Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คุณธรรมของคนดี? อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ฉัตร
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 มิ.ย.2005, 6:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผมอยากทราบเกี่ยวกับคุณธรรมอะไรที่จะทำให้เราเป็นคนดีน่ะครับ อยากได้เป็นข้อมูลหรือเว็บก็ได้ครับ
 
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 11 มิ.ย.2005, 8:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เว็บไซต์



- ทำดี
http://www.tamdee.net/



- ค่ายคุณธรรม
http://www.rakdee.org/Course/course.htm



- คนดี
http://www.hehasara.com/sara/sara460624.htm



- คู่มือทำความดี
http://www.dhammajak.net/book/tamdee/page01.php



- วินัยชาวพุทธ

หัวข้อ วางรากฐานให้มั่น
http://www.dhammajak.net/book/dhamma5/index.php



- เลี้ยงลูกถูกธรรม

หัวข้อ จงรีบปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกก่อน
http://www.dhammajak.net/book/baby/baby.php



...

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ขาแจมในตำนาน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 มิ.ย.2005, 9:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ฝากไว้ให้คิด เผื่อ สะกิตใจ

" ตำราให้ได้แค่ ความรู้ ให้ ความดี นั้น ยังไม่ได้"



 
นายประแจ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 มิ.ย.2005, 10:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อยากทราบลักษณะของคนที่เรียกว่า "ดี" ครับ
 
ฉัตร
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 12 มิ.ย.2005, 8:46 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบพระคุณมากครับ...
 
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 12 มิ.ย.2005, 4:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ลักษณะของคนดี ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจามีสัมมาคารวะ พูดหรือทำอะไร ก็ต้องรู้จักกาล เวลา สถานที่ และบุคคล นะครับ



สั้นก็คือคนดีนั้นต้องมี "สติปัญญา"
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 12 มิ.ย.2005, 5:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมบัติผู้ดี

(คัดลอกจากเว็บอื่นมาอีกทีหนึ่ง ยาวหน่อยนะ)

.................

ภาคหนึ่ง ผู้ดี ย่อมรักษาความเรียบร้อย

กายจริยา คือ

1. ย่อมไม่ใช้กิริยาอันข้ามกรายบุคคล

2. ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง

3. ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน

4. ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล

5. ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสีย

6. ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน

7. ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป

8. ย่อมไม่เอิกอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ

9. ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับตรับฟัง

10. ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก



วจีกิริยา คือ

1. ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด

2. ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน

3. ย่อมไม่ใช้เสียงตวาด หรือพูดจากระโชกกระชาก

4. ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน

5. ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย



มโนจริยา คือ

1. ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส

2. ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา



ภาคสอง ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาดลามก

กายจริยา คือ

1. ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ

2. ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง

3. ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ประชุมชน

4. ย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง

5. ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ประชุมชน

6. ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง

7. ย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดัง หรือให้เปรอะเปื้อนให้เป็นที่รังเกียจ

8. ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมูมมามในการบริโภค

9. ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน

10. ย่อมไม่ล่วงล้ำ ข้ามหยิบ ของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งได้

11. ย่อมไม่ละลาบละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น

12. ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปล้วงตักสิ่งบริโภค ซึ่งเป็นของกลาง

13. ย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน



วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน

2. ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังท่ามกลางประชุมชน



มโนจริยา คือ

1. ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด



ภาคสาม ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ

กายจริยา คือ

1. ย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่

2. ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่

3. ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่

4. ย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง

5. ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น

6. ย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น

7. ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด

8. ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน

9. ผู้น้อยย่อมเคารพผู้หญิงก่อน

10. ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน

11. ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเป็นผู้เคารพก่อน

12. แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย



วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่

2. ย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง

3. ย่อมไม่กล่าววาจาอันติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา

4. เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน

5. เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ

6. เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ



มโนจริยา คือ

1. ย่อมเคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์

2. ย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่

3. ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย



ภาคสี่ ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก

กายจริยา คือ

1. ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งกับพื้น และไม่นั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนเดินกัน

2. ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น

3. ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์

4. ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเxxx่ยวแห้งในที่ประชุมรื่นเริง

5. เมื่อไปสู่ที่ประชุมรื่นเริงย่อช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง

6. เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว ย่อมต้องกลมเกลียวและร่วมลำบากร่วมสนุก

7. เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับและเชื้อเชิญแขกไม่ให้เพิกเฉย

8. ย่อมไม่แสดงกิริยาบึกบึนต่อแขก

9. ย่อมไม่ให้แขกต้องคอยนานเมื่อเขามาหา

10. ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกาในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่

11. ย่อมไม่ใช้กิริยาอันบุ้ยใบ้หรือกระซิบกระซาบแก่ผู้ใด ในเวลาเมื่อตนอยู่เฉพาะหน้าผู้หนึ่ง

12. ย่อมไม่ใช้กิริยาอันโกรธเคือง หรือดุดันผู้คนบ่าวไพร่ต่อหน้าแขก

13. ย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพ่งพิศเหลือเกิน

14. ย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมา ในระยะอันสมควร



วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่ติเตียนสิ่งของที่เขา ตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่

2. ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูป กาย บุคคล แก่ตัวเขาเอง

3. ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก

4. ย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเคาะแคะสตรีกลางประชุม

5. ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล

6. ย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่ง ให้เขาตกใจ

7. ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย

8. ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง

9. ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ

10. ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล



มโนจริยา คือ

1. ย่อมรู้จักเกรงใจคน



ภาคห้า ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า

กายจริยา คือ

1. ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ

2. จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม

3. ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้านงกเงิ่นหยุด ๆ ยั้ง ๆ



วจีจริยา คือ

1. ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม

มโนจริยา คือ

1. ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี

2. ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้

3. ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด

4. ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์

5. ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ



ภาคหก ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี

กายจริยา คือ

1. ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน

2. ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้ผู้อื่นคอย

3. ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย

4. ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า



วจีจริยา คือ

1. พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้

2. ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่



มโนจริยา คือ

1. ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา

2. ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน

3. ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้

4. ไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย

5. ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ

6. ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่

7. ย่อมมีมานะในการงานไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

8. ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง

9. ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด

10. ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ



ภาคเจ็ด ผู้ดี ย่อมเป็นผู้ใจดี

กายจริยา คือ

1. เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อน หรือทำไม่เห็น

2. เมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว

3. เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย



วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่มีเยาะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด

2. ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่



มโนจริยา คือ

1. ย่อมไม่มีใจอันโหดxxxมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย

2. ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น

3. ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย

4. ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที

5. ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร



ภาคแปด ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวถ่ายเดียว

กายจริยา คือ

1. ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่ หรือผู้หญิง

2. ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิง ที่นั่งหรือที่ดูอันใด

3. ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่ง มาจากผู้หนึ่งในเมื่อเขาสนทนากัน

4. เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง

5. ในการเลี้ยงดูย่อมแผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน

6. ในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไปไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน

7. ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลางจนเกินส่วนที่ตนจะได้

8. ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้

9. ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดูหรือใช้ค่าเดินทาง เป็นต้น

10. ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม

11. การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดู ซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา

วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใด เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน

2. ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้

3. ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน

4. ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้ว่าไม่ดีหรือไม่พอ

5. ย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกแก่ตน

6. ย่อมไม่แสดงราคาของที่จะหยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฎ

7. ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและลบหลู่ผู้อื่น



มโนจริยา คือ

1. ย่อมไม่มีใจมัดได้ เที่ยวขอของเขาร่ำไป

2. ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน

3. ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน

4. ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น

5. ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอนทอนเทการงานตนให้ผู้อื่น

6. ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน

7. ย่อมไม่มีใจริษยา



ภาคเก้า ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง

กายจริยา คือ

1. ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ

2. ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเลงเข้าไปตามห้องเรือนแขก

3. ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกินราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด

4. ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู

5. ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูสมุดพกหรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่

6. ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น

7. ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น

8. ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ

9. ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด

10. ย่อมไม่ลอบแอบดูการลับ

11. ถ้าเห็นเขาจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว

12. ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน



วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน

2. ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร

3. ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

4. ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง

5. ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น

6. ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง

7. ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง

8. ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก

9. ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา



มโนจริยา คือ

1. ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอีกอย่างหนึ่ง ลับหลังอีกอย่างหนึ่ง

2. ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจของผู้อื่น

3. ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม

4. ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง



ภาคสิบ ผู้ดี ย่อมไม่ประพฤติชั่ว

กายจริยา คือ

1. ย่อมไม่เป็นพาลเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน

2. ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็กหรือผู้หญิง

3. ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอาย เพื่อความสนุกยินดีของตน

4. ย่อมไม่หาประโยชน์ด้วยอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

5. ย่อมไม่เสพสุราจนถึงเมาและติด

6. ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม เช่น กัญชา ยาฝิ่น

7. ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนันเพื่อจะปรารถนาทรัพย์

8. ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตนในสิ่งที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตให้

9. ย่อมไม่พึงใจในหญิงที่มีเจ้าของหวงแหน

วจีจริยา คือ

1. ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท

2. ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน

3. ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง

4. ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง

5. ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้ใด



มโนจริยา คือ

1. ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น

2. ย่อมไม่คิดทำลายผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน

3. ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตัวเอง

4. ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป



ผนวก 1

ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย

คำว่า ผู้ดี หมายถึงบุคคลผู้มีความประพฤติดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางความคิด คือ ทำดี พูดดี คิดดี



กายจริยา

คำว่า กายจริยา คือ ทำดี เช่น เดินดี ยืนดี นั่งดี นอนดี แยกออกได้ดังนี้

1. ผู้ดีย่อมไม่ใช้กิริยาข้ามกรายบุคคล เช่น เมื่อเดินเข้าใกล้ใครก็หลีกไปในระยะที่พอเหมาะ ไม่ยกมือยกเท้าให้กระทบใคร ไม่ชี้มือหรือยกมือให้ผ่านใคร หรือข้ามศีรษะใคร ไม่ว่าเขาจะนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่เหยียดเท้าใส่ใคร เมื่อท่านผู้ใหญ่นั่งอยู่ ไม่เดินเฉียดไปต้องคลานไป หรือเดินก้มหลังไป

2. ผู้ดีย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง เช่น เมื่อผู้ใหญ่นั่งอยู่จะทำอะไรในที่สูง หรือจะหยิบอะไรในที่สูงกว่าท่าน ต้องขอประทานโทษท่านก่อนจึงทำ และทั้งไม่ละลาบละล้วงอาจเอื้อมจับต้องของสูง เช่น ศีรษะ หรือหน้าตาใคร ๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของตน โดยผู้นั้นมิได้อนุญาตให้ทำเป็นอันขาด

3. ผู้ดีย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน หมายความว่า การที่จะถูกต้องตัวผู้อื่นนั้น ต้องระมัดระวังถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือคนที่ไม่ได้คุ้นเคยอย่างเพื่อนกัน เมื่อจะจับต้องตัวต้องขอประทานโทษก่อนจึงถูกต้องได้

4. ผู้ดีย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล หมายความว่า ตามปรกติร่างกายผู้อื่นนั้นไม่ควรถูกต้อง หากมีความจำเป็นต้องเสียดสี กระทบกระทั่ง เช่นในยวดยานพาหนะ ต้องขอประทานโทษก่อนจึงเสียดสีไปได้ เป็นต้น

5. ผู้ดีย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสีย หมายความว่า ขณะที่เรานั่งอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ก่อนที่จะเคลื่อนที่ไป เช่น จะลุกขึ้น เป็นต้น ต้องนึกก่อนว่าเราจะลุกไป จะไปทางไหน ตรวจดูให้รอบตัวก่อนว่า มีอะไรกีดขวางอยู่บ้าง เมื่อดูรอบคอบแล้วจึงค่อยลุกขึ้นเคลื่อนที่ไป เช่น นั่งอยู่ในโต๊ะเรียน เมื่อนึกก่อนได้เช่นนี้ ก็จะไม่มีเสียงโครมคราม หรือตึงตัง ไม่โดนโน่นโดนนี่

6. ผู้ดีย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่น ด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน หมายความว่า เมื่อจะส่งของให้ใครต้องถือของหงายมือ แล้วส่งให้ถึงมือผู้รับ เช่น ตักบาตรพระก็ต้องตักด้วยความสุภาพเรียบร้อย เป็นต้น

7. ผู้ดีย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป หมายความว่า เมื่อผู้อื่นกำลังยืนหรือนั่งดูสิ่งใดอยู่ เมื่อมีความจำเป็นจะต้องผ่านไปควรผ่านไปทางหลังท่าน ถ้าจำเป็นจะต้องผ่านกลางไป ก็ควรขอประทานโทษเสียก่อนจึงไป

8. ผู้ดีย่อมไม่เอ็ดอึง เมื่อผู้อื่นทำกิจ หมายความว่า เมื่อผู้อื่นกำลังทำกิจอยู่ เมื่อจะเดินต้องค่อย ๆ เดิน เมื่อจะพูด ต้องค่อย ๆ พูด เพื่อให้เขาได้ทำโดยปลอดโปร่ง

9. ผู้ดีย่อมไม่อึกทึกในเวลาประชุมสดับตรับฟัง หมายความว่า ขณะที่ผู้อื่นกำลังฟังอะไรอยู่ เช่น กำลังฟังครูสอน ฟังปาฐกถา ฟังพระเทศน์ กำลังดูละคร ฟังดนตรี เป็นต้น ต้องไม่พูดไม่คุยกัน หรือไม่ทำเสียงตึงตัง หรือเคาะโต๊ะ เคาะพื้น ให้มีเสียงเป็นที่รำคาญแก่ผู้อื่น

10. ผู้ดีย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก หมายความว่า เมื่อไปหาท่านถึงบ้านไม่ควรทำให้มีเสียงตึงตังหรือพูดจาส่งเสียงดังผิดปรกติหรือดุดันขู่ตวาดผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นที่สะเทือนใจ



วจีจริยา คือ

คำว่า วจีจริยา หมายความว่า การพูดจาให้เรียบร้อย แยกออกได้ดังนี้

1. ผู้ดีย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด หมายความว่า ขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่ไม่ควรพูดสอดแทรกขึ้นในขณะนั้นต้องรอให้ท่านพูดจบเสียก่อน หากจำเป็นจะต้องพูดก็ต้องให้จบระยะหนึ่งแล้วขอประทานโทษก่อนจึงพูด ไม่ชิงกันพูด ไม่แข่งกันพูด ไม่พูดพร้อมกัน

2. ผู้ดีย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน หมายความว่า เมื่อจะสนทนาปราศัยกัน ต้องพูดด้วยเสียงตามปรกติ พอได้ยินชัดเจนอยู่ใกล้กันพูดค่อย ๆ ก็ได้ยิน

3. ผู้ดีย่อมไม่ใช้เสียงตวาดหรือพูดจากระโชกกระชาก หมายความว่า เมื่อจะพูดกับใคร ๆ ต้องใช้เสียงตามปรกติ พอเหมาะพอควรแก่เรื่อง และบุคคล ทำเสียงให้หนักแน่นและเยือกเย็น

4. ผู้ดีย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน หมายความว่า เมื่อได้ฟังผู้อื่นพูดคลาดเคลื่อนปรารถนาจะคัดค้านก็ควรขอโทษก่อนจึงคัดค้านหรือเมื่อจะให้ผู้ใดกระทำสิ่งไรก็ไม่ควรพูดจาหักหาญดึงดันเอาแต่ใจตนเป็นประมาณ ควรชี้แจงอย่างมีเหตุผลให้เขาเชื่อและกระทำตาม

5. ผู้ดีย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย หมายความว่า ไม่ว่าจะพูดกับใคร ในเวลาใด ด้วยเรื่องอะไร ต้องพูดให้น้ำเสียงสุภาพ นุ่มนวลอ่อนหวาน จับใจ สบายหูผู้ฟัง



มโนจริยา คือ

คำว่า มโนจริยา หมายความว่า การคิดนึกในทางที่ดี แยกออกได้ดังนี้

1. ผู้ดีย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส หมายความว่า ต้องทำใจให้ติดอยู่ในการงานที่กำลังทำอยู่ มุ่งทำงานให้สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่ทำรวนเรจับจด คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์เห็นดีเห็นชอบเพียงชั่วครู่ชั่วขณะ หรือเมื่อได้ทำงานอะไรทำสำเร็จแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ทำหยิ่งยโสนึกว่าไม่มีใครสู้ได้ ต้องสะกดอกสะกดใจ มุ่งทำงานที่กำลังทำอยู่นั้นให้สำเร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น เรียนอยู่ในชั้นใด ก็มุ่งให้ได้ความรู้สมชั้นที่เรียน เรียนอยู่ในชั่วโมงใดก็ตั้งใจเรียนให้ได้ความรู้ในชั่วโมงนั้น ไม่เอางานของชั่วโมงหนึ่งไปทำในชั่วโมงอื่น ไม่เอางานของวันหนึ่งไปทำในอีกวันหนึ่ง ทำงานให้เสร็จเป็นระยะ ๆ ตามที่มีอยู่ ตั้งใจแน่วแน่ลงในการงานนั้น ๆ

2. ผู้ดีย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา หมายความว่า ต้องไม่แสดงความเดือดดาล ฉุนเฉียวพลุ่งพล่านด้วยอำนาจโทสะตามปรกติเราอยู่เป็นคณะ เป็นครอบครัว เป็นบ้าน เป็นเมือง คนที่อยู่รวมกันเช่นนี้ ก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา ไม่มากก็น้อย เข้าทำนองที่ว่า ลิ้นกับฟันย่อมกระทบกันบ้างเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องอดทน เมื่อได้ประสบอารมณ์ที่ไม่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อถูกเขาด่าว่าเสียดสี ก่อนที่จะตอบต้องคิดเสียก่อนโบราณท่านสอนว่า ให้นับสิบเสียก่อนจึงค่อยตอบ นี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจได้อย่างดี



ผนวก 2

ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก

กายจริยา

ในข้อนี้หมายถึงการแสดงอาการที่กระทำด้วยกายในทางที่เสียหายซึ่งผู้ดีไม่ควรทำไม่ว่าในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น แยกออกได้ดังนี้

1. ผู้ดีย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาดและแต่งโดยเรียบร้อย หมายความว่า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนั้นจะเป็นชนิดใดก็ตาม ต้องระวังไม่ให้เหม็นสาบ จนเข้าใกล้ใครก็เป็นที่รำคาญของคนทั้งหลาย การแต่งตัวก็ต้องนุ่งห่มให้สมส่วน เป็นนักเรียนก็ต้องแต่งอย่างนักเรียน เป็นเด็กก็ต้องแต่งอย่างเด็ก ไปงานอะไรก็ต้องแต่งให้เหมาะแก่งานนั้นไม่ปล่อยให้มีอะไรน่ารังเกียจ เช่น เปรอะเปื้อนสกปรกโสมม หรือผิดระเบียบ ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยตามโอกาสนั้น ๆ

2. ผู้ดีย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง หมายความว่า การแต่งตัวนั้นมีความจำเป็นจะต้องเปลือยกายบางส่วน เช่น ก่อนสวมเสื้อต้องเปลือยกายส่วนนั้น แล้วผลัดของเก่าออกเอาของใหม่แทน ในเวลาเช่นนี้ควรทำในที่มิดชิดปิดบัง เพื่อไม่ให้เป็นที่อุจาดตาของคนทั้งหลายเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงออกสู่ที่แจ้ง

3. ผู้ดีย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ประชุมชน หมายความว่า ขณะที่อยู่ในที่ประชุม ไม่จิ้มฟันในโต๊ะอาหาร ไม่แปรงฟันในโต๊ะอาหาร ไม่ควักล้วงภายในเครื่องแต่งตัวตามร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่แคะแกะหรือเการ่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หากมีความจำเป็นก็พึงปลีกตัวออกจากที่ประชุมนั้นก่อนจึงทำ

4. ผู้ดีย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง หมายความว่า กิริยาอาการบางอย่างซึ่งควรจะทำในที่ลับ ก็ต้องทำในที่ลับ อย่าไปทำในที่แจ้ง อาจกลายเป็นลามกอนาจารก็ได้ แม้มีความจำเป็นก็ควรหาทางหลีกเลี่ยงเท่าที่สามารถจะทำได้ เช่น การถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการที่ควรต้องทำในที่ลับ ก็ควรทำในที่ลับ เมื่อมีความจำเป็นแต่หาห้องลับไม่ได้ ก็ควรหาที่กำบังตน เพื่อมิให้เป็นการอุจาดตาของผู้พบเห็น ดังนี้เป็นต้น แม้การอย่างอื่นก็โดยทำนองนี้

5. ผู้ดีย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ประชุมชน หมายความว่า อาการที่หาวเรอนั้นเป็นการแสดงออกตามธรรมชาติ แต่เพราะเหตุที่การหาวเรอนั้นต้องอ้าปาก ปากเปิดมองเห็นอวัยวะภายในปากขณะที่อยู่ในที่ประชุมแสดงอาการอย่างนั้น ก็ทำให้ผู้ที่เห็นเกิดความสะอิดสะเอียน เหตุนี้จึงควรต้องระมัดระวังไว้เสมอ หากอาการเช่นนั้นจะมีขึ้น ก็ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากไว้ก่อน หรือปลีกตัวออกจากหมู่ชั่วขณะหนึ่ง ยิ่งในขณะที่กำลังรับประทานอาหารด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

6. ผู้ดีย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง หมายความว่า การไอจามเป็นอาการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแก่คนทั่วไป เมื่อจะไอหรือจามไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ๆ ต้องพยายามให้เสียงไอจามนั้นเบาที่สุดที่จะเบาได้ และต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าป้องปิดปากไว้ให้ทันท่วงที ถ้าสามารถจะเอาผ้านั้นชุบน้ำระเหยอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก็ยิ่งดีมาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกระจายของโรคหรือป้องกันมิให้ฝอยน้ำลายกระเซ็นออกไปถูกต้องใครหรือของสิ่งใดได้

7. ผู้ดีย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดังหรือให้เปรอะเปื้อนเป็นที่น่ารังเกียจ หมายความว่า ตามปรกติน้ำลายไม่ควรบ้วนไม่ว่าในที่ใด ๆ เว้นแต่เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ไม่ควรให้มีเสียงถ่มขากเลยเป็นอันขาดแม้ที่บ้วนเล่า ก็ต้องดูว่าควรหรือไม่ควร ถ้าอยู่ในรถ ในเรือโดยสารไม่ควรบ้วนหรือถ่มทางหน้าต่าง แม้อยู่ในบ้านเรือน ก็ไม่ควรบ้วนหรือถ่มทางหน้าต่าง หากไม่มีที่บ้วนโดยเฉพาะก็ควรใช้กระดาษหรือผ้าซับไว้เฉพาะตน แม้มีที่บ้วนที่ถ่มโดยเฉพาะ ก็ต้องทำให้มิดชิดเพื่อมิให้เป็นการแพร่เชื้อน้ำลายเช่นนั้น

8. ผู้ดีย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมูมมามในการบริโภค หมายความว่า ในการบริโภคอาหารนั้น ต้องการความสะอาดมาก หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นสิ่งสกปรกอยู่ก็ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้เป็นต้นว่าไม่ควรรีบตักแบ่งอย่างลุกลน ไม่ควรตักเลอะเทอะออกขอบจานของกลางหรือหกราด ส่วนในจานตนเองก็ไม่ควรตักมากเกินไปและไม่ควรตักสุม ๆ ปนชนิดกัน จะรับประทานก็ไม่คำโตจนเกินไปและไม่ควรให้มีเสียง เช่น เคี้ยวดังหรือซดน้ำดัง ไม่ควรพูดคุยเวลาอาหารอยู่ในปาก

9. ผู้ดีย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน หมายความว่า ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น เมื่อจะหยิบอาหารสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ผลไม้หรือผักหรือของอื่นส่งให้ผู้อื่น ไม่ควรจับต้องสิ่งนั้นด้วยมือ ควรใช้ช้อนหรือส้อมกลางที่มีอยู่นั่นส่งให้ หรือหยิบทั้งภาชนะส่งให้ ทั้งนี้เพื่อกันความสกปรกอันอาจมีได้

10. ผู้ดีย่อมไม่ล่วงล้ำข้ามหยิบของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งให้ หมายความว่า ขณะที่กำลังบริโภคร่วมกันอยู่นั้นจะต้องการของสิ่งใด ไม่ควรหยิบยกข้ามหรือผ่านหน้าผู้อื่น หากมีความจำเป็นจะต้องหยิบยกจริง ๆ ก็ควรขอประทานโทษเขาแล้วขอให้เขาช่วยหยิบส่งให้ก็จะน่าดูขึ้น แต่ระเบียบในโต๊ะอาหารที่ถูกต้องนั้นควรบอกให้ผู้รับใช้หยิบส่งให้





11. ผู้ดีย่อมไม่ละลาลละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น หมายความว่า ในการรับประทานอาหารนั้นมีของที่ใช้รวมกันก็มี มีของที่ใช้เฉพาะคนก็มี เช่น ภาชนะใส่อาการกลางรวมกัน แต่เครื่องใช้เฉพาะตนคือ ช้อนส้อม ถ้วยน้ำ ผ้าเช็ดมือ ของที่ใช้เฉพาะเช่นนี้ต้องระมัดระวังอย่าละลาบละล้วงไปใช้ของผู้อื่นเข้า เพราะของเหล่านี้เป็นของประจำเฉพาะตัวของแต่ละคนจึงไม่ควรใช้ปะปนกัน

12. ผู้ดีย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง หมายความว่า ในการรับประทานอาหารร่วมกันหลายคนนั้น เขาแยกของใช้ไว้เป็นของเฉพาะตัวก็มี เป็นของใช้ร่วมกันก็มี ถ้าว่าถึงช้อนส้อมแล้วเขามีเฉพาะตัวทีเดียว และเขามีช้อนกลางประจำไว้ตามภาชนะอาหารนั้น ๆ ในการนั้นต้องใช้ช้อนกลางร่วมกันคือใช้ช้อนกลางแบ่งอาหารจากชามกลางมา ไม่ควรใช้ช้อนส้อมของตนไปตักอาหารแบ่งมาใส่ภาชนะของตน ทั้งนี้ก็เพื่อกันความสกปรกอันมีได้เพราะทำเช่นนั้น

13. ผู้ดีย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน หมายความว่า ในการพูดจาสนทนาปราศรัยกันตามปรกตินั้น ควรใช้เสียงพอเหมาะ ไม่ดังเกินไป ไม่เบาเกินไป และในการพูดนั้นก็ไม่ควรยื่นหน้ายื่นตาเข้าไปพูดจนใกล้ชิดกันนัก เพราะอาจได้กลิ่นลมปากซึ่งอาจเหม็นจนผู้อื่นเหลือทนก็ได้ หรือมิฉะนั้นฝอยน้ำลายอาจกระเซ็นเข้าหากันก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงควรอยู่ในที่เหมาะและไม่ตรงหน้าใกล้ชิดจนเกินพอดี ทั้งนี้เพราะกันความเบื่อหน่ายของกันและกัน เพื่อกันความรังเกียจกันและกัน อันอาจมีได้ เพราะเหตุที่แสดงกิริยาเช่นนั้น



วจีจริยา

ข้อนี้หมายถึงการไม่พูดคำลามกหรือพูดถึงสิ่งอันลามกในที่ประชุมชน หรือในขณะกำลังรับประทานอาหาร แยกออกได้ดังนี้

1. ผู้ดีย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน หมายความว่า การกล่าวถ้อยคำใด ๆ ซึงเป็นการพูดถึงสิ่งโสโครกต่าง ๆ เช่น ของเน่าของเหม็น หรือพูดถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในที่ประชุม ไม่เป็นการสมควรแท้ ความจริงการพูดคำเช่นนั้นไม่ว่าในที่ใด ๆ ในเวลาใด ๆ กับบุคคลใด ๆ ย่อมไม่เป็นมงคลแก่ปากของตนเลยเพราะอย่างนี้จึงต้องพูดแต่สิ่งที่ดีงามในที่ทุกสถานและในกาลทุกเมื่อ



2. ผู้ดีย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งที่ควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน หมายความว่า สิ่งที่ควรปิดบังนั้นได้แก่สิ่งที่ควรละอาย หรือเรื่องที่เปิดเผยให้คนอื่นรู้จะเกิดความเสียหายแก่ตน แก่หมู่หรือแก่ชาติบ้านเมือง จึงไม่นำมาพูดในท่ามกลางประชุมชน เพราะเป็นเรื่องที่ควรสงวนไว้พูดเฉพาะแก่บุคคลที่จะไม่เป็นภัยอันตรายแก่ตนและใคร



มโนจริยา

ข้อนี้หมายถึงความคิดเห็นแต่ในความบริสุทธิ์สะอาดอันมีอยู่ในใจของเรา เราควรตั้งความคิดเห็นนั้นในทางที่ชอบที่ควรคือ

1. ผู้ดีย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด หมายความว่า ความสะอาดมีอยู่ 3 ทาง คือสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ถ้าแบ่งประเภทอย่างนี้ หมายถึงความดีงามหรือความไม่ทุจริตทางกาย วาจา และใจ อีกอย่างหนึ่งความสะอาดแบ่งได้เป็น 2 ทาง คือ สะอาดภายนอก ได้แก่ ความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ บ้านเรือน และความเป็นอยู่ กับสะอาดภายใน ได้แก่ ความสะอาดในจิตใจ ที่ว่าผู้ดีย่อมพึงใจจะรักษาความสะอาดนั้นแสดงว่าความสะอาดกายวาจาและใจก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็ด้วยความรู้ความเข้าใจและเจตนาหรือความพึงพอใจจะให้มีขึ้น ผู้ดีจึงควรศึกษาให้รู้เรื่องความสะอาดและตั้งใจรักษาความสะอาดในทุกวิถีทาง



ผนวก 3

ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ

ข้อนี้หมายความว่า กิริยาอาการที่แสดงออกของบุคคลที่เป็นผู้ดีนั้น ย่อมแสดงออกแต่ในทางสุภาพเรียบร้อยน่าดูน่าชมเท่านั้น กิริยาอาการนี้ก็เป็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โบราณท่านกล่าวไว้ว่ากิริยาส่อชาติ มารยามส่อสกุล เพราะฉะนั้นการแสดงกิริยาอาการที่สุภาพอ่อนโยนงดงาม จึงเป็นการสมควรที่ทุกคนควรทำอย่างยิ่ง ท่านแบ่งไว้ดังนี้





กายจริยา

หมายถึง การแสดงสัมมาคารวะทางกาย

1. ผู้ดีย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ หมายความว่า เมื่ออยู่กับผู้ใหญ่ต้องรู้ที่นั่งของตน ว่าตนควรจะนั่ง ณ ที่แห่งใด และควรจะนั่งอย่างไร เช่น ผู้ใหญ่อยู่กับพื้นก็ควรนั่งกับพื้นและควรนั่งพับเพียบ ในระยะห่างพอสมควรแก่สถานที่และธุระที่ทำ ถ้าท่านนั่งเก้าอี้และท่านอนุญาตให้เรานั่งเก้าอี้ด้วยก็ควรนั่ง แต่ไม่ควรนั่งไขว้ขาหรือกระดิกเท้าตามชอบใจ ควรนั่งด้วยท่าทางที่สุภาพเรียบร้อย ควรแก่สถานที่และภาวะของตน

2. ผู้ดีย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่ หมายความว่า เมื่อเดินไปกับผู้ใหญ่ต้องเดินตามหลังท่าน และไปในระยะไม่ห่างนัก ไม่ชิดนัก เพราะถ้าเดินห่างนักพูดไม่ค่อยได้ยิน ถ้าเดินชิดนักจะสะดุดส้นท่านต้องเดินในระยะพอสมควรที่จะพูดจะถามได้ยินสะดวก และต้องไม่เดินแซงขึ้นหน้าผู้ใหญ่ หากไม่ได้เดินร่วมไปกับท่าน เมื่อท่านเดินมา มีความจำเป็นจะต้องผ่าน ก็ไม่ควรเดินผ่านหน้าท่าน ควรหาทางที่จะผ่านไปทางหลังท่าน จึงดูสุภาพดี

3. ผู้ดีย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่ หมายความว่า ขณะที่อยู่ใกล้ผู้ใหญ่ไม่ว่าในที่เช่นใด ต้องไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่ ต้องหันหน้าเข้าหาท่านจึงดูเรียบร้อยดี

4. ผู้ดีย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่และผู้หญิง หมายความว่า ขณะที่เรานั่งหรือยืนอยู่ในที่ใด ๆ ก็ตาม เช่น ในที่ชุมชน หรือในรถโดยสาร เมื่อมีผู้ใหญ่คือผู้สูงอายุ คือ คนชรา หรือผู้หญิงขึ้นมาภายหลัง ต้องให้ที่นั่งแก่คนเหล่านั้นตามสมควร แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในวัยที่เสมอกัน ตามปรกติไม่ต้องให้ที่นั่ง แต่ถ้าคนเหล่านั้นอุ้มเด็กมา หรือมีครรภ์หรือมีของหนักติดมือมาก็ต้องลุกให้ตามสมควรอย่างนี้จึงดูสุภาพดี

5. ผู้ดีย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น หมายความว่า เมื่อเราเข้าไปหาผู้ใหญ่หรือเดินทางไปกับผู้ใหญ่ หรืออยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ เราไม่ควรเอาบุหรี่มาทัดหู แม้ของอื่นก็ไม่สมควร เมื่อจะสูบบุหรี่ก็ไม่ควรคาบกล้องต่อหน้าผู้ใหญ่ อีกอย่างหนึ่งในที่ชุมนุม จะเป็นในที่ประชุมกันก็ตาม อยู่ในรถก็ตาม ไม่ควรสูบบุหรี่ทีเดียว ถ้ามีความจำเป็น ก็ควรอยู่ใต้ลมและเบื้องหลังท่าน อย่างนี้จึงสุภาพดี

6. ผู้ดีย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น หมายความว่า เมื่อจะเข้าเขตของท่านผู้ใด ต้องแสดงความเคารพต่อเจ้าของเขตนั้น ๆ จึงเป็นการสมควรทีเดียวที่จะต้องเปิดหมวกออก

7. ผู้ดีย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด หมายความว่า ตามธรรมดาคนเรานี้มีความเชื่อถือในลัทธินิยมต่าง ๆ กัน แล้วแต่ความสมัครใจของตน เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งในการนับถือศาสนาในลัทธินิยมเหล่านั้น ย่อมมีสิ่งที่เคารพนับถือของผู้เชื่อถือจะได้ยึดถือเป็นหลักใจเป็นที่รวมของคนทั้งหลาย จึงมีสถานที่กลางขึ้น เรียกทั่วไปในภาษาไทยว่าวัดบ้าง ศาลเจ้าบ้างหรือเรียกอนุโลมเพื่อให้เข้าใจกันได้ว่า โบสถ์บ้าง วิหารบ้าง สุเหร่าบ้าง ตามที่หมายรู้กันสถานที่เหล่านี้เราเรียกกันออกไปอีก เช่น ปูชนียสถานบ้าง เจดียสถานบ้าง ตามถนัดที่จะหมายรู้กันได้ เมื่อรวมลงแล้วสถานที่เหล่านี้ก็เป็นที่เคารพอย่างสูงสุดของผู้นับถือลัทธินิยมนั้น ๆ การเข้าไปในเขตบริเวณสถานที่เช่นนั้นแม้เราจะนับถือหรือไม่ก็ตาม เราต้องแสดงความเคารพต่อสถานที่เหล่านั้นเช่นเดียวกับสถานที่ซึ่งตนเคารพนับถือการแสดงความเคารพนั้นมีหลายวิธี ถ้าสวมรองเท้า เมื่อจะเข้าไปในเขตนั้น ต้องถอดรองเท้า ถ้าสวมหมวกต้องเปิดหมวก ถ้ากางร่มต้องลดร่ม แต่เรื่องการถอดรองเท้านี้ ถ้าสวมตามเครื่องแบบมีข้อบังคับว่าถอดไม่ได้ ถอดเป็นการแสดงความไม่เคารพ เช่นนี้ไม่ต้องถอดรองเท้าก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะเข้าในสถานที่เคารพทุกแห่งควรแสดงความเคารพก่อนเข้าไป

8. ผู้ดีย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน หมายความว่า ในการแสดงความเคารพต่อกันและกันนั้น ตามปรกติผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ก่อนแล้วผู้ใหญ่จึงรับเคารพภายหลัง เช่น เมื่อพบกัน ผู้น้อยต้องแสดงความเคารพผู้ใหญ่ เช่น ไหว้ก่อนแล้วผู้ใหญ่จึงรับไหว้ภายหลัง ข้อนี้หากอยู่ในเครื่องแบบอย่างไรในที่เช่นใดต้องทำให้เหมาะแก่กาลเทศะ

9. ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน หมายความว่า เมื่อชายและหญิงได้พบกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตามปรกติผู้ชายต้องเคารพผู้หญิงก่อน จึงจะนับว่าเป็นมรรยาทที่ดี ทั้งนี้หมายถึงสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษโดยทั่วไป มิใช่แก่พ่อแม่พี่ป้าน้าอาปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์ ซึ่งต้องเคารพกันฐานญาติอยู่แล้ว

10. ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน หมายความว่า แขกผู้ไปถึงถิ่นของท่านผู้ใด ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อจะลากลับฝ่ายผู้เป็นแขกต้องแสดงคารวะต่อเจ้าถิ่นโดยสถานใดสถานหนึ่ง ตามควรแก่ภาวะของตน ถ้าแขกเป็นผู้น้อยกว่า ก็ทำตามภาวะของผู้น้อย ถ้าแขกเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ทำตามภาวะของผู้ใหญ่

11. ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน หมายความว่าในการพบปะกันในสถานที่ต่างๆ เช่น ในงานชุมนุม ในการพบปะกันในที่เช่นนั้น ตามปรกติผู้ที่เห็นควรแสดงความเคารพก่อน โดยควรแก่ภาวะของตน เช่น ทักก่อน หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ามีไมตรีกัน

12. ผู้ใดเคารพตนก่อน ควรตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย หมายความว่า ในการแสดงความเคารพต่อกันและกันนั้น ตามปรกติย่อมถือหลักว่า ผู้ไหว้ย่อมได้ไหว้ตอบ ผู้เคารพย่อมได้เคารพตอบโดยหลักนี้เมื่อมีผู้ใดมาแสดงความเคารพต่อเรา เราต้องแสดงความเคารพตอบทันที ตามปรกติธรรมเนียมไทย ผู้น้อยต้องแสดงก่อน เช่น ไหว้ก่อน เป็นต้น เป็นผู้ใหญ่ควรยกมือขึ้นไหว้ตอบผู้น้อย แต่การรับไหว้นี้จะยกสูงต่ำเพียงไรย่อมแล้วแต่ภาวะอันควร แต่บางทีอาจก้มศีรษะน้อมรับแทนก็ได้ ส่วนธรรมเนียมตะวันตก เช่น จับมือ ผู้ใหญ่ต้องให้มือก่อนแล้วผู้น้อยจึงจับ เป็นผู้น้อยจะยื่นมือให้ผู้ใหญ่เป็นการไม่สมควร

วจีจริยา

การแสดงสัมมาคารวะทางวาจา

1. ผู้ดีย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่ หมายความว่า ตามปกติผู้น้อยย่อมต้องเคารพผู้ใหญ่อยู่ทุกโอกาสแล้ว การพูดจาปราศรัยกับผู้ใหญ่ก็ต้องพูดเรียบร้อยเป็นสัมมาคารวะ ต้องไม่พูดจาล้อเลียนหรือหลอกลวงท่าน เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการตีเสมอท่าน ดังนั้นผู้ดีจึงต้องพูดจาปราศรัยกับผู้ใหญ่ด้วยสัมมาคารวะเสมอ

2. ผู้ดีย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง หมายความว่า เราพูดกับใครเราไม่ควรพูดถึงญาติมิตรที่ผู้พูดอยู่กับเรานั้นรักใคร่ นับถือกันในทางเสียหาย คือไม่นินทาเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องของผู้ที่พูดอยู่ด้วย ให้ผู้นั้นฟัง เช่น เราพูดกับนายแดงเราไม่ควรว่าเพื่อนหรือญาติของนายแดงเป็นต้น โดยปรกติแล้วเราไม่ควรพูดถึงใคร ๆ ในทางที่เสื่อมเสีย ควรพูดถึงแต่ในทางที่ดีเท่านั้น

