|
 |
|
กำลังอ่านอยู่ : 8 คน |
|
|
|
|

ถึงแม้ว่าสันดานจะขุดยาก
ตามที่โบราณท่านกล่าว แต่สันดานก็เหมือนสันดอนนั่นแหละ คือ ขุดได้
เพราะขุดยากไม่ได้ แปลว่าขุดไม่ได้ มันเพียงแต่แปลว่าขุดไม่ง่าย เท่านั้นเอง
ในบทนี้ขอรวบรวมอุปกรณ์การขุดเอาไว้ในที่เดียวกัน
อีกครั้ง เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ง่าย ๆ คือ
1.
ยอมรับในตัวเองว่าเป็นคนมักโกรธ
2.
มีความตั้งใจมากที่จะเลิกโกรธ
3.
เป็นตุ๊กตาล้มลุกที่ลุกขึ้นมาใหม่เสมอ
4.
มีสติให้ทันความโกรธที่กำลังเกิดขึ้น
5.
พิจารณา แห่งอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของชีวิต
6.
หยุดด้วยความคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ คิดใหม่ แผ่เมตตา
7.
หยุดความโกรธที่กลับมาใหม่ ด้วยการเปลี่ยนควมสนใจไปสู่สิ่งอื่น
เมื่อตั้งอกตั้งใจดีแล้ว
ก็เดินเครื่องได้ ความโกรธก็อารมณ์ของเราเอง อย่าไปกลัวมันมาก ทำใจแข็งเข้าไว้
พระท่านสอนว่าไม่ได้วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่ได้พรุ่งนี้ก็เดือนนี้ ไม่ได้เดือนนี้ก็เดือนหน้า
ไม่ได้เดือนหน้าก็ปีหน้า ไม่ได้ชาตินี้ก็ชาติหน้า ไม่เป็นไรยังต้องเกิดอีกหลายชาติ
มีเวลาถมไป ไม่ต้องกังวล ทำดีให้กับคนอื่นออกถมไป ทำดีให้ตัวเองบ้าง
จะท้อไปไยนะ

ในกกจูปมสูตร
พระพุทธเจ้าทรงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า
คำที่ผู้อื่นจะพึงกล่าวต่อเธอ 5 ประการ ต่อไปนี้ คือ
1.
กล่าวในกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
2.
กล่าวเรื่องจริงหรือไม่จริง
3.
กล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์
4.
กล่าวคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย
5.
กล่าวด้วยจิตเมตตาหรือกล่าวด้วยโทสะ
เขาจะกล่าวอย่างไรก็ตาม
ภิกษุจะต้องทำในใจไว้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวนคือ ทำจิตให้มั่นคงไว้
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่ว เราจักอนุเคราะห์เขาด้วยวาจาและสิ่งที่เป็นประโยชน์
จักมีเมตตาต่อบุคคลนั้น เราจักแผ่เมตตาจิตไปทั่วทั้งโลก ทำจิตให้เหมือน
1.
แผ่นดินซึ่งใคร ๆ จะขุดให้หมดไม่ได้
2.
อากาศซึ่งใคร ๆ จะเขียนหรือระบายด้วยสีใด ๆ ให้ติดไม่ได้
3.
แม่น้ำคงคาที่ใคร ๆ จะเอาคบเพลิงใด ๆ ไปจุดให้ติดไม่ได้ คบเพลิงนั่น
ย่อมดับไปเอง
4.
ถุงหนังแมวที่นายช่างฟอกดีแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ซึ่งใคร
ๆ จะตีให้ดังไม่ได้
ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายเป็นประการสุดท้ายว่า
หากพวกโจรใจทรามเอาเลื่อยซึ่งมีที่จับ ( ด้าม ) ทั้งสองข้างมาเลื่อยเธอทั้งหลายแม้กระนั้นถ้าเธอจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม
มีใจคิดร้ายต่อโจรนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนเรา
พวกเธอพึงใส่ใจโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้เป็นนิตย์เถิด จะทำให้มอง
ไม่เห็นถ้อยคำใด
ๆ ของผู้อื่นที่จะอดทนไม่ได้ ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์และความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน
มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง
ฤาษีได้อธิษฐานจิตว่าไม่โกรธ ได้ถูกพระราชาทดสอบ โดยตัดแขน แต่ฤาษีก็ไม่โกรธ
พระราชาโกรธให้ตัดขาอีก ฤาษีก็ไม่โกรธ ในที่สุดฤาษีก็ตาย
ฉันเคยเรียนถามอาจารย์วศิน
อินทสระ ว่าเรื่องนี้สอนไม่ให้โกรธ แต่ดูราวกับว่าเราให้ความอดทนของคนหนึ่งไปสนองความโกรธของอีกคนหนึ่ง
ถามว่าจุดนี้ต้องการแสดงอะไร
ท่านอาจารย์ได้อธิบายว่า
ท่านสอนภิกษุ เพื่อไม่ให้คิดประทุษร้ายผู้อื่น สมณะมีอดทนเป็นกำลัง
ฤาษีท่านบำเพ็ญธรรมโดยอธิษฐานจิตให้ไม่โกรธ ท่านจึงยอมให้ทำโดยไม่โกรธพระราชา
มองในมุมกลับคือ
ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ สังคมจะสงบมากขึ้น เพราะถ้ามีการไม่ยอม มีการสนองตอบ
เหตุร้ายก็จะลุกลามคนอาจจะกลัวการสนองตอบ ก็อาจจะไม่ค่อยทำร้ายผู้อื่น
เพราะกลัวได้รับโทษมาก คือมองในแง่ว่า ถ้าคนอื่นมองอย่างเราสังคมจะสงบ
เป็นการเสียสละ
ที่อยากเน้นหน่อยก็คือ
เมตตา การรู้สึกเมตตาทำให้จิตใจอ่อนลงได้เร็ว นึกถึงภาพชีวิตทุกข์ยากที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏแล้ว
ทำให้เกิดเมตตาได้ง่ายขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ทำจิตให้เหมือนกับแผ่นดินที่ใครมาขุดให้หมดไม่ได้
ครั้งแรกที่อ่านเจอประโยคนี้แทบร้องไห้เลย มองดูเถิด ถ้าเรามีเมตตาให้กับทุกคนได้มากเหมือนกับแผ่นดินที่ขุดไม่มีวันหมด
เราจะยังโกรธใครได้อีกหรือ ในเมื่อพวกเราทุกคนลึก ๆ แล้วก็ควรเมตตาต่อกันช่วย

เหลือกัน
เพราะเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี้ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
ขอลงท้ายด้วยบทกลอนที่ท่านสอนให้ชาวเราพวกใจร้อนทั้งหลายหัดดูแลหัวใจตัวเองบ้าง
ดังนี้
ปากเหมือนปู
หูเหมือนตะกร้า ตาเหมือนตะแกรง
ปากไม่แพร่ง
หูไม่อ้า ตาไม่เห็น
เป็นหลักธรรม
นำให้ หัวใจเย็น
คนควรเป็น
เช่นนั้นบ้าง ในบางคราว

|