การนั่งสมาธิ
มี 2 จุดประสงค์
1.
นั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบ
ได้พักจิตใจ นั่งโดยการดูลมหายใจ ตั้งจิตอยู่ที่รูจมูก
สังเกตลมที่กระทบตอนเข้าและออก บางคนบริกรรมด้วย เมื่อจิตสงบ
บางทีคำบริกรรมจะหายไป ก็ให้หายไป บางทีสงบจนลมหายใจละเอียดแผ่วเบา
เหมือนไม่ได้หายใจ
การนั่งให้จิตสงบอย่างนี้
เรียกสมถะภาวนา
2.
วิปัสสนา
เป็นการดูจิตเพื่อเจริญปัญญา จิตจะเจริญของเขาเอง แล้วแต่เขาจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาพิจารณา
โดยก่อนหน้านั้นผู้ปฏิบัติเพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้น
แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงวิธีปฏิบัติที่ละเอียดมาก
จึงจะถึงขั้นนี้ได้ หลักการดูจิตขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน
ศึกษาจากหนังสือของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลักของท่านว่า
"อย่าส่งจิตออกนอก"
มักมีผู้เล่าให้ฟังว่า
คนนั้นนั่งสมาธิแล้วเห็นอะไรต่ออะไร บางทีก็เล่าด้วยความชื่นชม
บางคนเลยไปถึงว่าบรรลุแล้ว ความจริงการได้เห็นไม่ใช่จุดประสงค์ของสมถะภาวนา
เพราะสมถะภาวนาต้องการความสงบ และไม่ใช่จุดประสงค์ของวิปัสสนา
เพราะวิปัสสนาต้องการรู้ไตรลักษณ์ เพื่อให้จิตหลุดพ้น
แต่การเห็นอะไร ๆ นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ได้มาตามทาง
เหมือนกับเราจะเรียนทำกับข้าว
กว่าจะไปถึงเคล็ดลับการปรุงอันเป็นสูตรสุดยอด ก็ต้องผ่านการเป็นลูกมือ
รู้ว่าหั่นหัวหอมยังไงไม่ให้น้ำตาไหล คั้นกะทิเป็น คือได้ความรู้ตามเส้นทางที่ผ่านติดตัวมาบ้าง
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน
สิ่งที่จะได้ติดไม้ติดมือไปก่อนจะถึงจิตขั้นสูงก็มี
เช่น รู้วาระจิตของคนอื่นได้ เป็นต้น แต่การเห็นอะไรที่ตื่นเต้นกันั้น
กลับเป็นตัวหลอกให้หยุดการเดินทาง ให้มัวเพลินอยู่กับมัน
เหมือนกับจะไปดอนเมืองขึ้นเครื่องบิน พอผ่านแดนเนรมิตก็แวะดูปราสาทเจ้าหญิงนิทราเพลิน
เลยเลิกเดินทางไปดอนเมืองเสียแล้ว เป็นตัว
หลอกให้หลงเอาไว้เพื่อไม่ให้เราไปต่อ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนว่า
"เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก
แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่าย
ๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น
แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง "
"ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
ฉะนั้น
ใครที่อยากเห็นอะไร หรือเห็นแล้วดีใจเข้าไปเห็นอยู่เรื่อย
ก็ควรรู้ว่ามันไม่ประโยชน์แก่ตัวเรา เพราะการเห็นนั้น
ไม่ได้พาตัวเราพ้นทุกข์ไปไหนเลย
ขอสรุปช่วงนี้
ด้วยคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดังนี้
"เวลาภาวนา อย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด
ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำรา อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด
แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ
จิตของเราสงบ เราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มาก ๆ เข้าเวลามันจะเป็น
จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไร ๆ ให้มันออกจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ
เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละดี
คือ จิตมันสงบ
ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว
อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง
ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา
เราจะได้รู้จักว่า พุทโธนั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง
..เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย"