|
 |
|
กำลังอ่านอยู่ : 8 คน |
|
|
|
|

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรม
เพื่อความสงบเย็นของจิตใจ หรือเพื่อลด ละ เลิก โลภ โกรธ หลง แม้จะประกอบด้วยอุบายและวิธีต่าง
ๆ ที่จะประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ความเข้าใจในธรรมและพิจารณาในธรรม เป็นสิ่งที่ต้องมีเสมออย่างแน่นอนที่สุดเพราะไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจ
การให้กำลังใจ ความมีสติ แต่ก็ต้องมีหลักยึดด้วย เหมือนการก่อสร้างที่มีทราย
หิน ปูน และน้ำ แต่ก็ต้องมีเหล็กไว้ให้ยึดเกาะ เป็นความมั่นคงแข็งแรง
เมื่อเราพิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์ของความโกรธในใจของเราแล้ว
เราจึงจะเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเลิกโกรธ เพื่อจะได้เย็นสบายเหมือนกับคนอื่นเขาบ้าง
นอกจากนี้เรื่องของอนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน ก็ดูจะเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อเราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อไปถึงที่สุดแล้ว
ก็คือความว่าง ความไม่ใช่ตัวตนใด ๆ ความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่ใจเรายึดอยู่
มันก็ค่อย ๆ คลายตัวลง เราจะรู้สึกถึงความสงบในความว่างนั้น และความโกรธต่อเรื่องต่าง
ๆ ก็ดูจะไร้สาระลงไปเรื่อย ๆ จนเหมือนกับว่าเราจะโกรธไปเพื่ออะไร เรื่องอะไร
ๆ ในที่สุดมันก็จะมีทางออกที่ดีที่สุดตามเหตุตามปัจจัยเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แก้ไขกันไปตามกำลังและวิถีทางที่มี
ความโกรธไม่ได้ช่วยให้ทางที่ตันทะลุทะลวง
ความโกรธไม่ได้ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้ขึ้นมา เมื่อมองไกลออกไปกว่าวันนี้
ที่นี้ บนโต๊ะนี้ สิ่งที่เราจับมั่นคั้นตาย มันจะยังเป็น
อย่างนี้อยู่หรือ
ไม่หรอก ในที่สุดมันก็อาจกลายเป็นสิ่งอื่นไปก็ได้ทุกอย่างก็อยู่ในกฎของความไม่เที่ยงทั้งนั้น
แล้วเราจะไปยึดมั่นอะไรมากมาย ทำให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องโกรธไปด้วยได้ไหม

ท่านอาจารย์วศิน
อินทสระ สอนว่า อนัตตา คือสิ่งที่เกิดตามเหตุปัจจัย เช่น น้ำในแก้ว
เอาไปใส่ตู้เย็นก็เป็นน้ำแข็ง เอาออกจากตู้เย็น มันก็เป็นน้ำธรรมดา
เอาไปต้มก็เป็นน้ำร้อนเป็นไอ ดูสิว่าตัวตนมันเป็นอะไรแน่ อยู่ที่ไหน
เป็นน้ำแข็ง หรือเป็นน้ำ หรือเป็นน้ำร้อน มันไม่มี คือมันเป็นไปตามเหตุที่ไปปรุง
หลวงพ่อปัญญานันทะ
สอนว่า ไม่ใช่ตัวตนคืออะไร นี่คนหรือ ตรงไหนคน ตรงนี้หรือ ไม่ใช่ นี่หัว
นี่คอ นี่ตัว นี่แขน นี่ขา ต้องรวมกันแล้วจึงจะเป็นคน ถ้าไม่รวมแล้วคนก็ไม่มี
ดังนั้น
ถ้าตาเรามองแยกธาตุได้เมื่อใด เราก็จะมองทะลุสิ่งใด ๆ ได้ทั้งหมด

ถ้าหันมองไปรอบตัว
ด้วยดวงตาเช่นนี้ โลกทั้งใบก็ว่างเปล่า แล้วชีวิตจะมีอะไรนักเล่า ก็ว่างเปล่าเช่นกัน
นัยหนึ่งก็เหมือนกับภาษาคนกับภาษาธรรมนั่นเอง
การมองเช่นนี้ก็เป็นการมองด้วยสายตาคนกับสายตาธรรม เช่นกัน โลก 2 ใบมันซ้อนกันอยู่
แต่สายตาคนมองอย่างใจต้องการเห็น ส่วนสายตาธรรม มองสิ่งที่เป็นจริง
กว้างลึกและยาวไกลกว่ากันมากนัก
เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว
ความยึดมั่นในใจเราจะคลายจางลง พลอยทำให้ความเป็นคนมักโกรธถอยลงไปด้วย
โดยอัตโนมัติ

เท่าที่ประสบมาด้วยตนเอง
ได้พบว่า ขณะที่ปากยังคงเถียงอยู่อย่างเจื้อยแจ้วนั้น แต่ในใจกลับนิ่ง
ไม่ได้ร้อนรุ่มแต่ประการใด บางครั้งในใจยังนึกขำอยู่ด้วยว่า นี่เราเถียงทำไม
คือใจกับกายไม่ได้ไปด้วยกัน แต่ปากก็ไม่ได้เถียงอย่างดุเดือดเหมือนเมื่อก่อน
เถียงไปอย่างนั้น ๆ ตามนิสัย ไม่ได้เป็นนัยรุนแรงอะไร แต่พอนาน ๆ ไป
ใจกับกายก็ค่อยเข้ากันได้คือ ขณะที่ใจนิ่งปากก็ไม่ค่อยเถียงไปด้วย
อารมณ์นี้ก็สะสมได้เช่นกัน
ความตระหนักในอนัตตาในใจเราดูคล้ายจะเป็นน้ำหนักที่ปูไว้ไม่ให้โคลงเคลง
ยิ่งสะสมไปตามวันเวลามากเท่าใด ก็ยิ่งรู้สึกเย็นลงเท่านั้น และยังจะรวมไปถึงอารมณ์อื่น
ๆ และการฝึกฝนอารมณ์อื่น ๆ ก็พลอยได้ผลไปด้วยในตัว นับเป็นผลพลอยได้โดยรวมที่วิเศษยิ่ง

|