แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย
 
 กำลังอ่านอยู่ : 8 คน

ความหลุดพ้น คือแก่นพระพุทธศาสนา
 

            ในมหาสาโรปมสูตร มัชณิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เล่ม 12 กล่าวถึง “ แก่นพระพุทธศาสนา “ ดังนี้

            แก่นของพระพุทธศาสนาที่ทรงหมายถึงในที่นี้ คือ วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ส่วนศีล สมาธิ และปัญญานั้น เป็นเพียงสะเก็ดและกระพี้ของพระพุทธศาสนา มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้

            สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า บางคนมีศรัทธา ออกบวช เมื่อบวชแล้วก็ได้ลาภสักการะเป็นอันมาก พอใจหลงใหลในลาภสักการะนั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะลาภสักการะนั้น เต็มความปรารถนา ( เห็นไปว่าการได้ลาภสักการะและความนับถือนั้น เป็นผลสูงสุดของการบวช จึงไม่ขวนขวายเพื่อให้มีคุณธรรมยิ่งขึ้นไป ) เขาอยู่อย่างประมาท เมื่อประมาทก็อยู่เป็นทุกข์ เปรียบเหมือนคนต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ในป่า แต่เนื่องจากไม่รู้จักแก่นไม้ ได้กิ่งและใบสำคัญหมายว่าเป็นแก่น เขาย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ในกิจที่จะต้องทำด้วยแก่นไม้

            บางคนไม่เต็มความปรารถนาอยู่เพียงลาภสักการะ และชื่อเสียง จึงทำศีลให้สมบูรณ์ แล้วพอใจเต็มความปรารถนาอยู่ เพียงแค่ศีลนั้น ( ศีลเปรียบเหมือนสะเก็ดไม้ )

            บางคนไม่เต็มปรารถนาเพียงแค่ศีล จึงไม่ประมาท ทำ

            สมาธิให้บริบูรณ์แล้วพอใจอยู่เพียงสมาธินั้น เปรียบเหมือนแสวงหาแก่นไม้ ได้เปลือกไม้แล้วพอใจ เข้าใจว่าเป็นแก่น

            บางคนไม่เต็มความปรารถนาเพียงสมาธิ จึงไม่ประมาททำปัญญาให้เกิดขึ้นแล้วพอใจในปัญญานั้น เต็มความปรารถนาเหมือนคนแสวงหาแก่นไม้ ได้กระพี้แล้วพอใจ เข้าใจว่าเป็นแก่น

            บางคนไม่เต็มความปรารถนาเพียงแค่ลาภสักการะ ชื่อเสียง ศีล สมาธิ และปัญญา เขาทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เรียกว่า ได้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา

            รวมความว่า ถ้าเปรียบพรหมจรรย์หรือพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ทั้งต้น

            1. ลาภสักการะชื่อเสียง เปรียบเหมือนใบและกิ่ง

            2. ศีล เปรียบเหมือนสะเก็ด

            3. สมาธิ เปรียบเหมือนเปลือก

            4. ปัญญา เปรียบเหมือนกระพี้

            5. วิมุติ เปรียบเหมือนแก่น

            พระพุทธองค์องค์ทรงสรุปว่า ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงประมวลลงได้ว่า เราประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง มิใช่เพื่อศีล สมาธิ ปัญญา ( ญาณทัสสนะ ) แต่เราประพติพรหมจรรย์นี้ เพื่อความหลุดพ้นแห่งจิตอันไม่กำเริบ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ เป็นแก่นสารที่แท้จริง

            ภิกษุทั้งหลายฟังแล้ว ชื่นชมยินดีต่อภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

            คติธรรมสำหรับพระสูตรนี้ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระได้ให้คำอธิบายไว้ดังนี้

            ปัญญาในพระสูตรนี้ ทรงใช้คำว่า ญาณทัสสนะแทน ซึ่งหมายถึงความรู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่รู้ตามที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฎอาจหลอกเราได้ เช่น สีเขียว เมื่ออยู่ภายใต้ไฟสีเหลือง จะเห็นเป็นสีน้ำตาล อุณหภูมิซึ่งไม่ร้อนไม่เย็น แต่ถ้าเราออกมาจากห้องเย็นจะรู้สึกว่าร้อน หรือปรากฎแก่เราว่าร้อน นี้เกี่ยวกับเรื่องทางกายใน เรื่องทางจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราถูกกิเลสครอบงำ ก็จะเห็นไปอย่างหนึ่ง พอจิตเป็นอิสระไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็จะเห็นไปอย่างหนึ่ง พุทธศาสนาต้องให้เห็นอะไรต่าง ๆ ด้วยปัญญาชอบ( สัมมาปัญญา ) ไม่ใช่เห็นตามอำนาจของกิเลส

            เกี่ยวกับความหลุดพ้น ( วิมุติ ) มีอยู่ 3 แบบ คือ หลุดพ้นที่ยังกำเริบ หมายถึง หลุดพ้นชั่วคราว ( ตทังควิมุติ ) และหลุดพ้นเพราะข่มกิเลสไว้ด้วยกำลังฌาน ( วิขัมภนวิมุติ ) อีกอย่างหนึ่ง หลุดพ้นที่ไม่กำเริบอีกคือ หลุดพ้นอย่างเด็ดขาด ( สมุจเฉทวิมุติ ) กิเลสใดที่ละได้แล้วก็เป็นอันละได้ขาด ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เช่น ความหลุดพ้นของพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป


<< กลับหน้าที่ผ่านมา
หน้าถัดไป >>
แสวงหาธรรม
รอบรั่วธรรม ในสวนธรรม ละความโกรธ กรรม การทำบุญให้ทาน ภารกิจของหิ่งห้อย

หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม