเจดีย์บ้าง เมื่อฟูแนโร (L. Fournerau) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ได้มาพบวงล้อหรือจักรศิลานี้ในปี พ.ศ. 2438 ก็ได้นำรูปไปพิมพ์ลงในหนังสือเรื่อง "ประเทศสยามโบราณ" (Le Siam ancien) และอธิบายไว้ว่า วงล้อเหล่านี้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงจักรหรือล้อรถของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์     แต่ลาจองเกียร์ (L. de Lejonquiere) กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง "โบราณสถานในประเทศสยาม" (Le domaine archeologique du Siam) ไม่เชื่อว่าวงล้อเหล่านี้เป็นล้อรถ เพราะเหตุว่าไม่มีการเจอะเป็นรูที่ดุมเลย เขาคิดว่าคงจะเป็นใบเสมามากกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสเล่าไว้ว่า "ศิลากงจักรนี้ ไม่ปรากฎว่ามีในประเทศพม่า รามัญ หรือเขมร แม้ในประเทศสยามก็พบแต่ที่จังหวัดนครปฐม กับได้ยินว่ามีทางจังหวัดนครราชสีมาบ้าง แต่จังหวัดอื่นหาปรากฏว่ามีไม่"**

               
รูปที่ 7                                                               รูปที่ 8
ธรรมจักรศิลา วัดคลองขวาง                                    ธรรมจักรหินทรายแดง
ตำบลเมืองเสนา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา    วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี( จำหลักด้านเดียว )


ที่ว่ามีทางจังหวัดนครราชสีมานั้น ปัจจุบันอยู่ที่วัดคลอง ( ดูรูปที่ 7 ) ตำบลเมืองเสมา ในอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา กับได้พบที่วัดพริบพรี และวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรีด้วย ( ดูรูปที่ 8 ) และต่อมาเมื่อกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2506 ก็ได้พบธรรมจักรหรือวงล้อศีลาอีก 3 อัน และมีอยู่อันหนึ่งยังครบถ้วนสมบูรณ์ดี กับพบจำหลักไว้ที่หินตั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์อีกแห่งหนึ่ง วงล้อศิลาหรือธรรมจักรดังกล่าวนี้ท่านศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ อธิบายไว้ว่า "เนื่องจากได้ค้นพบรูปกวางใกล้กับรูปวงล้อศิลาเหล่านี้จึงทำให้คิดกันว่า วงล้อเหล่านี้คงหมายถึงธรรมจักร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงหมุน ( คือสั่งสอน ) เมื่อประทานปฐมเทศนา ณ มฤคทายวัน"***


รูปที่ 9
ธรรมจักรศิลา สมัยทวารดี พุทธศตวรรษที่ 11 - 16
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กำด้านหน้าที่เห็นอยู่นับได้ 36 ซี่ แต่ด้านหลังนับได้ 35 ซี่

                  ธรรมจักรหรือวงล้อที่ทำด้วยศิลาตามที่พบเห็นแล้วนั้น มีขนาดต่าง ๆ กัน อันใหญ่ที่สุดวัดผ่านศูนย์กลาง 1.95 เมตร เวลานี้จัดตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ( ดูรูปที่ 9 ) อันเล็ก ๆ ก็มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน ฯ พระปฐมเจดีย์หลายล้อ แต่ชำรุดทุกล้อ และมีอยู่ล้อหนึ่ง ( ชำรุด ) เวลานี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานฯ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี วัดผ่านศูนย์กลาง 45 เซนติเมตร

                        
รูปที่ 10                                               รูปที่ 11
ธรรมจักรศิลา ศิลปสมัยทวารวดี                           ธรรมจักร พบที่จังหวัดนครปฐม
พุทธศตวรรษ ที่  11 - 12                              ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์
ขุดพบที่เมืองเก่า อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี       ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

                  ธรรมจักรทั้งล้อใหญ่ล้อเล็กมีลวดลายประดับตามซี่กำวงล้อ วงดุม และฐานที่ตั้ง จำหลักและประดิษฐ์ลายไว้ต่างๆ กัน บางวงล้อก็ฉลุทะลุเป็นช่องโปร่งระหว่างซี่กำ เช่นธรรมจักรอันหนึ่งซึ่งขุดพบที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ( ดูรูปที่ 10 ) และของส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ( ดูรูปที่ 11 )**** แต่ส่วนมากมิได้ฉลุให้ทะลุ ที่น่าสังเกตก็คือ ซี่กำของวงล้อหรือธรรมจักรนั้นมีจำนวนต่าง ๆ กัน และเนื่องจากวงล้อแต่ละอันมีจำนวนซี่กำแตกต่างกันนี้เอง จึงชวนให้นักธรรมะชาวไทยขบคิดหาหลักธรรมต่าง ๆ เข้าประกอบ เพื่อหาคำอธิบาย เช่น วงล้อมีกำ 8 ซี่ ก็ว่าหมายถึงอริยมรรค 8 วงล้อที่มีกำ 12 ซี่ ก็ว่าหมายถึงอาการ 12 ที่กล่าวว่า "ทฺวาทสการํ" ไว้ในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ที่มีกำ 16 ซี่ ก็ว่าหมายถึงโสฬสธรรมหรืออาการ 16 ของอริยสัจสี่ แต่ธรรมจักรหรือวงล้อศิลาที่พบมาแล้วนั้น มิได้มีแต่ล้อที่มีจำนวนกำเพียง 8 ซี่ 12 ซี่ และ 16 ซี่เท่านั้น หากแต่มีจำนวน 14 ซี่ก็มี, 17 ซี่ก็มี, 18 ซี่ก็มี, 21 ซี่ก็มี, 22 ซี่ก็มี, 24 ซี่ก็มี, 26 ซี่ก็มี, 32 ซี่ก็มี, 35 ซี่ก็มี มิหนำซ้ำวงล้ออันเดียวกัน แต่ทำซี่กำแต่ละด้านจำนวนไม่เท่ากันก็มี

................................................................................................................
*      เรื่องพระปฐมเจดีย์ ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ พ.ศ. 2506
**     เชิงอรรถ (1) ในตำนานพระพุทธเจดีย์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2503 น. 94
***   ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2506 น. 46 - 47
****  ธรรมจักรศิลา ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
        มีจารึกอริยสัจภาษาบาลี ดูในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ตีพิมพ์ครั้งที่ 2


หน้า 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l 9  หน้าถัดไป >>