3. ผู้ดีย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนสิ่งเคารพ หรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา หมายความว่า สิ่งเคารพได้แก่ เจดียสถานหรือศาสนาที่เคารพได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือครูบาอาจารย์ ในการสนทนาปราศรัยกันนั้น เมื่อรู้ว่าผู้นั้นนับถือลัทธิต่างกัน เราไม่ควรพูดจาติเตียนสิ่งเคารพของเขา หรือไม่ควรกล่าวติเตียนพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ของเขา เช่น เราถือพุทธ เพื่อนเราถือคริสต์ เราไม่ควรติเตียนพระเยซูให้เพื่อนเราฟัง หรือเราพูดกับนายดำเราไม่ควรติเตียนพ่อนายดำดังนี้เป็นต้น นี้เป็นเรื่องของจิตไม่ควรกระทบน้ำใจกัน







4. ผู้ดีเมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน หมายความว่า เมื่อเรามีความจำเป็นจะต้องล่วงเกินผู้อื่น เช่น เราเห็นผงหรือตัวแมลงติดอยู่บนศีรษะของผู้อื่น เรามีความปรารถนาจะช่วยหยิบผงหรือตัวแมลงนั้นออก ก่อนที่เราจะทำเราควรขอโทษเขาเสียก่อนแล้วจึงหยิบออก หรือเมื่อจะพูดถึงเรื่องของเขา ก็ต้องขอโทษเขาก่อนจึงควรพูด หรือแม้การอย่างอื่นก็ทำนองเดียวกัน โดยที่สุดแม้จะฟ้องใครยังต้องบอกให้ผู้ถูกฟ้องทราบก่อน ทำอย่างนี้จึงเป็นการสมควร

5. ผู้ดีเมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ หมายความว่า เมื่อเราต้องอยู่รวมกับคนหมู่มากเราอาจกระทบมือกระทบเท้ากันได้บ้าง เมื่อพลาดพลั้งไปเช่นนั้นก็ต้องกล่างคำขอโทษทุกครั้ง จึงจะเป็นการสมควร

6. ผู้ดีเมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ หมายความว่า เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดช่วยเหลือเราด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ในทางที่ดีนั้น เราต้องกล่าวคำขอบคุณท่าน เช่น เขาให้ที่นั่งเรา เขาให้ทางเราหรือเขาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เราอย่างไร เราต้องกล่าวคำขอบคุณเขาทุกครั้ง จึงจะเป็นการสมควร



มโนจริยา

หมายถึง การแสดงความมีน้ำใจอันดีงามเป็นสัมมาคารวะ

1. ผู้ดีย่อมเคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์ หมายความว่าบุคคลผู้สร้างชีวิตของเรา เท่าที่เราเกิดมาครั้งนี้ ก็มีเพียงสองคนเท่านั้น ท่านทั้งสองคือ พ่อกับแม่นี้เป็นผู้มีความรักเราจริง เป็นผู้สร้างชีวิตและร่างกายเราโดยแท้ ถัดจากนั้น ก็มีบุคคลที่มีคุณควรเคารพ คือ ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เป็นผู้สร้างชีวิตเราในฝ่ายวิชาความรู้ วิชาความรู้ที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ตั้งต้นแต่อ่านเขียนได้ คิดเลขได้ ตลอดถึงวิชาทำมาหากินได้นี้ ก็เพราะครูบาอาจารย์บุคคลเหล่านี้ เราต้องเคารพยำเกรง ไม่ว่าในที่ใด ๆ ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ไม่ว่าในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าท่านผู้นั้นจะอยู่ในภาวะอย่างไรก็ตามเรามีทางเดียวที่จะพึงปฏิบัติต่อท่าน คือมีความเคารพยำเกรงในท่านเท่านั้น อย่างนี้จึงสมควร







2. ผู้ดีย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ หมายความว่า ผู้ใหญ่คือบุคคลผู้มีความเจริญกว่าเรา กำหนดได้เป็น 3 คือ 1. เจริญโดยชาติ หมายความว่า เกิดในสกุลที่ประชาชนยกย่องนับถือว่าสูงศักดิ์ เช่น ตระกูลกษัตริย์ บุคคลที่เกิดในตระกูลเช่นนี้ เช่น เจ้าฟ้า หรือเจ้านายชั้นรองลงมาก็ดี แม้ทรงมีอายุน้อยกว่าเรา เราก็ควรเคารพท่านเป็นต้น 2. เจริญโดยวัย หมายความว่าเกิดก่อนเรา มีอายุมากกว่าเรา แม้มีศักดิ์ต่ำกว่า เราก็ต้องเคารพท่าน 3. เจริญโดยคุณ หมายเอาบุคคลผู้มีคุณธรรมสูง เป็นภิกษุสามเณรหรือบุคคลอื่น เช่น ครูบาอาจารย์ท่านเหล่านี้ชื่อว่า ผู้ทรงคุณ เราก็ควรเคารพท่าน หรือถือหลักง่าย ๆ ว่าเป็นผู้น้อยต้องแสดงความนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ จึงเป็นการสมควร

3. ผู้ดีย่อมมีความอ่อนหวานต่อผู้น้อย หมายความว่าคนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ใหญ่นั้น คือผู้ที่มีคุณธรรม คือมีเมตตากรุณาเป็นหลักใจเห็นผู้ที่น้อยกว่าตนไม่ว่าสถานใดสถานหนึ่งแล้ว ต้องไม่แสดงอาการข่มขู่ให้ตกใจกลัว หรือไม่แสดงอาการเอารัดเอาเปรียบ ต้องแสดงความสงสารเอ็นดูปราณี โดยถือหลักว่า เป็นผู้ใหญ่ต้องแสดงเมตตากรุณาและอ่อนหวานต่อผู้น้อย จึงจะทำให้ผู้น้อยเคารพรักด้วยน้ำใสใจจริง ไม่ใช่จำใจต้องเคารพไปตามหน้าที่เท่านั้น



ผนวก 4

ผู้ดีย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก

ข้อนี้หมายความว่า การแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน หรือพูดจาปราศรัย หรือการแสดงน้ำใจ ต้องแสดงในทางที่ส่อให้เห็นว่า น่ารักน่าเคารพนับถือบูชา จึงเป็นการสมควร

กายจริยา

คือการแสดงออกทางกาย เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน ที่น่ารักใคร่ น่าพอใจ

1. ผู้ดีย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ไปใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งอยู่กับพื้น และไม่ไปนั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนเดินกัน หมายความว่า เมื่อรวมอยู่ในหมู่คนหรือในชุมนุมชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร เมื่อคนทั้งหลายนั่งอยู่บนพื้นราบ เราเข้าไปยังที่นั้น ต้องนั่งเช่นเดียวกับเขา เมื่อจะผ่านไปต้องเดินเข่าหรือคลานไป ไม่ควรเดินเทิ่ง ๆ ผ่านไป เมื่อคนทั้งหลายนั่งอยู่บนเก้าอี้ เราเข้าไปยังที่นั้น ต้องนั่งที่เก้าเช่นเดียวกับเขา เมื่อจะผ่านไปต้องเดินก้มหลังผ่านไป เมื่อคนทั้งหลายยืนอยู่เราเข้าไป ณ ที่นั้นต้องยืนเช่นเดียวกับเขา เมื่อจะผ่านไปต้องเดินหลีกไป ถ้าเข้าในที่ปูชนียสถาน เช่น ในโบสถ์ พึงกราบพระด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างนี้จึงสมควร

2. ผู้ดีย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น หมายความว่า เมื่อไปหาท่านผู้ใดด้วยธุระอย่างใด เมื่อเสร็จธุระแล้วต้องรีบลากลับ ไม่ควรนั่งอยู่นานเกินไป นอกจากผู้ที่คุ้นเคยใกล้ชิดสนิทสนมกัน

3. ผู้ดีย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์ หมายความว่า เมื่อไปในงานศพ ไม่ควรแสดงกิริยารื่นเริงหรือตลกคะนองสรวลเสเฮฮาพึงแสดงอาการสงบ ปลงธรรมสังเวชตามควร

4. ผู้ดีย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเxxx่ยวแห้งในที่ประชุมรื่นเริง หมายความว่า เมื่อไปในงานรื่นเริง เช่น งานแต่งงาน หรืองานฉลองอื่น ๆ ไม่พึงแสดงอาการโศกเศร้าหงอยเหงาเจ่าจุกให้ปรากฏ แต่ควรแสดงอาการรื่นเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยควรแก่ภาวะของตนจึงเป็นการสมควร

5. ผู้ดีเมื่อไปสู่ที่ประชุมการรื่นเริมย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง หมายความว่า เมื่อไปในงานรื่นเริง เช่น งานวันเกิดหรือในงานปีใหม่ หรืองานฉลองอย่างใด ต้องสนุกสนานในที่ควรสนุกสนานตามสมควร

6. ผู้ดีเมื่อเป็นเพื่อนเที่ยวย่อมต้อมกลมเกลียวและร่วมลำบากร่วมสนุก หมายความว่า เมื่อไปเที่ยวในที่ใด ถ้าไปกันหลายคนก็พึงมีความกลมเกลียวกัน ลำบากก็ลำบากด้วยกัน สนุกก็สนุกด้วยกันต่างคนต่างช่วยกันทำกิจที่ควรทำตามความสามารถของตน แสดงความร่วมสุขร่วมทุกข์กันตลอดไป ดังนี้การเที่ยวเตร่จึงจะสนุกสนานตามสมควร

7. ผู้ดีเมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับแขกและเชื้อเชิญแขกไม่เพิกเฉย หมายความว่า ผู้เป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าถิ่น ต้องต้อนรับแขกผู้มาถึงบ้านหรือถิ่นของตนด้วยความยินดี ไม่ว่าแขกนั้นจะเป็นอย่างไร การต้อนรับนี้แยกทำออกได้เป็น 2 วิธี วิธีที่1 ต้อนรับด้วยเครื่องต้อนรับต่าง ๆ เช่น น้ำร้อน น้ำเย็น หรือข้าวปลาอาหารหรือด้วยสิ่งอื่น ตามความสามารถของเจ้าถิ่น วิธีที่2 ต้อนรับด้วยน้ำใสใจจริง แขกมีภาวะอย่างไร ก็รับรองให้เหมาะแก่ภาวะของแขกและด้วยน้ำใจอันงามของเจ้าถิ่น ดังนี้จึงเป็นการสมควร

8. ผู้ดีย่อมไม่ทำกิริยามึนตึงต่อแขก หมายความว่า เมื่อแขกมาถึงบ้านตน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเช่นไร ตั้งต้นแต่พระสงฆ์องค์เจ้าโดยที่สุดแม้คนขอทาน มาถึงบ้านตนแล้ว ต้องต้อนรับด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ต้องถือหลักว่า แขกผู้มาถึงเรือนตนนั้นเป็นผู้นำมงคลมาให้จึงควรต้อนรับมงคลนั้น ดังนี้จึงเป็นการสมควร





9. ผู้ดีย่อมไม่ให้แขกคอยนานเมื่อเขามาหา หมายความว่า เมื่อแขกมาหา ต้องรีบให้ได้พบโดยเร็ว ตื่นอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดีหรือกำลังทำกิจอยู่ก็ดี ควรให้โอกาสแก่แขกได้ทุกเวลา และพยายามให้ได้พบโดยเร็วที่สุด ไม่ควรให้แขกต้องคอยอยู่นาน และไม่ควรแสดงให้แขกทราบว่า มีกิจธุระอันจำต้องทำเป็นอันขาด

10. ผู้ดีย่อมไม่จ้องดูนาฬิกาในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่ หมายความว่า ขณะที่แขกกำลังนั่งอยู่ในบ้าน ไม่ควรจ้องดูนาฬิกาเพราะการทำเช่นนั้น เท่ากับเป็นการไล่แขกให้กลับโดยทางอ้อม จึงไม่ควรทำหากมีธุระจำเป็น เช่น นัดไว้กับผู้อื่น ก็ควรแจ้งให้แขกทราบและขอโทษแขก ถึงอย่างไรก็ตาม แขกก็คงไม่ปรารถนาจะให้เราต้องเสียเวลาเช่นนั้น ต้องแสดงให้ปรากฏเสมอว่า ยินดีต้อนรับตลอดเวลาและควรขอบคุณแขกผู้มาเยี่ยมเยียนตนด้วย

11. ผู้ดีย่อมไม่ใช้กิริยาบุ้ยใบ้หรือกระซิบกระซาบกับผู้ใด ในเวลาเมื่ออยู่เฉพาะหน้าผู้หนึ่ง หมายความว่า ขณะกำลังสนทนาปราศรัยอยู่กับผู้ใด หรืออยู่ในกลุ่มใดไม่ควรทำบุ้ยใบ้ หรือกระซิบกระซาบกับใครเป็นการเฉพาะตัวซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งหรือคนหนึ่งที่ร่วมอยู่นั้นไม่รู้ เพราะทำการเช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องนั้นมีความระแวงสงสัยไปต่าง ๆนานาได้ หากมีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น ก็ควรงดไว้จนกว่าจะได้โอกาสจึงทำ เพื่อมิให้เกิดความระแวงสงสัยในใจกันและกัน

