คำนำ
ปัจจุบันนี้
คนที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธโดยมาก เหมือนเป็นคนไม่มีหลัก
ดังจะมีลัทธิว่า ชาวพุทธเป็นคนอิสระเสรี จะเชื่อถือหรือประพฤติตัวอย่างไรก็ได้
แท้จริงนั้น
การที่จะเป็นอะไรหรือเรียกชื่อว่าอย่างไร ก็ต้องมีหลักเกณฑ์
สำหรับเป็นเครื่องกำหนด หรือเป็นมาตรฐาน ดังในหมู่พุทธบริษัทเอง
พระภิกษุสงฆ์ก็มีพระธรรมวินัยเป็นมาตรฐาน เริ่มแต่มีศีลเป็นเครื่องกำกับความเป็นอยู่ภายนอก
ส่วนในฝ่ายคฤหัสถ์
อุบาสกอุบาสิกาก็มีคุณสมบัติและข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องกำหนดเช่นเดียวกัน
แต่คงจะเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้วิถีชีวิตของชาวพุทธผันแปรไป
ห่างเหินจากหลักพระศาสนา จนเหมือนว่าไม่รู้จักตัวเอง
โดยปรารภสภาพเสื่อมโทรมเช่นนั้น
จึงได้รวบรวมข้อธรรมที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไปขึ้นมา
เรียกว่า "คู่มือดำเนินชีวิต" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันว่า
ธรรมนูญชีวิต
อย่างไรก็ตาม
หลักธรรมในธรรมนูญชีวิตนั้น ยังมากหลากหลาย ต่อมาจึงได้ยกเฉพาะส่วนที่เป็นแบบแผนของชีวิต
คือ "คิหิวินัย" ออกมาย้ำเน้น โดยเริ่มฝากแก่นวกภิกษุในคราวลาสิกขา
เพื่อให้ช่วยกันนำไปปฏิบัติเป็นหลัก และเผยแพร่แนะนำผู้อื่น
ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ในการที่จะสร้างสรรค์สังคมชาวพุทธไทย
ให้เจริญงอกงามมีสันติสุขสืบไป
จากนั้นก็ได้เรียบเรียงหลัก
"คิหิวินัย" นี้ พิมพ์รวมไว้เป็นส่วนต้นของ
ธรรมนูญชีวิต ตั้งชื่อว่า มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ
"คิหิวินัย"
คือ วินัยของคฤหัสถ์ หรือ วินัยชาวบ้าน
นี้ เป็นชุดคำสอนเดิม ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ใน สิงคาลหสูตร
และพระอรรคกถาจารย์ได้สรุปไว้ท้ายคำอธิบายว่า "พระสูตรนี้
ชื่อว่าคิหิวินัย" บ่งชัดถึงความสำคัญของพระสูตรนี้
พร้อมกับเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ก็มีข้อปฏิบัติที่เป็นแบบแผนแห่งชีวิตและสังคมของตน
เวลานี้
สังคมยิ่งเสื่อมถอย ก้าวลึกลงไปในปลักหล่มแห่งอบายมากยิ่งขึ้น
ถ้าจะให้สังคมมีอนาคตที่ควรหวัง ก็ถึงเวลาที่จะต้องลุกขึ้นมาเร่งรื้อฟื้นหลัก
"คิหิวินัย" ขึ้นมา ให้เป็นแบบแผนแห่งชีวิตและสังคมชาวพุทธ
ถ้าคนไทยตั้งตนอยู่ในคิหิวินัย ก็มั่นใจได้ว่าสังคมไทยจะไม่เพียงฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเท่านั้น
แต่จะก้าวหน้าไปในวิวัฒน์ได้อย่างแน่นอน
บัดนี้
มองเห็นว่า คิหิวินัย ที่จัดไว้เป็นส่วนต้นของ ธรรมนูญชีวิต
ในชื่อว่า "มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ" นั้น รวมอยู่ในหนังสือใหญ่
ยังไม่เด่นเป็นจุดเน้นเท่าที่ควร และเผยแพร่ให้ทั่วถึงได้ยาก
จึงนำมาปรับสำนวนให้ง่ายลงอีก แยกพิมพ์เป็นเล่มเล็กต่างหาก
และตั้งชื่อใหม่ว่า "วินัยชาวพุทธ"
หวังว่า
การพิมพ์ วินัยชาวพุทธ กล่าวคือคิหิวินัย
เล่มนี้ จะสัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมนูญชีวิต
กล่าวคือหวังจะให้พุทธศาสนิกชนใช้ "วินัยชาวพุทธ"
เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับกำกับและตรวจสอบการดำเนินชีวิตของตน
แล้วก้าวสู่คุณสมบัติและข้อปฏิบัติใน "ธรรมนูญชีวิต"
เพื่อดำเนินให้ดีงาม ประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นจนถึงความสมบูรณ์
ให้ชีวิตและสังคมบรรลุจุดหมาย ที่เปี่ยมพร้อมทั้งด้วยอามิสไพบูลย์
และธรรมไพบูลย์ อย่างยั่งยืนนาน
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
๗ กันยายน ๒๕๔๓
|