หมวดสอง
นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย
ก. จุดหมาย ๓ ชั้น
ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น
หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน
ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน
ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ
ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
ทั้ง ๔ นี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์
ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ
จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า
ก) มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็ง
ด้วยศรัทธา
ข) มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงามด้วยความสุจริต
ค) มีความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจเสียสละ
ง) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้
ด้วยปัญญา
จ) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี
ขั้นที่ ๓ ปรมัตถะ
จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง
ก) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปรก็ไม่หวั่นไหว
มีใจเกษมศานต์มั่นคง
ข) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า
มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ
ค) สดชื่อ เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์
มีความสุขที่แท้
ง) รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใสเป็นอยู่ด้วยปัญญา
ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่าเป็น
บัณฑิต
ข. จุดหมาย ๓ ด้าน
จุดหมาย ๓ ขั้นนี้ พึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ ๓ ด้าน คือ
ด้านที่ ๑ อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน
หรือ ประโยชน์เพื่อตน คือ ประโยชน์ ๓
ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเองหรือพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้ได้ให้ถึง
ด้านที่ ๒ ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น
หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ ๓
ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้ให้ถึงด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ
ด้านที่ ๓ อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน
หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม
รวมทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์
บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย
๓ ขั้นข้างต้น |