12. ผู้ดีย่อมไม่ใช้กิริยาอันโกรธเคืองหรือดุดันผู้คนบ่าวไพร่ต่อหน้าแขก หมายความว่า ในขณะที่อยู่ต่อหน้าแขกหรืออยู่รวมกับคนต่างถิ่น หรืออยู่ในที่ชุมนุมชน ไม่ควรแสดงกิริยาอาการอันโกรธเคืองผู้ใดผู้หนึ่ง หรือดุด่าว่ากล่าวคนรับใช้ของตนต่อหน้าคนทั้งหลายเหล่านั้นโดยเฉพาะต่อหน้าแขกที่มาถึงบ้านตนแล้ว ไม่ควรจะทำโกรธเคืองหรือดุดันคนรับใช้ของตนเลย

13. ผู้ดีย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพิ่งพิศเหลือเกิน หมายความว่า เมื่อพบปะบุคคลใดๆ ก็ตาม ไม่ควรจ้องดูบุคคลผู้นั้นจนผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ผู้ถูกจ้องดูนั้นเห็นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ได้ แม้จำเป็นต้องดู ก็ดูเพียงเพื่อกำหนดหมายจำหน้าจำตากันไว้เท่านั้น

14. ผู้ดีย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมา ในระยะอันสมควร หมายความว่า เมื่อแขกมาถึงบ้านเรือนตนต้องออกต้อนรับด้วยความยินดี เมื่อแขกกลับต้องส่งแขกในระยะทางพอควร แสดงให้เห็นความยินดีต้อนรับขับสู้ของเจ้าถิ่น ทั้งนี้เป็นการผูกใจกันได้เป็นอย่างดี





วจีจริยา

คือกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่นับถือ

1. ผู้ดีย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขาตั้งแต่งไว้ในบ้านที่ตนไปสู่ หมายความว่า เมื่อไปถึงบ้านใด ได้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเขาตั้งแต่งไว้ในที่นั้น ไม่ควรเที่ยวตำหนิติเตียนให้เป็นที่กระเทือนใจเจ้าของบ้าน ถ้าเห็นทำไว้ไม่เหมาะไม่ควร ก็น่าจะหาทางช่วยเหลือโดยปรึกษาหารือหรือถามเหตุผลดูก่อน ควรแก้ก็ช่วยแก้ ควรเปลี่ยนแปลงก็ควรเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ขยายความกว้างออกไป ในเวลาไปช่วยงานเขาหรือไปในงานเขา เมื่อเห็นอะไรที่เขาทำไว้ขัดหูขัดตาหรือไม่เหมาะไม่ถูกก็ต้องหาทางช่วยจัดช่วยทำ ช่วยแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่นั่งตำหนิติเตียน ซึ่งไม่เป็นการสมควรเลย

2. ผู้ดีย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง หมายความว่า การกล่าวสรรเสริญรูปกายกันโดยตรงนั้นผู้ฟังจะเกิดความอายกระดากไม่สมควรเลย

3. ผู้ดีย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก หมายความว่า เมื่อพบเพื่อนแม้รู้เรื่องของเพื่อนว่าเป็นอย่างไรหรือผู้นั้นเกิดพลาดพลั้งอย่างใดขึ้น ก็ไม่ควรพูดให้เพื่อนต้องเก้อหรือกระดาก พึงพูดจาด้วยอาการอันยิ้มแย้มแจ่มใสผูกใจกันอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่อันสนิทสนมจึงเป็นการสมควร

4. ผู้ดีย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเคาะแคะสตรีกลางที่ประชุม หมายความว่า เมื่ออยู่ในที่ประชุมชนมากด้วยกันมีทั้งชายทั้งหญิง ในที่เช่นนั้นไม่ควรพูดจาเกาะแกะสตรีให้ได้อาย หรือให้มีความกระดากอายโดยประการใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะล้อเล่นเพื่อสนุกสนานหรือเพื่ออะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องยกย่องให้เกียรติยศสตรีในที่เช่นนั้น จึงเป็นการสมควร

5. ผู้ดีย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล หมายความว่า เมื่อเห็นใคร ๆ มีร่างกายบกพร่องหรือผิดแปลก หรือไม่สมส่วน ก็ไม่ควรตำหนิติเตียนค่อนแคะเขา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้าจำเป็นต้องขอโทษเขาก่อนจึงควรกล่าวเช่นนั้น ดังนั้นจึงเป็นการควร

6. ผู้ดีย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ หมายความว่า เมื่อได้พบผู้หนึ่งผู้ใด จะเป็นเพื่อนสนิทก็ตาม ไม่สนิทก็ตาม เป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นเด็กก็ตาม แม้รู้ว่าเขามีความร้ายหรือเรื่องไม่ดี หรือเคราะห์ไม่ดี หรือโชคไม่ดีอยู่ ก็ไม่ควรกล่าวถึงการร้ายเช่นนั้นโดยพลุ่งโพล่งออกมาให้เขาตกใจ เมื่อรู้อยู่เช่นนั้นควรพูดเอาใจหรือพูดหาทางแก้ไขให้เบาใจ จึงเป็นการควร





7. ผู้ดีย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย หมายความว่า เมื่อได้พบปะใครคนใดคนหนึ่งซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันหรือไม่ก็ตาม เมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นที่น่าอายน่ากระดาก เช่นเขาเป็นแผลที่หน้า หรือเห็นเขาแต่งกายไม่เรียบร้อย หรือเห็นเครื่องนุ่งห่มของเขาขาด หรือเปรอะเปื้อน หรืออย่างอื่นใดก็ไม่ควรที่จะทักให้เป็นที่น่าอายน่ากระดาก หากมีความจำเป็นจะต้องบอก ก็ควรหาทางกระซิบกระซาบให้รู้โดยเฉพาะ เพื่อเขาได้โอกาสแก้ไขเสียได้ทันท่วงทีอย่างนี้จึงเป็นการสมควร

8. ผู้ดีย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง หมายความว่า เมื่อแขกมาถึงเรือนตนหรือถิ่นตน ไม่ควรนำเอาเรื่องที่น่าอายน่ากระดากเล่าให้เขาฟัง เช่น เล่าเรื่องอันพาดพิงถึงตัวเขาหรือเล่าเรื่องอันเขามีส่วนเกี่ยวข้องและเรื่องนั้นก็น่าจะทำให้เขาได้อายหรือมีความกระดากเป็นต้น นี้ไม่เป็นการสมควรแท้

9. ผู้ดีย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ หมายความว่า เมื่ออยู่ในวงสนทนากันไม่ว่าจะมากคนหรือน้อยไม่ว่าจะคุ้นเคยกันหรือไม่ก็ตาม ไม่ควรนำเอาเรื่องใด ๆ ของใคร ๆ ที่อยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาปิดบังซ่อนเร้นมาพูดให้เขาได้อายหรือเจ็บใจ เช่น เรื่องความผิดหวังของคน เรื่องการสอบไล่ตก หรือเรื่องมิดีมิร้ายหรือเรื่องที่เขาพลาดพลั้งที่ตนรู้อยู่เพราะการเล่าเรื่องเช่นนี้ไม่สมควรแท้ควรหาเรื่องอย่งอื่น ซึ่งเมื่อเล่าแล้วทำให้เขาเกิดความสนใจ หรือมีความยินดีปรีดา จึงเป็นการสมควร

10. ผู้ดีย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในงานมงคล หมายความว่า ในขณะที่ไปในงานมงคล เช่น งานแต่งงานก็ไม่ควรเล่าถึงเรื่องผัวเมียแตกกัน ทะเลาะวิวาทกันจนถึงหย่าร้างกัน หรือไปในงานทำบุญวันเกิด ก็ไม่ควรเล่าถึงเรื่องตาย หรือเรื่องความพินาศต่าง ๆ ต้องหาเรื่องที่เป็นมงคลมาเล่าสู่กันฟัง จึงเป็นการสมควร



มโนจริยา

หมายถึง การแสดงน้ำใจที่น่ารัก

1. ผู้ดีย่อมรู้จักเกรงใจคน หมายความว่า ตามปกติคนเราไม่ควรรบกวนคนอื่นเขาไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ๆ ก็ตาม หากมีความจำเป็นจะต้องรบกวนก็ให้รู้ความพอเหมาะพอควรถึงเขาให้โอกาสก็ไม่ควรทำเกินพอดี เช่น จะขอสิ่งของเขาก็ไม่ควรขอของที่เขารัก จะขอสิ่งใดต้องให้เจ้าของยินดีให้ และเมื่อเขาให้แล้วจะไม่ทำให้เขาต้องเดือดร้อนในสิ่งนั้น คือไม่ทำให้เขาขาดแคลนยากจนลง ดังนี้เป็นต้น จึงเป็นการสมควรแท้



ผนวก 5

ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีสง่า

ข้อนี้หมายความว่า ผู้ดีต้องรู้จักภาวะของตัว จะเดินเหินนั่งลุกก็ควรมีท่าทางให้สง่าผ่าเผย เช่น ไม่นั่งหลังงอ หรือทำซอมซ่ออย่างนี้ไม่ควรแท้ แต่ก็ต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นข่มเพื่อนหรือแสดงความยิ่งใหญ่ของตนเกินไป

กายจริยา

หมายความว่า การแสดงกิริยาท่าทางให้สง่าผ่าเผยสมภูมิสมฐาน

1. ผู้ดีย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ หมายความว่า ต้องยืน เดิน นั่ง นอนให้เหมาะสม เช่น ต้องยืนตัวตรง เดินตัวตรง นั่งตัวตรง ไม่ยืนชิดผู้ใหญ่จนเกินไป ไม่เดินเร็วหรือช้าเกินไป ไม่นั่งหลังขดหลังงอ ทั้งนี้เป็นการช่วยให้ส่วนของร่างกายทุกส่วนทำงานได้ตามสภาพของมันด้วย แต่ต้องระวังมิให้เกิดท่าทางที่จะกลายเป็นหยิ่งหรือจองหองจึงควรให้สุภาพเรียบร้อยเท่าที่ควร

2. ผู้ดีจะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในระดับอันสมควรไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม หมายความว่า เมื่อจะยืนจะนั่งในชุมนุมชน ในหมู่ในพวก ต้องยืนนั่งตามลำดับอันสมควรแก่ตน คือควรอยู่หน้าต้องอยู่หน้า ควรอยู่กลังต้องอยู่หลัง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ไปอยู่ข้างหลัง เท่ากับเป็นการกีดกันที่ยืนที่นั่งของผู้น้อย ในเวลาเข้าแถวปกติต้องไปตามลำดับผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่ถ้าในแถวคอยต้องไปตามลำดับก่อนหลังอย่างนี้จึงสมควร

3. ผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้านงกเงิ่นหยุดๆ ยั้งๆ หมายความว่า ในชุมนุมชนต้องมีความองอาจ ความแกล้วกล้า จะมีคนมากก็ตาม คนน้อยก็ตาม ต้องทำประหนึ่งว่าเหมือนไม่มีคนแสดงอาการทุกอย่างให้เป็นปกติ การที่จะให้มีความกล้าหาญได้นั้นต้องเป็นผู้สนใจในวิชาความรู้ ต้องเป็นผู้สนใจในขนบธรรมเนียมประเพณีต้องเป็นผู้สนใจในระเบียบแบบแผน และต้องหมั่นเข้าร่วมชุมนุมในที่ซึ่งตนจะเข้าร่วมได้ตามกาลเทศะ มิฉะนั้นแล้วก็อดจะสะทกสะท้านบ้างไม่ได้ไม่มากก็น้อย เมื่อมีอาการอย่างนั้น จำต้องข่มใจหรือนึกถึงความรู้ความสามารถของตัวที่มีอยู่แล้วนำออกใช้ในเวลานั้น ก็อาจทำให้หายสะทกสะท้าน แสดงกิริยาอาการได้เป็นปกติ









วจีจริยา

หมายความว่า การใช้วาจาให้เหมาะสมเป็นสง่า

1. ผู้ดีย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยชัดความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม หมายความว่า ต้องพูดให้เสียงดังพอควรแก่ผู้ฟัง พูดชัดเจนให้ได้เรื่องไม่อุบอิบอ้อมแอ้มให้ผู้ฟังต้องฉงนสนเท่ห์หรือซักถาม



มโนจริยา

หมายความว่า การแสดงน้ำใจอันงานให้ปรากฏ

1. ผู้ดีย่อมมีความรู้จักงานรู้จักดี หมายความว่าต้องฝึกตาให้รู้จักดูต้องฝึกหูให้รู้จักฟัง ต้องฝึกจมูกให้รู้จักดม ต้องฝึกลิ้นให้รู้จักลิ้ม ต้องฝึกกายให้รู้จักจับต้อง ต้องฝึกใจให้รู้จักงามอย่างไรดีอย่างไรแล้วฝังจิตใจในความดีความงานนั้นให้แน่นแฟ้น เมื่อได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ก็สามารถเปรียบเทียบให้รู้ได้เลือกเอาแต่สิ่งที่ดีงาน นี้จึงควร

2. ผู้ดีย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวางเข้าไหนเข้าได้ หมายความว่า ต้องรู้จักเข้าสังคม คบกับบุคคลได้ทุกชนิดโดยการสังเกตและรอบรู้ เช่น รู้ว่าบุคคลนั้น ๆ มีฐานะอย่างไร ตนมีฐานะอย่างไร รู้จักกาลว่าขณะใดควรพูดเป็นเรื่องราว หรือพูดเล่นเพื่อสนุกไม่ถือตัวและแสดงความเมตตากรุณา รู้จัดอดทนและให้อภัย และรู้จักรับผิดเมื่อผิดพลาด

