|
 |
|
กำลังอ่านอยู่ : 11 คน |
|
|
|
การคิดว่าไม่มีเงินจะทำบุญ |
|
|
|
|

ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก
ที่จะคิดว่า เมื่อก้าวเข้ามาในศาสนาแล้วต้องพกเงินมาด้วย เมื่อบางคนไม่มีเงินก็เลยไม่มา
เป็นเรื่องเสียโอกาสและเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ได้เกิดมาในยุคที่มีพุทธศาสนาแล้ว
ก็ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่ได้อะไรใส่ตัว
จันทร์ฉายเป็นครูมัธยมโรงเรียนรัฐบาล
รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตครู ที่ดูเหมือนจะผ่านไปวัน ๆ อย่างดาย ๆ
เงินเดือนก็น้อย ลาออกก็ไม่รู้จะไปทำอะไร
วันหนึ่งมีนักเล่านิทานชื่อทศพร
เดินทางมาที่โรงเรียน เขาจะมาจัดกิจกรรมที่โรงเรียน 3 วัน มีการเล่านิทานให้เด็กฟัง
มีละครหุ่นมือ และสอนเด็ก ๆ ให้วาดรูปตามนิทาน
จันทร์ฉายตามดูกิจกรรมของทศพรตลอดเวลา
เธอเห็นเด็ก ๆ มีความสุขมาก เขาบอกให้ทำอะไรเด็ก ๆ ก็ทำตาม ว่าง่าย
ไม่เหมือนเวลาที่เธอเข้าสอนเลย ที่เด็กจะว่ายากสอนยาก และมีแววตาเบื่อหน่าย
บางคนถึงกับหลับฟุบลงกับโต๊ะ
ตัวของทศพรเอง
จันทร์ฉายก็เกือบจะเรียกเขาว่า มอมแมม แต่ดูเขามีชีวิตชีวามาก เขาเดินทางไปเล่านิทานตามโรงเรียนต่าง
ๆโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไร นอกจากอาหารที่โรงเรียนจัดให้ เขาเล่าว่า
เมื่อเขาไปตามหมู่บ้าน ก็นอนที่บ้านของชาวบ้านแถวโรงเรียน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาเล่านิทานให้โรงเรียนในเมืองหลวง
เพราะมีธุระอื่นต้องมาทำด้วย
จันทร์ฉายมีโอกาสคุยกับทศพรในตอนเย็น
เธอเล่าให้เขาฟังถึงความรู้สึกของเธอ ทศพรจึงเล่าให้ฟังว่า
นักเรียนจะมีความสุขได้ ครูต้องมีความสุขก่อน ในเมื่อคุณยังไม่อยากสอน
แล้วจะทำให้เด็กอยากเรียนได้อย่างไร
นั่นเป็นสิ่งที่จันทร์ฉายไม่เคยคิดมาก่อน
เธอถามว่า เขามีความสุขในการสอนได้อย่างไร ทศพรตอบอย่างอารมณ์ดี
ผมใช้ธรรมะ
จันทร์ฉายรู้สึกแปลกใจ
เธอคิดเสมอว่าถ้าจะใช้ศาสนาในชีวิตก็คือการทำบุญ และเธอไม่มีเงินพอที่จะไปทำบุญบ่อย
ๆ
ธรรมะไม่ใช่การทำบุญอย่างเดียว ธรรมะสอนให้ผมสันโดษ พอใจในชีวิตของตัวเอง
สอนให้มี อุตสาหะและพยายาม ที่จะทำให้เด็กมีความสุข สอนให้รักษาศีล
เพื่อความสงบในชีวิต จะได้ไม่มีเรื่องมีราวกับใคร สอนให้มีปัญญา คือ
รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง และสอนให้มีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา
กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่ทุก ๆคน ที่ผมได้พบ ไม่ว่าจะคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคย
นี่เรียกว่าผมใช้ธรรมะทั้งวัน โดยที่ผมไม่ต้องใช้เงินเลย ครูก็ทำได้เหมือนผม
จันทร์ฉายขอให้เขาแนะนำแก่เธอ

ผมว่าครูก็ทำบุญอยู่แล้วทุกวัน
ก็คือให้ปัญญา ให้ความ รู้แก่เด็ก
ๆ ทำให้เด็กฉลาด นี่เป็นการำบุญอยู่แล้ว ถ้าครูมองอย่างนี้ เดี๋ยวครูจะอิ่มใจว่าตัวเองมีประโยชน์แก่สังคม
ผลิตเด็กที่มีความรู้ แต่การสอนเด็กก็ต้องใช้เทคนิคในการสอน เช่น ยกตัวอย่างสนุก
ๆ หรือหาภาพมาให้ดู ถ้าครูมีใจกับการสอน วิธีการมันจะมาเองแหละครับ
นอกจากนี้มองให้ลึกลงไป
เด็ก ๆ มีปัญหา ครูก็เป็นที่ปรึกษาได้ มีเมตตาแก่เด็ก ช่วยจิตใจเด็ก
ยิ่งเด็กมีปัญหาครอบครัวแตกแยก มีความกดดัน เมื่อครูมีเมตตากับเขา
ห่วงใยเขา ทำให้เขารู้สึกว่า อย่างน้อยเขามีครู ครูอาจจะดึงเขาไว้จากทางที่ผิดได้
เป็นบุญมหาศาล
โรงเรียนมีคนเยอะ
มีแบบฝึกหัดให้เรามากมาย เช่น เราฝึกที่จะอดทน ไม่โกรธ ครูรู้ไหมครับว่า
การไม่โกรธเป็นการทำบุญให้ตัวเองอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งที่เราต้องทำในพุทธศาสนาคือ
ลด ละ เลิก โลภ โกรธ หลง
ในโรงเรียนมีบุญมากมายวางรออยู่
ครูเลือกเก็บเอาเถอะครับ แล้วครูจะมีความสุขกับธรรมะในใจ
เป็นครั้งแรก
ที่จันทร์ฉายรู้สึกว่าเธออยู่ในสถานที่ดี และน่าจะมีชีวิตที่มีความหมายได้มากกว่าที่เคยมา
เธอขอบคุณนักเล่านิทาน ที่เดินทางมาและนำสิ่งดีๆ มามอบให้แก่เด็ก ๆ
และตัวเธอเอง
ฉันจะยุติการยกตัวอย่าง
ปัญหามุมมองและการใช้ธรรมะในชีวิตประจำวันลงเพียงเท่านี้ ถ้าหากท่านผู้อ่านมีความตั้งใจที่จะเติมธรรมะลงในชีวิต
ต่อไปก็จะเข้าใจได้ด้วยตัวเอง เมื่อศึกษาข้อธรรมคำสอนแล้ว เพราะบุคคลย่อมมีความคิดหลากหลาย
ตามแต่เหตุปัจจัยของคนนั้นส่งมา การจะใช้ธรรมะจึงเป็นเรื่องส่วนบุคคลว่าใครจะใช้อย่างไร
มีคำสอนว่า
การเชื่ออะไรไปทั้งหมด เป็นเรื่องงมงาย แต่การไม่เชื่ออะไรไปทั้งหมดเลย
ก็เป็นเรื่องงมงายเหมือนกัน
ฉะนั้น
ท่านสอนให้เราพิจารณาว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใด เมื่อเราศึกษาดีแล้ว
ก็ย่อมจะเลือกถูกได้เอง และเมื่อนั้นธรรมะก็จะมีประโยชน์แก่ชีวิตจนถึงที่สุดได้

|