3. ผู้ดีย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด หมายความว่า ต้องวางใจเป็นนักกีฬา คือรู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักผิด รู้จักถูก รู้จักยกโทษให้ผู้อื่น มองคนทั้งหลายแต่ในทางที่ดีที่ชอบ มีความอดทน ฟังคนอื่นให้เข้าใจ และรู้จักพูดเล่นต่อติดกับเขาได้ไม่นิ่งเฉยเสีย

4. ผู้ดีย่อมมีความเข้าใจไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์ หมายความว่า ต้องเป็นพหูสูต คือเรียนรู้ดี ผู้ที่เรียนรู้ดีนั้นประกอบด้วยลักษณะดังนี้ 1.จำได้ 2.คล่องปาก 3.ขึ้นใจ 4.เข้าใจ คนที่มีลักษณะเช่นนี้เรียนกว่ารู้ดี คนที่มีความรู้ดี นั้นเมื่อได้พบได้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมรู้เท่าถึงการณ์นั้น นี้กล่าวเฉพาะในส่วนที่เรียนรู้เอาได้ ส่วนไหวพริบอันแท้จริงนั้น เกิดจากธรรมชาติเดิม คือปัญญาเดิม ตั้งแต่เกิด มีมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ปัญญาใหม่ คือ วิชาความรู้ที่เล่าเรียนนั้นใครเรียนอย่างใด ก็รู้อย่างนั้น เรียนดีก็รู้ดี ความรู้ดีย่อมทำให้รู้เท่าถึงการณ์ได้





5. ผู้ดีย่อมมีใจองอาจกล้าหาญ หมายความว่าต้องมีใจแกล้วกล้าอดทน ไม่ย่อท้อในภัยอันตรายอันจะมีมาซึ่งหน้า เช่น เป็นนักรบก็จะไม่กลัวตาย หาญสู้ศัตรูเพื่อประเทศชาติของตน เป็นคนธรรมดาก็ไม่ย่อท้อในกิจการทุกอย่าง อันเป็นหน้าที่ของตน เพื่อรักษาเกียรติประวัติที่ดีไว้ เช่น เป็นนักเรียน เป็นครู เป็นแพทย์ ก็ต้องอดทน กล้าหาญที่จะทำกิจของตน ๆ ไม่ทำใจฝ่อหรือขลาดกลัวโดยไม่สมควร



ผนวก 6

ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี

หมายความว่า การปฏิบัติการงานดี คือ ทำการงานทุกอย่างอันเป็นหน้าที่ของตนไม่บกพร่อง ไม่คั่งค้าง ทำเสร็จเรียบร้อยด้วยดีตามส่วนของงาน อันเป็นหน้าที่นั้น



กายจริยา

หมายความว่า การปฏิบัติการงาน ซึ่งต้องใช้กายเป็นสำคัญ

1. ผู้ดีย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน หมายความว่า ในการกระทำต่าง ๆ ผู้ดีย่อมรักษาระเบียบแบบแผนถือเอาหลักของเหตุเป็นสำคัญ ไม่ทำตามอำเภอใจโดยไม่มีหลักอันจะเป็นช่องทางให้เกิดความผิดหรือถูกตำหนิได้

2. ผู้ดีย่อมไม่ถ่วงเวลาให้ผู้อื่นคอย หมายความว่า ในการนัดหมายเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องทำตนให้เป็นคนตรงต่อเวลา ถ้าทำตนให้เป็นคนผิดเวลาแล้ว ย่อมจะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน รำคาญด้วย และอาจเสียงานนั้น ๆ ได้ในบางกรณี พลาดเวลาเพียงนาทีเดียว ก็อาจต้องเสียงานหรือต้องเสียเวลาไปหลายวันก็ได้ ดังนั้นจึงควรเป็นคนตรงต่อเวลาเสมอ

3. ผู้ดีย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย หมายความว่า การตอบจดหมายนั้นเป็นมรรยาทอันดีงาม เพราะถ้าเป็นธุระก็ควรตอบไปให้เสร็จจะได้ไม่ลืม ถ้าเป็นจดหมายเยี่ยมเยือนแสดงมิตรภาพก็ควรรีบตอบแสดงน้ำใจอันดีไปเพื่อให้เขาเห็นว่าเรามิได้ละเลยที่จะรักษามิตรภาพนั้น

4. ผู้ดีย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า หมายความว่า การงานอันใดที่เป็นของหมู่คณะ ผู้รับทำงานต้องทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปตามที่ได้รับมอบหมาย และการทำงานนั้นต้องไม่ทำแต่เฉพาะต่อหน้าคนเท่านั้น ต้องทำทั้งต่อหน้าและลับหลังหรือการอย่างอื่นเช่น ไปช่วยงานเขา เมื่อมีความรู้ความสามารถจะทำงานอย่างใดได้ก็ต้องทำงานนั้นทีเดียว เจ้าของจะเห็นหรือไม่ก็ตาม ควรทำจนสุดกำลังความสามารถของเราจึงเป็นการชอบแท้

วจีจริยา

หมายความว่า การปฏิบัติการงานด้วยคำพูดเป็นสำคัญ

1. ผู้ดีพูดสิ่งใด ย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้ หมายความว่า เมื่อจะพูดคำใด คำนั้นต้องเป็นคำที่ออกจากหัวใจจริง คือ พูดตามที่ได้เห็นได้ฟังได้ทำหรือได้รู้สึก มิใช่เสแสร้งแกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง

2. ผู้ดีย่อมไม่รับวาจาคล่องๆ โดยมิได้เห็นว่าควรจะเป็นได้หรือไม่ หมายความว่า เมื่อจะรับคำเพื่อทำการใดการหนึ่งหรือจะสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อจะปฏิญาณอย่างใดอย่างหนึ่งกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ต้องใคร่ครวญให้แน่แก่ใจก่อนจึงรับคำหรือจึงปฏิญาณ มิใช่ทำแต่สักว่าทำ พูดโพล่ง ๆ ไปโดยมิได้คำนึงให้แน่ชัดว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อรับคำแล้วแม้ว่าจะต้องเสียอย่างใดก็ต้องยอมเสีย ต้องถือหลักว่าเสียชีพอย่าเสียสัตย์



มโนจริยา

หมายความว่า ตั้งจิตใจมั่นในการปฏิบัติงานทุกอย่างซึ่งเป็นหน้าที่ของตน ปักใจลงในการงานนั้น เห็นว่าการงานดีทั้งหลายรู้ได้เมื่อทำเสร็จ มิใช่รู้ได้เมื่อกำลังทำหรือก่อนทำปักใจลงในการงานอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติทางใจด้วยดี

1. ผู้ดีย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา หมายความว่า ความสัตย์คือความตรง หรือความจริง หรือซื่อตรง ความซื่อตรงนี้เป็นชีวิตจิตใจอันแท้จริงหาไม่ได้ง่ายนัก โบราณท่านว่าร้อยคนยังหาคนกล้าได้คนหนึ่ง พันคนยังหาคนมีความรู้ได้คนหนึ่ง แต่หมื่นคนแสนคนจะหาคนซื่อตรงได้สักคนหนึ่งยังไม่ได้ ซื่อตรงต่อตัว คือไม่ทำชั่ว ซื่อตรงต่อคนอื่นคือไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร ๆ ซื่อตรงต่อเวลาคือ ตรงเวลาในระยะแรก ระยะกลาง คือ เวลาทำงาน ระยะสุดท้าย คือ เวลาเลิก ชื่อว่าเป็นคนมีความสัตย์ในเวลา

2. ผู้ดีไม่เป็นผู้เกียจคร้าน หมายความว่า เมื่อลงมือประกอบการงานแล้วไม่ยอมให้การงานนั้น ๆ คั่งค้างต้องทำให้สำเร็จจนสุดความสามารถ

3. ผู้ดีย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้ หมายความว่า การประกอบการงานทุกอย่าง ตามปกติเราต้องอาศัยกันและกันการงานจึงสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่การงานนั้น ๆ จะมัวแต่พึ่งคนอื่นอยู่ร่ำไปนั้นไม่สมควร ตัวเองต้องทำได้เองด้วย





4. ผู้ดีย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย หมายความว่า ตามปกติคนเรานั้นวันหนึ่ง ๆ จะทำอะไรไปอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องแบ่งเวลากิน เวลานอน เวลาพัก เวลาเล่น เวลาทำงานตามควร เวลาเหล่านี้จำต้องแบ่งให้ถูกส่วน อย่าให้เสียส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ถึงเวลาทำงานก็ต้องทำงาน ถึงเวลาพักเล่นก็ต้องพักเล่น แต่จะเล่นเพลิดเพลินจนลืมตัวเสียการงานก็ไม่เป็นการสมควร

5. ผู้ดีย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ หมายความว่า ระเบียบแบบแผนข้อบังคับ ขนมธรรมเนียมประเพณีอันใด ที่ได้ตั้งไว้บัญญัติไว้ หรือเคยประพฤติกันมาเป็นธรรมเนียมแล้ว ต้องเป็นผู้รักษาระเบียบนั้นไว้ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของคนทั้งหลายย่อมคุ้มกันไว้ด้วยระเบียบ ไม่มีระเบียบย่อมระส่ำระสายทันที และไม่ว่าจะทำการงานใด หากได้จัดระเบียบให้ดีแล้วก็จะสะดวกและรวดเร็วเป็นอันมาก ควรจำไว้ว่า ความเป็นระเบียบย่อมงามตาสบายใจให้ความสะดวกตรงข้ามกับความสับสนย่อมรกตารำคาญใจและให้ความขัดข้อง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยไว้

6. ผู้ดีย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชา เมื่ออยู่ในหน้าที่ หมายความว่า ในกลุ่มคนที่ร่วมงานกันมีหน้าที่อยู่สองอย่าง คือหน้าที่บังคับอย่างหนึ่ง หน้าที่ทำตามอย่างหนึ่ง เราต้องรู้ตัวเราว่า เรามีหน้าที่เช่นไร เมื่อรู้แล้วต้องทำตามหน้าที่นั้น เช่น มีหน้าที่บังคับก็ต้องบังคับ มีหน้าที่ทำตามก็ต้องทำตาม เรามีหน้าที่อย่างใดต้องรักษาหน้าที่นั้นให้บริบูรณ์ไม่บกพร่อง จึงสมควร

7. ผู้ดีย่อมมีมานะในการงาน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก หมายความว่า ตามปกติการงานที่เราทำต้องมีอุปสรรคความขัดข้องทั้งนั้น การงานเล็กมีอุปสรรคเล็ก การงานใหญ่มีอุปสรรคใหญ่ การงานดีมีความขัดข้องมากตามส่วนของการงานนั้น ๆ ในการทำงานถ้าปล่อยให้ความเกียจกร้านเข้าครอบงำแล้ว ย่อมมีความย่อท้อเกิดขึ้นระงับความย่อท้อไม่ได้ การงานก็ไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีความย่อท้อการงานก็สำเร็จได้ด้วยดี เพื่อความสำเร็จของงานต้องตัดความย่อท้อเสีย ต้องไม่คิดถึงความยากลำบากยากเย็น ต้องถือหลักโบราณว่า ต้องอดเปรี้ยวกินหวาน เมื่อได้ทำการงานสำเร็จแล้วก็จะมีความสบายภายหลัง

8. ผู้ดีย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง หมายความว่า เมื่อได้ลงมือทำอะไรแล้ว ต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ เช่น เรียนหนังสือ ก็ต้องเรียนให้ถึงที่สุดของวิชาตามชั้นนั้น ๆ ต้องไม่หยุดเสียกลางคัน เป็นต้น เมื่อเป็นกิจการใหญ่ ๆ ต้องทำเรื่อยไปจนสำเร็จ



9. ผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด หมายความว่า ตามปกติการทำ การพูด ความคิดของคนเราย่อมมีได้ทั้งผิดทั้งถูก เราเองก็มีทั้งผิดทั้งถูก เพราะเราเองเมื่อสำคัญผิดก็เห็นผิดได้ เมื่อเห็นผิดได้ก็ทำผิดได้ พูดผิดได้ คิดผิดได้ แต่เมื่อรู้ว่าผิดแล้วเลิกเสียก็ใช้ได้ แต่ถ้ารู้ว่าผิดแล้วยังขืนดึงดันก็เสียหาย เพราะฉะนั้นเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย เมื่อรู้ว่าผิดแล้วก็อย่าดึงดัน หรือขืนทำลงไปจึงจะเป็นผลดี

10. ผู้ดีย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ หมายความว่า เมื่อทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งต้องหวังความเจริญในการงานนั้น ต้องคอยหมั่นตรวจตราพินิจพิจารณาให้รอบคอบอย่าทำสักแต่ว่าให้พ้นไปวันหนึ่ง ๆ หรือคราวหนึ่ง ๆ และต้องหมั่นดูว่าการนั้น ๆ เป็นไปตามความหวังของตนหรือไม่ เมื่อเห็นว่าไม่เป็นไปตามความหวัง ต้องหาทางแก้ไข เมื่อแก้ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง หรือหาบุคคลที่สามารถมาทำให้เป็นไปตามความหวัง ไม่กักงานนั้นไว้เสียคนเดียวแล้วตนไม่สามารถทำได้ การงานนั้นก็เสียไป อย่างนี้จึงจะชอบ



ผนวก 7

ผู้ดีย่อมเป็นผู้ใจดี

หมายความว่า ต้องทำใจของตนให้มีความเมตตากรุณา คิดแต่ในทางที่ดี มองคนทั้งหลายแต่ในแง่ที่ดี สะสมแต่ความดีต่อกันไว้อย่างนี้จัดว่าเป็นผู้ใจดี



กายจริยา

หมายความว่า แสดงออกให้ปรากฎว่า เป็นคนมีใจดีโดยการกระทำทางกาย

1. ผู้ดีเมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดากย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น หมายความว่า เมื่อเห็นเขาทำผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม ต้องช่วยแก้ไขหรือช่วยให้หายผิด หรือช่วยทำให้ร้ายกลายเป็นดี หรือความผิดพลาดนั้นเป็นที่ปรากฏชัด ก็ต้องทำไม่เห็นเว้นแต่ความผิดพลาดนั้นเป็นความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น ตำรวจเห็นผู้ร้ายกำลังทำผิด จะทำเป็นไม่เห็นไม่ควร ต้องจัดการตามหน้าที่ แต่ถ้าความผิดนั้นไม่เป็นการเสียหายแก่ใคร เช่น ผงติดศีรษะก็ทำไม่เห็นเสียเช่นนี้ ย่อมไม่เสียหาย บางอย่างถ้าทักเข้าเขาจะมีความกระดากอายก็ควรทำเป็นไม่เห็น ย่อมเป็นการควร





2. ผู้ดีเมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสียย่อมต้องหยิบยื่นให้ หรือบอกให้รู้ตัว หมายความว่า เมื่อพบของตกไม่ว่าในที่ใดถ้าเจ้าของอยู่ ต้องบอกเจ้าของให้รู้ ถ้าลับหลังเจ้าของต้องเก็บเอาไปมอบเจ้าหน้าที่ ถ้าในบริเวณโรงเรียน ต้องเก็บเอาไปมอบให้ครูใหญ่ ในถนนหลวงหรือสถานที่ของตน ต้องเอาไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อประกาศหาเจ้าของต่อไป

3. ผู้ดีเมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย หมายความว่า ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดกับผู้ใด เมื่อเห็นเหตุร้ายจะมีขึ้นแก่เขา ต้องรีบบอกทันที เช่น รู้ว่าทางเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือรู้ว่าสะพานชำรุด หรือมีสัตว์ร้ายอยู่ข้างหน้า หรือมีโจรผู้ร้ายคอยดักซุ่ม หรือมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องรีบบอกให้เขารู้ทันที มิใช่ปล่อยให้เขาไปมีอันตรายแล้วหัวเราะเล่นเห็นเป็นสนุกสนาน ไม่เป็นการสมควร



วจีจริยา

หมายความว่า แสดงความเป็นผู้มีใจดีให้ปรากฏด้วยการกล่าวทางวาจา

1. ผู้ดีย่อมไม่เยาะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด หมายความว่า เมื่อเห็นผู้ใดพลาดพลั้งด้วยเรื่องอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมไม่เยาะเย้ยให้เขาได้อาย เช่น เขาพลาดล้มไม่หัวเราะเยาะ เป็นต้น

2. ผู้ดีย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่ หมายความว่า เมื่อจะพูดกับใคร ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้น้อย หรือผู้ต่ำต้อยด้วยสถานใดสถานหนึ่ง หรือจะเป็นเสมอกันก็ตาม ไม่พูดจาข่มขู่ด้วยประการต่าง ๆ ไม่ว่าในทางใดทั้งนั้น เช่น เขาสุภาพ ไม่พูดข่มด้วยท่าทางอันเป็นอันธพาล เห็นเขายากจนไม่พูดข่มเรื่องเงินทอง เป็นต้น



มโนจริยา

หมายความว่า แสดงความเป็นผู้มีใจดีให้ปรากฏจากใจ

1. ผู้ดีย่อมไม่มีใจอันโหดxxxมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย หมายความว่า ต้องแสดงความมีน้ำใจร่วมสุขร่วมทุกข์ให้ปรากฏแสดงความเมตตาปรานีให้ปรากฏ ควรยกย่องก็ยกย่องตามควรแก่กาลเทศะ

2. ผู้ดีย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น หมายความว่า เมื่อผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากอย่างไร มีโอกาสช่วยเหลือก็ช่วยเหลือ แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและเพื่อนบ้านเรือนเคียงกัน ด้วยให้ปันบ้าง ด้วยช่วยเหลือในกิจธุระต่าง ๆ บ้าง ช่วยเหลือในยามเจ็บไข้บ้าง แม้ตามปกติก็ร่วมสุขร่วมทุกข์แสดงความปราถนาดีอยู่เสมอผู้ดีย่อมเอาใจใส่คนเคราะห์ร้าย หมายความว่า เมื่อเห็นผู้ใดผู้หนึ่งตกทุกข์ได้ยากด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตกน้ำ ถูกไฟไหม้ ถูกโจรผู้ร้ายปล้น หรือได้รับอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เข้าช่วยเหลือตามโอกาส ไม่ดูดายใจจืดใจดำ ช่วยเหลือตามกำลังความสามารถเท่าที่จะทำได้นี้เป็นการควรผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที หมายความว่า ในกาแข่งขันอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เล่นฟุตบอล เมื่อฝ่ายตนชนะก็ไม่ควรจะซ้ำเติมฝ่ายแพ้ ไม่ควรทำดังคำพังเพยว่าได้ทีขี่แพะไล่ ต้องทำตนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา คือ รู้แพ้รู้ชนะ ถึงคราวแพ้ก็ยอมแพ้ด้วยดี ถึงคราวชนะก็ชนะด้วยดี ไม่ทำร้ายคนที่ไม่มีทางต่อสู้ไม่ทำร้ายลับหลัง เมื่อเขาเสียทีอยู่แล้วก็ไม่ซ้ำเติม ดังคำว่าไม่เหยียบคนที่ล้มแล้วดังนี้ผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร หมายความว่า เมื่อมีใครมาทำให้โกรธหรือให้เจ็บช้ำน้ำใจด้วยประการใดประการหนึ่งก็ตาม ก็ควรแต่เพียงว่าเจ็บแล้วจำ ก็พอแล้ว คือไม่ควรให้มีอย่างนั้นอีก ให้เป็นการเลิกแล้วกันเสียที ไม่ควรพูดพยาบาทอาฆาตจองเวร คอยหาโอกาสแก้แค้นกันอยู่ตลอดไป เช่น ผูกใจว่าเขาด่าเรา เราต้องด่าเขาให้ได้ เขาตีเราเราต้องตีเขาให้ได้ อย่างนี้ไม่เป็นการควรเลย ต้องคิดว่า เขาด่าเรา เราต้องหาทางไม่ให้เขาด่าอีกหรือหลีกหนีไปเสียให้ไกล ถ้าหลีกไม่ได้ก็อย่าให้เขามาทำเราอีกแล้วกัน ดังนี้จึงเป็นการควร เพราะเวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรแต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

ผนวก 8

ผู้ดีย่อมไม่เห็นแก่ตัวแต่ถ่ายเดียว

หมายความว่า ในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็นสำคัญ จะเอาแต่ข้างตนเองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วย ถ้าเอาแต่ส่วนตัวคนอื่นเดือดร้อนไม่ควรแท้ แต่ในทางตรงกันข้าม เอาแต่ประโยชน์คนอื่นส่วนตัวเดือดร้อน ก็ไม่ควรเหมือนกัน แต่ถ้ารับอาสาเข้าทำประโยชน์ของหมู่คณะ ก็ต้องถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ประโยชน์ส่วนตัวต้องมาเป็นอันดับรอง อย่างนี้จึงเป็นการสมควรแท้



กายจริยา

หมายความว่า การแสดงความไม่เห็นแก่ตัวให้ปรากฏโดยการกระทำทางกาย

1. ผู้ดีย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้หญิง หมายความว่า ในการอยู่ร่วมกันในคณะ ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าก็มี ท่านที่เป็นผู้หญิงก็มี ผู้น้อยหรือผู้ชายต้องไม่หาความสบายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้หญิง เช่น ในการรับประทาน ต้องช่วยให้ผู้ใหญ่และผู้หญิงได้รับประทานก่อนจึงรับประทานภายหลัง ดังนี้เป็นต้น ย่อมเป็นการควรผู้ดีย่อมไม่เสือกสนแย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด หมายความว่า ไม่คอยช่วงชิงหาโอกาสเพื่อตัวโดยถ่ายเดียว ต้องแลเหลียวถึงผู้อื่นบ้างตามควร เช่น ในการขึ้นรถไม่ควรแย่งกันขึ้น ในการนั่งในที่ซึ่งเขาจัด ไม่ควรแย่งที่นั่งในการดูมหรสพหรือดูอย่างอื่น ไม่ควรแย่งกันดู ควรให้ไปตามลำดับแถว หรือเป็นไปตามปกติ แต่ไม่ควรยืดยาดโอ้เอ้ล่าช้า ทำให้ผู้อื่นต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ ต้องทำให้เป็นไปตามควรแก่กาลเทศะผู้ดีย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่งในเมื่อเขาสนทนากัน หมายความว่า เมื่อผู้หนึ่งกำลังสนทนาอยู่กับอีกผู้หนึ่ง ไม่ควรไปแย่งคู่สนทนาเขา โดยที่ไปแย่งเอาเขามาคุยกับเรา หากมีความจำเป็นด้วยธุระจริง ๆ ก็ควรแจ้งให้เขาทราบก่อนและขอโอกาสเขา หากไม่มีความจำเป็นเช่นนั้นแล้ว ไม่ควรทำเป็นเด็ดขาด แม้ในการประกอบธุระอย่างอื่นก็เช่นเดียวกันผู้ดีเป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง หมายความว่า ในการนั่งในที่ชุมนุมตามปกติเขาจัดที่นั่งที่ยืนไว้ ในการยืนแถว ผู้ใหญ่ต้องยืนหน้า ในการนั่ง ผู้ใหญ่ก็ต้องนั่งหน้าเหมือนกัน ในการนี้ทุกคนต้องยืนหรือนั่งตาที่ซึ่งเหมาะแก่ตน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ไปยืนข้างหลังหรือนั่งข้างหลัง หรือยืนปิดช่อง ก็ทำให้ผู้น้อยไม่สามารถจะนั่งจะยืนหรือจะเดินไปได้ เป็นการไม่สมควรแท้ เพราะฉะนั้นต้องนั่งยืนตามที่ที่เหมาะแก่ตนจึงเป็นการควรผู้ดีในการเลี้ยงดู ย่อมแผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน หมายความว่า ในการเลี้ยงอาหารควรช่วยเหลือให้คนข้างเคียงคนได้อาหารก่อน และในขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่ก็ควรดูแลเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมเมื่อเขาบกพร่องบ้าง อย่างนี้จึงเป็นการควร ทั้งนี้นอกจากระเบียบในโต๊ะอาหารที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด เช่น เมื่อเขานำมาให้โดยเฉพาะก็หาควรที่จะหยิบไปให้คนอื่นก่อนไม่ และในที่นี้จำต้องช่วยแต่ตนเอง

6. ผู้ดีในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อๆไปไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน หมายความว่า ในขณะที่กำลังรับประทานร่วมกันอยู่ ถ้าเป็นวงใหญ่ อาหารย่อมอยู่ห่างจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในการนี้ผู้ซึ่งอยู่ใกล้ต้องยื่นส่งอาหารให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ ถ้าเป็นของที่ต้องเฉลี่ยกันก็ต้องส่งต่อๆ กันไปจนทั่วถึง ไม่ควรมุ่งแต่เฉพาะตนท่าเดียว ต้องคอยช่วยเหลือกันตามโอกาสอย่างนี้จึงเป็นการควรผู้ดีย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้ หมายความว่า ในการเลี้ยงร่วมโต๊ะนั้นย่อมมีอาหารที่เขาจัดไว้เป็นส่วนกลาง ซึ่งคะเนว่าพอแก่จำนวนคนในวงนั้น ในการนี้ ผู้ที่มีโอกาสได้แบ่งก่อนก็ไม่ควรแบ่งเอาเสียมากจนเกินไป จนทำให้ผู้ได้โอกาสแบ่งภายหลังไม่ได้ตามควร หรืออาจไม่ได้เลยหรือแม้ในการนั่งในที่รับแขกตามปกติ เขามักตั้งพานหมากพลูบุหรี่ไว้ ซี่งตามปกติก็พอแก่จำนวนคนในชุมนุมนั้น ในการนี้ก็ต้องไม่ฉวยเอาเสียมากมายจนเกินส่วนที่ตนควรจะได้ เช่น ล้วงเอามาตั้งกำมือหรือหลายมวน เป็นต้น อย่างนี้ไม่เป็นการควร ต้องหยิบเอาแต่เล็กน้อยพอเป็นกิริยาจึงเป็นการควรแท้ผู้ดีย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้ หมายความว่า ในยามปกติก็ตาม ในคราวร่วมรับประทานอาหารก็ตาม เมื่อมีผู้ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่เรา เราต้องรู้จักเพียงพอ หรือรู้จักเกรงอกเกรงใจเขาบ้าง มิใช่ว่าเขาให้แล้วก็เอาเสียหมดเท่าไรไม่รู้จักพอเช่นนี้ก็เกินไป อาจทำให้ผู้ได้พบเห็นเสื่อมความนิยมได้ เพราะฉะนั้นจำต้องรู้ความพอเหมาะพอควร คือต้องรู้จักเพียงพอบ้าง ถ้าเป็นของรับประทานก็เอาแต่พอเท่านั้น ไม่ควรรับเอาจนเหลือซึ่งจะต้องทิ้งเสียต้องรู้ความพอเหมาะพอควรอย่างนี้จึงเป็นการควรผู้ดีย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตัวเสมอไป เช่นในการเลี้ยงดูหรือใช้ค่าเดินทางเป็นต้น หมายความว่า ในการเดินทางร่วมกันไปเมื่อมีผู้ใดจัดค่าเดินทางให้ จัดค่าอาหารให้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจให้เขาต้องออกไปฝ่ายเดียว ทางที่ดีที่สุดนั้นควรเฉลี่ยตามส่วนเท่า ๆ กัน เป็นเหมาะแท้ แต่ถ้าเขาไม่ยอมให้เฉลี่ยก็ต้องหาโอกาสตอบแทนเขาบ้างตามควร ไม่ใช่ทำเฉยเมยเอาเขาข้างเดียว ต้องแสดงมิตรจิตมิตรใจตามควรแก่โอกาส





10. ผู้ดีย่อมไม่ลืมที่จะส่งของซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม หมายความว่า เมื่อยืมของเขามาใช้ควรรีบส่งคืนเขาทันทีเมื่อเสร็จธุระแล้ว นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องรักษาให้คงสภาพอยู่เช่นเดิม ถ้าขาดจำนวนหรือเสื่อมเสียด้วยประการใด ต้องจัดการให้คงสภาพตามเดิม ไม่ใช่ทำลืม ถ้าไม่ส่งคืนย่อมเป็นการเสียแท้ หรือไม่ส่งจนเขาต้องทวงคืนก็ไม่ควรต่อไปจะยืมเขาไม่ได้อีก หรือไม่กล้าไปยืมเขาเป็นการตัดทางตนเองในทางตรงกันข้ามถ้าเขายืมเราไม่ส่งคืน เมื่อมายืมอีก เราก็ไม่ให้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อยืมของต้องรักษาให้คงสภาพและต้องส่งคืนทันทีเมื่อเสร็จธุระแล้ว หรือตามสัญญาที่ให้ไว้ดังนี้จึงเป็นการสมควรผู้ดีเมื่อได้รับสิ่งของหรือเลี้ยงดู ซึ่งเขาด้กระทำแก่ตนย่อมต้องตอบแทนเขา หมายความว่า เมื่อได้รับอุปการะจากผู้ใดก็ไม่ลืมบุญคุณของท่านผู้นั้น และหาโอกาสตอบแทนบุญคุณท่านตามกำลังความสามารถของตนเช่นพ่อแม่เลี้ยงเรามา ต้องเลี้ยงท่านตอบ ครูอาจารย์สอนวิชาความรู้เรามา ต้องสนองคุณท่าน เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนฝูงสงเคราะห์เรา เราต้องสงเคราะห์ตอบ เป็นต้น ดังนี้จึงเป็นการสมควรวจีจริยา

หมายความว่า การแสดงความไม่เห็นแก่ตัวให้ปรากฏทางวาจา

1. ผู้ดีย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใด เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน หมายความว่า ในขณะที่เขากำลังร่วมชุมนุมกันอยู่ เราไม่ควรจะแยกผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งอยู่ในชุมนุมนั้นออกไปจากหมู่ เพื่อจะไปพูดความลับอย่างใดอย่างหนึ่งเลยเป็นอันขาด หากมีความจำเป็นรีบด่วน ก็ควรจะแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้นั้นเข้าใจเอง และปลีกตัวออกไปเอง แล้วเราก็หาโอกาสพูดในเวลานั้น หากไม่ได้โอกาสก็จำต้องปล่อยไปก่อน ไม่ควรแยกออกมาเช่นนั้น ซึ่งอาจเป็นที่ระแวงสงสัยของบุคคลอื่นได้

2. ผู้ดีย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้ หมายความว่า ในการสนทนาปราศรัยกันนั้นไม่ควรยกเอาแต่เรื่องของตนเองมาพูด จนกลายเป็นว่าสนใจแต่เรื่องของตนคนเดียว ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเบื่อหน่ายหรือรำคาญ เพราไม่มีโอกาสฟังหรือพูดเรื่องอื่น และในชุมนุมเช่นนั้น ควรเป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นคนพูด ควรให้โอกาสคนอื่นพูดมากกว่าตน เราจะได้ยินได้ฟังเรื่องแปลก ๆ เพิ่มขึ้น ดังนี้

3. ผู้ดีย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน หมายความว่า เมื่อคนทั้งหลายกำลังทำธุระชุลมุนวุ่นวายอยู่เช่นนั้น ไม่ควรนำธุระของเราเข้าไปแทรกแซงขึ้นในขณะนั้น ต้องรอจนกว่าคนอื่นจะหมดธุระก่อน จึงพูดถึงธุระของเราต่อไปผู้ดีย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้ว่าไม่ดีหรือไม่พอ หมายความว่า เมื่อใครให้อะไรแก่เรา ไม่ว่าของนั้นจะเป็นของรับประทานหรือของใช้ก็ตามเราไม่ควรติเตียนสิ่งนั้นโดยประการใดประการหนึ่ง เช่นว่าไม่ดีหรือไม่พอ เป็นต้น ถึงแม้จะรู้สึกเช่นนั้นก็ต้องเก็บไว้ในใจจึงจะควรผู้ดีย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาหยิบยกให้แก่ตน หมายความว่า เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งนำสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งมาให้เรา เราไม่ควรถามราคาของนั้นในขณะนั้นเป็นอันขาด แม้มีความปรารถนาจะรู้ก็ควรหาทางอื่นที่จะสืบถามไม่ใช่ถามกับตัวผู้ให้เองผู้ดีย่อมไม่แสดงราคาของที่จะหยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ หมายความว่า เมื่อจะให้อะไรแก่ใคร ไม่จำเป็นต้องแสดงราคาสิ่งนั้นให้ปรากฏแก่เขา เพราะถึงอย่างไรก็ตามเขาอาจรู้ได้เองที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะสิ่งของนั้นย่อมแสดงถึงน้ำใจผู้ให้เท่านั้นว่ามีน้ำใจเพียงใด บางทีของน้อย แต่น้ำใจมาก ก็ย่อมเป็นที่ชื่นใจของคนผู้รับได้เหมือนกันดังนี้ผู้ดีย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและลบหลู่ผู้อื่น หมายความว่า การพูดโอ้อวดย่อมทำให้ผู้ฟังหมดความเมตตปราณีและยิ่งเป็นการลบหลู่คนอื่นด้วยแล้ว ยิ่งไม่สมควรอย่างแท้จริง เช่น พูดว่าตนดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เป็นการยกตนอวดตน ถ้าพูดว่าตนดีกว่าคนนั้นคนนี้ เป็นการลบหลู่คนอื่น ถ้าพูดทั้งโอ้อวดตนและลบหลู่คนอื่นย่อมเป็นการไม่สมควรแท้ต้องถ่อมตนและยกย่องคนอื่นจะดีกว่า

มโนจริยา

หมายความว่า การแสดงความไม่เห็นแก่ตัวถ่ายเดียวให้ปรากฏในทางใจ

1. ผู้ดีย่อมไม่มีใจมักได้เที่ยวขอของเขาร่ำไป หมายความว่า เมื่อเห็นของเขาทำไว้สวย ๆ งามๆ น่าดูน่าชมก็เกิดอยากได้ เมื่อหาเองไม่ได้ ความมักได้เข้าครอบงำก็ขอเขา ต้องการเมื่อไรขอเมื่อนั้น ขอเขาร่ำไป ตามปกติมีคำเตือนว่า ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ถูกขอผู้ถูกขอเมื่อไม่ให้ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ขอ ควรหลีกเลี่ยงจากคำเตือนนี้อย่าให้มีขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ควรขอของของใครๆ ทั้งสิ้น หากจำเป็นต้องขอก็ขอแต่พอเหมาะพอควร และควรขอแต่เฉพาะบุคคลที่เขายอมให้ขอเท่านั้น แม้ในบุคคลเช่นนั้น ก็ต้องขอสิ่งที่ควรขอเท่านั้น อย่างนี้จึงเป็นการควร

2. ผู้ดีย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน หมายความว่า ของๆเพื่อนไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์หรือเป็นข้าวของใดๆก็ดีซึ่งเพื่อนรักมาก เราไม่ควรมีจิตปรารถนาอยากได้ของเขาเพราะควรเห็นใจว่าเขารักเขาก็ต้องหวง หากไปคิดปรารถนาเข้าแล้วอาจกระทำผิดลงไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ผู้ดีย่อมไม่พึงใจการยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน หมายความว่า ตามปกติเมื่อมีความจำเป็นต้องหยิบยืมกันบ้าง แต่ไม่ควรพอใจในการทำเช่นนั้นตลอดไป เพราะการทำเช่นนั้น อาจเป็นเหตุให้แตกสามัคคีหรือผิดใจกันได้ ยิ่งเป็นเงินเป็นทองด้วยแล้ว ไม่เป็นการบังควรแท้ การหยิบยืมเพื่อการลงทุนค้าขายยังพอทำเนา แต่ก็ต้องทำเป็นครั้งเป็นคราว และควรส่งคืนตามกำหนด แต่การหยิบยืมเขามากินมาใช้ไม่เป็นการบังควรเลยเป็นอันขาด ดังนั้น จึงไม่ควรพอใจก่อหนี้สินเสียเลยจะดีกว่าผู้ดีย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น หมายความว่า ตามปกติเมื่อคนเราอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นพวก ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันแต่เราจะหวังแต่จะพึ่งพาอาศัยเขาถ่ายเดียวย่อมไม่เป็นการสมควรต้องพยายามอาศัยตนเองให้ได้ทุกอย่าง ควรให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จด้วยลำแข้งของตัว โดยที่สุดแม้พ่อแม่ซึ่งเป็นที่พึ่งพาอาศัยของเรานั้นท่านก็ยังมีวันถึงเวลาแก่เฒ่า และในการนั้นเราก็ต้องให้ท่านได้อาศัยบ้างไม่ควรตั้งหน้าตั้งตาอาศัยท่านโดยส่วนเดียว ดังนี้จึงเป็นการควรผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอนทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น หมายความว่า การงานอันใดซึ่งเป็นหน้าที่ของตนจะมากก็ตามน้อยก็ตาม ต้องทำให้เสร็จตามกำหนด ไม่ควรปัดความรับผิดชอบให้คนอื่นแม้การประกอบการงานร่วมกัน ก็มิบังควรเกี่ยงงอนกัน ต้องช่วยกันจัดช่วยกันทำจนสุดกำลังความสามารถด้วยกัน ดังนี้จึงควรผู้ดีย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน หมายความว่า เมื่อได้รับอุปการะจากใครแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ควรลืมบุญคุณเขา ควรได้รับอุปการะจากใครแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ควรลืมบุญคุณเขา ควรบูชาเขาด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อยังไม่มีโอกาสจะทดแทนก็ทำในใจไว้ เมื่อมีโอกาสเมื่อใด จงรีบตอบสนองทันที นี้จึงเป็นการควรผู้ดีย่อมไม่มีใจริษยา หมายความว่า เมื่อเห็นใครได้ดีก็พึงพลอยยินดีกับเขา ไม่ตั้งหน้าตั้งตาคิดริษยาตัดรอนเขา คนที่อิจฉาริษยาเขานั้น ถ้าเป็นใหญ่กว่าเขา ก็เท่ากับลดตัวลงมาต่ำกว่าเขา ถ้าเป็นผู
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เกียรติ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 12 มิ.ย.2005, 8:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการโดยย่อ 3 ประการคือ ไม่แสบ ไม่โง่ ไม่แล้งน้ำใจ

1. ไม่แสบ คนดีต้องไม่แสบ ไม่เกะกะ เกเร ระรานชาวบ้าน เป็นนักเลง จนถึงเจ้าพ่อ ฯลฯ

2. ไม่โง่ บางคนอาจจะบอกว่า ไม่รู้ผิดด้วยหรือ ถ้าไม่รู้แล้วไม่ชี้ ก็ไม่มีปัญหาครับ ปัญหาจะอยู่ตรงที่ ไม่รู้แล้วชอบชี้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหายิ่งใหญ่กว่าตามมา ดังนั้น ถ้าจะเป็นคนดีของสังคม ก็ต้องศึกษาหาความรู้ มีวิชาติดตัว เป็นที่พึ่งพิงให้คนอื่นได้

3. ไม่แล้งน้ำใจ คนส่วนหนึ่งจะเป็นในขึ้นนี้ครับ คือ ไม่แสบหรอกอยู่ในกฏหมาย และก็มีความรู้เรียนจบปริญญาตรีซะด้วย แต่ไม่ช่วยเหลือใคร เพราะเขาคิดว่า แค่เขาไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อนก็ดีแล้ว อันนั้น ยังไม่ใช่คนดีที่โลกต้องการครับ เป็นแต่เพียงละชั่ว แต่ยังไม่ทำดีเลย คนดีจะต้องมีน้ำใจด้วย



และถ้าพัฒนาขึ้นไป

1. จากไม่แสบ จะกลายเป็น ซื่อสัตย์ พัฒนาต่อไปจะกลายเป็น บริสุทธิ์

2. จากไม่โง่ จะกลายเป็น ฉลาด พัฒนาต่อไป จะกลายเป็น ปัญญา

3. จากไม่แล้งน้ำใจ จะกลายเป็น มีน้ำใจ พัฒนาต่อไป จะกลายเป็น กรุณา



อ้าว ไม่แสบ ไม่โง่ ไม่แล้งน้ำใจ ไปถึงที่สุดแล้วจะกลายเป็น

พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ กลายเป็นพระคุณทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้านั่นเอง ผมสวดมนต์มาตั้งนาน ไม่เคยรู้เลย ถ้าครูไม่บอก ก็ไม่รู้หรอกว่า พระพุทธเจ้านี่แหละครับ คือ คนดีที่โลกต้องการ



 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง